ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ไซบูทรามีนเกลื่อนเมือง.....ปัญหาเรื้อรังที่รอจุดสิ้นสุด

        เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดขอนแก่นได้ประกาศแจ้งเตือนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร “คอร์เซ่” ตรวจพบไซบูทรามีนซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายจนต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล1 และในวันเดียวกันนี้ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้เผยแพร่ข่าวพบไซบูทรามีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร NQ S Cross ซึ่งตำรวจ ปคบ.กับ อย.ได้ทลายเครือข่ายผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย ในพื้นที่ 4 จุดของจังหวัดตาก สุโขทัย  และพิษณุโลก 2          “ไซบูทรามีน” เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท  ทำให้ลดความอยากอาหารอิ่มเร็วขึ้นและช่วยกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายส่งผลให้ร่างกายมีน้ำหนักลดลง  เดิมมีการนำมาใช้เป็นยาลดความอ้วน แต่เนื่องจากไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญลดลง เช่น หัวใจ สมอง จนอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดและสมองขาดเลือดฉับพลัน ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้   ซึ่งผู้ผลิตได้สมัครใจถอนทะเบียนจากท้องตลาดแล้วทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2553  แม้จะไม่มีไซบูทรามีนที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่ยังคงมีการลักลอบนำไปใส่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก ทำให้พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากใช้ร่วมกับยาอื่นที่มีผลเสียต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต         ปัจจุบัน “ไซบูทรามีน” ถูกยกระดับให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย มีไว้ในครอบครองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ผสมไซบูทรามีนเพื่อการค้า จะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1-15 ปี  และปรับตั้งแต่ 100,000-1,500,000 บาท แม้“ไซบูทรามีน”ถูกปรับเปลี่ยนประเภทตามกฎหมายทำให้มีบทลงโทษหนักขึ้น  แม้จะมีการตรวจจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์ปัญหาก็ยังคงอยู่ ดังนั้นผู้บริโภคจะต้องดูแลตนเองมิให้ตกเป็นเหยื่อกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าว โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดหวาน มัน เค็ม และออกกำลังกายสม่ำเสมอ  หากพบอาการไม่พึงประสงค์ดังกล่าวภายหลังรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผู้เสียหายจะต้องกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตนเอง  โดยการร้องเรียนหรือให้ข้อมูลผู้จำหน่ายแก่หน่วยงานหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านนำเข้า เช่น กรมศุลกากรและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะต้องร่วมกันสกัดการนำเข้าสารไซบูทรามีนหรืผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีนมิให้เข้ามาทำอันตรายต่อประชาชน  และหากพบผลิตภัณฑ์ที่ปลอมปนไซบูทรามีน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะต้องประกาศผลวิเคราะห์ให้ประชาชนทราบ  เพื่อจะมิให้มีผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อรายต่อไป   ที่มา        1. ศูนย์ประสานงานอาหารปลอดภัยจังหวัดขอนแก่น สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566 https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02LQYqAggoAUUcEWnBaBJ1Xumxg49hLDhhRH1kiqZqVS7wJRWGdfsHkS8fHBrNcXLEl&id=100054673890265        2. สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 26 เมษายน 2566   https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/02/190296/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2566

แค่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษกว่า 6,185 คน         รายงานสถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากกรมควบคุมโรค พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ป่วยจากโรคดังกล่าว จำนวน 6,185 คน ซึ่งกลุ่มที่พบมากที่สุด มี 3 อันดับ ได้แก่ อายุ 5-9 ปี  0-4 ปี  15-24 ปี ตามลำดับ โดยการระบาดจากทั้ง 19 เหตุการณ์ มีจำนวนผู้ป่วยตั้งแต่ 3-348 คน พบว่าในทั้งหมดจากเหตุการณ์ มีการระบาดในสถานศึกษา 11 เหตุการณ์ รองลงมา คือ เรือนจำ/ค่ายลูกเสือ 4 เหตุการณ์ อื่นๆอีก 3 เหตุการณ์ และบ้านพัก 1 เหตุการณ์  จึงคาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากทุกปีมักพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยสูงช่วงต้นปี มกราคม – มีนาคม ลักษณะคล้ายคลึงกัน กรมฯ จึงให้คำแนะนำว่า ประชาชนควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” สั่งปรับ “ลาซาด้า-ช้อปปี้” กรณีโฆษณาผิดกฎหมาย         เภสัชวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการแถลงการตรวจพบโฆษณาอาหาร ยาและเครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ผิดกฎหมายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ลาซาด้าและช้อปปี้ เป็นจำนวนมากซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ จึงให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามและฝ่ายกฎหมายเร่งรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี โดยทาง อย.ได้ปรับลาซาด้าไปแล้วกว่า 45 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 4.9 ล้านบาท ปรับช้อปปี้ 22 คดี เป็นเงินค่าปรับกว่า 1.9 ล้านบาท รวมถึงคดีที่มีโทษจำคุกอีกจำนวนมากที่ส่งให้ตำรวจดำเนินคดีต่อ นอกจากนี้ ทาง อย.ยังได้เข้าพบผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อหารือในการกวาดล้างโฆษณาเถื่อนในตลาดออนไลน์ พบเว็บหน่วยงานรัฐโดนฝังโฆษณาเว็บพนันกว่า 30 URL         นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีปัญหาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานในประเทศไทยกว่า 500 รายการ ส่วนมากเป็นการโจมตีในรูปแบบการแฮกเว็บไซต์  2 หรือ 3 ของการโจมตีทั้งหมดเป็นหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานที่ตกเป็นเป้าหมายโจมตีมากที่สุด คือ หน่วยงานการศึกษา  รองลงมาหน่วยงานสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามลำดับ โดยหน่วยงานราชการ  20 กระทรวง โดนแฮ็กเว็บไซต์และถูกโจมตีข้อมูลด้วยการฝังสคริปต์โฆษณาเว็บไซต์การพนันออนไลน์มากถึง 30 ล้าน URL ทั้งนี้ ซึ่งทาง สกมช. ได้เสนอมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะยาวต่อคณะรัฐมนตรี หากประชาชนที่พบเห็นการหลอกลวง เว็บไซต์ปลอม หรือผู้ที่มีข้อมูลเว็บพนันออนไลน์ สามารถแจ้งได้กับกระทรวงดิจิทัล  ได้ที่ 1212 หรือ https://facebook.com/DESMonitor เพจอาสาจับตาออนไลน์ หรือแจ้งได้ที่ ncert@ncsa.or.th หลังปรับมิเตอร์แท็กซี่ใหม่พบเรื่องร้องเรียนกว่า 2000 เรื่อง         19 กุมภาพันธ์ 2566 กรมขนส่งทางบกให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่มีการปรับราคาของแท็กซี่มิเตอร์ใหม่ (16 มกราคม) มีผู้โดยสารร้องเรียนปัญหารถแท็กซี่เป็นจำนวนกว่า 2,120 เรื่องแล้ว โดยความผิดที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร จำนวน 720 เรื่อง 2.แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ จำนวน 455 เรื่อง 3.ขับรถประมาทหวาดเสียว จำนวน 358 เรื่อง 4.ไม่ใช้มาตรค่าโดยสาร จำนวน 237 เรื่อง 5.มาตรค่าโดยสารผิดปกติ จำนวน 221 เรื่อง ทั้งนี้มีการดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วจำนวน 1,650 เรื่อง และจดแจ้งการกระทำผิด จำนวน 470 เรื่อง ทั้งนี้หากพบปัญหาเรื่องเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะ แท็กซี่ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง สามารถแจ้งร้องเรียนกับกรมการขนส่งทางบก โทรสายด่วน 1584 ตลอด 24 ชั่วโมง อย. ชี้แจง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผิดกฎหมายวิตามินซีและกาแฟปรุงสำเร็จ         จากกรณีมีผู้เสียหายร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 รายการ “ยี่ห้อ Boom VIT C 1,000 มิลลิกรัม และกาแฟปรุงสำเร็จรูปผง ยี่ห้อ Room COFFEE” โดยสั่งซื้อจากทาง บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด แต่เมื่อได้ลองรับประทานไปพร้อมกับมารดา พบว่า มีอาการข้างเคียง เช่น แขน ขา อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ลุกไม่ขึ้น จนไม่สามารถถือของได้ จึงได้เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงได้ส่งจดหมายถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ขอให้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่า มีส่วนผสมอันตรายหรือได้รับอนุญาตตามถูกกฎหมายหรือไม่เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทางอย.ได้ส่งหนังสือ ชี้แจ้งถึงมูลนิธิฯ ว่า กรณีให้ตรวจสอบ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้ง 2 รายการ ทาง อย. ได้ดำเนินการตรวจสอบ จากสถานที่จำหน่าย เพื่อตรวจหาผลวิเคราะห์ยาแผนโบราณในผลิตภัณฑ์ พบว่า ไม่พบยาแผนปัจจุบันในทั้ง 2 รายการ แต่จากผลการตรวจสอบฉลากอาหาร พบว่า ผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปสำเร็จชนิดผงยี่ห้อ ROOM COFFEE แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เข้าข่ายฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(10) มีโทษตามมาตรา 51 แห่งราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งทาง อย. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เภสัชกรสาวตาใสกับคุณยายตามัว

