ฉบับที่ 254 ซื้อประกันโควิด-19 ที่ร้านสะดวกซื้อ ต้องเคลมที่ไหน?

        ดราม่ากรณีการขอเคลมประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ยังมีให้ได้รับรู้อยู่เรื่อยๆ และน่าจะเป็นมหากาพย์ยาวนานเรื่องหนึ่งซึ่งสะท้อนถึงความเดือดร้อนของผู้บริโภคในรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดังที่บ่นติดปากกันว่า “ประกันโควิด-19 ซื้อง่าย ขายคล่อง แต่เคลมยากมาก”         ย้อนไปช่วงสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเมื่อต้นปี 2563 คุณพลอย เจ้าของร้านทำผมเล็กๆ แห่งหนึ่ง ยอมรับว่าด้วยอาชีพช่างทำผมที่ต้องใกล้ชิดลูกค้า แม้เธอจะให้บริการแบบควบคุมความปลอดภัยตามมาตรการเข้มงวดขนาดไหน เธอก็ยังคงมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้อยู่ดี ต่อมาเมื่อเห็นร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านเปิดขายประกันโควิด-19 ประเภท เจอ จ่าย จบ ของบริษัทแห่งหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจซื้อประกันนี้ให้ตัวเองและครอบครัวรวม 3 คน  จากนั้นเธอและครอบครัวก็ยังคงป้องกันตัวเองเหมือนเดิม ทำให้อยู่รอดปลอดภัยมาทั้งในยุคสายพันธุ์อัลฟาและเดลต้า แต่ในที่สุดคุณพลอยก็ต้องมาพ่ายแพ่ให้กับโอมิครอน เมื่อผลตรวจแบบ RT-PCR ของเธอเป็นบวก         เมื่อคุณพลอยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งจนหายดี และกลับมากักตัวต่อที่บ้านครบตามกำหนดแล้ว เธอจึงติดต่อไปที่คอลเซ็นเตอร์ของร้านสะดวกซื้อที่เธอซื้อประกันโควิด-19 ไว้ เพื่อจะยื่นขอเคลมประกัน โดยเธอได้เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไว้เรียบร้อย แต่คอลเซ็นเตอร์กลับตอบมาว่า เธอต้องติดต่อกับบริษัทประกันนั้นเอง เธอยืนงงในดงเอกสารและคำตอบที่ไม่คาดคิด ก่อนจะมาร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ เมื่อคุณพลอยติดเชื้อโควิค-19 จะต้องไปดำเนินการยื่นเอกสารและหลักฐานเพื่อเคลมประกันกับบริษัทประกันภัยนั้นๆ เอง เพราะร้านสะดวกซื้อเป็นเพียงช่องทางการขายและซื้อประกันโควิด-10 เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากที่ซื้อกับตัวแทน (บุคคล) ของบริษัทประกันภัยโดยตรง ที่ผู้ซื้อสามารถฝากเอกสารหลักฐานเคลมไปกับตัวแทนได้เลย และขณะนี้คุณพลอยก็อยู่ในขั้นตอนที่ทางบริษัทประกันจะต้องจ่ายค่าประกันให้เธอตามสิทธิ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน

อัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์        12 พ.ย. 64 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องกำหนดอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารและค่าบริการอื่น สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ พ.ศ.2564  โดยมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันประกาศ โดยอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสารของรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ กำหนด ดังนี้         1. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 40 - 45 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 6 - 10 บาท 2. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 45 - 50 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 7 - 12 บาท 3. รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรก 100 - 150 บาท เกินกว่า 2 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 12 - 16 บาท         ทั้งนี้ กรณีระบบคำนวณอัตราค่าโดยสารล่วงหน้าประเมินว่าสภาพจราจร ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติ ให้คิดอัตราค่าโดยสารคำนวณเพิ่มในอัตรานาทีละ 2 บาท และค่าบริการอื่น กำหนดในกรณีจ้างผ่านระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เรียกเก็บเพิ่มในอัตรา 20 บาท กรณีที่ปริมาณรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ไม่สมดุลกับความต้องการใช้บริการ เรียกเก็บเพิ่มในอัตราไม่เกินหนึ่งเท่าของค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร ต้องไม่เกิน 200 บาท จากประกาศราชกิจจานุเบกษาราคาเริ่มต้นค่าโดยสารต่ำสุด คือ 40 บาท เพิ่มค่าบริการเรียกรถ 20 บาท โดยรวมค่าบริการเริ่มต้นจะอยู่ที่ 60 บาท คปภ.ยัน บ.ประกันห้ามยกเลิกกรมธรรม์ "เจอ จ่าย จบ"         จากกรณีของบริษัทเดอะวันประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งผู้เอาประกันให้เลือกเงื่อนไขที่บริษัทยื่นข้อเสนอ หากไม่แจ้งการเลือกทางบริษัทจะเปลี่ยนความคุ้มครองในกรมธรรม์โดยอัตโนมัติ จากเจอ จ่ายจบ เป็นคุ้มครองเฉพาะโคม่านั้น         15 พ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยังคงยึดคำสั่งนายทะเบียนตามกฎหมาย โดยบริษัทประกันไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขกรมธรรม์ได้ตามอัตโนมัติ เนื่องจากจะกระทบต่อผู้เอาประกันทั้งความไม่ยุติธรรมและความเชื่อมั่นของประชาชน ทั้งนี้ คปภ. ได้เสนอแนวทางเพิ่มเพื่อช่วยเหลือบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยทางบริษัทประกันสามารถเสนอทางเลือกให้ผู้เอาประกันได้ แต่ต้องเป็นความสมัครใจของผู้เอาประกันเท่านั้น ไม่สามารถบังคับหรือแจ้งเปลี่ยนอัตโนมัติได้ หากไม่ปฎิบัติตามจะถือว่าทางบริษัทประกันฝ่าฝืนคำสั่งนายทะเบียน มีโทษปรับสูงสุด 300,000 บาท กาแฟผสมยาอียังไม่มีในไทย         จากกรณีในสื่อออนไลน์มีการประกาศขาย “ยาอีในกาแฟซอง 3,000 บาท ในทวิตเตอร์และอีกกรณีเผยแพร่คลิปที่นำซองกาแฟมาประกอบคลิป เพื่ออ้างว่ามียาอีผสมในกาแฟในแอปพลิเคชัน TikTok” นั้น         นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ได้สอบปากคำ นายนพพร สุชัยเจริญรัตน์ ผู้ต้องหาที่ใช้บัญชีทวิตเตอร์ ประกาศขายยาอีผสมกาแฟ โดยพบว่า นายนพพรได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริงและยอมรับว่า ได้นำรูปมาจากทางอินเตอร์เน็ตมาโพสต์ลงทวิตเตอร์ เมื่อลูกค้าสนใจและหลงเชื่อโอนเงินให้ ก็จะบล็อกไลน์  เปลี่ยนชื่อไลน์ เพื่อหลอกลวงไปเรื่อยๆ นายนพพรสารภาพว่า ทำไปเพราะความมึนเมาจากการเสพยา คึกคะนอง แต่ไม่ได้มีการจำหน่ายจริง ดังนั้นจากการสืบสวนทั้งหมดพบเป็นเพียงการหลอกลวงให้หลงเชื่อและโอนเงิน ขอยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ ไม่พบว่ามียาอีผสมกาแฟอยู่จริงในประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยเตรียมแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรวมหนี้-รีไฟแนนซ์         พ.ย. 64 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ได้มีการออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวด้วยการรีไฟแนนซ์ รวมหนี้ โดยให้สถาบันการเงินที่เป็นผู้รวมหนี้  ช่วยลดต้นทุนเรื่องการจัดชั้นและการกันเงินสำรอง โดยทำการรวมหนี้และผ่อนปรนหลักเกณฑ์การคำนวณสินทรัพย์เสี่ยงด้านเครดิต และไม่คิดค่าปรับไถ่ถอนก่อนกำหนดตั้งแต่ 16 พ.ย. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนการรวมหนี้ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ เริ่มตั้งแต่สิ้นเดือน ธ.ค. 64 - 31 ธ.ค. 66 ส่วนในกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการไม่ปล่อยให้ลูกหนี้รีไฟแนนซ์ออกไปรวมกับหนี้แห่งอื่น ยืนยันเมื่อลูกหนี้นำเงินมาปิดหนี้มายื่นให้ สถาบันการเงินไม่มีสิทธิปฏิเสธ ทั้งนี้ ด้านนางสาว อรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกหนี้ คือ ดอกเบี้ยลด สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยเท่าเดิม สินเชื่ออื่นที่หากนำมารวมหนี้ จะบวกดอกเบี้ยจากสินเชื่อบ้านที่ใช้เป็นหลักประกันได้ไม่เกิน 2%  ศาลอุธรณ์รับเป็นคดีกลุ่มกรณีเกษตรกรได้รับผลกระทบจากพาราควอต         จากกรณีเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใน อ.โนนสัง อ.นากลาง และ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฆ่าหญ้า ยี่ห้อ ก๊อกโซน ที่มีสารพาราควอตผสมอยู่ ซึ่งก่อให้เกิดโรคเนื้อเน่า จนบางรายต้องตัดเนื้อส่วนที่เน่าออก ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากสารพาราควอต กับบริษัท เจียไต๋ จำกัด จำนวน 16 รายนั้น         วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีสินค้าไม่ปลอดภัยจากยาฆ่าหญ้าในศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม แต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ โดยมีเหตุผลเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยหากฟ้องคดีแยกกันการนำสืบที่แตกต่างกันทำให้ผลการตัดสินอาจไม่เหมือนกันได้ และผู้ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนจะไม่ได้รับการเยียวยา ศาลยังเห็นว่า การที่ประชาชนได้รับการเยียวยาจากผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดความเสียหาย จะทำให้เกิดการลงโทษเชิงทรัพย์สินกับผู้ประกอบธุรกิจ และจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตระหนักได้ว่าหากไม่แก้ไขปรับปรุงในการประกอบธุรกิจ ก็อาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีด้วยวิธีการดำเนินคดีแบบกลุ่มอีก ทั้งนี้ การดำเนินคดีฟ้องกลุ่มได้เรียกค่าเสียหายของสมาชิกกลุ่ม 16 คน เรียกค่าเสียหายรวมประมาณ 11.32 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย (ไม่) จบ’ บทเรียนและความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ

สถานการณ์โควิด-19 สร้างความเสียหายอย่างมากต่อชีวิตและเศรษฐกิจ ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงต้องบริหารความเสี่ยงด้วยการซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทประกันภัย เพื่อหวังเป็นอีกหนึ่งที่พึ่งหากเจ็บป่วยด้วยไวรัสร้ายนี้         ผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในช่วงต้นๆ ของการแพร่ระบาดเป็นประเภท ‘เจอ จ่าย จบ’ หมายความว่าหากผู้เอาประกันตรวจพบว่าตนเองติดเชื้อก็สามารถเคลมค่าสินไหมได้ทันที สินมั่นคงประกันภัยเป็นเจ้าแรกๆ ที่จับจองตลาดประกันภัยแนวนี้ก่อนที่เจ้าอื่นๆ จะทยอยตามมา        แต่บริษัทประกันภัยคงไม่คิดว่าสถานการณ์ที่เหมือนกำลังคลี่คลายจะกลับมารุนแรงจากการระบาดระลอก 3 และ 4 ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงวันละหมื่นกว่าราย กลางปี 2564 สินมั่นคงประกาศยกเลิกประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ โดยจะคืนเบี้ยประกันให้กับผู้ซื้อประกัน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องยื่นมือเข้ามาจัดการ สินมั่นคงประกันภัยจึงกลับไปให้การคุ้มครองตามเดิม และนั่นคือสัญญาณแรกของความเสียหาย         เจอ จ่าย (ไม่) จบ แต่เอเชียประกันภัยจบไปแล้ว         ข้อมูลจาก คปภ. ที่ปรากฏในสื่อระบุว่า ถึงต้นเดือนกันยายนปี 2564 ทั่วประเทศมีการร้องเรียนเกี่ยวกับประกันภัยโควิดสูงถึงถึง 1,671 กรณี ขณะที่ปี 2563 มีเพียง 366 กรณีเท่านั้น โดยเรื่องร้องเรียน 5 อันดับแรก ประกอบด้วย         1. บริษัทประกันไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ        2. บริษัทบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิดและคืนค่าเบี้ยประกันภัย        3. ผู้เอาประกันภัยไม่ได้รับกรมธรรม์        4. บริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือจ่ายไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่พักรักษาตัว        5. ประเด็นอื่นๆ เช่น การขอแก้ไขข้อมูลในกรมธรรม์ การหักเบี้ยประกันภัยซ้ำซ้อน ร้องเรียนตัวแทนขาย         ต่อมาเราจึงได้เห็นภาพผู้ซื้อประกันที่ไม่มั่นใจสถานะการเงินของบริษัทประกันภัยไปรวมตัวเรียกร้องที่หน้าบริษัทตามที่เป็นข่าว         กระทั่งวันที่ 15 ตุลาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) เนื่องจากมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ไม่สามารถดำรงเงินกองทุนให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายนถึง 14 ตุลาคม ทางบริษัทต้องจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้เอาประกันถึง 13,000 คน คิดเป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท ถ้าปล่อยให้ประกอบธุรกิจต่อไปผู้บริโภคจะได้รับความเสียหาย         “บริษัทประกันที่แบกรักความเสี่ยงสามารถจ่ายค่าเคลมประกันให้ผู้บริโภคทุกรายหรือไม่” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ตั้งคำถาม “เนื่องจากซื้อประกันหลักร้อยบาท แต่เวลาเคลมคือหลักหมื่นกับหลักแสนบาท มันแบกรับความเสี่ยงไว้หลายร้อยเท่า บริษัทประกันต้องมีตัวเลขว่าขายไป 100 กรมธรรม์ คุณได้เท่าไหร่ คุ้มไหม ดังนั้น เขาจะคำนวณจากพื้นฐานการเคลมประกัน แต่ด้วยมันเป็นวิกฤตโรคระบาด มันคุมสถานการณ์ไม่ได้ แล้วทุกคนก็มีความเสี่ยงติดเชื้อ ไม่รู้ว่าบริษัทประกันประเมินความเสี่ยงอย่างไร”         คปภ. ออกมาตรการเยียวยาผู้บริโภค         การล้มครืนของเอเชียประกันภัยทำให้กองทุนประกันวินาศภัยต้องเข้ามารับบทบาทเป็นผู้ชำระบัญชีและจ่ายค่าสินไหมให้แก่ผู้เอาประกัน โดยทาง คปภ. ได้ออกมาตรการเยียวยารองรับ ชนะพล มหาวงษ์ รองเลขาธิการ ด้านกฎหมาย คดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ กลุ่มงาน: ด้านกฎหมายคดี และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ยืนยันกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า ทางกองทุนจะมีกระบวนการทำงานและจ่ายค่าสินไหมให้กับทุกรายแน่นอน         “การประกันภัยโควิดเท่าที่ผ่านมาช่วงที่หนักคือระลอก 3 และ 4 ในปีนี้ บริษัทประกันภัยก็พยายามหาผลิตภัณฑ์ที่จะตอบโจทย์การบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน มีเงื่อนไขการคุ้มครองหลากหลายแตกต่างกัน แต่ที่มีปัญหาคือเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุทางธุรกิจประกันกับบริษัทเอเชียประกันภัย         “โดยปกติแล้วกรมธรรม์ที่ขายจะมีเงื่อนไขการคุ้มครอง เช่น การเสียชีวิตจากโควิด-19 หรือได้รับเชื้อแล้วมีอาการโคมา ค่ารักษาพยาบาล ค่าชดเชยรายวัน แต่การคุ้มครองแบบเจอ จ่าย จบ มีประมาณสี่ห้าบริษัทที่ขายประกันแบบนี้เยอะ ทำให้ค่าสินไหมที่ต้องจ่ายกับเบี้ยประกันไม่สัมพันธ์กัน ซึ่ง คปภ. ก็ดูแลใกล้ชิดมาตลอดและพยายามแก้ไข แต่เนื่องจากว่าบริษัทประกันที่ขายประกันลักษณะนี้ขายเร็วมาก ประชาชนทำประกันเร็วมากทุกช่องทาง”         ทั้งนี้มาตรการเยียวยาที่ คปภ. ออกมากรณีที่กรมธรรม์ยังคุ้มครอง แต่ยังไม่เกิดภัย ทาง คปภ. ได้ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทยและกองทุนประกันวินาศภัยจัดหาบริษัทประกันภัยที่ยินดีเข้าโครงการรับกรมธรรม์ต่อจากเอเชียประกันภัยประมาณ 15 บริษัท โดยกรณีกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ทางบริษัท ทิพยประกันภัย จะรับต่อ โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขว่าเมื่อพบการติดเชื้อและมีอาการโคม่าจึงจะจ่ายค่าสินไหมในจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากกรมธรรม์เดิม เช่น ถ้ามีความคุ้มครองที่ 50,000 บาท ทางบริษัทจะเพิ่มเป็น 300,000 บาท เบี้ยประกันที่ต้องจ่ายคือ 300 บาท         ในกรณีที่ไม่ต้องการต่ออายุกรมธรรม์ทางกองทุนจะคืนเบี้ยประกันให้ หรือหากต้องการทำกรมธรรม์ประเภทอื่นก็สามารถนำเบี้ยที่เหลือจากกรมธรรม์โควิดไปชำระและได้ส่วนลด 500 บาท         ในส่วนของประกันภัยอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับโควิด-19 เช่น ประกันรถยนต์ อัคคีภัย บริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะรับช่วงต่อ ทั้งนี้ชำระเบี้ยเฉพาะส่วนต่าง เช่นมีความคุ้มครองเหลืออยู่ 6 เดือนคิดเป็นเบี้ยประกัน 6,000 บาท ถ้าบริษัทประกันภัยที่มารับต่อคิดเบี้ยประกันทั้งปีที่ 12,000 บาท ผู้เอาประกันจะชำระเพียง 6,000 บาท แล้วทางบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับส่วนต่าง 6,000 บาทจากกองทุนฯ         “ส่วนกรณีที่บางบริษัทมีเงื่อนไขเจอ จ่าย จบ แล้วยังมีการเคลมอยู่มากและกำลังทยอยจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทาง คปภ. ก็ดูแลอย่างใกล้ชิด พูดคุยปรึกษาหารือกับผู้บริหารบริษัทซึ่งรับปากว่าไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนเงื่อนไขอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วในเชิงระบบก็ไม่มีปัญหาอะไร