ฉบับที่ 258 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2565

4 เดือนแจ้งความคดีออนไลน์ 59,846 เรื่อง         นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาทางดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และการสื่อสารดิจิทัล ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนผ่าน www.thaipoliceonline.com เพื่อช่วยให้ประชาชนได้มีช่องทางร้องทุกข์เพิ่มขึ้น และจากสถิติตั้งแต่ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์ จำนวนถึง 59,846 เรื่อง โดยทางดีเอสไอสามารถอายัดบัญชีผู้กระทำผิดได้เป็นเงินกว่า 121 ล้านบาท         ในส่วนของคดีที่พบมากที่สุด ได้แก่ คดีเกี่ยวกับหลอกลวงทางด้านการเงิน จำนวน 31,047 เรื่อง แบ่งเป็น 3 อันดับแรก ดังนี้  การหลอกลวงให้ทำงานออนไลน์ หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ได้แก่ การหลอกลวงจำหน่ายสินค้า จำนวน 24,643 เรื่อง การพนันออนไลน์ จำนวน462 เรื่อง ข่าวปลอม จำนวน 239 เรื่อง และล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 136 เรื่อง นั่งแคปกระบะไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่ผิดกฎหมาย         ย้ำอีกครั้งว่าหลังวันที่ 5 กันยายน 2565 ผู้นั่งรถยนต์เบาะที่ 2 ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยหากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 2,000 บาท (พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ 2565 กำหนดให้ผู้ขับรถและผู้โดยสารทุกที่นั่งต้องคาดเข็มขัดนิรภัย) แต่สำหรับกรณีของผู้ที่นั่งในรถกระบะด้านหลังคนขับ (แคป) นายจิรุฒน์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่าจะมีการหารือร่วมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดทำร่างประกาศให้เป็นข้อยกเว้น         รถกระบะนั้น ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดให้คาดเข็มขัดเฉพาะแถวหน้าเท่านั้น ส่วนแคปไม่ต้องคาดเข็มขัด แต่กำหนดให้ต้องมีผู้โดยสารไม่เกิน 3 คน เพื่อให้ไม่เกิดความแออัดจนเกินไปรวมถึงอันตรายเมื่อเกิดอุบัติเหตุด้วย อย. ยันยังไม่พบการจำหน่ายแป้งฝุ่นเด็กปนเปื้อนแร่ใยหินในไทย         จากที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ประกาศหยุดจำหน่ายแป้งเด็กทำจากทัลคัม (Talcum) ทั่วโลก ภายในปี 2566 เหตุจากการฟ้องร้องจากผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์แป้งเด็กที่ทำจากทัลคัมของจอห์นสันนั้น พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง         ด้านเภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เผยว่า แป้งฝุ่นโรยตัวมีส่วนประกอบหลัก คือ ทัลคัม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่พบได้ตามธรรมชาติช่วยดูดซับความชื้น ให้ความรู้สึกสบาย นุ่มลื่นผิว และมีการใช้มาเป็นเวลานาน ทัลคัมหากนำมาใช้ในเครื่องสำอางต้องมีความบริสุทธิ์สูง ไม่มีการปนเปื้อนแร่ใยหิน ในปัจจุบันยังคงเป็นสารที่สามารถนำมาใช้ในเครื่องสำอางค์ได้  ทั้งนี้ ทาง อย. ได้มีการเฝ้าระวังความปลอดภัยสำหรับแป้งฝุ่น ที่อาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารทัลคัมหลายยี่ห้อ จำนวน 133 ตัวอย่าง (ปี 2563 - 2565) โดยเก็บส่งตรวจวิเคราะห์ จำนวน 20 ตัวอย่าง มียี่ห้อ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 6 ตัวอย่าง สำหรับผลการตรวจวิเคราะห์ทุกรายการยังไม่พบการปนเปื้อนแร่ใยหิน ขอให้ประชาชนมั่นใจ เจ้าของผลงานบนสื่อออนไลน์แจ้งถอดงานได้ทันทีหากพบการละเมิด         นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวถึง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2565  ว่าเพื่อยกระดับของการคุ้มครองงานลิขลิทธิ์บนสื่อออนไลน์ เจ้าของแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook Youtube สามารถถอดงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกได้ทันทีหากได้รับแจ้งโดยเจ้าของผลงาน ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางศาล         ทั้งนี้การปรับเปลี่ยนยังคงสอดคล้องกับหลักสากลรองรับการเข้าเป็นภาคีการตกลงสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Copyright Treaty: WCT) ที่ประเทศไทยได้ยื่นภาคยานุวัติสารต่อองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค ผลึกกำลังค้านควบรวม ทรู-ดีแทค         วันที่ 3 สิงหาคม 2565 ทางเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ายื่นหนังสือต่อ ศ. คลินิก  นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   เพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) เนื่องจากการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท ยังมิได้ขออนุญาตจากทางสำนักคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)         ทั้งนี้การกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  มาตรา 21 อันอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ถูกปิดกั้นทางเลือกการใช้บริการและลดโอกาสของผู้ประกอบการรายใหม่         นอกจากนั้นยังยื่นข้อเสนอขอให้ทางคณะกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์รวมถึงความคิดเห็นของอนุกรรมการทั้ง 4 คณะ ตลอดจนผลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับรู้          ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ ไม่มีการอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองที่ให้ กสทช.ต้องทำหน้าที่พิจารณาการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แค่มีหน้าที่รับเรื่องเท่านั้น รวมถึงส่งมอบจำนวนผู้เข้าชื่อคัดค้านจาก Change.org/TrueDtac

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 เดินทางปลอดภัยคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

        ธันวาคมปีนี้ นอกจากลมเย็นอ่อนๆ จะพัดมาให้คนกรุงเทพได้ชื่นใจกันบ้างแล้ว นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ระดมอัดฉีดเพื่อส่งเสริมให้คนท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอยก็เริ่มติดลมบน  ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกันและโครงการคนละครึ่งส่งผลให้การท่องเที่ยวบางแห่งช่วงปลายปีเริ่มมีสีสัน ธุรกิจที่ซบเซาเพราะโควิดไม่ว่าจะเป็นร้านค้า โรงแรม หรือขนส่งสาธารณะพลอยได้รับอานิสงส์คึกคักตามกันไปด้วย         ช่วงส่งท้ายปีเก่ารอรับปีใหม่แบบนี้ แม้จะอยู่ในช่วงรอยต่อของการฟื้นตัวทั้งภาครัฐและเอกชน แต่คาดหมายว่าเมื่อถึงวันหยุดยาวสิ้นปีทุกเส้นทางทุกยานพาหนะจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ทยอยเดินทางทั่วทุกสารทิศ แม้พาหนะยอดฮิตอย่างรถทัวร์และรถตู้โดยสารจะเป็นบริการเช่าที่ประหยัด สะดวกสบาย  และได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไงเสียรถโดยสารสาธารณะยังคงเป็นพาหนะเดินทางที่ “จำเป็น” และตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนจำนวนมาก         ปัจจุบันการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่ลดน้อยลง  จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนของกรมการขนส่งทางบกในช่วงเทศกาลปีใหม่ (สะสม 7 วัน) ปี 2563 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง ลดลงจากปี 2562 จำนวน 370 ครั้ง โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพาหนะที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ คือ รถจักรยานยนต์        แม้อุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะจะมีน้อยกว่ารถจักรยานยนต์ แต่การเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะก็ไม่ได้ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการและประชาชนผู้โดยสาร ต่างมีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ        เจ้าหน้าที่ ต้องเข้มงวดในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถที่ต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ ไม่ขับรถเกินชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนด และตรวจเช็คความพร้อมก่อนออกให้บริการ ตลอดจนมาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารที่ต้องผ่านเกณฑ์การตรวจสภาพของกรมการขนส่งทางบก เช่น การติดตั้ง GPS ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการกำกับติดตามและควบคุมความเร็วของรถ และเป็นสาเหตุสำคัญในการลดอุบัติเหตุได้         ผู้โดยสาร ต้องปฏิบัติตนในเรื่องความปลอดภัยเบื้องต้น คือคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดเวลาที่อยู่บนรถโดยสาร ซึ่งตรงนี้เหมือนง่ายแต่กลับเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เพราะแม้จะมีบทบัญญัติลงโทษตามกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยมีการจับปรับอย่างจริงจังทำให้ผู้โดยสารบางส่วนเคยชินในการละเลยความปลอดภัย ไม่ยินดีกับการคาดเข็มขัดนิรภัย ด้วยเหตุ อึดอัด ไม่สะดวก อายเพื่อน หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของอุปกรณ์นี้        ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับเข็มขัดนิรภัยในรถโดยสารสาธารณะ ทั้งในส่วนของผู้โดยสารที่ต้องคาดเข็มขัดขณะอยู่บนรถโดยสาร โดยถ้าผู้โดยสารไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเจอตรวจจับปรับไม่เกิน 5,000 บาท และผู้ประกอบการขนส่งที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัยที่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน แต่ปัจจุบันก็ยังพบปัญหารถโดยสารสาธารณะที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือถูกมัดไว้ไม่ให้ใช้ หรืออยู่ในสภาพชำรุดไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งหากผู้ประกอบการขนส่งรายใดใช้รถที่ไม่มีเข็มขัดนิรภัยมาให้บริการ หรือมีอุปกรณ์และส่วนควบชำรุดเสียหายต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท         เข็มขัดนิรภัยเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้รถโดยสารสาธารณะ รวมถึงพาหนะรถยนต์ทุกประเภท เพราะเข็มขัดนิรภัยถูกออกแบบไว้เพื่อช่วยลดความรุนแรงและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน สอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า เข็มขัดนิรภัยสามารถลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บทั่วไปได้ร้อยละ 40 - 50 ลดการบาดเจ็บสาหัสได้ถึงร้อยละ 43 - 65 และลดการเสียชีวิตได้ร้อยละ 40 - 60 แต่ต้องใช้งานอย่างถูกต้องด้วย         การไม่คาดเข็มขัดนิยภัยนั้น อาจส่งผลที่อันตรายอย่างคาดไม่ถึง เช่น แรงกระแทกจากการชนที่เกิดจากรถวิ่งเร็ว 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะเท่ากับรถตกจากที่สูงประมาณตึก 8 ชั้น และคนที่อยู่ในรถถ้าไม่คาดเข็มนิรภัย เมื่อรถชนและหยุดกะทันหัน ศีรษะใบหน้าและลำตัวของคนในรถจะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับคนในรถ หรือสิ่งของด้านหน้า หรือหลุดกระเด็นออกนอกตัวรถ รวมถึงอวัยวะอื่น ๆ เช่น สมอง หรือไขสันหลัง เพราะการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันจากแรงกระแทกอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การคาดเข็มขัดนิรภัยจึงสำคัญ และเป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2557 ประกันสังคมเพิ่มสิทธิผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ประกาศเพิ่มความคุ้มครองกรณีปลูกถ่ายอวัยวะ 5 รายการ ประกอบด้วย 1.การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ 2.การผ่าตัดปลูกถ่ายปอด 3.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ 4.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับอ่อน และ 5.การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมากกว่าหนึ่งอวัยวะพร้อมกัน ได้แก่ หัวใจและปอด หัวใจและไต ตับและไต ตับอ่อนและไต โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค.57 เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้สำนักงานประกันสังคมก็ได้ให้สิทธิผู้ประกันตนในการ ผ่าตัดปลูกถ่ายกระจกตา ปลูกถ่ายไขกระดูก และปลูกถ่ายไต ครั้งนี้ได้มีการขยายความคุ้มครองแก่ผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลวชนิดรุนแรง โรคปอดที่มีอันตรายถึงชีวิต โรคตับเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นต้น ซึ่งโรคดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ จึงต้องได้รับการรักษาโดยการปลูกถ่ายเปลี่ยนอวัยวะ โดยหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราบริการทางการแพทย์ ทั้งผู้บริจาคอวัยวะและผู้รับบริจาค จะได้รับสิทธิครอบคลุมค่าใช้จ่าย ดังนี้  1. ค่าเตรียมก่อนการผ่าตัด 2. ค่าใช้จ่ายเมื่อเข้ารับการผ่าตัดของผู้รับบริจาค กรณีมีภาวะแทรกซ้อน และกรณีไม่มีภาวะแทรกซ้อน 3. ค่าใช้จ่ายหลังการผ่าตัด ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมกับสำนักงานประกันสังคมที่สามารถทำการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะได้ 5 แห่งขณะนี้ คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลศรีนครินทร์     ขนส่งฯ เข้มเรื่อง “เข็มขัดนิรภัย” ระวังโทษปรับทั้งคนนั่ง-คนขับ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันดีเดย์ที่กรมขนส่งทางบกประกาศให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องมีการคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง พร้อมเดินหน้าบังคับใช้เข้มงวดจริงจัง (สักที) เป้าหมายเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสารที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ได้ทำข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทพบว่ามีเกิดขึ้นเฉลี่ยถึง 2,000 ครั้งต่อปี ซึ่งมีผลการวิจัยถึงประโยชน์ของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยระบุว่า ผู้ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่คาดเข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่าและพบว่าการคาดเข็มขัดนิรภัยสามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 สำหรับประเภทของรถโดยสารสาธารณะที่ต้องปฎิบัติตามคำสั่งนี้ได้แก่ รถตู้โดยสารสาธารณะ ทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง รถโดยสารประจำทางที่วิ่งระหว่างจังหวัด และรถโดยสารไม่ประจำทาง หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมนังได้มีการออกกฎกระทรวง เรื่องกำหนดความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยที่ผู้โดยสารต้องปฏิบัติในระหว่างการโดยสาร พ.ศ. 2557 ที่มีข้อบังคับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัยเป็น 1 ใน 10 บังคับเรื่องความปลอดภัยที่ผู้โดยสารรถโดยสารสาธารณะต้องปฏิบัติ   ยาจุดกันยุงอันตราย ตายทั้งยุง ตายทั้งคน บ้านไหนที่ใช้ยาจุดกันยุงต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้มียาจุดกันยุงไม่ได้มาตรฐาน เสี่ยงสารอันตรายทำร้ายสุขภาพถูกลักลอบนำเข้ามาขายหลอกลวงผู้บริโภค โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมมือกับกองปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ทำการจับกุมผู้กระทำผิดที่ลักลอบผลิต-จำหน่ายยาจุดกันยุงที่ไม่ได้มาตรฐานและไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน ได้แก่ ยาจุดกันยุงยี่ห้อ LaoJun และ ยี่ห้อgoldeer จากการตรวจสอบพบว่ายาจุดกันยุงทั้ง 2 ยี่ห้อ มีการใช้ “สารเมเพอร์ฟลูทริน” ( Meperfluthrin ) ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มของสารไล่แมลง ไพรีทริน หรือ ไพรีทรอยด์ ที่ อย. ยังไม่รับขึ้นทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 ไม่มีการยืนยันเรื่องความปลอดภัยและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่ใช้ เพราะฉะนั้นก่อนจะซื้อยาจุดกันยุงหรือผลิตภัณฑ์สารเคมีกำจัดแมลงต่างๆ ต้องดูให้แน่ใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองถูกต้อง และอย่าลืมดูวิธีใช้ที่เหมาะสม เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง   เศร้าเพราะ “ผักสด” สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา เตือนคนชอบทานผัก ระวังผักสดที่ถูกใส่มาพร้อมในกล่องข้าวที่ปิดสนิท เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อโรคสูง เหตุเพราะผักสดส่วนใหญ่จะมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งผักสดที่ไม่ได้ผ่านการล้างทำความสะอาดที่ดีพอ ก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง ซึ่งมาจากดินที่ปลูก ขั้นตอนการเก็บ การขนส่ง หรือแม้แต่จากขั้นตอนการปรุง พอนำมาวางบนอาหารที่ปรุงสุกแล้วภายในกล่องซึ่งมีอุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 35-50 องศาเซลเซียส ผักสดที่ได้รับความร้อนจากอาหารเป็นเวลานานๆ ทำให้ผนังเซลล์ของผักถูกทำลาย เชื้อแบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่ายขึ้น ผักจะเน่าเร็วกว่าปกติ ทำให้เชื้อแบคทีเรียอาจปนเปื้อนลงในอาหาร เสี่ยงต่ออาการอาหารเป็นพิษ วิธีป้องกันก็ต้องวอนต่อไปยังพ่อครัว-แม่ครัวว่าควรแยกผักสดออกจากกล่องข้าวกับข้าวที่ทำใหม่ๆ แยกใส่ถุงพลาสติกต่างหาก ส่วนคนกินอย่างเราก็ควรเลือกกินอาหารที่ผลิตสดใหม่ ลดความเสี่ยงจากการอาหารไม่ปลอดภัย   ยกระดับเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลในประกันสังคม กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชมรมพิทักษ์สิทธิผู้ประกันตน และกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก แถลงข่าว “ร่วมสร้างระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบหลักประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว” เรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพของผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม ปัญหาที่ต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ เรื่องของการเข้าถึงสิทธิ ที่ต้องสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่า 3 เดือน จึงจะได้รับสิทธิการรักษา และกรณีคลอดบุตรต้องสมทบไม่น้อยกว่า 7 เดือน จึงจะได้รับสิทธิค่าคลอดเหมาจ่าย ทำให้คนที่ยังจ่ายสมทบไม่ครบไม่สามารถใช้สิทธิใดได้เลย สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ใช้ไม่ได้ สิทธิประกันสังคมก็ยังไม่ได้สิทธิ ต้องให้สิทธิการรักษาพยาบาลเกิดขึ้นทันทีที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุน นอกจากนี้ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกจำนวนมากที่รอการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็น ให้การคลอดเป็นการรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ยกเลิกการจำกัดการคลอดได้ 2 ครั้ง ยกเลิกการจำกัดสิทธิไม่รักษากรณีการทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตาย ไม่ว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ต้องรักษาทุกกรณี และต้องได้รับการชดเชยตามสิทธิกรณีตายที่ระบุไว้ในประกันสังคม ไม่กำหนดเพดานวงเงินและเงื่อนไขจำนวนครั้งต่อปี  ในการรักษาเกี่ยวกับฟัน ต้องเป็นไปตามความจำเป็น ให้สิทธิการรักษากรณีการบำบัดสารเสพติดต่างๆ รวมทั้งพัฒนาสิทธิประโยชน์การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ให้ได้รับการบำบัดทดแทนปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือดอย่างโปรตีนแฟคเตอร์ที่เท่าเทียมเช่นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก คือผู้ประกันตนที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากการรักษาพยาบาล จะไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41ทำให้ผู้ประกันตนต้องไปฟ้องศาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งใช้เวลานานไม่ทันต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงควรมีการดูแลคุ้มครองสิทธิด้านนี้ให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมด้วย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 255323 เมษายน 2553 จับจริง! เครื่องดื่มอวดอ้างสรรพคุณลดอ้วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวการตรวจจับผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มของเครื่องดื่มที่อวดอ้างสรรพคุณว่าดื่มแล้วสามารถลดน้ำหนักได้ ซึ่ง อย.ตรวจสอบแล้วพบมีความผิดหลายส่วนทั้งปลอมแปลงเลขสารบบอาหารของ อย. แสดงฉลากไม่ถูกต้อง แสดงสรรพคุณของส่วนประกอบที่ อย.ไม่อนุญาต ซึ่งมีผลทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด ของกลางที่ตรวจยึดได้ประกอบด้วย ชามะนาวปรุงสำเร็จผสมคอลลาเจน ยี่ห้อ สลิมคัพ, โกโก้มอลต์ สูตรถั่วขาวและกระบองเพชร ยี่ห้อ ไวท์ เลเบิล, โกโก้ปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อ สลิมคัพ, กาแฟปรุงสำเร็จชนิดผง ยี่ห้อคิงส์คอฟฟี่พลัส และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เข้าข่ายความผิดรวมทั้งหมด 21 รายการ มูลค่ากว่า 9 ล้านบาท ซึ่งสินค้าของกลางทั้งหมดถูกตรวจยึดได้ที่ บริษัท บิ๊กเบนซ์ เฮลท์ โปรดักซ์ จำกัด เลขที่ 203/18 หมู่ 4 ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. ----------------------------------------------------------------------------------------------------- 29 เมษายน 2553 สมอ.ปรับมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่สมอ. ประกาศยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เข็มขัดนิรภัยตาม มอก.721-2539 โดยได้ปรับปรุงมาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่ตาม มอก.721-2551 เพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ โดยใช้แนวทางตาม ECE Regulation ซึ่งเป็นข้อกำหนดทางเทคนิคด้านยานยนต์ที่ยอมรับกันทั่วโลก มาตรฐานใหม่นี้ได้เพิ่มวิธีการทดสอบในการประกอบชิ้นส่วนเข็มขัดนิรภัยทั้งหมด ได้แก่ หัวเข็มขัด อุปกรณ์ปรับความยาว อุปกรณ์ยึด และอุปกรณ์ปรับความสูง มาทำการทดสอบโดยวิธีการจำลองการชนขณะเกิดอุบัติเหตุ มาตรฐานเข็มขัดนิรภัยใหม่นี้ จะมีผลให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ต้องปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่เท่านั้น โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.2554 เป็นต้นไป -------------------------------------------------------------------------------------- 30 เมษายน 2553 ผู้บริโภคไทยใส่ใจสิทธิมากขึ้นสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. เปิดเผยผลสำรวจเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภค 30 เมษายน พบว่าคนไทยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคมากขึ้น จากตัวเลขของผู้ร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 5,041 ราย ในปี 2551 เป็น 6,266 ราย ในปี 2552 ปัญหาส่วนใหญ่ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเป็นเรื่องของสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า ร้อยละ 72.5 รองลงมาคือปัญหาจากบริการด้านรักษาพยาบาล ร้อยละ 58.5 ปัญหาจากบริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และจานดาวเทียม ร้อยละ 39.4 และปัญหาจากการใช้สินค้าประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าและมือถือ ร้อยละ 36.2 ซึ่งปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ได้รับการดูแลเพียงร้อยละ 50.9 โดยได้รับการแก้ไขแล้วร้อยละ 38.4 ที่เหลือร้อยละ 12.5 อยู่ในระหว่างดำเนินการ ขณะที่ผู้บริโภคร้อยละ 77.6 มีความคิดเห็นว่า ผู้ประกอบการธุรกิจในปัจจุบันมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคดี แต่อีกร้อยละ 22.4 มองว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งเสนอแนะว่าควรมีบทลงโทษที่เด็ดขาดกับผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม พบว่ามีผู้บริโภคถึงร้อยละ 89.2 ที่ประสบปัญหาแล้วไม่ร้องเรียน เพราะคิดว่าเสียเวลา ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งต้องช่วยรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้รักษาสิทธิของตนเอง ------------------------------------------------------------------------------------------------------ ทำงานหน้าคอมฯ นาน ระวังป่วยโรค “ซีวีเอส”กระทรวงสาธารณสุขเตือนผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน เสี่ยงต่อการเกิดโรคทางสายตาและระบบกล้ามเนื้อ หรือที่เรียกกันว่าโรค “ซีวีเอส” โรคซีวีเอส (CVS:Computer Vision Syndrome)เป็นอาการป่วยที่กระทบต่อการทำงานของ ตา เนื่องจากใช้มองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งจะเกี่ยวกับท่านั่งขณะใช้คอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีที่มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆ เช่น โรคข้อ ระบบกล้ามเนื้อ มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้ค่อนข้างสูง หากใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานและไม่ถูกวิธี นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง พบว่ามีเด็กสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้น และมีอาการคอเคล็ด ปวดไหล่ ปวดข้อ ในบางคนจะเป็นระยะยาว สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางตา เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกิน 25 นาที และตั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับระดับไม่เหมาะสมกับสายตา หรือวางเม้าท์ที่ไม่ได้ระดับกับแขน ความสว่างของไฟ การนั่งเป็นเวลานาน ในการป้องกันปัญหาทางสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ ควรกะพริบตาบ่อยๆ พักสายตาจากหน้าจอคอมพิวเตอร์บ้าง หรือใช้วิธีมองวิวนอกหน้าต่าง มุมห้อง หรือไปเดินเล่น หลังจากมีอาการเมื่อยล้า ปวดหัว ซึ่งเกิดจากการเครียด ปวดที่ไหล่ ข้อมือ หลัง ขา ซึ่งเป็นอาการทางระบบกล้ามเนื้อและข้อ ต้องไปพบแพทย์ การรักษาจะต้องใช้เวลานานต่อเนื่อง บางรายอาจต้องใช้ยากิน ยาหยอดตา เช่น น้ำตาเทียม บางรายต้องใช้กายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย----------------------------------------------------------------------------------------- สมัชชาผู้บริโภค เดินเครื่องนโยบาย 6 ประเด็นสิทธิผู้บริโภค ปูทางสู่องค์การอิสระฯการประชุมสมัชชาผู้บริโภค “บทบาทผู้บริโภคต่อวิกฤต การเมืองในปัจจุบัน” เรื่อง “เงินทองของเรา สิทธิของใคร (Your Money Your Rights) 10 บาท...เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ระหว่างวันที่ 26-27 เม.ย. 53 ณ โรงแรมริชมอนด์ ถือเป็นการประชุมที่เหล่าองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคหลากหลายหน่วยงาน ร่วมกันผลักดันข้อเสนอในประเด็นสิทธิผู้บริโภคที่หลากหลายที่สุด เป็นเหมือนการจำลอง “องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ในการให้ความเห็นและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายต่อประเด็นต่างๆ รวมทั้งสิ้น 6 ประเด็น เพื่อเตรียมความพร้อมขององค์กรผู้บริโภคจากทั่วประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจและร่วมกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนองค์การอิสระผู้บริโภค พร้อมทั้งติดตามความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระผู้บริโภคตามมาตรา 61 เพื่อสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคได้ทำหน้าที่และบทบาทในฐานะผู้แทนผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จากการประชุมทั้ง 6 ประเด็นนั้น มีข้อเสนอที่น่าสนใจดังนี้ กรณี 3 จี มีการเรียกร้องให้ทบทวนการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการประมูล คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ต้องกระจายเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วทั้งประเทศ กำหนดราคาและคุณภาพของผู้ประมูลให้ถูกต้องเหมาะสม ส่วนกรณีความเห็นการจัดการเรื่อง แร่ใยหิน (Asbestos) เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมยกเลิกการผลิตการจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินที่สามารถใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนได้ภายใน 1 ปี กรณีนโยบาย ความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ให้ตั้งกองทุนคุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุเพิ่มเติมจากที่รัฐเคยอุดหนุน โดยแหล่งเงินมาจากค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับผู้กระทำผิดของบริษัทขนส่ง รวมถึงภาษีรถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมทั้งเสนอให้ลดอายุใบอนุญาตผู้ประกอบการเหลือ 3-5 ปีจากเดิม 7 ปี สร้างระบบอาสาสมัครเฝ้าระวังการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และขึ้นบัญชีผู้ให้บริการที่กระทำผิดซ้ำซากโดยไม่มีการแก้ไข ด้านนโยบาย ความปลอดภัยด้านอาหาร ต้องมีองค์การอิสระหรือตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วมในกลไกการควบคุมมาตรการต่างๆ ส่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคผ่านการให้ความรู้ข้อมูลข่าวสาร พร้อมทั้งส่งเสริมเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่ผลิตอาหารปลอดภัยให้มีบทบาทในตลาดอาหารของประเทศมากยิ่งขึ้น กรณีข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ... สร้างกลไกสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมที่เป็นอิสระโดยให้ กสทช.จัดสรรงบประมาณ ให้กองทุนสื่อเพิ่มบทบาทเรื่องการให้ความรู้ที่ชัดเจนเรื่องการใช้สื่ออย่างปลอดภัย และสุดท้าย กรณีการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสื่อ เสนอให้ตั้งศูนย์ประสานงานซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับจากรัฐและเอกชนในการเป็นแหล่งรวบรวมปัญหาเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในประเด็นต่างๆ ทั้งโฆษณาแฝง sms การจัดเรตติ้ง

อ่านเพิ่มเติม >