ฉบับที่ 270 ‘บัญชีรายรับ-รายจ่าย’ ทำเถอะ ดีต่อเงินของเรา

        คนที่เริ่มศึกษาการจัดการการเงินส่วนบุคคล เรื่องแรกๆ ที่มักได้รับคำแนะนำจากโค้ชการเงินหรือหนังสือหนีไม่พ้นการรู้จักตนเอง การวางเป้าหมาย บลาๆๆ และที่ขาดไม่ได้คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มักถูกมองข้ามเพราะรู้สึกยุ่งยาก ไม่เข้าใจ แล้วก็ชอบลืม         ก็แค่ใช่จ่ายประหยัดๆ กับแบ่งเงินไปออม ไปลงทุนไม่ได้รึไง? ได้ แต่ไม่ค่อยเวิร์ค เวลาที่บอกว่าใช้จ่ายประหยัดบางทีก็ไม่รู้ว่าเราประหยัดจริงหรือเปล่า เงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไรบ้าง เอาเงินไปออมแล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายเท่าไหร่ ฯลฯ         บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเลยคล้ายๆ งบการเงินของบริษัทที่คอยบอก คอยเตือนเราว่าตอนนี้ใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยเยอะไปแล้ว ตอนนี้สภาพคล่องเหลือเฟือจะทำยังไงกับเงินที่เหลือดี เป็นต้น มันคอยช่วยบอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราว่ายังอยู่ในลู่ในทางที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเงินของเราหรือเปล่า         ปัญหาต่อมาคือแล้วจะทำบัญชียังไง อันนี้ก็ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชั่นมากมายสำหรับช่วยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องไปเลือกว่าแอปไหนเหมาะกับตัวเอง         เรื่องที่ต้องรู้คือรายรับ-รายจ่ายต่างหาก เราต้องรู้ว่ารายรับในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง อะไรไม่ใช่รายรับ ตรงกันข้ามแล้วรายจ่ายล่ะคืออะไร อย่าสับสนเป็นอันขาด เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นตัวช่วยบอกสภาพคล่องทางการเงินของคุณ         ยกตัวอย่าง คุณคิดว่าเงินออมเป็นรายรับหรือรายจ่าย เอาล่ะสิ ถึงตรงนี้ชักเริ่มสับสน เงินที่เราเอาไปฝากธนาคารไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ก็ยังอยู่กับเรา มันก็น่าจะเป็นรายรับสิ ผิด มันคือรายจ่าย เพราะมันคือเงินสดที่เราจ่ายออกไปจากกระเป๋า เหมือนสมการที่นำเสนอกันว่า รายรับ-เงินออม-รายจ่าย=เงินคงเหลือ แม้เงินออมจะไม่ใช่รายจ่าย แต่ก็เป็นเงินที่เรานำออกไปและมีผลต่อสภาพคล่อง         แล้วถ้าเดือนนั้นเราใช้จ่ายมือเติบ ชักหน้าไม่ถือหลัง เลยยืมเงินเพื่อนมา อันนี้ถือเป็นรายรับที่เข้าเพิ่มสภาพคล่องซึ่งมีภาระต้องจ่ายคืนทีหลัง แล้วตอนที่จ่ายคืนนั่นแหละมันคือรายจ่าย         ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) หรือ SET แบ่งรายจ่ายเป็น 3 ส่วน คือค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร 3 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่เฉลย         ลองไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดู ในเว็บยังแนะนำวิธีทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย รู้แล้วก็ทำซะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 การออมไม่ใช่การลงทุน แต่เป็นฐานของการลงทุน

        วันนี้กลับมาคุยกันเรื่องเบสิกสุดๆ อีกครั้งนั่นก็คือ การออมและการลงทุน         เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดเรื่องการออมและการลงทุน ไปๆ มาๆ เลยเอา 2 คำนี้มารวมเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งต้องบอกดังๆ ว่า ไม่ใช่ มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่มันเกี่ยวเนื่องกัน         การออมคือการเก็บเงินนั่นแหละ เข้าใจง่ายสุด เราเก็บเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ เตรียมไว้เป็นค่าเทอม เก็บไว้ไปเที่ยวต่างประเทศ หรือเก็บไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินต่างๆ ค่อยๆ เก็บหอมรอมริบไปตามกำลัง บ้างเสนอว่าควรเก็บ 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ บ้างก็ว่าไม่พอแล้วต้องอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ บ้างก็ว่าควรเก็บ 1 ใน 4         ฝากธนาคารเป็นวิธีเก็บเงินออมที่คนส่วนใหญ่ใช้ซึ่งเป็นวิธีที่น่าจะปลอดภัยและสะดวกที่สุด โดยได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทน ความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนก็ต่ำเตี้ยด้วยเช่นกัน ไม่ชนะเงินเฟ้อแน่นอน ยิ่งฝากค่าเงินยิ่งเล็กลง แต่ไม่มีเงินออมฝากธนาคารเลยได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเพราะเป็นเรื่องของสภาพคล่อง         คราวนี้ พอเก็บเงินได้เยอะขึ้นๆ จะปล่อยกินดอกเบี้ยในธนาคารอย่างเดียว ชาตินี้คงไม่มีเงินพอเกษียณ หลังจากจัดแจงแบ่งส่วนเงินออมที่มีแล้ว เราถึงกันเงินส่วนหนึ่งออกไปลงทุนหรือเก็บเงินออมเพื่อการลงทุน         เห็นแล้วนะว่าการออมไม่ใช่การลงทุน แต่การออมเป็นฐานของการลงทุน เงินออมใช้เป็นเงินลงทุนต่อยอดสร้างผลตอบแทน         ถามว่าไม่ต้องออมได้ไหม เพราะฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยน้อย สู้เอาไปลงทุนเลยดีกว่า?         ตอบว่าไม่ได้ บ้าบิ่นเกินไป คอลัมน์นี้เคยพูดถึงเงินออมฉุกเฉิน อารมณ์คล้ายๆ กัน การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยต้องใช้เวลา (ต่อให้คุณเป็นสายเทรดเดอร์หรือสายเก็งกำไรก็ยังจำเป็นต้องมีเงินสำรอง) ถ้าเอาเงินมาลงทุนโดยไม่มีหลังพิง เกิดขาดสภาพคล่อง เกิดเหตุฉุกเฉิน หรือขาดรายได้จะทำยังไง ก็ต้องไปดึงเอาเงินที่ลงทุนออกมาทั้งที่ยังขาดทุนอยู่หรือดีหน่อยคือไม่ขาดทุน แต่คุณจะเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาว         เอ๊ะ แล้วที่โฆษณาออมหุ้นๆ กันล่ะ เป็นการลงทุนหรือการออมกันแน่? อันนี้น่าสนใจ         การออมหุ้นเป็นการลงทุน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าการฝากเงินธนาคารแต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ที่ใช้คำว่า ออมหุ้น เพราะคนทำมาหากินธรรมดาจะเอาเงินถุงเงินถังจากไหนไปซื้อหุ้นทีละเป็นหมื่นเป็นแสนหุ้น ดังนั้น โบรกเกอร์จึงเสนอบริการให้เราได้ทยอยสะสมหุ้มโดยไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่         พอค่อยๆ สะสมหุ้น มันเลยให้อารมณ์เหมือนกันออม ถึงเรียกว่าออมหุ้น แต่ไม่ใช่ออมเงิน ที่สำคัญก่อนจะออมหุ้นต้องออมเงินให้ได้ก่อน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 รวมพลังสู้ ‘เงินเฟ้อ’

        ศัตรูสำคัญของเงินออมคือเงินเฟ้อ มันเหมือนมอดปลวกที่คอยกัดกิน ‘มูลค่าเงิน’ ของเราให้ถอยถดลดลง         ทำไมต้องใช้คำว่า ‘มูลค่าเงิน’ เพราะยังมีผู้คนไม่น้อยสับสนระหว่างจำนวนเงินกับมูลค่าเงินน่ะสิ เหมือนจะเคยเล่าไปแล้วว่าถ้าคุณฝากเงินไว้ในธนาคารที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ย สมมติว่าแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ แต่อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมปี 2565 ของไทยอยู่ที่ 7.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี หมายความว่าต่อให้เงิน 100 บาทในธนาคารได้ดอกเบี้ย 1 บาท ความจริงคือเงินของคุณมีมูลค่าต่ำกว่า 100 บาทไปแล้วจากเงินเฟ้อที่สูงลิบลิ่ว         เงินเฟ้อคือสภาวะที่ข้าวของในท้องตลาดราคาขยับสูงขึ้นๆ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ ทำให้เงินจำนวนเท่าเดิมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการต่างๆ ได้ในปริมาณลดลง         สาเหตุของเงินเฟ้อในไทยรอบนี้ที่นักเศรษฐศาสตร์วิเคราะห์เกิดจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น (น้ำมันนั่นแหละ) ไหนจะภาครัฐยังลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพ ส่วนภาคธุรกิจก็ส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อมายังผู้บริโภค (ขึ้นราคาสินค้า) แต่รอบนี้หนักกว่าเคยเพราะเกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลกสืบเนื่องจากสงครามระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 75 bps เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่ปี 2537 ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ก็ตั้งท่าจะขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อเหมือนกัน         เป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงต้องนำเงินไปลงทุนต่อยอดให้งอกเงยมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ         แต่การลงทุนอะไรที่จะชนะเงินเฟ้อได้? คำตอบคือหุ้น และถ้าไม่มีเวลาไล่ดูหรือศึกษาหุ้นที่ละตัว กองทุนรวมหุ้นก็เป็นตัวเลือกที่ดี เพราะในระยะยาวแล้ว ย้ำว่าในระยะยาวหุ้นรวมเงินปันผลให้ผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อได้         สินทรัพย์อีกประเภทคืออสังหาริมทรัพย์ เพราะมันไม่ขึ้นกับความผันผวนของภาคอุตสาหกรรมและตลาดหุ้น แล้วค่าเช่าก็มักเพิ่มสูงขึ้นตามเงินเฟ้อนั่นแหละ แต่จะควักเงินก้อนซื้อที่ดิน ซื้อตึกแถวเองคงยาก ก็มีรีทหรือทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REAL ESTATE INVESTMENT TRUST: REIT) ให้เลือกลงทุน         บ้างก็ว่าทองคำหรือกองทุนรวมทองคำเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการรักษามูลค่าเงิน เพราะโลหะสีเหลืองนี่ขยับมูลค่าตามเงินเฟ้อเหมือนกัน         ถ้าใครตามส่องบรรดาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนช่วงนี้ จะเห็นว่าแนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมในหุ้นต่างประเทศกันยกใหญ่ ยังไงก็ควรศึกษาก่อนตัดสินใจให้ดีๆ อย่าเชื่อคำโฆษณาอย่างเดียวเป็นอันขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 เงินฉุกเฉิน’ เบาะกันกระแทกที่ต้องมีก่อนก้าวต่อไป

        เชื่อว่าคนจำนวนหนึ่งมีเงินออมอยู่บ้าง มากน้อยก็ว่ากันไป แล้วเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไหม? เช่น อยู่ๆ ต้องซ่อมรถ ต้องเข้าโรงพยาบาล ตกงาน หรือเหตุใดๆ ให้ต้องใช้เงินด่วน คนส่วนใหญ่ทำยังไงล่ะ? ก็เอาเงินออมนั่นแหละออกมาจ่าย เงินออมมีไว้เพื่อสิ่งนี้ไม่ใช่เหรอ?        ผิด เงินออม ก็คือเงินออมที่เราตระเตรียมไว้เพื่อต่อยอดให้งอกเงยผ่านการลงทุนอะไรก็ว่ากันไป         ส่วนเงินที่มีไว้เผื่อใช้จ่ายในคราวจำเป็นจริงๆ เขาเรียกว่า ‘เงินฉุกเฉิน’ อย่าทำเป็นเล่นไป เงินส่วนนี้สำคัญมากเพราะมันจะเป็นเบาะกันกระแทกอย่างดีเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันและต้องใช้เงินด่วน         โดยทั่วไปแล้วมีคำแนะนำว่า ควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 3-6 เดือน (บางคนมีเงินฉุกเฉินถึง 1 ปีกันเลยทีเดียว) หมายความว่าถ้าคุณมีรายจ่ายต่อเดือน 20,000 บาท คุณก็ควรมีเงินฉุกเฉินอย่างน้อย 60,000 -120,000 บาท เห็นจำนวนเงินแล้วคงมีคนร้อง โอ้โห! แค่จะเก็บเงินธรรมดายังยากเย็น นี่แค่เงินฉุกเฉินทำไมต้องเยอะขนาดนี้         เศรษฐกิจช่วงนี้ซบเซา ยังไม่มีทีท่าจะกระเตื้อง ลองจินตนาการว่าคุณตกงาน รายได้ประจำที่เคยมีหายวับไป คุณจะทำยังไงล่ะ? แน่นอน หางานใหม่ที่คงต้องใช้เวลาอยู่บ้าง การมีเงินก้อนนี้ไว้จะทำให้คุณอุ่นใจไปได้อย่างน้อย 3-6 เดือน ซึ่งน่าจะยาวนานพอให้คุณตั้งหลักหรือหางานได้         ตรงกันข้าม ถ้าคุณไม่มีเงินส่วนนี้เลย ลำบากแน่ โอเค คุณมีอาจเงินออมอยู่บ้าง แต่ไม่พอยื้อได้นาน จบลงด้วยการกู้หนี้ยืมสิน ค่อนข้างเป็นฉากที่เลวร้ายว่าไหม? แถมเงินออมที่ตั้งใจจะเอาไปซื้อบ้าน เรียนต่อ ก็ต้องหายวับไปกับตายเพราะความประมาทว่าชีวิตจะราบรื่น ไม่มีสะดุด         พูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าคุณต้องตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินฉุกเฉินอย่างเดียว คุณทำมันพร้อมๆ กับเก็บเงินออมได้ เพียงแค่จัดสรรเงินของตนทุกเดือนว่าส่วนไหนเงินออม ส่วนไหนเงินฉุกเฉิน        จะเก็บเงินฉุกเฉินไว้ที่ไหน? มี 2 แหล่ง ที่แรกก็ในเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปเพราะสามารถถอนออกมาได้เร็วทันสถานการณ์ อีกที่คือกองทุนตราสารเงิน ความเสี่ยงต่ำ ถ้าคุณส่งคำสั่งเอาเงินออกวันนี้ เงินจะเข้าบัญชีที่คุณผูกไว้กับกองทุนในวันรุ่งขึ้น ช้ากว่าเงินฝากนิดหน่อย แต่ให้อัตราผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากนิดหน่อย (นักลงทุนใช้กองทุนตราสารเงินเป็นแหล่งพักเงินระหว่างที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับเงินก้อนนี้)        ปัญหาอยู่ที่ว่าคุณต้องมี ‘วินัย’ (เรื่องนี้สำคัญมากเช่นกัน ไว้จะพูดถึงในคราวต่อๆ ไป) แยกแยะให้ได้ว่าอะไรฉุกเฉินจริงๆ เพราะบัตรเอทีเอ็มอยู่ในมือ แบบว่าช่วงเซลล์ 50 เปอร์เซ็นต์กำลังจะหมดเขต ต้องรีบช้อป นี่ไม่ฉุกเฉินแน่นอน         การมีเงินฉุกเฉินยังช่วยให้การออมเงินไม่สะดุด ถึงเป้าหมายการออมได้โดยไม่ต้องมีเรื่องกวนใจ         ส่วนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือประสบอุบัติเหตุ ตรงนี้สามารถกระจายความเสี่ยงไปให้บริษัทประกันช่วยรับภาระได้ อาจพูดได้ว่าเป็นเงินฉุกเฉินที่เราซื้อไว้ด้วยราคาที่ต่ำกว่า แต่เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดแยกออกมาอีกตอน         จะให้ดีกว่านั้น เราคงต้องช่วยกันผลักดันสวัสดิการสุขภาพของทุกกองทุนสามารถดูแลเราได้อย่างมีคุณภาพ เท่าเทียม ทั่วถึง ครอบคลุมให้มากขึ้น และบังคับใช้กฎเกณฑ์อย่างจริงจังกับโรงพยาบาลเอกชน ถ้าทำได้ เรื่องฉุกเฉินด้านสุขภาพร่างกายก็เบาลงไปเยอะเลย

อ่านเพิ่มเติม >