ฉบับที่ 230 ผมอาถรรพ์ : ผม...ใครคิดว่าไม่สำคัญ

        ผม” มีสถานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แม้ว่าตามนิยามในพจนานุกรมจะมองว่า เส้นผมเป็นเพียงแค่ “ขนที่ขึ้นอยู่บนศีรษะ” หากทว่าผมก็อาจมีความสำคัญเกินกว่าที่เราจะตระหนักรู้ได้ โดยเฉพาะกับบรรดาคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย         ในละครโทรทัศน์แนวภูตผีเรื่อง “ผมอาถรรพ์” ก็ดูเหมือนจะออกแบบเนื้อหาให้เวียนวนอยู่กับความสำคัญของเส้นผมที่ขึ้นอยู่บนหนังศีรษะของผู้หญิงและคนเรา แบบเดียวกับที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง         เรื่องของเส้นผมที่ “ใครๆ อาจคิดว่าไม่สำคัญ” เริ่มขึ้นเมื่อเกิดเหตุ “เกศินี” นางแบบสาวสวยที่กำลังโด่งดังเปรี้ยงปร้าง ได้ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงมาจากคอนโดหรูของเธอ แม้หลักฐานของตำรวจจะยืนยันว่า เกศินีฆ่าตัวตายเอง แต่เพื่อนสนิทของเธอที่ชื่อ “มินตรา” กลับไม่ยอมรับ และเห็นว่า นั่นน่าจะเป็นฆาตกรรมอำพรางมากกว่า โดยมีพระเอกหนุ่มไฮโซอย่าง “กวิน” เป็นผู้ต้องสงสัยนับจากฉากเปิดเรื่อง         ด้วยเลือกจะฝืนอำนาจแห่งยมทูตไม่ให้นำพาดวงวิญญาณของเธอไปยังปรภพ เกศินีจึงกลายสภาพเป็นวิญญาณผีเร่ร่อนและโดดเดี่ยว เมื่ออีกด้านหนึ่งเธอเองก็ไม่หลงเหลือไฟล์ความทรงจำว่า เกิดอะไรขึ้นในวันที่เธอร่วงหล่นมาจากตึกจนเสียชีวิต         คู่ขนานไปกับการดำรงอยู่เป็นวิญญาณเร่ร่อนเดียวดายนั้น อีกเงื่อนปมหนึ่งซึ่งละครได้ผูกเกลียวไว้ ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “เจน” แฟนคลับโรคจิตที่เคยมีเรื่องโกรธแค้นเกศินีตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ลอบมาเปิดโลงศพ และตัดผมอันยาวสลวยที่เกศินีทั้งรักทั้งหวงไปจากศพของเธอ เพื่อจะนำไปทำวิกผม         แต่เพราะเส้นผมเป็นสิ่งที่เกศินีรักยิ่งชีวิต วิญญาณของเธอจึงได้เข้ามาสิงสถิตอยู่ในวิกผม และเปล่งอำนาจคืนชีพขึ้นมา เพื่อสืบค้นความจริงเรื่องการฆาตกรรม และแก้แค้นตัวละครทั้งหลายที่เคยทำร้ายจนเป็นต้นเหตุให้วิญญาณเธอถูกพรากออกไปจากร่างก่อนวัยอันควร         ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เกศินีถูกผลักให้เข้าไปอยู่ในวังวนของการถูกกระทำทั้งกาย วาจา และจิตใจ เพราะเมื่อเธอต้องเล่นบทบาททางอาชีพเป็นดารานางแบบชื่อดัง ทั้งความงาม เรือนร่าง และเส้นผมสีดำสลวยของเธอ ก็ไม่ต่างจาก “ปัจจัยการผลิต” อันนำมาซึ่งรายได้และชื่อเสียง แต่ในเวลาเดียวกัน ความงามและเส้นผมก็กลายเป็นภัยคุกคามที่รายล้อมอยู่รอบตัวเธอตลอดเวลา         ตั้งแต่การต้องกลายเป็นศัตรูกับคนในแวดวงนางแบบอย่าง “เจ๊จิ๋ว” และ “แพรทอง” ผู้ทำให้เกศินีเรียนรู้ว่า ในสังคมเยี่ยงนี้ มนุษย์อาจไม่มีมิตรแท้ หากแต่เป็นศัตรูที่มาแก่งแย่งช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างกัน หรือการที่เกศินีถูกหักหลังจาก “หยก” พี่เลี้ยงนางแบบที่เธอไว้ใจ แต่อีกด้านก็เป็นประหนึ่ง “แม่เล้าไฮโซ” ที่คอยจัดหานางแบบสาวๆ มาป้อนบำเรอแก่ “เสี่ยมงคล”         และยิ่งไปกว่านั้น การที่เธอแอบคบหากับ “ปกรณ์” ช่างภาพหนุ่ม ซึ่งแท้จริงแล้ว ก็ให้บทเรียนแก่เกศินีว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” เพราะเขาเองไม่เพียงแต่อยู่เบื้องหลังเป็นฆาตกรที่ผลักเธอตกตึกจนถึงแก่ชีวิต หากทว่ายังหลอกใช้เธอ ไม่ว่าจะตอนยังมีลมหายใจ หรือแม้จะตายกลายเป็นวิญญาณผีร้าย ก็ยังถูกชายคนรักหลอกเลี้ยงไว้เป็นเครื่องมือก้าวขึ้นสู่อำนาจและความมั่งคั่งร่ำรวย        เพราะที่ผ่านมา ชีวิตของเกศินีแทบจะหาคนที่ไว้เนื้อเชื่อใจจริงๆ ได้เลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตายลง เธอก็ยังถูกพรากเส้นผมอันเป็นของรักของหวงออกไปจากเรือนร่างที่ไร้ชีวิตอีก จึงไม่แปลกที่ความแค้นอันสั่งสมเหล่านี้ ทำให้จิตสำนึกที่ฝังลึกในใจของเธอค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป         หากเราย้อนกลับไปดูวิธีคิดของสังคมยุคก่อน เส้นผมกับผู้หญิงถือเป็นตัวแปรที่ต่างกำหนดความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บทชมโฉมนางในวรรณคดีก็ไม่พ้นต้องมีการชื่นชมเส้นเกศเกศาของอิสตรี หรือเครื่องประดับของทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้านก็ต้องมีส่วนที่เกี่ยวพันกับเส้นผมของผู้หญิงอยู่เสมอ         ด้วยเหตุนี้ เส้นผมจึงเป็นเครื่องหมายแสดงอัตลักษณ์ตัวตนของสตรีเพศ ขณะเดียวกับที่ผู้หญิงก็ดูจะมีความรื่นรมย์ในการบำรุงรักษาเส้นผมของเธอมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ และที่สำคัญ ทุกครั้งที่สังคมจะมีการลงทัณฑ์ต่อสตรีผู้มีวิถีปฏิบัติเบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐาน การกล้อนผมเพื่อประจานต่อสาธารณะ ก็เป็นหนึ่งในกุศโลบายแห่งการใช้อำนาจที่สังคมกระทำต่อร่างกายและจิตใจของผู้หญิง        เนื่องจากเส้นผมกลายเป็น “ปัจจัยการผลิต” ของผู้หญิง ที่สืบต่อกันมาตั้งแต่สังคมยุคอดีต ดังนั้น การพรากเอาเส้นผมที่เกศินีรักยิ่งไปจากร่างที่ไร้ชีวิตของเธอ จึงไม่ต่างไปจากการลงโทษลงทัณฑ์ที่สังคมกระหน่ำทำร้ายตัวละครที่เป็นวิญญาณผีเร่ร่อนอยู่นั่นเอง        เหตุแห่งปัจจัยดังกล่าวจึงเป็นที่มาที่วิญญาณของเกศินีต้องออกอาละวาดเข่นฆ่าทุกตัวละคร ซึ่งต่างเป็นต้นเหตุแห่งความอาฆาตแค้น ด้วยวิธีบีบบังคับให้ใครต่อใครสวมวิกผมอาถรรพ์ เพื่อกำกับควบคุมร่างกายและจิตวิญญาณของจำเลยเหล่านั้น พร้อมกับประโยคที่เธอกำกับสั่งการว่า “สวมวิกเดี๋ยวนี้...!!!”         ภายใต้อำนาจอาถรรพ์แห่งวิกผมที่ตอบโต้ต่อกรกับอำนาจของสังคมที่กระทำต่อวิญญาณเกศินี เธอเองก็ได้คำตอบเมื่อเริ่มลิ้มรสของการเข่นฆ่าครั้งนี้ว่า “มันอาจจะยากตอนแรก แต่ตอนหลังมันก็เริ่มง่าย และมันทำให้ฉันมีความสุขมาก...ฉันจะส่งคนเลวๆ ที่รังแกฉันให้ตายไปลงนรกทุกคน”        การออกไล่ล่าและเข่นฆ่าตัวละครที่ตกเป็นจำเลยของเกศินีคนแล้วคนเล่า อาจสื่อความเป็นนัยได้ว่า สำหรับผู้หญิงแล้ว ไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือหมดสิ้นลมปราณไป พวกเธอก็ยากจะหลุดพ้นจากบ่วงของกติกาอำนาจบางอย่างที่สังคมเข้ามากำกับเอาไว้ แต่เมื่อเธอได้ลิ้มรสชาติความรู้สึกแห่งการลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจนั้น แม้อาจจะยากในช่วงแรก แต่ก็ไม่ยากเกินไปนักที่ผู้หญิงจะเริ่มต้นและเรียนรู้แต่อย่างใด         มาถึงฉากจบของเรื่อง ในด้านหนึ่งละครก็ยังเลือกใช้สูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ที่พระเอกหนุ่มกวินกับนางเอกสาวมินตราได้ลงเอยครองคู่กันอย่างมีความสุข หรือฉายภาพไฟแค้นที่มอดไหม้ลงของเกศินี หลังจากที่เธอได้ฆ่าปกรณ์คนรักหนุ่มให้ตายตกไปตามกัน พร้อมๆ กับเสียงอโหสิกรรมที่เกศินีกล่าวโทษตนเองว่า เธอเป็นคนผิดตั้งแต่เริ่มต้นไปรักเขา จนเป็นเหตุให้ “เพราะรักจึงยอมไว้ใจ” และ “เพราะรักจึงยอมทุกอย่าง”         แต่ถึงกระนั้น อย่างน้อยละครก็เปิดมุมเล็กๆ ให้เกศินีได้ไตร่ตรองและทดลองเรียนรู้ว่า หาก “ชีวิตที่เป็นของผู้หญิง” “จิตวิญญาณที่เป็นของผู้หญิง” หรือ “เส้นผมที่เป็นของผู้หญิง” ถ้าผู้หญิงไม่ลุกขึ้นมาพิทักษ์ปกป้องสิทธิบนร่างกายและจิตวิญญาณของเธอเองแล้ว กลไกอำนาจบางอย่างก็พร้อมจะพรากสิทธิอันชอบธรรมเหล่านั้นไปจากร่างและวิญญาณของพวกเธอเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >