ฉบับที่ 201 เพลิงบุญ : ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ

“เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก” สัจธรรมความคิดนี้น่าจะถูกต้องอยู่ แต่ทว่า ความเมตตาที่มีต่อโลกนั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขและขอบเขตในการปฏิบัติด้วยเช่นกัน นิทานโบราณเรื่อง “ม้าอารี” เคยเล่าเตือนสติผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นมาว่า ม้าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในเพิงหลบแดดหลบฝน เพราะเจ้าของสร้างให้ด้วยความรักใคร่เอ็นดู ในขณะที่วัวอีกตัวหนึ่งกลับถูกทอดทิ้งไว้ตามยถากรรม จนวันหนึ่งฝนตกหนัก วัวก็ขอเข้ามาปันแบ่งชายคาเพิงพัก ม้าผู้อารีก็ใจดี ค่อยๆ เขยิบให้จมูกวัวพ้นจากฝน แต่เมื่อวัวหายใจคล่องขึ้น ก็เริ่มต่อรองให้ม้าเขยิบออกไปอีกทีละนิดๆ จนในที่สุด ม้าที่แสนใจดีก็ต้องกระเด็นออกไปยืนกลางแดดและตากฝนอยู่นอกเพิงพัก นิทานเรื่อง “ม้าอารี” สอนให้รู้ว่า ความเมตตาอารีแม้นจะมีได้ แต่ก็ใช้ไม่ได้กับคนที่ไม่รู้จักบุญคุณคน และยิ่งหากคนที่เมตตาไร้ซึ่งปัญญามากำกับด้วยแล้ว คนผู้นั้นก็อาจมีอันต้องระเห็จออกไปจากเพิงพักอันอบอุ่นในที่สุด และคนที่กำลังเล่นบทบาทแบบ “ม้าอารี” เยี่ยงนี้ ก็คงหนีไม่พ้นตัวละครอย่าง “พิมาลา” แห่งเรื่อง “เพลิงบุญ” ที่เอื้ออารีต่อเพื่อนรักอย่าง “ใจเริง” แบบมากล้น จนในท้ายที่สุด เธอก็แทบจะถูกอัปเปหิออกไปจากเพิงพักที่สร้างไว้กับสามีอันเป็นที่รักอย่าง “ฤกษ์”  ปรมาจารย์เจ้าตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์อย่างซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า ในห้วงแห่งจิตมนุษย์นั้นไซร้ จะมีการต่อสู้ชักเย่อกันไปมาระหว่างระบบระเบียบศีลธรรมของสังคมกับปรารถนาดิบๆ ที่หลบเร้นอยู่ในซอกลึกๆ ของจิตใจ หรือที่ฟรอยด์เรียกว่า เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “superego” กับ “id” ในจิตมนุษย์นั่นเอง ภาพการชิงดำของสองส่วนในจิตแบบนี้ ก็สะท้อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่เป็นเพื่อนรักกันแต่ก็แตกต่างกันสุดขั้วอย่างพิมาลากับใจเริง ในด้านของพิมาลา ผู้เป็นตัวแทนของ “แม่พระ” หรือระเบียบศีลธรรมอันดีงามแห่งมวลมนุษยชาตินั้น ในขณะที่วัยเด็กของเธอเคยได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวของใจเริงที่ช่วยปลดหนี้ของครอบครัวซึ่งเกือบจะล้มละลาย “บุญคุณ” ครั้งนั้นก็ได้กลายมาเป็นดั่ง “หนี้บุญคุณ” ที่พิมาลาต้องจ่ายคืนแบบไม่สิ้นไม่สุด ตรงกันข้ามกับใจเริง ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ทะยานอยาก หรือเป็น “ปรารถนาดิบๆ” ที่อยู่ในหลืบเร้นในจิตของมนุษย์ เธอก็สามารถทำทุกอย่างโดยไม่ใส่ใจว่า นั่นจะละเมิดหลักศีลธรรมหรือไม่ อย่างไร เฉกเช่นประโยคที่เธอกล่าวว่า “เริงทำก็เพราะความอยู่รอด แล้วเริงก็รอดจริงๆ แสดงว่าเริงทำในสิ่งที่ถูกต้อง…” ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ผูกเกลียวเอาไว้ด้วย “บุญ” ที่กลายมาเป็น “เพลิง” เผาผลาญตัวละคร เริ่มต้นขึ้นเมื่อฤกษ์เข้ามายืนอยู่ตรงกลางระหว่างตัวแทนของคุณค่าศีลธรรมอย่างพิมาลา กับผู้หญิงที่เป็นภาพแทนของแรงขับดิบๆ ในจิตอย่างใจเริง แม้จุดเริ่มต้นใจเริงจะคบหากับฤกษ์ชายหนุ่มที่แย่งมาจากพิมาลา แต่เมื่อเธอได้มาพบกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หนุ่มผู้มั่งคั่งอย่าง “เทิดพันธ์” ใจเริงก็เปลี่ยนใจหันไปหาชายหนุ่มคนใหม่ และทิ้งฤกษ์ไปโดยไม่สนใจว่าเขาจะเจ็บปวดเพียงใด จนฤกษ์ได้เลือกตัดสินใจกลับมาลงเอยกับความรักอีกครั้งกับพิมาลา แต่ในเมื่อชีวิตคนล้วนไม่แน่นอน มีขาขึ้นก็ต้องมีขาลงสลับกัน ในขณะที่พิมาลากับฤกษ์ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตคู่และชีวิตการทำงาน แต่ชีวิตของใจเริงกับเทิดพันธ์กลับดิ่งลงเหว พร้อมๆ กับธุรกิจของเทิดพันธ์ที่เกิดล้มละลาย ผู้หญิงที่จมไม่ลงแบบใจเริงก็พร้อมจะเทเขาทิ้งแบบไร้เยื่อขาดใยเช่นกัน  และด้วยความริษยาที่มีต่อกราฟชีวิตของเพื่อนซึ่งดีวันดีคืน ใจเริงก็ใช้ “หนี้บุญคุณ” ซึ่งผูกไว้แต่อดีต มาทวงขอความช่วยเหลือจากพิมาลา อันกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นบทเรียนแบบ “ม้าอารี” ที่เพื่อนรักใช้มารยามา “หักเหลี่ยมโหด” เพื่อเขี่ยเจ้าของชายคากระเด็นออกไปจากเพิงพักในที่สุด เพราะเพื่อนรักเป็นประหนึ่ง “ม้าอารี” ใจเริงก็วางหมากกลค่อยๆ ยื่นจมูกเข้าไปในชายคาบ้านทีละนิดๆ ตั้งแต่เสแสร้งว่าเธอเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวไร้พิษสงใดๆ ขนานไปกับการหว่านเสน่ห์ใส่ฤกษ์ให้เขาตบะแตก หรือแม้แต่จัดฉากภาพบาดตาที่เธอกับฤกษ์กำลังนัวเนียกันอยู่บนเตียง ปฏิบัติการทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็มุ่งเป้าที่จะผลักให้ “ม้าอารี” อย่างพิมาลาออกไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกชายคานั่นเอง สำหรับใจเริงแล้ว แม้ใครต่อใครจะมองว่าเธอผิด และทุกคนก็ฉลาดพอจะรู้ทันการใช้เล่ห์มารยามาทำร้ายเพื่อนรักอยู่โดยตลอด แต่ที่น่าชวนฉงนยิ่งก็คือ พิมาลาผู้เป็นคู่กรณีนั้นกลับแสนซื่อโลกสวยเสมือน “ขี่ม้าชมทุ่งลาเวนเดอร์” ในความฝันอันงดงามตลอดเวลา แม้ผู้หวังดีจะหมั่นเตือนสติ แต่เธอก็คอยแก้ต่างด้วยวลีที่ว่า “แต่พิมกับเริงคบกันมาตั้งแต่เด็ก เริงไม่น่าจะคิดร้ายกับพิมขนาดนั้นหรอก” จนผ่านไปเกินค่อนเรื่องแล้วนั่นแหละ ที่พิมาลาจึง “ถึงบางอ้อ” เปลี่ยนมา “คิดใหม่ทำใหม่” และเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า “พิมที่แสนดีก็ยังอยู่ แต่พิมที่โง่หลงเชื่อว่าเพื่อนที่เราดีด้วยจะดีตอบ...ตายไปแล้ว” แม้สำหรับผู้ชายอย่างฤกษ์ที่นอกใจภรรยาผู้โลกสวย หรือผู้หญิงตัวแทนแห่ง “ปรารถนาดิบๆ” แบบใจเริง จะถูกมองว่าผิดเต็มประตูก็จริง แต่ตัวละคร “ม้าอารี” ที่โลกสวยและศีลธรรมล้นเกินแบบพิมาลานั้น ก็มิต่างจากจำเลยอีกคนที่เป็นมูลเหตุให้ชีวิตคู่ของเธอเองต้องพังครืนลงมา คงเหมือนกับที่ “คุณฤทธิ์” พ่อของฤกษ์ที่กล่าวกับพิมาลาว่า “ทั้งสามคนมีจุดผิดพลาดร่วมกัน ไม่ต้องโยนให้คนอื่น และก็ไม่ต้องแบกรับเอาไว้คนเดียว” เพราะเผลอๆ แล้ว ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ ก็ถือเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตเสียยิ่งกว่าตัวแปรใดๆ  หากจะถามว่าข้อคิดของละครผู้หญิงสองคนแย่งชิงผู้ชายกันอย่างเรื่อง “เพลิงบุญ” ให้อะไรกับคนดูนั้น ก็คงเป็นอุทาหรณ์ที่คุณฤทธิ์เตือนสติพิมาลาและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “การทำความดีไม่ใช่สักแต่ว่าหลับหูหลับตาทำ แต่เราก็ต้องทำด้วยปัญญา...ให้ในสิ่งที่สมควร ในเวลาอันสมควร แก่ผู้ที่สมควร”  “บุญ” เป็นสิ่งที่เราพึงทำอยู่เสมอก็จริง แต่หาก “บุญ” เป็นดุจดั่ง “เพลิง” ที่เผาผลาญ เพราะคนทำบุญไม่ใช้ปัญญาขบคิดให้แตกฉานด้วยแล้ว ก็ไม่ต่างจาก “ม้าอารี” ที่ชักศึกเข้าบ้าน จนเบียดขับให้ตนต้องไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกเพิงพักนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >