ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ว่าด้วยเรื่องการคงอยู่ของวิตามินซี

ฉลาดซื้อฉบับนี้ พารองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องวิตามินซี ถึงรายละเอียดเรื่องการทดสอบและเหตุของการอยู่และหายไปของวิตามินซี การวิเคราะห์ของวิตามินซีโดยทั่วไปใช้วิธีการอะไร        วิตามินซี เป็นวิตามินที่อ่อนแอต่อแสง อากาศ (ก๊าซออกซิเจน) และความร้อน หรือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  การวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีจะต้องทำในห้องที่ไม่มีแสงยูวี  แสงยูวีปกติอยู่ในแสงแดด  ในหลอดไฟฟ้า  และทำในห้องที่ปรับอากาศ อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียสนะครับ  โดยจะทำการสกัดวิตามินซีออกมาด้วยตัวทำละลายวิตามินซี  โดยจะต้องเป็นการสกัดเย็น จากนั้นทำการตรวจวัดด้วยเครื่อง  HPLC หรือ ชื่อเต็มว่า High Performance Liquid Chromatography   วิธีที่ใช้เครื่อง HPLC เป็นวิธีที่ดีที่สุด และมีความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์  ซึ่งโดยทั่วไปวิตามินซีในธรรมชาติหรือในเครื่องดื่มต่างๆ จะมีอยู่ทั้งสองรูปแบบ  คือ  แบบออกซิไดซ์ (oxidized form) และ  แบบรีดิวซ์  (reduced form)    มีบางคนก็พูดถึงไปแล้วว่ามันถูกออกซิเดชันได้ง่ายจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน  ทำให้มีฟอร์มที่เป็นออกซิไดซ์เพิ่มขึ้น  ซึ่งการออกซิเดชันแบบไม่รุนแรง วิตามินซีไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปไป แต่หากเป็นการออกซิเดชันที่รุนแรงที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อากาศ แสงและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น หรือมีสารประเภทโลหะร่วมด้วย  วิตามินซีจะถูกทำลายในระดับโครงสร้าง แบบนี้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้คือ สลายตัวไปเลย ดังนั้นในการวิเคราะห์วิตามินซีทั้งหมดในอาหารจะต้องวิเคราะห์ทั้งสองฟอร์มจะวิเคราะห์เพียงฟอร์มใดฟอร์มหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเติมสารเคมีบางอย่างลงไปทำปฏิกิริยารีดักชันเพื่อทำให้วิตามินซีมาอยู่ฟอร์มเดียวกันทั้งหมดก่อนที่จะทำการตรวจวัด   ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วไม่พบว่ามีวิตามินซี  ไม่ได้แปลว่า ค่าที่ได้เป็นศูนย์หรือไม่มีวิตามินซีเสมอไป  แต่สามารถบอกได้แค่ว่า  ปริมาณที่มีอยู่ต่ำกว่าที่เครื่องมือจะตรวจวัดได้เขาเรียกว่าเป็น Detection Limit คือ ต่ำกว่าขีดจำกัดการตรวจจับได้ของการวิเคราะห์นั้น  ทำให้ไม่สามารถบอกเป็นปริมาณได้ บางเครื่องอาจจะตรวจวัดและรายงานผลได้ตั้งแต่  0.5 มิลลิกรัมขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ไม่สามารถจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ซึ่งโดยทั่วไปจะรายงานว่า ตรวจไม่พบ (not detected หรือ nd)            เราไปคุยประเด็นเรื่องเขาบอกไม่ตรงฉลาก  หนึ่งคือว่าตัววิตามินซีมันสามารถที่จะสลายได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยแสง อากาศ ออกซิเจนและก็ความร้อนนะครับ รวมถึงอาจจะเรื่องของการเก็บ การขนส่ง Transportation มันก็ทำให้มันเกิดการสูญเสียได้ ทีนี้ออกซิเจนมันมาจากไหน  คือในตัวขวดมันก็จะมีอากาศอยู่แล้ว ตรงช่วงต่อระหว่างฝากับตัวน้ำ เขาเรียก Head Space ตัวนั้นนะครับ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งถ้าขนส่งมันก็อาจจะมีการเขย่า มีอะไรทำไปอีกด้วยมันก็มีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายขึ้นได้เพิ่มขึ้น  แล้วก็คือวิตามินซีในฟอร์มที่มันเป็นแบบแห้งมันจะคงอยู่ทนกว่าไงครับ  ทีนี้พอมันเป็นแบบที่เป็นน้ำการออกซิเดชันมันเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมันสามารถทำปฏิกิริยากับอากาศได้ง่ายขึ้น  เพราะฉะนั้นมันสลายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บรักษาการขนส่งว่าทำให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในอีกฟอร์มหนึ่งที่เปลี่ยนกลับได้หรือว่าสลายหายไปเลย  (อันนี้ ต้องขอบอกก่อนว่าผมพูดในด้านวิชาการนะครับ   ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวไม่ได้ส่งมาวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการนะครับ) อายุการเก็บของวิตามินซี         อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์กับอายุการเก็บของวิตามินซี   ต้องแยกออกจากกัน  อายุการเก็บมันเก็บได้ไม่เน่าเสีย แต่ว่าอายุการเก็บมันอาจจะไม่ได้ถูกศึกษาด้วยตัววิตามินซีว่ามันเหลือเท่าไหร่   คืออายุการเก็บเขาจะดูการเสื่อมสภาพ การเป็นตะกอน การเสียรสชาติ อะไรอย่างนี้มากกว่า  ที่เขาเอามาใช้  หรือการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เน่าเสียหรือก่อโรค  ที่เขาเอามาใช้เป็นอายุการเก็บ  ไม่ใช่อายุการเก็บวิตามิซี บางคนบอกว่ามันอยู่ได้ถึง 1 ปี แต่วิตามินมันไม่เหลือแล้ว  จริงๆ แล้ววิตามินซีมันสลายเร็วกว่าวิตามินตัวอื่นๆ เมื่อเทียบกัน  วิตามินซี ถือว่าสลายได้เร็วที่สุด  เพราะฉะนั้น ในทางโภชนาการเขาใช้วิตามินซีเป็นตัวชี้วัดการคงอยู่ของวิตามินที่อยู่ในอาหาร   ถ้าวิตามินซีมันอยู่ได้ตัวอื่นก็อยู่ได้ ถ้าตัวมันอยู่ไม่ได้ตัวอื่นๆ ก็อาจจะยังอยู่  แต่ว่ามันก็จะเหลือน้อยลง  แต่ถ้าวิตามินซียังอยู่เยอะแสดงว่าตัวอื่นๆ ก็ยังอยู่เยอะ  แต่ถ้าวิตามินซีหายไปเยอะค่อยไปดูตัวอื่นๆ น่าจะลดลงไปบ้าง  แต่มันก็ไม่ลดเท่าวิตามินซีนะ   สมมติว่าออกจากโรงงานแล้วบริษัทเขาส่งไปวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ  ที่เขาส่งไปวิเคราะห์เขาก็ได้ค่าหนึ่ง  ค่าอันนั้นเขาก็เอาไปขึ้นทะเบียนทำเป็นฉลาก  แต่ทีนี้พอเวลาไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ซ้ำ  มันได้ไม่เท่ากันก็คือมันไม่ใช่ตัวอย่างเดิม  มันถูกสลายแล้ว ที่ออกมาจากโรงงานแล้วก็ส่งเข้า Lab เลยนี่มันก็จะได้อีกค่าหนึ่งนะมันก็ยังไม่ได้สลายไปไง  เพราะฉะนั้นวิตามินซีมันลดลงตั้งแต่เริ่มออกจากโรงงาน ตั้งแต่วันแรก   คือมันก็ค่อยๆ ลดลงขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งสองอาทิตย์ก็อาจจะเหลืออยู่สักครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้วย   เรื่องการขนส่ง  (Transportation) อุณหภูมิในการเก็บ  และระยะเวลาการเก็บ อันนี้ดูจากวันผลิตก็ได้  ถ้าหากเก็บอุณหภูมิในตู้เย็นก็จะยืดระยะเวลาที่จะสลายตัวให้ช้าลงได้ แต่มันก็ยังสลายตัวอยู่นะไม่ใช่ไม่สลายนะ   หากไปวางตั้งไว้ข้างนอกบางทีอยู่นอกร้านภูมิอากาศบ้านเรามันก็ร้อนนะวิตามินมันก็เกิดการสูญเสียเร็วขึ้นนะครับ    ความแตกต่างของภาชนะบรรจุส่งผลต่อการสลายของวิตามินซีไหมคะ         โดยหลักการภาชนะบรรจุที่ทึบแสง หรือที่แสงผ่านเข้าไม่ได้  และภาชนะที่ไม่มีโลหะผสมจะป้องกันวิตามินซีได้ดีกว่าภาชนะบรรจุที่ใสและแสงผ่านเข้าได้   คนจะสงสัยค่ะอาจารย์ว่ามันก็ใสเหมือนกันขวดแบบเดียวกันทำไมอันหนึ่งมันอยู่ Stable อีกอันหนึ่งทำไมมันหายไป        น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต  การขนส่ง ระยะเวลาหลังจากผลิต  การเก็บรักษา  อุณหภูมิในการเก็บอะไรต่างๆ  บางทีจะเห็นไปตั้งเอาไว้เป็นสต็อกไม่โดนแอร์เลย  ตั้งเอาไว้ข้างร้านๆ   บางทีตั้งไว้อยู่ริมถนน  อากาศมันก็ร้อนนะ  บางทีโดนแดดคือผมพยายามไม่พูดถึงยี่ห้อนะครับ ผมพูดเรื่องวิชาการอย่างเดียวนะครับ   มีคำแนะนำสำหรับคือการผลิตจะมีคำแนะนำอย่างไรดีคะสำหรับการคงคุณภาพหรือการผลิตที่ต้องดูแลควบคุม         ก็ต้องเริ่มจากการควบคุมกระบวนการผลิต   เลือกใช้สารวิตามินซีที่มีความบริสุทธิ์หรือมีเปอร์เซนต์ของวิตามินซีสูง   อุณหภูมิขณะเติมวิตามินซีและตลอดกระบวนการผลิตไม่ควรเกิน 25 องศา  ควรใช้ขวดทึบแสงหรือขวดที่ป้องกันแสงผ่านได้   ลดพื้นที่อากาศบริเวณปากขวดให้เหลือน้อย เก็บรักษาในที่เย็น ห่างจากแสงแดดและความร้อน           ในแต่ละวัน เราสามารถรับวิตามินซีจากแหล่งอาหารอื่นๆ จากที่ไหนได้บ้าง         ผลไม้รสเปรี้ยวเป็นแหล่งของวิตามินซี รวมทั้ง  ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มะขามป้อม  สตรอว์เบอร์รี  เป็นต้น กรณีที่มีบางยี่ห้อเราตรวจได้ปริมาณวิตามินซีมากๆ         อย่างเช่นถ้าเราตรวจพบ   500 ต่อ Serving เพราะฉะนั้นถ้าคนไปกินแทนน้ำนี่มันก็มีความเสี่ยงถ้าคนกินแทนน้ำวันหนึ่งสักสามขวดอย่างนี้  ขวดหนึ่งมัน  140 มิลลิลิตรเองนะ ขวดเล็กด้วยนะ  ถ้าหากใครกินสามขวดก็จะได้ไป 1,500 มิลลิกรัม  ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับมากเกินไป  เช่น  โรคนิ่วในไต  แต่อย่างไรก็ตามโรคนิ่วในไต มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย  เช่น  กรดออกซาลิก  กรดยูริก  แต่ถ้าจะลดความเสี่ยง ก็คือวันหนึ่ง  ไม่ควรกินเกิน 1,000 มิลลิกรัม ขณะที่ในอาหารเสริม หนึ่งเม็ดก็จะมี 500 หรือ 1,000 มิลลิกรัม กินวันละเม็ดเดียวก็พอแล้ว    เพราะเรายังได้รับวิตามินซีจากอาหารอีก  