ฉบับที่ 227 รู้เท่าทันการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเข้าหัวเข่าเพื่อรักษาข้อเข่าเสื่อม

                เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีแชร์กันสนั่นในโลกโซเชียลมีเดียจากรพ.วชิระพยาบาลและรพ.ตำรวจเรื่องการรักษาข้อเข่าเสื่อมโดยฉีดเกล็ดเลือดปั่น 2 ครั้ง โดยไม่ต้องผ่าตัด ทำให้มีผู้ป่วยติดต่อขอรักษาด้วยวิธีนี้กันอย่างมากมาย จนรพ.วชิระพยาบาลต้องออกมาชี้แจงว่าการเผยแพร่ภาพและข่าวนั้นไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ผู้รักษาและทางโรงพยาบาล ส่วนรพ.ตำรวจก็ออกมาชี้แจงว่ายังอยู่ในขั้นเริ่มวิจัยคนไข้ 200 ราย และปิดรับสมัครเพราะเต็มจำนวนแล้ว การฉีดเกล็ดเลือดเข้าหัวเข่านี้เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและได้ผลดีจริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันดีกว่า          การรักษาโดยการฉีดเกล็ดเลือด (Regenerative Injection Therapy by Platelet Rich Plasma/PRP) คืออะไร          การรักษาด้วยเกล็ดเลือดเข้มข้นเป็นการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นของตัวผู้ป่วยเองเพื่อไปเร่งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อของเอ็นกล้ามเนื้อ เอ็นกระดูก กล้ามเนื้อและข้อ ด้วยวิธีการนี้ การฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นจึงเป็นการใช้ระบบการซ่อมแซมของตัวผู้ป่วยเองในการแก้ไขปัญหาของกล้ามเนื้อและกระดูก        เลือดประกอบด้วยน้ำและโปรตีนเป็นส่วนใหญ่ และมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด  เกล็ดเลือดเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่งทำหน้าที่ให้เลือดแข็งตัวและมีบทบาทสำคัญของร่างกายในกระบวนการซ่อมแซมตามธรรมชาติ การเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้นทำโดยการดูดเลือดของผู้ป่วย แล้วนำมาปั่นด้วยความเร็วสูงเพื่อแยกเกล็ดเลือดที่เข้มข้นออกมา แล้วน้ำเกล็ดเลือดที่เข้มข้นฉีดที่เนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ เกล็ดเลือดที่เข้มข้นจะปล่อยสารที่ไปกระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์ที่ไปซ่อมแซมร่างกาย         การรักษาโดยการฉีดเกล็ดเลือดมีประสิทธิผลจริงหรือไม่        เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยจากวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือจำนวนมาก พบว่า การใช้การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่มีคุณภาพและวิธีการวิจัยที่ดีเพิ่มเติม ต้องศึกษาตั้งแต่การเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้น ส่วนประกอบของเกล็ดเลือด วิธีการฉีด การติดตามผู้ป่วยที่เพียงพอ        จากการทบทวนข้อมูลทางการแพทย์ของ COCHRANE (ณ มีนาคม 2556) และงานวิจัยใหม่ ๆ (ณ มีนาคม 2555) มีการศึกษา 19 รายงานที่มีการใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นกับการควบคุมที่ไม่ใช้ มีผู้เข้าร่วมการศึกษา 1,088 ราย พบว่า หลักฐานที่มียังไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นเพื่อการรักษาการบาดเจ็บของกระดูกและกล้ามเนื้อ หรือแสดงให้เห็นผลที่แตกต่างตามประเภทของการบาดเจ็บ การวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องนึกพิจารณาถึงความจำเป็นในการทำมาตรฐานการเตรียมเกล็ดเลือดเข้มข้นด้วย         การรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นจึงยังไม่เป็นการรักษามาตรฐานทางการแพทย์         ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยเท่านั้น ไม่ใช่การรักษามาตรฐานทางการแพทย์ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงไม่ควรเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพราะเป็นแค่การศึกษาวิจัย         นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ควรรับการรักษาด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น ได้แก่ ผู้มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจางขั้นรุนแรง มีระบบภูมคุ้มกันบกพร่อง กินยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ตั้งครรภ์และให้นมลูก        สรุป ในขณะนี้ การรักษาข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นยังไม่เป็นที่ยืนยันเรื่องประสิทธิผล และยังอยู่ในระยะการศึกษาวิจัย ไม่ใช่การรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >