ฉบับที่ 245 รู้จักแผนจัดการเชื้อดื้อยา กำจัดจุดอ่อนก่อนเข้าสู่แผนปี 2565-2569

        ปัญหาเชื้อดื้อยาถูกพูดถึงบ่อยครั้ง แต่ก็ยังคงต้องพูดถึง ย้อนกลับไปวันที่ 6 กันยายน 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้นลงนามในปฏิญญานครชัยปุระว่าด้วยการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาต่อๆ มากระทั่งเกิดเป็น ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 แต่กว่าจะมีคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติก็ล่วงเลยถึง 10 มีนาคม 2560         พอถึงเดือนธันวาคม 2562 มีการจัดทำรายงานความก้าวหน้าระยะครึ่งแผนออกมา ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง ส่วนปี 2564 ที่ผ่านมาแล้ว 7 เดือน ทั้งเป็นปีสุดท้ายของแผนยังไม่มีการจัดทำ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19         ส่วนแผนยุทธศาสตร์ฯ ปี 2565-2569 กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ ‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะชวนมาทำความรู้จักแผนดังกล่าว ความคืบหน้า จุดอ่อน และสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 5 เกี่ยวกับการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ซึ่งเป็นส่วนที่ภาคประชาชนและภาคีเครือข่ายเข้ามามีบทบาท         ทำไมต้องมีแผนยุทธศาสตร์จัดการเชื้อดื้อยา         เรามาทำความรู้จัก ‘แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564’ อย่างย่นย่อกันก่อน         ข้อมูลจากแผนฯ ระบุว่ามีผู้คนประมาณ 700,000 คนต่อปีเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ทำอะไร ปี 2593 ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะสูงถึง 10 ล้านคน โดย 4.7 ล้านคนอยู่ในทวีปเอเชีย สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3.5 พันล้านล้านบาท ขณะที่ประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละประมาณ 38,000 คน 4.2 หมื่นล้านบาทคือความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น นี่คือที่มาของแผน         ตัวแผนกำหนดเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงในปี 2564 ไว้ 5 ข้อคือ การป่วยจากเชื้อดื้อยาลดลงร้อยละ 50 การใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับมนุษย์และสัตว์ลดลงร้อยละ 20 และ 30 ตามลำดับ ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และประเทศไทยมีระบบจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพที่มีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล        โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 6 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพภายใต้แนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว ยุทธศาสตร์ที่ 2 การควบคุมการกระจายยาต้านจุลชีพในภาพรวมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม         ยุทธศาสตร์ที่ 4 การป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยาและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมในภาคการเกษตรและสัตว์เลี้ยง ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารและพัฒนากลไกระดับนโยบายเพื่อขับเคลื่อนงานด้านการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างยั่งยืน         ผลสำรวจดูดี แต่ในรายละเอียดนั้น...         เราจะไปดูความคืบหน้าจากรายงานระยะครึ่งแผน ‘ความรู้และความตระหนักเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประชาชนในประเทศไทย: ผลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ.2562’ จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program หรือ IHPP) ว่าผลลัพธ์ออกมาอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 4 หัวข้อ         ข้อแรก-การได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่าประชาชนน้อยกว่า 1 ใน 4 หรือร้อยละ 21.5 ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นนี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.8 จากการสำรวจในปี 2560 โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ได้รับข้อมูลจากบุคลากรทางการแพทย์         หัวข้อที่ 2 ความรู้เรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ พบว่า ประชาชนมีความเรื่องนี้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 23.7 ในปี 2560 เป็นร้อยละ 24.3 ในปี 2562 แต่ข้อที่น่าสังเกตคือประชาชนมากกว่าครึ่งที่ตอบแบบสอบถามตอบคำถามไม่ถูกต้องในประเด็น ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัส’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาไข้หวัด’ ‘ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาแก้อักเสบ’ และ ‘การได้รับยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องเสีย’         ข้อที่ 3 ตระหนักเรื่องความสำคัญของการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมและเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ โดยคะแนนในส่วนนี้เท่ากับ 3.3 จาก 5 คะแนน ประชาชนร้อยละ 89.6 เห็นว่าควรใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกรสั่งให้เท่านั้น ถึงกระนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดในบางประเด็น เช่น ร้อยละ 83.3 เชื่อว่าหากใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้องจะไม่มีความเสี่ยงเรื่องเชื้อดื้อยา เป็นต้น         และข้อที่ 4 การใช้ยาปฏิชีวนะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่าประชาชนร้อยละ 6.3 ใช้ยาปฏิชีวนะในรูปแบบการกินในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา โดยประชาชนร้อยละ 98.1 ได้รับยาปฏิชีวนะจากบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังมีร้อยละ 1.9 ที่ซื้อจากร้านขายของชำ ทั้งนี้สาเหตุการใช้ยาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 43.2 ใช้เพื่อรักษาไข้หวัดใหญ่ซึ่งเป็นการใช้ยาไม่เหมาะสม เพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 27.0 ในปี 2560                ข้อสังเกตจากเภสัชกร         นอกจากนี้ ปี 2563 กลุ่มนิสิตจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ยังได้ทำการสำรวจออนไลน์ในหัวข้อ ‘ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุสมผลของประชาชนที่ใช้สื่อออนไลน์’         ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และนักวิชาการประจำศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) อธิบายผลสำรวจว่า         “เรามีการถามว่าในช่วงปี 2563-2564 ก่อนสำรวจ 6 เดือนมีการใช้ยาปฏิชีวนะหรือเปล่า ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าเคย ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 5 เรื่องการสื่อสารเราเน้นเรื่องหวัด เจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะจึงมีคำถามด้วยว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่บอกว่าใช้ยาปฏิชีวนะ คุณได้ใช้รักษาอาการเจ็บคอ ท้องเสีย แผลสดหรือเปล่า ก็ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าใช้         “ในส่วนความรู้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือความรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยาและความรู้เกี่ยวกับยาปฏิชีวนะ ผลโดยภาพรวมคนส่วนมากจะตอบข้อความรู้ได้ถูกต้องเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นข้อหนึ่งที่น่าสนใจที่ไม่เกิน 60 เปอร์เซ็นต์ คือคนยังคิดว่ายาปฏิชีวนะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายาแก้อักเสบ เป็นข้อที่คนส่วนใหญ่ยังตอบผิดอยู่คือ 56 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนเรื่องทัศนคติส่วนใหญ่ค่อนข้างดีว่าต้องทานยาปฏิชีวนะจนครบ         “ส่วนในเรื่องของพฤติกรรมส่วนใหญ่อยู่ในระดับกลางๆ คนที่ตอบว่าเคยซื้อยาปฏิชีวนะมากินเองส่วนใหญ่เคยประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์อันนี้ก็เป็นจุดที่น่าสนใจ และร้อยละ 50 ซื้อยาฆ่าเชื้อมากินเองตามที่เคยได้รับจากหมอ ส่วนพฤติกรรมอื่นๆ เช่นการแกะแคปซูลเอายามาโรยแผลยังน้อยอยู่ อาจเพราะเราใช้สื่อออนไลน์กลุ่มประชาชนที่เข้าถึงแบบสำรวจอาจเป็นประชาชนที่มีการศึกษา”         คนทำงาน         คราวนี้เราจะกลับมาที่ยุทธศาสตร์ที่ 5 ซึ่งที่ผ่านมามีความร่วมมือจากหลายเครือข่ายที่เข้ามาร่วมทำงานอย่างศูนย์วิชาการเฝ้าระวังแลพัฒนาระบบยา (กพย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม บุคลากรทางการแพทย์ หน่วยงานรัฐ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นต้น         ยุทธศาสตร์นี้มี 3 กลยุทธ์คือ ส่งเสริมบทบาทขององค์กรและเครือข่ายภาคประชาสังคม สื่อมวลชนในการสร้างความเข้าใจเรื่องเชื้อดื้อยาและการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมอ ส่งเสริมและพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็ก เยาวชน และกลุ่มวัยทำงาน และสุดท้าย เสริมสร้างความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย         ภก.ชินวัจน์ อธิบายว่า หน่วยงานรับผิดชอบประกอบไปด้วยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพซึ่งในกรมนี้จะมี 2 กองย่อยคือกองสนับสนุนบริการสุขภาพทำหน้าที่ดูแล อสม. ทั่วประเทศ อีกกองหนึ่งคือกองสุขศึกษาทำหน้าที่จัดทำสื่อหรือเผยแพร่สื่อให้ อสม. นำไปใช้กระจายความรู้ให้กับประชาชน        ในส่วนผู้รับผิดชอบส่วนที่ 2 คือ สสส. ทำหน้าที่ให้ความรู้ในระดับกว้างทั้งประเทศผ่านสื่อออนไลน์ โทรทัศน์ วิทยุ รถไฟฟ้า ใน สสส. ยังมีภาคีเครือข่าย เช่น กพย. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น         “ในส่วนของ กพย. เราจัดกิจกรรมสัปดาห์รณรงค์เรื่องการรู้และตระหนักการใช้ยาต้านแบคทีเรีย แล้วก็ชวนแต่ละที่มาร่วมกันตรงนี้เพื่อทำเป็นแคมเปญ นอกจากนี้ กพย. ก็ผลิตสื่อด้วย เช่น กระจกส่องคอ ยาวิพากษ์ แผ่นพับต่างๆ กระจายไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายของ กพย.”        ส่วนที่ 3 คือสมัชชาสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีมติให้ ‘วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ’ เป็นประเด็นที่ต้องจัดการในการประชุมครั้งที่ 8 ปี 2558 แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ        สิ่งที่ต้องแก้ไขในแผนปี 2565-2569         จากตอนต้นถึงบรรทัดนี้ การขับเคลื่อนประเด็นเชื้อดื้อยาดูจะดำเนินไปด้วยดี แม้บางข้อจะยังมีความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชนก็ตาม แต่ในมุมมองของ ภก.ชินวัจน์ กลับเห็นว่ามีหลายสิ่งอย่างที่ต้องจัดการและแก้ไข         เบื้องต้น ผลการสำรวจปี 2562 ออกมาถือว่าไม่เลว อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปดูในรายละเอียดยังมีหลายจุดที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่วนหนึ่งมาจากแผนการสื่อสารที่ยังไม่ชัดเจน         “ผมคิดว่าข้อที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการสื่อสารของภาครัฐยังแย่อยู่ เป็นการสื่อสารแบบราชการที่ประชาชนเข้าใจยาก คุณตั้งยุทธศาสตร์ขึ้นมาและต้องการภาคประชาชนในการสนับสนุน แต่การสื่อสารการให้ข้อมูลที่ถูกต้องคุณยังไม่ชัดเจน แล้วสื่อที่คุณผลิตออกมามันไม่ใช่สื่อที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ” ภก.ชินวัจน์ วิพากษ์วิจารณ์         ประเด็นที่ 2 การสื่อสารของภาคประชาชนในระดับท้องถิ่นบางครั้งต้องอาศัยหน่วยงานรัฐท้องถิ่น เช่น โรงพยาบาลในส่วนของสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พบว่างบประมาณสนับสนุนให้บุคลากรของโรงพยาบาลหรือ สสจ. ลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับประชาชนยังน้อย ภก.ชินวัจน์ กล่าวว่าหน่วยงานราชการไม่มีงบประมาณให้ในการทำสื่อหรือกิจกรรม แม้กระทั่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพก็ไม่มีงบประมาณเพื่อทำตามยุทธศาสตร์นี้         ในส่วนของภาคประชาชน ภก.ชินวัจน์ แสดงความคิดเห็นว่าภาคประชาชนมีเครือข่ายที่เหนียวแน่น เครือข่ายเหล่านี้ควรมีแกนนำที่เข้ามาร่วมทำงานกับภาครัฐ เพราะขณะที่ภาครัฐยังทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม หากภาคประชาชนช่วยกันส่งเสียงสะท้อนปัญหาก็น่าจะมีส่วนเร่งความกระตือรือร้นในการทำงานได้         อีกด้านหนึ่ง ภก.ชินวัจน์ ยอมรับว่าที่ผ่านมาการสื่อสารกับประชาชนยังไม่มีการจำแนกกลุ่มที่ชัดเจนเพื่อผลิตสื่อที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย สื่อที่ผลิตออกมาส่วนใหญ่ดูเหมือนว่าจะเน้นกลุ่มชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับกลุ่มประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง        และจุดนี้จะเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนจะมีการหารือต่อไปเพื่อกำหนดออกมาเป็นยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการส่งเสริมความรู้ด้านเชื้อดื้อยาและความตระหนักด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมแก่ประชาชน ในแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2565-2569 ต่อไป         หมายเหตุ การสัมภาษณ์ ภก.ชินวัจน์ แสงอังศุมาลี เกิดขึ้นก่อนมีการประชุมหารือเพื่อวางแนวทางยุทธศาสตร์ 

อ่านเพิ่มเติม >