ฉบับที่ 206 เรือนเบญจพิษ : จากการ “รวมศูนย์” สู่การ “กระจาย” ความรู้

ในสังคมปัจจุบันซึ่งถือเป็น “สังคมที่มีความรู้เป็นพื้นฐาน” หรือเป็น “knowledge-based society” นั้น กล่าวกันว่า ใครก็ตามที่มีความรู้ ก็มักจะใช้ความรู้เป็นอำนาจเพื่อผลประโยชน์แก่ผู้ครอบครองความรู้ดังกล่าว ในขณะเดียวกัน เฉพาะคนที่มีอำนาจเท่านั้น ที่จะใช้อำนาจกำหนดให้เรื่องใดบ้างกลายมาเป็นความรู้อันเป็นที่ยอมรับของผู้คนในสังคมเมื่อความรู้กับอำนาจเป็นสองสิ่งซึ่งแยกกันไม่ขาดเยี่ยงนี้ “การจัดการความรู้” หรือ “knowledge management” ที่เรียกย่อๆ ว่า “KM” จึงกลายเป็นศาสตร์ที่ผู้คนยุคนี้พยายามทำความเข้าใจ รวมทั้งแปลงเรื่อง “KM” ให้กลายมาเป็นภาพการช่วงชิงผลประโยชน์ของภรรยาทั้งสี่คนในละครเรื่อง “เรือนเบญจพิษ”เพื่อสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจกับความรู้นั้น ละครได้เลือกย้อนความกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 ในเรือนของ “คุณพระยศ” ผู้แต่งงานอยู่กินกับภรรยาอยู่แล้วสองคนคือ เมียเอกที่มีศักดิ์ชั้นอย่าง “ปิ่น” และเมียบ่าวผู้เป็นรักแรกของคุณพระอย่าง “แหวน” แต่แล้วความขัดแย้งระลอกแรกก็เกิดขึ้น เมื่อคุณพระยศรับผู้หญิงอีกสองนางเข้ามาเป็นภรรยาอยู่ร่วมชายคาเรือนเพิ่มขึ้น คนแรกก็คือลูกสาวคหบดีจีนผู้มั่งคั่งอย่าง “ทับทิม” กับอีกคนหนึ่งคือพี่สาวบุญธรรมของทับทิมหรือ “หยก” ที่แอบบ่มเพาะความแค้นในใจอยู่ลึกๆ เนื่องจากชีวิตของหยกถูกทับทิมกดขี่เอาไว้ตั้งแต่เด็กเมื่อผู้หญิงสี่คนได้เข้ามาสู่วังวนในเรือนเดียวกันของคุณพระยศ แต่ละนางต่างก็มีความมุ่งมั่นและต่างก็พยายามใช้เขี้ยวเล็บเพื่อช่วงชิงอำนาจนำในความเป็นภรรยาหมายเลขหนึ่งของเรือนมาเป็นของตนยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับตัวแปรความขัดแย้งระลอกใหม่ เพราะสยามประเทศยุคนั้นเริ่มรณรงค์ค่านิยมแบบผัวเดียวเมียเดียว และทางการประกาศใช้กฎหมายการจดทะเบียนสมรสขึ้น ทะเบียนสมรสจึงกลายเป็น “สนามรบ” ผืนใหม่ ที่บรรดาคุณนายทั้งสี่ปรารถนาจะแก่งแย่งช่วงชิงชัยชนะมาไว้ในมือให้ได้เพียงหนึ่งเดียวแต่เพราะที่มาของอำนาจก็ต้องผนวกผสานกับการจัดการความรู้เป็นกลไกขับเคลื่อน ดังนั้นละครจึงได้สร้างสัญลักษณ์ชนิดหนึ่งขึ้นมาแทนอำนาจในท้องเรื่อง อันได้แก่สิ่งที่เรียกกันว่า “กู่” คล้ายคลึงกับหลักทฤษฎีของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่กล่าวว่า “สัตว์โลกที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นจึงจะอยู่รอด” กู่เป็นองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นตามตำนานจีนโบราณ กรรมวิธีสร้างกู่จะใช้การจับสัตว์พิษทั้งห้าชนิดมากักขังและปิดผนึกไว้ในไห สัตว์พิษทั้งห้าได้แก่ งูพิษ แมงมุม ตะขาบ คางคก และแมงป่อง ที่เมื่อถูกขังเอาไว้รวมกัน ต่างตัวต่างก็จะเริ่มต่อสู้กัดกันจนเหลือ “อยู่รอด” ตัวสุดท้ายที่จะกลายเป็นกู่ โดยผู้สร้างก็จะใช้กู่อันเป็นอสรพิษที่ “แข็งแรงที่สุด” ไปฆ่าศัตรูของตนด้านหนึ่งละครก็คงต้องการบอกเป็นนัยๆ ว่า แท้จริงแล้วภรรยาทั้งสี่คนที่อยู่ในขอบขัณฑ์แห่งเรือนคุณพระยศ ก็ไม่ต่างอะไรจากอสรพิษที่ต้องห้ำหั่นเข่นฆ่า เพื่อจะได้เป็นประหนึ่งกู่ตัวที่ “แข็งแรงที่สุด” แต่อีกด้านหนึ่ง กู่ก็เป็นสัญลักษณ์ของชุดความรู้ที่ผู้ครอบครองอยู่นั้นใช้เพื่อสถาปนาอำนาจนำขึ้นมาได้ในท่ามกลางผู้หญิงทั้งสี่คนที่ใช้ชีวิตในสังคมซึ่งความรู้มักถูกผูกขาดและ “รวมศูนย์” อยู่ในมือของคนบางกลุ่มนั้น หยกคือภรรยาที่มีองค์ความรู้เรื่องกู่ ซึ่งสืบทอดต่อมาจากบ่าวคนสนิทอย่าง “ยายพ่าง” ด้วยเหตุนี้ เมื่อการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจความเป็นเมียใหญ่เมียเดียวเริ่มเปิดศึกขึ้น หยกจึงใช้กู่เป็นอาวุธที่ขับไสไล่ส่งและขจัดเมียคนอื่นๆ ของคุณพระยศออกจากเรือนไปทีละคนเริ่มจากการบริหารความรู้เพื่อจัดการอัปเปหิทับทิมให้ต้องไปตกระกำลำบากใช้ชีวิตอยู่กับคณะงิ้วเร่ร่อน จากนั้นก็ใช้พิษกู่ทำร้ายเมียเอกอย่างปิ่นจนต้องพิการเสียแขนไปข้างหนึ่ง จนต้องหลบเร้นหนีไปบวชอยู่สำนักนางชี ปิดท้ายด้วยการไล่ฆ่าแหวนจนต้องหนีหัวซุกหัวซุน และวางกลอุบายพรากเอา “เพชร” หนึ่งในบุตรชายฝาแฝดของแหวนมาสวมรอยเป็นลูกของตน ก่อนที่หยกจะได้ถือครองทะเบียนสมรสและอำนาจของภรรยาหมายเลขหนึ่งในเรือนของคุณพระยศในท้ายที่สุดอย่างไรก็ดี หลังจากยี่สิบกว่าปีผ่านไป พร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่การจัดการความรู้ซึ่งเคย “รวมศูนย์” ได้เปลี่ยนผ่านสู่การบริหารความรู้แบบ “กระจายตัว” ไม่ให้ผูกขาดอำนาจหรือกระจุกตัวอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่งอีกต่อไป การกระจายศูนย์แห่งความรู้ก็ส่งผลต่อการครอบครองอำนาจนำในเรือนของภรรยาตามกฎหมายอย่างหยกเช่นกันการผันผ่านสู่ความเปลี่ยนแปลงระลอกล่าสุดนี้ เกิดขึ้นพร้อมกับการกลับมาของภรรยาทั้งสามคนของคุณพระยศที่หายสาบสูญไปกว่าสองทศวรรษ และในขณะเดียวกัน แม้หยกจะขึ้นครองอำนาจเป็นใหญ่ในเรือน แต่เธอก็ต้องเรียนรู้ว่า อำนาจแห่งความรู้ที่เคยรวมศูนย์อยู่ในมือนั้นก็ไม่ได้เสถียรอีกต่อไปแล้วประการแรก แม้จะมีองค์ความรู้เรื่องการสร้างกู่ที่ถือครองไว้ แต่ความรู้ดังกล่าวก็ต้องเผชิญหน้ากับชุดความรู้ดั้งเดิมแบบอื่นที่ถูกใช้เพื่อช่วงชิงอำนาจในเรือน เฉกเช่นที่ทับทิมและ “ริทธิ์” บุตรชายอีกคนของแหวนได้ร่ำเรียนและฝึกฝนความรู้จีนโบราณเรื่องมีดบิน เพื่อใช้เป็นอาวุธห้ำหั่นกับกู่พิษของหยกและยายพ่างประการถัดมา เมื่อสังคมไทยได้เปิดรับองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามาจากโลกตะวันตก “อนงค์” ผู้เป็นคนรักของริทธิ์และประกอบอาชีพเป็นพยาบาล ก็อาศัยความรู้แผนใหม่เรื่องกรุ๊ปเลือด เป็นกลไกกุมความลับเรื่องลูกชายของหยก อนงค์จึงเป็นศัตรูหน้าใหม่ที่หยกอยากใช้กู่กำจัดออกไปเพื่อรักษาอำนาจของตนเอาไว้และประการสำคัญ ในยุคที่การจัดการความรู้เน้นเรื่องการกระจายอำนาจออกไปนั้น ตัวละครภรรยาของคุณพระยศในยุคกว่ายี่สิบปีให้หลัง ต่างคนต่างก็สามารถเข้าถึงองค์ความรู้เรื่องกู่ ไปจนถึงการที่แต่ละนางก็สามารถสร้างกู่ของตนขึ้นมา เพื่อเอาไว้ประหัตประหารและช่วงชิงผลประโยชน์แบบไม่มีใครเหนือใครอีกต่อไปในท้ายที่สุดของเรื่อง แก่นแกนเรื่องเล่าของละครคงตั้งใจนำผู้ชมไปให้เห็นด้านมืดในจิตใจของมนุษย์ เหมือนกับคำพูดที่แหวนได้กล่าวกับคุณพระยศหลังจากที่ตัวละครฆ่ากันตายจนเกือบหมดเรือนว่า “ความอยากได้อยากมีคือพิษที่ร้ายกาจที่สุด เราคงจะต้องปล่อยวาง จึงจะแก้พิษนี้ได้...”แต่ในเวลาเดียวกัน ควบคู่ไปกับแก่นแกนของละครข้างต้นนี้ แม้การจัดการความรู้ยุคใหม่จะเน้นกระจายอำนาจให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้ก็จริง แต่หากความรู้กับอำนาจนั้นมีมิจฉาทิฐิเข้าครอบงำเพื่อให้มนุษย์ห้ำหั่นกันโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องอันใดด้วยแล้ว ความรู้ในมือก็ทำให้คนเราไม่ต่างไปจากกู่ที่แข็งแกร่งน่ากลัว และปรารถนาจะอยู่เป็นอสรพิษตัวสุดท้ายในเกมแห่งอำนาจนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >