ฉบับที่ 185 อารี แซ่เลี้ยว 9 ปี ที่ป้ารอคอย

หากวันที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของ อารี แซ่เลี้ยว ในวันนั้น ใช้เวลามากถึง 9 ปี ในการรอคอยสิ่งที่ยากยิ่งของการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับรัฐ กลับกลายเป็นอีก 1 คดีผู้บริโภคตัวอย่างในวันนี้ ถามว่ามันคุ้มค่าแล้วหรือไม่นับจากบ่ายวันที่ 23 เมษายน 2550 ที่ป้าอารีขึ้นรถเมล์ ขสมก. สาย 4 เพื่อเดินทางจากคลองเตย กลับบ้านพักที่เขตบางกอกใหญ่ เมื่อรถเมล์ขับมาถึงบริเวณแยกสามย่าน คนขับได้เบรกรถกะทันหัน ทำให้อารี หน้ากระแทกราวเหล็กด้านหน้า จนเลือดกบปาก ฟันหักทันที 4 ซี่ หลังเกิดเหตุ คนขับรถเมล์พาป้าอารีส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์ตรวจแล้วต้องถอนฟันที่หักอีก 3 ซี่ ออกด้วย รวมเป็น 7 ซี่ ที่ป้าอารีต้องเสียฟันไปหลังจากวันนั้นเธอก็ไม่เคยได้รับการดูแลหรือเยียวยาใดๆ จาก ขสมก. เลย ป้าอารี ต้องทนกับความทุกข์ทรมานจากการบาดเจ็บแต่เพียงลำพัง จนกระทั่งผ่านไป 2 ปีกว่า  ป้าอารีจึงได้มาขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายกับ ขสมก.  แต่เนื่องจากคดีของป้าอารี อายุความคดีละเมิดเกิน 1 ปีแล้ว ทีมทนายความอาสามูลนิธิฯ จึงต้องใช้เวลาหาทางแก้ไขปัญหาคดีขาดอายุความ โดยในระหว่างนั้นก็เชิญ ขสมก. มาเจรจาไกล่เกลี่ยค่าเสียหายให้กับป้าอารี แต่ถึงกระนั้น  ขสมก. ก็ยังไม่ยอมจ่าย อ้างติดระเบียบที่จ่ายไม่ได้และขอให้ไปฟ้องคดีที่ศาลกันก่อน  ขสมก.ถึงจะจ่ายให้ได้ป้าอารี ไม่มีทางเลือก จึงต้องฟ้องคนขับและ ขสมก. เป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลแพ่ง แต่เหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่ตกลงกันไว้ นอกจาก ขสมก. จะไม่ยอมจ่ายแล้ว ยังสู้คดีกับ ป้าอารีที่เป็นผู้ใช้บริการรถเมล์ ขสมก. ถึง  3  ศาล จนสุดท้ายในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งไม่รับฎีกา ขสมก. เหตุค่าเสียหายและอายุความไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ ส่งผลให้คดีนี้สิ้นสุด รวมเป็นเวลากว่า 5 ปี ที่ป้าอารี ฟ้องคดีต่อศาลให้ ขสมก. ชดใช้ค่าเสียหาย หรือรวมเป็นเวลากว่า 9 ปี นับแต่เกิดเหตุจนถึงวันที่คดีสิ้นสุด     ป้าอารี วัย 62 ปี ย้อนเล่าถึงวันเกิดเหตุว่า “วันนั้นป้านัดกันไปเดินดูงานที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์  จากนั้นเดินทางกลับบ้านด้วยการโดยสารรถเมล์ร้อนสีครีมแดง สาย 4 จากตลาดคลองเตย โดยป้านั่งที่นั่งแบบเดี่ยวถัดไปด้านหลังจากคนขับ 2-3 ที่ เราก็นั่งมาเรื่อยๆ จนถึงสามย่าน เรานั่งเบลอ ง่วง เพราะเพลียจากการเดินในงาน ตอนนั้นประมาณบ่าย 2 ถึงบ่าย 3 ตอนเรานั่งๆ แบบเอียงๆ เอาเข่าหันเฉียงออกมาด้านทางเดิน ตอนนั้นรถก็ขับแบบสบายๆ ไปเรื่อยๆ เราก็เลยคิดว่าไม่มีอะไร แล้วรถก็เบรคอย่างแรง ขนาดที่ว่าเรากระเด็นจากที่นั่งไปกระแทกบริเวณเหล็กกั้นแถวๆ ที่นั่งคนขับ ฟันหลุดทันทีเลย 4 ซี่” แล้วคนอื่นๆ ในรถล่ะคะคนอื่นๆ อีก 4 คนก็ล้มเหมือนกัน แต่ไม่แรงเท่ากับเรา มี 4 คน รวมเราก็เป็น 5 คน เราบาดเจ็บหนักที่สุด ตอนนั้นก็ถามคนขับว่าเกิดอะไรขึ้น คนขับบอกว่ามีมอเตอร์ไซต์ตัดหน้าเลยต้องเบรคกระทันหัน ตัวป้าเองตอนนั้นเลือดกบปาก คนขับไล่คนในรถให้ลงจากรถ ยกเว้นคนที่บาดเจ็บ แล้วพาไปรักษาที่ รพ.จุฬาฯ เขาพาไปก็ไม่ได้สนใจอะไร นั่งอยู่เฉยๆ ส่วนเราฟันหลุดไป 4 ซี่ แล้วก็โยกอยู่อีก 3 ซี่ รวมเป็น 7 ซี่ ฟันที่ร่วงไปตกอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้เราก็หาไม่เจอ ถ้าหาเจอก็เอามาแช่น้ำนมตัดต่อได้  แต่ตอนนั้นเราก็คิดไม่ถึง ป้ารออยู่นาน หมอๆ ก็ยังไม่มา มีแต่นางพยาบาลมาซับเลือดให้  จนมารู้ทีหลังว่าที่คนขับกับเรารอ คือรอบริษัทประกันภัยมาทำเรื่อง  สรุปคือเรารอ 3 ชั่วโมง รอจนเกือบ 1 ทุ่ม พอประกันภัยมาถึงก็บอกให้เราไปรักษาเองนะ ออกเงินไปก่อนรักษาให้หายแล้วค่อยมาเบิกเงินทีเดียว พอเค้าเขียนใบเสร็จส่งให้เรา เราไม่รู้เรื่องก็เอาใบเสร็จเก็บกลับบ้าน พอวันรุ่งขึ้นลูกสาวบอกว่าแม่ต้องกลับไปรักษาที่ รพ.แล้วต้องเอาใบรับรองแพทย์มาด้วย ก็เลยไปด้วยกัน ไปเอาใบรับรองแพทย์กับไปแจ้งความที่โรงพัก พอไปถึงที่ รพ.เจอหมอคนเมื่อวาน  เลยถามหมอว่าฟันที่โยกอยู่อีก 3 ซี่ให้ถอนออกเลยได้ไหม มันเจ็บจนทนไม่ไหวแล้ว แต่หมอไม่ยอมถอนให้เนื่องจากต้องรักษาตามคิว ตอนนั้นคิวก็ยาวมาก คือตอนนั้นไม่ว่าจะพูดอย่างไรหมอก็ไม่ยอมถอนให้ พอออกจาก รพ. ลูกสาวเลยพาไปแจ้งความที่โรงพัก พอแจ้งความเสร็จเราทนเจ็บไม่ไหวแล้ว ลูกสาวจึงพาไปที่ รพ.เอกชน หมอที่ รพ.นี้ถอนฟันให้เรา วันนั้นหมดค่ารักษาไปประมาณ 2,000-3,000 บาท ตอนนี้ฟันล่างของป้าจึงหลอหมดเลย แต่จะทำอะไรต่อไม่ได้นะ ใส่ฟันก็ไม่ได้ เพราะหมอบอกว่าเหงือกเรายังบวมอยู่ ตอนนั้นเจ็บมากดื่มได้แต่นม ทานอาหารไม่ได้เลย เราต้องรอเพื่อจะใส่ฟันปลอมอยู่ประมาณ 7-8 เดือน เพราะต้องให้เหงือกยุบก่อน ซึ่งการไปตรวจแต่ละครั้ง เราต้องเสียเงินเองทุกครั้ง ไม่มีใครมาดูแลเราเลย ก่อนใส่ฟันปลอมเราฟันหลออยู่หลายเดือน เราก็อายเค้า ไม่กล้าไปทำงาน ซึ่งเราทำงานเป็นช่างทำผมอยู่ เรากลุ้มใจมาก เราไม่มั่นใจ ไม่กล้าไปทำงาน แต่โชคดีมีพี่สาวที่คอยช่วยเหลือ ให้เงินเราไปรักษา ส่วนเราก็ไม่ค่อยมีเงินเพราะปกติเรามีรายได้จากการทำงานร้านทำผม แต่พอไม่ได้ทำงานเงินก็หายไปทั้งก้อน เราเป็นลูกน้องเขา  หลังเกิดเหตุ 7-8 เดือนแรก เราไม่ได้ทำงานเลย แต่พอผ่านไปสัก 1 – 2 ปีร้านต้องย้ายไปที่อื่นเนื่องจากหมดสัญญาเช่า เขาก็ต้องให้เราออกจากงาน เพราะเราทำงานให้เขาไม่ได้ ส่วนเรื่องการรักษาที่ รพ.เอกชน ตอนเรายังไม่ได้ใส่ฟันปลอม เราหมดไปสองหมื่นกว่าบาท พี่สาวก็มาบอกว่า บ.สัมพันธ์ประกันภัยที่เป็นคู่กรณีเราจะเจ๊งแล้วนะ ให้เรารีบเอาอันนี้ไปยื่นก่อนเลย ได้กี่หมื่นก็หยวนๆ แล้วค่อยมารักษาต่อทีหลัง พอเรายื่น เรายื่นเอกสารเสร็จเจ้าหน้าที่ก็ให้รอไปเรื่อยๆ โดยเราก็ไม่รู้ว่าอีก 2 อาทิตย์บริษัทจะปิด สรุปก็คือเราไม่ได้เงิน จากนั้นเลยไปติดต่อที่ ขสมก.สาย 4 ซึ่งเป็นอู่จอดรถเมล์สาย 4  เราไปทุกอาทิตย์ไปตามเขาว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะได้เงินค่ารักษาที่เราออกไปก่อน  ทาง ขสมก.ก็ไม่ได้แนะนำเราเลยว่าต้องไปติดต่อที่ไหน อย่างไร เราก็เพิ่งมารู้ทีหลังว่าปกติ ขสมก.มีการเยียวยาค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นแต่ต้องทำเรื่องภายใน 6 เดือน ตอนที่เรามาตามเรื่องที่ ขสมก.คือเข้าเดือนที่ 8  ตอนนั้นในใจป้าคิดว่าคงไม่ได้อะไรแล้วละได้ติดตามเรื่องที่สถานีตำรวจบ้างไหมไปแจ้งความ แต่ทางตำรวจเขาก็ต้องรอประกัน แต่ บ.ประกันมันก็เจ๊งไปแล้วไง เรื่องราวก็เลยยืดเยื้อไปถึงหนึ่งปี เราได้ไปเจอพี่สุคนธา ที่วัดปากน้ำ วันนั้นเราไปไหว้พระ เราเห็นแขนแกเหมือนได้รับบาดเจ็บมาก็เลยถามแก แกบอกว่าเกิดอุบัติเหตุมา จากนั้นก็เล่าเรื่องราวของตัวเองให้ป้าสุคนธาฟัง พร้อมแนะนำให้ป้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เราก็เลยมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ จนทุกวันนี้ป้าก็ยกย่องมูลนิธิฯ ที่มาช่วยเรา ฟ้องให้ ทำอะไรให้ เราไม่ต้องเสียสตางค์สักบาทเดียว เราภูมิใจ ถึงจะได้หรือไม่ได้สตางค์ก็ภูมิใจ  เพราะเขาช่วยเราเต็มที่ เรามาที่นี่ก็เตรียมเอกสารมา ทั้งใบแจ้งความ ใบรับรองแพทย์ และใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลที่เราสำรองจ่ายไปก่อน มูลนิธิฯ ช่วยเหลือเราโดยการฟ้อง พาไปขึ้นศาลประมาณ 3 ครั้ง จนตอนนี้คดีสิ้นสุดแล้ว ตอนขึ้นศาลป้าก็เจอทาง ขสมก.พวกเขาก็ไม่คิดว่าเราจะเป็นหนักขนาดนี้ ใน 5 คนที่ได้รับบาดเจ็บครั้งนั้นมีป้าคนเดียวที่อาการหนักแล้วก็เป็นคดีความฟ้องร้อง ส่วนคนอื่น ๆ อาการไม่หนักก็หยวนๆ แล้วก็ไม่อยากฟ้องร้องยืดเยื้อเสียเวลาระยะเวลาการรอคอยถึง 9 ปี ป้าเจออะไรบ้าง ต่อสู้มา 9 ปี  เกิดเหตุตั้งแต่ปี 50 เรามาที่มูลนิธิฯ เมื่อปี 52 หรือ 53 เราก็จำไม่ค่อยได้ เพราะว่ามันนานมากแล้ว ขสมก.ไม่เคยช่วยเหลืออะไรเราเลย แม้ว่าคดีจะสิ้นสุด ศาลฎีกาพิพากษาแล้ว ถึงตอนนี้ ขสมก. ก็ยังไม่ยอมจ่ายเงิน  ทั้งที่ตอนเราไปหา ไปตามเรื่อง หน้าเรายังบวมอยู่ เขาก็เห็น ฟันก็ยังไม่ได้ใส่ หลอๆ อยู่แบบนี้ ป้าก็รู้สึกท้อมากเลย และผิดหวังกับ ขสมก.