เพราะเราไม่ได้กินแต่น้ำ  จริงๆ แล้วร่างกายต้องการน้ำเพื่อแก้กระหาย  น้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายแต่มีการไปเติมวิตามินลงไปเพื่อให้มันมี  เพื่อความสะดวกคือดื่มน้ำแล้วได้วิตามินซีด้วยแต่มันไม่เสถียร  ไม่คงทน  มันสลายได้จึงอยากให้เน้นกินผลไม้ที่มีวิตามินซีที่สด  ซื้อมาปอกเปลือกแล้วกินเลยอันนี้เราควบคุมได้เองวิตามินซีอยู่ครบหรือลดลงแค่เล็กน้อย   เราจะได้ทั้งวิตามินซีทั้งใยอาหารด้วย  ใยอาหารช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ทำให้ผิวพรรณสดใส  เมื่อลำไส้เราสะอาดผิวพรรณเราก็จะสดใสก็จะเปล่งปลั่งขึ้นมา    ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายรับได้ต่อวันเป็นอย่างไร         การกินวิตามินซีวันละ  60 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย   อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถรับวิตามินซีในปริมาณมากกว่านี้ได้ มีผลวิจัยว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันบางโรค ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและอาจช่วยป้องกันหวัดหรือบรรเทาอาการหวัด   ข้อดีของวิตามินซี คือ เป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำ   เพราะฉะนั้นหากได้รับมากจนเกินไปร่างกายก็จะขับออกทางปัสสาวะ  อย่างไรก็ตามไม่ควรกินเกิน  1,000 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในไต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

        เครื่องดื่มผสมวิตามินซีเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ตามกระแสที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดี น้ำดื่มและเครื่องดื่มผสมวิตามินกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจโดยเฉพาะการผสมวิตามินซี ได้กลายมาเป็นจุดขายด้วยการอ้างถึงคุณค่าของวิตามินซีต่อร่างกายและปริมาณเข้มข้นหรือสูงกว่าร้อยละของ RDI ที่แนะนำให้คนไทยบริโภคต่อวัน คือ 60 มิลลิกรัม เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทำให้มีการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  ประมาณกันว่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาทและโตต่อไปได้ถึง 7,000 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กันยายน 2563)         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวนทั้งหมด 47 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคว่าการกล่าวอ้างวิตามินซีสูงนั้นเป็นไปตามคำอ้างหรือไม่ เพราะทราบกันดีว่า วิตามินซีนั้นเป็นวิตามินที่สลายตัวได้ง่าย เรามาดูผลตรวจวิเคราะห์กันเลยว่าเป็นอย่างไรในหน้าถัดไป สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ทั้งหมด 47 ตัวอย่าง พบว่า         - จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลากร้อยละ 30           - จำนวน 8 ตัวอย่าง ไม่พบวิตามินซี ได้แก่        1) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน)         2) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ กราสเจลลี่  (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)         3) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200         4) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่         5) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร        7) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน         8) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน         - จำนวน 10 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีตามที่ระบุไว้บนฉลาก ไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30          ที่มาเรื่องส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารต้องไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30        1.เครื่องดื่มผสมวิตามิน ซี จัดเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท         2.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522         3.เป็นอาหารทั่วไป ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีปริมาณวิตามิน ซี เท่าไร         4.แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างบนฉลาก จึงอยู่ในเกณ์ กฎหมายอาหาร มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         5.มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตราย         6.จาก ข้อ 5. ผลทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากคือ มีทั้งปริมาณมากกว่าและน้อยกว่าร้อยละ 30  โดยการกล่าวอ้างว่ามีวิตามินซี ร้อยละ 200 ต่อ RDI (120 มิลลิกรัม)  ควรมีปริมาณวิตามินซีอยู่ในช่วง 84-156 มิลลิกรัม และไม่พบวิตามินซีเลยจำนวน 8 ตัวอย่าง อาจจะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอมหรือไม่         ข้อเสนอต่อหน่วยงาน        1.หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ อย. ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก         2.อย.ควรกำหนดให้มีคำเตือน เรื่อง การดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินซีไว้บนฉลาก เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค         3.อย.ควรมีมาตรการในเรื่องของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังได้รับการขึ้นทะเบียน (Post Marketing) ว่าเป็นไปตามที่ได้แจ้งเพื่อขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หรือไม่         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         1.ควรบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงจากแหล่งธรรมชาติ ได้แก่ ผักและผลไม้        2.เลือกเครื่องดื่มผสมวิตามินที่อยู่ในภาชนะและการเก็บรักษาที่เหมาะสม เช่น ทึบแสง เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ วันผลิตใหม่  และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมมากเกินไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

        ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)         สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลย         แต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร เครื่องดื่มผสมวิตามินซี         ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น)         ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)         หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า          ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี...          ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ         เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrate         บทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต          จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง และมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

วันนี้ 15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อนตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)        2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021  )        3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน  ขนาด 48 มล. ( วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021  )        4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021 )        5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. ( วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021 )        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.( วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021  )        7) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. ( วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21 )และ 8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. ( วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)          และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลาก มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 บนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก          ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI* (Thai Recommended Daily Intakes) อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน แหล่งอาหารสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคเพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อนอย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซี ขนาดสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chaladsue.com* Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >