ฉบับที่ 274 โดนแอบอ้างใช้บัตรเครดิต เสียหายเป็นแสน

        เสียงผู้บริโภคในวันนี้เป็นเรื่องราวที่หลายคน คงได้เห็นกันตามข่าวกันมาเยอะ กับกรณีที่ถูกพวกแก๊งมิจฉาชีพหลอก นำข้อมูลส่วนตัวของเราเพื่อไปทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว ซึ่งเรื่องของคุณน้ำตาลที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็เกี่ยวกับการโดนภัยออนไลน์หลอกเช่นกัน แต่มาในรูปแบบอีเมล         คุณน้ำตาลได้เล่าให้ฟังว่า เธอได้รับอีเมลจากทางเว็บไซต์ที่ให้บริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น จองที่พัก จองเที่ยวบิน หรือจองรถเช่าต่างๆ  รายหนึ่ง (ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเว็บไซต์ปลอมที่พี่มิจฉาชีพแอบอ้างขึ้นมา) โดยในอีเมลมีการระบุข้อความว่า “แจ้งให้รางวัลสำหรับการเข้าพัก” หลังได้รับอีเมลดังกล่าว ตัวเธอเองก็ไม่ได้คิดอะไรตอนนั้น จึงให้ข้อมูลบัตรเครดิต และ OTP สำหรับการยืนยันไป แต่พอผ่านไปไม่ถึง 10 นาที เธอก็เริ่มมีสติ! รู้สึกไม่สบายใจขึ้นมาได้ แต่...ก็ยังไม่ทันอยู่ดีเพราะเธอได้กรอกข้อมูลไปเรียบร้อยแล้วเลยคิดว่าคงโดนหลอกแล้วแน่ๆ เธอจึงรีบโทรติดต่อไปยังธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตเพื่อให้ยกเลิกการทำธุรกรรมต่างๆ ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากเผลอให้ข้อมูลไปทางอีเมล ทางคอลเซนเตอร์ แจ้งรับทราบเรื่องพร้อมทั้งบอกว่าจะระงับธุรกรรมที่เกิดขึ้นและออกบัตรให้ใหม่คุณน้ำตาล         ทว่าในเดือนต่อมาดันมีสเตทเม้นท์แจ้งว่ามียอดการใช้จ่ายที่บริษัทแห่งหนึ่งในรายการชำระค่าบัตรเครดิตของเธอ ยอดค่าใช้จ่ายคือ 234,682.96 บาท คุณน้ำตาลก็ตกใจสิ! ฉันแจ้งระงับไปแล้วนะ เลยรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ทันที พร้อมกับปรึกษากับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเกิดเรื่องราวแบบนี้ขึ้น เธอไม่ควรต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ใช่หรือ ซึ่งเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งกับทางคุณน้ำตาลว่า เมื่อแจ้งระงับการใช้บัตรแล้วก็ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นภายหลังการแจ้งระงับให้เธอสามารถใช้จ่ายได้ตามปกติเลย         แม้เธอได้รับข้อมูลว่าจบ แต่เอาจริงเรื่องก็ยังคงไม่จบ เพราะว่ายังคงมีอีเมลส่งมาจากธนาคารว่าเธอได้ซื้อของทางออนไลน์เพิ่มเติมอีก โดยมีชื่อผู้ซื้อเป็นชื่อชาวต่างชาติ ซึ่งไม่ใช่ชื่อเธอที่เป็นเจ้าของบัตร แถมการจัดส่งสินค้าก็ยังขึ้นที่อยู่จัดส่งอยู่ในประเทศโปแลนด์อีกด้วย     อีกทั้งต่อมาเธอได้รับจดหมายที่ส่งมาจากทางธนาคารเจ้าของบัตรเครดิตอีกครั้งว่า หลังจากได้มีการตรวจสอบแล้วยอดค่าใช้จ่ายใหม่ที่เกิดขึ้นธนาคารได้ระงับการเรียกเก็บเงินทั้งหมด แต่ทางคุณน้ำตาลต้องเป็นคนรับผิดชอบยอดค่าใช้จ่ายครั้งแรกคือ 234,682.96 บาท         คุณน้ำตาลจึงมาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไรดี?  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ แนะนำวิธีการแก้ไขให้ผู้ร้องเบื้องต้นดังนี้         1. ทำหนังสือปฏิเสธการชำระทั้งหมด ไปยังธนาคารดังกล่าว เนื่องจากผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ใช้จ่ายเอง (มิจฉาชีพเป็นผู้ทำธุรกรรม) พร้อมทั้งแจ้งธนาคารเพื่ออายัด และให้ผู้ร้องมีการทำสำเนาถึงธนาคารแห่งประเทศไทยและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกด้วย โดยทางมูลนิธิฯ จะติดตามเรื่องและช่วยในการไกล่เกลี่ยให้กับผู้ร้องเพื่อไม่ต้องชำระยอดค่าใช้จ่ายที่ผู้ร้องไม่ได้กระทำ         2. หากเกิดกรณีธนาคารฟ้องร้องได้อธิบายต่อผู้ร้องว่า อาจใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งแนะให้ผู้ร้องสู้คดี เพราะคำพิพากษาจะเป็นประโยชน์ต่อร้องเนื่องจากไม่ใช่ความผิดของทางผู้ร้องเอง         3. หากระหว่างนั้นผู้ร้องติดเครดิตบูโร แนะนำว่าถ้าสู้คดีในชั้นศาลเสร็จสิ้น ให้ไปแจ้งสาเหตุดังกล่าวต่อทางเครดิตบูโร          ดังนั้นจึงฝากเตือนใจ เตือนภัยผู้บริโภคให้ระมัดระวังให้มากเมื่อต้องทำข้อมูลทางออนไลน์ โดยเฉพาะไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวสำคัญหรือ OTP แก่ผู้ติดต่อที่ไม่มีตัวตนแน่ชัด ไม่น่าเชื่อถือ แนะนำว่า ให้ลองถามคำถามแรกกับตัวเองก่อนว่า บุคคลเหล่านี้เป็นมิจฉาชีพหรือไม่          นอกจากนี้ สิ่งที่ควรระวัง ก็คือพวกลิงก์ปลอม ก่อนกดลิงก์ถ้าไม่แน่ใจว่า จริง หรือ ปลอม แนะนำว่าให้หลีกเลี่ยงที่จะไม่กดไปเลยเพื่อความปลอดภัย หรือถ้ามาในรูปแบบแจกของรางวัลต่างๆ ให้เช็กกับทางเว็บไซต์ทางการเพื่อความแน่ใจดีกว่าก่อนที่จะกดเข้าไป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปัญหาการขอยกเลิกเที่ยวบิน ในสถานการณ์โรคระบาดร้ายแรง (Covid-19)

        ปัญหาการแพร่ของโรคระบาดร้ายแรง ของเชื้อไวรัส โควิด 19 ส่งผลให้ ผู้บริโภคที่ได้จองตั๋ว แพ็คเกจการท่องเที่ยว ซึ่งหมายถึง การเดินทางโดยเครื่องบิน และการจองที่พักในโรงแรม ผ่าน บริษัทตัวแทน พักไม่สามารถบินไปได้ เนื่องมาจากมาตรการของรัฐในการปิดสนามบิน เพื่อลดปัญหาการนำเชื้อไวรัสดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดในประเทศ ปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาที่สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนีให้ความสำคัญ         ข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนี ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และป้องกัน การล้มละลายของภาคธุรกิจ คือการให้ภาคธุรกิจสามารถออกคูปอง มูลค่าเท่ากับราคาของแพ็คเกจ เพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น และถ้าสถานการณ์ในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงดีขึ้น ก็สามารถนำคูปองชดเชยนั้นมาใช้ได้ มาตรการนี้ ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมีความเห็นพ้องกับรัฐบาลสำหรับมาตรการดังกล่าว ในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งเห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเลือกการได้รับการชดเชย ที่ผู้บริโภคพอใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกขอรับคูปอง หรือการขอคืนเป็นเงินสด         ถึงแม้ว่า ประเด็นทางกฎหมายจะชัดเจนแล้วสำหรับ กรณีการชดเชยความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมียอดเงินที่ยังคงค้างอยู่จาก การซื้อตั๋วโดยสารเครื่องบิน เป็นมูลค่าถึง 4,000 ล้านยูโร ผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ยังคงใช้เล่ห์เหลี่ยมในการเอาเปรียบ และคดโกงผู้บริโภค โดยหลอกผู้บริโภคว่า ไม่สามารถคืนเงินได้ หรือ การคืนเป็นเงินจะต้องเสียค่าธรรมเนียมที่สูงมาก และมักจะขอเวลาในการคืนเงินที่ยาวนานผิดปกติ          จากการติดตามสถานการณ์ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี จึงได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และอาสาเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้บริโภคและประชาชนที่เดือดร้อน          เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ของไทย ก็พบว่า ไม่แตกต่างกัน และในส่วนของคณะอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการ ก็มีมติเห็นชอบในการติดตามประเด็นเรื่องนี้ และกำลังรวบรวมข้อมูลการร้องเรียน ตลอดจนกำลังประสานกับคณะกรรมาธิการด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรในการจัดการปัญหา การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ต่อประเด็นการชดเชยความเสียหายที่ล่าช้า หรือ การไม่สามารถชดเชยความเสียหายในการยกเลิกสัญญาภายใต้สถานการณ์โควิด 19 ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ การล้มละลายของผู้ประกอบธุรกิจ ที่มีข้อเสนอว่า รัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้บริโภค ในกรณีที่ สายการบินขอให้ภาครัฐช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือมาตรการความช่วยเหลือทางการเงินอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสถาการณ์ โควิด 19 โดยเฉพาะสายการบินที่มีสัญชาติไทยเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัทสายการบินนกแอร์จำกัด (มหาชน) และสายการบินนกสกู้ต จำกัด ที่ขอจดทะเบียนเลิกบริษัท ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า        สำหรับข้อมูลการร้องเรียนกรณีปัญหาการยกเลิกตั๋วเครื่องบินทั้งจากการซื้อด้วยตนเอง มีผู้ร้องเรียน 172 ราย และซื้อผ่านเอเจนซี่ จำนวน 71 ราย จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (ข้อมูล ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2563)กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินด้วยตนเอง สามารถยุติข้อพิพาทได้ 40 ราย คิดเป็น 23 % กรณีการซื้อตั๋วเครื่องบินผ่านเอเจนซี่ สามารถยุติข้อพิพาทได้ 13 ราย คิดเป็น 18 %สำหรับการยุติเรื่องร้องเรียนมีหลายกรณีที่น่าสนใจ เช่น        ·  ได้รับเงินคืนเต็มจำนวน        ·  สามารถเก็บเครดิตไว้ใช้ครั้งต่อไป        ·  เก็บวงเงินไว้ใช้ภายใน 2 ปี        ·  สามารถเลื่อนตั๋วโดยสารได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย        ·  ได้รับเครดิตการบิน ชดเชย เป็น 120 %สำหรับการยุติเรื่องที่ซื้อตั๋วโดยสารผ่านเอเจนซี่ ก็มีลักษณะคล้ายๆกันไม่ว่าจะเป็น        · ได้รับเงินคืน        ·  ได้รับเงินคืนผ่านบัตรเครดิต        · ได้รับเงินคืน แต่ถูกหักค่าดำเนินการ/ค่าธรรมเนียม        ·  ได้รับเครดิตเงินคืน ที่สามารถใช้ได้ภายใน 1 ปี        ·  ได้รับการเลื่อนเที่ยวบิน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย          สำหรับรูปแบบการชดเชย เยียวยาผู้โดยสารนั้น จะสังเกตได้ว่า มีช่องทางการคืนเงิน ผ่านบัตรเครดิต ถ้าพิจารณาเพียงผิวเผิน ก็อาจเป็นที่น่าพอใจ แต่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึงอัตราดอกเบี้ยของบัตรเครดิต ที่ปัจจุบันคิดอัตราดอกเบี้ยไว้สูงมาก ตั้งแต่ 20- 28% และกรณีผู้โดยสาร ต้องการเงินสด การถอนเงินสดจากบัตรเครดิต ก็จะถูกคิดค่าธรรมเนียมการถอนแต่ละครั้ง ประมาณ 3 % จะเห็นได้ว่า ผู้บริโภค/ผู้โดยสาร มีต้นทุนสูงกว่ามากถ้าต้องการเงินสดที่มีวงเงินอยู่ในบัตรเครดิต         ดังนั้น ผมจึงคิดว่า การได้รับเงินชดเชยคืน ควรจะอยู่ในรูปแบบเงินสด เช็คเงินสด หรือ โอนเข้าบัญชี ธนาคารครับสำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเรื่อง การคืนตั๋วโดยสารเครื่องบินก็สามารถ ร้องเรียนผ่านศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้นะครับ เบอร์โทร 02-2483737 วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.00 น. – 17.00 น. หรือ สามารถร้องเรียนออนไลน์ ได้ที่www.consumerthai.org ตามหลักการที่ว่า ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่า บ่น 1,000 ครั้ง(แหล่งข้อมูล https://www.vzbv.de/pressemitteilung/pauschalreisen-gutscheine-bleiben-freiwillig-erstattungen-lassen-auf-sich-warten )

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 เครื่องบินดีเลย์ ทำอะไรได้บ้าง

ดิฉันตั้งใจเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปพนมเปญ โดยสายการบิน Lanmai Airline ในวันที่ 30 มกราคม ซึ่งมีกำหนดเวลาออกเดินทาง 11.20 น.  เช็กอินทุกอย่างเรียบร้อย ระหว่างที่รอขึ้นเครื่องก็ไม่เห็นความผิดปกติอะไรจนใกล้จะถึงเวลาเดินทาง จึงพบว่าเครื่องบินยังไม่เข้าเทียบที่ประตู และไม่ได้รับการชี้แจงอะไรจากพนักงานของสายการบินเลย จนต้องเดินไปถามกับพนักงานถึงสาเหตุที่เครื่องบินยังไม่มา ทั้งที่ได้เวลาเดินทางแล้ว แต่พนักงานไม่สามารถตอบคำถามได้ ปล่อยให้ผู้โดยสารนั่งรอกันไปเรื่อยๆ          คุณดวงดาวได้เล่าให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิฟังถึงเหตุการณ์ที่ต้องมาขอคำปรึกษา และเล่าต่อว่า หลังจากรอไปเรื่อยๆ จนผ่านไปราว 1 ชั่วโมง จึงมีพนักงานประกาศว่า เครื่องบินจะดีเลย์ไปจนถึง 19.00 น. คุณดวงดาวไม่สะดวกที่จะไปด้วยวิธีอื่น จึงจำต้องรอต่อไป และได้รับเป็นคูปองอาหารมูลค่า 500 บาท แต่เมื่อถึงเวลา 19.00 น. เครื่องบินก็ยังไม่มา พนักงานก็ปล่อยให้รอต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการแจ้งสิทธิหรืออธิบายสิ่งใดกับผู้โดยสาร จน 21.00 น. จึงได้ขึ้นเครื่องบิน ซึ่งช่วงระหว่าง 19.00 -21.00 น. นี้ ดิฉันอยากทราบว่า ผู้โดยสารมีสิทธิในส่วนของความล่าช้าที่เลยมานี้หรือไม่ เพราะแม้แต่น้ำดื่มก็ยังไม่มีให้ “รู้สึกว่าไม่แฟร์เลย”           แนวทางการแก้ไขปัญหาประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553                     สำหรับกรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมงอาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ, ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบิน          ในกรณีของคุณดวงดาว เนื่องจากประสงค์จะเดินทางต่อ จึงเข้าข่ายข้อ 3 คือได้รับการชดเชยค่าอาหาร แต่หากคุณดวงดาวยังรู้สึกว่า ทางสายการบินดูแลไม่ดีพอ สามารถร้องเรียนเพิ่มเติมได้ที่ กรมการบินพลเรือน (กพท.) E-mail : info@caat.or.th โทรศัพท์ 0-2568-8800

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 จองตั๋วเครื่องบินผ่านเอเยนต์ เครื่องล่าช้าขอเคลมได้

        มีหลายเรื่องที่บางคนอาจเห็นว่าเสียเวลา เช่นการร้องเรียนเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากการให้บริการที่แย่ของผู้ประกอบการ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่อยากให้คิดเช่นนั้น การร้องทุกข์หนึ่งครั้งย่อมดีกว่า การบ่นปากเปล่า เพราะไม่เพียงช่วยให้ผู้ให้บริการได้ตระหนักถึงปัญหาตลอดจนหาแนวทางแก้ไข ยังช่วยให้เกิดบทเรียนกับบุคคลอื่นอีกด้วย         เช่นกรณีของคุณเด่น ที่ใช้บริการจองเที่ยวบินเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตกับทาง Traveloka มีกำหนดเดินทางวันที่  8 กรกฎาคม ปีที่แล้ว เที่ยวบินกำหนดเวลาการเดินทาง 10.55 น. สายการบินไลอ้อนแอร์ ปรากฏว่าเที่ยวบินล่าช้ากว่ากำหนดไปเกือบสามชั่วโมง โดยไม่แจ้งสาเหตุแห่งความล่าช้าแก่ผู้โดยสาร คุณเด่นไม่สามารถทนรอต่อไปโดยไม่ทราบว่าจะได้เดินทางเมื่อไรกันแน่ จึงทำเรื่องขอเงินค่าโดยสารคืนกับทางสายการบิน ทางพนักงานสายการบินแจ้งว่าจะคืนเงินให้แต่ขอให้คุณเด่นติดต่อขอคืนเงินผ่านทางเว็บ Traveloka  “ดิฉันก็ทำเรื่องติดต่อประสานงานผ่านทั้ง สายการบินไลอ้อนแอร์และทางเว็บ Traveloka  แต่เหมือนทั้งคู่เกี่ยงกันไปมาไม่ยอมรับผิดชอบ สองเดือนแล้ว ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ทำหนังสือถึง บ.ไทย ไลอ้อนแอร์ บ.ทราเวลโลก้า และกรมการบินพลเรือน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ช่วยบรรเทาความเสียหายให้กับคุณเด่น เบื้องต้นทางทราเวลโลก้าแจ้งว่า ตรวจสอบกับทางสายการบินแล้ว ทางสายการบินแจ้งว่า “หมายเลขรหัสการจองของคุณเด่น” ไม่สามารถขอเงินคืนได้ เนื่องจากเที่ยวบินไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางศูนย์ฯ ได้พยายามติดตามเรื่องอย่างต่อเนื่องเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมกับทางคุณเด่น จนในที่สุดทางสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ แจ้งกลับมาว่า “กรณีขอเงินคืนจะสามารถย้อนหลังได้ไม่เกิน 90 วันและจะติดต่อกับทราเวลโลก้าก่อนว่าจะดำเนินการคืนเงินให้กับลูกค้าได้หรือไม่”         ย่างเข้าปลายเดือนมกราคม 2562 ทางสายการบินโทรแจ้งว่า หมายเลขรหัสจองของคุณเด่นได้รับการพิจารณาคืนเงินแบบ Full Refund ซึ่งกำหนดคืนภายใน 45 วัน โดยสายการบินแจ้งเรื่องไปที่เอเยนต์ซี่แล้ว ภายใน 30 วันให้ตรวจสอบการคืนเงินจากเอเยนต์ซี่ได้ จึงแจ้งเรื่องให้คุณเด่นทราบความคืบหน้าว่าจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 30 วัน ต่อมาเดือนมีนาคมเมื่อสอบถามกับคุณเด่นว่าได้รับการติดต่อคืนเงินหรือยัง จึงทราบว่า ยังไม่ได้รับการคืนเงิน จึงติดต่อกลับสายการบิน ได้รับแจ้งว่าสายการบินคืนเงินให้ทางทราเวลโลก้าแล้ว เมื่อสอบถามทราเวลโลก้า กลับระบุว่า ได้รับเงินจากสายการบินจริง แต่ไม่เต็มจำนวน จึงขอประสานงานกับทางสายการบินก่อนและจะแจ้งผลภายใน 24 ชั่วโมง สุดท้ายคุณเด่นก็ได้รับเงินค่าตั๋วคืนเต็มจำนวน แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือน คมนาคม เปิดสิทธิ์ชดเชยผู้โดยสารเที่ยวบินดีเลย์รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาสายการบินล่าช้าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ ดังนั้น กพท. กำชับไปยังทุกสายการบินให้เร่งแก้ไขปัญหารวมทั้งให้การดูแลผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบให้ครบถ้วนตาม เกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้โดยสารที่ประสบปัญหาเที่ยวบินดีเลย์สามารถขอใช้สิทธิ์ชดเชย ได้ดังต่อไปนี้สำหรับเที่ยวบินประจำภายในประเทศ ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางประจำภายในประเทศ พ.ศ. 2553กรณียกเลิกเที่ยวบิน หรือ ปฏิเสธการขนส่ง ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ2. ได้รับการดูแลจากสายการบิน อาหารและเครื่องดื่ม, โทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail, ที่พักพร้อมการขนส่งระหว่างสนามบินกับที่พัก (ถ้าต้องค้างคืน) และ3. ได้รับค่าชดเชย 1,200 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือสายการบินได้แจ้งการยกเลิกเที่ยวบินก่อนวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือ สายการบินเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินให้แก่ผู้โดยสารไปยังจุดหมายที่ระบุในบัตรโดยสารได้ภายในไม่เกิน 3 ชั่วโมง จากเวลาเดิมสำหรับกรณีเที่ยวบินล่าช้า ผู้โดยสารจะได้รับการปฏิบัติจากสายการบิน ดังนี้ 1. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 2 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน กรณีไม่ประสงค์จะเดินทางต่อ2. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 3 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 5 ชั่วโมงอาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น3. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 6 ชั่วโมง อาหารและเครื่องดื่ม และโทรศัพท์ / โทรสาร / E-mail , ได้รับเงินค่าโดยสารคืน หรือ เปลี่ยนเที่ยวบิน หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น และ, ค่าชดเชยเป็นเงินสดจำนวน 600 บาท เว้นแต่ สายการบินพิสูจน์ได้ว่าเที่ยวบินล่าช้าเกิดขึ้นเพราะเหตุสุดวิสัย4. เที่ยวบินล่าช้าเกิน 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ สายการบินต้องปฏิบัติต่อผู้โดยสารเช่นเดียวกับมาตรการในเรื่องการยกเลิกเที่ยวบินทั้งนี้ หากสายการบินไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนมาที่ กพท. E-mail : info@caat.or.th โทรศัพท์ 0-2568-8800ที่มา https://www.khaosod.co.th/economics/news_920242

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 ข้องใจทำไมบริษัทรับจองตั๋วเครื่องบินไม่แจ้งการเลื่อนเที่ยวบิน

ปัจจุบันการจองตั๋วเครื่องบินไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นอะไร มีบริการทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้เลือกมากมาย หนึ่งในผู้ให้บริการที่นิยมกันในเวลานี้ คือ ทราเวลโลกา(Traveloga) ซึ่งมีผู้ร้องรายหนึ่งปรึกษามาทางศูนย์พิทักษ์สิทธิว่าไม่ได้รับบริการที่ดี ควรทำอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า คุณตุลยา ใช้บริการจองตั๋วเครื่องบินกับ ทราเวลโลกา ทั้งหมด 3 ครั้ง สองครั้งแรกพบปัญหาว่า เมื่อสายการบินต้องเลื่อนเวลาการเดินทาง คุณตุลยาจะไม่เคยได้รับข้อมูลการแจ้งเตือนจาก ทราเวลโลกา เลย เหตุครั้งแรกเกิดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอไปตามตารางเวลาบินแต่พบว่า สายการบินประกาศเลื่อนการเดินทาง เมื่อสอบถามกับสายการบินว่าทำไมไม่มีการแจ้งล่วงหน้า “สายการบินแจ้งว่า ได้บอกข้อมูลเรื่องเลื่อนการเดินทางกับทราเวลโลกาแล้ว” เหตุดังกล่าวทำให้คุณตุลยาต้องเสียเวลาอยู่ที่สนามบินหลายชั่วโมง  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 เมษายน จองตั๋วเที่ยวบิน ภูเก็ต-กรุงเทพฯ เวลา 21.40 น. ครั้งนี้อาศัยว่ามีประสบการณ์ไม่ดีมาก่อน เลยโทรไปสอบถามกับสายการบินเอง พบว่าเที่ยวบินเลื่อนการเดินทางเป็น 20.35 น. ซึ่งถ้าไม่สอบถามเองเธอคงต้องพลาดโอกาสขึ้นเครื่องบินแน่ๆ  ทางคุณตุลยาอยากให้ทางทราเวลโลกาปรับปรุงเรื่อง บริการแจ้งเตือนลูกค้า และไม่อยากพลาดอีกเป็นครั้งที่สาม แนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ประสานไปที่ ทราเวลโลกา ผ่านทางระบบแชทหน้าเว็บไซต์ พนักงานให้ข้อมูลว่า ทราเวลโลกา มีระบบเรื่องการแจ้งเตือนเมื่อมีการเลื่อนเที่ยวบิน  โดยปกติสายการบินจะแจ้งตรงต่อผู้โดยสารเอง และหากแจ้งผ่านมาทางทราเวลโลกา บริษัทจะแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบผ่านทางอีเมล ทั้งนี้ทราเวลโลกา อยากทราบข้อมูลผู้ร้องเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร ตรงนี้คุณตุลยาไม่อยากเปิดเผยข้อมูลกับทราเวลโลกา เพราะเกรงว่า อาจมีปัญหาในภายหลัง อย่างไรก็ตามคุณตุลยาสอบถามเพิ่มเติมว่า กรณีนี้ใครเป็นฝ่ายผิด ผู้โดยสารหรือทราเวลโลกา หากขึ้นเครื่องไม่ทัน เรื่องนี้ต้องดูที่เงื่อนไขการให้บริการของตัวแทน หากบริษัทตัวแทนมีภาระหน้าที่ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ บริษัทก็เป็นฝ่ายผิดเพราะไม่แจ้งเตือน สำหรับกรณีทราเวลโลกา ทางบริษัทแจ้งว่า มีระบบแจ้งสองแบบ คือ สายการบินแจ้งเองกับสายการบินแจ้งผ่านทราเวลโลกา  ก็มองได้ว่าทราเวลโลกาเป็นฝ่ายผิด สามารถเรียกค่าเสียหายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 แอร์เอเซีย เรียกเก็บค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน

คุณยิ่งปลิวและลูกชายจองตั๋วสายการบินแอร์เอเซีย ไป-กลับ กรุงเทพมหานคร-นครศรีธรรมราช แต่มีเหตุไม่ได้ไปเพราะคุณแม่ของคุณยิ่งปลิวป่วยเข้าโรงพยาบาลกะทันหันคุณยิ่งปลิวจ่ายเงินค่าตั๋วเครื่องบินเป็นเงินทั้งสิ้น 5,568.96 บาท  แบ่งเป็นค่าตั๋วและภาษี 4,683 บาท ค่าประกันภัยและดำเนินการ 885.96 บาท โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยว่า หากผู้เอาประกันภัยจำเป็นต้องยกเลิกการเดินทางอันมีสาเหตุจากการเสียชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัส หรือการเจ็บป่วยของผู้เอาประกันภัย คู่สมรส บิดามารดาของผู้เอาประกันภัย บิดามารดาของคู่สมรส ปู่ ย่า ตา ยาย บุตร พี่ น้อง ของผู้เอาประกันภัย ทำให้ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดได้ จะให้ความคุ้มครองการบอกเลิกการเดินทางด้วยการคืนเงินชดเชยสูงสุดไม่เกินราคาค่าโดยสาร (ค่าตั๋ว + ภาษี + น้ำมัน)“แม่ผมป่วยอยู่โรงพยาบาล อยู่ในเงื่อนไขการคืนเงิน และทางแอร์เอเซียก็ไม่ขัดข้องใดๆ เพราะไม่ได้คืนเงินให้จริง แต่ให้เป็นเครดิตไว้สำหรับการเดินทางครั้งต่อไปภายใน 90 วัน แต่เมื่อคำนวณการคืนเงินให้ผู้โดยสาร ผมคิดว่าเอาเปรียบผู้โดยสารอยู่ดี” แนวทางแก้ไขปัญหา แอร์เอเซียเอาเปรียบหรือไม่ ลองมาพิจารณาโครงสร้างการหักเงินก่อนคืนเงินค่าโดยสารครั้งนี้ดู แอร์เอเซียหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบิน (749 บาท/คน/เที่ยว) เป็นเงิน 2,996 บาท หักค่าประกันและดำเนินการ 885.96 บาท รวมเงินที่หัก 3,881.96 บาท จากเงินที่จ่ายไป 5,568.96 บาท  คงเหลือเงินที่คืนให้แก่ผู้โดยสารเพียง 1,687 บาท“ผมทำประกันการยกเลิกเที่ยวบิน แต่ยังมาหักค่าธรรมเนียมยกเลิกเที่ยวบินอีก ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำประกันไปทำไม” คุณยิ่งปลิวถามด้วยความเคืองใจเมื่อไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดการคืนเงิน คุณยิ่งปลิวจึงส่งเสียงทักท้วงไปที่แอร์เอเซีย ผลปรากฏว่า แอร์เอเซียได้ดำเนินการชดเชยให้แก่ผู้ร้องโดยการส่งตั๋วบินไปกลับฟรีมาให้ แถมยังคืนเงินที่หักค่าธรรมเนียมการยกเลิกเที่ยวบินมาให้อีกด้วย ทำให้คุณยิ่งปลิวรู้สึกพอใจกับการชดเชยของแอร์เอเซียเป็นอย่างมากใครที่เจอปัญหาทำนองนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิกันนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 116 สิทธิของคนชอบบิน

ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการสายการบินภายในประเทศหลายราย ถูกสายการบินแจ้งเลื่อนเที่ยวบินโดยไม่มีคำชี้แจงใดๆ บางรายเจอปัญหาโดนเลื่อนเที่ยวบินบ่อยครั้ง ทำให้เกิดความเสียหายทั้งในเชิงทางการท่องเที่ยวและทางธุรกิจที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ดังนั้น ฉบับนี้จึงขอนำประกาศของกระทรวงคมนาคม “สิทธิของผู้โดยสารซึ่งใช้บริการสายการบินของไทยในเส้นทางบินประจำภายในประเทศ” ที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้โดยสารและสายการบินของไทยที่จะได้รับความคุ้มครองเป็นขั้นพื้นฐานใน 3 กรณียอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศมักถูกเอาเปรียบ มานำเสนอ เผื่อเอาไว้ให้คุณผู้อ่านและเพื่อนพ้องได้ใช้เรียกร้องสิทธิกับสายการบินภายในประเทศกันครับ ซึ่งหากสายการบินใดได้กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารของตนในกรณีต่างๆ ไว้ในระดับที่ดีกว่าและไม่ขัดหรือแย้งกับมาตรการขั้นพื้นฐานนี้ ให้สายการบินนั้นใช้มาตรการของตัวเองเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารได้3 ปัญหายอดฮิตที่ผู้โดยสารสายการบินในประเทศต้องได้รับการปกป้องสิทธิ1. ถูกสายการบินปฏิเสธการขนส่ง(Denied Boarding) คือ การที่สายการบินปฏิเสธที่จะรับผู้โดยสารเพื่อเดินทางไปกับเที่ยวบินที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร แม้ว่าผู้โดยสารจะได้มาแสดงตนเพื่อการขึ้นเครื่อง(Check in) ภายในระยะเวลาที่สายการบินระบุไว้ล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร รวมทั้งการแจ้งผ่านสื่ออิเล็กทรอนิคส์ เช่น เว็บไซต์ หรือ เอสเอ็มเอส(SMS) ฯลฯ หรือถ้ายสายการบินไม่ได้ระบุเวลาไว้ ให้ถือเวลาไม่น้อยกว่า 45 นาทีก่อนเวลาที่ระบุไว้ในตารางการบินที่ประกาศ2. ถูกยกเลิกเที่ยวบิน (Fight Cancellation)  คือ การที่สายการบินยกเลิกการบินเที่ยวบินใดๆ ตามตารางการบินที่ประกาศไว้ ซึ่งรวมถึงการยกเลิกเที่ยวบินพิเศษ(Extra Flight)3. เที่ยวบินล่าช้า (Filght Delay)  คือ กรณีทำการบินเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนดในตารางการบินที่ประกาศไว้เกินควร   กรณีที่ได้รับความคุ้มครองหรือยกเว้น มาตรการคุ้มครองสิทธิและข้อยกเว้น ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน สิทธิได้รับเงินชดเชย จำนวน 1,200 บาท ให้สายการบินจ่ายเป็นเงินสด หรือโดยการโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร หรือเช็คธนาคาร แต่หากจ่ายเป็น Travel vouchers และ/หรือบริการอื่นๆแทน จะต้องให้ผู้โดยสารลงนามตกลงยินยอมด้วย(ถ้าไม่เอาอย่าเผลอเซ็นชื่อเด็ดขาด) ถูกยกเลิกเที่ยวบิน ข้อยกเว้นที่จะไม่ได้รับเงินชดเชย   (ก)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 3 วัน พร้อมทั้งแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกการเดินทางต่างๆ (ข)     สายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินไปยังผู้โดยสารก่อนกำหนดวันเวลาเดินทางไม่ถึง 3 วัน แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินใหม่ให้ ซึ่งจะถึงจุดหมายปลายทางที่ระบุในบัตรโดยสารเร็วหรือช้ากว่ากำหนดวันเวลาเดิมไม่เกิน 3 ชั่วโมง (ค)     สายการบินพิสูจน์ได้ว่าการยกเลิกเที่ยวบินเกิดจากเหตุสุดวิสัย คือ สถานการณ์ทางการเมือง สภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบิน การรักษาความปลอดภัย เหตุการณ์ใดๆที่มีหรืออาจมีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการทำการบินของอากาศยานและผู้โดยสาร การนัดหยุดงานหรือการกระทำใดๆ ของพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของสายการบิน ซึ่งมีผลกระทบต่อการปฏิบัติการบินของสายการบิน และเหตุสุดวิสัยอื่นใดที่สายการบินสามารถพิสูจน์ได้ว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมของสายการบิน หมายเหตุ : ภาระการพิสูจน์ว่าสายการบินได้แจ้งข่าวการยกเลิกเที่ยวบินหรือไม่ และได้แจ้งข่าวเมื่อใด เป็นภาระของสายการบินผู้ให้บริการ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 3 ชั่วโมง สิทธิทางเลือกในการรับคืนค่าโดยสาร, เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน  หรือ เดินทางโดยการขนส่งทางอื่น (เลือกได้อย่างใดอย่างหนึ่ง)   ทางเลือกที่ 1 การรับคืนค่าโดยสารและค่าธรรมเนียมอื่นใดที่ถูกเรียกเก็บเต็มจำนวนที่จ่ายไปสำหรับการเดินทาง หรือส่วนของการเดินทางที่ยังไม่ได้ใช้เดินทาง รวมถึงการเดินทางหรือส่วนของการเดินทางที่ได้เดินทางไปแล้วแต่ไม่สมประโยชน์ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน รวมทั้งการเดินทางในเที่ยวบินกลับไปยังจุดเริ่มต้นการเดินทางของผู้โดยสารนั้นเองโดยเร็วที่สุด   ทางเลือกที่ 2 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบินภายในวันเดียวกัน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารโดยเร็วที่สุด   ทางลือกที่ 3 เปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ไปยังจุดหมายปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารในวันถัดไป หรือวันอื่นตามความสมัครใจของผู้โดยสาร   ทางเลือกที่ 4 เดินทางโดยการขนส่งทางอื่นที่เหมาะสมเพื่อไปยังจุดหมาย ปลายทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสาร หรือจุดใกล้เคียงแล้วแต่ความเหมาะสม   หมายเหตุ : การเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้โดยสารและที่นั่งว่างที่สายการบินสามารถจะจัดให้ได้ หากค่าโดยสารในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินนั้นสูงกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระแล้ว สายการบินจะไม่เรียกเก็บค่าโดยสารหรือค่าบริการเพิ่มอีก และหากค่าโดยสารในการเปลี่ยนเที่ยวบินนั้นต่ำกว่าค่าโดยสารที่จ่ายไปแล้ว สายการบินจะต้องจ่ายเงินส่วนต่างคืนให้กับผู้โดยสารภายใน 7 วัน และในกรณีที่สายการบินเสนอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินไปยังสนามบินอื่นที่ใกล้เคียงกับจุดหมายปลายทางเดิม สายการบินจะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากสนามบินใหม่ไปยังสนามบินที่เป็นจุดหมายปลายทางเดิมให้แก่ผู้โดยสารด้วย   กรณีการเปลี่ยนแปลงการเดินทางโดยการขนส่งทางอื่น หากค่าเดินทางสูงหรือต่ำกว่าค่าโดยสารที่ได้ชำระไปแล้วก็ให้ใช้วิธีชดเชยลักษณะเดียวกัน ถูกปฏิเสธการขนส่ง   สิทธิที่จะได้รับการดูแล 1.ผู้โดยสารมีสิทธิได้รับการดูแลจากสายการบิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในเรื่องต่อไปนี้ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป (ก)     อาหารและเครื่องดื่ม ตามความเหมาะสมกับระยะเวลารอขึ้นเครื่อง ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ข)     ที่พักแรม สำหรับการพำนักตั้งแต่หนึ่งคืนขึ้นไปตามความจำเป็นและเหมาะสม(กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 1 วัน (ค)     การขนส่งระหว่างสนามบินและที่พักแรม (กรณีการเปลี่ยนเส้นทางการบินมีกำหนดเวลาการออกเดินทางล่าช้ากว่ากำหนดเวลาตามตารางการบินเดิมเกินกว่าหนึ่งวัน) ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป 2.ผู้โดยสารมีสิทธิโทรศัพท์ หรือโทรสาร หรือส่งอีเมล์ที่สายการบินจัดให้ ตามความจำเป็นและเหมาะสมไม่เกิน 2 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ถูกปฏิเสธการขนส่ง ถูกยกเลิกเที่ยวบิน เที่ยวบินล่าช้าไม่ว่าเป็นเวลามากน้อยเพียงใด   3.สายการบินจะต้องให้การดูแลเป็นพิเศษแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่เดินทางโดยลำพัง และคนพิการ การรักษาสิทธิ : กรณีที่สายการบินไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถร้องเรียนได้ที่ กรมการบินพลเรือน (กรมการขนส่งทางอากาศเดิม)เลขที่ 71 ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร กรุงเทพฯ 10120 โทรศัพท์: 02-287-0320-9 โทรสาร: 02-286-3373   หากมีความเสียหายมากกว่าที่ได้รับจากมาตรการคุ้มครองสิทธิฯขั้นพื้นฐานนี้ ผู้โดยสารสามารถใช้สิทธิฟ้องร้องสายการบินเป็นคดีผู้บริโภคได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 634 “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดต่อคนโดยสารในความเสียหายอันเกิดแก่ตัวเขา หรือในความเสื่อมเสียอย่างใดๆอันเป็นผลโดยตรง แต่การที่ต้องชักช้าในการขนส่ง เว้นแต่การเสียหายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือเกิดแต่ความผิดของคนโดยสารนั้นเอง”      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 96 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตร ผลิตภัณฑ์ไม่น่าชื่นชมแห่งปี กลับมาอีกครั้งกับการประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดแย่ประจำปี 2008 โดยนิตยสาร Choice ของประเทศออสเตรเลีย ปีนี้มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขำๆ มาฝากสมาชิกฉลาดซื้อกันพอเรียกน้ำย่อย ก่อนเราจะมีการประกาศรางวัลผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณา ยอดเยี่ยม/ยอดแย่ของเราเองในเดือนเมษายน ดังนี้ รางวัลแรกนั้น Choice มอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Vodka Mudshake Original Chocolate เครื่องดื่มชนิดใหม่ รสชาติและสีสันหวานใสโดนใจวัยโจ๋ ที่กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในหมู่เด็กหญิงออสซี่วัย 12 – 17 ปี ทั้งๆ ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม จากการทดสอบกับวัยรุ่นอายุ 18 – 19 ปีจำนวน 78 คน พบว่าเด็กเหล่านี้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่รู้ว่าเครื่องดื่มรสชาติเหมือนมิลค์เชคชนิดนี้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับเมืองไทย ออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อเหล้า แต่ผู้ผลิตก็ยังอุตส่าห์หาวิธีขายเหล้าให้กับเด็กจนได้ ส่วนเครื่องดื่มอีกชนิดหนึ่งก็เป็นสินค้าจอมอำไม่แพ้กัน ได้แก่ น้ำวิเศษเสริมวิตามิน Glaceau Vitamin Water ที่ตั้งชื่อให้เข้าใจว่ามีส่วนประกอบของน้ำผลไม้ และหรือเป็นน้ำที่ดื่มเพื่อสุขภาพนั้น มีน้ำผลไม้จริงๆ ไม่เกินร้อยละ 1 ด้วยซ้ำ และยังมีน้ำตาลถึงหนึ่งในสามของปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายของผู้หญิงต้องการต่อวันด้วยซ้ำ เท่านั้นไม่พอ น้ำดื่มมหัศจรรย์ที่ว่านี้ยังท้าทายอำนาจรัฐด้วยการเขียนข้อความว่า “ตามกฎหมายแล้วเราไม่สามารถใช้ข้อความที่กล่าวอ้างเกินจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของสารอาหารในขวดนี้ได้” ว่าแล้วก็ตามด้วยข้อความเกินจริงอีกเป็นชุด   องค์กรผู้เลี้ยงไก่ อย่าง Australian Egg Corporation ก็ได้รับรางวัลยอดยี้กลับบ้านไปเช่นกัน เพราะองค์กรที่ดูแลผู้ผลิตไข่ไก่จำนวนร้อยละ 90 ของประเทศนี้ยินยอมให้ผู้ผลิตสามารถติดฉลากว่าไข่ไก่ของตนเองเป็นไข่ที่ได้จากการเลี้ยงไก่แบบฟาร์มเปิด (Free-range) ได้หน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านเงื่อนไขจากจะใช้ฉลาก “เลี้ยงในฟาร์มเปิด” นั้นได้ เกณฑ์ของสมาคมผู้เลี้ยงไก่ในฟาร์มเปิดของออสเตรเลียกำหนดว่า จำนวนไก่ต่อหนึ่งตารางเมตรไม่ควรเกิน 7 ตัว แต่องค์กรนี้กลับอนุญาตให้เลี้ยงได้ถึง 14 ตัว นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการตัดปากไก่ และลดขนาดของโรงเลี้ยงไก่ลงด้วย เรื่องอำยังไม่หมด อุปกรณ์ทำให้ตัวแห้งหลังอาบน้ำ Aerobe Luxury Body Dryer ซึ่งทำหน้าที่คล้ายไดร์เป่าผมขนาดใหญ่ที่ติดไว้บนเพดานให้มันเป่าลมร้อนลงมา เรียกว่า ไฮโซทีเดียว แต่คุณสามารถเป็นเจ้าของมันได้ด้วยเงิน 995 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 24,000 บาท) และค่าติดตั้งอีก 300 เหรียญ (ประมาณ 8,400 บาท) โฆษณาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอ้างว่า มันจะช่วยลดโลกร้อน เพราะคุณไม่ต้องซักผ้าเช็ดตัวอีกต่อไป และประหยัดด้วยเพราะคุณไม่ต้องซักและปั่นแห้งผ้าเช็ดตัวสัปดาห์ละสองครั้ง อีกต่อไป แต่ทีมงานของนิตยสารลองคำนวณดูแล้วพบว่า การซักผ้าเช็ดตัวนั้นใช้พลังงานน้อยกว่าเจ้าเครื่องนี้มากทีเดียว สุดท้ายเป็นเรื่องของความรักที่ไม่สมหวังกันบ้าง เตารีดไอน้ำยี่ห้อ Cole มาพร้อมสโลแกนของแบรนด์ที่บอกว่า “แล้วคุณจะรักโคล” เป็นเตารีดที่ทีมงานของนิตยสารนี้พิสูจน์แล้วว่าประสิทธิภาพไม่น่าปลื้มที่สุด แม้ราคามันจะน่ารักอยู่บ้าง (ประมาณ 800 บาท) แต่เวลารีดแล้วไม่ลื่นไหล รอยยับรอยย่นก็ไม่หายไป แถมยังได้เพิ่มมาอีกด้วย ดังนั้นยังไงๆ คุณก็คงไม่รัก Cole แน่นอน คอนเฟิร์ม   ล้มละลายเพราะส่งลูกเรียนเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วที่ออสเตรเลีย เมื่อสถิติระบุว่า โรงเรียนเอกชนมีการฟ้องผู้ปกครองในคดีล้มละลายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ในปีที่ผ่านมา โรเจอร์ เมนเดลสัน (ข้อมูลนี้ของบริษัทที่ทำหน้าที่ทวงหนี้ให้กับโรงเรียนเอกชนในออสเตรเลียกว่า 400 โรง) บอกว่าจะในแต่ละสัปดาห์ จะมีบ้านที่ถูกยึดไปขายใช้หนี้ให้กับโรงเรียนเอกชนประมาณ 2 -3 หลังข่าวบอกว่าโรงเรียนจำนวนไม่น้อยมีผู้ปกครองค้างค่าเล่าเรียนบุตรหลานอยู่ประมาณโรงเรียนละ 1 -2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 23 – 46 ล้านบาท) และผู้ปกครองบางรายเป็นหนี้โรงเรียนถึง 70,000 เหรียญ ( 1.6 ล้านบาท) ทีเดียว ก่อนหน้านี้เมื่อโรงเรียนเอกชนเหล่านี้พอจะมีกำไรอยู่บ้าง ก็สามารถที่จะแบกภาระหนี้เหล่านี้ไว้ได้โดยไม่ปริปากบ่นหรือทวงใดๆ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอยลงทุกขณะอย่างนี้ หลายๆ โรงเรียนก็เริ่มหันมาใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างที่บอก โรเจอร์บอกว่าการจ้างบริษัททวงหนี้โดยโรงเรียนเอกชนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะโรงเรียนเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากบริษัท ที่ผู้บริหารต้องทำทุกอย่างเพื่อความมั่นคงทางการเงินเช่นกัน ข่าวเขาบอกว่าสปอนเซอร์รายใหญ่ของการเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนแพงๆ เหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นคุณตาคุณยายวัยเกษียณที่ได้รับเงินเดือนผู้สูงอายุจากรัฐ แต่ช่วงนี้ที่ลูกๆ หลานๆ ต้องลำบากกันหน่อย เพราะรัฐบาลเขาปรับลดเงินเดือนของผู้สูงอายุลงแล้วนั่นเอง ตกลงใครเมากันแน่เหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นบนเครื่องบินของสายการบินแอโรฟล็อต หรือสายการบินแห่งชาติของรัสเซีย ในเที่ยวบิน 315 จากมอสโควไปนิวยอร์ค ผู้โดยสารประมาณร้อยกว่าคน ยืนยันเสียงแข็งว่ายังไงก็ไม่ยอมให้กัปตันอเล็กซานเดอร์ เชพเลฟสกี นำเครื่องดังกล่าวขึ้นเด็ดขาด เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะว่าตอนที่กัปตันกล่าวทักทายผู้โดยสารและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินดังกล่าวนั้น เขาแทบจะพูดไม่เป็นภาษา เรียกว่าผู้โดยสารงงกันทีเดียวว่าแกกำลังพูดภาษารัสเซียหรืออังกฤษกันแน่ ว่าแล้วผู้โดยสารทั้งหลายก็ลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตนเองด้วยการขอให้เปลี่ยนกัปตันโดยด่วน ในขณะที่กัปตันคนเดิมนั้นก็ยังไม่ยอมลุกออกมาจากห้องนักบิน แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง กัปตันก็เดินโซซัดโซเซออกมา พร้อมกับใบหน้าและดวงตาที่แดงก่ำ แถมยังต่อรองกับผู้โดยสารว่า “ให้ผมไปด้วยเถอะนะ รับรองว่าผมจะนั่งเฉยๆ มีนักบินอีกตั้ง 3 คนที่ขับเครื่องนี้อยู่ ผมสัญญาว่าจะไม่แตะปุ่มอะไรเลยจริงๆ สาบาน” เป็นใครก็คงไม่ยอมในที่สุดสายการบินก็ยอมเปลี่ยนทีมนักบินให้ (หลังจากเวลาผ่านไปอีกสามชั่วโมง) แต่ทางบริษัทก็ยังไม่รับ “ข้อกล่าวหา” จากกลุ่มผู้โดยสารเหล่านี้อยู่นั่นเอง อีกสามสัปดาห์ต่อมา สายการบินก็ออกมาแถลงว่า กัปตันอเล็กซานเดอร์น่ะเขาไม่ได้เมานะ แต่อาจจะเพิ่งมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ที่เกิดจากโรคเส้นเลือดสมองอุดตัน ผู้โดยสารจำนวนร้อยกว่าคนได้ยินแถลงการณ์นี้แล้วก็ได้แต่มึนว่าตกลงสายตาสองร้อยกว่าคู่นี่ดูผิดกันไปได้ถึงเพียงนั้นเชียวหรือ

อ่านเพิ่มเติม >