ฉบับที่ 247 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2564

อนุทินแจงสาธารณสุขโดนแฮกข้อมูลคนไข้จริงสั่งเร่งแก้ปัญหา        จากกรณีเพจเฟซบุ๊กน้องปอสาม ได้เปิดเผยถึงการถูกแฮกข้อมูลผู้ป่วย 16 ล้านราย ของกระทรวงสาธารณสุขไทย วันที่ 7 กันยายน 2564  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ยอมรับว่าข้อมูลผู้ป่วยถูกแฮกจริง โดยข้อมูลที่ถูกแฮกเกิดขึ้นใน จ.เพชรบูรณ์ และเคยเกิดที่ จ.สระบุรี แต่เป็นข้อมูลทั่วไป ไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นความลับแต่ประการใด ทั้งนี้ ได้สั่งให้ปลัด สธ. เร่งดำเนินการแก้ไข ด้าน นพ. ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงการณ์กรณีการแฮกข้อมูลผู้ป่วยว่า ข้อมูลที่โดนประกาศขายมาจากฐานข้อมูลย่อยที่ทางเจ้าหน้าที่ของ รพ. ต้นทาง ไม่ได้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของโรงพยาบาล ซึ่งแฮกเกอร์ได้เพียงข้อมูลชื่อนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ สิทธิในการรักษา อาทิ ประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง ประวัติการนัดคนไข้ของแพทย์ ข้อมูลการแอดมิท ตารางเวรของแพทย์และการคำนวณรายจ่ายการผ่าตัดราว 692 ราย เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ส่วนการดำเนินการตรวจสอบเรื่องความเสี่ยงได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษามั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ สธ. และกระทรวงดีอีเอส ได้มีการแบ็กอัพข้อมูลทั้งหมด ว่ายังมีสิ่งใดซ่อนอยู่ในเซิร์ฟเวอร์หรือไม่” องค์การเภสัชกรรมเตือน “ฟาวิพิราเวียร์” ขายออนไลน์ผิดกฎหมาย        วันที่ 8 กันยายน 2564  ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า มีผู้แอบอ้างประกาศขายยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรมที่ได้ทำการผลิตวิจัยและพัฒนาเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยระบุเป็นยาขององค์การเภสัชฯ จึงขอเตือนผู้บริโภคระวังอาจได้ยาปลอมและการขายผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากยาฟาวิพิราเวียร์จัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษ โดยสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นและต้องติดตามผลการรักษาตลอด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถวางขายทั่วไปและออนไลน์ได้ กระท่อม "ต้ม-ปรุงอาหารขาย" ยังผิดกฎหมาย        กรณีพืชกระท่อมถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และประชาชนเริ่มค้าขายใบกระท่อมได้นั้น เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากรัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ซึ่งเป็นการถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมว่าสามารถทำในส่วนใดได้บ้าง ขอชี้แจงว่า ส่วนของการเคี้ยวใบ การปลูก การครอบครองและขายใบสด โดยไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารสามารถทำได้อย่างเสรีไม่ผิดกฎหมาย แต่หากนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรและแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆ จะต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพราะมีกฎหมาย พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุม        หรือการนำไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น  พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยังไม่ปลดล็อคให้สามารถนำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลย ก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิตเพื่อจำหน่าย โดยประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมนั้น เป็นอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้าหรือจำหน่าย การฝ่าฝืน ผลิต และขาย อาหาร ที่ พ.ร.บ.อาหาร ห้ามมีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือน-2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท ตรวจสอบผ้าก่อนอบแห้ง        จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่เครื่องอบผ้ามีไฟลุกท่วมของร้านสะดวก Otteri wash & dry ซึ่งทางต้นคลิปได้ระบุว่า เจ้าของน่าจะเป็นการลืมไฟแช็กไว้ในกระเป๋าเสื้อผ้า  ทางบริษัท อ๊อตเทริ วอช แอนด์ ดราย จำกัด เจ้าของแบรนด์แฟรนด์ ได้ชี้แจ้งสาเหตุว่า ไม่มีการลืมไฟแช็คในผ้าและเกิดจากการนำผ้าที่ไม่ควรนำเข้าอบใส่ในเครื่องอบ หลังบริษัทลงพื้นที่ตรวจสอบระบบแก๊สและระบบไฟฟ้า พบว่ามีการทำงานปกติ และได้มีการตรวจสอบ ณ จุดเกิดเหตุไฟไหม้ที่เครื่องอบผ้า พบว่า ซากของผ้าที่อยู่ด้านในกลายสภาพเป็นพลาสติกแข็ง ซึ่งเป็นชุดกีฬา ชุดผ้าร่ม ซึ่งเป็นผ้าที่ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ เพราะเส้นใยผ้าที่ผ่านสภาพการใช้งานพักหนึ่งจะไม่สามารถทนต่อความร้อนได้ จึงจะดำเนินการเพิ่มคือ มีป้ายประกาศเรื่องของชนิดผ้าที่ห้ามนำเข้าเครื่องอบติดตั้งอยู่ภายในร้าน ศาลตัดสิน “จ่ายค่าเสียหายผู้พิการ”กรณีสร้างลิฟต์ระบบไฟฟ้าบีทีเอสล่าช้า 5 ปี        จากกรณีภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้และภาคีคนพิการ ร่วมกันฟ้องยื่นฟ้อง กทม. ปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาวันที่ 20 มกราคม 2558 ให้ กทม. จัดทำลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานตามกฎหมายในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส สายแรกที่อยู่ในสัมปทานให้ครบทั้ง 23 สถานี ภายในวันที่ 21 มกราคม 2559 แต่จนถึงปี 2564  ยังไม่ดำเนินการสร้างลิฟต์และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานให้เสร็จได้ เป็นเวลา 5 ปีแล้ว วันที่ 15 กันยายน 2564 ศาลปกครองสูงสุดได้นัดฟังคำพิพากษา กรณีเรียกร้องค่าเสียหายที่ กทม. ไม่สามารถสร้างลิฟต์บนระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เสร็จภายใน 1 ปี ด้านนายสว่าง ศรีสม ผู้จัดการโครงการและแผนงานภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ กล่าวว่า ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กทม. ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทาน รับผิดชอบค่าเสียหายให้แก่ผู้พิการที่ร่วมฟ้องกว่า 500 คนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องมีภูมิลำเนาใน กทม. และพิสูจน์ได้ว่าทำงาน/อยู่อาศัยใน กทม. ต้องใช้ขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ เป็นประจำ เป็นค่าชดเชยค่าเสียหายจำนวน 5,000 บาทต่อคน รวมดอกเบี้ย ร้อยละ 7 ต่อปี นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ควรจะทำให้แล้วเสร็จ เป็นเวลา 5 ปี และให้กทม.จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายภายใน 6-7 วัน   เคลมประกันโควิดเกิน 15 วัน เร่งใช้สิทธิร้องทุกข์        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผย ผู้ร้องเรียนกรณีเคลมประกันโควิด-19 ล่าช้าเกิน 15 วัน บางส่วนได้รับค่าสินไหมแล้ว หลังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพายื่นเรื่องที่ คปภ. เมื่อวันที่ 10 กันยายน แม้ยังมีผู้ที่ไม่ได้รับค่าสินไหมกว่าครึ่งของรายชื่อที่ส่งไป แต่คาดว่าคงได้รับการแก้ไขปัญหาทุกราย         นางสาวฟิตรีนา อาลี เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคที่พบปัญหาเรื่องบริษัทประกันจ่ายค่าสินไหมประกันโควิด-19 ล่าช้า เกิน 15 วัน สามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเตรียมเอกสารดังนี้ 1. ใบรับรองแพทย์ 2. รายงานการตรวจ RT-PCR (ถ้ามี)  3. สำเนากรมธรรม์  4. สำเนาหน้าบัญชีธนาคาร  5. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  ส่งมาให้ทางมูลนิธิฯ ซึ่งจะรวบรวมและทยอยส่งให้ทาง คปภ.ดำเนินการ เนื่องจากมีผู้เสียหายทยอยร้องเรียนเข้ามาเรื่อยๆ

อ่านเพิ่มเติม >