ฉบับที่ 185 เพียงชายคนนี้ไม่ใช่ผู้วิเศษ : สามีดีๆ ไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง

ในระบอบทุนนิยมนั้น วัตถุที่เรียกว่า “เงิน” เป็นสิ่งที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมาให้กลายเป็นข้อตกลงร่วมกันในการแลกเปลี่ยนมูลค่าของสิ่งของต่างๆ     ประโยคในบทเพลงที่บอกว่า “มีเงินเดินซื้อสินค้าได้...” หรือ “คนเราเคารพคบกันที่เงิน...” เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า แม้มนุษย์จะสร้างเงินขึ้นมา แต่ท้ายที่สุด มนุษย์เราก็กลับก้มหัวยอมสยบให้กับอำนาจของ “พระเจ้าเงินตรา” ได้ด้วยเช่นกัน    ไม่เพียงแต่เงินจะใช้เพื่อจับจ่ายซื้อวัตถุหรือสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ได้เท่านั้น ทุกวันนี้เงินยังมีอำนาจซื้อได้แม้แต่กับจิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนกระทั่งชีวิตของมนุษย์ด้วยกัน ดุจเดียวกับที่ “อนุศนิยา” ลูกสาวทายาทมหาเศรษฐีรายใหญ่ ได้ใช้เงิน 60 ล้านบาทซื้อ “คุณหมอศตวรรษ” มาเป็น “สามีเงินผ่อน” ครอบครองเป็นคู่ชีวิตของเธอ    เพราะเกิดมาบนกองเงินกองทอง หรือถือกำเนิดในครอบครัวของมหาเศรษฐีรายใหญ่ อนุศนิยาจึงเป็นผู้หญิงที่เหมือนจะเลิศเลอเพอร์เฟ็คในทุกทาง รูปสวย รวยทรัพย์ การศึกษาดี ฐานะทางสังคมไม่ด้อยกว่าใคร แต่ทว่าลึกๆ แล้ว แม้ว่าฉากหน้าจะมีความสุขจากการเสพวัตถุต่างๆ แต่ฉากหลังของอนุศนิยากลับถูกทดสอบด้วยคำถามว่า วัตถุและเงินทองเป็นเพียง “ของมายา” หรือเป็นความสุขที่แท้จริงในชีวิตของเธอกันแน่?    กับบททดสอบแรก อนุศนิยาต้องเรียนรู้ว่า แม้จะ “คาบช้อนเงินช้อนทอง” ติดตัวมาเกิดเป็นทายาทมหาเศรษฐี แต่เรื่องบางเรื่องก็ไม่สามารถซื้อหาได้ด้วยเงินทอง เหมือนกับที่ “นันทพล” บิดาของเธอซึ่งป่วยเป็นโรคไต ก็เป็นโรคสมัยใหม่ที่มักจะเกิดในบรรดาหมู่ผู้มีอันจะกินทั้งหลาย และก็มักต้องมีรายจ่ายให้กับค่าซ่อมบำรุงร่างกายแบบแพงแสนแพงเช่นกัน     แต่ที่เหนือสิ่งอื่นใด เพราะเงินทองไม่เข้าใครออกใคร อนุศนิยาจึงยังต้องวุ่นวายกับปัญหาการช่วงชิงทรัพย์สินในกองมรดกจากบรรดาคุณอาผู้หญิงทั้งสี่ ที่ทุกคนต่างคอยตอดเงินกงสีของตระกูลอยู่เป็นประจำ จนไปถึงปัญหาระหว่างเธอกับอาแท้ๆ อย่าง “ชยากร” ที่คิดกับเธอมากไปกว่าความสัมพันธ์แบบอากับหลาน    ส่วนบททดสอบที่สองนั้นก็คือ “โสมมิกา” คาสโนวี่สาวประจำแวดวงไฮโซ ที่แม้ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับอนุศนิยามาตั้งแต่สมัยเรียนอนุบาลจนถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่เพราะทั้งคู่ต่างก็มั่งคั่งร่ำรวยและโดดเด่นในวงสังคมไม่แพ้กัน ต่างคนจึงหมั่นไส้และอิจฉาตาร้อนจนไม่เคยมีมิตรภาพที่แท้จริงให้แก่กันแต่อย่างใด     แต่ทว่า บททดสอบเรื่องสายสัมพันธ์ที่เปราะบางในครอบครัว หรือความขัดแย้งแบบ “เพื่อนที่ไม่รัก แถมหักเหลี่ยมโหด” ก็ยังไม่เทียบเคียงกับบททดสอบสุดท้าย ที่ไม่เพียงสำคัญยิ่ง แต่ถือเป็นจุดเปลี่ยนหลักในชีวิตของอนุศนิยา    บทเรียนดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ “เสาวรส” มารดาของหมอศตวรรษ ได้เล่นการพนันเกินตัว จนติดหนี้ครอบครัวของอนุศนิยาถึง 60 ล้านบาท และได้ยื่นข้อเสนอให้บุตรชายของเธอมาแต่งงานเป็นสามีในนามกับอนุศนิยา เพียงเพื่อขัดดอกผ่อนชำระหนี้ก้อนโตดังกล่าว    ในแง่หนึ่งหมอศตวรรษเองก็อาจ “ไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะเสกปราสาทงามให้เธอ” และ “ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ร่ำรวยจ่ายเงินเร็วร้อนแรง” เพราะเขาก็เป็น “เพียงผู้ชายคนนี้ที่มีใจมั่นรักเธอ” ดังนั้น จากจุดเริ่มต้นที่อนุศนิยาเห็นว่าหนี้สิน 60 ล้านบาทเป็นตัวกั้นกลางความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา เธอจึงตั้งแง่ดูถูกและรังเกียจเขาที่ยินยอมเสียศักดิ์ศรีมาแต่งงานเป็นสามีขัดดอกแลกเปลี่ยนกับหนี้ที่มารดาของเขาได้ก่อเอาไว้    จนเมื่อภายหลัง เพราะคุณงามความดีของหมอศตวรรษ ผู้เป็นลูกที่ดีของมารดา เป็นชายหนุ่มที่รักษาสัญญาและมุ่งมั่นทำงานเพื่อปลดหนี้ให้แม่ เป็น “สามีแห่งชาติ” ในสายตาของผู้หญิงทั้งหลายทั้งในจอและนอกจอ และอาจเป็นชายที่ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” แต่ความดีที่เขาแสดงให้ประจักษ์จริง ก็สามารถพิชิตหัวใจของอนุศนิยาได้ในที่สุด    แต่แน่นอน บททดสอบเรื่องอำนาจของเงินกับคุณงามความดีของมนุษย์ย่อมต้องมีคลื่นมากระทบแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เมื่อในอีกฟากความคิดของอนุศนิยาก็ยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า “แข็งดังเหล็กเงินก็มักจะง้างได้เสมอ” เธอจึงถูกทั้งชยากรและโสมมิการ่วมกันวางแผนปั่นหัวทำลายความรักและสร้างความร้าวฉาน จนทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจที่เสมือนแก้วอันเปราะบางอยู่แล้วนั้น แทบจะล่มสลายภินท์พังลงไป    มีคำอธิบายที่น่าสนใจข้อหนึ่งว่า ในอดีตนั้น มนุษย์เราสร้างวัตถุสิ่งของขึ้นมา และมักใช้วัตถุนั้นเป็นสะพานเชื่อมโยงสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนให้พันผูกกันในทางความรู้สึก เช่น เวลาผู้ใหญ่ให้วัตถุสิ่งของแก่เด็กหรือลูกหลาน หรือเวลาคนเราให้ของขวัญที่ระลึกแก่กันและกัน เป้าหมายของการใช้วัตถุสิ่งของแบบนี้ก็เพื่อผูกสัมพันธ์ให้ผู้คนได้รู้สึกใกล้ชิดแนบแน่นเข้าไว้ด้วยกัน    แต่ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น ทุกวันนี้ระบอบทุนนิยมได้ทำให้วัตถุไม่ได้ทำหน้าที่ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นคนเราที่ทำหน้าที่เป็นเพียงทางผ่านให้วัตถุชนิดหนึ่ง (หรือเงิน) เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับวัตถุชนิดอื่นเป็นการทดแทน แบบที่ทั้งอนุศนิยาและโสมมิกาต่างก็คิดว่า การมีเงินในมือเป็นสิบๆ ล้านนั้น สามารถใช้ซื้อวัตถุหรือแม้แต่คนมาครอบครองได้นั่นเอง    บนสายสัมพันธ์ที่คนไม่ได้เชื่อมโยงคนผ่านวัตถุสิ่งของ แต่กลับเป็นสิ่งของที่ใช้คนเป็นทางผ่านเชื่อมโยงไปสู่วัตถุหรือเป้าหมายใดๆ เช่นนี้ ความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างมนุษย์จึงเกิดขึ้นได้ยาก หรือแม้จะมีอยู่บ้าง ก็พร้อมจะล่มสลายไปได้ไม่ยากนัก เพียงเพราะเงินได้กลายเป็นวัตถุที่มีอำนาจเข้ามาครอบงำความคิด ความรู้สึก และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เรา    ต้องผ่านบททดสอบหลายข้อกว่าถึงฉากจบที่อนุศนิยาจะเข้าใจว่า เฉพาะคนที่เชื่อมั่นว่า “เงินคือพระเจ้า” เท่านั้นจึงยอมก้มหัวสยบให้กับอำนาจของพระเจ้าเงินตรา     จนเมื่ออนุศนิยาตระหนักได้ว่า “ผู้ชายดีๆ เขาไม่ได้มีไว้ขาย อยากได้เธอต้องสร้างเอง” หรือเริ่มเรียนรู้ว่า เงิน 60 ล้านก็เป็นเพียงวัตถุที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นมูลค่าแลกเปลี่ยนให้กับคนเรา ความรักของเธอที่มีต่อผู้ชายธรรมดาและ “ไม่ใช่ผู้วิเศษ” อย่างหมอศตวรรษ ก็สามารถทำให้เธอใช้ชีวิตอยู่ใน “ปราสาทงามเลิศเลอ” ได้ไม่แพ้กัน                                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point