ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ซื้ออาหารเสริม แต่สินค้ามีสภาพหมดอายุทำอย่างไรดี

        คุณศรีนวล ซื้ออาหารเสริมมากินเพราะเห็นคำโฆษณาและรีวิวต่างๆ แล้วสนใจ ตอนที่หยิบซื้อมาก็คิดว่า ตรวจสอบข้างกล่องอย่างดีแล้วนะ ยังไม่หมดอายุ เมื่อวางใจ จึงกินต่อเนื่องวันละเม็ด รวม 4 วัน เท่ากับ 4 เม็ด คือแกะจากแผง ก็เอาเข้าปากกลืนลงคอเลย ทว่าวันที่ 4 ได้ทดลองตรวจสอบสภาพสิ่งของที่กินเข้าไป เลยพบว่ามีอะไรขาวๆ ติดอยู่บนอาหารเสริมที่เป็นสีเทา คราวนี้จึงรู้สึกวิตกว่ามันจะเป็น “ เชื้อรา “ หรือเปล่าพอแกะเปลือกแคปซูล ปรากฏว่า ผงขาวๆ ข้างในมันแข็งตัวเป็นแท่ง โดย 10 แคปซูล ใน 1 แผง มีสภาพเหมือนกันหมด ปัญหาคือ อีก 3 กล่อง ที่ซื้อมาพอแกะดูทั้งหมด มีสภาพไม่ต่างกัน จึงอยากจะคืนสินค้าและขอเงินคืน จึงปรึกษามูลนิธิฯ ว่าต้องทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.แนะผู้ร้องซึ่งบริโภคอาหารเสริมเข้าไปแล้ว 4 วัน ควรไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลก่อน เพราะสภาพสินค้าตามที่ผู้ร้องแจ้งมามีลักษณะเหมือนกับสินค้าหมดอายุ และหากพบความผิดปกติควรขอใบรับรองแพทย์ด้วย เพื่อใช้เจรจาหรือฟ้องร้องในกรณีที่เจรจากันไม่ได้       2.แจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันกับทางสถานีตำรวจ อย่างน้อยเพื่อแสดงว่าตนเองไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งผู้ขายหรือผู้ผลิต             3.ตัวสินค้าแนะนำให้ผู้ร้องแจ้งกับทาง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ตรวจสอบว่าเป็นสินค้าหมดอายุ สินค้าอันตรายหรือไม่        4.ติดต่อบริษัทผู้ขาย (ตัวแทนขายตรง) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค        อาหารที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่าผู้บริโภคอย่าปล่อยผ่าน เมื่อมีเหตุเสียหายจากผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าต้องรับผิดชอบ อย่าปล่อยให้คนทำผิดได้ใจ “ร้องทุกข์หนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 ภาพลวงตาธุรกิจอาหารเสริม ลวงให้กินอาหารเสริมเหมือนเป็นยา

ผู้บริโภคที่ซื้ออาหารเสริมมากิน อาจแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 กลุ่มหลัก  กลุ่มแรกกินเพราะต้องการเสริมอาหารเพราะคิดว่าตัวเองกินไม่พอ ขาดสารอาหาร เช่น คนที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย ไม่มีเวลากินข้าว หรือผู้ป่วยที่กินอาหารได้น้อย และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่คาดหวังสรรพคุณบางอย่างจากอาหารเสริม โดยเฉพาะสรรพคุณในการรักษาโรคเหมือนการกินยา กลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่มักจะตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาหลอกลวงได้ง่ายมาก “ประสบการณ์ในพื้นที่ ผมเคยเจอการที่ผู้ขายพยายามทำให้อาหารเสริมมีสรรพคุณเป็นยารักษาโรค กรณีแรกเป็นข้าวสารธรรมดาๆ แต่กลับอ้างสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและรักษาโรคเบาหวานได้ คนขายพยายามนำผู้ป่วยเบาหวานที่กินข้าวนี้มาเป็นตัวอย่างและแอบอ้างเกินจริงว่ากินแล้วน้ำตาลลดลง จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า มันคือข้าวที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ คือกินแล้วน้ำตาลจะขึ้นช้ากว่าข้าวทั่วไป จึงอาจเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน (แต่ไม่ได้ช่วยรักษาเบาหวาน) การกินข้าวแบบนี้โดยไม่ควบคุมนอกจากจะไม่ช่วยรักษาเบาหวานแล้วอาจจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงจนเบาหวานขึ้นได้ อีกกรณีเป็นการหลอกลวงให้ตรวจสุขภาพด้วยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่อ้างว่าสามารถวิเคราะห์สุขภาพผู้ตรวจได้ทุกระบบ (โดยไม่ต้องเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะ เพียงแต่ถืออุปกรณ์ที่นำมาแอบอ้าง แค่นั้นเอง) พอผลตรวจ (ที่ถูกอุปโลกน์) ออกมาก็หลอกขายอาหารเสริมให้กับชาวบ้านที่มาตรวจ” ที่ผ่านมาเราก็เคยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางอย่างจงใจปลอมปนยาแผนปัจจุบันเข้าไป เพื่อหวังสรรพคุณทางยา ที่ผู้ใช้บอกต่อกันปากต่อปาก ในชุมชนเรามักจะตรวจพบน้ำผลไม้สกัดเข้มข้นบางยี่ห้อที่แอบขายให้ชาวบ้านปลอมปนสเตียรอยด์ หรือ ข่าวใหญ่โตคือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ปลอมปนยาลดความอ้วน (ไซบูทรามีน) ที่กินแล้วผอมจริง ตายจริง ตามที่ปรากฏในข่าว จนต้องปราบปรามกันในระดับประเทศ  ภาพลวงตาเหล่านี้คืออุปสงค์ (demand) ของผู้บริโภคที่มาตรงกับอุปทาน (supply) ของธุรกิจอาหารเสริมพอดิบพอดี ธุรกิจอาหารเสริมเข้าใจตรงนี้ดี จึงมีความพยายามที่จะโฆษณา เพื่อเบี่ยงเบนหรือแม้กระทั่งชี้นำให้ผู้บริโภคคิดเอาเองว่า อาหารเสริมนั้นมีสรรพคุณเหมือนการกินยา  ข้อเท็จจริงคือ อาหารเสริมตามกฎหมายต้องขึ้นทะเบียนเป็นอาหารที่ต้องมีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และห้ามโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่าเป็นยา และต้องมีคำเตือนว่าไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าสามารถกินแทนอาหารปกติได้ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะการโฆษณาอ้างสรรพคุณทางยา มีความผิดตามกฎหมายหลายมาตราที่มีโทษทั้งจำคุกและปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 อาการป่วยกำเริบ จากอาหารเสริมในโลกออนไลน์

        ปัจจุบันในโลกออนไลน์มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมขายอย่างมากมาย พร้อมทั้งมีคำโฆษณาแบบเกินจริงของสรรพคุณที่นำมาหลอกล่อและกระตุ้นให้ผู้บริโภคอย่างเราซื้อสินค้า  โดยที่ผู้ซื้อหลายคนก็คงไม่ทราบเลยว่า “ผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาสรรพคุณเกินจริงเหล่านั้น จะสามารถช่วยได้จริงอย่างที่โฆษณาไหม และมีผลอันตรายอะไรไหมหากเรากินเข้าไป” และยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคหลายคนมักเลือกที่จะกินอาหารเสริมมากกว่าที่จะไปพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง         เหมือนเรื่องราวของคุณเอก ที่มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเรื่องราวมีอยู่ว่าคุณเอกซึ่งมีอายุมากแล้ว มีอาการปวดข้อเข่ามาก วันหนึ่งเผอิญไปเห็นโฆษณาในเฟซบุ๊ก เป็นอาหารเสริม “เม็ดฟู่” มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัว “B” มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่า พร้อมทั้งในเฟซบุ๊กที่ขายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมตัวนี้นั้น มีรูปนายแพทย์ท่านหนึ่งโปรโมทอยู่เลยทำให้คุณเอกนั้น รู้สึกมั่นใจและเชื่อที่จะซื้ออาหารเสริมตัวนั้นเป็นจำนวน 3 หลอด แถมอีก 1 หลอด เป็นเงิน 3,490 บาท เมื่อเขาได้อาหารเสริมมารับประทานได้ 2 วัน ก็มีคุณพลอยซึ่งอ้างว่าเป็นพยาบาลโทรมาสอบถามถึงผลลัพธ์ของยา         ต่อมาอีก 3-4 วัน ปรากฏว่าอาการของคุณเอกนั้นไม่ดีขึ้นเลยกลับมีผลข้างเคียง คือ ปัสสาวะบ่อยขึ้น 5-6 ครั้ง/คืน ซึ่งทางคุณเอกก็ได้บอกว่าเขารู้สึกว่ามันรบกวนเวลานอนพักผ่อนของเขาเป็นอย่างมาก  เขาจึงพยายามที่จะติดต่อนายแพทย์ท่านนั้น ก็ไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่งเมื่อเขาติดต่อนายแพทย์ท่านนั้นไม่ได้ก็เลยติดต่อคุณพลอยที่อ้างว่าเป็นพยาบาลและได้บอกกล่าวถึงอาการปัสสาวะบ่อยของเขา ทางพยาบาลคุณพลอยก็บอกว่ายอมรับว่าผลข้างเคียงคืออาการปัสสาวะบ่อย...อ้าวตอนขายไม่เห็นบอก และเธอบอกว่าจะแจ้งให้นายแพทย์ท่านนั้นทราบอีกครั้ง         คุณเอกนึกสงสัยเลยถามถึงที่อยู่ของนายแพทย์ท่านนั้นและนำไปเช็กกับทางนิติบุคคลสถานที่ที่ได้ข้อมูลจากคุณพลอย แต่พบว่าไม่มีชื่อดังกล่าวอยู่ที่ตึกแห่งนั้นประกอบกับข้อมูลเดิมที่ทางคุณเอกไปเช็กว่าไม่ได้มีบุคคลดังกล่าวอยู่ในทำเนียบแพทย์สภาอีกด้วย ทำให้คุณเอกคิดได้ว่าเขาคงถูกหลอกลวงแน่ๆ พร้อมทั้งเมื่อลองดูทั้งผลิตภัณฑ์ก็พบว่าไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่มีเอกสารกำกับอะไรเลย ทางคุณเอกแน่ใจล่ะว่าโดนหลอกแน่นอน จึงได้ร้องเรียนมาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคควรจะทำอะไรอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นทางคุณเอกได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้ว พร้อมทั้งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังออกหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป         ทั้งนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากให้ผู้บริโภคหลายๆ คน ลองศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่างๆ ทางออนไลน์ สังเกตว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่กำลังจะซื้อ หรือมาแล้วนั้นมีเครื่องหมาย อย. หรือไม่ หากไม่มีก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะรับประทาน นอกจากนี้ ถ้ามีการอ้างถึงบุคลากรทางการแพทย์ก็ควรตรวจสอบก่อนที่จะซื้อว่าในแพทย์สภา มีบุคคลดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยส่วนมากอาหารเสริมหลอกลวงต่างๆ มักจะมีโฆษณาที่เกินจริงหายได้ภายในไม่กี่วันหรือในระยะเวลาสั้นๆ หากใครที่เห็นแบบนี้ก็ควรจะระมัดระวังและไม่หลงเชื่อโดยง่ายเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 อาหารเสริมเกลือบิวทิเรต

        การศึกษาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นทำให้มนุษย์สามารถดัดแปลงและปรุงแต่งการบริโภคอาหารให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในมื้ออาหารให้อยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่กินช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ต่ำลง พร้อมกับลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่มีสารอนุมูลอิสระเป็นปัจจัยก่อโรค เป็นต้น         ผลจากการศึกษาดังกล่าวข้างต้นนั้นทำให้ผู้ที่มีอาชีพในการค้นหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมองเห็นว่า น่าจะมีรายได้งามจากการขายผลิตภัณฑ์บางชนิดแก่ผู้บริโภคที่ไม่ชอบกินผักและ/หรือผลไม้ ซึ่งมีลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้ที่สั่งก๋วยเตี๋ยวไม่ผักไม่งอก จนนำไปสู่การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น “เกลือบิวทิเรต” (butyrate salt) ในแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ใหญ่หลายแห่ง         บทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาพมากมายได้กล่าวถึงเกลือชนิดนี้ว่า เป็นผลที่เกิดจากการที่ผู้บริโภคกินใยอาหารชนิด soluble fiber (ซึ่งสามารถอุ้มน้ำได้ดี) แล้วเมื่อลงไปถึงลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียที่ดีในลำไส้ใหญ่ได้กิน soluble fiber แล้วถ่ายเกลือชนิดนี้ออกมาซึ่งมีงานวิจัยพบว่า เกลือบิวทิเรตมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทำให้สมองเสื่อมช้าด้วย ดังนั้นการหลายคนไม่ชอบกินอาหารที่มีใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) จึงอาจมีเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ต่ำ การกินเกลือบิวทิเรตในรูปเม็ดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน่าจะดีเป็นแน่แท้...จริงหรือ         ก่อนอื่นเราควรทราบว่า ในธรรมชาติแล้วเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่มนุษย์มาจากไหน ข้อมูลนี้หาได้ไม่ยาก เช่น ในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ให้ข้อมูลว่า ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดีมีบทบาทเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ แล้วแบคทีเรียก็ถ่ายออกเป็นกรดไขมันสายสั้นคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 (butyric acid มีคาร์บอน 4 อะตอม) กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 (propionic acid มีคาร์บอน 3 อะตอม) และกรดอะซิติคร้อยละ 65 (acetic acid มีคาร์บอน 2 อะตอม) (ข้อสังเกตุคือ ในร่างกายมนุษย์นั้นสารที่มีความเป็นกรดมักถูกเปลี่ยนเป็น เกลือ เช่น กรดบิวทิริคไปเป็น เกลือบิวทิเรต เนื่องจาก pH ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายส่วนใหญ่เป็นกลางเช่น ประมาณ 7.4)         เซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต โดยมีสมมุติฐานว่า ในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจได้พลังงานจากบิวทิเรตเพื่อการดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอจนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ซึ่งทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงไปจากสภาวะปรกติ ส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไม่ดีตามควร ซึ่งเว็บ Wikipedia ได้ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของเกลือบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีสมมุติฐานว่ แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่กลับต้องตายตามหลักการของ Warburg effect         Warburg effect กล่าวว่า เซลล์มะเร็งนั้นอยู่ดำรงได้ด้วยพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว โดยไม่สามารถใช้เกลือบิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงเกลือบิวทิเรตไปเป็นพลังงานในเซลล์ปรกตินั้นจำต้องผ่านกระบวนการที่อยู่ใน “ไมโตคอนเดรีย”  แต่เซลล์มะเร็งนั้นเป็นเซลล์ที่ไม่มีการใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด จนนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มเซลล์มะเร็ง ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Histone deacetylase inhibitors: molecular mechanisms of action and clinical trials as anti-cancer drugs ในวารสาร American Journal of Translational Research ของปี 2011 ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกลือบิวทิเรตนำมาใช้เชิญชวนผู้บริโภคว่า ควรกินเกลือบิวทิเรต ?         งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า การกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีนั้นมีผลต่ออวัยวะอื่นนอกเหนือไปจากลำไส้ใหญ่ด้วย โดยงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมอง (ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ) ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ในบทความนี้เล่าถึงผลการทดลองว่า เกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ของหนูแก่ที่ได้กินอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสที่เป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีซึ่งแบคทีเรียกินไม่ได้         ไมโครเกลียนั้นเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ เข้าใจกันว่าในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้น ส่วนการอักเสบเรื้อรังในสมองถ้ามีมากเกินไปก็น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา ซึ่งมีงานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปว่า เกลือบิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         จากข้อมูลข้างต้นอาจทำให้หลายคนสรุปว่า การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเกลือบิวทิวเรตน่าจะดีต่อสมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วสารอาหารเกือบทุกชนิดที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของเกลือบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่สามารถเปลี่ยนเกลือบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetyl coenzyme A) ซึ่งถูกนำไปดำเนินการต่อกลายเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010         นอกจากนี้ในบทความเรื่อง Butyrate: A Double-Edged Sword for Health? ในวารสาร Advance Nutrition ของปี 2018 ให้ข้อมูลว่า การกินเกลือบิวทิเลตมากเกินไปจะส่งผลให้ตับมีการเปลี่ยนสารนี้ไปเป็น acetyl CoA ซึ่งเซลล์ตับสามารถนำไปสร้างเป็นกรดไขมันตลอดถึงคอเลสเตรอลได้เป็นอย่างดี จนผู้บริโภคนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง         ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโอกาสที่เกลือบิวทิเรตที่ถูกกินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่และ/หรือไปต่อถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่แล้วโอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานโดยเซลล์จะหลุดรอดไปตามกระแสเลือดสู่สมองได้บ้างย่อมเป็นไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ตรวจสารมารดำ กลับเจอสารมารขาว

        การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค บางครั้งก็เจออะไรแปลกๆ คาหนังคาเขาโดยไม่ตั้งใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทีมปกครองอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนและทีมรพ.สต กำลังทำหน้าที่ตรวจปัสสาวะเพื่อเฝ้าระวังหาสารเสพติดในร่างกายของประชาชน ปรากฎว่าผลตรวจปัสสาวะของพนักงานเทศบาลชายอายุ 28 ปีพบว่าเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงอาจจะมีการใช้สารเสพติด แต่เมื่อแจ้งสอบสวนเพิ่มเติมพนักงานท่านนี้ตกใจ เนื่องจากตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด         เจ้าหน้าที่จึงสวมวิญญาณนักสืบ สอบถามข้อมูลมากขึ้นจึงทราบว่าพนักงานรายนี้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่สั่งซื้อจากทางออนไลน์ ราคาก็ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแพงถึงเม็ดละ 100 บาท เมื่อใช้แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากอาหาร ตนใช้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร จนหมด 2 กล่อง ปรากฎว่าน้ำหนักลดลงถึง 10 กิโลกรัม         พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานมายังกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ เพื่อส่งตรวจหารสารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ซึ่งผลตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงแจ้งกลับมาเพื่อติดตามสอบถามแหล่งที่มาและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเพื่อทำการดำเนินการต่อไป         ไซบูทรามีนเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอมเฟตามีน จึงทำให้ผลตรวจปัสสาวะของคนที่ได้รับสารไซบูทรามีนมีสีม่วงเหมือนกับคนที่ใช้สารแอมเฟตามีน สารไซบูทรามีน (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทรามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีความผิดตามกฎหมาย มีทั้งโทษถึงจำคุก         มีวิธีเบื้องต้นในการสังเกตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่สงสัยว่าจะผสม Sibutramine ดังนี้        1. มีคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน        2. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุสถานที่ผลิต        3. ไม่มีเลขที่ขึ้นทะเบียนอย. เป็นต้น         อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย จะได้ไม่เอาชีวิตไปเสี่ยง         หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือกลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาล หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เด็กยุคนี้สูงได้เต็มศักยภาพ...จริงหรือ

        คนที่มีร่างกายสูงมักดูได้เปรียบคนตัวเตี้ย มองดูดีและมีความมั่นใจ และอาจส่งผลไปถึงบางอาชีพที่เลือกเฉพาะคนตัวสูงและแข็งแรง ซึ่งรวมถึงกีฬาอาชีพหลายประเภท ดังนั้นจึงมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดพยายามสร้างข้อเสนอให้พ่อแม่เตรียมพร้อมเรื่องความสูงให้กับลูกของตนตั้งแต่เยาว์วัย         คำโฆษณาสินค้าประเภทนี้มักระบุว่า ความสูงของคนนั้นขึ้นกับพันธุกรรม การกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และเพื่อเป็นการประกันให้เด็กในวัยเจริญเติบโตสามารถสูงเต็มศักยภาพซึ่งอาจสูงกว่าพ่อแม่นั้น จำต้องกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เหล่าคุณแม่ที่เป็นเซเล็บต่าง (ออกมา call out ในโฆษณาว่า) เลือกเสริมเพิ่มความสูงให้ลูกน้อย ซึ่งสินค้าเหล่านี้มักเป็นนวัตกรรมจากต่างชาติที่อ้างว่า เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยสร้างหรือกระตุ้นมวลกระดูกและกล้ามเนื้อให้แข็งแรง โดยกินคู่ไปกับอาหารหลัก 5 หมู่ (ความจริงแค่กินอาหารได้ครบ 5 หมู่ด้วยปริมาณที่เหมาะสมตามหลักการทางโภชนาการก็น่าจะพอแล้ว...ผู้เขียน)         มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีเพิ่มความสูงแบบรวดเร็วสำหรับเด็กที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น โดยอ้างว่ามาจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ (ซึ่งดูจริงบ้าง มั่วบ้าง) คือ  1.) กระโดดเชือกวันละ 30 นาที โดยแบ่งเป็นครั้งละ 5 นาที หรือเล่นบาสเก็ตบอลวันละ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย  2.) ดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว หลังอาหารเช้าและก่อนนอน  3.) งดดื่มน้ำอัดลมเพราะเสี่ยงกระดูกพรุนและเบาหวาน  4.) ฉีด Growth hormone เพิ่มความสูง แต่ต้องระวังว่าหากได้ฮอร์โมนเกินขนาดที่ร่างกายรับได้ อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูง  5.) ไม่เล่นมือถือก่อนนอนเพราะทำให้ลดการหลั่ง Growth hormone และควรนอนติดต่อกัน 7-8 ชั่วโมง  6.) กินนมน้ำเหลือง (Colostrum) จากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  7.) ผ่าตัดยืดกระดูกเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/เดือน โดยต้องยอมรับความเจ็บและราคาแพง  8.) ควรนอนช่วง 3-4 ทุ่ม เพื่อให้ได้หลับลึกที่เที่ยงคืนซึ่งเป็นช่วงที่ Growth hormone หลั่งออกมามากที่สุด  9.) กินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งแห้ง เต้าหู้แข็ง ผักสีเขียวเข้ม เช่น คะน้า ตำลึง ผักกาดเขียว พร้อมการออกกำลังกาย แต่ถ้าเห็นว่ามันยากนัก (เพราะเด็กในปัจจุบันชอบเล่นแต่โทรศัพท์มือถือ) ทางออกที่ง่ายกว่าคือ การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิด CBP หรือ Concentrated Bioactive Protein ที่มีในนมวัว         กล่าวกัน (ในโฆษณา) ว่า ในนมวัว 1 ลิตรมี CBP เพียง 1.5 มิลลิกรัมเท่านั้น ดังนั้นในสายตาของผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจึงคิดว่า การดื่มนมเพียงอย่างเดียวดูจะได้ CBP ไม่พอต่อการเจริญเติบโตของเด็ก ต้องมีตัวช่วยมาเสริมให้เด็กมีโอกาสสูงได้เต็มศักยภาพที่ควร โดยการกิน CBP ที่ถูกอัดไว้ในแคปซูลที่วางขายในตลาดเมืองไทยและระบุว่า ใน 1 แคปซูล มี CBP สูงถึงเกือบ 100  มิลลิกรัม ซึ่งถ้าคำนวณด้วยบัญญัติไตรยางศ์แล้วการกินสินค้า 1 แคปซูล ดูเสมือนได้กินนมกว่า 50 ลิตร พร้อมด้วยวิตามินบางชนิดที่จำเป็นต่อความสูง (ในปริมาณที่น่าจะเกินพอต่อความต้องการของร่างกายในหนึ่งวัน) เพื่อช่วยเสริมสร้างมวลกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้กิน ซึ่งจริงแล้วต้องมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย คือ พันธุกรรมที่อาจเป็นอุปสรรคได้ เพราะถ้าเถือกเถาเหล่ากอตัวเตี้ยมาตลอดลูกหลานคงไม่สูงเกินศักยภาพทางพันธุกรรม ยกเว้นมีการกลายพันธุ์         สรุปแล้วมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างถึง CBP ซึ่งมีคุณสมบัติในการเพิ่มส่วนสูงของผู้บริโภคตั้งแต่วัย 3-18 ปี โดยช่วยให้มีสัดส่วนความสูงที่สมบูรณ์แบบ กระดูกแข็งแรง เสริมสร้างกล้ามเนื้อ จนดูหุ่นดี และสินค้านี้ยังช่วยป้องกันโรคกระดูกเปราะ กระดูกพรุน ในผู้บริโภคผู้ใหญ่ใกล้วัยชรา อย่างไรก็ตาม prerequisite (แปลเป็นไทยว่า ข้อกำหนดเบื้องต้น) คือ ผู้บริโภคต้องมีสตางค์พอ เพราะราคาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนี้ตกแคปซูลละ 17 บาท ถึง 50 บาท ขึ้นกับว่าขายบนแพลทฟอร์มออนไลน์ใด (หรืออาจขึ้นอีกว่าเป็นของแท้ด้วยหรือไม่)         ประเด็นที่น่าสนใจคือ CBP นั้นมีแนวโน้มในการช่วยเด็กให้เติบโตเพิ่มขึ้นจริงหรือ แนวคำตอบคือ ถ้าเด็กชายที่เข้าสู่วัยรุ่นคนหนึ่งมีศักยภาพที่จะสูงได้ 180 เซนติเมตร ตามพันธุกรรมของตระกูล (คือมีคนในตระกูลที่เป็นผู้ชายสูงได้เฉลี่ยประมาณนี้) แต่มีพฤติกรรมชีวิตที่ไม่เหมาะสมเช่น กินอาหารไม่ครบห้าหมู่ นอนดึก ไม่ออกกำลังกาย เอาแต่เล่นเกมส์ในมือถือ ฯลฯ โอกาสสูงถึง 180 เซนติเมตรย่อมน้อยลง ถึงจะกิน CBP ตามที่ฉลากบอกไว้ก็คงหวังยาก แต่ถ้ากินแล้วปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมแบบที่วัยรุ่นที่ดีควรทำ ความสูงก็ควรขึ้นได้ถึงจุดที่ควรเป็น         ต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็นต้นแบบของ CBP นั้นคือ เวย์โปรตีน ซึ่งน่าจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและลดน้ำหนักจากการออกกำลังกายได้ เพราะมีบทความวิชาการที่อ้างว่า โปรตีนในนมมีผลต่อมวลกล้ามเนื้อของผู้บริโภค บทความนั้นชื่อ Dietary protein recommendations and the prevention of sarcopenia (sarcopenia หมายถึง ภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย) ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition & Metabolic Care ของปี 2009 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า มวลกล้ามเนื้อของมนุษย์ลดลงตามธรรมชาติเมื่ออายุเพิ่มขึ้นโดยมีไขมันเข้ามาแทนและเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่ไม่พึงประสงค์ในองค์ประกอบของร่างกายนั้นสามารถชะลอ ป้องกัน หรือย้อนกลับได้บ้างเป็นบางส่วน ด้วยการฝึกความแข็งแรงควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีโปรตีนสูงหรืออาหารเสริมที่มีโปรตีน         สิ่งที่ผู้อ่านบางท่านอาจไม่เคยสนใจรู้คือ สมัยก่อนถือว่าเวย์โปรตีนเป็นของเหลือจากการผลิตเนยเหลวหรือ butter และเนยแข็งคือ cheese ทั้งนี้เพราะนมสดที่ได้มาสดๆ และยังไม่ได้ดำเนินการใดนั้น เมื่อทิ้งไว้สักพักจะเกิดการแยกส่วนและตกตะกอน โดยส่วนที่มีไขมันสูงซึ่งมีความหนาแน่นต่ำกว่าน้ำจะแยกตัวลอยขึ้นมาอยู่ชั้นบนเป็นครีม (cream) ที่ถูกแยกนำไปใช้ทำเนย butter ในขณะที่เนยแข็งหรือ cheese นั้นทำมาจากส่วนที่ตกตะกอนอยู่ชั้นล่างซึ่งอุดมไปด้วยโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนสุดท้ายที่เหลือคือ ของเหลวซึ่งมีองค์ประกอบหลักเป็นโปรตีนที่ละลายน้ำได้ดี กรดอะมิโนอิสระบางชนิดรวมถึงวิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นนิยมนำของเหลวนี้ไปใช้ทำอาหารสัตว์ แล้วพบว่าสัตว์เจริญเติบโตได้ดี จึงมีการศึกษาของเหลวส่วนนี้อย่างจริงจังแล้วก็พบว่า มีโปรตีนสำคัญที่มีองค์ประกอบเป็นกรดอะมิโนชนิด branched-chain amino acid  ได้แก่ ลิวซีน (leucine), ไอโซลิวซีน (isoleucine), และ เวลีน (valine) ในสัดส่วนที่สูง กรดอะมิโนทั้งสามมีความสำคัญต่อการสร้างโปรตีนของกล้ามเนื้อทดแทนส่วนที่สูญเสียระหว่างการออกกำลังกายหนักและใช้แป้งเป็นพลังงานหมดไปแล้ว จนต้องสลายโปรตีนของกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายหนัก เพราะกรดอะมิโนทั้งลิวซีน ไอโซลิวซีนและเวลีนนั้นถูกนำไปใช้เป็นพลังงานได้ ดังนั้นเมื่อใดที่ออกกำลังกายจนได้กลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งเปลี่ยนมาจากกลุ่มอะมิโนของกรดอะมิโนทั้งสามที่ถูกตัดออกเพื่อเอาส่วนที่เหลือไปผลิตเป็นสารเข้าสู่กระบวนการสร้างพลังงาน         ทุกวันนี้ในท้องตลาดมีเวย์โปรตีนขายอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน โดยชนิดที่มีราคาถูกสุดคือ เวย์โปรตีนคอนเซนเทรท (whey protein concentrate) ซึ่งมีความเข้มข้นโปรตีนอยู่ประมาณ 70-80% มีลักษณะเป็นผงสีครีมอ่อน กลิ่นรสตามธรรมชาติเหมือนนม ส่วนเวย์โปรตีนไอโซเลต (whey protein isolate) ซึ่งได้จากการนำเวย์โปรตีนคอนเซนเทรทมาผ่านกระบวนการผลิตเพิ่มความเข้มข้นของโปรตีนสูงถึงกว่า 90% พร้อมทั้งราคาเพิ่มขึ้น ชนิดที่สามคือ เวย์โปรตีนไฮโดรไลเซต (whey protein hydrolysate) นั้นเป็นการนำเวย์โปรตีนมาย่อยด้วยเอ็นซัมเฉพาะเพื่อเปลี่ยนโมเลกุลของโปรตีนให้เล็กลงเป็นเปปไทด์ที่มีความบริสุทธิ์สูงถึงเกือบ 100% ซึ่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์แล้วเปปไทด์ถูกร่างกายดูดซึมได้ดีกว่าโปรตีน และมีงานวิจัยทางคลินิกแสดงให้เห็นว่า เวย์โปรตีนช่วยส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีและอื่นๆ         บทความชื่อ Consumption of fat-free fluid milk after resistance exercise promotes greater lean mass accretion than does consumption of soy or carbohydrate in young, novice, male weightlifters ในวารสาร American Journal of Clinical Nutrition ของปี 2007 ให้ข้อมูลว่า การดื่มนมที่เอาไขมันออกไปแล้วเหลือแต่โปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่นั้นช่วยในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อของนักยกน้ำหนักวัยเยาว์ดีกว่าการดื่มนมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มที่มีแป้ง         ในการโฆษณาขายสินค้านั้นมักระบุว่า เวย์โปรตีนมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ ลิวซีน ซึ่งมีบทความเรื่อง Signaling pathways and molecular mechanisms through which branched-chain amino acids mediate translational control of protein synthesis ในวารสาร Journal of Nutrition ของปี 2006 ได้กล่าวว่า ลิวซีนเป็นกรดอะมิโนจำเป็นสูงที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต ซึ่งรวมถึงการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สูญเสียเมื่อเทียบกับกรดอะมิโนอื่นทำให้สรุปได้ว่า เวย์โปรตีนจึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันการสูญเสียกล้ามเนื้อทั้งในเด็กวัยออกกำลังกายและผู้สูงวัยซึ่งกินโปรตีนต่ำกว่าที่ควร ข้อมูลในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เมื่อเชื่อและมีสตางค์พอซื้อสินค้าเหล่านี้กินได้น้นถือว่าเป็นบุญของผู้บริโภคที่มีกำลังทรัพย์พอซื้อของแพงกิน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 รู้เท่าทันอาหารเสริมบำรุงตา

        โรคความเสื่อมที่ผู้สูงอายุทุกคนจะต้องเป็นคือ สายตาเสื่อม มองเห็นไม่ชัด พร่ามัว จึงเป็นโอกาสดีสำหรับผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ สำหรับผู้สูงอายุ ที่จะมาโฆษณาชักชวนให้ผู้สูงอายุบริโภคเพื่อให้สายตาดีขึ้นไม่ต้องผ่าตัด เมื่อเข้าไปดูผลิตภัณฑ์สุขภาพเกี่ยวกับสายตาก็พบว่า มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนมาก แต่ที่มีคนถามไถ่มากคือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ดี คอนแทค ว่ามีสรรพคุณรักษาดวงตาตามโฆษณาจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ  ดีคอนแทคคืออะไร               มีการโฆษณาดีคอนแทค (D-Contact ) ทั้งจากผู้จำหน่าย ร้านค้า ว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ช่วยดูแลดวงตาที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ป้องกันการเกิดโรคที่เกี่ยวกับดวงตาได้แก่ ต้อกระจก ต้อลม ต้อเนื้อ ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม วุ้นในตาเสื่อม ตาบอดกลางคืน โรคตาแห้ง เป็นต้น         มีการโฆษณาว่าในดีคอนแทคมีส่วนประกอบหลักจากสารต่างๆ จากธรรมชาติ ได้แก่ เบต้ากลูแคนจากยีสต์ สารสกัดจากบิลเบอร์รี่ กรดแอสคอร์บิก สารสกัดจากแครนเบอร์รี่ สารสกัดจากบลูเบอรี่ สารสกัดจากดอกดาวเรือง เบต้า- แคโรทีน วิตามิน บี 12  รวมทั้งมีเลขทะเบียน อ.ย 10-1-15456-5-0019         ราคาขายมีตั้งแต่กล่องละ 700 กว่าบาทจนถึง 1,200 กว่าบาท กล่องละ 30 แคปซูล โดยสามารถหาซื้อได้จากผู้ขายตรงและในร้านค้าออนไลน์ต่างๆ  ดีคอนแทคน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศไทย        พยายามค้นข้อมูลดีคอนแทคในต่างประเทศ ก็ไม่พบว่ามีผลิตภัณฑ์ในชื่อ ดีคอนแทคในต่างประเทศ และพยายามค้นการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องใน Pubmed และ Cochrane และในหน่วยงานต่างๆ ก็ไม่พบ จึงเป็นไปได้ว่าผลิตภัณฑ์นี้อาจผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เลขทะเบียนอ.ย 10-1-15456-5-0019        เมื่อค้นข้อมูลในอย. พบข้อมูลว่า         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “ดีคอนแทค” อวดอ้างสรรพคุณช่วยรักษาโรคที่เกิดกับดวงตาทางสื่อต่างๆ โดยมีการระบุสรรพคุณสามารถป้องกันรักษาโรคทางตา เช่น ต้อกระจก , ต้อหิน , ต้อเนื้อ , วุ้นตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา ทั้งนี้ อย. ขอชี้แจงว่า ผลิตภัณฑ์ “ดีคอนแทค” ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลขสารบบอาหาร 10-1-15456-5-0001 จึงไม่มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคตามที่กล่าวอ้าง ส่วนการขออนุญาตโฆษณามีเนื้อหาเพียง ดีคอนแทค เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และระบุคำเตือนว่า อ่านคำเตือนในฉลากก่อนบริโภค ไม่มีผลในการป้องกันหรือรักษาโรค         ต่อมา นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กล่าวว่า อย. ได้รับการยืนยันข้อมูลทางวิชาการจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่พบหลักฐานทางวิชาการรับรองว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค มีสรรพคุณรักษาดวงตาได้จริง จึงได้ออกคำสั่ง อย.ที่ 127/2562 ยกเลิกเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดี-คอนแทค เลขสารบบอาหารที่ 10-1-15456-5-0001 ตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2562        สรุป  ผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวนมากที่ได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากอย. แต่มีการนำไปโฆษณาใช้เป็นการรักษาโรค ซึ่งเป็นการผิดกฎหมายจึงขอให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันไว้ว่า การมีเลขทะเบียนอย. นั้น ไม่ใช่การรับรองว่าเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ใช้รักษาโรคได้ต่างๆ นานาตามโฆษณา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจ ขายยาลดความอ้วน

        กรณีนี้ ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคีของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้แบ่งปันเรื่องราวเพื่อเป็นอุทาหรณ์ โดยทางศูนย์ฯ อยุธยา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้เข้าร่วมธุรกิจขายผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริม         คุณเอกภพ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อไม่สบายคุณเอกภพจะใช้บริการของคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ใกล้บ้าน เขาเข้าใช้บริการอยู่บ่อยจนคุ้นเคยกับบุคลากรในคลินิก วันหนึ่งแพทย์ที่คลินิกได้ชักชวนคุณเอกภพให้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักยี่ห้อหนึ่ง โดยแพทย์คนดังกล่าวอ้างว่า ตนเป็นเจ้าของธุรกิจ ทั้งยังโน้มน้าวให้คุณเอกภพเชิญชวนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยมาสมัครเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย         หลังจากนั้นไม่นานคุณเอกภพก็ถูกเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกในกลุ่มไลน์ตัวแทนขาย ทำให้รู้จักตัวแทนคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม คุณเอกภพเองสนใจในผลิตภัณฑ์ฯ ว่าจะดีจริงอย่างที่มีการส่งเสริมการขายหรือไม่ จึงได้ลองรับประทานผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนัก ปรากฎว่า เกิดอาการท้องเสียรุนแรง ใจสั่น ปากและคอแห้ง จึงตกใจและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ทันที พร้อมรีบสอบถามเพื่อนสมาชิกคนอื่นๆ ในกลุ่มไลน์ ทำให้ทราบว่ามีผู้ที่เกิดอาการแบบเดียวกันมากกว่า 20 คน คุณเอกภพจึงอนุมานว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวน่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค จึงตัดสินใจชวนเพื่อนสมาชิกในกลุ่มไลน์ที่ได้รับความเสียหายจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ฯ เข้าร้องเรียนกับ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักดังกล่าว ว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ส่งเรื่องร้องเรียนของคุณเอกภพและเพื่อนๆ ต่อไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต่อมาพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าเป็นอาหารเสริมลดน้ำหนักนั้น มีส่วนผสมของตัวยาลดน้ำหนักที่อนุญาตให้ใช้ได้เฉพาะภายใต้ความดูแลของแพทย์เท่านั้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่อาหารเสริม แต่คล้ายกับว่าคุณเอกภพและตัวแทนขายคนอื่นๆ ถูกหลอกให้ใช้และขายยาลดน้ำหนักนั่นเอง ซึ่งทาง สสจ.อยุธยาจะได้ดำเนินการทางคดีกับนายแพทย์ท่านนั้นต่อไป         ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค         เมื่อมีผู้มาชักชวนให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้บริโภคควรตรวจสอบ เลข อย. ก่อนทุกครั้ง โดยสามารถตรวจจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีการจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่         กรณีที่พบว่า ผลิตภัณฑ์นั้นมีเลข อย.ที่จดทะเบียนถูกต้อง แต่เมื่อรับประทานแล้วมีอาการแพ้หรือเกิดผลข้างเคียง ก็ควรรีบแจ้งให้ทางหน่วยงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการตรวจสอบโดยทันที         ทั้งนี้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ไม่มีเลข อย. และกล่าวอ้างว่ามีคุณสมบัติในการลดน้ำหนักได้ นั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 ป่วย เพราะอาหารเสริม?

มีผู้บริโภคอีกจำนวนไม่น้อยเลย ที่ยังคงสับสนระหว่างคำว่า “ยา” และ “อาหาร” ซึ่งส่วนใหญ่มักรับประทาน อาหาร เข้าไป แต่เผลอคิดไปว่าสามารถช่วยบำบัด รักษาโรคหรือออกฤทธิ์ได้เหมือน ยา ดังในกรณีของผู้ร้องรายนี้ ที่เธอรับประทาน ‘อาหารเสริม’ เข้าไป แต่คาดหวังสรรพคุณในการโรค คุณพลอยต้องการลดน้ำหนัก จึงตัดสินใจรับประทานอาหารเสริมยี่ห้อ Mizme เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะเห็นว่าเพื่อนกินแล้วหุ่นดีขึ้น อย่างไรก็ตามหลังรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวไปได้จำนวน 7 กล่อง เธอกลับรู้สึกถึงอาการผิดปกติของร่างกาย และมีอาการแน่นหน้าอกเป็นประจำ จึงไปพบแพทย์และพบว่าเส้นเลือดหัวใจอักเสบ ซึ่งแพทย์ได้สันนิษฐานสาเหตุว่า อาจเกิดจากการการรับประทานอาหารเสริมดังกล่าวเข้าไป คุณพลอยจึงติดต่อไปยังบริษัทผู้ผลิตอาหารเสริม เพื่อขอให้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ทางบริษัทตอบกลับมาว่าเลิกผลิตยี่ห้อนี้ไปแล้ว และไม่ขอรับผิดชอบใดๆ เพราะอาการดังกล่าวอาจเกิดจากยาตัวอื่นก็เป็นได้ส่งผลให้คุณพลอยส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอคำปรึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องต้องการให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ ช่วยตรวจสอบส่วนประกอบของอาหารเสริมยี่ห้อดังกล่าว ว่ามีสารอันตรายที่สามารถส่งผลต่ออาการของเธอจริงหรือไม่ ศูนย์ฯ จึงแนะนำผู้ร้องเบื้องต้นว่า สามารถส่งผลิตภัณฑ์ต้องสงสัยไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อขอให้ช่วยตรวจสอบได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตามหลังได้รับเรื่องร้องเรียนไม่นาน ผู้ร้องได้แจ้งกลับมาว่าขอยุติการร้องเรียน เนื่องจากพบข่าว สสจ.จังหวัด นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมแหล่งผลิตยาลดความอ้วนยี่ห้อดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีการปลอมหมายเลข อย. นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังแจ้งข้อหาอื่นๆ อีก คือ 1. ตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต 2.ผลิตอาหารปลอม 3.โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณอันเป็นเท็จเป็นการหลอกลวงให้เกิดความเชื่อโดยไม่สมควร และ 4.ผลิตหรือนำเข้า หรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ ทั้งนี้เจ้าหน้ายังระบุว่า อาหารเสริมดังกล่าวเคยถูกร้องเรียนและตรวจพบส่วนผสมของ ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือยาที่ใช้สำหรับคนไข้จิตเวช/ โรคซึมเศร้า โดยมีผลทำให้ไม่อยากอาหาร และหากใช้ไปนานๆ ระยะยาว อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง บางรายอาจถึงขั้นอยากฆ่าตัวตายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤศจิกายน 2560กลุ่มผู้ซื้อรถมาสด้าแล้วเจอปัญหา ร้อง สคบ. จี้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ กลุ่มผู้ใช้รถยนต์มาสด้า 2 ดีเซล Sky Active รุ่นปีผลิต 2015-2016 รวมรุ่นย่อย ของบริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 22 ราย ซึ่งซื้อรถยนต์ดังกล่าวในช่วงปี 2558-2559 พร้อมด้วย นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินทางมาร่วมยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบกรณีพบว่ารถยนต์ที่ซื้อมาใช้งานอาการผิดปกติจนมีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาความชำรุดบกพร่องของรถยนต์ ได้แก่ อาการผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือน อาการรั่วซึมของโช้คด้านหลัง และอาการเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น โดยอาการจะปรากฏครั้งแรกในช่วงเลขไมล์ 20,000 – 70,000 กม. และคงอาการลักษณะนี้จนปัจจุบันนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์มาสด้า 2 รุ่นสกายแอคทีฟ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้นำรถของตนเข้าศูนย์หลายครั้ง คิดเป็น 2 เท่าของระยะตรวจเช็คตามรอบปกติ เริ่มจากปัญหาโช้ครั่วที่พบหลังใช้รถ 2-3 เดือนแรก จนถึงปัญหาความผิดปกติของระบบไฟแจ้งเตือนและตัวเลขแสดงระยะทางที่ผิดพลาด ล่าสุดพบปัญหาเครื่องยนต์ดีเซลมีอาการสั่น และเร่งความเร็วไม่ขึ้นช่วง 80 – 120 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงต่อชีวิตทางกลุ่มผู้ร้องและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยากให้ทางศูนย์มาสด้าออกมาชี้แจงถึงวิธีการแก้ไขปัญหาให้รถยนต์กลับมามีสภาพปกติที่ควรเป็น และขอให้ สคบ.มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการทดสอบรถยนต์ที่เกิดปัญหาภายใน 7 วัน ตามอำนาจกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งระงับการจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า 2 ในรุ่นที่มีการร้องเรียนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ ซึ่งหากพบว่าสินค้าชำรุดบกพร่องจนอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตจริง ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีคำสั่งให้บริษัทรับผิดชอบรับซื้อรถยนต์คืนทั้งหมดย้อมสีเนื้อหมูหลอกขายเป็นเนื้อวัวพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เข้าแจ้งความกับตำรวจ หลังพบว่าเนื้อวัวที่ซื้อมาเมื่อนำไปล้างน้ำทำความสะอาด สีลอกและซีดลง แถมไม่มีกลิ่นของเนื้อวัว พ่อค้ารายดังกล่าวสงสัยว่าแม่ค้าจะเอาเปรียบผู้บริโภคด้วยการนำเนื้อหมูมาย้อมสีโกหกว่าเป็นเนื้อวัวหลอกขายผู้บริโภค ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบร้านค้าดังกล่าว พร้อมทั้งควบคุมตัวแม่ค้ามาสอบปากคำ ท้ายที่สุดแม่ค้าก็รับสารภาพว่าได้เอาสีผสมอาหารย้อมเนื้อหมูให้มีสีแดงคล้ายเนื้อวัวจริง แล้วติดป้ายหลอกขายว่าเป็นเนื้อวัวในราคากิโลกรัมละ 235 บาท เพื่อให้ขายได้กำไรมากขึ้นจากเนื้อหมูที่มีราคากิโลกรัมละ 120 บาท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหากับแม่ค้าคนดังกล่าวในความผิดฐานฉ้อโกงและขายสินค้าหลอกลวงประชาชน ถูกเปรียบเทียบปรับไป 1,000 บาท พร้อมต้องชดใช้ค่าเสียหายคืนให้กับพ่อค้าร้านอาหารตามสั่งที่ถูกหลอก นวดปลอดภัย เลือกร้านที่มีใบอนุญาติถูกต้องกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำให้ผู้ที่ต้องการรับบริการนวดต้องประเมินร่างกายตนเองเบื้องต้นก่อนรับบริการทุกครั้ง หากพบว่าร่างกายของตนมีอาการเจ็บปวด ต้องการนวดเพื่อรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ อย่างการนวดจับเส้น ขอให้เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลการแพทย์แผนไทย ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องเป็นผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพด้านเวชกรรมไทย ด้านนวดไทย หรือด้านการแพทย์แผนไทยประยุกต์ จากสภาการแพทย์แผนไทยเท่านั้นโดยสามารถสังเกตสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจากหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก ให้เห็นได้ชัดเจนที่ด้านหน้าสถานพยาบาล 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และ 3. มีการแสดงป้ายชื่อ-สกุล รูปถ่าย พร้อมกับเลขที่ใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพของแพทย์ติดหน้าห้องตรวจ ซึ่งต้องตรงกับตัวจริงที่ให้บริการขณะนั้นแต่หากต้องการนวดเพื่อส่งเสริมสุขภาพ หรือ ผ่อนคลาย ให้เลือกรับบริการจากสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ประเภท สปา นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการจาก สบส. หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งผู้ให้บริการนวดจะต้องได้รับประกาศนียบัตรตามหลักสูตรที่ สบส. ให้การรับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพถูกต้องตามกฎหมาย และสังเกตหลักฐาน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการแสดงสติกเกอร์มาตรฐาน สบส. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามประเภทกิจการ ให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และ 3. มีการแสดงใบอนุญาตผู้ดำเนินการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพอาหารเสริมคังหลินอวดอ้างสรรพคุณหลอกเงินชาวบ้านคณะกรรมการอาหารและยา และ กลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลวาริชภูมิ จ.สกลนคร ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรวาริชภูมิ ดำเนินการเอาผิดกลุ่มบุคคลที่ทำการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อ คังหลิน (KungLin) ที่ใช้หยอดหู หยอดตา โดยอ้างว่าเป็นตัวแทนและทีมวิจัยสมุนไพรของศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นำสินค้ามาแนะนำ โดยขอให้ผู้ใหญ่บ้านประกาศเสียงตามสายให้ชาวบ้านที่มีปัญหาเรื่อง หู ตา คอ จมูก เบาหวาน ภูมิแพ้ ความดัน และชาวบ้านที่ต้องการตรวจโรค ลงทะเบียนตรวจวินิจฉัยโรคฟรีแต่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคา 3,600 บาท หลังจากตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า ฉลากระบุผู้จำหน่ายคือ บริษัท กรีนนิซ เทคโนโลยี จำกัด จ.นครราชสีมา แต่ไม่พบข้อมูลชื่อ ที่อยู่ ผู้ผลิต ไม่ระบุวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอดูเอกสารเกี่ยวกับโครงการ ก็ไม่สามารถนำมาแสดงได้ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา และเก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานีต่อไป ทั้งนี้ อย.ฝากเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่อวดอ้างเรื่องการรักษาโรค เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างในกรณีนี้หากนำไปใช้หยอดหู หยอดตา สุ่มสี่สุ่มห้าโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน อาจเป็นอันตรายต่อหูและดวงตาของผู้ที่ใช้ถอนทะเบียนยา “ฟีนิลบิวตาโซน” 70 รายการ เหตุอันตรายถึงชีวิตในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการเผยแพร่ คําสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1435/2560 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซน (Phenylbutazone) เป็นส่วนประกอบ หลังพบข้อมูลทางวิชาการว่า ยาฟีนิลบิวตาโซน เป็นสาเหตุของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อ (aplastic anaemia) และเกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (agranulocytosis) ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้ฉะนั้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคําแนะนําของคณะกรรมการยาในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2560 จึงมีคําสั่งเพิกถอนทะเบียนตํารับยาสําหรับมนุษย์ที่มีตัวยาฟีนิลบิวตาโซนเป็นส่วนประกอบ จํานวน 70 ตํารับ ตามบัญชีแนบท้ายประกาศ โดยสามารถดูรายละเอียดประกาศฉบับนี้ได้ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/E/277/62.PDF

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์

สาวๆ เกือบทั่วโลกใฝ่ฝันให้ตัวเองมีรูปร่างที่ดีได้สัดส่วน ทำให้อาหารเสริมลดน้ำหนักเป็นหนึ่งสินค้าขายดีสำหรับคนอยากหุ่นดีด้วยวิธีลัด ยิ่งด้วยยุคสมัยนี้ที่อินเทอร์เน็ตช่วยให้การซื้อของสะดวกสบายง่ายเพียงปลายนิ้ว ธุรกิจการขายอาหารเสริมลดน้ำหนักออนไลน์จึงยิ่งขยายตัวและควบคุมได้ยากขึ้น ซึ่งหากใครไม่อยากโดนหลอกให้เสียเงินฟรี ลองมาดูเหตุการณ์ที่เกิดกับผู้ร้องรายนี้กันคุณมานีสนใจอยากลดน้ำหนัก เธอจึงเลือกซื้ออาหารเสริมลดน้ำหนักที่โฆษณาผ่านทางร้านค้าออนไลน์ในแอปพลิเคชันอินสตาแกรม (Instagram) และพบว่ามียี่ห้อหนึ่งที่โฆษณาว่า เป็นสินค้านำเข้าจากประเทศเกาหลี ได้มาตรฐานปลอดภัย มี อย. และ GMP ช่วยให้แขนขาเรียว ลดไวไม่ลดทานฟรี เหมาะกับคนดื้อยา อ้วนสะสม หลังคลอด ซึ่งหลังจากดูรายละเอียดต่างๆ แล้ว เธอก็คิดว่าสินค้าดังกล่าวน่าจะปลอดภัยจริง จึงตัดสินใจสั่งซื้อและโอนเงินชำระค่าสินค้าไปจำนวน 550 บาทอย่างไรก็ตามหลังแจ้งแม่ค้าว่าโอนเงินเรียบร้อยแล้วและสอบถามถึงเลขพัสดุสินค้ากลับพบว่า แม่ค้าไม่สนใจข้อความของเธอและปล่อยให้เวลาผ่านไปนานเป็นอาทิตย์ โดยได้ตอบกลับมาภายหลังว่ากำลังจัดส่งอยู่ ขอให้เธอเย็นๆ ก่อน แต่สุดท้ายก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้คุณมานีมั่นใจว่าโดนโกงเงินแน่นอน เธอจึงไปแสดงความคิดเห็นในอินสตาแกรมของแม่ค้าและขอให้คืนเงินที่โอนไป ซึ่งแม่ค้าก็ได้เข้ามาตอบกลับว่าจะคืนเงินให้ แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไปพร้อมส่งสินค้ามาให้แทน เมื่อได้รับสินค้าคุณมานีก็พบว่าบรรจุภัณฑ์ไม่เหมือนกับในรูปที่โฆษณาไว้ เธอจึงไม่กล้ารับประทานและติดต่อกลับไปยังแม่ค้าอีกครั้งเพื่อขอให้คืนเงิน ซึ่งแม่ค้าก็ได้แจ้งมาว่าจะคืนเงินให้ แต่ต้องส่งสินค้าคืนมาก่อน และเมื่อคุณมานีส่งสินค้าดังกล่าวคืนไป แน่นอนว่าแม่ค้าก็หายเข้ากลีบเมฆไป ด้วยการลบบัญชีผู้ใช้ในอินสตาแกรมทิ้งและปิดทุกช่องทางการสื่อสารกับเธอ ทำให้คุณมานีต้องส่งเรื่องมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ขอแยกเป็นสองกรณี กรณีที่ซื้อสินค้าแล้วโดนโกงเงินนั้น ผู้ร้องสามารถรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น โฆษณาการขายสินค้าดังกล่าวบนอินสตาแกรม บทสนทนาซื้อขาย หลักฐานการโอนเงินและสินค้าที่ซื้อมา ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจได้ หรือแจ้งเบาะแสและส่งตัวอย่างสินค้าให้ อย. ลงพื้นที่ตรวจสอบผ่านทางสายด่วน อย. 1556 หรือ ร้องเรียน ผาน Oryor Smart Application หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไปอย่างไรก็ตามในกรณีนี้พบว่าผู้ขายได้ปิดร้านค้าบนอินสตาแกรมไปแล้ว รวมทั้งผู้ร้องได้ส่งสินค้าคืนไปแล้ว และไม่สามารถติดตามหาเบาะแสอื่นๆ ของสินค้านี้ได้อีกเลย มีเพียงชื่อยี่ห้อเท่านั้น จึงแนะนำให้ผู้ร้องร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. เพื่อให้ติดตามและสุ่มเก็บตัวอย่างมาเพื่อตรวจสอบต่อไป สำหรับกรณีนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำผู้ร้องว่า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายจำนวนมาก ซึ่งมักโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ช่วยลดน้ำหนัก ทำให้ผิวขาวหรือเสริมสรรถทางเพศ เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงอาหารที่ช่วยเสริมหรือเติมเต็มสารอาหารที่ร่างกายขาดเท่านั้น ไม่ใช่ยาที่สามารถออกฤทธิ์หรือมีสรรพคุณในการรักษาโรคได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถสังเกตได้จากฉลากดังนี้ 1. หากสินค้าดังกล่าวเป็นอาหารจะต้องใช้เลข อย. 13 หลัก 2. หากเป็นยาจะต้องใช้เลขทะเบียนยาและไม่ได้อยู่ในกรอบของ อย. ซึ่งจะต้องระบุว่า “ทะเบียนยาเลขที่” หรือ “Reg. No.” ตามด้วยอักษรและตัวเลขนอกจากนี้เราควรตรวจสอบรายละเอียดบนฉลากว่า เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือรับรองจากอย. ได้จริงหรือไม่ผ่านทางเว็บไซต์ของ อย. ที่ http://porta.fda.moph.go.th/FDA_SEARCH_ALL/MAIN/SEARCH_CENTER_MAIN.aspx ซึ่งหากพบว่า รายละเอียดในฉลากของผลิตภัณฑ์นั้นไม่ตรงกับที่ระบุไว้ในเว็บไซต์ ควรสันนิษฐานว่าอาจเป็นสินค้าปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน และไม่ควรเสี่ยงรับประทานเนื่องจากอาจทำให้ได้รับสารอันตรายอย่าง ไซบูทรามีน (Sibutramine) เพราะที่ผ่านมา อย. เคยตรวจพบสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ที่มักโฆษณาว่าช่วยลดน้ำหนักจำนวนมาก ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายและมีความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตได้ มากไปกว่านั้นหากพบว่า สินค้าดังกล่าวเข้าข่ายเป็นยารักษาโรคก็ถือว่าผิดกฎหมายได้เช่นกัน เพราะตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 มีข้อกำหนดชัดเจนเรื่องสถานที่ขายยาว่า ต้องไม่ขายนอกสถานที่ตามที่อนุญาต เพราะยาไม่ใช่สินค้าทั่วไป การซื้อจึงต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องจากผู้ปฏิบัติวิชาชีพโดยตรง การขายในอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีความผิดตามมาตรา 12 พ.ร.บ.ยา มีโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท นอกจากนี้ จะถือว่ามีความผิดฐานโฆษณาด้วย เพราะยาถือเป็นสิ่งที่ไม่อนุญาตให้โฆษณา จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท            ทั้งนี้หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาลดความอ้วน ควรปรึกษาแพทย์และรับประทานภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรหาซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจพบสารอันตรายดังที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือสารอันตรายอื่นๆ อีก นอกจากนี้การรับประทานยาลดความอ้วน ต้องทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เพื่อช่วยให้รูปร่างสมส่วนและสุขภาพดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนพฤษภาคม 2560เตรียมบังคับแท็กซี่ติดตั้งปุ่มฉุกเฉินและกล้องวงจรปิดเราได้เห็นข่าวคราวในแง่ลบของบริการแท็กซี่อย่างต่อเนื่อง ทั้งเป็นมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในคราบคนขับแท็กซี่ หรือพนักงานขับรถที่พูดจาไม่ดี หรือแสดงกริยาที่ไม่เหมาะสมกับผู้โดยสาร แม้จะมีหน่วยงานให้ร้องเรียนอย่างกรมขนส่งทางบก แต่ก็ดูเหมือนปัญหาเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกล่าสุดปัญหานี้น่าจะคลี่คลายลงได้บ้าง(หรือไม่) เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการหารือเรื่องความคืบหน้าการจัดระเบียบแท็กซี่ โดยเตรียมประกาศใช้กฎกระทรวงที่จะบังคับให้รถแท็กซี่ทุกคันต้องติดตั้งระบบจีพีเอส ติดตั้งกล้องซีซีทีวีภายในรถ และมีปุ่มกดฉุกเฉินสำหรับผู้โดยสาร เพื่อส่งข้อมูลเข้ามายังศูนย์ควบคุมที่จะมีการตั้งขึ้นเพื่อบริการผู้โดยสารแท็กซี่ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค.2560 นี้เป็นต้นไป โดยรถแท็กซี่ใหม่จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ตามที่กำหนดไว้ทันทีก่อนนำมาให้บริการ ส่วนแท็กซี่ที่ใช้มาแล้ว 3-6 ปี จะขยายเวลาติดตั้ง 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนแท็กซี่เก่าที่กำลังจะถูกปลดระวางภายใน 1-2 ปี จะได้รับการยกเว้น“อาหารเสริม” – “กาแฟลดน้ำหนัก” แอบใส่ยาอันตรายเพียบใครที่ชอบกินกาแฟลดน้ำหนัก ระวังให้ดี เพราะมีผลทดสอบยืนยันแล้วว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันที่อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร โดยเฉพาะในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งพบเห็นมีการจำหน่ายอยู่มากมายตามสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง โดยผลการตรวจสอบพบว่า ในกลุ่มตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อนของยากลุ่มที่รักษารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 นอกจากนี้ยังพบทั้งยาลดความอ้วน (ร้อยละ 13.7) และกลุ่มยานอนหลับ (ร้อยละ 0.5)ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง ก็พบกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศทั้งแบบยาชนิดเดียวและสองชนิดรวมกัน มากถึงร้อยละ 42.9 รวมทั้งกลุ่มยาลดความอ้วน ยาระบาย และยาลดความยากอาหาร นอกจากนี้ยังพบกลุ่มยาอันตรายอย่าง สเตียรอยด์ และ ไซบูทรามีน ผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ใช่ยารักษาโรค ไม่มีผลทางการบำบัด บรรเทา หรือรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บใดๆ ทั้งสิ้น อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจึงถือเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผิดกฎหมาย รวมทั้งยังอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่รับประทาน รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เช่น กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ ทำให้หัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก ความดันโลหิตสูง ส่วน ไซบูทรามีน ที่เป็นสารอันตราย แต่ผู้ผลิตที่ไม่หวังดีชอบเอามาใส่ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ทำมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ใช้ “รีเทนเนอร์” เถื่อนเสี่ยงติดเชื้ออันตรายถึงชีวิตอย.ฝากเตือนถึงคนที่กำลังคิดจะใส่เครื่องมือที่ช่วยรักษาสภาพฟันหลังการจัดฟัน หรือ“รีเทนเนอร์” (Retainer) ต้องได้รับบริการจากทันตแพทย์เท่านั้น โดยทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ฟันของผู้ป่วยและส่งข้อมูลของผู้ป่วยให้ผู้ผลิต ผลิตรีเทนเนอร์ออกมาเพื่อให้ตรงกับสภาพฟันของผู้ป่วย เพราะเรื่องในช่องปากเป็นเรื่องเฉพาะคน จึงต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้ตรวจและหล่อบล็อกออกมาเฉพาะคนหลังจากเกิดดราม่าบนโลกออนไลน์กรณีที่ “จ๊ะ อาร์สยาม” หรือ น.ส.นงผณี มหาดไทย นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง รับบริการทำรีเทนเนอร์โดยตรงกับแฟนคลับ ที่อ้างว่ามีใบอนุญาตผลิตรีเทนเนอร์ จึงหลงเชื่อให้แฟนคลับคนดังกล่าวพิมพ์ฟันให้และช่วยโปรโมตร้านผลิตรีเทนเนอร์ ซึ่งจากการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ร้านดังกล่าวมีใบอนุญาตผลิตเครื่องมือแพทย์จริง แต่เป็นเพียงการผลิตฟันปลอม ไม่ครอบคลุมถึงรีเทนเนอร์นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการ อย. กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การจะผลิตรีเทนเนอร์ให้คนไข้หรือคนจัดฟันใส่นั้น ผู้ผลิตจะต้องผลิตตามใบสั่งของทันตแพทย์เท่านั้น ส่วนที่มีการโฆษณารับทำรีเทนเนอร์ทางโซเชียลมีเดีย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ. วิชาชีพทันตกรรม ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้เฉพาะผู้มีใบประกอบวิชาชีพทันตกรรมเท่านั้นที่สามารถจะพิมพ์ฟันได้ และต้องทำภายในสถานพยาบาลหรือคลินิกทันตกรรมเท่านั้นสคบ.สั่ง “กระทะโคเรียคิง” หยุดโฆษณาเอาเปรียบผู้บริโภคสคบ.สั่ง “กระทะโคเรียคิง” หยุดโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค โดยการใช้ข้อมูลที่พิสูจน์ไม่ได้ ด้าน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดให้ผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิงที่ต้องการขอคืนสินค้าและขอคืนเงินสามารถแสดงความจำนงเข้ามาเพื่อร่วมดำเนินการตามกฎหมายในการฟ้องคดีแบบกลุ่มกระแสดราม่ากระทะโคเรียคิง จุดเริ่มต้นมาจากที่มีคนไทยไปพบกระทะยี่ห้อดังกล่าววางจำหน่ายในประเทศสิงคโปร์ในราคาที่ตีเป็นเงินบาทแล้วแค่ 600 บาท แต่ในเมืองไทยกลับจำหน่ายอยู่ที่ราคาสูงถึง 2,000 กว่าบาท แถมในโฆษณายังมีการอ้างว่าเป็นราคาที่ลดลงมาจากราคา 30,000 กว่าบาท ซึ่งนอกจากความสงสัยของผู้บริโภคในเรื่องของราคาแล้ว ก็ยังมีการตั้งข้อสังเกตเพิ่มขึ้นในเรื่องของคุณสมบัติของกระทะ ทั้งเรื่องการเคลือบผิวกระทะ 8 ชั้น การใช้หินอ่อนเคลือบกระทะ ตามที่ระบุในโฆษณาสคบ.จึงได้มอบหมายให้นักวิชาการและสถาบันด้านการทดสอบ ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติของกระทะโคเรียคิง ซึ่งจากการทดสอบพบว่า 1.เนื้อกระทะทำมาจากอะลูมิเนียมเสริมเหล็ก 2.เนื้อกระทะเคลือบด้วยพอลิเมอร์ และ 3.ตรวจสอบดูชั้นเคลือบของกระทะ พบว่าไม่ได้มี 8 ชั้น และไม่พบหินอ่อนในชั้นเคลือบกระทะเป็นที่มาให้ สคบ.มีคำสั่งให้กระทะโคเรียคิงชะลอการโฆษณา เนื่องจากมีการใช้ข้อความไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 และ พรบ.ขายตรง 2545 ซึ่งขณะนี้ พบว่า โฆษณามีลักษณะจูงใจ เช่นการใช้คำว่า กระทะโคเรียคิงมีความลื่นไหลกว่า 300% หรือ 3 เท่า เคลือบ 8 ชั้น หรือ กำหนดเงื่อนไขราคาที่สูงแต่ขายจริงในราคาต่ำ ไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่มาของราคา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามีผลต่อการจูงใจผู้บริโภค แต่ทว่าเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยผู้ที่ซื้อกระทะโคเรียคิงแล้วต้องการขอคืนสินค้าและขอคืนเงิน โดยการยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีแบบกลุ่ม สามารถส่งหลักฐานการซื้อกระทะโคเรียคิง เช่น ใบเสร็จการซื้อ หลักฐานการโอนเงินสั่งซื้อ และสำเนาบัตรประชาชน ได้ที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือทางอีเมล์ complaint@comsumerthai.org       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2560ระวังอาหารเสริมผสม “ยาต้านซึมเศร้า”นางศิริวิทย์ หลิ่มโตประเสริฐ นักวิชาการสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี เผยผลการตรวจวิเคราะห์อาหารเสริม 2 ตัว ลอบผสมยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) หรือ “ยาต้านซึมเศร้า” เตือนผู้บริโภคที่รับประทานอาจเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อที่ตรวจพบการปนเปื้อน ได้แก่ 1.KITO DETOX เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 ผลิตโดย บริษัท สยามเฮลท์แอนบิวตี้แคร์ จำกัด และ 2.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร CORE LIPO 8 DIETRY SUPPLEMENT PRODUCT เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C ผลิตโดยบริษัท เนเจอร์ นิวทริ จำกัด ยาฟูลออกซิทีนเป็นยาแผนปัจจุบันใช้ต้านอาการซึมเศร้า ต้องจ่ายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ตัวยามีผลข้างเคียงทำให้เบื่ออาหาร เมื่อนำไปใช้ไม่ถูกจะมีโทษ อาจจะทำให้ผู้ได้รับยามีอาการคลื่นไส้ มีผลต่อการมองเห็น ปวดท้อง แน่นหน้าอก และอาจถึงขั้นหัวใจล้มเหลวเสียชีวิต อย่ากิน!!!ขนม “BLACK POWDER” ทำเด็กหมดสติอย.ฝากเตือน เด็กๆ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และบุคลากรในสถานศึกษา เฝ้าระวังอันตรายจาก “ขนมหน้าโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” หลังพบเด็กทานขนมที่มีลักษณะเป็นผงคล้ายเกล็ดน้ำตาล มี 2 สี 2 รสชาติ บรรจุในขวดเล็กๆ รูปร่างเหมือนขวดน้ำอัดลม สีดำ บนฉลากเขียนคำว่า “BLACK POWDER” แล้วเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน นอนซึม ตาลอย และไม่มีอาการตอบสนอง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังตรวจสอบขนมดังกล่าว บนฉลากมีเพียงชื่อยี่ห้อ และข้อความภาษาจีน ไม่มีข้อความภาษาไทย และไม่มีเลข อย.โดยที่ผ่านมา อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มลูกกวาด ลูกอม และกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการใช้สีผสมอาหารมากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารและขนมต้องสงสัย ถูกนำมาขายให้กับเด็กวัยอนุบาลและประถมตามหน้าโรงเรียนต่างๆ ทั้งนี้ อย. ได้ฝากถึง พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง ครู-อาจารย์ ช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังขนมที่ผลิต จำหน่าย หรือนำเข้าโดยผิดกฎหมาย หากพบมีการนำเข้าหรือจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ สามารถแจ้งไปยัง อย. หรือ สาธารณสุขจังหวัดได้ทันทีเอาผิด รพ.เอกชน แจกคูปองน้ำมันให้อาสากู้ภัยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ลงดาบโรงพยาบาลเอกชนที่จัดโปรโมชั่นให้เจ้าหน้าที่กู้ภัย ทั้งแจกคูปองเติมน้ำมัน คูปองสะสมแต้ม เพื่อแลกกับการนำผู้ป่วยฉุกเฉินมาส่งที่โรงพยาบาล เนื่องจากผิดกฎหมายสถานพยาบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า รพ.เอกชนดังกล่าวจัดทำโปรโมชันนี้ตั้งแต่ช่วง ก.พ. ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเป็นการช่วยเหลือมูลนิธิกู้ภัย แต่ภายหลังเมื่อมีการการตรวจสอบ รพ.เอกชนดังกล่าวก็ได้ยุติการทำโปรโมชันไปตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยทาง รพ.เอกชน ก็ได้ทำให้หนังสือแจ้งต่อ สบส. ว่า ไม่ได้มีเจตนารมณ์ไม่ดีในการจัดโปรโมชันดังกล่าว และไม่ได้สนับสนุนการส่งผู้ป่วยข้ามเขตแต่อย่างใด อีกทั้งตั้งแต่จัดโปรโมชันดังกล่าว รพ. ก็ไม่ได้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อ รพ.ดังกล่าวยอมรับว่าได้จัดโปรโมชันจริง สบส. ก็จะดำเนินการตามกฏหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 ในมาตรา 38 ที่ว่าด้วยการห้ามโฆษณา โอ้อวด ลด แลก แจก แถม เพื่อชักชวนให้มีผู้มารับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ “ทุบรถโชว์” ประชดแก้ปัญหาไม่คืบหน้ากลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาการใช้รถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด รุ่นเฟียสต้า และรุ่นโฟกัส กว่า 60 คน รวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานใหญ่ บริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส ประเทศไทย จำกัด เพื่อเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดัง หลังจากผู้เสียหายประสบปัญหาจากการใช้รถยี่ห้อดังกล่าวทั้งๆ ที่เพิ่งซื้อมาได้ไม่นาน โดยปัญหาที่พบมีทั้ง เกียร์กระตุก รถสั่น และที่ร้ายแรงที่สุดคือเบรกไม่อยู่ โดยกลุ่มผู้เสียหายนอกจากจะมีการอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องแล้ว ยังการนำพลั่วมาทุบรถยนต์คันที่มีปัญหา เพื่อแสดงถึงความไม่พอใจการแก้ไขปัญหาของบริษัทซึ่งที่ผ่านมากลุ่มผู้เสียหายเคยไปร้องเรียนกับทั้งศูนย์บริการของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สคบ. สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาทนายความ แต่ก็ยังไม่ได้รับการชดเชย นอกจากนี้กลุ่มผู้ร้องยังรู้สึกไม่พอใจในการแก้ปัญหาของ สคบ. ที่ได้มีการนำรถรุ่นที่พบปัญหาไปทดสอบแล้วผลออกมาว่ารถปลอดภัยดี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ ฟอร์ดเคยออกมายอมรับว่ารถยนต์รุ่นที่มีการร้องเรียนมีปัญหาจริง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าคดีนี้จะจบอย่างไร ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยที่เหมาะสมและเป็นธรรมหรือไม่ค้าน ม.44 เร่งผ่าน “สิทธิบัตรยา” กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ออกมาแสดงความกังวลและขอคัดค้านแนวคิดของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เตรียมใช้ ม.44 เป็นช่องทางพิเศษเร่งรัดพิจารณาและออกสิทธิบัตร แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เนื่องจะทำให้เกิดปัญหาต่อระบบสาธารณสุขในประเทศ ทั้งการผูกขาด ปัญหายาราคาแพง นำไปสู่การเข้าถึงยาที่ยากขึ้นในอนาคตภาคประชาชนได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยา พร้อมเสนอให้มีการทบทวน โดยให้พิจารณาถึงเหตุผลที่แท้จริงของความล่าช้าในการออกสิทธิบัตร ที่นอกจากจะมีสาเหตุมาจากความด้อยประสิทธิภาพของกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ยังมีสาเหตุมาจาก บริษัทยาหรือผู้ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาศัยช่องว่างของ พ.ร.บ. สิทธิบัตรที่ให้ระยะเวลาในการยื่นเอกสารรายละเอียดการจดสิทธิบัตรยาวนานถึง 5 ปี และมักจะมายื่นเอกสารในปีท้ายๆ ทำให้การพิจารณาคำขอไม่สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว ซึ่งกรณีนี้เป็นประโยชน์กับผู้ยื่นคำขอ เพราะกฎหมายให้สิทธิคุ้มครองนับตั้งแต่วันยื่น ทั้งที่คำขอนั้นยังไม่ได้รับพิจารณาตามกระบวนการตรวจสอบสิทธิบัตร กลายเป็นเครื่องมือให้ผู้ยื่นใช้ผูกขาดตลาดและราคายานอกจากนี้ การเร่งออกสิทธิบัตรกลับยิ่งส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนนวัตกรรมในประเทศ เนื่องจากคำขอที่ค้างอยู่โดยเฉพาะในเรื่องยา ส่วนใหญ่เป็นคำขอที่ไม่เข้าข่ายสมควรจะได้รับสิทธิบัตร หรือเรียกว่าสิทธิบัตรต่อยอดแบบไม่มีวันตาย ยิ่งเร่งออกสิทธิบัตรยิ่งไปจำกัดการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในประเทศ รวมทั้งจะก่อให้เกิดปัญหาสิทธิบัตรด้อยคุณภาพและการผูกขาดตลาดยาและยาแพงโดยไม่จำเป็น  ทั้งนี้การพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตร โดยเฉพาะยา ต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ เพราะมีข้อมูลจำนวนมากและต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อพิสูจน์ว่าคำขอฯ นั้นมี “ความใหม่” และ “ขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 184 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมิถุนายน 2559“เนื้อปลาดิบ” ปลอดภัยไม่มีสีเกิดกระแสฮือฮาเป็นข้อถกเถียงกันในโซเชียลมีเดีย  เรื่องของ “เนื้อปลาดิบย้อมสี” ที่มีนักวิชาการมาให้ข้อมูลออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งแรกคือรองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เล่าว่าได้ไปรับประทานอาหารญี่ปุ่นร้านดังแห่งหนึ่ง แล้วสังเกตว่าปลาโอและปลาแซลมอนในร้าน มีสีแดงสดผิดปกติ จึงได้เก็บตัวอย่างมาตรวจสอบ พบว่าเมื่อนำปลาดิบไปแช่น้ำทิ้งไว้ไม่กี่นาทีเกิดมีสีละลายออกมาจากเนื้อปลาชัดเจน ซึ่งข้อความดังกล่าวที่ถูกโฟสในเฟซบุ๊คสร้างความวิตกและสงสัยกับผู้คนที่ได้รับข้อมูลเป็นอย่างมาก ว่ามีการย้อมสีในเนื้อปลาจริงหรือมั้ย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่าอีกด้านคือ อาจารย์ เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว อธิบายถึงสีที่ละลายออกมาจากเนื้อปลาว่า ไม่น่าจะเป็นการย้อมสี แต่เป็นสารโปรตีนธรรมชาติที่อยู่ในเนื้อปลา หรือที่เรียกว่า มายโอโกลบิน (myoglobin)ประเด็นปลาดิบย้อมสีเป็นที่สนใจในวงกว้าง เพราะทำให้คนที่ชอบกินปลาดิบรู้สึกกังวลถึงเรื่องความปลอดภัย อย.ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องอาหารปลอดภัย จึงได้ออกมาทำหน้าที่ โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาดิบจากร้านอาหาร 6 แห่ง เพื่อตรวจหาสีสังเคราะห์ ซึ่งผลที่ได้คือ ไม่พบสีสังเคราะห์ในปลาดิบทั้ง 6 ตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ ซึ่งจากผลวิเคราะห์ที่ได้ น่าจะช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกอุ่นใจได้มากขึ้น   บังคับ “สีทาบ้าน” เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ลดการใช้สารตะกั่วคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกประกาศบังคับให้สีทาบ้าน ทั้งใช้ทาภายในและภายนอก ที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว เป็นสินค้าควบคุมฉลาก คือต้องแสดงปริมาณของสารตะกั่วที่ผสมอยู่ในสีโดยระบุหน่วยเป็น ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) และหากมีปริมาณสารตะกั่วมากกว่า 100 ส่วนในล้านส่วน ต้องมีการระบุคำเตือนว่า “สารตะกั่วอาจเป็นอันตรายต่อสมองและเม็ดเลือดแดง ห้ามใช้ทาบ้านและอาคาร” ซึ่งรายละเอียดปริมาณสารตะกั่วและคำเตือนต้องใช้ตัวอักษรหนาสีแดง ขนาดไม่ต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร บนพื้นสีขาว โดยต้องแสดงไว้ในตำแหน่งที่เห็นได้ชัดเจน สารตะกั่ว เป็นโลหะหนักที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดการสะสม เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคโลหิตจาง มีผลต่อการทำงานของไต และส่งผลต่อการพัฒนาของสติปัญญา ซึ่งถ้าสีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่วถูกนำไปใช้ในสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กต่างๆ อาจส่งผลให้เด็กได้รับสารตะกั่วส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการช้า หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นทำให้เด็กป่วยด้วยโรคปัญญาอ่อน   อาหารเสริม-กาแฟลดอ้วน เจอสารอันตรายเพียบ!!!ใครที่ยังหลงเชื่อหลงซื้อบรรดาอาหารเสริม-กาแฟลดความอ้วนอยู่อีกละก็ อ่านข่าวนี้แล้วน่าจะต้องคิดใหม่ ถ้าหยุดซื้อได้ก็ควรหยุด เพราะล่าสุดสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดเผยผลตัวอย่างอาหารและเครื่องดื่มที่อาจจะมีการนำยาแผนปัจจุบันมาผสม ตลอดช่วงปี 2556-2558 จำนวนทั้งหมด 1,160 ตัวอย่าง พบว่ามีมากกว่า 50% ที่พบการปนเปื้อนของสารอันตรายต้องห้ามอย่าง ไซบูทรามีน สเตอรอยด์ หรือแม้แต่ยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งเป็นยาควบคุม ต้องมีแพทย์เป็นคนจ่ายยาเท่านั้นโดยตัวอย่างที่วิเคราะห์ทั้งหมด 1,160 ตัวอย่าง แบ่งเป็น 1.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 690 ตัวอย่าง ตรวจพบไซบูทรามีน ร้อยละ 20, กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 43.4, กลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 3.9 และ กลุ่มยาระบาย ร้อยละ 0.52.กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง 391 ตัวอย่าง ตรวจพบไซบูทรามีน ร้อยละ 14.5 กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนส์ ร้อยละ 0.63.เครื่องดื่ม 49 ตัวอย่าง ตรวจพบกลุ่มยาสเตียรอยด์ร้อยละ 21.4และ 4.อาหารอื่นๆ 30 ตัวอย่าง การที่ผลิตภัณฑ์อาหารนำยาแผนปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นยาที่มีการควบคุมการใช้โดยแพทย์หรือเภสัชกรมาใช้เป็นส่วนผสม เมื่อผู้บริโภคหลงกินผลิตภัณฑ์อาหารเสริมดังกล่าวเข้าไป อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้จากการแพ้ตัวยาดังกล่าว หรือได้รับตัวยาในปริมาณที่มากเกินไปจนเกิดผลข้างเคียง อาหารที่มีการผสมยาแผนปัจจุบันจัดว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ผู้ผลิตและผู้ขายมีความผิดตามกฎหมาย   กุ้งไทยปลอดภัยไม่ฉีดสารเจลาตินสร้างความตื่นตกใจให้กับคนที่ชอบรับประทานกุ้งเป็นอย่างมาก หลังจากที่มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่ไม่แน่ชัดถึงที่มาที่ไปแต่คาดว่าจะมาจากต่างประเทศ โดยในคลิปเป็นภาพที่ของคนงานในโรงงานคัดแยกกุ้งกำลังฉีดสารบางอย่างเข้าไปในตัวกุ้ง ตามข่าวรายงานว่าเป็นสารหนืดเพื่อช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ตัวกุ้งคลิปดังกล่าวสร้างความกังวลและสงสัยต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ กรมประมง ที่ดูแลอุตสาหกรรมกุ้งทั้งในประเทศและส่งออกต้องรีบออกมาทำความเข้าใจและยืนยันว่า เหตุการณ์ในคลิปดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยแน่นอน พร้อมการันตีว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยมีระบบการผลิต การตรวจสอบคุณภาพ สารปนเปื้อน และเชื้อโรคอย่างเข้มงวด ก่อนส่งถือมือผู้บริโภค ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่ากุ้งไทยปลอดภัยจากสารปนเปื้อนแน่นอนสำหรับสารที่ฉีดมีลักษณะหนืดคล้ายเจลาติน เรียกว่า Carboxy Methyl cellulose (CMC) แม้จะเป็นสารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค เพราะสังเคราะห์จากพืช และใช้ในอุตสาหกรรมอาหารหลายประเภทเช่น ใช้เป็นสารคงตัวในไอศกรีม ใช้เป็นสารให้ความใสในน้ำผลไม้ ไวน์ เบียร์ แต่การนำมาฉีดในตัวกุ้งเพื่อหวังเพิ่มน้ำหนักถือเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์และไม่มีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค และดูแล้วเป็นการเพื่อต้นทุนซะมากกว่า เพราะต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อมาฉีดสารดังกล่าวเข้าไปในตัวกุ้งทีละตัว    สธ.ยืนยันไม่ใช้ “พัดลมไอน้ำ” ใน รพ.หวั่นแพร่เชื้อโรคนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมายืนยันว่า โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีการใช้พัดลมไอน้ำทั้งที่ตึกผู้ป่วยนอก (โอพีดี) และหอผู้ป่วย ตามคำแนะนำของสถาบันบำราศนราดูร สถาบันด้านโรคติดต่อและโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลระดับนานาชาติ หลังจากมีข่าวว่าพัดลมไอน้ำในโรงพยาบาลเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคลีเจียนแนร์ ปลัด สธ.ให้ข้อมูลว่า โรคลีเจียนแนร์ แม้จะเป็นโรคที่ทำให้ผู้ที่ป่วยเสียชีวิตได้ แต่ก็ไม่รุนแรงเหมือนโรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก และไม่ติดต่อจากคนสู่คน และรักษาให้หายได้เพียง 1 สัปดาห์ก็หายขาด อาการของโรคนี้จะคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ไอ คลื่นไส้อาเจียน แต่หากเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปที่ปอด ทำให้ปอดอักเสบ มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย อาจเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต ซึ่งโรคนี้มักส่งผลกับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำและผู้สูงอายุที่มีโรคเรื้อรัง ซึ่งพัดลมไอน้ำที่ใช้เป็นประจำแล้วไม่ได้ทำความสะอาดภาชนะบรรจุน้ำของพัดลมไอน้ำอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดการปนเปื้อนของเชื้อลีเจียนแนร์ ละอองน้ำจากพัดลมจะแพร่กระจายโรคนี้รวมทั้งโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ดังนั้นผู้ป่วยในโรงพยาบาลจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนทั่วไปทั้งนี้ สธ. ยังฝากเตือนถึงประชาชนทั่วไปหมั่นดูแลล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศในที่พัก ทำความสะอาดท่อหล่อเย็น หรือ ถาดรองน้ำหล่อเย็นของเครื่องปรับอากาศ อย่าให้มีน้ำขัง เปียกชื้น ควรทำให้แห้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ส่วนพัดลมไอน้ำให้ล้างภาชนะบรรจุน้ำอย่าปล่อยให้มีตะไคร่น้ำและเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อโรค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ดีเอสไอ เชือด!!! อาหารเสริม “เมโซ” (Mezo) อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ถูกเช็คบิลไปอีกหนึ่งยี่ห้อ สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงอย่าง อาหารเสริมยี่ห้อ “เมโซ” (Mezo) ที่ถูกทาง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำการตรวจยึดของกลางได้กว่า 1 ล้านแคปซูล มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท จาก 2 แหล่ง คือที่ บริษัท เมโซ เอนเทอร์ไพรซ์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารตราเมโซ (Mezo) และที่โรงงานผลิตอาหารเสริม บริษัท สุกฤษ 55 จำกัด ซึ่งพบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายความผิดหลายรายการ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนักตราเมโซ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตรา FOMO V Shape Body ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดน้ำหนัก ตราดับเบิลยูพีพลัส และผลิตภัณฑ์เอฟบีแอลพลัส มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท โดยโรงงาน-บริษัท ข้างต้นจดทะเบียนถูกต้อง มีรูปแบบการทำธุรกิจโดยเป็นเจ้าของสูตรยา แล้วโฆษณาให้คนที่มีต้นทุน และสนใจที่จะเข้ามาลงทุน โดยระบุข้อความขอเพียงมีเงินลงทุนเท่านั้น บริษัทจะเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ ทำการตลาด กำหนดยี่ห้อสินค้าให้ แต่ใช้สูตรตัวยาเดียวกัน สำหรับความผิดที่นำไปสู่การตรวจยึดสินค้าครั้งนี้มาจากการที่ผลิตภัณฑ์แสดงชื่อไม่ตรงกับที่จดแจ้งไว้ และแสดงฉลากข้อความอวดอ้างสรรพคุณฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยอาหารและยา มาตรา 6 (10) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อาหารเสริมดังกล่าวมียอดการจำหน่ายต่อปีกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งต้องตรวจสอบการยื่นเสียภาษีด้วย ส่วนการดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดนั้น ดีเอสไออยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐาน โดยในส่วนของโรงงานยังไม่สั่งปิด เนื่องจากผลิตยาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับหลายบริษัท แต่หากพบว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ผลิตจากโรงงานมีความผิด ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป อย.เตรียมปรับฉลากอาหารใช้สัญลักษณ์แสดงโภชนาการ บ้านเรามีความพยายามอย่างมากในการปรับปรุงฉลากอาหารให้มีความเป็นมิตรกับผู้บริโภคมากที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของฉลากโภชนาการที่เป็นข้อมูลสำคัญที่แจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงส่วนประกอบต่างๆ ในอาหารที่เรารับประทาน ซึ่งล่าสุดผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ออกมายืนยันว่าทาง อย. มีแผนที่จะปรับปรุงฉลากอาหารโดยจะมีการกำหนดเกณฑ์ของสารอาหารที่เหมาะสมต่อการบริโภคที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยใช้วิธีการมอบตราสัญลักษณ์ให้แก่ผู้ประกอบการที่ผลิตอาหารได้ตามเกณฑ์ที่ อย. กำหนดไว้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากภาคประชาชนที่เสนอให้ใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร ที่เป็นแบบแจ้งปริมาณสารอาหารว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่แบบตรงไปตรงมา ซึ่งผู้อำนวยการสำนักอาหารก็ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นรูปแบบฉลากที่ผู้ประกอบการไม่ยอมรับ ส่วนฉลาก GDA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นการให้ข้อมูลที่อ่านง่ายแต่ไม่ได้ตัดสินว่าผลิตภัณพ์อาหารนั้นดีหรือไม่ดี โดยภายในปีนี้ เครื่องหมายตราสัญลักษณ์แบบใหม่จะเริ่มนำมาใช้ได้ในกลุ่มอาหารแช่แข็งเป็นกลุ่มแรกและค่อยๆ ทยอยออกเพิ่มเติมต่อไป สปสช. เพิ่มยา 6 รายการในสิทธิบัตรทอง คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้อนุมัติสิทธิประโยชน์ด้านยาเพิ่มเติม 6 รายการ เพื่อให้ผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เข้าถึงการรักษาพยาบาลและได้รับยาที่จำเป็นเพิ่มขึ้น โดยยา 6 รายการที่มีการอนุมัติเพิ่มเติมได้แก่ 1. ยาลอราซีแพม อินเจกชัน ใช้ฟื้นฟูลดภาวะที่สมองจะถูกทำลายและเสียชีวิตจากการชัก มีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยา 3,000 - 5,000 คนต่อปี 2. ยาทริแพน บูล ใช้ย้อมสีถุงหุ้มเลนส์ตาระหว่างผ่าตัดต้อกระจก และย้อม Internal Limiting membrane กรณีผ่าจอตา มีผู้ป่วยต้องการใช้ประมาณ 10,000 รายต่อปี 3. ยาอินดอคยาไนน์ กรีน ใช้วินิจฉัยโรคจุดภาพเสื่อม (PCV ) มีผู้ป่วยที่ต้องการใช้ประมาณ 20,000 ราย 4. ยาดาคาบาซีน ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดกินส์ ซึ่งผู้ป่วยที่ได้รับยานี้มีโอกาสหาย มีผู้ที่ต้องรับยานี้ประมาณ 100 คนต่อปี 5. ยารักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว APL ใช้สำหรับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา All-trans-retinoic acid มีผู้ป่วยที่ต้องได้รับยานี้ประมาณ 1,000 คน และ 6. Factor Vlll และ Factor IX สำหรับผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย A และ B มีผู้ป่วยที่ต้องใช้รับยานี้ประมาณ 1,483 ราย การส่งเสริมเรื่องการเข้าถึงยาเพิ่มมากขึ้นในครั้งนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยบัตรทองได้สิทธิในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยกองทุนบัตรทองถึงปีละเกือบหมื่นล้านบาท ช่วยลดภาระค่ายาที่มีราคาแพงให้กับโรงพยาบาลที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่ต้องใช้ยาเหล่านี้ สั่ง “วิตามิน-อาหารเสริม” จากต่างประเทศ ระวังเสียเงินฟรี!!! อย.เตือนใครที่คิดจะสั่งซื้อ “วิตามิน” และ “อาหารเสริม” จากต่างประเทศผ่านทางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ระวังจะสูญเงินเปล่า เพราะวิตามินและอาหารเสริมที่สั่งซื้ออาจเข้าข่ายเป็นยาตามกฎหมาย อย. หากไม่มีการขึ้นทะเบียนนำเข้าก็จะถูกสกัดที่ด่านอาหารและยาตั้งแต่ต้นทาง ปัจจุบันพบว่ามีคนที่สั่งซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากต่างประเทศ เช่น วิตามิน เกลือแร่ โสมสมุนไพร หรือสารสกัดต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนำมาใช้เองและนำมาเพื่อจำหน่ายต่อ ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาขายตามเว็บไซต์ต่างๆ นั้น แม้ในประเทศต้นทางแม้จะบอกว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แต่เมื่อพิจารณาจากขนาดของวิตามิน เกลือแร่ หรือสารสกัดต่างๆ ที่เป็นส่วนผสมแล้ว หากพบว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ถือว่าเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งวิตามิน หรือสารสกัดแต่ละตัวจะมีขนาดกำหนดไว้ไม่เท่ากัน และหากมีการโฆษณาว่าสามารถรักษาโรคได้ก็ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งหากไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนนำเข้ามาในราชอาณาจักรกับ อย. ก็ถือเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย หากใครมีข้อสงสัยเรื่องการสั่งซื้อนำเข้ายาจากต่างประเทศ ควรสอบถามให้แน่ใจกับทาง อย. เสียก่อน เพื่อป้องกันการสูญเงินไปแบบฟรีๆ โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเกลื่อนจอทีวี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 10 จังหวัด ได้ทำการจับตาเฝ้าระวังสถาการณ์ของบรรดาผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงทั้งหลาย ที่ยังคงโฆษณาออกอากาศอยู่ตามช่องเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ระหว่างเดือน ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา พบว่าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศอยู่ ณ ปัจจุบัน เกือบ 100% เป็นการโฆษณาอย่างผิดกฎหมาย เนื้อหาส่วนใหญ่โอ้อวดเรื่องสรรพคุณด้านความสวยความงาม การลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ขาว-สวย-ใส และเรื่องการรักษาโรคแบบครอบจักรวาล ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพบว่า โทรทัศน์ดาวเทียม-เคเบิ้ลจำนวน 18 ช่อง พบแล้ว 17 ช่อง ที่โฆษณาผิดกฎหมายและเป็นช่องที่กสทช. เคยสั่งปรับไปแล้ว 5 ช่อง ได้แก่ สถานีโทรทัศน์ไทยมุสลิม (TMTV) , ทีวีมุสลิมไทยแลนด์ , มีคุณทีวี , เอชพลัส (H+) และช่อง 8 (8 Channel : ดิจิตอลทีวี) โดยมีผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่โฆษณาอยู่จำนวน 95 ผลิตภัณฑ์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันและมีข้อมูลก่อนเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเทคนิคง่ายๆ สำหรับใช้เป็นคนสังเกตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย มีดังนี้ 1.สังเกตเลขอนุญาต เช่น ด้านอาหาร คือ ฆอ. .../... , กรณีด้านยา คือ ฆท. .../... , เครื่องมือแพทย์ คือ ฆท. ..../... ,ส่วนเครื่องสำอางไม่ต้องมีเลขอนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง เป็นเท็จ ซึ่งจะมีความผิดตา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2.พิจารณาเนื้อหา ว่าโฆษณาตรงกับผลิตภัณฑ์หรือไม่ 3.เนื้อหาโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ สำหรับข้อเสนอที่ภาคประชาชนอยากให้หน่วยงานภาครัฐจัดการกับปัญหานี้ คือให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้ที่ทำผิดให้มีความรุนแรงมากขึ้น และต้องเร่งรัดการจัดทำระบบฐานข้อมูลการอนุญาตโฆษณาอาหาร และเปิดให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเรื่องการตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ที่สำคัญหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลปัญหานี้โดยตรงอย่าง อย. กสทช. ต้องจริงจังเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2557 ชาวซอยร่วมฤดีเฮ!!! ศาลสั่งรื้ออาคารสูง หลังจากที่ใช้เวลาพิจารณาต่อสู้ในศาลนานถึง 6 ปี ในที่สุด คดีที่ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ อาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประชาชนที่อยู่อาศัยในซอยร่วมฤดีรวมทั้งหมด 24 ราย ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครอง ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการมีอำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครอง และในฐานะเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เหตุออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนที่พักอาศัยในซอยร่วมฤดี รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิต และทรัพย์สิน ก็ได้มีคำตัดสินออกมาแล้วเรียบร้อย โดยศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้สำนักงานเขตปทุมวัน (ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ) และ กรุงเทพมหานคร (ผู้ถูกฟ้องที่ 2) ให้เร่งรื้อถอนหรือลดความสูงอาคารไม่ให้เกิน 10,000 เมตร ภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า "คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ ซึ่งซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว และครั้งนี้ถือเป็นการต่อสู้ของประชาชนที่หากจะได้รับความเป็นธรรมต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด และต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"     อย. จับอาหารเสริม "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ใส่ “ไซบูทรามีน” โดนปิดบัญชีไปอีกราย สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลอกลวงผู้บริโภค กับอาหารเสริมลดความอ้วนยี่ห้อ “โอ้โห บาย ปูนิ่ม” ที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่จาก อย. ดำเนินการจับผู้ผลิตและยึดสินค้าของกลาง ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 50 ล้านบาท!!! สาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลกได้เก็บตัวอย่างและทดสอบผลิตภัณฑ์อาหาร "โอ้โห บาย ปูนิ่ม" ที่โฆษณาขายอย่างคึกโครมอยู่ในเฟซบุ๊ค  สร้างเครือข่ายที่เป็นตัวแทนจำหน่ายกว่า 3 – 4 พันคนทั่วประเทศ ซึ่งจากผลทดสอบที่ได้พบว่าตัวผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่าช่วยลดน้ำหนักมีการใส่สาน “ไซบูทรามีน” ซึ่งเป็นสารต้องห้าม เพราะมีอันตรายร้างแรงต่อผู้ที่รับประทาน ทำให้หัวใจขาดเลือด เป็นเหตุให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้ โดยความผิดตามกฎหมายที่เจ้าของและผู้บริหาร บริษัท โอ้โห สลิมพลัส จำกัด เจ้าของสินค้า มีดังนี้ พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฐานจำหน่ายอาหารปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับ ตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ฐานจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานโฆษณาคุณประโยชน์และคุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535 ฐานขายเครื่องสำอางแสดงฉลากไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ   “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) ผิดกฎหมาย ห้ามให้บริการ กรมขนส่งทางบกออกคำสั่งห้าม “อูเบอร์ แท็กซี่” (Uber Taxi) วิ่งให้บริการในประเทศ หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ หลังมีการตรวจสอบพบว่า อูเบอร์ แท็กซี่ ทำความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522  ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ นอกจากนี้ยังมีความผิดฐานไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบขับขี่สาธารณะ และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ประวัติผู้ขับรถสาธารณะ นอกจากนี้ยังใช้วิธีการชำระค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิตซึ่งอาจส่งผลต่อความปลอดภัยด้านธุรกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคต อูเบอร์ แท็กซี่ (Uber Taxi) เป็นบริการแท็กซี่โดยสารการเรียกโดยใช้แอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นบริการที่มีมาแล้วในหลายประเทศ ในประเทศไทยของจาก อูเบอร์ แท็กซี่ แล้ว ยังมีบริษัทผู้ให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นผ่านมือถืออีก 2 บริษัท คือ บริษัท อีซีแท็กซี่ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท แกรบแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่ผู้ใช้บริการก็ต้องรู้จักเลือกใช้อย่างมีข้อมูลเพื่อความปลอดภัยและคุ้มค่าในการเดินทาง     เตือน!!! กินอาหารเสริม “คลอโรฟิลล์” ระวังเจอผลข้างเคียง ไม่รู้ว่ารอบที่เท่าไหร่แล้วที่ อย. ต้องออกมานั่งยันนอนยันว่าการรับประทานอาหารเสริมหรือเครื่องดื่มที่ผสม “คลอโรฟิลล์” ไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ใดๆ ที่รับรองว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะช่วยบำรุงร่างกาย ขับสารพิษ ช่วยให้ผิวพรรณสดใส หรือบรรเทาอาการเจ็บไข้ใดๆ แต่ที่ยืนยันได้จริงก็คือการรับประทานคลอโรฟิลล์อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ที่มีอาการแพ้ เช่นทำให้เกิดผื่นคัน ท้องเสีย ล่าสุดเกิดกรณีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งโพสภาพพร้อมข้อความเยินยออาหารเสริมที่ผสมคลอฟิลล์ยี่ห้อหนึ่งว่ากินแล้วดีต่อสุขภาพ ขนาดให้เด็กทารกแรกเกิด 7 วัน กินแล้วแข็งแรง น้ำหนักตัวเยอะ ซึ่งสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ถึงความเหมาะสมในการกระทำดังกล่าว ทาง อย.จึงได้ตรวจสอบกลับไปยังผลิตภัณฑ์ที่ปรากฏในภาพ พบว่ามีการใช้ข้อความอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เข้าข่ายมีความผิดตามกฎหมาย ขอยืนยันอีกทีว่าการทานอาหารเสริมผสมคลอโรฟิลล์ที่อวดอ้างสรรพคุณต่างๆ นานานั้น ไม่มีความจำเป็น เราสามารถได้รับคลอโรฟิลล์จากการกินผักใบเขียว ซึ่งนอกจากจะเสียเงินโดยใช้เหตุแล้ว อาจเสี่ยงผลเสียต่อสุขภาพด้วย     “รถโดยสารไทย” ถึงเวลายกเครื่องเรื่องประกันภัยและการจ่ายชดเชยเยียวยา เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตัวแทนจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดเวทีเสวนาวิชาการ “ยกเครื่องรถโดยสารสาธารณะไทย ด้วยระบบประกันภัยและการชดเชยเยียวยา” ซึ่งในเวทีก็มีตัวแทนผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะและบริษัทประกันภัยร่วมแลกเปลี่ยนด้วย โดยภาพรวมของเวทีวิชาการครั้งนี้ ได้นำเสนอถึงปัญหาเรื่องการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ประสบอุบัตเหตุรถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม จากกระบวนการพิสูจน์ถูกผิดที่ล่าช้า ปัญหาจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และการบังคับใช้กฎหมายที่ยังขาดความเข้มงวดและไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ในเวทียังได้มีตัวแทนเครือข่ายคนทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเรื่องรถโดยสารปลอดภัย มาถ่ายทอดประสบการณ์การทำงาน และปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีทั้งปัญหาเรื่องรถโดยสารที่ด้อยคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้งาน เมื่อเกิดอุบัติเหตุการเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยาเป็นไปด้วยความยากลำบาก ใช้เวลานาน ผู้เสียหายบางรายใช้เวลาร่วม 10 ปีในการต่อสู้ในชั้นศาลกว่าจะได้รับเงินชดเชยเยียวยา ทั้งๆ ที่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งบาดเจ็บพิการและเสียชีวิต รวมถึงวงเงินชดเชยเยียวยาวคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่มองว่ายังน้อยเกินไปควรมีการปรับให้สูงขึ้น จากเดิมค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจะได้ไม่เกิน 50,000 บาท เสนอให้ปรับเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพ หรือสูญเสียอวัยวะ เดิมจะได้ไม่เกิน 200,000 บาท เสนอให้ปรับขึ้นเป็น 400,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 160 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2557 ไม่อยากมีปัญหา อย่ากิน “ยาสลายมโน” ปราบยังไงก็ไม่หมดจริงๆ สำหรับบรรดาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอวดอ้างสรรพคุณที่โฆษณาขายกันอย่างโจ๋งครึ่ม ทำผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อแล้วเป็นจำนวนมาก ล่าสุดมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่ใช้ชื่อว่า “ยาเม็ดสลายมโน” (แค่ชื่อก็ดูไม่น่าเชื่อถือแล้ว) ที่กำลังระบาดหนักทางโซเชียลมีเดีย โดยยาสลายมโนอวดอ้างสรรพคุณด้วยประโยคเด็ดว่า “กินแล้วมโนภาพ จินตนาการ หรือความเพ้อเจ้อ เพ้อฝันว่าจะมีหน้าอกสวยงาม กระชับ เต่งตึงได้รูปจะเป็นจริง” สาวๆ หลายคนอ่านแล้วก็หลงเชื่อ เผลอนโมไปว่ากินยานี้แล้วเราของจะสวยขึ้นแน่นอน ซึ่งราคาขายอยู่ที่กระปุกละ 590 – 700 บาท อย.เห็นแบบนี้เข้าจึงอยู่เฉยไม่ไหว ต้องออกโรงเตือนอย่าหลงเชื่อซื้อยาสลายนโนมากินเด็ดขาด เพราะเข้าข่ายโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กินแล้วไม่ได้อย่างคำโฆษณาแถมอาจเสี่ยงจากโรคอื่นเป็นของแถม ก่อนตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์อาหารใดๆ ขอให้พิจารณา อ่านฉลาก และตรวจสอบข้อมูลให้ถ้วนถี่ หรือนำเลขที่สารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ไปตรวจสอบกับทาง อย. หากผู้บริโภคพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่โอ้อวดเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนไปที่ สายด่วน อย. โทร. 1556   “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” สารพิษสูง ใครที่ทานอาหารตามร้านอาหารบ่อยๆ คงจะคุ้นตากับ “แอลกอฮอล์อุ่นอาหาร” ที่หลายๆ ร้านใช้อุ่นอาหารพวกต้มยำหม้อไฟที่นำมาวางเสิร์ฟบนโต๊ะให้ร้อนอยู่เสมอ ซึ่งจากนี้ไปมื้อไหนที่มีแอลกอฮอล์อุ่นอาหารอยู่บนโต๊ะ ก็อย่ามัวแต่เพลินกับความอร่อย ต้องสังเกตแอลกอฮอล์อุ่นอาหารเพราะมันอาจมาพร้อมกับสารเคมี อย. ได้ตรวจจับแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร ยี่ห้อ “กรีนพาวเวอร์” จำนวน 50 ลัง น้ำหนักรวม 2,266 กิโลกรัม และแอลกอฮอล์แข็ง-เจล จำนวน 122 ถัง น้ำหนักรวม 1,586 ลิตร มาเผาทำลาย เนื่องจากมีการตรวจวิเคราะห์พบปริมาณเมทานอลเกินกว่ากำหนด คือ 86.7% ทั้งที่มาตรฐานต้องไม่เกิน 1% เข้าข่ายเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง สำหรับผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์อุ่นอาหารเป็นผลิตภัณฑ์ที่พบว่ามีใช้กันอย่างแพร่หลาย ใช้อุ่นอาหารประเภทหม้อไฟ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้จัดเป็นวัตถุอันตรายถูกกำกับควบคุมโดย อย. สำหรับอันตรายของแอลกอฮอล์อุ่นอาหาร หากสูดดมเข้าไปจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ตาพร่า และถ้าสูดดมในปริมาณมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือใครที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นี้ ต้องเลือกที่มีเครื่องหมายมาตรฐาน สมอ. กำกับเพื่อความปลอดภัย   “ซิมดับ” มาแน่ กันยายนนี้ กสทช. เตือนคนที่ใช้โทรศัพท์มือถือในคลื่นความถี่ 1800 MHz (เมกกะเฮิร์ตช) รีบทำการโอนย้ายเปลี่ยนแปลงระบบ ก่อนจะเจอกับอาการซิมดับของจริงในเดือนกันยายน 2557 นี้ โดยตัวเลขผู้ใช้โทรศัพท์ที่ยังคงค้างอยู่ในคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ 2 บริษัท ประกอบด้วย ทรูมูฟ ซึ่งมีจำนวนลูกค้าเหลืออยู่ทั้งสิ้นราว 5 ล้านกว่าราย ส่วนดีซีพีเหลือประมาณ 6,000 ราย ผู้ใช้เลขหมายคลื่นความถี่ 1800 ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการใช้งานโทรออก-รับสาย และส่ง SMS เป็นหลัก การใช้งานไม่สลับซับซ้อน ไม่ใช่การส่งภาพหรือใช้อินเตอร์เน็ต ปัญหาคือ ผู้ใช้เลขหมายบางคนไม่ได้เป็นคนซื้อโทรศัพท์หรือดำเนินการเอง เช่น ลูกซื้อให้พ่อ-แม่ คนใช้งานอาจไม่ได้ใส่ใจหรือติดตามข่าวสารว่า เลขหมายของตัวเองอยู่ในข่ายที่ต้องโอน ผู้ที่ยังใช้โทรศัพท์ในเครือข่าย 1800 MHz หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในระบบใด ให้รีบติดต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายและทำการย้ายโอนเครือข่าย เพื่อป้องกันปัญหาซิมดับที่ส่งผลต่อการใช้งานโทรศัพท์มือถือ   ไขปริศนา สารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติก จากกระแสข่าวลือที่สะพัดบนโลกออนไลน์ว่า น้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกที่ถูกทิ้งตากแดดไว้ในกระโปรงท้ายรถยนต์ เป็นตัวการที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะจะมีสารไดออกซิน สร้างความสับสนและกังวลของผู้คนในสังคม ว่าข่าวดังกล่าวจริงเท็จประการใด เพื่อไขข้อข้องใจทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ว่า เรื่องสารก่อมะเร็งในขวดน้ำพลาสติกนั้น เป็นเรื่องไม่จริง โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ซื้อตัวอย่างน้ำดื่มที่บรรจุในขวดพลาสติกชนิดโพลิเอทิลีน โพลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต โพลิพรอพิลีน โพลิคาร์บอเนต และโพลิไวนิลคลอไรด์ที่จำหน่ายในตลาดสดและซูเปอร์มาร์เก็ต จำนวน 18 ยี่ห้อ และนำไปวางในรถที่จอดกลางแดดเป็นเวลา 1 วัน และ 7 วัน จากนั้นตรวจวิเคราะห์สารประกอบกลุ่มไดออกซิน จำนวน 17 ตัว และพีซีบี จำนวน 18 ตัว พบว่า ตรวจไม่พบสารประกอบกลุ่มไดออกซินและพีซีบีในทุกตัวอย่าง สารไดออกซินเป็นสารที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเคมีภัณฑ์ที่มีสารคลอรีนเป็นองค์ประกอบ เช่น อุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมผลิตยาฆ่าแมลง เป็นต้น หรือกระบวนการเผาไหม้อุณหภูมิสูงทุกชนิด เช่น เตาเผาขยะทั่วไป เตาเผาขยะจากโรงพยาบาล เตาเผาศพ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น กรณีที่สารไดออกซินจะละลายออกมาจากขวดบรรจุน้ำที่วางไว้ในที่ร้อนๆ อย่าง หลังรถยนต์ ยังไม่เคยมีรายงานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันการตรวจพบมาก่อน   เด็กไทยยังเสี่ยงสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม กระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจที่น่าตกใจ เด็กไทยทั่วประเทศยังคงเสี่ยงกับสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม เหตุเพราะตู้น้ำไม่ได้มาตรฐาน แถมยังสกปรกส่งผลให้เด็กป่วยเป็นเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร จากข้อมูลสำรวจการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำดื่มจากตู้ทำเย็นของโรงเรียนในจังหวัดต่างๆ พบว่าส่วนหนึ่งยังมีค่าสูงเกินมาตรฐานคุณภาพน้ำบริโภคกรมอนามัย พ.ศ. 2553 คือ 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งจากการเก็บตัวอย่างเครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วเป็นตัวเชื่อมตะเข็บรอยต่อทั้งตู้ใหม่ และตู้เก่าที่ผ่านการซ่อม พบว่า มีการเชื่อมทั้งบริเวณมุมของภายในช่องท่อต่อน้ำเข้าเครื่องบริเวณลูกลอยกับก้าน และช่องท่อส่งน้ำออกบริเวณพื้นตัวถังไปสู่ก๊อกน้ำ ทำให้น้ำที่ไหลผ่านตู้น้ำมีตะกั่วปนเปื้อน นอกจากนี้ยังพบว่าที่เก็บน้ำมีความสกปรก ขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ หากเด็กนักเรียน ดื่มเข้าไปเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอุจจาระร่วง บิด ไทฟอยด์ อหิวาต์ ซึ่งสถานการณ์โรคอุจจาระร่วงในกลุ่มเด็กปี 2557 จากรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 7 - 9 ปี จำนวน 22,798 ราย และในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี จำนวน 24,631 ราย กรมอนามัย จึงได้แนะนำการป้องกันอันตรายสารตะกั่วจากตู้น้ำดื่ม ต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกซื้อตู้ทำน้ำเย็นที่ประกอบด้วยเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดดี ชนิดหนา ซึ่งสารตะกั่วที่ปนเปื้อนแม้เพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้ง่าย เนื่องจากเด็กมีความไวต่อการสัมผัส หากร่างกายได้รับสารตะกั่วในปริมาณสูงก็จะเกิดอาการเป็นพิษได้ นอกจากนี้ถังเก็บน้ำต้องทำด้วยวัสดุเหล็กกล้าไร้สนิมที่ใช้กับอาหาร ไม่มีตะกั่วเป็นส่วนผสม เชื่อมตะเข็บรอยต่อด้วยก๊าซอาร์กอน หรือก๊าซสำหรับเชื่อมอื่นที่ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และไม่มีผลตกค้างในถังน้ำ ที่สำคัญโรงเรียนต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดตู้น้ำดื่มโดยการล้างที่เก็บน้ำภายในตู้เป็นประจำ ทำความสะอาดก๊อกน้ำและบริเวณผิวภายนอกตู้ให้สะอาดป้องกับเชื้อโรคและสิ่งสกปรก   //

อ่านเพิ่มเติม >