ฉบับที่ 254 ผลทดสอบหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก (อายุระหว่าง 5-12 ปี)

        ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ทำให้การสวมหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทั่วไปและเด็กเล็ก เพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค อีกทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันการติดเชื้อได้บางส่วน อย่างไรก็ตามปัจจุบันหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ใหญ่มีมาตรฐานกำกับ  สำหรับหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว (มอก. 2424-2562) และหน้ากากแบบ N 95 (มอก.2480-2562) แต่สำหรับหน้ากากอนามัยเด็กนั้น มาตรฐานที่กำหนดอาจยังไม่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้งานได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากเด็กเล็กมีสภาพร่างกายต่างจากผู้ใหญ่ สำหรับคุณสมบัติของหน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับเด็กนั้น อาจจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลต่างของค่าความดันอากาศ นอกเหนือจากประสิทธิภาพในการกรองฝุ่น         และในปี พ.ศ. 2565 นี้ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำลังพิจารณาผลักดันให้ สินค้าหน้ากากอนามัยเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงร่วมกันทดสอบหน้ากากอนามัยที่ระบุบนฉลากว่าสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 5-12 ปี เพื่อเป็นข้อมูลในการผลักดันเพื่อออกมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่หมาะสมกับสภาพร่างกายของเด็กด้วยเช่นกัน         คณะทำงานได้เก็บตัวอย่างสินค้าทั้งสิ้น 20 ตัวอย่าง โดยทดสอบสองรายการ ที่กำหนดใน มอก.2424-2562 และ มอก. 2480-2562 ได้แก่        1) ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก (Filter Efficiency)        2) ทดสอบผลต่างความดันของอากาศ (Pressure Difference: DP) ผลการทดสอบ        1.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และการแพทย์ศัลยกรรมตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562         ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 3 ยี่ห้อ ผลการทดสอบพบว่า ประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ทุกยี่ห้อ ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่ผลต่างความดันอยู่ในเกณฑ์ของ มอก. ทุกยี่ห้อ (ดูตารางที่ 1)         2.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยประเภทใช้งานทั่วไปตามเกณฑ์ มอก. 2424-2562         ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 11 ยี่ห้อ สำหรับประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ยี่ห้อ Unicharm ต่ำกว่าเกณฑ์         สำหรับยี่ห้อ ที่มีค่า ผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ Glowy Star ยี่ห้อ Lotus’s ยี่ห้อ KSG ยี่ห้อ Iris OYAMA และ ยี่ห้อ Linkcare (ดูตารางที่ 2)         3.ผลการทดสอบประสิทธิภาพหน้ากากป้องกันระบบทางเดินหายใจ ประเภท FFP2 KN95 KF94 และ N95 ตาม มอก. 2480-2562        ผลิตภัณฑ์ที่สำรวจและสุ่มซื้อในกลุ่มนี้ มีจำนวน 6 ยี่ห้อ สำหรับประสิทธิภาพการกรองอนุภาค พบว่า ทุกยี่ห้อ เป็นไปตามเกณฑ์         สำหรับยี่ห้อที่มีค่าผลต่างความดันเกินกว่าค่ามาตรฐาน ได้แก่ ยี่ห้อ SUMMIT PEREON ยี่ห้อ Minicare ยี่ห้อ Kuwin และ ยี่ห้อ Kangju (ดูตารางที่ 3)         4.เครื่องหมาย มอก. จากการตรวจสอบข้อมูลหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่จำหน่ายอยู่โดยทั่วไปในท้องตลาด พบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมายมาตรฐานอุตสาหกรรม ยกเว้นยี่ห้อ Welcare ที่มีการระบุเครื่องหมายมาตรฐานอยู่บนบรรจุภัณฑ์คำแนะนำการเลือกหน้ากากอนามัยสำหรับเด็ก        ข้อมูลจากทางองค์กรทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ได้แนะนำว่า หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กนั้น ค่าของผลต่างความดัน ไม่ควรเกิน 50% ของมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่ใช้สำหรับผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบการหายใจของเด็กต่างจากผู้ใหญ่ หน้ากากอนามัยที่มีผลต่างความดันมาก อย่างหน้ากากอนามัยชนิด N95 อาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับการเลือกซื้อหน้ากากอนามัยให้เด็กคือ        1.ควรเลือกชนิดที่มีค่ากรองอนุภาคเป็นไปตามมาตรฐาน         2.เลือกชนิดที่มีค่าผลต่างความดันต่ำกว่า 50% ของค่ามาตรฐาน         3.ในกรณีที่จำเป็นต้องให้เด็กใช้หน้ากากอนามัยชนิด N 95 ไม่ควรใส่เกิน 1 ชม. และเมื่อเข้าในอาคารควรถอดออกเพื่อพักหายใจ         4.ประสิทธิภาพของหน้ากากอนามัยจะใช้งานได้ดีเมื่อการสวมใส่หน้ากากนั้นกระชับไปกับรูปหน้าของเด็ก ปัจจุบัน (ข้อมูลถึงเดือนมีนาคม 2565) มีผู้ประกอบการสมัครใจยื่นขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 9 ราย ดังนี้1.บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) แบรนด์  Welcare 2.บริษัท เมดิเชน จำกัด แบรนด์ MedCmask 3.บริษัท เคเอส โกลเด้น จำกัด แบรนด์ SureMask / G Lucky / KSG 4.บริษัท วิชัย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด แบรนด์ WCE Mask5.บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด แบรนด์ HYGUARD6.บริษัท เอส.เจ.อีควิปเมนท์ แอนด์ แคร์ จำกัด แบรนด์ GAMSAI7.บริษัท เบฟเทค จำกัด แบรนด์ BevTech 8.บริษัท เอ็มไนน์ เมดิคอล อีควิปเม้นท์ จำกัด แบรนด์ M9 9.บริษัท เฮลท์เวย์ ซัพพลาย จำกัด แบรนด์ LIVE SEF และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2480-2562 หน้ากาก N 95 แล้ว จำนวน 1 ราย ดังนี้ 1.บริษัท มารีอา โปรดักส์ จำกัด แบบไม่มีลิ้นระบายอากาศ แบรนด์ MARI-R[1] มาตรฐาน มอก. 2424-2562ขอบคุณภาพประกอบจาก ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยอนุบาลสาธิต ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มมหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 239 ผดทดสอบหน้ากากอนามัย จากองค์กรผู้บริโภคต่างประเทศ

        ในยุคที่คนทั้งโลกต้อง “สวมหน้ากาก” เข้าหากัน จึงเป็นธรรมดาที่คนจะตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของมัน กรณีของ “หน้ากากอนามัยเกรดการแพทย์” นั้นไม่น่าเป็นห่วง เพราะกว่าจะเรียกตัวเองเช่นนั้นได้ ก็ต้องผ่านมาตรฐานหลายประการ         แต่สภาผู้บริโภคแห่งฮ่องกง (ผู้จัดพิมพ์ CHOICE นิตยสารเพื่อผู้บริโภค) ก็ไม่ยอมปล่อยผ่าน เขาทดสอบหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จำนวน 30 ยี่ห้อ (ผลิตในฮ่องกง 18 ยี่ห้อ  ผลิตในจีน 8 ยี่ห้อ ที่เหลือผลิตจากไต้หวัน และเวียดนาม) สนนราคาชิ้นละ 2-9 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 8-35 บาท)          เขาพบว่า 29 รุ่นมีประสิทธิภาพการกรองแบคทีเรียและอนุภาคทั่วไปได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จึงถือว่าวางใจได้พอสมควร ในภาพรวมหลายยี่ห้อทำได้ดี แต่ไม่ดีเท่าที่เคลม ราคาแพงกว่าไม่ได้แปลว่าดีกว่า และหลายยี่ห้อไม่น่าซื้อเพราะสายคล้องคุณภาพไม่ดี        แต่ที่ต้องระวังคือยี่ห้อ Perfetta Disposable High Filtration Face Mask ที่ผลิตในเวียดนาม (ราคาเฉลี่ยชิ้นละ 8 บาท) ที่ฉลากอ้างว่ามีประสิทธิภาพกันอนุภาคทั่วไปได้ 99.99% แต่เขาทดสอบพบว่าทำได้เพียง 86.64% เท่านั้น แถมสายคล้องหูก็ยืดย้วยง่ายด้วย ติดตามตารางแสดงผลการทดสอบแบบเต็มๆ ได้ที่        https://www.consumer.org.hk/ws_en/news/specials/2020/coronavirus-prevention-collection.html          ไปดูการทดสอบ “หน้ากากผ้า” ชนิดใช้ซ้ำ ซึ่งป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ดี โดยไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมกันบ้าง         องค์กรผู้บริโภคของอังกฤษหรือนิตยสาร Which? ซึ่งได้ทดสอบหน้ากากผ้าชนิดใช้ซ้ำได้ รูปแบบต่างๆ จำนวน 15 ตัวอย่างที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา        Which? ทดสอบและให้คะแนนในด้านต่างๆ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการป้องกันแบคทีเรีย การหายใจได้สะดวก ความรู้สึกสบายในการสวมใส่ และความทนทานต่อการซักโดยไม่เสื่อมสภาพเร็วเกินไป           หน้ากากผ้าสองยี่ห้อที่ได้คะแนนมากที่สุดคือ NEQI และ Bags of Ethics ที่ขายในราคาชิ้นละ 5 ปอนด์ (ประมาณ 200 บาท) แต่ถ้าใครอยากประหยัดเงินอาจเลือก Step Ahead ที่คะแนนน้อยกว่าเล็กน้อยแต่ราคาถูกกว่ามาก (2 ปอนด์ หรือประมาณ 80 บาท)         ในภาพรวม มีหน้ากากผ้าที่สามารถป้องกันละอองฝอยได้ถึงร้อยละ 99 แต่ก็มีบางรุ่นที่กันได้เพียงร้อยละ 7 เท่านั้น         Which? ให้คำแนะนำ “ไม่ควรซื้อ” กับหน้ากากผ้า 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Termin8 / Etiquette / และ White Patterned สองยี่ห้อแรกซึ่งวางขายในร้านขายยา โต้ว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร กฎหมายไม่ได้กำหนดเกณฑ์แบบที่ Which? ทดสอบ ส่วนยี่ห้อสุดท้ายที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ASDA นั้น ทางห้างเรียกเก็บออกจากชั้นไปแล้ว ข้อค้นพบจากการทดสอบหน้ากากผ้า-  การป้องกันจะดีขึ้นตามจำนวนชั้นของผ้า ใส่ฟิลเตอร์ได้ยิ่งดี (แต่ฟิลเตอร์ก็เป็นขยะอีก) หน้ากากผ้าที่ไม่ควรซื้อใช้คือหน้ากากผ้าโพลีเอสเตอร์ที่มีชั้นเดียว-  หน้ากากที่ดีต้องมีสมดุลระหว่างประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อกระจายและการระบายอากาศที่ดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความชื้นทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเราอาจเอามือไปขยับบ่อยๆ หรือไม่ก็รำคาญจนไม่อยากใส่ต่อ-  หน้ากากผ้าแบบทำเองก็ใช้ได้ดี การทดสอบพบว่าหน้ากากผ้าที่ตัดเย็บตามแพทเทิร์นที่รัฐบาลอังกฤษแชร์ออนไลน์ สามารถกรองละอองได้ร้อยละ 73 และเมื่อผ่านการซัก 5 ครั้ง กลับสามารถกรองได้ถึงร้อยละ 81 ด้วย! แต่อาจมีปัญหาเรื่องการสวมแล้วอึดอัดไม่สบาย-  การให้คำแนะนำในการใช้บนฉลาก (ทั้งในการใช้งานและการซักทำความสะอาด) ยังทำได้ไม่ดี มีถึง 6 เจ้าที่ไม่ระบุว่า “ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์” และมี 7 เจ้าไม่แจ้งวิธีการใช้อย่างปลอดภัย            องค์กรผู้บริโภคอื่นๆ ที่ทดสอบหน้ากากผ้า ได้แก่ Forbrugerradet Taenk ของเดนมาร์ก ที่ทดสอบทั้งหน้ากากผ้าและหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แล้วพบว่ามีประสิทธิภาพในการกรองไม่ต่างกันนัก  ในขณะที่ UFC-Que Choisir ของฝรั่งเศส ทดสอบหน้ากากที่ทำจากผ้าหลากชนิด เขาพบว่าผ้าฝ้ายชนิดที่ใช้ทำเสื้อยืด หรือแม้แต่ทิชชูคลิเน็กซ์ ก็ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการกรองเชื้อโรคเหมือนกัน ทางด้าน Altroconsumo ของอิตาลี ก็ทดสอบหน้ากากผ้า และพบว่ามันสามารถกรองละอองฝอยได้ระหว่างร้อยละ 80-90 แตกต่างกันตรงที่บางรุ่นใส่แล้วหายใจสะดวก บางรุ่นสวมแล้วอึดอัด เช่นเดียวกับ Deco Proteste ของโปรตุเกส

อ่านเพิ่มเติม >

‘มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค’ ยืนหยัด ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ แถลงชัดไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบจากเว็บไซต์

            ตามที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ดำเนินการเชิงรุกเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคช่วงโควิด - 19 โดยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือในช่วงที่ขาดแคลนและมีราคาแพง รวมทั้ง ขาดข้อมูลอ้างอิงที่จะทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือได้ว่ามีคุณภาพตรงกับฉลากหรือคำโฆษณา และไม่ปนเปื้อนสารที่ก่ออันตราย มูลนิธิฯ ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือจำนวน 39 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ และตรวจหาการปนเปื้อนของเมธิลแอลกฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดที่มีอันตรายต่อผู้บริโภค ผลพบว่า จำนวน 27 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 69.23 มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 จากนั้นจึงได้เผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคได้รับทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยเปิดเผยชื่อยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อเท็จจริง และมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นต้องใช้สำหรับปกป้องสุขภาพในภาวะที่มีการระบาดของเชื้อโรคที่เป็นอันตรายต่อชีวิตนั้น (อ่านข้อมูล ผลทดสอบเจลแอลกอฮอล์ จากนิตยสารฉลาดซื้อ ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3420)         ต่อมาวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 บริษัท รีเอกซ์ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจลแอลกอฮอล์ ได้ฟ้องคดีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า จำเลยได้กระทำผิดอาญา ใส่ความหมิ่นประมาทบริษัท และระบุว่า “...ไม่ใช่ผลการทดสอบที่ถูกต้องที่จะนำเสนอเป็นข่าวหรือบทความให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์เจลล้างมือ เพราะเกณฑ์มาตรฐานการทดสอบจำเป็นต้องมีการควบคุมการทดสอบและกำหนดค่าความผันแปรของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมระหว่างทดสอบ...”         ในวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้แถลงข่าวเพื่อให้ข้อเท็จจริงและแสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้         1. นิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดให้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลกับผู้บริโภค โดยมีการเปิดเผยชื่อยี่ห้อให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ด้วยเหตุผลในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า ตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการตามหลักการนี้มาอย่างต่อเนื่องตลอดมา         2. การทดสอบได้ทำอย่างสุจริตและโปร่งใส โดยยึดมั่นหลักวิชาการ และดำเนินการอย่างมีคุณภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการทดสอบเจลแอลกอฮอล์ในครั้งนี้ ดำเนินการโดย ศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญ มีความเป็นอิสระ และเป็นห้องทดลองที่ได้มาตรฐานและผ่านการรับรอง ISO 17025 แม้แต่ อย. ก็ใช้ห้องทดลองนี้เช่นกัน และในการแถลงข่าวเพื่อเผยแพร่ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบได้ร่วมในการให้ข้อมูลอย่างเปิดเผย ประกอบด้วย นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร. ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย         3. มูลนิธิฯ เห็นว่า การฟ้องร้องของบริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด อาจเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้มูลนิธิฯ ยุติการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภค         4. มูลนิธิฯ ไม่มีนโยบายถอนข้อมูลผลทดสอบที่ได้จัดทำและเผยแพร่จากเว็บไซต์ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อสินค้า โดยเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ดังที่ได้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา         ด้าน ดร. ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยืนยัน กระบวนการทดสอบสินค้าและบริการของนิตยสารฉลาดซื้อ ใช้ห้องทดสอบที่มีมาตรฐาน ระดับประเทศที่พัฒนาแล้ว สำหรับกระบวนการทดสอบด้านสินค้าและบริการ จะอ้างอิงหลักการและวิธีการออกแบบการทดสอบ ขององค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ ที่เป็นสมาขิกของ International Consumer Product Research and Testing โดยเน้นหลักการความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้าและเผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา         "การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น"        ทั้งนี้ พลังของผู้บริโภคในการสนับสนุนการต่อสู้คดีในครั้งนี้ ซึ่งเป็น “ครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี” ที่ผลการทดสอบและการเปิดเผยข้อมูลของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถูกฟ้องคดีโดยบริษัทผู้ผลิตหลังจากเปิดเผยชื่อผู้ผลิตและยี่ห้อของสินค้าจากการทดสอบ” จึงมีความสำคัญต่อการยืนหยัดทำหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 ผลิตน้ำดื่มสูตรไม่ผสมเชื้อโรค (ตอนที่ 2)

เมื่อน้ำผ่านการกรองในขั้นต้นแล้ว ก็จะไปผ่านระบบฆ่าเชื้อโรค ซึ่งมีหลายแบบให้เลือกอีกเช่นกัน เช่น เครื่องกรองเซรามิค เครื่องกรองไมโครพอร์ (ซึ่งเครื่องกรองสองแบบนี้ต้องหมั่นล้างหรือเปลี่ยนไส้กรองตามกำหนดระยะเวลาเพราะมันจะอุดตันได้ง่าย และต้องล้างอย่างถูกวิธี ถ้ารุนแรงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการกรองเสียหาย และถ้าล้างไม่สะอาดก็อาจทำให้ติดเชื้อเข้าในระบบได้ บางรายจึงใช้วิธีเปลี่ยนใหม่เลย) หรือบางระบบก็จะให้น้ำผ่านทางเครื่องฆ่าเชื้อที่ใช้แสงอุลตราไวโอเลตเลย หรือเรียกสั้นๆว่า หลอด UV ซึ่งมีหลักการคือใช้ความเข้มของแสงอุลตราไวโอเลต (UV)ในการฆ่าเชื้อ  เมื่อน้ำผ่านตรงนี้แล้วก็จะเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีเชื้อโรค เราก็สามารถไปยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้เลย จุดที่ต้องระวังคือ พวกบริษัทขายเครื่องมือที่ไม่เข้าใจระบบจริงๆ อาจติดเครื่องกรองสลับย้อนไปมา แทนที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการผลิตมากขึ้น เช่น มีการติดเครื่องกรองผงถ่านหลังจากน้ำผ่านหลอด UV แล้ว(ทำให้เพิ่มจุดเสี่ยงในการสะสมเชื้อโรคขึ้นอีก) หรือบางรายก็แนะนำให้ติดเครื่องกรองต่างๆ มากเกิน เช่น ติดเครื่องกรองไมโครพอร์และหลอด UV ในหลายๆ จุด หรือบางทีก็แนะนำให้ติดเครื่องฆ่าเชื้อชนิดโอโซนอีกด้วย  โดยอ้างว่าเพื่อความมั่นใจ อันที่จริงถ้าเราผลิตโดยความระมัดระวังและหมั่นดูแลบำรุงรักษาอย่างดีแล้ว  ก็ไม่จำเป็นต้องติดมากมายหลายจุดจนเกินจำเป็นด้วยซ้ำ อย่าลืมว่ายิ่งติดมากหลายจุดก็ยิ่งต้องเพิ่มภาระในการดูแลมากขึ้นไปอีกด้วย แม้น้ำดื่มจะเป็นอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบอื่นๆ แต่สิ่งที่จะทำให้น้ำดื่มเราสะอาดได้มาตรฐานตลอดเวลาคือ การดูแลรักษา เกณฑ์จีเอ็มพี(GMP) จึงกำหนดให้เราต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ  มีการบันทึกข้อมูลที่เราทำเป็นรายงานให้ชัดเจน  เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่าได้ทำจริง และเมื่อมีปัญหาก็ตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าในช่วงนั้นใครทำอะไรจนน้ำมีปัญหา นอกจากนี้ยังกำหนดให้เราต้องมีชุดทดสอบเบื้องต้นไว้ทดสอบน้ำที่เราผลิตอีกด้วย ชุดทดสอบเบื้องต้นที่แนะนำคือ ชุดทดสอบความเป็นกรดด่าง (pH)  ชุดทดสอบความกระด้าง และชุดทดสอบเชื้อโรค  การที่กำหนดให้มีชุดทดสอบก็เพื่อให้เราทดสอบว่าคุณภาพเครื่องกรองของเรา  ยังคงมีประสิทธิภาพดีอยู่หรือไม่ และจะประหยัดกว่าไปส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า  ผู้ผลิตน้ำบางรายมักจะให้บริษัทที่ขายเครื่องกรองเข้ามาทดสอบให้ แต่อยากแนะนำให้ผู้ผลิตฝึกการใช้ชุดทดสอบเหล่านี้ให้เป็นเองจะดีกว่า เพราะมันใช้ไม่ยาก และจะได้ประหยัดเงิน ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเวลาเขามาทดสอบหรือไม่ต้องรอให้เขามาทดสอบ และหากพบว่าคุณภาพเครื่องกรองยังดีอยู่ จะได้ไม่ถูกใครมาหลอกให้ต้องเปลี่ยนไส้กรองให้เสียเงินโดยไม่จำเป็น หลอด UV ต้องดูแลอย่างละเอียดสม่ำเสมอ  เพราะหลอด UV ก็เหมือนหลอดไฟ เมื่อใช้ไปนานๆ ความเข้มของแสงจะลดลง ดังนั้นเราต้องสอบถามว่าอายุใช้งานนานกี่ชั่วโมง เมื่อครบตามกำหนดก็ต้องเปลี่ยนหลอดใหม่ (แต่ไม่ว่าจะมีเครื่องกรองที่ดีอย่างไร ถ้าคนบรรจุน้ำไม่รักษาความสะอาดระหว่างบรรจุน้ำ ก็อาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้) ส่วนผู้บริโภคน้ำดื่ม ถ้าเห็นสถานที่ผลิตน้ำดื่มไม่สะอาด ขอให้แจ้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทราบเพื่อดำเนินการต่อไป เราจะได้มั่นใจว่าเราเราเสียเงินคุ้มค่าและไม่ได้ดื่มน้ำสูตรผสมเชื้อโรคให้เสี่ยงอันตราย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 “ส่องฉลาก” ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค กลายมาเป็นตัวช่วยเรื่องการกำจัดสิ่งสกปรกที่น่าจะมีติดอยู่แทบทุกบ้าน มาในหลายๆ รูปแบบการใช้งาน ไมว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดห้องน้ำ และผลิตภัณฑ์ทำความเสื้อผ้า ซึ่งเฉพาะผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าก็ไม่ได้มีแค่ ผงซักฟอก เพียงอย่างเดียว ยังมีแยกประเภทเป็นทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าชนิดน้ำ ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบอเนกประสงค์ที่ใช้แช่เสื้อผ้าเพื่อขจัดคราบสกปรกก่อนนำไปซักปกติ ซึ่งลักษณะก็จะคล้ายกับน้ำยาซักผ้าขาว นอกจากนี้ยังมีน้ำยาปรับผ้านุ่มที่หลายๆ บ้านนิยมใช้ ฉลาดจึงจะพามาส่องฉลากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อให้สามารถใช้งานกันได้อย่างถูกวิธีผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคต้องใช้อย่างระมัดระวังผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่มีการใช้สารเคมีที่อาจมีฤทธิ์ต่อสุขภาพและเป็นอันอันตรายต่อผู้ใช้ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ใช้ภายในบ้านเรือนส่วนใหญ่จะจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุอันตราย ชนิดที่ 1 ซึ่งหมายถึงกลุ่มสารเคมีที่มีอันตรายน้อย สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันหรือตามบ้านเรื่องทั่วไปได้ แต่ก็ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ตัวผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการแจ้งข้อเท็จจริงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยจะควบคุมเรื่องสารเคมีที่ใช้และการจัดทำฉลากเพื่อประโยชน์กับผู้บริโภคในการใช้งานได้อย่างปลอดภัยวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 เป็นวัตถุอันตรายที่ก่อให้เกิดผลกระทบน้อยกว่ากลุ่มอื่น กฎหมายกำหนดให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าไม่ต้องขอขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย แต่ต้องแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด เช่น การจัดทำฉลาก การปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตและการเก็บรักษา เป็นต้น การแสดงฉลากจะต้องแสดงเลขที่รับแจ้งไว้บนฉลากผลิตภัณฑ์ ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มวัตถุอันตรายขนิดที่ 1 มีอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดพื้น ฝาผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ซักผ้า (ยกเว้นผงซักฟอก ที่อยู่ในการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.))  เป็นต้นข้อความที่ไม่อนุญาตให้แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค-“สูตรพิเศษ” ยกเว้นว่ามีเอกสารที่สามารถสนับสนุนหรือชี้แจงได้ว่ามีลักษณะพิเศษอย่างไร-“ไม่เป็นอันตราย”, “ไม่เป็นพิษ”, “ปลอดภัย”, “ไม่มีสารตกค้าง”, “ไร้สารตกค้างที่เป็นอันตราย”, “ไร้สารตกค้าง”, “ไม่มีผลต่อเด็กสัตว์เลี้ยงและอาหาร”, “สูตรไม่ระคายเคือง”, “ปราศจากการระคายเคือง” เนื่องจากอาจทำให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัย-“นุ่มละมุนใช้ได้ทุกวัน” เนื่องจากผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรใช้ตามความจำเป็น และต้องระมัดระวังในการใช้ -“ใช้ได้บ่อยเท่าที่ต้องการ” เนื่องจากเป็นการชักจูงใจเกินความจำเป็น-“น้ำหอมปรับอากาศ”, “สดชื่น” หรือ “กลิ่นสดชื่น” เนื่องจากคำว่า “สดชื่น” มีความหมายในเชิงเกี่ยวกับสุขภาพอาจสื่อให้เกิดความเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นนี้มีผลต่อสุขภาพ ซึ่งไม่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และสารเคมี-“ปกป้องสุขภาพของคุณและสิ่งแวดล้อม”, “ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม”, “ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม”, “ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ”, “จึงช่วยรักษาสภาพแวดล้อม”, “ห่วงใยสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าผลิตภัณฑ์ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม-“ได้ผล 100%”, “ประสิทธิภาพสูง”, “ด้วยสูตรพลังประสิทธิภาพ”, “ประสิทธิภาพเยี่ยม”, “ระบบเดียวที่มีประสิทธิภาพสูงสุด”, “ได้ผลเด็ดขาด”, “ออกฤทธิ์แรง” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-“ไม่ทำลายเนื้อผ้าหรือทำให้ผ้าเป็นสีเหลือง”, “อ่อนโยนต่อทุกเนื้อผ้า”, “อ่อนโยนต่อเส้นใยผ้า”, “ถนอมผ้า”, “ปลอดภัยต่อผ้าสี”, “คงไว้ซึ่งความนุ่มนวลของเนื้อผ้า”, “พลังสลายคราบสกปรก” เนื่องจากเป็นข้อความที่อาจเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง-แม้แต่ชื่อทางการค้าก็ต้องไม่สื่อไปในทำนองโอ้อวดสรรพคุณ หรือทำให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของผลิตภัณฑ์ หรือสื่อให้เข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคขาดความระมัดระวังในการใช้ที่มา : คู่มือการจัดทำฉลากวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 โดยกลุ่มควบคุมอันตราย สำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาข้อมูลสำคัญที่ “ต้องมี” บนฉลากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด1.ชื่อทางการค้า ต้องเป็นภาษาไทย ขนาดเห็นได้ชัด หากมีชื่อเป็นภาษาต่างประเทศต้องตรงกันหรือมีความหมายอย่างเดียวกันกับชื่อการค้าภาษาไทย2.ชื่อและอันตราส่วนของสารสำคัญ ต้องแสดงเป็นหน่วยร้อยละของน้ำหนักต่อน้ำหนัก (% w/w) หรือร้อยละของน้ำหนักต่อปริมาตร (% w/v)3.ประโยชน์4.วิธีใช้5.คำเตือนหรือข้อควรระวัง ต้องใช้อักษรทึบหรือขีดเส้นใต้6.วิธีเก็บรักษา7.ข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดพิษ (ถ้ามี) ไมว่าจะเป็น อาการเกิดพิษ วิธีแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำสำหรับแพทย์8.การทำลายภาชนะบรรจุ (ถ้ามี)9.เครื่องหมายและข้อความแสดงระดับความเป็นพิษ และ/หรืออันตรายตามที่กำหนด (ถ้ามี) 10.เลขที่รับแจ้ง 11.ขนาดบรรจุ (ปริมาณสุทธิ) 12.วัน เดือน ปี ที่ผลิต 13.วันหมดอายุการใช้ (ถ้ามี)14.เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต (Lot Number/ Batch Number)15.ชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ของผู้ผลิตในประเทศ หรือนำเข้า พร้อมชื่อและประเทศของผู้ผลิตผลการสำรวจฉลากตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคส่วนใหญ่ไม่ว่า สำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นหรือทำความสะอาดเสื้อผ้า จะมีการให้ข้อมูลในเรื่องการฆ่าเชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายตัวอย่าง ที่อ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า 100% เพราะดูเป็นการโอ้อวดเกินจริง แต่ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความบนฉลากผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค อนุญาตให้แสดงค่าความสามารถหรือตัวเลขที่แสดงความสามารถในการฆ่าเชื้อ เมื่อมีข้อมูลผลการทดสอบประสิทธิภาพเชิงปริมาณ แต่ต้องระบุชื่อเชื้อที่ใช้ทดสอบและแสดงข้อความว่าเป็นข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบในห้องปฏิบัติการ โดยตัวอย่างที่สำรวจส่วนใหญ่ก็จะมีการอ้างถึงแหล่งที่มาของการทดสอบ แต่ก็มีบางตัวอย่างที่ใช้คำโฆษณาเรื่องการฆ่าเชื้อโรคได้ถึง 99.99% แต่ไม่ได้อ้างอิงที่มาของคำโฆษณาดังกล่าว เช่น แวนิช ผลิตภัณฑ์ขจัดคราบ เอ๊กซ์ตร้า ไอยีน และ เดทตอล ลอนดรี แซนิไทเซอร์ผลิตภัณฑ์ที่แสดงโฆษณาบนฉลากว่า “สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรีย” หมายความว่าผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ Staphylococcus aureus และ Salmonella enterica (choleraesuis)ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน แม้จะมีสารเคมีที่มีความเป็นพิษต่ำ แต่ก็ถือเป็นสารที่อันตรายหากนำไปใช้ไม่ถูกวิธี เช่น เข้าตา หรือเผลอกลืนกินเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นต้องเก็บผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้พ้นมือเด็ก ส่วนผู้ที่ใช้แล้วเกิดอาการแพ้ต้องหยุดใช้ทันทีและควรไปพบแพทย์ ปริมาณที่ใช้ก็ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าและพื้นที่ภายในอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ เป็นสารในกลุ่ม disinfectant ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ได้หลากหลาย ไม่เฉพาะเจาะจง เหมาะสำหรับใช้ทำความสะอาดพื้นผิวของสิ่งของต่างๆ โดยสารเคมีหลักๆ ที่ใช้ก็คือสารที่มีผลในการฆ่าและยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค กับสารที่ทำหน้าที่ลดแรงตึงผิว (surfactant) ซึ่งก็มีคุณสมบัติในการขจัดสิ่งสกปรกและฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะ Ethoxylated alcohol, Sodium Lauryl Sulfate,  Alkyldimethyl benzyl ammonium chloride และ Didecyl dimenthyl ammonium chlorideผลทดสอบ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 188 เชื้อโรคดื้อยาปฏิชีวนะ ผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?

ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพ ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีคุณประโยชน์อย่างมากต่อมวลมนุษยชาติ แม้ว่าการค้นหาและสังเคราะห์ยาต้านจุลชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมากมาย แต่ทว่าจากปัญหาการใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียปรับตัวดื้อยามากขึ้น ยาหลายชนิดไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคติดเชื้อที่เคยรักษาได้อีกต่อไป จนปัจจุบันยอมรับกันแล้วว่า ปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาสำคัญระดับโลก จุลชีพที่เป็นปัญหาการดื้อยาอย่างมากคือ แบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียดื้อยาเกิดขึ้นแล้วจะเพิ่มจำนวนและแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง ยืนยันได้จากการตรวจพบยีนดื้อยาปฎิชีวนะต่างๆ ที่แพร่กระจายไปในทุกภูมิภาคทั่วโลกองค์การอนามัยโลกรายงานว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาประมาณปีละ 700,000 ราย และหากไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในปี ค.ศ. 2050 คาดการณ์ว่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาเสียชีวิตประมาณ 10 ล้านคน เพราะมีแนวโน้มว่าพบเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นจนน่าหวั่นเกรงว่าจะนำไปสู่โลกยุคหลังยาปฏิชีวนะ (post antibiotic era) ซึ่งไม่มียาที่มีประสิทธิภาพใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียดื้ออีกต่อไป สำหรับประเทศไทย มีรายงานการศึกษาวิจัยเบื้องต้นจากการศึกษาผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยารวม 17 แห่ง แล้วได้ประมาณการว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียดื้อยา 87,751 ครั้ง เสียชีวิต 38,481 ราย ทั้งๆ ที่มีมูลค่ายาต้านจุลชีพที่ใช้รักษาโรคสูงถึงประมาณปีละ 6,084 ล้านบาท มีมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจประมาณ 40,000 ล้านบาทองค์การอนามัยโลก จึงได้เรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ความร่วมมือดำเนินการอย่างจริงจัง มีมาตรการและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่มียาใช้รักษาโรคติดเชื้อที่สำคัญต่างๆ อีกต่อไป ในความเป็นจริงการแก้ปัญหานี้จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง รวมทั้งประชาชนผู้บริโภค เพราะมิสามารถปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ/เอกชนเท่านั้น ในฐานะผู้บริโภค เรามาทำความรู้จักกับแบคทีเรีย กลไกการดื้อยา การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ตลอดจนปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบจากการดื้อยาของแบคทีเรียแบคทีเรียคืออะไรแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ชีวิตขนาดเล็ก มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น มีรูปร่างไม่ซับซ้อน แต่แตกต่างกันตามชนิดของเชื้อ เพิ่มประชากรได้อย่างรวดเร็ว บางชนิดเพิ่มจำนวนเป็นทวีคูณได้ทุก 15 นาที เช่น เชื้อเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือเรียกย่อๆ ว่า อี โคไล แต่เชื้อบางชนิดก็ต้องใช้เวลานานในการเพิ่มประชากร เช่น เชื้อวัณโรค มีการเพิ่มจำนวนทวีคูณทุก 15 ชั่วโมง เป็นต้น แบคทีเรียมีสารพันธุกรรม ที่สำคัญ คือโครโมโซม เพียง 1 ชุด ที่ควบคุมคุณสมบัติต่างๆ การเพิ่มจำนวนการปรับตัวในสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่รอด แบคทีเรียอาจมีสารพันธุกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น พลาสมิด ทรานส์โปซอน อินทิกรอน ซึ่งจะทำให้มีความสามารถต่างๆ รวมทั้งการดื้อยาเพิ่มขึ้น เป็นต้นแบคทีเรีย พบได้ทั่วไป ทั้งในดิน น้ำ อากาศ ในคน สัตว์ พืช มีทั้งชนิดที่มีประโยชน์ และชนิดที่ก่อโรค จึงมีการใช้ประโยชน์จากแบคทีเรียชนิดดีมาอย่างยาวนาน ส่วนแบคทีเรียก่อโรค มนุษย์ก็พยายามแสวงหาวิธีการรักษา จนการค้นพบยาปฏิชีวนะ ที่มีประสิทธิภาพในการฆ่า หรือยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียก่อโรคนั้นๆการดื้อยาปฏิชีวนะแบคทีเรียแต่ละชนิดถูกทำลายด้วยยาปฏิชีวนะ/ยาต้านแบคทีเรียแตกต่างกันไป และกลไกออกฤทธิ์เพื่อทำลายแบคทีเรียของยาก็แตกต่างกัน เช่น การทำลายผนังเซลล์ การยับยั้งการสร้างโปรตีนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเชื้อ การขัดขวางการทำงานของเอ็นไซม์ การขัดขวางการทำงานของสารพันธุกรรม การขัดขวางการแบ่งตัว เป็นต้น ดังนั้น เพื่อความอยู่รอด เชื้อจึงมีการพัฒนาความสามารถในการต้านทาน หรือทำลายฤทธิ์ของยาปฏิชีวนะ โดยกรรมวิธีต่างๆ ซึ่งเรียกว่า การดื้อยาการดื้อยาของแบคทีเรียจำแนกเป็น การดื้อยาตามธรรมชาติ เช่น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดไม่ถูกทำลายด้วยยาบางชนิดตั้งแต่ต้น เพราะมีคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของเยื่อหุ้มเซลล์ที่ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์ได้น้อย ไม่เพียงพอจะทำลายแบคทีเรียได้ การดื้อยาแบบนี้ไม่เป็นปัญหาต่อการใช้ยารักษาโรคติดเชื้อ เพราะเป็นความรู้พื้นฐานของการเลือกใช้ยาที่ทราบกันทั่วไป เช่น ยาเพนิซิลลิน ไม่มีผลต่อเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ ต้องใช้ยาแอมพิซิลลินในการรักษา เป็นต้นการดื้อยาของแบคทีเรียที่เป็นปัญหาต่อการใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรค คือ การกลายพันธุ์ และการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยาจากแบคทีเรียอื่นๆ จากสิ่งแวดล้อม อันเป็นกลไกการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของแบคทีเรียในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมนั่นเองการดื้อยาโดยการกลายพันธุ์ กระบวนการนี้ เกิดขี้นได้โดยการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเออย่างน้อย 1 ตำแหน่งบนโครโมโซม เกิดขึ้นได้ในอัตราต่ำประมาณ 1 เซลล์ในล้านเซลล์ ทว่า การที่แบคทีเรียเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างรวดเร็วดังกล่าวแล้ว จึงใช้เวลาไม่นานในการกลายพันธุ์ดื้อยาและเพิ่มประชากรเชื้อดื้อยา ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อมียาต้านแบคทีเรียชนิดใหม่ๆ การรักษาจะได้ผลดีในระยะแรก หากมีการใช้ยาอย่างพร่ำพรื่อ ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ต่อมามักจะพบว่าเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ได้ผลในการรักษา ทำให้ต้องคิดค้นยาใหม่ต่อไป การกลายพันธุ์เพื่อดื้อยานี้ เป็นการปรับตัวเพื่อการอยู่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยที่แบคทีเรียจำนวนมากจะถูกทำลายไปด้วยยาปฏิชีวนะ แต่หากความเข้มข้นของยาไม่เพียงพอ การใช้ยาไม่ต่อเนื่อง ก็จะมีเชื้อเพียงจำนวนน้อยที่รอดชีวิต และปรับตัวโดยการกลายพันธุ์ ในระดับยีน เพื่อไม่ให้ยาที่ใช้เข้าไปทำลายเชื้อได้ นั่นคือ เป็นการกลายพันธุ์เพื่อต่อต้านยาการดื้อยาโดยการได้รับยีนดื้อยา แบคทีเรียสามารถรับการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากแบคทีเรียต่างสายพันธุ์ได้หลายวิธี ได้แก่ โดยกระบวนการคอนจูเกชั่น ทรานส์ฟอร์เมชั่น และทรานส์ดักชั่น ทำให้ดื้อยาตั้งแต่ 1 ชนิด ถึงหลายชนิดได้การคอนจูเกชั่น เป็นการถ่ายทอดยีนดื้อยาโดยตรงระหว่างแบคทีเรีย 2 เซลล์ที่มีคุณสมบัติต่างกัน โดยเป็นเชื้อชนิดเดียวกัน หรือเชื้อต่างชนิดกันก็ได้ ตัวอย่างเช่นการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา (Salmonella spp.) ที่ดื้อยา กับเชื้อซัลโมเนลลาที่ไวต่อยา ก็จะทำให้เชื้อซัลโมเนลลาที่ ไวต่อยา รับยีนดื้อยา เปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา หรือการคอนจูเกชั่นระหว่างเชื้อซัลโมเนลลา ที่ดื้อยากับเชื้ออีโคไลที่ไวต่อยา ทำให้เชื้ออีโคไลเปลี่ยนเป็นเชื้อดื้อยา เพราะรับยีนดื้อยาจากเชื้อซัลโมเนลลาการแลกเปลียนยีนกันไปมา ก็ทำให้ยีนดื้อยาส่งต่อให้เชื้ออื่นๆ ที่เหมาะสมในสิ่งแวดล้อม หรือในร่างกายของผุ้ป่วย เช่น ทางเดินอาหาร ซึ่งมีแบคทีเรียประจำถิ่นอาศัยอยู่มากมายทรานส์ฟอร์เมชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีน โดยแบคทีเรียรับยีนที่อยู่เป็นอิสระในสิ่งแวดล้อมเข้าสู่เซลล์ ซึ่งยีนนั้นๆ จะชักนำให้แบคทีเรียแสดงคุณสมบัติของยีนต่อไป ในกรณีนี้ แม้แบคทีเรียที่มีแบคทีเรียที่มียีนดื้อยาจะตายไป เหลือแต่ยีน ยีนนั้นๆ ก็สามารถเข้าไปในเซลล์อื่นๆ แล้วชักนำให้ดื้อยาได้ทรานส์ดักชั่น เป็นกระบวนการถ่ายทอดยีนระหว่างแบคทีเรียโดยอาศัยแบคเทอริโอฟาจ หรือไวรัสของแบคทีเรียเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้นวิธีการนี้มีข้อจำกัดในการถ่ายทอดยีนดื้อยากลไกการดื้อยาของแบคทีเรียการดื้อยาของแบคทีเรีย เกิดขึ้นจากหลายกลไก ได้แก่แบคทีเรียสร้างเอนไซม์ทำลายยา ทำให้ยาสูญเสียประสิทธิภาพแบคทีเรียมีการเปลี่ยนแปลงบริเวณที่เป็นเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถจดจำบริเวณ นั้นได้รบกวนการซึมผ่านของยาเข้าสู่เซลล์แบคทีเรีย ทำให้ยาเข้าสู่เซลล์น้อย ไม่สามารถทำลาย แบคทีเรียได้สร้างสารชีวโมเลกุลที่แย่งจับกับเอ็นไซม์หรือเป้าหมายของยา ทำให้ยาไม่สามารถทำลายเชื้อได้กลไกดังกล่าวข้างต้นควบคุมด้วยยีนต่างๆ ที่เรียกว่ายีนดื้อยา ดังนั้น การที่แบคทีเรียสามารถถ่ายทอดยีน หรือแลกเปลี่ยนยีนระหว่างเชื้อแบคทีเรีย หรือรับยีนจากสิ่งแวดล้อมได้ ทำให้แบคทีเรีย 1 เซลล์ได้รับยีนมากกว่า 1 ยีนได้ อาจรับได้มากถึง 4 ยีน จึงมีคุณสมบัติดื้อยาหลายชนิดพร้อมกัน นำไปสู่ปัญหาการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมากปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการปรับตัวดื้อยาของแบคทีเรีย ได้แก่ การใช้ยาปฏิชีวนะไม่เหมาะสม การปนเปื้อนของยาใน น้ำ อาหาร และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น จึงต้องควบคุมปัจจัยเหล่านั้นอย่างเข้มงวดการดื้อยาข้ามกลุ่มการดื้อยาข้ามกลุ่มคืออะไร ? คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะโดยผลจากการได้รับสารที่เคมีมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน (triclosan) ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ประเภทสบู่ ยาสีฟัน ครีมอาบน้ำ ล้างมือ เป็นต้น ทว่ามีรายงานวิจัยพบว่าเมื่อใช้เป็นเวลานาน ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการปั๊มยาออกนอกเซลล์ ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อ และเชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด ปัจจุบัน องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางแล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ขนิด ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการลดการทำให้แบคทีเรียดื้อยา เพราะผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารเคมีเหล่านี้ ถูกใช้อย่างกว้างขวางในชีวิตประจำวันแบคทีเรียดื้อยาที่พบในประเทศไทยศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งขาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า พบแบคทีเรียดื้อยากลุ่มต่างๆ ที่สำคัญ ดังนี้เชื้ออะซินีโตแบคเตอร์ (Acinetobacter spp.) และเชื้อซูโดโมแนส แอรูจิโนซา (Pseudomonas aeruginosa) เป็นเชื้อที่มักพบในผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล(Methicillin resistant Staphylococcus aureus, MRSA และ Methicillin resistant coagulase negative S. aureus, MRCoNS)เชื้อเอนเทอโรคอคไคดื้อยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin resistant enterococci , VRE)เชื้อกลุ่มเอนเทอโรแบคเทอริเอซีที่สร้างเอนไซม์เบต้าแลคเทมเมสชนิดมีฤทธิ์กว้าง (Extended spectrum beta-lactamase , ESBL producing Enterobacteriaceae)Enterobacteriaceae , CRE)เชื้อสเตรฟโตคอคคัสดื้อยาเพนิซิลลิน (Penicillin resistant Streptococcus pneumoniae , PRSP)วัณโรคดื้อยาหลายชนิด (Multidrug resistant tuberculosis , MDR-TB และ Extensively drug resistant tuberculosis, XDR-TB)เชื้ออีโคไลที่ดื้อต่อยาโคลิสติน ซึ่งต้องศึกษาในรายละเอียดต่อไปว่า มียีนดื้อยาบนโครโมโซม หรือชนิดที่มียีน mcr-1 บนพลาสมิดแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชึพในปศุสัตว์สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ ได้สำรวจติดตาม ระหว่าง พ.ศ. 2545-2558 พบเชื้อดื้อยาในหมู ไก่ เป็ด และห่าน ได้แก่ เชื้ออีโคไล และ ซัลโมเนลลา พบเชื้อแคมพิโลแบคเตอร์ (Campylobacter spp.) ดื้อยาในเนื้อหมู และไก่ และบางตัวอย่างสามารถพบเชื้อซัลโมเนลลาที่ดื้อยาถึง 3 ชนิดพร้อมกัน เชื้อที่ตรวจพบนั้นดื้อยาปฏิชีวนะต่างๆ ดังต่อไปนี้อะมอกซีซิลลินอะมอกซีซิลลิน/คลาวูลานิคแอซิด แอมพิซิลลินเตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินสเตร็ปโตมัยซิน ไทรเมทโทพริมซัลฟาเมโธซาโซล กานามัยซินเจนตามัยซินเอนโรฟ็อกซาซินด็อกซีซัยคลินโคลิสตืน เซฟติโอเฟอ สเป็คติโนมัยซิน คลอแรมเฟนิคอล นาลิดิซิคแอซิด ซัยโพรฟล็อกซาซินแบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่า ในช่วงปี พ.ศ, 2549-2557 แบคทีเรียก่อโรคที่พบเป็นปัญหาสำคัญของสัตว์น้ำทั้งปลา และกุ้ง ได้แก่ เชื้อวิบริโอ ( Vibrio spp. ) ดื้อยาต่อไปนี้ ได้แก่เตตราซัยคลิน อ๊อกซีเตตราซัยคลินคลอแรมเฟนิคอลซัลฟาเมโธซาโซล ออกโซลินิตแอซิดเอนโรฟล็อกซาซินการใช้ยาปฏิชีวนะในพืชโรคกรีนนิ่งในพืชตระกูลส้ม เช่น ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะนาว เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ผลผลิตลดลง โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดแกรมลบ ชื่อแคนดิดาตัส ลิเบอริแบคเตอร์ (Candidatus liberibacter) ซึ่งก่อโรคในท่อลำเลียงน้ำและอาหาร ปัจจุบันเกษตรกรใช้ยาแอมพิซิลลินฉีดเข้าไปในท่อลำเลียงน้ำและอาหารของต้นพืชโดยตรงเพื่อการทำลายเชื้อ ยังไม่มีรายงานการดื้อยา แต่ควรต้องติดตามต่อไปว่ายาแอมพิซิลลินที่ใช้จะทำให้เชื้อก่อโรคพืชดื้อยาหรือไม่ และมีผลกระทบทำให้แบคทีเรียอื่นๆ บริเวณต้นพืชดื้อยาหรือไม่การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานผลการสำรวจยาปฏิชีวนะกลุ่มคลอแรมเฟนิคอล ไนโตรฟูแรน เพนิซิลลิน ซัลโฟนาไมด์ เตตราซัยคลิน ที่อาจตกค้างในเนื้อหมู กุ้ง ไก่ และเครื่องใน ระหว่าง พ.ศ. 2553-2557 พบว่ายาตกค้างในเนื้อสัตว์ที่ตรวจบางตัวอย่าง ได้แก่ซัลฟาไดมิดีนซัลฟาไดอะซีนซัลฟาไทอะโซลเซมิคาร์บาไซด์อ๊อกซาโซลิดิโนนซัลฟิซ็อกซาโซลผู้บริโภคจะทำอย่างไร ?ปัญหาแบคทีเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ นับว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก และเห็นได้ว่า การปรับตัวดื้อยา ปฏิชีวนะของแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แล้วเชื้อสามารถแพร่กระจายได้หลายวิธีการ ผู้บริโภคจำป็นต้องรู้เท่าทันปัญหา และไม่ร่วมสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดย  ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น  หากจำเป็นต้องใช้ ต้องใช้อย่างถูกต้อง เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคให้หมดจริงๆ ไม่เหลือให้ปรับตัวดื้อยาในร่างกาย  จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเกษตร และปศุสัตว์ ใช้เมื่อจำเป็น อย่างเหมาะสม  ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารเคมีที่เสี่ยงต่อการเกิดเชื้อดื้อยา ช่วยเฝ้าระวังการปนเบื้อนของยา เชื้อดื้อยา ในอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 รู้เท่าทันการทำบ้านให้ปลอดเชื้อโรค

ฉบับนี้ขอนำเรื่องเบาๆ มาเล่าสู่กันฟัง  เพราะจะได้พักสายตาและพักสมองจากบทความต่างๆ ที่เต็มแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระ  นอกจากนี้ ก็ใกล้วันสงกรานต์ ซึ่งแทบทุกบ้านก็จะทำความสะอาดบ้านและสรงน้ำพระพุทธรูปที่บ้าน  จึงถือโอกาสนี้นำเรื่องการทำบ้านให้ปลอดเชื้อโรคที่อ่านจากเว็บไซต์ webmed ซึ่งมีความรู้ที่มีประโยชน์และนำไปปฏิบัติได้ 1. เครื่องซักผ้าอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ คนทั่วไปมักเข้าใจผิดว่า เครื่องซักผ้าเป็นที่ที่สะอาด ปราศจากเชื้อโรค  แต่เครื่องซักผ้าที่สกปรกอาจเป็นแหล่งที่เก็บและแพร่เชื้อโรคได้  โดยเฉพาะแบคทีเรีย และไวรัส เพราะเชื้อโรคต่างๆ จากการซักผ้านั้นสามารถตกค้างอยู่ตามซอกมุม และส่วนต่างๆ ของเครื่องซักผ้า  นอกจากนี้ การซักผ้า ยังทำให้เครื่องเปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา  จึงเป็นที่เพาะเชื้อราได้เป็นอย่างดี ทำความสะอาดเครื่องซักผ้าสัปดาห์ละครั้ง ด้วยการใช้น้ำยาฟอกขาวที่ใช้ฟอกขาวผ้า  1 ถ้วย ใส่ลงไปในเครื่องซักผ้า แล้วก็เปิดเครื่องซักผ้าให้ทำงานตามปกติโดยไม่ต้องใส่เสื้อผ้า  แค่นี้ก็จะทำให้เครื่องซักผ้าสะอาดได้  2. ทำความสะอาดจุดที่มือสัมผัสมากหรือบ่อยๆ บริเวณที่มือจับหรือสัมผัส จะเป็นแหล่งที่เกิดเชื้อโรคได้ง่าย  ได้แก่ โทรศัพท์ รีโมทโทรทัศน์ รีโมทเครื่องปรับอากาศ  โต๊ะกาแฟทั้งที่บ้านและที่ทำงาน  ลูกบิดประตู  ราวเกาะ  สวิตซ์ไฟ และอื่นๆ ควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาด  น้ำยาล้างจาน  แล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาด  3. แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค  โทรศัพท์มือถือบริเวณเหล่านี้เป็นบริเวณที่เราใช้งาน ใช้มือสัมผัสมากที่สุด  จึงควรทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำหมาดๆ  หรือใช้น้ำยาทำความสะอาดเช็ด  หรือจะใช้ลูกยางบีบลมไล่ฝุ่นแล้วเช็ดด้วยผ้าอีกที  และต้องเช็ดหน้าจอให้สะอาด เพราะเดี๋ยวนี้โทรศัพท์เป็นระบบสัมผัส ที่สำคัญ เมื่อมีใครยืมใช้อุปกรณ์เหล่านี้ของเรา  ต้องทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากถูกยืมไปใช้  4. ทำความสะอาดอ่างล้างจาน อ่างล้างจานเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้มากในบ้าน  จึงควรทำความสะอาดอ่างล้างจานทุกครั้งหลังการใช้งาน  ที่สำคัญ ฟองน้ำและวัสดุทำความสะอาดจานชามนั้นจะสะสมเชื้อโรคและไขมันต่างๆ ไว้ในฟองน้ำ จึงต้องทำความสะอาดทุกวันหลังเลิกใช้งาน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีโคไล และซัลโมเนลลา การทำความสะอาดฟองน้ำล้างจานทำได้โดยล้างด้วยสบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อทุกวัน  หรือแช่ฟองน้ำให้เปียกแล้วนำเข้าในไมโครเวฟ เปิดไมโครเวฟนาน 2 นาที  น้ำจะร้อนเป็นการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดไปพร้อมๆ กัน  ถ้าไม่มีไมโครเวฟ ก็ต้มน้ำให้เดือด แล้วแช่ฟองน้ำด้วยน้ำร้อน ทิ้งไว้จนเย็นแล้วบีบเอาน้ำออก 5. กดชักโครกให้ถูกวิธี คนส่วนใหญ่เมื่อกดชักโครกมักจะไม่ปิดฝาครอบ  การไม่ปิดฝาครอบเวลากดน้ำ  จะเป็นการทำให้เกิดการกระจายของอุจจาระ ปัสสาวะจากโถส้วมฟุ้งกระจายไปทั่วในห้องน้ำได้  ควรทำความสะอาดโถส้วมทุกสัปดาห์  6. การทำน้ำยาทำความสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำได้ง่ายๆ และราคาถูก  โดย ใช้ น้ำส้มสายชู 1 ส่วน  น้ำเปล่า  9  ส่วนผสมกัน  แล้วบรรจุในขวดที่ฉีดน้ำเป็นฝอย    ใช้ฉีดตามอ่างล้างหน้าหน้า ชักโครก ห้องน้ำ  อ่างล้างจาน  และฉีดได้ทุกที่ที่ต้องการทำความสะอาด  น้ำยานี้จะช่วยชะล้างไขมันได้ดีอีกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 คู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม

 โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการ ข้อมูลนี้ผมได้นำมาจากแผ่นพับของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่ได้พิมพ์แจกประชาชนทั่วไป ที่ประสบปัญหา เชื้อราขึ้นในบ้านและสิ่งของ ตอนน้ำท่วม หวังว่าสมาชิกฉลาดซื้อที่ประสบกับอุทกภัยน้ำท่วม จะยังครองสติ ตั้งมั่นและไม่ยอมแพ้ต่อปรากฎการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ สามารถแก้ปัญหาและฝ่าฟันวิกฤติได้อย่างดี นำข้อมูลนี้ไปเป็นแนวทางในการทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย การทำความสะอาดบ้านเรือน โรงเรียนและอาคารหลังน้ำท่วม เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการหลังน้ำลดหลังจากที่สามารถเข้าไปในบ้านเรือนได้แล้วโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย สิ่งแรกที่ต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัยคือ • ตรวจเช็คไฟฟ้าก่อนเข้าไปสำรวจในบริเวณบ้าน ซึ่งอาจขอความช่วยเหลือจากการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าภูมิภาค • เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท • สำรวจพื้นที่ในบ้านอย่างระวังเพราะอาจมีสัตว์อันตรายที่หนีน้ำท่วมเข้าอยู่ในตัวบ้าน หลังจากนั้นจึงกวาดล้าง ทำความสะอาดพื้นและผนังบริเวณที่ถูกน้ำท่วม โดยใช้น้ำสะอาดฉีดล้างในเบื้องต้นเพื่อกำจัดเศษโคลนและขยะที่มากับน้ำท่วมที่ยังคงค้างอยู่ในบ้านและขัดล้างเช็ดถูด้วยแปรง กับน้ำผสมผงซักฟอกและล้างด้วยน้ำตามอีกครั้งจนสะอาด จากนั้นจึงทำการสำรวจพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อราเกาะอยู่ หรือเห็นเป็นคราบดำชัดเจน วิธีการจัดการกับเชื้อราในบ้าน หรือบนวัสดุอุปกรณ์ที่เกิดราขึ้นควรปฏิบัติดังนี้ • แยกวัสดุออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มของวัสดุติดเชื้อราที่ต้องทิ้ง และกลุ่มที่สองเป็นวัสดุติดเชื้อราที่สามารถทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่เกิดอันตราย • กลุ่มของวัสดุที่เกิดราที่ต้องทิ้งประกอบด้วยวัสดุที่มีรูพรุนเปียกน้ำ มีราปกคลุมทั้งชิ้น วัสดุที่เสียสภาพไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมถึงกระดาษ ไม้อัด ไม้ธรรมชาติที่เกิดรา เนื่องจากสปอร์ของเชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในรูพรุนของวัสดุเหล่านี้ ทำให้ไม่สามารถกำจัดเชื้อราได้หมด และเชื้อราสามารถที่จะแพร่กระจายบนวัสดุนั้นได้ใหม่ โดยกลุ่มวัสดุเหล่านี้รวมทั้งเสื้อผ้า หรือพรมที่เปียกน้ำหลายวันจนมีเชื้อราขึ้นเต็ม ต้องแยกเก็บไว้นอกบ้านในที่อากาศถ่ายเทสะดวกหรือบรรจุลงในถุงดำถ้ามีขนาดไม่ใหญ่มาก รอการจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องจาก กทม. อบต. หรือเทศบาลต่อไป • กลุ่มของวัสดุติดเชื้อรา ที่ปนเปื้อนผิววัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่โดยไม่เกิดอันตราย ได้แก่วัสดุที่ไม่มีรูพรุน เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ที่มีเชื้อราเล็กน้อยบนพื้นผิววัสดุ   สารที่ใช้กำจัดเชื้อรา• ใช้น้ำยากำจัดเชื้อรา ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพัฒนาขึ้น คือ “ราอะเวย์” ผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่ 02-470-9999 และรับทราบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://antifightflood.kmutt.ac.th หรือ http://aff.kmutt.ac.th • เตรียมทำน้ำยาเองโดยใช้สารฟอกผ้าขาว 1 ถ้วยตวงต่อน้ำ 1 แกลลอนหรือใช้สารฟอกผ้าขาว 50 มิลลิลิตรต่อน้ำหนึ่งลิตร • ห้ามผสมน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคที่มีสารฟอกผ้าขาวกับแอมโมเนียหรือน้ำยาเช็ดกระจก   ขั้นตอนการทำความสะอาดพื้นผนังหรือฝ้าที่มีเชื้อรา 1. สวมถุงมือยางชนิดหนา และสวมหน้ากากปิดจมูกก่อนทำงาน2. ทำความสะอาดพื้น/ผนัง โดยการขัดและล้างด้วยผงซักฟอกเพื่อขจัดคราบสิ่งสกปรกออก3. เทน้ำยากำจัดเชื้อราและเชื้อโรคใส่ขันหรือภาชนะพลาสติก ใช้ผ้าหรือฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราให้ชุ่ม เช็ดเชื้อราและคราบสกปรกที่ติดบนผนัง ออกให้หมด โดยระวังไม่ให้ราฟุ้งกระจาย ให้เช็ดไปในทิศทางเดียว เพื่อป้องกันราลุกลามไปยังบริเวณอื่น4. เช็ดให้ทั่วบริเวณที่ต้องการทำความสะอาด ไม่ควรนำผ้าที่เช็ดแล้วกลับมาใช้ใหม่5. เปลี่ยนน้ำยาเมื่อน้ำยาชุดแรกสกปรก6. ฉีดพ่นน้ำยาด้วยหัวฉีดแบบฝอยหรือใช้ฟองน้ำชุบน้ำยากำจัดเชื้อราเช็ดให้ชุ่ม ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อราที่อาจหลงเหลืออยู่ จนน้ำยาแห้ง7. ฉีดน้ำยาหรือเช็ดด้วยฟองน้ำผสมน้ำยาฆ่าเชื้อราอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง นานสามอาทิตย์ จนมั่นใจว่า ผนังและพื้นปราศจากเชื้อรา ทิ้งผนังไว้ให้แห้งอย่างน้อย 3-4 อาทิตย์ก่อนทาสีใหม่   การจัดการความชื้นภายในบ้านและทำบ้านให้แห้งหลังจากทำความสะอาดและจัดแยกวัสดุแล้วสิ่งที่สำคัญคือ ต้องเร่งดำเนินการกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งในระยะเวลาอันสั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อราลุกลาม เนื่องจากเชื้อราสามารถเติบโตและก่อให้เกิดปัญหาได้ใหม่ภายในเวลาสองถึงสามวันหากภายในบ้านยังมีความชื้นอยู่ การกำจัดความชื้นภายในบ้านและทำให้บ้านแห้งสามารถดำเนินการได้ดังนี้ • ใช้พัดลมเป่า เพื่อไล่ความชื้นภายในตัวบ้านให้ทั่ว• เปิดเครื่องปรับอากาศหลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วเพื่อดูดไล่ความชื้นออกจากห้อง• เปิดเครื่องดูดความชื้น  (Dehumidifier) เพื่อช่วยดูดความชื้นจากวัสดุภายในบ้าน   ที่มาของข้อมูลคู่มือกำจัดเชื้อราและเชื้อโรคหลังน้ำท่วม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 110 แอร์ฆ่าเชื้อโรค จำเป็นแค่ไหน

ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานี้ ผมได้รับคำถามจากสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับ “แอร์ฆ่าเชื้อ” หลายครั้ง เนื่องจากเครื่องปรับอากาศหลายยี่ห้อได้เสนอทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคโดยอ้างว่า สามารถฆ่าเชื้อได้ด้วยทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคระบาดต่างๆ เช่น SARS หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นต้น แอร์ฆ่าเชื้อมีจริงหรือไม่? ทำงานได้จริงหรือไม่? ทำไมมีโฆษณาแอร์ที่มีระบบฆ่าเชื้อด้วย? เลยถือโอกาสมาบอกเล่าให้ชาว ”ฉลาดซื้อ” ทราบ เชื้อโรคกับฟิลเตอร์“เชื้อ” หรือ “เชื้อโรค” ที่ทุกคนเข้าใจกันเป็นส่วนใหญ่คงจะหมายถึงจุลินทรีย์ต่างๆ ที่ให้เกิดโรคได้ ที่เรารู้จักกันดีก็ได้แก่แบคทีเรีย ไวรัส รา ยีสต์ เป็นต้น แต่ในความเป็นจริง จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทั่วไป ทุกที่ทุกเวลาและทุกชนิดที่กล่าวมา ส่วนใหญ่เป็นชนิดที่ไม่ทำอันตรายต่อมนุษย์ คือไม่ก่อให้เกิดโรค เชื้อที่ก่อโรคจริงๆ ก็สามารถพบได้ด้วยแต่จะมีอยู่น้อยมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวกจะพบได้น้อยมากๆ ถ้าถามว่า แอร์ที่ฆ่าเชื้อได้มีจริงหรือ ผมคงต้องตอบว่ามี แต่พวกที่สามารถฆ่าเชื้อหรือกรองเชื้ออย่างละเอียดนั้นจะไม่ได้มีใช้ทั่วไป แต่จะมีใช้เฉพาะแห่งเท่านั้น เช่นในห้องที่ต้องการการปลอดเชื้อปลอดฝุ่นอย่างมาก เช่น ห้องผ่าตัด ห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ห้องวิจัย ห้องทำแผงวงจรต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องเหล่านี้จะมีราคาแพงมาก บางครั้งเครื่องที่ฆ่าเชื้อหรือดักฝุ่น อาจไม่อยู่รวมกับเครื่องปรับอากาศ แต่จะแยกต่างหากเป็นระบบการกำจัดเชื้อจากอากาศ กลไกในการกำจัดจุลินทรีย์ที่มีในเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่นิยมใช้คือ การกรองด้วยฟิลเตอร์ ฟิลเตอร์ที่ใช้นี้จะไม่ใช่ฟิลเตอร์ที่กรองฝุ่นที่ติดมากับเครื่องปรับอากาศ ลักษณะจะเป็นคล้ายฟองน้ำบางๆ มีรูพรุน หากส่องแสงจะเห็นแสงลอดออกมาได้หรืออาจเป็นฟิลเตอร์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นคล้ายมุ้งลวดพลาสติก ฟิลเตอร์ที่ติดมากับเครื่องในลักษณะนี้จะไม่สามารถกรองจุลินทรีย์ได้เลย เนื่องจากจุลินทรีย์มีขนาดที่เล็กมากที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น (เฉลี่ยจะมีขนาดประมาณ 1 ไมครอนหรือ 1/1000 มิลลิเมตร) และจะหลุดรอดฟิลเตอร์ได้ทั้งหมด ฟิลเตอร์ที่จะกรองจุลินทรีย์ได้นั้นจะต้องเป็นฟิลเตอร์เฉพาะที่เรียกว่า HEPA filter (High Efficient Particulate Absorbing filter) มีลักษณะคล้ายกับไส้กรองอากาศในรถยนต์ (แบบที่เป็นใยสีขาว) แต่จะมีจำนวนชั้นเรียงทบกันหนากว่า สามารถกรองอนุภาคฝุ่น แบคทีเรีย รา ซึ่งที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.3 ไมครอนได้ อย่างไรก็ตามฟิลเตอร์ชนิดนี้จะไม่สามารถกรองไวรัสได้(ฟิลเตอร์ที่จะกรองไวรัสได้ต้องมีขนาด 0.1 ไมครอน) HEPA filter นั้นจะมีราคาแพง ในประเทศอเมริกา HEPA filter หนึ่งตารางฟุตหรือ 30 ซม x 30 ซม. หนาประมาณ 2 นิ้ว ราคาประมาณ 3,000 บาท และเช่นเดียวกับฟิลเตอร์ต่างๆ HEPA filter ก็มีอายุการใช้งานด้วย แม้เครื่องปรับอากาศมีระบบกรอง HEPA filter นั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้ได้ตลอด จะต้องมีการเปลี่ยนด้วย(ไม่สามารถล้างได้) และถ้าไม่เปลี่ยนก็จะไม่มีประสิทธิภาพในการดักจับจุลินทรีย์ได้อีกต่อไปอีกวิธีการหนึ่งที่มีการโฆษณาว่าใช้ระบบไอออนเพื่อฆ่าเชื้อรวมทั้งกำจัดกลิ่น หลักการทำงานของระบบไอออนนี้ก็คือจะสลายน้ำเพื่อให้ได้อนุมูลออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2-) และอนุมูลไฮดรอกซิล (OH-) ซึ่ง อนุมูลทั้งสองชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนหรือพอลิแซ็กคาไรด์ที่เป็นส่วนประกอบของผนังเซลล์หรือผิวของแบคทีเรียหรือไวรัสทำให้เกิดการทำลายแบคทีเรียหรือไวรัสได้ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีรายงานคำยืนยันใดๆ จากนักวิชาการอิสระ(ที่ไม่ใช่ผู้ผลิต) ที่ยืนยันคุณภาพอากาศที่ดีขึ้นจากการใช้เครื่องปรับอากาศแบบนี้ นอกจากนี้ในทางเดินหายใจของมนุษย์เราก็มีโปรตีนเช่นเดียวกัน จึงยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนด้วยหรือไม่ (Bolashikov & Melikov, Building and Environment 44(2009), 1378-1385) แอร์ไม่ได้มีไว้ฟอกอากาศผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้าใจความจริงอย่างหนึ่งคือ ในทุกที่บนโลกจะมีจุลินทรีย์อยู่แล้ว ในดิน ในน้ำ ในอากาศ มากน้อยต่างกันไป พบได้ทั้งในบ้าน ในห้องทำงาน ห้องประชุม ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเลี้ยงเด็กเล็ก จุลินทรีย์ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นพวกที่ไม่ก่อโรค ดังนั้น แม้ว่าจะมีแอร์หรือเครื่องฟอกอากาศจะสามารถทำงานได้จริงตามที่กล่าวอ้างก็จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะเมื่อเปิดประตูห้องออกไป เราก็จะเจอกับจุลินทรีย์สารพัดชนิด และที่สำคัญ เมื่อเราเปิดประตูห้อง จุลินทรีย์จากภายนอกก็จะปะปนเข้ามาในห้องได้ใหม่ และถ้าเป็นห้องที่เปิดเข้าออกบ่อยครั้ง แอร์ฆ่าเชื้อยิ่งไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ ไม่มีวันฆ่าจุลินทรีย์ได้หมดนั่นเอง และต่อให้ในห้องมีแอร์ฆ่าเชื้อโรคได้ หากคนที่นั่งข้างๆ หรือคนในห้องเป็นหวัด 2009 เราก็คงมีโอกาสติดได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นในการเลือกซื้อแอร์ สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือประโยชน์ที่สำคัญของแอร์นั่นเอง คือเป็นเครื่องทำความเย็นให้แก่ห้อง การเลือกซื้อ จึงควรให้ความสนใจในเรื่องของความสามารถในการทำความเย็น อัตราการใช้ไฟ (ควรเป็นเบอร์ 5) หรือความเงียบในการทำงานมากกว่า ส่วนเรื่องของการฆ่าเชื้อ น่าจะเป็นเรื่องรอง ซึ่งเป็นเรื่องการเพิ่มมูลค่าและความสามารถในการแข่งขันทางการตลาดของผู้ผลิต และจะทำให้เครื่องมีราคาแพงมากขึ้นโดยได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ถ้าผู้บริโภคยังยืนยันที่จะต้องการการฆ่าเชื้อในอากาศ เครื่องฟอกอากาศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าครับ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point