ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เพชรกลางไฟ : ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่สายเลือด

อันว่าละครโทรทัศน์แนวพีเรียดหรือแนวย้อนยุคนั้น ถือเป็นเนื้อหาละครที่จำลองภาพชีวิตของตัวละครที่เวียนว่ายอยู่ในอดีต หรือช่วงพีเรียดหนึ่งๆ ที่บรรพชนของเราเคยดำเนินชีวิตมาก่อน การจำลองภาพอดีตฉายผ่านละครแนวนี้ ด้านหนึ่งก็คือการย้อนกลับไปดูภาพฝันวันวานที่คนในทุกวันนี้ได้ผ่านพ้นและอาจลืมเลือนไปเสียแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ละครย้อนยุคก็เป็นประหนึ่งบทเรียนให้คนยุคปัจจุบันได้ทบทวนตนเอง โดยมองผ่านกระจกภาพชีวิตของตัวละครที่ถูกวาดขึ้นในยุคสมัยก่อนที่ผู้ชมจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก ในท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีแนวโน้มจะสนใจสิ่งที่เรียกว่า “เปลือก” มากกว่า “แก่น” หรือชื่นชมกับ “ความผิวเผิน” มากกว่า “ความลุ่มลึก” ละครพีเรียดอย่าง “เพชรกลางไฟ” ก็คืออีกหนึ่งภาพที่ฉายออกมา เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้ทบทวนความเป็นจริงแห่งยุคสมัยดังกล่าว ละครได้ย้อนยุคกลับไปในราวสมัยรัชกาลที่ 6 ที่แม้ว่าฉากหลังของละครจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยสมัยนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เบื้องลึกเบื้องหลังกว่านั้นก็คือฉากความขัดแย้งทางการเมืองที่อยู่ในครอบครัวของชนชั้นนำในยุคดังกล่าว โดยละครได้เลือกนำเสนอภาพผ่านชีวิตตัวละครหลักอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงอุรวศี” หรือ “หญิงหลง” ผู้เป็นบุตรีลำดับสุดท้ายของ “เสด็จในกรมฯ” เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ อุรวศีก็ถูก “หม่อมต่วน” ผู้เป็นหม่อมใหญ่กีดกันไม่ให้เธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวที่ตำหนักใหญ่ เพราะหม่อมต่วนเกลียดชัง “หม่อมสลวย” มารดาเลือดสามัญชนของอุรวศี ที่มาพรากความรักของเสด็จในกรมฯไปจากเธอ ไม่เพียงเท่านั้น เพราะหม่อมสลวยได้ล่วงรู้ความลับของหม่อมต่วนที่เคยวางแผนฆ่า “หม่อมพิณ” หญิงที่เป็นคนรักอีกคนของเสด็จในกรมฯ จนตายอย่างเหี้ยมโหดทารุณ เธอจึงหาทางฝากฝังอุรวศีไว้กับ “เสด็จพระองค์หญิง” ผู้เป็นเสด็จป้า ในขณะที่หม่อมสลวยเองก็ผูกข้อมือเป็นภรรยาของ “บุญทัน” ไปอยู่ที่ปากน้ำโพ เพื่อหลีกหนีไปจากวังวนอำนาจของหม่อมต่วนเสีย ชะตาชีวิตของอุรวศีที่ขาดซึ่งบิดาและมารดาในเวลาไล่เลี่ยกัน เธอจึงต้องโดดเดี่ยวยืนหยัดต่อสู้กับคลื่นลมและพายุฝนที่ซัดพาเข้ามาหาแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางความโหดร้ายของโลกรอบตัว แต่ทว่า “เพชรแท้” อย่างอุรวศี ก็ยังคงเป็น “เพชรกลางไฟ” อยู่วันยังค่ำ คลื่นลมระลอกแรกก็คงหนีไม่พ้นมหันตภัยจากตัวหม่อมต่วน ที่แม้จะมั่งคั่งในทรัพย์ศฤงคาร และเติบโตมาในศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าหม่อมใดๆ ของเสด็จในกรมฯ แต่เพราะโลภจริตและโมหจริตช่างไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้นหม่อมต่วนจึงคอยจองล้างจองผลาญกลั่นแกล้งอุรวศีในทุกทาง แผนการของหม่อมต่วนเริ่มตั้งแต่กีดกันอุรวศีออกจากกองมรดกของเสด็จในกรมฯ และอัปเปหิเธอไปอยู่ที่เรือนปั้นหยาหลังเล็กนอกเขตขัณฑ์ของวังใหญ่ จากนั้นก็ช่วงชิง “หม่อมเจ้าสุรคม” ที่กำลังจะหมั้นกับอุรวศีให้มาเสกสมรสกับ “หม่อมเจ้าหญิงอรุณวาสี” บุตรีคนเล็กของเธอแทน ไปจนถึงการวางแผนให้บ่าวเผาเรือนปั้นหยาจนวอด เพื่อหวังคลอกอุรวศีให้สิ้นชีวิตอยู่ในกองเพลิงนั้น ส่วนคลื่นลมระลอกถัดมาก็คือบรรดาพี่สาวต่างมารดาอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงติโลตตมา” หรือ “หญิงกลาง” และ “หม่อมเจ้าหญิงอทริกา” หรือ “หญิงนิด” ที่ “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของหม่อมต่วน และเฝ้าคอยใส่ความกลั่นแกล้งหาเรื่องอุรวศี เพื่อให้เธอไม่อาจทนอยู่ในวังของเสด็จพระองค์หญิงต่อไปได้ และคลื่นลมระลอกสุดท้าย ก็สืบเนื่องมาแต่ความรักและจิตปฏิพัทธ์ที่อุรวศีมีให้กับ “อนล” พระเอกหนุ่มแสนดีแต่ชาติกำเนิดอยู่ต่างศักดิ์ชั้น และมีผู้หญิงอีกคนอย่าง “ดวงแข” ที่หมายปองครองคู่เขาอยู่ อุรวศีจึงต้องเลือกสงวนท่าทีและเก็บงำความในใจ เพียงเพราะฐานันดรศักดิ์ที่ค้ำคอและเป็นกำแพงขวางกั้นรักของเธอและเขาเอาไว้ แม้จะมีคลื่นลมกระหน่ำซ้ำเข้ามาเพียงใด และแม้อุรวศีจะไม่ได้มีอำนาจหรือทุนทรัพย์โภคทรัพย์มากมายที่จะไปต่อกรกับพลพรรคของหม่อมต่วน หญิงกลาง หญิงนิด หรือแม้กับดวงแข แต่ด้วยที่เธอมีปัญญา มีคารม และมีการกระทำที่ยึดหลักคุณธรรมความดี ก็เป็นประหนึ่งอาวุธให้อุรวศีได้ใช้ต่อสู้เพื่อยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุวิกฤติที่ถาโถมเข้ามา เพราะพระบิดาปลูกฝังให้รักการอ่านหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ อุรวศีจึงมีปัญญาที่เฉียบคมและวาจาที่เฉียบแหลม จนสามารถเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาได้ทุกครั้งครา และเพราะการกระทำที่ตั้งมั่นในความดี อุรวศีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณค่าแท้ๆ ของ “เพชร” ที่จะเจิดจรัสอยู่ “กลางไฟ” ได้นั้น พึงเป็นเช่นไร เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งอุรวศีได้ใช้คารมย้อนยอกและเชือดเฉือนหม่อมต่วนกับลูกๆ ว่า “ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่อยู่ที่สายเลือดแต่อย่างใด” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีศักดิ์ชั้นแบบใด มนุษย์เราก็มีทั้งดีและเลวปะปนกันไป ในหมู่บ่าวไพร่ที่มีศักดิ์ชั้นต้อยต่ำ ก็จะมีตัวละครตั้งแต่ “สร้อย” และ “ผิน” ที่ยึดถือคุณธรรมความดีของอุรวศีจนตัวตาย ไปจนถึงตัวละครอีกฝั่งฟากอย่าง “แปลก” ที่จงรักภักดีอยู่ในมิจฉาทิฐิของหม่อมต่วนแบบไม่ลืมหูลืมตา เฉกเช่นเดียวกับในกลุ่มของสตรีที่สูงซึ่งศักดิ์ชั้นอย่างธิดาของเสด็จในกรมฯ ก็มีตั้งแต่ภาพของอุรวศีที่ฉากจบได้เลือกจะมีความสุขในมุมเล็กๆ กับอนล แบบไม่ต้องยึดติดกับลาภยศเงินทองแต่อย่างใด กับภาพที่ตรงข้ามกันของหญิงกลางและหญิงนิดที่เมื่อสิ้นหม่อมต่วน พี่น้องก็ห้ำหั่นกันจนตกอยู่ในวังวนของการแก่งแย่งทรัพย์สมบัติที่บุพการีได้สั่งสมกันมา หากละครย้อนยุคเป็นดั่งกระจกที่ย้อนฉายให้คนปัจจุบันได้ทบทวนอุทาหรณ์จากชีวิตตัวละครในอดีตแล้วนั้น อย่างน้อยเราคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า การที่คนยุคนี้จะนับถือกันเพียงเพราะ “เปลือกอันผิวเผิน” อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับ “แก่นอันลุ่มลึก” ที่แฝงฝังอยู่เนื้อในคนแต่ละคนมากกว่า  เพราะบทเรียนของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างอุรวศีได้ให้ข้อเตือนใจว่า การกระทำของคนต่างหากที่จะบ่งบอกว่า “เพชรกลางไฟ” เยี่ยงไรก็ยังสามารถฉายแสงได้ไม่เสื่อมคลาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 169 ภก.พันธุ์เทพ เพชรผึ้ง คนแปลกแห่งลุ่มน้ำน่าน

ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้เป็นคนในแวดวงสาธารณสุข(อีกแล้ว) แต่ทีมงานมั่นใจว่า อ่านไปทุกๆ ท่านจะชอบในแนวคิดแบบขวานผ่าซาก และเห็นด้วยว่าเขากล้าหาญ ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะมองว่าเพี้ยน  ภก.พันธุ์เทพ  เพชรผึ้ง  หรือหมอก้อง  ที่คนในอำเภอเวียงสา  จังหวัดน่านเรียกเขาอย่างคุ้นเคย หมอ(ยา)ก้อง เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนกรุงเทพ ช่วงปิดเทอมใหญ่ของ ม.ต้น เขาได้มีโอกาสไปอยู่กับย่าที่ จ.นครสวรรค์ เลยติดใจบรรยากาศต่างจังหวัด เพราะเป็นคนไม่ชอบความวุ่นวายในเมืองหลวง ในที่สุดเลยย้ายมาเรียนมัธยมปลายที่นครสวรรค์  ชีวิตตอน ม.6 อยากเป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์  และได้มีโอกาสสอบโควต้า แต่เหมือนโชคชะตาไม่เอื้ออำนวยทำให้วันที่ต้องสอบสัมภาษณ์นั้นไม่สบายจนต้องขาดสอบ จากนั้นเลยมุ่งมั่นที่จะสอบเอ็นทรานซ์ “ตอนแรกไม่ได้คิดจะสอบตรงเข้า มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) คิดว่าจะเอนฯ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าเขาจะไปสอบ มช. เพราะว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่สอบพร้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร แล้วเพื่อนคนนั้นเขาอยากไปอยู่เชียงใหม่ แต่จริงๆ คือเขาสอบไม่ติดนั้นแหละ เขาก็เสียดายใบสมัครด้วย แล้วเราก็ซื้อใบสมัครไม่ทันเขาก็ขายใบสมัครให้เรา แล้วก็สอบได้ ไม่ได้ไปติวไปอะไรนะแต่ก็อ่านหนังสือมาหนักมากแล้ว พอรู้ว่ามีที่เรียนแล้วแต่ยังไม่ได้ไปรายงานตัว เพราะยังไม่มีทรานสคริปต์ ตอนอยู่กรุงเทพฯ ก็เริ่มไปดูมหาวิทยาลัยที่เราไปสอบ ปรากฏว่ารถมันติดมาก นั่งรถจากบ้านไปธรรมศาสตร์ก็ประมาณ 2 ชั่วโมง ไปเกษตรฯ ก็ประมาณ 1 ชั่วโมง หมายถึงว่าขับจากนครสวรรค์ไป ม.นเรศวร ประมาณชั่วโมงครึ่งมันเท่ากับจากบ้านที่รังสิตไปจุฬาฯ เลย ก็เลยไม่เอาแล้วไปเรียนที่ ม.นเรศวรแทน ก็มีเพื่อนที่อยู่แถวๆ บ้านไปเรียนที่ ม.นเรศวรด้วยก็ได้เป็นรูมเมทกัน   แล้วชอบไหมการเรียนเภสัช ก็ไม่ค่อยไปเรียน เกือบไม่จบ คือปกติไม่ใช่คนชอบอ่านหนังสือ แล้ววิชาคำนวณมันก็ต้องท่อง ก็รู้สึกไม่ชอบ พอจบปีหนึ่งก็อยากจะเอนฯ ใหม่ คือพอเข้ามหาวิทยาลัยมันเป็นสังคมที่เราไม่ต้องมีใครมาควบคุม ก็เลยเกเร เพื่อนที่อยู่กลุ่มเดียวกันก็มีไม่จบ โดนรีไทร์บ้าง หมายถึงเพื่อนที่ไปด้วยกันแต่ไปอยู่คณะอื่นนะ เพื่อนเภสัชนี่จบทุกคน ตอนเรียนก็อยู่ท็อป 5 ในด้านเลวร้าย ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ค่อยทำกิจกรรมที่เป็นของวิชาเรียน แต่ถ้าเพื่อนมีกิจกรรมเราก็จะไปเป็นลูกหม้อ ไม่ใช่ตัวตั้งตัวตีอะไรแต่ถ้ามีกิจกรรมก็จะทำ ให้เต้นเราก็เต้น แต่ไม่ได้ไปออกแบบอะไรกับเขา แต่ถ้าเป็นกิจกรรมของวิชาเรียนจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยไป แม้แต่แล็ปบางทีก็ไม่เข้า แต่พอหลังๆ ประมาณปีสามก็เริ่มเข้า มีติด ร. หนึ่งวิชา คือเพื่อนของพ่อเป็นอธิการฯ พ่อก็ฝากฝังลูกไว้เพราะกลัวจะเรียนไม่จบ อธิการก็เลยเรียกไปอบรมพร้อมคณบดี เป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต พ่อเล่าให้ฟังว่าอธิการบดีเรียกคณบดีเข้าไปต่อว่า ว่าทำไมไม่ดูแลเด็กให้ดี ซึ่งคณบดีตอนนี้เป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยพะเยา หลังจากนั้นก็เลยต้องตั้งใจเข้าไปเรียนหน่อย ไปเข้าเรียน ไปเข้าแล็ป แล้วก็อ่านหนังสือ ฟังดูไม่น่าทำงานเพื่อสังคมได้เลยนะ   แล้วเพื่อสังคมนี่มีตอนไหน สมัยเรียนมีไหม ไม่มีเลย คือออกค่ายนั้น เราเป็นลูกหม้อ พอเขาใช้เราก็ทำ แต่ไม่ได้เป็นอุดมการณ์ขนาดนั้น แต่แรงผลักดันเกิดจากการหมั่นไส้คนมากกว่า คือพอเรียนจบมาก็ทำงาน ที่สาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู ไม่กล้าไปทำงานโรงพยาบาลเพราะเรียนจบมาแบบกระท่อนกระแท่น ก็ไม่แน่ใจว่าโรงพยาบาลนั้นจะรับเราได้ไหม ซึ่งปัจจุบันเขาก็รับเราไม่ได้นะแต่เรามีงานด้านอื่นอยู่ ก็อยู่สาธารณสุขจังหวัดอยู่ประมาณหนึ่งปี ก็พอรู้ข้อจำกัด หรือข้ออ้างของราชการ การคอรัปชั่น เรียนรู้จนทำเป็น ทุกอย่างสามารถคอรัปชั่นได้หมดเพราะขั้นตอนการคอรัปชั่นไม่อยู่ในเอกสาร ในขณะที่ สตง. ตรวจเอกสารเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าคุณไม่ย่ามใจมากเอกสารคุณจะตรงเป๊ะ ยังไงก็ไม่สามารถที่จะจับได้ อย่างสมมติผมมีเงินสักหนึ่งล้าน สงสัยว่าผมมีเงินมาจากไหนก็ต้องไปเล่นกันให้ชี้แจงว่าเอาเงินมาจากไหน ซึ่งถ้าเกิดว่าฟอกเงินได้ก็จะอธิบายได้ คือแรงผลักดันจริงๆ นั้นเราไปเห็นที่ๆ เขาทำอะไรให้คนกิน ทุกอย่างเลยพอเราเห็นสถานที่เพราะเราเข้าไปบ่อย อยู่ สสจ. ก็มีโอกาสไปต่างจังหวัด ประชุมต่างจังหวัดบางทีเขาก็พาไปดูสถานที่ของจังหวัดอื่น เราก็จะเห็นว่าแพ็คเกจดีบางทีมันมาจากใต้ถุนบ้านบ้าง ทำในห้องส้วมบ้าง ทำริมถนนเลยก็มี เราก็เห็นว่าอะลุ้มอล่วย ไม่ได้มีการแก้ปัญหาตรงนี้ คือเราเป็นคนท้องเสียง่ายด้วย จะกินอะไรค่อนข้างระมัดระวัง อยู่ที่เวียงสานี่เคยนอนโรงพยาบาล 3 รอบ เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเวียงสาแต่นอนโรงพยายาบาลเวียงสา 3 รอบ เป็นโรคท้องเสีย ต้องนอนโรงพยาบาลและให้น้ำเกลือ ก็คือที่นี่มีเงื่อนไขว่าการทำงานที่นี่เราต้องทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คือตอนนั้นโรงพยาบาลเวียงสามีเภสัชฯ แค่ 4 คนแล้วหัวหน้าเขาจะย้ายเข้า สสจ. เราก็เห็นความสำคัญของงานคุ้มครองผู้บริโภค ในโรงพยาบาลชุมชนยังไม่ค่อยยอมรับการไปทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เขาจะรู้สึกว่าเขาทำงานแบบบริหาร ก็เลยมีข้อแม้ว่าถ้าเราจะมาทำงานโรงพยาบาลเราต้องรับงานคุ้มครองผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากปกติที่โรงพยาบาลทำอยู่ คือต้องทำเต็มตัว มาตอนนั้นก็เพิ่งจบมาแค่ปีเดียวก็อาจจะยังไม่รู้เรื่องอะไรมาก แต่เนื่องจากเคยอยู่ สสจ. มาก่อน ก็ถือว่ายังรู้มากกว่าคนอื่น ถ้าเป็นเภสัชฯ คนอื่นไม่รู้เลย อย่าคิดว่าจะรู้ทุกคนเพราะมันเป็นงานเฉพาะมาก งานกฎหมายจะไม่มีใครรู้เลย เราก็ทำไปเรียนรู้ไป เพราะไอ้ที่รู้ก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด   งานคุ้มครองผู้บริโภคที่เวียงสามีด้านใดบ้าง ก็มีตรวจร้านชำ ตรวจโรงงานน้ำดื่ม ตรวจคลินิก คือจริงๆ จะมีแบบตรวจมาให้อยู่แล้วว่าต้องตรวจอะไรบ้าง ยาก็ตรวจ ส่วนหนึ่งคือเราไปเจอเรื่องยาที่มีเกือบทุกที่เลยนะที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ตรวจร้านยา ขย 2. ด้วย ขย 2. คือร้านขายยาที่ไม่มีเภสัชฯ แล้วก็ตั้งแต่สมัยไปเรียนจนถึงทำงานใหม่ๆ จนมาถึงปัจจุบันนี้ อย่างหนึ่งของเภสัชฯ ที่ค่อนข้างจะเป็นประเด็นมากคือเภสัชฯ ที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ คือหนึ่งเรื่องจริยธรรม สองความปลอดภัยของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับยาโดยเภสัชกร เขาก็จะมีคำถามที่ปักหลังเภสัชกรอยู่ตลอด แต่เราก็มาอยู่สาธารณสุขจังหวัดที่เดิม เราก็คุ้นกับสภาพที่เภสัชฯ ขายป้าย คือเอาใบเภสัช ตัวเองไปไว้ แต่ว่าที่ สสจ. นั้นก็มีคนทำ ลักษณะอีกอย่าง คือว่าคนทั่วไปเปิดแล้วเอาป้ายไปไว้แล้วก็รับเงิน มีตั้งแต่ 5,000 จนถึง 10,000 บาทหรืออาจจะเยอะกว่านั้น แต่ถ้าเป็นที่ สสจ. นั้นเราจะเห็นว่าเภสัชฯ นั้นเป็นร้านของเราเอง ก็ไปอยู่บ้าน กลางวันก็ให้คนอื่นไปอยู่ พอมาอยู่นี่ก็รู้สึกคับข้องใจว่า สาธารณสุขจังหวัดนั้นได้มีใบนี้ไปอยู่ที่ร้านคนอื่น เนื่องจากว่าตอนนั้นสาธารณสุขจังหวัดกำลังตีความเรื่องป้ายประกาศ ก็จะมีร้านที่ ขย 1 . ซึ่งไม่ได้มีเภสัชฯ เป็นเจ้าของจะต้องปิดร้าน เพราะฉะนั้นสาธารณสุขจังหวัดรวมทั้งที่จังหวัดน่านก็จะให้มีคนเข้าไปที่ร้านเพื่อให้ร้านนั้นเปิดอยู่ได้ เราก็รู้สึกว่าคือเรื่องที่มันผิดนั้นเราจัดการมันไม่ได้ยังไม่เป็นปัญหาเท่ากับเราไปยอมรับว่าเรื่องที่ผิดมันถูก ก็เริ่มที่จะรับไม่ค่อยได้ คือเราก็ไม่ใช่คนที่ทำอะไรถูกต้องทุกอย่างแต่ว่าอะไรที่มันผิดนั้นมีการยอมรับว่ามันถูกต้องก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ จากนั้นก็เลยเหมือนก่อขึ้นมา และอีกฝ่ายที่เขาเป็นฝ่ายน้ำดีของเภสัชฯ  กับอีกฝั่งที่เขาเป็นวิชาชีพอื่นเราเอากฎหมายไปบังคับใช้เขา เวลาเราไปตรวจคลินิกพยาบาลเขาก็จะมีคำถามกลับมาตลอดว่าแล้วเภสัชฯ ที่ไม่มีอยู่ที่ร้านไม่เห็นทำอะไรเขาเลย แต่เราไปคร่ำเคร่งกับพยาบาลกับหมอ เขาก็ถามว่าเพื่ออะไร มันจึงเป็นคำถามที่แทงใจ เวลาไปตรวจคลินิกหมอ แบบตรวจมีตั้ง 3-4 หน้า เขาก็จะถามว่าอะไรหนักหนา ถังดับเพลิงก็ต้องมีเหรอ ประมาณนี้ ซึ่งเราก็ตอบไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่อินว่ามันคืออะไร แต่คำถามที่หนักๆ คือเขาถามย้อนทันทีทุกครั้งที่ไปตรวจว่า “ทีร้านเภสัชฯ ที่ไม่มีเภสัชฯ ล่ะจะมาจ้ำจี้จ้ำไชเขาทำไม” เราก็จะหน้าแห้งเลย ก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้ทุกร้านนะ จะมีพวกร้านที่เขาคงหมั่นไส้เรา อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น   ความเป็นหมอก้องกับเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค มาเริ่มตอนปี 2552 ที่ สสจ. อีกแล้ว คือชวนเราไปประชุมกับอาจารย์วรรณา(ผศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ )ของ คคส. (แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ) เราก็เป็นลูกหม้อเหมือนเดิม เขาใช้ให้ทำอะไรเราก็ทำ ก็ยังไม่ถึงขั้นตั้งใจมากหรอก ตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรคือ คคส. ก็คิดว่าคงคล้ายๆ กับ อย. เวลาประชุมก็ไม่ค่อยได้ตั้งใจฟังหรอก เพราะทีม สสจ. ก็จะมีทีมของเขา เราก็รอเขาสั่งมาอย่างเดียวแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ในส่วนที่เสนอความคิดเห็นไปแล้วเขาจะสนใจเท่าไรนัก ก็เลยเป็นนิสัยให้เราไม่ค่อยสนใจเท่าไร แต่ไม่เหมือนตอนนี้นะ(หัวเราะ) เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เขาก็ให้เราเตรียมพื้นฐานชาวบ้านไว้ เราก็เตรียมๆ  ปรากฎว่าเราเตรียมไว้แล้ว เตรียมจะประชุมแล้ว เราก็ถามว่าจะเริ่มเมื่อไร เขาตอบว่า ไม่ทำแล้ว เราก็อึ้งไปแล้วก็เสียใจ และก็เริ่มไม่พอใจ คุณให้เราเตรียมไว้เยอะเลยแล้วมาประชุมบอกไม่ทำแล้ว คือถ้าไม่ถามก็ไม่บอกด้วย เขาบอกว่ามันไม่ชัดเจน ให้แก้นู่น แก้นี่ แล้วมันก็ไม่ตรงกับงานเรา ขอซื้อชุดตรวจฟอร์มาลีน ตรวจสารปนเปื้อน ทำไมถึงขอไม่ได้ในเมื่อเราทำงาน สสจ. คือโครงการที่ สสจ. ส่งไปมันเป็นเมล์กลุ่มซึ่งเราก็ไม่ได้เปิดอ่าน ตอนที่บอกให้เราเตรียมเราก็เตรียม ไปคุยกับชาวบ้านไว้แล้วด้วย ชาวบ้านก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก ก็คิดว่าเป็นการประชุมๆ กัน ส่วนใหญ่ก็เป็น อสม. มีกิจกรรมอะไรเขาก็จะมาทำกัน ก็เลยเอาโครงการนั้นมาปัดๆ แล้วก็ส่งไปว่าเราจะทำเองก็ได้ ก็คือเอาโครงการ สสจ. มาแก้นิดๆ หน่อยๆ แล้วส่งกลับไป เขาก็แก้กลับมาแดงไปหมดเลย ซึ่งตอนนั้นเราก็ไม่ค่อยเข้าใจเลยตอนนั้น ก็ปรึกษารุ่นพี่เภสัชที่เรานับถือซึ่งทำงานกับทาง คคส. เราถามทีละข้อเลยมันคืออะไร พี่เขาก็ปรับวิธีคิดเรา แต่เราไม่เข้าใจนะวิธีคิดของพี่เขาตอนนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องการให้ทุนของ สสส. มากกว่า ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าทำอย่างไรให้เอกสารมันผ่านมากกว่า แต่มันมีข้อดีที่ว่า สสส. เขามีวิธีคิดของเขาที่มันจะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่มันดีกว่าระบบราชการ คืออันนี้มันไปอยู่สำนักที่ค่อนข้างเฮี้ยบเรื่องของการใช้เงิน เราก็พยายามทำให้มันผ่าน หลังๆ ก็งงว่ามันไม่ต้องส่งหลักฐาน ตอนอยู่ สสจ. ใช้ชีวิตอยู่กับการเคลียร์บิล ทำหลักฐานเพื่อเคลียร์บิล พอมันอยู่ในมือเรามันเอื้อในการใช้เงินอย่างตรงไปตรงมา ไม่เหมือนระบบข้าราชการ ก็รู้สึกว่าใช้เงินได้อย่างปลอดโปร่ง ส่วนในแง่ของการทำงาน เราก็ไม่ได้มุ่งไปที่ผลิตภัณฑ์แล้ว เขาให้ทำเครือข่าย ก็ตามรุ่นพี่เป๊ะๆ เลย โดยที่เราก็ไม่ได้หวังผลว่ามันจะออกมาเป็นเหมือนเขา แต่ใช้วิธีการเขาไปก่อน ต้องสรุปประชุมอย่างไร เวลาสรุปประชุมเราก็เหมือนกับสอนว่าเราต้องได้ข้อมูลอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นประชุมครั้งต่อไปนั้นเราต้องปรับแล้วว่าทำอย่างไรถึงจะได้ข้อมูลอย่างนี้มา ก็เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงานออกไป ปัจจุบันก็อาจจะเห็นประเด็นมากขึ้นแต่รูปแบบเดิมก็อาจจะยังมีอยู่   เปลี่ยนไปเยอะมากไหมการทำงาน พอรูปแบบมันมาก็จะเป็นรูปแบบของเครือข่าย จะมีมุมมองจากชาวบ้านเข้ามา อีกส่วนหนึ่งก็คือการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยค่อนข้างอ่อน พอเราทำงานกับชาวบ้าน ชาวบ้านจะเริ่มพูดกับเราง่ายขึ้น พอง่ายขึ้นเขาก็จะเริ่มถามอะไรที่ไม่ต้องเกรงใจแล้ว เหมือนที่พยาบาลเคยถามว่าเราดูแลเภสัชฯ อย่างไร พวกนี้ทำไมไม่โดนจับ ทำไมแบบนี้ถึงขายได้ ประมาณนี้ ก็แทงใจเราอีกแล้ว เราก็รู้สึกว่าพอเรามาถึงจุดๆ หนึ่งเราต้องเลือกแล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหา เช่น การบังคับใช้กฎหมาย หรืออะไรที่พอจะทำได้นั้น เราก็ควรจะเลิกทำงานกับชาวบ้านดีกว่า เพราะเราก็เหมือนไม่ได้ทำ คือถ้าเราจะทำต่อแล้วเราไม่ทำเรื่องนี้ก็เหมือนกับไม่มีหน้าไปหาเขา เราทำงานกับชาวบ้านที่ส่วนหนึ่งก็เป็น อสม. แล้วเราก็จะผ่านสถานีอนามัยเพราะเราไม่สามารถถึงชาวบ้านได้เอง ก็จะผ่านสถานีอนามัย คือเรื่องที่เป็นประเด็นกฎหมายถ้าเราไม่ทำเราก็จะตอบคำถามชาวบ้านไม่ได้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำอย่างไรที่คนผิดถูกดำเนินคดีทางกฎหมายได้ หรือถ้ามีอะไรที่มันเข้าโอกาสที่เราทำได้มากที่สุดเราก็จะทำ จากแต่ก่อนที่เราก็จะร้องไปที่ สสจ. อย่างเดียวเลย แต่ สสจ. ก็จะให้ไปเคลียร์ แต่ไม่ได้ดำเนินคดีทางกฎหมาย ทำให้เป็นที่กังขาของชาวบ้าน เรียกว่าเป็นแรงผลักดันเพราะเราก็มีอำนาจหน้าที่ที่สามารถทำได้   มีเคสไหนที่ประทับใจหรือรู้สึกสนุกๆ ไหม ก็ทุกเรื่อง มันมีแปลกๆ เยอะ แต่ว่าจริงๆ จุดเสี่ยงก็เป็นกรณีที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล คือ  อันอื่นเขาจะปรับตามเราหมดเวลาที่เราไปให้คำแนะนำ มีเคสนี้ที่บอกว่าไม่ได้ทำอะไรผิด  เป็นเคสขายตรง เราไปจับเขาในข้อหาที่ว่าด้วยเรื่องการรักษา แต่เขาเถียงว่าเขาไม่ได้ทำการรักษา เขาก็อธิบายว่าเขาไม่ได้รักษากระบวนการไม่เล่าก็แล้วกัน  เขาก็สู้คดี  เราคิดว่าเขาจะไม่สู้ ถ้าเราไม่มั่นใจเราจะไม่จับ เขาสู้ในคดีที่เขาไม่มีทางชนะ เหมือนกับเราเข้าเส้นชัยไปแล้ว เธอจะมาแข่งกับชั้นได้ยังไง สุดท้ายเขาก็รับสารภาพ ฝากอะไรกับฉลาดซื้อบ้างไหม อยากให้ทดสอบตัวอาหารสุนัข ถามว่าอยากรู้ไหมก็อยากรู้นะ คือถ้าถามว่าตอนนี้มีไรน่าเทสต์บ้าง เรื่องสารเคมีก็อยากรู้ที่สุด แต่คิดว่าน่าจะทำยากนะพวกสารเคมีในดิน ยาฆ่าหญ้า เพราะไม่มีแล็ปในประเทศไทย อันนี้เคยโทรถามที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์  แม้แต่ที่กรมทรัพยากรธรณีก็บอกว่าไม่รู้จัก ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าไม่มีหรือเขาไม่บอกเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 หมอนิล หมอติดดินของชาวเกาะยาว

“ป่ะ เดี๋ยวไปกินข้าวกลางวันด้วยกัน” หมอนิลเอ่ยชวนทีมฉลาดซื้อ หมอนิลว่าพลางสตาร์ทรถมอร์เตอร์ไซค์ ขับพาทีมฉลาดซื้อเข้าหมู่บ้าน ไปหยุดที่บ้านหลังหนึ่งในสวนยาง  ซึ่งเป็นบ้านที่เชิญหมอให้มากินข้าวกลางวันที่บ้าน ครั้นพอมาถึงหมอก็เข้าครัว  ยกสำรับอาหาร พลางเรียกม๊ะกับป๊ะให้มาทานข้าวด้วยกัน รวมกับเป็นลูกหลานของคนบ้านนี้ “หมอนิลเหรอ โอ้ยเหมือนลูกเหมือนหลานของคนที่นี่ละ” บังโกบบอกกับทีมฉลาดซื้อ ฉลาดซื้อจะพาคุณมารู้จัก นพ.มารุต เหล็กเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ สาขาสถานีอนามัยพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา หมอติดดินของชาวบ้านเกาะยาวกันค่ะ เป็นหมออย่างหมอนิล“อยากทำงานที่นี่ตั้งแต่ได้เดินทางมาเที่ยวในช่วงเป็นนักศึกษาแพทย์ ได้สัมผัสชีวิตชาวบ้านที่ไม่มีหมอดูแล เมื่อเรียนจบก็เลยอยากจะมาดูแลชาวบ้านที่เกาะนี้” นั่นเป็นความตั้งใจของหมอนิล เมื่อตอนเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร หมอนิลเป็นคนปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ด้วยความที่เป็นคนใต้ ภาษาจึงไม่เป็นอุปสรรคในการสื่อสาร แต่จะมีบ้างเพราะชาวบ้านที่นี่เกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม ก็จะมีบ้างบางคราวที่ไม่เข้าใจกันในช่วงแรกๆ  แต่ถึงที่สุดชาวบ้านก็เห็นความจริงใจของหมอนิล จนเอ็นดูเหมือนลูกหลานในที่สุด ก่อนที่จะมาเรียนหมอนั้นหมอนิลอ่านหนังสือของหมอ ประเวศ วะสี ซึ่งพูดถึงปัญหาในระบบสาธารณสุขว่าเป็นสาธารณสุขหรือสาธารณทุกข์ และนั่นเองเป็นตัวจุดประกายให้หมอนิลเห็นว่าในวงการแพทย์มีเรื่องต้องแก้อีกเยอะและท้าทายทำให้เขาตัดสินใจเรียนหมอในที่สุด หมอนิลบอกว่าทำงานอยู่ที่นี่ไม่กลัวถูกฟ้อง เมื่อเราลองถามว่า เป็นหมอกลัวถูกฟ้องไหมหมอบอกว่า เขามีความสัมพันธ์กับคนไข้ดี แล้วคนไข้ก็ไม่มากราวๆ 60-70 คน ต่อวัน มีเวลาจะคุยหรืออธิบายเรื่องต่างๆ ได้พอสมควร หมอมองว่า ปัญหาการฟ้องร้องมันเกิดจากที่ว่าไม่ใช่เพราะหมอรักษาพลาดอย่างเดียว แต่มันเกิดจากการสื่อสารที่ไม่ดี ไม่อธิบาย “บางโรงพยาบาลที่ใหญ่ๆ คนเยอะๆ ก็เจอหมอแค่แป๊บเดียว มีข้อสงสัยอะไรก็ไม่ได้ถามให้หายสงสัย พอผิดพลาดขึ้นมามันก็มีเรื่องแบบนี้ แต่ถ้าเรามีการคุยกันบ่อยๆ หรือแม้กระทั่งมันผิดพลาดไปแล้ว ถ้ามีการคุยกัน อธิบายว่าเป็นยังไง บางทีเขาก็ไม่เอาเรื่อง ถ้าเขาเข้าใจในระบบ แต่มันเกิดจากการที่ไม่คุยกัน ไม่สื่อสารกัน หรือว่ามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกันมาก่อน ซึ่งผมว่ามันน้อยมากที่ปัญหาการฟ้องร้องจะเกิดจากข้อผิดพลาดทางการแพทย์จริงๆ  ไม่มีหมอคนไหนอยากให้เกิดความผิดพลาด คือถ้าเขารู้ว่ามันจะเกิดเขาก็ไม่ทำแน่นอน คือมันมีโรคบางโรค บางอย่างที่เปอร์เซ็นต์ความผิดพลาดมันมี”  หมอนิลกล่าว หมอนิลมองกลุ่มคนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ ว่ามันเป็นสิทธิของมนุษย์ขั้นพื้นฐาน แล้วการเรียกร้องค่าเสียหายก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขาจะได้รับ “มันก็ทำให้เกิด มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ให้มีการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งมาตรานี้ก็โอเค มันก็เป็นสิทธิที่เขาควรทำได้ มันก็เป็นพื้นฐานของสิทธิทั่วไปเลย เช่นถ้าหากราชการทำอะไรไม่ถูกต้อง ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน เราก็มีสิทธิที่จะถามได้ว่ามันคืออะไร ยังไง แล้วถ้าเราไม่ได้รับความชอบธรรมเราก็ควรจะได้รับความชอบธรรมนั้นกลับคืนมา ซึ่งมันเป็นพื้นฐานทั่วไปที่ทำกับหน่วยงานราชการ ไม่ใช่เฉพาะหมอ อาจจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือทางฝ่ายปกครองก็ได้” โรงพยาบาลต้องเป็นของชุมชน “ผมอยากให้เขารู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่อยากให้คิดว่าโรงพยาบาลเป็นที่ของคนเจ็บป่วย แต่โรงพยาบาลเป็นของชุมชนที่เขาจะมาใช้ประโยชน์ได้ตามที่เขาต้องการ และอยากให้โรงพยาบาลเป็นที่ส่งเสริมสุขภาพ อย่างเขาอยากจะจัดตลาดนัดสุขภาพ เขาก็มาใช้โรงพยาบาลได้ หรือว่าอยากจะมาออกกำลังกาย มาอบสมุนไพร อบซาวน่า มานวด มาปลูกผักปลอดสารพิษ มาทำกับข้าวให้คนไข้กิน ให้หมอพยาบาลกิน คือถ้ามันเป็นของชุมชนจริงๆ ชุมชนก็ต้องมีบทบาทในการคิดว่าใครอยากทำอะไร มาทำที่โรงพยาบาลทำได้ไหม แล้วมาช่วยกันทำ อยากเห็นการพัฒนาโรงพยาบาลอื่นๆ ไปแบบนั้น ไม่ใช่เป็นที่สำหรับหมอพยาบาล คนไข้ คนเยี่ยมไข้ เท่านั้น อยากให้มันขยายความออกไป คือเราต้องเปิดพื้นที่ให้คนอื่นมาร่วมกันคิดว่าเราจะใช้โรงพยาบาลในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลของชาวบ้านเอง เขาจะทำอะไร เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิดกิจกรรมอีกมากมายที่จะเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาล อย่างที่ผมยกตัวอย่าง แล้วพอโรงพยาบาลมันเป็นของชุมชน มีอะไรชาวบ้านก็จะช่วยเรา ช่วยเฝ้าระวังโรคต่างๆ ช่วยเป็นอาสาสมัคร  พวกนี้ก็จะมาช่วย คือเราไม่สามารถจะทำได้อยู่แล้ว อย่างไข้เลือดออก มาลาเรีย ก็ต้องใช้ชาวบ้านช่วยกัน คือถ้าเขารู้สึกว่าโรงพยาบาลเป็นของเขา แล้วก็มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพตัวเอง คือแทนที่เราจะมีพยาบาล 5-6 คนอยู่ที่โรงพยาบาล แต่กลายเป็นว่าเหมือน เรามีพยาบาล 5,000-6,000 คน ที่เป็นคนอยู่ที่นี่ ดูแลเพื่อนบ้าน ดูแลตัวเอง ดูแลญาติเขาอยู่ในชุมชน ที่สำคัญต้องไม่เอาตัวหมอเป็นศูนย์รวม เราต้องคุยกับคนไข้ และญาติคนไข้ให้เยอะๆ การรักษานอกจากรักษาอาการทางกายแล้ว การดูแลเยียวยาเรื่องจิตใจก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นเดียวกัน” พูดถึงอาสาสมัครหมู่บ้านหมอนิลบอกว่าจะแบ่งเป็นหมู่บ้าน อาสาสมัคร 1 คนจะช่วยดูแลประมาณ 10 ครัวเรือน มีอะไรเขาจะรู้หมดว่าใครเกิด ใครตาย ใครป่วยอะไร ใครจะต้องมาตรวจบ้าง ใครมารับยาหรือไม่มารับ เขาจะรู้ แล้วอาสาสมัครก็จะช่วยมาบอกโรงพยาบาล ครั้นเมื่อเกิดระบาดอาสาสมัครก็จะช่วยติดตามข่าวบอกทั้งชาวบ้านและหมอ การสร้างเครือข่ายสุขภาพจึงทำให้ชุมชนช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองได้ทางด้านสุขภาพ ถือเป็นแนวคิดการส่งเสริมสุขภาพที่ดีเลยทีเดียว ที่นี่มี แพทย์ประจำ 1 คนนั่นคือก็คือหมอนิล พยาบาล 6 คน และเจ้าหน้าที่ทางสาธารณสุขอีก 2 คน รวม 9 คน มีขนาด 5 เตียง มีการทำงานเป็นทีมสหวิชาชีพโดยให้การดูแลทั้งผู้ป่วยทั่วไปและฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการออกไปเยี่ยมคนไข้ตามบ้าน สัปดาห์ละ 3 วัน คือวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ จากแนวคิดโรงพยาบาลต้องเป็นของชุมชนนี้เอง หมอนิลกับชาวบ้านจึงคิดที่จะสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาโดยจะขยายเรือนพักผู้ป่วย ชื่อว่า “โครงการสร้างเรือนพักผู้ป่วยหลังใหม่ โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมทุกประการ”  ขณะนี้เขียนแผนและแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว  อยู่ระหว่างการระดมทุนสร้าง หมอนนิลบอกว่าค่อยๆ สร้าง มีเท่าไรก็ค่อยๆ ทำไป “ตอนนี้ออกแบบเสร็จแล้ว แต่ว่าต้องหาเงินมาทำ รมต.เขาก็บอกว่าน่าจะได้ แต่ก็ดูความแน่นอนอีกที เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองต้องขึ้นอยู่กับการเมืองหรือเปล่าไม่รู้ ไม่แน่นอน อย่างผมก็ไม่กล้าบอกชาวบ้านหรอก ว่าได้หรือไม่ได้ แต่มีแนวโน้มว่าเขาอนุมัติในหลักการแล้วว่าให้เราทำแบบนี้ แต่พอถึงเวลาจริงๆ ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลหรือเปลี่ยน รมต.มันก็ยกเลิกไปได้” คลินิคหนัง(สือ) สำหรับวิชาชีพแพทย์ หลายคนมองว่าการอุทิศตนทำงานในชนบทเป็นการเสียโอกาส แต่สำหรับหมอนิลแล้วเขากลับคิดว่านี่เป็นความสุข และยังถือโอกาสใช้บรรยากาศบนเกาะบ่มเพาะความฝันของตนเองด้วย "ข้อด้อยของการมาทำงานในที่แบบนี้คือเราอาจจะไม่ได้เรียนรู้โลกภายนอก หากออกไปพบกับคนในวงการเขาก็อาจจะคิดว่าเราเป็นหมอบ้านนอก ซึ่งตอนแรกก็มีความรู้สึกแบบนั้นบ้าง แต่พอตอนหลังรู้ว่าความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเราคืออะไร ก็เลยไม่รู้สึกแบบนั้นอีก ส่วนข้อดีของการทำงานในที่แบบนี้ก็คือการทำงานไม่ได้เป็นแค่เพื่องาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของการได้เรียนรู้ชีวิต เหมือนเราได้มารู้อะไรใหม่ๆ ได้มีเวลาคิดว่าความสุข ความทุกข์ของคนคืออะไร และต่อไปเราอยากจะทำอะไร ซึ่งเป็นเหมือนบันไดในการเรียนรู้ถึงสิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปในอนาคต ไม่เคยคิดว่าการมาทำงานที่นี่เป็นการเสียโอกาส เพราะมีเวลามากขึ้น มีความสุขมากขึ้น และได้ทำอะไรหลายๆ อย่างที่อยากจะทำ ทั้งการเขียนหนังสือ การทำหนังสั้นและการเปิดร้านหนังสือ" ในวงการวรรณกรรมหลายคนรู้จักเขาในนาม “นฆ ปักษนาวิน” ที่มีผลงานทั้งงานเขียนเรื่องสั้นตีพิมพ์ ร่วมกับเพื่อนๆ ในหนังสือชื่อ 'ธรรมชาติของการตาย' จากประสบการณ์และมุมมองในเหตุการณ์สึนามิ  นอกจากนั้นยังเปิดร้านหนังสือชื่อ 'ร้านหนัง(สือ)๒๕๒๑' ซึ่งอยู่ถนนถลาง ในย่านเมืองเก่าของจังหวัดภูเก็ต โดยจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของร้านเอาไว้ให้นักเขียนมานั่งเสวนาแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นกัน รวมถึงมีห้องฉายหนังเล็กๆ ด้วย ส่วนผลงานหนังสั้นขณะนี้ได้ทำออกมาแล้ว 5 เรื่อง เรื่องแรกคือ Burmese Man Dancing ซึ่งเป็นสารคดีสั้น 6 นาที เกี่ยวกับแรงงานพม่า ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้โอกาสไปฉายในเทศกาลหนังสั้นที่ประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 2008 ด้วย ส่วนหนังสั้นเรื่องล่าสุดคือ แมวสามสี เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของคน โดยได้มีโอกาสนำไปฉายที่เมืองรอสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน “คลินิก(แพทย์) ก็อยากเปิดนะครับ แต่ผมไม่มีเวลา วันเสาร์-อาทิตย์ก็อยากพักผ่อน อยากทำอย่างอื่น  อย่างผมเปิดร้านหนังสือก็จะจัดกิจกรรมมีวงคุย เสวนา จัดอีเว้นต์ แล้วก็ต้องคุยกับคนเยอะแยะ สนุกกันคนละแบบกับที่โรงพยาบาล” หมอนิลอธิบายง่ายๆ ว่าทำไมหมอไม่เปิดคลินิกเหมือนกับหมอทั่วๆ ไป เปิดกัน ไม่ว่าบทบาทไหน ล้วนเป็นอย่างเดียวกันเมื่อฉลาดซื้อถามถึงบทบาทระหว่างเป็นหมอกับเป็นคนในวงการวรรณกรรม ว่าชอบอย่างไหนมากกว่ากัน หมอนิลให้คำตอบที่น่าทึ่งมากๆ ว่า “ผมว่าผมทำคละๆ กันนะ อยู่ที่โรงพยาบาลผมก็เหมือนนักกิจกรรมนะ อยู่ที่ร้านผมก็เหมือนเป็นนักกิจกรรมเหมือนเดิม แต่ว่าทำอีกด้านหนึ่ง ที่โรงพยาบาลอาจจะเป็นนักกิจกรรมด้านสุขภาพ แต่ที่ร้านหนังสืออาจจะเป็นเรื่องวรรณกรรม ศิลปะ ทำชุมชนอีกแบบหนึ่ง แต่ผมว่ามันคืออันเดียวกัน คือเราไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าอันนี้คือการส่งเสริมสุขภาพ อันนี้คือหนังสือ มันไม่ได้แล้ว เพราะว่าคนเราไม่ควรโดนแบ่งแยกแบบนั้น เพราะเราสร้างสุขภาวะได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่ทางกายเท่านั้น โดยการทำกิจกรรมอย่างนี้มันก็เป็นการสร้างสุขภาวะอีกแบบหนึ่ง การทำให้คนรู้จักศิลปะ วรรณกรรม มันก็เป็นการสร้างสุขภาวะอีกแบบหนึ่งครับ” หมอนิลยกตัวอย่างหนังสือ “ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว” ที่ไม่มองอะไรแบบแยกส่วน หมอบอกว่า อ่านแล้วเปลี่ยนโลกทัศน์ในมุมมองต่อวิทยาศาสตร์ ที่เคยชินกับการมองแบบแยกส่วน เป็นมามองแบบองค์รวม มองความสัมพันธ์ มองทุกอย่างเป็นองค์รวม “สมมติคนนี้มีปัญหาเรื่องการแยกส่วน เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยนไป การปฏิวัติอุตสาหกรรมมันเกิดจากกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ยุคหนึ่ง มันมาประสบความสำเร็จในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คนต้องแบ่งงานกันทำ ว่าคนนี้มีบทบาทหน้าที่นี้ แต่ว่าในชีวิตจริงมันไม่ได้เป็นแบบนั้น อย่างคนสมัยก่อนก็มีความรู้หลากหลายด้าน เช่น ลีโอนาโด ดาวินชี่ เป็นหมอ วิศวะ จิตรกร เขาไม่มีการมาแยกว่าคนนี้เป็นอะไร คนที่รักในความรู้ แล้วแสวงหาความรู้ทั้งทางโลกทางธรรม เป็นแบบใช้ด้วยกันหมด แต่พอมายุคโลกสมัยใหม่ตอนนี้มันก็ใช้ความรู้อย่างเดียวไปแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว เหมือนกันอย่างผมเคยเขียนว่าผมจะรักษาคนไม่ได้ ถ้าคนไม่หายจน เพราะฉะนั้นถ้าจะถามว่าทำยังไงให้คนไม่จน มันไม่ใช่ความรู้ด้านการแพทย์ ผมยังรักษาให้คนมีสุขภาพดีไม่ได้ ถ้าเขายังจนอยู่ ถ้าเราไปถามวิธีแก้ปัญหาความจนกับนักเศรษฐศาสตร์ เขาก็อาจจะบอกว่าเขาทำให้คนหายจนไม่ได้หรอกถ้าไม่มีรัฐศาสตร์ที่ดี ไม่มีการเมืองที่เหมาะสม  ครั้นไปถามนักรัฐศาสตร์ก็จะบอกว่าเขาทำให้คนหายจนไม่ได้หรอกถ้านั่นนี่อีกจิปาถะ คือทุกอย่างมันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้ ถ้าหากไม่มีการร่วมมือกันระหว่างสาขา คือความรู้มันต้องประสานกัน แล้วมาถกเถียงพูดคุยกัน มาต่อรองกัน ถ้าเรามองแต่แบ่งแยกว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานี้คุณก็คิดไป มันแก้อะไรไม่ได้ ในสังคมที่มันซับซ้อน เพราะโลกทัศน์แบบแบ่งแยกมันทำให้โลกเรายิ่งมีปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหา” หมอนิลกล่าวทิ้งท้ายกับฉลาดซื้ออย่างหนักแน่น ทำให้ฉลาดซื้อคิดต่อไปว่า ถ้าระบบสาธารณะสุขของไทย ไม่แยกการรักษาตามบัตรนั่น บัตรนี่ ระบบสาธารณะสุขคงพัฒนาไปอีกเยอะเพราะไม่ต้องมองอะไรแบบแยกส่วนนั้นแล… สำหรับใครที่อยากร่วมสร้างเรือนพักผู้ป่วย โรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ สาขาสถานีอนามัยพรุใน ต.พรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา ติดต่อกับ นพ.มารุต เหล็กเพชร หมายเลขโทรศัพท์ 089-6524223 ค่ะ หรือติดตามกระบวนการออกแบบของโครงการได้ที่ kohyaoproject.com และ ร่วมบริจาคสร้างเรือนพักผู้ป่วยฯดังกล่าว ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาเกาะยาว บัญชีเลขที่ 060-2-37342-3 ชื่อบัญชี กองทุนก่อสร้างอาคารผู้ป่วยใน รพ.เกาะยาว สาขา สอต.พรุใน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point