ฉบับที่ 276 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ตำรวจไซเบอร์ แนะวิธีสังเกตเพจหลอกจองที่พัก ขายของออนไลน์        ตำรวจไซเบอร์ระบุ  ปัจจุบันมีผู้เสียหายจำนวนมากจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในออนไลน์ ทั้งการใช้วิธีการสร้างเพจปลอมเป็นโรงแรมที่พักหรือการขายของออนไลน์หลอกลวงประชาชน จากข้อมูลสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่ 1 มี.ค.65 – 28 มิ.ย. 66 พบว่า มีการหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการมากถึง 108,383 ครั้ง         ตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) จึงแนะนำวิธีการสังเกตเพจปลอมต่างๆ ดังนี้             1. เพจต้องได้รับยืนยันเครื่องหมายรับรองตัวตน (Verified badge)             2.ตรวจสอบรายละเอียดเพจได้ วันที่สร้างเพจ เคยเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่? หากเพจสร้างขึ้นมาไม่นานแต่มีการเปลี่ยนชื่อเพจเสี่ยงต่อการเป็นเพจปลอม             3. ยอดผู้กดถูกใจโพสต์ เนื่องจากเพจปลอมจะมีผู้ติดตามน้อย มิจฉาชีพมักสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ มองผ่านๆ จะคล้ายจำนวนผู้ติดตามจริง            4. ชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ มิจฉาชีพมักทำเลียนแบบหากไม่สังเกตอาจทำให้ถูกหลอกลวง              5. โพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ จำนวนคนกดถูกใจ คอมเมนต์ จะมีการโต้ตอบน้อย และคอมเมนต์เชิงตำหนิ เช่น สั่งสินค้าไปไม่ได้รับของเลย             6. สังเกตที่ URL ของ มักเป็นคำแปลกๆ ไม่มีความหมาย พบข้อมูลคนไทยโดนประกาศขายดาร์กเว็บ 20 กว่าล้านบัญชี        จากกรณี Resecurity บริษัทความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้รายงานว่าเมื่อเดือนมกราคม ปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีข้อมูลของคนไทยรั่วไหลและถูกนำมาประกาศขายในบนเว็บไซต์ข้อมูลผิดกฎหมายกว่า 27 ล้านบัญชี โดยกลุ่มข้อมูลที่มาจากกรมกิจการผู้สูงอายุ รั่วไหลมากถึง 19.7 ล้านบัญชีนั้น         นายประเสริฐ จันทรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวว่า สำนักงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้ตรวจพบตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ แล้ว พร้อมทั้งแจ้งไปยังกรมกิจการผู้สูงอายุให้รับทราบถึงกรณีข้อมูลของหน่วยงานรั่วไหลเกือบ 20 ล้านบัญชี แต่ยังหาสาเหตุของการรั่วไหลไม่ได้ ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้เตรียมเข้าตรวจสอบเกี่ยวกับลักษณะการรั่วไหลของข้อมูลดังกล่าวแล้ว  สั่งค่ายมือถือ “ระงับซิมไม่ยืนยันตัวตน” กรณีมีเกิน 100 เบอร์         จากกรณีที่ กสทช. ได้ออกมาตรการบังคับใช้ เมื่อ 16 มกราคม 2567 สำหรับผู้ที่ใช้บริการซิมมือถือต้องทำการยืนยันตัวตนตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยให้กับผู้ที่ถือซิม 6-100 เบอร์ ต้องยืนยันตัวตนภายใน 180 วัน และ 101 หมายขึ้นไป ภายใน 30 วันนั้น         15 กุมภาพันธ์ 2567  กสทช. ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงบริษัทผู้ให้บริการ ถึงมาตรการยืนยันตัวตนของซิมการ์ด  และข้อมูลการใช้บริการของผู้ถือครองซิม หลังพ้นกำหนดระยะเวลายืนยันตัวตนสำหรับผู้ถือครอง 101 เบอร์ ขึ้นไป ตั้งแต่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กสทช. จึงได้มีคำสั่งเร่งรัดให้ค่ายมือถือ ดำเนินการตามเงื่อนไขระงับการใช้บริการรวมถึงการโทรออก ส่งข้อความ SMS และการใช้งานอินเทอร์เน็ต และจะอนุญาตเพียงเบอร์โทรฉุกเฉินเท่านั้น            “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” ไม่มีฉลากระวังอันตราย        หลังจากที่บนโลกออนไลน์มีการรีวิวขนม “เยลลี่องุ่นเคียวโฮ” อย่างมากมาย ทำให้เป็นขนมยอดฮิตในกลุ่มเด็กและคนทั่วไป จนมีการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และวางขายตามหน้าโรงเรียนเกลื่อน         ภก. เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้เปิดเผยว่า พบขนมเลียนแบบเยลลี่องุ่นที่มีจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี โดยมีการนำมารีวิวผ่านโซเชียลออนไลน์ ซึ่งลักษณะบรรจุในถุงคล้ายถุงมือยางหรือลูกโป่งลูกกลมๆ และมีวิธีการกินคือใช้ไม้จิ้มฟันจิ้มให้ถุงแตกออกมาแล้วจึงนำมารับประทานได้ มีหลายรสชาติ แต่ไม่มีเลขอย. และฉลาก จึงขอเตือนว่า ไม่ควรซื้อมารับประทานเพราะอาจลักลอบนำเข้าหรือผลิตเพื่อขายในสถานที่ต่างๆ และไม่มีฉลาก ไม่มีข้อมูลเกี่ยวอาหาร อาจเสี่ยงได้รับสารอันตรายที่เป็นผลต่อสุขภาพได้ เช่น สี วัตถุกันเสีย วัตถุแต่งกลิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเกินปริมาณที่กฎหมายกำหนด การบรรจุอาหารในถุงมือยางหรือบรรจุภัณฑ์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อบรรจุอาหาร ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากผลิต นำเข้าเพื่อขายสถานที่ต่างๆ ไม่มีฉลาก มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท  มพบ.เสนอการบินพลเรือนเร่งจัดการปัญหาเที่ยวบินเทผู้โดยสาร         หลังจากสายการบิน  Air Japan ได้มีการยกเลิกเที่ยวบิน NQ2 เส้นทางสุวรรณภูมิ - นาริตะ 22 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เวลา 00.15 น.  ซึ่งเป็นการยกเลิกแบบกะทันหัน (ก่อนหน้ามีการดีเลย์กว่า 3 ชั่วโมง) หลังจากนั้นทางสายการบินได้รับผิดชอบผู้โดยสารเพียงแค่คืนค่าตั๋วเดินทาง แต่ไม่ได้ชดเชยเยียวยาความเสียหายในส่วนอื่นๆ เช่น ค่าโรงแรมที่พักของผู้โดยสารที่ได้ทำการจองไว้อีกด้วย         23 กุมภาพันธ์ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ ได้กล่าวว่า จากประเด็นดังกล่าวที่ให้ผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยไปดำเนินการยื่นเรื่องเองกับทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) นั้น ไม่ควรผลักให้เป็นภาระของผู้โดยสาร เพราะสำนักงานการบินพลเรือน อยู่ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งควรออกมาตรการกำหนดให้สายการบินจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้โดยสาร ซึ่งจะเป็นการผลักภาระให้ต้องไปเรียกร้องที่ สคบ. และการยกเลิกเที่ยวบินแล้วคืนเฉพาะค่าโดยสารถือเป็นการเอาเปรียบผู้โดยสารที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งสายการบินควรต้องชดเชยค่าใช้จ่ายที่เสียหายจริงทั้งหมด เช่น ค่าตั๋วใหม่ ค่าโรงแรม ค่ารถที่ได้ทำการจองไปแล้ว รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ         อีกประเด็น คือ ทางสายการบินมีเครื่องบินให้บริการเพียง 1 ลำ ถือเป็นเรื่องที่สำนักงานการบินพลเรือนต้องตรวจสอบรับผิดชอบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแล ทั้งนี้ ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยเรียกร้องไปยังสำนักงานการบินพลเรือนให้ออกประกาศคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินในเส้นทางบินต่างประเทศอีกด้วย เนื่องจากยังไม่มีประกาศฉบับดังกล่าว แต่กลับไม่เป็นผล จนกระทั่งมาเกิดเหตุซ้ำซากแบบเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 ผลสำรวจฉลากเยลลี่พร้อมดื่ม

        เยลลี่เหลวที่บรรจุในถุงพร้อมดื่ม มีทั้งที่ระบุว่าเป็น “ขนมเยลลี่คาราจีแนน” “ขนมเยลลี่คาราจีแนนและบุก” “วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนน” หรือ“วุ้นสำเร็จรูปคาราจีแนนแบบผสมบุกผง” ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้อิ่มท้อง จนหลายคนเลือกดื่มเยลลี่เหลวแบบนี้เพื่อควบคุมน้ำหนัก เพราะอร่อย หาซื้อง่ายและราคาถูก         ข้อมูลจากเอซี นีลเส็น (AC Nielsen) เผยว่า “ตลาดเยลลี่พร้อมดื่ม” มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยอยู่ที่ 9% ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เรามักเห็นเยลลี่พร้อมดื่มหลายสูตรและหลายรสชาติ วางเรียงอยู่ในตู้แช่ของร้านสะดวกซื้ออย่างละลานตา ชนิดที่ว่าเลือกไม่ถูกกันเลยทีเดียว ในปัจจุบันผู้ผลิตยังแข่งกันชูจุดขายด้านสุขภาพและความงาม โดยเน้นเป็นสูตรน้ำตาลน้อย แคลอรีต่ำและยังพ่วงผสมวิตามินต่าง ๆ คอลลาเจน ไฟเบอร์และสารอาหารอื่นๆ เพิ่มเข้าไปด้วย        นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจำนวน 22 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ ที่มีวางขายในร้านสะดวกซื้อ เมื่อเดือนตุลาคม 2565 มาสำรวจฉลากแสดงส่วนประกอบและฉลากโภชนาการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้ผู้บริโภคเลือกชื้อได้ถูกปาก ปลอดภัยและคุ้มค่า         ผลการสำรวจฉลากในส่วนประกอบ พบว่า        1.สัดส่วนของปริมาณน้ำผลไม้ มากที่สุดคือ 30 % มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ คอลลาเจน , วิตามิน A ,C, E และแบล็คเคอร์แร้นท์ น้อยที่สุดคือ 8% มี 3 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A, วิตามินรวมและวิตามิน C+B        2.วัตถุกันเสีย 18 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้  ( คิดเป็น 81.82 % ของตัวอย่างทั้งหมด )  และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิม, กลิ่นแอปเปิ้ล ฮันนี่ และบลู วิตามิน เยลลี่    ส่วนเจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ระบุไว้ชัดเจนว่า”ไม่ใช้วัตถุกันเสีย”         3.วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล  19 ตัวอย่าง ระบุว่าใช้ (คิดเป็น 86.36% ของตัวอย่างทั้งหมด) และมี 3 ตัวอย่างที่ไม่ระบุว่าใช้ ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E และนูริช เมท แอลคาร์นิทีนและคอลลาเจน         ในส่วนฉลากโภชนาการ (ปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภค) พบว่า        1.พลังงาน มากที่สุดคือ 60 กิโลแคลอรี มี 5 ตัวอย่าง ได้แก่ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามินซี ,เซ็ปเป้บิวติเจลลี่  คอลลาเจน , กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ , นูริช เมท ฝรั่งชมพูและแอลคาร์นิทีน ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A มีค่าพลังงานน้อยที่สุดคือ 20 กิโลแคลอรี        2.น้ำตาล มากที่สุด 14 กรัม คือ กุมิ กุมิ เยลลี่ รสลิ้นจี่ มีน้อยที่สุด 3 กรัม คือ เจเล่ เยลลี่ บิวตี้ วิตามิน A ,C, E        3.โซเดียม มากที่สุดคือ 75 มิลลิกรัม ได้แก่ ซี-วิต เยลลี่ รสส้มและรสเลมอน น้อยที่สุดคือ 10 มิลลิกรัม ได้แก่ เจเล่ ไลท์ เฟรช์ชี่ กลิ่นสตรอเบอรี่และกลิ่นบลูเบอร์รี่ ส่วนเจเล่ เยลลี่ วิตามิน B+A และเซ็ปเป้บิวติเจลลี่ ไฟเบอร์ ระบุว่าไม่มี           เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า แพงที่สุดคือ 0.12 บาท (8 ตัวอย่าง) ถูกที่สุดคือ 0.06 บาท (2 ตัวอย่าง)   ข้อสังเกต        - น้ำองุ่นขาว (จากองุ่นขาวเข้มข้น) เป็นน้ำผลไม้ที่นิยมใช้ในส่วนประกอบมากที่สุด (17 ตัวอย่าง)          - เจเล่ เนสที กลิ่นทับทิมและกลิ่นแอปเปิ้ลฮันนี่ ระบุคำเตือนถึงผู้ที่มีสภาวะฟินิลคีโตนูเรียไว้ว่า  ผลิตภัณฑ์มี “ฟินิลอลานีน”         - เจเล่ เยลลี่ บิวตี้  วิตามินซี ระบุว่าไม่ใช่อาหารสำหรับควบคุมน้ำหนัก        - 9 ตัวอย่าง มีปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภค ตั้งแต่ 10 -14 กรัม ใน 1 วัน เราไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 24 กรัม ดังนั้นถ้าเราดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาล 14 กรัมต่อถุง ไป 2 ถุง เราก็จะได้รับน้ำตาลมากเกินไป ยังไม่นับว่ารวมถึงอาหารอื่นๆ ที่รับประทานในหนึ่งวันด้วย  ฉลาดซื้อแนะ        - หากต้องการลดน้ำหนัก ควรพิจารณาฉลากก่อนซื้อทุกครั้ง เพราะเยลลี่แต่ละยี่ห้อดื่มแล้วอิ่มท้องพอกัน แต่หากเผลอเลือกดื่มเยลลี่ที่มีน้ำตาลสูง อาจยิ่งเพิ่มความอ้วนได้        - ไม่ควรดื่มเยลลี่แทนมื้ออาหารหลักเพื่อลดน้ำหนัก เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นได้        - จากตัวอย่างเยลลี่พร้อมดื่มส่วนใหญ่ใส่วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล จึงไม่ควรดื่มปริมาณมากๆ บ่อยๆ เพื่อลดความเสี่ยงเกิดการสะสมของสารสังเคราะห์เหล่านี้ จนอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้        -ในแต่ละวัน ถ้าเราได้รับวัตถุกันเสียในปริมาณน้อย ร่างกายจะสามารถกำจัดออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ แต่หากได้รับในปริมาณมากทุกวัน ตับและไตจะต้องทำงานหนักขึ้น และหากกำจัดออกไปไม่หมด ก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของตับและไตในการกำจัดสารเคมีเหล่านี้ลดลง และอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่อตับและไตได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย การหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใส่วัตถุกันเสียหรือบริโภคแต่น้อย น่าจะดีต่อสุขภาพที่สุด        -ผู้บริโภคที่แพ้ปลา ควรหลีกเลี่ยงเยลลี่พร้อมดื่มที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนจากปลา        -หากเคยดื่มเยลลี่แล้วมีอาการปวดท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน ให้สันนิษฐานว่ากระเพาะอาหารของคุณอาจไวต่อคาราจีแนน ทั้งนี้จากผลศึกษาเปรียบเทียบ 45 รายการโดยศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐ (National Center for Biotechnology Information: NCBI) เมื่อปี 2001 สรุปว่าการกินคาราจีแนนติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเสี่ยงต่อมะเร็งระบบทางเดินอาหารและลำไส้อักเสบ ข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูดhttps://consumerthai.org (เรื่อง ปลอดภัยไหม..เมื่อต้องกินอาหารที่แถมสารกันบูด)https://www.thansettakij.com/business/marketing/539834https://brandinside.asia/jelly-for-beauty-and-healthy/https://waymagazine.org (เรื่อง คาร์ราจีแนน ภัยเงียบในกระเพาะอาหาร)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 เยลลี่

เยลลี่ (Jelly) ขนมเคี้ยวหนึบสีลูกกวาดนี้ เป็นขนมที่เด็กและวัยรุ่นนิยมกันมาก มีมานานเป็นร้อยปีแล้วในแถบยุโรป และฮิตจริงจังในบ้านเรามากว่า 30 ปี ขนมเยลลี่นั้นแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือแบบเนื้อสัมผัสนุ่มชุ่มน้ำเป็นเนื้อวุ้นใสๆ กับแบบเนื้อสัมผัสหนึบหนืดคล้ายหนังยาง ซึ่งขึ้นรูปได้หลายแบบ ที่นิยมก็เช่น รูปหมี รูปดาว รูปเม็ดถั่ว ชนิดเหนียวหนึบอย่างหลังนี้จะเรียกเจาะจงลงไปว่า กัมมี่เยลลี่ (Gummy jelly) ข้อดีคือไม่แข็งอย่างลูกกวาด เคี้ยวหนึบ เพลินดี ถึงขนาดมีผลวิจัยออกมาว่าช่วยลดความแข็งกร้าวของผู้ที่ชื่นชอบการเคี้ยวกัมมี่เยลลี่หนึบๆ นี้ด้วย ในเยลลี่ประกอบด้วยน้ำหวานหรือน้ำผลไม้ สารให้ความหวาน สี(สมัยก่อนนิยมสีสังเคราะห์เพราะสดใสสุดๆปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นสีจากธรรมชาติมากขึ้น) และวัตถุที่ทำให้เกิดเนื้อสัมผัสแบบหยุ่นๆ (เนื้อเจล) เช่น เจลาติน คาราจีแนน และวุ้น (ฝรั่งเรียก Agar agar) สำหรับ เยลลี่เลิฟเวอร์ ทั้งหลาย หากเยลลี่ตัวไหนผสมเจลาติน ให้รู้ไว้ว่าไม่ได้เป็นอาหารเจ เพราะเจลาติน คือโปรตีนที่ได้มาจากการสกัดกระดูกหมูหรือกระดูกวัว เด็กและวัยรุ่น มุสลิม ก็ต้องเลือกเจลาตินที่มาจากกระดูกวัวเท่านั้นซึ่งควรระบุตรา "Halal gelatin" หรือ "Beef gelatin" ถ้าระบุ เจลาติน เฉยๆ อาจมีปัญหา และเนื่องจากเจลาตินมันสร้างปัญหา จึงมีคาราจีแนนมาเป็นตัวเลือก อันนี้ทำมาจากสาหร่ายทะเล เยลลี่ที่ผสมคาราจีแนน จึงจัดเป็นอาหารเจได้มุสลิมกินได้ เพียงแต่คาราจีแนนมันไม่เหนียวและยืดหยุ่นเท่าเจลาติน หลายบริษัทจึงยังภักดีเลือกใช้เจลาตินต่อไป   เดิมเยลลี่อาจดูเป็นขนมที่ไม่มีสาระอะไรแต่หลังๆ พัฒนาจนบางชนิดกินเพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักได้ เสริมสารอาหารได้ แต่ปัญหาที่พบคือ หลายยี่ห้อสารกันบูดเยอะเกิน ต้องระวังให้ดี ส่วนเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่าสามขวบไม่ควรให้กินขนมเยลลี่เพราะติดคอตายกันมาหลายรายแล้ว โดยเฉพาะที่ใส่ถ้วยเล็กๆ พอคำ เวลากินจะเอามาอมแล้วดูดเข้าปาก นี่อันตรายที่สุด เนื่องจากมีแรงบีบอัดสูง พุ่งเข้าหลอดลมสำลักกันมานักต่อนัก ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กกินอย่างถูกวิธี คือกัดแล้วเคี้ยวก่อนกลืน อ้อ เยลลี่แบบอัดใส่ถ้วยเล็กๆ นั้นในยุโรปเขาห้ามขายกันแล้ว เพราะกลัวเด็กจะตายเพราะเยลลี่อุดหลอดลมนี่แหละ //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 เยลลี่ กับสารกันบูด

เดี๋ยวนี้เยลลี่ไม่ได้เป็นแค่ขนมหวานทานเล่นสำหรับเด็กๆ แต่มันได้กลายเป็นอาหารมื้อหลักของสาวๆ บางคน เพราะเชื่อคำโฆษณาที่บอกว่าให้ทานเยลลี่แก้หิว กินแล้วอิ่มท้อง? กินได้ไม่ต้องกลัวอ้วน แถมเยลลี่หลายยี่ห้อกลายเป็นตัวช่วยเรื่องความสวยความงาม เพราะผู้ผลิตเขาเติมวิตามินนู้นนี่นั้น บอกว่ากินแล้วขาว กินแล้วสวย ในวันที่เยลลี่เปลี่ยนไป มีรสชาติใหม่ผลิตออกมายั่วใจทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ ฉะนั้นก่อนที่เราจะกินเยลลี่ถ้วยต่อไป จะดีมั้ยถ้าเรารู้ว่าผู้ผลิตเขาผสมอะไรลงในเยลลี่บ้าง ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่เราควรรู้ว่าเขาใส่มาให้เรามากน้อยแค่ไหน ก็คือ “สารกันบูด” เพราะเป็นสิ่งแปลกปลอมต่อร่างกาย ถ้าเราได้รับในปริมาณมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพ ถ้าใครเป็นแฟนฉลาดซื้อคงจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า เจ้าสารกันบูดในอาหารนั้น สนิทชิดเชื้อกับผู้บริโภคอย่างเราราวกับคนในครอบครัว เพราะอาหารสำเร็จรูปหลากหลายชนิดที่วางขายอยู่ในท้องตลาดล้วนแต่ผูกขาดเรื่องการใช้สารกันบูด ไล่ตั้งแต่ พวกอาหารกระป๋อง อาหารแปรรูป พวก หมูยอ ไส้กรอก แหนม กุนเชียง อาหารที่ทำจากแป้งอย่าง เค้ก ขนมปัง เนย ช็อกโกแลต อาหารที่ทำมาจากผลไม้ น้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำอัดลม แยม และแน่นอนว่ารวมถึง "เยลลี่"   แคนดี้ฟรุ๊ต -ตัวอย่าง เยลลี่ที่พบว่ามีการใช้สารกันบูดในปริมาณที่สูงที่สุด คือตัวอย่างเยลลี่ยี่ห้อ “แคนดี้ฟรุ๊ต” ผลิตโดยบริษัท แคนดี้ทอย จำกัด ซึ่งปริมาณของสารกันบูดแยกเป็น ซอร์บิค 414.20 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม และ เบนโซอิค 564.56 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม รวมพบวัตถุกันเสียทั้ง 2 ชนิดรวมกันเท่ากับ 978.76 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม ซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสูงสุดที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัมซึ่งใกล้เคียงกับปริมาณสูงสุดที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้คือ ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม       อย่าเพิ่งตกใจ -แม้จะพบปริมาณสารกันบูด แต่ก็อย่าเพิ่งตกใจ เพราะปกติเราคงไม่ได้กินเยลลี่ครั้งละ 1 กิโลกรัม อย่างเยลลี่ “แคนดี้ฟรุ๊ต” ที่ปริมาณต่อ 1 ชิ้นน้ำหนักอยู่ที่ 40 กรัมเท่านั้น พอเปรียบเทียบกับปริมาณสารกันบูดที่พบเท่ากับว่า เยลลี่ “แคนดี้ฟรุ๊ต” 1 ชิ้น จะมีสารกันบูดเฉลี่ยอยู่ที่ 39.15 มิลลิกรัม -ตัวอย่างเยลลี่ยี่ห้อ “แคนดี้ฟรุ๊ต” นอกจากจะพบปริมาณสารกันบูดสูงที่สุดแล้ว ยังพบว่าเป็นตัวอย่างที่มีปัญหาเรื่องฉลาก เพราะบอกเพียงชื่อผู้ผลิต แต่ไม่ได้บอกสถานที่ตั้ง ไม่บอกวันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุ ที่สำคัญคือไม่มีการแจ้งเรื่องการใช้สารกันบูดทั้งๆ ที่มีการใช้ในผลิตภัณฑ์ -สำหรับตัวอย่างเยลลี่อีก 4 ตัวอย่างที่พบการใช้สารกันบูด พบปริมาณซอร์บิคและเบนโซอิครวมกันไม่ถึง 300 มิลลิกรัมต่อเยลลี่ 1 กิโลกรัม   ฉลาดซื้อแนะ แม้ผลวิเคราะห์วัตถุกันเสียในขนมเยลลี่พบการใช้ เพียง 1 ใน 3 ของตัวอย่างทั้งหมด (5 จาก 15 ตัวอย่าง) และตัวอย่างที่พบว่ามีการใช้สารกันบูดก็ไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่เยลลี่ก็จัดเป็นขนม เป็นแค่ของกินเล่น ไม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ฉลาดซื้อจึงอยากขอแนะนำว่าให้กินแต่น้อยกินแต่พอดี อย่ากินจนอิ่มหรือกินแทนข้าว โฆษณาที่บอกว่าให้กินเยลลี่แทนข้าวได้ กินแทนมื้อเย็น กินแล้วอิ่มเหมือนกัน อย่าได้เชื่อโฆษณาเหล่านี้โดยเด็ดขาด เพราะแม้ว่าจะทานเยลลี่แล้วช่วยให้อิ่มท้อง แต่ถ้าเลือกกินเยลลี่แทนอาหารมื้อหลัก ร่างกายเราก็จะขาดสารอาหาร  เป็นผลเสียต่อสุขภาพ --------------------------------------------------------------------------------------------------   เยลลี่ = ฆาตกร !? ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าขนมเยลลี่ สีสันสดใส อร่อยหวานนุ่ม จะเป็นตัวการร้ายทำให้เด็กเสียชีวิตมาแล้ว?! เมื่อหลายปีก่อนเคยทีกรณีที่เด็กน้อยวัย 2 ขวบ ต้องเสียชีวิตจากการกินเยลลี่ที่คุณแม่เป็นคนป้อน เหตุเพราะเนื้อเยลลี่ที่กินเข้าไปเกิดไปติดคอ เด็กน้อยสำลักเยลลี่ หายใจไม่ออก จนสุดท้ายเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งเรื่องน่าเศร้าครั้งนี้เกิดเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตัวคุณแม่เองลืมคิดไปว่าเยลลี่แม้จะดูเป็นเนื้อสัมผัสนิ่มๆ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ของเหลว ก่อนกลืนเด็กยังต้องเคี้ยวเนื้อเยลลี่ให้ละเอียดเสียก่อน ซึ่งเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่รู้ภาษาทำให้เผลอกลืนเนื้อเยลลี่เข้าไปทันที ซึ่งจะทำให้ติดคอ สำลักเนื้อเยลลี่ ทำให้หายใจไม่ออก จนเกิดเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างที่เป็นข่าว ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เด็กน้อยวัย 2 ขวบเสียชีวิตจากการกินเยลลี่ ทำให้ อย. ต้องรีบออกมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นอีก โดย อย. ได้มาออกมาคุมเข้มเรื่องฉลากผลิตภัณฑ์เยลลี่ ที่ต้องมีการระบุข้อความคำเตือนเพื่อความปลอดภัยในการกินขนมเยลลี่ ซึ่งคำเตือนจะมีอยู่ 5 ข้อความหลักๆ ประกอบด้วย 1.เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ห้ามรับประทาน 2.ก่อนรับประทานเปิดฝาออกให้หมดทุกครั้ง (ที่มีคำเตือนแบบนี้ เพราะหลายคนที่เวลากินเยลลี่มักจะใจร้อน โดยเฉพาะพวกเยลลี่อันเล็กๆ ขนาดพอคำ ที่ยังไม่ทันจะเปิดฝาหรือพลาสติกที่ปิดบรรจุภัณฑ์ที่ใส่เยลลี่เอาไว้ให้เสร็จเรียบร้อย ก็จะรีบดูดเนื้อเยลลี่กินกันแล้ว ซึ่งแบบนี้เสี่ยงอันตราย เพราะเวลาที่เราดูดเนื้อเยลลี่แรงๆ เนื้อเยลลี่อาจจะพุ่งเข้าคอ ทำให้เราสำลัก หายใจติดขัด อาจจะเป็นเหตุให้ขาดอากาศหายใจ ยิ่งถ้าเป็นเยลลี่ชนิดที่มีการผสมอย่าง บุก วุ้นมะพร้าว ยิ่งต้องระวัง เพราะเนื้อสัมผัสของส่วนผสมเหล่านี้มีความเหนียวยิ่งกว่าเนื้อเยลลี่เสียอีก) 3.ห้ามวิ่งเล่นหรือนอน ขณะรับประทาน 4.เคี้ยวก่อนกลืนทุกครั้ง 5.รับประทานอย่างช้าๆ อย่าเร่งรีบ ระวังสำลัก โดยคำเตือนเหล่านี้จะต้องไปปรากฏอยู่ทั้งบนฉลาก ในโฆษณาไม่ว่าจะทางทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ เพื่อบอกเตือนคนที่ชอบกินเยลลี่ โดยเฉพาะเด็กๆ ให้อร่อยอย่างระมัดระวัง   “กินเยลลี่แทนข้าว” ความเชื่อผิดๆ ที่ไม่ควรทำตาม หลายคนน่าจะเคยได้เห็นโฆษณาที่บอกประมาณว่า ทานเยลลี่แล้วอยู่ท้องเหมือนกินข้าว ใครไม่อยากอ้วนก็ให้กินเยลลี่ ไม่ต้องทานมื้อเย็น ซึ่งฉลาดซื้ออยากบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ผิด และไม่ควรทำตามอย่างยิ่ง เพราะแม้ทานเยลลี่แล้วจะช่วยทำให้อยู่ท้อง แต่ว่าเราจะไม่ได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย แม้ในโฆษณาจะอ้างว่ามีการใส่วิตามินนู้นนี่นั้น แต่ก็น้อยมากๆ สู้เรากินอาหารธรรมดาทั่วไป กินพวกผัก ผลไม้ ยังจะได้วิตามินมากกว่า แถมร่างกายยังได้สารอาหารครบถ้วน ถ้าอ่านในคำเตือนบนฉลากพวกผลิตภัณฑ์เยลลี่ จะเห็นคำเตือนว่า “เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรรัประทาน” เหตุผลก็คือ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่มีประโยชน์ หากกินเข้าไปแล้วจะทำให้อิ่ม ทำให้กินอาหารอย่างอื่นไม่ลง ร่างกายก็จะขาดสารอาหาร ซึ่งเด็กๆ และคนที่กำลังจะเป็นคุณแม่ ควรได้รับประโยชน์จากสารอาหารที่ครบถ้วนและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งสิ่งที่เราได้จากการกินเยลลี่หลักๆ ก็คือ น้ำตาล ซึ่งในเยลลี่ที่บอกว่ากินแล้วอิ่มท้องไม่ต้องกินข้าว 1 ถ้วย หรือ 1 ซอง จะมีน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 6 – 10 กรัม ซึ่งใน 1 วันเราไม่ควรได้รับน้ำตาลเกิน 24 กรัม เท่ากับว่าเฉลี่ยแล้วเราได้รับน้ำตาลจากการทานเยลลี่ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณน้ำตาลที่เหมาะกับร่างกายของเราใน 1 วัน แม้อาจจะดูไม่มาก แต่อย่าลืมว่านี่คือการที่เราทานน้ำตาลล้วนๆ โดยไม่ได้รับสารอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์กับร่างกายเลย นอกจากนี้เรายังได้รับสารสังเคราะห์ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สีผสมอาหาร สารวัตถุกันเสีย ซึ่งสารพวกนี้ถ้าร่างกายเรารับมากๆ ก็อาจมีผลเสียต่อสุขภาพ คิดดูแล้วไม่ต่างอะไรกับการที่เราดื่มน้ำหวานน้ำอัดลม เพราะฉะนั้นอย่ามองเยลลี่เป็นอาหารมื้อหลัก อย่าเลือกเป็นเมนูแทนการกินข้าว เพราะเราจะไม่ได้สารอาหารอะไรเลย หากอยากเลือกความสะดวก ให้เลือกเป็นการดื่มนม ดื่มน้ำเต้าหู้ หรือกินโยเกิร์ตน่าจะดีกว่า แต่อย่างไรเสียการอาหารให้หลากหลายให้ได้สารอาหารครบทั้ง 5 หมู่คือสิ่งที่ดีที่สุด    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point