ฉบับที่ 272 ภัยการเงินในเด็กและเยาวชน

        กลางปีที่ผ่านมา  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เผยข้อมูลภาพรวมการทำงานรับเรื่องร้องเรียนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 พบปัญหาผู้บริโภคอันดับต้นๆ คือถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงในหลากหลายรูปแบบ และที่น่าวิตกอย่างมาก คือมีเยาวชนจำนวนมากถูกหลอกให้ทำธุรกรรมด้านการเงินมากขึ้นและมากขึ้น  อีกทั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้เรายังได้เห็นข่าวเด็กและเยาวชนถูกหลอกให้ซื้อโทรศัพท์แต่ไม่ได้ของทั้งยังไม่ได้เงินคืน  หรือหลายคนถูกหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้า ซึ่งนำมาสู่การตัดสินใจจบชีวิตลง นับเป็นสถานการณ์ที่น่าสะเทือนใจของสังคม         รู้หรือไม่ว่า ภัยการเงินในโลกออนไลน์เป็นความเสี่ยงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ติด 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญระดับโลก         ในประเทศไทยข้อมูลจาก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-30 มิถุนายน 2566) จำนวนคดีที่มีผู้เสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เข้าแจ้งความ 287,122 เรื่อง มาจาก 14 ประเภทคดี มูลค่าความเสียหายรวมอยู่ที่ 39,847,206,321 ล้านบาท โดยภัยการเงินทางออนไลน์เกิดขึ้นแล้วใน 7 กลุ่มประเภทคือ หลักๆ คือ 1.ซื้อของออนไลน์ จากโซเชียลมีเดีย ทั้งที่ไม่รู้จัก   2.หลอกยืมเงิน คนร้ายแฮกข้อมูลจากคนใกล้ตัวของเรา 3.หลอกจะให้ทำงาน  4.หลอกให้โอนเงิน / ลงทุน  5. หลอกให้จ่ายภาษี  6. หลอกให้ผ่อนสินค้าแทน 7. โรแมนส์ สแกม         ปัญหาเหล่านี้ ยิ่งซับซ้อนและแพร่ระบาด เมื่อลงไปในกลุ่มเปราะบางคือ เด็กและเยาวชน สำรวจภัยการเงินที่เข้าหาเยาวชนผ่านเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ข้อมูลเฉพาะในปี 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนภัยทางเงินออน์ไลน์ที่เข้ามาหาเยาวชนหลากหลายลักษณะ มีตัวอย่างดังนี้           กรณีที่ 1 เด็กอายุ 12 ปีถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคา กว่า 60,000 บาท         เรื่องราวของคุณเบญจวรรณ ที่ลูกสาวอายุ 12 ปี เห็นสื่อโฆษณาให้ผ่อนมือถือ ราคา 60,000 บาท ใน Instragram และหลงเชื่อโอนเงินไปให้หลายครั้ง  โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และไม่ปรึกษาพ่อแม่ ต่อเมื่อพ่อแม่ได้รู้ขอคืนเงินกับทางร้านและไม่ยอมคืนเงิน จนคุณเบญจวรรณขู่จะดำเนินคดีจึงได้เงินคืนในที่สุด          กรณีที่ 2 โดนหลอกเปิดซิมเป็นหนี้หลักหมื่น!         นักศึกษามหาวิทยาลัยปี 1 ที่ต้องการหารายได้เมื่อห็นข้อความโฆษณาว่า “เงินเดือนหลักหมื่น! เป็นลูกจ้างบูธขายมือถือในห้างฯ รับทั้งแบบประจำและฟรีแลนซ์ จึงหลงเชื่อและสมัครแต่กลับถูกหลอกให้ไปลงทะเบียนซิมกับค่ายมือถือเพื่อยืนยันตัวตน จึงจะได้รับการพิจารณารับเป็นพนักงาน โดยมิจฉาชีพได้พาน้องนักศึกษาไปถึงศูนย์บริการและหลบหายไป เมื่อนักศึกษาเปิดซิมโทรศัพท์ได้ทั้ง 3 เบอร์โทรศัพท์แล้วจึงกลับมา 3 เดือนต่อมา นักศึกษาคนดังกล่าวถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจาก 3 ค่าย มือถือรวมกับค่าปรับเป็นเงินกว่า 2 หมื่น ทำให้นักศึกษา และคุณแม่เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะถูกหลอก ไม่ได้ทำงานและยังเสียเงินอีกด้วย           กรณีที่ 3 ขายตรง ขายฝัน ลวงเด็ก         เมื่อนักศึกษาหญิงวัย 17 ปี อยากมีรายได้และได้รับการชักชวน จาก UP LINE ของบริษัทขายตรงยักษ์ใหญ่สัญชาติตะวันตกรายหนึ่ง ( ไม่ใช่ แชร์ลูกโซ่ ) จึงขอเงินจากคุณพ่อเพื่อสมัครสมาชิก 1,500 บาทและได้รับคำแนะนำจากพ่อขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปากกา ยาสีฟัน ต่อมาผู้เป็นพ่อได้รับโทรศัพท์และรู้ว่าลูกสาวไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อคอร์สดดูแลสุขภาพของบริษัทขายตรงดีงกล่าวราคา 15,000 บาทเพราะถูกชักชวนว่าหากไม่เคยทดลองใช้บริการเองจะขายสินค้าและบริการของบริษัทไม่ได้   นักศึกษาจึงไปกู้เงินในกลุ่มทวิตเตอร์ ที่เด็กๆ ปล่อยเงินกู้กันเองแต่กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยราคาแพง จากนั้นยังถูกชักชวนให้เล่นพนันออนไลน์ สุดท้ายเป็นวังวนที่ไม่สามารถปิดหนี้กับบริษัทขายตรงได้  และทำให้มีหนี้สินรวมกว่า 5 หมื่นบาท  สาเหตุที่เราถูกหลอกและเยาวชนคือเหยื่อที่กำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ         ทำไมมิจฉาชีพจึงหลอกเราได้ ข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ระบุว่า ประชาชนตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ เพราะมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ทำให้หลงเชื่อได้คือ          1.เทคโนโลยี ปัจจุบันสามารถ ปลอมเบอร์ ปลอมเอกสาร เปลี่ยนชื่อผู้ส่งให้ปลายทางเห็นว่าเป็นหน่วยงานใดก็ได้  หลายเรื่องประชาชนยังไม่ทราบว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำได้ เมื่อไม่มีความรู้จึงหลงเชื่อ         2. มีการซื้อขายข้อมูลกันจริงในประเทศไทย และยังมีข้อมูลรั่วไหล         3.มิจฉาชีพใช้จิตวิทยาสร้างความน่าเชื่อถือ โน้มน้าวและกดดัน ทำให้รีบตัดสินใจ         4. คนไทยยังขาดวินัยทักษะทางการเงินที่ดี  มีหนี้สินครัวเรือนสูง         การตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์จึงเป็นปัญหาเชิงระบบ เป็นปัญหาที่มีมิติที่ซับซ้อนเกิดจากหลายปัจจัยและเมื่อมิจฉาชีพเจาะกลุ่มลงมาที่กลุ่มเยาวชน ปัญหาจึงยิ่งบานปลาย          สพลดนัย  พระธรรมมัง  อายุ 17  ปี เลขานุการสภาเด็กและเยาวชน  จังหวัดชลบุรี  กล่าวว่า         “ผมเกิดมาในยุคที่มีโซเชียล มีอินเตอร์เน็ตแล้ว เราโตมากับสิ่งนี้ เราไม่มีความเข้าใจเปรียบเทียบว่าก่อนหน้านี้มีความปลอดภัยที่มากกว่านี้อย่างไร ซึ่งเราจะเน้นติดต่อกันทางโซเชียลตลอดและอาจจะทำให้พวกเราคิดว่าโลกโซเชียลที่เราใช้อยู่ปลอดภัยและเวลาที่เราคิดจาทำอะไรสักอย่าง  ด้วยความเป็นเด็ก เราอาจจะไตร่ตรองไม่ได้มากพอ  สิ่งที่เราทำไป เราคิดว่าไม่ได้มีผลต่อเรามากขนาดนั้น จนอาจเกิดเหตุการณ์  ผลกระทบกับเราไปแล้ว เราถึงรู้ทีหลังว่าไม่ทันแล้ว  ซึ่งเรามักจะไม่ค่อยกล้าปรึกษาผู้ใหญ่ เพราะกลัวการถูกต่อว่า”           ในปี 2565  กรมกิจการเด็กและเยาวชนเผยว่า เด็กไทยร้อยละ 81  มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง ร้อยละ 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน wi-fi ที่บ้าน ซึ่งการมีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนเป็นของตนเองนั้น ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงและใช้อินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การเสี่ยงภัยออนไลน์เพิ่มมากขึ้น 40% ประกอบกับมิจฉาชีพเข้าหาเยาวชนด้วยการโน้มน้าว เชิญชวนให้เล่นพนัน ฝากเงินได้แม้ในจำนวนไม่มากเพียงหลัก 30 – 50 บาท ก็สามารถทำได้ ทำให้เยาวชนอาจประมาทหลงเข้าไปทำธุรกรรมแต่กลับทำให้ถูกดูดข้อมูล ข่มขู่ได้         ปัจจุบันพบว่ามีบัญชีม้าอยู่ในระบบธนาคารแล้วจำนวนมากถึง 200,000 - 500,000 บัญชี จากบัญชีธนาคารในประเทศทั้งหมดกว่า 121 ล้านบัญชี และยังพบรายชื่อผู้เข้าข่ายบัญชีม้าเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละกว่า 1,000 รายชื่อ         นี่จึงเป็นองค์ประกอบที่พร้อมให้ภัยการเงินทางออนไลน์ยิ่งระบาด เมื่อเด็ก เยาวชนไทยส่วนใหญ่มีเครื่องมือการสื่อสารแล้วแต่กลับแวดล้อมด้วยมิจฉาชีพให้เข้าถึงได้ทุกเมื่อ และเมื่อถูกหลอกแล้วก็ยากแสนยากที่จะได้ทรัพย์สินที่สูญหายไป กลับคืนมา  เราจะดูแลเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากภัยการเงินออนไลน์ได้อย่างไร         คุณเบญจวรรณ ดำรงกิจการ  แม่ของเด็กหญิงวัย 12 ปีที่ได้เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องการทำนิติกรรมของผู้เยาว์ หลังจากบุตรสาวได้ถูกหลอกให้ผ่อนมือถือราคากว่า 60,000 บาท เมื่อคุณเบญจวรรณทราบเรื่องและได้คำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและยืนยันจะดำเนินคดีกับมิจฉาชีพให้ถึงที่สุด สุดท้ายจึงได้รับเงินคืนเล่าว่า         “ลูกสาวน่าจะเห็นโฆษณาให้ผ่อนมือถือจากใน IG  เลยกดเข้าไป เขายังไม่มีบัญชีธนาคาร  แต่มีบัญชีทรูมันนี่ วอลเล็ทจึงโอนผ่อนจากตรงนั้น โทรศัพท์ราคา 60,000 บาท ลูกเราอยากได้ บอกกับทางร้านว่าพ่อแม่อนุญาตแล้ว แล้วเขาผ่อน 5 บาท บ้าง 100 บาทบ้าง ครั้งที่โอนเยอะที่สุด คือ 500 บาท ทางร้านก็บอกว่า ผ่อนมากน้อยไม่เป็นไร ขอให้โอนมาเรื่อยๆ พอเรารู้เราถามลูกว่า หนูลองคำนวณดูสิ  หนูผ่อนเท่านี้ อีกกี่ปีจะได้มือถือ คิดแล้ว 10 ปีแต่เด็กเขาอยากได้ เขายังเชื่อก็บอกเราว่า ‘แต่ร้านบอกว่า ถึงเวลานั้นหนูก็เปลี่ยนเครื่องได้นะแม่’  คือความไร้เดียงสาของเด็ก เขาไม่ได้คิดรอบคอบ ไม่ได้มองไปไกลๆ ได้”         “เรารู้ว่าลูกแอบผ่อนมือถือ เพราะเราแอบดูมือถือเขา เวลาที่เขาหลับ การที่ลูกมีโทรศัพท์มือถือไม่ได้หมายความว่า  เราจะไม่สามารถรู้เรื่องของเขาได้ เราตกลงกับลูกเลยว่า ตราบใดที่ลูกยังไม่บรรลุนิติภาวะ เราจำเป็นต้องมีรหัสเข้าดูมือถือเขา พอเกิดเรื่องนี้ขึ้น เราเอามาเป็นโอกาสที่เอาข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแชร์กับลูก ว่ามีความจำเป็นอะไรที่แม่ต้องเข้าไปดู เราคิดว่าพ่อแม่ปัจจุบันต้องใส่ใจในทุกสิ่ง แล้วต้องมีวิธีการในการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับลูกว่า เราไม่ได้ละเมิดสิทธิพื้นฐานของลูกนะ แต่มีความจำเป็นว่าถ้าเราปล่อยให้เขาตัดสินใจโดยที่เราไม่รับรู้ด้วยที่เขายังไม่บรรลุนิติภาวะจะมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง”         ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาคลินิก สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยว่า  การที่เด็กและเยาวชนถูกหลอกตกเป็นเหยื่อภัยการเงินทางออนไลน์ มีปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ปัจจัยภายในคือ เด็กและเยาวชนยังมีพัฒนาการทางสมองด้านอารมณ์ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กมีความสามารถในการ เข้าใจ วางแผน การคาดคะเนเหตุการณ์ได้ไม่เท่าผู้ใหญ่ สมองส่วนอารมณ์ของเขายังหุนหัน พลันแล่น เป็นช่วงชีวิตที่จะเจ้าอารมณ์ ส่งผลให้เมื่อโดนหลอก มีปัญหาชีวิตเขาอาจจะจัดการได้ไม่เหมาะสม ทำร้ายตัวเองและหลายรายจบชีวิตตัวเองแบบที่ได้เห็นตามข่าว         “ ส่วนปัจจัยภายนอก คือมิจฉาชีพที่เขาเข้ามาหลอก ต้องยอมรับว่าเขาก็พัฒนา วิธีการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา แล้วเราก็อยู่ในสังคมที่มีการซื้อขายข้อมูลด้วย  ถ้าใครมาพูดถึงข้อมูลส่วนตัวของเราที่เราไม่เคยบอกใคร เขาก็ดูน่าเชื่อถือขึ้นมาแล้ว คือไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเดินให้เขาหลอก การถูกหลอกจึงเกิดขึ้นได้เพราะมีหลายปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราไม่อาจบอกได้ง่ายๆ ว่าเพราะเธอโง่หรือไม่ฉลาด ไม่ใช่เรื่องที่จะสามารถนำมาบูลลี่ได้ เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่หรือหมอ ก็ถูกหลอกได้หมด เราก็เห็นมาแล้ว”         ธนกฤษ ชี้ชวนให้เห็นว่า ความสำคัญคือการรับมือหลังจากเมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นแล้วว่าครอบครัวสามารถเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กได้พราะสุดท้าย ด้วยความเป็นเด็กย่อมต้องการคำแนะนำและความช่วยเหลือ         “ บางครอบครัวบอกว่า มีอะไรมาบอกพ่อแม่ได้ทุกเรื่องนะ แต่พอมาเล่าแล้วโดนว่า “ทำไมถึงทำอย่างนั้น” “ไม่ฉลาดเลย” เด็กก็ได้รับ Feedback ที่ไม่ดีไป เขาก็เกิดการเรียนรู้ว่ามาปรึกษาพ่อแม่ไม่ได้นะ บางบ้านพ่อแม่อาจจะบอกตลอดว่า “ระวังนะ มันมาหลอก อย่าไปหลงเชื่อนะ” แต่วันนึงเมื่อตกเป็นเหยื่อ เขาเลยอาจจะคิดว่า เออ เรามันโง่จริงๆ แหละ พ่อแม่เตือนแล้วเด็กเขาดีลกับความกังวลได้ไม่นาน ก็จะเครียด จะเศร้า สุดท้าย อ่ะ ตายดีกว่าไหมล่ะ ตัวเองมองแล้วมันแก้ไขปัญหาไม่ได้ไง”         “การเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้ลูกหลานในครอบครัวของเราได้ ซึ่งในทางจิตวิทยาจะบอกว่าสัมพันธภาพของเรากับเขาดี พอดีแล้วเมื่อเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ประตูในการแก้ไขปัญหาเรามีมาก ที่เรามักจะได้ยินว่า เลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน ไม่ตัดสิน ไม่วิพาก์วิจารณ์หรือตำหนิ อาจเป็นเรื่องที่ยังยากสำหรับบางครอบครัว แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องฝึก ค่อยๆ ฝึกเพื่อดูแลลูกหลานของเราเอง สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ถ้าปัญหายังไม่เกิดกับคุณ ลองถามตัวเองว่าถ้าเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น แล้วเราโกรธไหม เราโกรธแล้วเราทำอะไร เรายังอยากจะรับฟังปัญหา ความรู้สึกของลูกไหม เพราะการรับฟังจริงๆ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว เราต้องสำรวจความคิดของเราว่าเป็นอย่างไร แล้วเราต้องปรับความคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่มีใครผิด ใครถูกที่แท้จริง คนเป็นพ่อแม่ต้องกลับมาศึกษาอารมณ์ ความคิดของตัวเองว่าเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว เราจะถามลูกว่า “ ทำไมลูกถึงมีปัญหา  ทำไม”  “ลูกไม่ได้คิดเหรอ” หรือเลือกจะรับฟังอย่างตั้งใจ แค่นี้เราก็ตอบได้แล้วว่าเราเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยให้กับลูกหลานได้หรือไม่ นี่คือจุดเริ่มต้น  ส่วนการตรวจเช็คโทรศัพท์ ผมคงไม่บอกว่า ทำอะไรดีหรือไม่ดี แต่ละบ้านย่อมมีความเหมาะสมที่จะทำอะไรได้แตกต่างกัน และถ้าสัมพันธภาพกับเด็กไม่ดี เราทำอะไรลงไปอาจจำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ก็ได้ แต่พัฒนาการช่วงวัยรุ่น เขาต้องการพื้นที่ส่วนตัวแล้วเขาหวง และผมมองว่า เราจะเช็คโทรศัพท์เขาทุกครั้งที่เรากังวลมันช่วยลดความกังวลของเราเอง หรือช่วยป้องกันลูกได้จริงๆ ผมมองว่า การพูดคุย แลกเปลี่ยนกันตลอด ว่าตอนนี้มีแบบนี้นะ หนูเจอแบบนี้บ้างไหม “ถ้าหน่วยงานราชการจริง ตำรวจจริง เขาไม่โทรหาเราครั้งเดียวหรอก เดี๋ยวเขาต้องมาหาเราเอง” ให้มีการแลกเปลี่ยนกันเป็นปกติ แล้วมีอะไรเขาเองที่อยากมาแลกเปลี่ยน มาเล่าให้เราฟังแบบนั้นน่าจะดีที่สุด”         นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เผยว่า ภัยการเงินในเด็กและเยาวชนที่มีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเรื่องการถูกหลอกไปเปิดซิมจำนวนมาก ซึ่งแม้หลายคนจะได้ทราบว่ากฎหมายการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 กำหนดโทษไว้ในมาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้บัญชีเงินฝาก (บัญชีม้า) หรือให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้เลขหมายโทรศัพท์ (คนเปิดซิมม้า) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ยังอาจชะล่าใจว่าเมื่อเป็นเด็กจะได้รับโทษลดลง แต่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ไม่ง่ายเลย         “กรณีที่เป็นเด็กและเยาวชน แน่นอนว่าเมื่อทำผิด ก็มีกระบวนการทางกฎหมายที่เน้นไปที่การบำบัด แก้ไขเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม  แต่สิ่งที่ได้รับเหมือนๆ กันคือการถูกเรียกเก็บเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซึ่งเราจะเห็นว่าสุดท้ายผู้ปกครองก็จะเข้ามารับผิดชอบตรงนี้ หรือบางรายเด็กต้องการแก้ไขปัญหาเองก็กลายเป็นทำให้หาทางออกที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพมากขึ้น”         “ เรื่องภัยการเงินทางออนไลน์เป็นเรื่องที่เราต้องช่วยกันดูหลายฝ่ายจริงๆ แต่ดิฉันคิดว่าทางออกที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องเยาวชนของเราและทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ คือการปลูกฝังเรื่องวินัย ทักษะความรอบรู้ทางการเงิน เริ่มจากเราสังเกตลูกหลานของเราว่าตอนนี้เขามีการใช้เงินอย่างไร มีระเบียบไหม และเราเองสามารถจะเป็นคนที่แนะนำให้ความรู้กับเขาได้ไหม เพราะจุดเริ่มต้นหลักๆ ที่ทำให้เราตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ คืออยากได้เงิน เมื่อเกิดปัญหา เรายิ่งต้องการเงินแต่เราไม่มี เราก็ไปกู้นอกระบบ ยิ่งทำให้สร้างปัญหาไปเรื่อยๆ  และยิ่งตอนนี้เราเห็นว่า มีบัตรเครดิต บัตรต่างๆ ให้นักศึกษาใช้ แม้คนกลุ่มนี้เขาจะยังไม่มีรายได้ประจำก็ตาม แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย สุดท้ายเป็นครอบครัวที่จะรับผลที่เกิดขึ้น”คำแนะนำเพื่อเฝ้าระวัง สร้างความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ สื่อสาร        ·     หมั่นติดตามข่าวสารอยู่เสมอจะทำให้รู้เท่าทัน  เทคนิค วิธีการที่มิจฉาชีพใช้         ·     พูดคุย สร้างความเข้าใจและอัพเดตภัยการเงินต่างๆ ในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ         ·     ปลูกฝังวินัย ทักษะทางการเงินให้แก่เด็กและเยาวชนตั้งแต่ลูกยังเด็ก         ·     ติดตามความรู้การเงินการลงทุนดีๆ เพื่อเห็นโอกาสในการลงทุนที่ปลอดภัย น่าเชื่อถือ        ·     ตั้งค่าการใช้แอพลิเคชันที่ใช้อยู่เป็นประจำให้ปลอดภัย เช่น ไม่ใช้รหัสผ่านที่เป็นเบอร์โทรศัพท์ หรือ วัน เดือน ปีเกิด ไม่เชื่อมต่อแอพลิเคชั่นต่างๆ ให้ลิ้งค์เข้าหากัน เพื่อป้องกันการถูกดูดข้อมูล หรือการตั้งค่าไลน์ไม่ให้บุคคลสาธารณะเข้าถึงได้ให้กับมือถือของบุตรหลาน เป็นต้น         ·     ไม่ซื้อของออนไลน์จากร้านที่ไม่รู้จักหรือ ควรโทรไปสอบถามให้บ่อยครั้ง จนแน่ใจก่อน         ·     ไม่โอนเงินลงทุน หรือหลงเชื่อคนที่รู้จักแต่ติดต่อมาทางออนไลน์ เพราะบุคคลดังกล่าวอาจถูกแฮกข้อมูลได้ ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อน          ·     ก่อนกรอกข้อมูลบัตรเครดิต หรือข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ในเว็บไซต์ใดๆ ควรตรวจความปลอดภัยของเว็บไซต์ก่อนด้วยการเข้าไปตรวจเช็คโดเมนเนมของเว็บไซต์ว่าปลอดภัย เชื่อถือได้หรือไม่        ·     ระมัดระวังการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปปลอมจาก google play เพราะแอปปลอมจะอนุญาตเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ในเครื่องได้        ·     เลือกลงทุนในบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เท่านั้น โดยเข้าไปตรวจทะเบียนรายชื่อ Investor Alert ในเว็บไซต์ ก.ล.ต. ( www.sec.or.th ) หรือแอปพลิเคชัน SEC Check First        ·     ทุกการทำธุรกรรม การโอน การลงทุน เก็บหลักฐาน ข้อมูล รายละเอียดไว้เสมอเพื่อเป็นหลักฐานในการติดตามหาตัวคนร้ายในภายหลังได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 260 “เยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน” เสริมทักษะชีวิตให้เยาวชนเป็นพลเมืองมีชีวิตที่มีคุณภาพ เท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์

        “นักเรียน ม.5 ถูกหลอกโอนเงินเพราะกลัวพ่อแม่ติดคุก”  “แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเงินเด็กน้อยวัย 10 ขวบ เป็นเงิน 1.2 ล้านบาท”  หลายครั้งที่เยาวชนถูกล่อลวง  ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพสูญเสียเงินไปจำนวนมาก ในระดับประเทศปัจจุบัน เรายังกำลังเผชิญกับภาวะที่คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2564 หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 14.27 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทยไม่มีพฤติกรรมการออม  ส่งผลให้มีฐานะทางการเงินที่เปราะบางมาก  ยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเหตุร้องเรียนเรื่องบัตรเครดิต การชำระหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากที่สุดตลอดการทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย  จัด ‘โครงการเยาวชนเท่าทันทางการเงิน’ พัฒนาหลักสูตร สร้างความตระหนักรู้ทางการเงิน และเพิ่มทักษะในการบริหารจัดการการเงินให้แก่เยาวชน แล้วกว่า 30 โรงเรียน ตั้งแต่ปี  2563  ถึงปัจจุบัน           ฉลาดซื้อได้พูดคุยกับน้องเยาวชนหลายคนที่ได้เข้าอบรม โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เสียงของพวกเขา สะท้อนกลับมาถึงมูลนิธิฯ อีกครั้งว่า การมีความรู้และทักษะด้านการเงินจะช่วยคุ้มครองเยาวชนและช่วยติดอาวุธให้พวกเขาเติบโตเป็นพลเมืองที่มีชีวิตที่มีคุณภาพเป็นผู้บริโภคที่จะสามารถรักษาสิทธิของตนเองได้ต่อไป            ด.ช. อดิสรณ์   ปรีชา  (ดัมมี่)  ชั้น ม.2/2           “ตอนแรกเห็นชื่อหลักสูตร เยาวชนเท่าทันทางการเงิน คิดว่าจะน่าเบื่อครับ  แต่พอได้มาเข้าเรียนแล้วสนุก แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่เราควรต้องรู้ด้วย เรื่องภัยการเงินออนไลน์ เป็นเรื่องใกล้ตัวผมมาก เพราะว่าคนรอบข้างหลายคนก็เจอปัญหานี้         เรื่องการออม เป็นเรื่องสำคัญมาก  เราควรสนใจ เพราะหลายๆ เรื่อง ถ้าวันนี้เราไม่สบาย เราจะทำอย่างไร  เรื่องการเงินเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนจริงๆ สิ่งที่ผมได้คิดจากการเข้าร่วมอบรม 2 วันนี้ครับ   นอกจากเรื่องการเงินแล้ว  มีความรู้เรื่องสิทธิของผู้บริโภคมากขึ้นด้วย         ฝากถึงเพื่อนเยาวชนรุ่นเดียวกันที่อาจไม่ได้มีโอกาส เข้ามาเรียนรู้ว่า   เรื่องการเงินเป็นเรื่องสำคัญ   เราอยู่ในยุคที่เรามีช่องทางที่หารายได้มากขึ้น  แต่เราก็ถูกล่อลวงได้จากหลายช่องทางได้เช่นกัน   และเราเป็นเยาวชน อายุเรายังเท่านี้  ถ้าเรามีความรู้เรื่องการเงิน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ต่างๆ  เราจะวางแผนการเงิน รายได้ รายจ่ายได้ดีขึ้นครับ  ผมคิดว่าเป็นเรื่องนี้จะทำให้ชีวิตมีคุณภาพดีได้ ที่สำคัญ ความรู้นี้เรายังเอาไปใช้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ของเราได้ครับ  ”           ด.ญ. พรทิพย์  ทองเปราะ  (มุก)  ชั้น ม.2/1          “เคยมี call center  โทรมาบอกว่า บัญชีหนูไปทำธุรกรรมอะไรไม่รู้ ที่มันไม่ดี หนูก็วางสายไปเลยเพราะว่ากลัวโดนหลอก เรื่องแบบนี้ เขาโทรหาใครก็ได้ เขาไม่ได้โทรหาคนมีเงิน เด็กแบบหนูก็โดนได้ แม่หนูก็โดน   นอกจากนี้ ยังเสี่ยงจากการไปกู้หนี้นอกระบบ โดนทำร้ายร่างหาย ตอนนี้ก็เห็นกันเยอะเลย         วันนี้มาเรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงินแล้วดีใจมาก ได้ความรู้เรื่อง การออม  การเก็บเงิน การใช้เงิน  สิทธิของผู้บริโภค   รู้เท่าทันการโกงต่างๆ มากขึ้น แล้วรู้ว่าถ้าเกิดขึ้นจะต้องทำยังไงต่อไป   นอกจากความรู้แล้ว ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน น้องในกลุ่มเดียวกัน ตอนแรกไม่รู้จักกันแต่ช่วยกันทำ  ได้มาช่วยกันคิดตลอดเลย         ฝากถึงเพื่อนวัยเดียวกัน คืออยากให้ระวังตัวไว้หน่อยพวก call center  พวกเป็นหนี้ ยืมเงินเพื่อน ไม่อยากให้ยืมเงินเพื่อนบ่อย เด็กๆ  เรามีการยืมเงินกันจริงๆ นะคะ อยากให้ระวังการใช้เงิน แล้วการวางแผนการเงินสำคัญมาก  ถ้าเรามีสิ่งที่เราอยากได้ แล้วเราวางแผนการใช้เงิน การหารายได้ดีๆ และทำจริงจัง มันเป็นไปได้ค่ะ ”         ด.ญ. อาทิตยา   เบิกสันเทียะ (ใบหยก)  ชั้น ม.1/1          “เรียนหลักสูตรเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน แล้วได้อะไรบ้าง  รู้เรื่องการออม สิทธิของผู้บริโภค เรื่องที่เป็นแรงบันดาลใจให้หนูมาก คือการหารายได้ อยากรวย   เพราะครอบครัวหนูลำบาก ก็อยากให้พ่อแม่ สบาย หนูเลยทำงานมีรายได้แล้ว  หนูรับจ้างล้างห้องน้ำ มีรายได้เดือนละ 200- 300  บาท นอกจากหารายได้แบบนี้ หนูก็คิดว่า ตอนนี้ทางออนไลน์ มีหลายช่องทางที่หนูสามารถหารายได้ได้ แต่ก็ต้องระวัง เพราะมีล่อลวง ต่างๆ  ตามมาด้วย         รู้เรื่อง สิทธิผู้บริโภค ก่อนหน้านี้ หนูว่ารู้ว่าผู้บริโภคคืออะไรจากการเรียน เศรษฐศาสตร์  คือรู้แค่หลักการความหมายว่า ผู้บริโภค คือใคร   ผู้ผลิตคือใคร  แต่การเรียนรู้จากหลักสูตร ทำให้หนูเข้าใจสิทธิของผู้บริโภคเราว่าไม่ใช่แค่คนที่มาซื้อของ เรามีสิทธิที่ตามมาด้วย         รู้สึกดีใจ ที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้ามาทำกิจกรรมภายในโรงเรียน หนูกับเพื่อนๆ และรุ่นพี่ เลยได้มาเรียนรู้ และมาทำกิจกรรมด้วยกัน ฝากบอกเพื่อนๆ  รุ่นเดียวกันว่า เราลองหันมามอง ศึกษาเรื่องที่เราอาจคิดว่ามันน่าเบื่อ ทั้งที่เราก็รู้ว่าเป็นปัญหารอบตัวเรา และเราจะได้ประโยชน์มากๆ  ลองเปิดใจ เรียนรู้ เราจะไม่โดนโลกจากข้างนอกหลอกเราได้ค่ะ”        ด.ญ. มัญฑิตา   เฮงสวัสดิ์  (แพว) ม.2/1           “หนูเป็นเด็ก แม้จะยังไม่มีรายได้ หรือหารายได้เองไม่ได้แต่หนูก็จำเป็นที่ต้องรู้เรื่องการเงิน  อนาคต เราต้องเก็บเงินไว้เพื่ออนาคต  ตอนนี้ยิ่งมีภัยออนไลน์ต่างๆ  เขายิ่งคิดว่าเด็กไม่รู้จะจัดการแก้ปัญหาอย่างไร ก็จะตกเป็นกลุ่มเป้าหมายได้ ที่ผ่านมา คนใกล้ตัวหนูก็เจอปัญหาค่ะ เสียเงินจากการสมัครงานออนไลน์  เป็นเพื่อนในห้องเรียน เคยโดนหลอก เพื่อนไปลงทุนกับงานๆ หนึ่งไป เสียค่าสมัคร 50 บาท  แต่พอเข้าไปแล้ว ไม่ได้ทุนคืนมาด้วยซ้ำ         หนูดีใจแล้ว ที่โรงเรียนได้เปิดโอกาสให้เรียนรู้เรื่องนี้  เรื่องการออมเงิน  แรงบันดาลใจที่ได้ คือ หนูอยากออมเงินให้มากขึ้น เพราะว่าเป็นคนใช้เงินฟุ่มเฟือย แล้ว หนูมีความฝัน อยากเป็นหมอจิตเวช  ยังมีอนาคตการเรียนอีกไกลที่ต้องใช้เงิน การออม การวางแผนรับ - รายจ่ายจะช่วยหนูได้ ”          ด.ช. นิรักษ์  กองกูล (ติว) ชั้น ม.2/1         “เรื่องการออม การวางแผนการเงิน มีความสำคัญมากครับ เพราะว่า เด็กและเยาวชนบางคนอาจจะไม่ได้รู้อะไรมาก อาจจะไปหลงเชื่อได้ เท่าที่ผมเคยเจอ  ญาติของผมเกือบจะถูกหลอกให้โอนเงิน แต่สุดท้ายไม่ได้โอน แต่ผมรู้สึกว่ามันใกล้ตัวพอสมควรเลยครับ         การเรียน 2 วันนี้ ได้รู้หลายๆ เรื่องที่อาจจะเคยได้ยินมาแล้วบ้าง แต่จะได้รู้เจาะลึกเข้าไปอีก  ผมรู้สึกว่า เท่าทันภัยอันตรายต่างๆ มากขึ้น เพราะผมไม่ได้มีความรู้เรื่องภัยสังคม  ภัยออนไลน์ต่างๆ  มากเท่าไหร่  ก็รู้เบื้องต้นเท่าในข่าว          ฝากถึงเพื่อนๆ รุ่นเดียวกันว่าควรเข้ามาสนใจเรื่องการเงินมากขึ้นเพราะว่า เยาวชนเราอาจจะยังไม่ได้หาเงินได้เอง  ก็อยากให้รู้ เข้าใจ ว่าคนที่เราไม่รู้จักเขาจะเข้ามาล่อลวงเราอย่างไรได้บ้าง   เขามาดีหรือมาร้ายยังไง มีรูปแบบไหนได้บ้างมันขึ้นอยู่กับเราด้วยว่า จะมีความรู้ที่จะรับมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 เยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

                เด็กและเยาวชนจำเป็นต้องเดินทางจากที่พักเพื่อไปโรงเรียน ทั้งการเดินเท้า ขี่จักรยาน ขับขี่จักรยานยนต์ ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ หรือไปด้วยรถรับส่งนักเรียน ซึ่งทุกรูปแบบของการเดินทาง มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุทั้งสิ้น         โดยอุบัติเหตุของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่จะเกิดกับกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นอันดับต้น ตามด้วยกลุ่มที่ใช้บริการรถรับส่งนักเรียนและรถโดยสารสาธารณะ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดจากการเดินข้ามถนนและความเสี่ยงจากยานยนต์บริเวณหน้าสถานศึกษา  หลายกรณีเกิดจากการไม่ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยและประมาทเลินเล่อ ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมเสี่ยงสำคัญในการเกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่กำลังอยู่ในวัยศึกษาที่เป็นอนาคตของประเทศ         จากรายงานสถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจาก 3 ฐานข้อมูล(กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด) ตั้งแต่ปี 2556-2560 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เด็กและเยาวชนตั้งแต่แรกเกิด -19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,500 คน เทียบได้กับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ 1 โรงเรียนที่หายไปจากประเทศไทยทุกปี (คิดจาก เกณฑ์ สพฐ. 1 โรงเรียนขนาดใหญ่ = 2,500 คน)         ซึ่งการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนก็ยังคงมุ่งแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ คือการทำอย่างไรให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้สถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเป็นศูนย์ เพราะปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เพียงแค่โครงสร้างรถและสภาพแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงพฤติกรรมของบุคคลเองที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความรุนแรงจากอุบัติทางถนน        ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในอนาคต   ควรหันมามุ่งเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่เป็นระบบให้กับเยาวชนในสถานศึกษา เพื่อเป็นพลังความรู้นำสู่การพัฒนาความคิดในการสรรสร้างแผนงานความปลอดภัยให้เกิดกับเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 6 ภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จึงได้จัดกิจกรรมโครงการเยาวชนอาสาเพื่อรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย (Volunteer Safe Thai Bus) ขึ้น ในวันที่ 21 - 23 มิถุนายนที่ผ่านมา         มีนักเรียนจากโรงเรียนนำร่อง 12 โรงเรียนในพื้นที่ 6 ภาคและกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างพื้นที่ปฏิบัติการการเคลื่อนไหวโดยพลังคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อการพัฒนาความปลอดภัยในการเดินทางของเยาวชนโดยเยาวชนอย่างแท้จริง         ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องรถโดยสารสารธารณะและรถรับส่งนักเรียนที่ปลอดภัย สิทธิผู้บริโภค สิทธิรถโดยสารสาธารณะ เทคนิคการผลิตสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม และแนวทางการจัดทำแผนงานความปลอดภัยในสถานศึกษา ที่จะช่วยเสริมสร้างความรู้ให้กับอาสาสมัครทุกคน ได้ตระหนักกับความปลอดภัยบนถนน และนำเทคนิคที่ได้รับสื่อสารให้กับบุคคลอื่นได้สามารถเรียนรู้ต่อไปได้         รวมถึงการสร้างความตระหนักของเพื่อนๆ ในโรงเรียนให้เห็นความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางมาโรงเรียน ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนยังให้ความสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย         แม้ว่ากิจกรรมในครั้งนี้ จะเป็นเพียงการรวมกลุ่มเยาวชนกลุ่มเล็กๆ ที่มีใจเดียวกันที่จะมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อเยาวชน คือ วัยที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังที่ต้องการศักยภาพในการริเริ่มเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การส่งเสริมเพื่อให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้ จัดทำกิจกรรม จึงเป็นการปลุกพลังที่อยู่ในตัวเและสร้างการรับรู้ว่าพวกเขาคือส่วนสำคัญของสังคมไทย ที่พวกเขาจะต้องมีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และสร้างประโยชน์สุขให้เกิดขึ้นกับคนในสังคมข้างหน้าอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ไม่ชอบใจบทละครไทย

ขอความกรุณาท่านช่วยดำเนินการบทละครทีวีไทยที่มีแต่เรื่องอิจฉาริษยา ตบจูบ ในละครทีวีช่องต่าง ๆ เดี๋ยวนี้ทำไมจึงมากมายเหลือเกินการพูดจากับพ่อแม่ใช้คำพูดกิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีกับเยาวชน และไม่รักษาขนบธรรมเนียมที่ดีงามของสังคมไทยที่มีความเคารพ ยำเกรงผู้ใหญ่ บุพการี ละครทีวีไทยพยายามยัดเยียดกิริยา พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ใช่วิถีชีวิตคนไทย เช่น ก้าวร้าว เอะอะ ว้ายกรี๊ด อิจฉาริษยาซ้ำซาก ชอบตบหน้ากัน เห็นหรือไม่ว่าเดี๋ยวนี้เยาวชนเอาเป็นเยี่ยงอย่างมาจากสื่อละครไทยโดยเฉพาะจากทีวีดูบทละครเกาหลีที่ส่งมาบ้างสิครับส่ งออกวัฒนธรรมเข้ามาครอบงำเมืองไทยจนเป็น KPop ไปหมดแล้วใครๆ ก็อยากไปเที่ยวเกาหลี เพราะเขาฉลาดกว่า แม้แต่เรื่องกับข้าวกับปลาที่ไม่เอาไหนไม่อุดมสมบูรณ์อย่างเมืองไทยเขาก็ส่งออกมาครอบงำเราได้ ตื่นเสียบ้างเถอะครับอย่าดูถูกผู้บริโภคอีกเลยพวกท่านควรตื่นขึ้นมาดูแลบ้างได้แล้วและที่สำคัญและซ้ำซากแทบทุกบททุกตอนละครไทยทำไมต้องมีบทกระเทยมากมายนัก จนวัยรุ่นเอาอย่างกันมากมาย รีบตัดไฟเสียแต่ต้นลมก่อนที่สังคมไทยจะฟอนเฟะมากกว่านี้ ผมไม่ได้ดูละครไทยมานานแล้วเพราะมีการออกอากาศพวกนี้ วี้ดว้าย ก้าวร้าว ตบ จูบ พูดจาไม่เหมาะสมกับบุพการี อิจฉาริษยา ลูกๆ ผมยังไม่แนะนำให้ดูละครพวกนี้ ทั้งที่อยากสนับสนุนกิจการคนไทยแต่รับไม่ไหวจริง ๆ ช่วยรีบดำเนินการด้วย แนวทางแก้ไขปัญหา เป็นข้อร้องเรียนทางออนไลน์จากผู้บริโภคที่ใช้นามว่า “สมบัติ” ซึ่งต้องขอบพระคุณมากครับที่ช่วยเปิดประเด็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อขึ้นมาขอแจ้งความคืบหน้าว่า ขณะนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เปิดตัวโครงการกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนขึ้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กลไกการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชนนี้ จะทำหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความตื่นตัว รู้เท่าทันสื่อ และร่วมรณรงค์ให้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการผลิตสื่อที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมอย่างแท้จริงโดยกลไกคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน ประกอบไปด้วยเครือข่ายผู้บริโภครวม 11 จังหวัดในพื้นที่ 5 ภาค คือ นอกจากกรุงเทพมหานครแล้ว ยังประกอบด้วย ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ตรัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ภาคกลางและตะวันออก ได้แก่ สระบุรี ตราด และ ภาคตะวันตก ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรีการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อในรูปของพลังประชาชนเช่นนี้ นับเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็น เหยื่อ หรือได้รับผลกระทบจากการนำเสนอเนื้อหาสาระของสื่อในด้านที่มีพิษภัยได้ง่ายเกินไปถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงสำหรับผู้บริโภคที่สนใจในการคุ้มครองสิทธิด้านสื่อ หากพบเจอปัญหาการละเมิดสิทธิของสื่อเรื่องใด ให้ส่งข้อร้องเรียนมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือจะเข้าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลทางออนไลน์ได้ที่ www.consumerthai.org/e-mouth/ หรือที่ Face Book “ซอกแซกสื่อ” ยินดีต้อนรับทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >