ฉบับที่ 263 กระแสต่างแดน

แทนน้ำเปล่า         ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นการใช้น้ำอัดลมในพิธีกรรมโบราณของคนพื้นเมืองในเม็กซิโก ทั้งพ่อหมอแม่หมอ ต่างยืนยันว่าทวยเทพทั้งหลายล้วนพอใจกับสิ่งนี้          ไม่ต่างอะไรกับคนเม็กซิโกทั่วไปที่นิยมดื่มน้ำอัดลมกันจนเป็นนิสัย แม้พื้นที่ห่างไกล ไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ยังมีน้ำอัดลมขาย         ที่แปลกคือน้ำสะอาดสำหรับดื่มเป็นสิ่งหาได้ยาก แต่บริษัทผู้ผลิตน้ำอัดลม เช่น โคคาโคลา กลับมีน้ำเพียงพอที่จะใช้ผลิตเครื่องดื่มออกมาตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างไม่รู้จบ         รายงานระบุว่ารัฐบาลอนุญาตให้บริษัทใช้น้ำได้วันละประมาณหนึ่งล้านลิตร แต่เนื่องจากไม่มีการกำกับดูแลปริมาณน้ำที่ใช้จริง ผู้คนจึงสงสัยว่าสาเหตุที่น้ำดื่มขาดแคลน อาจมาการใช้น้ำของบริษัทเหล่านี้         อัตราการเป็นโรคเบาหวานในเม็กซิโกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้ประชากรเกือบร้อยละ 17 เป็นโรคเบาหวาน และหนึ่งในสามของเยาวชนมีภาวะน้ำหนักเกิน  ของมันต้องขึ้น         ประชากรที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ประมาณ 9 ล้านคนในเกาหลีใต้ มีสิทธิขึ้นรถไฟใต้ดินฟรี         นโยบายนี้ถูกใจวัยเก๋า งานวิจัยก็พบว่ามันช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ อัตราการเกิดโรคซึมเศร้า รวมถึงอัตราการฆ่าตัวตาย เพราะการเดินทางออกจากบ้านทำให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย และการพบปะพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดีต่อสุขภาพจิต         แต่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยคือ “โซลเมโทร” หน่วยงานของรัฐที่ประกอบกิจการรถไฟไต้ดินของกรุงโซล เพราะขาดทุนอย่างต่อเนื่องปีละแสนล้านวอน (ประมาณ 26,700 ล้านบาท) ตั้งแต่มีการระบาดของโควิด         เนื่องจากรัฐบาลไม่มีแผนจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว เพราะเกรงจะกระทบกับฐานเสียง (ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุนั้นมีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 23)  โซลเมโทร จึงประกาศขึ้นราคาค่าตั๋วจาก 1,250 เป็น 1,550 วอน (ประมาณ 42 บาท) ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป   มาเฟียรุกทะเล         เมืองแถบชายฝั่งอัฟริกาใต้เป็นแหล่งผลิตและส่งออกหอยเป๋าฮื้อไปยังหลายประเทศในเอเชีย ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัน         หอยส่วนหนึ่งมาจากฟาร์มที่เลี้ยงอย่างถูกสุขลักษณะและจับขายตามกำหนด ปลอดภัยทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม แต่ราคาค่อนข้างแพง         อีกส่วนหนึ่งมาจาก “ตลาดล่าง” ที่ดำเนินการโดยมาเฟียท้องถิ่น โดยอาศัยแรงงานราคาถูกของคนหนุ่มสาวที่ยินดีเสี่ยงคุกออกไปลักลอบจับหอยเป๋าฮื้อในทะเล ด้วยราคาที่ถูกลง “ลูกค้า” จึงให้การอุดหนุนอย่างต่อเนื่อง แม้จะสุ่มเสี่ยงเรื่องสุขอนามัย           หากไม่ปราบปรามอย่างจริงจัง หอยเป๋าฮื้อจะหมดไปจากทะเลแถบนั้นภายใน 10 ปี แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย  แนวชายฝั่ง 2,850 กิโลเมตรนี้ไม่มีเจ้าภาพทำหน้าที่เป็น “ยามชายฝั่ง”  กองทัพเรือของเขาซึ่งปราบโจรสลัดเป็นงานหลักก็ไม่มีเขตอำนาจหน้าที่ในระยะ 100 เมตรจากชายฝั่ง  ของถูกยังมี         ปีที่แล้วราคาเนยในเยอรมนีเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เป็นไปในทิศทางเดียวกับอาหารชนิดอื่นๆ เช่น ไข่ไก่ น้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ ที่แพงขึ้นร้อยละ 13.4 โดยเฉลี่ย ในขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 7.9 ถือว่าสูงที่สุดตั้งแต่ “สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 74 ปีก่อน          แต่อยู่ดีๆ ปีนี้ราคาเนยก็ลดฮวบ จาก 2.29 ยูโร (ประมาณ 85 บาท) ลงมาเหลือ 1.59 ยูโร (58 บาท) สำหรับเนยขนาด 250 กรัม         รายงานระบุว่าเป็นเพราะเยอรมนีผลิตน้ำนมวัวได้มากขึ้น แต่คนบริโภคนมน้อยลง และเนยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกแบรนด์ผลิตออกมาในขนาดเดียวกัน ทำให้เปรียบเทียบง่ายเวลาเลือกซื้อ ไม่ว่าร้านไหนก็ไม่ยอมให้ใครถูกกว่า         แต่ข่าวดีจบเพียงแค่นั้น ผลิตภัณฑ์อื่นๆ อย่างชีส หรือโยเกิร์ตยังคงแพงเหมือนเดิม น้ำมันดอกทานตะวันขนาดหนึ่งลิตร ก็ขึ้นราคาเป็น 5.99 ยูโร (220 บาท) จากราคาเดิม 1.29 ยูโร  รักต้องโอน         ธนาคาร TSB ของอังกฤษเปิดเผยข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับ “ความสัมพันธ์” ผ่านการโอน ระหว่างผู้เสียหาย (ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคาร) กับมิจฉาชีพที่มาหลอกให้รัก ตามสูตรโรแมนซ์สแกม         ในช่วงโควิด กรณีแบบนี้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 91 และมีมาอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ประมาณหนึ่งในสามของเหยื่อได้รับการติดต่อผ่านเฟซบุ๊ค และเกือบร้อยละ 25 ติดต่อกันทางแอปทินเดอร์ ทั้งนี้อายุเฉลี่ยของผู้เสียหายคือ 47 ปี         สองในสามของเหยื่อเป็นผู้หญิง ที่โดยเฉลี่ยแล้วสูญเงินคนละประมาณ 6,300 ปอนด์ (250,000 บาท) ในขณะที่เหยื่อผู้ชายเสียไปคนละ 4,600 ปอนด์ (190,000 บาท)              สถิติระบุว่าเหยื่อส่วนใหญ่โอนเงินไปถึง 8 ครั้ง ก่อนจะ “รู้ตัว” โดยร้อยละ 32 รู้ตัวหลังคุยกันได้ประมาณสองสัปดาห์ อีกร้อยละ 27 รู้ตัวประมาณหนึ่งเดือนให้หลัง อีกร้อยละ 11 “คบ” กันเกินครึ่งปี เขายังพบอีกว่าโดยเฉลี่ยแล้ว การโอนครั้งแรกถึงครั้งสุดท้ายห่างกันประมาณ 62 วัน

อ่านเพิ่มเติม >

นิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบพบสารพิษอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในเนยถั่ว 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 54.55% เตือนผู้บริโภคหากรับประทานมากอาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบอะฟลาท็อกซิน สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว 11 ตัวอย่างมีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  1 ตัวอย่างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า แนะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วมีมาตรฐาน GMP เนื่องจากมีข้อบังคับใช้ ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบแปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภค         วันที่ 3 มีนาคม 2565 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก (สสส.) ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์เนยถั่วจำนวน 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน เนื่องจากสารอะฟลาท็อกซินโดยปกติเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราและสามารถปนเปื้อนได้ในเนยถั่ว หากร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณมากอาจเสี่ยงเกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้         จากผลทดสอบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินจากผลิตภัณฑ์เนยถั่ว นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า พบ 1 ตัวอย่าง ที่มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด ได้แก่ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด พบว่ามีสารอะฟลาท็อกซินถึง 65.87 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามที่ประกาศของทางกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 กำหนดให้มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินทั้งหมด (B1+B2+G1+G2) ในอาหารสูงสุดไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และพบอีก 11 ตัวอย่าง มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนด้วยเช่นกัน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยคิดเป็นพบอะฟลาท็อกซิน 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี้ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบ, ครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ ส่วนอีก 10 ตัวอย่าง ไม่พบสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามเมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ มีราคาถูกที่สุดคือ 0.26 บาท และ ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท ราคาแพงที่สุดคือ 1.05 บาท         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชัน (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชันสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ อะฟลาท็อกซิน (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 แคลอรี่ เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์         ทั้งนี้  นิตยสารฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP  เนื่องจากจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่นำไปใช้แปรรูป  และอะฟลาท็อกซินแม้พบในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณอะฟลาท็อกซินที่พบนั้น หากเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด นอกจากนี้ ฉลาดซื้อยังแนะอีกว่า การทำเนยถั่วกินเองช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซิน เพราะผู้บริโภคมีโอกาสการเลือกวัตถุดิบที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเองอ่านบทความผลทดสอบ “อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว” ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3942

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว

        เนยถั่ว ทำจากถั่วลิสง รสอร่อย กินเป็นของว่างก็ดี ใช้ปรุงอาหารก็ได้ เป็นหนึ่งในอาหารสุขภาพยอดนิยมของทุกเพศทุกวัย อุดมด้วยโปรตีน ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทว่าผลิตภัณฑ์เนยถั่วหลายยี่ห้อมักเพิ่มน้ำตาล น้ำมัน หรือน้ำผึ้งเข้าไปด้วย เพื่อลดความหนืดและเพิ่มรสชาติ หากใครเผลออร่อยเพลินก็เสี่ยงอ้วนและเพิ่มโรคได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาหากผู้บริโภคเลือกพิจารณาจากส่วนประกอบบนฉลากได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือ ความเสี่ยงที่จะได้รับสาร อะฟลาท็อกซิน ซึ่งต้องอาศัยการทดสอบในห้องทดลองจึงจะพบได้        ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยและความรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยถั่วทั้งหมด 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 มาทดสอบว่ามีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินหรือไม่   ผลการทดสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว         จากผลิตภัณฑ์เนยถั่วที่สุ่มนำมาทดสอบทั้งหมด 22 ตัวอย่าง พบว่า         - มี 1 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด  พบ 65.87 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         - 10 ตัวอย่าง ไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน (คิดเป็น 45.45%ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ ยี่ห้อเวทโทรส เอสเซนเชียล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อมอร์ริสันส์ สมูท พีนัท บัตเตอร์และ100% พีนัท สมูท พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโฮลเอิธ์ท ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ซูเปอร์ชังค์ พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดละเอียดและเนยถั่วลิสงบดหยาบ รสจืด, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ ครันชี และยี่ห้อเลมอนฟาร์ม เนยถั่วลิสง         - 12 ตัวอย่าง มีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อน (คิดเป็น 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบและครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ และยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด ผลเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม         พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ ถูกที่สุดคือ 0.26 บาท ส่วน ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท แพงที่สุดคือ 1.05 บาทฉลาดซื้อแนะ        - ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่จะนำไปใช้แปรรูปอยู่ด้วย        - แม้จะพบอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมด แต่ปริมาณอะฟลาท็อกซินโดยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้มีผลการทดลองในต่างประเทศที่พบว่าในกระบวนการผลิตเนยถั่วที่ต้องทั้งอบและบดนั้น สามารถฆ่าเชื้ออะฟลาท็อกซินได้มากถึง 89%          - การทำเนยถั่วกินเองน่าจะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซินได้ทางหนึ่ง เพราะผู้บริโภคมีโอกาสเลือกวัตถุดิบถั่วลิสงที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีทำเนยถั่วก็มีเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ให้เลือกทำตามได้ง่ายๆ          - หากเปิดกระปุกเนยถั่วแล้วควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดตักทุกครั้ง ปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในที่มืดและแห้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนได้ภายหลัง  ข้อมูลอ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563ฉลาดซื้อฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงบทความ กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม? (ฉลาดซื้อ)บทความ การปนเปื้อนเชื้อราและอะฟลาทอกซินในถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่วพร้อมบริโภค (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)https://www.fitterminal.comhttps://www.scirp.org/Journal/PaperInformation.aspx?paperID=4527

