ฉบับที่ 200 เล่ห์ลับสลับร่าง : เกิดเป็นชายหรือเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก

สังคมไทยได้ขีดวงกำหนดบทบาทของผู้หญิงกับผู้ชายเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า เพศใดพึงเป็นเช่นไร เพศใดควรทำกิจกรรมทางสังคมแบบใด และเพศใดควรวางตนอย่างไรที่จะบ่งชี้ว่าตนเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย หากเป็นผู้หญิง ก็ต้องเล่นบทบาทเป็นเพศที่นุ่มนวล อ่อนแอ รักสวยรักงาม เจ้าอารมณ์ และรอคอยการปกป้องจากบุรุษเพศอยู่เป็นนิจ แต่ในทางกลับกัน หากเป็นผู้ชายแล้ว บทบาทที่เล่นจะสลับมาเป็นเพศที่แข็งแกร่ง แข็งแรง ไม่สนใจความสำอางของรูปร่างหน้าตาจนเกินงาม คอยพิทักษ์ปกป้องสตรีเพศที่อ่อนแอกว่า และเป็นตัวแทนของเพศที่ใช้เหตุผลเป็นตัวนำทางการกระทำต่างๆ  อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการกำหนดบทบาทและคุณค่าของความเป็นเพศหญิงชายที่ค่อนข้างชัดเจนและต่างกันเอาไว้ดั่งนี้ แต่ทว่าสังคมไทยตั้งแต่ยุคอดีตก็จัดวางที่ทางให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างของบทบาททางเพศระหว่างกัน สมัยเด็กๆ ผู้เขียนจำได้ว่า เคยเห็นเคยชมกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านหรือการโต้เพลงปฏิพากย์หลายชนิดของไทย ที่จะแบ่งฝ่ายให้หญิงชายได้มาแข่งขันกันบ้าง โต้ตอบปฏิภาณกันบ้าง แต่มิได้มุ่งหมายที่จะเอาชนะกันอย่างจริงจัง หากเป็นไปเพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าอกเข้าใจกัน และนำไปสู่การเกื้อกูลกันระหว่างเพศในท้ายที่สุด แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน เมื่อเวทีการละเล่นพื้นบ้านหรือการขับลำเพลงปฏิพากย์ตอบโต้กันได้ห่างไกลออกไปจากชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น พื้นที่การสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้บทบาทการเข้าใจกันและการอยู่ร่วมกันระหว่างเพศก็มิได้หายไปเสียทีเดียว หากแต่เป็นละครโทรทัศน์ที่ผ่องถ่ายการทำหน้าที่เป็นเวทีใหม่ของการสร้างสัมพันธ์กันระหว่างหญิงชายนั่นเอง  “เล่ห์ลับสลับร่าง” เป็นตัวอย่างของเนื้อหาละครที่ได้ทดลองให้ผู้หญิงกับผู้ชายได้สลับบทบาทและเรียนรู้บทบาททางเพศระหว่างกัน ผ่านการสลับร่างของตัวละครเอกคือ “เภตรา” กับ “รามิล”  ในส่วนของเภตรา เธอเป็นดาราสาวฝีมือมากความสามารถเจ้าของฉายา “ไข่มุกแห่งเอเชีย” และเพราะถีบทะยานจากลูกแม่ค้าจนๆ ขึ้นมาเป็นนางเอกชื่อดังแห่งยุค เภตราจึงหยิ่งทะนงในความสวย และเป็นคนเจ้าอารมณ์เหวี่ยงวีนฟาดงวงฟาดงาแบบไร้เหตุผลกับคนรอบข้างตลอดเวลา สำหรับรามิลนายตำรวจหนุ่มมือปราบแห่งหน่วยพยัคฆ์พิฆาต เจ้าของฉายา “ผู้กองมือเหล็ก” แม้จะเป็นผู้กองที่มีเหตุผลและมั่นใจในฝีมือที่ปฏิบัติภารกิจปราบปรามเหล่าร้ายจนสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่ง รามิลก็มีอหังการในหน้าตาที่หล่อเหลาและเจ้าชู้หว่านเสน่ห์ไปเรื่อย แม้เขาจะมี “นกยูง” คู่หมั้นสาวเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้ว เปิดฉากมา ก็เหมือนจะเป็นตัวละครหญิงชายตามสูตร “พ่อแง่แม่งอน” ที่ต้องโคจรมาเจอกัน ต่างฝ่ายก็เริ่มสัมผัสฤทธิ์เดชของอีกฝ่าย โดยที่นางเอกก็ตั้งป้อมใช้อารมณ์เป็นพื้นฐาน ในขณะที่ฝ่ายพระเอกก็เลือกใช้เหตุผลโดยไม่คำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกใดๆ จนกลายเป็นความไม่เข้าใจกันระหว่างเพศตรงข้ามมานับจากนั้น จนเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเภตราถูกโจรปล้นเพชรจับเป็นตัวประกัน ผู้กองรามิลได้เข้าไปช่วยเหลือ จนทั้งคู่พลัดตกลงจากดาดฟ้าตึกไปอยู่บนหลังคาผ้าใบของรถคลาสสิกคันหนึ่ง ทำให้วิญญาณชายหนุ่มหญิงสาวหลุดออกไปจากร่างของตน หากทุกวันนี้ ความผิดพลาดในการโอนไฟล์กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมดิจิตัล 4.0 ดังนั้น แม้จะได้รับความช่วยเหลือจาก “หมอนักษัตร” หมอดูชื่อดังที่ช่วยกู้ไฟล์วิญญาณให้กลับเข้าร่าง แต่ “เล่ห์ลับ” แห่งสรวงสวรรค์ก็ทำให้ไฟล์วิญญาณของทั้งคู่เกิด “สลับร่าง” กันและกันขึ้นมา และเมื่อต้องสลับไฟล์มาอยู่ในร่างที่แตกต่างจากเพศทางกายภาพของตน การเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ที่มีคู่โครโมโซมต่างออกไปจากเพศที่ตัวมาแต่กำเนิดจึงได้อุบัติขึ้น เริ่มตั้งแต่สรีระทางกายภาพที่ฝ่ายหนึ่งได้มาสัมผัสกับส่วนต่างๆ ของร่างกายไล่ไปจนถึงอวัยวะพึงสงวนของเพศตรงข้าม ก็ทำให้ตัวละครได้เรียนรู้ว่า โครงสร้างร่างกายของแต่ละเพศก็มีทั้งข้อเด่นและข้อจำกัดในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันไป แบบที่ด้านหนึ่งเภตราก็เคยโวยวายกับพระเอกหนุ่มว่า “ขยะแขยงร่างของคุณน่ะสิ เหงื่อก็เยอะ ขนดก ตัวเหม็น แถมเวลาเดินยังโทงเทงอีกต่างหาก…” ในขณะที่รามิลก็พูดสวนกลับไปยังนางเอกสาวว่า “ผมเองก็สุดจะทนเหมือนกัน ต้องมาจำใจอยู่ในร่างป้อแป้ปวกเปียกของคุณ ทั้งผอมแห้ง แรงก็ไม่มี และที่สำคัญ เวลาผมวิดพื้น ของคุณมันก็โทงเทงเหมือนกันนั่นแหละ...”  นอกจากบทเรียนความแตกต่างทางเพศสรีระแล้ว แม้แต่ในแง่บทบาททางเพศที่สังคมกำหนดไว้ว่าเพศใดพึงมีบทบาทให้เล่นอย่างไร การสลับร่างก็ทำให้ตัวละครต้องเข้าใจบทบาทที่สังคมมอบหมายให้กับเพศที่แตกต่างเอาไว้แล้วด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อเรือนร่างที่อ้อนแอ้นของสาวสวยอย่างเภตรากลับมีทักษะการกู้ระเบิด และสามารถยิงปืนต่อสู้กับกลุ่มโจรนักค้ายาเสพติดได้อย่างหาญกล้า หรือเมื่อร่างแบบชายชาตรีของผู้กองรามิลกลับมีอากัปกิริยาสะดีดสะดิ้งขี้กลัว และไม่แสดงลักษณะความเป็นผู้นำของหน่วยพยัคฆ์พิฆาตออกมา สายตาของสังคมและคนรอบข้างจึงสนเท่ห์ไปกับบทบาทอันเบี่ยงเบนจากจารีตปฏิบัติของเพศสภาพที่ไม่น่าจะเป็น แม้จะอยู่ในสายตาที่สังคมตั้งคำถามมากมาย แต่การได้สลับร่างเพื่อเรียนรู้บทบาททางเพศที่แตกต่างกันเยี่ยงนี้เอง ก็ค่อยๆ ทำให้ความรักระหว่างเภตรากับรามิลก่อตัวและงอกงามขึ้นมา  จนมาถึงในท้ายที่สุดของเรื่อง กับฉากที่รามิลในร่างเภตราต้องทำหน้าที่เป็นคนอุ้มท้อง โดยมีเภตราในร่างรามิลคอยห่วงใยดูแล การเรียนรู้ความลำบากและเจ็บปวดที่สุดของเพศแม่ในการให้กำเนิด ได้นำไปสู่ความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ว่า “เกิดเป็นชายหรือเป็นหญิงแท้จริงก็แสนลำบากด้วยความคาดหวังของสังคมกันทั้งนั้น”  และก็คงไม่ต่างจากเพลงปฏิพากย์หรือการละเล่นพื้นบ้านสมัยก่อนที่เอื้อให้หญิงชายได้เรียนรู้บทบาททางเพศและดำรงอยู่ด้วยกันอย่างเกื้อกูล หากแต่การสลับร่างสร้างรักของตัวละครก็ได้สืบต่อพันธกิจสร้างการเรียนรู้ดังกล่าวเอาไว้ เหมือนกับข้อความที่ละครโทรทัศน์ได้ทิ้งไว้ในตอนท้ายเรื่องว่า “ไม่สำคัญว่าเราจะเป็นเพศไหน ขอแค่มีคนที่รักเรา เข้าใจเราแบบที่เราเป็น และพร้อมจะอยู่เคียงข้างเราเสมอ...ก็เพียงพอแล้ว”

อ่านเพิ่มเติม >