ฉบับที่ 262 ลูกหนี้ตาย เจ้าหนี้จะฟ้องทายาทลูกหนี้รับผิดได้หรือไม่

หลายคนคงเคยสงสัยว่า เวลาที่เป็นคนเป็นหนี้กันปกติเจ้าหนี้ก็ต้องไปทวงเอาเงินจากลูกหนี้ แต่หากวันหนึ่งลูกหนี้ตายไปก่อนใครจะต้องรับผิดจะไปฟ้องทายาทของลูกหนี้ให้รับผิดได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้มีหลักกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องมรดกที่ต้องมาพิจารณากำหนดไว้ว่า หากลูกหนี้ที่เป็นเจ้ามรดกเสียชีวิตแน่นอนว่ามรดกที่ตกแก่ทายาทจะมีทั้งทรัพย์สินและหนี้สินด้วย แต่กฎหมายก็กำหนดขอบเขตความรับผิดของทายาทไว้ว่าให้รับผิดในหนี้ของลูกหนี้ที่ตายไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ  เช่น ลูกหนี้ เป็นหนี้จำนวนหนึ่งล้านบาท  เมื่อลูกหนี้เสียชีวิต นายแดงทายาทได้รับมรดกคือเงินในบัญชีจำนวนหนึ่งแสนบาท เช่นนี้ หากเจ้าหนี้มาฟ้องนายแดงที่เป็นทายาทของลูกหนี้ นายแดงก็จะรับผิดเพียงทรัพย์มรดกที่ตนได้รับคือหนึ่งแสนบาทเท่านั้น และเจ้าหนี้จะมายึดทรัพย์สินส่วนตัวของนายแดงเพื่อไปชำระหนี้ก็ไม่ได้  โดยมีคำพิพากษาของศาลฏีกาที่ 2161/2558 ได้เคยตัดสินเอาไว้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้           คำพิพากษาฎีกาที่ 2161/2558        แม้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตาม ป.พ.พ. มาตรา 194 และมาตรา 214 แต่เมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตายกฎหมายคุ้มครองให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ตามมาตรา 1734 และมาตรา 1738 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เจ้าหนี้จะไปบังคับเอาจากทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ทายาทของลูกหนี้จะต้องรับผิดทั้งสิทธิและหน้าที่ของลูกหนี้ซึ่งเป็นเจ้ามรดกก็เพื่อให้เจ้าหนี้มีทางได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น ไม่ทำให้ทายาทนั้นต้องรับผิดชดใช้จากทรัพย์สินส่วนตัวด้วย หากทายาทรับทรัพย์สินจากกองมรดกของผู้ตายไปแล้วก็เพียงให้รับผิดไม่เกินทรัพย์มรดกที่ทายาทได้รับไปตามมาตรา 1601 และมาตรา 1738 วรรคสอง โดยยังถือว่าทรัพย์สินที่ได้รับไปนั้นเป็นกองมรดกอยู่         คดีนี้โจทก์ทั้งสี่ผู้เป็นเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นทายาทรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ตายเจ้ามรดกกระทำละเมิด จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องบังคับสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยเพื่อให้ได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินในกองมรดกเท่านั้น มิได้ฟ้องให้จำเลยต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฉะนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งสี่มีสิทธิบังคับคดีเฉพาะทรัพย์สินในกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น จึงไม่มีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ที่ดินพิพาทอีกตัวอย่าง กรณีที่ลูกหนี้ตาย ทายาทไปทำหนังสือรับสภาพหนี้ของลูกหนี้ และตกลงชดใช้เงินตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด ศาลก็ได้ตัดสินไว้ว่าสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ และไม่ถือเป็นการแปลงหนี้กันใหม่ให้เป็นความรับผิดของทายาทเป็นการส่วนตัว ดังนั้น ทายาทของลูกหนี้ก็รับผิดแค่เพียงไม่เกินทรัพย์มรดกที่ตนได้รับ         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6225/2539           ป. เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ เมื่อ ป. ถึงแก่กรรมแล้วจำเลยทั้งสองทำหนังสือเพื่อชำระหนี้แทน ป. ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาจำเลยที่ 2 โดยจำเลยทั้งสองมิได้เป็นหนี้โจทก์ โดยระบุว่า ขณะทำสัญญาฉบับนี้ ป.ยังคงเป็นลูกหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนเงิน 2,720,000 บาท จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้หนี้จำนวนดังกล่าวโดยจะชำระเป็นงวด เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ ป. ทำขึ้นเพื่อยอมรับสภาพหนี้ของเจ้ามรดก มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้อันจะเป็นเหตุให้มูลหนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ป. ระงับลงเพราะ ป. ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะมีการจัดทำหนังสือดังกล่าวแล้วและข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่ยอมตนเข้าผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะทายาทผู้ตาย มิใช่รับผิดเป็นส่วนตัวและเป็นสัญญาที่มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ตามกฎหมาย แต่คงรับผิดต่อโจทก์ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่จำเลยทั้งสองจะได้รับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 226 ทวงหนี้แบบนี้พี่ฟ้อง

        เพราะเป็นลูกหนี้จึงต้องใช้หนี้ แต่ถ้าเจ้าหนี้รุกไล่มากเกินไปจนชีวิตหาความสุขไม่ได้ ถูกประจานให้อับอาย รู้ไว้นะว่าเขามีกฎหมายปกป้องลูกหนี้ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิแบบนี้ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบและบริษัทที่ประกอบการทวงหนี้หลายแห่งก็ใช้ความไม่รู้กฎหมายของผู้บริโภคมาละเมิดสิทธิ เรามาดูกันว่า รูปแบบไหนเรียกว่าละเมิดสิทธิ ทวงหนี้ผิดกฎหมายและจะรับมืออย่างไร         คุณมานพ ได้ร้องเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ตนเองนั้นเป็นหนี้บัตรเครดิตธนาคารแห่งหนึ่ง เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท ก่อนจะเกิดปัญหาหนี้สินนี้ ที่ผ่านมาคุณมานพสามารถหมุนเงินมาจัดการจ่ายหนี้ได้ แต่ต่อมาขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ตามกำหนดเวลา จึงตัดสินใจหยุดพักชำระหนี้ เพื่อเก็บเงินและหวังจะเจรจาต่อรองกับทางธนาคารในภายหลัง ซึ่งหลังจากหยุดชำระหนี้ไปสามเดือน ทราบต่อมาว่าธนาคารได้มอบให้บริษัทบริหารทรัพย์สินแห่งหนึ่งทำหน้าที่ติดตามทวงหนี้กับตน ซึ่งพฤติกรรมของบริษัทฯ ดังกล่าว เข้าข่ายละเมิดสิทธิลูกหนี้ชัดเจน ด้วยการประจานเรื่องการเป็นหนี้ของตนเองต่อเพื่อนร่วมงานว่า ไม่มีปัญญาชำระหนี้ อีกทั้งยังข่มขู่ว่า ถ้าหากตนเองยังไม่ชำระหนี้อีกจะโทรศัพท์ถึงหัวหน้างาน ซึ่งคุณมานพร้อนใจมาก จึงปรึกษาว่าตนเองสามารถทำอะไรได้บ้างกับวิธีการทวงหนี้ลักษณะเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 นั้น มีหลักเกณฑ์ที่ควรทราบโดยสรุปดังนี้         การทวงหนี้ หมายถึงการทวงหนี้ตาม พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เท่านั้น ไม่รวมถึงการทวงหนี้ทั่วไป ผู้ทวงถามหนี้ตามกฎหมายนี้ หมายถึงเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติ หรือคนที่ซื้อหรือรับโอนหนี้ ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ผู้จัดให้มีการเล่นการพนัน ที่สำคัญ คือ หนี้นั้นจะเป็นหนี้โดยชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เข้าข่ายทั้งสิ้น ตัวอย่างเจ้าหนี้ตามกฎหมายนี้ เช่น ธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ เจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ เป็นต้น         กฎหมายระบุจำนวนครั้งในการทวงถามหนี้ 1 ครั้งต่อวัน ส่วนช่วงเวลาในการทวงถามหนี้ ได้แก่ วันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ส่วนการทวงหนี้ที่อาจถูกปรับได้ ได้แก่ การประจาน พูดจาดูหมิ่น ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง และทวงถามหนี้เกิน 1 ครั้งต่อวัน         ถ้าเจ้าหนี้ทวงเกินวันละหนึ่งครั้ง มีความผิดทางปกครอง คณะกรรมการทวงหนี้สามารถสั่งให้หยุดได้ ถ้าไม่หยุดก็อาจโดนโทษปรับทางปกครองสูงสุด 100,000 บาท         การติดต่อเพื่อให้ชำระหนี้ ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง ห้ามประจาน หากละเมิดมีโทษทั้งจำคุกและปรับเงินสูงสุดคือ จำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ         หากผู้บริโภคพบพฤติการณ์เข้าลักษณะที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในเขตท้องที่ได้ทันที และเพื่อให้มีหลักฐานการกระทำผิด ควรบันทึกเสียงหรือมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเช่น หลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร พยานบุคคล หรือถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกังวลสามารถร้องเรียนได้เช่นกัน        อย่างไรก็ตามกฎหมายกำหนดเรื่องวิธีการทวงหนี้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้โดนรุกล้ำสิทธิมากเกินไป แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นหนี้แล้วไม่ต้องใช้ ดังนั้นเมื่อเป็นหนี้แล้วควรบริหารจัดการชำระหนี้ให้หมดแต่โดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 กฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เครื่องมือรัฐจัดการเจ้าหนี้ดอกเบี้ยโหด (2)

ความเดิมตอนที่แล้ว รัฐบาลได้ปรับปรุงและประกาศใช้ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฉบับใหม่ (พ.ศ. 2560) ห้ามเจ้าหนี้ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ถ้าฝ่าฝืนมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ สำหรับเจ้าหนี้บุคคลธรรมดา มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 15  ต่อปี ส่วนสถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล เจ้าหนี้กลุ่มนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ได้เกินร้อยละ 15 ต่อปีดอกเบี้ยของเจ้าหนี้เงินกู้ที่เป็นสถาบันการเงิน  “สถาบันการเงิน” ตามนิยามของ พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ได้แก่ (1) ธนาคารแห่งประเทศไทย(2) ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์  (3) บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์  (4) สถาบันการเงินอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษากฎหมายให้สิทธิ สถาบันการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีได้ โดยจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง กำหนดรายละเอียดว่าสถาบันการเงินประเภทไหน คิดดอกเบี้ยได้เท่าไร และก็จะมีการปรับแก้อัตราดอกเบี้ยอยู่เป็นระยะ ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ ล่าสุด กำหนดให้ ธนาคารพาณิชย์คิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราสูงสุดของดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จาก      ผู้กู้ยืม ได้ที่ http://law.longdo.com/lawindex/%E0%B8%94ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลบริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งหลายนั้น เป็นการประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย  “บัตรเครดิต” มีเงื่อนไขกำหนดว่า “การเรียกเก็บดอกเบี้ยในหนี้ค้างชำระ หรือดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดชำระหนี้ หรือค่าปรับในการชำระหนี้ล่าช้ากว่ากำหนด หรือค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการอื่นใด จากผู้ถือบัตร เมื่อคำนวณรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 20 ต่อปี” และ “ห้ามคิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด ในการเบิกถอนเงินสดผ่านบัตรเครดิต เกินร้อยละ 3 ของจำนวนเงินที่เบิกถอนนั้น”ในส่วนของ “สินเชื่อส่วนบุคคล” นั้น จะคิดดอกเบี้ย ได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็ยังมีสิทธิคิด ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้อีก แต่เมื่อรวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 28 ต่อปี ดอกเบี้ยธุรกิจเช่าซื้อ ธุรกิจเช่าซื้อไม่ว่าจะเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือสินค้าอะไรก็ตามนั้น ไม่อยู่ในการกำกับ ดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เพราะไม่ได้เป็นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เกินร้อยละ 15 ต่อปี ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายแพ่ง มาตรา 654  ดังนั้น จึงมีนายทุนเงินกู้นอกระบบเจ้าเล่ห์ อาศัยช่องว่างของกฎหมายตรงนี้ ปล่อยกู้โดยคิดดอกเบี้ยสูงกว่าร้อยละ 15 ต่อปี โดยอาศัยการทำสัญญาเช่าซื้อบังหน้า โดยทำทีว่า ลูกหนี้มาเช่าซื้อสินค้า เช่น คอมพิวเตอร์ ราคา 30,000 บาท ผ่อน 10 เดือน เดือนละ 3,000 บาท แต่ไม่ได้มีการส่งมอบเครื่องคอมพิวเตอร์กันจริง ๆ เมื่อเซ็นสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าหนี้ก็จะเอาเงินสดให้ลูกหนี้ 20,000 บาท หักไว้ 10,000 บาท เป็นค่าดำเนินการและดอกเบี้ยล่วงหน้า เป็นธุรกรรมทำนาบนหลังคน ที่มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายห้ามคิดดอกเบี้ยเกินอัตราอย่างชัดเจน ซึ่งมีโทษทางอาญาทั้งจำทั้งปรับเลยทีเดียว ดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ศาลยกขึ้นมาพิจารณาเองได้การคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดนั้น เป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ศาลจึงมีอำนาจที่จะหยิบประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาได้เอง แม้ว่าลูกหนี้จะไม่ได้อ้างเรื่องนี้เป็นข้อต่อสู้ในคดี ถ้าคุณเจอศาลที่ท่านเมตตาลูกหนี้   ให้ความเป็นธรรมพิพากษาไม่ให้คุณต้องจ่ายดอกเบี้ยโหดก็ถือว่าโชคดีไป แต่เพื่อความไม่ประมาท ก็ควรเตรียมตัวทำคำให้การให้ชัดเจนว่า เจ้าหนี้เขาคิดดอกเบี้ยคุณถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการตัดหนี้ดอกเบี้ยพวกนี้ออกไปจะช่วยให้คุณประหยัดเงินในการปิดบัญชีปลดหนี้ไปได้อีกเยอะเลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 เจ้าหนี้อายัดเงินเดือน ทำไมไม่มีบอกกล่าว

 คุณธิดา ลูกหนี้นามสมมติ ได้ร้องทุกข์ออนไลน์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าขอร้องเรียนเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือนของธนาคารฮ่องกงแบงค์ โดยคุณธิดาได้ให้รายละเอียดว่าเนื่องจากได้เป็นหนี้กับธนาคารแห่งนี้และถูกฟ้องและไปขึ้นศาลเรียบร้อยแล้ว โดยมีการทำยอมที่ศาลโดยกำหนดชำระคืน 30 งวดๆ ละ 3,400 บาท คุณธิดาแจ้งว่าได้ชำระตามสัญญาประนีประนอมไปประมาณ 7 งวดแล้ว โดยงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ชำระเงินตรงตามที่ทำยอมไว้ แต่ในงวดที่ 5-7 ชำระไม่ตรงตามจำนวน โดยชำระได้แค่งวดละ 2 พันกว่าบาทเท่านั้น เนื่องจากมีเหตุจำเป็นไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ พอไม่ชำระตรงตามจำนวนในงวดที่ 5 มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาแจ้งให้ชำระให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอม แต่ในงวดที่ 6 และ 7 พอจ่ายไปงวดละ 2 พันกว่าบาท ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาอีก ก็คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่อีกไม่กี่วันต่อมาได้มีหมายอายัดเงินเดือนมาที่บริษัทที่ทำงานอยู่คุณธิดาได้พยายามติดต่อเจรจากับสำนักงานกฎหมายที่ดำเนินการอายัดเงินเดือน โดยสัญญาว่าจะเคลียร์ยอดที่ค้างจ่ายให้ครบและขอจ่ายในงวดต่อไปตามปกติที่ 3,400 บาท แต่สำนักงานกฎหมายปฏิเสธแจ้งว่าคุณธิดาได้ทำผิดสัญญาประนอมยอมความแล้ว ต้องบังคับคดีด้วยการอายัดเงินเดือนเพื่อนำมาชำระหนี้ก่อนทำสัญญาประนีประนอมคุณธิดาจึงถามมาว่า ทำไมการอายัดเงินเดือนถึงไม่มีเรียกไกล่เกลี่ยก่อน   แนวทางแก้ไขปัญหาการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันที่ศาลระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ลูกหนี้จะต้องมั่นใจว่าตนจะสามารถชำระหนี้ได้ เพราะโดยทั่วไปแล้วทางเจ้าหนี้มักจะขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอมโดยมีเงื่อนไขว่าหากลูกหนี้ผิดสัญญาประนีประนอมที่ได้ทำกันขึ้นให้เจ้าหนี้สามารถบังคับคดีให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ตามจำนวนที่ได้ฟ้องแต่แรกได้ มิใช่หนี้ที่เหลือจากการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมกันดังนั้นเมื่อลูกหนี้ผิดสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ไม่ชำระหนี้เต็มตามจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้ในแต่ละงวด หรือชำระหนี้คลาดเคลื่อนไปจากกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา เจ้าหนี้อาจถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญาได้ทันทีและสามารถนำสัญญาไปขอบังคับคดีได้โดยไม่ต้องฟ้องศาลอีกหรือต้องมีการบอกกล่าวหรือต้องมานั่งไกล่เกลี่ยกันอีก เพราะถือว่าลูกหนี้ทราบเป็นอย่างดีแล้วจากการทำสัญญาและยังกระทำผิดสัญญาอีกแต่ลูกหนี้อย่าเพิ่งวิตกเกินการณ์ เพราะการอายัดเงินเดือนจากลูกหนี้นั้นกฎหมายอนุญาตให้อายัดได้เพียงร้อยละ 30 จากยอดเงินเดือนเต็มก่อนหักภาษีหรือประกันสังคม หากใครมีเงินเดือนเกินหมื่นนิด ๆ กฎหมายยังช่วยลูกหนี้อีกเล็กน้อยด้วยการกำหนดว่า การอายัดเงินเดือนจะต้องเหลือเงินให้ลูกหนี้ไว้อย่างน้อย 10,000 บาทเพื่อการดำรงชีพ จึงหมายความว่าลูกหนี้รายใดที่มีเงินเดือนต่ำกว่าหมื่นบาทจึงไม่มีสิทธิถูกอายัดเงินเดือนได้ และหากลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายราย ก็ไม่สามารถถูกอายัดเงินเดือนในคราวเดียวกันได้หากเจ้าหนี้รายแรกได้อายัดเต็มตามวงเงินที่กฎหมายอนุญาตแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 95 Blacklist บัตรเครดิตเจ้าไหนใจร้ายสุด

ปีที่ผ่านมานักวิจัยของฉลาดซื้อได้รวบรวมแผ่นพับเชิญชวนให้คนเป็นหนี้ เอ้ย…ไม่ใช่ เชิญคนสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตเกือบทุกเจ้าในประเทศไทย โดยรวบรวมทั้งที่เป็นธนาคารและไม่ใช่ธนาคาร แล้วก็ลองพินิจพิเคราะห์ดูว่า แต่ละเจ้ามีความใส่ใจในผู้บริโภคมากแค่ไหน ข้อความมีความละเอียดเพียงพอต่อการตัดสินใจหรือมีการระบุข้อความอะไรที่เข้าข่ายจะละเมิดสิทธิผู้บริโภคบ้าง ปรากฎว่าข้อมูลเยอะมากมายจนสามารถทำเป็นซีรี่ส์เรื่องบัตรเครดิตยอดเยี่ยม ยอดแย่ได้ทีเดียว แต่เพราะเนื้อที่เราจำกัดมาก ฉบับนี้จึงขอนำเสนอเฉพาะกรณีเกี่ยวกับการทวงหนี้ ซึ่งพบว่ามีผู้ประกอบการหลายเจ้าทีเดียว ที่ระบุเสียชัดเจนว่า สามารถทวงหนี้กับใครอื่นก็ได้ที่ไม่ใช่เรา แต่จะอ่านเจอหรือไม่ อันนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสายตาของผู้บริโภคเพราะว่า ตัวอักษรมันเล็กมากๆ น้อยกว่า 2 มิลลิเมตรเสียอีก ฉลาดซื้อทดสอบ1.บัตรเครดิต ที่ระบุเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถกระทำการทวงถามติดตามหนี้สินได้ จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือบัตร ได้แก่ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารยูโอบี และ บ.จีอี แคปปิตอล ประเทศไทย จำกัด (เฟิร์สช้อยส์ วีซ่า, บัตรเซ็นทรัล มาสเตอร์การ์ด, บัตรเครดิต โรบินสัน วีซ่า, บัตรเครดิต เทสโก้ วีซ่า)2.บัตรสินเชื่อบุคคล ที่ระบุเงื่อนไขว่า บริษัทฯ สามารถกระทำการทวงถามติดตามหนี้สินได้ จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือบัตร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (สินเชื่อหมุนเวียนสปีดี้แคช/สินเชื่อบุคคลสปีดี้โลน) บ.จีอี แคปปิตอล ประเทศไทย จำกัด (สินเชื่อเงินสด พาวเวอร์บาย) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point

ฉบับที่ 163 กฎหมายคุ้มครอง “เจ้าหนี้”

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน วันนี้ก็มีเรื่องกฎหมายที่เป็นประโยชน์มาบอกเล่าเช่นเคย โดยฉบับนี้ จะขอกล่าวถึงกฎหมายเรื่องหนี้ที่น่าสนใจ โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวปัญหาจากชีวิตจริงของลูกหนี้และเจ้าหนี้  ซึ่งโดยปกติ เมื่อตกเป็นลูกหนี้ กฎหมายไม่ได้จำกัดสิทธิในการดูแลจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้แต่อย่างใด  ทำให้แม้ตกเป็นลูกหนี้ ก็ยังสามารถโอน ขาย จำหน่ายทรัพย์สินของตัวเองได้  แต่หากมีลูกหนี้จอมขี้โกง ทราบดีว่าตนมีทรัพย์สินเพียงน้อยนิด ยังทะลึ่งไปโอนขายทรัพย์สินให้บุคคลอื่น และรู้อยู่แก่ใจว่า ถ้าขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนี้ไป ตนเองจะมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เค้า แบบนี้ เจ้าหนี้ก็คงเสียเปรียบแย่ เพราะไม่มีหลักประกันอะไรเลย ว่าเมื่อถึงเวลาชำระหนี้ ลูกหนี้จะมีอะไรมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ได้ครบถ้วน กฎหมายก็มองเห็นความได้เปรียบเสียเปรียบของเจ้าหนี้ลูกหนี้ในเรื่องแบบนี้ จึงมีบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ขึ้น เรียกว่า “การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล (ของลูกหนี้)” อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 237 โดยมีสาระสำคัญว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย....” เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการคุ้มครองเจ้าหนี้ให้ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่ทำให้ตนเสียเปรียบเท่านั้น การฟ้องไม่ทำให้เจ้าหนี้ได้สิทธิอะไรมากไปกว่าที่มีอยู่เดิม ดังนั้น วัตถุประสงค์ของการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลคือการทำให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ กลับมาเป็นเช่นเดิม เช่น ลูกหนี้ทั้งตัวมีทรัพย์สินเพียงที่ดินอยู่หนึ่งแปลง หากโอนขายที่ดินแปลงนี้ให้บุคคลอื่น  เจ้าหนี้จะเดือดร้อนเพราะไม่เหลือทรัพย์สินพอที่จะบังคับใช้หนี้  เมื่อลูกหนี้ขายที่ดินนี้ไปโดยรู้ดีว่าจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ก็มีอำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ให้ที่ดินแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นของลูกหนี้ตามเดิม เพื่อให้ตนสามารถมีสิทธิบังคับชำระหนี้เอากับที่ดินแปลงนั้นได้  จึงเห็นได้ว่า ไม่ได้ทำให้เจ้าหนี้ได้เปรียบมากขึ้นแต่อย่างใด นอกจากนี้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่ 5207/2545 เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237 คนที่เป็นเจ้าหนี้ แม้ยังไม่ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ก็มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้ อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือการที่จะเพิกถอนการฉ้อฉลได้นั้น ต้องพิจารณาดูตัวผู้ทำสัญญากับลูกหนี้ด้วย ว่ารับโอนทรัพย์สินไปโดยสุจริตหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 5572/2552 จำเลยที่  1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย โจทก์ไปทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1โดยวางเงินมัดจำไว้ 100,000 บาท จากราคาที่ดิน 2,000,000 บาท   เวลาต่อมา จำเลยที่ 1 กลับเอาที่ดินแปลงดังกล่าวไปจำนองไว้กับจำเลยที่ 5 เพื่อประกันหนี้ค่าวัสดุก่อสร้าง และหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวใช้หนี้แก่จำเลยที่ 5 ทำให้โจทก์เสียเปรียบ ไม่ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 จึงฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการการโอนดังกล่าว ซึ่ง ศาลฎีกาได้ตัดสินว่าการจำนองดังกล่าว จำเลยที่ 5 รับจำนองโดยทราบดีว่าที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ไว้แล้ว เพราะก่อนรับจำนอง จำเลยที่ 5 ไปดูที่ดินกับจำเลยที่1 ก็เห็นว่าที่ดินดังกล่าวกำลังมีการปลูกสร้างอาคารอยู่ และทราบดีว่าจำเลยที่ 1 มีอาชีพจัดสรรที่ดินขาย ประกอบกับจำเลยที่ 5 มีอาชีพขายวัสดุก่อสร้างย่อมรู้ดีว่าการจัดสรรที่ดินขายนั้น อาจจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเฉพาะที่ดิน แล้วให้ผู้ซื้อปลูกสร้างบ้านบนที่ดินเอง อีกทั้งยังทราบดีว่าที่ดินแปลงดังกล่าวที่ตนรับจำนองไว้เป็นที่ดินซึ่งจัดสรรไว้เพื่อขาย การที่มีบ้านปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน แสดงให้เห็นว่าที่ดินแปลงดังกล่าวได้มีการทำสัญญาจะซื้อจะขายไปแล้ว เนื่องจากจำเลยที่5 รู้ว่าตัวจำเลยที่ 1 เองก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างบ้านก่อนแล้วจึงขายพร้อมที่ดินแปลงดังกล่าว อีกทั้งการรับจำนองและโอนที่ดินพิพาทนั้นไม่ได้เป็นการดำเนินไปตามปกติ แต่เป็นการโอนจากหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างของจำเลยที่ 1 มาเป็นหนี้กู้ยืมเงินแล้วจดทะเบียนจำนอง ทำให้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 เลย  พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่5 เป็นการรับโอนโดยไม่สุจริต โดยมีเจตนาให้โจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ จึงเป็นกรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237  โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริตเท่านั้น  

อ่านเพิ่มเติม >