ฉบับที่ 261 Growth Mindset กับคนจน (2)

        มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำให้อ่านกัน ‘The Broken Ladder’ หรือชื่อไทยว่า ‘เมื่อบันไดหัก มองสังคมเหลื่อมล้ำผ่านแว่นจิตวิทยา’ โดย Keith Payne ของสำนักพิมพ์ Bookscape มันพยายามทำความเข้าใจว่าทำไม๊ทำไมคนจนถึงชอบทำตัวที่ดูยังไง๊ยังไงก็ไม่เป็นคุณกับชีวิตตัวเองเลย         ถ้าเราเอาเรื่อง Growth Mindset มาจับ มันก็ง่ายดีที่เราจะสรุปว่าคนจนไม่มี Growth Mindset เป็นพวก Fixed Mindset ไม่ยอมเรียนรู้ ไม่ยอมพัฒนาตัวเอง เอาแต่รอความช่วยเหลือ แถมที่ดูน่าหงุดหงิดคือทั้งที่เงินก็ไม่ค่อยจะมียังทำตัวแย่ๆ อย่างสูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่เรียนหนังสือ แถมมีลูกเร็วอีกต่างหาก         Keith Payne เรียกว่า พฤติกรรมบั่นทอน สิ่งนี้แหละนำไปสู่ข้อสรุปอันหละหลวมที่ว่าคนจนก็เพราะทำตัวเอง         Keith Payne ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมบั่นทอนน่ะเป็นเรื่องจริง เห็นๆ กันอยู่ คนจนเองก็มีส่วนทำตัวเอง แต่ๆๆ ...“ความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรมของเรา และความแตกต่างของพฤติกรรมแต่ละคนก็ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นได้”         ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำกว้างเป็นกาแล็กซี่ทางช้างเผือกแบบสังคมไทย มันส่งผลต่อพฤติกรรมของคนจนอย่างมีนัยสำคัญ มันคือผลของวิวัฒนาการและจิตใจ         คนจนไม่รู้หรอกว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง จะมีกินมั้ย จะมีค่านม ค่าเทอมให้ลูกหรือเปล่า ต้องดิ้นรนทุกทางให้มีวันพรุ่งนี้ ความไม่มั่นคงนี้เองทำให้พวกเขาต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเฉพาะหน้ามากกว่าอนาคตที่ยังลูกผีลูกคน         คนจนมักถือคติว่า ‘ใช้ชีวิตให้เต็มที่ อีกไม่นานก็ตายแล้ว’ และ ‘ไม่มีอะไรจะเสีย’ เป็นคำที่ Keith Payne ใช้ ก็เพราะชีวิตพวกเขาเป็นเช่นนั้น         การพัฒนาตนเองน่ะเหรอ? การเรียนรู้น่ะเหรอ? การยอมรับความผิดพลาดและใช้เป็นบทเรียนน่ะเหรอ? มันต้องใช้ทั้งเวลาและเงินซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของพวกเขาเชียวนะ         การมี Growth Mindset น่าจะดีแหละ แต่บอกว่าคนจนเพราะไม่มี Growth Mindset ก็คงไม่ใช่เสียทีเดียว         Keith Payne ย้ำตลอดทั้งเล่มว่าความเหลื่อมล้ำส่งผลต่อพฤติกรรม ความคิด ความเชื่อของคนเรา คนที่อยู่บนบันไดสถานะต่างกัน มีมุมมองต่อโลกและชีวิตต่างกัน         บางที Growth Mindset ควรต้องมีองค์ประกอบว่าด้วยความเข้าใจและการอยู่ร่วมกับความหลากหลายของผู้คนบนโลกทั้งด้านสถานะทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความคิด พฤติกรรม ฯลฯ รวมถึงการมุ่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาแต่เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ตราบฟ้ามีตะวัน : ใครๆ ก็ไม่รักหนู ขนาดพัดลมยังส่ายหน้าเลย

                ในขณะที่บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายเคยผ่านช่วงชีวิตแบบวัยรุ่นกันมาแล้วทุกคน แต่ก็น่าแปลกใจว่า พอพ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว เราก็มักจะพากันหลงลืมความทรงจำเมื่อครั้งที่เป็นวัยรุ่นแทบจะทั้งสิ้น         วัยรุ่นมักถูกมองว่า เป็นวัยแห่งความคึกคะนอง ชอบทำอะไรที่ไม่เป็นโล้เป็นพาย เป็นช่วงอายุบนความคลุมเครือ จะเด็กก็ไม่ใช่ จะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่เชิง มีวิถีปฏิบัติบางอย่างที่พร้อมจะ “ขบถ” และลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจที่กฎกติกาแห่งสังคมพยายามจะจัดระเบียบวินัยให้กับพวกเขาเหล่านี้         และด้วยเหตุผลดังกล่าว ผู้ใหญ่ๆ หลายคนจึงมักมองวัยรุ่นด้วยสายตาแปลกๆ และเลือกที่จะหลงลืมความทรงจำแห่งสำนึกขบถต่อต้าน หรือแม้แต่ออกอาการรังเกียจต่อวัยรุ่น ซึ่งเมื่อครั้งหนึ่งพวกตนก็เคย “เป็นอยู่คือ” มาก่อน เพียงเพื่อจะบอกคนอื่นได้ว่า ตนได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ที่เป็นคนดีของระบบไปแล้ว         อาการเกลียดกลัววัยรุ่นแบบนี้ กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักของละครโทรทัศน์เรื่อง “ตราบฟ้ามีตะวัน” ที่ผูกโยงชีวิตของนางเอก “วันฟ้าใหม่” หรือ “แป้ง” ผู้เจอมรสุมหนักหน่วงในช่วงวัยรุ่น จนกลายเป็นเด็กมีปัญหา ก้าวร้าว เอาแต่ใจตนเอง แต่ทว่าลึกๆ ลงไปนั้น แป้งกลับเป็นเด็กที่ขาดความรักและรู้สึกเคว้งคว้างโดดเดี่ยว         ละครเริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปในอดีต แป้งเป็นบุตรสาวของครอบครัวเศรษฐีผู้มีอันจะกินอย่าง “ธราเทพ” และ “พิมนภา” แม้ว่าฉากหน้าพ่อและแม่ของแป้งจะเป็นคู่รักที่ใครๆ อิจฉา เพราะเพียบพร้อมทั้งฐานะเศรษฐกิจและสังคม แต่เบื้องลึกแล้ว ครอบครัวนี้กลับไม่ได้สมบูรณ์แบบดั่งฉากหน้าที่ฉาบเคลือบไว้         ธราเทพผู้เป็นบิดาที่วันๆ เอาแต่ทำงานกับงาน กับพิมนภามารดาผู้เป็นสาวสังคมที่โลดแล่น แต่ทั้งคู่ก็ละเลยต่อลูกสาวคนเดียว แป้งที่เติบโตมากับ “อึ่ง” ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาเป็นเด็กมีปัญหา และทำตัวขบถเรียกร้องเพื่อชดเชยความรักที่ขาดหายไปในชีวิตเธอ         จนกระทั่งวันหนึ่งเกิดเรื่องที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อธราเทพและพิมนภาถูกฆาตกรรมเสียชีวิตลงกะทันหัน และแป้งได้เห็นภาพติดตาของร่างซึ่งไร้วิญญาณของพ่อแม่ที่จากเธอไป จากเด็กที่ยังเคยมีความน่ารักอยู่บ้าง ก็ยิ่งกลายเป็นเด็กที่เคยตัวและเอาแต่ใจตนเองอย่างสุดโต่ง         สถานการณ์ที่แป้งต้องเผชิญตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยแบบนี้ เหมือนจะบ่งบอกเป็นนัยว่า เผลอๆ แล้ว ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับเยาวชน ก็อาจไม่ได้ฝังรากเนื้อแท้มาจากภายในจิตใจของเด็กเองหรอก ทว่าจุดเริ่มต้นของปัญหากลับมาจากสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้ก่อขึ้น จนสั่งสมเป็นปมปัญหาที่พรากความฝันและจิตวิญญาณของเด็กรุ่นใหม่ให้สลายหายไป         และภายหลังจากบุพการีเสียชีวิตลง แป้งผู้ขบถก้าวร้าวก็ได้มาอยู่ภายใต้การดูแลของ “ครองประทีป” เจ้าของไร่แสงตะวันผู้เป็นเพื่อนรักของธราเทพ ครองประทีปพาแป้งมาอยู่ที่ไร่ และให้ “อาทิตย์” บุตรชายคอยเฝ้าดูแลเด็กหญิง แป้งจึงเริ่มรู้สึกผูกพันยึดติดกับพี่อาทิตย์อย่างมาก จนเข้าใจว่า สิ่งที่พระเอกหนุ่มทำให้คือความรักที่เขามีต่อเธอ และเธอก็โหยหาความรักดังกล่าวนั้นอยู่         แม้ช่วงแรกพระเอกหนุ่มจะรู้สึกเอ็นดูและสงสารเด็กหญิง แต่เมื่ออาทิตย์ได้ทราบความจริงว่า บิดาได้แอบหมั้นหมายให้เขาแต่งงานกับแป้งตามพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับธราเทพก่อนตาย อาทิตย์ก็ตั้งแง่รังเกียจเด็กสาว ในทางตรงกันข้ามกับแป้งที่ยังคงยึดเหนี่ยวกับคำมั่นสัญญาของบิดา จนเลือกที่จะอาละวาดทุกคนในไร่ที่พยายามขัดขวางไม่ให้เธอได้แต่งงานกับพระเอกหนุ่ม         ในฉากที่เด็กนักเรียนมัธยมอย่างแป้งแสดงกิริยาดื้อดึง และออกปากว่าตนจะต้องแต่งงานกับอาทิตย์จงให้ได้ รวมไปถึงสร้างเรื่องราวว่าอาทิตย์จะใช้กำลังปลุกปล้ำกระทำชำเราเธอ ด้านหนึ่งก็อาจทำให้เราเข้าอกเข้าใจชีวิตเด็กวัยรุ่นที่ออกมาเรียกร้อง เพราะขาดความรักความไยดีจากคนรอบข้าง แบบที่แป้งกล่าวว่า “แป้งไม่มีอะไรจะเสีย พ่อก็ตาย แม่ก็ตาย แป้งไม่ต้องการอะไรอีกแล้วนอกจากพี่อาทิตย์”         แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น ภาพเดียวกันนี้ก็อาจทำให้สายตาของผู้คนในสังคมรู้สึกกระอักกระอ่วนใจกับอากัปกิริยาที่เด็กหญิงคนหนึ่งได้ต่อต้านท้าทายธรรมเนียมปฏิบัติว่าด้วยการแสดงความปรารถนาดิบลึกเชิงชู้สาวในที่สาธารณะเยี่ยงนี้ เฉกเช่นประโยคที่อาทิตย์ได้พูดกับแป้งแบบไม่เหลือเยื่อใยว่า “ต่อให้เหลือผู้หญิงคนเดียวในโลก ฉันก็ไม่เอาเธอมาทำเมีย”         เพราะเหตุผลของวัยรุ่นไม่ได้มีอำนาจและความชอบธรรมเท่ากับเหตุผลของบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ดังนั้นด้วยนิสัยที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานเช่นนี้ ในที่สุดครองประทีปก็ตัดสินใจส่งแป้งไปศึกษาร่ำเรียนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ห่างไกลจากอาทิตย์และไร่แสงตะวัน         และก็อย่างที่ทุกคนก็ตระหนักกันดี สถาบันการศึกษาหาใช่เพียงแหล่งผลิตและถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกที่ใช้เวลาเป็นปีๆ ในการขัดเกลาและจัดวินัยวัยรุ่นผู้มักมีจิตสำนึกขบถ ให้เข้ารีตเข้ารอย จนพร้อมจะกลายเป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” ที่อยู่ใต้อาณัติของกฎกติกาแห่งสังคม         ดังนั้น 6 ปีที่เธอจากไป หญิงสาวก็ได้หวนกลับมายังไร่แสงตะวันพร้อมกับความรู้สึก “สำนึกบาป” เป็นแป้งคนใหม่ ผู้ซึ่งผ่านการขัดและเกลาวินัยแห่งร่างกายและจิตใจมาแล้ว แต่เพราะใครต่อใครในไร่แสงตะวันก็ยังคงรำลึกและรังเกียจภาพวีรกรรมที่เธอเคยทำเอาไว้เมื่อครั้งอดีต เธอจึงต้องเผชิญกับบททดสอบจากประชาคมผู้คนในไร่ เพื่อจะยืนยันมั่นใจให้ได้ว่า แป้งได้กลับตัวกลับใจแบบ 360 องศาแล้วจริงๆ         ไม่ว่าจะเป็นบทลงโทษจากพี่อาทิตย์ที่ให้แป้งล้างคอกวัว ล้างจานชามของคนงานในไร่ทุกคน ขุดดินดายหญ้า ไม่ให้กินข้าวกินปลา ไม่ให้อาบน้ำอาบท่า ไม่ให้มีไฟฟ้าใช้ในบ้านพัก ไปจนถึงการลงทัณฑ์ให้เธอต้องกินข้าวในถาดของสุนัข         แม้จะมีบททดสอบที่สาหัสสากรรจ์ยิ่งกว่าสถานกักกันนักโทษ แต่เพราะวัยรุ่นเป็น “ข้อต่อข้อสุดท้าย” ก่อนที่จะก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ บทลงทัณฑ์เหล่านี้จึงสรรค์สร้างขึ้นบนความชอบธรรมแห่งการจัดวินัยเพื่อดัดพฤตินิสัยว่า แป้งจักได้กลายเป็นคนดีหรือเป็น “คนที่เชื่องๆ” ไร้ซึ่งจิตสำนึกขบถนั่นเอง เหมือนที่แป้งก็มักจะพูดกับตนเองเป็นระยะๆ ว่า “เราต้องทนให้ได้ เรากำลังใช้กรรมอยู่”         ครั้นพอถึงในฉากจบ แน่นอนว่า หลังจาก “ชดใช้กรรม” เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองได้ปลอดคราบไคลจิตสำนึกขบถจากบรรทัดฐานแห่งสังคมไปแล้ว แป้งก็ได้รับการต้อนรับขับสู้จากประชาคมไร่แสงตะวัน และลงเอยครองคู่กับพี่อาทิตย์ตามสูตรของละครแนวโรแมนติกดรามาไปในที่สุด          ทุกวันนี้ แม้ผู้ใหญ่ทั้งหลายจะยืนหยัดเชื่อมั่นในเหตุผลและกฎกติกาที่ตนได้ขีดเขียนเอาไว้ แต่ในอีกมุมหนึ่งแล้ว ตัวละครแบบแป้งผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยมีสำนึกขบถต่อต้านกฎเกณฑ์ดังกล่าว ก็หาได้จางหายไปจากโลกแห่งความจริงไม่ ความเกลียดกลัววัยรุ่นก็ยังคงดำรงอยู่ และจะดำเนินต่อไป “ตราบฟ้ามีตะวัน” นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

        ออกตัวกันก่อนว่าไม่ใช่การชี้ชวนให้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมตัวไหน แหม่ จะเอาความรู้ที่ไหนมาบอกได้ แล้วถ้ารู้ว่าตัวไหนจะขึ้น ผู้เขียนซื้อไว้เองไม่ดีกว่าเหรอ เรื่องแบบนี้ต้องเรียนรู้เอง เจ็บเอง         ที่อยากเล่าสู่กันฟังคือเพิ่งได้ฟังเสวนาวิเคราะห์ทิศทางหุ้นโลก หุ้นไทย และการทำ DCA (เรื่องนี้ต้องพูดแน่ๆ แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้) ของบริษัทหลักทรัพย์เจ้าหนึ่ง ซึ่งมีเนื้อหาบางประเด็นน่าสนใจทีเดียว มันเกี่ยวข้องทั้งกับใครที่อยากลงทุนหุ้นและอาการบิดๆ เบี้ยวๆ ของโครงสร้างเศรษฐกิจไทย         เรื่องคือนักวิเคราะห์คนหนึ่งพูดถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนไปยังหุ้นหรือกองทุนรวมในต่างประเทศ เพราะมีหลายตัว หลายกองน่าสนใจ โดยเฉพาะที่เกาะกับกระแสเมกะเทรนด์ของโลก เช่น สังคมสูงวัย อุตสาหกรรมดิจิทัลหรือเทคโนโลยีล้ำอย่างหุ่นยนต์ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เป็นต้น เดี๋ยวนี้กองทุนรวมหลายกองมีธีมการลงทุนเฉพาะ เช่น กองที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มอี-คอมเมิร์ส กองที่ลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี ให้เราเลือกเกาะเทรนด์การเติบโต          แล้วปัญหาอยู่ตรงไหน?        นักวิเคราะห์รายนี้บอกว่า เมื่อย้อนกลับมาดูหุ้นไทยเราแทบจะไม่เจอหุ้นที่เกาะเมกะเทรนด์ของโลกเลย แย่กว่านั้นหุ้นจำนวนหนึ่งก็เป็นธุรกิจผูกขาด ธนาคารเป็นตัวอย่างหนึ่ง นี่แหละประเด็นใหญ่         ลองถามนักเศรษฐศาสตร์ เกือบร้อยทั้งร้อยแหละไม่เห็นด้วยกับการผูกขาด มันส่งผลร้ายมากกว่าดี และผลร้ายที่ว่ามันตกอยู่กับประเทศ นักลงทุน จนถึงผู้บริโภคอย่างเรา          ทำไมเราจึงไม่ค่อยมีบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ที่ทำวิจัยและพัฒนา ปรับตัวเพื่อเกาะเมกะเทรนด์ของโลก ทั้งที่ได้ประโยชน์เห็นๆ แต่ถ้าเป็นคุณจะเสียเงินมากมายทำไมกับผลในระยะยาวที่ไม่แน่ใจว่าจะประสบผลสำเร็จ ในเมื่อธุรกิจของคุณผูกขาดไปแล้ว ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ซื้อหรือใช้บริการของคุณก็ไม่มีเจ้าอื่นอีกแล้ว คุณแค่นั่งเก็บกินผลประโยชน์จากการผูกขาดก็พอ         การผูกขาดยังทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน สมมติว่าในอุตสาหกรรมหนึ่งมีบริษัทใหญ่เพียง 2 บริษัท พวกเขาคงแข่งกันแย่งลูกค้าแหละ แต่ไม่มีนัยสำคัญพอที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบสนองผู้บริโภคได้ดีขึ้น แล้วถ้า 2 บริษัทฮั้วกันอีก ความซวยก็ยิ่งเกิดกับผู้บริโภค จะต่างกันลิบถ้ามีคู่แข่งเป็นสิบๆ ในตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากมาย บริษัทไหนอ่อนแอก็แพ้ไป          นักลงทุนจึงพลอยได้รับผลกระทบจากการผูกขาดไปด้วย มีตัวเลือกในการลงทุนไม่มาก ไม่มีบริษัทที่เกาะเมกะเทรนด์ การเติบโตในอนาคตของบริษัทประเภทนี้อาจไม่ยั่งยืน อย่าคิดว่ากำเงินสดไว้ซื้อหุ้นหรือกองทุนรวมอย่างเดียวเป็นพอ         โครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ดี มันไม่ดีกับเราทุกคนนั่นแหละ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 มีอำนาจเหนือตลาดแต่ไม่ผูกขาด

        คำตัดสินของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างมาก ทำให้นึกย้อนไปถึงมติปปช.เรื่องนาฬิกาเพื่อนเป็นการยืมใช้คงรูปไม่ต้องแสดงรายการในบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง         กรรมการเสียงข้างมาก 4 เสียง มีมติ อนุญาตให้ควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัดและบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด โดยให้เหตุผลว่า การควบรวมครั้งนี้จะมีอำนาจตลาดเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่เป็นการผูกขาด และการรวมธุรกิจดังกล่าวมีความจำเป็นตามควรทางธุรกิจและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจเพิ่มมากขึ้นและอาจส่งผลให้การแข่งขันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง         ขณะที่กรรมการแข่งขันการค้าเสียงข้างน้อย 3 เสียง ได้แก่ ศาสตราจารย์สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการ นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์ กรรมการการแข่งขันทางการค้า ไม่สนับสนุนการควบรวมในครั้งนี้ เพราะเห็นว่า จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ เนื่องจากผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ        เมื่อผนวกรวมกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า ตั้งแต่ระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซึ่งเป็นช่องทางการจำหน่ายสำคัญที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ด้วยปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนสามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่ายและจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น         นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) โดยผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง         ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) การรวมธุรกิจในครั้งนี้ จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอี ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอโดยไม่มีข้อต่อรองใดๆ เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้าจำหน่ายหรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดก็กระทบกับผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 How to เก็บ เก็บยังไงให้เหลือเงิน How to ลด ลดยังไงไม่ให้เหลื่อมล้ำ

                ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาช่างฝืดเคืองในความรู้สึกของชาวบ้านร้านช่อง ส่วนในปี 2563 บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้ให้ความหวังมากนักว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงและการท่องเที่ยวที่อาจไปไม่ถึงเป้า ขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่ลดลงน่าจะส่งผลถึงปีนี้ ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ยังพบว่า ในปี 2562 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดในประวัติศาสตร์และเพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 7.4 บวกกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดรบรากัน เศรษฐกิจไทยปี 2563 จึงเสี่ยงที่จะเติบโตช้า        คำถามตัวโตๆ ก็คือผู้บริโภคอย่างเราจะอยู่อย่างไรในสภาพเศรษฐกิจและการเมืองเช่นนี้         ‘ฉลาดซื้อ’ ชวนหาคำตอบเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่น่าจะพอช่วยฝ่าฟันมรสุมเศรษฐกิจปี 2563 การเงินในระยะยาว แต่ต้องเน้นตัวโตๆ ตรงนี้ว่ามันคงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปตายตัวที่ทุกคนจะนำไปใช้ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเฉพาะคน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ถูกค้ำจุนจากเชิงโครงสร้าง การผลักดันทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้          เริ่มรู้จักตัวเองและเก็บออม          การเงินส่วนบุคคลหรือ personal finance เป็นวิชาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน นี่เป็นจุดอ่อนใหญ่ของระบบการศึกษาไทย         พูดถึงเรื่องเก็บออมหรือลงทุน เรามักนึกถึงเรื่องจำนวนเงิน ผลตอบแทน ความเสี่ยง วิธีการสารพัดที่หนังสือฮาวทูโฆษณาว่าจะทำให้คุณรวยเร็ว ฯลฯ ผิด! เพราะสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ก่อนคือ ‘รู้จักตัวเอง’ เริ่มจากการสำรวจตัวเอง ไลฟ์สไตล์ ทัศนคติต่อเรื่องเงิน ภาระค่าใช้จ่าย งบการเงิน หนี้สิน รวมถึงเป้าหมายทางการเงินของตน เวลาพูดถึงเป้าหมายการออมและลงทุน คำตอบมักหนีไม่พ้น ‘อยากรวย’ แต่ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงเรียกว่ารวย รวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน        หลังจากนั้น คุณต้องหันทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อให้รู้ว่าเงินของคุณเดินทางเข้าออกอย่างไร มันจะช่วยให้เห็นว่ารายจ่ายตรงไหนที่ประหยัดได้อีก แต่ละเดือนมีเงินเหลือหรือไม่ กล่าวคือมันเป็นการเริ่มต้นสำรวจสถานะการเงินของคุณ สิ่งสำคัญคือสภาพคล่อง เงินสดในกระเป๋าสำหรับใช้จ่ายกินอยู่ ถ้าคุณไม่มีสภาพคล่อง หนี้สินก็จะตามมา การรู้รายรับ-รายจ่ายและการบริหารสภาพคล่องจึงเป็นเสาหลักต้นแรกที่ต้องใส่ใจ         ไม่ใช่แค่ใช้จ่าย สภาพคล่องในที่นี้ยังต้องรวมเงินสำหรับเก็บออมด้วย คำแนะนำโดยทั่วไปคือเมื่อคุณได้รายได้มาให้หักเงินออมก่อนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายได้ เพราะความคิดเดิมที่ว่าเหลือแล้วค่อยเก็บนั้นล้าสมัยไปมากแล้ว         ถามว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่? เงินก้อนแรกที่คุณต้องเก็บคือเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เดือนของรายจ่ายต่อเดือน เช่น ถ้าใน 1 เดือนคุณมีรายจ่ายและเงินออมรวม 10,000 บาท คุณต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน 60,000 -120,000 บาท ฟังดูมากจนน่าท้อใจ แต่ถ้าวันหนึ่งที่คุณไม่มีรายได้หรือเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินก้อนคุณจะเห็นความสำคัญของเงินก้อนนี้ และในระหว่างที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คุณยังสามารถออมเงินอีกก้อนไปพร้อมกันได้ หากรู้จักจัดสรรเงินโดยไม่กระทบสภาพคล่อง         อีกทั้งมันยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเก็บออม นั่นคือ ‘วินัย’ ที่มักทำให้หลายคนตกม้าตายไปไม่ถึงเป้าหมายการออมของตน          จัดการหนี้สิน         หนี้สินเป็นสิ่งที่กัดกินสภาพคล่องและความมั่งคั่ง การจัดการหนี้สินจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ         สิ่งแรกที่ต้องรู้ ไม่ใช่ว่าหนี้จะเป็นสิ่งไม่ดีเสมอไป คุณต้องแยกระหว่างหนี้ดีกับหนี้ไม่ดีให้ได้ หนี้ดีคือหนี้ที่ก่อแล้วส่งผลดี เช่น เพิ่มทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ หนี้ที่นำมาลงทุนทำอาชีพเสริม เป็นต้น ส่วนหนี้ไม่ดีก็คือหนี้บริโภคจากการใช้จ่ายเกินตัว        จุดนี้ต้องแยกแยะให้ดี เพราะการกู้หนี้มาซื้อของอย่างเดียวกันอาจเป็นได้ทั้งหนี้ดีและหนี้ไม่ดี ยกตัวอย่างการซื้อรถ ถ้าคุณเป็นเซลที่ต้องเดินทางออกไปเสนอผลิตภัณฑ์กับลูกค้าบ่อยๆ หนี้รถก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการก่อหนี้ดีจะต้องไม่กระทบกับสภาพคล่อง ทีนี้ ถ้าคุณซื้อรถเพราะเห็นเพื่อนๆ มีรถก็อยากมีบ้างหรือซื้อเพื่อแสดงสถานะทางสังคมทั้งที่รายได้ยังไม่มากพอ แบบนี้ก็เป็นหนี้ไม่ดี ดังนั้น จงหลีกเลี่ยง         หากทำได้ กำจัดหนี้ไม่ดีออกไปให้เร็วที่สุด คำนึงถึงความจำเป็นเป็นหลัก การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าอาจไม่สะดวกเท่าขับรถไปทำงานเอง แต่มันอาจประหยัดได้มากกว่าหลายเท่าตัวกับค่าผ่อนรถ ค่าบำรุงรักษา ภาษี และอื่นๆ          รับมือความเสี่ยง        ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเป็นเบาะกันกระแทกที่ดีเมื่อคุณต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เอ๊ะ แล้วเงินสำรองฉุกเฉินล่ะทำไมไม่เอามาใช้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าคุณสามารถถ่ายโอนภาระความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นแบกรับแทน แม้คุณจะมีเงินสำรองฉุกเฉิน แต่อุบัติเหตุร้ายแรงเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เงินก้อนนี้หายไปในชั่วพริบตา อย่างไรก็ตาม คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีคัดเลือกประกันและเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับตัวคุณ        ปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาคิดก่อนซื้อประกันคือสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว เช่น ประกันอุบัติเหตุของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น แน่นอนว่าสิทธิการรักษาพยาบาลควรเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างครอบคลุม เสมอหน้า และเท่าเทียม ทว่า ในรัฐที่ระบบสวัสดิการยังไม่ครอบคลุมและมีรัฐบาลที่เห็นว่าการซื้ออาวุธสำคัญกว่าสุขภาพของประชาชน การซื้อประกันก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า          เรียนรู้เพื่อลงทุน-อย่าโลภ         เมื่อคุณมีเงินสำรองฉุกเฉิน จัดการหนี้สินได้ มีเงินออม และเริ่มมีเงินเหลือ การวางแผนการเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณก็จะตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรคิดตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน เพราะความมั่งคั่งจากการลงทุนต้องอาศัย 3 ปัจจัย-เงินต้น ผลตอบแทน และระยะเวลา         คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เงินต้นไม่มากพอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็ว ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารก็ต่ำเตี้ยมาเป็นเวลานานโตไม่ทันกับเงินเฟ้อ คงมีแต่เวลาที่พอจะมีใกล้เคียงกัน (แต่ก็ไม่เสมอไป) ดังนั้น ยิ่งคุณเริ่มเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ         การฝากเงินกับธนาคารจึงไม่ใช่คำตอบของการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ การลงทุนต่างหากที่ช่วยได้        ทันทีที่พูดเรื่องการลงทุน คนส่วนใหญ่จะทำหน้างอและถอย ข้ออ้างคือไม่มีความรู้ ไม่มีเงินก้อน นี่เป็นมายาคติตัวใหญ่ที่ขวางกั้นคุณกับความมั่งคั่ง สกู๊ปนี้คงไม่ลงรายละเอียดว่าต้องลงทุนอย่างไร คุณสามารถหาความรู้ด้านการลงทุนมากมายได้จาก www.set.or.th/education        เรามีแค่คำเตือน-อย่าโลภ ขายตรง ทองคำ ฟอร์เร็กซ์ ข่าวคราวแชร์ลูกโซ่ที่มากทั้งจำนวนผู้เสียหายและจำนวเงิน ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภทั้งสิ้น เมื่อใดที่เห็นคำโฆษณาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ เช่น ร้อยละ 12 ต่อเดือน จงระวังตัว          วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่าที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งจนได้ฉายาว่า เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา ยังสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นได้เพียงประมาณร้อยละ 22 ต่อปีเท่านั้น แล้วคุณเชื่อหรือว่าจะมีคนที่คุณเอาเงินไปให้แล้วจะสร้างผลตอบแทนให้ร้อยละ 12 ต่อเดือนโดยที่คุณแค่นั่งเฉยๆ         ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุน คุณต้องหาความรู้ เข้าใจความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ผลตอบแทนที่ต้องการ รักษาวินัยในการลงทุน และอย่าโลภ          ความเหลื่อมล้ำอันกว้างใหญ่         ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเย็นเกินกว่าจะลงมือทำ         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ ‘ทุกคน’ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาค คำตอบคือไม่ เพราะแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน บางคนติดลบตั้งแต่เกิด อีกบางคนมีมูลค่าเป็นพันล้านตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงเด็กชาย         วารสารการเงินการธนาคารฉบับเดือนธันวาคมปี 2562 เผยภาพรวมเศรษฐีหุ้นไทยโดยวัดจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือหุ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่ามีจำนวน 7,626 คน มูลค่าหุ้นรวมกันเท่ากับ 2,127,895 ล้านบาท คน 7,626 นี้ได้รับปันผลจากหุ้นที่ตนถือครอง 60,060 ล้านบาท ส่วนมหาเศรษฐีหุ้นไทย 500 อันดับแรก มูลค่าหุ้นที่คนกลุ่มนี้ถือครองคือ 1,607,362 ล้านบาท         นิตยสาร Forbes Thailand จัดอันดับมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรก พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของมหาเศรษฐีทั้ง 50 คนอยู่ที่ประมาณ 5.14 ล้านล้านบาท มหาเศรษฐีเหล่านี้วนเวียนอยู่ในตระกูลที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เจียรวนนท์ สิริวัฒนภักดี โอสถานุเคราะห์ อัศวโภคิน กาญจนพาสน์ ปราสาททองโอสถ โสภณพนิช ว่องกุศลกิจ เป็นต้น         ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของทั้งประเทศอยู่ที่ 3,200,000 ล้านบาท         อีกฟากฝั่งของความร่ำรวยของคนไม่กี่คนและไม่กี่ตระกูล จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เงินฝากมีการกระจุกตัวสูงโดยผู้ฝากรายใหญ่สุดร้อยละ 10 มีเงินฝากรวมถึงร้อยละ 93 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และคนไทยกว่าครึ่งมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่ครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท และมีเพียงร้อยละ 0.2 ที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 32.8 ของผู้ฝากหรือ12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนมีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท และจากข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 หรือปี 2561 ประเทศไทยก็ได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำ        ลองเทียบตัวเลขคุณจะเห็นความผิดปกติบางอย่าง ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในไทยช่างกว้างใหญ่ราวมหาสมุทรแปซิฟิก        รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม จากภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของไทยเป็นผลจากนโยบายของรัฐมักเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ ไม่สนับสนุนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของตนเอง ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรมตามหลักการจัดสรรรายได้จากคนรวยสู่คนจนจึงไม่ทำงาน          สร้างรัฐที่ดูแลประชาชน         การเก็บออมเป็นวินัยที่ทุกคนควรมี แต่มันไม่เพียงพอ การถักทอตาข่ายทางสังคมที่รองรับทุกคน ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องผลักดันควบคู่กันไปให้เป็นสิทธิของเราที่รัฐต้องจัดหาให้แก่ประชาชน นโยบายที่ควรต้องขับเคลื่อนให้รัฐตอบสนอง เช่น        1.การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ        2.การจัดสวัสดิการด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพ และต้องฟรีจริงๆ        3.การสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ        4.การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีผลได้จากทุน เป็นต้น อย่างมีประสิทธิภาพ        5.การสร้างระบบการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มได้ส่งเสียงและเสนอความต้องการ        6.การจัดสรรให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเป็นธรรม        ฯลฯ         การผลักดันเชิงนโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ทำได้หรือไม่? ก็ไม่ได้ เพราะมันจะช่วยดึงความมั่งคั่งที่อยู่ในมือคนไม่กี่คนกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศ         อุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ยืนขวางอยู่คือรัฐบาลสืบทอดอำนาจและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 พักหรูที่ไหน ได้ร่วมดูแลสังคม

ฉลาดซื้อ ฉบับนี้รีบชิงพาคุณเข้าโรงแรมก่อนใคร ... อย่าเพิ่งเข้าใจผิด ... เราจะพาคุณไปสำรวจระดับความรับผิดชอบต่อสังคมของเครือโรงแรมระดับโลก ในการสำรวจครั้งนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research & Testing (ICRT) ได้ส่งแบบสอบถามไปยังเครือโรงแรมทั้งหมด 10 แห่ง ได้แก่ เครือ ACCOR   BARCELO   CARLSON Worldwide    HILTON   IBEROSTAR   INTERCONTINENTAL   MARRIOTT   RIU    SOL MELÍA และ STARWOOD จากนั้นนำข้อมูลมาประมวลผลร่วมกับข้อมูลจากการสัมภาษณ์และการลงพื้นที่ของทีมสำรวจ และให้คะแนนตามหัวข้อต่อไปนี้   1. นโยบายการกำกับดูแลกิจการ ซึ่งรวมถึงระบบการจัดการเพื่อแสดงความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ  การปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ การได้รับการรับรองจากองค์กรอิสระในเรื่องความยั่งยืน และการฝึกอบรมพนักงานในเรื่องดังกล่าวด้วย 2. การดูแลพนักงาน เช่น สภาพการทำงาน สิทธิแรงงาน เงินเดือน ชั่วโมงทำงาน นโยบายที่เป็นมิตรต่อพนักงานที่มีครอบครัวแล้ว โอกาสในการพัฒนาตนเอง ความมั่นคงในการจ้างงาน 3. ด้านเศรษฐกิจสังคม ได้แก่ นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีจริยธรรม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ สนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน นโยบายด้านผลกระทบต่อสังคม 4. การดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า รวมถึงการดูแลสระว่ายน้ำ การประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานหมุนเวียน การลดปริมาณขยะ ลดสารเคมีที่ใช้ในการซักผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนฯลฯ รวมถึงการก่อสร้างที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม การควบคุมการปล่อยคาร์บอน 5. ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า เช่น มีทางลาดสำหรับผู้พิการ อุปกรณ์นำทางสำหรับผู้พิการทางสายตาและผู้พิการทางการได้ยิน เป็นต้น จัดอาหารเพื่อตอบสนองข้อจำกัดทางศาสนาหรือสุขภาพของลูกค้า  และการให้ความรู้กับแขกที่มาพักเรื่องความยั่งยืน 6. การให้ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งวัดจากการให้ความร่วมมือในการสำรวจครั้งนี้ด้วยการตอบแบบสอบถาม ให้ผู้สำรวจได้เข้าไปสัมภาษณ์ที่สำนักงานใหญ่และที่โรงแรมในคาริบเบียน ยุโรปใต้ และประเทศไทย รวมถึงการเผยแพร่รายงานเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม --------------------------------------------------------------------------------- น้ำหนักในการให้คะแนน การดูแลสิ่งแวดล้อม     ร้อยละ 25การดูแลพนักงาน    ร้อยละ 20ด้านเศรษฐกิจสังคม    ร้อยละ 20ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    ร้อยละ 15นโยบายการกำกับดูแลกิจการ   ร้อยละ 10ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม  ร้อยละ 10 --------------------------------------------------------------------------------- เครือโรงแรมเหล่านี้อย่างน้อย 5 แห่ง มีโรงแรมที่ตั้งอยู่ในบ้านเราแล้ว เช่น โรงแรม Novotel   Pullman   Mercure  Sofitel  ibis และ all seasons ในเครือ ACCOR โรงแรม Sheraton   Le Meridien   Westin   St.Regis และ Aloft ในเครือ STARWOODโรงแรม InterContinental   Holiday Inn และ Crowne Plaza ในเครือ INTERCONTINENTAL โรงแรม Radisson และ Park Plaza ในเครือ CARLSON Worldwideโรงแรม Conrad และ Hilton ในเครือ HILTON เป็นต้น --------------------------------------------------------------------------------- อันดับ 1  โรงแรมในเครือ Accor     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 3,800 แห่ง ใน 90 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    4การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     5ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    4 ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5   อันดับ 2  โรงแรมในเครือ Sol Melia     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 350 แห่ง ใน 35 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 3  โรงแรมในเครือ Marriott     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 3,600 แห่ง ใน 71 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3 ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 4  โรงแรมในเครือ Carlson Worldwide    คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 1,070 แห่ง ใน 80 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     4ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 5  โรงแรมในเครือ InterContinental    คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 4,150 แห่ง ใน 100 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     5ด้านเศรษฐกิจสังคม    4การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5     อันดับ 6  โรงแรมในเครือ Starwood     คะแนนรวม 4จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 1,041 แห่ง ใน 100 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     4ด้านเศรษฐกิจสังคม    3การดูแลสิ่งแวดล้อม     5ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 7  โรงแรมในเครือ Barcelo     คะแนนรวม 3จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 186 แห่ง ใน 17 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     3ด้านเศรษฐกิจสังคม    3การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    3ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   5   อันดับ 8  โรงแรมในเครือ Hilton     คะแนนรวม 3จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 540 แห่ง ใน 78 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    3การดูแลพนักงาน     2ด้านเศรษฐกิจสังคม    2การดูแลสิ่งแวดล้อม     3ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 9  โรงแรมในเครือ Iberostar     คะแนนรวม 2จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 100 แห่ง ใน 16 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    1การดูแลพนักงาน     1ด้านเศรษฐกิจสังคม    2การดูแลสิ่งแวดล้อม     2ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    2ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   4     อันดับ 10  โรงแรมในเครือ Riu     คะแนนรวม 1จำนวนโรงแรม/ที่พักทั้งหมด 100 แห่ง ใน 15 ประเทศนโยบายการกำกับดูแลกิจการ    1การดูแลพนักงาน     1ด้านเศรษฐกิจสังคม    1การดูแลสิ่งแวดล้อม     1ความเอาใจใส่ต่อลูกค้า    1ข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม   1

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 120 กระแสต่างแดน

  ขอต้อนรับ “แขกผู้มีกล่อง”ว่ากันว่าปีนี้เศรษฐกิจที่ฮ่องกงกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และผู้คนก็มีแนวโน้มที่จะใช้เงินกันมากขึ้น อย่างน้อยๆก็มีการสำรวจพบว่าในช่วงตรุษจีนปีนี้ผู้คนประมาณร้อยละ 20 จะใส่เงินในซองอังเปามากกว่าปีก่อนๆ  จะใช้เงินทุ่มเรื่องไหนไม่ว่า แต่องค์กรเพื่อนโลกหรือ Friends of the Earth เขาเป็นห่วงว่าจะมีการใช้จ่ายเหลือเฟือไปกับอาหารงานเลี้ยงที่สุดท้ายก็ต้องเหลือทิ้งมากมายนี่สิ ว่าแล้วเขาจึงออกมารณรงค์ให้บรรดาผู้ที่จะไปเลี้ยงฉลองตรุษจีนปีนี้ลองสั่งอาหารหลักมาแค่ 6 จาน แทนที่จะเป็น 8 จาน เพื่อความเป็นสิริมงคลตามความเชื่อเดิมดูบ้าง จะได้ไม่เหลือทิ้งมากนัก  Friends of the Earth ประเมินว่า โครงการ “สั่งน้อย เหลือน้อย” ที่ว่านี้ น่าจะช่วยลดขยะอาหารได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ข่าวบอกว่าปัจจุบันฮ่องกงมีขยะที่เกิดจากอาหารเหลือในแต่ละวันมากกว่า 3,000 ตัน  นอกจากรณรงค์กับคนทั่วไปแล้ว องค์กรนี้ยังขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานรัฐกว่า 80 แห่ง และบริษัทเอกชนอีก 50 แห่งให้ช่วยนำแนวคิด”งานเลี้ยงแบบพอเพียง” นี้ไปปฏิบัติกันด้วย  เริ่มจากการตรวจสอบจำนวนแขกให้แน่นอน จากนั้นสั่งอาหารให้ “พอดี” และที่สำคัญต้องไม่ลืมแจ้งแก่แขกผู้มีเกียรติ ให้ช่วยมี “กล่อง” ติดตัวมาด้วยเพื่อจะได้นำอาหารที่เหลือกลับไปทานที่บ้านได้โดยไม่ขัดเขิน   ทำไมต้องทิ้งกันด้วยเขาว่ากันว่าจะดูพฤติกรรมการบริโภคให้เข้าใจถ่องแท้ เราต้องไปดูกันที่ถังขยะ  เขาที่ว่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของเดนมาร์ก ที่นี่ก็ประสบปัญหาเรื่องขยะอาหารล้นประเทศเช่นกัน นักชีววิทยาและหัวหน้าทีมวิจัยขององค์กรนี้ประกาศว่าจะต้องชี้ชัดลงไปให้ได้ว่าพฤติกรรมการกินเหลือของคนเดนมาร์กนั้นเป็นอย่างไร เพื่อจะได้สะท้อนปัญหาและหาทางออก  จะไปถามคนเขาตรงๆ ก็คงจะไม่ได้อะไร อย่ากระนั้นเลย ไปหาคุ้ยเอาเองจากถังขยะดีกว่า และตามแผนวิจัยครั้งนี้ เขาจะต้องไม่มีการแจ้งบ้านเจ้าของถังขยะล่วงหน้า เพราะเกรงว่าผู้คนจะไม่กล้าทิ้งกันเต็มที่ ถ้ารู้ว่าจะมีคนมาเก็บขยะตัวเองไปศึกษา ตอนนี้เขากำลังประกาศหาบริษัทเอกชนเข้ามารับทำการเก็บ แยก และลงทะเบียนพร้อมถ่ายภาพขยะที่ควรค่าแก่การศึกษาเหล่านั้นไว้ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์ว่าแต่ข่าวเขาไม่ได้บอกว่าบรรดาข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ ที่บังเอิญมาอยู่ในถังขยะด้วย มันจะได้รับการคุ้มครองอย่างไร   เสียงเรียก ... จากรถขยะฉลาดซื้อฉบับนี้เป็นยังไงนะ วนเวียนอยู่แต่เรื่องของขยะ ... แต่รับรองได้กว่าไม่มีกลิ่น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของเสียงล้วนๆ ที่ไต้หวันนั้นเขาไม่เหมือนบ้านเรา ที่วางถุงขยะไว้หน้าบ้านหรือริมทางเท้าเพื่อรอให้รถของเทศบาลมาเก็บไป เขาไม่อนุญาตให้วางถุงไว้แล้วไปไหนต่อไหนได้ตามใจชอบ ที่นั่นเจ้าของขยะจะต้องมาส่งขยะขึ้นรถด้วยตนเอง  บรรดาชาวบ้าน (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนชาวแฟลต) จะรู้ตัวว่าต้องเตรียมหิ้วถุงขยะออกจากบ้านเมื่อพวกเขาได้ยินเสียงเพลงคลาสสิค ของบีโธเฟ่นมาแต่ไกล แต่ด้วยเหตุใดไม่ทราบทางเทศบาลเขาเปลี่ยนเพลงซึ่งใช้มาเป็นเวลาหลายปีเป็นเพลงแบบมีเนื้อร้องที่เกี่ยวกับการทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทางแทน  ผลก็คือชาวบ้านปรับตัวกันไม่ทัน ไม่ค่อยได้ยินเสียงรถที่วิ่งมา เลยทำให้พลาดโอกาสทิ้งขยะ มีบ้างที่ฟกช้ำดำเขียวเพราะวิ่งตามรถขยะแล้วพลาดล้ม จึงเรียกร้องให้เทศบาลกลับไปใช้เพลงเดิม  รถขยะในเมืองไทเปนั้นจัดว่าเป็นรถสารพัดประโยชน์จริงๆ บางครั้งผู้คนที่เอาขยะมาทิ้งก็จะได้หัดพูดภาษาอังกฤษไปด้วย เพราะเทศบาลเขาจัดมาให้เล่นเทปสอนประโยคภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐานจำนวน 300 ประโยค แต่จุดขายของรถเหล่านี้ไม่ใช่แค่เสียงเท่านั้น ล่าสุดยังพ่วงตำแหน่งเมสเซ็นเจอร์ ทำหน้าที่ส่งเอกสารระหว่างหน่วยงานในสังกัดของเทศบาลไทนานด้วย เจ้าหน้าที่เขาบอกว่าแต่ละวันมีเอกสารกว่า 100 ชิ้นที่ต้องจัดส่ง เรียกว่าช่วยให้เขาประหยัดเงินได้ปีละประมาณ 6 ล้านบาททีเดียว   อสังหาเบอร์ห้าตั้งแต่มกราคมปีนี้เป็นต้นไป โฆษณาบ้าน คอนโด หรือสำนักงานในฝรั่งเศสจะใช้แค่ระดับความหรูเริ่ดอลังการ หรือความสะดวกในการเดินทางมาเป็นจุดขายอย่างเดียวไม่ได้แล้ว  เพราะรัฐเขากำหนดให้โฆษณาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดมีการแจ้งระดับเรทติ้งการประหยัดพลังงานด้วย เจ้าเรทติ้งที่ว่านี้มีตั้งแต่ระดับ A ไปจนถึง G  โดยเรทติ้ง A นั้นจัดเป็นสุดยอดอาคาร ที่ผู้สร้างจัดเต็มตามมาตรฐานการประหยัดพลังงาน รายงานข่าวบอกว่าปัจจุบันร้อยละ 19 ของอาคารที่อยู่อาศัยในฝรั่งเศสได้เรท C  ร้อยละ 31  ได้เรท D และร้อยละ 22 ได้เรท E ปัจจัยที่นำมาประเมินเพื่อจัดเรทติ้งของอาคารก็ได้แก่ อัตราการใช้พลังงาน ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ย และปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา  ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอาคารจะเป็นผู้ตรวจสอบ ก่อนที่องค์กร COFRAC จะเป็นผู้ให้การรับรอง  ความจริงแล้วฝรั่งเศสได้ผลักดันเรื่องนี้มานานพอสมควร เขาบอกว่าร้อยละ 46 ของพลังงานที่ใช้ในประเทศนั้นเป็นพลังงานที่ใช้โดยอาคารที่อยู่อาศัยและสำนักงานเพื่อปรับอุณหภูมิให้ผู้คนอยู่ได้อย่างอุ่นสบายนั่นเอง และอาคารเหล่านี้ก็เป็นตัวการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของประเทศด้วย เริ่มจากปี 2006 รัฐกำหนดให้บ้าน ร้าน หรืออาคารสำนักงาน ที่กำลังจะเปลี่ยนเจ้าของจะต้องได้รับการประเมินระดับการใช้พลังงานก่อน หนึ่งปีต่อมาก็กำหนดให้มีใบรับรองระดับการใช้พลังงานเพื่อประกอบกับสัญญาซื้อขาย หรือสัญญาเช่าด้วย และล่าสุดก็คือการกำหนดให้มีการแสดงเรทติ้งด้านพลังงานของอาคารไว้ในโฆษณาด้วยนี่แหละ ... น่าอิจฉา ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสจัง สมอ. บ้านเราสนใจจะมีตรารับรองบ้านประหยัดไฟเบอร์ 5 กับเขาบ้างหรือเปล่าหนอ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 182 ผู้บริโภคกับความตกลง TPP 3 ผลกระทบที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด

ความลุ่มๆ ดอนๆ ของเศรษฐกิจไทยและการติดหล่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เป็นตัวเร่งให้ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนไทยต้องหันมาผลักดันการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement: TPP) ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานี้ มีมูลค่าเท่ากับร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพีของโลก ครอบคลุมประเทศต่างๆ สองฟากฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นหัวจักรสำคัญ ปัจจุบันมีสมาชิก 12 ประเทศคือสหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม และยังมีประเทศที่ให้ความสนใจจะเข้าร่วมอีก 5 ประเทศ คือ โคลอมเบีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้และไต้หวัน ขณะที่สหรัฐอเมริกา หัวเรือใหญ่ผู้ผลักดันข้อตกลงนี้ก็เป็นตลาดขนาดใหญ่ของไทย จึงเป็นเรื่องยากที่ไทยจะทำเฉยกับรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาลที่กำลังเคลื่อนไปข้างหน้า โดยไม่มีไทยอยู่บนขบวนรถ ฟากฝั่งภาคธุรกิจเอกชนแสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องการให้ไทยเข้าร่วม ส่วนฟากรัฐบาลนั้น แม้จะมีความสนใจ แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ เนื่องจากเนื้อหาในข้อตกลงมีบางส่วนที่อาจสร้างความเสียหายในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเศรษฐกิจ เช่น การสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม เป็นต้น บนจุดยืนของผู้บริโภค ทีพีพีเหมือนจะเป็นประเด็นระดับรัฐ ระดับโลกที่ห่างไกล ทว่า เมื่อพิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว แรงกระแทกจากทีพีพีอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด โดยเฉพาะประเด็นเรื่องยาและอาหารซึ่งคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน ทั้งยังรวมถึงการแทรกแซงอำนาจในการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐ ที่สุดท้ายแล้วจะกระทบกับการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และรถไฟผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจขบวนนี้อาจจะนำมาซึ่งหายนะอีกมหาศาลเท่าใดยังคาดการณ์ไม่ได้   ยา : ผูกขาดไม่สิ้นสุด ยาน่าจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะส่งผลกระทบวงกว้างและเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เกี่ยวข้องกับความเป็นความตายของผู้คน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าประเด็นหลักๆ ที่อยู่ในทีพีพีประกอบด้วยการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ซึ่งจะบังคับให้องค์การอาหารและยา (อย.) ที่รับหน้าที่ขึ้นทะเบียนยาจะต้องยินยอมให้ยาใหม่ที่ขึ้นทะเบียนในไทยผูกขาดข้อมูลความลับทางการค้า 5 ปี หรือ 8 ปี นี่ย่อมเท่ากับการกีดกันบริษัทที่ผลิตยาชื่อสามัญซึ่งมีราคาถูกกว่าไม่ให้สามารถขึ้นทะเบียนยาและเข้าสู่ตลาดได้หรือเข้าสู่ตลาดช้าลง ประเด็นต่อมาคือเรื่องข้อบ่งใช้ ในทีพีพีอนุญาตให้สามารถจดสิทธิบัตรการใช้ใหม่ของสารเก่าได้ หมายถึงยาตัวเก่าที่มีอยู่เดิม เช่น แอสไพรินที่ต่อมารู้ว่าเมื่อรับประทานไปนานๆ จะทำให้เม็ดเลือดจางลง จึงสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจได้ เมื่อพบข้อบ่งใช้ใหม่ ทีพีพีระบุว่าต้องยินยอมให้จดสิทธิบัตร กับอีกประเด็นที่มาคู่กันคือวิธีการใหม่ของการใช้สารเก่า ยกตัวอย่างเช่นเพราะเด็กรับประทานยายาก จึงดัดแปลงยาแก้ปวดสำหรับเด็กที่ใช้ทานเป็นแปะหน้าผากหรือแปะที่ผิวหนังเพื่อให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนัง ลักษณะนี้ก็สามารถจดสิทธิบัตรได้ ทั้งที่ทั้งสองกรณีนี้ไม่มีการประดิษฐ์คิดค้นใหม่เลย นี่ย่อมเท่ากับเป็นการยืดอายุการผูกขาดผ่านสิทธิบัตรออกไปไม่สิ้นสุดหรือที่เรียกว่า Evergreening Patent ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้ยืดอายุสิทธิบัตรออกไปอีก 5 ปีหรือการที่ระบุให้ อย. ต้องทำหน้าที่เป็นตำรวจแทนเจ้าของสิทธิ์ นั่นคือถ้ามียาชื่อสามัญเดียวกันจะมาขึ้นทะเบียน อย. ต้องแจ้งให้เจ้าของสิทธิ์รู้โดยละเอียด ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ อย. โดยไม่จำเป็น “ผลการศึกษาพบว่า ถ้าให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี เราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 8 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่ถ้าเรายืดอายุสิทธิบัตรไป 5 ปี ในปีที่ 5 เราจะเสียไป 2 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี ทำไมการขยายอายุจึงมีมูลค่าน้อยกว่าการผูกขาดข้อมูลยา เพราะการผูกขาดข้อมูลยา ถ้าเกิดขึ้น มันจะเกิดวันนี้เลย แต่การยืดอายุสิทธิบัตรนั้น พอยาจะหมดมันก็ยืดไป มันจึงใช้เวลา แต่พอสุดท้ายปลายทาง การผูกขาดข้อมูลยาในปีที่ 30 ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนกว่าล้านบาทต่อปี ขณะที่การขยายอายุสิทธิบัตรจะเป็น 6 แสนกว่าล้านบาทต่อปี เนื่องจากพอขยายอายุไปเรื่อยๆ ทุกยาก็ขยายอายุหมด ดังนั้น ค่าใช้จ่ายด้านยาก็จะสูงขึ้น เพราะยาไม่หมดอายุสักที” เป็นภาระทางงบประมาณจำนวนมหาศาลต่อระบบหลักประกันสุขภาพในที่สุด   จีเอ็มโอ: โจรสลัดชีวภาพจีเอ็มโอหรือสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องจับตา ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายอนุญาตให้มีการปลูกพืชจีเอ็มโอได้ แต่ก็ถูกภาคประชาชนกดดันจนต้องล้มเลิกไป มีการตั้งข้อสังเกตว่าการผลักดันกฎหมายจีเอ็มโอที่ผ่านมาสอดรับกับความต้องการในทีพีพี หากไทยเข้าร่วมทีพีพี เราจะถูกเรียกร้องให้เข้าร่วมยูปอฟ 1991 (The International Union for the Protection of New Varieties of Plants: UPOV) หรือสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ให้สิทธิบริษัทหรือนักปรับปรุงพันธุ์สามารถผูดขาดพันธุ์พืชทุกชนิดเป็นเวลา 20 ปี และไม่อนุญาตให้เก็บพันธุ์ไปปลูกต่อ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี อธิบายว่า “สมมติว่าถ้าเกษตรกรนำพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทแห่งหนึ่งมาปรับปรุงพันธุ์ต่อ ทางบริษัทก็จะอธิบายว่ามันเป็นอนุพันธุ์ของพันธุ์พืชใหม่ของเขา และการคุ้มครองพันธุ์พืชจะไม่ใช่แค่ส่วนขยายพันธุ์เท่านั้น ถ้าคุณเอาเมล็ดไปปลูกแล้วให้ผลผลิตขึ้นมาก็ถือว่าละเมิด เขาสามารถตามไปยึดผลผลิตได้ อันนี้เองที่คนบอกว่ายูปอฟ 91 ก็คือกฎหมายสิทธิบัตรที่ขยายมาสู่พืช ซึ่งจะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นสองถึงหกเท่าตัว” ประเด็นที่ 2 คือการขยายสิทธิบัตรไปสู่สิ่งมีชีวิต โดยในรายละเอียดของตัวบทยังเรียกร้องให้ขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ในดีเอ็นเอหรือหน่วยพันธุกรรม ประเด็นที่ 3 คือการเรียกร้องให้ไทยเข้าร่วมในสนธิสัญญาบูดาเปสต์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์ให้เป็นไปโดยง่าย ซึ่งคำว่าจดสิทธิบัตรจุลินทรีย์นี้ยังสามารถขยายความไปสู่การจดสิทธิบัตรดีเอ็นเอ หมายความว่ากินความรวมไปถึงหน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ด้วย ทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารของสังคมไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ วิฑูรย์ กล่าวว่า “ถ้าสรุปก็คือมันทำลายกลไกการคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นของประเทศอย่างร้ายแรง และเอื้ออำนวยให้เกิดโจรสลัดชีวภาพ ปัจจุบัน โลกนี้มีกติการะหว่างประเทศอันหนึ่งชื่อว่าอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประเทศทั่วโลกทุกประเทศเป็นสมาชิก ยกเว้นประเทศเดียวคืออเมริกา อนุสัญญานี้บอกว่าใครก็ตามที่เอาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ไปใช้ประโยชน์ เอาไปปรับปรุงพันธุ์ คุณต้องขออนุญาตเจ้าของทรัพยากร ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ ไปใช้ฟรีไม่ได้ ซึ่งกฎหมายไทยเขียนรองรับไว้หมดแล้ว แต่ภายใต้ทีพีพีบอกว่าถ้าคุณเข้ายูปอฟ 91 คุณต้องแก้กฎหมายพันธุ์พืช ปี 2542 ซึ่งพูดถึงหลักการแบ่งปันผลประโยชน์เอาไว้” เพิ่มตัวเลขผลกระทบ   การคุ้มครองการลงทุน: อำนาจรัฐที่สาบสูญประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการคุ้มครองการลงทุน ฟังแล้วเหมือนเป็นเรื่องห่างไกลตัวที่สุด แต่ผลกระทบอาจครอบคลุมวงกว้างมากกว่า เพราะอะไร? กล่าวโดยรวบรัดได้ว่า หากประเทศไทยเข้าร่วมทีพีพี ไทยจะต้องดูแลนักลงทุนต่างประเทศเฉกเช่นเดียวกับนักลงทุนในประเทศ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่จุดเป็นจุดตายของเรื่องนี้คือ นักลงทุนต่างประเทศที่มาลงทุนในไทยสามารถฟ้องร้องรัฐบาลไทยได้ หากพวกเขาเห็นว่าการดำเนินนโยบาย มาตรการ หรือการออกกฎหมายของรัฐกระทบต่อผลกำไรจากการลงทุน ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการปกป้องคุ้มครองประชาชนในประเทศ เช่น กรณีออสเตรเลียที่ออกนโยบายบังคับให้ซองบุหรี่จะต้องไม่มีตราสินค้าและออกแบบให้ไม่ดึงดูด เพื่อต้องการลดปริมาณการสูบบุหรี่ในประเทศที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน แต่รัฐบาลออสเตรเลียกลับถูกบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกฟ้องร้องผ่านกลไกการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนหรือไอเอสดีเอส (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ภายใต้หลักการคุ้มครองการลงทุน โดยการฟ้องนี้ไม่ใช่การฟ้องต่อศาลยุติธรรมภายในประเทศ แต่เป็นการฟ้องผ่านอนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายเลือก ผลชี้ขาดออกมาเช่นไร คู่กรณีจะต้องปฏิบัติตามนั้นและไม่มีสิทธิ์อุทธรณ์ สิ่งนี้ย่อมเท่ากับจำกัดอำนาจอธิปไตยของรัฐไทยที่จะดำเนินนโยบายใดๆ เพื่อดูแลประชาชนภายในประเทศ เพราะหากนโยบายดังกล่าวถูกนักลงทุนมองว่าจะก่อผลกระทบ การฟ้องร้องผ่านกลไกไอเอสดีเอสย่อมส่งผลให้นโยบายนั้นชะงักงัน หรือทำให้รัฐบาลต้องคอยเกรงอกเกรงใจนักลงทุนต่างประเทศ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอ ว็อทช์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อนมักจะมีคนบอกว่าบทการลงทุนดูแลนักลงทุนดีกว่าคนในชาติ ซึ่งผิดหลักการปฏิบัติที่เท่าเทียมในข้อตกลงเขตการค้าเสรี ในเมื่อบอกว่าต้องปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แต่ทำไมจึงดูแลนักลงทุนดีกว่า ในทีพีพีครั้งนี้เลยเขียนชัดๆ เลยว่าการดูแลนักลงทุนต่างชาติดีกว่าคนในชาติ ไม่ถือว่าขัดกับหลักการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม แปลว่าต่อจากนี้คุณไม่ต้องดูแลคนในชาติก็ได้ ถ้าคุณบอกว่าเดิมต้องเอาร่างกฎหมายมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อแต่นี้ไม่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็ได้ แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนต่างชาติ “ยกตัวอย่างเรื่องการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแล้วกัน ที่เราห่วงมากอย่างป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ ประปา ไฟฟ้า ก๊าซ พวกนี้จะมีข้อกำหนดแบบหนึ่งเลยที่เมื่อก่อนเราไม่เคยมีในฉบับอื่นๆ แต่เคยได้ยินว่ามีวิธีการเขียนแบบนี้อยู่ มันเรียกว่า Umbrella Cause หมายถึงเขียนเป็นร่ม คือถ้าต่อจากนี้ทำสัมปทานกับรัฐ แล้วเขียนกติกาต่างๆ ไว้น้อยกว่าในทีพีพี ให้ถือว่าสัมปทานนั้นถือกติกาเท่ากับทีพีพีโดยอัตโนมัติทันที และสามารถฟ้องรัฐผ่านกลไกไอเอสดีเอสได้เช่นกัน” .......... ขณะที่สหรัฐฯ ผ่านบทบาทของสภาธุรกิจอเมริกัน-อาเซียนก็โน้มน้าวให้รัฐบาลไทยเข้าร่วมทีพีพี ล่าสุด ญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ส่งเทียบเชิญชวน แม้ว่ารัฐบาลไทยจะแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ ขอศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อน แต่ความพยายามปรับแก้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายจีเอ็มโอ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา หรือกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กลับมีทิศทางสอดคล้องกับทีพีพีโดยบังเอิญเป็นความบังเอิญจริงๆ หรือไม่ ผู้บริโภคต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิดต่อไป ----------------------------------------------------------------ความเคลื่อนไหวของสภาธุรกิจอเมริกันฯทีพีพีมีความเคลื่อนไหวคึกคักเป็นพิเศษตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะพบว่า ประเด็นนี้ค่อยๆ เพิ่มกระแสขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ 27 กรกฎาคม 2558 เมื่อกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2558 โดยสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยยังอยู่ในระดับเทียร์ 3 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งหมายถึงไทยยังดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหา ขณะที่คิวบา อุซเบกิซสถาน และมาเลเซียได้รับการเลื่อนขึ้นจากเทียร์ 3 เป็นเทียร์ 2 ซึ่งหมายถึงประเทศที่สมควรได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษแม้จะปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำได้ไม่ครบถ้วน แต่ถือว่ามีความพยายาม จุดสังเกตที่ทำให้รายงานชิ้นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงคือ กฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามมิให้รัฐบาลของตนทำข้อตกลงกับประเทศใดๆ ที่ถูกจัดอันดับอยู่ในเทียร์ 3 และมาเลเซียก็คือหนึ่งในสมาชิกของTPP ที่กำลังจะมีการลงนามข้อตกลงนี้หลังจากรายงานฉบับดังกล่าวออกมา หลังจากนั้นเพียง 10 วัน สภาธุรกิจอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) นำโดยอเล็กซานเดอร์ ซี เฟลด์แมน ประธาน USABC พร้อมผู้แทนจาก 29 บริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ เช่น แอบบ็อตต์, ไมโครซอฟต์, อีไล ลิลลี่, ฟิลิปส์ มอร์ริส, มอนซานโต้ เป็นต้น ได้เข้าพบอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อหารือในประเด็นว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาในวันที่ 6 สิงหาคม ต่อด้วยการเข้าพบจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการลงทุนของบริษัทจากสหรัฐฯ โดยมีอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมหารือด้วย วันที่ 7 สิงหาคม USABC เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาการพูดคุยเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ การลงทุน โร้ดแม็ปการปฏิรูปการเมือง และ ‘ทีพีพี’ จะเห็นได้ว่าท่าทีของสหรัฐฯ ในประเด็นทีพีพีต่อประเทศไทย น่าจะมีการวางจังหวะก้าวเอาไว้แล้ว ทุกอย่างจึงสอดรับกันเช่นนี้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 139 One bans. All ban.เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม

การที่อาเซียนมุ่งสู่แนวทางเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (Economic Liberalization) โดยจะเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน การเงิน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งจะปรากฏชัดเจนเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกว่า “ประชาคมอาเซียน” นั้น จะทำให้เกิดมีการหมุนเวียนหลั่งไหลของสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ซึ่งก็เป็นไปได้มากว่า สินค้าและบริการส่วนหนึ่งจะเป็นสินค้าและบริการที่ด้อยคุณภาพ หน่วยงานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคจึงเตรียมตัวกันเต็มที่เพื่อสกัดกั้นปัญหาดังกล่าว กลไกสำคัญหนึ่งคือ การตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน (ASEAN Committee on Consumer Protection) ขึ้น ซึ่งมีสมาชิกจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจากทุกประเทศ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ โดยมีหน่วยแข่งขันทางการค้า กรมคุ้มครองผู้บริโภคและกรมทรัพย์สินทางปัญญาของเลขาธิการอาเซียนเป็นสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการฯ นี้จะทำหน้าที่สร้างระบบเตือน การเรียกคืนสินค้าและสินค้าอันตราย สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาเยียวยาผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งของกลไก สร้างความตื่นตัวและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ขณะเดียวกันยังมีกลไก องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน Southeast Asian Consumer Council (SEACC) อีกหนึ่งแห่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานกับทางภาครัฐ โดยก่อตั้งขึ้นที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปี 2549 สมาชิกก่อตั้งเป็นองค์กรผู้บริโภคชั้นนำจากประเทศ บรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม โดยการสนับสนุนของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน   และเมื่อวันที่ 4-5 กันยายน ที่ผ่านมา “สภาผู้บริโภคอาเซียน” ได้จัดงานประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนในการรับมือกับสินค้า(ผลิตภัณฑ์) อันตราย ในหัวข้อ “เมื่อความเสี่ยงของผู้บริโภคไม่ใช่ชะตากรรม : ความจำเป็นในการสร้างความเข้มแข็งผู้บริโภคในประชาคมอาเซียน” ซึ่งฉลาดซื้อ ขอนำประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในงานนี้มาเสนอเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับผู้บริโภคในการเตรียมความพร้อมกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป   องค์การอิสระผู้บริโภคต้องเกิดเสียที ในเวทีประชุมสภาผู้บริโภคอาเซียน ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพฯ ตัวแทนสมาชิกของประเทศต่างๆ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ได้นำเสนอข้อมูลในเรื่องอันตรายของผลิตภัณฑ์ที่หลายประเทศในอาเซียนได้สั่งห้ามยกเลิกการใช้และห้ามนำเข้าไปนานแล้ว แต่ยังพบในอีกหลายประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียน นายเซีย เซ็งชุน (Mr. Seah Seng Choon) ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  กล่าวว่า “ในสิงคโปร์การคุ้มครองผู้บริโภครุดหน้าไปมาก เมื่อสิบปีที่แล้วได้แบน แร่ใยหินหรือแอสเบสตอสไปแล้ว พอได้ฟังข้อมูลที่ประเทศไทยวันนี้ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเลื่อนการแบนไปอย่างน้อยห้าปี รู้สึกตกใจมากเพราะแม้ผลของโรคที่เกิดจากแร่ใยหินไม่ได้เห็นในเวลานี้ แต่ผลกระทบจากการสะสมเริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ ดังนั้นจึงเห็นด้วยว่าจะต้องแบนแร่ใยหินทันที เพราะจะได้ไม่มีผลร้ายมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามในมุมมองเรื่องการแบนสินค้าที่เกิดขึ้นในประเทศของสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกันนั้น หากขาดประเทศไทยที่เดียวที่ไม่มีการแบน ประเทศไทยก็ต้องเป็นแหล่งเดียวที่รับสินค้าอันตรายเช่นแร่ใยหินเข้าประเทศไทยแทนประเทศอื่นที่ได้สั่งแบนสินค้าไปแล้ว” นางสาวโมฮานา ปรียา (Ms. Mohana Priya) จากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “ในมาเลเซียนั้น สารบีพีเอ ถูกแบนโดยไม่ยากนักเพราะมีข้อมูลวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ยืนยันชัดเจนว่า สารบีพีเอในขวดนม มีผลกระทบต่อสุขภาพทารกและเด็ก ซึ่งทำให้รัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจอย่างไม่ยากเย็นในการห้ามใช้สารบีพีเอในขวดนม เพราะว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อสุขภาพของอนาคตของชาติที่จะละเลยมิได้” ในขณะที่ ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์   ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า “จากประสบการณ์การจัดการปัญหาสินค้าไม่ปลอดภัย หน่วยงานราชการเกี่ยงกันไปมา ไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเช่น กรณีของบีพีเอ หรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแร่ใยหิน ทั้งที่มีหลักฐานทางวิชาการอย่างชัดเจนว่ามีอันตราย ดังนั้นจึงเห็นด้วยหากประเทศใดในอาเซียนแบนสินค้าใดสินค้าหนึ่ง ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนควรแบนด้วย ไม่เช่นนั้น สินค้าอันตรายที่ถูกประเทศอื่นยกเลิกแล้วจะเข้ามาทุ่มตลาดในประเทศที่ยังไม่มีมาตรการเกี่ยวกับสินค้านั้น” และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นปิดท้ายว่า“นายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ควรเร่งผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะร่างกฎหมายฉบับนี้ ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบอีกครั้งก่อนที่จะเป็นกฎหมาย ซึ่งองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นกลไกใหม่ในการรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและเป็นตัวแทนในประเด็นต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้างเช่น สินค้าอันตราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีแร่ใยหิน หรือ สารบีพีเอในขวดนม ที่มีการยกเลิกการใช้ในหลายประเทศในอาเซียน ขณะที่ประเทศไทยไม่สามารถยกเลิกได้ เพราะไม่มีหน่วยงานที่อยากจะรับผิดชอบผู้บริโภคอย่างชัดเจนเบ็ดเสร็จได้” เมื่อจบการประชุมในวันแรก ตัวแทนจากองค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ร่วมในงานเลี้ยงต้อนรับที่ทางรัฐบาลจัดขึ้น ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล จึงเป็นโอกาสอันดีที่ทางองค์กรผู้บริโภคอาเซียนเข้ายื่นจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี  นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้เร่งออก พรบ.  องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นกลไกใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค  ห้ามผลิต  และนำเข้าผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งภูมิภาคอาเซียน   ถ้ามีการประกาศห้ามผลิต/นำเข้า ผลิตภัณฑ์ชนิดใดชนิดหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะต้องถูกห้ามผลิต/นำเข้าในประเทศอื่นๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งภูมิภาค   1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน One bans. All ban. ในส่วนการประชุมวันที่ 5 กันยายน 2555 องค์กรสภาผู้บริโภคอาเซียน ได้ประกาศ ปฏิญญากรุงเทพ โดยมีใจความสำคัญดังนี้ สภาผู้บริโภคอาเซียน ร่วมประกาศปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 “1 ประเทศแบน 10 ประเทศแบน” ปฏิญญา SEACC กรุงเทพฯ 2555 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความร่วมมือในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกันของรัฐบาลในอาเซียน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้บริโภค ตัวแทนองค์กรผู้บริโภคต่างยืนยันที่จะร่วมมือกันคุ้มครองผลประโยชน์ ของผู้บริโภคในทุกภาคส่วน และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในกระบวนการตัดสินใจในเรื่องมาตรการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภคในอาเซียนให้มีมาตรฐานเดียวกัน   รองศาสตราจารย์ ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานกรรมการอำนวยการสภาผู้บริโภคอาเซียน และประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “ปฏิญญาสภาผู้บริโภคอาเซียน กรุงเทพฯ 2555 ตกลงกันในการร่วมกันแบนสินค้า แอสเบสตอสและ บีพีเอ เช่นเดียวกับที่สิงคโปร์และมาเลเซียได้แบนสำเร็จแล้ว โดยยืนยันให้มีมาตรการอัตโนมัติที่ประเทศหนึ่งแบนสินค้าใด ประเทศอื่นในอาเซียนต้องแบนสินค้านั้นทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีในการร่วมมือกันในครั้งนี้  การประชุมสภาอาเซียนผู้บริโภคนี้ ยังเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนความรู้และความร่วมมือระหว่างกัน ดังเช่นที่ปฏิญญาได้ให้การสนับสนุนการเกิดขึ้นขององค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในไทย นอกจากนี้ตัวแทนจากประเทศอินโดนีเซีย ก็ให้ความสนใจในประเด็นเรื่องข้อมูลผลกระทบ FTA ของไทย  และต้องการศึกษาผลกระทบในอินโดนีเซียเช่นกัน ก็สามารถร่วมมือกันได้ เพื่อหาวิธีร่วมกันในการจัดการปัญหาในระดับอาเซียน ซึ่งเป็นกลไกที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมกัน”   นางสาวอินดา  สุขมานิวซิงค์ ประธานกรรมการบริหารสภาผู้บริโภคอาเซียน กล่าวต่อว่า “เมื่อค่ำวานนี้มีความยินดีที่ได้มีโอกาสพบตัวแทนรัฐบาลไทยซึ่งดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งตัวแทนรัฐบาลไทยได้ให้สัญญาณที่ดีในเรื่องที่จะทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ผู้บริโภคร่วมกัน  ไม่ว่าจะเกิดปัญหากับผู้บริโภคในประเทศไหนในภูมิภาคอาเซียน เราทุกคนควรมองว่าเป็นปัญหาร่วมกันไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง”   นายเซีย เซ็งชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงค์โปร์ กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างองค์กร สำคัญมาก เช่น งานประชุมนี้เราก็ได้มีโอกาสแชร์ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยไหนบ้างอยากให้มีผู้บริโภคมาร่วมกันมากกว่านี้เวลาที่ออกไปให้ความรู้ผู้บริโภคจะได้รู้ว่าพวกเขาพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคกันอย่างไร หรือได้รู้ว่ากฎหมายที่ออกมาเช่น LEMON LAW ของสิงคโปร์ เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน”   นางสาวโมฮานา ปรียา สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคมาเลเซีย กล่าวว่า “เราจะมีการประสานงานระหว่างหน่วยงานรัฐและแลกเปลี่ยนเรื่องการตัดสินใจของหน่วยงานรัฐซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการเท่าทันปัญหาได้อย่างทันสถานการณ์” --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ขอแนะนำ 1 ในสมาชิกผู้ก่อตั้ง สภาองค์กรผู้บริโภค หน่วยงานนี้มีชื่อว่า Badan Perlindungan Konsumen Nasional หรือ(National Consumer Protection Agency เขาเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ประเทศอินโดนีเซีย วิสัยทัศน์ของ BPKN ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วคือการเป็นองค์กรชั้นนำที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบมากขึ้นพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตัวเองมากขึ้นด้วย เขาเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้บริโภคผ่านหน่วยงาน ตั้งแต่กระทรวงต่างๆ ผู้ว่าการรัฐ สถาบัน/หน่วยงาน/คณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง/ สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ภาคธุรกิจ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐ หน่วยงานจัดการข้อพิพาท องค์กรระหว่างประเทส องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในต่างประเทศ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หน้าที่สำคัญของ BPKN ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงาน 4 ฝ่าย (ฝ่ายวิจัยและพัฒนา ฝ่ายการศึกษาและสื่อสารสังคม ฝ่ายรับเรื่องร้องเรียน และฝ่ายสร้างความร่วมมือ) คือ ให้คำแนะนำแก่รัฐบาล ในการร่างนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัย และความมั่นคง ของผู้บริโภค ศึกษาและประเมินกฎระเบียบต่างๆที่มีอยู่ในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ทำวิจัยเรื่องความปลอดภัยของสินค้าและบริการ ส่งเสริมการจัดตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เผยแพร่ข้อมูลการคุ้มครองผู้บริโภคผ่านสื่อ และส่งเสริมสิทธิของผู้บริโภค รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน และ ภาคธุรกิจ ทำการสำรวจความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าและบริการต่างๆ ตัวอย่าง งานด้านการศึกษาวิจัยของ BPKN ได้แก่ การศึกษามาตรฐานขั้นต่ำของบริการสายการบินสัญญามาตรฐาน  การทบทวนกฎหมายเรื่องมาตรวิทยา และการทบทวนกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค BPKN ไม่เด่นในเรื่องการรับร้องเรียนเท่าไรนัก แต่ที่น่าสนใจคือการทำข้อเสนอต่อรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องต่างๆ เช่น -          เสนอให้กระทรวงไอซีทีพิจารณาการห้ามส่งสแปมหรือ SMS ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้บริโภค -          เสนอให้กระทรวงการคลังและการธนาคารควบคุมพฤติกรรมของบริษัททวงหนี้ -          เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการดูแลให้สถาบันการศึกษาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน -          และที่เป็นข่าวฮือฮาเมื่อต้นปีคือข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมให้มีการออกกฎให้มีการตรวจหายาเสพติดในกัปตันและลูกเรือทุกคน และให้มีการดำเนินการทางกฎหมายกับสายการบินที่จ้างกัปตันที่ติดยาเสพติดไว้ในสังกัดด้วย ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   ผู้อ่านฉลาดซื้ออาจสงสัยว่าสังคมเป๊ะเวอร์อย่างสิงคโปร์เขามีมาตรการจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัยอย่างไร  จากคำบอกเล่าของคุณเซีย เซ็ง ชุน ผู้อำนวยการสมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์  ที่นั่นเขามีองค์กรชื่อว่า SPRING Singapore ทำหน้าที่ดูแลจัดการกับสินค้าไม่ปลอดภัย โดยเป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพการผลิตของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กในประเทศไปพร้อมๆกับการคุ้มครองผู้บริโภคนั่นเอง แรกเริ่มเดิมที่มีผลิตภัณฑ์อันตรายทั้งหมด 45 ประเภท (ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์) ที่รัฐกำหนดให้มาขึ้นทะเบียนกับ SPRING เพื่อทดสอบความปลอดภัยก่อนจะได้รับอนุญาตให้วางขายได้ ปัจจุบัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับปรับปรุงใหม่กำหนดมีผลิตภัณฑ์ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ SPRING ถึง 15,000 รายการ (สินค้าที่เข้าข่าย ผลิตภัณฑ์อันตรายนี้ครอบคลุมตั้งแต่อาหารที่มีส่วนประกอบที่ผ่านการดัดแปรพันธุกรรม สารเคมีต่างๆ และสินค้าอุปโภคบริโภค) ค่าปรับของการขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยนั้นอยู่ที่ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ หรือประมาณ 250,000 บาท ใครยังจะกล้าขายก็ให้รู้กันไป ไหนๆ ก็แวะมาสิงคโปร์กันแล้ว จะไม่แถมเรื่อง Lemon Law ซึ่งสิงคโปร์ประกาศใช้ในเดือนกันยายนนี้ ก็ดูจะกระไรอยู่ กฎหมายนี้เราเคยเรียกร้องขอให้มีในกรณีของรถยนต์ เมื่อหลายปีก่อน (สมาชิกฉลาดซื้อคงยังจำกันได้ถึงเหตุการณ์ที่มีคุณผู้หญิงคนหนึ่งออกมาทุบรถออกสื่อ เพราะคับแค้นใจที่รถที่ทุ่มทุนซื้อมาหมาดๆ ดันเสียซ้ำเสียซ้อน แถมโชว์รูมก็ไม่ยอมเปลี่ยนคันใหม่ให้อีกต่างหาก) อิจฉากันได้เลย เพราะสิงคโปร์เขาล้ำหน้าไปถึงขั้นมีกฎหมายที่ระบุให้มีการเยียวยาให้กับผู้บริโภค เมื่อสินค้าที่ซื้อไปนั้นไม่เป็นไปตามสัญญา / โฆษณาที่ระบุไว้ขณะที่ซื้อ (ถ้าพบข้อบกพร่องของผลิตภัณฑ์ภายในเวลา 6 เดือนก็ให้ถือว่าเป็นความบกพร่องที่เกิดขึ้นในขณะที่ซื้อ) โดยผู้ขายจะต้องซ่อม เปลี่ยน คืนเงินทั้งหมด หรือบางส่วนให้กับผู้บริโภค ตามขั้นตอนคือให้ซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าบกพร่องนั้นก่อน ถ้าไม่สามารถทำได้ ผู้บริโภคมีสิทธิขอลดราคาสินค้านั้น หรือคืนสินค้าแล้วขอรับเงินคืน โดยผู้บริโภคต้องทำเรื่องร้องเรียนภายใน 6 เดือนหลังจากซื้อสินค้า ความจริงแล้วหลัง 6 เดือนก็ยังร้องเรียนได้ เพียงแต่ผู้บริโภคจะต้องรับภาระการพิสูจน์เอง และที่สำคัญ การติดป้ายว่า “สินค้านี้ซื้อแล้วไม่รับเปลี่ยนหรือคืน” ก็ไม่สามารถปกป้องผู้ขายจากความรับผิดชอบนี้ได้ ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (ASEAN-5) สิงคโปร์ • การตัดสินใจซื้อ: ด้วยกำลังซื้อที่ค่อนข้างสูง ทำให้ชาวสิงคโปร์มักนิยมเลือกซื้อสินค้าแบรนด์เนม เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงและมีคุณภาพค่อนข้างสูง • รสนิยม: วัฒนธรรมไลฟ์สไตล์ทางตะวันตกมีอิทธิพลมากในสังคมสิงคโปร์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคยัง อ่อนไหวต่อกระแสนิยมและแฟชั่นในตลาดโลกสูง จนได้ชื่อว่าเป็นตลาดแฟชั่นที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ • การบริโภค: ชาวสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมาก และนิยมทานอาหารเสริมเพื่อบำรุงร่างกาย นอกจากนี้ ผู้มีรายได้และ มีระดับการศึกษาสูงจะนิยมบริโภคอาหารออร์แกนิกมากขึ้น บรูไน • การตัดสินใจซื้อสินค้า: ชาวบรูไนมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง และนิยมสินค้าแบรนด์เนม สินค้าหรูหรามูลค่าสูง และสินค้าฟุ่มเฟือย รวมทั้งให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้ามาก • รสนิยม: ชาวบรูไนมีข้อจำกัดจากทางด้านวัฒนธรรมและมีกฎระเบียบรวมถึงข้อห้ามที่เคร่งครัด ขณะเดียวกันมีรสนิยมที่ค่อนข้างทัน สมัยและอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - พฤติกรรมการบริโภคสินค้าอาหารค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซีย โดยนิยมอาหารฮาลาลตามการยึดถือศาสนาอิสลาม - ชาวบรูไนค่อนข้างเชื่อถือคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอาหาร จากสิงคโปร์และมาเลเซีย มาเลเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวมาเลเซียมีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายใน ชีวิตประจำวัน สินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าหรูหรามากขึ้น ขณะที่ กลุ่มวัยรุ่นค่อนข้างให้ความ สำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ สะท้อนจากการใช้จ่ายสินค้าไอทีที่มากเป็นอันดับแรกเมื่อเทียบกับการใช้จ่าย ด้านอาหารและการพักผ่อนอื่นๆ • รสนิยม: ผู้บริโภคมาเลเซียมีรสนิยมค่อนข้างหลากหลายตามกลุ่มเชื้อชาติ แต่กลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการศึกษาสูงและรายได้สูงมักมี รสนิยมอิงสไตล์ตะวันตก • การบริโภค: - ผู้บริโภคมาเลเซียนิยมบริโภคอาหารสด ขณะที่อาหารแปรรูปและอาหารบรรจุถุงมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นจากความ เร่งรีบในชีวิตประจำวัน - ชาวมาเลเซียรับประทานอาหารวันละ 3 ครั้ง และระหว่างวันจะมีช่วงพักดื่มน้ำชา และนิยมทานขนมขบเคี้ยว/บิสกิตเป็นอาหารว่างควบคู่ไปด้วย - ชาวมาเลเซียในวัยแรงงานนิยมบริโภคสินค้า Functional Food เช่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ/ให้พลังงาน อินโดนีเซีย • การตัดสินใจซื้อ: ชาวอินโดนีเซียยังมีช่องว่างทางรายได้ค่อนข้างสูง และผู้บริโภคส่วน ใหญ่ยังค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาสินค้า ทำให้ไม่ค่อยนิยมสินค้านำเข้าที่ราคาแพงหรือสินค้าที่มี บรรจุภัณฑ์ราคาสูง • รสนิยม: ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไปนิยมบริโภคสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งสินค้านำเข้าจากเอเชียและประเทศตะวัน ตก • การบริโภค: - ชาวอินโดนีเซียมีการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอาหารค่อนข้างสูง (สัดส่วนประมาณร้อยละ 51 ของรายได้ทั้งหมด) - ชาวอินโดนีเซียนิยมใช้เวลาพักผ่อนร่วมกับเพื่อนและครอบครัวโดยการออกมารับประทานอาหารนอกบ้าน - พฤติกรรมการซื้อสินค้าอาหารเปลี่ยนจากซื้อวันต่อวันมานิยมซื้ออาหารสำเร็จ รูป อาหารพร้อมปรุง และอาหารพร้อมรับประทาน ที่เก็บไว้ได้นานขึ้น ขณะที่สินค้า กลุ่ม Cereal ยังเป็น อาหารหลักสำหรับทุกกลุ่มรายได้ นอกจากนี้ยังนิยมอาหารรสจัด - มีแนวโน้มใส่ใจกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ฟิลิปปินส์ • การตัดสินใจซื้อ: แม้ปัจจุบันกระแสไอทีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมโลกมากขึ้น แต่ชาว ฟิลิปปินส์ไม่นิยมการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่นิยมเดินเลือกซื้อสินค้าด้วยตนเอง (ยกเว้นสินค้า กลุ่มสื่อบันเทิง) นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยยึดติดกับสินค้าแบรนด์เนม แต่นิยมสินค้า Private Label มากกว่า • รสนิยม: มีรสนิยมค่อนข้างหลากหลาย โดยทั่วไปเน้นความเรียบง่าย สะดวกและเหมาะสมกับระดับรายได้ • การบริโภค: - ชาวฟิลิปปินส์ใส่ใจกับการดูแลสุขภาพ และการดูแลความสวยงามและผิวพรรณ - ชาวฟิลิปปินส์ค่อนข้างผูกพันกับตราสินค้าเดิมที่เคยใช้และไม่เปลี่ยนตราสินค้าบ่อย - ชาวฟิลิปปินส์นิยมรับประทานอาหารนอกบ้านเป็นหลัก - เช่นเดียวกับผู้บริโภคในประเทศอาเซียนอื่นที่มีรายได้สูงขึ้น ชาวฟิลิปปินส์นิยมซื้อสินค้าที่อำนวยความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์และอุปกรณ์มือถือ   พฤติกรรมผู้บริโภคของประเทศอาเซียน (CLMV)   เวียดนาม พม่า / สปป.ลาว / กัมพูชา • การตัดสินใจซื้อ: พฤติกรรมชาวเวียดนามแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของประเทศ กลยุทธ์การเข้าถึงตลาดจำเป็นต้องชัดเจนและ เหมาะสม อาทิ ทางตอนใต้พิจารณามูลค่าสินค้า เป็นสำคัญ ขณะที่ทางตอนกลางให้ความสำคัญกับคุณภาพสินค้า ส่วนทางเหนือจะค่อนข้างมัธยัสถ์และพิจารณาประโยชน์และความคงทนเป็นสำคัญ • รสนิยม: ผู้บริโภคชาวเวียดนามมีรสนิยมการบริโภคเปลี่ยนไปในทิศทางที่ต้องการสินค้าระดับกลางถึงบนมากขึ้น นอกจากนี้ กลุ่มวัย แรงงานของเวียดนามค่อนข้างอ่อนไหวต่อ กระแสความนิยมในตลาดโลก • การบริโภค: - ชาวเวียดนามในเมืองใหญ่มักนิยมสินค้าแฟชั่น สินค้าไอทีและการสื่อสารที่ทันสมัย - อาหารสไตล์ตะวันตกได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอาหารฟาสฟู้ดที่เข้ามาในรูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ - ชาวเวียดนามนิยมอาหารสด ผักสดเป็นหลัก ขณะที่ความนิยมอาหารสำเร็จรูป อาหารพร้อมปรุงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีพฤติกรรมการจับจ่ายสินค้าประมาณ อาทิตย์ละครั้ง - พฤติกรรมทางสังคมที่มีการพบปะทางธุรกิจและสังสรรค์มากขึ้น ประกอบกับความสะดวกสบายและไม่เสียเวลาทำอาหารเอง ทำให้นิยมรับประทานอาหารนอก บ้านมากขึ้น - ระดับรายได้ที่สูงขึ้นทำให้ชาวเวียดนามนิยมซื้อสินค้าตกแต่งบ้าน/เครื่องใช้ ในบ้านมากขึ้น โดยยังนิยมสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก • การตัดสินใจซื้อ: ผู้บริโภคในพม่า/ สปป.ลาว / กัมพูชา ส่วนใหญ่ยังมีกำลังซื้อไม่สูงนัก ทำให้ การตัดสินใจซื้อส่วนใหญ่เน้นพิจารณาจากประโยชน์ของสินค้าเป็นสำคัญ และมักซื้อ สินค้าเท่าที่จำเป็น อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มวัยรุ่นชาวลาว พบว่า กระแสแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาสินค้าด้าน เครื่องแต่งกายและการ ดูแลสุขภาพ • รสนิยม: ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 3 มีรสนิยมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย จากประเพณีและวัฒนธรรม และพรมแดนที่อยู่ติดกัน ทั้งยังนิยม เลียนแบบการบริโภคสินค้าผ่านสื่อโทรทัศน์ ของไทย • การบริโภค: - สินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านมีอิทธิพลค่อนข้างมากในตลาดพม่า สปป.ลาว และกัมพูชา - สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดกลุ่มนี้ยังไม่หลากหลายนัก ส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากไทย จีน และเวียดนาม - ผู้บริโภคทั้ง 3 ประเทศ ส่วนใหญ่ยังเน้นบริโภคสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยหรือสิ่งอำนวยความสะดวกยังได้รับความนิยมในวงจำกัด เฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้สูง / นักการเมือง - ชาวลาวได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทางอาหารจากฝรั่งเศสมาพอสมควร อย่างไรก็ดี อาหารท้องถิ่นของชาวลาวยังคงเป็นที่นิยมโดยทั่วไป   ที่มา ”พฤติกรรมผู้บริโภคในอาเซียน”...ตัวแปรสำคัญที่ SMEs ไทยควรรู้ก่อนก้าวสู่ AEC ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กรกฎาคม 2554

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point