ฉบับที่ 249 ติดโควิด ชีวิตเปลี่ยน บทเรียนการเยียวยาจิตใจหลังติดโควิด-19

        เกือบ 2 ปีแล้วที่คนทั่วโลกต้องผวากับโรคโควิด-19 ล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศยืนยันว่าพบเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ทางตอนใต้ของทวีปแอฟริกา ตั้งชื่อว่า โอไมครอน ซึ่งระบาดเร็วและรุนแรงกว่าที่ผ่านมา แสดงว่าเชื้อโควิดคงจะอยู่กับพวกเราไปอีกนานและทุกคนมีสิทธิ์ที่จะติดได้         เช่นเดียวกับคุณเกวรินทร์ ศิลาพัฒน์ นักวิชาการด้านการพัฒนาระบบสื่อ และรองผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แม้เธอจะคลุกคลีกับข้อมูลด้านสุขภาพ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 เคร่งครัด รวมทั้งทำอาหารกินเอง เน้นสั่งซื้อของทางออนไลน์ แต่สุดท้ายก็ติดโควิด-19 จากคนใกล้ชิด ประสบการณ์ที่เธอนำมาบอกเล่านี้จึงคล้ายกระจกสะท้อนให้ทุกคนเตรียมรับมือไว้ให้พร้อมเสมอ      เตรียมพร้อมรับมือโควิด-19 ไว้ก่อนที่จะติดแล้ว         ตั้งแต่โควิด-19 ระบาด เนกับแฟนก็ระวังตัวตลอด เนเป็นโรคหอบกับภูมิแพ้ แฟนมีความดันและโรคอ้วน แล้วเรายังต้องเดินทางไปทำงานเราก็กลัว เนตรวจ ATK ทุกๆ 7 วันอยู่แล้ว ก่อนจะระบาดหนักๆ เนซื้ออุปกรณ์และยาที่ต้องใช้เก็บไว้อย่างละ 2 ชุด ทั้งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดความดัน ฟ้าทะลาย ยาแก้ปวด ยาแก้ไอ แผ่นเจลลดไข้ พร้อมใช้ยามฉุกเฉินทันที         พอวันที่ 8 สิงหาคม แฟนตรวจที่บริษัทแล้วพบว่าติด ยังไม่มีอาการอะไร เนแจ้งกับทางคอนโด และขอเช่าห้องเปล่าให้แฟนนอนแยกต่างหาก เขาปวดหัวมากและเริ่มมีไข้วันที่ 9 ช่วงกลางคืน ก็ให้กินยา ตอนนั้นคิดว่าทำอย่างไรให้เข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็วที่สุด ก็ไปลงทะเบียนในไลน์ของ สปสช. ไว้ พอเขาแจ้งว่าจะมีโรงพยาบาลติดต่อกลับมาวันที่ 10 ซึ่งเราฟังมาจากหมอว่าอาการคนไข้จะหนักขึ้นในวันที่ 3 นับจากเริ่มมีอาการ พอถึงตอนนั้นเขาอาจจะไม่ไหวแล้ว เนจึงให้แม่ประสานกับโรงพยาบาลที่สุราษฎร์ธานี ฉุกละหุกมาก แต่โชคดีได้ติดรถมูลนิธิกุศลศรัทธาของจังหวัดสุราษฎร์ธานีกลับไปด้วยกัน         แฟนได้ไปรักษาที่โรงพยาบาล เนถูกแยกไปอยู่ LQ ตอนนั้นผลตรวจยังเป็นลบ แต่พอวันที่ 11 ปวดหัวมาก กินยาก็ไม่หาย พอกลางคืนข้ามจะวันที่ 14 สรุปผลตรวจออกมาเป็นบวก จึงต้องเข้าโรงพยาบาล หมอให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เนไอจนอ้วก ปวดหัวมาก และท้องร่วงหนักจนหมอต้องให้น้ำเกลือกับออกซิเจน หลังจากรักษาอยู่ 2-3 สัปดาห์ เราทั้งคู่ก็ค่อยๆ อาการดีขึ้น แต่ต้องอยู่กักตัวต่อ 7 วัน ต้องทำหนังสือขอจังหวัดเพื่อจะกลับกรุงเทพฯ แล้วเราก็ตัดสินใจนั่งรถไฟกลับมาวันที่ 31 สิงหาคมรักษาโรคโควิด-19 หาย แต่กลายเป็นโรคแพนิก         ตอนที่อยู่โรงพยาบาล เนอยู่คนเดียวในห้องเปล่าๆ ไม่เจอโลกข้างนอกเลยตลอด 15 วัน เครียด จิตตก พอออกมากลายเป็นกลัวคนไปเลย แม้แต่ตอนนั่งรถไฟกลับมา เนก็กลัว ไม่กล้ากินข้าว ไม่กล้าไปห้องน้ำ ไม่กล้านั่งเก้าอี้ เพราะไม่รู้ว่าคนในรถไฟติดหรือเปล่า ต้องเอาแอลกอฮอล์ฉีด เอาผ้าเช็ดทุกอย่าง รู้สึกว่าให้มันปลอดภัย จนพอกลับมาบ้านอาการนี้ก็ยังเป็นอยู่         ตั้งแต่กลับมาบ้าน เนนอนข้างนอกที่โซฟาคนเดียวเพราะกลัวว่าจะติดซ้ำ แล้วก็ยังไปเข้มงวดกับแฟนด้วยว่าอย่าทำแบบนั้นอย่าทำแบบนี้เดี๋ยวติดอีกหรอก ตอนนั้นหนึ่งคือเราฟังเยอะไปว่าถ้าติดซ้ำจะหนักกว่าเดิม สองคือกังวลว่าเขากลับไปทำงานแล้วจะไปเอาเชื้อมาติดเราอีก พอเนพูดทุกวันๆ เป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ไม่หยุด เขาเริ่มรำคาญว่าทำไมต้องพูดย้ำนักหนา แล้วเราก็ทะเลาะกัน ทั้งๆ ที่ก็รู้ว่าเขาติดมาจากที่ทำงาน ไม่มีใครอยากติดหรอก เขาเองก็เซฟตัวเองสุดๆ แล้ว แต่เหมือนเรากลัว หวาดระแวงไปหมด         จริงๆ เนเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ตอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลเห็นเนเริ่มเงียบๆ แปลกๆ ก็เลยให้ทำแบบประเมิน แล้วเหมือนเราเข้าข่ายต้องปรึกษาหมอ หลังจากที่กลับมาแล้วหมอก็ถามว่าได้คุยกับแฟนหรือยัง ก็บอกว่ายัง คือกลัวติด กลัวไม่หาย โน่น นี่ นั่น หมอบอกว่านี่คืออาการ Panic เป็นผลจากภาวะ Long COVID คือภาวะที่เป็นการกระทบทางจิตใจจากการติดโควิดจากคนรอบข้าง แม้ไม่ได้เกิดการสูญเสีย แต่ทำให้เป็นปัญหาครอบครัวระยะยาว คือถ้าไม่รักษา หรือคิดว่าเดี๋ยวก็หาย บอกเลยว่าไม่หาย แล้วยิ่งจะสะกิดความรู้สึกไปเรื่อยๆ อย่างพอใครเริ่มไอก็กลายเป็นหวาดระแวงกันเอง หมอแนะนำว่าควรปรึกษานักจิตวิทยา ขอคำปรึกษาเยียวยาจิตใจเพื่อคนในครอบครัว         เนไปเจอแอปพลิเคชั่นที่ให้ปรึกษาด้านจิตวิทยาของสมาคมนักจิตวิทยาแห่งหนึ่ง จองคิวปรึกษาไว้สัปดาห์ละครั้ง ใช้วิดีโอคอลคุยกัน ครั้งแรกเขาก็ถามว่าเป็นอย่างไร รู้สึกอย่างไร เนก็เล่าไป หมอบอกว่านั่นคือรีเฟล็ก ที่เราแสดงออกมาว่าเราไม่เข้าใกล้เขา คือนั่งก็นั่งห่างกัน ไม่จับ ไม่แตะ ไม่ต้อง แล้วก็จะฉีดแอลกอฮอล์ทุกอย่างในบ้าน วันแรกหมอแนะให้ลองจับมือกัน สวมแมสก์แล้วเข้าไปกอดกันสักครั้ง เนลองทำแล้ว แต่ก็ไม่หาย มันกลัว พอครั้งที่สองหมอก็แนะนำว่าลองกลับไปนั่งคุยกันดีๆ หาวิธีการว่ทำอย่างไรก็ได้ต้องมาจูนกันใหม่ ซึ่งพอเราคุยกันไปสักพัก สมองเนจะคิดเชิงตำหนิว่าเขาทำแบบนี้ๆ อีกแล้ว         ครั้งที่สาม หมอก็ประเมินว่าน่าจะมีอะไรแปลกๆ อยู่สักอย่างหนึ่งที่ตัวเนไม่ใช่ตัวแฟน หมอก็มีให้เลือกสองทาง หนึ่งคือแยกกันอยู่จนกว่าจะดีขึ้นและคิดถึงกัน สองคือเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมทั้งหมดในบ้าน เพราะถ้ายังอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ เราจะคิดแต่เรื่องเดิมๆ เนเลยว่าจะลองจัดบ้านใหม่ หมอบอกว่าให้ชวนแฟนมาช่วยเราเลือกด้วยว่าอยากจะเปลี่ยนตรงไหนยังไง         พอเข้าสู่กระบวนการนี้ กลายเป็นเราได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น ได้คิดด้วยกันว่าเราเปลี่ยนมุมห้องแบบนี้ดีไหม ทำให้ลืมเรื่องโควิดไปเลย เราช่วยกันจัดของ ช่วยกันประกอบเฟอร์นิเจอร์ที่สั่งมาใหม่ ทำให้เริ่มไม่มีระยะห่าง แต่เนจะติดอยู่อย่างเดียวคือทุกครั้งที่เขาไปทำงาน สมองจะเริ่มคิดอีกแล้วว่าเขาต้องไปเจอคนเยอะ แล้วเขาต้องติดกลับมาแน่เลย         อันนี้คุณหมอบอกให้ปล่อยวาง โดยก่อนหน้านั้นเนไม่ได้เข้าไปนอนในห้อง จนจัดห้องใหม่เสร็จ หมอก็บอกลองเข้าไปนอนในห้องสิ แล้วก็ทำกิจวัตรเหมือนที่เราเคยทำคือตรวจ ATK ดูอาการ สังเกตอาการ แล้วแนะนำว่าเวลานอนให้เอามือสัมผัสให้เรารู้สึกว่าเรามั่นใจในตัวเขา จะช่วยลดความหวาดระแวงนี้ได้พอสัปดาห์ที่ห้ามาประเมินก็ดีขึ้น แต่ยังรู้สึกติดอยู่นิดๆ ก็คิดว่ายังโชคดีที่เราไม่ถึงขั้นสูญเสีย กระบวนการเหล่านี้ช่วยรักษาความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ให้เรา แล้วยังกลับไปชาร์จความรู้สึกให้พ่อกับแม่ของเนด้วย         เนรู้สึกผิดที่เห็นพ่อแม่ต้องลำบากและร้องไห้เพราะเป็นห่วงเรา จึงพยายามเอาวิธีการที่หมอแนะนำนี้ไปใช้ปลอบประโลมพ่อกับแม่ด้วย หมอบอกให้โทรไลน์ โทรคุยวิดีโอคอลกับพ่อแม่ให้เห็นหน้ากันทุกวันว่าเราปกติสมบูรณ์ดีและจิตใจเขาจะดีขึ้น วิธีการคือให้เราบอกเขาก่อนเลยว่าวันนี้เรารู้สึกดีอย่างไร คือต้องบอกเขาก่อนที่เขาจะถาม เพราะถ้าเขาถามแปลว่านั่นคือเขากังวล พอเราบอกเขาก่อนเขาก็รู้สึกคลายกังวล และให้ชวนคุยเรื่องอื่นๆ ที่สบายใจ ซึ่งพอทำตามวิธีนี้แล้วแม่กับพ่อก็ค่อยๆ ดีขึ้น เมื่อกลับมาทำงานก็ต้องปรับตัวต่อสังคม         หลังจากกลับมากรุงเทพฯ เนกลับมาทำงานในสัปดาห์ที่สอง ประเด็นก็คือเราทำงานสายสุขภาพด้วยเราคิดเยอะ เราก็เลยนอยด์ กลัว ไม่ใช่คิดว่าเขากลัวเรา แต่เรากลัวเขา แล้วก็เพิ่งกล้านั่งรถไฟฟ้าได้ไม่นานนี้เอง        ข่าวก็มีอิทธิพลต่อความรู้สึกมาก ในด้านลบทำให้เราหวาดระแวงว่าคนโน้นติดคนนี้ติด ไปตรงนั้นติดตรงนี้ติด เราก็เลยไม่มั่นใจว่าถ้ากลับไปใช้ชีวิตปกติ เราจะติดอีกไหม พอมีคนพูดว่าภายในหนึ่งเดือนติดซ้ำได้นะ ติดซ้ำแล้วอาการหนักขึ้น เราก็ยิ่งกลัว ส่วนในด้านบวกก็ทำให้เรามีข้อมูลข่าวสารว่าถ้าเราติดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน ทำอย่างไร จะเข้ากระบวนการอย่างไร อันนี้จะช่วยได้เยอะ อยากให้แนะนำว่าถ้าติดโควิด-19 แล้วควรทำยังไง        ให้คุณทำใจไว้ได้เลยว่าโควิดไม่ได้หายไป แต่จะเป็นเมื่อไหร่ไม่รู้ เราต้องพร้อมเสมอ หนึ่งคือต้องมียาเอาไว้จะปลอดภัยสุด เพราะถ้าเริ่มมีอาการคุณกินก่อนได้เลย สองคือถ้าคุณมีอาการไข้ มีปรอท มีเครื่องวัดออกซิเจน คุณจะรู้ตัวเองว่าอาการหนักหรือไม่หนัก ฉะนั้นอุปกรณ์พวกนี้ควรมีติดบ้าน สามคือถ้าติดแล้วต้องมีสติให้มากๆ เพราะว่าบางคนพอติดแล้วแพนิกเตลิดไปเลย เนบอกเลยว่าตัวเองก็ตกใจมาก แต่ก็ดึงสติไว้ได้ ไม่ต้องหาสาเหตุว่าทำไมถึงติด ติดที่ไหนไม่ต้องหา ให้คิดไปข้างหน้าว่าติดแล้วเราจะไปที่ไหน         ถ้าเริ่มมีอาการไม่ดี ตรวจเลยอย่ารอ ควรจะมีชุดตรวจแบบ ATK ติดบ้านไว้ ถ้าติด ให้รีบเตรียมตัวเองเพื่อไปเข้ารับการรักษาให้เร็วที่สุด เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่มีเชื้อลงปอด คุณรอดตาย แต่ถ้าคุณมีเชื้อลงปอดเมื่อไหร่คุณนับระยะเวลาไปได้เลย 1 ปี กว่าคุณจะหาย อีกอย่างที่สำคัญคือหมอบอกว่าเนฟื้นตัวเร็วคือหนึ่งเนได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สองคือเนได้รับวัคซีนแอสตร้าซิเนก้ามาแล้วเข็มหนึ่ง เท่ากับว่าเรามีภูมิอยู่แล้วในระดับหนึ่งที่จะต่อต้านการลงปอดและต่อต้านอาการหนักได้         ช่วงมีอาการวันที่ 1 ถึงวันที่ 5 มันยากมากที่จะประคองตัวเอง แต่ขอให้ต่อสู้กับตัวเองให้ได้ คือโควิคมันมีไทม์ไลน์ จะหนักแค่ช่วงมีอาการวันที่ 3 ถึงวันที่ 5 แล้ววันที่ 6,7 จะดีขึ้น ถ้าคุณพ้นจากวันที่ 7 ไปได้ คุณคือคนใหม่ที่แข็งแรงขึ้นทั้งใจทั้งกาย อยากบอกคนที่เป็นโควิดว่าต้องมีสุขภาพใจที่แข็งแรง อย่าคิดว่าจะตนเป็นที่รังเกียจ ถ้าเป็นโควิดแล้วอยู่คนเดียว ไม่บอกใคร จะยิ่งแย่ถ้าใจเราอ่อนแอ เราต้องมีจิตใจเข้มแข็งมากๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการป่วยโควิดครั้งนี้         หลังจากวันที่ 7 จะเป็นช่วงฟื้นตัว ทำให้เนมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้ทบทวนตัวเอง ได้อ่านหนังสือเยอะมาก แล้วก็เรียนวาดรูปออนไลน์จบไปคอร์สหนึ่งด้วย แต่บางทีก็เหงา ดีที่เพื่อนๆ โทรมาชวนคุยบ่อยๆ ตอนนี้เราก็ใช้วิธีนี้กับน้องๆ เพื่อนๆ ที่ติดโควิดอยู่นราธิวาส ยะลา คือโทร.ถามทุกวันว่าเป็นอย่างไรบ้าง โอเคไหม เพราะเรารู้ว่าการต้องอยู่คนเดียวแบบนั้นมันทรมาน         โควิดมีทั้งโทษและประโยชน์ ถ้าบางคนใจสู้ ก็ไหว แต่ถ้าบางคนไม่สู้ ก็คือยอมแพ้ไปเลย แล้วบางคนก็คิดว่าคือไม่ไหวแล้วไม่มีทางรักษาแล้ว อันนั้นเป็นเพราะว่าคุณกลัว ยังมีทางออกอื่นอีกเยอะมาก ถ้าเราเตรียมตัวดีเราจะรับมือกับมันได้ ตอนนั้นก็พยายามจะโพสต์เล่าว่าตัวเองเป็นอย่างไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่น ถ้าเขามีอาการแบบนี้เขาต้องสังเกตอาการอย่างไร         อยากจะฝากบอกทุกคนว่าอย่ารังเกียจคนเป็นโควิด คนเป็นโควิดคือคนที่ต้องการกำลังใจมากที่สุด เพราะเขาต้องต่อสู้ด้วยตัวเองอย่างโดดเดี่ยว          โควิดไม่ได้เป็นแค่โรค แต่เป็นเหมือนแผลเป็นที่ทิ้งร่องรอยไว้ ให้เรายังรู้สึกติดอยู่ในใจตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 โศกนาฏกรรมรถตู้จันทบุรี ยังต้องใช้เวลาอีกนานเพื่อเยียวยา

จากเหตุการณ์รถตู้โดยสารจันทบุรีพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะจนเกิดไฟไหม้ที่ อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 คนนั้น นอกจากจะเป็นเรื่องสะเทือนขวัญแห่งปีแล้ว ยังนับได้ว่าเป็นสึนามิลูกใหญ่ที่ถาโถมใส่รัฐบาลนายกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องรีบหาทางแก้ไขปัญหารถตู้โดยสารที่ทุกคนคุ้นชินอย่างทันทีและรวดเร็ว กับปัญหาที่รู้กันดี ไม่ว่าจะขับรถเร็ว ที่นั่งแออัด ไม่เข้าจอดรับส่งผู้โดยสารในสถานี รถไม่มีเข็มขัดนิรภัย หรือมีแต่คนขับไม่บอก คนนั่งก็ไม่คาด สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัญหาที่ถูกสั่งสมมานาน จนทุกคนเคยชินคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในช่วงแรกที่กระแสเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงยังร้อนแรง รัฐบาลรีบประกาศทันทีว่าจะยกเลิกรถตู้โดยสารเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสเร็วสุดใน 6 เดือนกันเลยทีเดียว แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ และสุดท้ายกระแสข่าวการยกเลิกรถตู้โดยสารก็จางหายไป หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลเริ่มตั้งหลักได้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ออกมาตรการเร่งด่วนแรก คุมเข้มพฤติกรรมการขับขี่รถตู้โดยสาร เริ่มจากรถตู้โดยสารประจำทางร่วมบริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด ที่มีเส้นทางวิ่งกรุงเทพฯ ปลายทางต่างจังหวัด (ไม่นับรวมรถตู้โดยสารร่วมบริการของ ขสมก. ที่วิ่งในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑล) ต้องติดตั้ง GPS Tracking แบบ Realtime Online ที่ทำงานได้ ควบคู่กับการติดตั้งเครื่องรูดใบขับขี่แสดงตัวตนพนักงานขับรถในรถทุกคัน ทุกเส้นทาง ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2560 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมที่ให้ติดตั้งแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560 เท่านั้นยังไม่พอเมื่อ 21 มีนาคม 2560 เหมือนฟ้าผ่าลงกลางกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารอีกครั้ง เมื่อเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 15/2560 เรื่อง มาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ มีสาระสำคัญ คือ ห้ามรถตู้โดยสารนั่งเกิน 13 คน สั่งทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มจากประกันภัยภาคบังคับ ห้ามทิ้งผู้โดยสาร บรรทุกผู้โดยสารและเก็บค่าโดยสารเกิน หากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งเพิกถอนทะเบียนรถหรือพักใบอนุญาตผู้ประกอบการได้ และต่อด้วยกรมการขนส่งทางบก ออกประกาศกรมฯ รองรับคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 เกี่ยวกับการจัดกำหนดที่นั่งสำหรับผู้โดยสารให้เหลือเพียง 13 ที่นั่ง และถอดเบาะด้านหลังออก 1 ที่ เพื่อให้มีทางออกไปยังประตูฉุกเฉินด้านหลังได้ เมื่อมีเหตุจำเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ  ซึ่งประกาศฯ มีผลครอบคลุมถึงรถตู้โดยสาร ประเภทประจำทางและไม่ประจำทางในทุกหมวดเส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการนี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์จริง ใช่ว่าประกาศฯจะมีผลบังคับใช้ได้เลย เพราะทุกวันนี้ก็ยังพบพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎหมายของผู้ประกอบการรถตู้โดยสารบางรายอยู่ เรายังเห็นว่ามี รถตู้ที่รับผู้โดยสารเกินอยู่ หรือ รถตู้ที่ยอมแก้ไขเบาะที่นั่งรถให้เหลือ 13 ที่นั่งแล้ว แต่ในช่องทางเดินฉุกเฉินกลับนำเบาะเสริมมาให้ผู้โดยสารนั่ง หรือเอาสัมภาระมาวางปิดกั้นทางออกฉุกเฉินแทน ยิ่งเมื่อพิเคราะห์จากสถิติอุบัติเหตุรถตู้โดยสารที่เกิดในรอบ 4 เดือนแรก ระหว่างมกราคมถึงเมษายน ของปี 2560 พบว่า รถตู้โดยสารเกิดเหตุมากถึง 127 ครั้ง หรือ เฉลี่ยเดือนละ 32 ครั้ง บาดเจ็บ 501 คน หรือ เฉลี่ยวันละ 4 คน และเสียชีวิตมากถึง 65 คน หรือจะมีคนเสียชีวิตจากรถตู้โดยสารทุก 1 คนในเวลา 2 วัน และจากข้อมูลอุบัติเหตุยังชี้ให้เห็นด้วยว่า รถตู้โดยสารสาธารณที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดนั้น มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่ารถที่วิ่งในเขตเมืองหรือปริมณฑลอีกด้วย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขับรถเร็วนั่นเอง ดังนั้นจะไม่แปลกใจเลย ที่แม้กฎหมายจะบังคับทุกอย่างแล้ว แต่ความสูญเสียจะยังเกิดให้เห็นอยู่ หากทุกฝ่ายยังไม่จริงจังที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ร่วมกันตรวจสอบเฝ้าระวังผู้ประกอบการที่มีพฤติกรรมเอาเปรียบผู้บริโภค อย่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา ที่เรามองว่าเป็นเรื่องไกลตัว หากพบเห็นการกระทำที่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขอให้โทรศัพท์แจ้ง 1584 ทันที พร้อมข้อมูลเส้นทางเดินรถและทะเบียนรถ เพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงรถโดยสารปลอดภัยกันนะครับ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 ตามหาเงินเยียวยา

ดิฉันชื่อ ฉันทนาค่ะเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ได้นั่งรถโดยสารปรับอากาศเดินทางจากกรุงเทพฯ จะไปลงที่โพนพิสัย จ.หนองคาย เพื่อไปหาพ่อแม่ จองตั๋วรถกับบริษัท แอร์อุดร จำกัด เส้นทางกรุงเทพฯ-บึงกาฬ ระหว่างทางรถโดยสารขับมาด้วยความเร็วสูงมาก ถึงช่วงถนนมิตรภาพ  อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เกิดอุบัติเหตุรถโดยสารที่ดิฉันนั่งมาคนขับพยายามจะขับแซงรถพ่วงแต่ไม่พ้น และไปชนท้ายรถบรรทุกพ่วงอย่างแรงก่อนเสียหลักลงไหล่ทาง ทำให้ดิฉันได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก และกระดูกนิ้วก้อยเท้าขวาแตกหน่วยกู้ภัยพาดิฉันส่งโรงพยาบาลปากช่องนานา แพทย์ได้ทำการรักษากระดูกแตกที่นิ้วเท้าและเย็บแผลแตกที่ศีรษะรวม 10 เข็ม จะกลับบ้านได้ต้องโทรศัพท์ให้ญาติมารับหลังประสบอุบัติเหตุ ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัท แอร์อุดรเลย ประมาณวันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ได้รับการติดต่อจากแม่ว่า ตำรวจให้ไปพบที่สถานีตำรวจโพนพิสัย จึงได้ไปตามนัดในวันที่ 4 กรกฎาคม 2555 บริษัท แอร์อุดร ได้ส่งพนักงานไม่แจ้งชื่อมาเจรจาโดยมีข้อเสนอชดใช้เยียวยาให้ที่จำนวน 50,000 บาท ดิฉันได้ตกลงยอมรับข้อเสนอ พนักงานคนนั้นจึงบอกกับดิฉันว่าจะติดต่อกลับมาภายใน 7 วันนับจากวันที่แจ้ง แต่จนถึงปัจจุบัน(28 สิงหาคม 2555) ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัทดังกล่าวเลยดิฉันขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายในจำนวนเงิน 50,000 บาท ให้กับดิฉันด้วยค่ะ แนวทางแก้ไขปัญหาคุณฉันทนาเป็นหนึ่งในผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจำนวนทั้งสิ้น 29 ราย ในอุบัติเหตุครั้งนั้น มูลนิธิฯได้ติดตามตรวจสอบข้อมูลแล้วทราบว่า รถโดยสารคันดังกล่าว ทำประกันภัยไว้กับบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด จึงได้มีหนังสือเชิญตัวแทนจากบริษัท ทิพยประกันภัย มาร่วมเจรจากันในวันที่ 25 ธันวาคม 2555 แต่เนื่องจากผู้เสียหายอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถเดินทางมาร่วมเจรจาได้ จึงมีการเจรจากับผู้เสียหายทางโทรศัพท์กันในวันนั้น ได้ผลว่า บริษัท ทิพยประกันภัย ตกลงจ่ายค่าสินไหมตามที่ได้มีการร้องขอและเจรจากันไว้แต่แรก จำนวน 50,000 บาท และนัดหมายเพื่อมารับเช็คค่าสินไหมอีกครั้งในอาทิตย์ถัดไป อาทิตย์ต่อมาตัวแทนของทิพยประกันภัยเตรียมเช็คค่าสินไหมมาตามวันเวลานัดหมาย แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่สามารถติดตามตัวได้ในวันนั้น จึงต้องกำหนดนัดใหม่เป็นสัปดาห์ถัดไป อีกสัปดาห์หนึ่งต่อมาผู้เสียหายจึงสามารถเดินทางมารับเช็คค่าสินไหมได้ด้วยตนเองนอกจากคุณฉันทนาแล้ว ยังมีผู้โดยสารอีกท่านหนึ่งคือคุณโพสิทธิ เครือเนตร ที่ได้รับบาดเจ็บและทิพยประกันภัยตกลงที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เป็นจำนวนเงิน 50,000 บาท แต่ขณะนี้ไม่สามารถติดต่อได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและทิพยประกันภัยจึงได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ว่า หากผู้เสียหายท่านนี้ได้ติดต่อกลับมา ทางทิพยประกันภัยยินดีดำเนินการเยียวยาความเสียหายให้ต่อไปคุณโพสิทธิ หรือญาติ ทราบข่าวแล้วโปรดติดต่อกลับมาด่วน ทิพยประกันภัยรอคุณอยู่

อ่านเพิ่มเติม >