ฉบับที่ 256 แค่มันทอด จะอะไรกันนักกันหนา

        สารปนเปื้อนในอาหารนั้นมีผลกระทบต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ โดยเริ่มตั้งแต่อาหารดิบไปจนถึงอาหารปรุงสุกและ/หรือแปรรูป ประเด็นที่น่าวิตกนี้ได้กล่าวไว้ในบทความเรื่อง Fried potato chips and French fries-Are they safe to eat? ในวารสาร Nutrition ของปี 2011 ซึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า ปริมาณอะคริลาไมด์ (acrylamide) ในมันฝรั่งทอดเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวลเมื่ออุณหภูมิในการทอดเพิ่ม สารอะคริลาไมด์นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการซึ่งรวมถึงความเป็นพิษต่อระบบประสาท ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความเป็นพิษต่อหน่วยพันธุกรรมรวมถึงการก่อมะเร็ง         ในทางอุตสาหกรรมอะคริลาไมด์ผลิตได้จากการสังเคราะห์และถูกใช้ในการผลิตโพลีอะคริลาไมด์ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ทำเรซินของไส้กรองเครื่องกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำดื่ม ดังนั้นมนุษย์จึงมีโอกาสได้รับอะคริลาไมด์บ้างไม่มากก็น้อย         ผู้บริโภคได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น Wikipedia ให้ข้อมูลว่า ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังได้พบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว และถั่วลิสงคั่ว และพบเป็นองค์ประกอบในควันบุหรี่ด้วย อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารพิษนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม เมื่อผู้บริโภคมีอวัยวะภายในเช่น ตับและไต ไม่แข็งแรง         ประเด็นที่เริ่มน่ากังวลคือ อะคริลาไมด์ถูกวิเคราะห์พบเป็นสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับทารกและเด็ก บทความเรื่อง Toxicity of acrylamide and evaluation of its exposure in baby foods ในวารสาร Nutrition Research Reviews ของปี 2010 คาดว่า ทารกและเด็กได้รับสารพิษนี้จากการบริโภคที่มากกว่าผู้ใหญ่สองถึงสามเท่าเมื่อคำนึงถึงน้ำหนักตัว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่ความเป็นพิษของอะคริลาไมด์น่าจะสูงขึ้นในเด็ก และเนื่องจากทุกวันนี้การสัมผัสกับอะคริลาไมด์เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปกป้องทารกและเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราต้องการประชากรวัยทำงานในอนาคตที่มีคุณภาพดี         นอกจากอะคริลาไมด์เป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองแล้วนักวิทยาศาสตร์ยังพบว่า สารพิษนี้เป็นสารก่อลูกวิรูป (Teratogen) ที่ส่งผลต่อความผิดปรกติของทารกในครรภ์เมื่อแม่สัมผัสกับสารพิษนี้จากอาหาร งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า ตัวอ่อนในท้องมีการเจริญเติบโตลดลงซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยลบด้านอาหารที่แม่กิน ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Importance of growth for health and development ซึ่งอยู่ในหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยของการประชุม 65th Nestlé Nutrition Institute Workshop, Pediatric Program, Kuala Lumpur, March 2009 หนังสือนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Karger, Basel ในปี 2010 ซึ่งได้ให้ข้อมูลพื้นฐานว่า จำนวนการเกิดลูกวิรูปในสังคมมนุษย์เป็นเครื่องบ่งชี้คุณภาพของสิ่งแวดล้อมของทารกในครรภ์ ซึ่งรวมถึงปัจจัยต่างๆ ในอาหารของแม่ที่ส่งผลถึงสมองที่กำลังพัฒนาของทารกในครรภ์และหลังคลอด         ปรกติแล้วอันตรายต่อสมองและระบบประสาทของทารกในท้องแม่มักเกิดจากสารพิษที่มีอยู่ในอาหาร ยา หรือการติดเชื้อโรค และในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า อันตรายต่อสมองและระบบประสาทยังคงเป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่ก่อให้เกิดความบกพร่องต่อการพัฒนาการของระบบประสาทส่งผลให้เด็กมีการรับรู้ล่าช้าและความพิการตลอดชีวิต ส่งผลต่อการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ทักษะการปรับตัวของกล้ามเนื้อในภาพรวม ระบบการคิดรับรู้ของสมอง การใช้ภาษา การใช้เหตุผลและความจำ การมีสมาธิ และความสนใจในสิ่งรอบตัว         บทความเรื่อง Structural and ultrastructural evidence of neurotoxic effects of fried potato chips on rat postnatal development ในวารสาร Nutrition ของปี 2011ให้ประเด็นที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะเป็นการนำเสนอหลักฐานการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบประสาทของมันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์ในระหว่างการพัฒนาของทารกก่อนคลอดและหลังคลอด งานวิจัยนี้ระบุว่า การที่แม่หนูกินมันฝรั่งทอดซึ่งมีอะคริลาไมด์ทำให้เกิดความเสื่อมของสมองน้อยหรือซีรีเบลลัม (cerebellum) และพัฒนาการที่ด้อยลงของกล้ามเนื้อน่องของลูกหนูหลังคลอด ในการศึกษานี้หนูทดลองได้แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตที่ช้าและน้ำหนักร่างกายและสมองต่ำกว่าควรนั้นเกิดจากการให้แม่หนูกินอาหารที่มีอะคริลาไมด์ผสมอยู่ ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่า การบริโภคอะคริลาไมด์เช่นที่มีในมันฝรั่งทอดเป็นประจำระหว่างตั้งครรภ์น่าจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการของเด็กในท้องตลอดจนในเด็กปฐมวัย ซึ่งรวมถึงอันตรายต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ข้อมูลในบทความเรื่อง Acrylamide: increased concentration in homemade food and first evidence of its variable absorption from food, variable metabolism and placental and breast milk transfer in humans ในวารสาร Chemotherapy ของปี 2002 ได้กล่าวถึงผลในทำนองเดียวกันที่เป็นหลักฐานสำหรับผลกระทบที่เป็นอันตรายเนื่องจากการบริโภคอาหารทอดที่มีปริมาณอะคริลาไมด์เพิ่มขึ้น         ดังนั้นการได้รับอะคริลาไมด์ในอาหารจึงเป็นหัวข้อที่เหมาะสมและสำคัญสำหรับนักวิจัยด้านสุขภาพที่สนใจในการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาของเด็กก่อนคลอดและหลังคลอด จากการศึกษาต่างๆ ได้แสดงให้เห็นว่า อะคริลาไมด์ที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์แป้งทอดหรือผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบนั้นอาจมีผลต่อระบบประสาทของประชากร เพราะปัจจุบันการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น เฟรนช์ฟรายส์นั้นเป็นแหล่งอาหารแป้งอันดับต้นๆ ในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา พฤติกรรมการบริโภคอาหารประเภทนี้อาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตของเด็กที่เกิดใหม่ต่ำลง         งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวประมาณว่า อะคริลาไมด์สามารถทำให้เกิดการตายของเซลล์ต้นกำเนิดของระบบประสาทและส่งผลต่อการสร้างเซลล์ประสาทของฮิบโปแคมปัส ตัวอย่างเช่นในบทความเรื่อง Acrylamide induces cell death in neuronal progenitor cells and impairs hippocampal neurogenesis. ในวารสาร Toxicology Letter ของปี 2010 ซึ่งกล่าวถึงแนวโน้มว่า อะคริลาไมด์อาจมีผลเสียต่อการซ่อมแซมตัวเองของสมอง การที่สมองสามารถฟื้นตัวและปรับโครงสร้างตัวเองได้หลังจากอาการบาดเจ็บหรือการเสื่อมสภาพของเซลล์และการฟื้นตัวในการทำงานของเซลล์สมอง ประเด็นที่กล่าวนี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนากลยุทธ์การป้องกันและป้องกันระบบประสาทอย่างมีเหตุผล เพื่อลดปัญหาของการพัฒนาสมองต่ำกว่าที่ควร ซึ่งอาจทำให้การทำงานและแสดงผลลัพธ์ด้านพฤติกรรมที่ไม่ดีในประชากร         จากหลักฐานดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า ความกังวลด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการบริโภคอาหารแป้งทอด เช่น มันฝรั่งทอดที่มีอะคริลาไมด์นั้น ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างผู้บริโภค ผู้ผลิตอาหาร และผู้ที่ทำงานดูแลความปลอดภัยในการกินอาหาร ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เป็นอันตรายจากการกินให้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นผู้บริโภคทั่วไปควรรู้ว่า อาหารปรุงเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับความร้อนอย่างไม่เหมาะสมอาจเต็มไปด้วยสารพิษจากการปรุงอาหารเช่น อะคริลาไมด์         ผู้เขียนเข้าใจว่า ประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้หรือสนใจรู้ในปัญหาของการสัมผัสและผลกระทบต่อระบบประสาทของอะคริลาไมด์ในอาหาร ข้อมูลงานวิจัยใหม่ในปัจจุบันนั้นแนะนำว่า ควรตรวจสอบอาหารสำหรับทารกและอาหารทอดทางอุตสาหกรรมเป็นประจำเพื่อควบคุมระดับการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ นอกจากนี้การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดควรดำเนินการเกี่ยวกับระบบการผลิตอาหารทางอุตสาหกรรมที่ดี ซึ่งควรมีการตรวจหาสารปนเปื้อนที่สามารถเกิดได้ทั้งหมด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 กระแสต่างแดน

ทำบุญวิถีใหม่           ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้คนจากประเทศพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยนิยม “ทำบุญ” ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสด้วยการบริจาคแพะให้กับผู้คนในประเทศยากจน โดยหวังว่าพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วยสนนราคาเพียงตัวละ 12.50 ปอนด์ (ประมาณ 600 บาท) ที่ผ่านมาจึงมีแพะจำนวนมากหลั่งไหลเข้าสู่พื้นที่กันดาร แถมแพะยังให้ลูกได้ถึงปีละหกตัว เรียกว่าลงทุนน้อยแต่ได้ผลมากแต่ล่าสุด เจน กูดดอลล์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังออกมาเปิดเผยว่า การเลี้ยงแพะนั้นต้องใช้น้ำมาก ทำให้พื้นที่ๆ แห้งแล้งอยู่แล้วเสี่ยงที่จะแล้งกว่าเดิม ยังไม่นับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประกอบกับไม่มีสัตว์แพทย์ที่จะดูแลรักษาแพะที่ป่วย โอกาสที่พวกมันจะอยู่รอดจนโตเต็มวัยจึงมีน้อยเธอแนะนำว่า หากต้องการช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้อย่างยั่งยืน ให้นำเงินไปสมทบทุนโครงการศูนย์ผลิตเมล็ดพันธุ์พืช โครงการปรับปรุงคุณภาพดิน หรือโครงการทำระบบชลประทาน จะดีกว่า ผลกระทบมาไกล         งานสำรวจโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษาแห่งญี่ปุ่น ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต และมหาวิทยาลัยคิวชู พบว่า การบริโภคโดยคนญี่ปุ่นส่งผลให้มีผู้คนในประเทศต้นทางที่ผลิตสินค้า เช่น จีน อินเดีย และอินโดนีเซีย เสียชิวิตก่อนวัยอันควรถึง 42,000 คนต่อปีในจำนวนนี้มีทั้งผู้ใหญ่ที่อายุเฉลี่ย 70 ปี และยังมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบถึง 1,000 คนทีมวิจัยใช้วิธีคำนวณจากข้อมูลประชากร ข้อมูลการปล่อย PM 2.5 จากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานที่ผลิตสินค้า และจำนวนผู้เสียชีวิตจากห้าโรคร้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับมลภาวะดังกล่าว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง และโรคติดเชื้อบางชนิดนักวิจัยเสนอให้ผู้ประกอบการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษที่ตนเองสร้างขึ้น ทั้งในประเทศตัวเองและที่อื่นๆ ตลอดช่วงอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์ รวมถึงแผนการบริหารจัดการมลพิษดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนผู้ผลิตที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ การขายเชิงรุก           วิธีการขายแบบ “ตีหัวเข้าร้าน” ดูจะไม่จำกัดอยู่ในแวดวงฟิตเนสหรือศัลยกรรมความงามเท่านั้นล่าสุดองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยว่ามีเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ “ได้รับบริการทางการแพทย์โดยไม่จำเป็น” เพราะถูกชักชวนแกมกดดันถึง 71 เรื่อง ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้เทคนิคการขายแบบนี้เริ่มจากการสร้างความวิตกด้วยการบอกความรุนแรงของอาการเกินจริง จากนั้นก็เสนอบริการที่ “ค่อนข้างแพง” แต่ “จำเป็น” ว่าแล้วก็กดดันให้ลูกค้ารู้สึกว่าต้องซื้อบริการผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นชายวัย 30 กว่า เสียเงินไป 150,000 เหรียญ (ประมาณ 650,000 บาท) เริ่มจากการเดินเข้าไปถามราคาบริการตรวจสุขภาพ เขาถูก “ต้อน” อยู่ 2 ชั่วโมง ในที่สุดก็เสียค่าถอนฟันไป 10,000 เหรียญ ตามด้วยค่าบริการนวดจัดกระดูกอีก 29,080 เหรียญ และอื่นๆ อีก เช่น ค่าตรวจลำไส้ ค่าอาหารเสริม เป็นต้นข่าวระบุว่าเขาได้เงินคืนเต็มจำนวน แต่ยังไม่ได้บอกว่าอุตสาหกรรมการแพทย์จะจัดการกับพฤติกรรมนี้อย่างไร ไข่ต้องมีข้อมูล           ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2022 เป็นต้นไป ไต้หวันกำหนดให้ไข่สดแต่ละฟองที่ผ่านการล้างและบรรจุลงกล่องต้องมีข้อมูลฟาร์มที่เลี้ยง โรงงานล้างบรรจุ วันที่บรรจุ รวมถึงรูปแบบการเลี้ยง บนเปลือกด้วยสภาเกษตรของไต้หวันระบุว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยทางอาหาร ที่จะทำให้การตรวจสอบย้อนกลับและการแจ้งเตือนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว กรณีที่เกิดปัญหาขึ้นในส่วนของผู้บริโภค ข้อกำหนดดังกล่าวจะทำให้ไข่ไก่ขนาดแพ็ค 10 ฟอง มีราคาเพิ่มขึ้น 1 เหรียญไต้หวัน ส่วนทางด้านผู้ผลิต หากฝ่าฝืน จะต้องจ่ายค่าปรับระหว่าง 6,000 ถึง 30,000 เหรียญไต้หวันผลิตไข่ไก่ได้เฉลี่ยวันละ 22 ล้านฟอง ร้อยละ 65 เป็นแบบล้างและบรรจุกล่องการพิมพ์รหัสลงบนเปลือกไข่เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว สหภาพยุโรปกำหนดให้พิมพ์ “รหัสผู้ผลิต” มาตั้งแต่ปี 2004 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานไข่จากฟาร์มที่เลี้ยงด้วยวิธีใด เช่น ปล่อยอิสระ เลี้ยงในกรง หรือเลี้ยงแบบออกานิก  จุดขายใหม่           สหภาพยุโรปเคาะแล้ว ในปี 2022 เขาจะทุ่มงบประมาณ 185.9 ล้านยูโร ในการส่งเสริมสินค้าเกษตรของประเทศสมาชิก ให้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากพืช พูดง่ายๆ คือเขาต้องการจูงใจผู้ผลิตให้หันมาเลือกแนวทางสายเขียวกันมากขึ้นด้วยการสร้างความต้องการในตลาดให้กับอาหารที่ทำจากพืชนั่นเองนอกจากนี้ยัง “ตีตรา” เนื้อแดงและเนื้อสัตว์แปรรูปที่เคยเป็นดาวเด่นมานานว่าเป็น “อาหารที่ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” ด้วยเรื่องนี้ถูกใจสายสิ่งแวดล้อมที่ต้องการเห็นการลดการใช้น้ำและพลังงานมหาศาลในการเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้า รวมถึงสายวีแกนที่อยากเห็นความเป็นมิตรต่อสัตว์โลกแต่แผนนี้ก็ขัดใจอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่ออกมาโต้ว่า การจะทำอาหารที่ผลิตจากพืชล้วนๆ ให้ถูกปากผู้บริโภค ก็ต้องผ่าน “การสร้าง” หรือการ “การแปรรูป” อย่างเข้มข้นเช่นกันผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่าสิ่งที่โลกต้องการอย่างเร่งด่วนคือ นวัตกรรมอาหาร และการหาสมดุลระหว่างการผลิตพืชและสัตว์ให้ได้นั่นเอง    

อ่านเพิ่มเติม >