ที่ทำกับเราจนเจ็บช้ำแบบนี้ แล้วทุกวันนี้เกิดอุบัติเหตุในสังคมมากมาย บางคนได้รับเงินค่าเสียหาย ก็ได้นิดเดียว ไม่คุ้มกับที่เราต้องเจ็บตัว บางคนก็เสียชีวิต การได้เงินแค่นี้จะมีประโยชน์อะไร อย่างกรณีที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็มีมากมายใช่ไหม แบบนี้มันท้อไหมล่ะ ของเรายังมีพี่สาวกับลูกสาวช่วย อย่างตอนนี้เราก็มีลูกสาวช่วย ตอนนี้เขาทำงานแล้วเราก็สบาย นี่ถ้ายังไม่ทำงานเราก็เสร็จ ช่วงสิบปีที่ผ่านมาหลังจากเกิดเรื่องเราจะส่งเขาเรียนหนังสือยังไม่มีเงินเลย ตอนนั้นได้พี่สาวช่วยส่งออกเงินให้ลูกสาวเราเรียน ตอนนี้ลูกสาวเราทำงานส่งเงินให้เรากินข้าวทุกวันก็โอเคแล้ว คำแนะนำสำหรับผู้บริโภคท่านอื่นๆ ที่อาจจะประสบเหตุแบบป้าจะแนะนำให้มาปรึกษาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะว่าเข้ามาที่นี่จะมีความรู้มากขึ้น เราเข้าไปนี่ไม่รู้สักอย่าง ไม่มีอยู่ในหัวสมองเลย เวลาคนที่เจอเหตุการณ์แบบเราถ้าไม่เจ็บหนักมาก ให้รีบไปแจ้งความที่โรงพักแล้วก็รวบรวมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน  เรื่องการแจ้งความสำคัญมาก ต้องแจ้งให้เร็วที่สุด มีอยู่รายหนึ่งที่ป้าเห็นคือ เขาไม่แจ้งความการเรียกร้องค่าเสียหายก็เลยฟาวล์ไปเพราะว่าไม่มีหลักฐาน ถ้าไม่มีใบแจ้งความจะไปที่อื่นหรือทำเรื่องต่อไม่ได้นะ “เราเคยเกิดอุบัติเหตุครั้งที่ 2 เราถูกรถเก๋งชนที่ขา ตอนครั้งก่อนเราไม่ค่อยรู้เรื่อง พอครั้งนี้เราเริ่มรู้แล้ว คนนี้ชนแล้วไม่หนี เขาพาเราไป รพ. ยอมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง ลูกสาวคนโตเราบอกว่าคนนี้เขาดี รับผิดชอบเราทุกอย่างเราไม่ต้องแจ้งความเขา แต่ทางที่ดีเราต้องแจ้งความเพื่อให้เรามีหลักฐานว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา การแจ้งความจะทำให้เรามีหลักฐานให้ บ.ประกันภัยจ่ายเงินเรา คนคนนี้เขาใช้ประกันรถของเขามารักษาเรา” เหตุการณ์ครั้งนี้เราต้องรักษาตัวนานถึง 6 เดือน แล้วพักฟื้นที่บ้านอีกเกือบ 2 ปีถึงจะเดินได้ ตรงนี้แหละ ที่เราสามารถเรียกร้องค่าสินไหมได้ เราคิดถึงตรงนี้ก็เลยไปแจ้งความ ถ้าไม่ได้แจ้งความก็จะไม่ได้ตรงนี้ คือจะบอกว่าแม้คนที่ทำเราจะดีแค่ไหน แต่เราก็ต้องไปแจ้งความ ถึงเล่าให้ฟังว่าครั้งแรกเราไม่รู้เรื่อง พอเกิดเหตุครั้งที่สองเราก็รู้ว่าเราต้องทำอย่างไร เลยได้ค่าสินไหมฯ มาหลายหมื่นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเราก็ทำให้เรารู้ว่าเราต้องทำอย่างไร เราจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร ป้าว่าคนทั่วไปไม่ค่อยรู้หรอกว่าเมื่อเกิดเหตุขึ้นกับตัวเองจะทำอย่างไร คนจะรู้ก็เมื่อเกิดเหตุกับตัวเอง เลยอยากให้ทุกคนหาความรู้ว่าถ้าหากเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจะต้องช่วยตัวเองอย่างไร  เรามีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้กันน้อยไป อย่างเราคุยกับเพื่อนๆ เราหลายๆ คนก็บอกว่าไม่รู้เรื่องพวกนี้เลย ตอนเราประสบอุบัติเหตุเพื่อนเราก็แนะนำอะไรไม่ได้เลย  

อ่านเพิ่มเติม >