นิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบพบสารพิษอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในเนยถั่ว 12 ตัวอย่าง คิดเป็น 54.55% เตือนผู้บริโภคหากรับประทานมากอาจเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบอะฟลาท็อกซิน สารพิษที่เกิดจากเชื้อรา ในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว 11 ตัวอย่างมีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน  1 ตัวอย่างปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า แนะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วมีมาตรฐาน GMP เนื่องจากมีข้อบังคับใช้ ควบคุมคุณภาพวัตถุดิบแปรรูป เพื่อลดความเสี่ยงในการบริโภค         วันที่ 3 มีนาคม 2565 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก (สสส.) ได้สุ่มเก็บผลิตภัณฑ์เนยถั่วจำนวน 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 จากห้างสรรพสินค้าทั่วไป เพื่อนำมาทดสอบการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน เนื่องจากสารอะฟลาท็อกซินโดยปกติเป็นสารพิษที่เกิดจากเชื้อราและสามารถปนเปื้อนได้ในเนยถั่ว หากร่างกายได้รับเข้าไปในปริมาณมากอาจเสี่ยงเกิดอาการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย และอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในตับได้         จากผลทดสอบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซินจากผลิตภัณฑ์เนยถั่ว นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยว่า พบ 1 ตัวอย่าง ที่มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด ได้แก่ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด พบว่ามีสารอะฟลาท็อกซินถึง 65.87 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามที่ประกาศของทางกระทรวงสาธารณะสุข ฉบับที่ 414 พ.ศ.2563 กำหนดให้มีการปนเปื้อนของสารอะฟลาท็อกซินทั้งหมด (B1+B2+G1+G2) ในอาหารสูงสุดไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม และพบอีก 11 ตัวอย่าง มีสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนด้วยเช่นกัน แต่ไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยคิดเป็นพบอะฟลาท็อกซิน 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด ได้แก่ ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี้ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบ, ครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ ส่วนอีก 10 ตัวอย่าง ไม่พบสารอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตามเมื่อลองเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ มีราคาถูกที่สุดคือ 0.26 บาท และ ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท ราคาแพงที่สุดคือ 1.05 บาท         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการอิสระ กองบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชัน (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชันสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ อะฟลาท็อกซิน (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 แคลอรี่ เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์         ทั้งนี้  นิตยสารฉลาดซื้อแนะนำ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วควรเลือกจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP  เนื่องจากจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่นำไปใช้แปรรูป  และอะฟลาท็อกซินแม้พบในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบ แต่อย่างไรก็ตามปริมาณอะฟลาท็อกซินที่พบนั้น หากเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด นอกจากนี้ ฉลาดซื้อยังแนะอีกว่า การทำเนยถั่วกินเองช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซิน เพราะผู้บริโภคมีโอกาสการเลือกวัตถุดิบที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเองอ่านบทความผลทดสอบ “อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว” ได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3942

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 อะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว

        เนยถั่ว ทำจากถั่วลิสง รสอร่อย กินเป็นของว่างก็ดี ใช้ปรุงอาหารก็ได้ เป็นหนึ่งในอาหารสุขภาพยอดนิยมของทุกเพศทุกวัย อุดมด้วยโปรตีน ไขมันดี วิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทว่าผลิตภัณฑ์เนยถั่วหลายยี่ห้อมักเพิ่มน้ำตาล น้ำมัน หรือน้ำผึ้งเข้าไปด้วย เพื่อลดความหนืดและเพิ่มรสชาติ หากใครเผลออร่อยเพลินก็เสี่ยงอ้วนและเพิ่มโรคได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาหากผู้บริโภคเลือกพิจารณาจากส่วนประกอบบนฉลากได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือ ความเสี่ยงที่จะได้รับสาร อะฟลาท็อกซิน ซึ่งต้องอาศัยการทดสอบในห้องทดลองจึงจะพบได้        ทั้งนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยและความรู้เรื่องการบริโภคที่เหมาะสม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เนยถั่วทั้งหมด 22 ตัวอย่าง 14 ยี่ห้อ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 มาทดสอบว่ามีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินหรือไม่   ผลการทดสอบการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่ว         จากผลิตภัณฑ์เนยถั่วที่สุ่มนำมาทดสอบทั้งหมด 22 ตัวอย่าง พบว่า         - มี 1 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ ยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด  พบ 65.87 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         - 10 ตัวอย่าง ไม่มีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซิน (คิดเป็น 45.45%ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ ยี่ห้อเวทโทรส เอสเซนเชียล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อมอร์ริสันส์ สมูท พีนัท บัตเตอร์และ100% พีนัท สมูท พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโฮลเอิธ์ท ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ซูเปอร์ชังค์ พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดละเอียดและเนยถั่วลิสงบดหยาบ รสจืด, ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ ครันชี และยี่ห้อเลมอนฟาร์ม เนยถั่วลิสง         - 12 ตัวอย่าง มีอะฟลาท็อกซินปนเปื้อน (คิดเป็น 54.55% ของตัวอย่างทั้งหมด) ได้แก่ยี่ห้อแมช ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อสกิปปี ครีมมี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อจิฟ ครีมมี พีนัท บัตเตอร์และครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อแฮปปี้เมท ครีมถั่วลิสง รสธรรมชาติ บดหยาบและครีมถั่วลิสง รสน้ำผึ้ง บดหยาบ, ยี่ห้อ Paul food เนยถั่วลิสงชนิดละเอียด รสจืด, ยี่ห้อทองการ์เด้น เนยถั่วลิสงชนิดบดหยาบ, ยี่ห้อลิฟวิ่งเวล ครันชี พีนัท บัตเตอร์, ยี่ห้อโลตัส ชังค์กี้ พีนัท บัตเตอร์ และยี่ห้อไม้ภูตะวัน เนยถั่วลิสงแบบละเอียด ผลเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม         พบว่า ยี่ห้อแมช ครันชี พีนัท บัตเตอร์ ถูกที่สุดคือ 0.26 บาท ส่วน ยี่ห้อพิคส์ พีนัท บัตเตอร์ สมูท แพงที่สุดคือ 1.05 บาทฉลาดซื้อแนะ        - ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เนยถั่วจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน GMP ซึ่งจะมีข้อกำหนดระดับการปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินในเมล็ดถั่วลิสงบังคับใช้ เพื่อควบคุมคุณภาพวัตถุดิบที่จะนำไปใช้แปรรูปอยู่ด้วย        - แม้จะพบอะฟลาท็อกซินในผลิตภัณฑ์เนยถั่วเกินครึ่งหนึ่งของตัวอย่างที่นำมาทดสอบทั้งหมด แต่ปริมาณอะฟลาท็อกซินโดยเฉลี่ยแล้วยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนด ทั้งนี้มีผลการทดลองในต่างประเทศที่พบว่าในกระบวนการผลิตเนยถั่วที่ต้องทั้งอบและบดนั้น สามารถฆ่าเชื้ออะฟลาท็อกซินได้มากถึง 89%          - การทำเนยถั่วกินเองน่าจะช่วยให้ลดความเสี่ยงจากการได้รับอะฟลาท็อกซินได้ทางหนึ่ง เพราะผู้บริโภคมีโอกาสเลือกวัตถุดิบถั่วลิสงที่ใหม่ และควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง ซึ่งวิธีทำเนยถั่วก็มีเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ให้เลือกทำตามได้ง่ายๆ          - หากเปิดกระปุกเนยถั่วแล้วควรใช้อุปกรณ์ที่สะอาดตักทุกครั้ง ปิดฝาให้สนิทแล้วเก็บไว้ในที่มืดและแห้ง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนได้ภายหลัง  ข้อมูลอ้างอิงประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563ฉลาดซื้อฉบับที่ 186 อะฟลาท็อกซินในถั่วลิสงบทความ กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม? (ฉลาดซื้อ)บทความ การปนเปื้อนเชื้อราและอะฟลาทอกซินในถั่วและผลิตภัณฑ์ถั่วพร้อมบริโภค (กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์)https://www.fitterminal.comhttps://www.scirp.org/Journal/PaperInformation.aspx?paperID=4527

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 รู้เท่าทันกินเนยถั่ว

กินเนยถั่ว (ลิสง) อันตรายต่อสุขภาพไหม        เนยถั่วลิสงเป็นอาหารยอดนิยมที่ผู้คนใช้ในการประกอบอาหารและของว่างหลายชนิด เป็นอาหารที่ไม่ควรมีคอเลสเตอรอลและเป็นตัวเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เต็มไปด้วยโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเนยถั่วลิสงมีทั้งวิตามินและแร่ธาตุซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตามความที่มันเป็นอาหารที่มีรสมันจัดจึงน่าสงสัยว่าดีต่อสุขภาพจริงหรือ         เนยถั่วลิสงนั้นต่างจากเนยสำหรับทาขนมปัง (หรือ butter ที่ทำจากนมวัว) ตรงที่เนยถั่วลิสงมีโปรตีนเป็นองค์ประกอบสูงเท่าที่ถั่วลิสงมี แต่เนยทาขนมปังนั้นเป็นไขมันเกือบทั้งหมด โดย 100 กรัม เนยถั่วลิสงมีโปรตีนประมาณ 25 กรัม ในขณะที่เนยทาขนมปังนั้น 100 กรัม มีโปรตีนไม่เกิน 1 กรัม         นอกจากนี้ไขมันในเนยถั่วลิสงยังเป็นไขมันไม่อิ่มตัวสูงหรือ PUFA ซึ่งไม่มีคอเลสเตอรอล ในขณะที่เนยทาขนมปังมีไขมันตามที่นมมีคือ มักเป็นไขมันอิ่มตัวแต่อาจมีไขมันไม่อิ่มตัวได้บ้างตามอาหารที่วัวกินว่า เป็นหญ้าหรือกากถั่วเหลือง กากข้าวโพด ที่สำคัญคือ เนยทาขนมปังมีคอเลสเตอรอลได้เพราะเป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ดังนั้นถ้าเนยถั่วลิสงยี่ห้อใดมีการเติม butter เพื่อให้รสชาติดีโอกาสพบคอเลสเตอรอลในระดับหนึ่งย่อมเป็นไปได้         สิ่งที่ควรคำนึงเมื่อกล่าวถึงกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูงในเนยถั่วลิสงคือ สารอาหารนี้ถูกออกซิไดส์ให้เกิดความหืนได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จึงอาจจำเป็นต้องมีการเติมสารต้านออกซิเดชั่น (antioxidants) ให้มากพอเพื่อช่วยในการดำรงสภาพของกรดไขมันไม่อิ่มตัว แม้ว่าเนื้อถั่วลิสงเองก็มีสารต้านออกซิเดชั่นธรรมชาติหลายชนิดก็ตามแต่ก็อาจไม่พอ สารต้านออกซิเดชั่นสังเคราะห์นั้นมีหลายชนิดที่อุตสาหกรรมอาหารสามารถเลือกใช้ได้ตามต้องการ เช่น BHA นอกจากนี้เนยถั่วลิสงบางยี่ห้ออาจมีการแต่งสีเพื่อให้มีความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ในแต่ละครั้งของการผลิต พร้อมเติมไขมันอื่น ๆ เพื่อให้เนื้อเนยมีความเนียน และที่สำคัญคือ เนยถั่วลิสงอาจต้องมีการเติมสารกันเสียเพื่อกันราขึ้นด้วย         สิ่งที่ต้องแลกกับประโยชน์ของเนยถั่วลิสงคือ ความเสี่ยงในการรับสารพิษจากเชื้อราคือ aflatoxin  (B1, B2, G1 และ G2) ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่วลิสงนั้นเป็นที่ยอมรับว่าปลอดจากสารพิษนี้ยาก จึงต้องพยายามคุมให้มีระดับไม่เกิน 20 ส่วนในพันล้านส่วน ซึ่งในทางพิษวิทยาถือว่า มีความเสี่ยงต่ำ         ก่อนซื้อเนยถั่วลิสงควรดูฉลากว่า มีการเติมองค์ประกอบอื่น เช่น น้ำตาลทราย และสารเจือปนต่าง ๆ หรือไม่ แล้วจึงถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ถ้าเนยถั่วลิสงไม่ได้มีเฉพาะถั่วลิสงบดกับเกลือ ซึ่งถ้ารับไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลือกเนยถั่วยี่ห้อที่แสดงฉลากว่า ไม่เติมสารเจือปนใด ๆ หรือทำกินเองเพราะทำได้ง่ายมาก         อย่างไรก็ดีสิ่งที่สำคัญที่สุดในการบริโภคเนยถั่วลิสงคือ เนยถั่วลิสงนั้นอร่อยสุด ๆ การกินมากเกินไปย่อมทำให้อ้วนได้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (The American Heart Association) แนะนำให้กินเนยถั่วลิสงได้วันละ 2 ช้อนโต๊ะ ซึ่งมีประมาณ 188 calories เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนั้นวันไหนที่กินเนยชนิดนี้ก็ควรออกกำลังกายเพิ่มขึ้นสักหน่อยเพื่อความสบายใจของแพทย์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 164 กระแสต่างแดน

Shonky Award 2014 เข้าสู่ปีที่ 9 แล้วสำหรับรางวัลช้องค์กี้ หรือรางวัลผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี ที่องค์กรผู้บริโภคของออสเตรเลียจัดเป็นประจำตั้งแต่ปี 2006  มาดูกันว่าปีนี้มีใครได้รางวัลนี้ไปครอบครองให้อับอายกันบ้าง   Commonwealth Bank of Australia รายแรกคือธนาคารคอมมอนเวลท์ ที่ดำเนินธุรกิจได้แสบสันคันจิต ปีที่ผ่านมามีลูกค้าหลายพันคนเอาเงินฝากไปลงทุน โดยผ่านการแนะนำของเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วก็ขาดทุนย่อยยับในที่สุด เมื่อทางการเข้ามาสอบสวนก็พบว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนนั้นจงใจนำเสนอบริษัทที่ “ให้ผลกำไรดี” (จากการคำนวณแบบมึนๆ ของเขาหรือเธอ) เมื่อความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ลูกค้าก็รับเคราะห์ไปเต็มๆ ในขณะที่คนที่แนะนำได้โบนัสไปเรียบร้อย เพื่อรักษาหน้าธนาคารรีบทำโฆษณาออกมาขอโทษลูกค้า แต่เบื้องหลังนั้นธนาคารยังคงแอบไปล็อบบี้คัดค้านการกำกับดูแลเรื่องการให้ข้อมูลการลงทุนกับผู้บริโภค ... แหม่ แต่ที่เด็ดสุดคือการออกมาแถลงผลประกอบการว่ามีกำไรถึง 8,000 ล้านเหรียญนี่สิ   Bankwest รายต่อไปเป็นธนาคารแบงค์เวสต์ ซึ่งอ้างว่าต้องการส่งเสริมให้เด็กรักการออม โครงการเงินฝากดอกเบี้ยสูงสำหรับเด็กจึงเกิดขึ้น โดยเด็กๆ มาฝากกันได้ด้วยเงินฝากขั้นต่ำเพียง 25 เหรียญต่อเดือน แต่ที่ไม่ได้บอกคืออัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5.75 นั้นจะใช้เฉพาะช่วง 12 เดือนแรก และถ้าเดือนไหนมีการถอนเงินออกมาใช้ อัตราดอกเบี้ยในเดือนนั้นก็จะหดเหลือร้อยละ 0.01 และในปีต่อไปถ้ามีเงินในบัญชีน้อยกว่า 3,000 เหรียญ เด็กก็จะได้ดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ธนาคารให้เหตุผลว่าทำแบบนี้เพื่อที่เด็กๆ จะได้ตื่นเต้น อยากเริ่มเก็บเงินใหม่ทุกปียังไงล่ะ องค์กรผู้บริโภคเขาแซวว่านี่ไม่ใช่การปลูกฝังนิสัยการออมให้เด็กแล้ว ... มันเป็นการสอนพวกเขาให้รู้จักเล่ห์เหลี่ยมของธนาคารมากกว่า   S-26 Gold ไหนๆ ก็พูดถึงเด็ก ขอแวะมาที่ผลิตภัณฑ์ช้องค์กี้รายต่อไป ได้แก่ เอส 26 โกลด์ นมผงสำหรับเด็กวัยหนึ่งขวบ/สองขวบขึ้นไป ที่อ้างซ้ำไปซ้ำมาในโฆษณาว่าช่วยให้ลูกน้อยของคุณได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ครบถ้วน นักโภชนาการให้คำแนะนำว่าเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปที่มีสุขภาพดี ไม่จำเป็นต้องดื่มนมนี้ก็ได้ เพราะเป็นช่วงที่เด็กต้องลดการกินอาหารเหลว แล้วเริ่มหัดกินอาหารที่ต้องเคี้ยวตามพัฒนาการขั้นต่อไปของพวกเขา แต่แบรนด์นี้ก็ยังทำตลาดกับบรรดาพ่อแม่ที่กังวลว่าลูกจะ “ได้สารอาหารไม่ครบ” ต่อไป และยังเดินหน้ารังสรรค์ผลิตภัณฑ์สำหรับพ่อแม่เหล่านี้ออกมาอีกหลายตัวเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดนมผงสำหรับเด็กในออสเตรเลีย ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 100 ล้านเหรียญ ... ผู้ปกครองก็เป็นเหยื่อโฆษณาไม่แพ้เด็กนะนี่   บิสกิต Tim Tam ตามด้วยขนมที่กินกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างบิสกิตทิมแทม คราวนี้บริษัทอาน็อทเปิดตัวทิมแทม “กลิ่นเนยถั่ว” เมื่อเปรียบเทียบข้อความและรูปประกอบบนบรรจุภัณฑ์ กับส่วนประกอบแล้วคุณอาจจะงงนิดหน่อย เพราะไม่มี “เนยถั่ว” อยู่ในรายการ มีแต่ผงปาปริกาและสีผสมอาหารสี “คาราเมล” แต่นั่นยังไม่หมด ด้วยราคาเดียวกันและขนาดที่เท่ากันกับทิมแทมรสดั้งเดิม ในซองของเจ้าทิมแทมรสใหม่นี้จะมีปริมาณขนมน้อยลงจากเดิม 35 กรัม หรือ 2 ชิ้นอีกด้วย...     ชุดว่ายน้ำ Kmart กินขนมแล้วมาออกกำลังกายกันบ้าง คนออสซี่ที่รักการไปเที่ยวชายหาดหรือไปว่ายน้ำในสระ อาจมีเรื่องตกตะลึงในซัมเมอร์นี้ ถ้าบังเอิญไปเลือกซื้อชุดว่ายน้ำที่ห้างเคมาร์ท ผู้บริโภคที่ดีต้องศึกษาคำแนะนำการใช้ผลิตภัณฑ์ก่อน แต่งานนี้เมื่ออ่านคำเตือนบนฉลากที่ด้านในของชุดแล้ว คุณอาจสงสัยว่ามันจะเกิดมาเป็นชุดว่ายน้ำทำไม ถ้าเขาเตือนให้คุณระวังเนื้อผ้าจะโปร่งแสงเมื่อโดนน้ำ ระวังไม่ให้เนื้อผ้าเสียดสีกับพื้นผิวขรุขระ ไม่ใส่ชุดลงในสระที่น้ำร้อน ไม่ให้ชุดสัมผัสสารเคมี เช่น ครีมกันแดด โอ้ .. ผลิตภัณฑ์อะไรจะใช้ยากขนาดนี้เนี่ย   Amazon Kindle Paper White ส่วนอันนี้ใช้ไม่ยากแต่อาจจะเชื่อยากนิดหน่อย เป็นใครก็ตื่นเต้นถ้ามีเครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่โฆษณาว่าสามารถใช้งานได้นานถึง 8 สัปดาห์ คุณคงแอบนึกในใจว่า อุแม่เจ้าเราคงจะอ่านจบไปหลายเล่ม แต่เดี๋ยวก่อนตัวหนังสือเล็กๆ ข้างล่างเขียนว่า “หมายถึงการใช้งานวันละ 30 นาที เป็นเวลา 8 สัปดาห์” อ้าว ... คิดสะระตะแล้วเมื่อชารจ์แบตฯจนเต็ม มันก็ใช้งานได้ 28 ชั่วโมง ไม่ต่างอะไรกับยี่ห้ออื่นๆ แหม ... อเมซอน ทำเนียนเชียวนะ เครื่องผสมอาหาร Thermomix เรื่องนี้ว่าด้วยความผิดหวังของสาวกเทอร์โมมิกซ์โดยแท้ ผลิตภัณฑ์รุ่น TM 31 เป็นที่นิยมกันในหมู่คุณพ่อบ้านแม่บ้านมานานแล้ว เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ประกอบอาหารที่สนองความต้องการได้ครบถ้วน ด้วยประสิทธิภาพที่น่าพอใจ ผู้คนจึงยอมทุ่มเงินเกือบ 2,000 เหรียญเพื่อจะได้เป็นเจ้าของอุปกรณ์ระดับเทพนี้สักตัว รุ่นนี้ขายดิบขายดีมานานกว่า 7 ปี และบริษัท Vorwerk ผู้ผลิตก็ไม่มีที่ท่าว่าจะทำรุ่นใหม่ออกมาเลย ข่าวรั่ว ภาพหลุด ก็ไม่มี แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมาบริษัทนี้ก็เปิดตัวเจ้า TM 5 ออกมาในราคา 50 เหรียญซะอย่างนั้น!! แต่คงไม่มีใครแค้นเกินคนที่เพิ่งจะไปสั่งซื้อเจ้ารุ่นละพันกว่าเหรียญเอาไว้ (เพราะได้รับคำยืนยันจากผู้ขายว่าไม่มีรุ่นใหม่ออกมาแน่นอน)  และได้รับของไม่กี่วันก่อนของใหม่จะเปิดตัว สุดท้ายบริษัทยอมชดเชยด้วยการแจก/แถมให้กับลูกค้าที่ซื้อเครื่องรุ่น TM 31 หลังวันที่ 1 กรกฎาคม แต่ความเจ็บใจมันไม่หายไปง่ายๆ จากการโหวตของผู้บริโภค 1,041 คน มีถึง 530 คนที่โหวตให้เทอร์โมมิกซ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าปวดใจที่สุดในปีที่ผ่านมา  

อ่านเพิ่มเติม >