ฉบับที่ 249 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน

อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์        12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564  โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้         1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท         ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"         จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น         15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย         จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น         นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์  เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์         พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้  ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2%  ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต         จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น         วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 รณรงค์ หยุดวงจร “ส้มอมพิษ” ตั้งแต่ต้นทาง

        เมื่อ 2 ธันวาคม 2563  ภาคี เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) ชี้คนไทยบริโภคส้มอมพิษตลอดปี สารเคมีอันตรายตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  รณรงค์ภาคประชาชนร่วมเรียกร้องหยุดส้มอมพิษตั้งแต่ต้นทาง จัดกิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ (Orange Spike)” กระตุ้นผู้บริโภคแสดงสิทธิให้ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ติด QR Code  ส้มทุกประเภท         มร.จูเซปเป บูซินี (Mr.Giuseppe BUSINI) อัครราชทูตที่ปรึกษา-รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมความยั่งยืนด้านการทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพเป็นหัวข้อสำคัญในนโยบายด้านอาหารของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของนโยบายจัดการภาวะโลกร้อนของสหภาพยุโรป หรือ European Green Deal ที่ได้นำมาใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีเป้าหมายในการส่งเสริมระบบการจัดการอาหารที่เป็นธรรม ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเราเชื่อว่า การลดความเสี่ยงและการลดปริมาณการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันพืชเคมี ตลอดจนถึงปุ๋ยและยาปฏิชีวนะ และการเพิ่มพื้นที่การทำเกษตรออแกนิคนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่ง        นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา ตัวแทนจากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) กล่าวว่า ส้มเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงและมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ อยู่คู่กับชีวิตคนไทยในทุกรูปแบบ แต่จากการตรวจสอบของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ ไทยแพน (Thai-PAN) พบว่า ส้ม 1 ผล มีสารเคมีตกค้างมากถึง 55 ชนิด โดยเฉลี่ยถึง *0.364 มิลลิกรัม ซึ่งเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย (MRL) โดยสารเคมีตกค้างเป็นชนิดดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ถึง 28 ชนิด อาทิ คาร์เบนดาซิม (Carbendazim) ส่งผลให้พิการแต่กำเนิดและภาวะเจริญพันธุ์เสื่อม, สารคาร์โบฟูราน (Carbofuran) เป็นพิษต่อเซลล์สมองและฮอร์โมนเพศ, สารอะเซตามิพริด (Acetamiprid) มีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาท เป็นต้น แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงเรื่องสารพิษตกค้างมากมาย แต่จากการสุ่มตรวจส้มจากซูเปอร์มาร์เก็ต พบว่า 100% ของส้มที่นำมาตรวจมีการตกค้างของสารเคมีที่เกินกว่าปริมาณสูงสุดที่กฎหมายกำหนด แม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำที่อ้างว่ามีระบบตรวจสอบแล้วก็ตาม ทั้งที่เป็นสถานที่ค้าปลีกที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไว้วางใจในเรื่องของความสะอาดและปลอดภัย         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ธรรมชาติของส้มจะให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง ในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม ซึ่งถือเป็นช่วงที่ปลอดภัยที่สุดเพราะเป็นส้มในฤดูกาล แต่ด้วยอุปสงค์ของตลาดที่มีความต้องการส้มตลอดทั้งปี ทำให้เกษตรกรต้องใช้สารเคมีมากกว่าปกติเพื่อให้สามารถผลิตส้มได้ตามความต้องการของตลาด ตั้งแต่ระยะติดดอก ระยะติดผลตุ่มเท่าหัวไม้ขีด ช่วงลูกปิงปอง ช่วงเลี้ยงผิวสวยไปถึงช่วงเก็บผลผลิต โดยสารเคมีที่ใช้ตลอดช่วงอายุมักเป็นชนิดดูดซึม (Systemic) ซึ่งจะกระจายในลำต้นไปจนถึงเนื้อในของผลส้ม         อีกหนึ่งกลไกของตลาดที่ทำให้ส้มกลายเป็นผลไม้อันตรายคือค่านิยมในการเลือกซื้อส้มที่มีผลใหญ่ ผิวสวย เรียบเนียน สีทองแวววาว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจึงต้องคัดเกรดส้มสวยเข้ามาจำหน่าย เพื่อให้ส้มมีผิวสวยตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ผู้ผลิตต้องฉีดพ่นยาฆ่าแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช ถึง 52 ครั้งต่อปี หรือทุกสัปดาห์ ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะหยุดวงจรส้มอมพิษได้ คือฝั่งผู้บริโภคเองก็ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติในการเลือกบริโภค และทำความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูกมากขึ้น อาทิ เลือกรับประทานส้มที่มีผิวลายเพราะเป็นส้มที่ได้รับสารเคมีในปริมาณที่น้อย รวมถึงการทานผลไม้ให้หลากหลายตามฤดูกาล เพื่อลดการใช้สารเคมี         นอกจากนี้ ผู้บริโภคเองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับส้มที่ซื้อผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างถูกต้อง เพียงพอ มีกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับ ที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของส้ม กระบวนการผลิตส้มตลอดปีทั้งในและนอกฤดู รวมถึงกระบวนการตรวจสารเคมีตกค้างของซูเปอร์มาร์เก็ต  เพื่อแสดงถึงความจริงใจและห่วงใยในสวัสดิภาพของผู้บริโภค ซึ่งจากการสำรวจในปัจจุบันพบว่าระบบการตรวจสอบของซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ        ด้านนางสาวฐานิตา วงศ์ประเสริฐ เจ้าหน้าที่รณรงค์ องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) กล่าวว่า กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” หรือ Orange Spike เป็นกิจกรรมภายใต้แคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักว่าส้มมีกระบวนการผลิตที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการตกค้างของสารเคมีซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคในระยะยาว และร่วมเรียกร้องให้หยุดส้มพิษตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการใช้กระบวนการตรวจสอบย้อนกลับที่มีประสิทธิภาพของซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเปรียบเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและผู้ผลิต และใช้กลไกข้างต้นกระตุ้นให้ผู้ผลิตที่ปลูกส้มและผลิตอาหารอื่น ๆ มีกระบวนการในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยขึ้น         กิจกรรม “หยุดส้มอมพิษ” ดำเนินการโดยภาคี ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสหภาพยุโรป ภายใต้ SWITCH Asia II Programme และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน (Sida) ร่วมแสดงสิทธิของผู้บริโภคเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำ อาทิ แม็คโคร, บิ๊กซี, เทสโก้ โลตัส และ ท็อปส์ ให้หยุดขายส้มอมพิษ ด้วยการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงนามผ่านทาง  www.dearconsumers.com/th/petition เพื่อเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของส้มที่นำมาจำหน่ายผ่าน QR Code และเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับสวนส้ม วิธีปลูกส้ม รายการสารเคมีที่ใช้ และกระบวนการคัดกรองของซูเปอร์มาร์เก็ตต่อผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังคาดหวังให้ภาครัฐมีมาตรการควบคุมปริมาณสารเคมีในผลิตภัณฑ์ส้มทุกประเภท         ร่วมกันลงนามหยุดส้มอมพิษในแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก (Dear Consumers)” ได้ที่  www.dearconsumers.com/th/petition ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ทาง facebook.com/DearConsumers (เพจ ผู้บริโภคที่รัก)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 แผ่นดินอาบยาพิษ เรื่องจริงของ “พาราควอต” จากหนองบัวลำภู

     ความพยายามในการผลักดันการห้ามใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต) ในบ้านเรายืดเยื้อมามากกว่าหนึ่งปี ท่ามกลางข้อถกเถียงของฝ่ายที่เป็นห่วงเรื่อง สุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับฝ่ายธุรกิจเคมีและภาคเกษตรบางส่วนที่เห็นว่า การใช้สารเคมียังมีความจำเป็นเพราะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่หน้าเพจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 3 ชุด ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเอง แสดงจุดยืนชัดเจนในการแบนสารพิษร้ายแรง 3 ชนิด(พาราควอต คลอร์ไพริฟอสและไกลโฟเซต) หลังจากก่อนหน้านี้ คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข และคณะกรรมการปฏิรูปด้านสังคมได้แถลงจุดยืนดังกล่าวก่อนแล้วและในวันที่ 10-11 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคและทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของผู้ได้รับความเสียหายจากสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากการใช้ยาฆ่าหญ้า 2 พื้นที่ คือที่ รพสต.หนองเรือ อ.โนนสัง และรพสต.บ้านพนาวัลย์ อ.นากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู รวมผู้ได้รับผลกระทบที่ให้ข้อมูลจำนวน 7 ราย โดย 4 รายจาก อ.โนนสัง นั้น ไม่ได้เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง แต่ผู้เสียหายจะได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้า ลักษณะบาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิด 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ได้ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) ส่วนอีก 3 รายจาก อ.นากลาง เป็นผู้ที่ใช้สารเคมีหรือสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง โดยได้รับบาดแผลจาก ตอข้าว หนาม คมจากใบอ้อยบาด มีผู้เสียหายใช้สารเคมียี่ห้อพาราควอต 2 ราย ใช้ เอชโซนัด 95 ตราหมาแดง 1 ราย บาดแผลที่ได้รับมีลักษณะผิวหนังคล้ำคล้ายช้ำในและภายหลังจากนั้นไม่เกิน 48 ชั่วโมงจะมีอาการปวดและบวมร่วมด้วย แพทย์ประจำโรงพยาบาลวินิจฉัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ (แต่ไม่ระบุว่าเกิดจากสารเคมี) แผลที่ได้รับส่วนใหญ่เกิดบริเวณ มือ ข้อมือ ลำแข้งถึงเท้าทางทีมงานจึงได้พูดคุยกับ ทญ.วรางคณา  อินทโลหิต หรือหมอฝน ผู้ประสานงานสมัชชาสุขภาพจังหวัดหนองบัวลำภู และหัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ ซึ่งได้เล่าเรื่องสารเคมีในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหาว่า “เริ่มมาจากการทำนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม  เรื่องสารเคมีมันเกิดจากเมื่อปี 2555 จังหวัดหนองบัวลำภู และทำโครงการร่วมกับ อบจ.กับ สสส. เรื่องจังหวัดน่าอยู่ เรื่องสารเคมีเกษตรเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งใน 5 เรื่องที่เราทำ ตอนแรกที่คณะทำงานคิด เราคิดว่าจะทำเรื่องป่ากับขยะ ในเวทีนั้นมีเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ แกนำเข้าข้อมูลสารเคมีเกษตร ซึ่งตอนนั้นถือว่า เป็นการเปิดโลกทัศน์ของกรรมการเลยว่ามันมีปัญหาสารเคมีในพื้นที่ ทำให้ทราบว่าปัญหาสารเคมีในพื้นที่มันไม่ใช่เรื่องธรรมดา คิดว่ามันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ต่อมาพยาบาลโรงพยาบาลนากลางเขาไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ พบว่า พื้นที่ตำบลอุทัยสวรรค์ มีโรงเรียนต้องปิดโรงเรียนเพราะเด็กๆ ได้รับผลกระทบจาการฉีดยาฆ่าหญ้า เพราะต้องเดินผ่านจากไร่อ้อยไปโรงเรียน แล้วเกิดอาการวิงเวียน อาเจียนจนต้องปิดโรงเรียน พยาบาลก็นำเสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมของหมู่บ้าน ชาวบ้านก็รู้ว่าสารเคมีเป็นพิษ แต่ก็ต้องทำมาหากิน พยาบาลเลยมาปรึกษาว่าทำอย่างไรดี ชาวบ้านก็ไม่ได้สนใจเราเลยนึกถึงเวทีที่เกษตรกรคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ท่านนั้นพูดถึง ตัวเราคิดว่าเราสาธารณสุขคงมีกำลังไม่พอที่จะทำเรื่องนี้  เลยว่าจะชวนเครือข่ายเกษตรมาช่วย แล้วในโครงการจังหวัดน่าอยู่มีงบประมาณที่จะพอจัดเวทีให้ความรู้ได้ แล้วตอนนั้นได้รู้จักกับนายแพทย์ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็เลยจัดเวทีให้ความรู้ที่นากลาง และศรีบุญเรือง เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องและคุณหมอปัตพงษ์มาพูดเรื่องผลกระทบ นักวิชาการของเรา นักวิชาการสมัชชาสุขภาพ คุณโกวิท พรหมวิหารสัจจา ก็อยู่บนเวทีนี้ด้วย แกจะทำพื้นที่นวเกษตร เราเลยจะทำเป็นพื้นที่นำร่อง ใครไม่ทำ เราจะทำ คุณโกวิทเลยไปซื้อที่ใหม่แล้วเข้าไปตัดหญ้าถางพื้นที่ อยู่ๆ วันหนึ่งก็ได้ข่าวว่าแกเป็นโรคเนื้อเน่า แกบอกว่าแกไปสัมผัสอยู่ 2 วันในพื้นที่นั้น บอกว่ามียาฆ่าหญ้า ปวดขามาก เลยไปหาหมอกระดูก หมอบอกว่ามันเป็นการติดเชื้อ ก็ส่งต่อไปที่ รพ.อุดรตอนนั้นแกเกือบเสียชีวิตเลยนะ ช็อกไปเลยที่ถูกลอกหนัง ถูกทำอะไรหลายอย่าง เราก็เลยได้มาศึกษาว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร เกิดจากอะไรเนื่องจากคนใกล้ตัวเป็น จึงนำเรื่องปรึกษากับหมอปัตพงษ์ อาจารย์บอกว่า เกิดจากยาฆ่าหญ้า ประจวบกับสมัชชาสุขภาพนั้นต้องคิดนโยบายและการทำงานเชิงวิชาการด้วย ช่วงนั้นพออาจารย์โกวิท หายป่วย ซึ่งเป็นระยะเวลาปีกว่า เราก็มาสัมภาษณ์ชาวบ้าน ทำโฟกัสกรุ๊ปก็พบว่าส่วนใหญ่จะไปสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มียาฆ่าหญ้า จึงเห็นว่ามันเกี่ยวข้องกัน การเกิดขึ้นของเครือข่ายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องพาราควอต ในช่วงที่ทำสมัชชาสุขภาพจังหวัดในที่ประชุมของสาธารณสุขจังหวัด มีศัลยแพทย์ท่านหนึ่งได้มานำเสนอในที่ประชุมว่า โรคเนื้อเน่าเป็นโรคอันดับ 1 ในแผนกศัลยฯ ของหนองบัวลำภู ซึ่งเขาก็ไม่รู้สาเหตุ ในวันนั้นเราก็พูดในที่ประชุมว่า มันเกิดจากยาฆ่าหญ้าทุกคนก็งงว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะตัวเองเป็นทันตแพทย์ พี่เป็นทันตแพทย์ไง ศัลยแพทย์ท่านจึงบอกว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วบอกว่าในส่วนของโรงพยาบาล เขาจะมีการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยอะไรมาก สถิติการป่วยของผู้ป่วย มีค่าใช้จ่ายสูงไหม เขาจะต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งเขายังแก้ปัญหาเรื่องนี้ไม่ได้นะ เป็นปัญหาอันดับ 1 ในปี 2556  ของแผนกศัลยฯ พอปี 57 มีพยาบาลไปเรียนโท แล้วทำงานวิจัยเรื่องสารเคมีเกษตร เขาเลยเจาะไปที่อ้อย เพราะที่ อ.ศรีบุญเรืองปลูกอ้อยเยอะ เลยทำข้อมูลมาให้เห็นว่าสารเคมีที่ใช้เยอะที่สุดคือยาฆ่าหญ้า อันดับ 1 คือ พาราควอต และก็บอกปริมาณ บอกอะไร ข้อมูลที่เราเริ่มรณรงค์กับชาวบ้านก็เป็นสไลด์จากข้างนอก แล้วก็มีข้อมูลจากข้างใน ระหว่างนั้นก็มีการเจาะเลือดเกษตรกร โครงการ เกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย เขาจะเจาะเลือดเกษตรกรเพื่อดูยาฆ่าแมลง ก็จะพบว่าเสี่ยงกว่า 50%  ซึ่งตอนนั้นอาจารย์หมอปัตพงษ์ บอกว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะมีแต่ยาฆ่าแมลง เราเคยไปเยี่ยม รพ.สต.กำนันคนหนึ่งเขาบอกว่า เขาเป็นคนรับจ้างฉีดยาฆ่าหญ้า แต่เขาไปเจาะเลือดแล้วเขาปลอดภัย เขาเลยนึกได้ว่าเคยคุยกับอาจารย์หมอปัตพงษ์ว่ามันไม่ใช่ยาฆ่าหญ้านะเป็นยาฆ่าแมลง เราจึงทำรณรงค์ว่าที่เราเจาะเลือดเจอไม่ใช่ยาฆ่าหญ้า แต่เป็นยาฆ่าแมลง จนมาปี 57 เราไปหาว่าที่ไหนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ เพราะเรารู้ว่าคนเขาใช้เยอะ ทางด้านเกษตรกรที่งานสมัชชาสุขภาพก็มองว่ามันต้องลด ละเลิก พอดีว่ารู้จักกับคุณนิพัท ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ปรึกษาของนายก อบจ. พอเรานำประเด็นของสมัชชาสารเคมีเกษตรที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ  แล้วแนวทางที่เราไปศึกษามาจากต่างประเทศนี่บอกว่า ต้องเกษตรอินทรีย์นะ ต้องลดการใช้จึงจะปลอดภัย เราก็ลงพื้นที่ไปให้ข้อมูลแบบนี้ไปตามที่ต่างๆ เพื่อหาเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ พอปี 58 พอเราจะขับเคลื่อนสมัชชาคุณนิพัทก็รวมเครือข่ายได้ 6 เครือข่าย ซึ่งดิฉันมีหน้าที่ไปให้ข้อมูลเรื่องผลกระทบ ในการทำงานเรายังมีอีกเครือข่ายชื่อ สกว.ท้องถิ่น ซึ่งเสนอว่า สมัชชาฯ ต้องมีการวิจัยในท้องถิ่นว่ามีการใช้ยาฆ่าหญ้าในพื้นที่ขนาดไหน แต่ในปี 57-58 ยังไม่ได้ทำประเด็นนั้น ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์มาเรื่อยๆ ก่อนจาก 6 เครือข่ายเพิ่มมาเป็น 12 เครือข่าย ที่จังหวัดหนองบัวลำภู ท่านผู้ว่าจะย้ายบ่อย ผู้ว่ามาทีไรคณะกรรมการสมัชชาจะต้องไปให้ข้อมูล ผู้ว่าฯ สองท่านมองว่า ยังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน พอปี 60 เราก็ไปเจาะที่อำเภอสุวรรณคูหาให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยท้องถิ่น ว่าเขามีปํญหาอะไร มีที่บุญทันทำเรื่องแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแก้ไขปัญหาสารเคมีตกค้างในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ที่นาดีทำเรื่องธรรมนูญสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาสารเคมี ที่กุดผึ้งทำเรื่องสารทดแทนยาฆ่าหญ้าในไร่อ้อย จนในปี 60 ที่มีการเริ่มแบนพาราควอต ดิฉันกับคุณนิพัทก็ได้รับเชิญไปที่กรุงเทพฯ โดยองค์กรไทยแพน ได้จัดแถลงข่าวที่จะแบนสารเคมี เพราะในเดือนเมษายน ปี 60 รมต.สาธารณสุขขอให้แบนสารเคมี เราก็ดีใจนะในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ เดือนกันยายนช่วงนั้น ญาติของคุณนิพัทแกเป็นโรคเนื้อเน่าที่แขนพอดี แกเลยถ่ายรูปแล้วโพสต์ขึ้นไลน์ของเครือข่ายเกษตรอินทรย์ พอวันรุ่งขึ้นไปประชุมที่ไทยแพนเขาก็ถามว่า จังหวัดไหนจะแบนบ้าง เราก็เลยขึ้นไปแถลงข่าวกับเขา เราพูดเรื่องโรคเนื้อเน่าหรือ NF (Necrotizing fasciitis) คนก็ไม่เข้าใจ ภาษาวิชาการเรียกว่าโรคหนังเน่า ต่อมาก็เรียกว่าโรคเนื้อเน่า เราก็เล่าว่าโรคเนื้อเน่าเป็นอย่างไร คุณนิพัทก็โพสต์ภาพไป มันก็เป็นข่าวดังเพราะคนไม่รู้จัก นักข่าวก็มาทำข่าวที่ รพ.หนองบัวลำภู ประกอบกับช่วงนั้นท่านผู้ว่าคนที่แล้ว(ตอนนี้ย้ายไปอุตรดิตถ์) เราไปเล่าให้ท่านฟังพร้อมกับให้ข้อมูล ประโยคเด็ดซึ่งท่านผู้ว่าบอกมาทีหลังว่า ฟังแล้วกระตุกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง คือนำเสนอท่านว่า “ในน้ำมียา ในนามีอ้อย แผ่นดินหนองบัวลำภูอาบยาพิษ” แล้วเราเอาเอกสารข้อเท็จจริงเสนอผู้ว่าฯ ท่านก็นำเสนอส่วนราชการ นี่คือก่อนจะเป็นข่าว พอเป็นข่าวนักข่าวมาทำข่าวเยอะ ท่านผู้ว่าไปเยี่ยมผู้ป่วย พอท่านถามก็จะพบว่า ผู้ป่วยจะมีแผลก่อนแล้วไปสัมผัสยา มีคนหนึ่งโดนปูหนีบแล้วไปล้างมือในที่นา จากนั้นเกิดอาการแขนบวมพอง จึงต้องลอกเนื้อที่แขน พอใครไปสัมภาษณ์ก็จะพบว่าที่บ้านผู้ป่วยมียาฆ่าหญ้าเยอะมาก พอได้ข้อมูลแบบนี้เลยคิดว่าเราต้องขยับต่อ ต้องทำงานต่อ พอหนองบัวลำภูบูมขึ้นมา ทางส่วนวิชาการก็มา แพทย์จากสำนักระบาดวิทยาก็ลงมา เขาก็ไม่รู้จักมาก่อนก็มาทำข้อมูลให้ เราบอกว่าเกิดจากยาฆ่าหญ้า เขาก็ไม่ฟันธง สงสัยว่ามันเกิดได้อย่างไร เนื้อเน่า NF เกิดจากเชื้อโรค แต่เขาก็บอกว่า รูปกราฟการติดเชื้อที่เป็นฟันปลาว่า ถ้าติดเชื้ออย่างเดียวรูปกราฟจะไม่เป็นฟันปลาแบบนี้ เขาต้องไปค้นหาให้ได้ว่าเกี่ยวข้องกับฤดูกาลอย่างไร ประกอบกับในปี 60 นี้ทางไทยแพนสามารถตรวจยาฆ่าหญ้าได้ นักวิจัยชุมชนที่เก็บข้อมูลมาจากหลายพื้นที่ ก็บอกว่าที่เขาเก็บมาเห็นชัดเจนว่ามีการใช้พาราควอตเยอะ เราก็อยากรู้ว่าใช้เยอะแล้วมีการตกค้างเยอะขนาดไหน เรามีหน้าที่ประสานก็ประสาน จนในที่สุดได้ทางมหาวิทยาลัยนเรศวรมา ตอนแรกทางนั้นจะไม่มาเพราะว่าไกล แล้วเคยทำที่น่านแล้วแต่ผู้ว่าฯ ไม่ยอมรับ แต่หลังจากเราโทรหา ดร.พวงรัตน์ ซึ่งตอนแรกไม่รู้จักหนองบัวลำภูมาก่อน ระหว่างนั้นเราก็สื่อสารกับผู้ว่าฯ ว่าแพทย์ระบาดวิทยาให้ทำวิจัยเพิ่มเติม ท่านบอกว่าเรื่องงบประมาณไม่ต้องเป็นห่วง อย่ากังวลเรื่องราคา ท่านบอกว่าจะหาเงินทำวิจัยให้ เลยคุยกับดร.พวงรัตน์ว่า ท่านผู้ว่าฯ เห็นด้วย ทางนักวิจัยจากนเรศวรเลยมาเก็บข้อมูลก่อนว่า สมเหตุสมผลไหมที่จะมาทำ หลังจากที่ดร.พวงรัตน์มาเก็บข้อมูลในเดือนธันวาคม คราวนี้ตกใจมาก เนื่องจากเห็นสภาพแวดล้อมแล้วน่ากลัวมาก เพราะที่ทำกินคือ ไร่อ้อยกับบ้านชาวบ้านนี่อยู่ติดกันเลย ซึ่งต่างจากที่น่าน ที่จะมีที่ทำกินอยู่ที่หนึ่ง บ้านอยู่ที่หนึ่ง เขาบอกว่าน่ากลัว เมื่อกลับไปวิเคราะห์ตัวอย่าง 2-3 วันแกรีบโทรกลับมาเลยว่า ที่นี่มีการตกค้างสูงมาก ในที่สุดต้องมีการจัดการ ทางจังหวัดต้องทำอย่างไร โดยการทำต้องไม่ให้ชาวบ้านตื่นตระหนกด้วย พอเดือนมกราคมก็ให้มีการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน เช่น ที่ระบบประปา แบ่งหน้าที่กันว่า อบจ.ต้องทำอะไร แล้วผู้ว่าก็เน้นว่า ระบบเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นจริง จึงนำปัญหาสารเคมีนำเข้าเป็นวาระของจังหวัด ต่อมาเราก็มีการวางแผนการลดใช้สารเคมี โดยมี ม.นเรศวร(มน.) มาช่วยเก็บตัวอย่าง 500 ตัวอย่าง ได้ข้อมูลมาว่าตกค้างเยอะ จากนั้นเราก็ขอทุนจากสถาบันวิจัยแห่งชาติ มช.ว่าจะลดสารเคมี เขาเลยให้เข้าโครงการท้าทายไทย ในเรื่องของการลดการใช้สารเคมี ให้ทาง มน.ช่วยเขียนโครงการว่าจะฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างไร ได้ผลสรุปว่า ต้องลดการใช้สารเคมีประมาณ 40% ให้ได้ในปี 64 และจะพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างไร การกรองสารพาราควอตในน้ำประปา โดยที่จังหวัดน่านใช้ถ่านกัมมัน ได้เชิญคนที่เผาถ่านกัมมันเป็นมาช่วย อันนี้เป็นการแก้ไขเองปัญหาสารเคมี ส่วนในเรื่องของเกษตรอินทรีย์มีการขับเคลื่อน เช่น รพ.สต.ไปเจาะเลือดเกษตรกรเจอตกค้างเยอะ ปลูกผักในพื้นที่สาธารณะ สนับสนุนเรื่องน้ำประปา สูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทำโครงการหัวนาโมเดลให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการทำเกษตรอินทรีย์ มีบุญทันโมเดลที่แก้ปัญหาสารเคมี และกำลังจะประกาศยกระดับเป็นหนองบัวลำภูโมเดล ในเรื่องการแก้ไขปัญหาสารเคมี 3 ปี เพราะถ้าหนองบัวลำภูเป็นโมเดล(ต้นแบบ) ได้น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของจังหวัดอื่นๆ ได้ เมื่อปี 57 เราเล่าเรื่องโรคเนื้อเน่าให้ นพ.วีรวัฒน์ พันธุ์ครุฑ ฟังท่านยังไม่รู้จัก แต่พอเมื่อปีที่ผ่านมาเจอท่านอีกครั้งท่านบอกว่าให้ไปช่วยที่ยโสธรด้วยที่นั่นเป็นเยอะ พอเราไปถามหลายๆ จังหวัด โรคนี้เป็นเยอะนะแต่คนยังไม่สนใจ   บทเรียนในการทำงานและสิ่งที่อยากเห็นในการแก้ปัญหา เวลาเราไปให้ข้อมูลชาวบ้าน เขาจะรู้สึกว่าเขาใช้มัน(ยาฆ่าหญ้า) จนเหมือนเป็นยาธรรมดา เหมือนเรากินยาพาราที่เราไปซื้อที่ไหนก็ได้ แล้ววันดีคืนดีพอเราไปบอกว่าพาราเป็นพิษ ชาวบ้านจะถามว่า ถ้ามันอันตรายทำไมนำเข้าล่ะ ชาวบ้านจะมองแบบนี้ จะมองว่ามันไม่อันตราย เราเลยคุยกับชาวบ้านว่าทำอย่างไรเราจะลด ละ เลิก ได้ก่อน เพราะ 50 ประเทศยกเลิกไปแล้ว เราไม่ใช่ประเทศแรกที่ยกเลิกแล้วทำไมเราจะยกเลิกไม่ได้ ชาวบ้านจะถามว่า สารทดแทนเขาจะใช้อะไร ในขณะเดียวกันหน่วยงานของกระทรวงเกษตรก็บอกว่าแล้วชาวบ้านจะใช้อะไรแทนพาราควอต มันยังจำเป็นอยู่ ตัวเราเองเป็นผู้บริโภคอยากให้เป็นเกษตรอินทรีย์ เพราะเวลาไปซื้อผัก เราไว้ใจไม่ได้เลย คือเราไม่มีความมั่นคงในชีวิตเลยนะ ความมั่นคงทางอาหารเราไม่มีเลย เราจะทำอย่างไร ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากสารเคมีเกษตร ยังไม่ค่อยรู้เรื่องสิทธินะคะ โดยเฉพาะเรื่องการฟ้องร้องเป็นเรื่องใหม่มาก เราก็อยากให้เขายกเลิกการใช้ เพราะเรารู้ว่ามันอันตราย ในส่วนของตัวเองก็จะพยายามทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพมารองรับมันก็จะเป็นหลักฐานที่ชัดเจนขึ้น ส่วนเรื่องความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบนี้เป็นความรู้ใหม่ของหมอว่ามันดูแลตรงนี้ได้นะ ต้องขอบคุณทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถึงตรงนี้ก็อยากฝากว่า เราทุกคนอยู่ในอันตรายทั้งนั้น เพราะว่าตอนนี้มันอยู่ในสิ่งแวดล้อมแล้ว ตอนนี้พืชผัก ผลไม้มันปนเปื้อนหมดเลย ที่ผ่านมาไทยแพนตรวจเจอแต่ยาฆ่าแมลงไม่เคยตรวจยาฆ่าหญ้า ปี 60 เจอยาฆ่าหญ้าเยอะมากเพราะมันแทรกซึมไปทุกที่ เพราะมันลงน้ำบาดาลแล้ว ฉะนั้นทุกคนต้องลุกขึ้นมาสนับสนุนด้วยการไม่ใช้และไม่นำเข้า ถ้าไม่ลุกขึ้นมา ถ้าไม่ห่วงตัวเอง คนไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 119 ขอประกันสำหรับชาวประมงด้วยได้ไหม

เราๆ ท่านๆ คงจำกันได้กับเหตุการณ์วิปโยค น้ำท่วมหนักที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ(ขณะที่นั่งเขียนเรื่องนี้น้ำก็ยังท่วมภาคใต้อยู่) ทำให้มีผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเสียชีวิตจำนวนมาก   ซึ่งผู้เขียนก็รู้สึกสลดใจและเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรกับท่านผู้อ่านและคนไทยทุกคน  และเราท่านก็คงเห็นเหมือนกันว่าหลังวิกฤติที่เกิดขึ้นต่อจากนี้คือมาตรการฟื้นฟูเยียวยา  ทั้งจากรัฐและเอกชน แต่ที่เป็นหลักจริงๆ หนี้ไม่พ้นรัฐ   ซึ่งมาตรการที่เห็นน้ำเห็นเนื้อที่สุดก็เห็นจะเป็น โครงการประกันรายได้เกษตรกร นั่นเองถึงแม้จะไม่ได้เท่าที่เสียหายแต่เกษตรกร ก็ยังพอเห็นทางรอดอยู่บ้าง ปัญหาคือเกษตรกรไม่ได้มีแค่ชาวไร่ชาวนาที่ปลูกต้นไม้เลี้ยงสัตว์เท่านั้น  แต่ยังมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าเกษตรกรอีกกลุ่ม   แต่ไม่เคยมีชื่อในสารระบบเกษตรกรนั่นคือชาวประมง วันนี้ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นชาวประมงคนหนึ่ง จึงอยากสะท้อน สิ่งที่ไม่มีใครมองเห็นนั่นคือความเดือดร้อนของ ชาวประมงพื้นบ้านและชายฝั่งขนาดเล็กในอ่าวไทย หลังเหตุการณ์น้ำท่วม(ทุกปี)เปล่า..เขาไม่ได้ถูกน้ำท่วม แต่เขาได้รับผลกระทบจากน้ำจืดจำนวนมหาศาลที่ถูกผลักดันลงทะเล  จนทะเลชายฝั่งในอ่าวไทย กลายเป็นทะเลน้ำกร่อย    เมื่อน้ำทะเลกร่อย(จืด)  กุ้ง,หอย,ปู,ปลา ก็อยู่ไม่ได้   ที่ไหนหนีได้ก็หนี หนีไม่ทันก็ตาย   ทำให้ชายฝั่งทั้งอ่าวไทยกลายเป็นทะเลร้าง...ชาวประมงชายฝั่งโดยเฉพาะบริเวณ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ไม่สามารถทำมาหากินได้มากกว่า 3  เดือนที่สำคัญไม่มีอาชีพอื่นรองรับจ้า   หาปลาไม่ได้ก็ไม่มีกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเขาไปเพื่อเอาชีวิตให้รอด  โดยไม่มีหน่วยงานไหนพูดถึง แม้กระทั่งกรมประมงที่มีหน้าที่ดูแลโดยตรง   ขณะที่รัฐประกาศว่าใครเดือดร้อนให้ไปแจ้งขอความช่วยเหลือ   ชาวประมงเหล่านี้จะเอาอะไรไปแจ้ง  ในเมื่อหลักเกณฑ์ของการช่วยเหลือ ต้องบอกว่าความเสียหายนั้นกี่ไร่ เลี้ยงอะไร  เรือเสียหายมั้ย  เรือมีทะเบียนหรือเปล่า. มีใบอนุญาตทำประมงมั้ย ยิ่งเรือเล็กๆ ไม่มีที่จะเรียกร้องเลยสักข้อ ข้อแม้เหล่านี้ทำให้ชาวประมงกว่า 10,000  ลำ ต้องทนทุกข์โดยไม่สามารถร้องขอความช่วยเหลือใดๆ ได้  ผู้เขียนอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าชาวประมงไม่ต้องลงทุนอะไร  เพียงไปกอบโกยจากทะอย่างเดียวเสียที   เพราะอาชีพประมงเป็นอาชีพที่เสี่ยงมาก   ออกทะเลไปแต่ละวัน ไม่รู้ว่าจะได้ปลาหรือไม่ได้  ขาดทุนได้กำไรไม่เคยรู้  แม้แต่จะได้มีชีวิตกลับเข้าฝั่งหรือเปล่าก็ยังไม่สามารถตอบได้ หากรัฐบาลและกระทรวงเกษตร ยังเห็นว่าชาวประมงก็เป็นกลุ่มคนที่ควรได้รับการดูแลฟื้นฟูเยียวยาก็น่าจะดี เราคงไม่อยากเห็นคนกลุ่มนี้ ต้องเลิกทำอาชีพประมงกันใช่มั้ย ถ้าเขาเลิกไปจริง เราจะเอาปลาที่ไหนมากินกันล่ะท่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 99 อย่างนี้มันต้อง…ถอน

ต้องถามว่าเรายังจำลุงช่วย ณ ธนาคารออมสินได้ไหมล่ะจ๊ะ หากจำไม่ได้จะบอกให้ ก็ลุงช่วยคนที่เอาขี้ราดตัวประท้วงออมสินไง แนะๆๆ จำได้แล้วใช่ไหม ในสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่อย่างนี้ เหตุการณ์อย่างนั้นกำลังจะกลับมาอีก ผู้เขียนไม่อยากเห็นลุงช่วย 2…3 จึงนำเรื่องที่ประสบด้วยตัวเอง 2 เรื่อง 2 ธนาคาร จะมาเล่าสู่กันฟัง ธนาคารแรก ธกส. (ไม่ใช่ธรณีกรรแสงนะ เอ๊ะหรือว่าใช่) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธนาคารคนจนไง...) เพราะคนที่ใช้ธนาคารนี้โดยเฉพาะในชนบทส่วนใหญ่ก็จะเป็นเกษตรกรและส่วนใหญ่มาใช้บริการกู้เงินและใช้หนี้ หมุนกันอยู่อย่างนี้ คือต้องส่งตามงวดของสัญญา ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่เป็นหนี้ ธกส. และก็เป็นลูกค้าชั้นดี ส่งตรงทุกงวดไม่เคยบิดพลิ้ว ที่ส่งมาก็ไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2552 ครบสัญญา ผู้เขียนก็นำเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยไปใช้หนี้ แล้วก็กู้กลับเท่ากับเงินต้นที่ส่งไป ตอนแรกก็ไม่มีอะไร จนเมื่อเจ้าหน้าที่หน้าเคาน์เตอร์เรียกหมายเลขให้เราไปรับเงิน ก็มีเจ้าหน้าที่อีกคนมายืนรออยู่ พร้อมบอกว่า “เอาเงินต้นที่กู้ไว้ออกมาทั้งหมดไม่ได้ ต้องแบ่งส่วนหนึ่งออมไว้กับธนาคาร” (อ้าว..เรากู้เงินเราเสียดอกเบี้ยนะจะมาบอกว่าเราต้องออมได้ไง..) ผู้เขียนก็บอกว่ายังไม่พร้อมที่จะออม เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเป็นนโยบายของธนาคารลูกค้าทุกคนต้องทำตาม (เฮ้ย..เงินฉันนะ......จะออมไม่ออมฉันต้องตัดสินใจเองไม่ใช่ถูกบังคับ) จึงตอบกลับไปว่า ถึงจะเป็นนโยบายของธนาคาร แต่ก็นำมาบังคับลูกค้าไม่ได้ การจะออมหรือไม่ออมต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกค้า เพราะเงินที่กู้ออกมาอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินหลายเท่า และที่สำคัญคนที่ตัดสินใจกู้เงินก็เพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงิน เมื่อเขากู้เสียดอกธนาคารมาบังคับให้ออมไม่ได้ เพราะเงินนี้เป็นสิทธิของเรา จะฝากหรือไม่ฝากเรามีสิทธิเต็มที่ในการตัดสินใจ ไม่ใช่ใครจะมาบังคับได้ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นอาการแข็งขืนของเรา ก็เดินกลับไปนั่งที่เดิมไม่พูดอะไรต่ออีก นี่เป็นบุญยืนนะ... คิดดูหากเป็นชาวบ้านที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง คงหนีไม่พ้น ต้องเอาเงินที่กู้มาดอกแพงๆ มาฝากได้ดอกถูกๆ เป็นแน่แท้.... ธนาคารที่ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ อันนี้เรามีเงินฝากอยู่ และก็มีเงินบางส่วนไปฝากเพิ่ม(บัญชีออมทรัพย์) เจ้าหน้าที่ธนาคารก็แนะนำว่าการฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ปัจจุบันดอกเบี้ยต่ำมากแค่ 50 สตางค์เท่านั้น จึงแนะนำให้เรานำเงินส่วนหนึ่งไปฝากอีกรูปแบบหนึ่งที่มีค่าตอบแทนสูงกว่าหลายเท่า เช่น ฝาก 40,000 บาท ปีที่ 2 จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนถึง 6,000 บาท ฝากแล้วถอนคืนได้ปกติ ให้ข้อมูลด้านดีด้านเดียว เรียกได้ว่าหว่านล้อมพูดแต่ความดีงามของเงินฝากประเภทนั้น จนเราแทบละลาย พร้อมบอกย้ำว่าไม่ต้องกลัวนี่ธนาคารทำเองไว้ใจได้ ไป 10 ครั้งก็ชวน 10 ครั้ง (ชวนทุกครั้งที่เห็นหน้า) ตอนแรกผู้เขียนก็ไม่ได้คิดอะไร พอบ่อยครั้งเข้าก็เริ่มสงสัย มันอะไรกันแน่ชวนจัง? จึงทำทีเป็นสนใจและขอข้อมูลเพิ่มซึ่งขอไม่ง่าย (แต่ก็ได้มาจนได้ล่ะ)ปรากฏเงินฝากที่ถูกชักชวนมันไม่ใช่บัญชีเงินฝากธรรมดา แต่มันเป็นการชวนลงประกัน (ตอนมันชวนมันไม่บอกสักคำ) หากเราไม่รอบคอบ เห็นแก่ดอกเบี้ยยอมฝากอย่างที่เขาแนะนำ หากฝาก 40,000 บาท และถอนในหนึ่งปีต่อมาเราจะได้เงินเพียง 9,750 บาท เท่านั้นนะพี่น้อง ที่เหลือจะถูกหักเป็นค่าคุ้มครองในหลายส่วน คิดดูว่าอย่างนี้ ลุงช่วย 2…3 ก็น่าจะเกิดขึ้นไม่ยากใช่ไหม เจ้าหน้าที่พวกนี้แปลกตอบสนองแต่นโยบายธนาคาร ไม่สนใจสิทธิของลูกค้าผู้มีพระคุณอย่างเราเลย น่าจะคิดนะว่าหากเราไม่เข้าไปใช้บริการ ธนาคารจะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายเงินเดือนให้ เอ้า.. ใครมีหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ดูแลหน่อย รัฐมนตรีการคลังก็เป็นหนุ่มไฟแรงปล่อยให้ธนาคาร มาให้ข้อมูลหลอกลวงและใช้นโยบายมาบังคับผู้บริโภคอย่างนี้ได้ไง อย่างนี้มันต้องถอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 กระแสต่างแดน

เมนูนี้ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ!วันผู้บริโภคสากล (15 มีนาคม) ปีนี้ ผู้บริโภคทั่วโลกจะร่วมกันเรียกร้องให้ผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสาขาทั่วโลกอย่าง แม็คโดนัลด์ เคเอฟซี ซับเวย์ ฯลฯ ยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่ผ่านการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ประมาณร้อยละ 50 ของยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อที่ผลิตขึ้นในโลก ถูกใช้ในภาคการเกษตร แม้ว่ายานี้จะมีไว้เพื่อหยุดยั้งการติดเชื้อในสัตว์ แต่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพื่อการค้าในปัจจุบันกลับนิยมใช้เพื่อป้องกัน (ไม่ใช่รักษา) การติดเชื้อ ที่แย่ไปกว่านั้นคือการใช้ในปริมาณต่ำร่วมกับฮอร์โมนเพื่อเร่งการเจริญเติบโต วิถีปฏิบัติแบบนี้ทำให้เกิดปัญหาการดื้อยา หลายๆ ประเทศประสบปัญหานี้ในระดับร้ายแรงแล้ว องค์การอนามัยโลกเตือนว่าถ้านานาประเทศยังไม่ร่วมกันแก้ไขเรื่องนี้ เราก็จะเข้าสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ นั่นหมายความว่ายาที่มีอยู่จะไม่สามารถรักษาโรคได้และการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เราเสียชีวิตได้ แม้จะมีความกังวลในเรื่องนี้มาระยะหนึ่ง แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่าการใช้ยาปฏิชีวนะจะลดลง ข้อมูลจากสหพันธ์ผู้บริโภคสากลระบุว่าเมื่อถึงในปีค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) การใช้ยาฆ่าเชื้อจะเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 70 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการหลายรายประกาศว่าจะยกเลิกการใช้วัตถุดิบเนื้อสัตว์ที่ผ่านการเร่งโตด้วยยาปฏิชีวนะ แต่การสำรวจร้านอาหารฟาสต์ฟูด 25 แบรนด์ในอเมริกาครั้งล่าสุดในปี 2558 โดยองค์กรผู้บริโภค พบว่ามีถึง 20 รายที่ยังไม่มีนโยบายงดซื้อเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะเลยนางสาวอมานดา ลอง ผู้อำนวยการสหพันธ์ผู้บริโภคสากลกล่าวว่าธุรกิจอาหารขนาดใหญ่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างกว้างขวาง เป็นกำลังสำคัญในการรณรงค์ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับธุรกิจอื่นๆ ผู้บริโภคเองก็เป็นกำลังสำคัญเช่นกัน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หนึ่งในองค์กรสมาชิกของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลจึงขอเชิญชวนผู้อ่านฉลาดซื้อ ร่วมเรียกร้องให้ร้านฟาสต์ฟู้ดยกเลิกเมนูที่มีเนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ ด้วยการถ่ายรูปตัวเองขณะถือป้าย #AntibioticsOffTheMenu (เมนูนี้ต้องไม่มียาปฏิชีวนะ) หน้าร้านฟาสต์ฟู้ด โพสต์ลงในเฟสบุ้คแล้วติดแฮชแท็ก #AntibioticsOffTheMenu ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2559 นี้   ทีพีพี ที่ไม่พอเพียงเกษตรกรญี่ปุ่นส่วนหนึ่งกำลังหวั่นวิตกว่าแผนเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (TPP) ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ จะทำให้วิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของพวกเขาเปลี่ยนไป   เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลก นายอาเบะเสนอให้ญี่ปุ่นทำการเกษตรเชิงรุก โดยเกษตรกรรายเล็กจะได้รับการส่งเสริมให้ขยายกิจการ หลายคนมองว่าแผนนี้หมายถึงการเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากสภาพอากาศและราคาน้ำมันที่ผันผวนตลอดเวลา โซอิจิ ยามาชิตะ เกษตรกรวัย 79 ปี เป็นหนึ่งในเกษตรกรรายย่อยที่ไม่ต้องการรวยจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว  ด้วยพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ ในแต่ละปีครอบครัวยามาชิตะผลิตข้าวได้ 2.5 ตัน ส้ม 7 ตัน มะนาวเหลือง 500 กิโลกรัม พลัมและผักหลากหลายชนิดอีก 200 กิโลกรัม พวกเขารู้สึกเพียงพอแล้วสำหรับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ชาวสวนผลไม้ในญี่ปุ่นยังไม่ลืมความล้มเหลวของนโยบายส่งเสริมการปลูกส้มของรัฐบาลในช่วงปี 70 ที่ส่งผลให้ผลผลิตส้มล้นตลาดในช่วงปี 80 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปิดเสรีทางการค้าที่ทำให้ส้มจากต่างประเทศสามารถเข้ามาตีตลาดในญี่ปุ่นด้วย ผู้ดีกินดี นิสัยการกินของคนอังกฤษกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เรื่องนี้ยืนยันโดยงานสำรวจ National Food Survey ของรัฐบาลอังกฤษ ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา คนอังกฤษหันมาบริโภคนมพร่องมันเนย ขนมปังโฮลวีท และผลไม้สดกันมากขึ้น ผลไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดได้แก่กล้วย ด้วยสถิติการบริโภคคนละ 221 กรัมต่อสัปดาห์ ตามด้วยแอปเปิ้ล (131 กรัม) และส้ม (48 กรัม) แม้แต่การดื่มน้ำอัดลมก็หันมาเลือกดื่มชนิดที่มีแคลอรี่ต่ำกันมากกว่าเดิม คนอังกฤษมีนิสัยการกินดีขึ้นทั้งๆ ที่มีการใช้จ่ายด้านอาหารลดลง เมื่อ 40 ปีก่อนพวกเขาใช้จ่ายร้อยละ 24 ของรายได้เพื่อซื้ออาหารแต่ปัจจุบันการใช้จ่ายดังกล่าวมีเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น ในทางกลับกันเขาพบว่าการบริโภคชาของชาวเมืองผู้ดีลดลงครึ่งหนึ่งจากช่วงปี 70 จากที่เคยดื่มสัปดาห์ละ 23 ถ้วย ปัจจุบันเหลือเพียงสัปดาห์ละ 8 ถ้วยเท่านั้น และแม้ว่าชาจะเป็นเครื่องดื่มร้อนที่นิยมมากที่สุด คนอังกฤษกลับมีรายจ่ายไปกับกาแฟมากกว่า งานสำรวจนี้เก็บข้อมูลจาก 150,000 ครัวเรือน ระหว่างปีค.ศ.1974 ถึง ค.ศ. 2014

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 163 กระแสต่างแดน

ดีเซลไม่ดีจริง ทุกปีมีชาวลอนดอนประมาณ 4,300 คนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับมลภาวะทางอากาศ และสภาพอากาศในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาของเมืองนี้ก็เลวร้ายถึงขั้นต้องประกาศให้ผู้คนงดออกจากบ้านกันเลยทีเดียว ลอนดอนมีระดับมลพิษเกินเกณฑ์ของสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2010 แล้ว นายกเทศมนตรีของลอนดอน นายบอริส จอห์นสันก็ยอมรับว่าเขาคิดว่ามหานครแห่งนี้คงจะลดการปล่อยไนโตรเจนไดออกไซด์ให้อยู่เกณฑ์ได้ก่อนปี 2030 แน่นอน แนวคิดล่าสุดที่เขาเสนอเพื่อลดมลพิษในเมือง คือการจ่ายเงินให้กับเจ้าของรถที่ใช้เครื่องดีเซลให้เปลี่ยนไปใช้รุ่นที่ปล่อยมลพิษน้อยลง โดยเริ่มจากรถรุ่นที่ผลิตก่อนปี 2013 เขาคาดว่าแผนการที่อาจต้องใช้งบประมาณถึง 300 ล้านปอนด์นี้ น่าจะลดจำนวนรถเก่าออกไปจากท้องถนนลอนดอนได้ประมาณ 150,000 คัน (ทั้งนี้ค่าชดเชยอยู่ที่คันละไม่เกิน 2000 ปอนด์) นายบอริสบอกว่า เขาเห็นใจคนที่โดนกล่อมให้ซื้อรถดีเซลด้วยความเชื่อว่ารุ่นใหม่ๆ จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วยมลพิษที่น้อยกว่าและค่าเชื้อเพลิงที่น้อยลง และเขาก็บอกด้วยว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องตระหนักว่ามันคือความผิดพลาดทางนโยบาย (ปัจจุบันรถดีเซลมีส่วนแบ่งถึงร้อยละ 50 ของตลาดในอังกฤษ) ทั้งนี้แผนส่งเสริมการใช้รถพลังไฟฟ้าที่เขาประกาศไว้เมื่อ 5 ปีก่อน ก็ยังไม่ได้ผล จากที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมี 25,000 คันภายในปี 2015 ขณะนี้ยังมีเพียง 1,400 คันเท่านั้น เรื่องนี้เขาบอกว่าต้องโทษกลไกตลาด ที่ยังไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ต่ำเท่าที่ควร     ซูเปอร์ฟู้ดเอาตัวไม่รอด ปีนี้แคลิฟอร์เนียกำลังเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนัก และมันจะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง เพราะร้อยละ 80 ของเมล็ดอัลมอนด์ที่มีขายอยู่ในตลาดโลกมาจากที่นี่ เมื่อน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบพากันเหือดแห้ง เกษตรกรผู้ปลูกอัลมอนด์จึงสูบน้ำจากใต้ดินขึ้นมาใช้ และตกเป็นจำเลยข้อหาเอาน้ำใต้ดินที่ควรเป็นแหล่งน้ำสำรองของผู้คนรัฐแคลิฟอร์เนียมาใช้เพื่อผลิต “ซูเปอร์ฟู้ด” ราคาถูกออกมาป้อนตลาดโลก มีผู้ให้ความเห็นว่าเมื่อเกษตรกรไม่มีต้นทุนค่าน้ำ พวกเขาจึงสามารถขายอัลมอนด์ให้พ่อค้าที่ราคาขายส่งแค่ 3 – 4 เหรียญต่อปอนด์เท่านั้น แต่ถ้ามีการคิดต้นทุนที่แท้จริงแล้วละก็ ผู้บริโภคจะต้องจ่ายมากกว่านั้นถึง 3 เท่า ด้านสมาคมผู้ปลูกอัลมอนด์แห่งแคลิฟอร์เนียบอกว่า อัลมอนด์เป็นพืชที่ทนแล้งได้ดี และปีนี้เกษตรกรก็ใช้น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เขาใช้น้ำน้อยลงถึงร้อยละ 33 ต่อการผลิตอัลมอนด์หนึ่งปอนด์ และตั้งคำถามกลับว่าการที่น้ำจะไม่พอใช้นั้นอาจเป็นเพราะการบริหารจัดการน้ำที่ไม่ดีของรัฐเองหรือเปล่า ความจริงแล้วแคลิฟอร์เนียสามารถผลิตนมและองุ่นได้ในปริมาณสูงกว่าอัลมอนด์ด้วยซ้ำ แต่ช่วงหลังนี้อัลมอนด์ได้รับความนิยมสูง(ด้วยสรรพคุณมากหลายตั้งแต่ลดโคเลสเตอรอล ลดความอยากอาหาร บำรุงผิว ฯลฯ) จึงมีคนนิยมปลูกมากขึ้น และทำรายได้ถึง 4,300 ล้านเหรียญต่อปีจากพื้นที่เพราะปลูกประมาณเกือบหนึ่งล้านเอเคอร์ ปีนี้ราคาอัลมอนด์สูงที่สุดในรอบ 9 ปี(ตันละ 10,500 เหรียญ) แต่ปัญหามันอยู่ที่มีเงินก็อาจจะซื้อไม่ได้ เพราะมีแนวโน้มว่าอาจไม่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในคริสต์มาสนี้   ผลพลอยได้ ผู้ผลิตปลาทูน่าอันดับหนึ่งของโลก คืออินโดนีเซียเพื่อนบ้านของเรา มีเกาะอยู่ทั้งหมด 17,000 เกาะ และมีประชากรหลายสิบล้านคนที่ทำประมงเลี้ยงชีวิต ปัจจุบันเขามีเรืออวนไม่ต่ำกว่า 33,000 ลำ และทุกครั้งที่เรืออวนออกไปจับปลาทูน่า ก็มักมีผลพลอยได้เป็นปลาฉลามมาด้วย ปลาทูน่าจะถูกส่งไปขายในญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา ส่วนปลาฉลามที่ติดมาด้วยนั้น ชาวบ้านที่นั่นเขาก็นำมากินกันเป็นเรื่องธรรมดา หนังปลาฉลามยังเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของผู้คนในชุมชนริมทะเล และถ้าคุณไปตลาดหรือซูเปอร์มาร์เก็ตก็หาซื้อลูกชิ้นปลาฉลาม หรือลูกปลาฉลามได้ไม่ยาก อินโดนีเซียจับปลาฉลามได้ปีละ 109,000 ตัน(น่าจะเป็นประเทศที่จับปลาฉลามได้มากที่สุดในโลกด้วย) และสามารถจับได้อย่างเสรี ไม่มีโควตา ไม่กำหนดขนาดของปลา จึงทำให้นักอนุรักษ์เริ่มวิตก สำหรับชาวอินโดนีเซียแล้ว ปลาฉลามจะเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ไม่ได้เป็นอาหารเหลาเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่เราเคยได้ยินข่าวการรณรงค์ให้ลด ละ เลิก แต่นักวิชาการเขาก็ยืนยันว่าถ้าเราคิดให้ถี่ถ้วน เราจะพบว่า ฉลามตัวเป็นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่ในทะเลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่าฉลามที่ตายแล้วหลายเท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลของออสเตรเลียพบว่า นอกจากมันจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเลแล้ว ตลอดอายุขัยของมัน ฉลามหนึ่งตัวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.9 ล้านเหรียญ ขาปั่นทำป่วน เราอาจรู้จักโคเปนเฮเกนในฐานะเมืองหลวงจักรยานของยุโรป และเมืองที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้จักรยานมากที่สุดในโลก แหม่ ... ก็เขามีเลนจักรยานที่มีความยาวรวมกันทั้งหมดถึง 400 กิโลเมตรเชียว ไม่อยากจะคุยต่อว่าเทศบาลเขาประกาศว่าปีหน้าจะจัดงบให้อีก 75 ล้านโครน เพื่อเพิ่มเส้นทางและขยายช่องทางจักรยานด้วย ว่ากันว่าผู้คน 1 ใน 3 ของเมืองนี้เดินทางด้วยจักรยานเพราะมันถูกและเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่สาแก่ใจเทศบาลโคเปนเฮเกนที่ต้องการให้ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 50 เพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี 2020 แต่เดี๋ยวก่อน ... หลายคนเริ่มสงสัยว่าพวกเขาหมกมุ่นกับการสร้าง “เมืองสองล้อ” มากเกินไปหรือเปล่า ... คุณอาจคิดว่ามันเป็นสวรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของนักปั่น แต่พักหลังนี้เสียงบ่นทั้งจากตัวผู้ใช้จักรยานและผู้คนที่ร่วมใช้เส้นทางกลับเพิ่มมากขึ้นทุกที นักปั่นเริ่มฝ่าฝืนกฎจราจรกันมากขึ้น เดือนมกราคมที่ผ่านมาเทศบาลต้องมีมาตรการลงโทษผู้ใช้จักรยานที่ละเมิดกฎหมาย เช่น ถ้าฝ่าไฟแดงจะถูกปรับ 1,000 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) ถ้าขึ้นมาขี่บนฟุตบาทก็จะโดนค่าปรับ 700 โครน (ประมาณ 4,000 บาท) นอกจากนี้ยังมีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อคอยยกจักรยานที่จอดในสถานที่ส่วนบุคคลไปเก็บ และคิดค่าไถ่จักรยานคันละ 187 โครน (ประมาณ 5,600 บาท) เป็นต้น เริ่มมีเสียงร้องเรียนว่าคนใช้จักรยานทำเหมือนตัวเองมีสิทธิพิเศษ ใครๆ ก็ต้องหลีกทางให้ ขึ้นรถไฟก็ต้องได้ที่นั่งและที่เก็บจักรยาน ปั่นอยู่บนถนนก็ไม่ต้องหยุดรอให้ผู้โดยสารที่ลงจากรถเมล์เดินขึ้นฟุตบาทก่อน เจอผู้พิการก็ไม่ชะลอ ... แหม่ ... นี่เข้าข่าย “เมืองดีแล้ว แต่ประชากรยังต้องปรับปรุง” เหมือนกันนะ เรื่องกินสอนกันได้ เด็กๆ ที่ฝรั่งเศสจัดอยู่ในกลุ่มที่มีสุขภาพดีที่สุดเมื่อเทียบกับเด็กในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีอัตราน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนต่ำกว่าร้อยละ 20 ว่ากันว่าเรื่องนี้อยู่ในวิถีชีวิต คนฝรั่งเศสเชื่อว่าเด็กๆ ควรจะได้รับการสอนให้กินอาหารเป็น เช่นเดียวกับที่พวกเขาถูกสอนให้สามารถอ่านหนังสือได้นั่นเอง และการรักในรสชาติของอาหารก็เป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นจะต้องสอนกันตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ชาวฝรั่งเศสมักจะไม่ถามลูกว่า “อิ่มหรือยัง?” แต่จะถามว่า “ยังหิวอยู่ไหม?” และเวลาจะชักชวนลูกให้ทานอะไรสักอย่าง เขาก็จะบอกว่า “ทานสิลูก อร่อยนะ” ไม่ใช่ “ทานสิลูก มีประโยชน์นะ” นอกจากนี้ในร้านอาหารของฝรั่งเศสเขาจะไม่มี “เมนูสำหรับเด็ก” เพราะเชื่อว่าเด็กควรทานทุกอย่างได้เหมือนกับผู้ใหญ่ (แม้ว่าพวกเขาจะไม่ชอบมันในตอนแรกก็ตาม) ทั้งนี้เพราะเด็กที่นี่ได้เรียนรู้การกินอาหารเพื่อสุขภาพทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน สำหรับเด็กประถมนั้น เมื่อถึงเวลาอาหารกลางวันพวกเขาก็จะได้รับประทานอาหารกลางวันแบบ 4 คอร์ส (สลัด จานหลักที่มักประกอบด้วยเนื้อสัตว์ จานชีส และของหวานที่มีผลไม้) และเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียวบนโต๊ะอาหารคือน้ำเปล่า กระทรวงศึกษาฯ เขามีนโยบายที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น โรงเรียนจะต้องให้เด็กได้ใช้เวลาทานอาหารกลางวัน อย่างต่ำ 30 นาที และเวลาพักกลางวันจะต้องไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กมีเวลาเล่น และห้ามตั้งเครื่องเครื่องขายขนมอัตโนมัติในโรงเรียนด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 148 กระแสต่างแดน

ใครๆ ก็ไม่รักเด็ก ด้วยอัตราการเกิดที่ต่ำมากของญี่ปุ่น ทำให้เด็กๆ ที่นั่นกลายเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ที่ผู้คนไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยนัก  และไม่ชินกับเสียงร้อง หรือเสียงหัวเราะเล่นกันของพวกเขา เด็กญี่ปุ่นยุคนี้จึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน น่าประหลาดที่สังคมนิยมเสียงอย่างญี่ปุ่น -- เสียงปิ๊งป่องต้อนรับที่ร้านสะดวกซื้อ หรือเสียงตะโกนหา เสียงผ่านโทรโข่งตามสถานีรถไฟ – กลับรับเสียงเด็กๆ ไม่ได้ ข่าวบอกว่ามีเรื่องร้องเรียนเรื่องเด็กเสียงดังทุกวัน เดี๋ยวนี้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กต้องสร้างกำแพงกั้นเสียงไม่ให้ไปรบกวนเพื่อนบ้าน และจำกัดเวลาที่เด็กจะเล่นในสนามไว้ที่วันละไม่เกิน 45 นาที และถ้าจะมีงานเทศกาลอะไรก็ตามที่มีผู้ร่วมงานเป็นเด็ก เขาก็จะนิยมจัดในอาคารกัน แทนที่จะจัดกลางแจ้งเหมือนเมื่อก่อน แม้แต่นักเรียนมัธยมต้นที่เคยซ้อมวิ่งพร้อมออกเสียงเพื่อสร้างความฮึกเหิม เดี๋ยวนี้ยังต้องเจียมเนื้อเจียมตนวิ่งกันไปเงียบๆ   ก่อนหน้านี้มีศูนย์เด็กเล็กแห่งหนึ่งถูกเพื่อนบ้านขี้รำคาญฟ้องร้องโทษฐานส่งเสียงดังรบกวน จึงต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน 5 ล้านกว่าบาท ปัญหานี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องอัตราการเกิดต่ำเท่านั้น แต่ยังหมายถึงความแออัดของที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและเศรษฐกิจที่ค่อนข้างฝืดที่ทำให้ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่บ้านกันมากขึ้นด้วย กลุ่มคนรักเด็กให้ความเห็นว่า ผู้สูงอายุหรือคนที่ไม่มีลูกที่หงุดหงิดรำคาญเด็กๆ เหล่านี้หลงลืมกันไปหรือเปล่าว่าเด็กเหล่านี้คือแรงงานสำคัญของญี่ปุ่นในอนาคต พวกเขาจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจ่ายภาษีให้รัฐบาลนำมาเลี้ยงดูตนเอง ที่สำคัญค่าใช้จ่ายนี้กำลังเพิ่มสูงขึ้น เพราะประชากรในวัยทำงานมีจำนวนน้อยกว่าวัยสูงอายุ จากประชากรทั้งหมด 128 ล้านคนของญี่ปุ่น มีถึง 1 ใน 4 ที่อายุมากกว่า 65 ปี ในขณะที่เด็กวัยต่ำกว่า 14 ปีนั้นเป็นเพียงร้อยละ 13.2  ของประชากรเท่านั้น อัตราการเกิดของญี่ปุ่นนั้นอยู่ที่แม่ 1 คน ต่อเด็ก 1.39 คน อัตราเฉลี่ยของโลกอยู่ที่แม่หนึ่งคน ต่อเด็ก 2.52 คน และของประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ 1.6 คน ... เอ หรือว่าเราจะมีปัญหาเดียวกันในอนาคต   การเกษตรต้องมาก่อน ไม่แน่ใจว่าราคาไข่ที่มาเลเซียจะแพงเว่อร์เหมือนบ้านเราหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ โดยรวมแล้วอาหารที่มาเลเซียก็แพงเหมือนกัน สาเหตุของอาหารแพงนั้น องค์กรผู้บริโภค FOMCA ของเขาบอกว่าหลักๆ แล้วเป็นเพราะรัฐบาลไม่ค่อยสนับสนุนการลงทุนด้านการเกษตร จากที่เคยให้งบประมาณร้อยละ 22 เพื่อการพัฒนาการเกษตรในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงร้อยละ 3.8 เท่านั้น เมื่อถึงปี 2007 และถ้าดูจากผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) แล้ว จะเห็นว่าสินค้าเกษตร ซึ่งเคยมีส่วนแบ่งถึงเกือบร้อยละ 23 แต่ในปี 1980 กลับลดเหลือเพียงแค่ร้อยละ 7.7 ในปี 2007 ผลก็คือมาเลเซียต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบอาหารมากขึ้น มูลค่าการนำเข้าในปี 2007 สูงถึงสองแสนกว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวจาก 4 ปีก่อนหน้า FOMCA มีข้อเสนอให้รัฐให้ความช่วยเหลือกับเกษตรมากกว่านี้ และเรียกร้องให้รัฐมีแผนชัดเจนในการใช้พื้นที่ว่างเปล่าซึ่งมีถึง 34,300 เฮคตาร์ หรือสองแสนกว่าไร่ มาเพาะปลูกพืชไว้เพื่อการบริโภคในประเทศ แต่ปัจจัยที่ทำให้อาหารแพงยังรวมถึงปัจจัยระดับโลกนั่นคือ การจำนวนประชากรที่ไม่สมดุลกับปริมาณอาหารที่ผลิตได้ เพราะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ประกอบกับพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำที่มีจำกัด นอกจากนี้มาเลเซียยังมีเรื่องของการผูกขาดในธุรกิจอาหาร ที่มีผู้เล่นน้อยราย จึงทำให้สามารถตั้งราคากันได้ตามใจชอบ และยังมีเรื่องของความยากลำบากในการขอใบอนุญาตทำกิจการอาหารอีกด้วย     ปฏิบัติการยึดบ้านบาร์บี้ เปิดตัวไปแล้วเมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สำหรับคฤหาสน์ในฝันของสาวบาร์บี้ที่ใช้ชื่อทางการค้าว่า Barbie The Dreamhouse Experience ที่เบอร์ลินตะวันออก ใกล้ๆ กับย่านช้อปปิ้งของเมือง โดยแห่งแรกเปิดตัวไปก่อนหน้านั้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่เมืองไมอามี รัฐฟลอริด้า คฤหาสน์สีชมพูหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 2,500 ตารางเมตร ตั้งอยู่ระหว่างทางรถไฟและตึกแถวยุคคอมมิวนิสต์ การตกแต่งภายในและเฟอร์นิเจอร์ทุกอย่างก็เป็นสีชมพูเพื่อเอาใจเด็กผู้หญิงที่สามารถเข้าไปอบคัพเค้ก เข้าตู้เสื้อผ้าแบบวอล์คอิน หรือจะนั่งชิลในห้องนั่งเล่นสีชมพูก็ไม่ว่ากัน งานนี้ไม่ได้มีแต่คนชื่นชม กลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีออกมาต่อต้านการเปิดตัวของคฤหาสน์แห่งนี้ บ้างก็รับไม่ได้กับการส่งเสริมความงามที่ฉาบฉวยและไม่เป็นจริงให้กับพวกเด็กๆ บ้างก็บอกว่ามันเป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ ต้องเล่นกับตุ๊กตาที่เป็นโรคขาดอาหาร ที่มีชีวิตอยู่เพื่อนั่งรอชายหนุ่มชื่อเคนอยู่ในรถเปิดประทุน ว่าแล้วก็ชักชวนผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการปลูกฝังแนวคิดให้เด็กผู้หญิงเป็นอย่างบาร์บี้ มาเข้าร่วมกระบวนการ Occupy Barbie Dreamhouse ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกแล้ว 1,000 คน ทางด้านบริษัท Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ออกมายืนยันว่าเขาได้ปรับภาพลักษณ์ของบาร์บี้แล้ว นอกจากบาร์บี้ในชุดบิกินี่แล้ว เด็กๆ สามารถซื้อบาร์บี้ที่เป็นศัลยแพทย์ หรือบาร์บี้ที่สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย เผื่อคุณอยากทราบ คฤหาสน์ที่ว่ามีอัตราค่าเข้าชมดังนี้ สำหรับผู้ใหญ่ (14 ปีขึ้นไป) ค่าเข้าชม 15 ยูโร หรือประมาณ 600 บาท  เด็กระหว่าง 4 ถึง 13 ปี 12 ยูโร หรือประมาณ 480 บาท  หรือจะเป็นแพคเก็จครอบครัว (ผู้ใหญ่ 2 คน เด็กไม่เกิน 3 คน) ก็ 49 ยูโร หรือประมาณ 2,000 บาท แต่ถ้าลูกของคุณอยากจะลองประสบการณ์การเดินแบบบนแคทวอล์ค หรือขึ้นเวทีเป็นซุปตาร์ ก็จ่ายเพิ่มอีกประสบการณ์ละ 10 ยูโร หรือประมาณ 400 บาท ควรมิควรก็แล้วแต่ผู้ปกครองจะพิจารณา ...     มาตรการลดขยะ เดือนมิถุนายนนี้ เกาหลีใต้เริ่มใช้กฎระเบียบใหม่เพื่อเป็นการลดปริมาณขยะอาหาร ด้วยการคิดค่าบริหารจัดการขยะอาหารจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยเริ่มจาก 129 เทศบาลก่อน แต่ข่าวบอกว่าสิ้นปีนี้จะครอบคลุมทั้งหมด 144 เขต กระทรวงสิ่งแวดล้อมเขาประเมินแล้วว่า ระบบนี้จะช่วยประหยัดเงินของรัฐในการจัดการขยะที่เป็นอาหารสดได้ถึง 160,000 ล้านวอน (4,400 ล้านบาท) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเขาตั้งเป้าว่าจะต้องลดขยะอาหารทั่วประเทศลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะโครงการนำร่องที่ทดลองทำไปก่อนหน้านี้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึงร้อยละ 28.7 เรียกว่าสามารถทำให้แต่ละครัวเรือนมีขยะอาหารเหลือทิ้งเพียงแค่วันละ 620 กรัมเท่านั้น แต่ร้านอาหารอาจต้องรับภาระหนักหน่อย เพราะมีขยะมากกว่าบ้านเรือนธรรมดา แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมบอกว่าให้ถือเป็นโอกาสดีที่ทางร้านจะได้คิดหาไอเดียการปรุงอาหารให้เกิดของเหลือทิ้งน้อยที่สุด ระบบการคิดเงินขยะอาหารนั้นมีอยู่ 3 ระบบ ข่าวบอกว่าแบบที่นิยมมากที่สุดคือการซื้อสติ๊กเกอร์ ดวงละ 41 วอน (1 บาทกว่าๆ) สำหรับขยะ 1 ลิตร แบบที่สองเป็นระบบไฮเทค RFID ที่จะชั่งน้ำหนักตามจริงเมื่อเรานำไปทิ้งในถังที่รัฐจัดไว้ให้ สนนราคาแพงขึ้นมาอีกนิดที่ลิตรละ 42 วอน หรือใครจะชอบแบบที่สาม คือการซื้อถุงขยะ (ซึ่งเขารวมค่าจัดการขยะไปแล้ว) มาใช้ก็ได้     กลัวไม่มีคู่แข่ง ซุปเปอร์มาร์เก็ตวูลเวิร์ธมีอันต้องเซ็งเป็ด เพราะคณะกรรมการการแข่งขันและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เปิดสาขาเพิ่มในเขตเกลนมอร์ ริดจ์ ทางตะวันตกของเมืองซิดนีย์ โดยให้เหตุผลว่ามีวูลเวิร์ธอยู่แล้วหนึ่งสาขาในเขตดังกล่าว และในเขตเพนริธที่อยู่ติดกันก็มีห้างวูลเวิร์ธอยู่แล้วเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่อนุญาตให้วูลเวิร์ธมาเปิดสาขาเพิ่มในเมืองนี้ จนกว่าจะมีห้างอื่นมาเปิดเพื่อเป็นตัวเลือกให้ผู้บริโภค ซึ่งตามข่าวบอกว่าเร็วที่สุดก็คงต้องเป็นปีหน้า ที่จะมีห้าง Aldi มาเปิดในเขตนี้ ทั้งนี้เขาสกัดตั้งแต่ตอนที่วูลเวิร์ธทำเรื่องขออนุญาตซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างห้าง คณะกรรมการดังกล่าวทำหน้าที่ดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาด เพราะมันหมายถึงการทำให้สินค้าราคาแพงขึ้นและทำให้ผู้ผลิตไม่มีความจำเป็นต้องสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค ก่อนหน้านี้เขาก็สกัดบริษัทอาหารยักษ์ใหญ่อย่างไฮนซ์ ไม่ให้เข้ามาซื้อกิจการของบริษัทสัญชาติออสซี่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับเด็กทารก ยี่ห้อ Rafferty’s Garden มาแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้บริษัทไฮนซ์ครอบครองถึงร้อยละ 80 ของตลาดอาหารเด็กทารก และร้อยละ 70 ของซีเรียลและขนมกรุบกรอบในออสเตรเลีย เข้มจุงเบย ... ไม่เหมือนบางที่ ใครจะซื้อใครเขาก็เฉยๆ นะ   //

อ่านเพิ่มเติม >