ฉบับที่ 149 เรือนเสน่หา : มนุษย์ในวังวนแห่งอำนาจ

เคยมีคำอธิบายของนักคิดแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ผู้ล่วงลับไปแล้วที่ชื่อ มิเชล ฟูโกต์ ที่กล่าวว่า มนุษย์ทุกผู้ทุกนามล้วนแล้วแต่ต้องเวียนว่ายอยู่ในวังวนแห่งอำนาจ เพราะไม่เพียงแต่อำนาจจะมีด้านที่รวมศูนย์เท่านั้น หากแต่อำนาจยังกระจายตัวไปถ้วนทั่วทุกหัวระแหง ความจริงข้างต้นก็ดูไม่แตกต่างไปจากภาพที่ปรากฏอยู่ในเรือนของ “คุณหลวงธำรงค์นครา” กับการสะท้อนความสัมพันธ์เชิงอำนาจของบรรดาเมียใหญ่เมียน้อยและข้าทาสบริวารอันหลากหลาย ที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเรือนหลังนั้น ปมปัญหาของ “เรือนเสน่หา” หลังนี้ ดูผิวเผินก็คงมาจากการที่บรรดาบุรุษเพศผู้สูงศักดิ์ชั้นในยุคมูลนาย ท่านมักจะนิยมการมีภรรยาที่มากไปกว่าหนึ่งคนไว้ประดับยศถาบารมี เช่นเดียวกับกรณีของคุณหลวงธำรงค์นคราเหมือนกัน ที่ไม่เพียงแค่มีภรรยาเอกคือ “ชมนาด” หญิงสาวจากตระกูลสูงศักดิ์เท่านั้น หากแต่ยังมีภรรยารองเป็น “เอื้องคำ” บุตรสาวของพ่อค้าวานิชทางภาคเหนือ   ด้วยเหตุที่ชมนาดมีฐานันดรเป็นบุญบารมีติดตัวมาแต่กำเนิด ในขณะที่เอื้องคำก็มีฐานานุภาพทางการเงินเป็นทุนที่หล่อเลี้ยงอยู่ และยิ่งต่อมา เมื่อคุณหลวงเกิดได้ “มะลิ” บ่าวผู้ซื่อสัตย์มาเป็นภรรยาอีกคนหนึ่ง ความสัมพันธ์ของตัวละครคุณหลวงกับภรรยาที่ต่างที่มาและต่างชั้นศักดิ์เหล่านี้ จึงถูกพันผูกโยงใยเข้ามาสู่วังวนแห่งอำนาจในที่สุด โดยหลักแห่ง “อำนาจ” นั้น ผู้ที่ตกอยู่ในวังวนดังกล่าวยากที่จะรู้ได้ว่า ใครเป็นเจ้าของอำนาจ หรือใครเป็นผู้ที่กำลังใช้อำนาจอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น แม้ในเบื้องต้น เราอาจจะเห็นว่า ในเรือนเสน่หาหลังนี้ อำนาจน่าจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอยู่ในมือของคุณหลวง เพราะท่านสามารถใช้อำนาจชี้เป็นชี้ตายหรือกำหนดความอยู่รอดของใครต่อใครที่อยู่ในเรือนได้ โดยเฉพาะอำนาจในการกำหนดโจทย์ให้กับบรรดาเมียๆ ของท่านว่า หากใครสามารถมีลูกชายคนแรกได้ เมียคนนั้นก็จะได้ขึ้นมามีศักดิ์และสิทธิ์แห่งความเป็นเมียที่เหนือกว่าเมียคนอื่นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ในวังวนดังกล่าว คุณหลวงก็หาได้มีอำนาจที่สมบูรณ์ในตัวเองไม่ เพราะภายในเรือนเสน่หาหลังนั้น อำนาจกลับมีลักษณะกระจัดกระจายและไหลเวียนวนไปมาในทุกทิศทุกทาง แม้แต่ในเบื้องหลังการห้ำหั่นระหว่างชมนาดกับเอื้องคำนั้น คุณหลวงก็มีบางจังหวะที่ถูกจับวางไว้เป็นเพียง “หมาก” ตัวหนึ่งบนกระดานให้ภรรยาทั้งสองที่ใช้เดินเกมเข้าหากัน การต้องมนต์เสน่ห์ของแก่นรัญจวนที่เอื้องคำใช้กับคุณหลวง หรือการที่ชมนาดหลอกลวงคุณหลวงด้วยการเปลี่ยนตัวเอา “สุข” ลูกชายของมะลิมาเป็นลูกชายหัวปีของเธอ หรือแม้แต่การที่ชมนาดลงมือวางแผนฆ่า “สร้อย” ผู้เป็นเมียบ่าวคนก่อนของคุณหลวงอย่างเหี้ยมเกรียม เหล่านี้ต่างเป็นประจักษ์พยานอย่างดีว่า อำนาจไม่เคยหยุดนิ่งอยู่ในมือของใครคนใดคนหนึ่ง ด้วยเหตุเดียวกันนี้เอง แม้แต่กรณีของมะลิ ที่เป็นเมียบ่าวผู้ซื่อสัตย์และเหมือนจะไม่มีเครื่องมือทางอำนาจใดๆ ติดตัวเลย แต่เมื่อชมนาดคิดจะฆ่า “เมือง” ผู้เป็นลูกชายของเธอ มะลิที่หลังพิงฝาก็เลือกที่จะใช้ตัวบึ้งชะงักย้อนศรกลับมาทำร้ายชมนาดได้ในภาวะจวนตัว เพราะฉะนั้น เมื่ออำนาจเป็นสิ่งที่พิสูจน์จับต้องได้ยาก แถมยังโยกย้ายถ่ายโอนไหลเวียนไปมาแบบไม่มีที่สิ้นสุดได้ด้วยแล้ว กลเกมของอำนาจที่เห็นในเรือนเสน่หาจึงพลิกกลับไปกลับมา บวกด้วยการผนวกรวมเอาคนที่แม้จะอยู่นอกวงแห่งอำนาจ ให้เข้ามาเวียนว่ายในวังวนของมันด้วยเช่นกัน เริ่มตั้งแต่บรรดาบ่าวไพร่อย่าง “อี่” กับ “มุ่ย” ที่แม้ภายหลังจะกลับตัวกลับใจและพยายามจะหลุดไปจากวงโคจรของอำนาจ หรือบริวารผู้ภักดีต่อคุณหลวงอย่าง “มิ่ง” หรือ “เถ้าแก่ซ้ง” แห่งตรอกเต๊าผู้ที่มิได้รู้อิโหน่อิเหน่อันใด หรือตัวละครในรุ่นลูกหลานทุกคนซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือแก้แค้นของชมนาดและเอื้องคำ ไปจนถึงแม้แต่ “หลวงตาน้อย” พระสงฆ์ผู้อยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ทุกคนทั้งหมดล้วนแล้วแต่ถูกซัดพาเข้ามาสู่ปริมณฑลแห่งอำนาจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เมื่อมีการปะทะต่อรองอำนาจระหว่างกัน นอกจากตัวละครรอบข้างทุกคนจะถูกโยงใยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสงครามดังกล่าวแล้ว อีกด้านหนึ่ง อำนาจก็ต้องมีกลไกบางอย่างที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสำแดงพลังด้วย และกลไกทางอำนาจที่ชมนาดและเอื้องคำใช้ก็คือ “ความรู้” ไม่ว่าจะเป็นความรู้จากการใช้ตัวบึ้งชะงักทำร้ายผู้คน หรือความรู้เรื่องเปลือกไม้แก่นรัญจวนที่ใช้ปลุกกำหนัดของบุรุษเพศ กลไกความรู้เหล่านี้ก็คือสิ่งที่ชมนาดและเอื้องคำใช้บริหารอำนาจและรักษาสถานะของพวกเธอเอาไว้ ในห้วงวังวนแห่งอำนาจเยี่ยงนี้ เหนือยิ่งสิ่งใดที่ละครกำลังบอกเราเอาไว้ด้วยก็คือ เมื่ออำนาจนั้นกำลังดำเนินเดินไป กระบวนการรักษาความเสถียรของอำนาจและการสืบทอดอำนาจจากรุ่นสู่รุ่น ได้กลายมาเป็นความจำเป็นส่วนหนึ่งของระบบไปด้วย ดังนั้น เมื่อวังวนของอำนาจไหลเวียนมาสู่รุ่นลูก และหลังจากที่เอื้องคำได้สอนให้ “ชวนชม” ผู้เป็นลูกสาวแท้ๆ ของชมนาด เข้ามาอยู่ในสงครามตัวแทนแก้แค้นตัวชมนาดเสียเอง ชวนชมก็ได้กลายสภาพเป็นผู้สืบสานอำนาจ แบบเดียวกับประโยคคำพูดของเธอที่กล่าวว่า “ชีวิตชวนชมอยู่ได้เพราะความแค้น ถ้าจะให้ชวนชมละความแค้น ก็เหมือนละทิ้งตัวเอง...” ฉากภายนอกในตัวเรือนของคุณหลวงธำรงค์นครานั้น อาจดูเป็นเรือนแห่งเสน่หาก็จริง แต่ในที่สุด เมื่อกลไกอำนาจต่างๆ เริ่มเดินเครื่องทำงานแล้ว วังวนแห่งอำนาจก็จะชักพาให้ทุกคนไม่ว่าใครก็ใครต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น จนในที่สุด เรือนเสน่หาหลังนี้ก็จะกลายเป็นเวทีสืบสานวัฏจักรของอำนาจอย่างต่อเนื่องและตลอดไป

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point