ฉบับที่ 194 บทเรียน ‘เพย์ทีวี’ กสทช. ต้องปรับ ผู้บริโภคต้องรู้

ในอดีตกาล ทางเลือกในการชมรายการโทรทัศน์ของผู้บริโภคไทยจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ช่อง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไม่ได้เกิดการพลิกโฉมเช่นในปัจจุบัน คนรุ่นอายุ 30 ขึ้นไปคงนึกออกเมื่อเปิดทีวีตอนกลางวันของวันธรรมดาจะเจอแต่จอเปล่ากับแท่งสีหลากสี ดีขึ้นหน่อยก็มีเพลงประกอบ สำหรับคนยุค 2017 ไม่อาจจินตนาการถึงทางเลือกที่น้อยนิดเป็นโอกาสให้ธุรกิจเพย์ทีวีหรือช่องโทรทัศน์ที่ต้องจ่ายเงินถึงจะมีสิทธิ์ชมเกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ในยุคเริ่มต้น ราคาของทางเลือกชนิดนี้ค่อนข้างสูงสำหรับประชาชนทั่วไปกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น คอนเท้นต์ที่มีหลากหลาย ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้การซื้อหาเพย์ทีวีของผู้บริโภคง่ายขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งก็มาพร้อมกับโจทย์ใหม่ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยเช่นกันยกตัวอย่างในปี 2559 เมื่อบริษัท จีเอ็มเอ็มบี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของซีทีเอช แจ้งผู้ใช้บริการว่า 17 มกราคม ไม่สามารถเติมเงินเพื่อซื้อแพ็คเกจช่องรายการต่างๆ ของ Z Pay TV ในกล่อง GMMz ได้ ทำให้ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการของ CTH ทางกล่อง GMMz  ได้ตั้งแต่ วันที่ 6 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ทางบริษัทเสนอมาตรการเยียวยาในลักษณะของการให้กล่องรับสัญญาณดาวเทียม CTH  พร้อมรับชมแพ็กเกจ Beyond CTH Package ฟรี นาน 4 เดือน 8  เดือน และ 12 เดือน และหากลูกค้าไม่ยอมรับการชดเชยต้องคืนเงินให้กับลูกค้าโดยหลักการคืนในจำนวนเงินตามวันที่ไม่ได้รับ ทว่า ในทางปฏิบัติกลับไม่ง่ายดายเช่นที่ว่า โสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนนโยบายและพัฒนาองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า“เนื่องจากกล่องแกรมมี่เดิมดูช่องพิเศษของซีทีเอชไม่ได้ เขาก็เสนอว่าให้มีการยืนยันตนเพื่อรับกล่องซีทีเอชไปดู แล้วก็มีแพ็กเกจบียอนด์ ซีทีเอช ให้ดูฟรี 4 เดือน 8 เดือน 12 เดือน ตามระยะเวลาที่ลูกค้าเหลืออยู่ คือถ้าผมสมัครไป 6 เดือน เหลืออีก 3 เดือน แสดงว่าผมต้องดูฟรีอีก 3 เดือน แต่ผมต้องเปลี่ยนกล่องเป็นกล่องซีทีเอช มันก็จะมีปัญหาว่าไม่ใช่ทุกคนจะดูได้ คือบางบ้านใช้ระบบเคยูแบนด์ เป็นจานเล็ก สีดำๆ จานพวกนี้เวลาฝนตกจะดูไม่ค่อยได้ อีกระบบคือซีแบนด์ เป็นจานใหญ่ๆ แต่กล่องนี้รองรับแค่ระบบเคยูแบนด์ เนื่องจากกล่องจีเอ็มเอ็มแซดแต่เดิมใช้ได้ทั้งสองระบบ ลูกค้าที่ใช้เคยูแบนด์เขาก็เกิดคำถามว่าเขาต้องเสียเงินติดตั้งจานใหม่หรือเปล่า ได้กล่องมาจริง แต่ต้องเสียค่าติดตั้งจานอีกเป็นพัน ทำไมเขาต้องมีภาระตรงนี้ ทำไมบริษัทไม่กำหนดเรื่องนี้ในมาตรการเยียวยาด้วยว่าต้องชดเชยค่าใช้จ่ายตรงนี้ให้ผู้บริโภค”ต่อมาซีทีเอชยกเลิกกิจการทั้งหมดในวันที่ 1 กันยายน จนทุกวันนี้ก็ยังมีผู้บริโภคที่ยังไม่ได้รับการเยียวยาหลงเหลืออยู่อีกไม่น้อยคราวนี้ลองมาดูกรณีตัวอย่างคลาสสิกและร้อนแรงอย่างทรูวิชั่นส์กันช่วงคาบเกี่ยวปีเก่าปีใหม่ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เกิดกรณีใหญ่โตเมื่อทรูวิชั่นส์ยกเลิกช่อง HBO ทั้งหมดออกจากผังรายการ ได้แก่ HBO, Cinemax, HBO Signature, HBO Family, HBO Hits และ RED by HBO ทรูวิชั่นส์ไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้ให้บริการเพย์ทีวียกเลิกช่องรายการจนส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่จ่ายเงินซื้อบริการ บางกรณีก็เยียวยาผู้บริโภคตามเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดไว้ แต่บางกรณีก็ไม่เสียงจากผู้บริโภคกรณีทรูวิชั่นส์ศิวาณัติ ไชยภัฎ หนึ่งในผู้ใช้บริการรายหนึ่งของทรูวิชั่นส์ที่ต้องเสียค่าสมาชิกประมาณ 2,000 บาทต่อเดือน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า กล่าวกับฉลาดซื้อว่า“นอกจากยกเลิกรายการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าแล้ว ยังลดระดับเนื้อหาลงมาเป็นระดับที่หาดูได้ทั่วไป เดิมผมเป็นแบบเอ็กคลูซีฟ ต่อมาผมสามารถหาดูได้ในราคาที่ต่ำลง หรือบางคอนเทนต์ที่เป็นของบีบีซีก็ถูกตัดทิ้งไปเลย ทั้งที่ตอนแรกก็มีโฆษณาให้ใช้ พอเราตื่นมาตอนเช้า รายการนี้ก็หายไป โดยไม่ได้บอกอะไรเลย ทั้งที่เขามีช่องทางแม็กกาซีนที่ใช้สื่อสารกับสมาชิกอย่างเป็นทางการทุกเดือน ก็ไม่มีการแจ้งข่าว อ้างแต่ว่ามีตัววิ่งผ่านหน้าจอให้ดูแล้ว“ผมเป็นสมาชิกแบบเอ็กคลูซีฟ เป็นแพลตตินัม ได้ดูช่องพิเศษ ถ้าเป็นบีบีซีจะเป็นช่องพิเศษที่ต้องซื้อเพิ่ม แต่ก็ถอดออกแล้วลดค่าบริการผมลง แต่ผมยินดีจ่ายๆ มาลดผมได้ยังไง ผมมีสิทธิดูช่องเอชบีโอ เขาก็ถอด แล้วเอาช่องทั่วไปที่มีในเคเบิ้ลท้องถิ่นมาให้ดู ถ้าเป็นช่องพวกนี้ ผมไม่ต้องจ่ายเงินแพงขนาดนี้ให้ทรูวิชั่นก็ได้“พอเกิดเหตุขึ้น ผมโทรไปที่คอลล์เซ็นเตอร์ แจ้งว่ามันเป็นมายังไง ผมไม่พอใจอะไร เขาก็จะตอบเป็นสูตรว่าให้ลองชมรายการนี้ จัดหารายการใหม่ที่คุณภาพดีกว่ามาให้ดู ผมบอกว่ารายการพวกนี้ผมหาดูได้ทั่วไปอยู่แล้ว”ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ.2556 หมวด 2 สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ข้อ 15 ระบุไว้ชัดเจนว่า กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐาน และคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่นๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีของทรูวิชั่นส์ถือว่าแจ้งน้อยกว่า 30 วัน อีกทั้งการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ว่าของทรูวิชั่นส์คือการทำตัววิ่งขึ้นบนหน้าจอดังที่ศิวาณัติเล่า ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้รับข่าวสารนี้อย่างชัดเจนการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมาตรการเยียวยาที่ทางทรูวิชั่นส์เสนอ มี 6 ข้อ คือมีช่องใหม่  7 ช่อง, อัพเกรดแพคเกจ 1 ระดับ ระยะเวลา 30 วัน, สิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าแพลตตินั่ม เพิ่มแต้ม, สิทธิขอลดแพคเกจ, สิทธิลูกค้ารายปีหรือราย 6เดือนที่จะยกเลิกบริการ และสิทธิลูกค้าสมาชิกไม่ครบ 6 เดือนกับลูกค้าที่ควบบริการเป็นสมาชิกไม่ถึง 12 เดือน ได้รับยกเว้นค่าติดตั้งและค่าสมาชิกประเด็นก็คือมาตรการเยียวยาของทรูวิชั่นส์ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เช่น ช่องรายการที่นำมาชดเชยไม่สามารถทดแทนช่องรายการเดิมได้ ผู้บริโภคควรมีสิทธิยกเลิกได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ได้รับเงินคืน และบริษัทไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆ เพราะเป็นกรณีที่บริษัทผิดสัญญาและไม่ควรมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิ เป็นต้น“ทรูวิชั่นส์เสนอแต้มให้ผม 1,000 แต้ม เขาบอกว่ามันสิทธิประโยชน์ต่างๆ เยอะมาก แต้มนี้ไปแลกเป็นเงินได้ 100 บาท พอ กสทช. รุกหนักขึ้น เขาก็ให้แต้มอีก 1,000 แต้ม ผมบอกว่าแพ็กเกจที่ต่ำกว่าผม ได้อัพเกรดฟรีขึ้นมาร่วม 400 บาท ผมเป็นระดับเอ็กคลูซีฟ ได้เท่ากัน แต่ทำไมจ่ายแพงกว่า” ศิวาณัติ เล่าถึงมาตรการเยียวยาที่ไม่ตอบโจทย์และทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งท้ายสุดแล้วเขาก็ตัดสินใจบอกเลิกสัญญากับทรูวิชั่นส์ พร้อมกับติติงการทำงานของ กสทช. ว่าไม่สามารถดูแลผู้บริโภคและกำกับดูแลผู้ประกอบการให้อยู่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ได้เปิดข้อสงวนความเห็นสุภิญญา จากการประชุม กสท. ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ในการพิจารณาวาระ 4.26 แผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการ กรณี บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ จำนวน 6 ช่องรายการ สุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งใน กสทช. (ซึ่งปัจจุบันได้ขอยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวเพื่อรอการตีความทางกฎหมาย เพราะถูกพิพากษาว่ามีความผิดจากกรณีปีนสภา) ได้ขอสงวนความเห็น สรุปความได้ว่า1.ไม่เห็นชอบแผนการชดเชยเยียวยาผู้ใช้บริการเพิ่มเติม เพราะเห็นว่ามาตรการข้างต้นยังไม่ครอบคลุมหลักการชดเชยเยียวยาผู้บริโภคที่ครอบคลุมและเป็นธรรมเพียงพอกับสมาชิกทุกกลุ่ม2.การออกคำสั่งเตือนทางปกครองแก่บริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด ในกรณีที่มีพฤติกรรมการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงฯ นั้น เป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของผู้รับใบอนุญาต3.หากพิจารณาการกำกับดูแลของ กสท. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์) ต่อกรณีการยกเลิกกลุ่มช่องรายการ HBO 6 ช่องรายการ นับตั้งแต่การพิจารณากรณีดังกล่าวครั้งแรกในที่ประชุม กสท.ครั้งที่ 43/2559 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ซึ่งถือเป็นครั้งแรก จนกระทั่งถึงการประชุม กสท.ครั้งที่ 6/2560 วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ตลอดระยะเวลาดังกล่าวมีหลายขั้นตอนที่สุภิญญาเห็นว่า กสท. มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่ประกาศ กสทช. กำหนด และมีความล่าช้าในการพิจารณาดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคสับสนและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิอย่างทันท่วงที รวมทั้งอาจมีแนวทางการพิจารณาที่ข่ายเลือกปฏิบัติต่อผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายแตกต่างกัน การดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ของ กสท.ข้างต้น แสดงถึงการกำกับดูแลที่ล่าช้า ขาดประสิทธิภาพ และอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่ผู้รับใบอนุญาตบางรายรวมทั้งละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม(สามารถอ่านข้อสงวนความเห็นของสุภิญญา กลางณรงค์ โดยละเอียดได้ที่ http://www.supinya.com/2017/01/5656/)กสทช. ต้องปรับนโยบาย-ผู้บริโภคต้องถี่ถ้วนจากปัญหาที่เกิดขึ้น โสภณสรุปบทเรียนจากฝั่ง กสทช. และฝั่งผู้บริโภคได้ว่า“ในระดับนโยบาย กสทช. มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการยกเลิกรายการ ดังนั้น ผมเห็นว่า กสทช. ควรพิจารณาอนุมัติแผนเยียวยาที่คุ้มครองผู้บริโภคจริงหรืออาจจะสนับสนุนในการทำมาตรการเยียวยาผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการออกมาตรการเองไม่เป็นธรรม อย่างการบอกกล่าวล่วงหน้า 30 วันเพียงพอหรือไม่ การแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรควรกำหนดให้ชัดเลยว่าต้องทำเป็นหนังสือแจ้งผู้บริโภคหรือทางเอสเอ็มเอส ไม่ใช่แค่ตัววิ่งบนจอ เรื่องพวกนี้ต้องชัดเจน“เรื่องแผนมาตรการเยียวยา เมื่อ กสทช. มีอำนาจ ก็ควรกำหนดเกณฑ์ว่าการทำแผนเยียวยาต้องมีเรื่องอะไรบ้าง เช่น การคืนเงิน ผู้บริโภคมีช่องทางอะไรบ้าง ระยะเวลาการใช้สิทธิ กำหนดแค่ 30 วัน ซึ่งผู้บริโภครู้สึกว่ามันสั้นไป แล้วคุณก็ไม่ได้แจ้งเป็นทางการด้วย หรือการให้ดูฟรี 30 วันจะให้ทำไม ถ้าผู้บริโภคเป็นสมาชิก 6 เดือนก็ต้องให้เขาดู 6 เดือน ถึงจะเรียกว่าตั้งใจเยียวยาจริงๆ เมื่อ กสทช. ไม่มีเกณฑ์ ผู้ประกอบการกำหนดเองก็กำหนดแบบไม่สนใจผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคก็ต่อรองกับผู้ประกอบการไม่ได้ คนที่ต้องออกหน้าแทนคือ กสทช. จึงควรต้องมีหลักประกันให้แผนเยียวยาที่ผู้ประกอบการทำมาไม่ผ่านความเห็นชอบเพราะไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ”ในส่วนของผู้บริโภค โสภณมีคำแนะนำว่า ก่อนจะบอกรับเป็นสมาชิกเพย์ทีวีช่องต้องศึกษาและอ่านข้อสัญญาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะลงนาม หากพบว่าข้อสัญญาใดเป็นการเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนกับ กสทช. เพื่อให้ตรวจสอบว่าใช้สัญญาตามที่ขออนุญาตจาก กสทช. หรือไม่ เพราะสัญญาเหล่านี้ต้องผ่าน กสทช. ก่อนจึงจะใช้ทำสัญญากับผู้บริโภคได้“กรณีเปลี่ยนแพ็กเกจ ผู้บริโภคคุณต้องดูตัวเองว่านิยมดูช่องไหน เหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่เมื่อเทียบกับราคา บางคนซื้อกล่องไม่ได้คิดอะไร ดูแต่ราคา ดูแต่ว่ามีช่องเยอะ โดยไม่สนว่าตัวเองจะดูอะไรบ้าง แล้วเวลาทำสัญญา เอกสาร ใบเสร็จ ใบประกัน ถ้ามีก็ต้องเก็บไว้ทั้งหมด โบรชัวร์ก็สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่คุณอ่านแล้วตัดสินใจซื้อ ควรเก็บไว้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เขาโฆษณาแบบนี้ ถ้าไม่เป็นตามโฆษณาก็ร้องเรียนได้”ที่สำคัญ โสภณบอกว่า เวลาเกิดปัญหา อย่านิ่งนอนใจ ต้องร้องเรียนเพื่อรักษาสิทธิ..........แม้ธุรกิจเพย์ทีวีจะขยายตัวกว่าอดีตขึ้นมาก บริษัทใหญ่ๆ จำนวนหนึ่งเข้ามาเป็นผู้เล่นเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด แต่ก็ยังถือว่ามีผู้เล่นน้อยรายในตลาด ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม  เพย์ทีวีก็กำลังเผชิญความท้าทายขั้นชี้เป็นชี้ตายจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าในอดีต ที่กำลังเข้ามา Disrupt ธุรกิจดั้งเดิมหลายประเภท (แอร์บีเอ็นบีกำลังเขย่าธุรกิจโรงแรมหรืออูเบอร์และแกร็บกำลังสั่นสะเทือนวงการรถแท็กซี่)เพย์ทีวีถูก Disrupt จากอินเตอร์เน็ต จากเฟสบุ๊คไลฟ์ จากยูทูบ ยังไม่นับเว็บไซต์ภาพยนตร์และซีรีส์ละเมิดลิขสิทธิ์อีกมาก ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเท้นต์ที่ตนเองต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน มองในแง่นี้ก็น่าสนใจว่าธุรกิจเพย์ทีวีในอนาคตจะเป็นอย่างไร จะมีที่อยู่ที่ยืนในตลาดอย่างไร และรูปแบบปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ขั้นตอนยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกของผู้ให้บริการหลักการ 1.ห้ามมิให้ผู้ให้บริการยกเลิกการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกตามสัญญาเว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้   (4) ผู้ให้บริการ ไม่สามารถให้บริการได้ด้วยเหตุสุดวิสัย  ( ตาม ข้อ 34 (4) แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )2.ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสท. ( ตามข้อ 14 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 )3.ผู้รับใบอนุญาตสามารถให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ได้ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการอนุญาต หากประสงค์จะเลิกการให้บริการดังกล่าวก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ จะต้องแจ้งเหตุแห่งการยกเลิกประกอบกิจการพร้อมทั้งมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการให้คณะกรรมการเห็นชอบล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนดก่อนเลิกกิจการนอกจากนี้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช. ( ตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ )4.กรณีที่ผู้ให้บริการประสงค์จะเปลี่ยนแปลงลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการที่ตกลงในสัญญา หรือที่ได้โฆษณาหรือแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ หรือการปรับปรุงรูปแบบการให้บริการอื่น ๆ อันมีลักษณะเป็นสาระสำคัญของการให้บริการ ผู้ให้บริการมีหน้าที่แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลงกรณีการเปลี่ยนแปลงตามวรรคหนึ่งมีลักษณะ ประเภท เงื่อนไข มาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม ผู้ให้บริการต้องดำเนินการเยียวยา หรือลดค่าบริการหรือยกเว้นค่าบริการแก่ผู้ใช้บริการอย่างเป็นธรรม หรือให้โอกาสผู้ใช้บริการบอกเลิกสัญญานั้นก็ได้ ( ตามข้อ 15 แห่งประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 )สรุป หากผู้ให้บริการประสงค์จะเลิกกิจการ ให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องปฏิบัติ ดังนี้ 1. แจ้งเหตุแห่งการยกเลิก ไปยัง สำนักงาน กสทช. ล่วงหน้าก่อนเลิกกิจการ 2. แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนมีการเปลี่ยนแปลง 3. ในการแจ้งยกเลิก ต้องส่งแผนมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการมาประกอบด้วย เพื่อให้ คณะกรรมการ กสท.พิจารณาและเห็นชอบแผน 4. เมื่อคณะกรรมการ กสท.มีมติเห็นชอบแผนมาตรการเยียวยา และเห็นชอบการยกเลิกกิจการว่าเป็นไปตามกฎหมาย ผู้ให้บริการจึงสามารถเลิกกิจการได้

อ่านเพิ่มเติม >