ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อสุ่มวิเคราะห์ “หมึกกรอบ”ทั่วกรุงเทพและปริมณฑล พบกว่าร้อยละ 57 ปนเปื้อนฟอร์มาลิน

        วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2566 ) ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การสุ่มตรวจสอบ “หมึกกรอบ”  ปนเปื้อนฟอร์มาลิน เป็นหนึ่งในงานเฝ้าระวังสินค้าและบริการของ นิตยสารฉลาดซื้อ ตามโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เนื่องจากในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารทะเล         จากข้อมูลของกรมอนามัย ปีงบประมาณ 2563  พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง โดยพบมากที่สุดใน หมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ หมึกสด  ร้อยละ 2.36  แมงกะพรุน ร้อยละ 1.55 และ กุ้ง ร้อยละ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือ ฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         สรุปผลการทดสอบ “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง สุ่มเก็บจากแหล่งจำหน่ายสินค้าในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง , ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง ,และ ร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง ส่งวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 ซึ่งดำเนินการช่วงเดือนเมษายน 2566 พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลิน พบตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์  สูงเป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับ 2 และ 3  พบจากตลาดสด (  ดูผลทดสอบจากhttps://chaladsue.com/article/4269/ )          ดร. แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษาศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า หากถามว่า ฟอร์มาลินมีอันตรายอย่างไรต่อร่างกาย ข้อมูลที่พอเชื่อถือได้จากอินเทอร์เน็ตกล่าวโดยรวมว่า อาการระยะสั้นจากการสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบหายใจ คือ แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก หากสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด และอาจเสียชีวิตได้ หากสัมผัสกับฟอร์มาลินโดยตรงจะมีผลต่อระบบผิวหนังหลังสัมผัสคือ ทำให้เกิดผื่นคัน จนถึงผิวหนังอาจไหม้ หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวได้ และหากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินเข้าไปในปริมาณมาก อาจมีอาการปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว         วิธีเลือกซื้อเนื้อสัตว์ให้ปลอดภัยจากฟอร์มาลิน สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อเนื้อสัตว์ต่าง ๆ จากร้านค้าที่ไม่มีการแช่ในตู้เย็น สามารถใช้วิธีการดมกลิ่น ถ้าอาหารนั้นมีกลิ่นฉุนแสบจมูกให้สงสัยว่ามีฟอร์มาลินอยู่ (ปัญหามักเกิดกับอาหารทะเลซึ่งเหม็นคาว) ซึ่งมีนักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า สามารถกำจัดฟอร์มาลินที่ปนเปื้อนบนเนื้อได้ด้วยการใช้น้ำด่างทับทิมหรือ potassium permanganate เพื่อเปลี่ยนฟอร์มาลดีไฮด์ในฟอร์มาลินให้เป็นกรดฟอร์มิคหรือกรดมดได้ แต่ควรคำนึงด้วยว่า เนื้อสัตว์ที่ชุบฟอร์มาลินนั้นมักไม่ถูกสุขอนามัยที่ดีมาก่อน จึงต้องใช้ฟอร์มาลินกลบเกลื่อนความไม่สด ดังนั้นจึงไม่สมควรนำเนื้อดังกล่าวมาบริโภคและไม่ควรโยนให้สัตว์เช่น หมาหรือแมวกิน         อ่านผลทดสอบฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”เพิ่มเติมได้ที่ https://chaladsue.com/article/4269/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ฟอร์มาลินใน “หมึกกรอบ”

        ในทุกๆ ปีจะมีข่าวการพบสารฟอร์มาลินในอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเลเนื่องจากความขาดจิตสำนึกของผู้ประกอบการที่มักง่ายนำวัตถุอันตรายมาใช้กับอาหารเพื่อหวังผลในการป้องกันการเน่าเสียโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค         อาหารที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มักพบการปนเปื้อนฟอร์มาลินคือ อาหารทะเล ข้อมูลของกรมอนามัยพบว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ปีงบประมาณ 2563 ของกระทรวงสาธารณสุข จำนวนทั้งหมด 14,046 ตัวอย่าง พบการปลอมปนของฟอร์มาลิน 705 ตัวอย่าง (ร้อยละ 5.02) โดยพบมากที่สุดในปลาหมึกกรอบ ร้อยละ 31.35 รองลงมาคือ ปลาหมึก ร้อยละ 2.36 แมงกะพรุน ร้อยละ  1.55 และกุ้งร้อยละ 0.14 ตามลำดับ          ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังสินค้าและบริการด้านสุขภาพ นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่าง หมึกกรอบ จำนวน  14 ตัวอย่าง จากแหล่งจำหน่ายสินค้า ได้แก่ ตลาดสด 8 แห่ง ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต 4 แห่ง และร้านค้าออนไลน์ 2 แห่ง  แล้วนำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 สรุปผลการทดสอบ        จาก “หมึกกรอบ” จำนวน 14 ตัวอย่าง พบปนเปื้อนฟอร์มาลิน 8 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 57.14 โดยปริมาณฟอร์มาลินสูงสุด 3 อันดับแรก คือ        1) 1576.63 มก./กก. จากตัวอย่างที่สั่งซื้อจากร้านค้าออนไลน์ ในแพลตฟอร์ม SHOPEE ร้าน PPN seafood wishing           2) 1238.63 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด อตก. กรุงเทพฯ ร้านคุณจอย ไข่สด        3) 1072.17 มก./กก. จากตัวอย่างตลาด ปากน้ำ สมุทรปราการ ร้าน หญิง & เต๋อ          ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 391 (พ.ศ.2561) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์หรือฟอร์มาลิน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร ผู้ใช้สารนี้กับอาหาร หรือทำให้อาหารนั้นเกิดพิษภัยต่อผู้บริโภค จัดเป็นการผลิต จำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ และถ้าตรวจพบการกระทำดังกล่าวจะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตารางผลทดสอบ        ผลทดสอบสารฟอร์มาลินในหมึกกรอบจำนวน 14 ตัวอย่าง        เก็บตัวอย่างเดือน เมษายน 2566        ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น         วิธีลดความเสี่ยงจากหมึกกรอบแช่ฟอร์มาลิน        1.ไม่ซื้อหมึกกรอบที่มีกลิ่นฉุน แสบจมูก        2.ล้างให้สะอาดก่อนรับประทานด้วยการแช่น้ำนาน 5-10 นาทีแล้วล้างซ้ำด้วยน้ำอีกสองถึงสามครั้งหรืออาจแช่ด้วยน้ำที่ละลายด่างทับทิมเจือจาง (ในอัตราส่วน ด่างทับทิมประมาณ 20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 – 5 ลิตร) ประมาณ 5 – 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำ        3.กรณีกินในร้านอาหารควรรับประทานในปริมาณไม่มาก หรือเลือกร้านที่มีการทำความสะอาดอาหารอย่างดีก่อนนำมาเสิร์ฟลูกค้าขอบคุณข้อมูลจากฟอร์มาลิน-ฟอร์มัลดีไฮด์ | โดยคณะเภสัชฯ ม.มหิดล (mahidol.ac.th)ขอบคุณข้อมูลจากคลิป สูตรปลาหมึกกรอบจากปลาหมึกแห้ง ทำเองไม่ง้อร้าน (trueid.net)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ปัญหาของการทำประมงในอียู และบทบาทของผู้บริโภค

สำหรับประชาชนที่อยู่ในประเทศไทย มักได้ยินข่าวเกี่ยวกับเรื่องปัญหาการทำประมงในบ้านเรา ที่เคยถูกอียูแบนสินค้าประมงที่เรียกว่า IUU (Illegal, Unreported und Unregulated ) ซึ่งเป็นมาตรการและนโยบายของทางอียู ในการที่จะรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล ให้มีความยั่งยืนไม่ให้เกิดการสูญพันธุ์ของสิ่งมีมีชีวิตในทะเล ซึ่งนโยบายของอียูที่เคยให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย ในอดีตเมื่อไม่นานมานี้จนกระทั่งรัฐบาลไทย ได้แสดงความเจตจำนงและตั้งใจในการแก้ปัญหาดังกล่าวจนกระทั่งสามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงได้ในที่สุด         ถึงแม้ว่าอียูจะมีมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการขูดรีดทรัพยากรจากท้องทะเลมากเกินไปก็ตาม แต่สถานการณ์เรื่องนี้ในกลุ่มประเทศอียูก็ไม่ได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภค ต่างก็ยังคงมีข้อกังวลในเรื่องนี้ ในกรณีของประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และปลาแฮริง ที่เป็นที่นิยมของบริโภคชาวเยอรมัน สถิติการบริโภคปลาและอาหารทะเลของคนเยอรมัน คือ 13.7 กิโลกรัมต่อประชากร 1 คน และมีแนวโน้มว่าจะมีสัดส่วนการบริโภคที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมานี้ ปลาทุกชนิดได้ถูกจับขึ้นมาในอัตราความเร็วที่สูงกว่าจนการเกิดและการเติบโตของปลาไม่ทันกับการบริโภค         เมื่อสถานการณ์เป็นอย่างนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรป อียู จึงได้กำหนดมาตรการ และจำกัดปริมาณการจับปลาในทะเลแอตแลนติก เหนือ และแอตแลนติกตะวันออก (North- East Atlantic Sea)  ทะเลเหนือ (North Sea) และทะเลตะวันออก (East Sea) ปริมาณที่กำหนดในการจับมาจากคำแนะนำขององค์กรทางวิชาการระดับนานาชาติอย่าง International Council for the Exploration of the Sea: ICES) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ปริมาณสัตว์น้ำ ฟื้นตัวได้ทันก่อนปี 2020 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดว่าไม่สามารถบรรลุได้ทันตามคำคาดการณ์ของที่ปรึกษานโยบายการประมงของสหภาพยุโรป องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF)1         (1https://www.test.de/Ratgeber-Fischkauf-Arten-schuetzen-Qualitaet-erkennen-1746195-0/) มีปลาหลายชนิดที่องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่าง กรีนพีซและWWF แนะนำให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ และบางชนิดควรหลีกเลี่ยง เพราะจะไปสนับสนุนการจับปลาแบบทำลายล้าง ซึ่งได้ทำเป็นคู่มือ2 และ application ให้กับผู้บริโภคที่ใส่ใจในเรื่อง การบริโภคที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (2https://issuu.com/greenpeacede/docs/greenpeace_fischratgeber_2016)         ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สร้างผลกระทบกับปริมาณปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติในทะเล ก๊าซเรือนกระจกส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเกิดสภาพความเป็นกรดมากขึ้นส่งผลให้ปะการังตาย ซึ่งปะการังเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสิ่งมีชีวิตในทะเลที่สำคัญ การตายของปะการังเป็นสัญญาณเตือนภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นกับระบบนิเวศน์ในทะเล และแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อปริมาณอาหารของมนุษย์ที่มีแหล่งกำเนิดจากท้องทะเลที่ลดลง         การทำประมงแบบ Aqua Culture (การเลี้ยงปลาในทะเล) จะมีบทบาทที่สำคัญในการทำประมงยุคใหม่ จากรายงานล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ระบุว่า ปลาที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปัจจุบันนี้ครึ่งหนึ่งเป็นปลาที่ได้มาจากการเพาะเลี้ยง แบบ Aqua Culture และมีอัตราการขยายตัวของการเลี้ยงปลาแบบนี้ ปีละ 6 % การเลี้ยงปลาในทะเลแบบนี้ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าชายเลนหรือการทำลายสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่จำเป็นในการดำรงชีพของสัตว์น้ำบางชนิด ทำให้เกิดความเสียหายในประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพ และ มีปัญหาในด้านสารเคมีตกค้างหรือการตกค้างของยาปฏิชีวนะในสิ่งแวดล้อม         จากกรณีปัญหาเรื่องการประมงนี้ในฐานะผู้บริโภค คงต้องกลับมามีสติและบริโภคทรัพยากรอย่างมีเหตุมีผลและต้องช่วยกันรณรงค์บริโภคทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่ออนุรักษ์โลกที่เราอาศัยอยู่นี้  เพื่อส่งมอบให้กับลูกหลานของเราต่อไป (แหล่งข้อมูล วารสาร Test 12/2019)

อ่านเพิ่มเติม >