ฉบับที่ 239 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2564

         10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63        กระทรวงดิจิทัลฯ เผย 10 อันดับข่าวปลอมที่ถูกนำมาแชร์ซ้ำมากที่สุดในรอบปี 63 หมวดสุขภาพครองแชมป์ 3 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ดื่มสไปรท์ใส่เกลือ แก้ท่องร่วง ท้องเสียได้ อันดับ 2 คลอรีนในน้ำประปาเปลี่ยนเป็นสารก่อมะเร็งเมื่อถูกความร้อน อันดับ 3 ใส่ผ้าอนามัยนาน ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก        อันดับ 4 งดใช้ตู้ ATM ที่ไม่มีไฟกระพริบตรงที่เสียบบัตร อันดับ 5 น้ำมันเบนซินมีสารระเหยดูดพิษจากแมลงกัดต่อยหายใน 3-5 นาที อันดับ 6 จัดตั้งจังหวัดในประเทศไทยเพิ่ม รวมเป็น 83 จังหวัด อันดับ 7 ผู้ประกอบการที่ใช้ตราฮาลาลบนสินค้าไม่ต้องเสียภาษี อันดับ 8 มหัศจรรย์น้ำปัสสาวะ รักษาโรคแก้ปวดเมื่อย ช่วยให้ตาใสมองเห็นชัด อันดับ 9 บริษัทชื่อดังฉลองวันพิเศษ แจกบัตรกำนัล สินค้า และรางวัลต่างๆ และอันดับ 10 กรอกแบบสอบถามจากหน่วยงานของรัฐลุ้นรับของรางวัลฟรี ขอเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อและแชร์ข่าวดังกล่าว         กสทช. เอาจริงปรับสูงสุดโฆษณาเกินจริงสินค้าสุขภาพ           กสทช. เผยสื่อมีโทษจับ-ปรับเงินสูงสุด 5 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 ม.ค. กสทช. มีมติเห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ให้สำนักงาน กสทช. มีคำสั่งเตือนทางปกครองให้บริษัท ทีวีดี เซอร์วิสเซส จำกัด ช่องรายการ TVD1 ระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค กรณีการโฆษณาผลิตภัณฑ์ถังเช่า ผสมมัลติวิตามิน บี (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เลขสารบบอาหาร 11-1-07356-1-0101 หรือการโฆษณาอื่นใดที่มีข้อความหรือเนื้อหาสาระในลักษณะเป็นการจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการหรือสินค้าโดยหลอกลวงหรือกระทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการหรือสินค้านั้น หรือโดยการใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือข้อมูลอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง         โดยทันทีที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่ง ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553  ประกอบข้อ 5(2) ข้อ 6(1)(2) และ (3) ของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 และมาตรา 37 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2553 ทั้งนี้ หากบริษัท ทีวีดีฯ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว กสทช. จะใช้อำนาจกำหนดค่าปรับทางปกครองเป็นเงิน 500,000 บาท.สมอ.เร่งออก มอก. บังคับสินค้าเกี่ยวกับโควิด         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  สั่งบอร์ด สมอ. คุมเข้มรับโควิด เร่งออกมาตรฐานป้องกันให้สินค้าเกี่ยวกับโควิด ได้แก่ หน้ากากอนามัย ถุงมือสำหรับใช้ทางการแพทย์ เป็นมาตรฐานบังคับและเตรียมออก มอก.บังคับกับสินค้า ตู้น้ำเย็นและเครื่องเล่นสนาม ทั้งชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก รวม 7 รายการ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน        นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า ปัจจุบันหน้ากากอนามัยยังเป็นมาตรฐานทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ผู้ประกอบการจะมายื่นขอ มอก. หรือจะไม่ขอก็ได้ ล่าสุดมี 1 ราย ที่ได้ มอก. เรียบร้อยแล้ว โดยต่อจากนี้ สมอ. จะดำเนินการทางกฏหมายเพื่อประกาศใช้เป็นมาตรฐานบังคับ ดังนั้นทุกบริษัทจะต้องได้ มอก. เพราะเป็นสินค้าที่มีผลต่อประชาชน         แนะวิธีเช็กเว็บไซต์ผู้ค้าออนไลน์ ก่อนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ         กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ก.พาณิชย์เตือนภัยผู้ใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์ ระวังตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ ดึงเข้าไปเว็บพนันออนไลน์         นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ตรวจพบการกระทำผิดของกลุ่มคนที่ไม่หวังดีที่มีจำนวนมากขึ้นและมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน คือ การปลอมชื่อเว็บไซต์ให้ใกล้เคียงกับชื่อเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) เพื่ออาศัยความน่าเชื่อถือ จากหน่วยงานราชการและดึงดูดผู้ใช้งานที่มีจำนวนมากให้เข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่เป็นการพนันออนไลน์หรือเว็บไซต์ตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลปลอม จึงขอเตือนประชาชนให้มีความระมัดระวังในการเข้าใช้งานมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการถูกหลอกลวงจากผู้ไม่หวังดี         ทั้งนี้ วิธีการเช็กว่าเป็นเว็บไซต์ปลอมหรือไม่ ต้องการเข้าระบบการให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทุกครั้ง ต้องเข้าผ่านทางหน้าเว็บไซต์หลักเท่านั้น คือ www.dbd.go.th โดยไม่ควรเข้าระบบผ่านทางลิงก์ที่มีการแชร์ต่อๆ กันมา หรือค้นหาผ่านระบบ Search engine ต่างๆ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมได้ง่ายขึ้น         ‘ผิดนัดชำระหนี้’ พุ่งสูง จากพิษโควิด มพบ. เสนอ ธปท. ออกมาตรการช่วยเหลือ        นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวในช่วงเสวนา ‘วิกฤติหนี้ครัวเรือนหลัง Covid-19 ความท้าทายของธนาคารในการคุ้มครองผู้บริโภค’ ว่า สำหรับ ปัญหาผู้บริโภคที่มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนเข้ามาในด้านการเงินการธนาคาร โดยเฉพาะช่วงโควิด - 19 พบปัญหาเรื่องหนี้สินในประเด็นที่หลากหลาย อาทิ เรื่องการผิดนัดชำระหนี้ เรื่องการถูกฟ้องคดี เรื่องการถูกทวงถามหนี้ที่ผิดกฎหมาย ในส่วนของเรื่องการผิดนัดชำระหนี้นั้นผู้บริโภคมักจะเข้ามาขอคำปรึกษาหรือขอความรู้เรื่องการจัดการกับปัญหาหนี้ของตัวเองจากปัญหาเศรษฐกิจจนไม่สามารถจัดการชำระหนี้ได้ และตามมาด้วยการถูกฟ้องคดีจากการผิดชำระหนี้ ซึ่งจากสถิติเรื่องร้องเรียน ธุรกิจที่มีการฟ้องคดีที่สุด คือ ธุรกิจเช่าซื้อรถ บางรายถูกยึดรถไปแล้วและมาเจอการฟ้องเรื่องส่วนต่าง บางรายนำรถไปคืนก็ยังเจอปัญหาเรื่องส่วนต่างอยู่ ไม่เพียงแต่เรื่องผู้เช่าซื้อถูกฟ้องคดี แต่ผู้ค้ำประกันบางรายก็ถูกฟ้องคดีด้วยเช่นกัน          “นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งมีการคิดดอกเบี้ยสูงเกินจริงและผิดกฎหมาย และสิ่งที่ตามมาก็คือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคที่สมัครผ่านแอปฯ กู้เงินจะถูกเข้าถึงได้อย่างง่ายดายอีกด้วย”          จากปัญหาที่กล่าว จึงขอฝากถึงธนาคารแห่งประเทศไทยให้เร่งช่วยเหลือประชาชน คือ หนึ่ง ขอให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย สอง ขอให้ออกมาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากคาดว่าสถานการณ์โควิด - 19 และเศรษฐกิจจะยังชะลอตัวไปอีกในช่วงดังกล่าว สาม ขอให้มีมาตรการจัดการกับธุรกิจการปล่อยสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่ผิดกฎหมาย และสุดท้าย ขอให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นลูกหนี้ NPL

อ่านเพิ่มเติม >