ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >