ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนกรกฎาคม 2558 “ดีแทค” ครองแชมป์ ลูกค้าโวยปัญหาสายหลุด กสทช. ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านสายด่วน กสทช. 1200 ในช่วงระหว่างวันที่ 2 ก.ค. 2558 ถึง 14 ก.ค. 2558 พบว่ามียอดร้องเรียนเรื่องปัญหาสายหลุดที่ประชาชนแจ้งร้องเรียนเข้ามาถึง 116 เรื่อง โดย ดีแทค (Dtac) เป็นแชมป์เครือข่ายที่มีผู้บริโภคโทรเข้ามาร้องเรียนปัญหามากที่สุด 46 เรื่อง โดยเป็นกรณีสายหลุดที่พบในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รองลงมาคือ เครือข่าย เอไอเอส (AIS) 42 เรื่อง ส่วนเครือข่าย ทรู มูฟ (TRUE MOVE) มีเรื่องร้องเรียนที่จำนวน 27 เรื่อง และสุดท้ายคือ เครือข่าย แคท เทเลคอม (CAT) มี 1 เรื่องโดยทาง กสทช. จะแจ้งผู้ให้บริการทราบถึงจุดที่พบปัญหาเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขภายใน 2 สัปดาห์ หากตรวจสอบแล้วพบว่ายังไม่มีการแก้ไข จะเรียกผู้ให้บริการเจ้าของปัญหาเข้ามาชี้แจง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษทางปกครอง ซึ่งการทำสำรวจและเปิดเผยข้อมูลสู่สังคมครั้งนี้ของ กสทช. เพราะต้องการจะใช้มาตรการทางสังคมกดดันค่ายมือถือให้ปรับปรุงคุณภาพบริการ เพราะฉะนั้นหากใครพบปัญหาจากการใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนแล้วสายหลุดหรือจะเป็นปัญหาเรื่องอื่นๆ สามารถร้องเรียนได้ทันทีที่สายด่วน 1200 โทรฟรีไม่มีค่าบริการ อย. จัดระเบียบร้านยา ห้ามขายยากลุ่มแก้แพ้-แก้ปวดเกิน 300 ขวดต่อร้านต่อเดือนอย.คุมเข้มร้านขายยา ด้วยการออกกฎเหล็กให้ทุกร้านขายยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ ให้ผู้ซื้อได้ไม่เกิน 3 ขวดต่อ 1 คน และผู้ผลิตยาสามารถจำหน่ายยาให้กับร้านขายยาได้ไม่เกินร้านละ 300 ขวดต่อ 1 เดือน นอกจากนี้กลุ่มยาแก้ปวดผู้ผลิตสามารถขายให้กับร้านขายยาได้ในปริมาณร้านละไม่เกิน 1,000 แคปซูลต่อเดือน และร้านขายยาสามารถขายให้กับผู้ใช้ได้คนละไม่เกิน 20 แคปซูล ห้ามขายให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ด้วยเหตุผลเพื่อป้องกันปัญหาการใช้ยาไม่ในทางที่ผิด หลังมีกระแสที่เด็กนักเรียนนำ “ยาโปรโคดิล” และ “ยาทรามาดอล” ซึ่งเป็นยาในกลุ่มแก้แพ้ แก้ปวด ไปใช้ไม่ถูกวิธี คือนำไปผสมเป็นเครื่องดื่มเพื่อให้เกิดอาการมึนเมาแทนการเสพสารเสพติด ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะขึ้นชื่อว่ายาหากใช้ไม่ถูกวิธีต้องย่อมเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกันอย. ได้ทำการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านขายยาอย่างต่อเนื่อง หากพบว่ามีการซื้อขายยาในทางที่ผิด นอกจากจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแล้วก็จะถูกพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลา 120 วันด้วย ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปี 2558 – ปัจจุบัน มีร้านขายยาที่กระทำผิดกฎหมายถูกพักใช้ใบอนุญาตไปแล้วกว่า 40 ร้าน เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหา “อี – คอมเมิร์ซ”สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์  (สพธอ. หรือ ETDA) ได้จัดตั้ง  OCC (Online Complain Center) หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อดูแลทั้งผู้ซื้อและผู้ขายในเรื่องการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ที่ปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ช่องทางการซื้อขายสินค้าออนไลน์มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งผ่านทางเว็บไซต์ โซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง เฟซบุ๊ค ไลน์ อินสตาแกรม โดยศูนย์ OCC จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางการประสานเรื่องร้องเรียนต่างๆ  ไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย   อาทิ  สคบ, อย. และ  กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  (อปท.)  เพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น สำหรับปัญหาเกี่ยวข้องกับอี - คอมเมิร์ซที่ถูกร้องเรียนมากสุดก่อนหน้านี้ผ่านหมายเลข 1212 ของกระทรวงไอซีที คือปัญหาการส่งของช้า รองลงมาคือ ได้ของหรือสินค้าไม่ตรงตามที่สั่ง และปัญหาการฉ้อโกง สั่งซื้อแล้วไม่ได้ของ โดยปีแรกของการดำเนินการคาดว่าศูนย์ดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับอี-คอมเมิร์ซที่แจ้งเข้ามายังศูนย์ได้ 50% ซึ่งตั้งเป้าหมายการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรื่องแต่ละเรื่องใน 7 วันทำการ อย่าหลงเชื่ออาหารเสริม “เจอมิน็อค” อ้างป้องกันโรคเมอร์สจากกระแสข่าวเรื่องการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ 2012 หรือโรคเมอร์ส (MERS) ในต่างประเทศ ทำให้มีประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความกังวลว่าจะป่วยด้วยโรคดังกล่าว ทำให้มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางรายฉวยโอกาส หลอกลวงขายสินค้าที่อ้างว่าช่วยป้องกันไวรัสเมอร์สอย. ได้ทำการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ เจอมิน็อค (GERMINOK) ซึ่งวางจำหน่ายทาง www.bimhcc.com โดยอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ผู้ที่มีความเสี่ยงเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวและสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ทุกชนิด แต่จากการตรวจสอบพบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้วางจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเจอมิน็อคจึงมีความผิดฐานอาหารปลอมเพราะไม่ได้รับอนุญาตเลขสารบบอาหารจาก อย. นอกจากนี้ยังผิดฐานโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงและโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต คุยงานร้านกาแฟ ระวังโดนคิดค่าบริการเพิ่ม ชั่วโมงละ 1,000!!!ในสังคมออนไลน์ได้มีการแชร์เหตุการณ์ที่มีผู้ใช้บริการร้านกาแฟร้าน Bon coffee สาขาหน้าบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มจากค่าอาหารและกาแฟสูงถึง 2,000 บาท โดยทางร้านแจ้งว่าเป็นค่าบริการที่ลูกค้าใช้สถานที่ในร้านเป็นที่คุยธุระทางร้านคิดค่าบริการชั่วโมงละ 1,000 บาท 2 ชั่วโมงจึงเท่ากับ 2,000 บาท ซึ่งสร้างความสงสัยและตกใจให้กับผู้ใช้บริการอย่างมาก จนต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาบอกเล่าต่อผ่านสังคมออนไลน์ร้อนถึง สคบ. ต้องเชิญตัวแทนร้านกาแฟดังกล่าวมาชี้แจง ซึ่งหลังจากพูดคุย สคบ. ได้ออกมายอมรับว่า การเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าวของทางร้านไม่ถือว่าเป็นความผิด เพราะทางร้านมีการติดป้ายเตือนลูกค้าที่จะเข้ามานั่งเพื่อหวังประกอบธุรกิจส่วนตัวแล้วยึดที่นั่งไว้เป็นเวลานานๆ ทำให้ผู้ที่อยากมาใช้บริการไม่สามารถใช้บริการได้ ต้องถูกคิดค่าบริการเพิ่มชั่วโมงละ 1,000 บาท ทั้งนี้ในวันเกิดเหตุพนักงานในร้านได้มีการแจ้งกับลูกค้าก่อนแล้วว่าจะขอเก็บค่าบริการนั่งคุยธุระในร้านชั่วโมงละ 1,000 บาท แต่ลูกค้าก็ไม่ได้จ่ายค่าบริการดังกล่าวจ่ายแต่เพียงค่ากาแฟเท่านั้น ซึ่งเมื่อทางร้านมีการติดป้ายเตือนแจ้งไว้อยู่แล้วจึงถือว่าไม่ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 แต่ป้ายอาจจะเล็กเกินไป ทาง สคบ. จึงได้แต่แนะนำให้ทางร้านทำป้ายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >