ฉบับที่ 268 เลือดเจ้าพระยา : แค่อยากเห็นสายน้ำในครั้งก่อน ที่ฉันได้เคยว่ายเวียน

        สังคมไทยโดยเฉพาะดินแดนพื้นที่ลุ่มภาคกลาง หยั่งรากมาจาก “วัฒนธรรมแห่งสายน้ำ” นับแต่อดีตกาล วิถีชีวิตของคนไทยผูกพันกับแม่น้ำลำคลองอย่างแนบแน่น อาชีพเกษตรกรรมเพาะปลูกที่ต้องอิงอยู่กับวงจรของน้ำในแต่ละฤดูกาล การเดินทางของผู้คนที่ใช้เรือเป็นพาหนะหลักในการสัญจร หรือกิจกรรมราษฎรบันเทิงอย่างเพลงเรือหรือดอกสร้อยสักวาก็เกิดขึ้นโดยมีสายน้ำเป็นศูนย์กลางของประเพณีท้องถิ่นดังกล่าว         หรือแม้แต่สำนวนภาษิตมากมายก็ตกผลึกมาจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่ดำรงอยู่ในชีวิตประจำวันแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเป็นอุปมาอุปไมยการรู้จักจับจังหวะและโอกาสไม่ให้ผ่านพ้นไปแบบ “น้ำขึ้นให้รีบตัก” หรือการเตือนใจว่าอย่ากระทำการอันใดให้ลำบากเกินไปดุจการ “พายเรือทวนน้ำ” หรืออย่าไปทำอะไรไม่คุ้มค่าการลงทุนดั่งการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” หรืออย่าไปกีดขวางเกะกะเป็นภาระผู้อื่นเหมือน “มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำ” ไปจนถึงการที่สรรพชีวิตต่างล้วนพึ่งพาอาศัยกันไม่ต่างจาก “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”         แต่ทว่า เมื่อความเจริญทางเศรษฐกิจก้าวหน้าขึ้น และเมื่อมีการตัดถนนหนทางมาแทนการสัญจรทางน้ำดังเดิม วิถีการพัฒนาที่เชื่อว่า “น้ำไหลไฟสว่างทางดีมีงานทำ” ได้ซัดกระหน่ำและพลิกโฉมอารยธรรมใหม่ให้กับดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลางมานับเป็นหลายทศวรรษ และแม้ว่าการพึ่งพาแม่น้ำลำคลองจะมิได้สูญสลายหายไป แต่วัฒนธรรมแห่งสายน้ำก็เริ่มลดคุณค่าและห่างไกลไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่ขึ้นทุกวัน         กับอารมณ์ความรู้สึกที่เส้นกราฟการพัฒนาสังคมไทยต้องมุ่งไปข้างหน้า และหลีกหนีจากสภาวะ “ถอยหลังเข้าคลอง” เช่นนี้ “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงแสนแพง” ก็ทำให้ผู้คนเริ่มเกิดอาการถวิลหาอดีต หรือที่ฝรั่งเรียกว่า “nostalgia” ที่หวนหาวัฒนธรรมสายน้ำซึ่งห่างหายกันอีกครั้งครา ไม่ต่างจากภาพชีวิตของบรรดาตัวละครทั้งหลายในละครโทรทัศน์แนวบู๊ผสมรักโรแมนติกเรื่อง “เลือดเจ้าพระยา”         ละครจำลองภาพชีวิตของคนสองรุ่นโดยใช้ฉากหลังของทุ่งลานเท อันเป็นพื้นที่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลมาบรรจบกัน เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน และเปิดฉากด้วยตัวละคร “สมิง” พระเอกหนุ่มหล่อกล้ามใหญ่ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น “ลูกเจ้าพระยา” ตัวจริง กับภาพที่เขาดำน้ำแหวกว่ายอยู่ข้างเรือโยงอันเป็นที่ที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพ่อและแม่         แม้จะเป็นอ้ายหนุ่มเรือโยงผู้มีฐานะยากจนขัดสน สมิงก็แอบมีใจรักให้กับแม่เพลงลำตัดชื่อดังแห่งทุ่งลานเทนามว่า “ศรีนวล” บุตรสาวคนเดียวของ “กำนันธง” ความงามของศรีนวลเป็นที่ระบิลระบือไปทั่วทุกคุ้งน้ำย่านกรุงเก่า ไม่แพ้อุปนิสัยแก่นแก้ว และฝีมือแม่นปืนตัวฉกาจ         จนกระทั่งวันครบรอบวันเกิดของศรีนวล และกำนันธงได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับบุตรชายของ “ท่านผู้ว่าฯ ทรงพล” ศรีนวลได้พบกับ “เลอสรร” นักเรียนนายร้อยตำรวจหนุ่มรูปหล่อพ่อรวย แม้ว่าในใจลึกๆ ศรีนวลจะมีคำถามว่า “สาวๆ ในจังหวัดนี้ซื่อๆ ตามไม่ทันพี่หรอกหนา ไม่ใช่มาเพื่อลวงใครใช่ไหม” แต่ด้วยจิตปฏิพัทธ์ เธอก็ลักลอบแอบมีความสัมพันธ์กับเขา ในขณะที่สมิงก็ได้แต่แอบเฝ้ามองดูอยู่ด้วยความรู้สึกเจ็บปวด         แม้เลอสรรจะให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อเรียนจบจะรีบให้พ่อแม่มาสู่ขอศรีนวล แต่เพราะชีวิตมนุษย์ไม่ต่างจากสายน้ำ ที่ไม่ได้ไหลราบเรียบเป็นเส้นตรงเสมอไป หากทว่าบางจังหวะก็คดเคี้ยวเลี้ยวลด หรือแม้แต่ปะทะกับแก่งหินเกาะกลางลำน้ำอยู่ตลอดเวลา         ด้วยเหตุฉะนี้ เมื่อเลอสรรเดินทางกลับเมืองกรุง เรือเกิดอุบัติเหตุจนเขาพลัดตกแม่น้ำและสูญเสียความทรงจำบางส่วน โดยเฉพาะเมโมรีไฟล์เรื่องความรักระหว่างเขากับศรีนวล “คุณนายสอางค์” ผู้เป็นมารดาจึงถือโอกาสจับลูกชายคลุมถุงชนแต่งงานกับ “สร้อยเพชร” ลูกสาวผู้ดีมีตระกูลคู่หมั้นคู่หมายตั้งแต่เด็ก และกีดกันบุตรชายไม่ให้เกี่ยวโยงหรือได้ฟื้นฟูความทรงจำเกี่ยวกับชีวิตที่ทุ่งลานเทอีกเลย         สองทศวรรษผ่านไป พร้อมๆ กับความเจริญและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขยายตัวเข้ามาสู่ดินแดนที่ราบลุ่มภาคกลาง “สอยดาว” ลูกของศรีนวลได้เติบโตขึ้นมาเป็นสาวแก่นเซี้ยวเฟี้ยวซ่าไม่ต่างจากผู้เป็นแม่ในอดีต โดยมีสมิงที่ยังแอบไปมาหาสู่กับศรีนวล และรับเลี้ยงสอยดาวกับ “บุญเหลือ” เด็กหนุ่มกำพร้าอีกคน จนทั้งคู่ผูกพันและนับถือสมิงเหมือนพ่อ และเรียกสมิงว่า “พ่อใหญ่” ตามที่ศรีนวลสั่งลูกทั้งสองคนเอาไว้         ในอีกฟากฝั่งหนึ่ง ภาพได้ตัดมาที่เลอสรรเองก็มีลูกสองคนคือ “สาวเดือน” กับ “เกียรติกล้า” ในขณะที่หน้าที่การงานของเลอสรรกำลังก้าวหน้า ได้เลื่อนยศเป็นพันตำรวจเอกผู้มีหน้าที่ปราบปรามโจรในภาคกลาง เคียงคู่กับนายร้อยตำรวจหนุ่มรุ่นน้องไฟแรงอย่าง “ระพี” แต่ทว่าความทรงจำที่ครั้งหนึ่งเขาเคยมีความรักความผูกพันและมีหน้าประวัติศาสตร์บางเสี้ยวส่วน ณ ท้องทุ่งลานเท กลับคอยสะกิดห้วงคำนึงที่ต้องการหาคำตอบว่า เกิดอะไรขึ้นที่นั่น และเขาเกี่ยวข้องอันใดกับผู้หญิงที่ชื่อว่าศรีนวล         หากจะเทียบความรู้สึกในห้วงจิตใจของผู้พันเลอสรรกับอารมณ์ความรู้สึกของคนชั้นกลางไทยในกระแสธารแห่งการพัฒนาประเทศช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา โดยนัยนี้จะพบว่า เพียงแค่ไม่กี่สิบปีที่เศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโตไปมาก แต่ผู้คนกลับรู้สึกว่า ตนมี “ราคาที่ต้องจ่ายแบบแพงระยับ” ให้กับชีวิตอุดมคติในอดีต ไปจนถึงการค่อยๆ ห่างหายไปจากวัฒนธรรมแห่งสายน้ำที่เคยหล่อเลี้ยงสังคมไทยมานานแสนนาน         เพราะฉะนั้น ภายใต้การรอคอยที่จะกู้ไฟล์ความจริงในท้ายเรื่องว่า เกิดอะไรขึ้นที่ทุ่งลานเท และสอยดาวกับสาวเดือนแท้จริงเป็นพี่น้องต่างมารดากัน กอปรกับเส้นเรื่องหลักของละครที่เหมือนจะชวนให้ขบคิดว่า “ทุกชีวิตก็เหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป สุขบ้างทุกข์บ้าง สูญเสียบ้าง แต่ก็ต้องดำเนินไปเหมือนเลือดเจ้าพระยา” แต่ในอีกด้านหนึ่ง “ชีวิตเหมือนสายน้ำที่ต้องดำเนินไป” ของตัวละคร กลับมีอดีตที่หลอกหลอนให้ต้องถวิลหาความสวยงามของวัฒนธรรมแม่น้ำลำคลองอยู่ตลอดเวลา         และไหนๆ ตัวละครก็เกิดอาการโหยหาอดีตกันแล้ว ผลานิสงส์ยังแผ่ขยายมาสู่ภาวะ “nostalgia” ที่ผูกโยงอยู่ในเรื่องเล่าสไตล์บู๊แบบประเพณีนิยมที่อาจจะเคยคุ้นตา แต่กลับไม่ได้เห็นกันมานานนับทศวรรษ         ไม่ว่าจะเป็นการหวนคืนภาพฉากบู๊แอ๊กชันสุดมันส์ยิ่งกว่าหนังกังฟูโบราณ ภาพจอมโจรคุณธรรมผู้ปล้นคนเลวมาอภิบาลคนดี ภาพการต่อสู้ด้วยคาถาอาคมของบรรดาจอมขมังเวทย์ ภาพคำสัญญาสาบานกันหน้าศาลเจ้าแม่ท้องถิ่น ภาพคนรุ่นใหม่ร้องเพลงพื้นบ้านลำตัดกันอย่างสนุกสนาน ไปจนถึงภาพที่เธอและเขาวิ่งไล่จับกบกันกลางทุ่งนาจนเปื้อนเปรอะเลอะกลิ่นโคลนสาปควาย ล้วนแล้วแต่แสดงถึงอาการถวิลหาความงดงามแห่งอดีต สวรรค์บ้านนา และสองฝั่งสายน้ำที่เจือจางลางเลือนกันไปนานแสนนาน         และเมื่อมาถึงฉากจบของเรื่อง แม้ชีวิตผู้คนและสังคมจะเหมือนกับสายน้ำที่ไหลไปและยากจะหวนกลับคืน แต่อย่างน้อยคำมั่นสัญญาที่ตัวละครรุ่นใหม่ต่างยืนยันว่า “กระแสน้ำเชี่ยว ถ้าคนเราไม่ช่วยกันพาย เราก็จะไม่รอด” ก็คงเป็นประหนึ่งสักขีพยานต่อลำน้ำเจ้าพระยา และตั้งคำถามไปพร้อมกันว่า คนกลุ่มนี้จะพายเรือทวนกระแสน้ำเชี่ยวกรากไปสู่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมของไทยในอนาคตกันอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >