ฉบับที่ 249 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน

อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์        12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564  โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้         1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท         ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"         จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น         15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย         จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น         นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์  เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์         พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้  ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2%  ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต         จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น         วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รณรงค์ หยุดวงจร “ส้มอมพิษ” ตั้งแต่ต้นทาง

        เมื่อ 2 ธันวาคม 2563  ภาคี เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) ชี้คนไทยบริโภคส้มอมพิษตลอดปี สารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  รณรงค์ภาคประชาชนร่วมเรียกร้องหยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง จัดกิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)” กระตุ้นผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ติด QR Code  ส้มทุกประเภท         มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe BUSINI) อัครราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนด้านการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นหัวข้อสำคัญในนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายจัดการภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ได้นำมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการส่งเสริมระบบการจัดการอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเราเชื่อว่า การลดความเสี่ยงและการลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชเคมี ตลอดจนถึงปุ๋ยและยาปฏิชีวนะ และการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรออแกนิคนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง        นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปถึงช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม         อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้อันตรายคือค่านิยมในการเลือกซื้อส้มที่มีผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคัดเกรดส้มสวยเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้ส้มมีผิวสวยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะหยุดวงจรส้มอมพิษได้ คือฝั่งผู้บริโภคเองก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเลือกบริโภค และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูกมากขึ้น อาทิ เลือกรับประทานส้มที่มีผิวลายเพราะเป็นส้มที่ได้รับสารเคมีในปริมาณที่น้อย รวมถึงการทานผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้สารเคมี         นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างถูกต้อง เพียงพอ มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของส้ม กระบวนการผลิตส้มตลอดปีทั้งในและนอกฤดู รวมถึงกระบวนการตรวจสารเคมีตกค้างของซูเปอร์มาร์เก็ต  เพื่อแสดงถึงความจริงใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าระบบการตรวจสอบของซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ        ด้านนางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิต และใช้กลไกข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่น ๆ มีกระบวนการในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยขึ้น         กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” ดำเนินการโดยภาคี ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ SWITCH Asia II Programme และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) ร่วมแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อาทิ แม็คโคร, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส และ ท็อปส์ ให้หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามผ่านทาง  www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่ายผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท         ร่วมกันลงนามหยุดส้มอมพิษในแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” ได้ที่  www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 อาหารจากการแก้ไขจีโนม ตอนที่ 1

        คนไทยหลายคนคงลืมแล้วว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้เรามีข่าวความกังวลของสังคมเกี่ยวกับ อาหารจีเอ็มโอ หรือที่มีคำเต็มว่า อาหารซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิตที่ดัดแปรพันธุกรรม อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้คนไทยอาจได้เลิกกังวลเรื่องเกี่ยวกับอาหารจีเอ็มโอแล้ว เพราะกำลังจะมีอาหารในรูปแบบใหม่เข้ามาสร้างความกังวลในชีวิตเรา คือ gene edited food ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยว่า อาหารที่ถูกแก้ไขจีโนม (จีโนมเป็นคำเดียวกับคำว่า ยีน)         เว็บ www.businessinsider.com ได้ลงข่าวที่น่าสนใจเรื่อง We'll be eating the first Crispr'd foods within 5 years, according to a geneticist who helped invent the blockbuster gene-editing tool ในวันที่ 20 เมษายน 2019 ซึ่งเนื้อข่าวโดยสรุปคือ Jennifer Doudna แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แห่งเมืองเบิร์กลีย์ ผู้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้พัฒนาระบบการแก้ไขจีโนมกล่าวว่า ภายในห้าปีข้างหน้าผลกระทบที่ชัดเจนของเท็คนิคการแก้ไขจีโนมต่อชีวิตประจำวันคนบนโลกนี้จะปรากฏในพืชผลของภาคเกษตรกรรม          ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่ Jennifer Doudna พูดนั้นได้เกิดขึ้นก่อนหน้าแล้ว โดยในวันที่ 20 มีนาคม 2019 เว็บ www.wired.com ได้ตีพิมพ์บทความเรื่อง The First Gene-Edited Food Is Now Being Served ซึ่งมีใจความว่า แม้ผู้บริโภคยังไม่สามารถหาซื้อน้ำมันจากถั่วเหลืองที่ได้รับการแก้ไขจีโนมเพื่อให้ถั่วนั้น ผลิตไขมันอิ่มตัวน้อยลงกว่าเดิมและมีไขมันทรานส์เป็นศูนย์ก็ตาม แต่ซีอีโอของบริษัท Calyxt ได้กล่าวว่า ผู้บริโภคชาวอเมริกันกำลังกินน้ำมันดังกล่าวอยู่แล้ว(โดยไม่รู้ตัว) จากร้านอาหารที่เป็นลูกค้าสั่งซื้อน้ำมันถั่วเหลืองจาก Calyxt โดยร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในตะวันตกกลางของสหรัฐ (ได้แก่ นอร์ทดาโกตา เซาท์ดาโกตา เนบราสกา มินเนสโซตา ไอโอวา มิสซูรี วิสคอนซิน อิลลินอยส์ แคนซัส มิชิแกน อินเดียนา และโอไฮโอ) ซึ่งได้เริ่มใช้น้ำมันดังกล่าวแล้วในการทอดอาหาร ทำซอสปรุงรสและน้ำมันสลัดต่างๆ เพื่อบริการแก่ลูกค้า ประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริหารของ Calyxt นั้นกล่าวอย่างมั่นใจว่า ถั่วเหลืองที่ใช้ผลิตน้ำมันนั้น “ไม่ใช่จีเอ็มโอ” อาหารแก้ไขจีโนมคืออะไร         อาหารในลักษณะนี้ใช้หลักการการเปลี่ยนชนิดขององค์ประกอบ ส่วนใดส่วนหนึ่งของดีเอ็นเอ ซึ่งเป็นหน่วยพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตให้เป็นไปตามความต้องการของผู้ผลิต ซึ่งเมื่อทำสำเร็จแล้วการแสดงออกของสิ่งมีชีวิตซึ่งเป็นลักษณะที่เห็นได้ด้วยตา คือ ฟีโนไทป์ (phenotype) นั้นจะเปลี่ยนแปรไปตามที่หน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น สีของสิ่งมีชีวิตนั้นอาจเปลี่ยนไปจากปรกติที่เคย แดงเป็นดำ ขาวเป็นเขียว โดยที่การเปลี่ยนแปรนั้นถ่ายทอดไปถึงลูกหลานด้วย         การแก้ไขจีโนมนั้นเป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า Crispr/cas9(อ่านออกเสียงว่า คริสเปอร์/คาสไนน์) หรือเรียกสั้นๆ ว่า Crispr ซึ่งเป็นวิธีที่ดูแล้วน่าศรัทธามาก เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่าและสะดวกกว่าวิธีการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิมซึ่งรวมถึงการผลิตพืชดัดแปรพันธุกรรม อีกทั้งกล่าวกันว่ามีความแม่นยำสูงในการทำให้สิ่งมีชีวิตกลายไปตามต้องการโดย(อาจ) ไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ให้ตรวจจับได้         สิ่งที่สำคัญของเทคนิคนี้ประการแรกคือ ต้องรู้ตำแหน่งของจีโนมหรือยีนที่ต้องการแก้ไข จากนั้นต้องมีกระบวนการทำให้โปรตีนต่างๆ ที่ห่อหุ้ม DNA ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเป้าหมาย ตรงตำแหน่งที่ต้องการแก้ไขหน่วยพันธุกรรมหลุดออกก่อน แล้วจึงทำให้ DNA คลายตัวจากการพันกันเป็นเกลียวเพื่อแยกเป็นอิสระจากกัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้องค์ประกอบของระบบเข้าไปดำเนินงานต่อ         ส่วนสำคัญที่เป็นหลักคือ ตัว Crispr (clusters of regularly interspaced short palindromic repeats.) ซึ่งเป็นกรดนิวคลิอิกชนิดที่เรียกว่า RNA ที่บางส่วนของสายมีการเรียงตัวของเบสหรือนิวคลิโอไทด์ที่สามารถประกบกับส่วนของ DNA ซึ่งเป็นจีโนม(ยีน) ที่ต้องการแก้ไข สำหรับองค์ประกอบส่วนที่สองของระบบนี้คือ cas9 ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีฤทธิ์เป็นเอ็นซัมที่สามารถตัดสาย DNA ออกได้เสมือนเป็นกรรไกรตรงตำแหน่งที่ RNA ได้ประกบไว้ ซึ่งเมื่อตัดเสร็จแล้วจะมีการนำชิ้นส่วนของ DNA (ซึ่งเป็นยีนที่สามารถแสดงออกซึ่งลักษณะที่ต้องการเปลี่ยน) ที่เตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการส่งเข้าไปแทนที่ DNA ส่วนที่ถูกตัดออกไป จากนั้นจึงใช้เอ็นซัม (ที่เรียกว่า DNA ligase) เชื่อมต่อให้ชิ้น DNA ใหม่ต่อเข้าได้กับส่วนของ DNA เดิมทั้งสาย และถ้าทุกขั้นตอนสำเร็จเซลล์นั้นจะมีหน่วยพันธุกรรมที่เปลี่ยนไป ซึ่งเมื่อถูกพัฒนาต่อก็จะเจริญเติบโตไปเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการแสดงออกของฟีโนไทป์ใหม่ที่สามารถสืบต่อลักษณะใหม่นั้นในลูกหลานต่อไป         มีการนำเทคนิคของการแก้ไขจีโนมนี้มาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าจะได้พันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีและได้ข้าวปริมาณสูง ซึ่งสามารถทนต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เพิ่มความเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ และได้รายงานผลการวิจัยในบทความเรื่อง CRISPR mediated genome engineering to develop climate smart rice: Challenges and opportunities ที่ปรากฏในวารสาร Seminars in Cell and Developmental Biology ในปี 2019 โดยการวิจัยนี้ได้วิเคราะห์ฟีโนไทป์ ซึ่งเป็นที่ต้องการและปัจจัยทางพันธุกรรมของข้าว แล้วนำมาใช้ในการพัฒนาความทนทานต่อความวิกฤตดังกล่าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก         โดยปรกติแล้วพืชหลายชนิดที่ปลูกขึ้นเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น มักอ่อนแอต่อการรุกรานจากไวรัส เห็นได้จากเมื่อปลูกไปไม่นานเท่าไรมักเกิดโรค เพราะไวรัสสามารถแทรกจีโนมของมันเข้าไปซ่อนในจีโนมของพืชนั้น แล้ววันหนึ่งเมื่อสภาวะภูมิอากาศแห้งแล้งได้ที่ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ก็แสดงตัวออกฤทธิ์ได้ มีตัวอย่างงานวิจัยที่นักวิจัยของ International Institute of Tropical Agriculture ในเคนยาได้ใช้วิธีการแก้ไขจีโนมเพื่อตัด DNA ของไวรัสภายในจีโนมของกล้วยสายพันธุ์ Gonja Manjaya ออก  จนได้กล้วยที่ปลอดไวรัสแล้วแจกจ่ายพันธุ์ที่ปลอดโรคแก่เกษตรกรของประเทศ ข่าวนี้ได้ปรากฏในเว็บ www.newscientist.com เรื่อง Virus lurking inside banana genome has been destroyed with Crispr เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2019         ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เนื้อส่งสู่ตลาดมักมีปัญหารำคาญใจที่สัตว์มีเขามักทำร้ายกันเอง จนต้องมีการตัดเขาให้สั้นหรือใช้วิธีเอาไฟฟ้าจี้บริเวณที่เขาจะงอกตั้งแต่สัตว์ยังเล็ก ซึ่งทำให้สัตว์ทรมาน จนผู้เลี้ยงสัตว์ถูกโจมตีเกี่ยวกับสิทธิของสัตว์ ดังนั้นถ้าวัวไม่มีเขาจะส่งผลให้การดูแลง่ายขึ้น แล้วความฝันของคาวบอยก็เป็นจริงเมื่อมีบทความเรื่อง Production of hornless dairy cattle from genome-edited cell lines. เผยแพร่ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 34(5) หน้า 479-481 ของปี 2016 โดยผลงานนี้เป็นความร่วมมือของนักวิจัยจากสองมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาคือ University of Minnesota และ Texas A&M University         เทคนิค Crispr ได้ถูกพัฒนาต่อยอดไปอีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ของบริษัท Syngenta ในเมือง Durham รัฐ North Carolina ได้คิดค้นกระบวนการใหม่ชื่อ haploid induction-edit หรือ HI-edit เพื่อทำให้เทคนิคการปรับแก้จีโนมของพืชง่ายขึ้นโดยรวมสองวิธีการคือ การเหนี่ยวนำให้เซลล์มีโครโมโซมชุดเดียว(haploid induction technology) และการแก้ไขจีโนม(gene edited technology) เพื่อทำให้พืชมีเกสรตัวผู้(pollen) พิเศษที่มีชุด Crispr ในเซลล์ จึงเรียกว่า Crispr pollen technique ซึ่งอ้างว่าจะไม่มีการแพร่กระจายไปดัดแปลงพืชอื่นในธรรมชาติที่ไม่ใช่เป้าหมาย เพราะระบบ Crispr ที่ใส่ไว้ในเกสรตัวผู้จะหายไปเอง หลังการปฏิสนธิระหว่างเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมีย ทำให้พืชที่เป็นผลผลิตไม่ควรถูกควบคุมในลักษณะของจีเอ็มโอ ผลงานนี้ได้เผยแพร่ในรูปบทความวิจัยชื่อ One-step genome editing of elite crop germplasm during haploid induction ในวารสาร Nature Biotechnology ชุดที่ 37 หน้าที่ 287–292 ของเดือนมีนาคม 2019         นอกจากการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์แล้ว เทคโนโลยี Crispr สามารถถูกใช้แก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งก่อโรคทางพันธุกรรมในมนุษย์ ตลอดจนการบำบัดและป้องกันการแพร่กระจายของโรค ฯลฯ แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายคนที่มีความกังวลในการปรับแต่งจีโนมว่า มันแม่นยำมากดังที่กล่าวอ้างนั้นจริงหรือ คำตอบนั้นสามารถติดตามได้ในฉลาดซื้อฉบับหน้า

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แผ่นดินอาบยาพิษ เรื่องจริงของ “พาราควอต” จากหนองบัวลำภู

     ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ในบ้านเรายืดเยื้อมามากกว่าหนึ่งปี ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่หน้าเพจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 ชุด ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเอง แสดงจุดยืนชัดเจนในการแบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต) หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมได้แถลงจุดยืนดังกล่าวก่อนแล้วและในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคและทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากการใช้ยาฆ่าหญ้า 2 พื้นที่ คือที่ รพสต.หนองเรือ อ.โนนสัง และรพสต.บ้านพนาวัลย์ อ.นากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู รวมผู้ได้รับผลกระทบที่ให้ข้อมูลจำนวน 7 ราย โดย 4 รายจาก อ.โนนสัง นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แต่ผู้เสียหายจะได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้า ลักษณะบาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิด 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) ส่วนอีก 3 รายจาก อ.นากลาง เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง โดยได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด มีผู้เสียหายใช้สารเคมียี่ห้อพาราควอต 2 ราย ใช้ เอชโซนัด 95 ตราหมาแดง 1 ราย บาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิน 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้าทางทีมงานจึงได้พูดคุยกับ ทญ.วรางคณา  อินทโลหิต หรือหมอฝน ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู และหัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ซึ่งได้เล่าเรื่องสารเคมีในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหาว่า “เริ่มมาจากการทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม  เรื่องสารเคมีมันเกิดจากเมื่อปี 2555 จังหวัดหนองบัวลำภู และทำโครงการร่วมกับ อบจ.กับ สสส. เรื่องจังหวัดน่าอยู่ เรื่องสารเคมีเกษตรเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งใน 5 เรื่องที่เราทำ ตอนแรกที่คณะทำงานคิด เราคิดว่าจะทำเรื่องป่ากับขยะ ในเวทีนั้นมีเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แกนำเข้าข้อมูลสารเคมีเกษตร ซึ่งตอนนั้นถือว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ของกรรมการเลยว่ามันมีปัญหาสารเคมีในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าปัญหาสารเคมีในพื้นที่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา คิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ต่อมาพยาบาลโรงพยาบาลนากลางเขาไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่า พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ มีโรงเรียนต้องปิดโรงเรียนเพราะเด็กๆ ได้รับผลกระทบจาการฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะต้องเดินผ่านจากไร่อ้อยไปโรงเรียน แล้วเกิดอาการวิงเวียน อาเจียนจนต้องปิดโรงเรียน พยาบาลก็นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมของหมู่บ้าน ชาวบ้านก็รู้ว่าสารเคมีเป็นพิษ แต่ก็ต้องทำมาหากิน พยาบาลเลยมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดี ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจเราเลยนึกถึงเวทีที่เกษตรกรคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ท่านนั้นพูดถึง ตัวเราคิดว่าเราสาธารณสุขคงมีกำลังไม่พอที่จะทำเรื่องนี้  เลยว่าจะชวนเครือข่ายเกษตรมาช่วย แล้วในโครงการจังหวัดน่าอยู่มีงบประมาณที่จะพอจัดเวทีให้ความรู้ได้ แล้วตอนนั้นได้รู้จักกับนายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เลยจัดเวทีให้ความรู้ที่นากลาง และศรีบุญเรือง เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและคุณหมอปัตพงษ์มาพูดเรื่องผลกระทบ นักวิชาการของเรา นักวิชาการสมัชชาสุขภาพ คุณโกวิท พรหมวิหารสัจจา ก็อยู่บนเวทีนี้ด้วย แกจะทำพื้นที่นวเกษตร เราเลยจะทำเป็นพื้นที่นำร่อง ใครไม่ทำ เราจะทำ คุณโกวิทเลยไปซื้อที่ใหม่แล้วเข้าไปตัดหญ้าถางพื้นที่ อยู่ๆ วันหนึ่งก็ได้ข่าวว่าแกเป็นโรคเนื้อเน่า แกบอกว่าแกไปสัมผัสอยู่ 2 วันในพื้นที่นั้น บอกว่ามียาฆ่าหญ้า ปวดขามาก เลยไปหาหมอกระดูก หมอบอกว่ามันเป็นการติดเชื้อ ก็ส่งต่อไปที่ รพ.อุดรตอนนั้นแกเกือบเสียชีวิตเลยนะ ช็อกไปเลยที่ถูกลอกหนัง ถูกทำอะไรหลายอย่าง เราก็เลยได้มาศึกษาว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไรเนื่องจากคนใกล้ตัวเป็น จึงนำเรื่องปรึกษากับหมอปัตพงษ์ อาจารย์บอกว่า เกิดจากยาฆ่าหญ้า ประจวบกับสมัชชาสุขภาพนั้นต้องคิดนโยบายและการทำงานเชิงวิชาการด้วย ช่วงนั้นพออาจารย์โกวิท หายป่วย ซึ่งเป็นระยะเวลาปีกว่า เราก็มาสัมภาษณ์ชาวบ้าน ทำโฟกัสกรุ๊ปก็พบว่าส่วนใหญ่จะไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มียาฆ่าหญ้า จึงเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกัน การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องพาราควอต ในช่วงที่ทำสมัชชาสุขภาพจังหวัดในที่ประชุมของสาธารณสุขจังหวัด มีศัลยแพทย์ท่านหนึ่งได้มานำเสนอในที่ประชุมว่า โรคเนื้อเน่าเป็นโรคอันดับ 1 ในแผนกศัลยฯ ของหนองบัวลำภู ซึ่งเขาก็ไม่รู้สาเหตุ ในวันนั้นเราก็พูดในที่ประชุมว่า มันเกิดจากยาฆ่าหญ้าทุกคนก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวเองเป็นทันตแพทย์ พี่เป็นทันตแพทย์ไง ศัลยแพทย์ท่านจึงบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกว่าในส่วนของโรงพยาบาล เขาจะมีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยอะไรมาก สถิติการป่วยของผู้ป่วย มีค่าใช้จ่ายสูงไหม เขาจะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งเขายังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้นะ เป็นปัญหาอันดับ 1 ในปี 2556  ของแผนกศัลยฯ พอปี 57 มีพยาบาลไปเรียนโท แล้วทำงานวิจัยเรื่องสารเคมีเกษตร เขาเลยเจาะไปที่อ้อย เพราะที่ อ.ศรีบุญเรืองปลูกอ้อยเยอะ เลยทำข้อมูลมาให้เห็นว่าสารเคมีที่ใช้เยอะที่สุดคือยาฆ่าหญ้า อันดับ 1 คือ พาราควอต และก็บอกปริมาณ บอกอะไร ข้อมูลที่เราเริ่มรณรงค์กับชาวบ้านก็เป็นสไลด์จากข้างนอก แล้วก็มีข้อมูลจากข้างใน ระหว่างนั้นก็มีการเจาะเลือดเกษตรกร โครงการ เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เขาจะเจาะเลือดเกษตรกรเพื่อดูยาฆ่าแมลง ก็จะพบว่าเสี่ยงกว่า 50%  ซึ่งตอนนั้นอาจารย์หมอปัตพงษ์ บอกว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะมีแต่ยาฆ่าแมลง เราเคยไปเยี่ยม รพ.สต.กำนันคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาเป็นคนรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า แต่เขาไปเจาะเลือดแล้วเขาปลอดภัย เขาเลยนึกได้ว่าเคยคุยกับอาจารย์หมอปัตพงษ์ว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะเป็นยาฆ่าแมลง เราจึงทำรณรงค์ว่าที่เราเจาะเลือดเจอไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า แต่เป็นยาฆ่าแมลง จนมาปี 57 เราไปหาว่าที่ไหนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ เพราะเรารู้ว่าคนเขาใช้เยอะ ทางด้านเกษตรกรที่งานสมัชชาสุขภาพก็มองว่ามันต้องลด ละเลิก พอดีว่ารู้จักกับคุณนิพัท ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปรึกษาของนายก อบจ. พอเรานำประเด็นของสมัชชาสารเคมีเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  แล้วแนวทางที่เราไปศึกษามาจากต่างประเทศนี่บอกว่า ต้องเกษตรอินทรีย์นะ ต้องลดการใช้จึงจะปลอดภัย เราก็ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลแบบนี้ไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พอปี 58 พอเราจะขับเคลื่อนสมัชชาคุณนิพัทก็รวมเครือข่ายได้ 6 เครือข่าย ซึ่งดิฉันมีหน้าที่ไปให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ ในการทำงานเรายังมีอีกเครือข่ายชื่อ สกว.ท้องถิ่น ซึ่งเสนอว่า สมัชชาฯ ต้องมีการวิจัยในท้องถิ่นว่ามีการใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ขนาดไหน แต่ในปี 57-58 ยังไม่ได้ทำประเด็นนั้น ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ ก่อนจาก 6 เครือข่ายเพิ่มมาเป็น 12 เครือข่าย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ท่านผู้ว่าจะย้ายบ่อย ผู้ว่ามาทีไรคณะกรรมการสมัชชาจะต้องไปให้ข้อมูล ผู้ว่าฯ สองท่านมองว่า ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน พอปี 60 เราก็ไปเจาะที่อำเภอสุวรรณคูหาให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ว่าเขามีปํญหาอะไร มีที่บุญทันทำเรื่องแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ที่นาดีทำเรื่องธรรมนูญสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาสารเคมี ที่กุดผึ้งทำเรื่องสารทดแทนยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย จนในปี 60 ที่มีการเริ่มแบนพาราควอต ดิฉันกับคุณนิพัทก็ได้รับเชิญไปที่กรุงเทพฯ โดยองค์กรไทยแพน ได้จัดแถลงข่าวที่จะแบนสารเคมี เพราะในเดือนเมษายน ปี 60 รมต.สาธารณสุขขอให้แบนสารเคมี เราก็ดีใจนะในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ เดือนกันยายนช่วงนั้น ญาติของคุณนิพัทแกเป็นโรคเนื้อเน่าที่แขนพอดี แกเลยถ่ายรูปแล้วโพสต์ขึ้นไลน์ของเครือข่ายเกษตรอินทรย์ พอวันรุ่งขึ้นไปประชุมที่ไทยแพนเขาก็ถามว่า จังหวัดไหนจะแบนบ้าง เราก็เลยขึ้นไปแถลงข่าวกับเขา เราพูดเรื่องโรคเนื้อเน่าหรือ NF (Necrotizing fasciitis) คนก็ไม่เข้าใจ ภาษาวิชาการเรียกว่าโรคหนังเน่า ต่อมาก็เรียกว่าโรคเนื้อเน่า เราก็เล่าว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร คุณนิพัทก็โพสต์ภาพไป มันก็เป็นข่าวดังเพราะคนไม่รู้จัก นักข่าวก็มาทำข่าวที่ รพ.หนองบัวลำภู ประกอบกับช่วงนั้นท่านผู้ว่าคนที่แล้ว(ตอนนี้ย้ายไปอุตรดิตถ์) เราไปเล่าให้ท่านฟังพร้อมกับให้ข้อมูล ประโยคเด็ดซึ่งท่านผู้ว่าบอกมาทีหลังว่า ฟังแล้วกระตุกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง คือนำเสนอท่านว่า “ในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ” แล้วเราเอาเอกสารข้อเท็จจริงเสนอผู้ว่าฯ ท่านก็นำเสนอส่วนราชการ นี่คือก่อนจะเป็นข่าว พอเป็นข่าวนักข่าวมาทำข่าวเยอะ ท่านผู้ว่าไปเยี่ยมผู้ป่วย พอท่านถามก็จะพบว่า ผู้ป่วยจะมีแผลก่อนแล้วไปสัมผัสยา มีคนหนึ่งโดนปูหนีบแล้วไปล้างมือในที่นา จากนั้นเกิดอาการแขนบวมพอง จึงต้องลอกเนื้อที่แขน พอใครไปสัมภาษณ์ก็จะพบว่าที่บ้านผู้ป่วยมียาฆ่าหญ้าเยอะมาก พอได้ข้อมูลแบบนี้เลยคิดว่าเราต้องขยับต่อ ต้องทำงานต่อ พอหนองบัวลำภูบูมขึ้นมา ทางส่วนวิชาการก็มา แพทย์จากสำนักระบาดวิทยาก็ลงมา เขาก็ไม่รู้จักมาก่อนก็มาทำข้อมูลให้ เราบอกว่าเกิดจากยาฆ่าหญ้า เขาก็ไม่ฟันธง สงสัยว่ามันเกิดได้อย่างไร เนื้อเน่า NF เกิดจากเชื้อโรค แต่เขาก็บอกว่า รูปกราฟการติดเชื้อที่เป็นฟันปลาว่า ถ้าติดเชื้ออย่างเดียวรูปกราฟจะไม่เป็นฟันปลาแบบนี้ เขาต้องไปค้นหาให้ได้ว่าเกี่ยวข้องกับฤดูกาลอย่างไร ประกอบกับในปี 60 นี้ทางไทยแพนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ นักวิจัยชุมชนที่เก็บข้อมูลมาจากหลายพื้นที่ ก็บอกว่าที่เขาเก็บมาเห็นชัดเจนว่ามีการใช้พาราควอตเยอะ เราก็อยากรู้ว่าใช้เยอะแล้วมีการตกค้างเยอะขนาดไหน เรามีหน้าที่ประสานก็ประสาน จนในที่สุดได้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมา ตอนแรกทางนั้นจะไม่มาเพราะว่าไกล แล้วเคยทำที่น่านแล้วแต่ผู้ว่าฯ ไม่ยอมรับ แต่หลังจากเราโทรหา ดร.พวงรัตน์ ซึ่งตอนแรกไม่รู้จักหนองบัวลำภูมาก่อน ระหว่างนั้นเราก็สื่อสารกับผู้ว่าฯ ว่าแพทย์ระบาดวิทยาให้ทำวิจัยเพิ่มเติม ท่านบอกว่าเรื่องงบประมาณไม่ต้องเป็นห่วง อย่ากังวลเรื่องราคา ท่านบอกว่าจะหาเงินทำวิจัยให้ เลยคุยกับดร.พวงรัตน์ว่า ท่านผู้ว่าฯ เห็นด้วย ทางนักวิจัยจากนเรศวรเลยมาเก็บข้อมูลก่อนว่า สมเหตุสมผลไหมที่จะมาทำ หลังจากที่ดร.พวงรัตน์มาเก็บข้อมูลในเดือนธันวาคม คราวนี้ตกใจมาก เนื่องจากเห็นสภาพแวดล้อมแล้วน่ากลัวมาก เพราะที่ทำกินคือ ไร่อ้อยกับบ้านชาวบ้านนี่อยู่ติดกันเลย ซึ่งต่างจากที่น่าน ที่จะมีที่ทำกินอยู่ที่หนึ่ง บ้านอยู่ที่หนึ่ง เขาบอกว่าน่ากลัว เมื่อกลับไปวิเคราะห์ตัวอย่าง 2-3 วันแกรีบโทรกลับมาเลยว่า ที่นี่มีการตกค้างสูงมาก ในที่สุดต้องมีการจัดการ ทางจังหวัดต้องทำอย่างไร โดยการทำต้องไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนกด้วย พอเดือนมกราคมก็ให้มีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน เช่น ที่ระบบประปา แบ่งหน้าที่กันว่า อบจ.ต้องทำอะไร แล้วผู้ว่าก็เน้นว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นจริง จึงนำปัญหาสารเคมีนำเข้าเป็นวาระของจังหวัด ต่อมาเราก็มีการวางแผนการลดใช้สารเคมี โดยมี ม.นเรศวร(มน.) มาช่วยเก็บตัวอย่าง 500 ตัวอย่าง ได้ข้อมูลมาว่าตกค้างเยอะ จากนั้นเราก็ขอทุนจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ มช.ว่าจะลดสารเคมี เขาเลยให้เข้าโครงการท้าทายไทย ในเรื่องของการลดการใช้สารเคมี ให้ทาง มน.ช่วยเขียนโครงการว่าจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างไร ได้ผลสรุปว่า ต้องลดการใช้สารเคมีประมาณ 40% ให้ได้ในปี 64 และจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างไร การกรองสารพาราควอตในน้ำประปา โดยที่จังหวัดน่านใช้ถ่านกัมมัน ได้เชิญคนที่เผาถ่านกัมมันเป็นมาช่วย อันนี้เป็นการแก้ไขเองปัญหาสารเคมี ส่วนในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มีการขับเคลื่อน เช่น รพ.สต.ไปเจาะเลือดเกษตรกรเจอตกค้างเยอะ ปลูกผักในพื้นที่สาธารณะ สนับสนุนเรื่องน้ำประปา สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทำโครงการหัวนาโมเดลให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ มีบุญทันโมเดลที่แก้ปัญหาสารเคมี และกำลังจะประกาศยกระดับเป็นหนองบัวลำภูโมเดล ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสารเคมี 3 ปี เพราะถ้าหนองบัวลำภูเป็นโมเดล(ต้นแบบ) ได้น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ได้ เมื่อปี 57 เราเล่าเรื่องโรคเนื้อเน่าให้ นพ.วีรวัฒน์ พันธุ์ครุฑ ฟังท่านยังไม่รู้จัก แต่พอเมื่อปีที่ผ่านมาเจอท่านอีกครั้งท่านบอกว่าให้ไปช่วยที่ยโสธรด้วยที่นั่นเป็นเยอะ พอเราไปถามหลายๆ จังหวัด โรคนี้เป็นเยอะนะแต่คนยังไม่สนใจ   บทเรียนในการทำงานและสิ่งที่อยากเห็นในการแก้ปัญหา เวลาเราไปให้ข้อมูลชาวบ้าน เขาจะรู้สึกว่าเขาใช้มัน(ยาฆ่าหญ้า) จนเหมือนเป็นยาธรรมดา เหมือนเรากินยาพาราที่เราไปซื้อที่ไหนก็ได้ แล้ววันดีคืนดีพอเราไปบอกว่าพาราเป็นพิษ ชาวบ้านจะถามว่า ถ้ามันอันตรายทำไมนำเข้าล่ะ ชาวบ้านจะมองแบบนี้ จะมองว่ามันไม่อันตราย เราเลยคุยกับชาวบ้านว่าทำอย่างไรเราจะลด ละ เลิก ได้ก่อน เพราะ 50 ประเทศยกเลิกไปแล้ว เราไม่ใช่ประเทศแรกที่ยกเลิกแล้วทำไมเราจะยกเลิกไม่ได้ ชาวบ้านจะถามว่า สารทดแทนเขาจะใช้อะไร ในขณะเดียวกันหน่วยงานของกระทรวงเกษตรก็บอกว่าแล้วชาวบ้านจะใช้อะไรแทนพาราควอต มันยังจำเป็นอยู่ ตัวเราเองเป็นผู้บริโภคอยากให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะเวลาไปซื้อผัก เราไว้ใจไม่ได้เลย คือเราไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลยนะ ความมั่นคงทางอาหารเราไม่มีเลย เราจะทำอย่างไร ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากสารเคมีเกษตร ยังไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธินะคะ โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องร้องเป็นเรื่องใหม่มาก เราก็อยากให้เขายกเลิกการใช้ เพราะเรารู้ว่ามันอันตราย ในส่วนของตัวเองก็จะพยายามทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมารองรับมันก็จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นความรู้ใหม่ของหมอว่ามันดูแลตรงนี้ได้นะ ต้องขอบคุณทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงตรงนี้ก็อยากฝากว่า เราทุกคนอยู่ในอันตรายทั้งนั้น เพราะว่าตอนนี้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว ตอนนี้พืชผัก ผลไม้มันปนเปื้อนหมดเลย ที่ผ่านมาไทยแพนตรวจเจอแต่ยาฆ่าแมลงไม่เคยตรวจยาฆ่าหญ้า ปี 60 เจอยาฆ่าหญ้าเยอะมากเพราะมันแทรกซึมไปทุกที่ เพราะมันลงน้ำบาดาลแล้ว ฉะนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนด้วยการไม่ใช้และไม่นำเข้า ถ้าไม่ลุกขึ้นมา ถ้าไม่ห่วงตัวเอง คนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2560สคบ.บุกเต็นท์รถมือสองรับผิดชอบคนซื้อรถแล้วเจอปัญหาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์มือสอง บริเวณถนนเลียบทางด่วนรามอินทรา หลังได้รับข้อร้องเรียน เรื่องรถยนต์ชำรุดแล้ว โชว์รูมไม่รับผิดชอบ สคบ.ให้ทำบันทึกข้อตกลงให้โชว์รูมรถมือสองต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบพบรถยนต์หรูมือสองในโชว์รูม กระทำผิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 22 คัน บก.ปคบ.จึงได้แจ้ง 3 ข้อหา ได้แก่ เป็นผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ใช้แล้วไม่ติดฉลากสินค้า หรือมีฉลากแต่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังไม่จัดให้มีหลักฐานการรับเงินที่ถูกต้องและทำผิดข้อตกลงชำระหนี้ให้ผู้บริโภคด้วยธุรกิจขายรถยนต์ใช้แล้ว หรือเต็นท์รถมือสอง เป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการ และเป็นสินค้าควบคุมฉลาก คือ ต้องติดฉลากสินค้าให้ชัดเจน มีรายละเอียดยี่ห้อ รุ่นปี ขนาด และมีสมุดคู่มือรถ รุ่นปี ราคา ทะเบียน และข้อมูลการประสบภัยด้วยกรณีที่ไม่ติดฉลากให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับรับเจาะลักยิ้ม ต้องมีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข  พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ได้เข้าตรวจสอบร้านรับเจาะส่วนต่างๆ ของร่างกาย  ชื่อร้านแจ็ค ดอว์สัน บริเวณตลาดนัดจตุจักร จากการตรวจสอบพบนายธนธัช กาลมหา อายุ 49 ปี เป็นเจ้าของกิจการและผู้ให้บริการ ทำลักยิ้ม เจาะ ขยาย กรีดหู ผ่าเนื้อนูน และขายยาชา โดยผู้รับบริการส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นที่ทราบข้อมูลจากสื่อโซเชียล โดยวิธีการเจาะลักยิ้ม จะทายาชาบริเวณแก้มผู้รับบริการ จากนั้นจะให้อมแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อในปาก ก่อนลงเข็มเจาะแก้มทีละข้างทะลุเข้าไปในช่องปาก หลังจากนั้นจึงใส่จิวหรือเครื่องประดับ ติดไว้ที่แก้มทั้งสองข้าง ประมาณ 1-2 เดือน จึงกลับมาถอดจิวออก ซึ่งการเจาะลักยิ้มด้วยวิธีดังกล่าวเข้าข่ายตามนิยามในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ที่จะต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตจากแพทยสภาเท่านั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้แจ้ง 2 ข้อหากับเจ้าของร้าน คือ ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ขึ้นทะเบียน โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท ทั้งนี้การใช้เข็มเจาะเข้าไปที่บริเวณแก้มเพื่อทำลักยิ้ม โดยบุคคลที่มิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะบนใบหน้าประกอบไปด้วยเส้นประสาท และกล้ามเนื้อจำนวนมาก หากผู้กระทำไม่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญ ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้ผู้รับบริการปากเบี้ยว ใบหน้าผิดรูป และอาจเกิดการติดเชื้อที่บาดแผล จนแผลเน่า หรือติดโรคติดต่อจากเข็มที่ใช้เจาะได้หมา-แมวเสี่ยงตายจากยากำจัดเห็บหมัดไม่มีทะเบียน ระวังยากำจัดเห็บหมัดสุนัขและแมวที่ไม่ได้รับการรับรองจาก อย. ใช้แล้วอาจทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กำจัด เห็บหมัดชนิดหยดหลังสำหรับสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดอาการแพ้และเสียชีวิต โดยมีการจำหน่ายตามร้านจำหน่ายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สำหรับสัตว์ ตลอดจนทางเว็บไซต์สำหรับผู้รักสัตว์เลี้ยง ซึ่งจากการตรวจสอบของ อย. พบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เช่น ผลิตภัณฑ์หยดหลังสำหรับสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมว Detick, ผลิตภัณฑ์หยดหลังสำหรับสัตว์เลี้ยงสุนัข และแมว Kill Out, ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดในแมวและสุนัข D-SURE, ผลิตภัณฑ์หยดหลังกำจัดเห็บหมัด Fiprocide ฟิโปรไซด์, ผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดในแมวและสุนัข OUT SJDE, ผลิตภัณฑ์กำจัดขี้เรื้อน เห็บ หมัด พยาธิหนอนหัวใจ E-tick+ และผลิตภัณฑ์กำจัดเห็บหมัดในแมวและสุนัข tick FREEโดยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์พบฟิโพรนิล(fipronil) จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ซึ่ง ผู้ผลิต ผู้นำเข้าต้องขออนุญาตและขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 หากฝ่า ฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ขายจะมีความผิดฐาน จำหน่ายวัตถุอันตรายที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้องและครบถ้วน หากฝ่าฝืนมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่ เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยในขณะนี้อย. ได้ดำเนินคดีกับผู้ผลิตจำนวน 1 ราย และผู้จำหน่ายสัตว์เลี้ยงและอุปกรณ์สำหรับสัตว์ในตลาดจตุจักรจำนวน 4 ร้าน คสช.ใช้ ม.44 สั่ง 12 สายการบินห้ามบินนอกประเทศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตามมาตรา 44 ให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย สั่งห้ามบริษัท องค์กรที่ไม่ได้รับใบอนุญาตการเดินอากาศ ระงับการเดินอากาศระหว่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560-31 มกราคม 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับคำแนะนำ และการจะตรวจสอบมาตรฐานการบินของ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization (ICAO)) ที่จะเดินทางมาตรวจในวันที่ 20-27 กันยายนนี้ โดยมี 12 สายการบินที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ประกอบด้วย1.บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด, 2. บริษัท โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ จำกัด, 3. บริษัท ไทยเวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด, 4. บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด, 5. บริษัท เจ็ท เอเชีย แอร์เวย์ จำกัด, 6. บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด, 7. บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง จำกัด, 8. บริษัท เอเชีย แอทแลนติก แอร์ไลน์ จำกัด, 9. บริษัท วีไอพี เจ็ทส์ จำกัด, 10. บริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด, 11. บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด และ 12. บริษัท สกาย วิว แอร์เวย์ จำกัดที่มาของคำสั่งดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ดําเนินการเดินอากาศระหว่างประเทศจํานวนหนึ่งที่ยังไม่ผ่านการตรวจประเมินและได้รับใบรับรอง ผู้ดําเนินการเดินอากาศใหม่ (Recertification of Air Operator Certificate (RE-AOC)) และการตรวจประเมินความก้าวหน้า เกี่ยวกับการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concern (SSC))ค้าน กรมวิชาการเกษตร ยื้อเวลาไม่ยอมเพิกถอน “พาราควอต – คลอร์ไพริฟอส”เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) และเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรและเครือข่ายต่างๆ มากกว่า 40 องค์กร ผิดหวังต่อคำแถลงและผลการพิจารณาของกรมวิชาการเกษตร และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นอย่างยิ่ง ที่ยื้อเวลาการเพิกถอนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอสออกไป ทั้งที่มีอำนาจสามารถทำได้ทันที โดยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรอ้างว่า ไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะพิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพอนามัย ทั้งๆ ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงสาธารณสุข มีมติให้ยกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างรุนแรง มีงานวิชาการที่ชัดเจนรองรับ ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรสามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551ออกคำสั่งระงับการใช้สารพิษทั้งสองชนิดได้เพื่อสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข คือ ให้มีการยกเลิกพาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส เครือข่ายฯ จะเคลื่อนไหวใหญ่ทั่วประเทศ ทั้งที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและศาลากลางทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยเรียกร้องให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปฏิเสธการต่อทะเบียนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสที่กำลังหมดอายุในต้นเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งเพิกถอนทะเบียนของสารพิษดังกล่าวตาม Road Map เพื่อให้มีการยุติการใช้สารเคมีทั้งสองชนิด ภายในปี 2562 อย่างไม่มีเงื่อนไข

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 กระแสในประเทศ

สุมาลี พะสิม ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 255211 ก.พ. 52 5 ปีผ่านไป ยังพบสารห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพียบ นิยายเรื่องยาวของเครื่องสำอางผิดกฎหมายยังไม่จบ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยังตรวจวิเคราะห์พบเครื่องสำอางผิดกฎหมายเพียบตลอดช่วงปี 2547-2551 โดยสารห้ามใช้ที่ตรวจพบมากที่สุด คือ ปรอทแอมโมเนีย รองลงมา คือ สารไฮโดรควิโนนรวมกับกรดเรทิโนอิก และพบตัวอย่างที่มีสารไฮโดรควิโนนหรือพบกรดเรทิโนอิกอย่างเดียว รองลงมาตามลำดับ อย่างไรก็ตามขณะนี้มีกฎหมายใหม่ด้านเครื่องสำอางของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายเครื่องสำอางอาเซียน กำหนดให้เครื่องสำอางทุกชนิดเป็นเครื่องสำอางควบคุม ดังนั้นผู้ประกอบการต้องแจ้งและจัดทำแฟ้มข้อมูลของผลิตภัณฑ์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือสำนักงานสาธารณสุขหวัด (สสจ.) ก่อนผลิตหรือนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้การติดตาม กำกับดูแลและแก้ปัญหาการใช้สารห้ามใช้ในเครื่องสำอางได้อย่างครอบคลุม สำหรับผู้บริโภคที่ต้องการชุดทดสอบเครื่องสำอางนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 0-2951-0000 ต่อ 99499, 99926 หรือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศ รุมค้านประกาศสมุนไพร 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตรายจากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประกาศให้ผลิตภัณฑ์จากชิ้นส่วนพืช ซึ่งไม่ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมี 13 ชนิด ประกอบด้วย สะเดา ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ขิง ข่า ดาวเรือง สาบเสือ กากเมล็ดชา พริก ขึ้นฉ่าย ชุมเห็ดเทศ ดองดึง และ หนอนตายยาก เป็นวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 บัญชี ข และมี ผลบังคับใช้แล้วนั้น นพ.ประพจน์ เภตรากาศ รองอธิบดี กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกล่าวว่า การบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมหาศาลแน่นอน เพราะพืชทั้ง 13 ชนิด เป็นพืชสมุนไพรไทยพื้นบ้านที่เป็นวิถีชีวิตของคนไทยมานาน หากมีการกำหนดเป็นวัตถุอันตรายแล้ว ถ้ามีครอบครอง หรือครอบครองไว้เพื่อจำหน่ายจะต้องมีการจดแจ้งหรือขออนุญาตให้ถูกต้อง ซึ่งส่วนนี้จะมีผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่ปลูกหรือขายพืชเหล่านี้ ตามตลาดสดต่างๆ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมขนาดย่อม เช่น วิสาหกิจชุมชน ที่นำพืชสมุนไพรไทยมาดัดแปลงทำเป็นยาสมุนไพรด้วย 13 ก.พ. 2552 ก.สาธารณสุขขอให้ถอนประกาศพืช 13 ชนิดออกจากวัตถุอันตรายจากการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกประกาศให้สมุนไพรไทย 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 ซึ่งจัดโดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีตัวแทนจากหน่วยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมมากมายนั้น ต่างก็เห็นด้วยให้ถอนสมุนไพรทั้ง 13 ชนิดออกจากการเป็นวัตถุอันตราย นพ.นรา นาควัฒนานุกูล อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า “จากการรับฟังความเห็นต่างเห็นตรงกันว่า ควรมีการถอนประกาศที่ให้สมุนไพรไทย 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากมีผลกระทบ โดยเฉพาะการสร้างความกังวลในการใช้และบริโภคสมุนไพรดังกล่าว ทั้งในรูปแบบอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แม้ว่าการออกประกาศฉบับนี้ทำไปเพื่อเจตนาคุ้มครองผู้บริโภค แต่ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า น่าจะใช้วิธีอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดกว่า เช่น การส่งเสริมเกษตรกรให้ใช้สมุนไพรในการควบคุมแมลงและศัตรูพืช การจัดตั้งกองทุนที่จัดเก็บภาษีจากการนำเข้าสารฆ่าแมลงเพื่อนำมาใช้ในการลดผลกระทบจากการใช้สารยาฆ่าแมลงรวมทั้งดูแลสุขภาพประชาชน ทางกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ จะสรุปความเห็นจากที่ประชุมนี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมในการหาทางออกที่เหมาะสมต่อไป” ขณะที่ นางสาวทัศนีย์ วีระกันต์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวว่า ในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ ทางเครือข่ายภาคประชาชน และเครือข่ายเกษตรกรรม จะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการธรรมาภิบาล วุฒิสภา ซึ่งมีนางรสนา โตสิตระกูล สว.กทม. เป็นประธาน เพื่อให้มีการตรวจสอบวิธีการกระบวนการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการออกประกาศฉบับนี้ว่ามีความไม่ชอบพากลหรือไม่ เพราะสันนิษฐานว่าจะมีผลประโยชน์จากบริษัทผลิตสารเคมีกำจัดศัตรูข้ามชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งการที่กระทรวงอุตสาหกรรมออกมาชี้แจงเหตุผลโดยระบุว่าเกิดผิดพลาดนั้นไม่เพียงพอ ควรจะมีหน่วยงานอื่นเข้าไปตรวจสอบและหาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศพืช 13 ชนิด เป็นวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตรยอมถอนประกาศพืช 13 ชนิดเป็นวัตถุอันตราย ขอปรับเนื้อหาใหม่ รับทำสังคมสับสน ยันหวังดี ป้องกันเกษตรกรถูกหลอกใช้สารสกัดปราบศัตรูพืชไม่มีคุณภาพ ส.ส.ปชป.เรียกร้องให้ยกเลิก เผย"อภิสิทธิ์-สุเทพ"หนุนให้ทบทวน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร แถลงว่า “ผมจะทำหนังสือไปถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อขอให้ถอนประกาศฉบับนี้ แล้วนำมาปรับปรุงแก้ไขข้อความบางส่วน อาทิ เพิ่มเติมชื่อสารนำหน้าชื่อพืชสมุนไพร พร้อมระบุว่าใช้สำหรับการผลิตสารปราบศัตรูพืชไว้ด้านหลัง เพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น และจะถอนร่างประกาศของกรมฯ ที่ระบุถึงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้ มาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกันด้วย" 16 ก.พ. 52สปสช.เสนอ ครม.ขยายสิทธิครอบคลุมคนไร้สัญชาตินพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสปสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการให้ประชาชนประชาชนที่เกิดในประเทศไทยแต่ยังไม่สามารถพิสูจน์สัญชาติได้และอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานซึ่งมีอยู่ประมาณ 370,000 คน ให้มีหลักประกันสุขภาพ โดยจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติในหลักการให้ใช้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวครอบคลุมบุคคลกลุ่มดังกล่าว โดยเริ่มในงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับ ปี 2552 ในอัตรา 2,202 บาทต่อประชากร ซึ่งเป็นไปตามตามจำนวนที่มีการขึ้นทะเบียนจริง ที่ผ่านมา รพ.ในถิ่นทุรกันดารโดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ตาก แม่ฮ่องสอน ต้องรับภาระด้านงบประมาณคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตามมนุษยธรรม โดยก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพยังพอมีงบประมาณช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยมาดูแล แต่ปัจจุบันสิทธิด้านการรักษาครอบคลุมคนไทยทุกคน คนที่รอการพิสูจน์สัญชาติจึงไม่มีงบใดๆ มาช่วยเหลือ และหากไม่ดูแลคนกลุ่มนี้ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด หรือเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ทำให้สถานพยาบาลต้องรับภาระหนักขึ้นในการดูแล 26 ก.พ.52 เครื่องสำอางทำให้ขาวไม่มีสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย บรรยายพิเศษเรื่อง “ขาวอันตราย ...ขาวอย่างปลอดภัย” โดย รศ.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตผู้ขายที่นำผงไข่มุก ไข่ปลาคาร์เวีย หรือน้ำลายหอยทาก ทั้งที่เป็นส่วนผสมของเครื่องสำอางและใช้โดยตรง โดยอ้างว่าเพื่อบำรุงผิวพรรณนั้น ขอยืนยันว่า ทางการแพทย์ ไม่พบว่ามีสรรพคุณในการบำรุงผิวพรรณแต่อย่างใด รวมถึงสารกลูตาไธโอนที่เป็นยารักษาโรคมะเร็ง แต่นิยมนำมาทำให้ผิวขาว ก็ยังไม่พบว่ามีการวิจัยทางการแพทย์ในมนุษย์ยืนยันสรรพคุณดังกล่าวเช่นกัน จึงไม่สามารถตอบได้ว่าได้ผลจริงหรือไม่ ดีหรือไม่ดี ในส่วนของทองคำ พบว่า มีงานวิจัยยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการสมานผิว ลดการอักเสบของผิวหนัง รวมถึงรักษาโรคปวดข้อ แต่สิ่งที่น่าห่วงคือ อนุภาพของเงินกับทองที่มีขนาดเล็กมาก อาจเข้าไปสะสมตามผิวหนังและอวัยวะต่างๆของร่างกายทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ส่วนที่มีการโฆษณามากๆ อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของเซลล์ต้นกำเนิดหรือสเต็มเซลล์ โดยมีครีมที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์สำหรับทา เพื่อให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จริง เพราะสเต็มเซลล์จะใช้วิธีฉีดเท่านั้น อีกทั้งการใช้สเต็มเซลล์ทางการแพทย์รับรองแต่เพียงการใช้เพื่อการรักษาโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ดังนั้นเครื่องสำอางที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์นั้นไม่เป็นความจริง อย่างมากก็แค่มีสารในน้ำเลี้ยงสเต็มเซลล์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า เรื่องสเต็มเซลล์อาจเป็นคำตอบของการรักษาในอนาคต วิธีที่ทำให้ผิวขาวทำได้แต่ก็คงไม่ขาวเกินกรรมพันธุ์ของแต่ละคน วิธีการคือ การหลีกเลี่ยงแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นการกางร่ม ใส่แว่นดำ รวมถึงการใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟเหมาะสม และมีการใช้ที่ถูกวิธี ผู้บริโภคยื่น 12,000 รายชื่อ เสนอ กม.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อประธานรัฐสภา19 กุมภาพันธ์ 2552 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคฟันธง...ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลไม่ อิสระจริง เดินหน้า ยื่น 12,000 รายชื่อเสนอกฎหมายฉบับของประชาชนต่อประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีที่กำกับดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำไปพิจารณาผลักดันให้เป็นกฎหมายของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริงนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จากภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กลุ่มคนคอนโด ชมรมเพื่อนโรคไต ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค รวมจำนวน 120 คน ได้เดินทางมาเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เพื่อยื่นรายชื่อของประชาชนจำนวน 12,208 รายชื่อเพื่อเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ.....ฉบับของภาคประชาชนเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ฉบับปี 2540 จนถึงฉบับปัจจุบันในมาตรา 61 ที่ได้บัญญัติให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้มี (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลอยู่อีก 1 ฉบับ ซึ่งนำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้จัดประชุมพิจารณาสาระกฎหมายของรัฐบาลเปรียบเทียบกับร่างฉบับประชาชนไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างกัน เช่น ร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ได้ให้คณะกรรมการองค์การอิสระทำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลา แต่เน้นความสำคัญไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานที่จะเป็นผู้ชงเรื่องส่งขึ้นไปให้ คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ไม่ต่างจากโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังไม่สามารถทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปัญหาที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของภาคประชาชนนั้นจะให้ความสำคัญกับคณะกรรมการองค์การอิสระฯ โดยให้ทำงานในลักษณะเต็มเวลา และให้มีเลขาธิการสำนักงาน ทำหน้าที่เป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการและบริหารกิจการในสำนักงานเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในฉบับของภาคประชาชนนั้นจะเขียนอย่างชัดเจน ที่จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคขึ้นอย่างน้อยในทุกจังหวัด และที่สำคัญคือการสนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการฟ้องแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งร่างของรัฐบาลไม่มีในส่วนนี้ หรือการไม่เขียนอย่างชัดเจนว่า งบที่รัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนเพื่อการดำเนินการขององค์การอิสระนั้นจะเป็นจำนวนเท่าไร แต่กลับปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้องค์การอิสระผู้บริโภคไม่อิสระอย่างแท้จริง เพราะถูกควบคุมกำกับด้วยงบประมาณ ในขณะที่ร่างกฎหมายของประชาชนนั้นจะกำหนดชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณ ไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศต่อปี หรือตกปีละ 300-400 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการกระจายงบของรัฐบาลตามโครงการต่างๆ ในปัจจุบันนอกจากนั้นนางสาวสารี คาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคมีที่ปรึกษา เป็นจุดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ มีการทำงานเชิงรุกไม่ตามแก้ปัญหา เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคในการให้ความเห็นต่อการดำเนินการทั้งที่เป็นประโยชน์และเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค อย่างเช่น การออกประกาศวัตถุอันตรายที่เป็นสมุนไพร 13 รายการ การออกกฎกระทรวงยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตและใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพไม่เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคว่าคิดเห็นอย่างไรไม่น่าจะกระทำได้“พวกเราเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลถูกนำมาบังคับใช้ในอนาคต เราก็อาจเห็นคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภค เป็นเพียงแค่คณะอนุกรรมการชุดหนึ่งเท่านั้นของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงได้ช่วยกันรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อ เสนอกฎหมายที่เป็นร่างของประชาชน โดยสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 12,208 รายชื่อ ซึ่งได้ยื่นให้ท่านประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกที่ดูแลรับผิดชอบ งานด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้นำไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายต่อไป และหวังว่าร่างกฎหมายองค์การอิสระของภาคประชาชนจะถูกบังคับใช้ในรัฐบาลสมัย นี้” นางสาวสารีกล่าว เครือข่ายผู้บริโภค ร้อง กทช.สะสางปัญหา 107 บาท12 กุมภาพันธ์ 2552 เครือข่ายผู้บริโภค 7 ภูมิภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเข้ายื่นหนังสือต่อ กทช.ให้ออกคำสั่งยกเลิกเงื่อนไขวันหมดอายุบัตรเติมเงิน และขอให้บังคับไม่ให้เรียกเก็บค่าต่อสัญญาณ 107 บาท จี้ให้ยกเลิกใบอนุญาตผู้ประการที่เรียกเก็บ 107 บาทด้วยเครือข่ายผู้บริโภคกว่า 200 คน นำโดยนางปฐมมน กันหา เครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง เดินขบวนจาก สถานีรถไฟฟ้า อารีย์ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เพื่อ ยื่นหนังสือเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ บังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยยกเลิกบทเฉพาะกาล ข้อ 36 วรรคสุดท้าย เพราะเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าเป็นช่องโหว่ที่ถูกนำมาอ้างว่าสัญญาใหญ่ยัง อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กทช.พร้อมทั้งขอให้ทาง กทช.มีคำสั่งที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการยกเลิกเงื่อนไขวันหมดอายุของระบบบัตรเติมเงิน และยกเลิกการเก็บค่าเชื่อมต่อสัญญาณ ส่วนผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค และละเมิดสิทธิโดยการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการต่อบุคคลอื่น ขอให้ยกเลิกใบอนุญาต หรือกำหนดมาตรการการลงโทษขั้นเด็ดขาด รวมทั้งขอให้ กทช.เร่งดำเนินการคงสิทธิเลขหมาย โดยควบคุมการเรียกเก็บค่าบริการให้เกิดความเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่126 เกษตรอินทรีย์ท้องถิ่นที่พะงัน: เมื่อชุมชนรับรองกันเอง

  ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง   เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็เป็นเกษตรอินทรีย์กันไปหมด หันไปทางไหนก็มีสินค้าออร์แกนิค ที่อ้างว่า ผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์  บางคนอาจมีการขอรับรองมาตรฐานเฉพาะของบ้านเรา และบางคนก็หลายมาตรฐานทั้งยุโรป อเมริกาและสากล ดูลายตาไปทีเดียว  ที่จริงแล้ว การรับรองมาตรฐานหรือไม่นั้น ไม่ใช่สิ่งบ่งบอกความเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ทั้งหมด  มีเกษตรกรหลายคน ฟาร์มหลายแห่ง ที่ทำเกษตรโดยยึดหลักการเกษตรอินทรีย์จริงๆ (ตามหลักการของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ ที่ประกอบด้วยหลักการ 4 ด้าน คือ สุขภาพ นิเวศ เป็นธรรม และดูแลเอาใจใส่) โดยไม่ได้ขอรับรองมาตรฐาน  แต่ก็มีหลายฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโดยไม่ค่อยจะเป็นไปตามหลักการที่ว่านี้เท่าไหร่ โดยเฉพาะปัจจุบัน การรับรองมาตรฐานเป็นธุรกิจที่หน่วยตรวจรับรองมาตรฐานหลายแห่งให้บริการตรวจรับรองฟาร์ม โดยไม่ได้ใส่ใจถึงคุณภาพและหลักการเกษตรอินทรีย์กันเท่าไหร่นัก  แต่การรับรองมาตรฐานก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ผลิต ผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการจำหน่ายผลผลิตไปให้กับผู้บริโภคที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งผู้บริโภคไม่สามารถทราบและมีความมั่นใจว่า ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคนั้น มาจากระบบเกษตรอินทรีย์จริงมากน้อยแค่ไหน  แต่สำหรับเกษตรกรผู้ผลิตที่ขายผลผลิตในท้องถิ่นหรือขายโดยตรงให้กับผู้บริโภค การตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์อาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก  เมื่อกลางปีที่ผ่านมา(16 สิงหาคม 2553) องค์กรและหน่วยงานท้องถิ่นเกาะพะงัน ได้ประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาเกาะพะงัน ให้เป็นเกาะแห่งเกษตรอินทรีย์ โดยมีท่านรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ เป็นประธานในการจัดงานดังกล่าว และต่อมาทางกระทรวงพาณิชย์ได้ ริเริ่มโครงการ "เกาะพะงัน เกาะเกษตรอินทรีย์" ขึ้น โดยมอบหมายให้มูลนิธิสายใยแผ่นดินเป็นที่ปรึกษาร่วมกันกับสมาคมการค้าเกษตรอินทรีย์ไทย เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นบนเกาะพะงันร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์ โดยจะมีการสนับสนุนให้เกษตรกรบนเกาะพะงันผลิตอาหารออร์แกนิค ส่งขายให้กับร้านอาหาร โรงแรม และใช้เป็นอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน ส่วนเศษอาหาร อาหารที่เป็นขยะอินทรีย์จะถูกจัดแยก แล้วนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ราคาถูกเพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ เป็นการแก้ปัญหาขยะเศษอาหารและปัญหาการขาดแคลนปุ๋ยอินทรีย์ไปพร้อมกัน  นอกจากนี้ จะมีการสนับสนุนให้โรงแรมเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ที่ใช้ในห้องพักและสวนไม้ประดับรอบโรงแรม มาเป็นสารกำจัดแมลงจากธรรมชาติ ที่ไม่เป็นพิษภัยต่อมนุษย์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย  หลายคนอาจเห็นว่า การพัฒนาเกาะพะงันเกษตรอินทรีย์นี้น่าจะต้องใช้ระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน ที่มีการทำอยู่แล้วในต่างประเทศมาใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะนักท่องเที่ยว(ทั้งคนไทยและคนต่างชาติ) มีความมั่นใจในสินค้าและบริการเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นบนเกาะพะงัน โดยให้หน่วยงานอิสระจากภายนอกเป็นผู้เข้ามาตรวจสอบรับรองมาตรฐาน แต่ที่จริงแล้วเกาะพะงันมีทางเลือกอย่างอื่นอยู่อีก  จากการศึกษาข้อมูลโดยมูลนิธิสายใยแผ่นดินพบว่า  มีระบบการตรวจสอบรับรองเกษตรอินทรีย์ที่น่าจะเหมาะสมกับเกาะพะงันมากกว่าการตรวจสอบจากภายนอก คือระบบที่สมาชิกกลุ่มผู้ผลิต/ชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบกันเอง ซึ่งเรียกว่า Participatory Guarantee System หรือถ้าจะเรียกแบบไทยๆ ก็คือ "ชุมชนรับรอง" โดย ระบบ "ชุมชนรับรอง" นี้เป็นการริเริ่มของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) กับหน่วยงานระหว่างประเทศและองค์กรท้องถิ่นอีกหลายแห่ง ซึ่งเห็นร่วมว่า ระบบการตรวจสอบรับรอง มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่ดำเนินการโดยหน่วยงานอิสระจากภายนอกนั้นไม่ได้เหมาะกับเกษตร อินทรีย์ที่ต้องการขายผลผลิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะระบบการตรวจสอบรับรองปกติทั่วไปมักจะเป็นการ "จับผิด" เกษตรกร มากกว่าเป็นการสร้างความเข้มแข็ง อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงด้วย ในระบบชุมชนรับรองนี้ เกษตรกรจะเป็นผู้รับรองกันเองในกลุ่มละแวกเดียวกัน(ถ้าเป็นภาษาวิชาการสมัยใหม่ก็ต้องเรียกว่า คลัสเตอร์เกษตรกรอินทรีย์) โดยสมาชิกกลุ่ม ซึ่งอาจมีประมาณ 5 - 7 คน จะหมุนเวียนไปตามฟาร์มของเพื่อนสมาชิก ไปเยี่ยมเยือนและตรวจรับรองฟาร์มเกษตรอินทรีย์ไปพร้อมกันด้วย ซึ่งในหมู่สมาชิกเกษตรกรอาจแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้และให้ข้อแนะนำกันเองไปในตัว  เรียกว่าไปครั้งเดียวได้ประโยชน์หลายอย่าง ยิ่งกว่า "3 in 1" เสียอีก  และถ้าใครคิดว่าเกษตรกรจะโกงกันเองก็สามารถเข้ามาตรวจสอบระบบชุมชนรับรองนี้ได้  ไม่ว่าจะเป็นเข้าไปดูในเว็บไซต์ของกลุ่ม ซึ่งจะมีข้อมูลรายละเอียดของเกษตรกรสมาชิกทุกราย รวมทั้งผลการตรวจรับรองโดยชุมชนด้วย  และถ้ายังไม่เชื่อกันอีก ก็สามารถแวะเวียนไปดูฟาร์มของเกษตรกรด้วยตัวเองได้ ซึ่งอาจกลายเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย  นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการพัฒนา “เกาะพะงัน เกษตรอินทรีย์” ที่ทางมูลนิธิสายใยแผ่นดินได้เริ่มดำเนินการร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องบนเกาะพะงัน  ถ้าใครสนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ ที่ facebook/Organic Phangan หรือจะไปทดลองเป็นนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร ไปดูฟาร์มเกษตรอินทรีย์ที่พะงันด้วยก็ได้ครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 162 รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ

ฉลาดซื้อฉบับที่ผ่านมา เราพาไปรู้จักกับบุคลากรด้านสาธารณสุขในหลายวิชาชีพ ในฉบับนี้จึงขอส่งท้ายอีกสักเล่ม เพราะหลายๆ ครั้งที่ชาวฉลาดซื้อไปออกบูธตามงานหนังสือ มักมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยเลยที่สนใจเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพสายตา ยิ่งเดี๋ยวนี้มีข่าวอันตรายจากบิ๊กอายส์ เลนส์สี หรือบางคนก็ใส่คอนแทคเลนส์แบบไม่ถูกวิธี วันนี้จึงขอพาไปพูดคุยกับคุณหมอ รศ.พญ.งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ รองหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ฝ่ายบัณฑิตศึกษา  คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณหมอท่านเป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขากระจกตา  ซึ่งท่านเล่าให้ฟังว่า ที่เลือกเรียนในสาขานี้ เพราะเป็นความสนใจส่วนตัว  เนื่องจากคนเราต้องรับรู้เกือบทุกอย่างผ่าน หู ตา คอ จมูก แต่คุณหมอพบว่าตามันเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก เลยรู้สึกสนใจเป็นพิเศษ และเทคโนโลยีเรื่องการรักษาตามันไปไกลมากเมื่อเทียบกับด้านอื่นๆ ก็เลยรู้สึกสนุกและติดตามด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เรื่องตามันช่วยบ่งบอกเรื่องสุขภาพในด้านอื่นๆ ด้วยไหม โรคบางอย่างของร่างกายมันโชว์ที่ตานะ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือการได้รับยาบางอย่าง โรคเนื้องอกที่แพร่กระจายบางอย่างเราสามารถหาหลักฐานทางตาเอาไปช่วยสนับสนุนได้ อย่างเช่น เราเห็นว่ามีไขมันฝังอยู่ในตาของเด็กที่อายุน้อยเกินไป เพราะปกติอาการแบบนี้จะพบในคนอายุประมาณ 35 – 40 ปีขึ้นไป ถ้าตรวจเจอในอายุน้อยกว่านั้นเรารู้แล้วว่าคนนั้นมีภาวะไขมันในเลือดสูง หรือบางคนตาแห้ง ตาพอง ก็ส่งไปตรวจว่าเป็นไทรอยด์หรือเปล่า สถานการณ์เด่นๆ ของการเจ็บป่วยเกี่ยวกับดวงตา ในระยะ 2 – 3 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาเรื่องที่จะเจอบ่อยๆ มีอยู่ 2 เรื่อง คือการใช้คอนแทคเลนส์ การใช้ Mobile Device หรือที่มีการเล่นไลน์กัน  2 ส่วนนี้ทำให้มีคนไข้มาหาเราเยอะมาก ในส่วนแรกเรื่องของคอนแทคเลนส์นั้น จริงๆ การใส่คอนแทคเลนส์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วส่วนใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการมองเห็น  แต่เนื่องจากว่ามีเรื่องของแฟชั่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น หรือการเลียนแบบดาราต่างประเทศ ทำให้หลายคนคิดว่าต้องมีตาดำที่โต ตาดำที่แหวกแนวแบบพวกดาราเหล่านั้น เพราะฉะนั้นคอนแทคเลนส์ก็เลยมีแบบสวยงามเพื่อใส่ตอนกลางวันทำงานออกมา แล้วก็มีแบบปาร์ตี้ แล้วการใช้คอนแทคเลนส์นั้น  เลนส์ยิ่งใหญ่มันจะทำให้ไปบดบังออกซิเจนไม่ให้เข้าตา ซึ่งลูกตาก็จะขาดออกซิเจนได้ แล้วก็จะทำให้เส้นเลือดเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตาแดงได้ คนไข้ก็มาเพราะไม่สบายตา อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วๆ ไป   แต่สิ่งที่สำคัญที่ลงหนังสือพิมพ์ในช่วง 1 – 2 ปีนี้คือ ตัวคอนแทคเลนส์นั้นกลับมาถูกเด็กเล็กในอายุสิบกว่าๆ ซึ่งอายุเท่านี้เป็นวัยที่สมัยก่อนต้องให้พ่อแม่พามาซื้อ แต่เดี๋ยวนี้มีขายเกลื่อนในท้องตลาดซึ่งทำให้ซื้อหาง่าย พอซื้อหาง่ายดูในทีวีสวยก็ซื้อมาใส่ แต่ด้วยปัจจัยของเด็กที่มีไม่ได้เยอะ ทำให้มีการเอามาแลกกันใส่โดยไม่ได้คำนึงถึงการที่มันพอดีกับสายตาของตนเอง เพราะลูกตาคนเราไม่เท่ากัน ไม่มีการเคิร์ฟของลูกตาดำว่าเท่าไร แล้วพอซื้อตามร้านก็ซื้ออะไรก็ไม่รู้ ทำให้เกิดความไม่คงที่ ทำให้ปวดตาได้ หรือความที่ไม่รู้ทำให้มาแลกกันใช้ ไม่มีการให้ความรู้ในเรื่องความสะอาด ปกติคอนแทคเลนส์ต้องล้างทุกวัน ด้วยล้างน้ำยา แต่เด็กพวกนี้ไม่ได้ทำเลย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือเกิดการติดเชื้อที่ดุมาก คือเชื้อนี้เป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อกระจกตา ทำให้กระจกตาทะลุ และอาจทำให้ตาบอดได้ เป็นอันตรายที่คิดว่าต้องหาทางป้องกัน การป้องกันต้องป้องกันในสองลักษณะคือ หนึ่ง เกิดจากเด็กที่ไม่มีความรู้ และสอง คือมีขายเกลื่อนตามท้องตลาด มันเข้าถึงง่ายเกินไป  ซึ่งอาจจะเป็นของที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยซ้ำ การที่เด็กใช้คอนแทคเลนส์ไม่ถูกวิธี เพราะฉะนั้นเวลาติดเชื้อขึ้นมา การรักษาเนื่องจากเด็กเคืองตาแล้วปล่อยทิ้งไว้  ไม่ได้มาหาหมอทันที การรักษาก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง แล้วเรื่องที่เกี่ยวกับแสงจากโทรศัพท์มือถือ คนไข้ที่มาหาที่ห้องผู้ป่วยนอกมีเยอะมากเลย คือ เคืองตา ไม่สบายตา แสบตา ซักถามไปมาก็คือมันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในปัจจุบันเพราะเราทุกคนต้องใช้ เด็กก็ใช้ คุณครูก็ใช้สั่งงานผ่านทาง Facebook แล้ว และเวลาเด็กเข้าไปทำงานเขาก็ไม่ได้เข้าผ่านจอคอมพิวเตอร์แล้วเขาใช้ผ่านมือถือ เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่เราใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว ที่สหรัฐอเมริกา เขาทำการศึกษาเลยว่า การใช้โทรศัพท์มือถือ ไอแพด รวมทั้งคอมพิวเตอร์นั้น มีกี่เปอร์เซ็นต์ใช้เกิน 10 ชั่วโมง กี่เปอร์เซ็นต์ใช้เกิน 6 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการใช้ของพวกนี้พบเลยว่า แสงจากหน้าจอทำให้แสบตา อันที่ 2 คือหน้าจอเครื่องพวกนี้มันมีความ Bright มาก คือ เวลาเราดูภาพอะไรเล็กๆ เราจะจ้องเขม็งไม่ได้กะพริบตา เคยมีการศึกษาโดยเอาเครื่องมือมาจับการกะพริบตาพบว่า การกะพริบตาของคนเราลดลงได้ 2 – 10 เท่าเลยทีเดียวในขณะจ้องอยู่หน้าจอพวกนี้ ยิ่งเวลาเล่นเกมยิ่งไม่กะพริบตาเลย กะพริบก็กะพริบเร็วๆ ไม่สุด เพราะฉะนั้นเมื่อตาอยู่อย่างนั้นน้ำตาก็ระเหย ตาก็จะแห้ง แล้วก็แสบตา การจ้องนานๆ กล้ามเนื้อทำงานเยอะนอกจากแสบตาและตาแห้งแล้ว การจ้องนานๆ กล้ามเนื้อไม่คลายทำให้ปวดตาและเห็นเป็นภาพซ้อน มองภาพแล้วเบลอ และถ้าเราหลีกเลี่ยงไม่ได้เราต้องให้ความรู้ในการที่จะใช้เครื่องมือพวกนี้ ต้องให้ทุกคตระหนักว่าการใช้เครื่องมือพวกนี้ทำอย่างไร มันก็มีเทคนิคการใช้เครื่องมือพวกนี้เหมือนกัน เวลาที่ใช้คอมพิวเตอร์เราไม่ควรใช้ติดต่อกันอย่างยาวนาน เพราะพบว่าการใช้ติดต่อกันยาวๆ นั้นก่อโรคแน่นอนเรียกว่า คอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม(Computer vision syndrome) ซึ่งโรคพวกนี้เป็นกันอยู่แล้วคนทำงานออฟฟิศ นักเรียนหรือคนที่ทำงานต้องใช้คอมพิวเตอร์อยู่ตลอดเวลา จริงๆ เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์วันละ 6 ชั่วโมง ได้ถ้าเราใช้ถูกต้อง ถูกต้องคือ เริ่มจากเลือกคอมพิวเตอร์ เลือกเก้าอี้ มือต้องวางระนาบ ตัวต้องสูงขึ้นมา ตาต้องหลุบมองแนวต่ำถ้าตาเบิกขึ้นไปน้ำตาจะระเหย คอมพิวเตอร์ต้องอยู่ต่ำกว่าสายตานิดหน่อย แล้วประมาณ 20 – 30 นาทีให้เบรกหรือพัก เบรกหมายถึง เบรกจากการมองคอมพิวเตอร์หรือการมองที่ใกล้ๆ ให้มองไปที่ไกลๆ เป็นระยะอนันต์เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวประมาณ 5 – 10 นาที เช่นพักไปห้องน้ำ ไปชงกาแฟดื่ม อย่างนั้นจะทำงาน 6 หรือ 8 ชั่วโมง ก็ทำได้ และระหว่างนั้นแสงสว่างในห้องต้องดีด้วย ไม่อยู่ในที่มืดเวลาทำงาน หรือดูหนังในห้องแล้วปิดไฟ สำหรับตำแหน่งที่ตั้งของไฟไม่ตั้งให้ส่องไปที่คอมพิวเตอร์เพราะจะทำให้แสงสะท้อน ตั้งคอมพิวเตอร์ไว้ใกล้หน้าต่างแสงก็สะท้อนเข้ามาเหมือนกัน เรื่องความสว่าง(Bright) นี่ก็สำคัญ Resolution ความคม ตัวหนังสือ  Font เป็นอย่างไร แนะนำคือ ต้อง 3 เท่าของตัวหนังสือที่เล็กที่สุดที่เราพอมองเห็นได้ ระหว่างทำตำแหน่งเก้าอี้เราต้องพอดีกับตัวคีย์บอร์ด นิสัยของการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดีคือ ต้องพยายามเบรกให้ได้ และกะพริบตาบ่อยๆ หมอต้องบังคับให้คนไข้กะพริบตาบ่อยๆ กะพริบตาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังไงก็ยังมีอาการตาแห้งมาหาเรื่อยๆ  สิ่งที่หมอช่วยได้ ก็คือเติมน้ำตาเทียมเข้าไปเวลาที่รู้สึกล้าที่ดวงตา ไม่สบายตา เบรก เติมน้ำตาเทียม กะพริบตาบ่อยๆ ก็จะช่วยได้ ซึ่งการให้ความรู้พวกนี้ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ปัญหาแบบเด็กสายตาสั้นก่อนวัยอันควรมีบ้างไหมคะ คนไข้ส่วนใหญ่ที่หมอพบ จะพบว่าคนมาหาเนื่องจากเคืองตา ไม่สบายตา ค่อนข้างเยอะ ทำให้สูญเสียเงินในการที่จะดูแล ต้องใช้ยา ส่วนปัญหาในเด็กที่พบคือ วุ้นตาเสื่อม ซึ่งอาการแบบนี้สมัยก่อนต้องอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป ถึงจะพบวุ้นตาเสื่อม ปัจจุบันในอายุ 20 – 30 ปีก็พบว่าเริ่มมีวุ้นตาเสื่อม แต่ยังไม่สามารถตอบได้ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะไม่ได้ทำการศึกษาเป็นตัวเลขไว้ แต่จากประสบการณ์คือมันเยอะกว่าในทฤษฎีที่เคยเรียนมา เป็นปรากฏการณ์ที่พบในปัจจุบัน มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่จะทำอย่างไรให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องสายตา ต้องบอกว่าถ้าเราจะใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เราก็ต้องไล่ตามว่าเทคโนโลยีเหล่านี้ให้รู้เท่าทัน เพราะมันมีทั้งคุณ และโทษ เราต้องรู้ว่า อะไรบ้างที่อาจจะเป็นปัญหากับสุขภาพเรา เช่น คอมพิวเตอร์ดีมากเลยเราจำเป็นต้องใช้ แต่เราต้องรู้ว่ามันจะส่งผลเสียกับตานะ ทำให้เกิดคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมได้นะ และยังมีผลกับร่างกายได้ด้วย เช่น ถ้าเราตั้งมือขึ้นมาพิมพ์คีย์บอร์ดเราก็จะปวดข้อมือ เพราะฉะนั้นมือเราต้องอยู่ในระดับระนาบ บางทีคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมมันทำให้เรารู้สึกเมื่อย เพลีย เหมือนเป็นคนป่วยเลยนะ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ร่างกายเราอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง ต้องติดตามว่าประสิทธิภาพในการใช้เครื่องมือพวกนี้เป็นอย่างไร ได้มาตรฐานไหม เพราะฉะนั้นเวลาจะซื้อมาใช้ก็ต้องคิดเหมือนกันว่า รุ่นนี้เมื่อก่อนจอคอมพิวเตอร์เป็นจอนูน ซึ่งมันปล่อยรังสีได้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นจอแอลซีดีไม่มีใครใช้จอนูนแล้ว เรื่องของรังสีก็ปลอดภัยในระดับหนึ่ง   เรื่องแสงจ้านี้พวกฟิล์มกรองแสงช่วยได้บ้างไหม มันจะช่วยให้สบายตา ก็จะมีแว่นที่ช่วยกรองแสงจากคอมพิวเตอร์สำหรับคนที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ก็มีแว่นที่ช่วยป้องกันไม่ให้มัน Brightness เกินไป อาจจะเป็นสีเทา กรองแสงสีฟ้าไปด้วยในตัว ก็จะมีแว่นเฉพาะเพิ่มความสบายตาให้คนไข้ เพราะฉะนั้นผู้บริโภคที่ต้องใช้ของพวกนี้ก็ต้องไปสืบหาว่าใช้คอมพิวเตอร์วิธีที่ถูกต้องคืออะไร ซึ่งจริงๆ แล้วก็หาอ่านได้ทั่วๆ ไปทั้งในอินเตอร์เน็ตและหนังสือ ปัญหาเกี่ยวกับตาที่พูดมาจะนำไปสู่ปัญหาเรื่องตาอื่นๆ หรือไม่ เช่น พวกต้อหิน ต้อกระจก ไม่เกี่ยวกับต้อหิน แต่จะเกี่ยวกับกระจกตา ผิวตา คือปัญหาเรื่องตาแห้ง ตาออกแดงๆ ตลอดเวลา ต้องเติมน้ำตาเทียมตลอดเวลา ความไม่สบายตา ผิวตานั้นถ้าเป็นมากผิวตาจะร่อน และโอกาสที่จะติดเชื้อก็เพิ่มมากกว่าปกติ ในผู้สูงอายุปัญหาด้านสายตาที่มาจากเทคโนโลยีมีบ้างไหมคะ ก็มีคนไข้ที่อายุมากแล้วเหมือนกัน คือเขาทำงานประเภทเล่นหุ้นไง จ้องกันทั้งวัน ตาก็แดงก่ำ พอใส่คอนแทคเลนส์ ซึ่งคอนแทคเลนส์มันทำให้ตาแห้งได้ง่ายอยู่แล้ว แล้วใช้คอมพิวเตอร์ด้วยอันนี้เลยเหมือน 2 เด้ง และพวกผู้สูงอายุที่ใช้ไอแพด ซึ่งจริงๆ มันก็ช่วยพัฒนาสมองส่วนหนึ่งนะ แต่ด้วยการใช้ที่ไม่ถูกต้องก็เกิดปัญหาได้ มันจึงต้องทำให้ความรู้ตรงนี้มากขึ้น   การบริจาคดวงตา ยังมีความสำคัญไหม สถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง การบริจาคตามีประโยชน์มากสำหรับผู้ที่กระจกตาพิการ กระจกตาเป็นส่วนใสๆ ที่อยู่ชั้นนอกสุดที่หักเหของแสง เป็นส่วนที่สำคัญมากเปรียบเทียบเหมือนเป็นจอทีวีเลย เมื่อแสงผ่านกระจกที่ไม่ใสเข้าไปได้คนไข้ตาก็มัว มองไม่เห็น เพราะฉะนั้นเราแก้ด้วยการเปลี่ยนกระจกใสๆ ก็สามารถช่วยได้ แต่ประเด็นคือทำไมถึงมีโรคพวกนี้เยอะ เพราะเป็นตั้งแต่เด็ก ทั้งเกิดอุบัติเหตุ และเมืองไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ชาวนา ชาวไร่โดนใบไม้ ใบหญ้าบาดเยอะมาก พอกระจกตาเสียไปจะกลายเป็นฝ้า แสงก็จะผ่านไม่ได้ พอแสงผ่านไม่ได้ภาพจะเบลอ แล้วการเปลี่ยนกระจกตานั้น มีคิวประมาณเจ็ดพันถ้าหมอจำไม่ผิด แล้วปีหนึ่งเราก็ผ่าตาได้ไม่เยอะ ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้ก็มีการรับบริจาคกับสภากาชาดไทย แต่ว่าประเทศไทยก็มีการยึดติดเรื่องการบริจาคตาว่าถ้าตายไปแล้วจะกลับบ้านไม่ถูก ซึ่งเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง หรือถ้าแม่จะบริจาคแต่ลูกไม่ให้ก็ไม่มีสิทธิ ต้องบอกว่าปัจจุบันดวงตา 1 ดวงนั้นทำประโยชน์ให้กับคนไข้ได้หลายคนเลย กระจกตาชั้นนอกทำอย่าง ชั้นในทำอย่าง ตาขาวใช้ได้อีก แต่ก็ขาดแคลนอีกเยอะเลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 151 ธ.ก.ส. ลดหนี้มโหฬาร ล้างบาป “กลุ่มเกษตรกรพันธุ์ใหม่”

เมื่อปี 2531 ต่อเนื่องปี 2532 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนเกษตรกรและคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาด้านการเกษตรให้มาเข้าร่วม “โครงการนิคมเกษตรกรรมเพื่อการส่งออกร่วมกับภาคเอกชน” หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ในสมัยนั้นว่า “โครงการเกษตรกรยุคใหม่” หรือ “เกษตรกรก้าวหน้า”ครั้งนั้น ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้ด้วยคำโฆษณาและความเชื่อมั่นในความเป็นธนาคารของรัฐ หนุ่มสาวที่เพิ่งเรียนจบหลายร้อยรายตัดสินใจสมัครสอบเข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ 80 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องทำสัญญาซื้อที่ดินที่ทุ่งดอนโพ ซึ่งเดิมอยู่ในเขตหมู่ 2 บ้านบางกะโด ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวา จากบริษัทร่วมโครงการคือบริษัท มีดีเทค จำกัด ในราคา 27.3 ล้านบาท โดยทำสัญญาจำนองกับ ธ.ก.ส. และทุกคนเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ร่วมกัน และมีบริษัท นิวเจนเนอร์เรชั่น ฟาร์มโปรดิวส์ จำกัด (เอ็น จี ซี) ทำหน้าที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ และมีพนักงานประจำในพื้นที่เพื่อประสานงานด้านการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่างประเทศ ควบคุมการคัดคุณภาพของผลผลิต จัดการเรื่องการบรรจุหีบห่อ และการขนส่งไปยังจุดหมายปลายทาง รวมทั้งให้บริการเครื่องจักรอุปกรณ์การเกษตรขนาดใหญ่ เช่น รถไถ เครื่องพ่นยา เครื่องรดน้ำ เป็นต้น ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ยกระดับเป็นหมู่บ้าน มีชื่อกลุ่มว่า สมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์ หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โครงการผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี บริษัทเอกชนก็ละทิ้งโครงการ ส่วน ธ.ก.ส. ก็มุ่งแต่ติดตามทวงหนี้ ปล่อยให้ชาวบ้านต่อสู้ดิ้นรนอย่างโดดเดี่ยวไปตามยถากรรม และต้องแบกรับภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อนำมาลงทุนทำเกษตร และเพื่อนำไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวจากบริษัทมีดีเทคฯ ในราคาร่วม 27.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาดในขณะนั้นมาก จนปี 2551 กลุ่มเกษตรกรกลุ่มนี้ได้นำเรื่องมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า พวกเขาเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท ขอให้มูลนิธิฯ หาหนทางช่วยเหลือด้วย   ธ.ก.ส. ให้สัญญาว่าจะช่วยสนับสนุนส่งเสริมด้านเงินทุนระยะยาวเพื่อให้พวกเขามีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคง มีบ้าน มีที่ดินอันสมบูรณ์เพื่อการเพาะปลูก จะช่วยส่งเสริมความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือทางการเกษตรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศโดยมีแหล่งรับซื้อที่แน่นอนจากการบริหารงานของบริษัทเอกชน ที่ ธ.ก.ส. จัดหามาให้     ผ่านไปเพียงแค่ 3-4 ปี ...พวกเขากลายเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการด้านการเกษตรที่ล้มเหลวของรัฐ แต่ต้องมาแบกรับภาระหนี้สินรวมกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยร่วม 100 ล้านบาท และเกษตรกรจำนวน 16 รายถูก ธ.ก.ส. ดำเนินคดีฟ้องร้องแล้วรวม 19 คดี เป็นทุนทรัพย์รวมทั้งสิ้นกว่า 30 ล้านบาท   แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อเราได้สอบถามข้อมูล ทราบความเป็นมาเห็นความเป็นจริงทั้งหมด จึงได้วางแนวทางการช่วยเหลือเป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การช่วยเหลือด้านคดีความ และการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรได้มีโอกาสนำปัญหาของตัวเองฟ้องต่อสังคม โดยแนวทางทั้งสองมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเกษตรกรและ ธ.ก.ส.อย่างเป็นธรรมการช่วยเหลือด้านคดีความ ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จัดทนายความเข้าไปช่วยเหลือต่อสู้คดีโดยชี้ให้ศาลได้เห็นว่า หนี้ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมิได้เกิดจากปัญหาของเกษตรกรโดยตรงแต่มาจากการดำเนินโครงการที่ล้มเหลวของรัฐบาลเองส่วนการช่วยเหลือเพื่อการฟ้องต่อสังคมนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบในเวลาต่อมาว่ายังมีกลุ่มกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี อีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในทำนองเดียวกัน จึงได้ใช้พลังจากสภาพของสุนัขจนตรอกของชาวบ้านรวบรวมกำลังใจและกำลังคนมารวมตัวที่หน้า ธ.ก.ส.สำนักงานใหญ่ นางเลิ้ง เมื่อ 12 มิถุนายน 2551 เพื่อยื่นข้อเรียกร้องเต็มขั้นคือ(1)ให้ ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้งหมด(2)ให้ธ.ก.ส. ยกเลิกหนี้สินให้เกษตรกรทั้งหมด และ(3) ให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาและชดใช้ค่าเสียโอกาสของชาวบ้านจากความล้มเหลวของโครงการดังกล่าว และได้มารวมตัวกันอีกครั้งที่หน้า ธ.ก.ส. เพื่อฟังคำตอบในวันที่ 19 มิถุนายน 2551ผลของการดำเนินการในครั้งนั้น ธ.ก.ส. รับพิจารณาข้อเสนอของเกษตรกรทั้งหมด โดยเรื่องเร่งด่วนที่สุดที่ดำเนินการคือการขอให้ศาลชะลอการดำเนินคดีออกไปก่อนและยุติการเรียกเก็บหนี้กับเกษตรกรทั้งต้นและดอกออกไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการเจรจาหาข้อยุติที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่ายกระบวนการเจรจาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและค่อยๆ มีความคืบหน้าเป็นลำดับ ต่อมาคณะกรรมการ ธ.ก.ส. ได้มีการประชุมครั้งที่  9/2553 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 พิจารณาและให้ความเห็นชอบในแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ดังนี้(1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย(2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นจากมติบอร์ด ธ.ก.ส. ดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรและ ธ.ก.ส. จึงได้มีหนังสือไปถึงกระทรวงการคลังในช่วงต้นปี 2554 เพื่อขอให้พิจารณาอนุมัติแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรดังกล่าว ปรากฏว่าเรื่องไม่มีความคืบหน้า จนปี 2556 มูลนิธิฯได้มีหนังสือติดตามเรื่องไปอีกครั้ง ได้รับแจ้งจากกระทรวงการคลังว่า ได้มีการแก้ไขกฎระเบียบภายในของ ธ.ก.ส. แล้วว่าตามแนวทางดังกล่าว ธ.ก.ส.สามารถดำเนินการเองได้เลย โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงได้ย้อนกลับไปติดตามเรื่องกับ ธ.ก.ส. ทำให้ทราบว่า เงื่อนไขต่างๆ ที่เคยมีมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากยอดหนี้เดิมตกคนละ 1.5-1.6 ล้านบาทลดเหลือเพียง 130,000 บาท กำหนดเวลาผ่อนชำระคืนไม่เกิน 9 ปี ใช้หลักประกันจำนองเดิม ส่วนเรื่องงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ ธ.ก.ส.ขอคิดอัตราดอกเบี้ย บวกลบ MRR 3% ซึ่งปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 4 ของยอดหนี้ที่ 130,000 บาทเพื่อให้เกิดสภาพบังคับไว้บ้างกลุ่มเกษตรกรได้พิจารณาเทียบกับระยะเวลาที่ได้หยุดพักชำระหนี้ไปตั้งแต่ปี 2552 จนมีโอกาสฟื้นฟูความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นตามลำดับ เห็นว่าข้อเสนอดังกล่าวแม้จะมีการคิดดอกเบี้ยอยู่บ้างแต่ก็มีความเหมาะสมแล้วและสามารถที่จะชำระหนี้ดังกล่าวได้ในเวลาอันรวดเร็ว เกษตรกรจำนวนกว่า 90 ครัวเรือนที่เคยตกเป็นทาสหนี้ครัวเรือนละ 1.5-1.6 ล้าน จึงยินยอมตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ใหม่เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานี่เองส่วนคนที่เคยถูกฟ้องร้อง ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการถอนฟ้องทั้งหมด แนวทางนี้ได้ถูกนำไปใช้แก้ไขปัญหาหนี้ของกลุ่มเกษตรกรทำสวนเขาดิน อ.เดิมบางนางบวช และ อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี เช่นกัน จนสามารถปลดหนี้ไถ่ถอนที่ดินสร้างความเป็นไทให้กับครอบครัวได้ในเวลาไม่นานวันนี้ฟ้าใหม่เปิดแล้ว เนื้อที่ 565 ไร่ 2 งาน 64 ตารางวาของกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านสิงห์กำลังกลับคืนสู่ความเป็นเจ้าของของพวกเขาอีกไม่นาน หมู่บ้านดอนโพ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี เป็นสถานที่ผลิตพืชผักผลไม้นานาพรรณ ใครผ่านไปทางนั้นควรไปแวะเยี่ยมชมและซื้อหาผลผลิตได้ในราคาย่อมเยา ชาวบ้านฝากบอกว่า ยินดีต้อนรับเป็นอย่างยิ่ง   แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร จากการประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2553 (1) ให้ความเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. นำเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาอนุมัติการจำหน่ายหนี้เงินกู้ต้นเงินส่วนที่ ธ.ก.ส. ลดหนี้ให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นลูกค้าดังกล่าวเป็นหนี้สูญ รวมทั้งโครงการอื่นที่จำเป็นต้องจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญด้วย (2) อนุมัติให้ ธ.ก.ส.ปรับปรุงโครงสร้างนี้ ด้วยการลดต้นเงินบางส่วน ลดดอกเบี้ยค้างทั้งหมด และงดดอกเบี้ยใหม่ โดยให้มีต้นเงินคงเหลือรายละ 130,000 บาท แล้วนำมาขยายระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 9 ปีตามศักยภาพของลูกค้า และงดดอกเบี้ยที่เกิดใหม่ โดยใช้หลักประกันจำนองเดิม และอนุญาตให้ลูกค้าไถ่ถอนที่ดินหลักประกันจำนองได้เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้น  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 ขอประกันสำหรับชาวประมงด้วยได้ไหม

เราๆ ท่านๆ คงจำกันได้กับเหตุการณ์วิปโยค น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ(ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้น้ำก็ยังท่วมภาคใต้อยู่) ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก   ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกสลดใจและเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน  และเราท่านก็คงเห็นเหมือนกันว่าหลังวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือมาตรการฟื้นฟูเยียวยา  ทั้งจากรัฐและเอกชน แต่ที่เป็นหลักจริงๆ หนี้ไม่พ้นรัฐ   ซึ่งมาตรการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อที่สุดก็เห็นจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร นั่นเองถึงแม้จะไม่ได้เท่าที่เสียหายแต่เกษตรกร ก็ยังพอเห็นทางรอดอยู่บ้าง ปัญหาคือเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวไร่ชาวนาที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเกษตรกรอีกกลุ่ม   แต่ไม่เคยมีชื่อในสารระบบเกษตรกรนั่นคือชาวประมง วันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นชาวประมงคนหนึ่ง จึงอยากสะท้อน สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นนั่นคือความเดือดร้อนของ ชาวประมงพื้นบ้านและชายฝั่งขนาดเล็กในอ่าวไทย หลังเหตุการณ์น้ำท่วม(ทุกปี)เปล่า..เขาไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่ถูกผลักดันลงทะเล  จนทะเลชายฝั่งในอ่าวไทย กลายเป็นทะเลน้ำกร่อย    เมื่อน้ำทะเลกร่อย(จืด)  กุ้ง,หอย,ปู,ปลา ก็อยู่ไม่ได้   ที่ไหนหนีได้ก็หนี หนีไม่ทันก็ตาย   ทำให้ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยกลายเป็นทะเลร้าง...ชาวประมงชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไม่สามารถทำมาหากินได้มากกว่า 3  เดือนที่สำคัญไม่มีอาชีพอื่นรองรับจ้า   หาปลาไม่ได้ก็ไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเขาไปเพื่อเอาชีวิตให้รอด  โดยไม่มีหน่วยงานไหนพูดถึง แม้กระทั่งกรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง   ขณะที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือ   ชาวประมงเหล่านี้จะเอาอะไรไปแจ้ง  ในเมื่อหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าความเสียหายนั้นกี่ไร่ เลี้ยงอะไร  เรือเสียหายมั้ย  เรือมีทะเบียนหรือเปล่า. มีใบอนุญาตทำประมงมั้ย ยิ่งเรือเล็กๆ ไม่มีที่จะเรียกร้องเลยสักข้อ ข้อแม้เหล่านี้ทำให้ชาวประมงกว่า 10,000  ลำ ต้องทนทุกข์โดยไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ได้  ผู้เขียนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าชาวประมงไม่ต้องลงทุนอะไร  เพียงไปกอบโกยจากทะอย่างเดียวเสียที   เพราะอาชีพประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก   ออกทะเลไปแต่ละวัน ไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือไม่ได้  ขาดทุนได้กำไรไม่เคยรู้  แม้แต่จะได้มีชีวิตกลับเข้าฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถตอบได้ หากรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ยังเห็นว่าชาวประมงก็เป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาก็น่าจะดี เราคงไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ ต้องเลิกทำอาชีพประมงกันใช่มั้ย ถ้าเขาเลิกไปจริง เราจะเอาปลาที่ไหนมากินกันล่ะท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 อย่างนี้มันต้อง…ถอน

ต้องถามว่าเรายังจำลุงช่วย ณ ธนาคารออมสินได้ไหมล่ะจ๊ะ หากจำไม่ได้จะบอกให้ ก็ลุงช่วยคนที่เอาขี้ราดตัวประท้วงออมสินไง แนะๆๆ จำได้แล้วใช่ไหม ในสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้ เหตุการณ์อย่างนั้นกำลังจะกลับมาอีก ผู้เขียนไม่อยากเห็นลุงช่วย 2…3 จึงนำเรื่องที่ประสบด้วยตัวเอง 2 เรื่อง 2 ธนาคาร จะมาเล่าสู่กันฟัง ธนาคารแรก ธกส. (ไม่ใช่ธรณีกรรแสงนะ เอ๊ะหรือว่าใช่) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธนาคารคนจนไง...) เพราะคนที่ใช้ธนาคารนี้โดยเฉพาะในชนบทส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกษตรกรและส่วนใหญ่มาใช้บริการกู้เงินและใช้หนี้ หมุนกันอยู่อย่างนี้ คือต้องส่งตามงวดของสัญญา ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นหนี้ ธกส. และก็เป็นลูกค้าชั้นดี ส่งตรงทุกงวดไม่เคยบิดพลิ้ว ที่ส่งมาก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2552 ครบสัญญา ผู้เขียนก็นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปใช้หนี้ แล้วก็กู้กลับเท่ากับเงินต้นที่ส่งไป ตอนแรกก็ไม่มีอะไร จนเมื่อเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์เรียกหมายเลขให้เราไปรับเงิน ก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนมายืนรออยู่ พร้อมบอกว่า “เอาเงินต้นที่กู้ไว้ออกมาทั้งหมดไม่ได้ ต้องแบ่งส่วนหนึ่งออมไว้กับธนาคาร” (อ้าว..เรากู้เงินเราเสียดอกเบี้ยนะจะมาบอกว่าเราต้องออมได้ไง..) ผู้เขียนก็บอกว่ายังไม่พร้อมที่จะออม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของธนาคารลูกค้าทุกคนต้องทำตาม (เฮ้ย..เงินฉันนะ......จะออมไม่ออมฉันต้องตัดสินใจเองไม่ใช่ถูกบังคับ) จึงตอบกลับไปว่า ถึงจะเป็นนโยบายของธนาคาร แต่ก็นำมาบังคับลูกค้าไม่ได้ การจะออมหรือไม่ออมต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้า เพราะเงินที่กู้ออกมาอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินหลายเท่า และที่สำคัญคนที่ตัดสินใจกู้เงินก็เพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน เมื่อเขากู้เสียดอกธนาคารมาบังคับให้ออมไม่ได้ เพราะเงินนี้เป็นสิทธิของเรา จะฝากหรือไม่ฝากเรามีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจ ไม่ใช่ใครจะมาบังคับได้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นอาการแข็งขืนของเรา ก็เดินกลับไปนั่งที่เดิมไม่พูดอะไรต่ออีก นี่เป็นบุญยืนนะ... คิดดูหากเป็นชาวบ้านที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง คงหนีไม่พ้น ต้องเอาเงินที่กู้มาดอกแพงๆ มาฝากได้ดอกถูกๆ เป็นแน่แท้.... ธนาคารที่ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ อันนี้เรามีเงินฝากอยู่ และก็มีเงินบางส่วนไปฝากเพิ่ม(บัญชีออมทรัพย์) เจ้าหน้าที่ธนาคารก็แนะนำว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ปัจจุบันดอกเบี้ยต่ำมากแค่ 50 สตางค์เท่านั้น จึงแนะนำให้เรานำเงินส่วนหนึ่งไปฝากอีกรูปแบบหนึ่งที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าหลายเท่า เช่น ฝาก 40,000 บาท ปีที่ 2 จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนถึง 6,000 บาท ฝากแล้วถอนคืนได้ปกติ ให้ข้อมูลด้านดีด้านเดียว เรียกได้ว่าหว่านล้อมพูดแต่ความดีงามของเงินฝากประเภทนั้น จนเราแทบละลาย พร้อมบอกย้ำว่าไม่ต้องกลัวนี่ธนาคารทำเองไว้ใจได้ ไป 10 ครั้งก็ชวน 10 ครั้ง (ชวนทุกครั้งที่เห็นหน้า) ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอะไร พอบ่อยครั้งเข้าก็เริ่มสงสัย มันอะไรกันแน่ชวนจัง? จึงทำทีเป็นสนใจและขอข้อมูลเพิ่มซึ่งขอไม่ง่าย (แต่ก็ได้มาจนได้ล่ะ)ปรากฏเงินฝากที่ถูกชักชวนมันไม่ใช่บัญชีเงินฝากธรรมดา แต่มันเป็นการชวนลงประกัน (ตอนมันชวนมันไม่บอกสักคำ) หากเราไม่รอบคอบ เห็นแก่ดอกเบี้ยยอมฝากอย่างที่เขาแนะนำ หากฝาก 40,000 บาท และถอนในหนึ่งปีต่อมาเราจะได้เงินเพียง 9,750 บาท เท่านั้นนะพี่น้อง ที่เหลือจะถูกหักเป็นค่าคุ้มครองในหลายส่วน คิดดูว่าอย่างนี้ ลุงช่วย 2…3 ก็น่าจะเกิดขึ้นไม่ยากใช่ไหม เจ้าหน้าที่พวกนี้แปลกตอบสนองแต่นโยบายธนาคาร ไม่สนใจสิทธิของลูกค้าผู้มีพระคุณอย่างเราเลย น่าจะคิดนะว่าหากเราไม่เข้าไปใช้บริการ ธนาคารจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเงินเดือนให้ เอ้า.. ใครมีหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ดูแลหน่อย รัฐมนตรีการคลังก็เป็นหนุ่มไฟแรงปล่อยให้ธนาคาร มาให้ข้อมูลหลอกลวงและใช้นโยบายมาบังคับผู้บริโภคอย่างนี้ได้ไง อย่างนี้มันต้องถอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 กระแสต่างแดน

เมนูนี้ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ!วันผู้บริโภคสากล (15 มีนาคม) ปีนี้ ผู้บริโภคทั่วโลกจะร่วมกันเรียกร้องให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสาขาทั่วโลกอย่าง แม็คโดนัลด์ เคเอฟซี ซับเวย์ ฯลฯ ยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่ผ่านการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ประมาณร้อยละ 50 ของยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อที่ผลิตขึ้นในโลก ถูกใช้ในภาคการเกษตร แม้ว่ายานี้จะมีไว้เพื่อหยุดยั้งการติดเชื้อในสัตว์ แต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าในปัจจุบันกลับนิยมใช้เพื่อป้องกัน (ไม่ใช่รักษา) การติดเชื้อ ที่แย่ไปกว่านั้นคือการใช้ในปริมาณต่ำร่วมกับฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต วิถีปฏิบัติแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาการดื้อยา หลายๆ ประเทศประสบปัญหานี้ในระดับร้ายแรงแล้ว องค์การอนามัยโลกเตือนว่าถ้านานาประเทศยังไม่ร่วมกันแก้ไขเรื่องนี้ เราก็จะเข้าสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ นั่นหมายความว่ายาที่มีอยู่จะไม่สามารถรักษาโรคได้และการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เราเสียชีวิตได้ แม้จะมีความกังวลในเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะลดลง ข้อมูลจากสหพันธ์ผู้บริโภคสากลระบุว่าเมื่อถึงในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การใช้ยาฆ่าเชื้อจะเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายประกาศว่าจะยกเลิกการใช้วัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเร่งโตด้วยยาปฏิชีวนะ แต่การสำรวจร้านอาหารฟาสต์ฟูด 25 แบรนด์ในอเมริกาครั้งล่าสุดในปี 2558 โดยองค์กรผู้บริโภค พบว่ามีถึง 20 รายที่ยังไม่มีนโยบายงดซื้อเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะเลยนางสาวอมานดา ลอง ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากลกล่าวว่าธุรกิจอาหารขนาดใหญ่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างกว้างขวาง เป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับธุรกิจอื่นๆ ผู้บริโภคเองก็เป็นกำลังสำคัญเช่นกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในองค์กรสมาชิกของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลจึงขอเชิญชวนผู้อ่านฉลาดซื้อ ร่วมเรียกร้องให้ร้านฟาสต์ฟู้ดยกเลิกเมนูที่มีเนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ด้วยการถ่ายรูปตัวเองขณะถือป้าย #AntibioticsOffTheMenu (เมนูนี้ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ) หน้าร้านฟาสต์ฟู้ด โพสต์ลงในเฟสบุ้คแล้วติดแฮชแท็ก #AntibioticsOffTheMenu ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2559 นี้   ทีพีพี ที่ไม่พอเพียงเกษตรกรญี่ปุ่นส่วนหนึ่งกำลังหวั่นวิตกว่าแผนเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (TPP) ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะทำให้วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของพวกเขาเปลี่ยนไป   เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก นายอาเบะเสนอให้ญี่ปุ่นทำการเกษตรเชิงรุก โดยเกษตรกรรายเล็กจะได้รับการส่งเสริมให้ขยายกิจการ หลายคนมองว่าแผนนี้หมายถึงการเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากสภาพอากาศและราคาน้ำมันที่ผันผวนตลอดเวลา โซอิจิ ยามาชิตะ เกษตรกรวัย 79 ปี เป็นหนึ่งในเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องการรวยจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว  ด้วยพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ ในแต่ละปีครอบครัวยามาชิตะผลิตข้าวได้ 2.5 ตัน ส้ม 7 ตัน มะนาวเหลือง 500 กิโลกรัม พลัมและผักหลากหลายชนิดอีก 200 กิโลกรัม พวกเขารู้สึกเพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ชาวสวนผลไม้ในญี่ปุ่นยังไม่ลืมความล้มเหลวของนโยบายส่งเสริมการปลูกส้มของรัฐบาลในช่วงปี 70 ที่ส่งผลให้ผลผลิตส้มล้นตลาดในช่วงปี 80 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปิดเสรีทางการค้าที่ทำให้ส้มจากต่างประเทศสามารถเข้ามาตีตลาดในญี่ปุ่นด้วย ผู้ดีกินดี นิสัยการกินของคนอังกฤษกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจ National Food Survey ของรัฐบาลอังกฤษ ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา คนอังกฤษหันมาบริโภคนมพร่องมันเนย ขนมปังโฮลวีท และผลไม้สดกันมากขึ้น ผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่กล้วย ด้วยสถิติการบริโภคคนละ 221 กรัมต่อสัปดาห์ ตามด้วยแอปเปิ้ล (131 กรัม) และส้ม (48 กรัม) แม้แต่การดื่มน้ำอัดลมก็หันมาเลือกดื่มชนิดที่มีแคลอรี่ต่ำกันมากกว่าเดิม คนอังกฤษมีนิสัยการกินดีขึ้นทั้งๆ ที่มีการใช้จ่ายด้านอาหารลดลง เมื่อ 40 ปีก่อนพวกเขาใช้จ่ายร้อยละ 24 ของรายได้เพื่อซื้ออาหารแต่ปัจจุบันการใช้จ่ายดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ในทางกลับกันเขาพบว่าการบริโภคชาของชาวเมืองผู้ดีลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงปี 70 จากที่เคยดื่มสัปดาห์ละ 23 ถ้วย ปัจจุบันเหลือเพียงสัปดาห์ละ 8 ถ้วยเท่านั้น และแม้ว่าชาจะเป็นเครื่องดื่มร้อนที่นิยมมากที่สุด คนอังกฤษกลับมีรายจ่ายไปกับกาแฟมากกว่า งานสำรวจนี้เก็บข้อมูลจาก 150,000 ครัวเรือน ระหว่างปีค.ศ.1974 ถึง ค.ศ. 2014

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กระแสต่างแดน

ดีเซลไม่ดีจริง ทุกปีมีชาวลอนดอนประมาณ 4,300 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะทางอากาศ และสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของเมืองนี้ก็เลวร้ายถึงขั้นต้องประกาศให้ผู้คนงดออกจากบ้านกันเลยทีเดียว ลอนดอนมีระดับมลพิษเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว นายกเทศมนตรีของลอนดอน นายบอริส จอห์นสันก็ยอมรับว่าเขาคิดว่ามหานครแห่งนี้คงจะลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ให้อยู่เกณฑ์ได้ก่อนปี 2030 แน่นอน แนวคิดล่าสุดที่เขาเสนอเพื่อลดมลพิษในเมือง คือการจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ปล่อยมลพิษน้อยลง โดยเริ่มจากรถรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2013 เขาคาดว่าแผนการที่อาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านปอนด์นี้ น่าจะลดจำนวนรถเก่าออกไปจากท้องถนนลอนดอนได้ประมาณ 150,000 คัน (ทั้งนี้ค่าชดเชยอยู่ที่คันละไม่เกิน 2000 ปอนด์) นายบอริสบอกว่า เขาเห็นใจคนที่โดนกล่อมให้ซื้อรถดีเซลด้วยความเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมลพิษที่น้อยกว่าและค่าเชื้อเพลิงที่น้อยลง และเขาก็บอกด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามันคือความผิดพลาดทางนโยบาย (ปัจจุบันรถดีเซลมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ของตลาดในอังกฤษ) ทั้งนี้แผนส่งเสริมการใช้รถพลังไฟฟ้าที่เขาประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่ได้ผล จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมี 25,000 คันภายในปี 2015 ขณะนี้ยังมีเพียง 1,400 คันเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าต้องโทษกลไกตลาด ที่ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำเท่าที่ควร     ซูเปอร์ฟู้ดเอาตัวไม่รอด ปีนี้แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และมันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะร้อยละ 80 ของเมล็ดอัลมอนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดโลกมาจากที่นี่ เมื่อน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบพากันเหือดแห้ง เกษตรกรผู้ปลูกอัลมอนด์จึงสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ และตกเป็นจำเลยข้อหาเอาน้ำใต้ดินที่ควรเป็นแหล่งน้ำสำรองของผู้คนรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้เพื่อผลิต “ซูเปอร์ฟู้ด” ราคาถูกออกมาป้อนตลาดโลก มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อเกษตรกรไม่มีต้นทุนค่าน้ำ พวกเขาจึงสามารถขายอัลมอนด์ให้พ่อค้าที่ราคาขายส่งแค่ 3 – 4 เหรียญต่อปอนด์เท่านั้น แต่ถ้ามีการคิดต้นทุนที่แท้จริงแล้วละก็ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ด้านสมาคมผู้ปลูกอัลมอนด์แห่งแคลิฟอร์เนียบอกว่า อัลมอนด์เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และปีนี้เกษตรกรก็ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 33 ต่อการผลิตอัลมอนด์หนึ่งปอนด์ และตั้งคำถามกลับว่าการที่น้ำจะไม่พอใช้นั้นอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐเองหรือเปล่า ความจริงแล้วแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตนมและองุ่นได้ในปริมาณสูงกว่าอัลมอนด์ด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังนี้อัลมอนด์ได้รับความนิยมสูง(ด้วยสรรพคุณมากหลายตั้งแต่ลดโคเลสเตอรอล ลดความอยากอาหาร บำรุงผิว ฯลฯ) จึงมีคนนิยมปลูกมากขึ้น และทำรายได้ถึง 4,300 ล้านเหรียญต่อปีจากพื้นที่เพราะปลูกประมาณเกือบหนึ่งล้านเอเคอร์ ปีนี้ราคาอัลมอนด์สูงที่สุดในรอบ 9 ปี(ตันละ 10,500 เหรียญ) แต่ปัญหามันอยู่ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในคริสต์มาสนี้   ผลพลอยได้ ผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก คืออินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเรา มีเกาะอยู่ทั้งหมด 17,000 เกาะ และมีประชากรหลายสิบล้านคนที่ทำประมงเลี้ยงชีวิต ปัจจุบันเขามีเรืออวนไม่ต่ำกว่า 33,000 ลำ และทุกครั้งที่เรืออวนออกไปจับปลาทูน่า ก็มักมีผลพลอยได้เป็นปลาฉลามมาด้วย ปลาทูน่าจะถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนปลาฉลามที่ติดมาด้วยนั้น ชาวบ้านที่นั่นเขาก็นำมากินกันเป็นเรื่องธรรมดา หนังปลาฉลามยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนในชุมชนริมทะเล และถ้าคุณไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาซื้อลูกชิ้นปลาฉลาม หรือลูกปลาฉลามได้ไม่ยาก อินโดนีเซียจับปลาฉลามได้ปีละ 109,000 ตัน(น่าจะเป็นประเทศที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในโลกด้วย) และสามารถจับได้อย่างเสรี ไม่มีโควตา ไม่กำหนดขนาดของปลา จึงทำให้นักอนุรักษ์เริ่มวิตก สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว ปลาฉลามจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่เราเคยได้ยินข่าวการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่นักวิชาการเขาก็ยืนยันว่าถ้าเราคิดให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่า ฉลามตัวเป็นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่ในทะเลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าฉลามที่ตายแล้วหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียพบว่า นอกจากมันจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเลแล้ว ตลอดอายุขัยของมัน ฉลามหนึ่งตัวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.9 ล้านเหรียญ ขาปั่นทำป่วน เราอาจรู้จักโคเปนเฮเกนในฐานะเมืองหลวงจักรยานของยุโรป และเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก แหม่ ... ก็เขามีเลนจักรยานที่มีความยาวรวมกันทั้งหมดถึง 400 กิโลเมตรเชียว ไม่อยากจะคุยต่อว่าเทศบาลเขาประกาศว่าปีหน้าจะจัดงบให้อีก 75 ล้านโครน เพื่อเพิ่มเส้นทางและขยายช่องทางจักรยานด้วย ว่ากันว่าผู้คน 1 ใน 3 ของเมืองนี้เดินทางด้วยจักรยานเพราะมันถูกและเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่สาแก่ใจเทศบาลโคเปนเฮเกนที่ต้องการให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 50 เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2020 แต่เดี๋ยวก่อน ... หลายคนเริ่มสงสัยว่าพวกเขาหมกมุ่นกับการสร้าง “เมืองสองล้อ” มากเกินไปหรือเปล่า ... คุณอาจคิดว่ามันเป็นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักปั่น แต่พักหลังนี้เสียงบ่นทั้งจากตัวผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่ร่วมใช้เส้นทางกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที นักปั่นเริ่มฝ่าฝืนกฎจราจรกันมากขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมาเทศบาลต้องมีมาตรการลงโทษผู้ใช้จักรยานที่ละเมิดกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่าไฟแดงจะถูกปรับ 1,000 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) ถ้าขึ้นมาขี่บนฟุตบาทก็จะโดนค่าปรับ 700 โครน (ประมาณ 4,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยยกจักรยานที่จอดในสถานที่ส่วนบุคคลไปเก็บ และคิดค่าไถ่จักรยานคันละ 187 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) เป็นต้น เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าคนใช้จักรยานทำเหมือนตัวเองมีสิทธิพิเศษ ใครๆ ก็ต้องหลีกทางให้ ขึ้นรถไฟก็ต้องได้ที่นั่งและที่เก็บจักรยาน ปั่นอยู่บนถนนก็ไม่ต้องหยุดรอให้ผู้โดยสารที่ลงจากรถเมล์เดินขึ้นฟุตบาทก่อน เจอผู้พิการก็ไม่ชะลอ ... แหม่ ... นี่เข้าข่าย “เมืองดีแล้ว แต่ประชากรยังต้องปรับปรุง” เหมือนกันนะ เรื่องกินสอนกันได้ เด็กๆ ที่ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีอัตราน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่ากันว่าเรื่องนี้อยู่ในวิถีชีวิต คนฝรั่งเศสเชื่อว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการสอนให้กินอาหารเป็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาถูกสอนให้สามารถอ่านหนังสือได้นั่นเอง และการรักในรสชาติของอาหารก็เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องสอนกันตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสมักจะไม่ถามลูกว่า “อิ่มหรือยัง?” แต่จะถามว่า “ยังหิวอยู่ไหม?” และเวลาจะชักชวนลูกให้ทานอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่า “ทานสิลูก อร่อยนะ” ไม่ใช่ “ทานสิลูก มีประโยชน์นะ” นอกจากนี้ในร้านอาหารของฝรั่งเศสเขาจะไม่มี “เมนูสำหรับเด็ก” เพราะเชื่อว่าเด็กควรทานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ (แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบมันในตอนแรกก็ตาม) ทั้งนี้เพราะเด็กที่นี่ได้เรียนรู้การกินอาหารเพื่อสุขภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน สำหรับเด็กประถมนั้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันแบบ 4 คอร์ส (สลัด จานหลักที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จานชีส และของหวานที่มีผลไม้) และเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวบนโต๊ะอาหารคือน้ำเปล่า กระทรวงศึกษาฯ เขามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น โรงเรียนจะต้องให้เด็กได้ใช้เวลาทานอาหารกลางวัน อย่างต่ำ 30 นาที และเวลาพักกลางวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีเวลาเล่น และห้ามตั้งเครื่องเครื่องขายขนมอัตโนมัติในโรงเรียนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 กระแสต่างแดน

ใครๆ ก็ไม่รักเด็ก ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำมากของญี่ปุ่น ทำให้เด็กๆ ที่นั่นกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่ผู้คนไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก  และไม่ชินกับเสียงร้อง หรือเสียงหัวเราะเล่นกันของพวกเขา เด็กญี่ปุ่นยุคนี้จึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน น่าประหลาดที่สังคมนิยมเสียงอย่างญี่ปุ่น -- เสียงปิ๊งป่องต้อนรับที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเสียงตะโกนหา เสียงผ่านโทรโข่งตามสถานีรถไฟ – กลับรับเสียงเด็กๆ ไม่ได้ ข่าวบอกว่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องเด็กเสียงดังทุกวัน เดี๋ยวนี้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กต้องสร้างกำแพงกั้นเสียงไม่ให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน และจำกัดเวลาที่เด็กจะเล่นในสนามไว้ที่วันละไม่เกิน 45 นาที และถ้าจะมีงานเทศกาลอะไรก็ตามที่มีผู้ร่วมงานเป็นเด็ก เขาก็จะนิยมจัดในอาคารกัน แทนที่จะจัดกลางแจ้งเหมือนเมื่อก่อน แม้แต่นักเรียนมัธยมต้นที่เคยซ้อมวิ่งพร้อมออกเสียงเพื่อสร้างความฮึกเหิม เดี๋ยวนี้ยังต้องเจียมเนื้อเจียมตนวิ่งกันไปเงียบๆ   ก่อนหน้านี้มีศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งถูกเพื่อนบ้านขี้รำคาญฟ้องร้องโทษฐานส่งเสียงดังรบกวน จึงต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านกว่าบาท ปัญหานี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องอัตราการเกิดต่ำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความแออัดของที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้นด้วย กลุ่มคนรักเด็กให้ความเห็นว่า ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่มีลูกที่หงุดหงิดรำคาญเด็กๆ เหล่านี้หลงลืมกันไปหรือเปล่าว่าเด็กเหล่านี้คือแรงงานสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต พวกเขาจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจ่ายภาษีให้รัฐบาลนำมาเลี้ยงดูตนเอง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชากรในวัยทำงานมีจำนวนน้อยกว่าวัยสูงอายุ จากประชากรทั้งหมด 128 ล้านคนของญี่ปุ่น มีถึง 1 ใน 4 ที่อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่เด็กวัยต่ำกว่า 14 ปีนั้นเป็นเพียงร้อยละ 13.2  ของประชากรเท่านั้น อัตราการเกิดของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่แม่ 1 คน ต่อเด็ก 1.39 คน อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่แม่หนึ่งคน ต่อเด็ก 2.52 คน และของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 1.6 คน ... เอ หรือว่าเราจะมีปัญหาเดียวกันในอนาคต   การเกษตรต้องมาก่อน ไม่แน่ใจว่าราคาไข่ที่มาเลเซียจะแพงเว่อร์เหมือนบ้านเราหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ โดยรวมแล้วอาหารที่มาเลเซียก็แพงเหมือนกัน สาเหตุของอาหารแพงนั้น องค์กรผู้บริโภค FOMCA ของเขาบอกว่าหลักๆ แล้วเป็นเพราะรัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตร จากที่เคยให้งบประมาณร้อยละ 22 เพื่อการพัฒนาการเกษตรในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น เมื่อถึงปี 2007 และถ้าดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แล้ว จะเห็นว่าสินค้าเกษตร ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งถึงเกือบร้อยละ 23 แต่ในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงแค่ร้อยละ 7.7 ในปี 2007 ผลก็คือมาเลเซียต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารมากขึ้น มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 สูงถึงสองแสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวจาก 4 ปีก่อนหน้า FOMCA มีข้อเสนอให้รัฐให้ความช่วยเหลือกับเกษตรมากกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐมีแผนชัดเจนในการใช้พื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมีถึง 34,300 เฮคตาร์ หรือสองแสนกว่าไร่ มาเพาะปลูกพืชไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้อาหารแพงยังรวมถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือ การจำนวนประชากรที่ไม่สมดุลกับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่มีจำกัด นอกจากนี้มาเลเซียยังมีเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจอาหาร ที่มีผู้เล่นน้อยราย จึงทำให้สามารถตั้งราคากันได้ตามใจชอบ และยังมีเรื่องของความยากลำบากในการขอใบอนุญาตทำกิจการอาหารอีกด้วย     ปฏิบัติการยึดบ้านบาร์บี้ เปิดตัวไปแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับคฤหาสน์ในฝันของสาวบาร์บี้ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Barbie The Dreamhouse Experience ที่เบอร์ลินตะวันออก ใกล้ๆ กับย่านช้อปปิ้งของเมือง โดยแห่งแรกเปิดตัวไปก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า คฤหาสน์สีชมพูหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างทางรถไฟและตึกแถวยุคคอมมิวนิสต์ การตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างก็เป็นสีชมพูเพื่อเอาใจเด็กผู้หญิงที่สามารถเข้าไปอบคัพเค้ก เข้าตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอิน หรือจะนั่งชิลในห้องนั่งเล่นสีชมพูก็ไม่ว่ากัน งานนี้ไม่ได้มีแต่คนชื่นชม กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีออกมาต่อต้านการเปิดตัวของคฤหาสน์แห่งนี้ บ้างก็รับไม่ได้กับการส่งเสริมความงามที่ฉาบฉวยและไม่เป็นจริงให้กับพวกเด็กๆ บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ ต้องเล่นกับตุ๊กตาที่เป็นโรคขาดอาหาร ที่มีชีวิตอยู่เพื่อนั่งรอชายหนุ่มชื่อเคนอยู่ในรถเปิดประทุน ว่าแล้วก็ชักชวนผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังแนวคิดให้เด็กผู้หญิงเป็นอย่างบาร์บี้ มาเข้าร่วมกระบวนการ Occupy Barbie Dreamhouse ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 1,000 คน ทางด้านบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ออกมายืนยันว่าเขาได้ปรับภาพลักษณ์ของบาร์บี้แล้ว นอกจากบาร์บี้ในชุดบิกินี่แล้ว เด็กๆ สามารถซื้อบาร์บี้ที่เป็นศัลยแพทย์ หรือบาร์บี้ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เผื่อคุณอยากทราบ คฤหาสน์ที่ว่ามีอัตราค่าเข้าชมดังนี้ สำหรับผู้ใหญ่ (14 ปีขึ้นไป) ค่าเข้าชม 15 ยูโร หรือประมาณ 600 บาท  เด็กระหว่าง 4 ถึง 13 ปี 12 ยูโร หรือประมาณ 480 บาท  หรือจะเป็นแพคเก็จครอบครัว (ผู้ใหญ่ 2 คน เด็กไม่เกิน 3 คน) ก็ 49 ยูโร หรือประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าลูกของคุณอยากจะลองประสบการณ์การเดินแบบบนแคทวอล์ค หรือขึ้นเวทีเป็นซุปตาร์ ก็จ่ายเพิ่มอีกประสบการณ์ละ 10 ยูโร หรือประมาณ 400 บาท ควรมิควรก็แล้วแต่ผู้ปกครองจะพิจารณา ...     มาตรการลดขยะ เดือนมิถุนายนนี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการคิดค่าบริหารจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเริ่มจาก 129 เทศบาลก่อน แต่ข่าวบอกว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุมทั้งหมด 144 เขต กระทรวงสิ่งแวดล้อมเขาประเมินแล้วว่า ระบบนี้จะช่วยประหยัดเงินของรัฐในการจัดการขยะที่เป็นอาหารสดได้ถึง 160,000 ล้านวอน (4,400 ล้านบาท) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาตั้งเป้าว่าจะต้องลดขยะอาหารทั่วประเทศลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะโครงการนำร่องที่ทดลองทำไปก่อนหน้านี้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึงร้อยละ 28.7 เรียกว่าสามารถทำให้แต่ละครัวเรือนมีขยะอาหารเหลือทิ้งเพียงแค่วันละ 620 กรัมเท่านั้น แต่ร้านอาหารอาจต้องรับภาระหนักหน่อย เพราะมีขยะมากกว่าบ้านเรือนธรรมดา แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าให้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางร้านจะได้คิดหาไอเดียการปรุงอาหารให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุด ระบบการคิดเงินขยะอาหารนั้นมีอยู่ 3 ระบบ ข่าวบอกว่าแบบที่นิยมมากที่สุดคือการซื้อสติ๊กเกอร์ ดวงละ 41 วอน (1 บาทกว่าๆ) สำหรับขยะ 1 ลิตร แบบที่สองเป็นระบบไฮเทค RFID ที่จะชั่งน้ำหนักตามจริงเมื่อเรานำไปทิ้งในถังที่รัฐจัดไว้ให้ สนนราคาแพงขึ้นมาอีกนิดที่ลิตรละ 42 วอน หรือใครจะชอบแบบที่สาม คือการซื้อถุงขยะ (ซึ่งเขารวมค่าจัดการขยะไปแล้ว) มาใช้ก็ได้     กลัวไม่มีคู่แข่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธมีอันต้องเซ็งเป็ด เพราะคณะกรรมการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เปิดสาขาเพิ่มในเขตเกลนมอร์ ริดจ์ ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ โดยให้เหตุผลว่ามีวูลเวิร์ธอยู่แล้วหนึ่งสาขาในเขตดังกล่าว และในเขตเพนริธที่อยู่ติดกันก็มีห้างวูลเวิร์ธอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้วูลเวิร์ธมาเปิดสาขาเพิ่มในเมืองนี้ จนกว่าจะมีห้างอื่นมาเปิดเพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งตามข่าวบอกว่าเร็วที่สุดก็คงต้องเป็นปีหน้า ที่จะมีห้าง Aldi มาเปิดในเขตนี้ ทั้งนี้เขาสกัดตั้งแต่ตอนที่วูลเวิร์ธทำเรื่องขออนุญาตซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างห้าง คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะมันหมายถึงการทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและทำให้ผู้ผลิตไม่มีความจำเป็นต้องสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ก่อนหน้านี้เขาก็สกัดบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่อย่างไฮนซ์ ไม่ให้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทสัญชาติออสซี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับเด็กทารก ยี่ห้อ Rafferty’s Garden มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้บริษัทไฮนซ์ครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดอาหารเด็กทารก และร้อยละ 70 ของซีเรียลและขนมกรุบกรอบในออสเตรเลีย เข้มจุงเบย ... ไม่เหมือนบางที่ ใครจะซื้อใครเขาก็เฉยๆ นะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 114 กระแสต่างแดน

      คนบ้านเดียวกันประเทศมั่งคั่งอย่างแคนาดาก็มีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารกับเขาเหมือนกันหรือนี่   สมาพันธ์การเกษตรแห่งแคว้นโนวา สโกเชีย บอกว่าในทุกๆ 1 เหรียญที่คนแคนาดาใช้จ่ายกับการซื้ออาหารนั้น มีเพียง 13 เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นรายได้ให้กับเกษตรกรในท้องถิ่น งานวิจัยที่ติดตามเรื่องนี้มาเป็นเวลากว่า 3 ปี พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว อาหารที่ประชากรของแคว้นนี้รับประทานกันอยู่นั้น ต้องเดินทางรอนแรมมาไม่ต่ำกว่า 4,000 กิโลเมตร โดยปกติแล้วครัวเรือนในแคนาดานั้นใช้จ่ายกับเรื่องอาหารค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว  เมื่อเทียบกับประชากรในอเมริกา หรือออสเตรเลีย   แต่งานวิจัยเรื่องนี้ระบุว่าปรากฏการณ์ห้างค้าปลีกเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรในแคว้นนี้ต้องปิดกิจการกันไปเป็นจำนวนมาก เช่นปัจจุบันแคว้นนี้มีฟาร์มหมูเหลืออยู่เพียง 4 ฟาร์มเท่านั้น จากที่เคยมีถึง 90 ฟาร์มเมื่อ 10 ปีก่อน อย่างที่รู้ๆ กัน ซูเปอร์มาเก็ตเจ้าใหญ่ๆ สามารถนำเข้าสินค้าเกษตรในปริมาณมากและในราคาที่ค่อนข้างต่ำทำให้สามารถขายให้กับผู้บริโภคในราคาที่ถูกกว่าผลผลิตในท้องถิ่นได้ เกษตรกรในพื้นที่จึงต้องหันไปทำอย่างอื่นแทน  พูดง่ายๆ แคว้นนี้กำลังสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองในเรื่องอาหารนั่นเอง เพราะคนรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะสานต่อกิจการของเกษตรกรรุ่นปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้มีอายุเฉลี่ย 55 ปีแล้วด้วย แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ถึงกับหมดหวัง รายงานดังกล่าวประเมินว่าถ้าผู้คนในแคว้นโนวา สโกเชียหันมาอุดหนุนเนื้อวัวที่ผลิตในท้องถิ่น จะทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 65.5 ล้านเหรียญ และสร้างงานได้ถึง 1,300 ตำแหน่งทีเดียว นั่นไง ฮีโร่ตัวจริงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ นี่เอง   นักศึกษาก็ผู้บริโภค ปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาในอังกฤษและเวลส์เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยตัวเอง มากขึ้นร้อยละ 50 รายงานของสำนักงานตุลาการอิสระระบุว่า สาขาวิชาที่มีนักศึกษาร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ บริหารธุรกิจ กฎหมาย และแพทย์ศาสตร์ และส่วนใหญ่มักเป็นนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาหรือนักศึกษาต่างชาติ รายงานดังกล่าวตั้งข้อสังเกตว่า การร้องเรียนที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่านักศึกษาเริ่มมองเห็นตนเองในฐานะ “ผู้บริโภค”มากขึ้น และเริ่มรับ “การศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน” ไม่ได้ เพราะนักศึกษาทุกวันนี้เริ่มมีหนี้สินมากขึ้น จึงทำให้มีความเครียด และความคาดหวังมากขึ้น   (แม้จะเป็นพียงแค่ร้อยละ 0.05 ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมด ซึ่งอาจเป็นเพราะการร้องเรียนนั้นมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก)   ปีที่ผ่านมามีเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,007 เรื่อง และ 1 ใน 5 ของเรื่องร้องเรียนเหล่านี้   "เป็นเรื่องที่ฟังขึ้น" ข้อร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการที่มหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการของตัวเองตามที่ได้แจ้งนักศึกษาไว้  ทั้งนี้สำนักงานตุลาการอิสระสามารถตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยได้ให้สิ่งที่สัญญาไว้กับผู้เรียนหรือไม่ แต่ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องของการให้คะแนน การตัดเกรด หรือคุณภาพการสอนได้ในปี พ.ศ. 2552 มหาวิทยาลัยเหล่านี้ต้องจ่ายค่าชดเชยไปเป็นจำนวนทั้งสิ้น 163,000 ปอนด์  (ประมาณ 8 ล้านกว่าบาท) ซึ่งเป็นการจ่ายให้กับ การสูญเสียโอกาสในการได้งานทำ โอกาสในการก้าวหน้าทางการงานหรือความเครียด เป็นต้น   นักศึกษาคนหนึ่งได้รับเงินชดเชย 750 ปอนด์ (37,800 บาท) กับการที่ไม่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนเพราะมีคุณสมบัติไม่ครบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เขาร้องเรียนว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้แจ้งคุณสมบัตินั้นไว้ให้ชัดเจน อีกรายหนึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่ได้ค่าชดเชยไป 45,000 ปอนด์ (2 ล้าน 2 แสนบาท) จากการที่เขาต้องเสียเวลาไปกับกระบวนการตรวจสอบทางวินัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งไปถึง 3 ปีเต็ม -----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   รถ ICE ที่ไม่เย็น คลื่นความร้อนที่เล่นงานประเทศต่างๆในยุโรป นั้นลุกลามเข้าไปถึงห้องโดยสารติดแอร์ของรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งระหว่างเมืองของเยอรมนี Inter City Express (ที่เรียกย่อๆ ว่า ICE) กับเขาด้วยดอยท์ชบาห์น หรือการรถไฟเยอรมนี จึงต้องรับผิดชอบด้วยการจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้โดยสารที่ต้องพบแพทย์เพราะอาการเจ็บป่วยอันสืบเนื่องมาจากความร้อนที่ว่า คนละ 500 ยูโร (20,000 บาท) พร้อมกับคืนเงินค่าตั๋วให้ด้วย ขณะนี้มีคนมารับเงินชดเชยไปแล้วถึง 2,200 คน   สื่อเยอรมันรายงานว่าอุณหภูมิในห้องโดยสารนั้นสูงกว่า 50 องศาเซลเซียส ในขณะที่ระบบเครื่องปรับอากาศของตู้โดยสารนั้นสามารถรับมือกับอุณหภูมิได้สูงสุดแค่ 32 องศาเท่านั้น รูดิเกอร์ กรูบ ซีอีโอ ของการรถไฟเยอรมันตั้งคำถามกับประสิทธิภาพของรถไฟที่บริษัทใช้วิ่งอยู่ แต่นายกสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟเยอรมนี ปฏิเสธข้อสงสัยดังกล่าว โดยยืนยันว่าบริษัทผู้ผลิตไม่มีทางทำรถไฟไก่กาที่ระบบแย่ๆ ออกมาแน่นอน ปัญหาน่าจะเป็นเพราะการดูแลรักษาที่ไม่ดีพอมากกว่า   อย่างไรก็ตามข่าวเขาบอกมาว่า ด้วยอากาศที่เปลี่ยนไป รถไฟรุ่นหน้าที่จะเข้าประจำการปีหน้านั้นจะทำมาให้สามารถรับมืออุณหภูมิได้ถึง 40 องศาเซลเซียสกันไปเลย@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   เบียดเบียนคนแก่ สถานีโทรทัศน์ Nos ของเนเธอร์แลนด์ ออกมาแฉว่าเดี๋ยวนี้บรรดาบ้านพักฟื้นหรือบ้านพักคนชราจะเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้บริการมากขึ้น ด้วยการเรียกเก็บค่าบริการเล็กๆ น้อยๆ ประปราย เช่น ค่าผลไม้ ค่ากระดาษทิชชู ค่าพาไปเดินออกกำลัง เป็นต้น ที่ต้องแฉก็เพราะว่าบรรดาบริการเหล่านี้ถือเป็นบริการที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของระบบประกันสุขภาพอยู่แล้วนั่นเอง   Nos TV บอกว่า ผู้ป่วยหรือคนชราที่พักอยู่ในสถานบริการเหล่านั้น ต้องจ่ายเงินเพิ่มค่ากาแฟ น้ำอัดลมหรือขนมขบเคี้ยว บางคนถูกเรียกเก็บค่าต่อสัญญาณโทรทัศน์หรือการอาบน้ำเพิ่มอีกหนึ่งครั้ง มีรายหนึ่งที่ต้องจ่ายค่าถุงมือและน้ำยาฆ่าเชื้อที่พยาบาลใช้ด้วย  สำนักงานประกันสุขภาพของเนเธอร์แลนด์บอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับใบเรียกเก็บเงินของสถานบริการเหล่านี้ และได้ประกาศให้บรรดาศูนย์บริการเหล่านั้นรีบแก้ไข ไม่เช่นนั้นจะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ยืนยันว่ายังไม่มีเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคถูกเก็บเงินเพิ่มเข้ามาเลย  ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์ มีคนที่ใช้บริการบ้านพักเหล่านี้อยู่ประมาณ 260,000 คน ประชาชนชาวดัทช์ทุกคนจะต้องทำประกันสุขภาพที่เรียกว่า AWBZ ที่ตนเองต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 12 ของเงินเดือน ซึ่งครอบคลุมการใช้บริการสถานพักฟื้นและบ้านพักคนชราด้วย ขณะนี้มีคน 600,000 คนภายใต้การดูแลของระบบประกันที่ว่านี้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 22,000 ล้านยูโร (ประมาณ 920,000 ล้านบาท) ต่อปี@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@   สวยต้องเสี่ยงลิปสติกสีแดงนั้นท่านว่ามักมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว สาวปากแดงโปรดระวัง องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ทดสอบหาปริมาณสารตะกั่วในลิปสติกสีแดงทั้งหมด 22 ยี่ห้อ และ พบว่า ลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลและลอรีอัล นั้นมีตะกั่วปนเปื้อนในปริมาณสูงที่สุด องค์กรผู้บริโภคของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ลิปสติกสองยี่ห้อที่ว่ามานั้น ได้รับความนิยมในระดับต้นๆ บอกว่า องค์กรนี้กำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายที่บังคับให้มีการแสดงส่วนประกอบรอง (เช่นตะกั่ว) ในเครื่องสำอางไว้บนฉลากด้วย(กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้มีการแสดงเฉพาะส่วนผสมหลักเท่านั้น) เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารตะกั่วด้วย ผู้อำนวยการสมาคมน้ำหอมและเครื่องสำอาง การ์ธ วิลลี่ บอกว่าการทำลิปสติกสีแดงให้ปราศจากตะกั่วนั้นแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ และปริมาณสารตะกั่วที่เกิดขึ้นในแต่ละล็อตแตกต่างกันไป บางล็อตอาจไม่มีเลย ในขณะที่บางล็อตก็แทบจะสูงเกินมาตรฐานที่กำหนด   ด้านโฆษกพร็อกเตอร์แอนด์แกมเบิล ผู้ผลิตลิปสติกยี่ห้อคัฟเวอร์เกิร์ลบอกว่าไม่ได้ใช้สารตะกั่วในการผลิต แต่ที่ตรวจพบนั้นเป็นตะกั่วที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ใช่ปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทางลอรีอัล ก็ยืนยันว่ามีตะกั่วในลิปสติกในปริมาณต่ำมากเช่นกัน นักพิษวิทยา ดร.ไมเคิล บีสลีย์ บอกว่าการจะระบุว่าปริมาณเท่าใดจึงจะเป็นอันตรายนั้นค่อนข้างยาก เพราะการเป็นพิษนั้นมีปัจจัยในเรื่องของการสะสมด้วย แต่ทั้งนี้ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ได้ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วในลิปสติกทุกชนิดแล้ว อ้าว ... เรื่องสวยก็มีสองมาตรฐานกับเขาเหมือนกันหรือนี่

อ่านเพิ่มเติม >