ฉบับที่ 274 ผักผลไม้ควรกินแต่พอดี

        หลายคนอาจเข้าใจว่า การกินผักมากๆ ดีต่อสุขภาพเพราะอุดมไปด้วยใยอาหาร วิตามินและเกลือแร่มากมาย กินมากเท่าไรก็ควรจะดีเท่านั้น         อย่างไรก็ดีในเดือนตุลาคม 2566 มีข่าวหนึ่งซึ่งน่าสนใจบนหลายเว็บไซต์ให้ข้อมูลว่า ดาราสาวได้แชร์ประสบการณ์ผ่านอินสตาแกรมถึงกรณีป่วยเพราะกินผักเยอะ ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพจนเสี่ยงเป็นโรคกระเพาะอาหาร เนื้อข่าวนั้นได้มีการแสดงภาพขณะทำการตรวจรักษาพร้อมเขียนข้อความประกอบว่า “มีเรื่องมาเตือนทุกคนเพราะเพิ่งไปตรวจสุขภาพส่องกล้องลำไส้ใหญ่มา เนื่องจากช่วงหลังรู้สึกว่าท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อยมากแล้วพบว่า เกิดจากการกินอาหารจำพวกสลัดมากเกินไป เพราะผักบางชนิดอาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดแก๊สในลำไส้ใหญ่ เลยทำให้ท้องอืด ท้องเฟ้อ”         มีคำแนะนำจากเว็บไซต์ของ Mayo Clinic (Wikipedia ให้ข้อมูลว่า เป็นศูนย์การแพทย์เชิงวิชาการของสหรัฐอเมริกาที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเน้นด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษาและการวิจัยแบบบูรณาการในการบำบัดโรคที่ยากลำบากที่ต้องการดูแลระดับตติยภูมิและการแพทย์ทางไกล ศูนย์นี้มีแพทย์และนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 7,300 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพอีก 66,000 คน ประจำในวิทยาเขตหลักสามแห่ง ได้แก่ โรเชสเตอร์ รัฐมินนิโซตา; แจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดา, และฟีนิกซ์/สกอตส์เดล รัฐแอริโซนา) กล่าวในบทความเกี่ยวกับใยอาหารว่า ผู้หญิงควรพยายามกินใยอาหารอย่างน้อย 21-25 กรัมต่อวัน ในขณะที่ผู้ชายควรตั้งเป้าไว้ที่ 30-38 กรัมต่อวัน โดยผักหนึ่งถ้วย (ประมาณ 250 มิลลิลิตร) ให้ใยอาหารราว 8 กรัม นั่นหมายความว่า ถ้ากินผัก 4-5 ถ้วยแล้วจะได้ใยอาหารเกินมาตรฐานสำหรับผู้หญิง         ในกรณีที่กินผักผลไม้มากเกินไปจะเกิดอะไรขึ้นนั้น Mayo Clinic กล่าวว่า ปริมาณที่แนะนำนั้นไม่ใช่ปริมาณสูงสุด คนที่ชอบผักและผลไม้ส่วนใหญ่กินใยอาหารมากกว่าที่แนะนำโดยไม่ได้รับผลเสียใดๆ ถ้าทยอยกิน ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อกินมากกว่าที่กระเพาะรับไหวหรือเป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มักแสดงออกในลักษณะของผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์คือ มีแก๊สในท้อง ท้องอืด และอาจท้องผูกอย่างรุนแรง         การกินใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้ได้สารอาหารบางชนิดไม่พอได้ เนื่องจากใยอาหารมีผลต่อการดูดซึมสารอาหารอื่นๆ บทความเรื่อง Does Dietary Fiber Affect the Levels of Nutritional Components after Feed Formulation ในวารสาร Fibers ของปี 2018 ได้ให้ข้อมูลว่า การบริโภคใยอาหารอาจส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารในรูปแบบต่างๆ อีกทั้งคุณสมบัติของใยอาหาร เช่น ความสามารถในการอุ้มน้ำจนรวมตัวเป็นก้อนส่งเสริมให้เกิดความสามารถในการจับสารอาหารอื่น เกิดความหนืดและมีความเป็นวุ้นหรือเจลซึ่งเป็นการกักเก็บน้ำซึ่งส่งผลให้สารอาหารที่ละลายน้ำได้ติดอยู่กับใยอาหารซึ่งเคลื่อนตัวลงสู่ลำไส้ใหญ่ ปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารต่างๆ ลดลง         มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สถานการณ์ใดที่ควรใส่ใจควบคุมปริมาณผักและผลไม้ให้พอเหมาะ โดยทั่วไปแล้วการกินอาหารที่อุดมด้วยผักและผลไม้หรือ plant based diet ในภาพรวมนั้นช่วยให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ดี แต่อาหารที่มีพืชเป็นหลักนั้นบางประเภทอาจทำให้ผอมเกินไป ซึ่งหากเป้าหมายในการกินผักผลไม้คือ การลดน้ำหนัก สิ่งจำเป็นต้องควบคุมคือ สัดส่วนของผลไม้และผักที่มีแป้งและ/หรือน้ำมันที่ให้พลังงานสูง เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง และถั่ว ดังนั้นแม้แต่อาหารเพื่อสุขภาพก็อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไปขึ้นได้         มีการแนะนำกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศว่า ประชาชนควรบริโภคอาหารให้ครบห้าหมู่ซึ่งรวมถึงการกินอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่ให้ใยอาหาร อย่างไรก็ดีคำแนะนำนั้นยังขาดการให้ข้อมูลเชิงลึกว่า การกินผักหรือผลไม้นั้น ถ้ากินอะไรก็ได้ ทำให้ได้ผลเหมือนกันหรือไม่อย่างไร ข้อมูลพื้นฐานที่ผู้บริโภคควรทราบเกี่ยวกับใยอาหาร         ใยอาหาร หมายถึง ทุกส่วนของอาหารจากพืชที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยเป็นโมเลกุลเล็กได้ จึงไม่มีการดูดซึมอะไรเข้าสู่ระบบของร่างกาย ต่างจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จาก ข้าวสุก ขนมปัง เผือก มัน และน้ำตาลต่างๆ ส่วนความรู้สึกจากการเคี้ยวอาหารที่มีใยอาหารปริมาณสูงคือ ความกระด้างของอาหารที่เกิดขึ้น เปรียบได้ถึงความแตกต่างระหว่างการเคี้ยวข้าวสวยที่หุงจากข้าวขัดขาวและข้าวกล้อง (หรือข้าวซ้อมมือ)         ใยอาหารนั้นมีสองประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดี (soluble fiber) ซึ่งอุ้มน้ำและของเหลวในทางเดินอาหารจนมีลักษณะคล้ายวุ้น (ให้นึกภาพเม็ดแมงลักที่แช่น้ำแล้วพองตัว) ที่ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้แก๊ซ ซึ่งมีความเป็นกรดไขมันระเหยง่ายที่ให้พลังงานแก่เซลล์ของลำไส้ใหญ่และอาจเหลือส่งไปสมอง ส่วนอีกประเภทคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดี (insoluble fiber) ซึ่งคงสภาพเกือบเหมือนเดิมแม้มีโมเลกุลของน้ำเกาะอยู่บ้างขณะเคลื่อนผ่านระบบทางเดินอาหาร และไม่ถูกย่อยเลยทั้งจากน้ำย่อยของมนุษย์และแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่จึงถือว่า ไม่เป็นแหล่งพลังงาน         ผู้เขียนไม่ใช้คำว่า ละลาย แม้ว่าฝรั่งใช้คำว่า soluble กับ fiber เนื่องจากคำว่า ละลายนั้นทางเคมีแล้วมีความหมายประมาณว่า การที่สารกระจายตัวในตัวทำละลายอย่างสม่ำเสมอส่งผลให้เกิดของเหลวที่ทุกตำแหน่งในภาชนะมีความเข้มข้นเท่ากัน เช่น เกลือแกงละลายน้ำ ส่วนใยอาหารนั้นเป็นแค่จับตัวกับโมเลกุลของน้ำได้ดีทางกายภาพจึงทำให้มองเห็นว่า พองขึ้นในน้ำ เช่นกรณีที่เมล็ดแมงลักพองตัวในน้ำ         สำหรับภาพรวมถึงประโยชน์ของใยอาหารคือ ทำให้รู้สึกอิ่มนานหลังมื้ออาหาร เนื่องจากใยอาหารที่อุ้มน้ำดีทำให้การย่อยอาหารช้าลง ในขณะที่ใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีจะเข้าไปเติมเต็มพื้นที่ในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ช่วยในการควบคุมน้ำหนักตัว ลดความเสี่ยงต่อหลายโรค เช่น โรคอ้วน โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคเกี่ยวกับเมตาบอลิซึมอื่นๆ         ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีมักลดการดูดซึมไขมันและช่วยควบคุมน้ำหนักซึ่งเข้าใจกันว่า ลักษณะวุ้นที่เกิดขึ้นนั้นมีความหนาและกระจายตัวออกไปรอบไขมันจึงชะลอหรือลดการย่อยและดูดซึม ประเด็นนี้รวมถึงลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลได้ในระดับหนึ่ง จึงเป็นการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีช่วยรักษาระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้คงที่ โดยชะลออัตราการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้ช้าลงเช่นกัน         ประเด็นที่สำคัญมากคือ ใยอาหารที่อุ้มน้ำดีแทบทั้งหมดเป็นอาหาร (prebiotics) ของแบคทีเรียที่ดีต่อสุขภาพ (probiotics) ในลำไส้ใหญ่ โดยผลที่ได้ออกมาคือ กรดไขมันระเหยได้ (volatile free fatty acids เช่น กรดน้ำส้ม กรดโปรปิโอนิค และกรดบิวทิริค) ซึ่งเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่         สำหรับใยที่อุ้มน้ำไม่ดี (ซึ่งหมายความว่า อุ้มน้ำบ้าง) นั้นมีบทบาทในการป้องกันอาการท้องผูกเพราะไม่ถูกแบคทีเรียย่อย จึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการก่อตัวเป็นอุจจาระที่มีความหนืดพอเหมาะไม่แข็งหรือเหลวเกินไป รวมถึงช่วยเพิ่มน้ำหนักของอุจจาระส่งผลให้เกิดการกระตุ้นการขยับตัวของลำไส้ซึ่งเป็นการช่วยเร่งการกำจัดของเสีย (รวมถึงสารพิษที่ถูกขับออกมาจากตับทางน้ำดี) ในอุจจาระให้ออกจากร่างกาย เป็นการป้องกันการอุดตันของกากอาหารในทางเดินอาหารและลดอาการท้องผูก ซึ่งต่อเนื่องไปถึงการลดความเสี่ยงของโรคถุงบนผนังลำไส้ (diverticular disease คือ การเกิดกระเปาะหรือถุงโป่งยื่นออกมาทางด้านนอกของผนังลำไส้) ซึ่งอาจมีขนาดต่างๆ ทั้งเล็กและใหญ่ และอาจมีกระเปาะเดียวหรือหลายกระเปาะได้  ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด         มักมีคำถามว่า ควรกินใยอาหารแต่ละประเภทในปริมาณเท่าใด ประเด็นนี้คงตอบยากและคงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบ เพราะแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างเฉพาะตัว เช่น กรณีของโปรไบโอติกในลำไส้ใหญ่นั้นก็ตัวใครตัวมัน ดังนั้นถ้ากินใยอาหารได้เหมาะสมสิ่งที่สังเกตได้คือ การขับถ่ายอุจจาระเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ถ่ายแข็งหรือเหลวเกินไป ไม่ท้องอืดท้องเฟ้อ ไม่ผายลมบ่อยนัก         อาหารที่อุดมไปด้วยใยอาหารที่อุ้มน้ำดีที่หากินได้ในบ้านเราเพื่อทำหน้าที่เป็นโปรไบโอติกนั้น เช่น แตงกวาทั้งสุกและดิบ ฟักทองสุก ถั่วดำปรุงสุก ถั่วแดงปรุงสุก แครอทปรุงสุก กระหล่ำดาวปรุงสุก ข้าวโอ๊ต มันหวานปรุงสุก (เช่น มันม่วง มันสีส้ม) ฝรั่ง แอปเปิ้ล กล้วย ส้ม เมล็ดทานตะวัน และอีกหลายชนิดที่ดูมีเนื้อนิ่ม         สำหรับคำแนะนำในการเพิ่มปริมาณใยอาหารในแต่ละมื้อสำหรับท่านผู้อ่านที่ถ่ายอุจจาระแล้วดูแข็งเกินไปคือ กินธัญพืชไม่ขัดสีซึ่งมีใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีสูง (ตามเหตุผลที่อธิบายข้างต้น) พร้อมทั้งพิจารณาอาหารที่อุดมไปด้วยผักและผลไม้ราวครึ่งจานในแต่ละมื้อ และถ้าเป็นไปได้ให้พยายามบริโภคผักและผลไม้ทั้งเปลือกถ้าพิจารณาแล้วไม่เสี่ยงต่อสารกำจัดศัตรูพืชและไม่ก่อความลำบากให้เหงือกและฟัน พร้อมทั้งค้นหาวิธีที่ดีในการปรุงอาหารที่สามารถเพิ่มผักเช่น ถั่วต่าง ๆ ข้าวโพด และผลไม้บางชนิดลงไปตามความเหมาะสม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เครื่องดื่มเกลือแร่ ผสมเกลือแร่ แบบพร้อมดื่ม

        วันไหนร่างกายต้องเสียเหงื่อมาก จากการทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือการออกกำลังกาย หลายคนอาจเลือกดื่มน้ำเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ แบบพร้อมดื่ม ที่มีส่วนประกอบหลักคือน้ำ น้ำตาล และแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น โซเดียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม เพื่อเพิ่มพลังงาน ชดเชยการสูญเสียน้ำและ รักษาสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย มาช่วยแก้กระหาย และทำให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าได้โดยไว         ปัจจุบันผู้ผลิตคิดสูตรให้มีรสชาติหอม หวาน อร่อย ใครเผลอดื่มบ่อยๆ ควรระวังปริมาณน้ำตาลด้วย รวมทั้งการได้รับโซเดียมและโพแทสเซียมที่อยู่ในเครื่องดื่มเกลือแร่มากเกินไป ก็มีผลต่อการทำงานของตับและไต การเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อผิดปกติได้         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกเครื่องดื่มเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ แบบขวดพร้อมดื่ม จำนวน 11 ตัวอย่าง 3 ยี่ห้อ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 มาสำรวจฉลากเพื่อดูปริมาณโซเดียม โพแทสเซียม น้ำตาล และข้อความที่ควรแสดงตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และราคา เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก        - ทุกตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 920 มิลลิกรัมต่อลิตร และโพแทสเซียมไม่เกิน 195 มิลลิกรัมต่อลิตร        - มี 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมน้อยกว่า 460 มิลลิกรัมต่อลิตร ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (แอคทีฟ + ซิ้งค์, แอคทีฟ สตรอเบอร์รี่ และแอคทีฟ กลิ่นมะนาว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นส้ม และกลิ่นมะนาว)          - ยี่ห้อสปอนเซอร์ แอคทีฟ + ซิ้งค์ มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 380 มิลลิกรัมต่อลิตร        - ยี่ห้อสปอนเซอร์ โก ไม่มีน้ำตาล มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 905 มิลลิกรัมต่อลิตร        - พบปริมาณโพแทสเซียมระหว่าง 0 - 180 มิลลิกรัมต่อลิตร        - มี 6 ตัวอย่างที่มีปริมาณน้ำตาลตามกำหนด คือมีซูโครสไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนัก ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี, แอคทีฟ + ซิ้งค์, ออริจินัล)   ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต พลัส (เขียว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส)          - มี 4 ตัวอย่าง ที่ไม่ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และออริจินัล) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว  และกลิ่นบลูบลาส)          - มี 5 ตัวอย่าง ที่แสดงข้อความคำเตือนตามประกาศ ข้อ 7(2) ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และ ออริจินัล) ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต พลัส (เขียว) และยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส)       ·     เปรียบเทียบปริมาณพลังงานต่อ 1 หนึ่งหน่วยบริโภค        - ยี่ห้อสปอนเซอร์ ออริจินัล  มีพลังงานมากสุดคือ 100 กิโลแคลอรี        - ยี่ห้อสปอนเซอร์  โก ไม่มีน้ำตาล มีพลังงานน้อยสุด คือ 30 กิโลแคลอรี        - ยี่ห้อเกเตอเรด กลิ่นส้ม ไม่มีน้ำตาล  ระบุพลังงานเป็น 0 กิโลแคลอรี     ·     เปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หนึ่งหน่วยบริโภค        - ยี่ห้อสปอนเซอร์ ออริจินัล มีน้ำตาลมากสุด คือ 24 กรัม        - ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต (ฟ้า) มีน้ำตาลน้อยสุด คือ 9 กรัม        - มี 2 ตัวอย่าง ระบุว่าไม่มีน้ำตาล ได้แก่ ยี่ห้อเกเตอเรด กลิ่นส้มและยี่ห้อสปอนเซอร์ โก         ·     เปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร        -ราคาแพงสุดคือ 0.06 บาท ได้แก่ ยี่ห้อสปอนเซอร์ (ออริจินัล จีดี และ ออริจินัล)         -ราคาถูกสุดคือ 0.04 บาท ได้แก่ ยี่ห้อเอ็ม-สปอร์ต ((ฟ้า), พลัส(เขียว)) และยี่ห้อสปอนเซอร์ โก ไม่มีน้ำตาล ข้อสังเกต        - มี 7 ตัวอย่าง ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล        - มี 3 ตัวอย่าง ระบุว่าไม่ใช้วัตถุกันเสีย ได้แก่ ยี่ห้อเกเตอเรด (กลิ่นส้ม กลิ่นมะนาว และกลิ่นบลูบลาส)   ฉลาดซื้อแนะ        - ควรเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่/ผสมเกลือแร่ที่มีเครื่องหมาย อย. เพื่อความปลอดภัย        - คนที่เสียเหงื่อมากจากการออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างหนัก และต้องการเติมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดอย่างรวดเร็ว ควรเลือกซื้อชนิดที่ได้ครบทั้งน้ำตาลและเกลือแร่        - คนที่ทำกิจกรรมเบาๆ มีเสียเหงื่อบ้าง ควรเลือกชนิดที่ให้น้ำตาลและเกลือแร่น้อยหรือปานกลาง หรือบางครั้งจะสลับดื่มน้ำเปล่าก็ทดแทนได้เช่นกัน        - ควรดื่มน้ำเกลือแร่เมื่อร่างกายรู้สึกขาดน้ำจริงๆ ไม่ควรดื่มพร่ำเพรื่อ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย เช่น ทำให้ฟันผุ เนื่องจากส่วนผสมของน้ำตาลและกรดต่างๆ จะไปกัดกร่อนสารเคลือบฟัน        - หากมีอาการขาดน้ำจากท้องเสีย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่แก้ท้องเสีย (ORS) โดยเฉพาะ ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับการออกกำลังกายแทน เพราะอาจทำให้ถ่ายเหลวมากขึ้นได้        - การดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง แต่ถ้าไม่หายหรือรุนแรงขึ้นควรปรึกษาแพทย์ข้อมูลอ้างอิงข่าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ : เผยผลตรวจเครื่องดื่มเกลือแร่ (1 มิ.ย. 2563)https://www.pobpad.com : เครื่องดื่มเกลือแร่ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัยต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 263 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (2)

        จากข้อมูลผลสำรวจปริมาณการบริโภคเกลือโซเดียมของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำเกือบ 2 เท่าในปีนี้ประเทศไทยได้มีเป้าหมายที่จะลดปริมาณการบริโภคโซเดียมลงให้ได้ร้อยละ 30 หรือบริโภคไม่เกิน 700 - 800 มิลลิกรัมต่อมื้ออาหาร ภายในปี พ.ศ. 2568         ฉลาดซื้อฉบับที่ 261 (พฤศจิกายน 2565) ได้สำรวจโซเดียมในถั่วอบเกลือ (1) พบปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม ในฉบับนี้เราจะมาสำรวจต่อในกลุ่มถั่วเปลือกแข็ง (Nut) ซึ่งเป็นซูเปอร์ฟู้ดขวัญใจคนรักสุขภาพกัน               นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ ถั่วอัลมอนด์ และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ จำนวน 19 ตัวอย่าง 11 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน และราคา นำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 19 ตัวอย่าง ได้แก่ ถั่วพิสทาชิโอ 5 ตัวอย่าง ถั่วอัลมอลด์ 5 ตัวอย่าง และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 9 ตัวอย่าง พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 160 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อทองการ์เด้น อัลมอนด์อบเกลือ (มีโพแทสเซียม 220 มิลลิกรัมด้วย) และเจดีย์คู่ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ส่วนยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ในขณะที่ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม (แต่มีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม)          - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 9 กรัม ในยี่ห้อเจดีย์คู่ พิสตาชิโออบเกลือ   ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 3 กรัม         - ยี่ห้อคาเมล พิสทาชิโออบรสธรรมชาติ ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 40 กรัม ส่วนยี่ห้อซันคิสท์ พิสทาชิโออบเกลือ และนัท วอร์คเกอร์ พิสทาชิโออบเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 15 กรัม (ไม่รวมเปลือก) ราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย ราคาแพงสุดคือ 1.15 บาท ส่วนยี่ห้อสแนคทาวน์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ ราคาถูกสุดคือ 0.67 บาท  ตารางเปรียบเทียบผลสำรวจฉลากตัวอย่างถั่วอบเกลือ 2 กลุ่ม           จากตารางนี้พบว่า ตัวอย่างถั่วกลุ่มเปลือกแข็ง (Nut) มีปริมาณโซเดียมและโปรตีนต่อหน่วยบริโภคน้อยกว่าตัวอย่างถั่วกลุ่ม (1) แต่มีราคาสูงสุดต่อปริมาณ 1 กรัมแพงกว่าประมาณ 4.4 เท่า ข้อสังเกต         - มี 1 ตัวอย่างที่ได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” คือ ยี่ห้อนัท เนเทอร์ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบ ไม่มีโซเดียม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียม 190 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม หรือ 633.33 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม)         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์นี้ ได้แก่ ยี่ห้อเปเล่ มะม่วงหิมพานต์อบเกลือ มี 31.25 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม และยี่ห้อซันคิสท์ อัลมอนด์อบเกลือรสเค็มน้อย มี 66.67 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม         - มี 2 ตัวอย่างที่ไม่ระบุข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหารไว้บนฉลาก ได้แก่ ยี่ห้อคาเมล เมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบเกลือ และยี่ห้อลูคาส เม็ดมะม่วงหิมพานต์คั่วเกลือ ฉลาดซื้อแนะ        - รสชาติเค็มๆ มันๆ ของถั่วอบเกลือ ทำให้ยิ่งเคี้ยวยิ่งเพลิน หากเผลอกินมากไปอาจได้รับพลังงานและโซเดียมเกินจำเป็นได้ ปริมาณที่แนะนำกันคือ 30 กรัมต่อวัน (ถั่วพิสทาชิโอ 30 เม็ด อัลมอนด์ 20 เม็ด และเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ 15 เม็ด อาจมากน้อยกว่านี้นิดหน่อยได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเมล็ดถั่วด้วย)         - แม้ไม่มีคำว่าเกลือในชื่อก็ไม่แน่ว่าจะไม่มีโซเดียม จึงควรพิจารณาส่วนประกอบและข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ป่วยโรคไตและความดันสูง         - ถ้าเลือกได้ ควรเลือกถั่วอบที่ไม่ปรุงรสใดๆ เลย จะดีต่อสุขภาพมากที่สุด         - ควรเคี้ยวถั่วให้ละเอียดก่อนกลืน โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ หากเป็นถั่วเปลือกแข็งเมล็ดใหญ่ควรตำหรือบดให้เล็กลง เพื่อป้องกันการติดคอ สำลัก หรือฟันหักได้         - หากซื้อถั่วถุงใหญ่ ควรแบ่งบริโภคให้พอเหมาะ และเก็บถั่วที่เหลือในภาชนะที่ปิดมิดชิด วางไว้ในที่แห้ง หลีกเลี่ยงแสงแดดและความชื้นข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.th (เลือกกิน “ถั่ว” ให้ถูก ดีต่อสุขภาพแน่นอน)https://www.pobpad.com (ถั่วพิสตาชิโอ อาหารลดน้ำหนักและบำรุงสุขภาพ/ กินอัลมอนด์อย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ/ เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ของว่างเปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการ)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (1)

        จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดขนมขบเคี้ยวประเภท “ถั่ว” ในประเทศไทย ย้อนไปเมื่อปี 2562 อยู่ที่ 12.3% มูลค่าประมาณ 4,562 บาท เป็นลำดับ 3 รองจากมันฝรั่งและขนมขึ้นรูป (ที่มา:Marketeer ) แต่เชื่อว่าด้วยกระแสความนิยมบริโภคโปรตีนจากพืชที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่องอยู่ตอนนี้ หากถามถึงของว่างกินเล่นเพื่อสุขภาพในดวงใจของหลายๆ คนแล้ว ถั่วต่างๆ น่าจะมาวินอย่างแน่นอน เพราะในถั่วแต่ละชนิดนั้นมีโปรตีนสูง ไขมันชนิดดี เส้นใยอาหาร และวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย สำคัญอร่อยเคี้ยวเพลิน         ทว่าในถั่วที่ผ่านการปรุงรสต่างๆ อย่าง “ถั่วอบเกลือ” รสชาติเค็มๆ มันๆ นั้น หากเคี้ยวเพลินเกินพอดี ร่างกายอาจเสี่ยงได้รับโซเดียมปริมาณสูงและส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้           นิตยสารฉลาดซื้อ โครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถัวปากอ้า(ถั่วฟาบา) และถั่วเขียวเลาะเปลือก ซึ่งผู้บริโภครู้จักกันดี หาซื้อง่ายและราคาถูก จำนวน 13 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน พลังงานและราคานำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจฉลาก         จากผลิตภัณฑ์ถั่วอบเกลือ 13 ตัวอย่าง  ได้แก่ ถั่วลิสง 6 ตัวอย่าง ถั่วลันเตา 3 ตัวอย่าง ถั่วปากอ้า 3 ตัวอย่าง ถั่วเขียวเลาะเปลือก(ถั่วทอง) 1 ตัวอย่าง  พบว่า         - ปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 250 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงเยื่อแดงโรยเกลือ และพี่รี่ ถั่วลันเตาอบกรอบ รสดั้งเดิม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ มีน้อยที่สุด คือ 20 มิลลิกรัม (แต่มีโพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค)         - ปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ 18 กรัม ในยี่ห้อมารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วปากอ้าอบเกลือ และถั่วฟาบาโรยเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 6 กรัม         - ยี่ห้อทองการ์เด้น  ถั่วลันเตาเขียวอบเกลือ  ระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 45 กรัม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วฟาบาโรยเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 25 กรัมราคาต่อปริมาณ         เมื่อคำนวณความคุ้มค่าของราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ราคาแพงสุดคือ 0.26 บาท ได้แก่ยี่ห้อโก๋แก่ ถั่วลิสงอบเกลือ และทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือข้อสังเกตน่าสนใจ        - ด้านการแสดงฉลากโภชนาการ พบว่า การแสดงปริมาณค่าพลังงานทั้งหมดของ มารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายัน น่าจะให้ข้อมูลผิด โดยเมื่ออ่านฉลากโภชนาการด้านหลังซอง ระบุ ค่าพลังงานทั้งหมด (ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม) คือ 520 กิโลแคลอรี แต่ในสัญลักษณ์ด้านหน้า (รูปกระบอก) ระบุว่า ทั้งซอง (ปริมาณบรรจุ 160 กรัม) ซึ่งแบ่งบริโภค 5 ครั้งนั้น มีพลังงานรวม 1040 กิโลแคลอรี หมายความว่า เมื่อหารด้วย 5 ค่าพลังงานต่อหน่วยบริโภคจะเท่ากับ 280 กิโลแคลอรีเท่านั้น  และเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นก็พบว่ามีความสอดคล้องกันว่าน่าจะเป็นการแสดงฉลากผิดพลาด ทำให้ข้อสังเกตส่งผลถึงเรื่องปริมาณของโซเดียมด้วย เพราะด้านหน้าของซองระบุปริมาณโซเดียม 130 มิลลิกรัมหากนำมาหารด้วยหน่วยบริโภคคือ 5 ครั้ง ควรมีค่าโซเดียมในฉลากโภชนาการเพียงแค่ 26 มิลลิกรัมแต่ในฉลากโภชนาการด้านหลังกลับระบุว่า 65 มิลลิกรัม         -เมื่อลองใช้เกณฑ์สัญลักษณ์ ”ทางเลือกสุขภาพ” กลุ่มขนมขบเคี้ยวประเภทถั่ว ที่กำหนดให้มีโซเดียม ≤ 100 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม มาพิจารณาในกลุ่มตัวอย่างนี้จะพบว่า ยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่มีปริมาณโซเดียมเข้าเกณฑ์นี้ คือ 52.63 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม อย่างไรก็ตามพบว่ามีโพแทสเซียมอยู่ 320 มิลลิกรัม (ต่อหน่วยบริโภค 38 กรัม หรือ 842 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม) ผู้ป่วยที่มีภาวะไตเสื่อมต้องระวัง ฉลาดซื้อแนะ         - ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ         -ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95  มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน  40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน  50-150 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวเกินวันละ 2 มื้อ          - หากซื้อถุงใหญ่ แนะนำให้แบ่งใส่ภาชนะแต่พอดี แล้วปิดถุง เก็บไว้ไกลมือ จะได้ไม่เผลอหยิบเข้าปากเคี้ยวเพลินจนหมดถุง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น         - ถั่วลิสงมีโปรตีนสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วปากอ้า ถั่วเขียวเลาะเปลือก และถั่วลันเตา ตามลำดับ         - ถั่วปากอ้ามีเส้นใยอาหารสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง และถั่วเขียวเลาะเปลือก ตามลำดับ     ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thairath.co.th ("โรคแพ้ถั่วปากอ้า" หรือ "ภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD" โรคที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้)https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=1365(มารู้จักโซเดียมกันเถอะ)https://planforfit.com (เลือกถั่วให้เหมาะกับความต้องการของตัวเอง)https://www.gourmetandcuisine.com(ถั่วกับประโยชน์ต่อสุขภาพ)http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=756 (กินถั่วอย่างไร ได้ประโยชน์สูงสุด)https://www.pobpad.com (อาหารโปรตีนสูง ทางเลือกโภชนาการเพื่อสุขภาพ)   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 อาหารเสริมเกลือบิวทิเรต

        การศึกษาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้นทำให้มนุษย์สามารถดัดแปลงและปรุงแต่งการบริโภคอาหารให้เหมาะสมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องหนึ่งคือ การเพิ่มปริมาณผักและผลไม้ในมื้ออาหารให้อยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของอาหารที่กินช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ให้ต่ำลง พร้อมกับลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ที่มีสารอนุมูลอิสระเป็นปัจจัยก่อโรค เป็นต้น         ผลจากการศึกษาดังกล่าวข้างต้นนั้นทำให้ผู้ที่มีอาชีพในการค้นหาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคมองเห็นว่า น่าจะมีรายได้งามจากการขายผลิตภัณฑ์บางชนิดแก่ผู้บริโภคที่ไม่ชอบกินผักและ/หรือผลไม้ ซึ่งมีลักษณะที่เห็นได้ชัดว่าเป็นผู้ที่สั่งก๋วยเตี๋ยวไม่ผักไม่งอก จนนำไปสู่การโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่เป็น “เกลือบิวทิเรต” (butyrate salt) ในแพลตฟอร์มขายของออนไลน์ใหญ่หลายแห่ง         บทความทางวิชาการที่เกี่ยวกับสุขภาพมากมายได้กล่าวถึงเกลือชนิดนี้ว่า เป็นผลที่เกิดจากการที่ผู้บริโภคกินใยอาหารชนิด soluble fiber (ซึ่งสามารถอุ้มน้ำได้ดี) แล้วเมื่อลงไปถึงลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียที่ดีในลำไส้ใหญ่ได้กิน soluble fiber แล้วถ่ายเกลือชนิดนี้ออกมาซึ่งมีงานวิจัยพบว่า เกลือบิวทิเรตมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และทำให้สมองเสื่อมช้าด้วย ดังนั้นการหลายคนไม่ชอบกินอาหารที่มีใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดี (soluble fiber) จึงอาจมีเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ต่ำ การกินเกลือบิวทิเรตในรูปเม็ดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน่าจะดีเป็นแน่แท้...จริงหรือ         ก่อนอื่นเราควรทราบว่า ในธรรมชาติแล้วเกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่มนุษย์มาจากไหน ข้อมูลนี้หาได้ไม่ยาก เช่น ในบทความเรื่อง Intestinal Short Chain Fatty Acids and their Link with Diet and Human Health ในวารสารออนไลน์ Frontiers in Microbiology ของเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ให้ข้อมูลว่า ใยอาหารชนิดที่อุ้มน้ำได้ดีมีบทบาทเป็นอาหารของแบคทีเรียในลำไส้ แล้วแบคทีเรียก็ถ่ายออกเป็นกรดไขมันสายสั้นคือ กรดบิวทิริคร้อยละ 15 (butyric acid มีคาร์บอน 4 อะตอม) กรดโปรปิโอนิคร้อยละ 25 (propionic acid มีคาร์บอน 3 อะตอม) และกรดอะซิติคร้อยละ 65 (acetic acid มีคาร์บอน 2 อะตอม) (ข้อสังเกตุคือ ในร่างกายมนุษย์นั้นสารที่มีความเป็นกรดมักถูกเปลี่ยนเป็น เกลือ เช่น กรดบิวทิริคไปเป็น เกลือบิวทิเรต เนื่องจาก pH ของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายส่วนใหญ่เป็นกลางเช่น ประมาณ 7.4)         เซลล์ของผนังลำไส้ใหญ่ดูดซึมเกลือบิวทิเรตไปใช้เป็นพลังงานราวร้อยละ 70 เพื่อการดำรงชีวิต โดยมีสมมุติฐานว่า ในคนที่กินอาหารที่มีใยอาหารต่ำเซลล์ลำไส้ใหญ่อาจได้พลังงานจากบิวทิเรตเพื่อการดำรงชีวิตของเซลล์ไม่พอจนต้องทำการย่อยสลายตัวเอง (apoptosis) ซึ่งทำให้การทำงานของลำไส้ใหญ่ลดลงไปจากสภาวะปรกติ ส่งผลต่อสุขภาพของคนๆ นั้นไม่ดีตามควร ซึ่งเว็บ Wikipedia ได้ให้ข้อมูลประมาณว่า งานวิจัยหลายเรื่องกล่าวถึงศักยภาพของเกลือบิวทิเรตในการป้องกันและบำบัดอาการอักเสบของลำไส้ใหญ่และยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยมีสมมุติฐานว่ แม้บิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานสำหรับเซลล์ปรกติของลำไส้ใหญ่แต่กลับทำให้เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่กลับต้องตายตามหลักการของ Warburg effect         Warburg effect กล่าวว่า เซลล์มะเร็งนั้นอยู่ดำรงได้ด้วยพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสที่ถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานผ่านกระบวนการ glycolysis เพียงอย่างเดียว โดยไม่สามารถใช้เกลือบิวทิเรตเป็นแหล่งพลังงานได้ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงเกลือบิวทิเรตไปเป็นพลังงานในเซลล์ปรกตินั้นจำต้องผ่านกระบวนการที่อยู่ใน “ไมโตคอนเดรีย”  แต่เซลล์มะเร็งนั้นเป็นเซลล์ที่ไม่มีการใช้ไมโตคอนเดรียในการสร้างพลังงานแต่อย่างใด จนนำไปสู่การสะสมของบิวทิเรตในนิวเคลียสส่งผลให้เกิดการยับยั้งเอ็นซัม histone deacetylase ซึ่งเป็นการยับยั้งการเพิ่มเซลล์มะเร็ง ดังกล่าวไว้ในบทความเรื่อง Histone deacetylase inhibitors: molecular mechanisms of action and clinical trials as anti-cancer drugs ในวารสาร American Journal of Translational Research ของปี 2011 ข้อมูลดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุผลที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกลือบิวทิเรตนำมาใช้เชิญชวนผู้บริโภคว่า ควรกินเกลือบิวทิเรต ?         งานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า การกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีนั้นมีผลต่ออวัยวะอื่นนอกเหนือไปจากลำไส้ใหญ่ด้วย โดยงานวิจัยของ Department of Animal Sciences ของ University of Illinois ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Immunology ในปี 2018 เรื่อง Butyrate and Dietary Soluble Fiber Improve Neuroinflammation Associated With Aging in Mice กล่าวว่า ใยอาหารน่าจะชะลอภาวะการอักเสบของสมอง (ที่เพิ่มขึ้นตามอายุ) ซึ่งส่งผลให้สมองทำงานได้ยาวนานขึ้น ในบทความนี้เล่าถึงผลการทดลองว่า เกลือบิวทิเรตในลำไส้ใหญ่ของหนูแก่ที่ได้กินอินูลิน (inulin) ได้ลดการทำงานของไซโตไคน์ (cytokine) ที่ออกฤทธิ์ที่เกี่ยวกับการชักนำให้เซลล์ไมโครเกลีย (microglia) ก่อการอักเสบในสมองของหนู ส่งผลให้สมองของหนูกลุ่มนี้มีสภาพดีกว่ากลุ่มหนูสูงวัยที่กินเซลลูโลสที่เป็นใยอาหารที่อุ้มน้ำไม่ดีซึ่งแบคทีเรียกินไม่ได้         ไมโครเกลียนั้นเป็นเซลล์ชนิดหนึ่งในระบบภูมิคุ้มกันที่สำคัญของสมองสัตว์ทั่วไป เซลล์นี้ทำหน้าที่กำจัดสิ่งที่ก่อปัญหาในสมองเช่น เซลล์ที่แก่หมดหน้าที่แล้วและเชื้อโรคต่างๆ เข้าใจกันว่าในผู้สูงอายุนั้นไมโครเกลียมีแนวโน้มในการก่อให้เกิดอาการสมาธิสั้น ส่วนการอักเสบเรื้อรังในสมองถ้ามีมากเกินไปก็น่าจะเป็นสาเหตุหลักของอาการความจำเสื่อมและการลดลงของความสามารถในการเข้าใจสิ่งต่างๆ ในวัยชรา ซึ่งมีงานวิจัยที่ดูว่าสนับสนุนสมมุติฐานนี้คือ บทความเรื่อง Posttraining systemic administration of the histone deacetylase inhibitor sodium butyrate ameliorates aging-related memory decline in rats ในวารสาร Behavioural Brain Research ของปี 2011 ซึ่งกล่าวในบทสรุปว่า เกลือบิวทิเรตที่เป็นผลพลอยได้จากการกินใยอาหารชนิดอุ้มน้ำได้ดีของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่สามารถปรับปรุงความจำและลดการอักเสบในสมองหนูได้         จากข้อมูลข้างต้นอาจทำให้หลายคนสรุปว่า การกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีเกลือบิวทิวเรตน่าจะดีต่อสมอง แต่ในความเป็นจริงแล้วสารอาหารเกือบทุกชนิดที่กินทางปากนั้นเมื่อผ่านลงสู่ลำไส้เล็กแล้วจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กไปสู่ตับด้วยระบบเส้นเลือดกลุ่มที่เรียกว่า hepatic portal vein ทั้งสิ้น ซึ่งในกรณีของเกลือบิวทิเรตที่ถูกนำเข้าสู่เซลล์ตับแล้วโอกาสที่จะหลุดรอดออกไปถึงเซลล์ลำไส้ใหญ่ย่อมเป็นไปได้ยาก เพราะตับมีระบบเอ็นซัมที่สามารถเปลี่ยนเกลือบิวทิเรตเป็นอะเซ็ตติลโคเอ็นซัมเอ (acetyl coenzyme A) ซึ่งถูกนำไปดำเนินการต่อกลายเป็นสารพลังงานสูงคือ เอทีพี (ATP) เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของเซลล์ ข้อมูลนี้ปรากฏในบทความชื่อ From the gut to the peripheral tissues: the multiple effects of butyrate ในวารสาร Nutrition Research Review ปี 2010         นอกจากนี้ในบทความเรื่อง Butyrate: A Double-Edged Sword for Health? ในวารสาร Advance Nutrition ของปี 2018 ให้ข้อมูลว่า การกินเกลือบิวทิเลตมากเกินไปจะส่งผลให้ตับมีการเปลี่ยนสารนี้ไปเป็น acetyl CoA ซึ่งเซลล์ตับสามารถนำไปสร้างเป็นกรดไขมันตลอดถึงคอเลสเตรอลได้เป็นอย่างดี จนผู้บริโภคนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง         ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าโอกาสที่เกลือบิวทิเรตที่ถูกกินเข้าไปทางปากจะไปถึงลำไส้ใหญ่และ/หรือไปต่อถึงสมองนั้นดูน่าจะเป็นไปได้ยาก ต่างจากบิวทิเรตที่สร้างโดยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกดูดซึมด้วยเซลล์ของลำไส้ใหญ่แล้วโอกาสที่ส่วนเกินจากการถูกใช้เป็นพลังงานโดยเซลล์จะหลุดรอดไปตามกระแสเลือดสู่สมองได้บ้างย่อมเป็นไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 โควิดก็ยังไม่หมด และข้อมูลมั่วๆก็ยังมา (1)

        โควิด19 ยังไม่หมด ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด 19 ที่ไม่ถูกต้องก็ยังคงถาโถมมาเรื่อยๆ ยิ่งคนในยุคนี้ที่มีอะไรๆ ก็ต้องรีบแชร์ไว้ก่อนโดยไม่ตรวจสอบ ยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนี้แพร่กระจายไปได้เร็ว และมันก็จะหมุนเวียนกลับมาอีกในอนาคต ดังนั้นขอรวบรวมข้อมูลมั่วๆ ที่เคยเจอ พร้อมกับคำชี้แจงที่ถูกต้องมาให้ผู้บริโภคได้เข้าใจจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อและหลงเป็นเครื่องมือกระจายข่าวโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์          กินยาแอสไพริน ช่วยรักษาโควิด 19 ให้หายได้         แชร์กันไปเยอะ จนสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมาบอกว่าข้อมูลนี้ไม่จริง การรักษาโรคโควิด 19 ต้องให้การรักษาตามแนวทางของ ศบค. เป็นหลัก ส่วนการรักษาภาวะแทรกซ้อนของโรค อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยโควิด 19 จึงไม่ควรซื้อยาแอสไพรินมารับประทานเอง การนำมารับประทานโดยไม่จำเป็นนอกจากจะไม่ช่วยรักษาอาการป่วยโควิด 19 แล้ว ยังอาจมีผลข้างเคียงจากแอสไพรินได้          ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง ล้างคอ ต้านโรคโควิด 19         มีการแชร์คลิปเสียงอ้างว่าเป็นคณบดีคณะแพทย์ศิริราช แนะนำให้ใช้น้ำเกลือ น้ำมะนาว หรือน้ำขิง มาล้างคอ เพื่อต้านทานโควิด 19 ในเรื่องนี้คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเคยออกมาแจ้งว่า เป็นข้อมูลเท็จ เสียงในคลิปนั้นก็ไม่ใช่เสียงของคณบดีคณะแพทย์ศิริราชแต่อย่างใด และยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า การใช้น้ำเกลืออุ่นๆ น้ำมะนาวอุ่นๆ หรือน้ำขิงอุ่นๆ บ้วนปากและล้างคอ ก็ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้         น้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19         กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่าตามที่มีการแชร์ข้อมูลน้ำยาบ้วนปาก ป้องกันการติดเชื้อโควิด 19 โดยอ้างว่าเป็นผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่ของคณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ ที่พบว่าน้ำยาบ้วนปากอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการติดโควิด 19 ได้ด้วย เพราะสามารถทำลายเชื้อไวรัสโควิด 19 ก่อนที่มันจะสามารถเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์         ข้อมูลดังกล่าวนี้เป็นเท็จ เพราะ น้ำยาบ้วนปากถูกผลิตให้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้มีกลิ่นปาก แม้น้ำยาบ้วนปากบางชนิดจะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ แต่ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ จะไม่ถึงร้อยละ 20 ในขณะที่การฆ่าโควิดต้องใช้เอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอทานอล ที่มีความเข้มข้น 70% ขึ้นไป หรือใช้โซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในการฆ่าเชื้อ ดังนั้นการใช้น้ำยาบ้วนปากฆ่าเชื้อโควิด 19 จึงไม่ได้ผล         รับประทานกล้วย ช่วยต้านโควิด 19         ข่าวนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าเป็นข้อมูลเท็จ ไม่มีผลในการช่วยต้านโควิดแต่อย่างใด นอกจากนี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคไต ก็ไม่ควรรับประทานกล้วยในปริมาณมากเพราะในกล้วยจะมีน้ำตาลและโพแทสเชียมสูง            กลั้นหายใจตรวจการติดเชื้อด้วยตัวเอง         มีการส่งต่อข้อมูลว่าสามารถตรวจสอบความเสี่ยงการติดโควิดด้วยตัวเอง โดยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วกลั้นหายใจไว้ 10 วินาที รอดูว่ามีอาการไอ แน่นหน้าอกหรือไม่ หากไม่มีอาการแสดงว่าไม่ติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงว่าข้อมูลไม่เป็นความจริง ขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยทางการแพทย์ที่ออกมายืนยันว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้ตรวจการติดเชื้อโควิด 19 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 รู้เท่าทันเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ

        ช่วงนี้คงไม่มีอะไรมาแรงเท่าเครื่องดื่มผสมวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ที่โฆษณาขายกันอย่างครึกโครมว่าเพิ่มพลังและดีต่อสุขภาพ มีดารา ศิลปินชื่อดังที่มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ยี่ห้อต่างๆ จนฉุดยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ คืออะไร         บริษัทเครื่องดื่มสุขภาพกำลังเพิ่มการใส่วิตามินและเกลือแร่ลงไปในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ น้ำดื่มสำหรับนักกีฬา และน้ำดื่มธรรมดา เนื่องจากผู้บริโภคที่รักสุขภาพเชื่อว่ามีประโยชน์กว่าการดื่มน้ำธรรมดา ทำให้เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เหล่านี้มีวางขายทั่วไปหมด ตั้งแต่ ในร้านสะดวกซื้อ ร้านขายของในปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำ จนถึงร้านอาหารข้างทางเครื่องดื่มวิตามินมีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัยจริงหรือ         เครื่องดื่มวิตามินต่างๆ ที่ขายในท้องตลาด อาจมีวิตามินและสารอาหารที่ใส่เข้าไปในปริมาณน้อย บางชนิดก็ไม่มีความจำเป็น บางชนิดถ้าบริโภคในปริมาณมากและระยะยาวอาจเป็นอันตราย         “ปกติ เราได้รับวิตามินและแร่ธาตุตามธรรมชาติจากอาหาร หลายคนยังกินวิตามินเสริมเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังมากินเครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่เพิ่มอีก ทำให้มีการบริโภควิตามินและแร่ธาตุมากเกินกว่าความจำเป็น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Mridul Datta จากภาควิชาโภชนาการ มหาวิทยาลัยเพอร์ดู กล่าว         ทุกวันนี้ งานศึกษาแสดงว่า ประชากรแต่ละคนได้รับวิตามินและแร่ธาตุในระดับที่สูง มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาบริโภควิตามินรวมหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ขนมปัง อาหารหลายอย่าง มีการเพิ่มวิตามิน B, A และ D  ในประเทศไทยก็มีการการโฆษณานมผงยี่ห้อต่างๆ ว่ามีสารอาหารต่างๆ จำนวนมาก              วิตามินที่บริโภคในปริมาณมาก วิตามินบางชนิดละลายในน้ำได้ เช่น วิตามิน B และ C ซึ่งจะขับถ่ายออกทางปัสสาวะ แต่วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น A, D, E และ K จะสะสมในเนื้อเยื่อ และเกิดความเสี่ยง เพราะคงตัว ไม่ขับออกทางปัสสาวะ เมื่อบริโภคต่อเนื่อง จะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นและมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งต้องระวัง         งานศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่ตีพิมพ์ใน JAMA  ปีค.ศ. 2009 ทำการศึกษาคลินิกใน ผู้ป่วยโรคหัวใจกว่า 6,000 ราย ซึ่งได้รับวิตามิน B หรือ ยาหลอกเป็นเวลากว่า 7 ปี พบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับกรดโฟลิคและ B12 มีอัตราการเสียชีวิตและมะเร็งสูงกว่า         ในปีค.ศ. 2012 การทบทวนการศึกษาทางคลินิกในประชากร 300,000 รายโดย Cochrane พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีน วิตามิน A, E เพิ่มอัตราการเสียชีวิต ในปีถัดมา หน่วยงานป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาได้สรุปว่า “มีหลักฐานจำกัดที่ยืนยันว่า การบริโภควิตามินและแร่ธาตุสามารถป้องกันมะเร็งและโรคหัวใจได้”เครื่องสุขภาพมีผลเสียต่อสุขภาพหรือไม่         การทบทวนวรรณกรรมใน Cochrane library ปีค.ศ. 2019 พบว่า ปัญหาใหญ่ของเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพคือ กลุ่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน หรือมีน้ำตาลในปริมาณสูง ก่อให้เกิดโรคอ้วน ฟันผุ เบาหวาน และโรคหัวใจ         เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่ที่ขายกันทั่วไป ส่วนใหญ่ผลิตโดยบริษัทเครื่องดื่มน้ำอัดลม หลายยี่ห้อจึงมีรสหวานเท่ากับหรือมากกว่าน้ำอัดลม ยกเว้นบางประเภทที่บอกว่าน้ำตาลเป็น 0 แต่ก็ใช้รสหวานจากน้ำตาลเทียม         ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มวิตามินหรือแร่ธาตุจึงมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้         สรุป     เครื่องดื่มวิตามินและเกลือแร่สามารถมีผลเสียต่อสุขภาพได้ จากวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำตาล ที่บริโภคมากเกินจำเป็น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 รู้เท่าทันเกลือสีดำ

        หลังจากมีโฆษณาเรื่องเกลือหิมาลัยสีชมพูแล้ว ตอนนี้เริ่มมีการโฆษณาเกลือหิมาลัยสีดำว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพและดีกว่าเกลือแกงที่คนไทยใช้กินกันอยู่ทุกวัน ดีจริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะเกลือดำคืออะไร         เกลือดำหรือที่รู้จักกันในชื่อกาลา นามัค เป็นเครื่องปรุงอาหารที่นิยมของอาหารอินเดีย กาลา นามัค นั้นเป็นที่เลื่องลือในเรื่องของกลิ่น ซึ่งหากนำมาดมดูจะพบว่ามีกลิ่นฉุนคล้ายกลิ่นไข่เน่า หรือกลิ่นไข่ต้ม ช่วยให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น และถูกอ้างสรรพคุณว่าดีต่อสุขภาพ แม้ว่าจะเรียกว่าเกลือดำ แต่จริงๆ แล้ว มีสีน้ำตาลอมชมพู         เกลือดำมี 3 ประเภทหลัก คือ เกลือดำหิมาลัย เกลือดำหินภูเขาไฟ และเกลือดำที่ใช้ทำพิธีกรรม แต่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดคือ เกลือดำหิมาลัย เกลือดำเป็นเกลือที่ได้จากการทำเหมืองหินเกลือในปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย เนปาล ซึ่งอยู่รอบๆ ภูเขาหิมาลัย         การใช้เกลือดำมีบันทึกแรกเริ่มในการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย แพทย์อายุรเวทเชื่อว่ามีสรรพคุณในการบำบัดรักษาโรค เกลือดำบำบัดโรคอะไรได้บ้าง         การแพทย์อายุรเวทกล่าวว่าเป็นเครื่องเทศที่เป็นรสเย็น ใช้เป็นการระบายและช่วยการย่อยอาหาร สายตาไม่ดี และเนื่องจากเกลือดำมีโซเดียมต่ำ จึงดีต่อผู้ที่มีความดันโลหิตสูง         ในเว็บไซต์ต่างๆ จะมีการโฆษณาว่าเกลือดำรักษาโรคต่างๆ ตั้งแต่ มะเร็งตับ ฆ่าเชื้อไวรัส รา และเชื้อโรคต่างๆ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน สร้างน้ำย่อยอาหาร และทำให้สุขภาพดี นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาสีฟัน ล้างผักผลไม้ให้สะอาด ขัดผิว แช่เท้า แช่ตัวได้อีกด้วย เกลือดำมีประโยชน์จริงหรือ        เกลือดำอาจมีโซเดียมและสารปรุงแต่งน้อยกว่าเกลือทั่วไป โดยเฉพาะเกลือที่อาจมีการปนเปื้อนสารต่างๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งอาหารที่มีโซเดียมสูงจะเพิ่มความดันโลหิตให้สูงและไตต้องทำงานหนัก นอกจากนี้ เกลือแกงยังมีสารปรุงแต่งที่อันตรายเช่น โปตัสเซียมไอโอเดตและอะลูมิเนียมซิลิเกต ในขณะที่เกลือดำ (รวมทั้งเกลือทะเลทั่วไป) ที่ผ่านกระบวนการที่เป็นธรรมชาติมากกว่า เกลือดำดีต่อสุขภาพหรือไม่         เมื่อทบทวนงานวิจัยในวารสารวิชาการต่างๆ  ยังไม่มีงานวิจัยที่หนักแน่นดีพอที่สนับสนุนว่า เกลือดำดีต่อสุขภาพมากกว่าเกลือทั่วไป แต่งานวิจัยทั้งหมดจะยืนยันว่า เป็นการดีที่สุดที่จะบริโภคเกลือในปริมาณปานกลางและใช้เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเกลือประเภทใดก็ตาม เราควรบริโภคโซเดียมมากที่สุด 2,300 มก.ต่อวัน หรือคิดเป็นเกลือ 1 ช้อนชาเท่านั้น         เกลือดำอาจเป็นทางเลือกที่ดีเมื่อเทียบกับเกลือที่ขายกันทั่วไป ยกเว้นเกลือทะเลบ้านเราที่กระบวนการผลิตยังเป็นธรรมชาติ (แต่โซเดียมอาจสูงกว่า) และจากกลิ่นที่เฉพาะตัว ทำให้อาหารมีกลิ่นน่ากินมากขึ้น ดังนั้นอาจช่วยเพิ่มกลิ่นและรสชาติอาหารให้เป็นแบบอาหารเอเชีย         เกลือดำนั้นมีหลายยี่ห้อและหลายราคา ตั้งแต่กิโลกรัมละ 100 บาทขึ้นไป ในขณะที่เกลือทะเลบ้านเราราคากิโลกรัมละประมาณ 20 บาท         สรุป  เกลือดำนั้นมีความเชื่อของการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย แต่ยังไม่มีการศึกษาทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่า มีประโยชน์ตามที่อ้างกันหรือเชื่อสืบต่อกันมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 เป็นไปได้ไหม เก็บภาษีเกลือ

หมอ ห่วงคนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึง 2 เท่า ทำเจ็บป่วย โรคเอ็นซีดีเพียบ ชี้การรณรงค์ ขอความร่วมมือลดเติมเกลือในอาหาร ยังไม่ได้ผล รอโควิดซาจ่อเก็บ “ภาษีโซเดียม” ยันทำเพื่อสุขภาพปัดหารายได้            ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือกลุ่มโรคเอ็นซีดี ซึ่งเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเปิดเผยว่า ปัจจุบันคนไทยกินอาหารรสชาติค่อนข้างเค็มตอนนี้เกือบๆ 2 เท่าของความต้องการของร่างกาย หรือประมาณสูงถึง 4,351 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งจากการศึกษาทั่วประเทศพบว่ามีการบริโภคเค็มกันทุกภูมิภาค มากที่สุดคือภาคใต้ แต่สูงกว่ากันไม่มาก เช่น ประชากรจากภูมิภาคอื่นๆ บริโภคเค็ม 100 ส่วน ภาคใต้จะรับประทาน 110 ส่วน เป็นต้น         ทั้งนี้ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมที่อยู่ในอาหารธรรมชาติพบเล็กน้อยประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ข้าว ส่วนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากเครื่องปรุงเช่น เครื่องปรุงที่มีความเค็มคือ เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่างๆ เกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ก็โซเดียมที่ไม่เค็ม ในรูปของผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ผงชูรส ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง เบเกอรี่ก็มีโซเดียมเช่นเดียวกัน         และจากการสำรวจของภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข หรือการสำรวจของภาคเอกชน คือนีลสันพบข้อมูลตรงกันว่าคนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น จากเดิมประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ก็เพิ่มเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ มีการพึ่งพาอาหารจากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต อาหารข้างทาง ตามตลาดนัด ข้าวแกงและยังพบแนวโน้มรับประทานอาหารจานด่วน เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก พิซซ่า มากขึ้นด้วย        รวมถึงความนิยมอาหารญี่ปุ่น อาหารจีน ซึ่งมีรสชาติค่อนข้างเค็มมาก โดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่นจะเค็มกว่าอาหารทั่วไป ตั้งแต่น้ำแกงราเมนที่ใส่ทั้งเกลือและซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่างๆ แถมยังรับประทานกับน้ำจิ้มอีก ทั้งหมดนี่คืออีกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง ตลอดจนขนมกรุบกรอบที่เด็กรับประทาน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่ง 1 ซองมีปริมาณโซเดียมสูงเกินความต้องการของคน 2-3 เท่า เมื่อเทียบข้าว 2 จาน         ผศ.นพ.สุรศักดิ์ ระบุว่า จากพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนไทยที่กล่าวมานั้น เป็นแนวโน้มที่น่ากังวลส่งผลให้อัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มสูงขึ้น ทั้งความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ตลอดจนอัมพฤกษ์ อัมพาต ข้อมูลจากระทรวงสาธารณสุขพบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละเกือบ 40,000 คน โรคอัมพฤกษ์อัมพาตมากกว่า 500,000 คน แนวโน้มการเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 5-10 เปอร์เซ็นต์ และไม่มีน้อยลงเลย         ที่น่าเป็นห่วงเพราะสังเกตว่าคนที่ป่วยด้วยโรคเหล่านี้อายุน้อยลงเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนคนจะเริ่มป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่อายุ 30-35 ปี เป็นอายุกลางคนแล้ว โดยเริ่มความดันโลหิตสูง แต่ปัจจุบันวัยรุ่นพอเรียนจบความดันสูงน้ำหนักตัวเยอะ ยิ่งถ้าเราเริ่มกินเค็มแต่เด็กจะเป็นความดันโลหิตสูงเร็ว ไม่ถึง 20 ปี ก็เจอได้ ซึ่งที่ตนเคยเจออายุน้อยสุดคือ 18 ปี ทั้งนี้ไม่เกี่ยวว่าคนนั้นอ้วนหรือไม่อ้วน ทุกคนสามารถเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ หากรับประทานเค็มมากความดันก็สามารถขึ้นได้ แต่คนไข้ที่อ้วนมักพบว่ามีการกินหวานร่วมด้วย ยิ่งทั้งหวานทั้งเค็ม 2 อย่างก็จะอันตรายมากเข้าไปอีก         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ได้อธิบายกลไกการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม มีโซเดียมสูงมีผลต่อการเกิดโรคว่า ความเค็มหรือโซเดียมจะก่อให้เกิดโรคอันดับแรกคือ โรคความดันสูง เพราะเวลากินเค็ม กินเกลือเข้าไปนั้น ธรรมชาติสร้างมาว่าต้องมีการขับออก ถ้าได้รับปริมาณมากเกินไปจะทำให้เกิดอันตรายกับร่างกาย ดังนั้นเพื่อที่จะขับเกลือที่เกินความจำเป็นนั้นออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ เพราะฉะนั้นความเค็มจะไปกระตุ้นสมองและสั่งการให้เกิดกระหายน้ำ  และเมื่อน้ำกับเกลือรวมกันกลายเป็นน้ำเกลือ ซึ่งน้ำเกลือจะเป็นตัวนำพาเลือดภายในหลอดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย         ทั้งนี้กลไกของมันคือ เม็ดเลือดจะเดินทางไปไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำเกลือพาไป แต่ถ้าค่าน้ำเกลือมีปริมาณมากเกินไปแรงดันในหลอดเลือดก็จะสูงขึ้น เรียกว่าความดันโลหิตสูง จะส่งผลทำให้หลอดเลือดนั้นเสื่อมเร็ว หรือถ้าทนไม่ได้เส้นเลือดก็จะแตก เช่น เส้นเลือดสมองแตกเป็นอัมพาตไป บางคนเส้นเลือดเกิดการอักเสบ หรือทนแรงไม่ไหวก็จะเสื่อม มีหินปูนเกาะ มีไขมันคอเลสเตอรอลไปเกาะ เกิดการอุดตันได้ เกิดเป็นหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และหากไตทำงานหนักมากๆ เพราะมีหน้าที่ขับเกลือออกทางปัสสาวะ ไตก็จะเสื่อมเร็วเพราะเหตุว่าไตมีหน้าที่กรองน้ำกับเกลือออกไป ซึ่งการขับสิ่งเหล่านี้จะต้องใช้แรงดันเลือดเข้าไป พอมีแรงดันมากๆ หลอดเลือดที่ไตก็จะเสื่อม เกิดไตเสื่อม ไตวายในอนาคต         เพราะฉะนั้นการรับประทานอาหารรสเค็มจะทำให้เป็นโรคความดันมาก่อน ตามมาด้วยไต โรคหัวใจ และอัมพาต และยังตามมาด้วยโรคเบาหวานอีกด้วย สังเกตว่าถ้าป่วยความดันสูง 4-5 ปี หรือเมื่ออายุมากขึ้นจะเป็นเบาหวานตามมา เพราะคนที่รับประทานเค็มมากมักจะรับประทานรสหวานด้วย มีน้ำหนักขึ้น เช่น เวลารับประทานขนมกรุบกรอบก็ต้องกินกับน้ำหวาน กินอะไรก็ตามอาจจะตามด้วยน้ำอัดลมจะทำให้น้ำหนักตัวเยอะ ตามด้วยเบาหวาน ความดัน โรคไต ตามมาเป็นตระกูล         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ย้ำว่า การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเค็มต่อเนื่องกันเป็นเวลานานราวๆ 5 ปี 10 ปี มีโอกาสสูงที่จะทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง อย่างไรก็ตามถ้ารับประทานอาหารเค็ม แต่ก็รับประทานอย่างอื่น รวมถึงออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยได้บ้างแต่ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ บางคนรับประทานเค็มแล้วดื่มน้ำตามมากๆ ก็จะขับเกลือออกผ่านทางปัสสาวะ ขับออกจากร่างกายได้เร็วขึ้นแทนที่จะคั่งค้างในร่างกาย แต่ไตก็ยังทำงานหนักอยู่ดี หรือบางวันกินบุฟเฟ่ต์ มื้อต่อมาอาจจะรับประทานจืดลงหน่อย ไปวิ่งออกกำลังกาย ไปเข้าฟิตเนสประมาณ 45 นาที ก็จะช่วยขับเกลือออกทางเหงื่อได้         บางวันบางคนรับประทานผัก ซึ่งในอดีตคนจะรับประทานน้ำพริก และมีผักแนมเยอะๆ ซึ่งในผักจะมีสารโปรแตสเซียมช่วยในการขับเกลือส่วนเกินออกไปได้ดีขึ้นเช่นกัน ช่วยให้ป้องกันความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นในอดีต ชีวิตคนต่างจังหวัดจึงไม่ค่อยเป็นความดันโลหิตสูงมากนักเพราะรับประทานผักเยอะ อีกทั้งยังทำงานกลางแจ้งเสียเหงื่อเยอะความดันจึงไม่ค่อยขึ้น แต่ปัจจุบันวิถีชีวิตคนเราเปลี่ยนไปเป็นชีวิตคนเมืองมากขึ้น ออกกำลังกายน้อยลงกินผักน้อยลงทำให้เป็นโรคสะสมโดยเฉพาะความดันโลหิตสูงโรคไตจะเข้ามาเยอะและอายุผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ          ผศ.นพ.สุรศักดิ์  บอกว่า เมื่อป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงแล้วหากไม่รักษา ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี ก็จะเริ่มมีปัญหาโรคไต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับดีกรีด้วย ถ้าความดันโลหิตสูงมากก็มีโอกาสป่วยโรคไตเร็วขึ้น แต่ถ้าความดันโลหิตสูงน้อยหน่อยก็เป็นเป็นโรคไตช้า เช่น บางคนความดันโลหิตสูง 150 - 160  จะอยู่ได้ประมาณ 5 ปี ส่วนคนที่ 180 - 200 ภายใน 2-3 ปีก็เป็นโรคไตแล้ว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของความดันโลหิต         อย่างไรก็ตามสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ลดเค็ม ลดหวาน และออกกำลังกาย ถ้าน้ำหนักเยอะก็พยายามลดน้ำหนักลง และทานผักผลไม้เพิ่มขึ้นเพื่อช่วยสร้างสมดุลเรื่องเกลือและไม่สูบบุหรี่ เลี่ยงยาที่ทำให้ไตเสื่อมเร็ว เช่น ยาชุด ยาแก้อักเสบ แก้ปวดข้อต่างๆ ซึ่งทำให้ไตเสื่อมเร็ว         หลายคนอาจจะเข้าใจว่าบุหรี่มีผลต่อโรคปอดอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วบุหรี่อันตรายมากกับทุกอวัยวะในร่างกาย ทำให้หลอดเลือดทั่วไปเสื่อมเร็ว เหมือนกับเวลาคนไข้ที่สูบบุหรี่มักจะเป็นโรคหัวใจเพราะหลอดเลือดหัวใจเสื่อม เป็นโรคไตก็เพราะหลอดเลือดไตเสื่อม โรคสมองก็เพราะบุหรี่ทำให้หลอดเลือดที่สมองเสื่อมและเป็นโรคปอดไปด้วย เพราะมีสารทำร้ายเนื้อเยื่อปอด เพราะฉะนั้นบุหรี่กับความเค็มมีความรุนแรงพอๆ กัน แต่ความเค็มยังพอมีวิธีแก้ด้วยการลดเค็ม แต่บุหรี่ไม่มีวิธีแก้เลย ต้องหยุดอย่างเดียว         ความเป็นไปได้ของการเก็บภาษีเกลือ         จากอันตรายที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีความเค็ม หรือปริมาณโซเดียมสูง นำมาสู่ความพยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายเก็บภาษีโซเดียมขึ้นมา เรื่องนี้ ผศ.นพ.สุรศักดิ์  อธิบายว่า การรณรงค์ให้ประชากรลดการบริโภคเค็มถือว่ามีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างที่ประเทศอังกฤษ ประเทศฟินแลนด์ มีการรณรงค์ทั่วประเทศให้ลดการบริโภคเค็มลดลง แค่ลดลงประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ก็มีผลทำให้ลดการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้มาก ในอังกฤษพบว่าการรณรงค์ระยะเวลา 10 ปี ประชาชนสามารถลดการบริโภคความเค็มลดลง 15 เปอร์เซ็นต์ ส่งให้อัตราคนเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจลดลงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสียชีวิตลดลงชัดเจน         เพราะฉะนั้นการรณรงค์ก็มีความสำคัญ แต่การรณรงค์อย่างเดียวมักไม่ค่อยได้ผล เพราะธรรมชาติคนมักจะติดกับรสชาติ หากบอกว่าการรับประทานรสเค็มมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นขอให้รับประทานรสจืดลงสักหน่อย แต่คนจะมองว่า “ฉันไม่เป็นหรอก ไม่กลัว อีกตั้งนานกว่าจะเป็น”  เพราะฉะนั้นการรณรงค์อย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์ วิธีที่จะช่วยได้ ซึ่งในหลายประเทศทำอยู่ คือการปรับสิ่งแวดล้อมหรือปรับสูตรอาหาร ที่ขายในท้องตลาดให้มีความเค็มลดลง         ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ทำวิธีนี้เช่นกัน โดยการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจอาหารตั้งแต่ 4 ปีที่แล้ว ให้ช่วยลดปริมาณเกลือลงเพื่อทำให้ประชาชนสุขภาพดี อย่างน้อยคือ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่คนนิยมบริโภค มียอดจำหน่ายมากถึงวันละ  8 ล้านซอง ถ้าคนรับประทานวันละ 1 ซอง แสดงว่ามีคนรับประทานถึง 8 ล้านคน และคนเหล่านี้ก็คือคนที่ได้รับโซเดียมสูงมาก         เพราะฉะนั้น จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการในการลดเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลง เป็นการขอความร่วมมือ จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ ปรากฏว่าผู้ประกอบการลดปริมาณเกลือที่ใส่ได้น้อยมาก โดยให้เหตุผลว่าถ้าลดเกลือลงแล้วคนจะไม่ซื้อผลิตภัณฑ์อาหาร แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ประกอบการทุกบริษัทลดเกลือลงประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ 10 เปอร์เซ็นต์ทุกบริษัท คนก็จะต้องรับประทานของบริษัทที่เป็นเจ้าใหญ่อยู่แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ติดที่ยี่ห้อเดิม การลดปริมาณเกลือลง 5 เปอร์เซ็นต์ ลิ้นคนเราไม่สามารถจับได้         “ที่ผ่านมาเราขอให้เขาค่อยๆ ลดปริมาณเกลือลง ปีแรก 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งลิ้นคนเราจับรสชาติไม่ได้อยู่แล้ว หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ขอให้ลดลงอีก 5 เปอร์เซ็นต์ แต่ปรากฏว่าเขาทำไม่ได้ เพราะว่าต่างคนต่างไม่ยอมลด ก็เป็นที่มาว่าถ้าไม่ลดเกลือในอาหารลง ก็จะทำให้มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนที่บริโภค เพราะฉะนั้นถ้าลดไม่ได้ก็ต้องเก็บภาษี เหมือนภาษีน้ำหวาน”         ผศ.นพ.สุรศักดิ์  ระบุว่า หลักการจัดเก็บภาษีโซเดียมนั้น ไม่ได้จะเก็บภาษีผลิตภัณฑ์อาหารกึ่งสำเร็จรูปทุกตัว แต่จะมีการกำหนดค่ามาตรฐานความเค็มเอาไว้ ผลิตภัณฑ์ใดที่มีความเค็มเกินเกณฑ์ที่กำหนดก็จะถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันเมื่อดูจากข้อมูลผลิตภัณฑ์อาหารในท้องตลาดจะพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่จะโดนภาษี หรือคิดเป็น 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 3 ใน 4 จะไม่โดน หลักคือกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มโจ๊ก และขนมกรุบกรอบ         อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการเก็บภาษีโซเดียมไม่ได้จะเก็บจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทุกตัว แต่จะเก็บเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ถ้าผู้ผลิตมีการปรับสูตรให้มีความเค็มเกินค่ามาตรฐานที่ตั้งไว้ ก็จะไม่ถูกเก็บภาษีแต่อย่างใด แต่ถ้ามีคนกังวลว่าหากผู้ผลิตที่ถูกเก็บภาษี จะหันไปขึ้นราคาผลิตภัณฑ์นั้น ส่วนที่ไม่ถูกเก็บภาษีก็จะราคาไม่แพง ดังนั้นถ้าดูตามพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ หรือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ จะเลือกสินค้าตามราคา ตัวไหนราคาถูกก็จะซื้อตัวนั้น ดังนั้นผู้บริโภคก็มีทางเลือกว่าจะซื้อของที่มีราคาถูกและดีต่อสุขภาพ หรือว่าจะซื้อของแพงแถมยังเป็นภัยต่อสุขภาพ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือก ทั้งนี้ไม่รวมเครื่องปรุงรส แต่อาจจะมีการออกคำเตือนเรื่องการบริโภคในปริมาณน้อยเพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง         เพราะฉะนั้นจะคัดค้านไม่ให้มีการเก็บภาษีดังกล่าวโดยอ้างว่าจะทำให้บะหมี่ราคาแพงขึ้นทั้งแผงคงไม่ถูกต้อง เป็นข้ออ้างที่จะบ่ายเบี่ยง แต่ถ้ามีการขึ้นราคาทั้งหมดเท่ากับว่าเป็นการฉวยโอกาสขึ้นราคาเพื่อทำกำไร ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องมาควบคุมราคาเพื่อไม่ให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภคได้         “การลดปริมาณเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ถ้าทำได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย เพราะไม่ต้องไปขึ้นราคา ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคเอ็นซีดี ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถเซฟค่าใช้จ่ายในการรักษาได้”         ทั้งนี้ มาตรการภาษีไม่ใช่ว่าบังคับใช้ทันที แต่จะบังคับใช้ใน 3 ปีข้างหน้า 5 ปีข้างหน้า เพราะเข้าใจดีว่าก็ต้องให้เวลาผู้ประกอบการในการปรับตัว โดยค่อยๆ ลดเกลือลงมา ซึ่งถ้าลดเกลือลงมาแล้วผลิตภัณฑ์มีความเค็มไม่เกินค่าที่ตั้งไว้ก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก ดังนั้นถือว่ากระทบน้อยมากและนี่เป็นมาตรการที่ต่างประเทศ เช่น ฮังการี ใช้มาก่อนแล้วพบว่าได้ผลดี  สินค้าเกือบทั้งหมดลดปริมาณเกลือลงโดยที่ไม่ต้องไปขอร้องกันอีก ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการลดต้นทุน ไม่ต้องเสียภาษีและขายได้เยอะขึ้น เพราะราคาไม่แพง         สำหรับความคืบหน้าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำความตกลงกับสภาอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ผลิตอาหาร ประชุมกันมา 4-5 ครั้ง ดูแนวโน้มก็เข้าใจมากขึ้นว่าเราไม่ได้จะไปเก็บภาษีทั้งหมด ถ้าลดปริมาณเกลือลงมาก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ได้มีการยกร่างเอาไว้หมดแล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศใช้ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด -19 จึงยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะออกมาตรการเก็บภาษีในช่วงนี้ รอให้สถานการณ์ดีขึ้นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้ประกอบการก่อน        โดยอยากจะทำความเข้าใจอีกครั้งว่าการลดการบริโภคเกลือลงนั้น  มีความสำคัญสำหรับประชาชน เพราะทำให้คนป่วยน้อยลง ค่าใช้จ่ายถูกลง ค่ารักษาพยาบาลน้อยลง ถ้าขอความร่วมมือทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตให้บริโภคเกลือน้อยลง โดยมีระบบจัดเก็บภาษีเป็นการโน้มน้าว หรือชักจูงให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคกินอาหารที่มีความเค็มลดลงเพื่อผลดีต่อสุขภาพ ไม่ได้มีเจตนาจะไปเก็บเงินหารายได้ต่างๆ ถ้าทุกอย่างคนกินจืดลง ผู้ผลิตผลิตอาหารจืดลง ภาษีนี้อาจจะไม่ต้องใช้ก็ได้ ไม่กระทบค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค คิดว่าเป็นมาตรการที่ทำให้สุขภาพของทุกคนดีขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2563

4 เดือนโครงการรับยาใกล้บ้าน ยอดแตะ 91 รพ. 750 ร้านขายยา        สปสช.โดย นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผย “โครงการผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) รับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เพื่อช่วยลดแออัดในโรงพยาบาลรัฐ หรือโครงการรับยาใกล้บ้านนั้น ตั้งแต่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนถึงวันที่ 1 ก.พ. 2563 รวม 4 เดือนพบว่า โรงพยาบาลที่เข้าร่วมดำเนินโครงการจำนวน 91 แห่ง ขณะที่มีร้านขายยาแผนปัจจุบัน ขย.1 เข้าร่วมให้บริการจำนวน 750 แห่ง จาก 55 จังหวัด โดย รพ.ขอนแก่น มีร้านยาร่วมเครือข่ายบริการมากสุด 50 แห่ง รพ.ลำพูน มีผู้ป่วยร่วมโครงการมากสุด 480 คน ขณะที่ภาพรวมผู้ป่วยร่วมโครงการฯ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด และจิตเวช นอกจากนี้ยังมีโรคเรื้อรังอื่นที่ผู้ป่วยมีภาวะคงที่ โดยให้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งจากข้อมูลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการฯ สะสมแล้ว มีจำนวน 2,453 รายแล้ว อย. เรียกเก็บน้ำเกลือล้างแผลพบการปนเปื้อน        รายงานข่าว นพ. สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีหนังสือที่ สธ 1009.5/ว 1955 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 แจ้งเตือนภัยเร่งด่วน การเรียกเก็บยา KLEAN & KARE NORMAL SALINE เลขทะเบียน 1A 512/56 รุ่นการผลิต 061607 คืนจากท้องตลาดโดยสมัครใจ 29 มี.ค. มอเตอร์ไซค์ใหม่ทุกคันต้องได้ยูโร 4         นายวันชัย  พนมชัย  เลขาธิการ  สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ได้เชิญผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์กว่า 40 ราย ชี้แจงทำความเข้าใจ และเตรียมความพร้อมในการยื่นขอ มอก. 2915-2561 รถจักรยานยนต์เฉพาะด้านความปลอดภัย – สารมลพิษจากเครื่องยนต์ ระดับยูโร 4  ซึ่งประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2563 เพื่อช่วยแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นพิษหรือ PM 2.5  ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวมีข้อกำหนดที่ควบคุมปริมาณสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากเครื่องยนต์ของรถจักรยานยนต์ ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอนออกไซด์ของไนโตรเจน ลดลงถึง 50% เมื่อเปรียบเทียบกับ มอก. เดิม คือ ยูโร 3         นอกจากนี้ มาตรฐานฉบับดังกล่าวนี้ยังมีข้อกำหนดเรื่องความทนทานของอุปกรณ์ควบคุมมลพิษ เพื่อให้มั่นใจว่ารถจักรยานยนต์ที่ผ่านการใช้งานแล้วระยะเวลาหนึ่ง  ยังคงสามารถควบคุมปริมาณสารมลพิษเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดได้ เสวนา พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบยอดร้องเรียนสูงแต่เอาผิดได้น้อย        5 กุมภาพันธ์ โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ งานเสวนา “12 ปี  พ.ร.บ  ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551” เผยสถิติ แม้มียอดร้องเรียนนับพันแต่เอาผิดตามกฎหมายได้น้อย        นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา ระบุ 1 ปีที่ผ่านมา มาตรการบังคับใช้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ถือว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น สังคมตื่นตัว รับรู้ข้อกฎหมายมากขึ้น จึงมีผู้ร้องเรียนเมื่อพบข้อมูลการทำผิดกฎหมายมากถึง 1,100 กรณี สำหรับความผิดที่พบมากที่สุด (ร้อยละ 60) คือ โฆษณาส่งเสริมการตลาด พบว่า ธุรกิจน้ำเมายังคงมั่งคั่ง ใช้กิจกรรมการตลาด จัดคอนเสิร์ตเปิดลานเบียร์ เป็นกิจกรรมหลัก ที่รุกจากหน้าห้างกิจกรรมรายย่อยยันทุ่งนา และใช้ตราเสมือนคือเครื่องดื่มน้ำ โซดา รวมไปถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เป็นตราหลักสื่อสารการตลาด การโฆษณาในสื่อต่างๆ “เครือข่ายฯ ยังพบกิจกรรมหรือความสัมพันธ์ ที่น่าเคลือบแคลงสงสัยในแบบอุปถัมภ์เกื้อหนุนกันระหว่างทุนเหล้ากับกลไกราชการ โดยกิจกรรมการตลาดต่างๆ มักอ้างหรือดึงส่วนราชการเข้ามาร่วมด้วย เพื่อทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้คือ ภัยคุกคามสำคัญ”         นพ.นิพนธ์  ชิชานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า         “มาตรการควบคุมผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการออกตรวจตามวันที่ห้ามขาย เช่น วันสำคัญทางศาสนา สุ่มตรวจจากเรื่องร้องเรียนในประเด็นที่เป็นปัญหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 32 ว่าด้วยการห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่มฯ และมาตรา 30 ว่าด้วยการห้ามขาย ด้วยวิธีการ เร่ขาย เครื่องขายอัตโนมัติ ลดแลกแจกแถม ในสถานที่ราชการ สถานศึกษาฯ ซึ่งในปี 2562 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนเข้ามามากกว่า 2,000 เคส แต่พบว่า สำหรับการดำเนินคดีการตามกฎหมายจนสิ้นสุดคดียังมีจำนวนน้อย เพราะการควบคุมหย่อนยานไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ต้องกระตุ้นไปยังเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายตามกลไกการใช้กฎหมายในแต่ระดับพื้นที่ จะส่งผลให้ติดตามง่ายลดการกระทำผิดซ้ำ”  สมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1        18 กุมภาพันธ์ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และภาคีเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน จัด ‘เวทีสมัชชาผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน ครั้งที่ 1’ ขึ้น เพื่อสะท้อนภาพรวมของปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุให้มีสิทธิและโอกาสการเข้าถึงสังคมที่มีอย่างทั่วถึงเท่าเทียม         ในตอนหนึ่งของการเสวนา การชดเชยเยียวยาผู้เสียหายกรณีรถโดยสาร นักวิจัยระบุ การทำประกันภัยให้รถโดยสารสาธารณะช่วยผู้บริโภคได้ดีกว่าการฟ้องร้อง แต่ปัจจุบันรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น ขณะที่ มพบ. ให้ข้อมูลว่า การฟ้องร้องยังจำเป็นเพราะผู้เสียหายอาจเสียเปรียบจากระบบประกันภัย โดยเฉพาะการตีความตามบทบัญญัติที่ไม่สื่อสภาพจริงของสังคม         ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า “การประกันภัย สามารถตอบโจทย์การชดเชยเยียวยาผู้ประสบอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ได้ดีกว่าการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาในการได้รับค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งวงเงินคุ้มครองที่เพิ่มสูง ประกอบกับนโยบายของกรมการขนส่งทางบกที่บังคับให้รถโดยสารสาธารณะต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติม ทำให้ผู้ประสบภัยสามารถได้รับการชดชดเชยเยียวยาได้ทันท่วงทีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันมีรถโดยสารที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจเพียง 1 ใน 3 จากจำนวนรถที่จดทะเบียนทั้งหมด จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจและศึกษาผลกระทบของรถที่ไม่ได้ทำประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตามการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายยังคงจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในระบบรถโดยสารสาธารณะที่เหมาะสมต่อไป”         ด้าน ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ถึงแม้ระบบประกันภัยจะรวดเร็ว แต่สุดท้ายเมื่อผู้เสียหายไม่สามารถที่จะได้รับการชดเชยค่าเสียหายในระบบประกันภัยได้ ก็จะต้องกลับเข้าไปสู่ระบบของกระบวนการยุติธรรมอยู่ดี ทั้งนี้ในรายละเอียดยังมีคำถามจำนวนมากเกี่ยวกับการคำนวณ การกำหนดค่าสินไหมทดแทน เช่น ค่าขาดไร้อุปการะ ค่าเสียหายเชิงลงโทษ ค่าเสียหายทางจิตใจ ทายาท ฯลฯ ตลอดจนการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่า กรณีใดบ้างที่บริษัทขนส่งหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วย เพราะมีบางกรณีที่บริษัทขนส่งหลุดจากคดี เนื่องจากอ้างว่ารถที่ผู้เสียหายใช้บริการนั้นเป็นรถเถื่อนทั้งที่ขึ้นในสถานีของทางขนส่งเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 กระแสต่างแดน

ไม่มีเซอร์ไพรซ์        ลูกค้าเว็บจองโรงแรม แอร์บีเอ็นบี ในยุโรป สามารถจองห้องได้อย่างสบายใจ เพราะต่อไปนี้เขาจะแจ้งค่าธรรมเนียมทุกอย่าง (รวมถึงค่าทำความสะอาดและภาษีท้องถิ่น) ไว้ในหน้าแรก         ผู้บริโภคยังจะได้ทราบด้วยว่าเจ้าของห้องพักดังกล่าว เป็นชาวบ้านทั่วไปที่แบ่งห้องให้เช่าหรือผู้ประกอบการด้านที่พักโดยตรง ในกรณีที่เกิดปัญหาก็มีลิงก์ไปยังแพลทฟอร์มที่ผู้บริโภคสามารถส่งเรื่องร้องเรียนได้ทันที         นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถฟ้องร้องต่อศาลในประเทศที่ตนเองอยู่อาศัย และไม่เสียสิทธิในการฟ้องร้อง “เจ้าบ้าน” ในกรณีที่เกิดอันตรายหรือความเสียหายอื่นๆ กับตนเอง             บริษัทบอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใดๆ โดยไม่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบอย่างชัดเจน และไม่ปิดโอกาสผู้ใช้ในการปฏิเสธสัญญา         เหตุที่บริษัทสัญชาติอเมริกันยอมทำตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการยุโรป ก็เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหลายล้านยูโรนั่นเองเค็มแถวหน้า        จีนเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคเกลือสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก งานวิจัยโดยมหาวิทยาลัยควีนแมรี่แห่งลอนดอนพบว่าในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ผู้ใหญ่ชาวจีนบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละมากกว่า 10 กรัม ในขณะที่เด็กวัย 6 ปีขึ้นไป ก็บริโภคเกลือวันละเกือบ 9 กรัม         มีเพียงเด็กเล็กวัย 3 ถึง 6 ปีที่บริโภคเกลือวันละ 5 กรัม (ซึ่งเป็นปริมาณการบริโภคเกลือที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ)         นักวิจัยพบว่าอัตราการบริโภคเกลือในหมู่ประชากรทางเหนือของประเทศมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผักสดให้รับประทานตลอดทั้งปีจึงไม่ต้องพึ่งพาผักดอง         แต่กลับพบการบริโภคเกลือที่สูงขึ้นทางตอนใต้ของประเทศ เพราะผู้คนนิยมรับประทานอาหารแปรรูปและซื้ออาหารนอกบ้านทานมากขึ้น         นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กที่ชอบทานเค็มจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบเค็มด้วย สถิติยังระบุว่าร้อยละ 40 ของสาเหตุการตายในหมู่ประชากรจีนเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและความดันสูงที่เกิดจากการบริโภคเกลือมากเกินไปด้วย  “เมดอินเวียดนาม”        บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน Asanzo ของเวียดนาม มีเรื่องต้องอธิบายผู้บริโภค เมื่อถูกเปิดโปงว่าเครื่องรับโทรทัศน์ที่ “ผลิตในเวียดนาม” ของบริษัท มีส่วนประกอบถึงร้อยละ 80 ที่ผลิตมาจากจีนก่อนหน้านี้ผู้ผลิตกุญแจยี่ห้อ “มินไค” ซึ่งเป็นที่รู้จักของคนเวียดนามมานานกว่า 30 ปี ได้เริ่มนำเข้ากุญแจจากประเทศจีนมาติดฉลากเป็นยี่ห้อตนเอง ประทับตรา “ISO 9000-2000” และ “สินค้าคุณภาพสูงจากเวียดนาม”         ปลายปี 2017 “ไคซิลค์” ก็ออกมายอมรับว่านำเข้าผ้าไหมจากจีนเข้ามาตีตราขายเป็นสินค้าแบรนด์ตัวเองในเวียดนามมาเป็นสิบปีแล้ว ความแตกเพราะลูกค้าที่ซื้อผ้าพันคอไป 60 ชิ้น (ในราคาชิ้นละประมาณ 850 บาท) พบว่าผ้าผืนหนึ่งมีทั้งฉลาก “ผลิตในประเทศจีน” และฉลาก “ผลิตในเวียดนาม”         ทั้งหมดนี้สร้างความขุ่นเคืองให้ผู้บริโภคที่เวียดนามอย่างมาก ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าบอกว่าเรื่องนี้ทำกันทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายย่อย เพราะปัจจุบันไม่มีเกณฑ์ว่าอย่างไรถึงจะเข้าข่ายเป็น “ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง” และ “ผลิตในเวียดนาม”“ไม่เอาหลอด”        กฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะในครัวเรือนทำให้ชาวเซี่ยงไฮ้ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสั่งอาหาร/เครื่องดื่มออนไลน์ เพื่อลดภาระในการคัดแยกขยะ เอเลมี ผู้ให้บริการส่งอาหารบอกว่าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีถึง 4,100 คำสั่งซื้อที่มีข้อความกำกับมาด้วย หนี่งในสี่ของคำสั่งซื้อระบุว่า “ขอซุปน้อยลง” ที่เหลือก็เป็นทำนอง “ขอข้าวน้อย” “ไม่เอาพริกไทยซอง” “แกะย่างไม่เอาไม้เสียบ” เป็นต้น         เหม่ยถวน ผู้ให้บริการอีกเจ้าหนึ่งระบุว่ามีคำสั่งซื้อที่ระบุว่า “ไม่เอาช้อน/ซ้อม/ตะเกียบ” เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงสี่เท่า และ “หลอด” ทั้งที่เป็นกระดาษและพลาสติกก็เป็นที่รังเกียจเช่นกันยกตัวอย่างกรณีชานมไข่มุก หากกินไม่หมดก็ต้องเทน้ำชาลงซิงค์ ทิ้งเม็ดไข่มุกลงในถังขยะเปียก และนำแก้วไปทิ้งในถังรีไซเคิล         เว็บไซต์ Caijing.com พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม 50,000 คน จะเลิกกินชานมเพราะขั้นตอนการแยกขยะที่ยุ่งยากซับซ้อนรอได้ก็เขียวได้         ในทางทฤษฏี อีคอมเมิร์ซเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะการขับรถบรรทุกออกมารอบเดียวแต่ส่งของให้กับผู้คนได้มากมายมันย่อมดีกว่าให้แต่ละคนขับรถไปห้างกันเอง  งานวิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในปี 2012 ก็ยืนยันว่าการสั่งซื้อแบบนี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80         แต่ขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยที่พบว่าถ้ารถส่งของนำสินค้าไปส่งให้ผู้สั่งซื้อน้อยกว่า 6 รายต่อเที่ยว มันจะไม่ช่วยอะไร ยิ่งถ้าต้องนำส่งแบบทันทีโดยไม่รอรวมกับใครก็ยิ่งแล้วใหญ่ เฉลี่ยแล้วถ้ารถต้องออกไปโดยมีของส่งเพียงหนึ่งชิ้น ปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจะมากกว่ากรณีที่มีของเต็มรถถึง 35 เท่า         นอกจากนี้ผู้บริโภคยังไม่รู้ถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในการเลือกรับสินค้า “ภายในวันเดียว” เนื่องจากเห็นว่าเป็นบริการฟรี (เพราะบริษัทแบกรับต้นทุนไว้) ทั้งที่อาจจะไม่ได้รีบใช้        ผู้เชี่ยวชาญเสนอทางออกเป็นปุ่ม “จัดส่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ให้ผู้บริโภคเลือกคลิก เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าผู้บริโภคกว่าร้อยละ 50 ยินดีที่จะรอ หากช่วยลดภาระต่อสิ่งแวดล้อมได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 รู้เท่าทันเกลือหิมาลัย

         ในเว็บไซต์เพื่อสุขภาพจะมีการโฆษณาเกลือหิมาลัย หรือเกลือหิมาลายัน หรือเกลือสีชมพู ว่าเป็นสุดยอดของเกลือในโลก มีประโยชน์สารพัดในการดูแลรักษาสุขภาพ ใช้ได้ทั้งการปรุงรสอาหาร การกินเป็นยา การอาบหรือแช่น้ำเกลือ จนถึงการใช้เป็นโคมไฟที่จะปล่อยประจุไฟฟ้าที่ดีต่อสุขภาพ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ          เกลือหิมาลัยเป็นเกลือภูเขา มาจากรัฐปัญจาบ ประเทศปากีสถาน เกลือหิมาลัยมีอายุเก่าแก่ 100-200 ล้านปี มีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายเกลือทะเล ประกอบด้วยโซเดียมคลอไรด์ร้อยละ 98 ที่เหลือเป็น โพแทสเซียม แมกนีเซียม และแคลเซียม ทำให้มีสีชมพูอ่อน ซึ่งทำให้เกลือหิมาลัยมีรสชาติแตกต่างจากเกลือทะเล          ผู้คนใช้เกลือหิมาลัยเหมือนเกลือทะเลคือ ใช้ปรุงอาหาร ปรุงรส และถนอมอาหาร แผ่นหรือก้อนเกลือใช้เป็นจานใส่อาหาร เขียง บางคนใช้อาบในน้ำเกลือ และมีการใช้ก้อนเกลือหิมาลัยมาทำเป็นตะเกียงหรือโคมไฟ เกลือหิมาลัยคืออะไรการโฆษณาสรรพคุณของเกลือหิมาลัย         มีการโฆษณาประโยชน์ของเกลือหิมาลัยอย่างมากมาย ที่นิยมมากได้แก่ การช่วยระบบไหลเวียนของเลือด เยียวยาระบบทางเดินหายใจ ปรับสมดุลภาวะกรดด่างของร่างกาย ชะลอความแก่ ทำให้นอนหลับดีขึ้น เพิ่มพลังทางเพศ ป้องกันตะคริว เพิ่มน้ำในร่างกาย ทำให้กระดูกแข็งแรง ลดความดันเลือด ขับโลหะหนักออกจากร่างกาย ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น เป็นต้น เกลือหิมาลัยมีประโยชน์จริงหรือไม่        มีเอกสารและงานวิชาการจำนวนมากที่คัดค้านการกล่าวอ้างประโยชน์ของเกลือหิมาลัย เช่นการโฆษณาว่า มีแร่ธาตุต่างๆ ถึง 84 ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้เท่าทันหลงเชื่อว่า ยิ่งมีแร่ธาตุมากยิ่งดี ร่างกายต้องการสารอาหารมากขึ้น ที่จริงแล้ว สารต่างๆ ที่โฆษณานั้น มีเพียง 15 ชนิดเท่านั้นที่มีประโยชน์ อีก 7 ชนิด อาจมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่ก็พบจำนวนน้อยมากจนอาจไม่พบ นอกจากนี้ยังมีแร่ธาตุที่เป็นอันตราย เช่น ปรอท ยาฆ่าหนู ตะกั่ว และมีสารกัมมันตรังสี เช่น เรเดียม ยูเรเนียม เป็นต้นโคมไฟเกลือหิมาลัยที่ขายกันอย่างแพร่หลายโดยเชื่อว่า เกลือจะจับไอน้ำและมลพิษต่างๆ ในอากาศ ทำให้อากาศบริสุทธิ์ ยังไม่พบว่ามีหลักฐานวิชาการที่น่าเชื่อถืองานวิจัยต่างๆ ที่กล่าวอ้างถึงประโยชน์ของเกลือหิมาลัยนั้น ไม่มีคุณภาพ และไม่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือ หนังสือที่ตีพิมพ์ก็ยังขาดหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน        ที่สำคัญ งานวิจัยที่น่าเชื่อถือทั้งใน PubMED และสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า การลดการบริโภคเกลือทะเลนั้นจะทำให้ความดันเลือดลงอย่างแน่นอน ดังนั้นการบริโภคเกลือหิมาลัยนั้นจะทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นเช่นเดียวกับเกลือทะเล          สรุป  ประโยชน์ของเกลือหิมาลัยที่กล่าวอ้างกันว่าเป็นเกลือที่บริสุทธิ์ที่สุด มีประโยชน์สารพัด จึงเป็นเรื่องที่ไม่จริง ไม่มีหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือรองรับ เกลือหิมาลัยนั้นมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตราย การกินเกลือหิมาลัยจำนวนมากจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เครื่องดื่มเกลือแร่ “หวาน” แค่ไหนกัน

อย่างที่เรารู้กันดีว่าเครื่องดื่มเกลือแร่ มีไว้สำหรับผู้ที่สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะสามารถช่วยชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่ร่างกายสูญเสียไปในระหว่างการออกกำลังกายได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันเครื่องดื่มเกลือแร่หลายยี่ห้อได้ปรับภาพลักษณ์สินค้าใหม่ กลายเป็นเครื่องดื่มที่สามารถดื่มได้แม้ไม่เสียเหงื่อ (Functional drink) โดยมีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ รวมทั้งน้ำตาลลงไป เพื่อปรับรสชาติให้ถูกปากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่ดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นประจำ เสี่ยงต่อการได้รับปริมาณน้ำตาลมากเกินความต้องการในแต่ละวันฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้สำรวจปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มเกลือแร่ จากยี่ห้อยอดนิยมตามท้องตลาด จำนวน 14 ยี่ห้อ ซึ่งเจ้าไหนจะใส่น้ำตาลมากน้อยกว่ากัน เรามาดูผลทดสอบกันเลย  สรุปผลการทดสอบจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า- ร้อยละ 50 หรือ 7 ยี่ห้อ พบมีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 25 - 38.5 กรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำตาลที่เราควรได้รับต่อวันคือ 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา ได้แก่ 1.สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) มีปริมาณน้ำตาล 38.5 กรัม 2.เกเตอเรด กลิ่นมะนาว มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 3.เอ็มสปอร์ต มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม 4.สปอนเซอร์ ออริจินัล มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 5.สตาร์ท พลัส มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม 6.ซันโว มีปริมาณน้ำตาล 26 กรัม และ 7.สปอนเซอร์ บีเฟรช มีปริมาณน้ำตาล 25 กรัมยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดคือ สปอเรต (กลิ่นมิกซ์ฟรุท) ยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุดคือ พอคคา สปอร์ต วอเตอร์- เครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้ง ได้แก่ ยี่ห้อ ออราส, สตรอง-เค และ รอแยล-ดี มีการระบุปริมาณปริมาณกลูโคสและซูโครส ตรงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 คือ น้ำตาลกลูโคสหรือฟรุคโตส ไม่น้อยกว่าร้อยละ 2 ของน้ำหนัก หรือซูโครสไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของน้ำหนักข้อสังเกตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 195) พ.ศ.2543 นิยามความหมายของเครื่องดื่มเกลือแร่ว่า เครื่องดื่มที่มีเกลือแร่เป็นส่วนประกอบหลัก และหมายความรวมถึงเครื่องดื่มเกลือแร่ชนิดแห้งด้วย รวมทั้งไม่ให้ใช้วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลในเครื่องดื่มดังกล่าว นอกจากนี้ในการแสดงฉลากเครื่องดื่มเกลือแร่ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง ฉลาก โดยต้องมีข้อความแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ ด้วยตัวอักษรขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร เห็นได้ชัดเจนในกรอบสี่เหลี่ยม สีแดง พื้นขาว 1.เด็กและทารกไม่ควรรับประทาน 2.เฉพาะผู้สูญเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย 3.ไม่ควรรับประทานเกินวันละ … หน่วย (ความที่เว้นไว้ให้ระบุจำนวนหน่วยที่ควรบริโภค ทั้งนี้จำนวนดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วจะต้องไม่เกินวันละ 1 ลิตร)อย่างไรก็ตามจากตัวอย่างเครื่องดื่มเกลือแร่ที่เรานำมาทดสอบทั้งหมด 14 ยี่ห้อ พบว่า -มีเพียง 9 ยี่ห้อที่เป็นเครื่องดื่มเกลือแร่ตรงตามประกาศข้างต้น ได้แก่ ยี่ห้อ 1.เกเตอเรด (กลิ่นมะนาว) 2.เอ็มสปอร์ต 3.สปอนเซอร์ (ออริจินัล) 4. สตาร์ท พลัส (เครื่องดื่มเกลือแร่ผสมซิงค์) 5.ซันโว (กลิ่นบลู พั้นซ์) 6.พอคคา สปอร์ต วอเตอร์ 7.ออราส 8.สตรอง-เค (ถาวร) และ 9.รอแยล-ดีตัวอย่างที่เหลืออีก 5 ยี่ห้อ แม้จะมีส่วนผสมของเกลือแร่ (โซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์) แต่อาจไปเข้าข่ายเป็นเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงค์ (Functional drink) หรือ เครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินหรือสารอาหารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพลงไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ยี่ห้อที่มีการโฆษณาว่า ใช้วัตถุอื่นให้ความหวานแทนน้ำตาล ได้แก่ 1. ยี่ห้อ100 พลัส โฆษณาว่าใช้สตีวิออลไกลโคไซตด์ เป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล 2.สปอนเซอร์ บีเฟรช โฆษณาว่าใช้ซูคราโลสเป็นวัตถุที่ให้ความหวานแทนน้ำตาล และอีก 3 ยี่ห้อที่เหลือ ได้แก่ 1.เจเล่บิวตี้ ระบุว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้รสองุ่นขาว ผสมคาราจีแนน คอลลาเจนและเกลือแร่ 2.สปอเรต ระบุว่าเป็นน้ำรสองุ่น และ 3.อควาเรียส ระบุว่าเป็นน้ำผลไม้รวม----------------------------------------------------------------------------------เกลือแร่สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 1. เกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย (Oral Rehydration Salt หรือ ORS) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำจากอาการท้องเสีย ซึ่งร่างกายจะขาดน้ำและเกลือแร่ทันที ทำให้เกลือแร่ชนิดนี้มีส่วนประกอบของเกลือแร่หรือโซเดียมสูง และ2.เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (Oral Rehydration Therapy หรือ ORT) เหมาะสำหรับผู้ที่เสียน้ำหรือเหงื่อจากการออกกำลังกาย ซึ่งร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก โดยจะเสียเกลือแร่ในปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นเกลือแร่ชนิดนี้จะมีปริมาณน้ำตาลสูง อย่างไรก็ตามสำหรับเครื่องดื่มเกลือแร่บางยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เราสามารถผสมน้ำเปล่าเพื่อเจือจางความเข้มข้นของความหวานลงได้----------------------------------------------------------------------------------เรา (ไม่) จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เมื่อเราออกกำลังกาย ร่างกายจะมีการขับเหงื่อเพื่อระบายความร้อน ซึ่งส่วนประกอบของเหงื่อ คือ น้ำกว่าร้อยละ 99 ที่เหลือร้อยละ 1 คือ โซเดียมคลอไรด์ โพแทสเซียม แมกนีเซียม เหล็กหรือกรดอะมิโนบางชนิด ดังนั้นเมื่อเราเสียเหงื่อ จึงควรชดเชยน้ำให้กับร่างกายเป็นอันดับแรก ซึ่งการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาถือว่าเพียงพอแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่สูญเสียน้ำในปริมาณมากและต่อเนื่อง หรือนักกีฬาที่ออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น วิ่งมาราธอน ขี่จักรยานไกล หรือว่ายน้ำระยะไกล อาจจำเป็นที่ต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เนื่องจากในเครื่องดื่มดังกล่าวมีส่วนประกอบของ น้ำตาลกลูโคสและโซเดียม/โพแทสเซียมคลอไรด์ ซึ่งช่วยให้น้ำเข้าสู่เซลล์ได้เร็วขึ้น----------------------------------------------------------------------------------ผู้นำตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ คือ ยี่ห้อสปอนเซอร์ ครองส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 80% ส่วนที่เหลือแบ่งเป็นยี่ห้อ เอ็มสปอร์ต 12% และยี่ห้อ ซันโว 8% โดยสำหรับผู้ที่ดื่มเครื่องเกลือแร่มากที่สุด 70% คือกลุ่มผู้แรงงาน ตามด้วยผู้ออกกำลังกาย 30% ทั้งนี้ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ของประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีมูลค่ารวม 4,500 ล้านบาทข้อมูลอ้างอิง: ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่195) พ.ศ.2543 เรื่อง เครื่องดื่มเกลือแร่ http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P195.pdf , ตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ http://marketeer.co.th/archives/43534

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 182 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนเมษายน 2559“สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” เตือนระวังพวกแอบอ้าง“สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน” เตือนผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลผู้รับเหมาสร้างบ้านให้ชัดเจนว่าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จริงหรือไม่ก่อนตัดสินใจทำสัญญา หลังพบบริษัทรับสร้างบ้านนอกสมาคมฯ แอบนำโลโก้สมาคมฯ ไปใช้เพื่อหวังผลทางธุรกิจ นายพิชิต อรุณพัลลภ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า เจตนารมณ์ในการจัดตั้งสมาคมฯเพราะต้องการยกระดับบริษัทรับสร้างบ้านทั้งในและนอกสมาคมฯ ให้ยึดมั่นในความสุจริต มีความเป็นมืออาชีพในการให้บริการ มีความน่าเชื่อถือ และพัฒนาในการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้จัดทำสัญญามาตรฐานขึ้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้สำหรับเปรียบเทียบกับบริษัทรับสร้างบ้านที่ใช้บริการ ป้องกันบริษัทรับสร้างบ้านที่หวังเอาเปรียบผู้บริโภค การที่บริษัทนอกสมาคมฯ นำโลโก้ของสมาคมไปแอบอ้าง แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีเจตนาหลอกลวง จงใจทำทุจริต ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการได้รับการบริการที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งขณะนี้ทางสมาคมได้ออกหนังสือเพื่อแจ้งไปยังบริษัทที่แอบอ้างให้ปลดโลโก้ออก เพราะสิทธิในการใช้โลโก้เฉพาะบริษัทที่เป็นสมาชิกเท่านั้น การนำโลโก้ไปแอบอ้างโดยไม่ได้รับอนุญาติถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ผู้บริโภคต้องการตรวจสอบว่าบริษัทที่จะว่าจ้างให้ปลูกสร้างบ้านให้นั้นเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จริงหรือไม่ สามารถที่จะหาข้อมูลได้ที่ เว็บไซต์ www.hba-th.org   อย่ากินเกลือแร่สำหรับคนเล่นกีฬาตอนท้องร่วงยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเรื่องการบริโภคน้ำเกลือเพื่อแก้อาการอุจจาระร่วง หลายคนเลือกซื้อเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับผู้เสียเหงื่อจากการออกกำลังกายมาดื่มเมื่อท้องเสีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เกลือเเร่ที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไปมี 2 ประเภท คือ 1.เกลือแร่สำหรับคนที่ท้องเสีย (ORS) กับ 2.เกลือแร่สำหรับผู้ที่เสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย (ORT) เมื่อเกิดการสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสีย ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือเเร่แบบทันที ร่างกายจึงต้องการเกลือเเร่และน้ำมาทดเเทน ควรจิบเกลือเเร่ ORS แต่ถ้าสูญเสียน้ำจากการออกกำลังกาย ร่างกายจะเสียน้ำและน้ำตาลเป็นหลัก ดังนั้นร่างกายจึงต้องการน้ำและน้ำตาลเพื่อมาทดเเทนในส่วนที่สูญเสียไป ควรดื่มเกลือเเร่ ORT การดื่มเกลือแร่สำหรับผู้ออกกำลังกายหรือเกลือแร่ ORT ในเวลาที่ท้องเสีย ร่างกายจะได้รับแค่น้ำกับน้ำตาล ไม่ได้รับเกลือแร่ ซึ่งร่างกายจะดึงน้ำตาลเข้าสู่ทางเดินอาหารจะส่งผลให้ลำไส้บีบตัวมากขึ้นกระตุ้นให้ยิ่งถ่ายมากขึ้นอีก ข้อมูลการเฝ้าระวังจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 21 มีนาคม 2559 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 245,988 คน เตรียมคุมเข้มสถานบริการดีท็อกซ์ในโซเชียลมีเดียได้มีการโพสต์กรณีที่คนเสียชีวิตจากการล้างพิษหรือดีท็อกซ์กับสถานปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากหักโหมกับการทำดีท็อกซ์มากเกินไป มีการอดอาหารและดื่มแต่น้ำสมุนไพรที่อ้างว่าเป็นสูตรการกินเพื่อล้างพิษ ซึ่งการล้างพิษที่อ้างว่าเป็นการล้างสำไส้เพื่อให้ร่างกายได้ขับถ่ายสารพิษออกไปนั้น  หากทำมากเกินไปจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ขาดสมดุล อาจส่งผลให้หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดอาการช็อก เป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ในที่สุด จากเหตุการณ์ดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น  กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ต่างก็รีบออกมาแจ้งเตือนและตรวจสอบทันที โดยปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ควบคุมดูแลสถานประกอบการที่มีบริการล้างพิษทำดีท็อกซ์ จึงทำให้มีสถานที่ต่างๆ ที่โฆษณาว่ามีการให้บริการทำล้างพิษดีท็อกซ์ ทั้งตามบ้านเรือนทั่วไป หรือตามวัดต่างๆ โดยที่ไม่มีมาตรฐานและข้อกำหนดควบคุมใดๆ ทั้งสิ้น ล่าสุดกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ผลักดัน “พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559” ซึ่งเป็นกฎหมายที่จะคอยควบคุมดูแลธุรกิจสปา การนวด รวมไปถึงศูนย์บำบัดและการล้างพิษต่างๆ ที่ต่อไปต้องมีการขึ้นทะเบียนกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก่อนเปิดบริการ และจะต้องมีการควบคุมเรื่องการโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ให้เป็นไปในลักษณะโอ้อวดเกินจริง เช่นเดียวสถานบริการด้านสุขภาพประเภทอื่นๆ “น้ำมะเขือเทศกล่อง” ไม่ใช่ต้นเหตุของโรคไต แต่ระวังเรื่องน้ำตาล    “น้ำมะเขือเทศ” กำลังเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมโดยเฉพาะกับคนที่รักสุขภาพ เห็นได้จากการที่มีผลิตภัณฑ์น้ำมะเขือเทศบรรจุกล่องพร้อมดื่มหลากหลายยี่ห้อผลิตออกมาวางขายเอาใจคนรักสุขภาพเป็นจำนวนมาก แต่การดื่มน้ำมะเขือเทศพร้อมดื่มยังไงคุณค่าทางอาหารที่ได้รับก็สู้การกินมะเขือเทศสดไม่ได้ แถมมีสิทธิได้รับน้ำตาลมากเกินไปด้วย     รศ.ดร.รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ ม.มหิดล กล่าวว่า มะเขือเทศถือเป็นผลไม้ที่มีสารอาหารที่มีประโยชน์อยู่มาก โดยมะเขือเทศ 1 ถ้วยตวง มีน้ำค่อนข้างมาก คือ ประมาณ 124 กรัม ให้แบตาแคโรทีนและลูทีน มีสารต้านอนุมูลอิสระ ให้วิตามินซีประมาณ ร้อยละ 26 ใยอาหาร ร้อยละ 3 โพแทสเซียม ร้อยละ 6 ทองแดง ร้อยละ 5 ฟอสฟอรัส ร้อยละ 4 และแมกนีเซียม ร้อยละ 3 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคใน 1 วัน แต่หากบริโภคน้ำมะเขือเทศกล่องจะได้สารอาหารน้อยกว่า แถมยังมีน้ำตาลมากกว่า เพราะเชื่อว่าน้ำมะเขือเทศบรรจุกล่องไม่ได้คั้นสด อาจจะทำโดยการนำผงมาละลายแล้วผสมน้ำตาลลงไปทำให้ได้ประโยชน์ของมะเขือเทศน้อย     ส่วนที่มีข่าวลือในโซเชียลมีเดียว่ากินน้ำมะเขือเทศติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดโรคไตนั้น รศ.ดร.รัชนี กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง เพราะมะเขือเทศไม่ก่อให้เกิดโรคไต แต่มาจากพฤติกรรมการกินโดยรวมที่อาจกินเค็มมากเกินไป   ร้อง กสทช. ตรวจสอบ แจส โมบาย ทิ้งใบอนุญาต 4Gจากกรณี บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ตัดสินใจทิ้งใบอนุญาต 4G คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และยอมให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก 8,040 ล้านบาท จากราคาประมูลทั้งหมด 75,654 ล้านบาท เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มีความกังวลว่าการทิ้งใบอนุญาต 4G ของบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด จะทำความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศ ทางเครือข่ายฯ จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เพื่อให้ตรวจสอบ 2 ประเด็นดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบบริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด ว่าการทิ้งใบประมูลเป็นการกระทำในลักษณะการฮั้วประมูลหรือไม่ ให้ กสทช.เร่งดำเนินการตรวจสอบว่าเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐหรือไม่ 2.ขอให้ กสทช.เร่งประมูลคลื่นใหม่โดยเร็ว เพื่อให้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้บริโภคและการพัฒนาประเทศ เพราะยิ่งทิ้งคลื่นไว้นานโดยไม่มีการนำมาจัดสรรอย่างถูกต้อง ประเทศก็มีแต่จะเสียประโยชน์ รัฐขาดรายได้ ผู้บริโภคไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ที่เป็นตัวแทนมารับหนังสือในครั้งนี้ กล่าวว่าที่ประชุม กสทช.มีมติกำหนดราคาประมูลรอบใหม่ เริ่มต้นที่ราคาเดิมที่บริษัท แจส โมบาย เคาะราคาไว้คือ 75,654 ล้านบาท และกำหนดวันเคาะราคาประมูล วันที่ 24 มิ.ย.นี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 รู้เท่าทันการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

ปัจจุบัน เวลาที่เด็กๆ เป็นหวัด หรือคัดจมูกจากโรคภูมิแพ้ เมื่อไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน มีแพทย์แผนปัจจุบันหลายท่านแนะนำให้ทำการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อที่จะชะล้างฝุ่นละอองที่ติดค้างในช่องจมูกออกไป จะลดการแพ้อากาศได้  การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนั้นมีที่มาจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย     การล้างจมูกด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำเกลือหรือล้างด้วยน้ำเกลือนั้นช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัด คัดจมูก หรือช่วยให้ผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่หายเร็วขึ้นจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะความเป็นมา    โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน ได้แก่ ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อของคอหอย จมูก หรือไซนัส  ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการติดเชื้อไวรัสและหายได้เอง  แม่ว่าอาการอาจยังคงมีอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังจากการติดเชื้อหายแล้วก็ตาม  การรักษาอาการไข้หวัดจึงเน้นการบรรเทาอาการ ลดอาการไอ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือฉีดพ่นละอองน้ำเกลือได้เป็นวิธีการรักษาที่นิยมมากขึ้นในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน  และมีการพบว่ามีประสิทธิผลสำหรับไซนัสโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง  อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลันหรืออาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย        ทางห้องสมุดโคเครนได้ค้นหาการศึกษางานวิจัยใน CENTRAL (2014, Issue 7), MEDLINE (1966 to กรกฎาคม สัปดาห์ที่ 5, 2014), EMBASE (1974 - สิงหาคม 2014), CINAHL (1982 -สิงหาคม 2014), AMED (1985 – สิงหาคม 2014) and LILACS (1982 – สิงหาคม 2014)  พบว่า มี 5 รายงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 749 รายและมีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ให้ข้อมูลที่ตอบคำถามงานวิจัยและเข้าเกณฑ์คัดกรองเป็นเด็ก 544 ราย (การศึกษา 3 รายงาน) ผู้ใหญ่ 205 ราย (การศึกษา 2 รายงาน) ทั้งหมดเปรียบเทียบการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือกับการรักษาทั่วไปหรือการพ่นจมูกอื่นๆ  การศึกษาเหล่านี้ได้ครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวางของอายุ  ขนาดตัวอย่าง  วิธีการที่กำหนดขนาดของสิ่งที่ใช้และความถี่ และระยะเวลาตั้งแต่เกิดอาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน  มีความแตกต่างในการออกแบบและอาการที่ใช้ในการวัดหรือประเมิน  ทั้งนี้เนื่องจากการขาดการตรวจวัดอาการและสิ่งตรวจพบที่เชื่อถือได้หรือคงที่  ทำให้ผลลัพธ์ที่ใช้ร่วมกันได้มีน้อยเมื่อนำผลศึกษามาวิเคราะห์ร่วมกัน  หลักฐานจากการศึกษาสำเร็จในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2014ผลการศึกษา    มีการนำรายงานการศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 รายงานเนื่องจากการทบทวนอย่างเป็นระบบแรกเริ่มไม่มีข้อมูลเพียงพอทั้งขนาดหรือคุณภาพ  เฉพาะการศึกษาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งศึกษาเด็ก 401 ราย อายุระหว่าง 6-10 ปี  พบว่ามีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในด้านอาการ ได้แก่ น้ำมูกไหล เจ็บคอ คะแนนการหายใจและการอุดตันของรูจมูก  รวมทั้งการลดการใช้ยาลดน้ำมูกหรืออาการคัดจมูก  นอกจากนี้ยังมีการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของคะแนนสถานะสุขภาพ  มีการลดลงของเวลาในการฟื้นหรือหายจากอาการไข้หวัด ซึ่งมีรายงานในการศึกษาที่เป็นผู้ใหญ่ 2 รายงาน แต่ไม่มีความแตกต่างที่สำคัญในทางคลินิก  การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือมีความปลอดภัย แต่อาจมีการระคายเคืองหรือแสบๆ เล็กน้อย โดยเฉพาะถ้าใช้อุปกรณ์ที่มีแรงฉีดสูงหรือน้ำเกลือเข้มข้นสรุป    ผู้ทบทวนได้สรุปว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออาจมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน  อย่างไรก็ตาม การศึกษามีขนาดเล็กเกินไปและมีความเสี่ยงสูงในการมีอคติ ทำให้ลดความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่สนับสนุน  การศึกษาในอนาคตควรมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่านี้และรายงานตัวชี้วัดที่ได้มาตรฐานและมีความหมายทางคลินิกหมายเหตุ  ศึกษาเพิ่มเติมใน Cochrane Database Syst Rev. 2015 Apr 20;4:CD006821. doi: 10.1002/14651858.CD006821.pub3.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 142 ประโยชน์จากเกลือ ตอน 2

ดังได้ร่ายยาวย้อนยุคไว้ในคราวก่อนว่า เกลือไม่ได้เค็มอย่างเดียว เกลือยังเป็นยาสมุนไพรที่ดีถ้ารู้จักใช้  ซึ่งได้นำเอาความรู้ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่พูดถึงเกลือเป็นยาไว้ 5 ประเภท คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และเกลือวิก ซึ่งได้สาธยายไว้แล้วถึงเกลือสินเธาว์ (ตามหาอ่านฉบับก่อน) แต่ขอกล่าวย้ำถึงวิธีเตรียมเกลือ ที่เป็นรากฐานในการปรุงยาจากเกลือที่เหลืออีก 4 ประเภทไว้ที่นี้อีกครั้ง คือ เอาเกลือสมุทรมาตำให้ละเอียด เอาน้ำใส่พอสมควร แล้วนำไปต้มด้วยหม้อหม้อดินให้แห้ง แล้วสุมไฟจนหม้อแดง แล้วนำเกลือที่ได้มาแบ่งเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนนำมาปรุงเป็นเกลือแต่ละประเภท มาถึงเกลือพิก(บ้างที่เขียนว่าเกลือพริก) นำเกลือที่เตรียมและแบ่งไว้แล้ว มากวนผสมกับน้ำผึ้ง ใช้ความอดทนหน่อย เพราะต้องกวนไปเรื่อยๆ ประมาณว่า 3 วัน เกลือกับน้ำผึ้งจะเข้ากันจนแห้ง เกลือพิกจะมีรสขมเผ็ด (จึงเรียกตามรสเผ็ดของพริก) มีสรรพคุณเด่น ช่วยให้ลำคอชุ่มชื่น ช่วยให้เสียงดีไม่แหบแห้ง เกลือฝ่อ นำเกลือที่เตรียมไว้แล้วเช่นกัน มากวนกับน้ำนมวัวและน้ำมันงา กวนไปเรื่อยๆ ประมาณ 3 วัน เกลือกวนจะแห้ง เกลือฝ่อมีรสยาสมุนไพร รสเค็มมัน สรรพคุณแต่โบราณว่าใช้บำรุงธาตุไฟ แก้กุมารพรรดึกหรือแก้อาการท้องผูกให้กับเด็ก แก้อาการมูกเลือดด้วย   เกลือสมุทรี นำเกลือที่เตรียมไว้ แต่เกลือชนิดนี้คนรุ่นใหม่อาจตั้งข้อรังเกียจเพราะตำราโบราณท่านให้เอากวนกับเยี่ยววัว โบราณท่านถือว่าเป็นการปรุงยา เมื่อกวนไป 3 วัน เกลือนี้มีรสหวาน ใช้แก้ท้องผูก แก้อาการระส่ำระสาย บำรุงธาตุทั้งสี่ บำรุงน้ำเหลือง เป็นต้น เกลือวิก ประเภทสุดท้าย นำเอาเกลือที่เตรียมไปกวนกับสุราให้แห้งใน 3 วันเช่นกัน เกลือนี้มีรสเค็มร้อน สรรพคุณ แก้อาการท้องมาน แก้ไส้พองท้องใหญ่ และช่วยให้ชุ่มชื้น  อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ หลายคนรู้สึกว่าเข้าใจยากเพราะเป็นความรู้ที่สืบทอดมาและใช้ในภาษาโบราณ ขณะนี้ผู้รู้หลายท่านกำลังศึกษาเพื่อสื่อสารกับคนรุ่นปัจจุบัน หากมีความคืบหน้าจะนำมาเล่าสู่กันฟังต่อไป อย่างไรเสียเกลือแกงหรือเกลือสมุทรที่คุ้นเคยนั้น สามารถนำมาเป็นยาใกล้ตัวถ้ารู้จักใช้ เช่น แก้ตะคริว เพียงละลายน้ำเกลือดื่ม หรือก่อนลงว่ายน้ำถ้าได้ดื่มน้ำเกลือก็ช่วยป้องกันการเกิดตะคริวได้ แก้คลื่นไส้ และเมาสุรา ใช้เกลือ 1/2 ช้อนกาแฟต่อน้ำ 1 แก้ว ผสมกันแล้วดื่ม  แก้แผลปากเปื่อย หรือแผลร้อนในในปาก ให้ใส่เกลือบริเวณแผลแล้วอมไว้ ตอนแรกจะรู้สึกแสบ แต่ครั้งต่อไปจะดีขึ้น และแผลหายได้เร็ว  แก้เป็นลม หรืออ่อนเพลีย ใช้เกลือละลายกับน้ำร้อนหรือน้ำเย็นก็ได้ดื่ม ช่วยแก้อาการเป็นลม หน้ามืด วิงเวียน ตาลายได้ผลดี  และใช้ แก้เผ็ด (ไม่เกี่ยวกับบาดหมางใครแล้วเอาคืนนะ) แต่กินอาหารรสเผ็ดๆ จนรู้สึกแสบที่ปาก ให้ลองอมเกลือแล้วทิ้งไว้สักครู่ช่วยคลายเผ็ดและร้อนที่ปากได้ดี ขอย้ำว่าใช้เกลือเพื่อเป็นสมุนไพร ไม่แนะนำให้ใช้เกลือปรุงอาหารมากเกินไป เพราะเกลือมีผลต่อความดันโลหิต จึงควรใช้ด้วยความพอดี  ไม่ใช่เพราะ “เกลือ เค็ม แต่ดี” แต่ที่ถูกต้องคือ “เกลือ เค็ม ใช้แต่พอดี”.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 141 น้ำไป แล้งมา มารู้จักใช้ประโยขน์จาก เกลือ ดีกว่า

หายลุ้น หายใจได้ทั่วท้อง เพราะฟ้าฝนไม่หนักเท่าปีกลาย ภาคกลางโดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ (กลัวน้ำ) รอดพ้นภัยพิบัติจากน้ำไปได้อีกปี ที่หนักกว่ากำลังมาคือ น้ำแล้งในพื้นที่เกษตรกรรม เหมือนเพลงที่ขับขานว่า “น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง....” เมื่อทำท่าแล้งผืนดินแห้ง เลยนึกถึงประโยชน์จากเกลือเค็มๆ ขึ้นมาว่ามีประโยชน์อย่างไร ? โดยเฉพาะในมุมยาสมุนไพร เกลือมีประโยชน์เหลือหลาย แม้ว่าวงการสุขภาพในปัจจุบันพบว่า การบริโภคเกลือ(อาหารรสเค็มๆ) มีความสัมพันธ์กับความดันโลหิตสูงในร่างกาย แต่เกลือที่จะแนะนำต่อไปนี้ ไม่ใช่นำมาปรุงอาหารกินกันทุกมื้อทุกวัน จึงไม่ต้องกลัวความดันโลหิตกำเริบ อันดับแรก ความรู้เชยๆ ดูโบร้านโบราณแต่ใช้ดีข้ามกาลเวลา คือ เกลือเป็นยาสีฟัน รักษาเหงือและฟันอย่างดี ไม่เชื่อก็ต้องร้องเรียกให้ อย.(คณะกรรมการอาหารและยา) สั่งให้ยาสีฟันยี่ห้อหนึ่งหยุดโฆษณา แต่ใครที่เคยลองแปรงฟันด้วยเกลือย่อมรู้ดีว่าฟันสะอาด แม้ว่าไม่มีฟองและรสกลิ่นหอมชื่นใจก็ตาม ยิ่งใครเคยลองยาสีฟันผงข่อยผสมเกลือ ยิ่งรู้ดีว่ายาสีฟันโบราณนั้นรักษาเหงือกและฟันดีจริงๆ   ที่อยากแนะนำในที่นี้ คือ สรรพคุณเกลือในตำรายาไทย โดยเฉพาะตำราสรรพคุณยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งท่านได้รับการยกย่องจากยูเนสโกเมื่อ ปี 2541 ให้เป็นบุคลสำคัญของโลก ตำราที่ท่านเขียนถึงประโยชน์และโทษของสมุนไพรไทย ไว้ 166 ชนิด ถือเป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่ เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ แจกแจง และวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด ในตำรับยาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท พูดถึงเกลือที่ใช้เป็นยามี 5 ประเภท คือ เกลือสินเธาว์ เกลือพิก เกลือฝ่อ เกลือสมุทรี และเกลือวิก (อ่านแล้วมึนตึ้บไหมหละ) ไม่ต้องตกใจ เกลือแต่ละชนิดเกิดจากการปรุงที่แตกต่างกัน เริ่มจากให้เอาเกลือสมุทรมาตำให้ละเอียด เอาน้ำใส่พอสมควร แล้วนำไปต้มด้วยหม้อหม้อดินให้แห้ง แล้วสุมไฟจนหม้อแดง แล้วนำเกลือที่ได้มาแบ่งเป็น 5 ส่วน แต่ละส่วนนำมาปรุงเป็นเกลือแต่ละประเภท ประเภทแรก เกลือสินเธาว์ ได้จากเกลือที่เตรียมไว้ 1 ส่วนแล้วมาผสมน้ำนมวัว 1 ส่วน นำไปเคี่ยวไปจนแห้งประมาณ 3 วัน เกลือสินเธาว์ ที่ใช้เวลาปรุงเป็นยานี้ ใช้แก้โรค 3 อาการ คือ 1) พรรดึก (อ่านว่า พันระดึก) หมายถึงอาการท้องผูกมาก มีอุจจาระเป็นก้อนแข็งคล้ายขี้แพะ ใครท้องผูกขั้นรุนแรงลองใช้ระบายท้องดู 2) แก้ระส่ำระสาย หมายถึงอาการที่เกิดจากการหมุนเวียนของโลหิตไม่ปกติ ทำให้เกิดความผิดปกติของลมในร่างกายทำให้เกิดอาการระส่ำระสาย และ 3) แก้ตรีโทษ คือ โรคที่เกิดจากปิตตะ วาตะและเสมหะร่วมกัน ใครเป็นตรีโทษมีทั้งอาการเบาไปจนหนัก คือ ธาตุในร่างกายแปรปรวนขาดสมดุลมาก ตำราโบราณท่านก็ว่าไว้ให้ใช้เกลือสินเธาว์ได้ และเกลือประเภทนี้ยังใช้แก้นิ่วด้วย น่าเสียดายหน้ากระดาษหมด โปรดกลืนน้ำลายคอยเกลือเค็มๆ ฉบับต่อไป.  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 89 เมื่อน้ำส้มจะทำร้ายนางเอก

น้ำผลไม้ในความคิดของผู้บริโภคส่วนใหญ่ คือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะต่างก็รู้ว่า ผลไม้นั้นมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะน้ำส้มคั้นเป็นน้ำผลไม้ที่นิยมกันมาก ขนาดนางเอกหนังไทยต้องสั่งมาดื่มทุกครั้งที่มีฉากในร้านอาหาร จึงถูกเรียกอย่างน่ารักๆ ว่า “น้ำนางเอก” น้ำส้มหากคั้นสดแล้วดื่มเลยทันที ย่อมมีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่เพียงเวลาผ่านไปไม่นาน วิตามินและเกลือแร่ต่างๆ ในน้ำส้มจะเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้น้ำส้มคงคุณภาพได้นานขึ้นและสะดวกในการขนส่ง จึงได้มีการผลิตน้ำส้มพร้อมดื่ม (น้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท) ออกมาจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ทุกวันนี้ตามชั้นวางเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า เราจะพบน้ำส้มพร้อมดื่มหลากหลายยี่ห้อ มีทั้งที่เป็นน้ำส้มแท้ (100%) น้ำส้มผสม ที่มีปริมาณน้ำส้มตั้งแต่ 25% ขึ้นไป และอีกหลายยี่ห้อมีน้ำส้มผสมเป็นหัวเชื้ออยู่ประมาณ 10 – 15% แล้วแต่งสี กลิ่น รส สังเคราะห์ให้คล้ายน้ำส้ม ซึ่งผลิตภัณฑ์ประเภทหลังนี้ อย.ไม่ให้เรียกว่า “น้ำส้ม” แต่ต้องเรียกว่า “น้ำรสส้ม” (จริงๆ ฉลาดซื้ออยากเรียกว่า “น้ำสีส้ม” มากกว่า เพราะสีส้มได้ใจมาก) แม้ว่าในระยะสองสามปีที่ผ่านมานี้ น้ำส้มพร้อมดื่มอาจจะถูกตีตลาดด้วย “ชาเขียว” ทำให้ซบเซากันไประยะหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงวันนี้ที่ชาเขียว out ไปแล้ว น้ำส้มกำลังกลับมาผงาดอีกครั้ง ลองสังเกตปรากฏการณ์น้ำส้มฟีเวอร์ได้จากโฆษณาและชั้นวางสินค้าเครื่องดื่ม ลองดูสิ คุณจะเห็นขวดและกล่องสีส้มละลานตาไปหมด กับสินค้าสุดฮิต ฉลาดซื้อย่อมไม่พลาดที่จะหยิบมาทดสอบ เราเก็บตัวอย่างน้ำส้มและน้ำรสส้มพร้อมดื่ม จำนวน 22 ยี่ห้อ จากชั้นวางเครื่องดื่มในห้างสรรพสินค้า มาทดสอบหาปริมาณ “น้ำตาล” และ “วิตามิน ซี” ที่คนส่วนใหญ่มักเชื่อกันไปเองว่า ส้มเป็นผลไม้ที่มีวิตามิน ซี สูง เมื่อทำให้เป็นน้ำส้มแล้ววิตามิน ซี ย่อมสูงตามไปด้วย  ซึ่งเป็นความเชื่อที่เกือบถูก แต่ไม่ถูกต้อง เพราะคนส่วนใหญ่จะยังขาดความเข้าใจอีกมากเกี่ยวกับวิตามินตัวนี้ ผลทดสอบน้ำส้มและน้ำรสส้มพร้อมดื่ม จำนวน 22 ยี่ห้อ •    น้ำส้ม น้ำรสส้ม สามอันดับแรกที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ได้แก่ น้ำรสส้ม ฟรุ้ตฟิตฟอร์ฟัน มีปริมาณน้ำตาลถึง 15 ช้อนชาต่อขวด ขนาด 330 มล.(19.3 กรัม/100 มล.) อันดับสอง มาลี จู๊ซมิกซ์ 13 ช้อนชาครึ่งต่อขวด ขนาด 350 มล.(16.4 กรัม/100 มล.) และน้ำส้ม 30% ทิบโก้ คูลฟิต 11 ช้อนชาครึ่งต่อขวด ขนาด 300 มล.(16.3 กรัม/100 มล.)•    น้ำส้ม 100% ที่ไม่เติมน้ำตาลจะมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 5.5 ช้อนชา ต่อ 200 มล.(1 แก้ว) ส่วนน้ำส้มผสมจะมีปริมาณน้ำตาลโดยเฉลี่ยที่ 12.8  กรัมต่อ 100 มล.หรือประมาณ 6 ช้อนชา ต่อ 1 แก้ว (200 มล.)   •    เมื่อนำน้ำส้ม น้ำรสส้มมาทดสอบหาวิตามิน ซี พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีวิตามิน ซี เหลืออีกแล้ว หรือไม่ก็เหลือในปริมาณที่น้อยมาก บางผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า มีการเติมวิตามิน ซี ก็ไม่พบ ได้แก่ น้ำส้ม 25% ฟิวเจอร์ น้ำรสส้ม 20 % โออิชิ เซกิ •    จากการทดสอบ มีผลิตภัณฑ์อยู่สามยี่ห้อที่พบว่ามีวิตามิน ซี อยู่มากกว่า 20 มก./100 มล. ได้แก่ น้ำรสส้ม แบร์รี่ ซันเบลสท์ มีปริมาณวิตามิน ซี 24 มก. น้ำส้ม 40% ยูเอฟซี มีวิตามิน ซี 23 มก. น้ำรสส้ม อะมิโนโอเค มีวิตามิน ซี 20 มก. ปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มน้ำอัดลมมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม 7 ช้อนชา ต่อ 1 กระป๋อง น้ำหวาน 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาลเฉลี่ย 6 ช้อนชา นมถั่วเหลือง1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาลเฉลี่ย 5 ช้อนชาชาเขียว 1 แก้ว (200 มิลลิลิตร) มีน้ำตาลเฉลี่ย 5 ช้อนชา ฉลาดซื้อแนะ•    ภาชนะบรรจุน้ำส้ม น้ำรสส้มพร้อมดื่มที่นำมาทดสอบมีขนาดตั้งแต่ 180 – 500 มล. โดยขนาดบรรจุที่ปริมาณ 180 – 350 มล. จะเป็นขนาดที่ดื่มได้หมดภายในครั้งเดียว ทำให้ปริมาณน้ำตาลที่ดื่มเข้าไปในแต่ละครั้งมีปริมาณที่ค่อนข้างสูง แต่ปริมาณน้ำตาลที่นักโภชนาการแนะนำต่อวัน คือระหว่าง 6 - 8 ช้อนชา ดังนั้นน้ำส้มพร้อมดื่ม จึงไม่น่าจะใช่เครื่องดื่มที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพสำหรับนางเอกหรือผู้ที่รักสุขภาพ  •    บางครั้งคนเราก็ต้องการดื่มอะไรที่หวานเย็นชื่นใจบ้าง ดังนั้นหากคิดจะดื่มน้ำส้มหรือน้ำรสส้มจึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่ควรจะเลือกขวดหรือกล่องขนาดเล็กหรือแบ่งดื่มเพื่อไม่ให้ร่างกายรับความหวานมากเกินไป เพราะคุณต้องไม่ลืมว่าวันหนึ่งคุณยังต้องกินอาหารที่มีน้ำตาลผสมอยู่อีกหลายชนิด รวมๆ กันแล้วต่อวันก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ •    น้ำรสส้มที่ผลิตโดยค่ายน้ำอัดลมยักษ์ สแปลช (ลิขสิทธิ์โคค่า โคล่า) และทรอปิคานา ทวิสเตอร์ (ลิขสิทธิ์เป๊ปซี่) ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหวานไม่ต่างจากน้ำอัดลม โดยที่ สแปลช มีปริมาณน้ำตาล 6 ช้อนชาต่อขนาดกล่อง 180 มล.(14 กรัม/100 มล.) และ ทรอปิคานา มีปริมาณน้ำตาล ประมาณ 12 ช้อนชาต่อขนาดขวด 350 มล.(14.3 กรัม/100 มล.) พอๆ กับน้ำอัดลมหรือมากกว่า โดยน้ำอัดลมมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 7 ช้อนชาต่อ 1 กระป๋อง •    ข้อแตกต่างระหว่างผลไม้สดกับน้ำผลไม้ คือเส้นใยอาหาร เมื่อผลไม้ถูกสกัดมาเป็นน้ำผลไม้ กากใยอาหารถูกแยกออกไป ทำให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลได้เร็ว แต่ไม่ช่วยเรื่องการขับถ่าย  ส่วนการกินผลไม้สดซึ่งมีใยอาหารสูง การดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือดจะช้ากว่าและเนื้อของผลไม้จะช่วยให้เราไม่รับประทานน้ำตาลมากจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการขับถ่ายอีกด้วย•    อย่าเข้าใจผิดว่า น้ำส้มหรือน้ำรสส้มพร้อมดื่มจะมีวิตามิน ซี สูง เสมอไป อย่างที่ฉลาดซื้อได้ทดสอบให้เห็นแล้วว่า ขนาดผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า เติมวิตามิน ซี ลงไปด้วยหรือผลิตด้วยเทคโนโลยีสุดทันสมัยก็ยังหาแทบไม่เจอ ทั้งนี้คุณต้องมีความเข้าใจในเรื่องจริงที่ว่า วิตามิน ซี นั้นถูกทำลายได้ง่ายมาก และกว่าที่เครื่องดื่มจะมาถึงผู้บริโภคก็ต้องผ่านการขนส่ง ผ่านการจัดเก็บในสถานที่ต่างๆ อาจโดนทั้งแสง ความร้อน ทำให้ปริมาณวิตามิน ซี (ที่เหลือมาบ้างจากกระบวนการผลิต) ลดลงไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือค่าอะไรให้วัดได้อีก•    น้ำส้มที่ผสมวิตามิน ซี ไม่ควรมาพร้อมกับวัตถุกันเสีย(เบนโซอิก) เพราะมีข้อมูลที่ชวนให้สงสัยว่า เมื่อทั้งสองมาอยู่รวมกันอาจเกิดเป็นสารพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ (หาอ่านได้จากเรื่อง วันนี้คุณดื่มน้ำอัดลมแล้วหรือยัง ในฉลาดซื้อฉบับที่ 80)  •    น้ำส้มเสื่อมคุณภาพได้ง่าย ดังนั้นควรเลือกซื้อจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ได้รับการรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา •    ไม่แนะนำสำหรับเด็กและสาวๆ ที่ต้องการมีหุ่นแบบนางเอก เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง เสี่ยงต่อโรคอ้วนและเบาหวาน ตลาดน้ำผลไม้มีมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นน้ำผลไม้ 100% มูลค่า 2,500 ล้านบาท ส่วนน้ำผลไม้ต่ำกว่า 25% มีมูลค่าอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นน้ำผลไม้ 40% รสชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ "น้ำส้ม" ที่มีสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดน้ำผลไม้ปริมาณวิตามินซีในผัก ผลไม้และน้ำผลไม้คั้นสด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 กระแสต่างแดน

เกลือต้องห้าม แม้ครั้งหนึ่งเกลือจะเคยมีค่าดั่งทองและมีเครดิตเป็นหนึ่งในรากฐานของอารยธรรมมนุษย์ แต่วันนี้เกลืออาจมีโอกาสตกอับถึงขั้นโดนห้ามใช้ในร้านอาหาร ถ้าคุณเป็นแฟนกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่ารัฐนิวยอร์คของอเมริกานั้นช่างเป็นรัฐที่เป็นห่วงเป็นใยสุขภาพประชากรดีจริงๆ ขณะนี้มีประชากรนิวยอร์คที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงอยู่ถึง 1.5 ล้านคน รัฐบาลท้องถิ่นที่นั่นจึงออกมารณรงค์ให้ผู้คนบริโภคเกลือให้น้อยลง โดยตั้งเป้าไว้ว่าจะลดการบริโภคเกลือลงให้ได้ร้อยละ 25 ภายในเวลา 5 ปี นายฟิลิกส์ ออร์ทิส สมาชิกสภาจากเขตบรู๊คลิน เลยคิดจะจัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาดด้วยการเสนอร่างกฎหมายห้ามร้านอาหารในนิวยอร์คใช้เกลือเสียเลย ถ้าจับได้ว่าร้านไหนแอบใส่ก็จะลงโทษด้วยการปรับ 1,000 เหรียญ (ประมาณ 32,000 บาท) คุณออร์ทิสแกบอกว่าสำหรับผู้บริโภคนั้นไม่มีปัญหา ถ้าใครอยากได้รสเค็มก็เติมเองได้จากกระปุกเกลือที่มีวางไว้คู่กับกระปุกพริกไทยบนโต๊ะ จุดประสงค์ของเขาคือต้องการให้ผู้บริโภคเป็นคนที่ควบคุมปริมาณเกลือด้วยตนเอง แต่บรรดาพ่อครัวในร้านอาหารต่างก็หงุดหงิดไปตามๆ กัน พวกเขามองว่าเป็นการห้ามที่เหลวไหลที่สุด และเผลอๆ อาจจะบ่อนทำลายธุรกิจอาหารของเมืองไปด้วย คนอเมริกันบริโภคเกลือวันละ 3,400 มิลลิกรัม ซึ่งเกินจากปริมาณที่แนะนำ 2,300 มิลลิกรัมไปเยอะทีเดียว     รวยเกินไป หัวใจว้าวุ่นข่าวดีสำหรับประเทศที่ยังไม่รวยทั้งหลาย งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารอิโคโนมิก เจอร์นัล พบว่าความมั่งคั่งนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาวะของคนในชาติ อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์สองคน เคอร์ทิส อีตัน จากมหาวิทยาลัยคาลการี และมูเคช เอสวารานจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย เขาฟันธงว่าคนอังกฤษมีสุขภาวะที่แย่ลงสืบเนื่องจากความอยากได้อยากมี และเขาคาดว่านโยบายรัดเข็มขัดที่รัฐบาลอังกฤษจะนำมาใช้นั้นจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ อีตันและเอสวาราน เสนอแนวคิดว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งมีมาตรฐานการใช้ชีวิตของประชากรที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว การสร้างความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นให้ประชากรก็แทบจะไม่เกิดประโยชน์อะไร โดยทั่วไปเมื่อประเทศร่ำรวยเกินภาวะอยู่ดีกินดี การบริโภคของคนในชาติก็จะเปลี่ยนเป็นการซื้อสิ่งที่เรียกว่า “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” เช่น เสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องประดับล้ำค่า หรือรถหรู มากกว่าการซื้อคุณค่าการใช้สอยตามปกติของสินค้านั้น ทฤษฎีการบริโภคเพื่อความโดดเด่น บอกว่าคนเราแสวงหา “สถานภาพ” ผ่านทางการบริโภคแบบนี้ ซึ่งคุณค่านั้นไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริงของสิ่งที่เราบริโภค หากแต่เป็นเพราะมันทำให้คนที่บริโภคได้รู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากคนอื่น ที่สำคัญคือคนเราจะแสวงหาสินค้าประเภทนี้กันมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจขยายตัว รวมๆ แล้วงานวิจัยของพวกเขาช่วยยืนยันว่าเวลาที่ความมั่งคั่งโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นนั้น ประชากรจะมีเงินในกระเป๋ามากขึ้นแต่ไม่ได้มีความสุขมากขึ้นไปด้วย และเมื่อคนมุ่งแสวงหา “สัญลักษณ์ทางสถานภาพ” ที่ว่านี้ ก็จะมีเวลาใส่ใจกับเพื่อนบ้าน ชุมชนและสังคมน้อยลง ส่งผลให้ภาวะความอยู่ดีมีสุขร่วมกันลดลงไปโดยปริยาย เฮ้อ รอดตัวไป ดีนะที่ยังไม่รวย บอลลิวูดก็โดนผีหลอกไม่ใช่แค่ฮอลลิวูดเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภัยแผ่นผี ธุรกิจภาพยนตร์อินเดียที่มีมูลค่าสูงถึง 2,300 ล้านเหรียญก็ต้องสูญเสียรายได้ไปไม่น้อยกับการลักลอบดาวน์โหลดหรือปั๊มแผ่นเช่นกัน สถานการณ์เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ในอินเดียแย่ลงฮวบฮาบ เพราะความเร็วในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่จำนวนครัวเรือนที่มีเครื่องเล่นดีวีดีก็เพิ่มจาก 4 ล้านครัวเรือน เป็น 45 ล้านครัวเรือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ข่าวบอกว่าการอัพโหลดไฟล์หนังขึ้นไปบนอินเตอร์เน็ตจะมีขึ้นทุกๆ 5 นาที และมีการประมาณการว่าภารตะชนซื้อแผ่นผิดกฎหมายประมาณปีละ 700 ล้านแผ่น สร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตแผ่นปลอมไป 330 ล้านเหรียญชิลๆ ด้านฮอลลิวูดก็ดีใจที่จะได้บอลลิวูดมาเป็นพันธมิตรในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ โดยทั้งนี้ก็จะพยายามลืมๆ ไปว่าครั้งหนึ่งเคยเคืองบอลลิวูดอยู่ไม่น้อยที่ชอบก็อปปี้หนังดังๆ ของตนเองมาทำเป็นฉบับภารตะ เพราะถ้าอินเดียสามารถปราบปรามได้ก็จะเป็นผลดีต่อตนเองไปด้วย ใครจะไม่อยากได้ตลาดอินเดียที่มีประชากร 1,000 ล้านคนที่ชื่นชอบการดูหนังเป็นชีวิตจิตใจมากกว่าที่ใดๆ ในโลก แต่คงจะเป็นงานหนักอยู่เหมือนกัน แม้ข่าวจะไม่ได้บอกว่าตั๋วหนังที่อินเดียราคาเท่าไหร่ แต่ที่แน่ๆแผ่นผีซึ่งราคาประมาณ 2 เหรียญ (ประมาณ 65 บาท) ก็ทำให้คนไม่อยากเข้าโรงหนังสักเท่าไร คล้ายๆ ที่ประเทศไหนน้า.... ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ช้อปได้แม้อยู่ในห้องน้ำห้องน้ำที่สถานีรถไฟโอซาก้า ในย่านกินซ่าของญี่ปุ่นกำลังเป็นสถานที่แฮงเอาท์แห่งใหม่ของทั้งเด็กมัธยมและสาววัยทำงาน บริการห้องน้ำ “แองเจิลบี” ที่เปิดบริการมาได้ 3 ปีกว่านี้คิดค่าบริการประมาณ 100 บาทต่อหนึ่งชั่วโมง นอกจากเข้าไปทำธุระส่วนตัวแล้ว สาวๆ ยังจะสามารถนั่งจิบชาสมุนไพรชิลๆ  เรียนเทคนิคการแต่งหน้า ทำผม หรือแม้แต่เลือกซื้อชุดชั้นในกันได้ ผู้ประกอบการห้องน้ำดังกล่าวได้แก่บริษัทเวสต์ เจแปน เรลเวย์ ที่ให้บริการรถไฟในฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู บอกว่าที่เปิดบริการนี้ก็เพราะได้รับเสียงเรียกร้องจากบรรดาผู้โดยสารหญิงว่าไม่มีสถานที่ให้พวกเธอได้เติมหน้าเติมปากหรือแต่งผมหลังการเดินทางยาวไกลเลย บ้างก็บอกว่าไม่มีกิจกรรมอะไรจะทำเพื่อฆ่าเวลาขณะรอรถไฟ ทุกวันนี้กิจการดีมาก สาวๆ เข้ากันหัวบันไดไม่แห้ง จนมีผู้ประกอบการอื่นๆ เข้ามาทำการตลาดกันในห้องน้ำกันด้วย เช่น พานาโซนิคก็ส่งช่างผมมืออาชีพมาแนะนำวิธีการใช้เครื่องรีดผมของตัวเอง หรือบริษัทเสื้อชั้นในวาโก้ก็มีเสื้อชั้นในรุ่นใหม่ๆ มาให้สาวๆ ได้ลอง รวมถึงชิเซโด้ที่มาตั้งเคานท์เตอร์เครื่องสำอางด้วยเช่นกัน ข่าวไม่ได้บอกว่าค่าบริการจะลดลงหรือไม่หลังจากมีสปอนเซอร์แล้ว หรือสาวๆ จะต้องเสียเงินเข้าไปทำอย่างเดียวกับที่ทำได้ในห้างโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ เมืองปลาที่ไม่มีปลา อีกครั้งที่ผู้บริโภคต้องเตือนตนเองว่าสิ่งที่เห็น อาจไม่เป็นจริงเสมอไป นักท่องเที่ยวมากมายที่ไปเยือนฟลอริด้าจะต้องไม่พลาดการสั่งอาหารทะเลมารับประทาน ไม่อย่างนั้นจะเหมือนไปไม่ถึง แต่ขณะนี้ชาวประมงในรัฐที่เรียกตนเองว่า “เมืองหลวงแห่งการตกปลาของโลก”  จับปลาได้น้อยลง เพราะภาวะอากาศที่หนาวเย็นผิดปกติในบางช่วง รวมถึงกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นเช่นข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการจับปลา หรือชนิดของปลาที่อนุญาตให้จับได้ ชาวประมงที่นี่เคยชุมนุมประท้วงต่อต้านนโยบายเรื่องการจับปลามาแล้ว เพราะไม่ใช่แค่ห้ามจับปลาชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่เป็นการห้ามจับปลาทุกชนิดในบริเวณที่ปลาชนิดนั้นๆอาศัยอยู่ด้วย ปัจจุบันชาวประมงจำนวนไม่น้อยจึงเลิกอาชีพนี้ไป และเรือที่ลอยอยู่ในน่านน้ำฟลอริด้านั้นส่วนใหญ่เป็นพวกล่องเรือตกปลาเล่นๆ มากกว่าจะเป็นประมงตัวจริง สรุปว่าปลาที่เสิริ์ฟในร้านอาหารที่ฟลอริด้านี้เป็นปลานำเข้าจากที่อื่น เช่น แซลมอนจากนอร์เวย์หรือสก็อตแลนด์ ทูน่าครีบเหลืองและโลมาจากเอกวาดอร์ ปลาเก๋าจากเม็กซิโกหรือไม่ก็เวียดนาม เป็นต้น ทางร้านอาหารบอกว่าปลาที่ไหนมันก็ปลาเหมือนกัน(ถ้างั้นกินที่บ้านก็น่าจะได้หรือเปล่า) แต่ตามความเห็นของนักชีววิทยาทางทะเลแล้วปลาที่เดินทางไกลเหล่านี้จะมีคุณภาพลดลง หนึ่งเพราะระยะเวลาและสองกฎระเบียบที่ควบคุมการจับปลาในบางประเทศนั้นไม่เข้มงวดเท่าที่ฟลอริด้าอีกด้วย +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ร่วมใช้ร่วมจ่ายเขตปกครองพิเศษฮ่องกงประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยการเก็บภาษีถุงพลาสติกในราคาใบละ 50 เซ็นต์ ( 2 บาท) ไปเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เขาจึงคิดจะเริ่มปฎิบัติการขั้นต่อไปในการสร้างจิตสำนึกของการบริโภคอย่างรับผิดชอบ (ค่าใช้จ่าย) ต่อไปผู้บริโภคที่ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการรีไซเคิลเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นนั้นในวันที่เราไม่ต้องการมันอีกต่อไป เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กอย่างโทรทัศน์จะมีค่าจัดการ 100 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 420 บาท) หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ขึ้นมาอย่างตู้เย็นจะมีค่าจัดการเพิ่มขึ้นอีกเท่าเป็น 200 เหรียญ แต่รายละเอียดนั้นเขายังเถียงกันไม่จบ เช่น ค่าธรรมเนียมที่ว่านั้นจะถูกลงหรือไม่ถ้าเราใช้มันนานขึ้นและจะเก็บค่าธรรมเนียมเท่ากันหรือไม่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างขนาด ต่างกำลังไฟ ร้อยละ 86 ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ในฮ่องกงนั้นเป็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ และคอมพิวเตอร์

อ่านเพิ่มเติม >