        เสียงเคาะประตูห้องยาดังขึ้น เภสัชกรสาวตาใสวางมือจากกองยาหน้าเคาน์เตอร์ เมื่อเงยหน้าขึ้นภาพตรงหน้าคือคุณยายท่านหนึ่ง แกมาพร้อมอาการบวมที่ใบหน้า ในมือของแกถือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสารสกัดโกจิเบอรี่ยี่ห้อหนึ่ง จากการพูดคุยสอบถามพร้อมทั้งซักประวัติเพิ่มเติมทำให้ทราบว่าคุณยายมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง อาการตอนนี้ นอกจากตัวบวมแล้ว ตายังพร่ามัวอีกด้วย         “ยายซื้อไอ้นี่จากรถเร่หมู่บ้านต่างอำเภอที่มาเร่ขายในหมู่บ้านของยายน่ะ คนขายเขาโฆษณาว่ากินแล้วจะช่วยให้ตามองเห็นชัดขึ้น ทีแรกยายก็ยังไม่ค่อยเชื่อนะ แต่เขาเอาเอกสารมาให้ดูเพิ่มเติม เห็นบอกว่าช่วยบำรุงดูแลดวงตาและรักษาโรคตาต้อต่างๆได้ แถมยังเน้นว่า ตามัวสั่งด่วน ตามองชัดแจ๋ว ต้อต่างๆ หาย ตาใสปิ้ง ดูแล้วก็น่าเชื่อถือดี”         “ยายอยากมองเห็นชัด เลยซื้อมากินหนึ่งกระปุก กระปุกละ 800 บาทยายก็ยอมนะ แต่พอยายกินไปได้ 7 วันเท่านั้นเอง ตัวยายก็เหมือนจะบวม หน้านี่บวมชัดเลย แถมยังผื่นขึ้นเต็มตัวอีก ตาก็ไม่ใสแต่กลับมัวมากขึ้น” คุณยายเล่าด้วยเสียงวิตก “ทำยังไงดี”         เภสัชกรสาวจึงรีบประเมินอาการพบว่า น่าจะเกิดจากการแพ้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จึงแนะนำคุณยายให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ทันทีและรีบแจ้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เพื่อช่วยกันเตือนภัยและเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ จากนั้นขอผลิตภัณฑ์ของคุณยายส่งตรวจวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารอันตรายที่อาจปลอมปนเข้ามาในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว ซึ่งกำลังรอผลวิคราะห์อยู่         “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยานะคะคุณยาย มันจึงไม่มีผลในการบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค และจากที่หนูตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์นี้ มันยังแสดงข้อมูลในฉลากไม่ครบถ้วนอีกด้วยค่ะ เพราะถ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กฎหมายกำหนดให้ต้องมีข้อความเตือนว่าไม่มีผลในการรักษาโรคด้วย นี่ถ้ามีผู้ป่วยหลงเชื่อซื้อมารับประทาน โดยหวังว่าจะรักษาโรคต่างๆ ของดวงตา นอกจากจะเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์แล้ว ยังจะเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้องด้วยนะคะ  หนูคิดว่าหากใครมีอาการทางดวงตา ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวนะคะ”         “การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2510 ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ... ยังไงฝากคุณยายช่วยกันเตือนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านด้วยนะคะ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ตรวจสารมารดำ กลับเจอสารมารขาว

        การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค บางครั้งก็เจออะไรแปลกๆ คาหนังคาเขาโดยไม่ตั้งใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทีมปกครองอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนและทีมรพ.สต กำลังทำหน้าที่ตรวจปัสสาวะเพื่อเฝ้าระวังหาสารเสพติดในร่างกายของประชาชน ปรากฎว่าผลตรวจปัสสาวะของพนักงานเทศบาลชายอายุ 28 ปีพบว่าเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงอาจจะมีการใช้สารเสพติด แต่เมื่อแจ้งสอบสวนเพิ่มเติมพนักงานท่านนี้ตกใจ เนื่องจากตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด         เจ้าหน้าที่จึงสวมวิญญาณนักสืบ สอบถามข้อมูลมากขึ้นจึงทราบว่าพนักงานรายนี้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่สั่งซื้อจากทางออนไลน์ ราคาก็ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแพงถึงเม็ดละ 100 บาท เมื่อใช้แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากอาหาร ตนใช้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร จนหมด 2 กล่อง ปรากฎว่าน้ำหนักลดลงถึง 10 กิโลกรัม         พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานมายังกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ เพื่อส่งตรวจหารสารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ซึ่งผลตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงแจ้งกลับมาเพื่อติดตามสอบถามแหล่งที่มาและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเพื่อทำการดำเนินการต่อไป         ไซบูทรามีนเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอมเฟตามีน จึงทำให้ผลตรวจปัสสาวะของคนที่ได้รับสารไซบูทรามีนมีสีม่วงเหมือนกับคนที่ใช้สารแอมเฟตามีน สารไซบูทรามีน (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทรามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีความผิดตามกฎหมาย มีทั้งโทษถึงจำคุก         มีวิธีเบื้องต้นในการสังเกตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่สงสัยว่าจะผสม Sibutramine ดังนี้        1. มีคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน        2. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุสถานที่ผลิต        3. ไม่มีเลขที่ขึ้นทะเบียนอย. เป็นต้น         อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย จะได้ไม่เอาชีวิตไปเสี่ยง         หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือกลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาล หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 อาหารเสริมรักษาดวงตา......จนตาเสีย

        ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญในร่างกาย  ด้วยความสำคัญของดวงตา และผลกระทบจากการที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนัก  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาสรรพคุณในการบำรุงรักษาดวงตาจึงผุดขึ้นมาราวดอกเห็ด ทั้งในสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ วิทยุ หรือสื่อออนไลน์  และยังมีการใช้กลยุทธในการตลาดที่มีความซับซ้อนมากขึ้น  เช่น  ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแต่ใช้ขวดบรรจุที่มีลักษณะคล้ายกับขวดยาหยอดตาทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสามารถหยอดตาได้  การตัดต่อภาพข่าวมาโฆษณาเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการตลาด ใช้บุคลากรทางการแพทย์ ผู้มีชื่อเสียง นักร้อง นักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา หรือแม้แต่การนำผลิตภัณฑ์หยอดตาที่ผลิตขึ้นเองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปบริจาคตามโรงทาน เป็นต้น         เครือข่ายชมรมเภสัชชนบท  พบกรณีผู้บริโภคที่สูญเสียดวงตาข้างขวาไปตลอดชีวิต จากการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาใช้หยอดตา  โดยผู้ขายโฆษณาขาย  โดยอ้างว่าสามารถดื่มเพื่อรักษาอาการปวดขาและสามารถนำไปใช้หยอดตาเพื่อรักษาอาการต้อกระจกได้ ซึ่งเดือนแรกที่ผู้บริโภคดื่มรู้สึกว่าอาการปวดขาลดลง  เดือนต่อมาจึงนำมาหยอดตาตนเอง  เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยทำให้อาการปวดขาดีขึ้น น่าจะช่วยรักษาตาต้อกระจกให้หายได้เช่นกัน  จึงนำมาหยอดตาแบบวันเว้นวัน ซึ่งทุกครั้งที่หยอดตาจะมีอาการแสบร้อนที่ดวงตา แต่ผู้ขายกลับบอกว่า ยิ่งแสบแสดงว่ายานี้ได้ผลไปฆ่าเชื้อจะได้หายไวๆ         ผู้บริโภครายนี้ได้หยอดตาไปถึง 6 ครั้งและเริ่มมีอาการแสบตามากขึ้น  จึงไปโรงพยาบาลและตรวจพบว่าดวงตาติดเชื้อและเยื่อตาทะลุ ต้องผ่าตัดดวงตาข้างขวาออก มิฉะนั้นจะเกิดการติดเชื้อลามไปที่สมองและเสียชีวิตได้  กรณีนี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายกรณีของผู้บริโภคที่ถูกหลอกลวงให้หลงเชื่อจากคำโฆษณา  เกินจริง แล้วพวกเราจะติดอาวุธมิให้ตกเป็นเหยื่อได้อย่างไร         พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2510 การโฆษณาสรรพคุณของอาหารเป็นยารักษาโรค ถือว่าเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร  ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ          วิธีการที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาสุขภาพ  คือ  การปฏิบัติตามกลยุทธ์สุขภาพดีด้วย 4 อ  ได้แก่ อากาศ  อาหาร  ออกกําลัง และอารมณ์  โดยจัดสถานที่ให้มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ  รับประทานอาหารที่ดีมีคุณค่าให้ร่างกายได้สารอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ  ออกกำลังกายให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว  ให้อวัยวะต่างๆ ได้ทำงานอย่างสมดุล  และควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในภาวะปกติอยู่เสมอ   หากสามารถปฏิบัติได้ดังนี้แล้ว  สุขภาพกาย  สุขภาพจิต จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมดุลส่งผลให้ร่างกายแข็งแรง  สดชื่น แจ่มใส  ช่วยป้องกันตัวเรามิให้ตกเป็นเหยื่อ หลงเชื่อโฆษณาเกินจริงได้อีกทางหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อตรวจเวย์โปรตีน พบบางยี่ห้อมีโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

        ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน ไม่พบสเตียรอยด์ แต่ทดสอบพบ 2 ตัวอย่างมีปริมาณโปรตีนไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก แนะผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการทานเวย์โปรตีนที่มีส่วนผสมสเตียรอยด์มากเกินไปเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ          นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ดำเนินการทดสอบนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคให้ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วน เพียงพอ และได้รับความปลอดภัยจากสินค้าหรือบริการ ตาม พรบ.คุ้มครองผู้บริโภค โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเวย์โปรตีน จำนวน 9 ตัวอย่าง จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ ในช่วงเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่          ผลสำรวจพบว่า ไม่พบสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) แต่พบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีนที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีนที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         จากผลสำรวจอาหารเสริมเวย์โปรตีนไม่ตรงตามการกล่าวอ้างบนฉลาก เข้าลักษณะอาหารปลอม กล่าวคือ อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ตามมาตรา 27 (4) และอาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6 (2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละ 30 จากเกณฑ์ต่ำสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จนทําให้เกิดโทษหรืออันตราย ตามมาตรา 27 (5) ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 อ่านผลการทดสอบเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3716 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 รู้เท่าทันการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาเป็นเครื่องดื่ม

        ทุกวันนี้ มีการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยา มาทำเป็นเครื่องดื่มที่จำหน่ายในร้านค้าทั่วไป โดยยึดความเชื่อของคนทั่วไปว่า เมื่อผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและยามีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่สิ่งเหล่านี้ย่อมดีต่อร่างกายเช่นเดียวกัน ทำให้ขายได้มากและขายง่ายกว่าการขายยาและผลิตภัณฑ์ มารู้เท่าทันกันเถอะ โค้กก็มีต้นกำเนิดจากยาแก้ท้องอืดท้อเฟ้อ         ประวัติของโค้ก หรือโคคา โคลา ถือกำเนิดโดยยนายจอร์น เอส เพมเบอร์ตัน นักผสมยาชาวอเมริกัน ทำออกมาเป็นไวน์โคคาออกขายในปีค.ศ. 1884 ใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Pemberton’s French Wine Coca” แต่ในปีต่อมา มีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเปลี่ยนไวน์โคคาเป็นแบบที่ไม่มีแอลกอฮอลล์ โดยคิดค้นดัดแปลงใช้สารจากใบโคคา มาผสมกับสารสกัดจากเมล็ดของผลโคลาพบว่ารสชาติดี และขายเป็นไซรับ ในฐานะยาบำรุงรักษาอาการจากโรคติดมอร์ฟีน โรคท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อ่อนเพลีย และปวดหัว และมีขายในบาร์จ่ายโซดา แต่ผสมน้ำเปล่าไม่ได้ผสมโซดาแบบปัจจุบัน         เมื่อมีการผสมไซรัปของโคคา-โคลา เข้ากับโซดาแทนน้ำเปล่า คนที่ดื่มรู้สึกชื่นชอบ ติดใจ เกิดความนิยมมากขึ้นจนกลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุสำเร็จในขวดและได้รับความนิยมไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน             นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนจากยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อมาเป็นเครื่องดื่ม และกลายเป็นเครื่องดื่มที่มียอดขายมากที่สุดในโลก การเปลี่ยนวิธีการขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพมาเป็นเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน         จริงๆ แล้ว การโฆษณาขายยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพก็มีให้เห็นทุกๆ วัน ทั้งในสื่อทีวี วิทยุ และสื่อออนไลน์ เช่น เราจะเห็นการโฆษณาขายถั่งเช่า เห็ด โสม รังนกนางแอ่น คอลลาเจน วิตามินต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าเป็นเรื่องสุขภาพ ก็มักจะเน้นกลุ่มผู้สูงอายุ ถ้าเป็นเรื่องความสวยความงาม ก็เน้นวัยรุ่น หนุ่มสาวจนถึงวัยผู้สูงอายุ         ดังนั้น ถ้าสามารถนำผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ป้องกันความเสื่อม และอาจมีส่วนในการชะลอความเสื่อม มาบรรจุในเครื่องดื่มที่สามารถหาดื่มได้ในร้านค้าทั่วไป เพียงแค่เปิดขวดก็ดื่มได้ทันที พร้อมกับมีความเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้วว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในขวดดีต่อสุขภาพ น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่า         ดังนั้น การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมวิตามินต่างๆ ก็ได้ประโยชน์ต่อร่างกายและได้น้ำด้วย การดื่มเครื่องดื่มที่ใส่คอลลาเจนก็ทำให้ร่างกายได้รับคอลลาเจนจะได้ดูอ่อนเยาว์ ป้องกันความเสื่อมของข้อต่อ การดื่มนมที่ใส่แคลเซียมหรือวิตามินดีก็น่าจะดีกว่าการดื่มน้ำเปล่าหรือนมธรรมดา เป็นต้น ร่างกายอาจได้รับสารต่างๆ เกินความต้องการ         เมื่อเชื่อว่าเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพจะดีกว่าน้ำเปล่าจะทำให้การบริโภคเครื่องดื่มเหล่านี้มากขึ้นหรือแทนการดื่มน้ำเปล่า ซึ่งร่างกายควรดื่มน้ำเปล่าประมาณวันละ 1,500-2,000 มิลลิลิตร การดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้อาจเป็นภาระต่อไตในการปรับสมดุลแร่ธาตุในเลือด บางคนอาจได้รับน้ำตาลมากเกินไป         โดยสรุปแล้ว ร่างกายได้รับสารอาหาร วิตามิน และสารต่างๆ จากอาหารที่กินในแต่ละวันเพียงพอแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดื่มเครื่องดื่มที่ใส่ผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ เพราะอาจมีผลเสียต่อร่างกาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ผลทดสอบ อนาบอลิกสเตียรอยด์ ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีน

        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในกลุ่มตลาดฟิตเนสนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามกระแสรักสุขภาพ เมื่อมองที่สถานบริการฟิตเนสก็จะพบว่ามีการเปิดสถานบริการกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นกระจายไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งผู้ใช้บริการมีหลากหลายกลุ่มอายุตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงผู้สูงวัย ทำให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทั้งวิตามิน เกลือแร่ รวมถึงผลิตภัณฑ์เสริมสร้างร่างกาย(เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ) อย่าง “เวย์โปรตีน” ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย จากเดิมผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนที่เคยมีแต่สินค้านำเข้าและจำหน่ายเป็นถังหรือบรรจุภัณฑ์ใหญ่ๆ  ได้มีผู้ผลิตในประเทศหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมแข่งขันในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น บรรจุภัณฑ์มีขนาดเล็กลง ช่องทางจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น และการเติบโตทางการตลาดที่สูงขึ้นทุกปี         จากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นและช่องทางจำหน่ายที่เปิดกว้างมากขึ้น ทั้งในร้านค้า ร้านค้าออนไลน์ หรือแม้แต่ในสถานบริการฟิตเนส อาจทำให้ผลิตภัณฑ์เวย์โปรตีนบางส่วนไม่มีมาตรฐานหรือมีการปลอมปนผลิตภัณฑ์ยาเพื่อหวังผลในการเร่งสรรพคุณผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากงานวิจัยของกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูและเครือข่าย คบส.เขต 8 ได้ศึกษาไว้เมื่อปี 2563 นั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนจำนวน 20 ตัวอย่าง ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ร้อยละ 25 (จำนวน 5 ตัวอย่าง) มีการปลอมปนอนาบอลิกสเตียรอยด์ ทั้งในผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) และไม่มีเลขสารบบอาหาร         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สินค้าเสริมอาหารเวย์โปรตีน ทั้งในเรื่องมาตรฐาน การอวดอ้างคำโฆษณาหรืออาจมีการปลอมปนยาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้เก็บตัวอย่างเวย์โปรตีน จำนวน 9 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและทางออนไลน์ ในเดือนมกราคม 2564 เพื่อทดสอบหาสารอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids) ซึ่งเป็นยาที่นิยมกันในหมู่นักกีฬาเพาะกาย และทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ว่าเป็นไปตามการกล่าวอ้างบนฉลากหรือไม่         สรุปผลทดสอบ        · การปลอมปน อนาบอลิกสเตียรอยด์  ผลทดสอบไม่พบทั้ง 9 ตัวอย่าง        · ทดสอบหาปริมาณโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ผลทดสอบพบว่า มี 2 ตัวอย่าง ที่มีโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก คือ น้อยกว่าร้อยละ 30 ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เวย์โปรตีนไอโซเลท กลิ่นมอคค่า ยูไทม์ ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 38.8 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 83.33 และ (2) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตราไดเอโดะ รสช็อกโกแลต ทดสอบพบโปรตีน (ร้อยละของน้ำหนัก) ที่ 26 จากการกล่าวอ้างบนฉลากที่ 62.5         พ.ร.บ.อาหาร 2510 มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตรายตารางผลทดสอบอนาบอลิกสเตียรอยด์และโปรตีนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเวย์โปรตีนเก็บตัวอย่างช่วงเดือน มกราคม 2564 ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 4 เรื่องเล่า เฝ้าระวัง

เมื่อยุคโลกอยู่ใกล้กัน (แต่ตอนนี้ควรห่างกันสักพัก) ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เสี่ยงทั้งในและนอกประเทศ จึงเดินเข้าหาผู้บริโภคได้ไม่ยาก        1. น้องเภสัชกรจากจังหวัดนราธิวาสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า เธอพานักเรียน อย.น้อยไปเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังตามบ้าน เมื่อไปถึงบ้านคุณยายท่านหนึ่ง พบผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดหนึ่งในบ้าน ดูจากฉลากแล้วไม่มีภาษาไทย แต่เป็นฉลากภาษาอาหรับ จึงสอบถามได้ความว่า คุณยายมีเพื่อนไปแสวงบุญที่ต่างแดนแล้วซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้กลับมาฝาก คุณยายคิดว่าน่าจะเป็นของดีเพราะเป็นของจากต่างประเทศและเมื่อรับประทานแล้วก็ได้ผลดี อาการปวดเมื่อยหายเร็วมาก น้องเภสัชกรสงสัยว่า ผลิตภัณฑ์นี้น่าจะมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์จึงใช้ชุดทดสอบตรวจได้ผลว่าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนนี้ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์จริงๆ อย่างที่สงสัย จึงรีบแนะนำคุณยายให้หยุดรับประทาน และรีบดำเนินการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อันตรายในชุมชนนี้         2. ผู้บริโภคนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางมาแจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม โดยให้ข้อมูลว่าตนซื้อเครื่องสำอางจากตลาดนัดแห่งหนึ่ง ผู้ขายชักชวนให้ซื้อแล้วจะได้คูปองชิงโชค ตนเห็นราคาถูก ตรวจสอบแล้วมีฉลากครบถ้วนจึงซื้อมา เมื่อถึงบ้านตรวจสอบที่เว็บของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่าผลิตภัณฑ์นี้ถูกยกเลิกแล้ว จึงรีบนำมาแจ้งเจ้าหน้าที่พร้อมนำเอกสารหลักฐานต่างๆ มาให้ดูด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแล้วพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ผลิตที่จังหวัดจันทบุรี และมีตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ในจังหวัดเพชรบุรี จึงได้แจ้งเรื่องต่อไปยังจังหวัดจันทบุรีและเพชรบุรี เพื่อดำเนินการติดตามตรวจสอบต่อไป         3. เจ้าหน้าที่กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนึ่งเล่าให้ฟังว่า คุณแม่ของตนเห็นดาราชายสูงวัยเสียงนุ่มท่านหนึ่งโฆษณารับรองผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในโทรทัศน์และเฟซบุ๊ค อ้างว่ารับประทานเป็นประจำแล้วสุขภาพดี จึงตัดสินใจจะสั่งซื้อมารับประทาน ตนทราบเรื่องจึงรีบห้ามทัน เพราะสรรพคุณที่โฆษณานั้นโอ้อวดมากจนเกินจริง         4. น้องเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เล่าให้ฟังว่ามีผู้ป่วยหญิงร่างท้วมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลด้วยอาการแน่นหน้าอกหายใจไม่ออก จากการสอบถามข้อมูลเบื้องต้นได้ข้อมูลว่า ผู้ป่วยเห็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดนี้โฆษณาขายทางเฟซบุ๊ค มีเลข อย แล้ว จึงสั่งซื้อมารับประทาน หลังจากรับประทานไประยะหนึ่งเริ่มมีอาการดังกล่าวจึงรีบมาโรงพยาบาลตอนนี้ยังเหลืออยู่ 6 แคปซูล น้องเภสัชกรจึงรวบรวมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป        จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์เสี่ยงอันตรายเหล่านี้เข้าถึงผู้บริโภคได้ไม่ยาก แต่หากเจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูลพร้อมได้รับเอกสารหรือหลักฐานต่างๆ ได้อย่างละเอียดและรวดเร็วแล้วก็สามารถจะจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งระบบ ซึ่งจะเป็นผลดีเพราะมันจะได้ไม่ไปเสี่ยงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 ข้อคิดจากการสวยตามเทรนด์

                รูปแบบของความสวยงามนั้น อันที่จริงแล้วมันไม่มีนิยามตายตัว ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคมและยุคสมัย ดังนั้นแต่ละปีก็จะมีคนมาบอกเราว่า ปีหน้าเขาจะนิยมรูปแบบความงามแบบไหน เราต้องดูแลหรือเตรียมการอย่างไร เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งปีหน้า 2563 นี้หลายกูรูยังฟันธงว่า เทรนด์สวยธรรมชาติและเครื่องสำอางจากส่วนผสมธรรมชาติยังคงความแรงต่อเนื่อง         ผิวพรรณแบบกระจ่างใสดังกระจกหรือ Glass Skin ยังคงได้รับความนิยม         ผิวแบบ Glass Skin  คือผิวพรรณที่ผุดผ่องมีน้ำมีนวล บ่งบอกถึงสุขภาพดีจากภายใน ผิวแบบ Glass Skin นั้น  ขอให้ลองคิดถึงซีรีย์เกาหลี ที่สาวๆ ในเรื่องจะมีผิวใสๆ ดูอิ่มเอิบฉ่ำวาวดังแก้ว แบบนั้นแหละที่เรียกว่า Glass Skin ซึ่งผู้ก่อกระแสนี้คือ บิวตี้บล็อกเกอร์ชื่อดังชาวเกาหลีนั่นเอง เมื่อฮิตขึ้นมาแล้วก็ฮิตต่อกันไปยาวๆ ข้ามปี หลักๆ ของเทรนด์ผิวใสดั่งแก้วนี้ คือ เน้นที่การทำความสะอาดให้หมดจด บำรุงผิวทั้งจากภายนอกและภายในเพื่อให้ผิวเปล่งประกายอย่างคนที่สุขภาพดี และเสริมด้วยการแต่งหน้าให้ดูกระจ่างใสโชว์ความเปล่งปลั่งสดใสของผิว         อย่างไรก็ตามเมืองไทยนั้นสภาพอากาศต่างจากเกาหลีจะให้ทันกับเทรนด์นี้ ก็ต้องปรับให้เหมาะสมจะสำเนามาทั้งหมดคงไม่เหมาะ ส่วนที่สามารถทำได้เลยและดีมากเสียด้วย คือ หลักของการทำความสะอาดและการบำรุง         ขั้นตอนที่แนะนำหลักๆ คือ เมื่อแต่งหน้าแล้วต้องไม่ละเลยการทำความสะอาดอย่างหมดจด ให้เกิดการตกค้างของสารเคมีบนผิวน้อยที่สุด ดื่มน้ำให้มาก รับประทานอาหารที่ดี และบำรุงผิวด้วยครีมบำรุงที่เหมาะกับสภาพผิว ซึ่งผู้นำเทรนด์เสนอว่าควรสครับ(ขัดถูหน้าเพื่อให้เกิดการผลัดผิวที่เร็วขึ้น) และมาสก์หน้าเมื่อว่างจากกิจกรรมปกติ   และหากจะให้เป๊ะสำหรับอากาศร้อนและแดดแรงๆ แบบเมืองไทย การปกป้องผิวด้วยครีมกันแดดคือสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน                เทรนด์ความเป็นธรรมชาติที่ช่วยให้ผู้บริโภคมีสุขภาพผิวที่ดี        เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในลุคธรรมชาติและเครื่องสำอางที่ปกป้องคุณจากมลภาวะ คือสิ่งที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2563 สารสกัดจากธรรมชาติที่ถูกผสมในเครื่องสำอางหรือนำมาเป็นอาหารเสริมนั้น ยังคงจะได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ต้องเพิ่มขึ้นคือ ความต้องการสินค้าแบบเฉพาะกลุ่มและตอบโจทย์เรื่องมลภาวะ         สิ่งที่ต้องระวังในกรณีของสินค้าที่เคลมเรื่องสุขภาพผิวสวยคือ กรณีของเครื่องสำอาง ทางหน่วยงานที่กำกับดูแลจะไม่ได้มีการทดสอบเรื่องความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เพียงรับจดแจ้งเพื่อเป็นข้อมูลทั่วไปสำหรับผู้บริโภคเท่านั้น ดังนั้นการเสี่ยงกับอาการแพ้ยังคงต้องได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกๆ โดยควรทดสอบกับผิวในบริเวณที่ไม่ใช่เป้าหมายหลักก่อนใช้ และอย่าคาดหวังกับสินค้าจนเกินไป นอกจากนี้การช่วยกันเฝ้าระวังสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยการแจ้งต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยในวงกว้าง         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในหลักการคือ การทำความสะอาดและปกปิดเสริมแต่ง ดังนั้นไม่ควรคาดหวังถึงขนาดแก้ไขหรือฟื้นฟูสภาพผิว        กรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาจมีการโฆษณาจนเกินเลย ให้สรรพคุณที่มากกว่าการบำรุง แต่เป็นโชว์สรรพคุณรักษาโรค ซึ่งถือว่าผิด และเราไม่ควรตกเป็นเหยื่อของสินค้าเหล่านี้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางผลิตภัณฑ์ผลิตขึ้นมาเพื่อสร้างการตลาดแบบ แชร์ลูกโซ่ ไม่ได้มีสรรพคุณอะไรมากไปกว่าอาหารธรรมดา ผู้บริโภคต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ให้ความโลภชักนำให้ขาดความรอบคอบในการใช้สินค้า         การพยายามสวยตามแฟชั่นหรือเทรนด์ไม่ได้เป็นสิ่งผิดปกติ ใครๆ ก็อยากจะได้ชื่อว่าทันสมัย แต่เราควรรอบคอบไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิต ผู้ประกอบการที่ไม่มีความรับผิดชอบ ทำสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือฉาบฉวยเพียงเพื่อจะหาผลประโยชน์ทางการเงิน สวยตามเทรนด์ได้แต่ต้องเท่าทันข้อมูลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 รู้เท่าทันผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ

        ระยะนี้มีการโฆษณาทางโทรทัศน์และสื่อออนไลน์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันมากมาย  มีการนำดารา ศิลปิน นักกีฬามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง เพราะผู้บริโภคมีความเชื่อว่า พรีเซนเตอร์เหล่านี้มีชื่อเสียง ฐานะดี คงไม่มาหลอกลวงเอาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ดีมาโฆษณาอย่างแน่นอน ผลิตภัณฑ์ที่มาแรงเพราะเอาพระเอกที่คนไทยชื่นชอบมาเป็นพรีเซนเตอร์ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับ    ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับตับกำลังมาแรง เพราะภาวะตับอักเสบ ไขมันสะสมในตับทั้งจากแอลกอฮอล์และไม่เกี่ยวกับแอลกอฮอล์กำลังพบมากขึ้น ทำให้ผู้คนบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยฟื้นฟูและป้องกันตับจากภาวะดังกล่าว        เมื่อดูในเว็บไซต์ต่างๆ ในประเทศไทย พบว่า มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับอย่างน้อย 4-5 รายการที่มีการโฆษณาขายในเมืองไทย ในต่างประเทศก็มีการขายกันในโลกออนไลน์มากกว่า 10 รายการขึ้นไป มีการโฆษณาต่าง ๆ นานาว่าเป็นการ “ปกป้องตับ ฟื้นตับ ดีท็อกซ์ตับ คลีนตับ ขับสารพิษในตับ ตับสะอาด ขับของเสียจากแอลกอฮอล์ ไม่เมาค้าง” เป็นต้น  ทำให้ตับกลับคืนส่สภาพเดิม รู้สึกดีขึ้น  ในบ้านเราเน้นไม่เมาค้าง ทำให้สายดื่มได้เฮกันเพราะจะได้ดื่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์บำรุงตับมีอะไรบ้าง         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้นจะใช้สมุนไพรหลักๆ 3 ตัว ได้แก่ มิลค์ ทิสเทิล (milk thistle)  ใบอาร์ทิโชก รากแดนดิไลออน[1]           สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดมีประโยชน์อย่างไรต่อตับ?        ในมิลค์ ทิสเทิล จะมีสารไซลิมาริน ซึ่งเป็นสารเคมีในพืช ในห้องปฏิบัติการพบว่า สารไซลิมารินทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยสร้างเซลล์ตับ ลดการอักเสบ ป้องกันเซลล์ตับ จึงทำให้มีการนำสมุนไพรนี้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อบำรุงตับ       ใบอาร์ติโชคมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ปกป้องเซลล์ตับ การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าช่วยสร้างเซลล์ตับได้ มีงานวิจัยบางชิ้นพบว่าช่วยลดการทำลายตับลงได้เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ต้องมีการศึกษาในทางคลินิกต่อไป        รากของแดนดิไลออนนั้นมีการนำมาใช้ในการรักษาโรคตับมานาน แต่ต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิผล        ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับชนิดต่าง ๆ มีการผสมสมุนไพรเพิ่มเติม เช่น โกจิเบอร์รี่ สมอพิเภก บ๊วย เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับมีสรรพคุณตามโฆษณาจริงหรือ         เมื่อทบทวนการศึกษาวิจัยพบว่า การวิจัยสมุนไพรหลัก 3 ชนิดในคนยังไม่มีและคุณภาพงานวิจัยยังไม่ดีพอ ต้องทำการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม ส่วนการศึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกับโรคตับต่าง ๆ นั้น พบว่า ยังไม่มีหลักฐานที่จะสนับสนุนหรือปฏิเสธว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ และอาจทำให้เอนไซม์ตับมีค่าสูงขึ้น เราจะดูแลตับให้ดีได้อย่างไร         เราสามารถดูแลตับให้แข็งแรงได้โดย การลดไขมันในอาหาร ลดสารพิษ เช่นยา สารเคมี ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มการออกกำลังกาย กินผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมีอันตรายมากขึ้น สรุป ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงตับนั้น ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรซึ่งมีความปลอดภัย แต่สรรพคุณนั้นยังต้องการการศึกษาทางคลินิกเพิ่มเติม[1] สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดพบในเขตหนาว ไม่พบในบ้านเรา ยกเว้นอาร์ติโชค มีการนำมาปลูกโดยโครงการหลวง แต่ไม่เป็นที่นิยม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 โอ้ละหนอ ... ดวงตาเอย

        ปัจจุบันเราใช้สายตาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันมาก ทำให้หลายคนอาจเกิดปัญหาต่างๆ ทางสายตามากขึ้น  จึงเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเคลิบเคลิ้มจนเสียเงินอย่างไม่จำเป็น โดยสารสำคัญล่าสุดที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยกมาอ้างถึงประโยชน์คือ “ลูทีน”         ในเว็บขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แจ้งว่ามีส่วนผสมของลูทีนและวิตามินต่างๆ แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ทุกชนิดจะอ้างว่าตนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงรักษาดวงตา บางผลิตภัณฑ์มีการนำผลการวิจัยที่มีตัวเลขต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษา เหมือนว่าเพิ่มความขลัง แรกๆ ก็อ้างว่าสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่ลองอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีการอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มากขึ้นไปอีก ประหนึ่งว่ามันคือ อาหารเทวดา เช่น ความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ  อาการหลอดเลือดแข็ง ลดไขมัน ทำให้ผิวพรรณสดใส ฯลฯ แต่ที่หาไม่เจอคือ ข้อมูลแสดงที่มาของการวิจัยว่าเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ไหนทำ หรือพูดภาษาบ้านๆ คือ ยกเมฆเอาข้อมูลมาอวดอ้าง แต่ไม่บอกแหล่งที่มาว่าใครวิจัย ดีที่ไม่อ้างว่าเทวดาวิจัย(ฮา)         เมื่อตามเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีการนำภาพผ้สูงอายุมาประกอบการโฆษณา โดยมีข้อความชวนตะลึงเข้าไปอีก เช่น “ทานต่อเนื่อง 3 กล่อง ต้อเนื้อหลุด ตาพร่ามัวดีขึ้น มองชัด” ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน และยังแทคข้อความแฝงสรรพคุณต่างๆ เช่น #แสบตา #เคืองตา #น้ำตาไหล #ตาพร่ามัว #แพ้แสง #แพ้ลม #มองไม่ชัด#ภาพซ้อน #หยากไย่ลอยไปลอยมา #ตาบอดกลางคืน #ต้อลม #ต้อกระจก#ต้อเนื้อ #ต้อหิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพกล่องพัสดุที่เตรียมส่งไปรษณีย์กองใหญ่ รวมทั้งโชว์ภาพใบส่งของไปรษณีย์ที่ยาวเหยียดมากมาย เหมือนโชว์ว่าสินค้านี้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก         อันที่จริง ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี องุ่น ส้ม ฯลฯ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพงๆ มากิน หากใครติดตามข่าวจะพบว่าแม้กระทั่งจักษุแพทย์ เช่น ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเคยออกมาเตือนผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า โรคตาแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดต้อกระจก หากเป็นต้อหินก็ต้องให้ยาลดความดันลูกตา ไม่สามารถใช้วิตามินกินแล้วบอกว่ารักษาทุกโรคได้         สารลูทีนและซีแซนทีน เป็นกลุ่มวิตามิน ซึ่งมีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุบางประเภท “ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อน” จึงจะสามารถใช้ยาได้ “ดังนั้นการโฆษณาว่ารักษาโรคตาได้ทุกโรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หนำซ้ำจะทำให้เกิดอันตราย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้โรครุนแรงขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้” เช่น ถ้าเป็นต้อเนื้อ ก็จะลุกลามจนบังการมองเห็น ถ้าเป็นต้อกระจกก็จะทำให้อาการรุนแรงเกิดผลแทรกซ้อนกลายเป็นต้อหินและตาบอดในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นต้อหินอยู่เดิมแล้วไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตาอาจจะทำให้ตาบอดได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็ทำให้ตาบอดได้        ทราบข้อมูลขนาดนี้แล้ว ช่วยๆ กันเตือนคนที่เรารัก ให้เท่าทัน หากมีปัญหาเรื่องตา ควรไปหาจักษุแพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่า อย่าไปหลงเป็นเหยื่อ ให้ผลิตภัณฑ์พวกมา...โอ้ละหนอ หลอกดวงตาจนอาจจะบอดเอย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ถึงเวลาเอาคืนดาราและเน็ตไอดอล

        ข่าวที่ปรากฏครึกโครมทางสื่อมวลชล  ตั้งแต่กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไล่จัดการเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่แอบผสมยาลดน้ำหนัก จนกระทั่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ฯ สั่งเพิกถอนเลขสารบบอาหารผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง ที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง โดยอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ ที่เกี่ยวกับดวงตา จนผู้ป่วยจำนวนมากหลงเชื่อโฆษณาดังกล่าวและปล่อยให้อาการของโรคลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้          หากติดตามข่าวจะพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ มีคนที่มีชื่อเสียง ทั้งดารา เน็ตไอดอล แม้กระทั่งนักแต่งเพลง ใช้ความดัง ความน่าเชื่อถือ หรือความชื่นชอบของบรรดาแฟนๆ มาโฆษณาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ แม้ทางราชการจะไล่จับ แต่ก็ไม่ค่อยทัน ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริโภคจะต้องตั้งสติ ให้เท่าทันการโฆษณาหลอกลวง         1. เห็นโฆษณาเมื่อใด ให้ตั้งคำถามกับตัวเองไว้ก่อนว่า เราเชื่อว่าพวกดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองโฆษณาจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงคนกลุ่มนี้ต้องไม่เจ็บไม่ป่วย เพราะผลิตภัณฑ์มันโฆษณาว่ารักษาได้สารพัดนึกนี่นา         2. ถ้าผลิตภัณฑ์พวกนี้ดีจริงอย่างที่โฆษณา ทำไมในโรงพยาบาลต่างๆ ไม่เอาไว้ใช้รักษาโรคให้กับผู้ป่วยที่มารักษาตัวในโรงพยาบาล         สิ่งสำคัญอีกอย่างที่พวกดาราและเน็ตไอดอลกลัว คือผลกระทบต่อความดัง หรือความฉาวของชื่อเสียง ถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องช่วยกัน เอาคืนดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้เสียที          1. เจอโฆษณาที่ไหน ให้บันทึกข้อมูลให้ละเอียด เช่น เว็บไซต์ไหน สื่อโซเชียลไหน ถ้าจับภาพหน้าจอหรือบันทึกคลิปได้ ให้บันทึกไว้เลย ระบุวันเวลาที่พบด้วย ถ้ามีเอกสารสิ่งตีพิมพ์ต่างๆ เช่น โปสเตอร์ แผ่นพับ ต่างๆ ให้เก็บไว้เป็นหลักฐาน         2. หาช่องทางติดต่อสอบถามดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ว่าใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จริงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าทุกคนจะต้องตอบว่าใช้แน่นอน หลังจากนั้น ให้สอบถามถึงสรรพคุณต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ที่ดาราและเน็ตไอดอลพวกนี้ว่าเป็นจริงที่ตามที่โฆษณาหรือไม่ เพื่อให้มีข้อมูลออกมาจากเขาโดยตรง จะได้ไม่ต้องอ้างเวลาถูกดำเนินคดีว่า ตนไม่รู้เรื่อง เจ้าของผลิตภัณฑ์เอาภาพตนไปทำโฆษณาเอง         3. จับภาพหน้าจอ หรือบันทึกคลิปที่ดาราหรือเน็ตไอดอลเหล่านี้ ยืนยันสรรพคุณต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน         4. นำข้อมูลและเอกสารต่างๆ ที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินคดีต่อไป         5. พวกดาราและเน็ตไอดอล มักกลัวความฉาวส่งผลกระทบต่อความดัง มาตรการเอาคืนอีกทางหนึ่งคือ นำข้อมูลที่รวบรวมได้ ส่งต่อให้สื่อมวลชนที่เรารู้จัก หรือสื่อโซเชียลที่สนใจประเด็นเหล่านี้ นำไปขยายผลหรือติดตามตรวจสอบต่อไป         6. เมื่อผลคดีตัดสินว่า ดาราและเน็ตไอดอลทำผิดจริง ช่วยกันแสดงความคิดเห็นและทวงถามความรับผิดชอบจากดาราและเน็ตไอดอลเหล่านี้ หรือชวนกันบอยคอตไม่สนับสนุนผลงาน         ยิ่งเรารัก เราชื่นชอบดาราหรือเน็ตไอดอลคนไหน เรายิ่งต้องตรวจสอบ เพื่อดูแลให้พวกเขาอยู่ในร่องในรอยที่ถูกต้อง ไม่เผลอไผลไปกระทำผิดให้บรรดาแฟนๆ เจ็บช้ำใจนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ยาแผนปัจจุบันในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศสำหรับผู้ชายจากห้างค้าปลีกออนไลน์

        ภาวะองคชาติไม่แข็งตัว (Erectile Dysfunction) เป็นปัญหาที่เกิดได้จากหลายสาเหตุและวิธีที่ปลอดภัยคือการพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษา แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม มีคุณผู้ชายเป็นจำนวนมากไม่ยินดีพบแพทย์ เลือกที่จะทดลองรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอ้างสรรพคุณเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ที่โฆษณาว่าสามารถช่วยเพิ่มขนาดน้องชาย เพิ่มระยะความสุขในกิจกรรมทางเพศ ทำให้สู้ศึกได้ยาวนาน ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำอวดอ้างสรรพคุณที่เกิดจากการลักลอบนำยาอันตราย ที่มีผลในการรักษาภาวะองคชาติไม่แข็งตัวผสมไปในผลิตภัณฑ์ โดยผลข้างเคียงของการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายนี้อาจเสี่ยงถึงเสียชีวิตได้         ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศเหล่านี้ มีขายกลาดเกลื่อนบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้บริโภคจำนวนหนึ่งอาจได้รับทราบคำเตือนจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่บ้างว่ามีความเสี่ยง ทำให้หลายคนเปลี่ยนไปซื้อหรือสั่งซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน โดยมีความเชื่อมั่นในตัวห้างออนไลน์ว่าจะช่วยคัดกรองผู้ผลิต ผู้ประกอบการให้กับทางผู้บริโภค แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือ         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงทดลองสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณช่วยแก้อาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ทำให้ฟิตเปรี๊ยะ ตลอดจนเพิ่มขนาดอวัยวะเพศ จำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ยอดนิยม 6 แห่ง ได้แก่ SHOPEE, Watsons, LAZADA, Shop at 24, 411estore.com, และ We mall  ระหว่างเดือนมีนาคม – เมษายน 2562 ส่งห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ อุบลราชธานี เพื่อทดสอบหาสาร (ยา) ในกลุ่มที่แก้อาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ได้แก่ ซิลเดนาฟิล (Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ซึ่งผลทดสอบเป็นที่น่าห่วงใยอย่างมาก ผลทดสอบ    ผลการทดสอบหายา ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล(Tadalafil) และ วาเดนาฟิล(Vardenafil) ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวน 10 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกออนไลน์ 6 แห่ง พบว่า 7 ใน 10 ตัวอย่าง มีการผสมสารหรือยาแผนปัจจุบัน ดังนี้    1.   DRACO รุ่นผลิต 15/01/2561 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    2.   แซต4 (Z4) ตรา PLAYS รุ่นผลิต 3/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล สั่งซื้อจาก Watsons    3.   MO CHA รุ่นผลิต 7/02/2562 พบ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก SHOPEE    4.   OMG รุ่นผลิต 9/12/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก 411estore.com    5.   So Kool รุ่นผลิต 2/01/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก We mall    6.   CHU รุ่นผลิต 11/02/2562 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA    7.   Vitalmax Vitality Reborn รุ่นผลิต 16/11/2560 พบ ซิลเดนาฟิล และ ทาเดลาฟิล สั่งซื้อจาก LAZADA     ทั้งนี้พบว่า ทั้งหมดมีเลขสารบบอาหาร (อย.) เมื่อตรวจสถานะพบว่า สถานะยังคงอยู่ (ล่าสุดเดือนเมษายน 2562) โดย ยี่ห้อ Vitalmax Vitality Reborn นั้นมีชื่อผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับในเลขสารบบอาหารการขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ลักลอบผสมยาแผนปัจจุบันมีโทษตามกฎหมาย        หากผลิตภัณฑ์ใดได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศไทยและมีสาร  ซิลเดนาฟิล(Sildenafil) ทาเดลาฟิล (Tadalafil) และวาเดนาฟิล (Vardenafil) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันเป็นส่วนผสม ถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25(1) ประกอบมาตรา 26(1) ต้องได้รับโทษตามมาตรา 58 คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจเข้าข่ายอาหารปลอมหากมีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงให้เกิดความเข้าใจผิด ตามมาตรา 25(2) ประกอบมาตรา 26(3) ต้องระวางโทษตามมาตรา 59 คือ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 – 100,000 บาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 บ้านเราไม่ต้องมีหมายค้น (2)

ห้องน้ำและห้องนอน (ต่อ) : หลายคนมักเก็บเครื่องสำอาง ซึ่งบางทีเป็นของใช้ส่วนตัวแยกต่างจากเครื่องสำอางที่ใช้ทั่วๆไป เครื่องสำอางเหล่านี้มักเป็นเครื่องสำอางสำหรับผิวกาย ผิวหน้า ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนจะหาซื้อมาตามความชอบใจ หากเป็นยี่ห้อที่มีวางขายเปิดเผยตามห้างหรือร้านสะดวกซื้อพวกนี้ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะฉลากจะมีรายละเอียดครบถ้วน ทั้ง เลขจดแจ้ง ชื่อสถานที่ผลิตหรือจำหน่าย วันผลิตวันหมดอายุ ฯลฯ ซึ่งหากเกิดปัญหา เราสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแจ้งทางห้างหรือร้านที่นำมาจำหน่ายได้แต่เครื่องสำอางที่พบปัญหาเป็นส่วนใหญ่ คือเครื่องสำอางที่ซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต ซื้อจากเน็ตไอดอล หรือตามที่ดารามารีวิวแนะนำสินค้า เครื่องสำอางเหล่านี้มีความเสี่ยงสูง เพราะมักจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสถานที่ผลิตที่เราอาจไม่รู้จัก และจากกรณีที่เป็นข่าวก็ทำให้เราทราบว่า หลายผลิตภัณฑ์ไม่มีสถานที่ผลิตจริง หากแต่ไปจ้างโรงงานผลิต เวลาไปขอจดแจ้งจากราชการ ก็อาศัยช่องโหว่ที่กฎหมายสมัยนั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องตรวจสถานที่ เลยแจ้งที่อยู่อื่นๆ ที่ไม่ใช่สถานที่ผลิตจริง ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบได้ยาก นอกจากนี้พวกเน็ตไอดอลหรือดาราหลายคน ก็ออกมาสารภาพกันแล้วว่าไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เลย (บางคนก็อ้อมๆ แอ้มๆ ว่าเคยใช้แค่ครั้งสองครั้งเอง ซึ่งไม่รู้ว่าโกหกอีกหรือเปล่า) ดังนั้น ถือโอกาสสังคายนา ตรวจสอบเครื่องสำอางประจำตัวของสมาชิกในบ้านเลยว่า มีเครื่องสำอางที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้อยู่หรือไม่ เพราะเครื่องสำอางเหล่านี้ดูเหมือนจะอยู่ในกลุ่มที่กำพืดไม่ค่อยจะชัดเจน และที่อันตรายอย่างยิ่ง คืออาจมีการเติมสารอันตรายต่างๆ เข้าไปด้วย และหากพบว่าสมาชิกในบ้านใช้ไม่เท่าไร ดันเห็นการเปลี่ยนแปลงทันที เช่น ผิวขาวกะทันหัน ขาวผิดพ่อผิดแม่ ยิ่งส่อให้เห็นว่าแนวโน้มมีสารอันตรายเจือปนสูง ควรกำจัดออกจากบ้านไปเลยพื้นที่อื่นๆ : นอกเหนือจากอาหารและเครื่องสำอางแล้ว เราลองตรวจสอบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สมาชิกในบ้านนำมาใช้ด้วย โดยเฉพาะในบ้านที่มีผู้สูงอายุ หรือมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังประจำตัว เพราะจะเป็นเป้าหมายหลักในการถูกหลอกให้ซื้อผลิตภัณฑ์เสี่ยงๆ มาใช้ เช่น ยาน้ำสมุนไพรหรือยาลูกกลอนบางชนิด(หรือผลิตภัณฑ์อาหาร) ที่อ้างรักษาอาการปวดเข่า หรือรักษาโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ไขมัน ความดัน ฯลฯวิธีสังเกตง่ายๆ ก็เหมือนที่เคยบอกไปแล้ว เช่น ถ้าเป็นยาต้องมีเลขทะเบียนยา ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารถ้าอ้างว่ารักษาโรคได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายแน่นอน เพราะอาหารรักษาโรคไม่ได้ (ถ้ารักษาได้แสดงว่าต้องเติมอะไรเข้าไปแนอน) และที่ต้องย้ำคือ แม้จะมีฉลากถูกต้อง ระบุสรรพคุณเหมาะสมอยู่ในร่องในรอยแล้ว แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานแล้วเกิดได้ผล อาการป่วยต่างๆ หายอย่างน่าประหลาดใจ ต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่มาช่วยตรวจสอบทันที จำไว้ว่า “ยาเทวดาสุดมหัศจรรย์ไม่มีในโลก” อย่าลืมนะครับ ใช้วิธีการที่เคยแนะนำไปแล้วตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆในบ้านตั้งแต่วันนี้ หากพบ “สี่สงสัย” ให้รีบใช้ “สองส่งต่อ” เพื่อเตือนคนใกล้ตัวและแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 บ้านเราไม่ต้องมีหมายค้น (1)

ข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับการดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องสำอางและอาหารเสริมผิดกฎหมาย ที่มีดารานักร้องนักแสดงหลายรายเข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนหันมาสนใจและเริ่มตั้งคำถามว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ ที่เราใช้นั้นปลอดภัยหรือไม่ โอกาสนี้จึงขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านหันมาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ รอบๆ ตัวเรา เริ่มต้นจากบ้านของเราเอง เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกของบ้านเราห้องครัว : เป็นห้องที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของทุกคนในบ้าน ผลิตภัณฑ์ที่พบในห้องครัวส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องปรุงรสต่างๆ ถ้าเป็นอาหารสด เราคงรู้อยู่แล้วว่าต้องเก็บรักษาอย่างไรเพื่อไม่ให้เน่าเสีย ก่อนนำมาใช้ก็ต้องล้างให้สะอาด ยิ่งเป็นอาหารที่รับประทานสดๆ ได้โดยไม่ต้องผ่านความร้อน (เช่น ผัก ผลไม้) ยิ่งต้องล้างให้สะอาด เพื่อกำจัดสิ่งอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง ไข่พยาธิ ฯลฯ ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ หากบรรจุในภาชนะปิดสนิท เช่น ขวด กระปุก กระป๋อง ฯลฯ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องขออนุญาตก่อนผลิตจำหน่าย ซึ่งเราจะสังเกตได้จากเลขสารบบอาหาร ซึ่งจะแสดงในกรอบเครื่องหมาย อย. แต่เพื่อความปลอดภัย เราควรตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ บนฉลากเพิ่มเติม เช่น มีชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายชัดเจนหรือไม่ ถ้าไม่มีแสดงว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแน่นอน นอกจากนี้ อย่าลืมดูวันผลิตหรือวันหมดอายุด้วย (ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่เก็บได้นานหลายปี กฎหมายยกเว้นไม่ต้องแสดงวันหมดอายุ) และที่สำคัญอย่าลืมดูว่าของที่เหลืออยู่นั้น มันเลยวันหมดอายุที่ระบุตรงฉลากหรือไม่ หรือถ้าเราเก็บมานานหลายปีแล้ว หากไม่มั่นใจก็อย่าเสียดาย นำไปทิ้งดีกว่า เพื่อความปลอดภัยของสมาชิกในบ้านของเรา นอกจากรายละเอียดทั่วๆ ไปบนฉลากแล้ว หากเราลองอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบหรือฉลากโภชนาการต่างๆ เราก็จะทราบข้อมูลพวกสารอาหารหรือวัตถุเจือปนต่างๆ ด้วย เช่น ทราบว่ามีน้ำตาล เกลือ ไขมัน หรือพลังงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อสมาชิกในครอบครัว หากจะต้องจำกัดการบริโภคอาหารบางอย่าง เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจต่างๆนอกจากผลิตภัณฑ์อาหารที่เราใช้ปรุงรับประทานแล้ว พบว่าหลายบ้านยังซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมารับประทานด้วย อย่าลืมว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารเท่านั้น มันไม่สามารถรักษาโรคได้” เพียงแต่มันอาจมีการเติมวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารบางอย่างเพิ่มเข้าไป เพื่อจูงใจผู้ซื้อหรือประโยชน์ในการอ้างตอนโฆษณา ดังนั้นหากตรวจพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของสมาชิกในบ้าน มีการระบุสรรพคุณทางยา เช่น ระบุว่ารักษาโรคต่างๆ หรือลดความอ้วน ได้ แสดงว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายแน่นอน หรือแม้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตรวจสอบจะแสดงฉลากถูกต้อง แต่หากสมาชิกในบ้านรับประทานไปแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติหลังรับประทานไปเพียงไม่กี่วัน เช่น ผอมลงทันที หรือผลการตรวจเลือดต่างไปจากเดิม แสดงว่าอาจมียาหรือสิ่งอันตรายเจือปนอยู่ได้ห้องน้ำและห้องนอน : ส่วนใหญ่เรามักจะพบผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ ในสองห้องนี้ (บางคนอาจเก็บเครื่องสำอางบางชนิดในตู้เย็น) เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือเพื่อประทินผิว จึงไม่สามารถรักษาโรคหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างร่างกายได้ โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นเครื่องสำอางพื้นฐานที่เราใช้กันอยู่ เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ฯลฯ มักไม่ค่อยพบปัญหา แต่หากเป็นเครื่องสำอางบางชนิด เราต้องระวัง (อ่านต่อฉบับหน้านะครับ) 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 ผิวเต่งตึงด้วยกรดไฮยาลูโรนิก (ตอนที่ 2)

มาต่อกันกับเรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ซึ่งเป็นสารสำคัญสำหรับเซลล์ผิวหนัง ในการช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นทำให้ผิวไม่แห้งตึง โดยฉบับที่ผ่านมาเราได้พูดถึงกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางกันไปแล้ว คราวนี้เราลองมาดูกรดไฮยาลูโรนิกในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันบ้าง มารู้จักผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกันสักนิดผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารเสริมมีความหมายเดียวกัน แต่จริงๆ แล้วอาหารทั้ง 2 ประเภทนี้มีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อยตรงที่ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” คือผลิตภัณฑ์ที่ใช้รับประทานนอกเหนือจากการรับประทานอาหารตามปกติ และไม่สามารถใช้รับประทานแทนอาหารหลักได้ โดยมีสารอาหารหรือสารอื่นเป็นองค์ประกอบ และอยู่ในรูปแบบเม็ด แคปซูล ผง เกล็ด ของเหลวหรือลักษณะอื่น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพปกติรับประทาน ในขณะที่ “อาหารเสริม” จะหมายถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากอาหารจริงๆ เช่น ฟักทองบด ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก หรือ โจ๊กปั่น ที่เป็นอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในการกินอาหาร ซึ่งมีจุดมุ่งหมายสำหรับใช้กินเป็นมื้อเสริมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวิตามินบางชนิดที่จัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกด้วย โดยผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อเองได้ตามท้องตลาดทั่วไป อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ต้องมีการควบคุมคุณภาพและได้รับการรับรองจาก อย. ซึ่งผู้บริโภคควรตรวจสอบก่อนซื้อมารับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกแม้ปัจจุบันจะมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิกจำนวนมาก ซึ่งผู้บริโภคหลายคนรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว และเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถช่วยชะลอความเหี่ยวย่นได้จริง แต่เราไม่ควรลืมว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็ถือว่าเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ซึ่งช่วยเสริมสารอาหารบางอย่างให้กับร่างกายตามที่กล่าวไว้ข้างต้น และไม่ควรถูกโฆษณาอวดอ้างในลักษณะสรรพคุณทางยาหรือเครื่องสำอาง เช่น เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย บำรุงหัวใจ ลดการดูดซึมไขมัน ทำให้ผิวขาวเปล่งปลั่ง กระชับรูขุมขนหรือลดรอยเหี่ยวย่น เป็นต้น อย่างไรก็ตามเรามักพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายยี่ห้อตามท้องตลาด มักโฆษณาว่ามีฤทธิ์หรือให้สรรพคุณคล้ายกับยารักษาโรค จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดได้เราจึงควรสำรวจผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก่อนตัดสินใจซื้อด้วยวิธีการง่ายๆ อย่างการอ่านฉลาก ซึ่งหากพบว่ามีเลขสารบบอาหาร 13 หลักก็แสดงให้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นอาหารและไม่มีสรรพคุณทางยาใดๆ แต่หากพบว่ามีเลขทะเบียนยา เช่น Reg. No. …/.. ก็หมายถึงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นยารักษาโรค ซึ่งเราสามารถคาดหวังสรรพคุณหรือการออกฤทธิ์ต่อร่างกายได้ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำบัด บรรเทา รักษาโรค หรือให้ออกฤทธิ์ในการเติมเต็มร่องลึกและทำให้ผิวหนังเต่งตึงขึ้น แต่ทั้งนี้ประสิทธิผลก็ขึ้นอยู่กับการดูดซึมของร่างกายแต่ละคนด้วยวิธีการง่ายๆ ในการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนอกจากเราควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร 13 หลักแล้ว ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จำหน่ายต่อผู้บริโภคต้องระบุ ดังนี้1. ชื่ออาหาร โดยมีคำว่า “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหารหรือกำกับชื่ออาหาร 2. เลขสารบบอาหาร 3. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า (แล้วแต่กรณี) 4. ปริมาณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่บรรจุ 5. ชื่อและปริมาณของส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และส่วนประกอบที่มีการกล่าวอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ในฉลากของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 6. ข้อความว่า “ใช้วัตถุกันเสีย” (ถ้ามี) 7. ข้อความว่า “เจือสีธรรมชาติ” หรือ “เจือสีสังเคราะห์” (ถ้ามี) 8. ข้อความว่า “แต่งกลิ่นธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นเลียนธรรมชาติ” “แต่งกลิ่นสังเคราะห์” “แต่งรสธรรมชาติ” หรือ “แต่งรสเลียนธรรมชาติ” (ถ้ามี) 9. ข้อความชัดเจนว่า “การได้รับสารอาหารต่างๆ นั้น ควรได้จากการบริโภคอาหารหลักที่หลากชนิดครบทั้ง 5 หมู่ และเป็นสัดส่วนที่พอเหมาะ” 10. คำแนะนำในการใช้ 11. คำแนะนำในการเก็บรักษา (ถ้ามี) 12. วันเดือนและปีที่ผลิต/ หมดอายุการบริโภค ทั้งนี้การแสดงข้อความตามข้อ (12) ต้องมีข้อความที่ฉลากระบุตำแหน่งที่แสดงข้อความดังกล่าวด้วย 13. คำเตือนการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง การกล่าวอ้างทางสุขภาพ (Health claim) และคำเตือนการบริโภคอาหาร 14. ข้อมูลเฉพาะอื่นๆ ถ้าเข้าข่ายตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลสำหรับผู้แพ้อาหาร วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ใช้ หรือฉลากโภชนาการ เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 199 ว่านหลงปะทะว่าน 500 ผัว

ผมได้รับภาพผลิตภัณฑ์สะท้านใจสองชนิด จากน้องเภสัชกรท่านหนึ่ง ผลิตภัณฑ์แรกเป็นว่านสาวหลง ส่วนผลิตภัณฑ์ชนิดที่สองเป็นว่าน 500 ผัว ด้วยความสงสัยในฐานะคนทำงานคุ้มครองผู้บริโภค(ไม่ใช่ในฐานะผู้อยากใช้...ฮา) ผมจึงตามไปสืบค้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จนได้ข้อมูลเบื้องต้นว่านสาวหลง ราคาซองละ 50 บาท(มี 10 แคปซูล) บอกส่วนประกอบหลายชนิด เช่น ถังเช่า โสม กระชายดำ ใบแปะก๊วย กำลังเสือโคร่ง กำลังช้างสาร ตังกุย หรือโกฐเชียง กวาวเครือแดง แถมท้าทายด้วยประโยคที่อาจแทงใจชายไทยหลายๆ คน เช่น น้องชายมีขนาดเล็ก แข็งตัวได้ไม่เต็มที่ เกิดอาการหลั่งเร็วกว่ามาตรฐาน เกิดอาการเข่าอ่อน หรือหมดแรงทันทีที่เสร็จภารกิจ เหนื่อยง่ายกว่าปกติ ไม่อึดเหมือนแต่ก่อน  หมดความมั่นใจ เมื่อสาวข้างกายส่ายหน้า (แค่อ่านยังเหนื่อย) แถมบรรยายสรรพคุณเย้ายวนให้ระทวยในหัวใจอีก เช่น  เพิ่มขนาด เพิ่มน้ำเชื้ออสุจิ เเข็งไวขึ้น อึดทนนาน เเก้อาการนกเขาไม่ขัน  ป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ด้วยฮอร์โมนเพศชาย  ผิวขาว ใสเนียนมีออร่า กระตุ้นน้ำเชื้ออสุจิให้เเข็งเเรง ที่น่าสนใจคือ ในโฆษณามีการแจ้งว่า เลขทะเบียนยา G326/255 ซึ่งผมตามเข้าไปค้นในฐานข้อมูลยากลับไม่พบข้อมูลนี้แต่อย่างใด แต่พอค้นในฐานข้อมูลเครื่องสำอาง กลับพบว่ามีการรับจดแจ้งเครื่องสำอางว่านสาวหลงแทน สรุปว่าตอนนี้สาวอาจยังไม่หลง แต่ผมเองกลับหลงงงงวยกับข้อมูลแทนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ว่าน 500 ผัว(แค่ชื่อก็ตะลึง) ขนาดบรรจุ 30 แคปซูล ราคา 250บาท  แจ้งว่าในกล่องจะมี 2 แบบ(เม็ดสีขาว เพิ่มขนาดหน้าอก 15 แคปซูล และเม็ดสีน้ำตาล น้องสาวฟิต รัด กระชับ 15 แคปซูล) มีส่วนประกอบจาก ว่าน 500 นาง กวาวเครือขาว ว่านชักมดลูก ว่านมหาเมฆ ลูกชัด ตังกุย สรรพคุณ ช่วยทำให้ผิวพรรณเต่งตึง ไม่ปวดประจำเดือน   แก้ตกขาว คันในช่องคลอด ช่องคลอดมีกลิ่น เป็นสมุนไพรที่เหมาะกับผู้หญิงทุกคนทุกวัย เพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ช่วยให้ผิวเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ไม่เหี่ยวย่น ระบบภายในสะอาด และมดลูกแข็งแรง  ช่องคลอดฟิตกระชับ หน้าอกเต่งตึง ยังไม่หมด ยังมีต่อให้ตะลึงกว่าเดิมอีกเช่น  เพิ่มเนื้อหน้าอก สัมผัสนุ่มขึ้น รูฟิต รัด ตอด ใครมีปัญหาหน้าอกเล็กหย่อนยาน อยากหน้าอกใหญ่เต่งตึง เจ็บน้องสาวเวลาทำการบ้านกับแฟน ผิวกระกร้าน เป็นกระ ฝ้า ไม่ออร่าไม่ใส วัยทอง เลือดจะไปลมจะมา ฮอร์โมนไม่ปกติ มีลูกยาก  ปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ตกขาว มีเชื้อรา มีกลิ่น มดลูกต่ำ หอยไม่กระชับ มีลมออกช่องคลอด ช่องคลอดหลวม ก่อนตบท้ายให้โลกตะลึงไปอีกว่า “ต้องทาน!!! มีผัวต้องทาน ไม่มีผัวก็ทานได้ เพราะมันเป็นสมุนไพร!” ผมพยายามเพ่งดูที่ฉลาก ก็ไม่พบเลขทะเบียนยา หรือเลขสารบบในเครื่องหมาย อย. แต่อย่างใด นี่เป็นเพียงข้อมูลที่ผมค้นเจอในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีมากมาย หากผู้บริโภคท่านใด เจอผลิตภัณฑ์สองชนิดนี้ในพื้นที่ ช่วยส่งให้เจ้าหน้าที่ติดตามตรวจสอบเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไปเลยครับ จะได้รู้กันไปเลยว่า ระหว่างสองว่าน กับกฎหมาย อะไรจะชนะกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เขาว่านมถั่วเหลืองไม่ดี จริงหรือไม่

เวลานี้มีข้อความแนะนำบนโลกไซเบอร์ว่า การดื่มนมถั่วเหลืองเป็นสิ่งไม่ควรกระทำ เพราะนมนี้ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพ โดยชื่อเรื่องของบทความที่ส่งต่อกันนั้นคือ Top 10 compelling reasons to avoid soy milk บทความนี้เผยแพร่ใน www.realfarmacy.com บทความนั้นกล่าวทำนองว่า มนุษย์ไม่ควรดื่มนมถั่วเหลืองเพราะนมถั่วเหลืองที่ผลิตทางอุตสาหกรรมนั้นประกอบด้วย น้ำนมสกัดจากถั่วเหลือง น้ำตาลทราย เกลือ วุ้นคาราจีแนน กลิ่นรสธรรมชาติ แคลเซียมคาร์บอเนต ฯลฯ จากนั้นจึงเริ่มระบุปัญหาประการที่หนึ่งว่า นมถั่วเหลืองมีสารไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งก่อให้มีการปรับเปลี่ยนในระบบรอบเดือนสตรีไปจากเดิมกรณีไฟโตเอสโตรเจนผู้บริโภคหลายคนมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน(และส่งต่อกันในโลกไซเบอร์) ว่า เมื่อผู้หญิงดื่มนมถั่วเหลืองแล้วจะได้ ไฟโตเอสโตรเจน ซึ่งมีผลทำให้ฤทธิ์โดยรวมของเอสโตรเจนในสตรีนั้นเพิ่มขึ้น โดยที่เซลล์เป้าหมายหลักของไฟโตเอสโตรเจนในหญิงวัยเจริญพันธุ์คือ เซลล์ต่อมน้ำนม(ของเต้านม) และเซลล์ที่เป็นผนังมดลูกสารเคมีที่ถูกระบุว่ามีฤทธิ์เอสโตรเจนนั้น เมื่อเข้าสู่เซลล์เป้าหมายแล้วจะออกฤทธิ์แบบเดียวกับที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนทำคือ กระตุ้นให้เซลล์เป้าหมายเตรียมพัฒนาตัวเอง(มีการขยายขนาดเซลล์) เพื่อให้ทำหน้าที่ที่ควรเป็นเช่น กรณีเซลล์ของต่อมน้ำนมจะเตรียมพัฒนาตัวเองให้สามารถให้น้ำนมได้ เมื่อได้รับสัญญาณว่ามีการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก ส่วนเซลล์ของมดลูกเมื่ออยู่ในวัยเจริญพันธุ์ก็จะเตรียมพร้อมในการขยายตัวในแต่ละเดือนเพื่อให้ตัวอ่อนเกาะผนังมดลูก(ถ้าไม่มีการเกาะของตัวอ่อนบนผนังมดลูก เซลล์ที่เป็นผนังมดลูกก็ลอกออกเป็นเลือดประจำเดือน) แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคมักไม่รู้คือ สารที่มีฤทธิ์เอสโตรเจนอาจถูกจัดให้อยู่ใน กลุ่มมีฤทธิ์มากกว่าเอสโตรเจนของมนุษย์ หรือ กลุ่มที่มีฤทธิ์น้อยกว่าเอสโตรเจนของมนุษย์ (เมื่อเทียบจำนวนโมเลกุลเท่ากัน)ไฟโตเอสโตรเจนของพืชนั้นอาจอยู่กลุ่มใด(ข้างต้น)ก็ได้ขึ้นกับชนิดของพืช เช่น ไฟโตรเอสโตรเจนในกวาวเครือนั้นมีฤทธิ์สูงกว่าเอสโตรเจนในมนุษย์ จึงมีการใช้ในการแพทย์แผนไทยด้วยปริมาณที่พอเหมาะเพื่อแก้อาการวัยทองของผู้สูงอายุ(แต่มีการใช้กระตุ้นเต้านมของสาวหรือหนุ่มให้ใหญ่ขึ้นพร้อมผลข้างเคียงบางประการ) ส่วนไฟโตเอสโตรเจนในถั่วเหลืองนั้น แม้มีความสามารถในการจับกับเซลล์เป้าหมายดีแต่ฤทธิ์ในการกระตุ้นเซลล์ให้พัฒนากลับต่ำกว่าความสามารถของเอสโตรเจนของมนุษย์ผู้เขียนเคยแนะนำให้สตรีที่มีอาการปวดเต้านมและมดลูกช่วงมีประจำเดือน เพิ่มการบริโภคผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองล่วงหน้าก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน เพราะไฟโตเอสโตรเจนในผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองนั้นสามารถแย่งไม่ให้เอสโตรเจน ซึ่งมดลูกสร้างในช่วงก่อนมีประจำเดือนของสตรีเข้าจับเซลล์ต่อมน้ำนมและเซลล์ผนังมดลูกได้ ความเจ็บปวดที่เคยเกิดเนื่องจากการขยายตัวของเซลล์ต่อมน้ำนมและผนังมดลูก(ซึ่งอยู่ในพื้นที่เท่าเดิม) ควรน้อยลง ซึ่งส่วนใหญ่ได้ผลตามสมมุติฐานนี้ประการที่สองในบทความที่กล่าวร้ายถึงนมถั่วเหลืองคือ ถั่วเหลืองนั้นเป็นอาหารที่มีสารต้านโภชนาการ(antinutrients) เยอะมาก ซึ่งก็เป็นความจริงในกรณีที่กล่าวถึงถั่วดิบ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วแล้วไม่สุกพอ ถั่วส่วนใหญ่ที่มีลักษณะเหมือนถั่วเหลืองคือ มีเมล็ดอยู่ในฝักห้อยอยู่เหนือดินนั้น มีสารพิษตามธรรมชาติเมื่อยังดิบอยู่ สารพิษเหล่านี้ยับยั้งการทำงานของเอ็นซัมย่อยโปรตีน ย่อยแป้ง และย่อยไขมัน ซึ่งทำให้สารอาหารเหล่านี้ถูกดูดซึมน้อยลง โดยส่วนที่เหลือเคลื่อนผ่านลงสู่ลำไส้ใหญ่กลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย ซึ่งเมื่อกินอาหารที่ไม่ถูกย่อยก็ปล่อยก๊าซต่างๆ ออกมาทำให้ผู้บริโภคท้องอืดท้องเฟ้อที่น่าสนใจคือ ถั่วเหลืองดิบมีสารพิษชื่อ Heamagglutinin ซึ่งสามารถทำให้เซลล์ที่ผนังลำไส้บวมได้ และยังมีสารพิษชื่อ Phytic acid ซึ่งจับแร่ธาตุต่างๆ ไว้ทำให้ร่างกายมนุษยนำไปใช้ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ดี สารพิษตามธรรมชาติที่ได้ยกตัวอย่างทั้งหมดนั้น ถูกทำลายให้หมดสภาพเมื่อถั่วได้รับความร้อนที่เหมาะสมด้วยระยะเวลาที่นานพอ เช่นในกรณีของนมถั่วเหลืองนั้น ผู้เขียนเคยอ่านพบในเอกสารวิชาการของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา(USDA) ว่า ให้ต้มน้ำนมถั่วเหลืองในลักษณะที่เรียกว่า Simmering หรือเดือดปุด ๆ เบา ๆ นานอย่างน้อย 15 นาที ก็สามารถทำให้สารพิษหมดฤทธิ์ได้ดังนั้นแล้วเมื่อใดที่ท่านพบข้อกล่าวหาว่า การกินผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วอาจเกิดอันตรายจากสารพิษจากธรรมชาตินั้น ขอให้เข้าใจว่าผู้กล่าวนั้นหมายถึง ผลิตภัณฑ์ถั่วที่ยังไม่สุกพอ ซึ่งผู้อ่านควรมีความรู้ว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่วต่างๆ นั้นเมื่อสุกดีควรมีลักษณะสัมผัสเช่นไร อีกประเด็นหนึ่งของการกล่าวหาคือ การดื่มนมถั่วเหลืองทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการได้รับยากำจัดวัชพืช ถ้าถั่วเหลืองนั้นเป็นถั่วที่ดัดแปลงพันธุกรรม(Roundup ready soybean) เรื่องนี้เป็นเรื่องถูกต้อง ดังนั้นผู้บริโภคอาจต้องสืบเสาะว่า น้ำนมถั่วเหลืองของบริษัทใดที่ประกาศว่าใช้ถั่วเหลืองที่ไม่ใช่ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมกรณีคาราจีแนนการกล่าวถึงสารเจือปนในนมถั่วเหลือง ของสารที่ชื่อ คาราจีแนน (Carrageenan) ซึ่งผู้ประกอบการมักใส่เข้าไปเพื่อปรับเนื้อสัมผัสของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นก็เป็นประเด็นน่าสนใจ โดยเฉพาะข้อมูลที่กล่าวว่า สารเจือปนในอาหารชนิดนี้ก่อมะเร็งในสัตว์ทดลองได้ โดยข้อมูลดังกล่าวนั้นได้จากการทดลองที่ใช้ขนาดของคาราจีแนนที่สูงมากจนไม่สามารถโยงมาสู่ปริมาณที่มนุษย์ได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหาร (หลักการทางพิษวิทยากล่าวประมาณว่า สารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารจะมีประโยชน์หรือโทษต่อผู้บริโภคนั้นขึ้นกับปริมาณและความถี่ที่ได้รับ)ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากบทความเรื่อง Food additive carrageenan: Part II: A critical review of carrageenan in vivo safety studies. ซึ่งนิพนธ์โดย M.L. Weiner  ในวารสาร Critical Reviews in Toxicology ฉบับประจำเดือน March ปี 2014 นั้นได้กล่าวโดยสรุปว่า คาราจีแนนยังอยู่ในสถานะปลอดภัยตราบที่ยังใช้ในปริมาณที่ Codex ขององค์การสหประชาชาติกำหนด กรณีสารกลุ่มไอโซฟลาโวนสารกลุ่มไอโซฟลาโวน (isoflavone) คือ เดดซีน (daidzein) และ จีนิสทีน (genistein) ซึ่งถูกศึกษาพบว่า กระตุ้นการเกิดมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมในสัตว์ทดลอง นั้น ในความเป็นจริงแล้วยังมี บทความวิชาการกล่าวถึง การลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมของผู้นิยมบริโภคผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยกล่าวว่าสารทั้งสองเป็นปัจจัยในการลดความเสี่ยง ท่านผู้อ่านอาจรู้สึกว่า ข้อมูลทั้งสองนั้นดูขัดแย้งกัน...แต่คำอธิบายนั้นมีผลการศึกษาเกี่ยวกับการก่อมะเร็งนั้น เป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ใช้สารบริสุทธิ์ในขนาดที่เกินกว่ามนุษย์จะกินได้จากผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ซึ่งจะไม่เกิดเมื่อดื่มนมถั่วเหลือง อย่างไรก็ดีข้อมูลดังกล่าวก็เป็นการเตือนว่า สารธรรมชาติที่มีประโยชน์นั้นควรได้รับเข้าสู่ร่างกายในรูปที่อยู่ในอาหาร เพื่อป้องกันการได้รับมากเกินความต้องการ ซึ่งต่างจากการกินในปริมาณสูงกว่าปรกติจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อาจแสดงความเป็นพิษได้ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและความปลอดภัยของจีนิสทีนในทางวิชาการนั้นสามารถสืบค้นและ download ได้จาก www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26178025

อ่านเพิ่มเติม >