ฉบับที่ 258 กินให้อายุยืน

        ราว 440 ปีก่อนคริสตกาล แพทย์ชาวกรีกชื่อ ฮิปโปเครติส กล่าวว่า "จงยอมให้อาหารเป็นยาและปรับให้ยาของท่านเป็นอาหาร (Let food be thy medicine and let thy medicine be food)" ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้กล่าวถึงอย่างมาก แต่มักไม่ให้คำอธิบายเชิงวิชาการได้ว่า ทำไมจึงควรกินอาหารจานใดหรือรูปแบบใดเป็นประจำเพื่อให้มีอายุที่ยืนยาวกว่าที่น่าจะเป็น         Wikipedia ได้ให้ข้อมูลถึงพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุด 3 กลุ่มในโลก ได้แก่ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา โดยเรียกคนใน 3 กลุ่มนี้ว่าอาศัยอยู่ใน “Blue Zone” ซึ่งหมายถึงบริเวณที่มีประชากรอายุมากเกินกว่า 100 ปีอาศัยอยู่เป็นจํานวนมาก ไม่ใช่เพียงแค่อายุยืนยาวเพียงอย่างเดียว แต่สุขภาพกายรวมถึงความจําและสุขภาพจิตก็ดีมากอีกด้วย         บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Effect of Calorie Restriction on Mood, Quality of Life, Sleep, and Sexual Function in Healthy Non-obese Adults: The CALERIE 2 Randomized Clinical Trial ในวารสาร JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ได้ระบุว่า การศึกษาหลายเรื่องเกี่ยวกับการมีอายุยืนนั้นได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในคำกล่าวที่ว่า มีการใช้อาหารเป็นยา ซึ่งได้มาจากการเฝ้าสังเกตทั้งปริมาณและประเภทอาหาร รวมถึงช่วงเวลาการกินหรือไม่กินอาหารก็ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยสำคัญด้วย โดยปัจจัยที่สามเกี่ยวกับช่วงเวลาการกินนั้นได้ถูกกล่าวไว้ในบทความเรื่อง The role of intermittent fasting and meal timing in weight management and metabolic health ในวารสาร Proceedings of the Nutrition Society ของปี 2020 ที่ระบุว่า ความตั้งใจอดอาหารเป็นครั้งคราว (fasting-mimicking diet) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีสุขภาพที่ดี         ข้อสังเกตประการหนึ่งจากบทความใน JAMA Internal Medicine ของปี 2016 ข้างต้นคือ มีคำแนะต่อการทำวิจัยในประเด็นนี้ว่า แทนที่จะมุ่งเป้าไปที่แคลอรี่ของอาหารเป็นสำคัญนั้น การทำวิจัยควรมุ่งเป้าไปที่รูปแบบอาหารที่ช่วยในการรักษาดัชนีมวลกายหรือ BMI ให้ต่ำกว่า 25 พร้อมทั้งรักษาระดับไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามเพศและวัยที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงการมีร่างกายที่ดูดีไม่มีไขมันเกินด้วย อย่างไรก็ตามการกำหนดรูปแบบอาหารที่เหมาะสมแม่นยำแก่ผู้บริโภคแต่ละคนนั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยหลักฐานที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั้นบ่งชี้ว่า รูปแบบอาหารที่เหมาะสมอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสุขภาพต่างๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งอายุ เพศ และพันธุกรรมของแต่ละคน         งานวิจัยเกี่ยวกับผลของอาหารต่อความยืนยาวของอายุนั้น มักเป็นการทบทวนการศึกษาด้านโภชนาการหลายร้อยเรื่องที่ศึกษาในห้องทดลองตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงมุมมองทางระบาดวิทยา เพื่อระบุหา รูปแบบโภชนาการที่เป็นตัวร่วมของอาหารเพื่อการมีอายุยืนยาวพร้อมมีสุขภาพดี โดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี (เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสาลีไม่ขัดสีที่ใช้ทำขนมปังโฮลวีท) ในระดับกลางถึงสูง กินโปรตีนจากพืชในปริมาณที่ไม่ต้องมากนักเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และการกินปลาเป็นประจำนั้นเชื่อมโยงกับอายุขัยที่เพิ่มขึ้น         พื้นฐานของอาหารที่น่าจะช่วยให้อายุยืนควรเป็นอย่างไร         บทความเรื่อง Nutrition, longevity and disease: From molecular mechanisms to interventions ในวารสาร Cell ของปี 2022 ได้วิเคราะห์การศึกษาหลายร้อยชิ้นที่ตรวจสอบผลของภาวะโภชนาการต่อการแก่ที่ช้าลงในสัตว์ทดลองที่มีช่วงอายุสั้น ในแง่การตอบสนองต่อสารอาหารที่สนใจศึกษา การจำกัดแคลอรี่ การอดอาหาร และการกินอาหารที่มีธาตุอาหารหลักในระดับที่ต่างกัน โดยที่งานวิจัยเหล่านั้นได้วิเคราะห์ภาวะโภชนาการและอาหารจากหลายแง่มุม ตั้งแต่การศึกษาในระดับเซลล์ ต่อไปถึงในสัตว์ทดลอง ก่อนขยายไปถึงการวิจัยทางคลินิกและทางระบาดวิทยาที่ศึกษาวิถีชีวิตของกลุ่มชนใดๆ ในช่วงร้อยปีที่ผ่านไป จนท้ายที่สุดนักวิจัยพบว่า อาหารที่ควรทำให้อายุยืนประกอบด้วย        1. อาหารที่อุดมด้วยพืชตระกูลถั่วและธัญพืชไม่ขัดสีเช่นที่กลุ่มมังสวิรัติ และ Pescatarian (มังสวิรัติที่งดเว้น ไข่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ทุกชนิดแต่กินปลา) กินในชีวิตประจำวัน        2. ร้อยละ 30 ของพลังงานได้มาจากไขมันพืช (น่าจะหมายถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัว) เช่น ถั่ว น้ำมันมะกอก และธัญพืชต่างๆ        3. กินอาหารโปรตีนต่ำแต่เพียงพอจนถึงอายุ 65 แล้วจึงบริโภคโปรตีนในระดับปานกลาง (โดยอาหารที่มีโปรตีนสูงคือ อาหารที่ให้แคลอรีจากโปรตีนรวมร้อยละ 20 หรือมากกว่าต่อวัน)        4. อาหารมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งจริงแล้วคงคลุมไปถึงอาหารที่ไม่หวาน มัน เค็ม        5. เลี่ยงการบริโภคเนื้อแดง (เนื้อที่ต้มแล้วยังมีสีแดงเนื่องจากมีมัยโอกลอบินสูง ส่วนเนื้อขาวนั้นเช่น อกไก่ ซึ่งพอต้มแล้วจะซีด) หรือเลี่ยงเนื้อแปรรูปเช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก โดยเน้นให้กินเนื้อขาวแค่พอเพียง        6. ในวันหนึ่งให้กินอาหารในช่วง 12 ชั่วโมงและอดอาหาร 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน่าจะเป็นการลดการกินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย        7. ปฏิบัติตนตาม fasting-mimicking diet ซึ่งเป็นการวางโปรแกรมอาหารที่จำลองการอดอาหารโดย จำกัดแคลอรี่ให้ไม่เกิน 770 - 1,100 Kcal/วัน โดยเน้นโปรตีนที่มาจากพืช (ถั่วลันเตา ถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืช) เลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ (Low glycemic index) เช่น ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือ ปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำเพียง 5 วันติดต่อกันในแต่ละเดือน (25 วันที่เหลือ เลือกกินให้ดีที่สุด) เป็นระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกัน การปรับรูปแบบการกินอาหารนั้นมีลักษณะเป็นหลักตายตัวหรือไม่         อาหารนั้นควรถูกปรับให้เข้ากับความต้องการของแต่ละบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปต้องระวังการขาดสารอาหารหลัก ตัวอย่างเช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี บางคนอาจมีร่างกายที่อ่อนแอลงถ้ายังกินอาหารที่มีโปรตีนต่ำแต่พอเพียงแบบช่วงชีวิตหนุ่มสาว (โปรตีนต่ำมักนำไปสู่การขาดสารอาหารจำเป็นปริมาณน้อยหรือ micronutrients ด้วยเพราะสารกลุ่มนี้แทบทุกชนิดอยู่ในเซลล์ของเนื้อสัตว์) ดังนั้นจึงควรเข้าใจในการประเมินว่า ร่างกายของผู้สูงอายุนั้นอยู่ในสภาวะมีสุขภาพดีหรือไม่ โดยดูง่าย ๆ ว่า ถ้ายังคงกินอาหารแบบเดิมแล้วในหนึ่งปีเป็นหวัดบ่อยหรือไม่ คำแนะนำนี้อาศัยหลักว่า ไข้หวัดมักเกิดเมื่อภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลงกว่าที่ควร ซึ่งมักเกิดเนื่องจากการได้รับโปรตีนและสารอาหารสำคัญที่ต้องการในปริมาณน้อยเช่น สังกะสี ในเนื้อสัตว์ต่ำไป พร้อมไปกับการได้รับวิตามินเอจากเนื้อสัตว์หรือเบต้าแคโรทีนจากผักผลไม้ต่ำกว่าควร สำหรับผู้ที่ไม่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินหรือเป็นโรคอ้วนก็ยังจำเป็นต้องบริโภคคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนสูงเพื่อให้ได้พลังงานโดยไม่เพิ่มการหลั่งอินซูลิน         สำหรับในฉลาดซื้อฉบับต่อไป ของฝากจากอินเทอร์เน็ต จะกล่าวถึงกลุ่มชน 3 กลุ่มคือ ชาวโอกินาวา ชาวบาร์บาเกียและชาวโลมา-ลินดา ซึ่งมีงานวิจัยทำการศึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวถึงรูปแบบการกินอาหารแล้วว่า น่าจะช่วยให้สุขภาพดีและมีอายุยืนนาน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 138 หนทางเพื่อความเป็นอมตะ

ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้ฟังรายการธรรมะทางช่อง 7 ซึ่งพระธรรมโกศาจารย์ แห่งวัดประยูรวงศาวาสได้บรรยายว่า พระพุทธเจ้าเคยเทศน์ให้พระอานนท์ฟังเมื่อเสด็จพักผ่อนกลางวัน ณ ปาวาลเจดีย์ว่า ถ้าใครดำรงชีวิตโดยยึดถืออิทธิบาท 4 แล้วสามารถมีอายุยืนได้ชั่วกัลป์ แต่พระอานนท์ไหวไม่ทันว่ามีความหมายอย่างไร พระพุทธเจ้าจึงทรงปลงอายุสังขารเมื่ออายุ 80 พรรษา เพราะพญามารได้เข้าทูลอารธนาขอให้พระพุทธเจ้าปรินิพพาน(จาก www.kanlayanatam.com ให้นิยามคำว่า 1 กัลป์ คือ 4,320,000,000 ปี มนุษย์) เรื่องนี้ฟังดูก็แปลกดีเพราะหลาย ๆ ท่าน รวมทั้งผู้เขียนเข้าใจว่า อยู่ชั่วกัลป์คือ อยู่ไปเรื่อยๆ แบบฝรั่งเรียกว่า immortal แต่ท่านพระธรรมโกศาจารย์ก็ได้เฉลยไว้ประมาณว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะที่บอกว่า อิทธิบาท 4 ช่วยทำให้อยู่ได้ชั่วกัลป์นั้น หมายความว่า การถือปฏิบัติอิทธิบาท 4 นี้ทำให้ชีวิตคนเรามีความหมายเมื่อยังมีลมหายใจ ซึ่งทำให้ผู้เขียนพอเข้าใจว่า คนที่แม้ยังมีลมหายใจอยู่ถ้าไม่ทำอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวมีประโยชน์ต่อสังคมเสียเลยก็เหมือนคนที่ตายไปแล้ว   สำหรับ อิทธิบาท 4 ซึ่งแปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จช่วยให้อายุยืนนั้น น่าจะหมายถึง การที่เรามีความพอใจที่เกิดมาเป็นคน (ฉันทะ) จึงต้องมีความพากเพียรในการประกอบการงานไม่ขาดตอน (วิริยะ) ไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว โดยทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ (จิตตะ) พร้อมทั้งคอยสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไป (วิมังสา) การประพฤติดังนี้ คนเป็นเท่านั้นที่ทำได้ ในทางวิทยาศาสตร์อาจอธิบายได้ว่า เมื่อเราทำงานแล้วมีความพอใจในผลงานที่ได้ทำ ผลนั้นย่อมกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมา สารนี้ทำให้เซลล์เนื้อเยื่อในร่างกายสมดุล สดชื่น แข็งแรง ดังนั้นเมื่อเทียบกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นนัยกับพระอานนท์ว่า ทรงปรารถนาจะอยู่เป็นกัลป์เพื่อทรงทำงานที่ทรงรักคือ การเผยแพร่พุทธศาสนา น่าจะสามารถทำให้พระองค์มีอายุยืนยาวได้จริงๆ แต่จะได้นานแค่ไหนนั้นคงไม่มีใครตอบได้ เพราะเราคงต้องถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเราอยู่ได้ถึง 1 กัลป์ จะอยู่ไปทำไมและเพื่อใคร บางทีคำถามนั้นอาจจะจบลงที่ว่า ถ้าพระพุทธองค์ยังอยู่จะมีประโยชน์ต่อสรรพสัตว์มากมายแค่ไหนและนั่นคงเป็นคำตอบของการอยู่ไปทำไม และเพื่อใครจริงๆ ดังนั้นเมื่อพุทธศาสนิกชนเข้าใจแล้วว่า ชั่วกัลป์ นั้นเป็นอย่างไร แต่ฝรั่งหรือคนไทยบางคนก็ยังเข้าใจว่า ชั่วกัลป์ คือ ช่วงเวลาที่นานมากๆ นัยหนึ่งคือ นานจนเมื่อนึกถึงการมีชีวิตแล้วกลายเป็นอมตะ จึงมีการแสวงหาอะไรก็ได้มากินหรือใช้กับร่างกาย เพื่อทำให้ร่างกายนั้นอยู่ในสภาวะที่ไม่เสื่อมสลายไป(ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้) ประเด็นเรื่องความเป็นอมตะนั้น ใน www.quackwatch.com มีผู้เขียนบทความน่าสนใจเรื่องหนึ่งชื่อ Position Statement on Human Aging โดยกล่าวในแง่ว่า ในปัจจุบันมีคนเชื่อว่า ความก้าวหน้าทางการแพทย์นั้น ทำให้มีกระบวนการหรือสินค้าที่ป้องกันความแก่(antiaging) มาขายให้แก่คนที่อยากอยู่ยั้งยืนยงชั่วกัลปาวสานได้ ก่อนอื่นท่านผู้อ่านต้องเข้าใจก่อนว่า ทำไมเซลล์ในร่างกายเราถึงแก่ได้ คำอธิบายคือ เซลล์ร่างกายเรานั้นมีการแบ่งเซลล์เมื่อถึงความเหมาะสมหนึ่งคือ อิ่มพลังงาน มีทรัพยากรในเซลล์พอ หรือมีการกระตุ้นให้เกิดการแบ่งเซลล์จากภายนอกเซลล์ ในการแบ่งเซลล์นั้นต้องมีการเพิ่มจำนวนโครโมโซม(ดีเอ็นเอที่ห่อหุ้มด้วยโปรตีน) เป็นสองเท่าของของเดิมก่อน แล้วจึงแยกโครโมโซมออกจากกัน จากนั้นก็มีการแบ่งส่วนที่เหลือของเซลล์ออกเพื่อให้เป็นสองเซลล์ ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งของการเพิ่มจำนวนโครโมโซมคือ ดีเอ็นเอที่เป็นหน่วยพันธุกรรมของเราแต่ละแท่งนั้น มีบริเวณส่วนปลายที่เรียกว่า ทีโลเมียร์ (Telomere) ซึ่งมักจะขาดแหว่งไปทุกครั้งที่มีการแบ่งเซลล์ ในขณะที่เซลล์ก็พยายามซ่อมให้เท่าเดิม ยามที่เซลล์ยังเยาว์อยู่ก็ซ่อมได้ดี แต่เมื่อเซลล์มีอายุเพิ่มขึ้นการซ่อมนั้นก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง จนสุดท้ายนานเข้าก็ซ่อมไม่ได้เลย ทำให้การแบ่งเซลล์ต้องหยุด แล้วเซลล์ก็เริ่มแก่ จึงมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า ถ้าสามารถทำให้การซ่อมทีโลเมียร์สมบูรณ์ได้ เซลล์ก็ไม่น่าแก่ (ความจริงปรากฏการณ์นี้เกิดกับเซลล์มะเร็ง ซึ่งแบ่งตัวได้ตลอดเวลา แต่เป็นการแบ่งแล้วไม่พัฒนาเซลล์ให้ทำงาน) ในบทความของ quackwatch ที่ผู้เขียนเข้าไปดูนั้น กล่าวถึงอายุไขของมนุษย์ว่า เคยมีชาวฝรั่งเศสชื่อ Madame Jeanne Calment ตายเมื่ออายุได้ 122 ปี ในขณะที่ปัจจุบันคนอเมริกันมีอายุไขเฉลี่ยที่ 77 ปี (ใกล้กับความหมายของ 1 กัลป์ ที่กล่าวในตอนต้น) ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 30 ปี จากเดิมคือ 47 ปี เมื่อ ค.ศ. 1900 ดังนั้นในศตวรรษที่ 21 นี้คนอเมริกันควรมีอายุไขเฉลี่ย 90 ปี ถ้าวิทยาการทางการแพทย์ยังพัฒนาไปข้างหน้าดังในปัจจุบัน ในสหรัฐอเมริกามีนักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มที่ทำการศึกษาถึงกระบวนการที่ทำให้ร่างกายมนุษย์แก่ ซึ่งว่าไปแล้วมันน่าจะหมายถึง การแก่ของเซลล์ต่างๆ จนถึงจุดหนึ่งที่ผลรวมของความแก่ทำให้มนุษย์ตาย ความเข้าใจในกระบวนการนี้น่าจะช่วยในการชะลอให้ความแก่เกิดช้าที่สุด แต่ไม่ได้หมายถึงการทำให้มนุษย์หยุดความแก่ได้ ในประวัติศาสตร์จีนก็มีตัวพ่อที่พยายามหาทางต่อสู้กับความแก่คือ จิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ตายเน่าเป็นเหยื่อให้แบคทีเรียกินไปในที่สุด ส่วนอียิปต์โบราณก็พยายามทำมัมมี่ ซึ่งสุดท้ายก็เหลวกลายเป็นศพแห้งอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่พอจะกล่าวว่าสำเร็จเกี่ยวกับมัมมี่ก็คือ มีผู้สร้างหนังเอาความหวังในการทำมัมมี่ของคนโบราณมาหารับประทานไปหลายเรื่อง ความเป็นอมตะนั้นเป็นความฝันอันเลื่อนเปื้อนที่สุด ในหลักศาสนาพุทธแล้ว ใครต้องการเป็นอมตะนั้นพระพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ไปหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากครอบครัวซึ่งไม่เคยมีคนตาย(ซึ่งเป็นไปไม่ได้แม้จะแอบไปตั้งนามสกุลใหม่ก็ถือว่ายังมีโคตรเง่าอยู่) ดังนั้นความหวังสู้ความแก่ หวังเป็นอมตะ โดยไปซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีการโฆษณาในอินเตอร์เน็ตว่า ชะลอหรือหยุดความแก่ได้ ก็เป็นเพียงหวังลมๆ แล้งๆ ในอินเตอร์เน็ตท่านผู้อ่านจะพบข้อมูลในการโฆษณาว่า มีผลิตภัณฑ์ต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสามารถกำจัดอนุมูลอิสระซึ่งเป็นต้นตอของความแก่ของเซลล์ได้ ในความเป็นจริงแล้ว อนุมูลอิสระเป็นเพียงสาเหตุหนึ่งในหลายสาเหตุที่จะทำให้เซลล์หยุดการเจริญเติบโตแล้วเข้าสู่ภาวะ Senescence(biological aging) ซึ่งเป็นการหยุดการแบ่งเซลล์และอยู่เฉยเหมือนคนที่เกษียณแล้ว ไม่ต้องทำงาน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ รอยย่นบนใบหน้า เมื่อใดที่สภาวะนี้เกิดทั่วร่างกายคนผู้นั้นก็ไม่ใช่คนเป็นแล้ว ดังนั้นการป้องกันการเกิดอนุมูลอิสระ เป็นการลดอันตรายที่เป็นผลเนื่องจากอนุมูลอิสระ แต่ไม่ใช่การชะลอความแก่เสียทีเดียว ปัจจุบันในวงการแพทย์บางประเทศซึ่งอาจรวมประเทศไทยด้วย ได้มีสาขาการแพทย์ที่เรียกว่า Geriatric Medicine ซึ่งน่าจะหมายถึงการศึกษาโดยอายุรแพทย์ที่พยายามชะลอความแก่ของคนไข้ ซึ่งส่วนใหญ่คือ คำแนะนำในการปรับปรุงด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย การงดสูบบุหรี่ กินเหล้า เป็นต้น คำแนะนำเหล่านี้เป็นความหวังที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น ดังนั้นปฏิบัติการดังกล่าวจึงควรเกิดขึ้นในสถานพยาบาลไม่ใช่บนอินเตอร์เน็ต เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่าง ไม่มีใครเหมือนกันโดยตรง การแนะนำที่หวังจะชะลอความแก่นั้นต้องจัดพิเศษเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ยังมีการนำคำว่า antiaging medicine มาใช้ในการโฆษณาเพื่อชะลอความแก่ โดยมักเป็นการขาย วิตามินผสมยาบางขนาน ตลอดจนฮอร์โมนเพศบางชนิด โดยมักโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนทางวิทยาศาสตร์ที่กล่าวว่าการใช้ ยา วิตามิน หรือฮอร์โมนเพศ นั้นทำให้แก่ช้าลง ทั้งนี้เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่จะทำให้แก่ช้านั้น เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าการจะจัดการโดยใช้ปัจจัยเดียวได้ อีกประเด็นที่มีการพยายามนำมาใช้ในการแนะนำเพื่อชะลอความแก่คือ การจำกัดปริมาณพลังงานที่ได้รับจากอาหารให้น้อยกว่าที่คนปรกติกิน เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพที่เรียกว่า Lean body คือมีแต่เนื้อ (หุ้มกระดูก) ปราศจากไขมัน เหมือนกับเวลาเราซื้อไก่ ส่วนที่เป็น lean คือ อกไก่ เพราะมีไขมันต่ำ ในการศึกษาเกี่ยวกับการจำกัดพลังงานในอาหารในสัตว์ทดลองนั้น ผลมักปรากฏว่า สัตว์ทดลองนั้นเป็นมะเร็ง(เมื่อถูกกระตุ้นด้วยสารก่อมะเร็ง) น้อยกว่าสัตว์ปรกติที่กินตามใจปาก(ถูกกระตุ้นด้วยสารก่อมะเร็งเดียวกัน) แต่ความรู้นี้ก็ยังไม่สามารถนำไปต่อยอดขนาดทำให้สัตว์ทดลองอายุยืนกว่าปรกติได้ โดยสรุปแล้วบทความเรื่อง Position Statement on Human Aging (ซึ่งเป็นบทความที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร Scientific American Magazine และ Journal of Gerontology: Biological Sciences) นั้นหวังให้ผู้บริโภคตระหนักว่า ความก้าวหน้าทางวิชาการในปัจจุบันยังไม่สามารถประกาศว่า ความแก่ชะลอได้ หรือยืดช่วงอายุของแต่ละคนออกไปได้ เพียงแต่มีแนวโน้มว่า การปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตให้เหมาะสม เช่น การกินอาหารให้ครบถ้วนนั้น น่าจะเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เร่งให้เราแก่เร็วได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 160 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 3

บทเรียนแห่งการมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี อีก 4 บทเรียน มีดังนี้ บทเรียนที่ 5  เข้าเกียร์ต่ำ ใช้ชีวิตให้ช้าลง ผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปีจะมีกระแสแห่งความสงบสันติแผ่ซ่านออกจากตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากร่างกายของพวกเขาเชื่องช้าลงโดยธรรมชาติเมื่อสูงวัยขึ้น  ผลที่ได้จากการปรับชีวิตให้ช้าลงทำให้เกิดความเข้าใจและรับรู้เกี่ยวกับสุขภาวะที่ดีเลิศ  การใช้ชีวิตที่ช้าลงสัมพันธ์กับบทเรียนอื่นๆ ด้วย ได้แก่ กินอาหารที่ถูกต้อง เห็นคุณค่าของเพื่อน หาเวลาในการสำรวจจิตวิญญาณของตนอง ให้ความสำคัญกับครอบครัว สร้างเป้าหมายให้ชีวิต วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่ การลดเสียงรบกวน โดยลดเวลาดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ และท่องอินเตอร์เน็ตลงให้เหลือน้อยที่สุด  การถึงที่หมายก่อนเวลานัด ทำให้ลดความเครียดจากการจราจร การหลงทาง เพื่อให้คุณทำตัวช้าลงและสามารถจดจ่อในงานหรือการประชุมได้  การนั่งสมาธิ โดยกำหนดเวลานั่งสมาธิให้เป็นประจำ บทเรียนที่ 6 มีส่วนร่วม เข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มศาสนาที่นับถือ  คนสุขภาพดีที่มีอายุเกิน 100 ปี ทุกแห่งมีศรัทธาในศาสนา พวกเขาทุกกลุ่มเป็นส่วนหนึ่งของสังคมศาสนาที่เข้มแข็งพฤติกรรมง่ายๆ ของการกราบไหว้บูชานับเป็นหนึ่งในพฤติกรรมทรงประสิทธิภาพแฝง อันอาจเพิ่มโอกาสให้คุณมีชีวิตที่ดีขึ้นมากได้อีกหลายปี   งานวิจัยต่างๆ แสดงผลว่า การเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาแม้เพียงเดือนละครั้ง อาจมีผลต่ออายุขัยของคนผู้นั้น วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การเข้าร่วมของกลุ่มศาสนาที่มีอยู่แล้วให้มากขึ้น  การศึกษาหรือปฏิบัติแนวทางใหม่ที่มีผลให้จิตใจสงบลงและมีกัลยาณมิตร เช่น กลุ่มปฏิบัติธรรมต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครให้กับกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ  การจัดตารางเวลาสัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงต่อเนื่อง 8 สัปดาห์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าว โดยไม่ต้องคิดหรือคาดหวังผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น บทเรียนที่ 7 คนที่เรารัก มาอันดับแรก ผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอันดับแรก  ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยหน้าที่ต่อครอบครัว ประเพณี และให้ความสำคัญที่จะอยู่ด้วยกัน  เมื่อพวกเขาอายุครบ 100 ปี ความทุ่มเทมาตลอดชีวิตก็ผลิดอกออกผล  ลูกหลานต่างตอบแทนความรักความห่วงใยของพวกเขา  ลูกๆ จะดูแลพ่อแม่ และอยู่ร่วมกัน  งานวิจัยหลายชิ้นบ่งชี้ว่า ผู้สูงวัยที่อาศัยอยู่กับลูกหลานเป็นโรคน้อยกว่า ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่า มีความเครียดน้อยกว่า วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การใกล้ชิดกันมากขึ้น การอาศัยในบ้านที่มีขนาดเล็กลงช่วยให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ผูกพันกันและใช้เวลาร่วมกันได้ง่ายกว่า  การสร้างประเพณีของครอบครัว เช่น การกินอาหารด้วยกันทั้งครอบครัวอย่างน้อยวันละหนึ่งมื้อ(หรือสัปดาห์ละหนึ่งมื้อ) และสุดท้าย ครอบครัวต้องมาก่อน บทเรียนที่ 8 อยู่ในกลุ่มชนที่ถูกต้อง การอยู่ในกลุ่มคน ชุมชน หรือหมู่บ้านที่เห็นคุณค่าของการมีสุขภาพและการมีอายุยืน จะช่วยเสริมการใช้ชีวิตที่ส่งเสริมการมีอายุยืน  การเชื่อมโยงทางสังคมเป็นสิ่งที่ฝังแน่นอยู่ในสังคมของผู้มีอายุยืนยาว คนที่มีสังคมกว้างขวางกว่า จะมีชีวิตยืนยาวกว่า วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การค้นหากลุ่มกัลยาณมิตร หาคนที่มีพฤติกรรมที่ดีและคล้ายคลึงกัน  การทำตนให้เป็นที่รักและน่าคบหา  ผูมีอายุยืนยาวไม่มีใครเป็นคนขี้บ่นน่าเบื่อ  และใช้เวลาอยู่ด้วยกันกับกลุ่มกัลยาณมิตร อย่างน้อยวันละ 30 นาที  โดยมาพบปะพูดคุย กินอาหารด้วยกัน ออกกำลังกายด้วยกัน   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 2

จากการสำรวจหาดินแดนที่มีการกระจุกตัวของผู้ที่มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีทั่วโลก พบว่ามีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ เกาะโอกินาวาในญี่ปุ่น  เกาะซาร์ดิเนียในอิตาลี คอสตาริกาในอเมริกากลาง  และสุดท้ายชุมชนเซเว่นเดย์แอ๊ดเวนตีสในลอสแองเจลิส อเมริกา  ซึ่งหมายถึงดินแดนที่มีผู้มีอายุเกินหนึ่งร้อยปีอยู่กันหนาแน่นกว่าที่อื่นใดในโลก แดน บุทเนอร์ นักเขียนและนักค้นคว้าจากนิตยสาร เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบในพื้นที่ทั้ง 4 แห่ง  ลงหาข้อมูลในพื้นที่จริง นำมาวิเคราะห์และหาข้อสรุปของแต่ละพื้นที่ ก่อนนำมาสรุปเป็นภาพรวมของเหตุปัจจัยร่วมที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวกว่า 100 ปีอย่างมีสุขภาพดี  และได้สรุปเป็นแนวทางปฏิบัติที่ทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ไม่ยาก บทเรียนแห่งการมีอายุยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี มีดังนี้ บทเรียนที่ 1 เคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ มีความกระตือรือร้นโดยไม่ต้องคิดหรือบังคับ  ผู้มีอายุเกินร้อยปีจะทำกิจกรรมเบาๆ ไปเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นกิจวัตรประจำวันอยู่แล้ว  เช่น ทำสวน เลี้ยงสัตว์ ทำไร่ กิจวัตรประจำวันที่ดีคือการผสมผสานระหว่างการออกกำลังกาย การทรงตัว และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง  ซึ่งจริงๆ แล้ว การเดิน การทำสวน การทำงานบ้าน เป็นกิจกรรมที่ผสมผสานทุกอย่างได้เป็นอย่างดี วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่ การละความสะดวกสบาย  ใช้ชีวิตให้สนุก เคลื่อนไหวมากๆ  เดินเป็นประจำ การชวนเพื่อนไปเที่ยว การทำสวน การฝึกโยคะ ไทเก๊ก ฤๅษีดัดตน เป็นต้น   บทเรียนที่ 2 ฮารา ฮาจิ บู เป็นการตัดแคลอรีจากอาหารลงร้อยละ 20 อย่างง่ายๆ  ผู้เฒ่าชาวโอกินาวาจะพึมพำภาษิตของขงจื้อ “ฮารา ฮาจิ บู” ก่อนลงมือกินอาหารเพื่อคอยเตือนสติให้หยุดก่อนอิ่ม หรืออิ่มประมาณร้อยละ 80  ทำให้เป็นการลดแคลอรีจากอาหารได้ทุกๆ มื้อ วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การตักอาหารให้อยู่ในจานเดียวแล้วกินเพียงแค่นั้น  การจัดอาหารให้ดูใหญ่ขึ้น ใช้ภาชนะเล็กลง ชั่งน้ำหนักตัวทุกวัน กินให้ช้าลงโดยการเคี้ยวอาหารให้ละเอียดและนานขึ้น  กินอาหารมื้อเช้าให้มากกว่ามื้ออื่นๆ บทเรียนที่ 3 กินผักให้มาก หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป ผู้มีอายุเกินร้อยปีกินอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป  หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ ยกเว้นโอกาสพิเศษซึ่งไม่บ่อยครั้ง  ผู้เป็นมังสวิรัติจะมีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่กินเนื้อสัตว์  ถั่ว ธัญพืชและผักสวนครัวเป็นอาหารหลักของผู้มีอายุเกินร้อยปี วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  กินผัก 4-6 ชนิด ทุกวัน  ลดเนื้อสัตว์  จัดวางผัก ผลไม้ให้เด่นเข้าไว้บนโต๊ะอาหาร  กินถั่วฝัก โดยเฉพาะถั่วเหลือง เต้าหู้  กินถั่วเปลือกแข็งทุกวัน โดยมีของขบเคี้ยวเป็นถั่ว บทเรียนที่ 4 มีจุดมุ่งหมายเดี๋ยวนี้ ผู้มีอายุเกินร้อยปีจะมีความสดชื่น กระปรี้กระเปร่า เพราะมีจุดมุ่งหมายของชีวิต  ผู้ที่มีเป้าหมายชีวิตชัดเจนคือมีบางสิ่งที่มีความหมายรอให้ตื่นขึ้นมาทำตอนเช้า จะมีชีวิตยืนยาวกว่าและคงความหลักแหลมทางจิตใจได้มากกว่าผู้ที่ขาดเป้าหมายชีวิต เป้าหมายชีวิตอาจเป็นเพียงเรื่องธรรมดาเช่น ดูแลให้ลูกหลานเติบโตด้วยดี หรืองาน และงานอดิเรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีความทุ่มเทจริงจังกับงานนั้นๆ วิธีปฏิบัติง่ายๆ ได้แก่  การเขียนเป้าหมายชีวิต  การหาเพื่อนหรือกัลยาณมิตร  การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ  การปฏิบัติธรรม เป็นต้น โปรดติดตามฉบับหน้า อีก 4 บทเรียนนะครับ   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 158 รู้เท่าทันอายุยืนยาว 100 ปี ตอนที่ 1

การอยากมีอายุยืนยาวเป็นความใฝ่ฝันของคนทั่วโลกและทุกยุคสมัย  เพราะชีวิตคือสิ่งที่มีค่าที่สุดของมนุษย์  ในประวัติศาสตร์แต่โบราณมีความพยายามในการแสวงหา “ยาอายุวัฒนะ” มาตลอด ตั้งแต่ยุคการเล่นแร่แปรธาตุใน ค.ศ. 500 - 1500  นักเคมีสนใจการเล่นแร่แปรธาตุให้เป็นทองคำแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงเริ่มมาสนใจค้นหายาอายุวัฒนะที่ใช้รักษาโรค และเริ่มสนใจอย่างมากในปี ค.ศ. 1500 - 1600 จนเกิดตำนานหรือความเชื่อเรื่อง น้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาว (Fountain of Youth) ขึ้น ใครก็ตามที่ได้ลงไปอาบและดื่มน้ำพุแห่งความเป็นหนุ่มสาวนี้ก็จะกลับเป็นหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่ง  ความเชื่อเรื่องน้ำพุศักดิ์สิทธิ์นี้มีอิทธิพลไปทั่วทุกมุมโลก ในหลายศาสนาและหลายลัทธิความเชื่อ  เราจะเห็นความเชื่อต่างๆ เหล่านี้ในอินเดีย อินโดนีเซีย และในไทย ที่มักจะมีบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ในวัด หรือในป่าเขา เมื่อดื่มกินแล้ว โรคร้ายต่างๆ ก็จะหายไป เป็นต้น ในเอเชียเองมีความพยายามค้นหายาอายุวัฒนะเช่นเดียวกัน  ที่มีเรื่องเล่าโด่งดังก็คือ เรื่องของจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งพระองค์เกิดความกลัวว่าจะตายเร็วไป ทำให้ปณิธานที่จะสืบสานนโยบายการรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นยังไม่ลุล่วง  การแสวงหายาอายุวัฒนะของจิ๋นซีฮ่องเต้จึงเริ่มต้นขึ้น โดยมาจากคำบอกเล่าของเหล่าอำมาตย์หรือที่ปรึกษาว่ายาอายุวัฒนะอยู่ที่โพ้นทะเล จิ๋นซีฮ่องเต้จึงส่งเด็ก 500 คน ผู้ใหญ่ 500 คน และคนแก่ 500 คน ออกเดินทางสู่ทะเลทางตอนเหนือ ซึ่งเป็นปากทางของแม่น้ำฮวงโหที่ไหลออกสู่ทะเล แต่ก็ไม่เคยมีใครได้กลับมา เหตุที่ต้องส่งเด็กไปด้วย เพราะต้องใช้เวลาในการแสวงหายาอายุวัฒนะนาน หากเอาผู้สูงอายุไปแม้จะมีประสบการณ์มากกว่า แต่ก็ต้องตาย ดังนั้น จึงต้องมีเด็กเพื่อคอยสืบต่อให้ได้สามชั่วอายุคน นี่เป็นที่มาของการแสวงหายาอายุวัฒนะ และเป็นเรื่องที่เล่าสืบต่อมาอันยาวนาน   ในคัมภีร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านก็มีการบันทึกตำรายาอายุวัฒนะไว้เป็นจำนวนมาก  แต่ละตำรับก็แตกต่างกันไปตามความรู้ ความเชื่อ และสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่นนั้นๆ การแสวงหายาอายุวัฒนะที่จะทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมโดยที่ยังมีสุขภาพดีนั้น ยังคงสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้  ที่น่าสนใจและน่าเชื่อถือได้มากที่สุดคือ การค้นหาแหล่งที่มีผู้ที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลกนี้ว่ามีที่ไหนบ้าง และค้นหาวิธีการที่พวกเขาเหล่านี้ปฏิบัติจนทำให้มีอายุยืนยาวกว่าคนปกติทั่วไป  นี่น่าจะเป็นอายุวัฒนะที่แท้จริงและเชื่อถือได้ แดน บุทเนอร์ นักเขียนสารคดีของนิตยสารจีโอกราฟิก ได้ทำการค้นหาดินแดนที่มีการกระจุกตัวของผู้ที่มีอายุเกิน 100 ปี หนาแน่นหรือมากกว่าปรกติโดยที่ผู้มีอายุเกินร้อยเหล่านี้มีสุขภาพดีและยังทำงานหรือกิจกรรมต่างเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ดินแดนแห่งอายุวัฒนะในโลกนี้มีเพียง 4 แห่ง ได้แก่ เกาะโอกินาวาในญี่ปุ่น  คอสตาริกาในอเมริกากลาง  เกาะซาร์ดิเนียในอิตาลี  และกลุ่มเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสในโลมาลินดา ลอสแอนเจลิส ผู้เขียนได้ทำการศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้ดินแดนเหล่านี้มีผู้มีอายุเกินร้อยปีหนาแน่นและได้สรุปออกมาเป็นคำแนะนำในการปฏิบัติสำหรับทุกคนเพื่อทำให้ทุกคนสามารถมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมได้อีกหลายปีอย่างมีสุขภาพดี  ถึงแม้จะไม่รับประกันว่าจะมีอายุยืนยาวได้ถึง 100 ปีก็ตาม  ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point