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รู้เท่าทันกินเนยถั่ว

กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม        เนยถั่วลิสงเป็นอาหารยอดนิยมที่ผู้คนใช้ในการประกอบอาหารและของว่างหลายชนิด เป็นอาหารที่ไม่ควรมีคอเลสเตอรอลและเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เต็มไปด้วยโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเนยถั่วลิสงมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามความที่มันเป็นอาหารที่มีรสมันจัดจึงน่าสงสัยว่าดีต่อสุขภาพจริงหรือ         เนยถั่วลิสงนั้นต่างจากเนยสำหรับทาขนมปัง (หรือ butter ที่ทำจากนมวัว) ตรงที่เนยถั่วลิสงมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงเท่าที่ถั่วลิสงมี แต่เนยทาขนมปังนั้นเป็นไขมันเกือบทั้งหมด โดย 100 กรัม เนยถั่วลิสงมีโปรตีนประมาณ 25 กรัม ในขณะที่เนยทาขนมปังนั้น 100 กรัม มีโปรตีนไม่เกิน 1 กรัม         นอกจากนี้ไขมันในเนยถั่วลิสงยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงหรือ PUFA ซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอล ในขณะที่เนยทาขนมปังมีไขมันตามที่นมมีคือ มักเป็นไขมันอิ่มตัวแต่อาจมีไขมันไม่อิ่มตัวได้บ้างตามอาหารที่วัวกินว่า เป็นหญ้าหรือกากถั่วเหลือง กากข้าวโพด ที่สำคัญคือ เนยทาขนมปังมีคอเลสเตอรอลได้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นถ้าเนยถั่วลิสงยี่ห้อใดมีการเติม butter เพื่อให้รสชาติดีโอกาสพบคอเลสเตอรอลในระดับหนึ่งย่อมเป็นไปได้         สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชั่น (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชั่นสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ aflatoxin  (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก         อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 calories เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 สำรวจฉลากโภชนาการผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย

        คุกกี้เนย หนึ่งในขนมยอดฮิตติดใจคนทุกวัย ด้วยรสชาติหวาน มัน หอม อร่อย ชิ้นพอดีคำ เคี้ยวกรุบกรอบเพลินเกินห้ามใจ หลายครั้งเราจึงเผลอกินเกินจำนวนหน่วยบริโภคที่แนะนำ (ตามฉลากโภชนาการ) คุ้กกี้เนยนั้น มีส่วนผสมหลักๆ คือ แป้ง เนย มาการีน น้ำตาลทราย นมผง ไข่ไก่ ผงฟู ปริมาณมากน้อยก็แล้วแต่สูตรความอร่อยของแต่ละยี่ห้อ อย่างไรก็ตามหลักๆ ก็คือของให้พลังงานสูง ดังนั้นหากกินคุกกี้เนยมากเกินไป อาจทำให้ได้รับพลังงาน รวมถึงโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน อาจก่อให้เกิดโรคจากพฤติกรรมการบริโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เบาหวาน ความดัน โรคอ้วน ไขมันในเส้นเลือดสูง โรคไต เป็นต้น         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์คุกกี้เนย จำนวน 10   ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 มาเปรียบเทียบข้อมูลบนฉลากโภชนาการ(ปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ) เพื่อนำเสนอไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ผลการสำรวจฉลากโภชนาการคุกกี้เนย         เมื่อพิจารณาฉลากโภชนาการของคุกกี้เนยทั้ง 10 ตัวอย่าง พบว่าค่ากลางจากฐานนิยมของปริมาณต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำคือ 30 กรัม หน่วยบริโภคที่มากที่สุดคือ 40 กรัม ได้แก่ คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ และ คุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ หน่วยบริโภคที่น้อยที่สุดคือ 20 กรัม ได้แก่ คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงานและไขมัน ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ พบว่า คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ มีมากที่สุด (พลังงาน 210 กิโลแคลอรี และไขมัน 11 กรัม) คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มีน้อยที่สุด (พลังงาน 110 กิโลแคลอรี และไขมัน 6 กรัม) ส่วนปริมาณน้ำตาล มีมากที่สุด คือ 11 กรัม ได้แก่คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้  มีน้อยที่สุดคือ 5 กรัม ได้แก่คุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่  สำหรับปริมาณโซเดียมนั้น บัตเตอร์คุกกี้ สูตรเดนมาร์ก ตราบิสชิน มีมากที่สุด คือ 135 มิลลิกรัม และคุกกี้รสเนย เดนิช สไตล์ คุกกี้ มีน้อยที่สุด คือ 45 มิลลิกรัม ข้อสังเกต- เมื่อนำทั้ง 10 ตัวอย่างมาคำนวณในหน่วยบริโภคที่เท่ากันหรือใกล้เคียง (30 กรัม) พบว่า มีค่าพลังงานเฉลี่ยอยู่ที่ 150-165 กิโลแคลอรี- หากนำคุกกี้รสเนย ตราซันเมอรี่ มาลองคำนวณในหน่วยบริโภคที่ 30 กรัม พบว่ามีค่าพลังงานสูงที่สุดคือ 165 กิโลแคลอรี่- ใน 1 วัน ร่างกายเราต้องการพลังงานประมาณ 2,000 กิโลแคลอรี่ ปริมาณน้ำตาลสูงสุดไม่เกิน 40 กรัม ไขมันไม่เกิน 65 กรัม และโซเดียมไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม ดังนั้น ถ้าเรากิน คุกกี้กลิ่นเนย ตราโอกี้ คุกกี้ เพลินจนหมดกระปุก (6 ชิ้น) เราจะได้ปริมาณน้ำตาลและไขมัน อย่างละ 66 กรัม ซึ่งเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันแล้ว-เราไม่ควรบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค หรือไม่เกินร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งพบว่าคุกกี้ทั้ง 10 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมอยู่ในเกณฑ์นี้คือระหว่าง 45-135 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค-มีคุกกี้ 7 ยี่ห้อ ที่ระบุคำเตือนว่า “บริโภคแต่น้อยและออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ” แสดงว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ห่วงใยสุขภาพผู้บริโภคเช่นกัน แล้วผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพตัวเองกันแค่ไหน ?คำแนะนำ-หยิบคุกกี้มาวางใส่จานไว้  1 ชิ้นใหญ่ หรือ 2-3 ชิ้นเล็ก แล้วปิดกล่องหรือมัดปากซองคุกกี้ไปเก็บไว้ไกลมือ เพราะถ้าไว้ใกล้มืออาจจะเผลอหยิบเข้าปากได้เรื่อยๆ-หากใครติดใจรสชาติและสัมผัสกรุบกรอบของคุกกี้ แต่กลัวอ้วน กลัวโรคต่างๆ ถามหา ก็ยังมีคุกกี้เพื่อสุขภาพ เช่น คุกกี้ธัญพืช คุกกี้ไข่ขาว มาเป็นทางเลือกในการลดแป้ง ลดน้ำตาล ลดโซเดียม ได้-ก่อนกินคุกกี้ควรพิจารณาฉลากโภชนาการแบบ GDA หรือ ฉลากหวาน มัน เค็ม เพื่อดูปริมาณที่ควรกินในแต่ละวัน เช่น ฉลากระบุว่าควรแบ่งกิน 2 ครั้ง หมายถึงเราไม่ควรกินหมดภายในวันเดียว แต่ควรแบ่งกิน 2 วัน หรือแบ่งกิน 2 คน จะได้ไม่เผลอกินมากจนเกิดภาวะโภชนาการเกินตามมา-ลองตั้งเงื่อนไขกับตัวเองว่าถ้าวันไหนกินคุกกี้เยอะเกิน จะต้องเบิร์นออกกำลังกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินออกไปซะ อย่างน้อยก็จะกินคุกกี้ให้อร่อยต่อไปได้โดยไม่ต้องกลัวอ้วนหรือรู้สึกผิดต่อตัวเองข้อมูลอ้างอิงhttps://www.thaihealth.or.thhttps://www.rama.mahidol.ac.th  https://www.matichon.co.th

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 มัดรวมผลทดสอบอาหาร 2 ปีรวด คน "ฉลาดซื้อ" ต้องอ่าน

        “อาหาร” ก็เหมือน “ยา” การได้กินอาหารที่ดีมีคุณประโยชน์ร่างกายก็แข็งแรง ซึ่งแน่นอนว่าหาก “กายดี จิตก็ดี” ในทางกลับกันหากกินอาหารคุณภาพไม่ดี คุณประโยชน์ขาดๆ เกินๆ นอกจากจะไม่แฮปปี้ในการกินแล้วยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลงด้วย โดยเฉพาะอาหารที่มีการผสมสารเคมีหรือวัตถุเจือปนอาหารต้องห้ามหรือมากเกินมาตรฐานอย่างสารกันบูด การปนเปื้อนโลหะหนักอย่างสารตะกั่ว หรือการปนเปื้อนสารพิษอันตราย อาทิ สารเคมีทางการเกษตร ทั้งยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงต่างๆ แทนที่จะกินอาหารเป็นยา กลับกลายเป็น “ยาพิษ” ไปได้         ดังนั้นนอกจากการออกเกณฑ์มาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่พยายามปรับปรุงอย่างเต็มกำลัง ซึ่งจะมีข้อห้ามและบทลงโทษเอาไว้อย่างชัดเจนแล้ว ก็อาจต้องยอมรับว่า อย.ยังด้อยเรื่องการทำงานเชิงรุก เรียกว่ายังไม่มากเพียงพอที่จะตามทันเล่ห์เหลี่ยมคนที่จ้องจะหาผลประโยชน์จากการผลิต “ผลิตภัณฑ์อาหาร” ที่ไม่ได้คุณภาพออกมา         “นิตยสารฉลาดซื้อ” โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งในการทำหน้าที่ตรวจสอบติดตามผลิตภัณฑ์อาหารที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเมืองไทย เพื่อคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมให้คนไทยได้กินอาหารที่ดี มีประโยชน์จริงๆ ซึ่งต้องบอกว่าเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ติดตาม เกาะติดมานานหลายปี ช่วยจัดทำชุดข้อมูลข้อเท็จจริงส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำกับติดตามให้เกิดการแก้ไข และเพื่อการมีอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัย         ในโอกาสสิ้นปี 2563 นี้ นิตยสารได้ทำการสรุปผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้ดำเนินการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2562 ถึง 2563 อะไรเด่น “ฉลาดซื้อ” มัดรวมเอาไว้ผ่านบทความชิ้นนี้ โดยแยกเป็นกลุ่ม 1. สารกันบูด 2. สารเคมีทางการเกษตร 3. เชื้อดื้อยา และ 4. ไขมันทรานส์         เริ่มกันที่ กลุ่มวัตถุกันเสีย หรือ สารกันบูด ทั้ง กรดซอร์บิก (Sorbic Acid) และ กรดเบนโซอิก (Benzoic Acid) มีผลต่อการทำงานของตับ และไต ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา นิตยสารฉลาดซื้อได้เก็บตัวอย่างมาทดสอบจำนวนมาก ดังนี้...         “โรตีสายไหม” สุดยอดของฝากจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งการตรวจสอบต้องแยกเป็น 2 ส่วนคือ 1.แผ่นแป้ง ซึ่งบูดง่าย อาจมีการใช้สารกันบูดเพื่อยืดอายุการใช้งาน 2.น้ำตาลสายไหม ทำจากน้ำตาล น้ำมันมะพร้าว แป้งสาลี และสีผสมอาหารสังเคราะห์ที่มากเกินไปก็ไม่ดีต่อสุขภาพ หลังจากที่เคยเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมี.ค. 2561 จำนวน 10 ตัวอย่าง พบ 4 ตัวอย่างผสมสารกันบูด ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เข้ามาจัดการแล้ว แต่จากการเก็บตัวอย่างมาตรวจอีกครั้งในเดือนเม.ย.2562 จากตลาด 13 แห่งในพื้นที่ โดยเป็นโรตีสายไหมจากเจ้าเดิม 10 ตัวอย่าง และเจ้าใหม่อีก 3 ตัวอย่าง ผลทดสอบในแป้งโรตี มีการใช้สีผสมอาหารสังเคราะห์ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด (สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก.) 2 ตัวอย่าง คือ 1.ร้านวรรณพร ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และ 2.ร้านประวีร์วัณณ์  ตรวจพบ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก.         ขณะที่การทดสอบวัตถุกันเสียนั้น ในทุกตัวอย่างไม่พบกรดซอร์บิก แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 1,000 มก./กก.) 7 ตัวอย่าง แต่มีอีก 6 ตัวอย่างที่พบกรดเบนโซอิกเกินค่ามาตรฐาน คือ 1. โรตีสายไหม ร้านเรือนไทย 2. ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน 3. ร้านบังหมัด 4.ร้านวริศรา โรตีสายไหม 5.ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ และ 6.ร้านแม่ชูศรี (รายละเอียดในฉบับที่ 218) โดยมีอยู่ 2 ร้านที่ผลการทดสอบครั้งแรกเดือนมี.ค. 2561 (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 205) และครั้งนี้พบเกินค่ามาตรฐานทั้ง 2 ครั้ง ร้านเอกชัย (B.AEK) และ ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 218)            “เส้นขนมจีน” ซึ่งเป็นหนึ่งในอาหารยอดนิยม เป็นอาหารจำพวกแป้งสด จึงบูดเสียง่าย จึงพบการลักลอบในสารกันบูดเช่นเดียวกัน ซึ่งจากการทดสอบมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือน ก.พ. 2559 (ฉบับที่ 180) และในเดือนมิ.ย. 2560 (ฉบับที่ 196) พบว่ามีการการผสมสารกันบูดเกินมาตรฐานเกินครึ่งของกลุ่มตัวอย่างที่สุ่มเก็บมา         ล่าสุดเดือนพ.ค.2562 สุ่มเก็บมาอีก 31 ตัวอย่าง จากตลาดสดและห้างสรรพสินค้า ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้วไม่พบกรดซอร์บิกเลย แต่พบกรดเบนโซอิกในทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่างที่พบเกินค่ามาตรฐาน 1.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ หมื่นบูรพา จากตลาดคลองเตย พบในปริมาณ 1066.79 มก./กก.และ  2.เส้นขนมจีน ยี่ห้อ M&A บ้านขนมจีนปทุม จากตลาดสี่มุมเมือง พบในปริมาณ 1361.12 มก./กก.         อย่างไรก็ตาม เนื่องจากตรวจพบว่าเส้นขนมจีนทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนกรดเบนโซอิก จึงสังเกตที่ฉลากบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติมพบว่ามีเพียง 4 ตัวอย่างที่แสดงข้อมูลการใช้สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย ที่เหลือบางตัวอย่างมีเลขสารระบบของอย. บางตัวอย่างระบุไว้บนฉลากว่าปราศจากวัตถุกันเสีย ปราศจากสิ่งเจือปน  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 219)         “น้ำพริกหนุ่ม” สำหรับการตรวจหาสารกันบูดในน้ำพริกหนุ่มนั้น โดยสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำพริกหนุ่มที่จำหน่ายในภาคเหนือ 17 ตัวอย่าง เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ผลการตรวจพบว่า 2 ตัวอย่างไม่มีสารกันบูดเลย ส่วนที่พบสารกันบูดแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน 8 ตัวอย่าง         และพบกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน 7 ตัวอย่าง คือ 1.น้ำพริกหนุ่ม ร้านดำรงค์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 890.32 มก./กก. 2.น้ำพริกหนุ่ม ล้านนา จาก ตลาดของฝากเด่นชัย จ.แพร่ พบ 1026.91 มก./กก. 3.น้ำพริกหนุ่ม นิชา (เจ๊หงษ์ น้ำพริกหนุ่ม) จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ 1634.20 มก./กก. 4.น้ำพริกหนุ่ม เจ๊หงษ์ จาก ตลาดวโรรส จ.เชียงใหม่ พบ 1968.85 มก./กก. 5.น้ำพริกหนุ่ม แม่ชไมพร จาก ตลาดสดอัศวิน ร้านสิริกรของฝาก จ.ลำปาง พบ 2231.82 มก./กก. 6.น้ำพริกหนุ่ม ยาใจ (รสเผ็ด) จาก ร้านขายของฝากสามแยกเด่นชัย จ.แพร่ พบ 3549.75 มก./กก. และ 7. น้ำพริกหนุ่ม อุมา จาก ตลาดสดแม่ต๋ำ จ.พะเยา พบ 5649.43 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 221)         “กุนเชียง” ว่าด้วยเรื่องของกุนเชียงนั้น เมื่อเดือน ธ.ค.2562 “นิตยสารฉลาดซื้อ” ได้รับการสนับสนุนทีมอาสาสมัครจากเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ในการเก็บตัวอย่าง กุนเชียง 19 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกุนเชียงหมู 9 ตัวอย่าง  กุนเชียงไก่ 5 ตัวอย่าง และกุนเชียงปลา 5 ตัวอย่าง มาตรวจสอบ ก็พบว่าทุกตัวอย่างมีความปลอดภัย ไม่มีวัตถุเจือปนอาหาร ไนไตรท์ ไนเตรท กรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก เกินค่ามาตรฐาน หรือถ้าพบก็พบในปริมาณน้อยไม่เกินค่า ...(อ่านต่อได้ที่ฉลาดซื้อฉบับ 227)         มาต่อกันที่ “สลัดครีม” เมนูอาหารมื้อเบาๆ ที่มักพบสารกันบูดละไขมันนั้น จากการ สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มาตรวจวิเคราะห์ พบ 1 ตัวอย่างมีสารกันบูด ทั้งกรดซอร์บิก และ กรดเบนโซอิก รวมกันเกินค่ามาตรฐาน คือ “American Classic Ranch” โดยพบกรดเบนโซอิก664.14 มก./กก. และพบกรดซอร์บิก 569.47 มก./กก. รวมแล้วทั้ง 2 ชนิดพบ 1,233.61 มก./กก. (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 232)         กลุ่มสารเคมีทางการเกษตร และโลหะหนัก ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย มีโลหะหนัก หรือการใช้สารเคมีในภาคเกษตรที่มีอยู่หลายร้อยชนิด เป็นความเสี่ยงอย่างสูงที่จะทำให้วัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารนั้นมีการปนเปื้อนสารเหล่านี้ไปด้วย ดังนั้น ตลอดปี 2562-2563  “ฉลาดซื้อ” มีการเก็บตัวอย่างอาหารมาทดสอบหาการปนเปื้อน           โฟกัสไปที่ “น้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ” เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค.2561 ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 12 ตัวอย่าง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อตรวจหาปริมาณตะกั่วและแคดเมียม ผลการตรวจตะกั่ว พบว่าในน้ำปลาร้าทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 คือไม่เกิน 1 มก./ อาหาร 1 กก. ส่วนผลทดสอบแคดเมียม เนื่องจากไม่มีเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศ ฉบับที่ 98 จึงใช้เกณฑ์เทียบเคียงจากของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน น้ำปลาร้าของสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม คือ แคดเมียมต้องน้อยกว่า 2 มก./กก.ก็พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มผช.ทุกตัวอย่าง           ต่อมาเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เก็บตัวอย่างน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จ 15 ตัวอย่าง โดยเป็นตัวอย่างในชื่อผลิตภัณฑ์เดิม 9 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 6 ตัวอย่าง ตรวจแล้วทุกอย่างอย่างผ่านเกณฑ์การทดสอบตะกั่ว และแคดเมียมทั้งหมด  แต่กลับตรวจพบสารกันบูดแต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกรณีที่พบในปริมาณน้อย อาจจะเป็นไปได้ว่า กรดเบนโซอิกสามารถพบได้จากพืชพรรณหลายชนิดตามธรรมชาติ  (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 220)         ขณะที่ “ปลาสลิดตากแห้ง” ซึ่งเป็นอาหารที่แมลงวันชอบมาตอมและไข่ทิ้งไว้ ทำให้ดูไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งบางร้านใช้การขับไล่ตามปกติ แต่บางร้าน  อาจจะมีการใช้ยาฆ่าแมลงฉีดพ่น ดังที่เป็นข่าวเมื่อต้นปี 2560 ที่พบการใช้ ไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (Dichloro-diphenyl-trichloroethane หรือ ดีทีที) ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเดือน ก.ค. 2562 “ฉลาดซื้อ” จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างปลาสลิดตากแห้ง 19 ตัวอย่าง จากร้านค้าในตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้าทั่วไป และร้านค้าออนไลน์ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่ผลตรวจไม่พบว่ามีตัวอย่างใดปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต และในกลุ่มไพรีทรอยด์ แต่อย่างใด (อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         มาต่อกันที่ “น้ำปู” หรือ “น้ำปู๋” เป็นเครื่องปรุงรสของทางภาคเหนือ กลุ่มเดียวกับกะปิ ซึ่งจากการสุ่มตรวจผลิตภัณฑ์น้ำปูจำนวน 24 ตัวอย่าง จากตลาดในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แพร่ ระหว่างวันที่ 7-15 ก.ย. 2563 มาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของพาราควอต พบสารพาราควอตในน้ำปู 33 % หรือ 1 ใน 3 ของตัวอย่างที่สุ่มตรวจ ค่าเฉลี่ยของการตกค้าง 0.04275 มก./กก.         โดยตัวอย่างที่พบปริมาณพาราควอตตกค้างมากที่สุด ได้แก่1.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.บ้านลา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง พบ 0.090 มก./กก. 2.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ต.ทุ่งฮั้ว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง พบ 0.074 มก./กก. 3.น้ำปู ยี่ห้อน้ำปู๋แม่แจ่ม จาก ตลาดสดข่วงเปา ต.ข่วงเปา อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พบ 0.046 มก./กก.  4.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้าน น.ส.นิตยา ต.แม่ยางฮ่อ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ พบ 0.042 มก./กก. 5.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก บ้านป่าสัก ต.ศรีถ้อย อ.แม่ใจ จ.พะเยา พบ 0.040 มก./กก. 6.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ตลาดบ้านปางลาว ต.บ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย พบ 0.031 มก./กก. 7.น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จากบ้านหนุน อ.ปง จ.พะเยา พบ 0.011 มก./กก. และ 8. น้ำปู ไม่ระบุยี่ห้อ จาก ร้านป้าหวิน บ้านร่องกาศใต้ ต.ร่องกาศ อ.สูงเม่น จ.แพร่ พบ 0.006 มก./กก. (อ่านรายละเอียดได้ที่ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 235)         ส่วน “หมึกแห้ง” นั้น เมื่อเดือน ม.ค.2563 ฉลาดซื้อได้เก็บหมึกแห้ง 8 ตัวอย่าง  (ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 112-113 ปลาหมึกแห้ง ของดีแต่มีเสี่ยง) จากตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งร้านค้าในต่างจังหวัด และห้างออนไลน์ รวม 13 ตัวอย่าง  ตรวจพบว่าทั้ง 13 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนปรอทแต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด โดยตัวอย่างที่พบสูงสุดอยู่ที่ 0.042 มก./กก. เช่นเดียวกับผลการตรวจหาตะกั่วที่พบทั้ง 13 ตัวอย่างแต่ไม่เกินเกณฑ์ สูงสุด คือ 0.059 มก./กก. สำหรับการตรวจหาสารพิษจากเชื้อรา ( Aflatoxin B1, B2, G1, G2 และ Total Aflatoxin) ไม่พบในทุกตัวอย่าง  เช่นเดียวกับการตรวจหาการตกค้างของสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มไพรีทอยด์ ก็ไม่พบในทุกตัวอย่างเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการตรวจหาแคดเมียม ก็พบทุกตัวอย่าง แต่มีอยู่ 7 ตัวอย่างที่เกินเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1.หมึกแห้ง จาก ตลาดคลองเตย ไม่ระบุ ซ.1 ต้นโพธิ์ พบ 2.003  มก./กก. 2. หมึกแห้ง จาก จังหวัดระยอง ร้านโชคชัยการค้า พบ 2.393 มก./กก. 3. หมึกแห้ง จาก ร้านค้าออนไลน์ SHOPEE พบ 2.537  มก./กก. 4. หมึกแห้ง จาก ตลาดเยาวราช ร้าน ต.วัฒนาพาณิชย์ ตลาดเก่าเยาวราช พบ  3.006  มก./กก. 5. หมึกแห้ง จาก ตลาดมหาชัย ร้านศรีจันทร์ พบ  3.303  มก./กก. 6. หมึกแห้ง จาก จังหวัดตราด ร้านเจ๊อำนวย (ตรงข้าม รพ. จังหวัดตราด) พบ 3.432  มก./กก. และ 7. หมึกแห้ง จาก ตลาดปากน้ำสมุทรปราการ ร้านพี่น้อง (เจ๊เล็ก) พบ 3.872  มก./กก. ...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 230)         อีกหนึ่งตัวอย่างที่ฉลาดซื้อให้ความสำคัญคือ “ถั่วเหลือง” เป็นพืชที่พบการใช้สารเคมีอันตราย อย่างพาราควอต และไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส แต่ถูกผลักดันให้ยกเลิกการนำเข้า และใช้สารเคมีเหล่านี้ในประเทศไทย ทั้งนี้เมื่อฉลาดซื้อ เก็บตัวอย่างถั่วเหลืองทั้งแบบเต็มเม็ดและแบบผ่าซีก  3 ครั้ง ในวันที่ 29 พ.ย., 2 ธ.ค. และ 6 ธ.ค. 62  รวม 8 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มาทำการตรวจหาการปนเปื้อนสารเคมีทางการเกษตร         ทั้งนี้ผลตรวจสอบพบการตกค้างของไกลโฟเซต 5 ตัวอย่างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  ได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา ไร่ทิพย์ พบ 0.53 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา เอโร่ พบ 0.07 มก./กก., ถั่วเหลือง ตรา ด็อกเตอร์กรีน พบ 0.50 มก./กก., ถั่วเหลืองซีก ตรา โฮม เฟรช มาร์ท พบ 0.20 มก./กก., และถั่วเหลืองผ่าซีก ตรา แม็กกาแรต พบ 0.24 มก./กก. ส่วนอีก 3 ตัวอย่างไม่พบการตกค้างได้แก่ ถั่วเหลือง ตรา บิ๊กซี, ถั่วเหลิองออร์แกนิค ตรา โฮม เฟรช มาร์ท, และถั่วเหลืองซีก ตรา ท็อปส์        “แม้จะพบไกลโฟเซตไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารสากล แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ หากมีการบริโภคในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากถั่วเหลืองที่ไม่ผ่านความร้อนสูงไม่ว่าจะเป็นน้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าหู้ ฟองเต้าหู้”...(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 231)         สำหรับกลุ่ม “ไขมันทรานส์” ที่มักพบในขนม นมแนย นั้น และส่งผลกระทบกับสุขภาพของประชาชน ซึ่งล่าสุดทายอย.ประกาศห้ามมีในผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ แล้วนั้น อย่างไรก็ตาม “ฉลาดซื้อ” ได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาตรวจสอบ และเผยแพร่ต่อประชาชนคือ         “เค้กเนย และชิฟฟ่อน” โดยมีการเก็บตัวอย่าง 16 ตัวอย่าง พบไขมันทรานส์ในปริมาณน้อยไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) ถือว่าสูงกว่ายี่ห้ออื่นๆ แต่เมื่อตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์ พบว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพ ส่วนผลตรวจหาสารกันเสีย ก็พบเค้กเนยนั้นไม่พบกรดเบนโซอิก แต่กรดเบนโซอิกเล็กน้อยไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ..(อ่านรายละเอียดที่ฉลาดซื้อฉบับที่ 216)           การตรวจหาการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และเชื้อดื้อยา        “ปลาทับทิมและเนื้อไก่ชำแหละ” ...เมื่อเดือนต.ค. 2563 “ฉลาดซื้อ” ลุยเก็บตัว “ปลาทับทิม” จากตลาดในเขตกรุงเทพฯ 11 แห่ง ตลาดและกระชังปลาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง 4 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง ส่งตรวจพบว่ามี 14 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ มีเพียง 1 ตัวอย่าง จากตลาดคลองเตย พบ ยา Oxytetracycline ในปริมาณน้อยกว่า 5.00 ไมโครกรัม/กิโลกรัม (ไม่เกินมาตรฐาน)         ส่วน “เนื้อไก่ชำแหละ” ซึ่งได้เก็บมา 10 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่ามี 9 ตัวอย่าง ไม่พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะที่ส่งตรวจ  มี 1 ตัวอย่าง จากเนื้อไก่ที่ซื้อจากตลาดเจ้าพรหม  พบยา Enrofloxacin (Endrofloxacin) ในปริมาณ 0.66 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ทั้งนี้ ยาดังกล่าวไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ แม้ อย. อนุญาตให้ใช้ได้แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย อาจถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522           มัดรวมไว้ตรงนี้ เผื่อว่าใครยังไม่ทราบว่าฉลาดซื้อได้เคยทำทดสอบด้านอาหารอะไรไว้บ้าง ก็น่าจะได้เป็นแนวทางในการค้นหารายละเอียดต่อไป และเราสัญญาว่า เราจะตามติดและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา เครื่องสำอาง ฯลฯ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ “ซื้อ” หรือ “ไม่ซื้อ” ในปี 2564 อย่างเข้มข้น แน่นอน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 ไขมันทรานส์ในเค้กเนย หลังประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์มีผลบังคับ

              เค้กและผลิตภัณฑ์เบเกอรี เป็นขนมที่จัดว่ามีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 2 หมื่นล้านบาท เป็นขนมที่นิยมกันทุกเพศวัย  เค้กนั้นมีส่วนผสมหลักคือแป้ง ไข่ ไขมันและน้ำตาล จึงเป็นอาหารให้พลังงานสูง และเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่เดิมจัดว่าเป็นกลุ่มอาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เนื่องจากส่วนผสมนั้นนิยมใช้ไขมันจากน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งทำให้เกิดไขมันทรานส์ แต่เมื่อมีกฎหมายห้ามการใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์แล้ว ทำให้หลายคนอยากทราบว่า เค้กและบรรดาขนมอบทั้งหลาย จะยังเป็นกลุ่มเสี่ยงของไขมันทรานส์หรือไม        ฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงอาสาทำหน้าที่แทนผู้บริโภค เราเก็บตัวอย่างเค้กเนย จำนวน 12 ตัวอย่างจากผู้ผลิตเจ้าดัง และได้เพื่อนเครือข่ายผู้บริโภคเก็บตัวอย่างเค้กชิฟฟ่อน ที่นิยมซื้อเป็นของฝากจำนวน 4 ตัวอย่าง รวม 16 ตัวอย่าง ส่งทดสอบปริมาณไขมันทรานส์ และสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียกรดเบนโซอิก กรดซอร์บิก โดยผลทดสอบเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค เชิญติดตาม       ไขมันทรานส์ คืออะไร                   ไขมันทรานส์ (Trans Fat) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่บริเวณพันธะคู่มีการจัดเรียงตัวของไฮโดรเจนอะตอมอยู่ตรงข้ามกัน สามารถพบได้ทั้งในธรรมชาติ และจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนลงในน้ำมัน       ไขมันทรานส์จากธรรมชาติ พบได้ในเนื้อวัว ควาย ซึ่งเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ดังกล่าว เช่น นม เนย ชีส แต่พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย       ไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partial Hydrogenation) ลงไปในน้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง ซึ่งน้ำมันที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวจะเรียกว่า Partially Hydrogenated Oil ทำให้น้ำมันที่อยู่ในสภาพของเหลวเปลี่ยนเป็นไขมันที่มีสภาพแข็งขึ้นหรือเป็นของกึ่งเหลว พบในอุตสาหกรรมเนยเทียม (margarine) หรือเนยขาว (shortening) ซึ่งไขมันดังกล่าวจะหืนช้า และมีอายุการเก็บรักษานานขึ้น ผลทดสอบ        ไขมันทรานส์                                                                                                                                                        จากผลการทดสอบพบว่า ปริมาณไขมันทรานส์ในเค้กเนย 12 ตัวอย่าง และเค้กชิฟฟ่อน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณน้อยเฉลี่ยต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม) คือ 0.2 กรัม/หน่วยบริโภค   ถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ที่กำหนดไว้ คือ ไม่เกิน 0.5 กรัม/หน่วยบริโภค        ยกเว้นเค้กเนยของยี่ห้อ PonMaree Bakery (พรมารีย์ เบเกอรี่)  ที่พบปริมาณไขมันทรานส์ที่ 0.61 กรัม ต่อ 1 หน่วยบริโภค (55 กรัม)  ทำให้ทางฉลาดซื้อเกิดคำถามว่า ทำไมผลทดสอบของ พรมารีย์ เบเกอรี่   จึงสูงกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งเป็นไปได้สองสาเหตุคือ ยังคงใช้ไขมันทรานส์สังเคราะห์ หรือใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติคือ เนยแท้ จำนวนมาก ดังนั้นจึงตรวจสอบที่ผลการวิเคราะห์ชนิดของกรดไขมันทรานส์มีเพียงชนิดเดียวที่สูงเด่นมาก ได้แก่ Vaccenic acid (C18:1)-11 ที่พบมากตามธรรมชาติในไขมันจากสัตว์เคี้ยวเอื้อง จึงอนุมานได้ว่า ยี่ห้อนี้เขาจัดหนักจัดเต็มในสูตรเค้กเพราะใช้เนยแท้ หรือก็คือ ปริมาณกรดไขมันทรานส์ที่ตรวจพบนี้เป็นกรดไขมันทรานส์ธรรมชาติ  จึงไม่ผิดกฎหมาย แต่อาจผิดต่อผู้ที่รักสุขภาพและควบคุมน้ำหนัก หากรับประทานเกิน1 หน่วยบริโภค         ปัจจุบัน ผู้ประกอบการน้ำมันและไขมันส่วนใหญ่ได้ปรับใช้กระบวนการอื่นแทนกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และมีการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารโดยไม่ใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแล้ว ดังนั้นเมื่อประกาศฯ มีผลใช้บังคับ (9 มกราคม 2562) ผลิตภัณฑ์เบเกอรี เช่น ขนมปังกรอบ เค้ก พาย พัฟ เพสตรี คุกกี้ หรืออาหารที่ผ่านการทอดโดยใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนแบบน้ำมันท่วม (Deep frying) เช่น โดนัททอด ไก่ทอด  จะไม่มีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจพบปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ข้างต้นได้ เนื่องจากอาจมีการใช้วัตถุดิบที่มีองค์ประกอบของไขมันทรานส์ตามธรรมชาติ เช่น นม เนย ชีส เป็นต้น ทั้งนี้ ปริมาณที่ตรวจพบน้อยมาก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮโดรเจนบางส่วน·        วัตถุกันเสีย                ฉลาดซื้อทดสอบหากรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก ซึ่งเป็นวัตถุกันเสียที่นิยมใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรี เค้กเนยและเค้กชิฟฟ่อน พบว่า เค้กเนยจำนวน 10 ผลิตภัณฑ์ไม่พบกรดเบนโซอิก และพบปริมาณกรดเบนโซอิกเล็กน้อยใน 2 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจเป็นไปตามข้อสังเกตจากการทดสอบผลิตภัณฑ์ขนมอบที่ผ่านมาคือ มีการใช้แป้งสาลี ซึ่งใช้สารฟอกขาวที่เรียกว่า กรดเบนโซอิ้ว ซึ่งมีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายกรดเบนโซอิก ทั้งๆ ที่ในสูตรการผลิตเค้ก ไม่มีการผสมวัตถุกันเสีย ส่วนในเค้กชิฟฟ่อนไม่พบกรดเบนโซอิกจำนวน 3 ผลิตภัณฑ์และพบปริมาณเล็กน้อย 1 ผลิตภัณฑ์        ผลการตรวจหากรดซอร์บิก พบว่าปริมาณของกรดซอร์บิกที่ตรวจพบสูงสุดคือ ผลิตภัณฑ์เค้กเนย ของ KUDSAN Bakery & Coffee พบปริมาณกรดซอร์บิก 244.15 มิลลิกรัม/กิโลกรัม   ซึ่งไม่เกินปริมาณที่กฎหมายกำหนดไว้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5)        ตามบัญชีแนบท้าย ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสารกันเสียประเภท กรดเบนโซอิก ในผลิตภัณฑ์กลุ่มขนมอบที่มีการปรุงแต่งรสชาติ และส่วนผสมสำเร็จรูป ได้สูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก สามารถพบได้ในผลิตภัณฑ์ขนมอบ (ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่) ได้สูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 กระแสต่างแดน

I’m burning it! องค์กร Fight for 15$ ที่ต่อสู้เพื่อสภาพการทำงานที่ดีและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการเปิดโปง “เรื่องในครัว” ของแม็คโดนัลด์ ร้านฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขามากเป็นอันดับสองของอเมริกา องค์กรนี้รายงานว่ามีพนักงานร้านแม็คโดนัลด์ 28 คน จากสาขาใน 19 เมือง เคยได้รับบาดเจ็บจากอุปกรณ์ที่มีอันตรายและมาตรการความปลอดภัยที่หละหลวมในครัวของแม็คโดนัลด์ US Occupational Safety and Health Administration (OSHA) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐฯ ยอมรับว่าได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจริงในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา โฆษกของ OSHA กล่าวว่ากำลังสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่ ถ้าพบว่าผิดจริง บริษัทอาจเสียค่าปรับระหว่าง 7,000 ถึง 70,000 เหรียญ (230,000 – 2,300,000 บาท) แล้วแต่ความรุนแรงของข้อหา ก่อนหน้านี้ OSHA เคยสำรวจความเห็นของพนักงานในร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาจำนวน 1,426 คน และพบว่าในปีที่ผ่านมา เกือบร้อยละ 80 เคยได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก และหนึ่งในสามของคนเหล่านี้ได้รับคำแนะนำจากหัวหน้างานให้ใช้ของใกล้ๆ มืออย่าง เนย มัสตาร์ด มายองเนส หรือซอสมะเขือเทศ ทาแผลบรรเทาปวด! แม็คโดนัลด์ อเมริกา(ซึ่งมีทั้งหมด 14,000 สาขา) บอกว่า บริษัทคำนึงถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานเสมอมา แต่ก็พร้อมที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาดังกล่าว   ทางเลือกที่น้อยลง? Greenpeace Energy ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี เตรียมฟ้องร้องคณะกรรมการสหภาพยุโรป ที่อนุมัติให้ประเทศอังกฤษสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้ บริษัทดังกล่าวทำการศึกษาในรายละเอียดและพบว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ไม่ได้เป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อราคาพลังงานในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อราคาของพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนสูงกว่าเนื่องจากเป็นการรับซื้อพลังงานจากผู้ผลิตรายย่อยในราคาคงที่ ในขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้รับเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตจากรัฐ ในปี 2006 อังกฤษประกาศสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ฮิงค์ลี่ย์พ้อยนท์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มูลค่าการลงทุนทั้งหมด 40,000 ล้านยูโร ตามแผนการลดการปล่อยคาร์บอน ตามกำหนดการเดิมเขาจะสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรงให้เสร็จพร้อมใช้งานก่อนคริสต์มาสปี 2017 แต่เนื่องจากมีผู้คัดค้านจำนวนมาก แผนดังกล่าวจึงยังไม่ได้เริ่ม และในที่สุดรัฐบาลอังกฤษจึงลงขันช่วยเหลือผู้ประกอบการ 22,000 ล้านยูโร การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างบริษัทพลังงานด้วยกัน เพราะการคิดค่าไฟฟ้าไม่ได้คิดจากต้นทุนที่แท้จริงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง รายงานดังกล่าวยังระบุว่า เยอรมันจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันเป็นผู้จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาพลังงานในตลาดกับราคาพลังงานทางเลือก ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า แม้ว่าในเบื้องต้นรัฐบาลเยอรมันอาจจ่ายเพียง 17 ล้านยูโร จากกองทุนพลังงานทางเลือกมูลค่า 20,000 ล้านยูโร ของประเทศ แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ อาจทำให้ โปแลนด์ โรมาเนีย หรือลิทัวเนีย อาจเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย และนั่นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตลาดพลังงานทางเลือกในเยอรมนีมากขึ้น ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? อิตาลีเป็นต้นตำหรับพาเมซานชีส ที่ผู้คนทั่วโลกนิยมชมชอบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าปีที่ผ่านมาอิตาลีผลิตชีสดังกล่าวได้เพียง 295,000 ตัน ในขณะที่อเมริกาผลิตออกมาได้มากกว่า 300,000 ตัน กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพาเมซานชีสในอิตาลี นำโดย Coldiretti ออกมารวมตัวกันที่เมืองโบโลญญา เพื่อประท้วง “ชีสปลอม” เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอุตสาหกรรมการผลิตชีส ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคว้นอิมีเลีย โรมัญญา เมื่อสามปีก่อน และปีที่แล้วราคาส่งก็ลดลงร้อยละ 20 จนเหลือเพียงกิโลกรัมละประมาณ 250 บาท   เอาเป็นว่าตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา มีหนึ่งในสี่ของเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตชีสดังกล่าวเลิกกิจการไปแล้ว ความจริงแล้ว ชีส “Parmigiano Reggiano” และ “Grana Padano” ได้รับการคุ้มครองการตั้งชื่อจากแหล่งกำเนิดสินค้าจากสหภาพยุโรปอยู่แล้ว เช่น ถ้าจะเรียกตัวเองว่าเป็น Parmigiano Reggiano ของแท้ ต้นตำรับ ก็ต้องเป็นชีสที่ผลิตจากฟาร์มในเมืองพาร์มาหรือพื้นที่รอบๆ เท่านั้น แต่ตอนนี้เกษตรกรอิตาลีทำได้แค่ประท้วง เพราะจะไปเอาผิดกับบริษัทอเมริกันว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็คงไม่ได้ เพราะคุณพี่เขาทำชีสที่ว่าออกมาขายในชื่อภาษาอังกฤษว่า Parmesan Cheese ซึ่งไม่ได้อยู่ในการคุ้มครอง อันนี้ผู้บริโภคต้องเลือกแล้ว ... ถ้าคุณอยากกินของอร่อยจากอิตาลี ก็ต้องดูชื่อให้ดีนะจ๊ะ   จำกัดเนื้อ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายโจโค วิโดโด ต้องการให้ประเทศของเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางอาหาร เขาจึงเริ่มจากการจำกัดการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ ปีที่แล้วอินโดนีเซียนำเข้าเนื้อวัวถึง 170,000 ตัน แต่ปีนี้ในไตรมาสแรก มีการนำเข้าเพียง 12,000 ตันเท่านั้น ผลกระทบต่อประชากร 240 ล้านคนคือราคาเนื้อวัวที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมกิโลกรัมละ 80,000 รูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 200 บาท) ขึ้นเป็น 105,000 (ประมาณ 260 บาท) และอาจขึ้นไปอีกเมื่อราคาน้ำมันกลับมาเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าราคาเนื้ออาจเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 รูเปียอินโดนีเซีย (370 บาท) ในเดือนรอมฎอนด้วย รัฐบาลเริ่มการจำกัดการนำเข้า แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมการส่งเสริมการทำฟาร์มวัวเนื้อในประเทศมากนัก และภาวะอาหารแพงนี้อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในที่สุด ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยมีความพยายามเช่นนี้และประสบความล้มเหลวมาแล้ว นอกจากจะขาดแคลนเนื้อวัวเพื่อการบริโภคยังมีปัญหาการคอรัปชั่นของนักการเมืองด้วย(ร้อยละ 40 ของเนื้อวัวที่บริโภคในอินโดนีเซียถูกนำเข้าจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับสามของโลก)   ความสุขของกิมจิ เด็กเกาหลีเครียดกับการเรียนไม่แพ้ชาติใดในโลก เรื่องนี้มีตัวเลขการสำรวจมายืนยัน สถาบันสุขภาพและสังคมของเกาหลีได้ทำการเปรียบเทียบความรู้สึกของเด็กในวัย 11,13 และ 15 ปี ในเกาหลีกับเด็กๆ ในประเทศอื่นๆ โดยใช้ข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีในปี 2013 ประกอบกับรายงานของยูนิเซฟว่าด้วยการสำรวจความรู้สึกเป็นสุขของเด็กๆ ในประเทศที่ร่ำรวย 29 ประเทศที่ทำขึ้นในปี 2009 และ 2010 เมื่อให้เด็กๆ จัดอันดับความกดดันเรื่องการเรียนระหว่างเลข 0 ถึง 4 โดยคนที่เลือกหมายเลข 3 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นกลุ่มที่เครียดมาก พบว่า เกาหลีมีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่รู้สึกว่าตัวเองเครียดมาก ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของการสำรวจคือร้อยละ 33.3  และเด็กที่เครียดเรื่องเรียนน้อยที่สุดคือเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์(ร้อยละ 16.8) ในทางกลับกัน มีเพียงร้อยละ 18.5 ของเด็กๆ ที่เกาหลีเท่านั้นที่ตอบว่า ชอบชีวิตการไปโรงเรียน เป็นอันดับห้าจากล่างสุด รองจากสาธารณรัฐเช็ค ฟินแลนด์ อิตาลี และเอสโตเนีย ส่วนประเทศที่มีเด็กชอบการไปโรงเรียนมากที่สุดได้แก่ ไอร์แลนด์ (ร้อยละ 42.5) แล้วความสุข ความพึงพอใจในชีวิตน้อยๆ ของพวกเขาล่ะ? มีเพียงร้อยละ 60.3 ของเด็กเกาหลีเท่านั้นที่ตอบว่าพึงพอใจ ในขณะที่เด็กๆมากกว่าร้อยละ 80 ในประเทศอื่นๆ ตอบว่าพวกเขาพึงพอใจกับชีวิตของตัวเอง ยกเว้นโปแลนด์ (79.7) และโรมาเนีย (76.6) นักวิจัยของเกาหลีให้ข้อสรุปว่า เด็กๆ ของพวกเขามีสุขภาพกายดีเยี่ยม แต่สุขภาพจิตยังต้องปรับปรุงอีกมาก สืบเนื่องจากการเป็นสังคมที่เอาจริงเอาจังกับการประสบความสำเร็จทางการเรียนนั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 164 กระแสต่างแดน

Shonky Award 2014 เข้าสู่ปีที่ 9 แล้วสำหรับรางวัลช้องค์กี้ หรือรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี ที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียจัดเป็นประจำตั้งแต่ปี 2006  มาดูกันว่าปีนี้มีใครได้รางวัลนี้ไปครอบครองให้อับอายกันบ้าง   Commonwealth Bank of Australia รายแรกคือธนาคารคอมมอนเวลท์ ที่ดำเนินธุรกิจได้แสบสันคันจิต ปีที่ผ่านมามีลูกค้าหลายพันคนเอาเงินฝากไปลงทุน โดยผ่านการแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วก็ขาดทุนย่อยยับในที่สุด เมื่อทางการเข้ามาสอบสวนก็พบว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนนั้นจงใจนำเสนอบริษัทที่ “ให้ผลกำไรดี” (จากการคำนวณแบบมึนๆ ของเขาหรือเธอ) เมื่อความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลูกค้าก็รับเคราะห์ไปเต็มๆ ในขณะที่คนที่แนะนำได้โบนัสไปเรียบร้อย เพื่อรักษาหน้าธนาคารรีบทำโฆษณาออกมาขอโทษลูกค้า แต่เบื้องหลังนั้นธนาคารยังคงแอบไปล็อบบี้คัดค้านการกำกับดูแลเรื่องการให้ข้อมูลการลงทุนกับผู้บริโภค ... แหม่ แต่ที่เด็ดสุดคือการออกมาแถลงผลประกอบการว่ามีกำไรถึง 8,000 ล้านเหรียญนี่สิ   Bankwest รายต่อไปเป็นธนาคารแบงค์เวสต์ ซึ่งอ้างว่าต้องการส่งเสริมให้เด็กรักการออม โครงการเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็กจึงเกิดขึ้น โดยเด็กๆ มาฝากกันได้ด้วยเงินฝากขั้นต่ำเพียง 25 เหรียญต่อเดือน แต่ที่ไม่ได้บอกคืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.75 นั้นจะใช้เฉพาะช่วง 12 เดือนแรก และถ้าเดือนไหนมีการถอนเงินออกมาใช้ อัตราดอกเบี้ยในเดือนนั้นก็จะหดเหลือร้อยละ 0.01 และในปีต่อไปถ้ามีเงินในบัญชีน้อยกว่า 3,000 เหรียญ เด็กก็จะได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ธนาคารให้เหตุผลว่าทำแบบนี้เพื่อที่เด็กๆ จะได้ตื่นเต้น อยากเริ่มเก็บเงินใหม่ทุกปียังไงล่ะ องค์กรผู้บริโภคเขาแซวว่านี่ไม่ใช่การปลูกฝังนิสัยการออมให้เด็กแล้ว ... มันเป็นการสอนพวกเขาให้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของธนาคารมากกว่า   S-26 Gold ไหนๆ ก็พูดถึงเด็ก ขอแวะมาที่ผลิตภัณฑ์ช้องค์กี้รายต่อไป ได้แก่ เอส 26 โกลด์ นมผงสำหรับเด็กวัยหนึ่งขวบ/สองขวบขึ้นไป ที่อ้างซ้ำไปซ้ำมาในโฆษณาว่าช่วยให้ลูกน้อยของคุณได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน นักโภชนาการให้คำแนะนำว่าเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปที่มีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องดื่มนมนี้ก็ได้ เพราะเป็นช่วงที่เด็กต้องลดการกินอาหารเหลว แล้วเริ่มหัดกินอาหารที่ต้องเคี้ยวตามพัฒนาการขั้นต่อไปของพวกเขา แต่แบรนด์นี้ก็ยังทำตลาดกับบรรดาพ่อแม่ที่กังวลว่าลูกจะ “ได้สารอาหารไม่ครบ” ต่อไป และยังเดินหน้ารังสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับพ่อแม่เหล่านี้ออกมาอีกหลายตัวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนมผงสำหรับเด็กในออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญ ... ผู้ปกครองก็เป็นเหยื่อโฆษณาไม่แพ้เด็กนะนี่   บิสกิต Tim Tam ตามด้วยขนมที่กินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างบิสกิตทิมแทม คราวนี้บริษัทอาน็อทเปิดตัวทิมแทม “กลิ่นเนยถั่ว” เมื่อเปรียบเทียบข้อความและรูปประกอบบนบรรจุภัณฑ์ กับส่วนประกอบแล้วคุณอาจจะงงนิดหน่อย เพราะไม่มี “เนยถั่ว” อยู่ในรายการ มีแต่ผงปาปริกาและสีผสมอาหารสี “คาราเมล” แต่นั่นยังไม่หมด ด้วยราคาเดียวกันและขนาดที่เท่ากันกับทิมแทมรสดั้งเดิม ในซองของเจ้าทิมแทมรสใหม่นี้จะมีปริมาณขนมน้อยลงจากเดิม 35 กรัม หรือ 2 ชิ้นอีกด้วย...     ชุดว่ายน้ำ Kmart กินขนมแล้วมาออกกำลังกายกันบ้าง คนออสซี่ที่รักการไปเที่ยวชายหาดหรือไปว่ายน้ำในสระ อาจมีเรื่องตกตะลึงในซัมเมอร์นี้ ถ้าบังเอิญไปเลือกซื้อชุดว่ายน้ำที่ห้างเคมาร์ท ผู้บริโภคที่ดีต้องศึกษาคำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อน แต่งานนี้เมื่ออ่านคำเตือนบนฉลากที่ด้านในของชุดแล้ว คุณอาจสงสัยว่ามันจะเกิดมาเป็นชุดว่ายน้ำทำไม ถ้าเขาเตือนให้คุณระวังเนื้อผ้าจะโปร่งแสงเมื่อโดนน้ำ ระวังไม่ให้เนื้อผ้าเสียดสีกับพื้นผิวขรุขระ ไม่ใส่ชุดลงในสระที่น้ำร้อน ไม่ให้ชุดสัมผัสสารเคมี เช่น ครีมกันแดด โอ้ .. ผลิตภัณฑ์อะไรจะใช้ยากขนาดนี้เนี่ย   Amazon Kindle Paper White ส่วนอันนี้ใช้ไม่ยากแต่อาจจะเชื่อยากนิดหน่อย เป็นใครก็ตื่นเต้นถ้ามีเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่โฆษณาว่าสามารถใช้งานได้นานถึง 8 สัปดาห์ คุณคงแอบนึกในใจว่า อุแม่เจ้าเราคงจะอ่านจบไปหลายเล่ม แต่เดี๋ยวก่อนตัวหนังสือเล็กๆ ข้างล่างเขียนว่า “หมายถึงการใช้งานวันละ 30 นาที เป็นเวลา 8 สัปดาห์” อ้าว ... คิดสะระตะแล้วเมื่อชารจ์แบตฯจนเต็ม มันก็ใช้งานได้ 28 ชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับยี่ห้ออื่นๆ แหม ... อเมซอน ทำเนียนเชียวนะ เครื่องผสมอาหาร Thermomix เรื่องนี้ว่าด้วยความผิดหวังของสาวกเทอร์โมมิกซ์โดยแท้ ผลิตภัณฑ์รุ่น TM 31 เป็นที่นิยมกันในหมู่คุณพ่อบ้านแม่บ้านมานานแล้ว เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ประกอบอาหารที่สนองความต้องการได้ครบถ้วน ด้วยประสิทธิภาพที่น่าพอใจ ผู้คนจึงยอมทุ่มเงินเกือบ 2,000 เหรียญเพื่อจะได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ระดับเทพนี้สักตัว รุ่นนี้ขายดิบขายดีมานานกว่า 7 ปี และบริษัท Vorwerk ผู้ผลิตก็ไม่มีที่ท่าว่าจะทำรุ่นใหม่ออกมาเลย ข่าวรั่ว ภาพหลุด ก็ไม่มี แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาบริษัทนี้ก็เปิดตัวเจ้า TM 5 ออกมาในราคา 50 เหรียญซะอย่างนั้น!! แต่คงไม่มีใครแค้นเกินคนที่เพิ่งจะไปสั่งซื้อเจ้ารุ่นละพันกว่าเหรียญเอาไว้ (เพราะได้รับคำยืนยันจากผู้ขายว่าไม่มีรุ่นใหม่ออกมาแน่นอน)  และได้รับของไม่กี่วันก่อนของใหม่จะเปิดตัว สุดท้ายบริษัทยอมชดเชยด้วยการแจก/แถมให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องรุ่น TM 31 หลังวันที่ 1 กรกฎาคม แต่ความเจ็บใจมันไม่หายไปง่ายๆ จากการโหวตของผู้บริโภค 1,041 คน มีถึง 530 คนที่โหวตให้เทอร์โมมิกซ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าปวดใจที่สุดในปีที่ผ่านมา  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 กระแสต่างแดน

มาดริดอาจต้องคิดใหม่ ช่วงนี้ชาวเมืองมาดริดมีเรื่องให้ได้เซ็งกันอย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะได้ทราบข่าวร้ายว่าไม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 ไปได้ไม่นาน ล่าสุดพนักงานกวาดถนนและเก็บขยะในเมืองก็พากันประท้วงหยุดงานอีก ผู้ประท้วงไม่พอใจที่เทศบาลประกาศปลดพนักงานกว่า 1,135 คน (จากทั้งหมด 7,000 คน) และลดเงินเดือนพนักงานที่ยังได้ทำงานต่อลงไปเกือบร้อยละ 40  รวมถึงบริษัทที่รับเหมางานจากเทศบาลก็บอกเลิกจ้างคนงานไป 350 คนแล้วเช่นกัน ทั้งหมดเป็นผลจากการที่ส่วนหน่วยงานราชการต้องรัดเข็มขัดตัดงบประมาณ   หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการที่แย่มากของนายกเทศมนตรี อนา โบเทลลา เธอเลือกที่จะไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานหรือการเพิ่มค่าแรง แต่กลับขู่ผู้ประท้วงว่าถ้าไม่กลับไปจับไม้กวาดมาทำงานต่อภายใน 48 ชั่วโมง เธอจะเลิกจ้างพวกเขาไปเลย เนื่องจากไม่มีการกวาดถนนหรือเก็บขยะมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ภาพเมืองหลวงของสเปนที่มีประชากร 3.2 ล้านคนที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจึงเป็นภาพเมืองที่มีขยะกองเกลื่อนเต็มถนนหนทาง คนมาดริดอาจเซ็งต่อได้อีกถ้าผู้ว่าฯ และทีมงานยังไม่เริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ก่อนการประท้วง จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนมาดริดลดลงไปร้อยละ 7.7 ทั้งๆ ที่จำนวนคนที่เดินทางมาสเปนนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 คงจะถึงเวลาแล้วที่มาดริดจะต้องทำให้เหมือนกับในคลิปวิดีโอที่ส่งเข้าประกวดชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกที่ย้ำว่า “Madrid makes sense” ไม่เช่นนั้นมาดริดอาจจะถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 4   มีขึ้น แต่ไม่มีลง ข่าวบอกว่าคอกาแฟที่เดนมาร์ก (และอาจจะที่บ้านเราด้วย) ยังจ่ายเงินซื้อกาแฟในราคาเท่าเดิมทั้งๆ ที่ราคาเมล็ดกาแฟต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ปัจจุบันราคาเมล็ดกาแฟอาราบิกาในตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 โครน (80 บาท) แต่ราคาที่คนเดนมาร์กรับรู้ยังคงเป็นราคากาแฟในช่วงที่อากาศในอเมริกาใต้ไม่เป็นใจกับการเพาะปลูก ซึ่งสูงถึง 34 โครน (195 บาท) ต่อกิโลกรัม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาในประเทศตะวันตกที่ผู้ประกอบการมักได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้ความเป็นไปในตลาด และมักให้เหตุผลเดิมๆ เรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่ง บรรจุหีบห่อ ภาษีและค่าจ้างพนักงานเวลาที่ตั้งราคาสินค้า แสดงว่าถ้าภาษีลด ราคาสินค้าก็จะลดลง? มันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเพราะหลังจากที่รัฐบาลเดนมาร์กประกาศลดภาษีเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลงร้อยละ 15 ราคาขายปลีกของสินค้าเหล่านี้ก็ยังคงเท่าเดิม ในเดือนมีนาคมปี 2012 เทศบาลโคเปนเฮเกนประกาศลดค่าธรรมเนียมการประกอบการร้านอาหารกลางแจ้ง เพื่อช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อเครื่องดื่มในราคาที่ถูกลง แต่ผลการสำรวจปรากฏว่าแทบไม่มีร้านไหนปรับราคาเครื่องดื่มลงเลย ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการกลับใช้โอกาสที่รัฐเรียกเก็บภาษีมาเป็นเหตุผลในการขึ้นราคาสินค้า คงยังจำกรณีภาษีไขมันที่เรียกเก็บจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 2.3 กันได้ งานสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและกระทรวงภาษีของเดนมาร์กพบว่ามีการตั้งราคาสินค้าเกินจากส่วนที่ต้องเสียภาษีไขมันเพิ่มไปมากทีเดียว เช่น ราคาซาวครีมน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.6 เมื่อรวมภาษีแล้ว แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งราคาขายแพงขึ้นจากเดิมไปถึงร้อยละ 17.3 และที่ตลกที่สุดคือ ปัจจุบันภาษีดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ราคาสินค้าเหล่านั้นก็ยังไม่ถูกลง ค่อยๆ เรียน ไม่ได้มีแต่เมืองไทยที่ปรับลดเวลาเรียนลง หลักสูตรประถมศึกษาของเวียดนามหลังปี 2015 ก็จะทำให้เด็กๆ ได้มีเวลาเล่นมากขึ้น ระยะเวลาเรียนจะลดลงจาก 37 สัปดาห์เป็น 35 สัปดาห์ และวิชาเรียนจะมีเพียง 3 วิชาเท่านั้น จากปัจจุบันที่เรียนอยู่ 8 วิชา สถาบันวิจัยการศึกษาเวียดนามเสนอหลักสูตรใหม่สำหรับระดับประถมศึกษาเพราะเชื่อว่าเวียดนามควรมีระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการและให้ความสนใจกับความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน มากกว่าการให้เพียงความรู้ทางวิชาการแบบเมื่อก่อน ปัจจุบันเด็กชั้นประถมปีที่ 1 ต้องเรียนทั้งหมด 8 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม ศีลธรรม ธรรมชาติและสังคม ดนตรี ศิลปะ งานฝีมือ และพลศึกษา รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาอีก 2 กิจกรรม แต่หลังจากปี 2015 พวกเขาจะเรียนแค่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม และวิชา “ชีวิตรอบตัวเรา” ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิชาที่บูรณาการความรู้ในเรื่องธรรมชาติและสังคม รวมกับกิจกรรมเสริมหลักสูตรอย่าง ศิลปะและกีฬา เป็นต้น เด็กๆจะได้เรียนภาษาต่างประเทศเมื่อพวกเขาขึ้นชั้นประถมปีที่ 3  ส่วนนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 – 5 นั้นจะมีวิชาเรียนไม่เกิน 6 วิชา แต่ปัญหาหลักของเวียดนามขณะนี้คือการไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวม/จัดทำตำราเรียน หนังสือที่ใช้กันอยู่เป็นตำราที่เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูผู้สอน ซึ่งแม้จะมีความรู้ความชำนาญในสาขาต่างๆ แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญการเขียนตำราเรียน เห็นมากับตา โฆษณามาสคาร่ามักจัดเกินเสมอเพราะรู้ว่าขนตาหนางอนงามในสามโลกเป็นสิ่งที่สาวๆ ปรารถนา และนั่นคือสิ่งที่เมย์เบลลีนใช้กับโฆษณามาสคาร่ารุ่น Volume Express the Rocket ในนิตยสารแฟชั่น ที่นางแบบมีขนตาหนาสุดๆ ด้วยมาสคาร่า ... และขนตาปลอม หลังจากที่มีการร้องเรียน หน่วยงานที่ดูแลเรื่องโฆษณาของออสเตรเลีย National Advertising Division ได้ออกข้อกำหนดว่าต่อไปนี้ห้ามใช้ขนตาปลอมในโฆษณามาสคาราเด็ดขาด หรือถ้าจะใช้ก็ต้องแจ้งในตัวโฆษณาให้ผู้บริโภคมองเห็นได้ชัดเจน โฆษณาดังกล่าวที่อ้างว่าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้ขนตาหนาขึ้น 8 เท่านั้น มีตัวหนังสือเล็กๆ ระบุไว้ด้านล่างว่านางแบบใช้ขนตาปลอม แต่คำตัดสินฟันธงว่าการมีข้อความที่ขัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสิ่งที่ต้องการสื่อในโฆษณานั้น ไม่สามารถแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคได้ เมย์เบลลีนกำลังอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบโฆษณาแห่งชาติ National Advertising Review Board ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมกันเองโดยความสมัครใจของภาคธุรกิจ ผู้ใหญ่ของบริษัทลอรีอัลซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เมย์เบลลีน ยืนยันว่าเขียนตัวเล็กๆ ก็พอแล้ว สาวๆ เขารู้ดีว่าผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์มันแตกต่างกันตามรูปลักษณ์และเทคนิคการแต่งหน้าของแต่ละคน พวกเธอไม่ได้คาดหวังว่าจะตัวเองจะมีขนตาเหมือนนางแบบหรอก ด้านเลขาธิการขององค์กร Truth in Advertising องค์กรไม่แสวงหากำไรที่รณรงค์คัดค้านการโฆษณาหลอกลวง ตั้งคำถามว่า “ถ้าคุณจะขายของผ่านโฆษณาที่เป็นภาพถ่าย อย่างน้อยๆ ภาพถ่ายนั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมิใช่หรือ?” ใครเอาเนยแข็งของร้านไป? การขโมยของในห้างที่อังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากเมื่อสองปีก่อน ร้อยละ 36 ของการขาดทุนของร้านค้าปลีกในอังกฤษก็เกิดจากการถูกมือดีมาขโมยของในร้านนั่นเอง ข่าวบอกว่าอาจเป็นเพราะความกดดันที่เกิดขึ้นกับภาวะการเงินครอบครัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ผู้กระทำผิดมักเป็นคนรายได้น้อย แต่เดี๋ยวนี้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งก็หันมาลักขโมยกับเขาด้วยเพราะยังอยากมีวิถีชีวิตแบบเดิมแม้รายได้จะลดลง ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตพบว่าปัจจุบันสินค้าที่ถูกขโมยมากขึ้นคือ อาหารราคาแพง เช่น เนื้อสด แฮม เบคอน อกไก่ เนยแข็ง กาแฟ ไวน์ และว้อดกา ถ้ารวมมูลค่าความเสียหายแล้วก็ตกประมาณ 3,400 ล้านปอนด์ (1.7 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ Euromonitor International ยังระบุว่าหนึ่งในสามของการลักขโมยสินค้าในร้าน เกิดจากพนักงานของทางร้านเอง ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น ข้อมูลจาก Global Retail Theft Barometer ระบุว่าการขโมยสินค้าในห้าง ทั้งโดยคนทั่วไปและโดยขบวนการต่างๆ นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกแห่งในโลก พูดง่ายๆ คือมีคนลงมือขโมยกันมากขึ้น และแต่ละครั้งที่ขโมยก็จะขโมยในปริมาณมากขึ้นด้วย ทางออกของห้างร้านเหล่านี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการลงทุนกับระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่าราคาสินค้าก็คงจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลุ้มกันไปทุกฝ่าย เพราะดูเหมือนว่าสาเหตุที่เนยแข็งหายไปนั้น เป็นเพราะรายได้ที่หายไปนั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสต่างแดน

  เมดไม่อยู่ คุณหนูต้องออกเที่ยว เทศกาลวันหยุดหลังการถือศีลอดของชาวมุสลิมที่อินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้คนก็พากันกลับต่างจังหวัด คล้ายๆ กับเทศกาลสงกรานต์บ้านเรา  และเมื่อสาวใช้ในบ้านพากันลากลับบ้านไปใช้เงินโบนัสให้สาสมใจนั้น บรรดาคนมีเงินที่นั่นเขาก็ต้องหาที่ไปเหมือนกันเพราะไม่ถนัดจะอยู่บ้านโดยไม่มีแม่บ้านคอยดูแลจัดการทุกอย่างให้สะอาดเข้าที่เข้าทาง  บ้างก็นิยมไปเที่ยวเมืองนอก เรื่องนี้สมาคมท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเขายืนยันมา ว่าแพ็คเกจทัวร์ไป  ประเทศยอดฮิตของคนที่นั่นซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ขายหมดไปแล้วตั้งแต่สองสามเดือนก่อน แอร์เอเชียก็ยืนยันมาว่าขนาดเพิ่มเที่ยวบินเป็น 8 เที่ยวต่อวัน ก็ยังมีตั๋วไม่พอขาย บ้างก็ไม่อยากข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลเพราะเป็นห่วงบ้าน เลยใช้วิธียกครอบครัวไปพักที่โรงแรมแทน สมาคมโรงแรมเขาก็ยืนยันว่าอัตราการจองห้องพักของคนอินโดนีเซียในช่วงวันหยุดดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85  อีกปรากฏการณ์ที่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เขารายงานไว้คือ ช่วงเทศกาลดังกล่าวเป็นช่วงที่โรงรับจำนำจะมีลูกค้าหนาแน่นเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เพราะผู้คนพากันเอาของมีค่ามาจำนำหรอกนะ เขาบอกว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าที่เดินเข้ามา จะมาไถ่เครื่องประดับออกมาไว้ใส่ไปอวดใครต่อใครตอนกลับไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ หลายคนบอกว่าตอนนี้ทองราคาขึ้น เอาออกมาไว้กับตัวดีกว่า เผื่อจะได้ขายทำเงิน   ได้เวลา … ภาษีลดความอ้วนฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในยุโรปตะวันออก ประกาศนโยบายหารายได้เข้ารัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน หรือเกลือสูงเกินไป ว่ากันว่านี่คือนโยบายเก็บภาษีจากอาหารขยะแบบเข้มที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ก็แอบหวังเล็กๆ ว่า “ภาษีลดความอ้วน” ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นการช่วยปรับนิสัยการกินของคนฮังกาเรียน ที่หันมาเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น และนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนไม่น้อย  พูดง่ายๆ ใครเลือกที่จะกินผลิตภัณฑ์อาหารเจ้าปัญหาเหล่านี้ จะต้องเสียเงินเพิ่มจากเดิมประมาณ 1.50 บาทต่อชิ้น/ซอง ส่วนนักดื่ม (น้ำอัดลม) ก็จะต้องจ่ายในราคาที่เพิ่มจากเดิมร้อยละ 10 เป็นต้น ทางการเขาบอกมาว่ามาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)  ด้านอุตสาหกรรมอาหารก็คัดค้านเป็นธรรมดา เขาอ้างว่าวิธีนี้ปรับปรุงนิสัยการกินไม่ได้หรอก เพราะขนาดประเทศเดนมาร์กที่เก็บ “ภาษีลูกกวาด” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ก็ยังมีอัตราการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอยู่ดี แถมยังบอกว่ามาตรการนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย  ว่าแต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะไม่ซื้อขนม(ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) ในราคาที่แพงขึ้น และรัฐบาลเขาก็ไม่ได้ประกาศห้ามอุตสาหกรรมผลิตขนมที่ดีต่อสุขภาพออกมาขายนี่นา  สถิติบอกว่าคนฮังกาเรียน ใช้เงินประมาณร้อยละ 17 ของรายได้ครอบครัวในการซื้ออาหาร (มากกว่าคนอเมริกันถึงสองเท่า) ทั้งนี้เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่นั่นมีภาษีร้อยละ 25 ยกเว้นผลิตภัณฑ์จากนมและผลิตภัณฑ์ขนมปังที่มีภาษีร้อยละ 12  อิสราเอล กด Like “ไม่ซื้อเนยแพง”ผู้คนจำนวนหลายแสนคนที่รวมตัวกันทางเครือข่ายสังคม Facebook ได้ช่วยกันบอยคอตเนยคอทเทจยี่ห้อ Tnuva ที่พวกเขาเห็นว่าราคาแพงขึ้นจนรับไม่ได้   นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเลิกควบคุมราคา คอทเทจชีสยี่ห้อนี้ก็แพงขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 25  เริ่มจากมีผู้บริโภคคนหนึ่งโพสต์กระทู้ลงในเฟสบุ๊ค ชักชวนเพื่อร่วมเครือข่ายให้หยุดซื้อเนยคอทเทจจาก Tnuva ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่สุดในอิสราเอล ปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันมีคนมาร่วมแจมเป็นแสนคน และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคอทเทจชีสนั้นถือเป็นอาหารสามัญประจำโต๊ะกับข้าวของคนที่นั่น  ผลก็คือในที่สุด Tnuva ซึ่งเจ้าของตัวจริงได้แก่ Apax Investment Fund ของอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ยอมลดราคากลับมาเท่าเดิม แต่ก็ต้องยอมเพิ่มปริมาณเนยเข้าไปอีกร้อยละ 10  นี่คือผลของการรวมตัวกัน “ไม่ซื้อ” ของผู้บริโภคกว่า 450,000 คน(ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยสำหรับประเทศที่มีประชากรทั้งหมด 7 ล้านคน) คนกลุ่มนี้มีการศึกษา มีงานทำ และทำงานด้วยความทุ่มเท แต่กลับมีรายได้แทบไม่พอกับการใช้จ่ายพื้นฐานในครัวเรือน พวกเขาจึงรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว  สถิติบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนของคนอิสราเอลนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.6 ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25  และพลังผู้บริโภคยังไม่หยุดแค่นั้น การบอยคอตที่ว่ายังขยายไปยังสินค้าจำเป็นอื่นๆ อีกด้วย สมาชิกเครือข่ายนี้จะร่วมกันเสนอชื่อสินค้าที่พวกเขาเห็นว่าตั้งราคาอย่างไม่เป็นธรรม และทุกคนก็จะร่วมมือกันไม่ซื้อสินค้าดังกล่าว  ยอดเยี่ยมจริงๆ ฉลาดซื้อ ขอกด Like ด้วยคน   เอาชีวิตรอดบนถนนในเมืองหลวงการขับรถบนถนนในเมือง มอสโก (เมืองหลวงเก่า) ของรัสเซีย คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเขาถึงกับต้องมีการเปิดสอนคอร์ส “การเอาตัวรอดบนถนนมอสโก” กันเลยทีเดียว   สภาพถนนส่วนใหญ่ในรัสเซียนั้นเขาว่ากันว่าแย่มากๆ แถมยังไม่ค่อยมีป้ายสัญญาณ และแทบจะไม่มีการวางแผนจราจรด้วย หนำซ้ำอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยผู้ใช้รถใช้ถนนนี่แหละ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียบอกว่า ปัญหาหลักอยู่ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนเองสามารถทำผิดกฎหมายโดยไม่มีใครทำอะไรได้  เลยต้องเกิดสภาพตัวใครตัวมันขึ้นมาอย่างที่เป็นอยู่ สิบปีก่อน เซอเก้ โมเซเยฟ เป็นเซลส์แมนที่ต้องพบกับประสบการณ์ขนหัวลุกทั้งวันที่เขาต้องขับรถไปหาลูกค้า เขาเลยไปลงเรียนคอร์สดังกล่าว เซอเก้บอกว่าเป็นการตัดสินใจที่นอกจากจะช่วยชีวิตเขาไว้ได้แล้ว ยังช่วยประหยัดเงินและเวลาที่จะต้องไปทำเรื่องที่สถานีตำรวจอย่างน้อย 3 วัน และค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 10 กรณีที่เขาเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย  พูดง่ายๆ ว่า แม้แต่การเฉี่ยวชนเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ต้องเสียโอกาสทำเงินไปไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท  แล้วเซอเก้ก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการสมัครเป็นครูที่สถาบันแห่งนั้นเสียเลย    เพราะธุรกิจนี้ดูท่าจะรุ่งเพราะบรรดาบริษัทต่างๆ นิยมส่งพนักงานมาเรียนเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องทันท่วงที ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนน แม้แต่พวกที่ซื้อใบขับขี่ในตลาดมืด ก็ยังต้องมาลงเรียนคอร์สนี้  พฤติกรรมแย่ๆ ในการขับรถระบาดมาถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ข่าวบอกว่าพักหลังนี่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันโดยมีรถตำรวจเข้าไปเป็นคู่ความบ่อยครั้ง จนกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียต้องประกาศให้นายตำรวจทุกคนที่ใช้รถลาดตระเวน มาสอบขับรถกันใหม่ ภายใน 1 เดือนนับจากวันออกประกาศ  รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการตายบนท้องถนนมากที่สุดในโลก ปีที่แล้วมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 26,000 คน ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากจากเมื่อ 6 ปีก่อนที่ตัวเลขสูงกว่านี้เกือบร้อยละ 4  ข่าวบอกว่ามาตรการปราบปรามพวก “เมาไม่ขับ” ของที่นั่นก็ประสบความสำเร็จดีเกินคาด แต่หนังสือพิมพ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมาตรการเข้มงวดที่ว่านั้นทำให้ “สินบน” ที่ต้องจ่ายให้ตำรวจนั้นถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 300,000 บาททีเดียว  จริงเท็จอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีใบเสร็จรับรอง 

อ่านเพิ่มเติม >