ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 เบอร์เราที่คนอื่นเปิดให้ ทางแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน?!?

        การถูกสวมรอยหรือถูกแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์มือถือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในระยะหลังนี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนว่าปัญหามีการขยายตัวหนักขึ้น ในขณะเดียวกับที่ความตระหนักต่อภยันตรายที่จะติดตามมาก็มากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล ภาระค่าบริการ และที่สำคัญที่สุดคือ การที่เบอร์มือถือที่ถูกแอบเปิดดังกล่าวอาจพาให้เข้าไปพัวพันกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือการก่ออาชญากรรม         ปัญหาดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยคนที่ตกเป็นเหยื่อนั้นมักไม่รู้ตัว         อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็มีเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ว่ามีเบอร์ที่ลงทะเบียนไว้ในชื่อของตนเท่าไรและเป็นเบอร์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันของค่ายมือถือ หรือ “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น” ของ กสทช. โดยสำหรับแอปฯ ของแต่ละค่ายจะมีข้อจำกัดว่าตรวจสอบได้เฉพาะเบอร์ที่เปิดกับแต่ละค่าย แต่ “แอปฯ 3 ชั้น” นั้นจะตรวจสอบได้ครบทุกค่าย         ยิ่งกว่านั้น นอกจากใช้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว “แอปฯ 3 ชั้น” ยังสามารถแจ้งปัญหา ทั้งในแง่ของเบอร์ที่เกินมาและที่ขาดไป ตลอดจนใช้เพื่อล็อกป้องกันการถูกบุคคลอื่นนำบัตรประชาชนของเราไปแอบอ้างเปิดเบอร์ใหม่ได้ด้วย ส่วนเมื่อไรที่ต้องการเปิดเบอร์ใหม่ก็สามารถปลดล็อกเองได้เช่นเดียวกัน         ถึงแม้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่อาจช่วยป้องกันมิให้เกิดการลักลอบเปิดเบอร์ตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็ช่วยให้ตามทันปัญหา ซึ่งยิ่งไวเท่าไรก็ยิ่งลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสะสางให้ปัญหายุติลงได้ ดีกว่าที่จะรอให้เกิดผลกระทบขึ้นแล้วจึงค่อยรู้ตัว ซึ่งที่ผ่านมา บางรายก็รู้ต่อเมื่อถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือบางกรณีอาจเลวร้ายกว่านั้น         แท้ที่จริง เรื่องนี้ยังมีมาตรการอีกส่วนหนึ่งที่ถ้าทำได้ดีจะส่งผลในเชิงป้องกันได้มากกว่า นั่นคือ การยกระดับคุณภาพและความรัดกุมของการรับลงทะเบียน ซึ่งหน้าที่ในเรื่องนี้เป็นของผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือต่างๆ นั่นเอง โดยที่ กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของเอกชนอีกทอดหนึ่ง         กสทช. ได้ออกประกาศเรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 ในประกาศนี้กำหนดอย่างชัดเจนว่า ผู้ให้บริการต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดให้บริการ ซึ่งก็คือศูนย์ให้บริการหรือสำนักงานบริการลูกค้าที่จัดตั้งขึ้น โดยในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่จุดให้ลงทะเบียนต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         นอกจากนั้น ประกาศยังกำหนดเรื่องการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ รวมทั้งกำหนดว่า บริษัทผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบ หากมีเหตุอันมิชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมอันเกิดจากการดำเนินการของจุดให้บริการ เสมือนเป็นผู้ดำเนินการเองทุกกรณี เว้นแต่สามารถพิสูจน์ให้สำนักงาน กสทช. เห็นได้ว่า ผู้ให้บริการมีมาตรการและดำเนินการตรวจสอบการกระทำของจุดให้บริการนั้น รวมถึงมีการกำกับดูแลจุดให้บริการโดยรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมแล้ว        ตามกติกาเช่นนี้ หากในทางปฏิบัติจริงทำตามได้อย่างไม่บิดพลิ้ว เรื่องการสวมรอยหรือแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนของคนอื่นลงทะเบียนเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไปย่อมไม่ควรจะเกิดขึ้นได้ หากจะเกิดขึ้นก็เพียงในกรณีที่ว่า ผู้แอบอ้างได้บัตรประชาชนฉบับจริงของผู้นั้นไป และมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเจ้าของบัตรด้วย         แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะบ่งชี้ว่า ด่านการลงทะเบียนมีมาตรฐานห่างไกลจากคำว่า “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” อย่างมาก สะท้อนต่อเนื่องว่า กติกาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และการกำกับกติกาไม่มีประสิทธิผล         ทั้งนี้พบว่า ในกรณีที่มีการร้องเรียนปัญหานี้เข้าสู่สำนักงาน กสทช. ที่ผ่านๆ มา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ให้บริการจะดูแลปิดเบอร์ให้ กรณีมีค่าบริการก็ยกเว้นการเรียกเก็บ แต่สำหรับการสืบสาวถึงสาเหตุหรือความรับผิดชอบอื่นใด ผู้ให้บริการมักไม่เปิดเผยและไม่แสดงความรับผิดชอบ ขณะที่สำนักงาน กสทช. ก็ไม่ติดใจ         สำหรับมาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ที่ กสทช. กำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ นั่นคือจำกัดให้แต่ละคนถือครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือคนละไม่เกิน 5 เบอร์         แม้ว่ามาตรการนี้อาจช่วยปิดช่องมิให้มิจฉาชีพดำเนินการเปิดเบอร์มือถือจำนวนมากและก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ แต่อาจช่วยไม่ได้มากนักในเรื่องการแอบอ้างหรือสวมรอยเปิดเบอร์ ช่วยได้ก็เพียงลดปริมาณเบอร์ที่แต่ละคนจะถูกสวมรอยเท่านั้น         ปราการสำคัญแท้จริงของเรื่องนี้จึงยังคงอยู่ที่ขั้นตอนการลงทะเบียน ที่จะต้อง “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” ให้ได้จริงๆ ซึ่งถ้าหากผู้ให้บริการยังคงทำหน้าที่ส่วนนี้ให้ดีไม่ได้ กสทช. ก็ควรต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้น ส่วนว่า ถ้าหาก กสทช. เองก็ทำหน้าที่ให้ดีไม่ได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่า ประชาชนก็ย่อมมีทางเลือกเพียงเฝ้าระวังและติดตามปัญหาด้วยตนเองเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 เบอร์ที่ “มิจ” ใช้ ใครเป็นคนเปิด?

        เมื่อไม่กี่วันก่อน คนใกล้ชิดได้รับสายจาก “มิจ” รายหนึ่ง อ้างว่าโทรมาจาก กสทช. ข่าวสารที่นำพามาให้ก็คือ “เบอร์ของท่านกำลังจะถูกปิด” โดยมีเรื่องราวประกอบประมาณว่า ทาง กสทช. ได้ตรวจพบว่าท่านมีการเปิดเลขหมายไว้มากกว่า 1 เลขหมาย ซึ่ง กสทช. ไม่อนุญาต         เราฟังแบบจับความจากทางฝ่ายรับโทรศัพท์ เพียงรับรู้ว่าโทรมาจาก กสทช. ก็ตะโกนออกมาแล้วว่า “หลอกลวงๆ” ตอนนั้นยังไม่ทันรู้ว่ามีการผูกประเด็นอะไร อย่างไร         สิ่งที่ตลกมากคือ มิจรายนี้ท่าทางจะเป็นคนที่แสนอ่อนไหว พอเขาได้ยินข้อความที่เราตะโกนก็ผละจากการ “เล่าความเท็จ” มาเล่นบทหาเรื่องทันที ขึ้นเสียงดังจนลอดออกมาให้เราได้ยินว่า “ใครหลอกลวง หลอกยังไง บลาๆๆ”เสียดายที่มิจเล่นบทโมโหเสร็จก็วางสายไป ไม่เปิดให้เราได้มีโอกาสบอกว่า มิจจ๋า การบ้านที่ทำมาจนรู้ว่าเหยื่อรายนี้ถือครองสองเบอร์นั้นยังไม่พอ ต้องไปศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องมาใหม่นะ เปิดเกิน 1 เบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใดทั้งนี้ ตลอดยุคสมัยนับแต่มีบริการโทรคมนาคมจนถึงปัจจุบัน รัฐและ กสทช. ไม่เคยมีกติกาจำกัดจำนวนการถือครองเบอร์ของผู้บริโภคเลยอย่าว่าแต่แค่ 2 เบอร์ ในความเป็นจริงมีคนมากมายที่เปิดเบอร์นับสิบนับร้อยเบอร์กันเลยทีเดียว         ดังนั้นอยากบอกว่า มิจจะมาใช้จิตวิทยาเล่นกับความหวงเบอร์และความกลัวการสูญเสียโดยที่มีความรู้ไม่แน่น มันไม่ work และไม่มืออาชีพเลยนะ ดังนั้นถ้าเผอิญมาเจอคนที่มีความรู้และข้อมูลเยอะกว่าก็ต้องอดทน-อดกลั้นหน่อย ไม่ใช่มาโกรธใส่         จบเรื่องมิจ มาเข้าเรื่องกติกา กสทช. เกี่ยวกับกติกาการจำกัดจำนวนเบอร์         เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ค่ายมือถือเริ่มจริงจังที่จะสื่อสารว่า ถ้าจะเปิดเบอร์ให้ทำได้คนละ 5 เบอร์เท่านั้น โดยมีการอ้างว่าเป็นประกาศของ กสทช.        แต่แท้จริงแล้ว แนวทางการกำกับของ กสทช. ในเรื่องนี้เป็นไปในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือมีการกำหนดว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือค่ายมือถือทุกรายมีหน้าที่ต้องควบคุมจำนวนการลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน สำหรับบุคคลธรรมดา จำนวนไม่เกิน 5 เลขหมายต่อคน         กติกานี้เกิดขึ้นในฐานะมติ กสทช. จากการประชุมครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เหตุเนื่องจากในขณะนั้นเริ่มเกิดปัญหาการระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (พวกพี่มิจนั่นแหละ) และจากการตรวจจับพบกรณีมีคนที่ลงทะเบียนครอบครองเบอร์มือถือคนเดียว 300,000 หมายเลข! ซึ่งจำนวนมากขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน         ที่เด็ดกว่านั้นคือ พบกรณีมีผู้ถือครองเบอร์มือถือในชื่อของนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วย ...ใช่แล้ว คนที่กำลังรักษาการอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ         ในมุมมองของ กสทช. เหตุการณ์เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า กระบวนการลงทะเบียนซิม (เปิดเบอร์) มีความไร้ระบบ หละหลวม จนก่อให้เกิดช่องโหว่ที่ใหญ่มากซึ่งสามารถเป็นต้นตอก่อปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ตามมา ดังนั้นจึงต้องวางมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพของการลงทะเบียนเปิดเบอร์ ตลอดจนมีการควบคุมในเรื่องนี้         มาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น แต่แทนที่จะใช้วิธีจำกัดการถือครองเบอร์ของปัจเจกแต่ละราย ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภค และยากที่จะหาจำนวนเหมาะสมที่กำหนดแล้วไม่ส่งผลรบกวนการใช้งานตามปกติและการใช้งานโดยสุจริต เพราะบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เลขหมายเป็นจำนวนมากในการประกอบกิจการหรือดำเนินชีวิตก็เป็นได้         จำนวน 5 เลขหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นการจำกัดไว้ที่การให้บริการเปิดเบอร์แบบทั่วไปที่อาจมีการติดต่อกันผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือผ่านตัวแทน แต่หากบุคคลทั่วไปคนใดมีความต้องการหรือจำเป็นต้องใช้งานเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่านั้นก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องไปที่ศูนย์ให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกกันว่าช็อปมือถือนั่นเอง และมติ กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรายงานกรณีดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. ด้วย         แท้จริงมาตรการนี้จึงไม่ใช่การจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์หรือถือครองเบอร์ แต่เป็นการวางมาตรการควบคุมวิธีการพิจารณาเปิดเบอร์และการดำเนินการของผู้ให้บริการ         หน้าที่ในการรับลงทะเบียนหรือรับเปิดเบอร์ของผู้ให้บริการยังมีรายละเอียดอื่นมากกว่านั้น ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายระดับประกาศของ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่*         ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 สาระคือเป็นการวางหลักเกณฑ์ตั้งแต่เรื่องของเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน การมีมาตรการตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล รวมถึงข้อกำหนดว่าจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการอะไรได้บ้าง        แต่กติกาของ กสทช. ดังกล่าวไม่เพียงไม่ขลัง การกำกับดูแลของ กสทช. ก็อ่อนด้วย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือทั้งหลายไม่ได้เพิ่มความรัดกุมในการดำเนินการเรื่องนี้เลย         ปัญหาการถูกลักลอบ/แอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนเปิดเบอร์จึงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ เห็นได้จากที่มีการโพสกรณีต่างๆ ทางสื่อออนไลน์ รวมถึงการมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสทช. เอง กระทั่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เกิดเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ออกมาเผยว่าตนเองถูกแอบอ้างเปิดเบอร์มือถือถึง 32 เบอร์**         ปัญหาการถูกแอบเปิดเบอร์มือถือ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีเรื่องของภาระค่าบริการที่อาจติดตามมา และร้ายที่สุด เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่มี “มิจ” จำนวนมากแฝงฝังอยู่ร่วมสังคม ปัญหานี้จึงอาจพัวพันกับการก่ออาชญากรรมด้วยครั้งหน้าจึงจะขอพูดถึงเรื่องนี้ต่อ โดยจะเน้นไปในด้านของมาตรการเพื่อการป้องกันและเท่าทันกับปัญหา ทั้งในส่วนที่เป็นเกราะป้องกันที่ภาครัฐดำเนินการ และส่วนที่ผู้บริโภคเราจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะเหยื่อในลักษณะผู้สมรู้ร่วมคิดของ “มิจ”* อ่านรายละเอียดประกาศดังกล่าวได้ที่ https://numbering.nbtc.go.th/getattachment/Announcement/Announce-manual/447/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%-E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A%- E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%-E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%-E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%-E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%-E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%-E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%-E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%-E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%-E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%-E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%-E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%-E0%B9%88.PDF.aspx** อ่านข่าวดังกล่าวได้ที่ เตือนภัย! สาวเช็กเลขบัตร ปชช. เจอ ถูกนำไปเปิดเบอร์โทรกว่า 30 เบอร์ ทั้งที่ใช้จริงแค่ 2 (matichon.co.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 เบอร์ของคุณยายที่หายไป

        ทุกวันนี้ เลขหมายหรือเบอร์โทรศัพท์ยิ่งมีความหมายและความสำคัญกับหลายๆ คนยิ่งขึ้น จากผลของการที่ธุรกรรมต่างๆ สามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกรรมทางการเงิน การสูญเสียเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้เป็นประจำจึงไม่เพียงส่งผลกระทบเรื่องการสื่อสารทั่วๆ ไป แต่อาจส่งผลต่อชีวิตได้ในหลายๆ ด้าน         เมื่อผู้ใช้บริการคนหนึ่งสูญเสียเบอร์โทรศัพท์มือถือที่ใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2443 ไป ความปรารถนาที่จะได้รับเบอร์เดิมคืนจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก และเมื่อได้อ่านจดหมายที่คนผู้นั้นร้องเรียนมายัง กสทช. ก็จะตระหนักได้ว่า เรื่องนี้ถึงขั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดความทุกข์แก่เจ้าตัวเลยทีเดียว         “หมายเลขดังกล่าวได้มีการทำธุรกรรมด้านการเงิน ระบบการรักษาพยาบาล และเกี่ยวกับเอกสารอื่นๆ ที่มีความสำคัญ ประกอบกับดิฉันสูงอายุ (84 ปี) มีปัญหาด้านสุขภาพ ไม่สามารถเดินทางไปติดต่อสถานที่ต่างๆ” ตอนหนึ่งของจดหมายซึ่งเขียนด้วยลายมือหวัดแต่เป็นระเบียบ ระบุเอาไว้         เบอร์ที่สูญเสียนั้นใช้บริการในระบบเติมเงินล่วงหน้า เนื่องจากไม่ได้เติมเงินเข้าระบบเป็นเวลานาน วันใช้งานจึงหมด โดยบริษัทผู้ให้บริการชี้แจงว่า การตัดบริการนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 ส่วนที่ผู้ร้องเรียนแจ้งคือ ใช้บริการไม่ได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ประเด็นเรื่องนี้จึงนับว่าสอดคล้องกัน         ในเบื้องต้นผู้ร้องเรียนแจ้งเรื่องไปทางบริษัทก่อน แต่ได้รับคำตอบว่า หากต้องการเบอร์เดิม ต้องติดต่อภายใน 45 วัน หากเลยเวลาไปแล้ว เลขหมายจะถูกคืนเข้าระบบ กสทช. นั่นเป็นเหตุให้คุณยายลงแรงเขียนจดหมายเข้ามาขอ “ความกรุณา กสทช.”  ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกัน         จากการตรวจสอบพบว่า ประเด็นเรื่องเลขหมายดังกล่าวถูกคืนเข้าระบบ กสทช. แล้วนั้นไม่เป็นความจริง ส่วนเรื่อง 45 วันถือเป็นกรอบเวลาสำคัญจริง เนื่องจากตามกติกาที่ กสทช. กำหนด เลขหมายที่ยกเลิกการใช้แล้วจะต้องมีการกักเก็บไว้ 45 วัน ก่อนที่จะนำไปหมุนเวียนให้บริการต่อ เหตุผลก็เพื่อเป็นการทอดเวลาสำหรับการผลัดเปลี่ยน ผู้ใช้บริการที่ได้เบอร์ใหม่ซึ่งเป็นเบอร์เดิมของคนอื่นไปจะได้ไม่ถูกรบกวนโดยญาติมิตรของผู้ใช้คนเดิมหนักหน่วงนัก         หลังพ้นเวลา 45 วัน จึงเป็นไปได้ที่เบอร์นั้นจะถูกนำไปขายในตลาดแล้วหรือกระทั่งกลายเป็นเบอร์ที่มีคนใหม่ครอบครองและนำไปใช้แล้ว         กรณีเกิดการสูญเสียเบอร์และต้องการขอคืน หากดำเนินการหลังจาก 45 วัน  จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้ตามประสงค์ เพราะการเรียกคืนย่อมจะกระทบสิทธิของผู้อื่นด้วย         ดังนั้น ถึงแม้ว่าการขอคืนภายในกรอบเวลา จะไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะได้รับเบอร์คืนเสมอไป เนื่องจากตามกติกาไม่ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ จึงค่อนข้างจะขึ้นกับดุลพินิจของบริษัทที่ให้บริการ (ซึ่งนั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีประเด็นต้องพิจารณาหลากมิติ ไม่ใช่เรื่องที่จะขีดเส้นชัดๆ ได้ง่ายนัก) แต่การรู้ตัวให้เร็วและเร่งดำเนินการติดต่อแจ้งความประสงค์ย่อมเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ที่จะได้เบอร์เดิมคืนมา         อย่างไรก็ตามการขอเบอร์คืนเป็นเพียงเรื่องปลายทางมีเรื่องต้นทางที่น่าพิจารณากว่า นั่นคือการรักษาเบอร์         ตามปกติ เรื่องการยกเลิกบริการย่อมเป็นสิทธิของฝ่ายผู้ใช้บริการ มิใช่ของผู้ให้บริการ ทั้งนี้ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ก็กำหนดเป็นหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา ยกเว้นใน 5 กรณี ได้แก่ 1) ผู้ให้บริการตายหรือสิ้นสุดสภาพนิติบุคคล 2) ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน 3) มีเหตุอันเชื่อได้ว่าผู้ใช้บริการมีพฤติกรรมฉ้อฉลในการใช้บริการ หรือนำไปใช้ผิดกฎหมาย หรือฝ่าฝืนข้อห้ามในสัญญา 4) ผู้ให้บริการไม่สามารถให้บริการได้โดยเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และ 5) เป็นการยกเลิกโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย         ส่วนใหญ่แล้วเหตุที่ทำให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกสัญญาได้มักเป็นไปตามข้อยกเว้นข้อ 2) นั่นคือเกิดกรณีที่ผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคค้างชำระค่าบริการ ซึ่งเรื่องนี้จะได้หาโอกาสกล่าวถึงต่อไป ในฐานะที่เป็นประเด็นหนึ่งที่มักทำให้เกิดข้อพิพาท         อย่างไรก็ตามสำหรับระบบเติมเงิน เรื่องการยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายผู้ให้บริการสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่านั้น เนื่องจากในตลาดมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “วันหมดอายุการใช้งาน” ซึ่งจะถูกกำหนดตามการเติมเงิน โดยที่ในการเติมเงินแต่ละครั้งจะได้ระยะเวลาการใช้งานที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง เช่น 30 วัน ดังนั้นแม้ว่ายอดเงินที่เติมไว้จะยังคงเหลือ แต่วันใช้งานก็อาจหมดลงก่อนได้         ดังเช่นในรายของผู้ร้องเรียนวัย 84 ปีข้างต้น บริษัทที่ให้บริการชี้แจงว่า การเติมเงินครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้ได้วันใช้งาน 60 วัน ดังนั้น ในที่สุดบริษัทจึงตัดบริการ         นี่คือช่องว่างที่ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหามานานแล้ว ดังนั้นตั้งแต่มกราคม 2565 กสทช. จึงได้มีมติว่า “ให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในเรื่องการรักษาเลขหมายของผู้ใช้บริการแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า กรณีวันใช้งานหมดอายุแต่ยังมีเงินคงเหลือในระบบ ให้หักเงินในระบบเป็นค่ารักษาเลขหมายในอัตราเท่ากับค่าธรรมเนียมเลขหมายที่ กสทช. เรียกเก็บจากผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้เลขหมายได้ต่อไป”         จนกระทั่งกว่าหนึ่งปีผ่านไป มติดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลในโลกความเป็นจริง         ด้วยการดำเนินการที่ล่าช้าของสำนักงาน กสทช. ปัญหาซ้ำซากเรื่องการสูญเสียเบอร์ จึงยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาที่ทำให้การใช้งานโทรศัพท์มือถือของหลายคนเบาบางลง และการทำธุรกรรมหลายๆ อย่างไม่สะดวก เช่น การเติมเงิน หรือแม้แต่การร้องเรียนก็ตาม เรื่องนี้จึงสรุปได้ว่าหากสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ เบอร์ของคุณยายวัย 84 ปีก็คงจะไม่ต้องหลุดมือไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 ง่ายๆ กับ “แอพสายด่วน”

2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนเคยเขียนแนะนำแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ จากสมุดหน้าเหลืองเล่มหนาๆ มาย่อรวมไว้ที่สมาร์ทโฟนบนมือของเรา  ในฉบับนี้ผู้เขียนได้ไปเจอแอพพลิเคชั่นในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่แค่ย่นย่อข้อมูลไว้เป็นหมวดๆ แอพพลิเคชั่นนี้มีชื่อว่า “แอพสายด่วน” เป็นแอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาขึ้นจากกระปุกดอทคอม แอพพลิเคชั่นนี้จะรวบรวมเบอร์โทรศัพท์ที่ใช้ติดต่อเมื่อถึงคราวจำเป็น โดยแบ่งออกเป็น 8 หมวด ได้แก่ หมวด Delivery  หมวดโรงภาพยนตร์  หมวดธนาคาร  หมวดแท็กซี่  หมวดสอบถามข้อมูล  หมวดการติดต่อสื่อสาร  หมวดแจ้งเหตุด่วน  และหมวดอุทกภัย หมวด Delivery เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ร้านอาหารที่วิ่งส่งอาหารไปถึงบ้าน อย่างเช่น  แมคโดนัลด์ เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เอ็มเค เอสแอนด์พี เป็นต้น ทั้งยังมีแจ้งรายละเอียดช่วงเวลาในการโทรสั่ง ราคาค่าจัดส่ง หมวดโรงภาพยนตร์  เป็นหมวดที่รวบรวมเบอร์โทรศัพท์ของเครือโรงภาพยนตร์ที่มีทั้งหมด อย่างเช่น เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เอสเอฟซีนีม่า อีจีวี เป็นต้น โดยแบ่งย่อยเป็นเบอร์โทรศัพท์ของสาขาต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ หมวดธนาคาร  จะรวบรวมเบอร์ธนาคารทุกธนาคารไว้  หมวดแท็กซี่ จะรวบรวมเบอร์ธุรกิจบริษัทแท็กซี่ทั้งหมดที่มี  และหมวดการติดต่อสื่อสาร  จะรวบรวมศูนย์บริการของเครือข่ายโทรศัพท์ทั้งหมดทั่วประเทศไว้ ไม่เพียงแต่เครือข่ายของมือถือ อย่างเช่น เอไอเอส  ดีแทค  ทรูมูฟ เท่านั้น ยังมีของ ทีโอที กสท. ด้วย หมวดสอบถามข้อมูล จะแบ่งย่อยเป็นหมวดย่อยบริการภาครัฐและบริการทางสังคม จะมีสายด่วนผู้บริโภค อย. สายด่วนประกันสังคม ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริการทางสังคม ซึ่งในหมวดนี้มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภครวมอยู่ด้วย  นอกจากนี้ยังมีหมวดย่อยการเดินทาง การจราจร หมวดย่อยภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ หมวดย่อยสุขภาพ และหมวดย่อยอื่นๆ ที่รวบรวมเบอร์ติดต่อของศูนย์ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ไว้ หมวดแจ้งเหตุด่วน  จะแยกย่อยเป็นเรื่องอุบัติเหตุ จราจร เพลิงไหม้ สาธารณูปโภค กู้ชีพ และรถพยาบาล ส่วนหมวดอุทกภัย จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า การประปา เป็นต้น ในแอพพลิเคชั่น “แอพสายด่วน” นี้ ยังสามารถจัดเก็บเบอร์โทรที่ผู้ใช้ต้องใช้เป็นประจำไว้ได้ภายในเมนู Favarite เพื่อสะดวกกับการหาในครั้งต่อไป และผู้ใช้สามารถเพิ่มข้อมูลด้วยตัวเองภายในเมนูเพิ่มเบอร์โทรได้อีกด้วย สามารถดาวน์โหลดได้ฟรี ทั้งในระบบสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ทาง App Store  และสำหรับมือถือระบบปฏิบัติการ iOS โดยพิมพ์คำว่า “แอพสายด่วน” หรือในเว็บไซต์ http://m.kapook.com/hotline    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 YellowPages Live ติดตามตัว

ผู้อ่านจำหนังสือเล่มหนาๆ ปกเหลืองๆ ที่ถูกแจกจ่ายไว้ตามบ้านทุกหลังคาเรือนได้ไหมค่ะ คุณสมบัติของเล่มนี้จะช่วยค้นหาเบอร์ติดต่อร้านค้า สำนักงาน โรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์บ้านของเราก็มีระบุไว้ สมุดเล่มนี้มีชื่อว่า “สมุดหน้าเหลือง” หรือเรียกว่า เยลโล่เพจเจส (YellowPages) เป็นชื่อที่ผู้เขียนและผู้อ่านรู้จักเป็นอย่างดี  ซึ่งเป็นหนังสือขนาดเล่มหนา มีปกสีเหลือง โดยได้รวบรวมรายชื่อธุรกิจ สินค้า และบริการ มาเรียบเรียงไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อแจกจ่ายไปตามบ้านเรือน บริษัท ห้างร้าน และแหล่งธุรกิจ  ภายหลังสมุดหน้าเหลืองได้ถูกพัฒนาเป็นรูปแบบออนไลน์ บน  http://www.yellowpages.co.th แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีบนสมาร์ทโฟนในโลกปัจจุบัน  สมุดหน้าเหลือง จึงถูกพัฒนามาเป็น YellowPages Live Application และสามารถรองรับทุกระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์มือถือ ไม่ว่าจะเป็น iOS (iPhone หรือ iPad), Android OS, BlackBerry OS, Windows Phone, Windows Mobile และ สมาร์ทโฟน หรือฟีเจอร์โฟน ที่รองรับ J2ME  จะสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้จาก http://www.typlive.com/mobile  มาติดตั้งใช้งานได้ทันที แอพพลิเคชั่น YellowPages Live มีอยู่ 5 ส่วน คือ ส่วนแรก Highlight เป็นส่วนที่อัพเดทข้อมูลข่าวสารที่น่าสนใจ ส่วนที่สอง Search จะเป็นส่วนค้นหาหมายเลขสำคัญ เบอร์ฉุกเฉิน คำค้นยอดนิยม ส่วนลดร้านอาหาร และโปรโมชั่นต่างๆ โดยสามารถคลิกรับโปรโมชั่นที่ต้องการได้ทันที ส่วนที่สาม Map สามารถค้นข้อมูลและให้แสดงผลในรูปแบบแผนที่ได้ เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องการทราบเส้นทางการเดินทาง ส่วนที่สี่ Content อัพเดทราคาน้ำมัน ราคาทอง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เลขหมายน่าสนใจ 4 หลัก รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนที่ห้า Member เป็นส่วนของการ log in สำหรับสมาชิก ผู้อ่านสามารถสมัครเป็นสมาชิกกับแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ได้ทันที ผู้อ่านลองดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้กันนะคะ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายสำหรับการค้นหาเบอร์ติดต่อในกรณีเหตุสุดวิสัยและสามารถพกพาไปได้ทุกสถานที่ แถมแอพพลิเคชั่น YellowPages Live ยังสามารถรองรับได้ทุกระบบปฏิบัติการได้ขนาดนี้ มีแอพฯ นี้ไว้ในมือถือก็ดีไม่น้อยนะคะ

อ่านเพิ่มเติม >