มีความมั่นคงทุกบริษัท” ชนะพล กล่าว         ด้าน อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กองทุนประกันวินาศภัยไม่มีปัญหาสภาพคล่องแต่อย่างใด แม้จะต้องจ่ายชดเชยให้กับผู้เอาประกันของเอเชียประกันภัย         ความเสียหายที่ (ยัง) ไม่จบ         บริษัทเอเชียประกันภัยฯ เป็นแค่หนังตัวอย่าง บริษัทหลายแห่งที่ระดมขายประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ ไปก่อนหน้านี้ก็อยู่ในภาวะลูกผีลูกคน เมื่อยอดเคลมประกันโควิด-19 ทั้งระบบมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท จากเบี้ยประกันที่ 6,000 ล้านบาท ซ้ำเติมด้วยเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ต้องจ่ายค่าสินไหมภายใน 15 วัน หากสภาพคล่องไม่เพียงพอก็อาจต้องเดินตามรอยเอเชียประกันภัยฯ         คาดการณ์ว่ายอดค่าสินไหมจะสูงกว่า 35,000 ล้านบาทเมื่อถึงสิ้นปี เนื่องจากยังมีกรมธรรม์ประเภทนี้ตกค้างในระบบประมาณ 13-14 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งการประกาศเปิดประเทศของรัฐบาลทำให้หลายภาคส่วนกังวลว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะกลับมารุนแรงอีกครั้ง หมายความว่ายอดเคลมประกันมีโอกาสเพิ่มเป็น 40,000  ถึง 50,000 ล้านบาท         ทำให้มีการประเมินว่าความเสียหายจากประกันโควิด-19 แบบเจอ จ่าย จบ อาจไม่จบง่ายๆ และลุกลามต่อเนื่อง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร จึงมีการเรียกให้ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงและเรียกร้องให้กระทรวงการคลังเปิดเผยข้อมูล         จากเว็บไซต์มติชน วันที่ 26 ระบุว่า ทาง กมธ. ได้สอบถามตัวแทน คปภ. ว่า เหตุการณ์จะลุกลามเป็นโดมิโนหรือไม่ ก็ได้รับคำตอบว่าไม่แน่ใจ และ...         ‘อาจจะมี ซึ่งน่าจะมีประมาณ 5 บริษัท รวมบริษัทเอเชียประกันภัยแล้ว เท่ากับว่าเหลือให้ประชาชนลุ้นกันเองตามยถากรรมอีก 4 บริษัท ทั้งนี้ กมธ. ได้ขอให้ คปภ.เปิดเผยว่ารายชื่อกว่า 40 บริษัท 16 ล้านกรมธรรม์นั้น ใครไปทำประกันโควิดกับบริษัทไหนจะได้เปลี่ยนบริษัท ซึ่งก็ไม่ได้รับคำตอบ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในอำนาจที่จะบอกได้ว่าอีก 4 บริษัทที่ทำท่าจะล่อแล่ จะอยู่รอดปลอดภัยหรือไม่’         เฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แนะนำกับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากเอเชียประกันภัยว่า         “ถ้าคุณป่วยหลังบริษัทถูกเพิกถอน คุณก็ไปเคลมกับกองทุนฯ สมมติว่าเขาจ่ายแล้วแต่คุณเห็นว่าควรได้รับตามเงื่อนไขมากกว่านี้ คุณก็อาจต้องคุยกับกองทุนฯ ถ้าเขายังยืนยันตามนี้ คุณก็ต้องฟ้องกองทุนฯ ในฐานะผู้ชำระบัญชีของบริษัทเอเชียประกันภัย แต่ถ้าโอเคก็จบ”         บทเรียน         นฤมล กล่าวว่า กรณีนี้เป็นบทเรียนของหน่วยงานกำกับดูแลที่ควรเข้าไปตรวจสอบสภาพคล่อง ฐานะการเงิน ผลิตภัณฑ์และเงื่อนไขการเคลมของบริษัทว่าเบี้ยประกันกับค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายมีความสัมพันธ์กันหรือไม่         “คปภ. ต้องออกหลักเกณฑ์ใหม่เพราะบางทีไม่ใช่เจอจ่ายจบ เพราะเงื่อนไขนี้ไม่จำเป็นต้องรักษาพยาบาล แค่เจอ ก็ต้องจ่ายแล้ว แต่จะจ่ายชดเชยกรณีต้องนอนรักษาตัว ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่แค่ในโรงพยาบาล มีการไปพักตามโรงแรม มี Community Isolation มี Home Isolation เวลาซื้อประกันง่ายมากเลย แต่ตอนเคลมยุ่งยากมาก เพราะส่วนใหญ่ซื้อแบบเจอ จ่าย จบกับชดเชยรายวัน คนที่เจอไม่มีคนไหนหรอกที่ไม่ต้องรักษาตัว คนที่ซื้อประกันเจอจ่ายจบและมีชดเชยควรได้รับชดเชยด้วย มาตรการในอนาคตคือเอกสารการเคลมประกันต้องไม่ตึงเกินไปจนทำให้ผู้บริโภคกระดิกตัวไม่ได้         “เช่น กรณี Home Isolation ไม่ได้ไปอยู่โรงพยาบาลจะเอาใบรับรองแพทย์ที่ไหน แต่โรงพยาบาลเป็นคนตรวจให้ก็ควรจบ แต่บริษัทประกันใช้ช่องนี้ในการประวิงเวลาจ่าย บริษัทต้องเอาเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้บริโภคส่งมาไปตรวจสอบกับโรงพยาบาลหรือประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน เพราะโรงพยาบาลมีระบบที่ดูแลเรื่องประกันสุขภาพอยู่แล้ว ไม่ควรปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภค”         ด้านชนะพลเห็นด้วยในแง่ที่ว่ากรณีนี้ถือเป็นบทเรียนของอุตสาหกรรมประกันภัยและ คปภ. ซึ่งทาง คปภ. จะทำแนวทางปฏิบัติออกมาในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตรวจสอบ กฎหมาย         “ขณะนี้มีการริเริ่มดำเนินการแล้วว่าต่อไปลักษณะของกรมธรรม์บางประเภทหรือเพื่อรองรับเหตุการณ์ต่างๆ อาจต้องมีความรอบคอบในการอนุมัติกรมธรรม์ คุณสมบัติ เงื่อนไข หรือความมั่นคงของบริษัท ผมเข้าใจว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกคงจะไม่มีลักษณะนี้อีก เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงก็ควรปรับปรุงให้สามารถรองรับสถานการณ์ต่างๆ ได้โดยไม่เพลี้ยงพล้ำหรือไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น         “ฐานะการเงินของบริษัทเรามอนิเตอร์ใกล้ชิดมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรทรัพย์สิน เรามีมาตรฐานการกำกับเป็นระบบสากลเหมือนกัน ตรงนี้ไม่น่าห่วง ที่น่าห่วงคือบริษัทประกันในบ้านเรามีหลายขนาด ฐานะการเงินก็จะแตกต่างกันจากขนาด เพียงแต่ว่าในอนาคตถ้ามันจะมีโรคระบาดอีก กรมธรรม์ในลักษณะนี้อาจจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงของบริษัทประกันภัยด้วย”         ในส่วนของเอเชียประกันภัย ชนะพล กล่าวว่า เนื่องจากกองทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินหลวงที่ต้องนำมาจ่ายให้ประชาชน คปภ. กำลังตรวจสอบพฤติกรรมความผิดต่างๆ ว่ามีหรือไม่ เช่น ผู้บริหารบริษัทมีนโยบายเร่งรัดการขาย มีการวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์รอบคอบเพียงพอหรือไม่ บางทีอาจจะไม่ประสงค์ต่อผล แต่พอเกิดการแพร่ระบาดจำนวนมากยังเร่งขายกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ โดยเล็งเห็นผลหรือไม่ว่าถ้ามีคนติดเชื้อจำนวนมากจะไม่มีเงินจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหากเล็งเห็นก็จะมีการดำเนินคดีต่อไป         อาจบางที การวิเคราะห์ของบริษัทประกันภัยไม่ได้นำความเสี่ยงอันเนื่องจากรัฐบาลเข้ามาคิดด้วยหรือไม่ก็ประเมินรัฐบาลไว้สูงเกินไปมากจนนำมาสู่บทสรุปเช่นที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >