ฉบับที่ 267 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2566

พบ “สเตียรอยด์” ในสินค้ายี่ห้อ “โสมผสมกระชายดำ ตราเทพี”         สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสมุนไพรโสมผสมกระชายดำ ตราเทพี เลขสารบบอาหาร 40-2-00658-2-0012 โดยในฉลากได้ระบุว่า คือ “ชา สมุนไพร ตราเทพี  มีสรรพคุณกล่าวอ้างว่า แก้ปวดตามข้อ ปวดหลัง ปวดเอว โรคเก๊าท์ รูมาตอยด์ ภูมิแพ้ กระดูกทับเส้นประสาท ... มีเลขวันผลิต 30/12/22 และหมดอายุ  30/12/24  เมื่อนำมาตรวจสอบด้วยชุดทดสอบสเตียรอยด์พบว่า มีการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในผลิตภัณฑ์ เมื่อตรวจสอบสถานะผลิตภัณฑ์ได้มีการยกเลิกโดยผู้ประกอบการตั้งแต่ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564  โดยเลขสารบบอาหารดังกล่าวอยู่ที่ จ.ขอนแก่น อย.จึงได้ประสานไปยังสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นเพื่อตรวจสอบเฝ้าระวังหากมีการกระทำผิดจะดำเนินตามกฎหมาย พร้อมเตือนให้ผู้บริโภคอย่าซื้อมารับประทาน  การบินไทยห้ามนำ “กระเป๋า-ยานพาหนะ มีแบตเตอรี่ลิเธียม” ขึ้นเครื่อง         การบินไทยประกาศออกมาทางเพจเฟซบุ๊ก “Thai Airways” กรณีห้ามนำกระเป๋าเดินทางหรือยานพาหนะที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมขึ้นเครื่องบิน  โดยทางการบินไทยได้มีการระบุข้อความดังนี้ เรียนท่านผู้โดยสาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอเรียนให้ท่านผู้โดยสารทุกท่านทราบว่าบริษัทฯ ไม่รับกระเป๋า Smart Baggage ที่ติดตั้งแบตเตอรี่ลิเธียม ในลักษณะดังนี้        1.สัมภาระถือขึ้นเครื่อง (Carry on) และสัมภาระลงทะเบียน (Checked Baggage) ที่ติดตั้งแบตเตอรี่แบบที่ถอดไม่ได้ และมีกำลังไฟเกิน 2.7 วัตต์ *ไม่รับในทุกกรณี           2.ยานพาหนะขนาดเล็กส่วนบุคคลที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมในการขับเคลื่อน , Segway         3.กระเป๋าที่มีมอเตอร์ขับเคลื่อน หรือมีลักษณะใกล้เคียงกัน กระเป๋าเดินทางที่ขี่ได้ Motorize Baggage, Rideable Carry-On Baggage         ทั้งนี้ ทางการบินไทยยังระบุว่าอีกว่า ทางการบินไทยไม่รับผิดชอบการจัดเก็บ/การรับฝากสิ่งของทุกประเภทที่ไม่อนุญาตให้นำไป  จับแหล่งขายซากเนื้อสัตว์ ฟอร์มาลีน-โซดาไฟ         26 พฤษภาคม 2566 ทางกรมปศุสัตว์ได้มีการสืบทราบถึงกรณีการลักลอบการนำเข้าซากสัตว์แบบผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.พานทอง จ.ชลบุรี จึงได้มีการประสานนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบสถานที่ผลิตอาหารผิดกฎหมายพบว่า มีการจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ผลิตไส้ตัน หมึกกรอบ สะไบนาง และนำไปส่งขายที่ร้านหมูกระทะในพื้นที่ และในจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังตรวจพบซากเนื้อสัตว์ เช่น  ไส้ตันแช่แข็ง ระบุว่านำเข้าจากเยอรมันนี จำนวน 39 กล่อง 500 กก. ไส้ตันแปรรูปแช่สารโซดาไฟ และฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 200 กก. สไบนางแช่สารโซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และฟอร์มาลิน จำนวน 2 ถัง น้ำหนัก 400 กก. และหมึกกรอบแช่สารฟอร์มาลิน จำนวน 1 ถัง น้ำหนัก 100 กก.         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ซากสัตว์ทั้งหมดไม่พบเอกสารรองรับและไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ตามกฎหมาย ทั้งยังตรวจพบสารฟอร์มาลินในน้ำแช่สไบนาง ไส้ตัน และหมึกกรอบ ในการทดสอบด้วยชุดทดสอบฟอร์มาลินเบื้องต้น         ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดและอายัดสินค้าจำนวนกว่า 1,200 กก รวมทั้งให้ผู้ประกอบการนำเอกสารมาแสดงหากไม่นำมาทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป  เตือนนักเรียนแบกกระเป๋าหนัก เสี่ยงกระดูกสันหลังคด         นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เปิดเผยว่า เด็กนักเรียนไม่ควรแบกกระเป๋าน้ำหนักเกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว เนื่องจากการแบกกระเป๋าหนักมาก อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อระบบโครงสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยจะมีอาการปวดที่บ่า ต้นคอ ซึ่งคือสาเหตุของการปวดหลังเรื้อรัง ส่งผลให้มีบุคลิกภาพที่ผิดปกติ เช่น หลังค่อม ไหล่และเชิงกรานไม่สมดุลกัน ทั้งนี้ อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของเด็ก  และแนะนำให้ผู้ปกครองคอยสังเกตอาการโรคกระดูกคดเอียงอีกด้วย         ส่วนเด็กที่ถือกระเป๋ารูปแบบหิ้ว สะพายข้าง หากมีน้ำหนักเอียงไปทางใดทางหนึ่งเพื่อรับน้ำหนักตัวเราจะเอียงตามทำให้บุคลิกภาพเราจะเป็นไปตามนั้น  ส่วนกล้ามเนื้อก็จะพัฒนาไปในลักษณะนั้นๆ ซึ่งเมื่อคนเราปกติใช้ร่างกายด้านใดด้านหนึ่งก็จะทำงานหนักมากกว่าปกติและส่งผลต่อการเจริญเติบของเด็กได้ มพบ. เสนอ อย. ให้ควบคุมจดแจ้งเครื่องสำอางที่เคยถูกห้ามขาย ครีมผิวขาวเพิร์ลลี่         จากกรณีที่มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากครีมผิวขาว “เพิร์ลลี่” และให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือด้านคดีนั้น ล่าสุดทางศาลอุทธรณ์มีคำสั่งห้ามขายครีมผิวขาวเพิร์ลลี่แล้วแต่ปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ยังคงพบว่ามีจำหน่ายอยู่ในทางออนไลน์         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษา “ห้ามมิให้จำเลยจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ชื่อ เพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ โลชั่น เลขที่จดแจ้ง 10-1-5733777 และเพิร์ลลี่ อินเทนซีฟ ไวท์ ชั่น พลัส เลขที่จดแจ้ง 10-1-5749866” แต่ทางมูลนิธิฯ ยังพบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางออนไลน์ และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการเปลี่ยนเลขจดแจ้งใหม่ เป็น “โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเซ็นทีฟไวท์ ครีม สูตร พลัส x 2) Pearly Lotion Intensive WCream PlusX2”  และ โลชั่นเพิร์ลลี่ (อินเทนซีฟครีม) Pearly Lotion Intensive Cream ข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค. 66 )         จึงขอฝากให้ผู้บริโภคช่วยกันเป็นหูเป็นตา พบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้แจ้งรายละเอียดมายังช่องทางต่างๆ ของมูลนิธิฯ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังให้ผู้บริโภคปลอดภัยและร่วมสร้างระบบคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. อยากให้ควบคุมเรื่องการจดแจ้งผลิตภัณฑ์อย่างเข้มงวด เพราะจากข้อมูลที่มูลนิธิฯ รวบรวมไว้ พบว่ามีเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรืออาหารเสริมจำนวนไม่น้อยที่เมื่อได้รับการถอนทะเบียนจะนำผลิตภัณฑ์มาปะแป้งแต่งตัว เปลี่ยนชื่อใหม่แล้วจดแจ้งใหม่นำมาจำหน่าย ซึ่งอาจเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 กระแสต่างแดน

คุมกำเนิดบิ๊กโฟร์        สหรัฐฯ เล็งออกกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อควบคุมบิ๊กเทคทั้งสี่ (Amazon, Apple, Facebook และ Google) ไม่ให้มีอำนาจเหนือตลาดเกินไป         จากการสำรวจการครองตลาดของสี่ค่ายนี้เป็นเวลา 15 เดือน ทีมวิจัยพบข้อมูลการใช้อำนาจเหนือตลาดเรียกเก็บค่าบริการที่แพงเกินไป การกำหนดข้อสัญญาที่เอาเปรียบผู้ใช้ รวมถึงการเก็บข้อมูลบุคคลและธุรกิจต่างๆ ที่ใช้บริการ         หากร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่านการพิจารณา (อีกหลายรอบ) บิ๊กโฟร์จะไม่สามารถเข้าซื้อกิจการบริษัทเล็กได้ง่ายเหมือนที่ผ่านมา และจะไม่สามารถเลือกให้ประโยชน์กับผลิตภัณฑ์ของตัวเองเหนือผลิตภัณฑ์ของผู้ค้ารายอื่นบนแพลตฟอร์มของตัวเอง         กฎหมายใหม่จะให้อำนาจกับหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้ามากขึ้น         ในการประชุม G7 ครั้งล่าสุด ประเทศสมาชิกยังเห็นพ้องกับข้อเสนอที่จะขอให้ประเทศต่างๆ เรียกเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 จากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีด้วย  แบตเตอรีต้องกลับมา         การสำรวจโดยกลุ่มศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมพบว่า ร้อยละ 50 ของขยะแบตเตอรีในครัวเรือนประเทศเยอรมนียังคงถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป         กรรมการผู้จัดการของ Redux บริษัทที่เชี่ยวชาญการรีไซเคิล “แบตเตอรีจากครัวเรือน” แห่งหนึ่งในเยอรมนีที่รีไซเคิลแบตเตอรีปีละ 10,000 ตัน บอกว่าเรื่องนี้ต้องอาศัยกฎหมายเข้ามาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดจากการสรรหาวัตถุดิบที่นำมาทำแบตเตอรี โดยเฉพาะเมื่อพาหนะไฟฟ้ามีแนวโน้มจะได้รับความนิยมมากขึ้น         วัตถุดิบมีค่าอย่างโคบอล์ท นิกเกิล ทองแดง และลิเธียม ควรถูกนำกลับมาใช้ใหม่         Redux เสนอว่าแบตเตอรรีรถยนต์ ควรอยู่ใน “ระบบเช่า” ที่ผู้ใช้สามารถนำแบตฯ เสื่อมสภาพมาเปลี่ยนเอาของใหม่ได้         ค่ายรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างเทสลาและโฟล์กสวาเกน ก็ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงลงทุนหลายหมื่นล้านเหรียญเพื่อรองรับการรีไซเคิลแบตเตอรี ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์  เพราะอาหารแพงมันน่ากลัว         สวิตเซอร์แลนด์โหวต “ไม่รับ” แผนห้ามใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและห้ามนำเข้าพืชผักหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารเคมีดังกล่าว         แม้จะมีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนสวิสไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคนต้องดื่มน้ำปนเปื้อนสารเคมี แต่เสียงจากภาคการเกษตรมีอิทธิพลพอสมควร พวกเขาอ้างว่าสารเคมีการเกษตรที่ใช้นั้นผ่านการทดสอบและควบคุมจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว         หากไม่ใช้สารเคมี ผลิตผลทางการเกษตรจะมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ พืชผักต่างๆ จะราคาแพงขึ้น และสวิตเซอร์แลนด์อาจสูญเสียอธิปไตยทางอาหารด้วย         รัฐบาลเองก็แอบลุ้นให้ประชาชนโหวตไม่รับแผนดังกล่าว เพราะนั่นหมายถึงการที่ผู้คนจะพากันข้ามชายแดนไปซื้ออาหารจากประเทศข้างเคียง           ตามกฎหมายของสวิตเซอร์แลนด์ ประชาชนทั่วไปสามารถขอให้มีการทำประชามติได้ หากรวบรวมรายชื่อได้ถึง100,000 รายชื่อ กลุ่มที่เสนอแผนห้ามใช้สารเคมีครั้งนี้คือกลุ่มที่ชื่อว่า Future 3 ไม่อยากได้ยิน         สถาบันด้านสุขภาพของเนเธอร์แลนด์จะทำการสืบสวนผลกระทบต่อสุขภาพที่มีสาเหตุจากกังหันลม หลังงานวิจัยพบว่า เสียงกังหันลมส่งผลต่อสุขภาวะของคนในชุมชน         พลังงานสะอาดนั้นดีต่อสิ่งแวดล้อม และเนเธอร์แลนด์ก็มีเป้าหมายจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ร้อยละ 49 ภายในปี 2030         แต่ช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีเสียงคัดค้านจากชุมชนมากขึ้น เพราะเสียงจากการทำงานของกังหันตลอด 24 ชั่วโมงนั้น ทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ เกิดความเครียดและมีปัญหาสุขภาพ           ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดระยะห่างขั้นต่ำระหว่างตัวกังหันและชุมชน มีเพียงข้อเสนอจากเขตหนึ่งที่ขอให้กำหนดระยะดังกล่าวไว้ที่ 600 เมตรจากบ้านคน         ส่วนข้อกำหนดด้านเสียงนั้นมีอยู่แล้วที่ 49 เดซิเบล เมื่อวัดจากนอกตัวบ้าน แต่ระดับเสียงยังขึ้นกับชนิดของกังหันและทิศทางลมด้วย                 รายงานระบุว่าผู้คนไม่ได้ต่อต้านกังหันลม แต่อยากให้มีการจัดการหรือการจำกัดเสียงที่เกิดขึ้นจากกังหันลมมาช้าแต่ก็มานะ         ที่ผ่านมาผู้ประกอบการในญี่ปุ่นให้การตอบรับ “ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก” ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ แต่ในที่สุดบรรดาผู้ผลิตอาหารจากเนื้อสัตว์ก็ตัดสินใจเข้าร่วมตลาดนี้จนได้ โดยจะผลิตคู่ไปกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แบบที่เคยทำอยู่         แถมยังบอกด้วยว่าประสบการณ์ที่มีจะทำให้เขาทำผลิตภัณฑ์จากบุกและถั่วเหลือง หรือแหล่งโปรตีนอื่นๆ อย่างสาหร่าย แมลง ออกมาได้รสชาติเหมือนเนื้อสัตว์จริงๆ         เพื่อให้ประเทศไม่ตกเทรนด์ที่กำลังเป็นที่นิยมในอเมริกาและยุโรป กระทรวงเกษตรกรรมของญี่ปุ่นจึงได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาให้การสนับสนุนงานวิจัยด้านการหาและพัฒนาแหล่งโปรตีนใหม่ๆ มีตัวแทนสถาบันวิจัย บริษัทสตาร์ทอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรอื่นๆ เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 800 คน         ญี่ปุ่นเองต้องการส่งออกอาหารไปยังตลาดยุโรปและอเมริกา และต้องการเพิ่มมูลค่าตลาดให้ได้ถึง 45,600 ล้านเหรียญ (1.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 กระแสต่างแดน

