ฉบับที่ 239 อาหารพร้อมทานร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จานไหนโซเดียมสูง

        วิถีชีวิตแบบเร่งรีบของคนทุกวันนี้ ก่อให้เกิดวิถีการบริโภคอาหารที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว กล่าวคือ ง่าย อิ่มและไม่แพง  ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับสถานการณ์พิเศษโควิด 19 ที่ทำให้ทุกคนต้องปรับตัวกับชีวิตวิถีใหม่ ยิ่งส่งผลให้อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็งมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอบโจทย์ได้อย่างดี ไม่ต้องไปนั่งในร้านอาหาร ไม่ต้องยืนรอคิว ไม่ต้องสั่งให้คนนำอาหารมาให้ แค่เดินเข้าร้านสะดวกซื้อแล้วเลือกหยิบเมนูที่ชอบ นำเข้าไมโครเวฟอุ่นร้อนก็รับประทานได้ในเวลาอันรวดเร็ว         ดังนั้นเมื่อนิตยสารฉลาดซื้อได้รับข้อมูลที่น่าสนใจจาก “สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูป เพื่อรถรงค์ ลดเค็ม ลดโรค โดยคณะทำงานของทางโครงการฯ ได้เก็บตัวอย่างสินค้า อาหารพร้อมทานทั้งแบบแช่เย็น แช่แข็ง จำนวนถึง 53 รายการ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 แล้วนำมาอ่านฉลากโภชนการว่าแต่ละเมนูที่เลือกมามีปริมาณโซเดียมเท่าไร ก็ทำให้ได้คำตอบที่ชัดเจนว่า อาหารพร้อมทานแบบแช่เย็น แช่แข็งนั้น มีปริมาณโซเดียมค่อนข้างสูง เป็นหนึ่งในอาหารกลุ่มเสี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรตไต และอาจทำให้เกิดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคทั่วไปจะได้รับโซเดียมเกินในแต่ละวัน         ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู คือแชมป์โซเดียมสูง        จากผลการสำรวจฉลากอาหารพร้อมรับประทานแบบแช่เย็น แช่แข็ง ทั้ง 53 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบไปด้วย        · อาหารจานหลัก ได้แก่ ข้าวผัด ข้าวหน้าต่างๆ ข้าวกะเพรา ยากิโซบะ และผัดไทย (จำนวน 35 ตัวอย่าง)         · อาหารอ่อน ได้แก่ โจ๊ก ข้าวต้ม เกี๊ยวน้ำ (จำนวน 15 ตัวอย่าง)         · ขนม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ บัวลอยมันม่วง บัวลอยเผือก และสาคูถั่วดำ         พบว่ามีค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมทั้ง 53 ตัวอย่าง อยู่ที่ 858 มิลลิกรัม (ระหว่าง 210 – 1,390 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค) โดยเมื่อแบ่งเป็นกลุ่มอาหาร           o กลุ่มอาหารจานหลัก ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 450 – 1,390   มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค        o กลุ่มอาหารอ่อน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 380 – 1,340   มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค และ        o ขนมหวาน ปริมาณโซเดียมอยู่ระหว่าง 210 - 230  มิลลิกรัม/ หน่วยบริโภค            และ 10 อันดับเมนูโซเดียมสูง จากการสำรวจครั้งนี้ ได้แก่        1.ข้าวคลุกน้ำพริกกะปิปลาทู อีซี่โก 1,390 มก./  หน่วยบริโภค 240 กรัม        2.ผัดไทยกุ้งสด อีซี่โก  1,360 มก./ หน่วยบริโภค 225 กรัม        3..ข้าวต้มหมู แฟมิลีมาร์ท 1,340 มก./ หน่วยบริโภค 300 กรัม        4.ผัดไทยกุ้งสด มาย ช้อยส์ 1,310 มก./ หน่วยบริโภค 235 กรัม        5..ยากิโซบะหมู อีซี่โก  1,290 มก./ หน่วยบริโภค 195 กรัม.        6. ข้าวผัดคะน้าปลาเค็ม อีซี่โก 1,280 มก. / หน่วยบริโภค 210 กรัม        7 ข้าวผัดกะเพราขี้เมาไก่ อีซี่โก 1,200 มก. / หน่วยบริโภค 200 กรัม        8. ข้าวผัดปู เดลี่ไทย  1,200 มก. / หน่วยบริโภค 250 กรัม        9. เกี๊ยวกุ้ง ซีพี  1,160 มก. / หน่วยบริโภค 145 กรัม        10.เกี๊ยวกุ้ง บิ๊กมีล  1,130 มก. / หน่วยบริโภค 300 กรัม ทำไมอาหารแช่เย็นแช่แข็งถึงมีโซเดียมสูง         ในการผลิตอาหารแช่เย็นแช่แข็ง นอกจากโซเดียมซึ่งอยู่ในรูปของวัตถุดิบ และเครื่องปรุงรสต่างๆ อย่างน้ำปลา ซีอิ๊ว แล้ว ยังมีการใส่วัตถุเจือปนอาหาร เพื่อช่วยให้อาหารคงสภาพดีไปจนตลอดอายุ เช่น วัตถุกันเสีย (โซเดียม เบนโซเอต) ผงชูรส (โมโนโซเดียม กลูตาเมต) สารเพิ่มความข้นเหนียว. (โซเดียม อัลจิเนต)  ฯลฯ ซึ่งวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ทางการอนุญาตให้ใช้ในอาหารได้ แต่ก็เพิ่มปริมาณโซเดียมเข้าสู่อาหารแช่เย็นแช่แข็งด้วยเช่นกัน แพทย์แนะวิธีบริโภคอาหารแช่เย็นแช่แข็ง         “อาหารแช่แข็ง หากมีความจำเป็นต้องรับประทานควรดูที่ฉลากโภชนาการ หากมีโซเดียมไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อมื้อ หรือบวกได้อีก 100 มิลลิกรัมต่อมื้อ ถือว่ายังได้รับปริมาณโซเดียมในระดับที่ไม่อันตราย” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม และอาจารย์ประจำหน่วยโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 กระแสต่างแดน

โรงเรียนปิด “โรงไฟฟ้า” เปิด               รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปิดโรงเรียนประถมจำนวนมากเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดโจทย์ให้คิดกันว่าจะใช้ประโยชน์จากโรงเรียนปลดระวางเหล่านี้อย่างไร         จนกระทั่งบริษัท ELM Inc. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เขาเสนอขอใช้พื้นที่ในสระว่ายน้ำของโรงเรียน (เพราะทักษะการว่ายน้ำถือเป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีสระว่ายน้ำ) เป็นพื้นที่สำหรับแผงโซลาลอยน้ำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาโอเวอร์ฮีทในวันที่ร้อนเกินไป ส่วนห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ก็ดัดแปลงเป็นห้องเก็บคอนเวอร์เตอร์         โรงเรียนแรก (จากทั้งหมด 15 โรง ในโครงการ) ที่เริ่มติดตั้งระบบดังกล่าว อยู่ในเขตมินามิซัตสึมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ สระว่ายน้ำทั้งสองแห่งของโรงเรียน (สระ 25 เมตร และสระ 6 เมตร) ที่รองรับแผงโซลาเซลล์ได้รวมกัน 160 แผง จึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 61,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่บริษัทจะขายให้กับ คิวชูอิเล็กทริคพาวเวอร์ ผู้ประกอบการด้านพลังงานในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นปั่นไม่ทันจีน         ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายจักรยานจะแซงยอดขายรถยนต์ ... อย่างน้อยๆ ก็ในยุโรป เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17 ล้านคน แต่มีจักรยาน 22.1 ล้านคัน ในขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองโคเปนเฮเกน ใช้จักรยานในการเดินทาง         ร้อยละ 90 ของจักรยานที่คนยุโรปใช้ ผลิตในประเทศจีน เมื่อจีนลดกำลังการผลิต/ปิดโรงงาน และการขนส่งทำได้ล่าช้า (เพราะคอนเทนเนอร์จะจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมันบรรจุสินค้าจนเต็มเท่านั้น) บวกกับความต้องการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด ยุโรปจึงขาดแคลนจักรยาน         ความจริงยุโรปก็ผลิตจักรยานเองได้ เขาผลิตได้ถึง 2.7 ล้านคันในปี 2019 ผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี แต่จักรยานเหล่านี้ราคาแพงกว่าจักรยานจีนซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า         คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำการสอบสวนกรณีที่จีนส่งจักรยานไฟฟ้าเข้าไปตีตลาดในราคาต่ำ (เพราะได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากรัฐบาล) จนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในยุโรปไม่ต่ำกว่า 800 ราย  บ่อขยะของยุโรป        โปแลนด์รับขยะหลายพันตันในยุโรปเพื่อ “นำมารีไซเคิล” โดยร้อยละ 70 ของขยะเหล่านั้นมาจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นขยะจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรีย         เกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกเมื่อธุรกิจรับกำจัดขยะในโปแลนด์ถูกเปิดโปงว่า ไม่ได้รีไซเคิลขยะที่ได้มา หลักๆแล้วนำไปทิ้งรวมในบ่อขยะ ซ้ำร้ายบางทีก็เผาทิ้งเพื่อประหยัดต้นทุน ให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมแบกรับผลกระทบ           บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้ “ขยะรีไซเคิล” เช่นกระดาษ หรือพลาสติก สามารถถูกส่งไปยังประเทศในกลุ่มโดยไม่ต้องรายงานตัวเลข เขาก็เลยให้ต้นทางจั่วหัวขยะสารพัดชนิดว่าเป็น “ขยะรีไซเคิล” ก่อนส่งมาที่โปแลนด์        รัฐบาลโปแลนด์ยังโดนวิจารณ์หนัก ที่อนุญาตให้เอกชนไปรับขยะจากประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ขยะในบ้านตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลมากพอ ไม่มีเทคโนโลยีการกำจัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่มีการกำกับดูแลหลังออกใบอนุญาตด้วย ปัญหาไม่มุ้งมิ้ง         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เดนมาร์กสั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งประเทศ (1,500 กว่าฟาร์ม) และสั่งประหารชีวิตมิงค์ทั้ง 17 ล้านตัว ตามด้วยการออกกฎห้ามการเลี้ยงมิงค์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 หลังพบว่ามีตัวมิงค์ติดเชื้อโควิดชนิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการหาวิธีรักษาโรคโควิด-19         แต่คำสั่งนี้ผิดกฎหมายและกำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดของรัฐบาล         อย่างไรก็ตามล่าสุดสภาเดนมาร์กมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 1,600 ล้านยูโร (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์และพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนี้ไม่ล้มละลายและสามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่หลังสิ้นสุดการแบน         แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในโลก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วย “ฟื้น” มันขึ้นมาอีก         เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลกมันยังไม่สุก         คนอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งมานาน สถิติระบุว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนพึ่งพา “อาหารเย็นแช่แข็ง” แต่งานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กลับพบว่าพวกเขาเตรียมอาหารกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะและมัก “การ์ดตก” ไม่ระมัดระวังเหมือนเตรียมอาหารดิบ           จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างที่มาประกอบอาหารแช่แข็งในครัวทดลอง จำนวน 403 คน เขาพบว่าร้อยละ 97 ไม่ล้างมือระหว่างประกอบอาหาร (อีกร้อยละ 3 ที่ล้าง ก็ทำได้ไม่ถูกต้อง) และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 165 องศา ในการประกอบอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เพราะเชื้อโรคยังไม่ตาย         ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 61 ของคนที่เคยป่วยหรือมีคนในครอบครัวล้มป่วยเพราะอาหาร ก็ยังไม่ “เปลี่ยน” วิธีการเตรียมอาหารอีกด้วย         USDA แนะนำให้จัดการกับอาหารแช่แข็งเสมือนเราจัดการกับอาหารดิบไว้ก่อนเป็นดีที่สุด แม้ว่ามันจะดูเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้เหมือนผ่านการทำสุกแล้วก็ตาม   

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 186 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2559แพทย์เฉพาะทางบาทเดียวปัจจุบันนี้มีการส่งต่อและแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งมีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกต้อง หรือให้รายละเอียดไม่ครบถ้วน นำมาซึ่งความเข้าใจผิด หากนำไปใช้ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ จากหลากหลายสถาบัน ในชื่อของ “แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว” (SOS Specialist) โดยกลุ่มแพทย์จิตอาสากลุ่มนี้จะคอยให้บริการตอบคำถามสุขภาพผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ทั้งเว็บไซต์และเฟซบุ๊ค เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถส่งข้อความเข้ามาสอบถามความรู้ที่ถูกต้องเรื่องสุขภาพ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลกับแพทย์ผู้มีความรู้เฉพาะด้านได้โดยตรง โดยในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีประชาชนสอบถามและขอคำแนะนำเป็นจำนวนมากถึง 50,519 คำถาม ส่วนใหญ่เป็นคำถามจากห้องอายุรกรรมเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง รูมาตอยด์ อัมพาต รองลงมาคือ ห้องเด็ก ห้องสูติ เช่น เรื่องการคุมกำเนิด ประจำเดือน ฯลฯ และห้องจิตเวช ซึ่งผู้ที่ส่งคำถามมาขอคำปรึกษาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์ และกลุ่มที่ผ่านการตรวจรักษาแล้ว แต่ยังมีข้อสงสัย ใครที่สนใจอยากสอบถามปัญหาเรื่องสุขภาพและการรักษาพยาบาลกับแพทย์ตัวจริงเสียงจริง สามารถเข้าไปได้ที่เว็บไซต์ แพทย์เฉพาะทางบาทเดียว www.sosspecialist.com หรือที่เฟซบุ๊คแพทย์เฉพาะทางบาทเดียว เลิกสงสัย!!! “น้ำผักชี” ไม่ช่วยล้างไตมีการแชร์ข้อมูลที่อ้างว่า “น้ำผักชี” ช่วยล้างไตได้ ซึ่งสร้างความสงสัยว่าข้อมูลดังกล่าวจริงเท็จประการใด จนล่าสุด ภก.พินิต ชินสร้อย เภสัชกรปฏิบัติการงานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลวังน้ำเย็น  และรักษาการประธานชมรมเภสัชกรสมุนไพร ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า น้ำผักชีไม่ได้มีผลในการช่วยล้างไต ข้อมูลที่มีการแชร์กันอยู่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น ไม่มีผลการศึกษาวิจัยใดเป็นตัวยืนยัน ที่สำคัญคือในผักชีมีสารโพแทสเซียมสูงถึง 540 มิลลิกรัมต่อผักชี 100 กรัม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลให้ไตทำงานหนัก เพราะถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไปจะเป็นภาระต่อไตที่ต้องทำหน้าที่ขับออกจากร่างกาย ซึ่งปกติใน 1 วันร่างกายของเราควรได้รับโพแทสเซียที่ปริมาณ 4.7 มิลลิกรัมเท่านั้นแต่ทั้งนี้คนที่บริโภคผักชีทั่วไปก็ไม่จำเป็นต้องกังวล เพราะโดยปกติเรากินผักชีในปริมาณไม่มากถึงขนาดที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งผักชีถือเป็นผักที่มีประโยชน์ ช่วยในการขับลม ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น ซื้อสินค้าลดราคา ระวังเจอของหมดอายุ!!!ใครที่ชอบซื้อสินค้าลดราคาโดยเฉพาะพวกอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค อย่าลืมเช็คเรื่องคุณภาพสินค้าและวันหมดอายุให้ดี ระวังได้จะของถูกแต่ไม่มีคุณภาพเหมือนกับกรณีที่มีการแชร์กันในสื่อออนไลน์ เมื่อมีผู้บริโภครายหนึ่งได้ซื้อไข่ไก่ลดราคาที่ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี สุขาภิบาล 3 โดยผู้บริโภครายนี้พยายามมองหาข้อมูลวันหมดอายุที่ตัวสินค้า แต่กลับพบว่าป้ายที่แจ้งลดราคาแปะทับเอาไว้อยู่ เมื่อแกะป้ายราคาออกก็ต้องตกใจเมื่อเจอกับข้อมูลวันหมดอายุที่แจ้งว่าไข่ไก่แพ็คนี้หมดอายุมาแล้ว 2 วัน!!!นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะห้างมีหน้าที่ต้องตรวจสอบสินค้าก่อนที่จะขาย เมื่อสินค้าหมดอายุก็ควรรีบจัดเก็บทันที เพราะถ้าผู้บริโภคซื้อสินค้าและรับประทานเข้าไปก็อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหารหมดอายุได้ นอกจากนี้ยังถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่องอาหารที่ไม่ปลอดภัย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำและปรับโดยผู้บริโภคที่พบเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพบสินค้าหมดอายุถูกนำมาวางจำหน่าย การปกปิดข้อมูลเรื่องวันหมดอายุ หรือการแจ้งราคาสินค้าไม่ตรงกับราคาที่ขาย สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานต่างๆ ไมว่าจะเป็น อย., สคบ. และ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บังคับติด “ฉลากหวานมันเค็ม” บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป – อาหารแช่แข็งกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศเพิ่มชนิดอาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และ โซเดียม แบบ GDA (Guideline Daily Amounts) หรือ “ฉลากหวานมันเค็ม” จากเดิมที่เคยกำหนดไว้ในอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่งทอด ข้าวโพดคั่ว ข้าวเกรียบหรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ขนมปังกรอบหรือแครกเกอร์หรือบิสกิต และเวเฟอร์สอดไส้ โดยในประกาศฉบับใหม่จะมีการเพิ่มกลุ่มอาหารที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน อย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารแช่แข็งพร้อมปรุงเข้าไปประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 374) พ.ศ. 2559 เรื่อง อาหารที่ต้องแสดงฉลากโภชนาการ และค่าพลังงาน นํ้าตาล ไขมัน และโซเดียมแบบจีดีเอ ได้กำหนดกลุ่มอาหารที่ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ออกเป็น 5 กลุ่ม 15 ชนิด ดังนี้1.อาหารขบเคี้ยว ได้แก่ มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วหรือทอดกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง ถั่วหรือนัตทอดหรืออบกรอบ หรืออบเกลือ หรือเคลือบปรุงรส สาหร่ายทอดหรืออบกรอบ หรือเคลือบปรุงรส และปลาเส้นทอดหรืออบกรอบ หรือปรุงรส2.ช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์ในทํานองเดียวกัน3.ผลิตภัณฑ์ขนมอบ ได้แก่ ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ บิสกิต เวเฟอร์สอดไส้ คุกกี้ เค้ก พาย เพสตรี้ ทั้งชนิดที่มีและไม่มีไส้4.อาหารกึ่งสําเร็จรูป ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น ไม่ว่าจะมีการปรุงแต่งหรือไม่ก็ตาม พร้อมซองเครื่องปรุง ข้าวต้มที่ปรุงแต่ง และโจ๊กที่ปรุงแต่ง5.อาหารมื้อหลักที่เป็นอาหารจานเดียว ซึ่งต้องเก็บรักษาไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตลอดระยะเวลาจําหน่ายทั้งนี้จุดมุ่งหมายของการบังคับให้อาหารเหล่านี้ต้องแสดงฉลากหวานมันเค็ม ก็เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคในการใช้เป็นข้อมูลในเลือกรับประทานให้เหมาะสมต่อสุขภาพ ลดการบริโภค หวาน มัน เค็ม ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญของการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ โดยผลิตภัณฑ์อาหารตามประกาศฉบับนี้จะต้องทำการติดฉลากหวานมันเค็มตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2559 นี้เป็นต้นไป เชิญร่วมงานเวทีประชุมแลกเปลี่ยน “ตลาดที่มีจิตสำนึก” ครั้งที่ 3ในยุคที่ผู้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะฝากท้องไว้กับอาหารจากระบบอุตสาหรรม อาหารแปรรูปที่ผ่านการปรุงแต่งดัดแปลง ซึ่งแม้จะได้ความสะดวกสบายแต่กลับเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยและการปนเปื้อนของสารเคมีปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นสารกันบูด สีสังเคราะห์ สารปรุงแต่งรสและกลิ่น ฯลฯ ซึ่งสารเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเรา    “ตลาดที่มีจิตสำนึก” จึงเกิดขึ้นมาจากความตั้งใจที่อยากให้ผู้ผลิต เกษตรกร ที่ใส่ใจในการผลิตอาหารปลอดภัย ได้นำสินค้าของตัวเองมาส่งต่อโดยตรงถึงมือผู้บริโภค คนกินได้อาหารที่ปลอดภัยไม่มีสารเคมีปนเปื้อน อุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร สุขภาพร่างกายแข็งแรง ส่วนคนขายคนผลิตก็ได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม ได้กำลังใจในการทำเกษตรกรที่ปลอดภัยที่ต้องใช้ความใส่ใจในปลูกมากกว่าการเกษตรทั่วไป    ในวันที่ 30 ส.ค. – 1 ก.ย 59 นี้ จะมีการจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยนตลาดทางเลือกในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเอเชีย ความร่วมมือระหว่างเกษตรกรรายย่อยผู้ประกอบการสังคมและผู้บริโภคสีเขียว ภายใต้ชื่องานว่า “ตลาดที่มีจิตสำนึก #3” ซึ่งในงานจะมีการพูดถึงความสำคัญของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่อสังคม โดยจะมีประสบการณ์จากต่างประเทศ ทั้ง ญี่ปุ่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาบอกเล่าในงานประชุมครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีตัวแทนผู้ประกอบการทางสังคมที่จะมาบอกเล่าว่าการทำธุรกิจโดยใส่ใจสังคมเป็นมิตรกับชุมชนนั้นต้องเริ่มต้นยังไง    ผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานสามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ สวนเงินมีมา โทร. 02-622-0955, 02-622-2495-6 www.suan-spirit.com  

อ่านเพิ่มเติม >