ฉบับที่ 228 ไม่จ่ายค่าเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิล็อคห้องไหม?

        หลายท่านน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับการเช่า โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ การจะเก็บเงินซื้อบ้านไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนจึงหันไปเช่าบ้าน เช่าห้องอยู่  ทั้งคนต่างจังหวัดมาหางานทำในเมืองใหญ่ และนักศึกษาทั้งหลายที่หาหอพัก อพาร์ทเม้นต์เพื่อเรียนใกล้มหาลัย  สิ่งที่หลายคนอาจสงสัยคือ ผู้ให้เช่าของเรา เขามีสิทธิในบ้านที่เราเช่าแค่ไหน เขาเป็นเจ้าของบ้านหรือห้องที่เราเช่าก็จริง แต่เมื่อทำสัญญาเช่าแล้ว เขายังมีสิทธิเข้ามาทำอะไรก็ได้ในทรัพย์ที่ให้เช่าหรือเปล่า ซึ่งในเรื่องนี้ ต้องบอกว่าไม่ใช่ เพราะกฎหมายยังคุ้มครองสิทธิของผู้เช่าอยู่นะครับ          เช่นในกรณีตัวอย่างที่จะยกมานี้ เป็นเรื่องของผู้เช่าที่เจอปัญหาหนี้สิน ทำให้หาเงินมาจ่ายค่าเช่าไม่ได้ตามสัญญา และต่อมาผู้ให้เช่าก็มาล็อคปิดห้องเช่า เช่นนี้ ศาลถือว่าในกรณีที่ผู้เช่าผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิรบกวนการครอบครองทรัพย์สินของผู้เช่า ไม่ว่าจะเป็นการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปจากสถานที่เช่า หรือล็อคกุญแจสถานที่เช่าไม่ให้ผู้เช่าเข้าไปยังสถานที่เช่าได้ เพราะว่าผู้เช่ายังคงมีสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินของตนอยู่ ถ้าผู้ให้เช่าไปรบกวนการครอบครองสิทธิของผู้เช่า ผู้ให้เช่าจะมีความผิดฐานบุกรุกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362  ดังเช่นตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1/2512         กรณีที่ผู้ให้เช่าใช้กุญแจพร้อมโซ่ล็อคบริเวณประตูรั้วและประตูบ้านที่ผู้เช่าครอบครอง ในขณะที่ผู้เช่าไม่อยู่และปิดบ้านไว้ การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุทำให้ผู้เช่าไม่สามารถเข้าอยู่ในบ้านได้ ถือเป็นการบุกรุก         และในปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ออกประกาศคุ้มครองผู้เช่า คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง  ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา   พ.ศ.  2561  ซึ่งในประกาศ ข้อ 4 กำหนดว่า ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทํากับผู้เช่าต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือความหมายในลักษณะทํานองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้ (8) ข้อสัญญาที่กําหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคาร  หรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน  หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า  ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า  หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ  อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร         ดังนั้น หากพบผู้ประกอบการรายใด ใช้ข้อสัญญาที่มีข้อกำหนดให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิปิดกั้นการเข้าใช้ประโยชน์อาคาร ยึดทรัพย์สินของผู้เช่า ถือว่าข้อสัญญานั้นใช้บังคับไม่ได้ เพราะขัดต่อประกาศดังกล่าว และมีความผิดตามกฎหมาย มีบทลงโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับต่อสัญญา 1 ฉบับ  และผู้บริโภคอย่างเราๆ หากจะไปทำสัญญาเช่าบ้าน เช่าห้องชุด ก็ต้องหมั่นตรวจสอบข้อสัญญาให้ดีก่อนทำสัญญานะครับ  หากเจอใครใช้สัญญาเอาเปรียบ ก็ควรใช้สิทธิร้องเรียน เพราะเราอย่าลืมว่าสัญญาเช่าที่เขาเอามาทำกับเรา ไม่ได้ใช้กับแค่เราคนเดียว ยังนำไปใช้กับทุกคนที่จะมาเช่าห้องหรือบ้านทุกคน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 ค่าเช่าบ้านปรับราคาทุกปี จะต่อรองอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ

ทุกข์จากที่อยู่อาศัยนั้น ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขได้โดยง่ายอย่างการซื้อสินค้าหรือบริการทั่วๆ ไปเพราะเกี่ยวพันกับความรู้สึกที่ผูกพัน หรือทำเลที่ตั้งอันเหมาะสม ยิ่งเป็นเรื่องของการเช่า ซึ่งมีเรื่องของอำนาจการต่อรองที่ผู้ให้เช่ามีมากกว่าผู้ขอเช่านั้น ยิ่งสร้างความอึดอัดคับข้องใจได้อย่างมาก ดังเช่น คุณสำราญ ที่กำลังกลัดกลุ้มใจ เพราะบ้านที่ตนเองเช่าเพื่ออยู่อาศัยกับครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2559 นั้น ถูกผู้ให้เช่าเรียกร้องค่าต่อสัญญา(ทำใหม่ทุกปี) อัตราใหม่ เพิ่มค่าเช่าห้อง และขอเก็บเงินค่าประกันเพิ่มขึ้น ลองมาดูรายละเอียดกัน- ค่าเช่ารายเดือน ห้องละ 2,000 บาท (จำนวน 2 ห้อง )- เงินประกัน จำนวน 30,000 บาท- ค่าภาษีโรงเรือน (ปี 2559 = 3,800 ปี 2561 เพิ่มเป็น 4,000 บาท)- ค่าทำสัญญา ปี 2559 ห้องละ 18,000 บาท (รวม 2 ห้อง 36,000 บาท) โดนขอปรับค่าทำสัญญาเพิ่มเป็น ห้องละ 25,000 บาท หรือเท่ากับ 50,000 บาท)- ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ จ่ายกับผู้ให้บริการเองเมื่อคุณสำราญถูกขอปรับค่าทำสัญญาใหม่ ในเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา จึงรู้สึกอึดอัด  และโทรศัพท์มาขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ ว่าจะเจรจากับผู้ให้เช่าอย่างไรดี สามารถอ้างเรื่องใดได้บ้าง เพื่อผ่อนเพลาค่าที่อยู่อาศัยที่ถูกปรับราคาเพิ่มขึ้น แต่ต้องไม่ทำให้ฝ่ายผู้ให้เช่าไม่พอใจจนยกเลิกสัญญาเช่า เพราะคุณสำราญค่อนข้างพอใจกับทำเลที่อาศัยในตอนนี้ ไม่อยากย้ายไปที่อื่น แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเรานำเงื่อนไขเรื่องที่ต้องทำสัญญาใหม่ทุกปีมาคำนวณเป็นรายเดือน ตอนปี 2559 มีค่าทำสัญญาที่ 18,000 บาท หรือเท่ากับเดือนละ 1,500 บาท เมื่อรวมกับค่าเช่าห้อง เดือนละ 2,000 บาท ก็เท่ากับว่าค่าเช่าห้องตกที่ห้องละ 3,500 บาท โดยเก็บเป็นเงินค่าทำสัญญาไปก่อนแล้ว 18,000 บาท (คุณสำราญเช่าสองห้อง เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเบ็ดเสร็จที่เดือนละ 7,000 บาท) มาปีนี้ 2561 ถูกเรียกค่าทำสัญญาใหม่ที่ 25,000 บาทหรือตกเดือนละ 2,083 บาท ถ้าบวกกับฐานค่าเช่าเดิมคือ 2,000 บาท เท่ากับต้องจ่ายเงินค่าเช่าเดือนละ 4,083 บาท หรือเพิ่มขึ้นมาอีกราว 15% วิธีการแบบนี้คือ การบอกให้เช่าโดยเรียกเก็บเงินค่าเช่าไปก่อนล่วงหน้าเป็นรายปี โดยเรียกมันว่าการทำสัญญาใหม่ ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง “ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561” โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น  ห้ามมิให้เก็บค่าเช่าล่วงหน้าเกินกว่า 1 เดือน หรือถ้าเรียกมันว่า ค่าทำสัญญา ตามประกาศฉบับนี้ ข้อ 4 (9) ระบุว่า กรณีเงินค่าทำสัญญา / ค่าต่อสัญญา ไม่ให้ใช้ข้อสัญญาที่กำหนดให้ผู้ประกอบการมีสิทธิเรียกเก็บค่าต่อสัญญาเช่าอาคารจากผู้เช่ารายเดิม  ดังนั้นเท่ากับว่า ค่าทำสัญญาหรือค่าต่อสัญญาเช่าผู้ประกอบการไม่มีสิทธิเรียกเก็บ ซึ่งข้อนี้ ผู้เช่าหรือคุณสำราญ น่าจะสามารถใช้เป็นข้อต่อรองได้ โดยอาจขอให้เรียกเก็บค่าเช่าแบบตรงไปตรงมา ว่าผู้ให้เช่าจะเรียกเก็บที่ราคาเท่าไร โดยไม่ต้องเรียกเก็บล่วงหน้าเป็นรายปีอย่างที่ทำอยู่ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย สำหรับเรื่องเงินค่าประกันความเสียหาย ตามประกาศระบุว่า ผู้เช่าจะต้องจ่ายผู้ให้เช่าหลังจากเซ็นสัญญาเช่า โดยเมื่อหมดสัญญาเช่าแล้ว ผู้ให้เช่าจะต้องคืนให้แก่ผู้เช่าในกรณีที่ผู้เช่าไม่ทำความเสียหายให้กับห้องเช่าหรือเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ที่ระบุในสัญญา ภายใน 7 วัน หลังจากการเช่าหมดสัญญา สำหรับกรณีคุณสำราญที่ต้องต่อสัญญาทุกปี ผู้ประกอบการอาจเก็บเงินประกันก้อนดังกล่าวไว้ก่อนได้ และหากต้องการเพิ่มก็เรียกให้จ่ายเพิ่มได้ แต่ทั้งนี้ตามประกาศ ในข้อ 4 (4) นั้นระบุว่า เงินประกันค่าเสียหายห้ามเรียกเก็บเกินกว่า 1 เดือนของอัตราค่าเช่ารายเดือน เมื่อคุณสำราญมีค่าเช่าห้องที่เดือนละ 2,000 บาท ค่าประกันความเสียหายจะเรียกเก็บได้ไม่เกิน 2,000 บาท   คุณสำราญจึงควรหาราคาค่าเช่าห้องที่พอเหมาะกับรายได้ของครัวเรือน และเจรจากับทางผู้ให้เช่า ให้เรียกเก็บในอัตราที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าเช่าล่วงหน้า ด้วยการคิดเป็นค่าต่อสัญญาและไม่เรียกเก็บเงินค่าประกันความเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 207 เช่าบ้าน แต่ไม่จ่าย ผู้ให้เช่าปิดห้องเลยได้ไหม

สวัสดีครับฉบับนี้ ผมขอเขียนถึงเรื่องสัญญาเช่า เพราะตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป หากทุกท่านติดตามข่าวกันจะทราบว่า สคบ. ได้ออกประกาศฉบับหนึ่ง เพื่อคุมธุรกิจเช่าอาคารเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีประโยชน์กับผู้บริโภคหลายประการ ทั้งเรื่องเงินประกันค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าได้ไม่เกินหนึ่งเดือน ผู้เช่าเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าได้โดยทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า 30 วัน  ค่าน้ำค่าไฟที่ต้องคิดตามจริง  ทำสัญญาเช่าแล้วต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้เช่า ห้ามคิดค่าต่อสัญญา เมื่อเลิกสัญญาหรือสัญญาเช่าสิ้นสุด เงินประกันต้องคืนภายใน 7 วัน เป็นต้น  นอกจากนี้  ยังมีอีกเรื่องที่ประกาศดังกล่าวได้คุ้มครองผู้เช่า เพื่อแก้ปัญหาการเข้าไปปิดกั้นการใช้ห้องเช่า หรืออาคาร ซึ่งเมื่อย้อนไปก่อนมีกฎหมายนี้ เคยมีเรื่องที่ทะเลาะกันจนขึ้นศาลฏีกา และศาลเคยตัดสินไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบ้านไม่ชำระค่าเช่าและไม่ยอมย้ายออกจากบ้านเช่า ผู้ให้เช่าไปล็อกกุญแจไม่ให้ผู้เช่าเข้าบ้าน หรือบางทีก็งัดบ้านแล้วทำการขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไป โดยผู้ให้เช่าไม่ทราบ เช่นนี้ ถือเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา คำพิพากษาฎีกาที่ 1/2512 “การที่เจ้าของบ้านใช้ไม้กระดานตีขวางทับประตูบ้านเช่า ที่ผู้เช่าได้ครอบครองอยู่ และโต้แย้งสิทธิตามสัญญาเช่า ทำให้ผู้เช่าเข้าบ้านไม่ได้ ถือว่าการกระทำของเจ้าของบ้านเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของผู้เช่า อันเป็นการรบกวนการครอบครองบ้านของผู้เช่า เจ้าของบ้านจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 362 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี”ดังนั้น กรณีผู้เช่าผิดนัดค่าเช่า ผู้ให้เช่าจึงไม่มีสิทธิไปปิดกั้น ล็อกกุญแจ หรือไปขนย้ายทรัพย์สินผู้เช่า แต่ต้องไปใช้สิทธิทางศาล บอกเลิกสัญญาและฟ้องขับไล่ ซึ่งจากฏีกาข้างต้น เห็นได้ว่าเป็นการบุกรุกเพราะอยู่ระหว่างที่สัญญาเช่ายังมีผลใช้บังคับ ผู้เช่าจึงมีสิทธิครอบครองใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าอยู่  แต่หากเป็นกรณีสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ศาลฏีกา ก็ได้ตัดสินไว้เช่นกันว่า ต้องไปใช้สิทธิทางศาล เพราะถึงแม้จะมีการตกลงกันไว้ในสัญญาเช่าโดยชัดแจ้งว่าเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปได้ แต่อย่างไรก็ดีการที่ผู้ให้เช่ากลับเข้าครอบครองพื้นที่เช่า และขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่าออกไปด้วยตนเอง ทำให้ผู้เช่าได้รับความเสียหาย การกระทำของผู้ให้เช่า จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เช่า คำพิพากษาฎีกาที่ 3379/2560 เหตุละเมิดในคดีนี้เกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าเข้าปิดร้านขับไล่โจทก์ผู้เช่าแล้วเอาคืนการครอบครองพื้นที่ และขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินออกจากพื้นที่ที่โจทก์เช่าและนำออกขายได้ราคาต่ำ นับแต่สิ้นสุดสัญญาเช่าและระยะเวลาที่ผ่อนผันให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินออกไป โจทก์ไม่ยินยอมออกไปจากพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินไป ถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าแล้วแต่ต้น ดังนี้แม้ตามข้อสัญญาเช่าระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์จะให้สิทธิจำเลยที่หนึ่งกลับเข้าครอบครองพื้นที่ที่เช่าและขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปได้ก็ตาม แต่การบังคับแก่บุคคลโดยการขับไล่หรือขนย้ายออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเมื่อมีการโต้แย้งสิทธิ จำเลยที่ 1 ต้องใช้สิทธิฟ้องร้องทางศาลและดำเนินการบังคับคดีโดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่ดำเนินการแต่กลับไปเข้าครอบครองพื้นที่เช่า หรือกระทำในสิ่งที่จำเลยที่ 1 เรียกว่าเข้าขอคืนพื้นที่ และเวลาต่อมายังได้ไปขนย้ายทรัพย์สินของโจทก์ออกไปโดยตนเองทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ตัดกระแสไฟฟ้าโจทก์ก็นำแบตเตอรี่มาใช้เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่างและใช้เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าและได้ซื้อน้ำแข็งมาให้ความเย็นเพื่อรักษาสินค้า การกระทำของฝ่ายโจทก์แสดงออกถึงความดื้อดึงที่คิดแต่จะอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าต่อไป ไม่คำนึงถึงพันธสัญญาที่ตนได้ทำไว้และไม่คำนึงถึงสิทธิประโยชน์ตลอดถึงความเดือดร้อนของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองพื้นที่เช่าและขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของโจทก์ออกไปจะเป็นการละเมิด แต่ถึงอย่างไรการกระทำก็ยังพออาศัยอ้างอิงไปตามข้อสัญญาจากเบาไปหาหนัก ซึ่งสำหรับสินค้าและทรัพย์สินในร้านของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะขนย้ายไปเก็บรักษาไว้ ในเวลาต่อมานั้นจำเลยที่ 1 ก็ได้มีหนังสือถึงฝ่ายโจทก์ให้โอกาสขนย้ายไปได้ และสำหรับการขายสินค้าและทรัพย์สินก็ปรากฏว่าจำเลยที่หนึ่งได้กระทำโดยการขายทอดตลาดมีลักษณะเปิดเผย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้คอยดูแลติดต่อสอบถามและรับเอาสินค้ารวมถึงทรัพย์สินคืนหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับการขายทอดตลาดนั้น อย่างไรจำเลยที่ 1 จึงขายทอดตลาดทรัพย์สินไป พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าเป็นกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เพราะความผิดของโจทก์ผู้ต้องเสียหายประกอบด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 442 โดยให้นำบทบัญญัติมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม  ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับนอกจากคำพิพากษาข้างต้นจะรับรองสิทธิของผู้เช่า และสิทธิในการเรียกค่าเสียหายจากการละเมิดแล้ว ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ก็มีการกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องนี้ว่า ผู้ให้เช่าจะทำสัญญาเช่า ต้องไม่ใช้ข้อสัญญาในทำนองว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิกระทําการปิดกั้นไม่ให้ผู้เช่าเข้าใช้ประโยชน์อาคารหรือมีสิทธิเข้าไปในอาคารเพื่อยึดทรัพย์สิน หรือขนย้ายทรัพย์สินของผู้เช่า ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ชําระค่าเช่า หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกี่ยวกับการเช่าอาคาร  หรือท่านผู้อ่าน เจอสัญญาเช่าที่เขียนในลักษณะเช่นนี้ ถือว่าข้อสัญญาดังกล่าวไม่มีผลใช้บังคับ และสามารถใช้สิทธิร้องเรียน ต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สคบ. ให้ดำเนินการตรวจสอบสัญญาเช่าดังกล่าวได้ เพราะการใช้ข้อสัญญาที่ขัดต่อประกาศ สคบ. ดังกล่าว มีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับครับ 

อ่านเพิ่มเติม >