ปอดไม่สำราญ        รายงานการสำรวจมลพิษในเมืองท่าของยุโรปโดยสหพันธ์การขนส่งและสิ่งแวดล้อมแห่งยุโรปพบว่า สเปนคือประเทศที่มีมลภาวะจากเรือสำราญมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เมืองบาร์เซโลนาและพาลม่า        รายงานระบุว่าในปี 2017 มีเรือสำราญมาเทียบท่าเรือบาร์เซโลนาถึง 105 ลำ รวมเวลาปล่อยมลพิษ  8,293 ชั่วโมง และปริมาณไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลฟูรอกไซด์ และฝุ่นจิ๋ว (พีเอ็ม 2.5) ที่ปล่อยออกมานั้น สูงกว่ามลพิษจากรถยนต์ 558,920 คันบนท้องถนนในเมืองถึงห้าเท่า        เช่นเดียวกับพาลม่าที่มีเรือสำราญมาจอด 87 ลำ แต่มลภาวะจากเรือเหล่านี้สูงกว่ารถยนต์ในเมืองรวมกันถึง 10 เท่า        ต้องติดตามว่าสเปนซึ่งได้ชื่อว่าจริงจังกับการจัดการปัญหามลพิษจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร สถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า คนสเปนเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษถึงปีละ 30,000 คน หิวเลือกได้        ข่าวดีสำหรับสายบุญ สายสุขภาพ และสายรักษ์โลก ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องลงความเห็นแล้วว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ร้อยละ 60 ของ “เนื้อสัตว์” ที่เรารับประทานจะไม่เกิดจากการฆ่า        ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสังเคราะห์เนื้อสัตว์ขึ้นในห้องทดลอง หรือใช้พืชผักมาทำเป็นอาหารในรูปแบบที่ต้องการได้        ปัจจุบันมีบริษัท “สตาร์ทอัป” ด้านอาหารทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย เช่น บียอนด์มีท อิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ และจัสต์ฟู้ดส์ และมีผู้สนใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าวไม่น้อย        เมื่อ บียอนด์ฟู้ด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทสามารถระดมทุนได้ถึง 240 ล้านเหรียญ (ประมาณ 7,500 ล้านบาท)         การสำรวจในจีน อินเดีย และอเมริกา พบว่าผู้บริโภคให้การตอบรับ “เนื้อทางเลือก” เป็นอย่างดี และขณะนี้เม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาอาหารทางเลือกยังสูงถึง 1,000 ล้านเหรียญ (ประมาณ 312,000 ล้านบาท) ด้วย ขอดีกว่านี้        คิวบาเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตมาหกเดือนแล้ว แต่ผลการสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้พบว่าบริการนี้ยังต้องปรับปรุงทั้งเรื่องราคาและอิสระในการนำเสนอข่าวสารข้อมูล        แพ็คเกจอินเทอร์เน็ต 4 GB สำหรับผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ที่ 30 เหรียญ(ประมาณ 950 บาท) ต่อเดือน เท่ากับรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของคนคิวบาพอดี        ในขณะที่แพ็คเกจอินเทอร์เน็ตบ้านแบบ “เหมาจ่าย” อยู่ที่เดือนละ 800 เหรียญ(ประมาณ 25,000 บาท) คิวบามีประชากรทั้งหมด 11,200,000 คน และมีเพียง 79,000 ครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้อินเทอร์เน็ตบ้าน        นอกจากนี้เว็บไซต์ที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลมักจะถูกสั่งปิด และ Etecsa ผู้ประกอบการโทรคมนาคมของรัฐก็ถูกกล่าวหาว่าแอบสอดส่องพฤติกรรมของผู้ใช้ด้วย        ก่อนคิวบาจะเริ่มนำเทคโนโลยี 3G มาใช้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจำนวน 5.3 ล้านคน จะต้องเชื่อมต่อกับชาวโลกผ่านฮอทสปอต wifi ที่คิดค่าใช้จ่ายเป็นรายชั่วโมงโปรฯ ลดเหลื่อมล้ำ        Digi ผู้ประกอบการโทรคมนาคมอันดับสามของมาเลเซียออกโปรโมชั่นให้ส่วนลดเดือนละ 10 ริงกิต ตลอดชีพ(ประมาณ 75 บาท) สำหรับผู้พิการที่สมัครใช้บริการรายเดือน        แพ็คเกจโทรไม่อั้นได้ทุกเครือข่ายเริ่มต้นที่เดือนละ 28 ริงกิต(ประมาณ 200 บาท) สำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ต 6 GB เป็นต้นไป ใครที่เป็นลูกค้าอยู่แล้วก็รับส่วนลดไปโดยไม่ต้องเปิดเบอร์ใหม่ แต่ทั้งนี้ต้องมีการแสดงบัตรผู้พิการในการสมัครด้วย        บริษัทบอกว่าโปรฯ นี้เป็นการปฏิบัติตามแผนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ที่ต้องการส่งเสริมความเท่าเทียมให้กับประชาชนทุกคน        คนมาเลย์คงกำลังลุ้นกันว่าผู้ประกอบการอีกสองเจ้า ได้แก่ Maxis และ Celcom ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับหนึ่งและสองของมาเลเซีย จะจัดโปรฯ อะไรออกมาสู้ เรื่องนี้ผู้บริโภคได้ประโยชน์เห็นๆ หน้าดินที่หายไป        ความต้องการบริโภคโปรเซกโก(ไวน์มีฟอง) ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนำไปสู่ปัญหาการสูญเสียหน้าดินในประเทศอิตาลี          การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยปาดัวพบว่าร้อยละ 74 ของการสูญเสียหน้าดินในไร่องุ่นในเขตทางตอนเหนือของอิตาลีเป็นผลมากจากอุตสาหกรรมนี้        ไวน์หนึ่งขวดทำให้เสียหน้าดินประมาณ 4.4 กิโลกรัม และหากเป็นแบบนี้ต่อไป ผู้ที่จะได้รับผลกระทบในที่สุดก็คืออุตสาหกรรมที่ผลิตโปรเซกโกปีละ 446 ล้านขวด        ในจำนวนนี้ส่งออก 90 ล้านขวด และประเทศที่นำเข้าโปรเซกโกเป็นสามอันดับแรกของโลกได้แก่ อังกฤษ อเมริกา และเยอรมนี ตามลำดับ        ผู้ประกอบการแย้งว่าข้อกล่าวหานี้ไม่จริง เพราะพวกเขาปลูกองุ่นบนพื้นที่ขั้นบันได ซึ่งป้องกันน้ำท่วมและดินถล่มได้ ผู้ว่าฯ แคว้นเวเนโตก็บอกว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นแพะรับบาปของปัญหาสิ่งแวดล้อมในอิตาลี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว

        เราคงได้ยินคำว่าเชื้อดื้อยามานานแล้ว นานจนหลายๆ คนเริ่มจะชิน แต่บางคนอาจไม่หวาดกลัวเพราะไม่เคยเจอกับตัวเอง ระยะหลังกระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเชื้อดื้อยา โดยรณรงค์ไม่ให้ใช้ยาปฏิชีวนะ(ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย) อย่างพร่ำเพรื่อ โดยเฉพาะการใช้อย่างไม่จำเป็นในสามโรค ได้แก่ หวัดชนิดที่ไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แผลสะอาด ท้องเสีย  อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ทั้งของประเทศและระดับโลกมากขึ้น กระแสตื่นตัวเกี่ยวกับเชื้อดื้อยาจึงมากขึ้น จนกระทั่งรัฐบาลนำไปเป็นนโยบายของประเทศ     แม้ว่าการณรงค์การใช้ยาในคนจะเริ่มประสบผลสำเร็จมากขึ้น แต่กลับมีข้อมูลการใช้ยาในภาคเกษตรทั้งพืชและสัตว์ปรากฏขึ้นมาอีก จากการสำรวจข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ พบว่ามีการนำยาปฏิชีวนะที่ใช้ในมนุษย์ เช่น แอมพิซิลิน(Ampicillin) อะม็อกซี่ซิลิน(Amoxycillin) มาใช้ในการเกษตร โดยพบการใช้มากในสวนส้ม ข้อมูลจาก Facebook เภสัชกรชายแดน รายงานว่าเกษตรกรได้ทำกันอย่างแพร่หลาย โดยจะไปซื้อยาปฏิชีวนะมาแกะเม็ดแคปซูลออก แล้วเอาแต่ผงยาออกมาละลายน้ำ ทิ้งไว้ 1 คืน หลังจากนั้นจึงนำมากรองเอาแต่น้ำ นำไปใส่ขวดแล้วฉีดที่ต้นส้ม  โดย 1 ปี จะฉีด 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นส้มจะเหลืองและตาย  Facebook เภสัชกรชายแดน ยังได้รายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจ พบผงยาอะม็อกซี่ซิลินเกลื่อนตามพื้นดิน ซึ่งผงยานี้จะซึมสู่แหล่งน้ำใต้ดินต่อไปได้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากเกษตรกรจะสัมผัสผงยาโดยตรง ซึ่งยาอาจเข้าสู่ร่างกายได้ ผู้บริโภคเองก็มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะได้รับยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นที่ตกค้างในผลส้ม และมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่สภาวะที่เร่งเร้าให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ ซึ่งเคยมีข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ที่หนังสือพิพม์คมชัดลึก  ฉบับวันที่ 27 มกราคม 2560 นำเสนอว่า มีการตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยาในมนุษย์แล้วเช่นกัน หรือผู้บริโภคบางคนอาจแพ้ยาที่ตกค้างในส้ม ซึ่งน่าห่วงตรงที่การแพ้ยาของบางคนอาจเป็นการแพ้แบบรุนแรงได้        ล่าสุดมีข้อมูลที่ได้จากการทำงานร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ซึ่งได้ตรวจผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ ประเภท แหนม กุนเชียง ไส้กรอกอีสาน พบยีนเชื้อดื้อยาปะปนมาในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ด้วย ซึ่งหมายความว่า        1. เนื้อสัตว์ที่นำมาผลิตนั้น บางชนิดมียีนเชื้อดื้อยาปะปนมาด้วย        2. หากผลิตภัณฑ์นั้นๆ มีเชื้อโรคที่ดื้อยาและผู้บริโภคนำมารับประทาน โดยไม่ผ่านความร้อนให้เชื้อโรคตาย (เช่น แหนม ที่สามารถรับประทานดิบๆ ได้) เชื้อโรคที่ดื้อยานั้นก็จะเข้าสู่ร่างกายคนที่รับประทาน        3. เมื่อเชื้อโรคที่เข้าไปในร่างกายคนที่รับประทานมียีนเชื้อดื้อยาแล้ว หากคนนั้นเจ็บป่วยจากเชื้อโรคดังกล่าว การรักษาด้วยยาทั่วๆ ไปที่เชื้อโรคชนิดนี้เคยตาย  มันก็จะไม่ตาย และต้องไปใช้ยาที่แพงและสูงกว่าเดิมที่เคยใช้        ข้อมูลเหล่านี้จึงเสมือนการย้ำเตือนให้พวกเราอย่าลืมว่า เชื้อดื้อยาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะ มันใกล้ตัวเรา เข้ามาแล้ว ทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะทำได้ คือช่วยกันยับยั้งปัญหาเหล่านี้ เช่น สอบถามหรือปรึกษาบุคลากรทางสาธารณสุขเกี่ยวกับการใช้ยาที่เหมาะสม ไม่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางที่ผิดๆ ดังที่เล่ามาข้างต้น ฯลฯ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 เนื้อสัตว์ในร้านฟาสต์ฟูด ปลอดภัยจาก “ยาปฏิชีวนะ” มากน้อยแค่ไหน?

ปัญหาเรื่อง “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่หลายประเทศต่างก็พยายามเร่งหาทางแก้ไข ในปีนี้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้นำประเด็นปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมจนนำไปสู่การเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา มาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ทั่วโลก โดยใช้ชื่อแคมเปญว่า “เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือ เพื่อให้เกิดการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันภาคปศุศัตว์มีการใช้ปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์ไม่น้อยไปกว่าการใช้ปฏิชีวนะรักษาอาการเจ็บป่วยในคน โดยเป้าหมายหลักในการรณรงค์ครั้งนี้ก็คือบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟูดแฟรนไชส์ชื่อดังที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่มีการใช้เนื้อสัตว์มาปรุงอาหารเป็นจำนวนมากฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้เลือกสุ่มสำรวจหาการตกค้างของ “ยาปฏิชีวนะ” ในเนื้อสัตว์ปรุงสุกที่อยู่ในเมนูต่างๆ ของร้านฟาสต์ฟูดชื่อดังที่ขายในประเทศไทย ลองไปดูกันสิว่าคนไทยเรามีความเสี่ยงต่อการได้รับยาปฏิชีวะโดยไม่จำเป็น ซึ่งเป็นต้นเหตุขอการเกิดเชื้อดื้อยามากน้อยแค่ไหนทำไมเชื้อดื้อยาถึงอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เรากินเพราะ ยาปฏิชีวะ ไม่ได้ถูกนำมาใช้กับคนเท่านั้น แต่ในสัตว์โดยเฉพาะในภาคการทำปศุสัตว์ ยาปฏิชีวนะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายด้วยเช่นกัน โดยทั่วไปการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์นั้นมีวัตถุประสงค์ หลัก 3 ประการ คือ 1.เพื่อการรักษา 2.เพื่อการป้องกันโรค และ 3.เพื่อเร่งการเจริญเติบโตสำหรับสาเหตุที่ทำให้ยาปฏิชีวนะมีการตกค้างอยู่ในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น น้ำนม ไข่ หลักๆ ก็มาจากการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี บวกกับความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการใช้ยา เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อน ทำให้เกิดปัญหาโรคติดเชื้อสูง ส่งผลให้เกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์มีความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อไม่ให้สัตว์ตายหรือล้มป่วย ส่งผลให้มีการใช้ยาในปริมาณสูง ยิ่งในฟาร์มรายย่อยสถานที่เลี้ยงไม่ได้มาตรฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ ยิ่งส่งผลให้สุขภาวะของสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีความอ่อนแอและมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อการใช้ยาอย่างไม่ถูกวิธี คือ ใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง ซึ่งการใช้ยาในสัตว์ต้องคำนึงถึงช่วงเวลา อุณหภูมิ และความเป็นกรด-ด่างของน้ำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล ทำให้เกษตรกรหลงคิดไปว่าปริมาณยาที่ใช้ยังไม่เพียงพอนำไปสู่การเพิ่มปริมาณยา ใช้ยาบ่อยและนานขึ้น หรือไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้ตัวยาอื่น รวมทั้งการหยุดใช้ยาที่ไม่ถูกต้องก็ส่งผลให้เกิดการตกค้างในเนื้อสัตว์เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนที่จะนำสัตว์มาบริโภค ซึ่งต้องมีการหยุดยาก่อนตามระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนจะถึงขั้นตอนการแปรูปสู่การบริโภคการใช้ยาไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดชนิด หรือผิดช่วงเวลา รวมทั้งการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เชื้อแบคทีเรียในสัตว์เกิดการพัฒนายีนส์ต้านทานยามากขึ้นนอกจากนี้ยังพบปัญหาเรื่องการใช้ยาอย่างผิดกฎหมาย คือ การนำยาปฏิชีวนะในรูปเภสัชเคมีภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่ยาสำเร็จรูปที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ หรือการนำยาปฏิชีวนะสำหรับคนไปใช้กับสัตว์ ซึ่งส่งผลให้การใช้ยาไม่ได้ผลการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคเชื้อดื้อยาที่ตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา เกิดการแพ้ยา และ เกิดเชื้อดื้อยาการใช้ยาในสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง มีโอกาสที่จะเกิดเชื้อดื้อยาในสัตว์ซึ่งสามารถพัฒนาเชื่อดื้อยาแบบข้ามกลุ่ม ทำให้ทำเชื้อดื้อยาชนิดนั้นส่งผลต่อการรักษาโรคในคน โดยเชื้อดื้อยาในสัตว์นั้นสามารถถูกส่งผ่านมายังคนได้ 3 วิธีหลักๆ คือ 1.การบริโภคเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 2.การสัมผัสกับสัตว์โดยเฉพาะผู้เลี้ยง และ 3.การรับเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เช่น ในแหล่งน้ำและดินใกล้ฟาร์มเลี้ยงกลุ่มยาปฏิชีวนะที่วิเคราะห์1.Tetracycline group ประกอบด้วย Chlortetracycline และ Doxycyclineยาปฏิชีวนะกลุ่มเททระไซคลีน มีสรรพคุณ ใช้รักษาโรคติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในปาก โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ 2.Colistin ประกอบด้วย Colistin A และ Colistin B โคลิสติน ใช้ในการรักษาอาการติดเชื้อที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการติดเชื้อในปอดและทางเดินอาหาร3.Beta-lactam groups ประกอบด้วย Amoxicillinเบต้า-แลคแทม ใช้รักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โพรงจมูกอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ โรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนกลาง4.Macrolide groups ประกอบด้วย Tylosin tartrateยาปฏิชีวนะในกลุ่ม แมคโครไลด์ ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง รวมทั้งยังช่วยใช้ในการเร่งการเจริญเติบโตผลการทดสอบผลการสุ่มเก็บตัวอย่าง เนื้อสัตว์ปรุงสุกในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟูด 18 ตัวอย่าง จาก 7 แหล่งซื้อ พบว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่พบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)ทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง ที่เป็นประกาศควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ โดยสารดังกล่าวถูกใช้เพื่อมุ่งหวังในการรักษา ป้องกัน วินิจฉัยโรค หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหรือพฤติกรรมของสัตว์โดยข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อไก่สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อเนื้อไก่ 1 กิโลกรัมเท่ากับว่า ปริมาณยาปฏิชีวนะที่พบตกค้างในตัวอย่าง เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา หรือ “โรคติดเชื้อในกระแสเลือด” ประมาณ 88,000 คน เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาทนั่นเป็นเพราะยาที่คุณใช้อยู่มีส่วนผสมของ “ยาต้านแบคทีเรีย” โดยไม่จำเป็นทำให้เกิด “เชื้อดื้อยา” ที่มา : ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)ฟาสต์ฟู้ดกับยาปฏิชีวนะปีที่แล้วองค์กรผู้บริโภคของสหรัฐฯ Consumers Union ร่วมกับองค์กรพันธมิตรด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำการสำรวจแนวปฏิบัติเรื่องการใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟู้ด 25 แบรนด์ดังในอเมริกา และพบว่ามีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่มีแผนหรือนโยบายดังกล่าวแต่ผลการสำรวจในปีนี้ (ซึ่ง Consumers Union ประกาศเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา) อยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีถึง 9 แบรนด์จาก 25 แบรนด์ที่หันมาใช้นโยบายที่ทำให้เกิดการลดหรือเลิกใช้ยาปฏิชีวนะอย่างผิดวิธีในการเลี้ยงไก่ หมู หรือวัวในภาพรวมแล้วแบรนด์ร้านอาหารเหล่านี้แสดงให้เห็นความพยายามในการจัดซื้อจัดหาเนื้อสัตว์จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ และข่าวดีสำหรับผู้บริโภคคือภายในปี 2560 เนื้อไก่ที่ขายในร้าน Chipotle / แมคโดนัลด์ / Panera Bread / และซับเวย์ จะปลอดจากยาปฏิชีวนะผลการให้คะแนนปีนี้ปรากฏว่า Chipotle และ Panera Bread ยังรักษาเกรด A จากปีที่แล้วไว้ได้ซับเวย์ถีบตัวขึ้นจากเกรด F มาเป็น B พร้อมคำมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้เนื้อไก่ในเมนูของร้านจะไม่มียาปฏิชีวนะ และในอีก 9 ปีข้างหน้าบริษัทมีแผนจะใช้เนื้อสัตว์ปลอดยาปฏิชีวนะทั้งหมดด้วยChick-fil-A ได้เกรด B ไปครองเพราะสามารถทำตามแผนการหยุดใช้เนื้อไก่ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะภายในปี 2561 ไปได้ถึงร้อยละ 25 แล้วตามมาติดๆ คือแมคโดนัลด์ที่ปีนี้ได้เกรด C+ ไปครอง เพราะมีนโยบายชัดเจนในเรื่องนี้และจัดซื้อเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะเท่านั้นส่วนดังกิ้นโดนัท ที่ปีก่อนเคยได้ถึงเกรด C ปีนี้กลับสอบตกเป็นเพื่อน เบอร์เกอร์คิง เคเอฟซี และสตาร์บัคส์ เพราะปรับเปลี่ยนนโยบายของบริษัทให้ยอมรับการใช้เนื้อสัตว์ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า500 Point

ฉบับที่ 150 กระแสต่างแดน

เรื่องคับอกของผู้สูงวัย ปีนี้เป็นครั้งแรกที่รัฐบาลญี่ปุ่นจัดพิมพ์สมุดปกขาวว่าด้วยสถานการณ์ผู้บริโภค แต่นั่นยังไม่ใช่ไฮไลท์ของข่าวนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะได้รับเรื่องร้องเรียนน้อยลงถึงร้อยละ 20.4 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (เหลือ 836,662 กรณี) แต่ปรากฏว่าจำนวนเรื่องร้องเรียนจากผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 34.7 (มีถึง 207,513 กรณี) ถ้ามองโดยรวมแล้ว ร้อยละ 56 ของผู้ร้องเรียนเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ซึ่งได้รับความเดือดร้อนรำคาญจาก ผู้ที่โทรศัพท์มาชักชวนให้ซื้อสินค้า/บริการ ตามด้วยการได้รับสินค้าสุขภาพบ่อยครั้งทั้งๆ ที่ไม่ได้สั่งซื้อ แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือการถูกหลอกลวงโดยคนที่อาสาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับการไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการนั่นเอง ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข แล้วยังต้องเสียเงินให้ใครไปอีกก็ไม่รู้     ผิดที่แม่ เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2006 หนูน้อยเอมม่าวัย 3 ขวบชาวอังกฤษ ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังและตับ เมื่อรถที่คุณแม่ของเธอเป็นคนขับถูกรถอีกคันชน ขณะเกิดเหตุเอมม่านั่งอยู่บนเบาะรองนั่งสำหรับเด็ก ชนิดไม่มีพนักพิง แม้ว่ารถของคู่กรณีจะเป็นฝ่ายผิด แต่บริษัทประกันของเขาโต้แย้งว่าแม่ของเด็กควรมีส่วนร่วมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกด้วย เพราะเป็นความประมาทเลินเล่อของเธอที่ให้ลูกนั่งเบาะเสริม ทั้งๆ ที่ในร ถก็มีเบาะชนิดที่เหมาะสมกับลูกอยู่ด้วย เดือนเมษายนปี 2012 ศาลชั้นต้นตัดสินว่าลูอิส แม่ของเอมม่า มีส่วนทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บจากการให้ลูกนั่งบนเบาะผิดประเภท และต้องร่วมจ่าย 1 ใน 4 ของค่าชดเชย ลูอิสขออุทธรณ์ แต่ศาลก็ยังยืนยันคำพิพากษาเดิม ศาลให้ความเห็นว่าแม้ลูอิสเป็นแม่ที่ยอดเยี่ยม แต่ก็เธอไม่ควรนำเบาะเสริมชนิดดังกล่าวมาใช้ และอาการบาดเจ็บของเอมม่าจะไม่รุนแรงขนาดนี้ถ้าเธอเลือกใช้เบาะชนิดที่มีพนักพิงและเข็มขัด ซึ่งเธอก็มีอยู่ในรถ ที่สำคัญ เมื่อพิจารณาคู่มือการใช้เบาะเสริมแล้วพบว่า เอมม่ามีน้ำหนักที่เหมาะสมกับการใช้เบาะดังกล่าว (เธอหนัก 15 กิโลกรัม) แต่เอมม่ายังขาดส่วนสูงไป 8 เซนติเมตร และยังอายุไม่ถึง 4 ขวบตามที่คู่มือแจ้งไว้     กินเนื้อเมื่อโอกาสเหมาะ คณะกรรมาธิการด้านอาหารของรัฐสภาอังกฤษเขาบอกว่าอังกฤษเป็นอีกประเทศที่อาจต้องเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนในเวลาอันใกล้นี้ และเรียกร้องให้รัฐบาลรีบดำเนินการเพิ่ม “ความมั่นคงทางอาหาร” โดยด่วน คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอให้รัฐบาลรีบออกนโยบายลดอาหารเหลือทิ้ง(อังกฤษก็เหมือนที่อื่นๆ ในโลก ที่กิน 7 ส่วน ทิ้ง 3 ส่วน) รวมถึงมาตรการลดความผันผวนของราคาอาหาร และรณรงค์ให้ชาวเมืองผู้ดีเลิกรับประทานเนื้อสัตว์เป็นอาหารหลัก เรียกว่าต้องเป็นโอกาสพิเศษจริงๆ ถึงจะมีเนื้อสัตว์ขึ้นโต๊ะ และเขาขอให้เป็นเนื้อจากปศุสัตว์ที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าเท่านั้น เรามาช่วยกันลุ้นว่าปฏิบัติการกู้กระเพาะจะเกิดขึ้นได้ทันเวลาหรือไม่ อังกฤษเคยมีประสบการณ์เรื่องวิกฤตราคาอาหารมาแล้วสองครั้งเมื่อปี  2008 และ 2011 เพราะความต้องการอาหารที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชที่ทำให้ต้องแบ่งเนื้อที่ทางการปลูกพืชอาหารไปปลูกพืชพลังงานแทน ปัจจุบันโลกเรามีประชากร 7,100 ล้านคน ในจำนวนนี้มีประมาณ 1,000 ล้านคนที่ยังอดอยาก และมีเด็กเสียชีวิตจากภาวะทุพโภชนาการถึงปีละ 2.3 ล้านคน     ตลาดนัดแต้มเขียว มีข่าวมาฝากคนที่ชอบเดินตลาดนัดของเก่า ถ้ามีเวลาอย่าลืมแวะไปที่เม็กซิโกซิตี้ เพราะที่นั่นเขามีโครงการของเก่าแลกผักสด ตลาดนี้ไม่ต้องพกเงินไป แต่ให้คุณเก็บรวบรวมกล่องนม ขวดพลาสติก หนังสือพิมพ์เก่า หรือกระดาษลังที่ไม่ใช้แล้วไปแทน จากนั้นนำของที่ว่านี้ไปเปลี่ยนเป็นแต้ม(เขาเรียกมันว่า Green Points) แล้วนำแต้มที่คุณสะสมได้ไปซื้อผัก ผลไม้ออกานิกกลับบ้านไปทำกับข้าว เทศบาลเมืองเม็กซิโกซิตี้ ที่มีประชากร 20 ล้านคน บอกว่าเป้าหมายหลักของโครงการคือการทำให้ชาวเมืองแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการส่งต่อไปยังโรงงานรีไซเคิลด้วย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต่างก็ถูกใจตลาดนี้ ผู้ซื้อได้ของดีราคาถูกกลับบ้าน แถมยังได้เคลียร์บ้านช่องให้สะอาดเอี่ยม ส่วนผู้ขายก็ยินดีเพราะได้เงินก้อนจากขายเหมาพืชผลให้เทศบาลนั่นเอง     แพชชั่นนิสตา แชมป์บริโภคผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล (สบู่ แชมพู ครีมนวดผม ยาสีฟัน โลชั่นทาผิว โรลออน โคโลจน์ น้ำยาบ้วนปาก) ในการสำรวจล่าสุดได้แก่ สาวฟิลิปปินส์ การสำรวจโดยบริษัท NBC Universal International Television และ “นักรบรองเท้าส้นสูง” พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว สาวตากาล็อกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ถึง 9 แบรนด์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่สาวๆ ในอีก 4 ประเทศที่เขาไปทำการสำรวจ (มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง) ใช้เพียง 6 ผลิตภัณฑ์เท่านั้น เขาสอบถามผู้หญิงอายุระหว่าง 20 ถึง 44 ปี จำนวน 600 คนจากแต่ละประเทศ พวกเธอมีที่พักอาศัยในเขตเมืองและดูเคเบิลทีวีเป็นประจำ 1 ใน 3 ของสาวฟิลิปปินส์ บอกว่าพวกเธออยู่ในกลุ่ม แพชชั่นนิสตา Passionista หรือสาวที่พึ่งพาตนเอง ทำตามความฝัน และสนุกกับปัจจุบัน ในขณะที่มีเพียง 1 ใน 4 ของ สาวๆ ที่อื่นเท่านั้นที่จัดตัวเองเข้ากลุ่มนี้ กลุ่มที่เล็กลงมาหน่อยคือ โซเชียลไซเดอร์ (Socialcider) ที่หมายถึงผู้หญิงที่ชอบเข้าสังคม ใช้โซเชียลเน็ทเวิร์คเป็นประจำ มองโลกในแง่ดีและพอใจกับชีวิต โดยเฉลี่ยแล้วสาวฟิลิปปินส์มีเพื่อนบนเฟสบุ้ค 523 คน (สาวอาเซียนโดยรวม มีเพื่อนเฟสบุ้ค 389 คน) ผู้สำรวจบอกว่าวิถีชีวิตทั้งแบบ แพชชั่นนิสตา และโซเชียลไซเดอร์ เป็นปัจจัยที่ทำให้สาวๆ เหล่านี้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ค่อนข้างมาก ไม่รู้จะตีความว่าพวกเธอสะอาดเนี้ยบที่สุด หรือว่าพวกเธอมีโอกาสได้รับสารเคมีมากที่สุดนะนี่   //

อ่านเพิ่มเติม >