ฉบับที่ 247 เด็กยุคนี้สูงได้เต็มศักยภาพ...จริงหรือ

        คนที่มีร่างกายสูงมักดูได้เปรียบคนตัวเตี้ย มองดูดีและมีความมั่นใจ และอาจส่งผลไปถึงบางอาชีพที่เลือกเฉพาะคนตัวสูงและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงกีฬาอาชีพหลายประเภท ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพยายามสร้างข้อเสนอให้พ่อแม่เตรียมพร้อมเรื่องความสูงให้กับลูกของตนตั้งแต่เยาว์วัย         คำโฆษณาสินค้าประเภทนี้มักระบุว่า ความสูงของคนนั้นขึ้นกับพันธุกรรม การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการประกันให้เด็กในวัยเจริญเติบโตสามารถสูงเต็มศักยภาพซึ่งอาจสูงกว่าพ่อแม่นั้น จำต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหล่าคุณแม่ที่เป็นเซเล็บต่าง (ออกมา call out ในโฆษณาว่า) เลือกเสริมเพิ่มความสูงให้ลูกน้อย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักเป็นนวัตกรรมจากต่างชาติที่อ้างว่า เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยสร้างหรือกระตุ้นมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยกินคู่ไปกับอาหารหลัก 5 หมู่ (ความจริงแค่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ด้วยปริมาณที่เหมาะสมตามหลักการทางโภชนาการก็น่าจะพอแล้ว...ผู้เขียน)         มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีเพิ่มความสูงแบบรวดเร็วสำหรับเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยอ้างว่ามาจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ (ซึ่งดูจริงบ้าง มั่วบ้าง) คือ  1.) กระโดดเชือกวันละ 30 นาที โดยแบ่งเป็นครั้งละ 5 นาที หรือเล่นบาสเก็ตบอลวันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  2.) ดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังอาหารเช้าและก่อนนอน  3.) งดดื่มน้ำอัดลมเพราะเสี่ยงกระดูกพรุนและเบาหวาน  4.) ฉีด Growth hormone เพิ่มความสูง แต่ต้องระวังว่าหากได้ฮอร์โมนเกินขนาดที่ร่างกายรับได้ อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง  5.) ไม่เล่นมือถือก่อนนอนเพราะทำให้ลดการหลั่ง Growth hormone และควรนอนติดต่อกัน 7-8 ชั่วโมง  6.) กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  7.) ผ่าตัดยืดกระดูกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/เดือน โดยต้องยอมรับความเจ็บและราคาแพง  8.) ควรนอนช่วง 3-4 ทุ่ม เพื่อให้ได้หลับลึกที่เที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงที่ Growth hormone หลั่งออกมามากที่สุด  9.) กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว พร้อมการออกกำลังกาย แต่ถ้าเห็นว่ามันยากนัก (เพราะเด็กในปัจจุบันชอบเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ) ทางออกที่ง่ายกว่าคือ การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิด CBP หรือ Concentrated Bioactive Protein ที่มีในนมวัว         กล่าวกัน (ในโฆษณา) ว่า ในนมวัว 1 ลิตรมี CBP เพียง 1.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้นในสายตาของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงคิดว่า การดื่มนมเพียงอย่างเดียวดูจะได้ CBP ไม่พอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ต้องมีตัวช่วยมาเสริมให้เด็กมีโอกาสสูงได้เต็มศักยภาพที่ควร โดยการกิน CBP ที่ถูกอัดไว้ในแคปซูลที่วางขายในตลาดเมืองไทยและระบุว่า ใน 1 แคปซูล มี CBP สูงถึงเกือบ 100  มิลลิกรัม ซึ่งถ้าคำนวณด้วยบัญญัติไตรยางศ์แล้วการกินสินค้า 1 แคปซูล ดูเสมือนได้กินนมกว่า 50 ลิตร พร้อมด้วยวิตามินบางชนิดที่จำเป็นต่อความสูง (ในปริมาณที่น่าจะเกินพอต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน) เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้กิน ซึ่งจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย คือ พันธุกรรมที่อาจเป็นอุปสรรคได้ เพราะถ้าเถือกเถาเหล่ากอตัวเตี้ยมาตลอดลูกหลานคงไม่สูงเกินศักยภาพทางพันธุกรรม ยกเว้นมีการกลายพันธุ์         สรุปแล้วมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างถึง CBP ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มส่วนสูงของผู้บริโภคตั้งแต่วัย 3-18 ปี โดยช่วยให้มีสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์แบบ กระดูกแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ จนดูหุ่นดี และสินค้านี้ยังช่วยป้องกันโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน ในผู้บริโภคผู้ใหญ่ใกล้วัยชรา อย่างไรก็ตาม prerequisite (แปลเป็นไทยว่า ข้อกำหนดเบื้องต้น) คือ ผู้บริโภคต้องมีสตางค์พอ เพราะราคาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตกแคปซูลละ 17 บาท ถึง 50 บาท ขึ้นกับว่าขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ใด (หรืออาจขึ้นอีกว่าเป็นของแท้ด้วยหรือไม่)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ CBP นั้นมีแนวโน้มในการช่วยเด็กให้เติบโตเพิ่มขึ้นจริงหรือ แนวคำตอบคือ ถ้าเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะสูงได้ 180 เซนติเมตร ตามพันธุกรรมของตระกูล (คือมีคนในตระกูลที่เป็นผู้ชายสูงได้เฉลี่ยประมาณนี้) แต่มีพฤติกรรมชีวิตที่ไม่เหมาะสมเช่น กินอาหารไม่ครบห้าหมู่ นอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เอาแต่เล่นเกมส์ในมือถือ ฯลฯ โอกาสสูงถึง 180 เซนติเมตรย่อมน้อยลง ถึงจะกิน CBP ตามที่ฉลากบอกไว้ก็คงหวังยาก แต่ถ้ากินแล้วปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมแบบที่วัยรุ่นที่ดีควรทำ ความสูงก็ควรขึ้นได้ถึงจุดที่ควรเป็น         ต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน ซึ่งน่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักจากการออกกำลังกายได้ เพราะมีบทความวิชาการที่อ้างว่า โปรตีนในนมมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อของผู้บริโภค บทความนั้นชื่อ Dietary protein recommendations and the prevention of sarcopenia (sarcopenia หมายถึง ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย) ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care ของปี 2009 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า มวลกล้ามเนื้อของมนุษย์ลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโดยมีไขมันเข้ามาแทนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในองค์ประกอบของร่างกายนั้นสามารถชะลอ ป้องกัน หรือย้อนกลับได้บ้างเป็นบางส่วน ด้วยการฝึกความแข็งแรงควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงหรืออาหารเสริมที่มีโปรตีน         สิ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจไม่เคยสนใจรู้คือ สมัยก่อนถือว่าเวย์โปรตีนเป็นของเหลือจากการผลิตเนยเหลวหรือ butter และเนยแข็งคือ cheese ทั้งนี้เพราะนมสดที่ได้มาสดๆ และยังไม่ได้ดำเนินการใดนั้น เมื่อทิ้งไว้สักพักจะเกิดการแยกส่วนและตกตะกอน โดยส่วนที่มีไขมันสูงซึ่งมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจะแยกตัวลอยขึ้นมาอยู่ชั้นบนเป็นครีม (cream) ที่ถูกแยกนำไปใช้ทำเนย butter ในขณะที่เนยแข็งหรือ cheese นั้นทำมาจากส่วนที่ตกตะกอนอยู่ชั้นล่างซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสุดท้ายที่เหลือคือ ของเหลวซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ดี กรดอะมิโนอิสระบางชนิดรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นนิยมนำของเหลวนี้ไปใช้ทำอาหารสัตว์ แล้วพบว่าสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงมีการศึกษาของเหลวส่วนนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า มีโปรตีนสำคัญที่มีองค์ประกอบเป็นกรดอะมิโนชนิด branched-chain amino acid  ได้แก่ ลิวซีน (leucine), ไอโซลิวซีน (isoleucine), และ เวลีน (valine) ในสัดส่วนที่สูง กรดอะมิโนทั้งสามมีความสำคัญต่อการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อทดแทนส่วนที่สูญเสียระหว่างการออกกำลังกายหนักและใช้แป้งเป็นพลังงานหมดไปแล้ว จนต้องสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายหนัก เพราะกรดอะมิโนทั้งลิวซีน ไอโซลิวซีนและเวลีนนั้นถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ดังนั้นเมื่อใดที่ออกกำลังกายจนได้กลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งเปลี่ยนมาจากกลุ่มอะมิโนของกรดอะมิโนทั้งสามที่ถูกตัดออกเพื่อเอาส่วนที่เหลือไปผลิตเป็นสารเข้าสู่กระบวนการสร้างพลังงาน         ทุกวันนี้ในท้องตลาดมีเวย์โปรตีนขายอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดที่มีราคาถูกสุดคือ เวย์โปรตีนคอนเซนเทรท (whey protein concentrate) ซึ่งมีความเข้มข้นโปรตีนอยู่ประมาณ 70-80% มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน กลิ่นรสตามธรรมชาติเหมือนนม ส่วนเวย์โปรตีนไอโซเลต (whey protein isolate) ซึ่งได้จากการนำเวย์โปรตีนคอนเซนเทรทมาผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มความเข้มข้นของโปรตีนสูงถึงกว่า 90% พร้อมทั้งราคาเพิ่มขึ้น ชนิดที่สามคือ เวย์โปรตีนไฮโดรไลเซต (whey protein hydrolysate) นั้นเป็นการนำเวย์โปรตีนมาย่อยด้วยเอ็นซัมเฉพาะเพื่อเปลี่ยนโมเลกุลของโปรตีนให้เล็กลงเป็นเปปไทด์ที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 100% ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วเปปไทด์ถูกร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีน และมีงานวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า เวย์โปรตีนช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีและอื่นๆ         บทความชื่อ Consumption of fat-free fluid milk after resistance exercise promotes greater lean mass accretion than does consumption of soy or carbohydrate in young, novice, male weightlifters ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ของปี 2007 ให้ข้อมูลว่า การดื่มนมที่เอาไขมันออกไปแล้วเหลือแต่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่นั้นช่วยในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อของนักยกน้ำหนักวัยเยาว์ดีกว่าการดื่มนมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีแป้ง         ในการโฆษณาขายสินค้านั้นมักระบุว่า เวย์โปรตีนมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ ลิวซีน ซึ่งมีบทความเรื่อง Signaling pathways and molecular mechanisms through which branched-chain amino acids mediate translational control of protein synthesis ในวารสาร Journal of Nutrition ของปี 2006 ได้กล่าวว่า ลิวซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสูงที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สูญเสียเมื่อเทียบกับกรดอะมิโนอื่นทำให้สรุปได้ว่า เวย์โปรตีนจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อทั้งในเด็กวัยออกกำลังกายและผู้สูงวัยซึ่งกินโปรตีนต่ำกว่าที่ควร ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เมื่อเชื่อและมีสตางค์พอซื้อสินค้าเหล่านี้กินได้น้นถือว่าเป็นบุญของผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์พอซื้อของแพงกิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 เมียอาชีพ : อย่าลืมกรอกใบสมัครก่อนเข้างานด้วยนะ

                       เพียงเห็นแค่ชื่อเรื่องของละครโทรทัศน์ “เมียอาชีพ” ก็รู้สึกสนเท่ห์ใจขึ้นโดยพลันว่า บทบาทความเป็น “เมีย” ในยุคสมัยนี้ ได้เขยิบจากพื้นที่ของครัวเรือน กลายมาเป็น “งานอาชีพ” อีกแขนงหนึ่งของบรรดาคุณผู้หญิงทั้งหลายไปเสียแล้วเหรอ ???        เมื่อพูดถึงคำว่า “งาน” แล้ว สังคมไทยค่อนข้างกำหนดนิยามความหมายของ “งาน” เอาไว้กลางๆ และกว้างๆ ตั้งแต่ความเป็นงานที่ดูจริงจังและเป็นความจำเป็นในชีวิต ดังเช่นบรรดาภาระงานหรือหน้าที่การงานต่างๆ ไปจนถึงความเป็นงานที่ดูไม่ขึงขังไม่จริงจัง หากแต่บันเทิงเริงรมย์กันอีกต่างหาก อย่างงานอดิเรก งานปาร์ตี้ หรืองานเทศกาลเฉลิมฉลอง         แต่หากกล่าวจำเพาะมาที่ “งานอาชีพ” ด้วยแล้ว ก็น่าจะหมายถึงภาระงานที่ผู้คนประกอบขึ้นเป็นสัมมาอาชีวะ เช่น งานทำไร่ทำนา งานราชการ งานอาชีพค้าขาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่นำมาซึ่งผลตอบแทนเชิงเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของรายรับ รายได้ หรือเงินเดือน         ดังนั้น เมื่อตัวละครอย่าง “ชลลดา” หรือ “ดาว” ได้ก้าวย่างจากความเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง มาสวมบทบาทเป็น “เมีย” และยังต้องเป็น “เมียแบบมืออาชีพ” ด้วยแล้ว บทบาทที่ทับซ้อนในความเป็น “เมียอาชีพ” ของดาว จึงก่อให้เกิดภาพความหมายที่ทั้งเหมือนและผิดแผกไปจากภาพของเมียในแบบที่ผู้คนคุ้นเคยหรือรับรู้กันมาก่อน        ชะตากรรมของดาวเริ่มต้นจากที่เธอเป็นพริตตี้รับงานอีเวนท์โน่นนี่เพื่อเลี้ยงชีพ แต่เมื่อ “สมบัติ” ผู้เป็นบิดา เกิดป่วยหนัก และต้องใช้เงินเป็นแสนเพื่อรักษา ดาวจึงตัดสินใจไปกู้หนี้จาก “มิสเตอร์โรเบิร์ต” โดยมีเงื่อนไขว่า เธอต้องเซ็นสัญญากู้ยืมกับบริษัทเดอะแพลนของเขา        ทว่า เงื่อนไขดังกล่าวกลับทำให้ดาวต้องตกอยู่ในหนี้สัญญาทาสที่ผูกมัดเธอให้ทำในสิ่งที่ไม่ปรารถนา คือการกลายมาเป็นสินค้าในโครงการ “Perfect Wife” ของเดอะแพลน ที่จัดหาสินค้าภรรยาผู้สมบูรณ์แบบให้กับลูกค้าระดับซูเปอร์วีไอพี ตามสโลแกน “perfect match, perfect wife”        จนกระทั่งวันหนึ่ง พระเอกหนุ่มหล่อ “กษิดิศ” ไฮโซเศรษฐีทายาทผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์ Way Ex ได้มาพบปะเจอะเจอกับดาวโดยบังเอิญ แล้วกลายเป็นตกหลุมรักเมื่อแรกเห็น เขาจึงเชื้อเชิญให้ดาวมาทำงานเป็นเลขานุการส่วนตัว โดยในช่วงแรกกษิดิศหารู้ไม่ว่า เขาเองก็คือเป้าหมายหลักของเดอะแพลนที่ส่งดาวมาลวงล่อให้เขารับเธอเป็น “เมียอาชีพ” เพื่อผลประโยชน์ในเม็ดเงินมหาศาลของบริษัทเดอะแพลน         เพราะด้วยชีวิตที่ “ปากก็ต้องกัด ตีนก็ต้องถีบ” แม้ดาวจะไม่ได้ปลื้มปริ่มกับการที่ต้องมาหลอกลวงกษิดิศให้ตกหลุมพรางของมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ตามสูตรสำเร็จของเรื่องเล่าแนวนี้ ยิ่งรู้สึกผิดเธอก็ยิ่งตกหลุมรักเขาจริงๆ เพราะฉะนั้น ด้านหนึ่งเมื่อต้องทำเพื่อเงิน แต่ความเป็น “เมียอาชีพ” ก็ทำให้ดาวต้องสวมบทบาทในวิชาชีพแห่งความเป็นเมียที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดเช่นกัน         แม้ในภายหลัง กษิดิศที่ล่วงรู้ถึงความลับ และยินยอมจ่ายค่าตัวของดาวให้กับมิสเตอร์โรเบิร์ต แต่ด้วยความเป็น “เมียรับจ้าง” ที่เป็น “มืออาชีพ” ดาวก็ต้องบริหารจัดการควบคู่กันไปทั้ง “งานหลวงที่ต้องมิให้ตกขาด” และ “งานราษฎร์ที่ต้องมิให้บกพร่อง” เพราะนับจากวันที่เขาเสียเงินแลกซื้ออิสรภาพให้กับ “เมียอาชีพ” นั้น ดาวก็ต้องทำหน้าที่ภรรยาให้สมกับที่กษิดิศได้กล่าวว่า “ผมซื้อคุณแล้ว คุณก็เป็นของผม”        ในส่วนของ “งานหลวง” ที่เป็นภาระงานนอกบ้านนั้น ดาวก็ต้องเผชิญหน้ากับ “เมตตา” เลขานุการคนเก่าที่วันๆ ก็ต้องคอยเขม่นหาเรื่องดาวที่จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงาน หรือแม้แต่ต้องปะทะต่อกรกับ “จารุณี” อาสะใภ้ของกษิดิศ ที่เบื้องลึกก็หวังจะฮุบกิจการของ Way Ex มาไว้ในมือของเธอ         และเมื่อจารุณีสืบความจริงได้ว่า สถานะของดาวเป็นเพียง “เมียอาชีพรับจ้าง” ของกษิดิศ เธอก็คอยตามรังควานหยามเหยียดฐานะที่ต่ำกว่าของดาว แต่เพราะมนุษย์ก็มีสองมือไม่ต่างกัน ครั้งหนึ่งเมื่อถูกจารุณีตบหน้า และดูถูกว่าเธอเป็น “ผู้หญิงชั้นต่ำ” ดาวก็ตบหน้าอาสะใภ้ของสามีกลับ พร้อมกับพูดให้บทเรียนที่แสบสันว่า “จะสูงจะต่ำ ถูกตบมันก็เจ็บเหมือนกัน”        จนถึงตอนท้ายของเรื่อง ความเป็น “มืออาชีพ” ของดาวได้พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้เธอจะเป็นเลขานุการมือใหม่ แต่ความสามารถที่เท่าทันเกมก็ทำให้เธอสืบจนพบว่า จารุณีวางแผนโกงบริษัท Way Ex ของกษิดิศ พร้อมๆ กับช่วยกอบกู้เครดิตภาพลักษณ์ที่ตกต่ำของลงบริษัทให้กลับมาดูดีในสายตาของบอร์ดบริหารทุกคน        ส่วนพันธกิจ “งานราษฎร์” ของความเป็นภรรยานั้น “เมียอาชีพ” อย่างดาวก็สามารถดูแลภาระหน้าที่ตามบรรทัดฐานแห่งความเป็นเมียได้อย่างเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ        ถึงแม้จะเป็นเพียง “เมียรับจ้าง” แต่ในความเป็นเมียนั้น ดาวก็มี job description ที่ต้องปรนนิบัติพัดวีคุณสามี เธอเริ่มลงมือไปเข้าคอร์สเรียนทำอาหารทำขนมเพื่อเสริมเสน่ห์ปลายจวัก ทุกเช้าต้องดูแลเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก่อนที่เขาจะไปทำงาน รวมไปถึงการดูแลเรื่องบนเตียงมิให้ขาดตกบกพร่อง แบบที่ละครเองก็เลือกฉายภาพฉากฟินๆ ของคู่พระนางให้ผู้ชมได้รื่นรมย์ชมชื่นอยู่เป็นระยะๆ        แม้ในชีวิตคู่จะมีบททดสอบจากทั้ง “แอนนา” ศัตรูหัวใจของดาวที่แอบหลงรักกษิดิศนานมาแล้ว หรือจะมีผู้ชายดีๆ อย่าง “มหานที” เจ้าของบริษัทคู่แข่งของกษิดิศ เข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในชีวิตของดาว แต่บรรทัดฐานที่ “เมียอาชีพ” พึงยึดถือก็ต้องรักเดียวใจเดียว เคียงข้างและซื่อสัตย์กับสามีผู้แม้จะมีอีกสถานะที่เป็นนายจ้างของเธอก็ตาม         ถึงที่สุดแล้ว แม้ตัวละครอย่างดาวจะทำให้เราเห็นว่า บทบาทของความเป็นเมียได้เขยิบปริมณฑลจากพื้นที่ของครัว มาเป็นเมียที่กรอกใบสมัครเข้าทำงานเป็นอาชีพ แถมมีรายได้รายรับพ่วงติดมาด้วยเฉกเช่นแวดวงอาชีพอื่นๆ ก็ตาม แต่เพราะความเป็น “เมียอาชีพ” นั่นเอง เธอก็ต้องมีบางสิ่งบางอย่างที่มากไปกว่า “เมียสมัครเล่น” ที่รับรู้กันโดยทั่วไป        เมื่อดูละครจบลง คำถามที่ชวนฉงนใจยิ่งก็อยู่ที่ว่า แม้จะก้าวเข้าสู่สถานะของ “เมียอาชีพ” กันแล้ว นอกจากผู้หญิงพึงต้องรู้จักบริหาร “ความเป็นเมีย” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดตามภาระงานที่ระบุไว้ แต่ในอีกฟากหนึ่ง การดำรงไว้ซึ่งจริยธรรมแห่งภรรยาที่ซื่อสัตย์แสนดีโดยไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมๆ ก็ยังเป็นคำตอบให้ผู้หญิงคนหนึ่งใช้ก้าวข้ามจาก “เมียสมัครเล่น” เป็น “เมียอาชีพ” ก่อนจะกลายเป็น “เมียที่ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้” ตามจารีตปฏิบัติที่สังคมยึดถือและต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ฟรีแลนซ์กับการผ่อนคอนโด

        อาชีพรับจ้างอิสระหรือที่เรียกภาษาปากว่า ฟรีแลนซ์ นั้นให้อิสระได้จริงเพราะไม่มีสังกัดหรือขึ้นตรงกับใคร รับทำงานเฉพาะกับคู่สัญญาจ้าง บริหารเวลาได้เอง แต่ขณะเดียวกันเมื่อต้องทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันด้านการเงินจะค่อนข้างมีปัญหาเพราะรายได้ขึ้นอยู่กับการรับงานจ้าง ไม่ได้รับประจำเป็นเงินเดือน การตัดสินใจมีทรัพย์สินอย่างคอนโดมีเนียมซึ่งต้องใช้สินเชื่อ อาจไม่ผ่านการพิจารณา อย่างไรก็ดีฟรีแลนซ์บางท่านแม้ทราบดีถึงข้อจำกัดตรงนี้แต่บางครั้งก็ถูกโน้มน้าวให้ตัดสินใจพลาดได้ อย่างเช่นกรณีของคุณวิมล         คุณวิมลเป็นครูสอนโยคะ พักอาศัยอยู่แถวรามคำแหง วันหนึ่งในปลายปี 2560 เดินผ่านโครงการคอนโดมิเนียมที่เปิดขายอยู่ในย่านรามคำแหงรู้สึกสนใจจึงแวะเข้าไปเพื่อสอบถามข้อมูลกับพนักงานขายของโครงการ หลังจากได้ฟังคำชักชวนต่างๆ ก็ค่อนข้างพอใจ จึงลองสอบถามเรื่องการขอสินเชื่อ เพราะตนเองนั้นทำงานเป็นฟรีแลนซ์พอจะทราบมาบ้างว่า การขอสินเชื่อไม่ง่าย         ถึงตรงนี้พนักงานขายแสดงข้อมูลกับคุณวิมลว่า ทางโครงการของเรามีระบบบัญชีที่สามารถติดต่อกับทางธนาคารต่างๆ ได้โดยตรง ถ้าตัดสินใจซื้อกับทางเรา “สินเชื่อผ่านแน่นอน” เมื่อเห็นท่าทางมั่นอกมั่นใจของพนักงานและการแสดงประวัติต่างๆ ประกอบกับชื่อเสียงของบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการคอนโดมิเนียมนี้ คุณวิมลจึงวางเงินจองเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 และจ่ายเงินอีก 50,000 บาทในวันทำสัญญา คือ วันที่ 25 ธันวาคม 2560 จากนั้นก็ผ่อนชำระเรื่อยมาเดือนละ 4,300 บาท จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563         เมื่อโครงการฯ เสร็จทางบริษัทติดต่อคุณวิมลให้เข้าไปตรวจสอบและโอนกรรมสิทธิ คุณวิมลได้ดำเนินการขอสินเชื่อกับธนาคารสี่แห่ง ซึ่งถูกปฏิเสธทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้คุณวิมลประเมินแล้วว่า ตนเองคงผ่อนไม่ครบแน่ จึงขอยกเลิกสัญญาและขอเงินจองและเงินดาวน์ที่ผ่อนไปคืน แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้ไหมจึงปรึกษามา  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ส่งตัวอย่างหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนให้ผู้ร้องใช้เป็นตัวอย่างในการทำหนังสือยกเลิกสัญญา เพื่อให้ทางโครงการฯ ตอบกลับมาว่าจะดำเนินการอย่างไร และพร้อมช่วยเรื่องเจรจาไกล่เกลี่ย หากตกลงกันไม่ได้         กรณีของคุณวิมลนี้ เข้าข้อกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 เรื่องเข้าทำสัญญา...มาตรา 378 เรื่องเงินมัดจำ...มาตรา 379 เรื่องลูกหนี้ให้สัญญาแก่เจ้าหนี้... และมาตรา 383 กรณีเบี้ยปรับสูงเกินควร         กล่าวคือ เงินจองหรือเงินมัดจำตามกฎหมาย หากผู้บริโภควางให้ผู้ประกอบการไว้แล้ว ต้องการยกเลิกสัญญาเงินส่วนนี้จะถูกริบ ยกเว้นว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญาเสียเองก็จะต้องคืนให้ผู้บริโภค ทั้งนี้ จะเข้าเงื่อนไขเป็น เงินจอง หรือ เงินมัดจำ หรือไม่ ยังขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีด้วยว่าเจตนาของทั้งคู่ตั้งใจให้เป็นการชำระหนี้หรือกำหนดไว้ในสัญญาเลยว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าห้องชุดด้วย ส่วนเงินดาวน์ที่ผ่อนไปก่อนมีการโอนกรรมสิทธิ์ แต่หากผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญา แล้วผู้ประกอบการริบเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เงินส่วนนั้นจะมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน สามารถฟ้องให้ศาลพิพากษาให้ลดลงเหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ จะริบทั้งหมดไม่ได้         กรณีของคุณวิมล หากตกลงไกล่เกลี่ยกับทางบริษัทฯ ไม่ได้ คุณวิมลต้องใช้การฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >