ฉบับที่ 271 ก่อนรับยาต้องกล้าถาม อย่าลืมถามชื่อยาบนซองยาด้วยทุกครั้ง

        เหตุการณ์ที่ผู้ป่วยแพ้ยาและเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แม้ว่าเภสัชกรจะพยายามสอบถามชื่อยาและข้อมูลต่างๆ ทั้งจากตัวผู้ป่วยหรือแหล่งที่ส่งมอบยา (เช่น ร้านยาบางแห่ง หรือคลินิกบางแห่ง) แต่พบว่าบางครั้งมักจะไม่ได้รับความร่วมมือในการให้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอพอ ส่งผลให้การลงประวัติแพ้ยาของผู้ป่วยขาดความสมบูรณ์ ระบุชื่อยาไม่ได้ ทำให้ผู้ป่วยยังต้องเสี่ยงต่อการแพ้ยาซ้ำๆ อีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายจนอาจเสียชีวิตได้        จากข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภค พบว่าหลายครั้งที่ผู้ป่วยไปรับบริการที่คลินิก ร้านยา หรือสถานพยาบาลเอกชน ฯลฯ มักจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับยาที่ตน เช่น ชื่อยา สรรพคุณ วิธีการใช้ ตลอดจนข้อพึงระวังต่างๆ สถานบริการหลายแห่งดังกล่าวข้างต้น มักจะเขียนเพียงแค่ ยาแก้อะไร กินปริมาณเท่าไหร่และกินเวลาไหน บนซองยาหรือฉลากยาเท่านั้นเอง        ประเทศไทยมีการออกหลักเกณฑ์และข้อกำหนดให้ผู้ป่วยจะต้องได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่ตนได้รับมานานแล้ว สภาวิชาชีพทางด้านสุขภาพสาขาต่างๆได้ร่วมกันออกประกาศรับรองสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มาตั้งแต่พ.ศ. 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการรักษา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2556 กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับร้านยา มีรายละเอียดกำหนดให้ร้านยาต้องให้ข้อมูลยาแก่ผู้รับบริการให้ครบถ้วน บนซองยานอกจากจะบอกสรรพคุณ วิธีใช้แล้ว ยังต้องบอกชื่อสามัญทางยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆอีกด้วย        จนมาถึงปี 2565 ก็มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของสถานพยาบาลเกี่ยวกับฉลากบรรจุยา กำหนดให้ซองยาจากคลินิก ที่ไม่มีชื่อยาหรือชื่อผู้ป่วยและรายละเอียดอื่นที่สำคัญมีโทษอาญา จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยมีผลบังคับใช้ 15 มีนาคม 2567 ซึ่งในระหว่างรอการบังคับใช้อีก 2 ปี ผู้ป่วยอาจได้รับความเสี่ยงจากการบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานหรือขาดจรรยาบรรณ ดังเช่น ในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา มีการนำเสนอข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับข้อมูลยาที่ครบถ้วนจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง        นอกจากประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยทางด้านการรับษาพยาบาลแล้ว ในด้านกฎหมายแรงงาน “ซองยา” ยังสามารถใช้ประกอบการลาป่วยได้ เพราะเหตุที่ซองยามีกฎหมายกำหนดไว้ให้ต้องมีข้อมูลมากพอ ที่จะเชื่อได้ว่าป่วย ฝ่ายบุคคลจึงสามารถตรวจสอบกลับไปที่ผู้ส่งมอบยา (ไม่ว่าจะเป็นเภสัชกรหรือแพทย์) ได้ว่าป่วยจริงหรือไม่ แต่หากซองยาเป็นเพียงซองพลาสติกใสๆ ฝ่ายบุคคลอาจจะไม่รับฟังว่าป่วยจริง        ดังนั้นจำให้ขึ้นใจเลยว่า “เรามีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับข้อมูลยา” และ “ก่อนรับยาต้องกล้าถาม” หากพบว่า แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ไม่ให้ข้อมูลยาที่ครบถ้วน นอกจากจะผิดหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆตามกฎหมายแล้ว ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้จะมีความผิดตามข้อบังคับของจรรยาบรรณของวิชาชีพนั้นๆ ด้วย ซึ่งสภาวิชาชีพต่างๆ ก็มีการกำหนดบทลงโทษ ซึ่งเราสามารถร้องเรียนได้โดยตรงที่สภาวิชาชีพแต่ละแห่งได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เตือนภัยยาสูตรเข้มข้น อันตรายก็เข้มขึ้น

        ในช่วงหน้าทำนายาอันตรายที่กำลังฮิตในกลุ่มพี่น้องเกษตรกรทางอิสานคงหนีไม่พ้นยาแก้ปวดเมื่อย ช่วงนี้มียาฮิตตัวใหม่มีการนำมาเร่ขายตามบ้าน รู้กันในชื่อ สูตรเข้มข้นx2 Extra และมีการบอกต่อๆกันจนขายดิบขายดี ทั้งๆ ที่ราคาก็ไม่ธรรมดา ราคาต่อขวดมากกว่าหนึ่งพันบาท         นอกจากชื่อที่บอกเข้มข้นแล้ว อันตรายมันก็เข้มขึ้นไม่แพ้กัน ผู้ที่นำไปรับประทานหวังแก้อาการปวดเมื่อย หลายรายเกิดอาการไม่พึงประสงค์แถมมาด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดอาการบวมที่เท้า ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ สำหรับเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน เมื่อทราบข้อมูลจึงได้ขอยาจากชาวบ้านมาทดสอบและก็แม่นยิ่งกว่าถูกหวยเสียอีก เป็นไปตามคาดเพราะเมื่อทดสอบด้วยชุดทดสอบสารสเตียรอยด์เบื้องต้น ผลปรากฏว่าให้ผลบวก หมายถึงพบการปลอมปนสารสเตียรอยด์อยู่ในผลิตภัณฑ์นี้จริงๆ         ไหนๆ ก็เล่ามาแล้ว ขอย้ำเตือน อันตรายจากสเตียรอยด์ที่เราพอจะสังเกตเองได้เอง เผื่อจะได้ช่วยกันสอดส่องคนใกล้ตัวว่า หลงไปใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัวหรือไม่  อาการที่จะพบได้บ่อยๆ คืออาการที่เรียกว่า “คุชชิ่ง ซินโดรม (Cushing Syndrome)” คือ ใบหน้ากลมคล้ายพระจันทร์ มีไขมันพอกที่ต้นคอ ด้านหลังเป็นหนอก ผิวหนังบาง มีรอยแตกสีม่วงแดงตามผิวหนังที่หน้าท้องและต้นขา        อันตรายที่น่ากลัวยังมีมากกว่านี้ การได้รับสเตียรอยด์ในขนาดสูงเป็นเวลานานมันจะไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลงลดลง ผู้ที่ใช้ยาที่มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์จึงติดเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ ได้ง่าย นอกจากนี้ยังทำให้เยื่อบุในกระเพาะอาหารบางลงและยังไปยับยั้งการสร้างเนื้อเยื่อกระเพาะอาหารใหม่ อาจทำให้กระเพาะอาหารทะลุหรือเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยไม่มีอาการปวดท้องมาก่อนด้วยซ้ำ  และอีกหนึ่งปัญหาสำคัญคือทำให้กระดูกพรุน           ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ ยิ่งอันตราย ผู้ป่วยเบาหวานจะไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลให้อยู่ในช่วงปกติได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตจะไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตให้อยู่ในช่วงปกติได้เช่นกัน มักจะมีระดับความดันโลหิตสูงแต่ไม่มีอาการเตือน จึงเปรียบเสมือนภัยเงียบที่อาจทำให้เกิดเส้นเลือดในสมองแตก เสี่ยงเป็นอัมพฤต-อัมพาตได้ และที่ต้องย้ำคือ ถ้าพบว่ายาที่ใช้มีการปลอมปนสารสเตียรอยด์ อย่าหยุดใช้เองโดยทันที เพราะเมื่อร่างกายได้รับสารสเตียรอยด์เป็นเวลานาน  ร่างกายจะหยุดสร้างสเตียรอยด์ตามธรรมชาติที่ร่างกายเคยสร้างเองได้  เมื่อผู้ป่วยหยุดใช้อย่างกะทันหันจะทำให้ร่างกายขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน อาจเกิดภาวะช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้หากนำส่งโรงพยาบาลไม่ทัน หากมีปัญหาเนื่องจากการใช้ยาที่ปนเปื้อนสารสเตียรอยด์แล้ว ขอให้รีบมาพบแพทย์เพื่อรักษาที่ถูกต้องจะปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ต้องใช้ยานานแค่ไหน

        เมื่อเรารับยาจากเภสัชกรโรงพยาบาลหรือจากร้านขายยา  ส่วนใหญ่เราจะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับยานั้นๆ ทั้งชื่อยา  สรรพคุณ  ขนาด  วิธีใช้ และข้อควรระวัง  ซึ่งนอกจากเภสัชกรจะอธิบายแล้วข้อมูลเหล่านี้ส่วนใหญ่มักจะปรากฏบนฉลากยาให้อีกด้วย แต่ข้อมูลแค่นี้ยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ยาอย่างถูกต้องปลอดภัย  เพราะเราควรจะต้องสอบถามเภสัชกรเพิ่มอีกว่า ยาที่ตนได้รับนั้น ชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้ต่อเนื่องจนยาหมดหรือชนิดใดที่ต้องกินหรือใช้เฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ซึ่งเราจะต้องถามให้ละเอียดทั้งยากินยาใช้ภายนอกหรือยาฉีด ดังตัวอย่างต่อไปนี้         ผู้ป่วยรายที่ 1  เป็นไข้หวัด ไอ เจ็บคอติดเชื้อแบคทีเรีย  เภสัชกรจ่ายยาให้กิน 4 ชนิด ได้แก่ ยาพาราเซตามอล เพื่อแก้ปวดลดไข้  ยาซีพีเอ็มเพื่อลดน้ำมูก  ยาแอมบรอกซอลเพื่อแก้ไอและยาอะม็อกซี่ซิลินเพื่อฆ่าเชื้อโรค  จากตัวอย่างนี้ยาที่จะต้องกินต่อเนื่องจนยาหมด คือ อะม็อกซี่  เพราะต้องการผลในการฆ่าเชื้อโรคให้หมด ส่วนยาแก้ไข้  ยาลดน้ำมูกและยาแก้ไอให้กินเฉพาะเวลามีอาการเท่านั้น  ถ้าเกิดมีอาการแพ้หรือผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่ว่าจะเป็นยาตัวใดก็ตามให้หยุดทันทีและรีบไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร         ผู้ป่วยรายที่ 2  มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ  เภสัชกรจ่ายยา 2 ชนิด  ได้แก่ ไอบูโพรเฟนเพื่อกินแก้ปวด  และยานวดแก้ปวด ในกรณีนี้ยาทั้ง 2 ตัวจะใช้เฉพาะเวลามีอาการ ถ้าอาการปวดดีขึ้นอาจลดขนาดยาลง เช่น เดิมกินยา ครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลา  อาจลดเหลือวันละ 2 เวลา หรือ 1 เวลาก็ได้ ถ้าหายดีแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต่อจนหมด  โดยยาที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้เวลาที่มีอาการครั้งต่อไป (แต่ก่อนใช้ต้องตรวจสอบก่อนว่า ยายังไม่หมดอายุ)         ผู้ป่วยรายที่ 3  มีโรคความดันโลหิตสูงและโรคกรดไหลย้อน  เภสัชกรจ่ายยา 3 ชนิด ได้แก่แอมโลดิปีน  กินเพื่อรักษาความดันโลหิตสูง  ยาเบต้าฮิสติดีนกินเพื่อรักษาอาการวิงเวียน  ยาโอมีพราโซลและดอมเพอริโดน กินเพื่อรักษาโรคกรดไหลย้อน   กรณีนี้ยาแอมโลดิปีนและโอมีพราโซลให้กินต่อเนื่อง  แต่ยาเบต้าฮิสติดีนให้กินเฉพาะเวลาวิงเวียน  ส่วนยาดอมเพอริโดนอาจกินเฉพาะเวลามีอาการกรดไหลย้อนหรือกินต่อเนื่องขึ้นกับความรุนแรงของโรค (ในกรณีนี้ต้องปรึกษาเภสัชกร)         ผู้ป่วยรายที่ 4  มีอาการผื่นคันจากการสัมผัสฝุ่นละออง  เภสัชกรจ่ายยา 2 ตัว ได้แก่ ลอราตาดีนและยาทาเพรดนิโซโลน  ในกรณีนี้ยาลอราตาดีนให้กินเฉพาะเวลามีอาการหรือกรณีได้สัมผัสตัวกระตุ้น หากผู้ป่วยมีอาการแพ้เรื้อรังให้กินต่อเนื่องตามระยะเวลาของการรักษา  ส่วนเพรดนิโซโลนทาให้ทาเฉพาะเวลามีอาการผื่นคันเท่านั้น         ผู้ป่วยรายที่ 5  เป็นโรคความดันโลหิตสูง  ได้รับยา 2 ตัว  ได้แก่  แอมโลดิปีนและอีนาแลบพริล  ยาทั้ง 2 ตัวนี้ให้กินต่อเนื่องและต้องไปรับยาตามที่นัด  แต่ในระหว่างกินยาแล้วเกิดอาการไอแห้งๆ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพราะถ้าอาการไอนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาอีนาแลบพริล  แพทย์อาจพิจารณาเปลี่ยนยาชนิดอื่นให้ เช่น ลอซาแทน  กรณีนี้จะเห็นว่าแม้ยาที่ต้องทานต่อเนื่องถ้าเกิดผลข้างเคียงที่สำคัญก็จำเป็นต้องหยุดหรือเปลี่ยนยา ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์ เภสัชกร ก่อนเพื่อความปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 จะรักษาทั้งที อย่าให้ยา”ตีกัน”

        คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องไปหาแพทย์ เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษานั้น  ก็บอกแค่อาการป่วยและข้อมูลแพ้ยาอะไรก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงข้อมูลเท่านี้ยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องสำคัญมากอีกอย่างเช่นข้อมูลพฤติกรรมและการกินยาหรืออาหารอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย ก็เพื่อว่า “ป้องกันยาตีกัน” นั่นเอง         ไม่ใช่แค่บอกว่าแพ้ยาอะไร ผู้ป่วยควรจะต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าในช่วงนี้ตนใช้ยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมอะไรร่วมอยู่ด้วย เพราะยาบางตัวเมื่อนำไปใช้ร่วมกับยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมตัวอื่นๆ มักจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา บางครั้งอาจเกิดอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปหรือบางครั้งก็ไปทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ลดต่ำลง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นในภายหลัง  ปฏิกิริยาแบบนี้ ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “ยาตีกัน”         ตัวอย่าง คนไข้ เอ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้รับยาฆ่าเชื้อคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) จากแพทย์มารับประทาน  อีก 2 วันต่อมา คนไข้มีอาการปวดไมเกรน จึงกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คนไข้ไม่ได้แจ้งว่า ตนเองกำลังใช้ยาคลาริโทรมัยซินอยู่  โรงพยาบาลจึงจ่ายยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)  เพื่อรักษาไมเกรนมาให้  เมื่อคนไข้กลับบ้านจึงรับประทานยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน  ปรากฎว่ายาทั้ง 2 ตัว  “ตีกัน”  ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัว  เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง  กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิต          กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ในโลกนี้ยังมียาจำนวนมากที่สามารถเกิด “ยาตีกัน” กับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณและอาหารเสริมได้  การบอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รักษา “ทราบชื่อ” ยาหรือ อาหารเสริมที่คนไข้ใช้อยู่  นอกจากป้องกันยาตีกันได้แล้วยังป้องกันการได้รับยาเกินขนาด  ยาซ้ำซ้อนกับยาเดิมที่มีอยู่อีกด้วย และยังช่วยให้ประเมินได้ว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่หรือไม่  ยาหรืออาหารเสริมหลายตัวนอกจากจะรักษาโรคได้ ก็ยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน   หากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้ที่รักษาก็จะเปลี่ยนยา ลดขนาดหรือปรับวิธีรับประทานยา  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเติม         ท่องจำย้ำเตือนให้ขึ้นใจเลยครับ เวลาไปโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากในช่วงนั้นผู้ป่วยมีการใช้ ยา ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมอยู่ด้วย ขอให้นำติดตัวไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แนะนำ หากมีฉลากหรือเอกสารต่างๆ ก็ขอให้นำติดไปด้วยจะยิ่งดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เภสัชกรสาวตาใสกับคุณยายตามัว

        เสียงเคาะประตูห้องยาดังขึ้น เภสัชกรสาวตาใสวางมือจากกองยาหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อเงยหน้าขึ้นภาพตรงหน้าคือคุณยายท่านหนึ่ง แกมาพร้อมอาการบวมที่ใบหน้า ในมือของแกถือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดโกจิเบอรี่ยี่ห้อหนึ่ง จากการพูดคุยสอบถามพร้อมทั้งซักประวัติเพิ่มเติมทำให้ทราบว่าคุณยายมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง อาการตอนนี้ นอกจากตัวบวมแล้ว ตายังพร่ามัวอีกด้วย         “ยายซื้อไอ้นี่จากรถเร่หมู่บ้านต่างอำเภอที่มาเร่ขายในหมู่บ้านของยายน่ะ คนขายเขาโฆษณาว่ากินแล้วจะช่วยให้ตามองเห็นชัดขึ้น ทีแรกยายก็ยังไม่ค่อยเชื่อนะ แต่เขาเอาเอกสารมาให้ดูเพิ่มเติม เห็นบอกว่าช่วยบำรุงดูแลดวงตาและรักษาโรคตาต้อต่างๆได้ แถมยังเน้นว่า ตามัวสั่งด่วน ตามองชัดแจ๋ว ต้อต่างๆ หาย ตาใสปิ้ง ดูแล้วก็น่าเชื่อถือดี”         “ยายอยากมองเห็นชัด เลยซื้อมากินหนึ่งกระปุก กระปุกละ 800 บาทยายก็ยอมนะ แต่พอยายกินไปได้ 7 วันเท่านั้นเอง ตัวยายก็เหมือนจะบวม หน้านี่บวมชัดเลย แถมยังผื่นขึ้นเต็มตัวอีก ตาก็ไม่ใสแต่กลับมัวมากขึ้น” คุณยายเล่าด้วยเสียงวิตก “ทำยังไงดี”         เภสัชกรสาวจึงรีบประเมินอาการพบว่า น่าจะเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงแนะนำคุณยายให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ทันทีและรีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อช่วยกันเตือนภัยและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ จากนั้นขอผลิตภัณฑ์ของคุณยายส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารอันตรายที่อาจปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งกำลังรอผลวิคราะห์อยู่         “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยานะคะคุณยาย มันจึงไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และจากที่หนูตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์นี้ มันยังแสดงข้อมูลในฉลากไม่ครบถ้วนอีกด้วยค่ะ เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กฎหมายกำหนดให้ต้องมีข้อความเตือนว่าไม่มีผลในการรักษาโรคด้วย นี่ถ้ามีผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมารับประทาน โดยหวังว่าจะรักษาโรคต่างๆ ของดวงตา นอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังจะเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องด้วยนะคะ  หนูคิดว่าหากใครมีอาการทางดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวนะคะ”         “การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2510 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ... ยังไงฝากคุณยายช่วยกันเตือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยนะคะ”

อ่านเพิ่มเติม >