ฉบับที่ 245 ร้านข้าวกล่องที่วางแผนการผลิต เพื่อลดขยะจากอาหาร

เดินทีละก้าว กินข้าวที-ละ-คำคุณๆ เลือกซื้อข้าวกล่องจาก...ราคา หน้าตา รสชาติ หรือกล่อง ?          ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปรู้จักร้านขายข้าวกล่องออนไลน์ในจังหวัดระยอง ชื่อ ที -ละ-คำ ร้านที่สมาชิกในครอบครัว รวมใจมาร่วมมือกันทำเมนูอาหารสุขภาพด้วยความพิถีพิถัน ตั้งราคาสมเหตุสมผลแต่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้และเลือกวัตถุดิบแบบรู้ที่มา ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญวางแผนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อลดขยะจากอาหาร         คุณกิ๊บ-มณีรัตน์ นานาประเสริฐ เล่าย้อนว่า เมื่อราว 5 ปีก่อนตอนนั้นเธอทำงานเป็นออแกไนซ์ ที่ มักจะได้กินข้าวกล่องเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา ในระหว่างทำงาน ทำให้เบื่อข้าวกล่องมากๆ พอดีร้านส้มตำของที่บ้านปิดตัวลง เธอก็เลยชวนคนในบ้านให้มารับทำข้าวกล่องขาย โดยเลือกเมนูประจำบ้านมาเสนอลูกค้า เช่น ข้าวน้ำพริกกะปิ ข้าวพริกเกลือกุ้ง ข้าวไก่ย่างน้ำจิ้มแจ่ว ข้าวคลุกกะปิ ข้าวผัดปลาสลิด ในราคา 50-60 บาท เบื่อข้าวกล่อง แต่มาทำข้าวกล่องขาย         กิ๊บมีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เลยอินเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องสุขภาพ จึงตั้งใจทำข้าวกล่องที่เป็นข้าวหอมมะลิผสมข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นกึ่งอาหารสุขภาพ แต่ยังคงรสจัดจ้านแบบที่เรากิน แล้วลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของเราก็พอดีเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล คุณหมอ พยาบาล เขาแนะนำว่าให้ใส่ผักให้ครบสี ไม่ว่าเมนูอะไรให้มีผักด้วย จะเห็นเลยว่าข้าวกล่องของเราจะมีผักสีสันสวยงาม ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการแนะนำบอกต่อกัน เพราะเราไม่มีหน้าร้าน มีเพจอย่างเดียว หลายคนเคยได้รับข้าวกล่องตอนไปร่วมงานประชุม งานสัมมนา แล้วถูกใจ เขาก็จะมาสั่งค่ะ กินอย่างไร ทำขายอย่างนั้น         ที่บ้านจะพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินมากๆ โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบ ต้องสดและสะอาด อย่างหมูบด เราจะไม่ซื้อหมูที่บดไว้สำเร็จแล้ว แต่จะให้ร้านขายหมูเจ้าประจำล้างหมูเนื้อแดงชิ้นๆ และล้างเครื่องบดให้ก่อนแล้วค่อยบดหมูให้เรา พอมารับทำข้าวกล่องขาย เราก็ยังทำแบบเดิมอยู่ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าซื้อหมูบดสำเร็จก็ตาม เพื่อมั่นใจในความสะอาดและเป็นความสบายใจของแม่ครัวด้วยค่ะ           เมนูประจำบ้านที่เราชอบและลูกค้าส่วนใหญ่ชอบจะเป็นข้าวน้ำพริกกะปิ ที่เราใช้กะปิระยองอย่างดี เอามาย่างไฟก่อน เพราะการตำน้ำพริกกะปิ จะเป็นเมนูที่ไม่ได้ผ่านความร้อนเลย เราจึงต้องเอากะปิมาย่างไฟ เพื่อให้มั่นใจว่ากะปิจะสะอาด ปลอดภัย เมนูแบบที่ร้านนำเสนอลูกค้าพอใจไหม           ก็มีขัดใจบ้าง อย่างช่วงหน้าฝน หน้ามรสุม พวกอาหารทะเลไม่สดมีแต่แบบแช่แข็ง เราเคยซื้ออาหารแช่แข็งมาลองทำกินเองก่อนแล้ว รู้สึกว่าไม่โอเค เราก็พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ บางคนก็ยอมเปลี่ยน เพราะเห็นว่าเราใส่ใจให้เขาจริงๆ แต่ก็มีที่ลูกค้าไม่ยอมเปลี่ยนเมนู เราก็ขออนุญาตไม่รับออเดอร์ ก็เสียดายนะ แต่รู้สึกว่าลูกค้าส่วนใหญ่เขาสั่งไปแจกต่อ บางที 100 กล่อง ถ้าวัตถุดิบไม่สดจะส่งผลกระทบกับคน 100 คน ถ้าเขากินแล้วท้องเสียขึ้นมา มันไม่คุ้มเลย เราก็เลือกไม่ทำดีกว่า แล้วเรื่องแผนการผลิตเพื่อลดขยะอาหารมีที่มาอย่างไร         เริ่มมาจากไอเดียที่เห็นว่าช่วงนี้ในสวนของที่บ้านมีหน่อไม้ผุดขึ้นเยอะ อ่อนๆ ชวนกินมาก จึงโพสต์พรีออเดอร์เมนูขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ใส่หน่อไม้สด ซึ่งลูกค้าตอบรับดีมาก ดังนั้นส่วนใหญ่คือ เราจะเลือกใช้ผักในฤดูกาลมากกว่า เพราะเราเชื่อว่าการกินผักตามฤดู เกษตรกรจะไม่เร่งสารให้พืชผลโต วัตถุดิบหลายอย่างก็จะมาจากที่สวนเองด้วย เช่น หน่อไม้ มะเขือ กะเพรา พริก โหระพา สะระแหน่  เราปลูกแบบออแกนิก หรือถ้าใช้ผักที่สวนไม่มี เราก็ไปดูตามตลาดนัดที่ชาวบ้านเอามาขาย ถ้าไปตลาดใกล้ๆ แล้ววัตถุดิบไม่สด ไม่สวยถูกใจ ก็จะไปดูตลาดอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนพอใจ            แล้วทีนี้สมาชิกในครอบครัวแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ทุกเมนูต้องทดลองปรุงมาชิมก่อน แล้วคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ต่อกล่องก่อนถึงจะลงมือผลิตตามออเดอร์ลูกค้า เมื่อได้ออเดอร์ (มีทั้งแบบลูกค้ารีเควสมาและให้เราเสนอเมนูไป) พวกเราก็จะมานั่งดูว่าช่วงนี้มีเมนูอะไร ใครกินบ้าง มานั่งคุยกันในบ้าน อย่างเช่น ข้าวคลุกกะปิ เราจะลองทำกินกันก่อน ใช้ข้าวเท่าไหร่ ใช้กะปิเท่าไหร่ ใช้หมูเท่าไหร่ อะไรเท่าไหร่ต่อหนึ่งกล่อง ต้องเอามาคำนวณให้ได้ทั้งหมดก่อน แล้วก็มาคุยกันเรื่องรสชาติว่าแบบนี้เราชอบกันหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเอาแบบที่บ้านกินอร่อย ช่วยกันชิมช่วยกันติ เมื่อมีการคำนวณวัตถุดิบแต่ละเมนูมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีปัญหาวัตถุดิบส่วนเกินเยอะหรือวัตถุดิบเหลือเยอะ แล้วด้วยรูปแบบการรับทำตามออเดอร์ลูกค้านี้ ก็ทำให้เราวางแผนการซื้อวัตถุดิบได้ค่อนข้างเกือบพอดีกับออเดอร์ที่เข้ามา อาจมีบ้างที่เหลือ แต่ก็ไม่ได้เหลือมากจนเป็นปัญหาหรือกลายเป็นขยะ จัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะพลาสติกด้วย         กิ๊บสนใจเรื่องการจัดการขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พอมาทำข้าวกล่องก็พยายามเลือกว่าจะใช้กล่องอะไร กล่องแบบไหนที่ตอบโจทย์ความสะดวกลูกค้า ต้นทุนของเรา แล้วก็เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คือลูกค้าที่เขาอินเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็มี ถ้าเป็นลูกค้าประจำก็จะเอากล่องมาฝากไว้ให้ใส่เลย แต่ช่วงนี้มีโควิด-19 เราก็ต้องงดรับภาชนะจากลูกค้าก่อน         “ ช่วง 2 ปีแรก กิ๊บเลือกใช้กล่องกระดาษเพื่อลดขยะพลาสติก แม้ต้นทุนจะสูงก็ยอมแบกไว้ เพราะถูกใจลูกค้าและแม่ค้าก็สบายใจด้วย แต่ต่อมาเมื่อได้รับรู้ข้อมูลอัปเดตว่าขยะพลาสติกไม่ได้ไร้ค่าอีกต่อไป เพราะใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกแทน ซึ่งช่วยลดต้นทุนลงได้ด้วย จริงๆ กล่องกระดาษที่เราใช้อยู่มันก็ไม่ใช่กระดาษ 100%  มันเคลือบพลาสติกไว้ด้วย การย่อยสลายก็ยังคงหลงเหลือเป็นนาโนพลาสติกอยู่ดี แล้วการจัดการขยะกล่องข้าวที่ทำจากกระดาษเคลือบพลาสติกนี้ ปลายทางคือถูกฝังกลบ เพราะเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหาคือพื้นที่การฝังกลบขยะของบ้านเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที ”         พอดีได้มีโอกาสไปทำงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงงาน (Waste-To-Energy) คือเป็นการนำขยะทั่วไป ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) โดยผ่านกระบวนการต่างๆ และได้รู้ว่าที่ระยองมีบริษัทที่พัฒนาระบบการจัดการขยะที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบเชื้อเพลิงแห้งอยู่ด้วย จึงสนใจ เพราะแม้ว่าหัวใจจริงๆ ของการจัดการขยะคือ การลดปริมาณหรือทำให้เกิดเป็นขยะน้อยที่สุด แต่เราก็มองว่าในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานได้ก็น่าจะดีกว่าถูกฝังกลบ         กิ๊บคุยกับเพื่อนที่มีความรู้ว่าอยากเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบนี้  จะเอาไปทำ RDF ได้หรือเปล่า เขาก็ว่าแบบนี้ได้ แล้วสติ๊กเกอร์ที่ไม่ใช่กระดาษมันส่งผลต่อการเอาไปเผาหรือเปล่า เขาก็ว่าไม่ แบบนี้แหละ เป็นตัวเชื้อเพลิงอย่างดีเลย เราจะถามหาความรู้ก่อน เพื่อให้ชัวร์ว่าการตัดสินใจเปลี่ยนของเรามันไม่ใช่แบบคิดไปเอง เมื่อเราศึกษาจนได้คำตอบว่าขยะพลาสติกทั่วไปที่รีไซเคิลไม่ได้นั้นนำไปผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อป้อนสู่เตาเผาขยะได้ เราก็เปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกเลย         ก่อนหน้านี้ ลูกค้ารับรู้ว่าเราใช้กล่องกระดาษเพื่อลดพลาสติก พอเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติก เขาก็จะถามว่า เฮ้ย ไม่รักษ์โลกแล้วเหรอ เราก็บอกว่าไม่ใช่ แต่ตอนนี้มีวิธีจัดการที่ทำให้ขยะพลาสติกมันไปต่อได้แล้วไง เราก็โพสต์อธิบายบนเพจ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยรู้ว่าบ้านเรามีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ บ้านเรามีโรงแยกขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ไปทำ RDF นะ พอหลายคนรู้แล้วก็บอกว่า ดีจังเลย กิ๊บเชื่อว่าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกจากกล่องข้าวได้         โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เขาจะเอาขยะขึ้นสายพาน แล้วดึงขยะที่เผาได้ออกมาทั้งหมด ปัญหาคือเศษอาหาร ความชื้น น้ำ ที่มีอยู่ในขยะพวกนี้ ในการคัดแยก ถ้าเขาเห็นว่ามีน้ำเยอะ มีความชื้น มันก็จะต้องผ่านหลายกระบวนการ ไปลดความชื้น หรือบางส่วนที่เขาแยกไม่ได้จริงๆ มันก็จะไม่ถูกนำไปใช้         พอคนไม่รู้ว่าขยะมันไปไหนต่อได้ เขาก็ไม่ทำ คือแยกไปก็เอาไปทิ้งรวมกัน คือถามว่าเขาเอาไปรวมกันไหม ใช่ รวมจริงๆ แต่พอรวมแล้วก็เอาไปแยกต่อจริงๆ เพราะฉะนั้นต่อให้เขาจะรวมหรือไม่รวม ถ้าเราแยก เขาจะทำงานง่ายขึ้น ตอนนี้เราชวนลูกค้าให้ช่วยกันแยกเศษอาหารออกจากกล่องพลาสติกหลังทานเสร็จ ในใจมีแพลนต่อไปว่าจะชวนลูกค้าประจำแยกกล่องพลาสติกแบบนี้เอาไว้ แล้วเราจะเก็บให้ค่ะ ในสถานการณ์วิกฤติปรับแผนธุรกิจอย่างไร         เมื่อโควิด-19 ระบาด จากเดิมที่รับออเดอร์ล็อตใหญ่ๆ 30-50 กล่องขึ้นไป ก็ต้องปรับมารับพรีออเดอร์ลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่เป็นหมอ พยาบาล ครู พนักงานออฟฟิศ และคนทำงานที่บ้าน จัดส่งเองทุกออเดอร์ เพิ่งลงมือจริงจังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา          แรกๆ บางวันได้ 10 กล่อง เราก็ทำ บางทีมันไม่ได้ยอดหรือไม่ได้กำไร ก็มองว่าอย่างน้อยเราก็ยังได้กิน ยังได้ค่ากับข้าวทำไปไม่ขาดทุนหรอกแม้ออเดอร์ไม่เยอะ แต่ก็ดีใจทุกครั้งที่ลูกค้าบอกว่าข้าวกล่องของเราไม่เคยทำให้ผิดหวัง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่าลูกค้ารับข้าวกล่องของเราไป ถ้าไม่กินเที่ยง แล้วไปกินเย็น ไม่เสียแน่นอน ตรงนี้เป็นเคล็ดลับเฉพาะของเราเลย         กิ๊บมองว่าลูกค้าเลือกซื้อข้าวกล่องจากข้อมูล จากความพิถีพิถันของวัตถุดิบมากขึ้น สังเกตจากช่วงแรกๆ ที่โพสต์ว่าวันนี้มีเมนูนี้นะ เขาจะเฉยๆ แต่ถ้าเราโพสต์ไปว่าวันนี้เรามีเมนูนี้ และบอกด้วยว่าวัตถุดิบเรามาจากที่นี่ เราเลือกใช้อันนี้ เหมือนเราใส่คอนเทนต์เข้าไป ลูกค้าก็จะอินบ็อกซ์มาสั่งกันรัวๆ แล้วยิ่งเราอธิบายเรื่องการใช้กล่องพลาสติกให้เข้าใจ เขาก็จะรู้สึกว่าเราใส่ใจทุกอย่างจริงๆ เราใส่ใจด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่ใส่ใจเพื่อโฆษณา แล้วลูกค้ารับรู้ได้ก็บอกต่อกันเองลูกค้าจะบอกว่าเราเป็นข้าวกล่องพรีเมี่ยมในราคาที่จับต้องได้          ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้ามาขายข้าวกล่องกันเยอะ เราต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของเราเอาไว้ให้ดีๆ เรามองว่าคำติของลูกค้าคือของขวัญที่เขายอมพูดความจริงกับเรา แล้วเราเอามาปรับเราก็จะอยู่ได้ ตอนนี้มีคนสั่งข้าวกล่องของเราไปให้บุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่อยๆ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คิดว่า เราก็เดินกันไปทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป เหมือนเป็นกำลังใจให้ทั้งตัวเองและลูกค้าด้วย  วันนี้คุณสั่งข้าวกล่องแล้วหรือยัง ? ที-ละ-คำ เราใส่ใจในวัตถุดิบและพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ทุกเมนูเป็นมื้อพิเศษFacebook : ข้าวกล่องของว่างระยอง link :   www.facebook.com/TeeLaKam.Rayongโทร : 086-6555443

อ่านเพิ่มเติม >