ฉบับที่ 254 เพชฌฆาตจันทร์เจ้า : จะขอให้มีแค่ใครคนหนึ่ง ที่จะไม่ทำให้ช้ำ และไม่ทำให้เราเศร้าใจ

        “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ขอข้าวขอแกง ขอแหวนทองแดงผูกมือน้องข้า ขอช้างขอม้าให้น้องข้าขี่ ขอเก้าอี้ให้น้องข้านั่ง ขอเตียงตั่งให้น้องข้านอน ขอละครให้น้องข้าดู ขอยายชูเลี้ยงน้องข้าเถิด ขอยายเกิดเลี้ยงตัวข้าเอง”         บทเพลงกล่อมเด็ก “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ข้างต้นที่เราคุ้นหูกันมาตั้งแต่เยาว์วัย ช่างมีนัยความหมายของเนื้อเพลงที่สะท้อนวิธีคิดของคนสมัยก่อน ซึ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับวัตถุ รวมไปถึงมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติด้วย         ไม่ว่าจะเป็นข้าวเป็นแกง แหวนทองแดง ช้างม้า เก้าอี้เตียงตั่ง และอื่นๆ ที่ขับกล่อมอยู่ในเนื้อเพลง ต่างบ่งชี้ให้เห็นว่า สายสัมพันธ์ที่ยึดโยงคนผู้ “พี่” ที่ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้มาซึ่งวัตถุที่เชื่อว่ามีคุณค่าเป็นอุดมคติสูงสุดแห่งยุคนั้น ก็เพื่อให้เด็กน้อยผู้เป็น “น้องข้า” ได้มีความสุขในช่วงชีวิตวัยเยาว์         หาก “ความเป็นมนุษย์” มีพื้นฐานมาจากการผูกโยงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและกับโลกรอบตัว ดังปรากฏในเพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมเฉกเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าในยุคสมัยใหม่สายสัมพันธ์ในความเป็นมนุษย์เริ่มเปราะบางและ “แปลกแยก” ไปท่ามกลางผลประโยชน์อื่นที่เข้ามาทดแทน         คำตอบต่อข้อสงสัยเรื่องสายสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมอันแปลกแยกดังกล่าว สามารถส่องซูมและเรียนรู้ได้จากตัวละครนักฆ่าสาวสมัญญานามว่า “มูน” หรือ “บลัดดี้มูน” อันแปลว่า “พระจันทร์สีเลือด” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เพชฌฆาตจันทร์เจ้า”         มูนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นทาสรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ต่อคนที่หญิงสาวเรียกว่า “นาย” หัวหน้ากลุ่มมาเฟียค้าอาวุธข้ามชาติ และด้วยถูกหล่อหลอมให้เป็นนักฆ่า มูนจึงถูกเลี้ยงมาให้มีหัวใจที่เย็นชาหยาบกระด้าง ภายใต้กฎบัญญัติแห่งมือสังหารที่ว่า นักฆ่าต้องลงมือเพียงลำพัง ต้องเปลี่ยนทุกอย่างในมือให้เป็นอาวุธ ต้องสละชีพเพื่อปกป้องนายและความลับของนาย และที่สำคัญ ต้องหยิบยื่นความกลัวและความตายให้กับศัตรู         กล่าวอีกนัยหนึ่ง ภายใต้กฎเหล็กที่บัญญัติเอาไว้นี้ นักฆ่าอย่างมูนจึงไม่ต่างอันใดจากสัญลักษณ์ตัวแทนของ “สภาวะแปลกแยก” ใน “ความเป็นมนุษย์” นั่นเอง         โดยทั่วไปแล้ว ความแปลกแยกเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อปัจเจกบุคคลถูกตัดสายสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับโลกรอบตัว ไร้ซึ่งความผูกพันใดๆ กับคนอื่น และท้ายที่สุด ความเป็นมนุษย์ของเขาก็จะค่อยๆ ถูกทำลายไป         เพราะฉะนั้น เมื่อมูนถูกฝึกให้เป็นมือสังหาร เธอจึงกลายเป็นคนที่ไร้จิตใจ ไร้ความรัก ไม่มีสายสัมพันธ์ใดๆ ที่จะยึดโยงผูกพันกับคนรอบข้าง และที่สำคัญ เธอจะแปลกแยกไม่เหลือความเป็นคน จนกลายเป็นเพชฌฆาตสมญาบลัดดี้มูนได้อย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนกับที่นายได้เคยกล่าวถึงมูนกับ “ลุงแสง” ครูฝึกนักฆ่าว่า “เลี้ยงมันให้กลายเป็นนักฆ่า ทำลายความเป็นมนุษย์ของมันลง”         หลังจากกลายเป็นนักฆ่าสาวเลือดเย็นแล้ว ชีวิตที่ไม่มีพ่อแม่แต่ต้อง “หันซ้ายหันขวา” ไปตามอาณัติอำนาจของนาย ทำให้มูนลงมือสังหารศัตรูของนายลงคนแล้วคนเล่า จนกระทั่งวันหนึ่งที่มูนทำงานพลาด เธอเองจึงถูก “ภพ” กับ “เข้ม” ลูกสมุนซ้ายขวาของนายไล่ฆ่า และพลาดท่าพลัดตกจากหน้าผาในคืนวันที่พระจันทร์ส่องแสงเป็นสีเลือด         ด้วยความช่วยเหลือจากพระเอกหนุ่ม “อติรุจ” หัวหน้าเขตอุทยานแห่งชาติป่างาม มูนสามารถรอดชีวิตมาได้ แต่เมื่อฟื้นขึ้นมา เธอกลับตกอยู่ในสภาพความจำเสื่อม และมีพฤตินิสัยที่แตกต่างไปจากนักฆ่าสาวเลือดเย็นโดยสิ้นเชิง         หลังจากไฟล์ตัวตนเดิมถูกดีลีทไปจากคลังความทรงจำ มูนได้มาสวมอัตลักษณ์เป็นแม่บ้านคนใหม่ของอติรุจ พร้อมกับชื่อที่ใครต่อใครเรียกเธอว่า “จันทร์เจ้า” ก่อนที่ภายหลังก็ต้องมาสวมบทบาทเป็นภรรยาปลอมๆ ของพระเอกหนุ่ม เพื่อช่วยให้เขาหนีรอดจากการคลุมถุงชนของ “เฉิดโฉม” ผู้เป็นมารดา         กล่าวกันว่า แม้จะอยู่ในสภาวะแปลกแยกเพียงใด ความเป็นมนุษย์ที่ยังหลงเหลือร่องรอยในจิตวิญญาณของคนเรา ก็ไม่ต่างจาก “เมล็ดพันธุ์” ที่รอวันดิ้นรนเพื่อฟื้นคืนชีพ เมื่อเงื่อนไขต่างๆ อันเป็นประหนึ่งดินน้ำปุ๋ยและแสงแดดจะเอื้ออำนวย ดังนั้นจันทร์เจ้าสาวน้อยผู้ที่ถือกำเนิดใหม่จึงเริ่มเรียนรู้และซ่อมแซมสายสัมพันธ์ที่สึกหรอ ด้วยเพราะผู้เป็นนายเคยสะบั้นและพรากไปเสียจากห้วงชีวิตของเธอ         เริ่มจากสายสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง ตั้งแต่ “สาวใหญ่” ผู้เป็นเสมือนพี่สาวที่คอยช่วยเหลือและรับฟังทุกข์สุขของจันทร์เจ้า กลุ่มเจ้าหน้าที่อนุรักษ์อุทยานและชาวบ้านแห่งป่าเกาะงามที่ไม่ต่างจากเครือญาติกลุ่มใหม่ ภพและลุงแสงผู้แอบคอยช่วยดูแลจันทร์เจ้าอยู่ห่างๆ ไปจนถึงความรักที่ผลิบานกับพระเอกหนุ่มอติรุจผู้ที่กล่าวกับจันทร์เจ้าในช่วงที่เธอถูกทำร้ายจนสลบว่า “กลับมานะจันทร์เจ้า เธอยังมีฉันในวันที่อ้างว้าง โลกใบนี้ไม่ได้หม่นหมอง โลกใบนี้ยินดีต้อนรับเธอเสมอ”         ที่น่าสนใจ เมื่อนักฆ่าตัดสินใจปลดอาวุธมาเป็นแม่บ้าน ทักษะควงมีดใช้ดาบแบบเดิมก็กลายมาเป็นทักษะในงานครัว จันทร์เจ้าได้ปรับเปลี่ยนอาวุธที่รุนแรงมาสร้างสรรค์ตำรับอาหารใหม่ๆ เสน่ห์ปลายจวักกับคมมีดในห้องครัวทำให้เธอได้ลงแข่งขันในรายการโทรทัศน์ของ “อาจารย์ป้าพาเพลิน” ผู้เป็นกูรูอาหาร และได้ใช้รสชาติอาหารเป็นสะพานเชื่อมสายสัมพันธ์กับคนรอบข้าง รวมทั้งชายคนรักของเธอ         แต่ทว่า สิ่งที่จันทร์เจ้าต้องเรียนรู้ก็คือ ในขณะที่กำลังฟื้นฟูสภาวะความเป็นมนุษย์กลับมานั้น ระบอบแห่งอำนาจเองก็ไม่เคยเปิดให้ปัจเจกบุคคลเป็นอิสระหลุดพ้นไปจากวังวนของมันไปได้ ยิ่งเมื่อภายหลังละครได้เฉลยคำตอบว่า ตัวจริงของนายก็คือ “อธิปัตย์” ผู้มีศักดิ์เป็นบิดาบุญธรรมของอติรุจ จันทร์เจ้าผู้เลือกสลัดความเป็นบลัดดี้มูนทิ้งก็พบว่า อำนาจของนายยิ่งไม่มีวันปล่อยให้เธอได้เลือกทางเดินชีวิตหรือเป็นมนุษย์ไปได้จริงๆ เหมือนกับที่นายเองก็เคยสบถออกมาว่า “เป็นนักฆ่า สะเออะจะมีความรัก…”         เพราะจันทร์เจ้าเชื่อว่า “ทุกครั้งที่นายเรียกว่ามูน หนูจะรู้สึกเจ็บปวดตลอด” ฉะนั้นหนทางเดียวที่ปัจเจกจะหลุดรอดไปจากกรงแห่งอำนาจ อาจไม่ใช่การหนีไปให้พ้น หากแต่ต้องตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับอำนาจที่แผ่ซ่านไปถ้วนทั่วทุกๆ อณูของสังคม และต้องเป็นการต่อสู้ในแบบที่เธอเป็น ไม่ใช่ในแบบบลัดดี้มูนอีกต่อไป         เมื่อมาถึงฉากอวสานของละคร แม้ด้านหนึ่งเราจะได้เห็นจุดจบของนายเป็นบทลงโทษเชิงสัญลักษณ์ แต่ในอีกด้านจันทร์เจ้าก็ต้องแลกกับการสูญเสียความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง เพียงเพื่อให้เธอมีโอกาสได้เขียนหน้าประวัติศาสตร์ชีวิตกันใหม่ โดยมีความรักดีๆ ของพระเอกหนุ่มและคนรอบข้างเป็นน้ำเป็นปุ๋ยหล่อเลี้ยงอยู่         ในวันนี้ เผลอๆ เราอาจไม่ได้ร้องเพลงกล่อมเด็กขอพร “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า” ให้ได้ข้าวได้แกงหรือได้แหวนทองแดงมาผูกมือ “น้องข้า” กันเหมือนเดิมต่อไปแล้ว หากคงต้องร้องเพลงขอพรให้ “น้องข้า” หลุดพ้นจากสภาพนักฆ่า และหวนคืนความเป็นมนุษย์ที่นับวันจะแปลกแยก ห่างเหิน และแร้นแค้นกันจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >