ฉบับที่ 224 การซื้อขายออนไลน์(ทั่วโลก) ต้องเป็นมิตรกับผู้บริโภค

   จากการติดตามดูนโยบายเรื่องการซื้อสินค้าออนไลน์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี มีการนำเสนอหลักการ 3 ข้อ        ·    การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ผู้บริโภคต้องได้รับการคุ้มครองไม่น้อยไปกว่าการซื้อของแบบออฟไลน์        ·    กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภคของอียู จำเป็นต้องคงไว้และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่ เพิ่มความคุ้มครองให้กับผู้บริโภค        ·    ความปลอดภัยของสินค้า เป็นนโยบายที่สำคัญอันดับแรก ในเวทีการเจรจาการค้าระหว่างชาติ         สืบเนื่องจากการประชุมสุดยอด ในเวทีการค้า WTO ของสมาชิกซึ่งเป็นตัวแทนจากรัฐบาล 76 ประเทศ ซึ่งมีกลุ่มประเทศ อียู เข้าร่วมเพื่อพิจารณา รอบการเจรจาการค้าระหว่างชาติ ว่าด้วยข้อตกลงการค้า e commerce โดยเป้าประสงค์ของกลุ่มอียู คือ เสริมสร้างสิทธิแก่ผู้บริโภค มีสิทธิในการกำหนดมาตรฐานของตนเองและขยายวงเวทีในการเจรจาต่อรองในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค         ซึ่งผลการเจรจาการค้าในครั้งนี้จะส่งผลต่อผู้บริโภคทั่วโลก เนื่องจากการเจรจาการค้ารอบนี้จะมีกฎเกณฑ์ระเบียบการค้าออนไลน์ เป็นแนวทางปฏิบัติในการทำธุรกรรมการซื้อขายออนไลน์ ด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำธุรกรรมออนไลน์ทั่วโลกนั้น มีมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคที่ต่ำกว่าเกณฑ์ของมาตรฐาน อียู ยกตัวอย่างผู้บริโภคที่ไม่ได้อยู่ในอียู ซื้อสินค้าออนไลน์และได้รับสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องหรือเกิดปัญหาในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ส่งผลให้ ผู้บริโภคได้รับความยากลำบากในการเรียกร้องสิทธิ ในการคืนสินค้า หรือสิทธิในการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และบ่อยครั้งที่ผู้บริโภคประสบปัญหา กรณีได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจากประเทศต้นทางสินค้านอกอียู ผลการศึกษานี้ เผยแพร่โดยวารสารผู้บริโภค Which ? ของประเทศอังกฤษ        ผู้แทนการเจรจาประเด็น e commerce ของ กลุ่มประเทศอียู ได้วางเป้าหมายการเจรจา โดยเน้นไปที่ 4 ประเด็นสำคัญ คือ        ·   มาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีกว่า ในการค้าระบบ e commerce ในระดับนานาชาติ        ·   การคงไว้ของมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในอียู        ·   การมีกลไกในการเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และ        ·   การต่อสู้กับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ที่โฆษณา Online         อย่างไรก็ตามการเจรจาการค้าในประเด็นนี้ ก็ยังมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่เช่นกัน ซึ่งในมุมมองของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคในอียู เห็นว่ายังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้มีการบรรจุไว้ในวาระการเจรจาในประเด็นที่สำคัญๆ หลายประเด็น ได้แก่ เรื่อง Artificial Intelligence(ปัญญาประดิษฐ์) Cybersecurity(ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์) Data Protection(การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) Data Transfer(การส่งผ่านข้อมูล) และ Network Neutrality(ความเป็นกลางของระบบเครือข่ายเชื่อมต่อข้อมูล)         ตัวอย่างล่าสุดคือ การตกลงการค้าระหว่าง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ได้นำไปสู่การใช้ปัญญาประดิษฐ์ ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าแบบดิจิทัล(Digital Trade) ซึ่งประเด็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการควบคุมและเฝ้าระวังการค้าในรูปแบบ Digital Trade เพิ่งจะเริ่มต้นอภิปรายสาธารณะในกลุ่มประเทศอียูเท่านั้น และจุดยืนขององค์กรผู้บริโภคอย่างสหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีนั้น เห็นว่าข้อตกลงในการเจรจาทางการค้า ไม่ควรที่จะใช้มาเป็นข้ออ้างในการจำกัด หรือละเลยมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภค กรณีประเทศไทย        เมื่อย้อนกลับมาดูปัญหาของผู้บริโภคในบ้านเราในการซื้อสินค้าออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการถูกหลอกลวง และการถูกฉ้อโกง การได้รับสินค้าที่ชำรุดบกพร่องหรือไม่ครบถ้วน ส่งมอบสินค้าผิดจากที่ตกลงสั่งซื้อ ปัญหาบริการหลังการขาย ปัญหาการโฆษณาเกินจริง เป็นเท็จหรือ ผิดกฎหมาย และปัญหาผู้บริโภคขาดความรู้ ฯลฯ ทางคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีข้อเสนอ “การกำกับตลาดออนไลน์ให้เป็นธรรม” ไปยังหน่วยงานภาครัฐ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น สำนักงานพัฒนาธุรกกรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทย ไปแล้วนั้น มีความคืบหน้าหลายประการในการร่วมมือกันทำงาน โดยเฉพาะกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.) ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคุ้มครองผู้บริโภคของผู้บริโภคชาวไทย         แต่อย่างไรก็ตามการซื้อขายสินค้าออนไลน์ปัจจุบันเป็นการทำธุรกรรมข้ามพรมแดน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้อง ติดตามและเฝ้าระวังการเจรจาการค้าเสรีรอบต่างๆ ที่จะมีขึ้นตามมา ดังนั้นผมคิดว่า ทางองค์กรผู้บริโภคโดยเฉพาะ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นภาคประชาชน จำเป็นที่จะต้องมีส่วนร่วมและรับรู้ ประเด็นต่างๆ ที่จะมีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมนี้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภคขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่ยังไม่สามารถทำหน้าที่ได้   แหล่งข้อมูลเวบไซต์สหพันธองค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (Federation of German Consumer Organizations)https://www.vzbv.de/meldung/online-handel-verbraucherfreundlich-gestaltenวันที่ 24 กันยายน 2562

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 206 โฆษณาเกินจริง แม้ไม่เชื่อ ก็มีความผิด

สวัสดีครับ พบกันทุกเดือนเช่นเคยฉบับนี้ ผมขอบอกเล่าเรื่องอุทาหรณ์ของการโอ้อวดเกินจริง โดยเฉพาะทุกวันนี้ มีการเผยแพร่ข่าวสาร โฆษณาต่างๆ เพื่อชวนเชื่อให้เราซื้อสินค้าหรือบริการมากมาย  ที่มีทั้งจริงและไม่จริง มีคนสงสัยว่า ในทางกฎหมาย การโฆษณานอกจากเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแล้ว หากข้อความโฆษณานั้น มีลักษณะโอ้อวดเกินจริง ใครก็รู้ ไม่ได้หลงเชื่อ แบบนี้จะมีความผิดไหม  พอค้นๆ ดู ก็พบว่า มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการโฆษณาในแผ่นพับของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่โอ้อวดว่าของตนดีกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ และไปกล่าวหาว่าโรงพยาบาลของโจทก์เขาไม่ดี  ทำให้โรงพยาบาลดังกล่าวเอาเรื่องมาฟ้องศาล สู้กันจนถึงศาลฎีกา และมีคำพิพากษาในที่สุดว่า การโฆษณาของโรงพยาบาลที่โอ้อวดเกินจริงมีความผิด และเป็นการละเมิดทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่า โจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423 หรือบางครั้ง แม้ข้อความที่พูด จะไม่เข้าข่ายการกล่าวโอ้อวดเกินจริง แต่หากทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียงก็เป็นละเมิดต้องรับผิดต่อเขาเช่นกัน ดังฎีกาต่อไปนี้คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2557คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องที่ว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” หรือ “มันเป็นสามานย์” แม้เป็นการกล่าวกระทบถึงโจทก์ทั้งเจ็ด แต่ก็มิใช่การนำความเท็จหรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ทั้งเจ็ดมากล่าว หากแต่เป็นการด่าโจทก์ทั้งเจ็ดด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 423แต่การพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุม ณ ที่เกิดเหตุนั้นประชาชนที่ฟังย่อมรู้สึกได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งประธานสภาหรือสมาชิกสภาเทศบาล อันเข้าลักษณะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ปัญหาโฆษณาสุขภาพเกินจริงแนวรบที่ไม่มีวันจบ

อย. ย้ำเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทั้งลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน หรือรักษาโรค ผ่านทางโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ อาจเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย โดย อย. จะดำเนินการเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่โอ้อวดเกินจริง ส่งตรวจวิเคราะห์ หากพบการปลอมปนของสารออกฤทธิ์ทางยา จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่รู้ว่าเราต้องอ่านคำเตือนจาก อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปอีกกี่หน เพราะดูเหมือนว่าปัญหาจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา หรือเครื่องสำอาง ที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงนั้น ก็ยังวนเวียนอยู่รอบๆ ตัวเรา สอดแทรกอยู่ในสื่อต่างๆ ทั้งใหม่เก่า ที่ผูกมัดพันธนาการเราไว้แทบจะตลอดวัน ผู้บริโภคหากวันใดเกิดจิตใจไม่เข้มแข็งพอขึ้นมาก็คงไม่แคล้วต้องมีอันพลาดท่าเสียที แล้วทำไมสังคมของเราถึงยังจัดการกับปัญหาโฆษณาอวดอ้างเกินจริงเหล่านี้ไม่ได้ อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือแนวทางการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เราลองมาถอดรื้อจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสื่อและโทรคมนาคม เรื่อง การจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ที่จัดทำเมื่อปี 2559 ว่าเขามองเรื่องนี้อย่างไร พบโฆษณาผิดกฎหมายปีหนึ่งเป็นหมื่นแต่จัดการได้แค่พัน ในงานวิจัยชี้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงอย่างสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นั้น พบการกระทำผิดกฎหมายเฉลี่ยปีละหมื่นกว่า แต่การดำเนินคดีนั้นทำได้เพียงปีละพันกว่า ทั้งนี้ไม่นับรวมการกระทำผิดที่ อย.ไม่พบ หรือไม่มีคนร้องเรียนเข้ามาอีกเป็นจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะการโฆษณาผ่านสื่อทางอินเทอร์เน็ตที่มีพลังในการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารได้อย่างน่าทึ่งแถมยังทำกันได้ง่าย แทบจะเรียกว่าใครก็ทำได้   ถ้านับเป็นเวลาก็นับเป็นแค่นาที แต่สำหรับหน่วยงานกำกับดูแล การเข้าจัดการกับผู้กระทำผิดตามกฎหมายต้องใช้เวลานับเดือน นับปีกว่าจะสามารถลงโทษด้วยการปรับเงิน(จำนวนน้อย)ได้ ดังนั้นผู้กระทำผิดจึงไม่ค่อยเคารพยำเกรงกฎหมาย เพราะถือว่าคุ้มกับการเสี่ยง    มี อย. ปลอดภัย 100% แล้วถ้าเป็น อย.ปลอมจะทำอย่างไร   แบรนด์ อย. ถูกสร้างมาให้ติดตลาด อย่างไรก็ดี เครื่องหมาย อย. ก็กลายเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน เมื่อปลายปี 2559 เกิดกรณี MangLuk  Power Slim ผลิตภัณฑ์อาหารในแบบแคปซูล สีชมพู-ขาว มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคว่า หลังรับประทานแล้วมีอาการใจสั่น มือสั่น ปากแห้ง คอแห้ง (ผลข้างเคียงจากสารไซบูทรามีนหรือยาลดความอ้วนที่ผสมลงไปในผลิตภัณฑ์) เมื่อ อย. ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งฉลากระบุเลขที่ อย. 89-1-04151-1-0080 นำเข้าและจัดจำหน่ายโดยบริษัท THE RICH POWER NETWORK จังหวัดสมุทรสาคร รุ่นผลิต RI88-89/01วันที่ผลิต 01/01/16 วันหมดอายุ 01/01/18 นั้น  อย .แถลงข่าวว่า เป็นเลข อย.ปลอม และเมื่อตรวจสอบข้อมูลผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายตามที่ระบุบนฉลากจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่พบข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทดังกล่าว คือปลอมทั้งเลข อย.และปลอมชื่อทางธุรกิจ ดังนั้นผลิตภัณฑ์อาหาร Mangluk Power Slim ตัวนี้ จึงเข้าข่ายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย มีการปลอมเลขสารบบอาหาร โฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และตรวจพบไซบูทรามีน ซึ่ง อย. จะมีการดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป แต่ ณ ปัจจุบัน เมื่อนำมาสืบค้นด้วยชื่อ ผลิตภัณฑ์นี้ เราก็ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอยู่ ผู้บริโภคทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า การมีเครื่องหมาย อย. คือการรับประกันความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว เครื่องหมาย อย. เป็นเพียงการรับรองการผลิตที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เล่ห์ร้ายของผู้ประกอบการขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง หนึ่งในยุทธวิธีที่ผู้ประกอบการที่ไม่รับผิดชอบนิยมในการหลอกลวงทั้งหน่วยงานและผู้บริโภค คือ  ขอโฆษณาไปอย่างหนึ่งแล้วโฆษณาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นพวกเขาจะมี เลขที่ใบอนุญาตโฆษณาที่ถูกต้อง แต่เนื้อหาผิดไปจากที่ยื่นขอ  ผู้บริโภคที่ไม่ทันเหลี่ยมนี้ก็คิดว่า เป็นโฆษณาที่ถูกต้องแล้ว นี่ไง อย.รับรอง หรือแม้กระทั่งการโฆษณาแฝงในรายการต่างๆ โดยไม่มีการบรรยายสรรพคุณแบบโต้งๆ  ทำให้ อย.ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้  เพราะยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลโฆษณาแฝงทุกหน่วยงานมีปัญหากับการจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อนึกถึงการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ หลายคนก็หันไปมองที่ อย. แน่นอนว่า ไม่ผิด แต่เราทราบกันไหมว่า ยังมีอีกหลายหน่วยงานภาครัฐ ที่มีหน้าที่ช่วยกันกำกับดูแลด้านการโฆษณาผิดกฎหมายได้อีก ได้แก่ กระทรวงดิจิทัล ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาผิดกฎหมายบนโลกออนไลน์กันอย่างมากมาย  ขณะเดียวกันก็ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบกำกับดูแลสื่อในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต ซึ่งปัจจุบันตามกฎหมายให้อำนาจ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำกับดูแลเฉพาะสื่อโทรทัศน์ และวิทยุ ไม่ได้ครอบคลุมถึงการโฆษณาใน โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เมื่อบางหน่วยงานไม่ค่อยขยับ หน่วยงานหลัก อย่าง อย. ก็ติดกับดักระบบราชการ ซึ่งมีระเบียบวิธีที่ค่อนข้างซับซ้อน ทำให้เกิดลักษณะคอขวดในการจัดการเรียกง่ายๆ ว่า งานไปจมอยู่ที่ อย.  ผู้บริโภคไม่เชื่อวิทย์  ผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ใจร้อน วิธีคิดก็เป็นตรรกะที่ผิด เช่น เชื่อว่ากินอาหารบางอย่างแล้วรักษาโรคได้สารพัดโรค อีกทั้งยังเห็นผลลัพธ์อย่างรวดเร็ว หรือแทนที่จะคิดว่า การที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะสาเหตุที่มาจากการกินมากไปแล้วใช้กำลังกายน้อย กลับไปตั้งความหวังและมั่นใจในอาหารเสริมบางอย่างว่ากินแล้วจะช่วยบล็อกไม่ให้อ้วนได้ หรือเกิดการเผาผลาญพลังงาน โดยที่ไม่ต้องออกกำลังกาย พอไม่เชื่อวิทย์ ชีวิตบางคนจึงเปลี่ยน บางคนถึงเสียชีวิต เพราะหลงเชื่อคำโฆษณาอวดอ้างเกินจริง  บางคนแม้จะเชื่อในวิทยาศาสตร์ แต่แพ้ภัยค่านิยม "ผอม ขาว สวย ใส อึ๋ม ฟิตปั๋ง” ก็จำต้องเสี่ยงใช้ทางลัด ซึ่งบทพิสูจน์ที่ผ่านมาคือ ไม่มีทางลัดใดที่ปลอดภัย เน็ตไอดอล ยังไงฉันก็เชื่อเธอ NET IDOL ก็คือคนดังบนโลกออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย พวกเขาหรือเธอ มียอดคนติดตาม (Followers) เป็นแสน เป็นล้าน ขยับตัวทำอะไรก็เกิดกระแส ถือสินค้าสักชิ้น กินอาหารสักอย่างเหล่าผู้ติดตามส่วนหนึ่งก็พร้อมจะทำตาม หากเน็ตไอดอลบางคนทำสินค้าด้านสุขภาพขึ้นมาสักชิ้นแล้วบอกว่า ใช้แล้วดีมาก พร้อมบรรยายสรรพคุณจนเลยเถิดไป หรือในผลิตภัณฑ์เกิดมีสารอันตรายแฝงอยู่ ผู้ที่หลงเชื่ออาจกลายเป็นเหยื่อที่ต้องทุกข์ทรมานเพราะความรักและความนิยมในตัวเน็ตไอดอลเหล่านั้น  หรือบางทีเน็ตไอดอลเองก็กลายเป็นผู้ส่งเสริมให้คนใช้สินค้าไปโดยไม่ได้สนใจว่า ผิดหรือถูก เพราะรับเงินค่าถือสินค้าออกช่องทางสื่อสารของตนเองอย่าง อินสตาแกรม เฟซบุ้ก ฯลฯ ไปแล้ว ซึ่งในความเป็นจริงพวกเธอหรือเขาอาจไม่เคยทดลองใช้สินค้านั้นจริง แนวทางในการกำกับดูแล และแก้ปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากงานวิจัย1.จัดทำและเปิดใช้ “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” (Health Products’ Public Data Bank) คือ คลังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพทั้งหมด ที่ได้จดทะเบียนกับ อย. รวมทั้งการอนุญาตโฆษณา คำที่อนุญาตให้ใช้ในโฆษณา เลขที่อนุญาตโฆษณา ซึ่งจะแสดงรายละเอียดในสื่อรูปแบบต่างๆ ทั้ง สื่อสิ่งพิมพ์ ภาพ เสียง วีดีโอ เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเข้าสืบค้นข้อมูลได้เองด้วยวิธีการที่ไม่ซับซ้อน เมื่อผู้บริโภคต้องการสืบค้นสรรพคุณและการโฆษณาของผลิตภัณฑ์สุขภาพตัวใดตัวหนึ่งเพื่อประกอบการตัดสินใจก่อนจะซื้อ ก็สามารถเข้าไปสืบค้นข้อมูล และตรวจสอบโฆษณานั้นว่าได้รับอนุญาตจริงหรือไม่2.อย. ควรประกาศใช้  “แนวทางปฏิบัติ หลักเกณฑ์การพิจารณา โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย” เพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องได้บังคับใช้ตามแนวทางที่ออกประกาศ เช่น เมื่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการโฆษณา พบการโฆษณาฯ ที่ไม่มีอยู่ใน  “คลังข้อมูลผลิตภัณฑ์สุขภาพสาธารณะ” ให้สิทธิพิจารณาได้เลยว่า โฆษณานั้นผิดกฎหมาย โดยไม่ต้องส่งกลับมาให้ อย.เป็นผู้วินิจฉัย และให้หน่วยงานกำกับดูแลบังคับใช้กฎหมายในฐานความผิดของหน่วยงานด้วย ถือเป็น ความผิดเดียว ผิดหลายกฎหมาย บังคับใช้กฎหมายจริงจังและรุนแรง เพื่อไม่ให้กระทำผิดอีก 3.การกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลส่วนภูมิภาค อย. ควรกระจายอำนาจให้ สาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) มีหน้าที่จัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพในพื้นที่อย่างฉับไว สามารถบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพในทุกสื่อทั้งที่เกิดในพื้นที่ตน และใน Social Media โดยให้อำนาจเท่ากับ อย. เพราะในปัจจุบัน สสจ. มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเพียงเฉพาะที่เกิดขึ้นในสื่อโทรทัศน์ และสื่อวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น   4.อย. ควรเร่งปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จ แทนที่จะลงโทษเพียงฐานไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก เพราะฐานความผิดโฆษณาเกินจริงเป็นเท็จนั้นจะเป็นแนวทางให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่นสามารถนำไปต่อยอดความผิดได้ และปรับปรุงบทลงโทษกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย ให้มีโทษปรับในอัตราก้าวหน้า หรือนำมาตรการการเก็บภาษีเข้ามาช่วย สำหรับผู้ขายและผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย 5.ปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องและการสร้างภูมิคุ้มกันในการบริโภคสื่อ ด้วยการปูพื้นฐานผู้บริโภคตั้งแต่ปฐมวัย และสอดแทรกอยู่ในหลักสูตรเท่าทันสื่อ ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 สาระการเรียนรู้ และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานสนใจงานวิจัยฉบับเต็ม สามารถดูได้ที่ www.indyconsumers.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริง

หากเราตัดสินใจเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทางออกที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ให้บริษัทยึดรถคันดังกล่าวไปขายทอดตลาด และเราก็รอชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องกลับถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้เท่ากับราคาขายทอดตลาด ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน   เมื่อปี 2549 คุณสุชัยเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งยี่ห้อ Honda รุ่น Accord ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่ง โดยตกลงแบ่งชำระเป็นงวดจำนวน 60 เดือน หลังผ่อนชำระไปได้ 17 งวดก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ค้างชำระติดกันเป็นเวลาหลายเดือน จึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารมารับรถคืนไป โดยคิดว่าคงมีการนำรถไปขายทอดตลาด และให้ชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังผ่านไป 8 ปีกลับมีหมายศาลมาที่บ้านว่า เขาเป็นหนี้รถยนต์คันดังกล่าวอยู่กว่า 7 แสนบาท ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นราคาที่เกินจริง เนื่องจากไม่มีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่ารถคันดังกล่าวขายได้ราคาเท่าไร ทำให้คุณสุชัยส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาทนายความของศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำคดีนี้ให้คุณสุชัย เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทางธนาคารหรือผู้ให้เช่าซื้อ ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งยังอ้างว่าได้ราคากว่า 7 แสนบาท แต่ทางบริษัทกลับมาเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวกับคุณสุชัยอีก อย่างไรก็ตามเมื่อฟ้องร้องคดีในศาลก็ได้รับข้อยุติว่า บริษัทไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า ทางธนาคารได้รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากผู้ร้องเมื่อใด และขณะนั้นรถยนต์มีสภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเท่าใด ดังนั้นราคาขายทอดตลาดรถยนต์คันเช่าซื้อที่บริษัทอ้างจึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าราคาเช่าซื้อที่ขาดเป็นจำนวนตามที่ฟ้องนอกจากนี้เบี้ยปรับตกลงไว้ ถือเป็นการกำหนดความรับผิดล่วงหน้าในลักษณะทำนองเบี้ยปรับ จึงเห็นว่าราคาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องมีการคิดราคาบวกด้วยผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าเช่าซื้อบางส่วนกับราคาขายรถยนต์คันนี้แล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เพียง 50,000 บาท โดยคำนวณจากราคาที่ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว รวมราคาที่บริษัทอ้างว่าขายทอดตลาดได้ นำไปหักลบจากราคารถยนต์ในขณะที่ทำสัญญา พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ตามหลักตามกฎหมายสัญญาเช่าซื้อ กำหนดเรื่องการคืนรถยนต์ไว้ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับรถยนต์คันดังกล่าวกลับคืนไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน ผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่างวดรถตามสัญญาแล้ว โดยเมื่อมีการนำรถขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามจำนวนหนี้คงค้างตามสัญญา หากนำรถขายได้ราคาน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่เจ้าของได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร นอกจากนี้สำหรับใครที่ต้องการคืนรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ควรเก็บหลักฐานสำคัญไว้ด้วย ดังนี้ รูปถ่ายสภาพรถหลายๆ มุม ใบประเมินราคารถว่าในขณะนั้นหากขายทอดตลาดจะได้ราคาประมาณเท่าไร รวมทั้งเอกสารการส่งรถคืน เนื่องจากจะได้มีหลักฐานยืนยันหากเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >