ฉบับที่ 192 คนละขอบฟ้า : การข่มขืนไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพศวิถี

สังคมของเราได้อุปโลกน์มาช้านานให้ “การข่มขืน” มีความหมายว่า เป็นเรื่องของเพศวิถี หรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการล่วงละเมิดทางเพศของมนุษย์และที่สำคัญ ในแง่ของเพศวิถีแบบนี้ การข่มขืนก็มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ชายใช้ “อำนาจ” ที่เหนือกว่าคุกคามทางเพศเพื่อขืนใจผู้หญิง จนสยบยอมทั้งกาย วาจา ใจ และนั่นก็จะกลายเป็น “บาดแผล” ในจิตใจของผู้หญิงที่เกินกว่าจะเยียวยาได้ทั้งนี้ วิธีคิดต่อการข่มขืนดังกล่าวได้ถูกขานรับโดยสถาบันใหญ่น้อยมากมายในสังคม สถาบันกฎหมายและนิติศาสตร์ก็อธิบายความผิดของการข่มขืนว่า ต้องเกิดเนื่องแต่การกระทำทางเพศที่ชายขืนกายและใจของอิสตรีเป็นพื้นฐาน หรือสถาบันครอบครัวก็ใช้เรื่องการข่มขืนเพื่อพร่ำสอนลูกสาวให้เป็นกุลสตรีที่ต้องรักนวลสงวนตัว อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน และยึดถือพรหมจารีย์เป็นสรณะเมื่อกาลเวลาผันผ่าน สังคมเราก็เริ่มตั้งคำถามขึ้นมาใหม่ว่า จริงแล้วหรือที่การข่มขืนเป็นเพียงเรื่องของเพศวิถี หรือการที่บุรุษคุกคามทางเพศเพื่อขืนใจผู้หญิงเท่านั้น?ละครโทรทัศน์เรื่อง “คนละขอบฟ้า” เป็นหนึ่งในเรื่องเล่ายุคนี้ ที่พยายามทบทวนนิยามความหมายของการข่มขืน โดยผูกปมปัญหาที่ทั้งผู้ชมและตัวละครทั้งหลายได้ย้อนกลับไปทบทวนทำความเข้าใจเรื่องการข่มขืนกันอีกครั้งเนื้อเรื่องเริ่มต้นจากนางเอก “ชนิกา” ผู้เป็นสาวสังคมนักเรียนนอก ที่บิดาต้องมีเหตุล้มป่วยลงเพราะกิจการล้มละลาย ทำให้เธอต้องบินกลับจากอเมริกามาโดยด่วน และได้เผชิญกับกราฟชีวิตที่พลิกผันจากสูงสุดลงต่ำกลับคืนสู่สามัญแบบแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวกันเลยทีเดียวเพื่อจะหาเงินก้อนใหญ่มารักษาบิดา ชนิกาจึงตัดสินใจยอมรับมาทำงานกับ “ชินภัทร” พระเอกหนุ่มเจ้าของสวนยางรายใหญ่ในสุราษฎร์ธานี จากสองชีวิตที่ต่างเคยอยู่กัน “คนละขอบฟ้า” ก็มีเหตุให้ได้โคจรมาพบเจอรู้จักกัน เผชิญหน้ากับบททดสอบมากมาย และในท้ายที่สุดก็ตกหลุมรักกันในฉากจบของเรื่องคู่ขนานไปกับโครงเรื่องที่หนุ่มสาวจาก “คนละขอบฟ้า” ได้เวียนวนมาลงเอยในความรักระหว่างกันนี้ ก็คือการที่ชนิกาค่อยๆ ได้พาผู้ชมย้อนกลับไปเรียนรู้ปมชีวิตของชินภัทรผู้เป็นพระเอกของเรื่องในฉากเริ่มต้นที่ชนิกาเดินทางลงใต้เพื่อมาทำงานในสวนยาง เธอก็ได้เรียนรู้ตั้งแต่วินาทีแรกว่า ชินภัทรเป็นมนุษย์ที่ชาวบ้านร้านตลาดต่างพากันรังเกียจไปทั่วจังหวัด และเธอก็ยังได้ยินเรื่องเล่าอีกด้วยว่า ชินภัทรเป็นผู้ชายอันตรายที่เคยข่มขืน “ศิริกัญญา” หญิงคนรักของ “ปานธง” จนตั้งท้อง และทำให้ศิริกัญญาตัดสินใจหนีปัญหาด้วยการยิงตัวตาม พร้อมเขียนจดหมายเปิดโปงความเลวร้ายน่ากลัวของพระเอกเราเอาไว้และนับจากการกระทำอัตวินิบาตกรรมของศิริกัญญา ชินภัทรก็มีสถานะไม่ต่างจาก “ตัวสกั๊งก์” ที่ใครต่อใครก็ทั้งเกลียดและกลัว จนไม่อยากร่วมสังเสวนาคบค้าสมาคมกันทั่วบ้านทั่วเมืองเลยแต่เหตุเพราะว่าชนิกานั้นไม่ใช่ผู้หญิงที่เชื่อง่ายเพียงแค่ “หมุนวนไปตามลมปากของมนุษย์” เธอจึงเลือกลงมือเก็บหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ว่า ตกลงแล้วชินภัทรเป็นผู้ร้ายข่มขืนตามที่คนทั้งจังหวัดกล่าวอ้างไว้เช่นนั้นหรือไม่ด้านหนึ่ง ชนิกาก็เก็บหลักฐานบนความสัมพันธ์และความใกล้ชิดกับชินภัทร ที่เธอพบว่าเขาเองก็ไม่ได้มีบุคลิกนิสัยแบบที่ใครๆ กล่าวร้ายแต่อย่างใด ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เธอก็เก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคคลรอบตัวศิริกัญญา ไม่ว่าจะเป็นปานธงคนรักเก่า หรือ “ศรีจันทร์” มารดาของศิริกัญญาที่จิตใจเต็มเปี่ยมไปด้วยความแค้นต่อตัวชินภัทรจนเมื่อได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลอย่างลุ่มลึกรอบด้านแล้ว ชนิกาก็เริ่มต่อจิ๊กซอว์ปะติดปะต่อเรื่องราว จนพบว่าแท้จริงแล้ว เป็นศิริกัญญาต่างหากที่เคียดแค้นเพราะชินภัทรไม่รับรักเธอ เธอจึงวางพล็อตวางแผนให้ทุกสายตาเชื่อว่าตนถูกข่มขืนจนยิงตัวตายในชุดเจ้าสาว และทำให้ชินภัทรตกเป็นจำเลยในการฆ่าตัวตายนั้นอาจเพราะพล็อตเรื่องที่ศิริกัญญาเล่าไว้ในจดหมายลาตายช่างดูไม่ต่างจากนิยามของสังคมทั่วไปที่อุปโลกน์กันว่า การข่มขืนเป็นการล่วงละเมิดทางเพศที่บุรุษเพศกระทำต่ออิสตรี ประจวบกับชินภัทรเองก็เป็นผู้ชายที่เจ้าอารมณ์ ไร้เหตุผล และมักคิดอะไรที่ต่างจากคนอื่นทั่วไป ทุกคนจึงพากันพร้อมปักใจเชื่อไปตามพล็อตดังกล่าวที่ศิริกัญญาออกแบบเอาไว้โดยดุษณีแต่ในทางกลับกัน เพราะชนิกาเลือกใช้ชุดนิยามที่แตกต่างจากการอุปโลกน์ของสังคมทั่วไปว่า การข่มขืนอาจไม่ใช่แค่เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิงเท่านั้น หากแต่หมายรวมถึงทุกๆ การกระทำเชิงอำนาจที่ใครก็ได้ จะชายหรือหญิงก็ได้ ได้กระทำการคุกคามเหนือร่างกายและจิตวิญญาณต่อใครคนอื่น ดังนั้น คำตอบของชนิกาจึงไม่เหมือนกับคนทั่วไปที่เชื่อว่าการข่มขืนเป็นการคุกคามทางเพศเพียงอย่างเดียวในแง่นี้เอง แม้จะไม่ได้มีการกระทำทางเพศใดๆ เกิดขึ้น แต่ก็เป็นชินภัทรต่างหากที่ถูกศิริกัญญาสร้างเรื่องเพื่อข่มขืนบงการเขาทั้งในเชิงจิตใจและความรู้สึก และยังมีสายตาของคนรอบด้านที่ร่วมกันตัดสินว่าเขาผิด จนชีวิตของชินภัทรไม่ต่างจากการตกนรกทั้งเป็นมายาวนานนับปีอำนาจที่ผ่านทั้งเรื่องเล่าในจดหมาย ผ่านสายตาของสาธารณชน ผ่านการประณามกล่าวโทษ หรือผ่านการบีบให้มนุษย์ต้องเก็บกดความรู้สึกที่ตนเองไม่ได้กระทำผิดใดๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศในเชิงกฎหมายเลย จึงไม่ต่างจากอีกรูปธรรมหนึ่งของการข่มขืนที่บุคคลหนึ่งได้คุกคามและปกครองจิตวิญญาณของบุคคลอื่นเอาไว้เลยแม้เราจะรู้ว่าในฉากจบนั้น ปมปัญหาและความจริงต่างๆ ของเรื่องจะถูกเปิดเผยออกมา แต่บทเรียนชีวิตของคนสองคนที่มาจาก “คนละขอบฟ้า” ก็ยังทำให้เราเข้าใจด้วยว่า การที่ใครคนหนึ่งใช้อำนาจเพื่อกำกับควบคุมร่างกายและจิตใจคนอื่นให้อยู่ใต้อาณัติไว้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเรื่องเพศวิถีหรือเหตุผลอื่นใด แท้จริงแล้วมันก็ไม่ต่างจากวิถีแห่งการข่มขืนที่มนุษย์เรากระทำต่อมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >