ฉบับที่ 274 สายการบินทำกระเป๋าพัง ทรัพย์สินเสียหาย

        เมื่อคุณโดยสารเครื่องบิน แล้วพอถึงที่หมายพบว่าสายการบินทำกระเป๋าเดินทางพังจากการขนส่ง สิ่งแรกที่ควรทำคือถ่ายรูปความเสียหายทั้งหมดไว้ และติดต่อเคาน์เตอร์สายการบินที่คุณเดินทางมา หรือเจ้าหน้าที่ของสนามบินเพื่อขอเอกสารบันทึกความเสียหายของกระเป๋าเก็บไว้เป็นหลักฐาน และรีบขอเคลมค่าเสียหายกับสายการบินทันที หรือเมื่อสะดวกหลังจากการเดินทาง แต่ก็ต้องเผื่อใจว่าค่าชดเชยที่สายการบินเสนอให้เบื้องต้นอาจดูไม่สมน้ำสมเนื้อกับความเสียหายที่เกิดขึ้น         คุณเจนเป็นคนหนึ่งที่เจอประสบการณ์สุดเซ็งแบบนี้เมื่อกลางเดือนตุลาคม 2566 เธอเล่าว่าซื้อตั๋วเครื่องบินของสายการบินที่ให้บริการภายในประเทศแห่งหนึ่ง เส้นทางดอนเมือง-ร้อยเอ็ด ราคา 2,499 บาท และซื้อน้ำหนักสัมภาระเพิ่มอีกต่างหาก เดินทางจากสนามบินดอนเมืองตอน 11โมงเช้า มาถึงร้อยเอ็ดตอนเที่ยงครึ่ง ทุกอย่างดูราบรื่นดี แต่พอเธอเดินไปรับกระเป๋าสัมภาระของตัวเองก็ต้องถึงกับอึ้ง เมื่อเห็นกระเป๋าพังยับเยินเกินเยียวยา ทำให้เครื่องสำอางและน้ำหอมราคาแพงที่อยู่ในกระเป๋านั้นเละตุ้มเป๊ะหมด ตอนนั้นตกใจมาก จนเธอไม่ทันได้ฉุกคิดเลยว่าจะต้องถ่ายรูปความเสียหายเก็บไว้         คุณเจนรีบไปติดต่อแผนกเคลมกระเป๋าสัมภาระ เจ้าหน้าที่ได้เสนอทางเลือกให้ว่าจะรับเป็นค่าชดเชย 800 บาท หรือกระเป๋าผ้าใบใหม่ไป เมื่อเธอปฏิเสธเพราะคิดว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่ก็ให้ถุงดำมาใส่สัมภาระแทน คุณเจนไม่พอใจในการบริการของสายการบินนี้อย่างมากและต้องการเรียกร้องค่าชดเชยที่เหมาะสม จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ ทางช่องทางไลน์ เพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการไขแก้ปัญหา         ในกรณีนี้ ถ้าผู้โดยสารทำประกันการเดินทาง หรือประกันกระเป๋าเดินทางไว้ ก็จะสามารถเคลมได้ตามเงื่อนไขของประกัน แต่คุณเจนไม่ได้ทำไว้ ทางมูลนิธิฯ จึงให้ส่งข้อมูลมาเพิ่มเติม ดังนี้         1.สรุปค่าเสียหายที่ต้องการเรียกร้องกับสายการบิน (ค่ากระเป๋า 5,000 บาท ค่าโหลดกระเป๋าที่ซื้อเพิ่ม 2,000 บาท ค่าเครื่องสำอางและน้ำหอม 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 22,000 บาท)         2.ภาพถ่ายสินค้าที่เสียหาย (ใช้ภาพสินค้าที่ได้ซื้อมาจากอินเตอร์เน็ต พร้อมราคาสินค้าก็ได้)         เมื่อมีข้อมูลครบ มูลนิธิฯ ได้ออกหนังสือถึงบริษัทสายการบินแห่งนี้ เพื่อขอให้พิจารณาชดเชยความ         เสียหายให้กับคุณเจนแล้ว กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 การกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในเยอรมนี : กรณีศึกษาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัทโฟล์คสวาเก้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย

จากเหตุการณ์ที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน  (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่า ในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ตามกฎหมายเยอรมัน ให้สิทธิผู้บริโภคในการจัดการกับเรื่องดังกล่าว หากรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่อง นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยของโฟล์คสวาเก้น เป็นผู้บริโภคที่สามารถฟ้องร้องคดีเพื่อขอเงินคืนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ตกลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเวลาข้ามคืนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภคที่อีกบทบาทหนึ่งคือ เป็นนักลงทุนรายย่อยกรณีของผู้ที่ถือหุ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์ของเยอรมัน มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มูลค่าหุ้นลดต่ำลง โดยที่ทางบริษัทไม่ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นให้ทันการณ์จากการการฟ้องคดีที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โวล์กสวาเกน (VW) และทางโฟล์คสวาเก้นก็ได้ยอมรับต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ร่วงลงมา (Schadenersatz fÜr Kursverlust) และ ความเสียหายที่เกิดจาก ผลต่างมูลค่าหุ้น (Kursdifferenzschaden) อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์ว่า ทางบริษัทได้ละเมิดต่อผู้ถือหุ้นโดยแจ้งสถานการณ์ล่าช้าต่อสาธารณะในประเทศเยอรมนีการคำนวณความเสียหายสำหรับผู้ถือหุ้นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายสองประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีมูลค่าต่างกัน สำหรับการคิดค่าเสียหายแบบแรก  คือ ความเสียหายจากผลต่างมูลค่าหุ้น(Kursdifferenzschaden) ซึ่งจะคิดคำนวณสำหรับผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20 กันยายน 2015 ซึ่งมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 56- 60 ยูโรต่อหุ้น แล้วแต่ว่าศาลจะกำหนดให้เป็นมูลค่าเท่าใดสำหรับการคำนวณความเสียหายอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบ(Kursverlustschaden) ฐานคิดค่าเสียหายแบบนี้ จะคิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าแบบแรก แต่จะคำนวณได้ยากกว่า เพราะต้องใช้การพิสูจน์ และขึ้นอยู่กับคำพิพากษาคดีเป็นรายๆ ไป เนื่องจากในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม( Class action)ถึงไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มศาลก็อำนวยความสะดวกในการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทางศาลสูงแห่งเมืองบราวชไวก์ ( Braunschweig)  ได้กำหนดแนวทางการฟ้องคดีโดยใช้กระบวนการ  ดำเนินคดีหุ้น ที่เป็นแบบอย่าง(Kapital Musterverfahren) โดยที่มีบริษัทลูกของธนาคารออมสิน คือ บริษัท Deka Investment ที่เป็นแม่แบบในการฟ้องคดี มีลูกค้าผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะฟ้องคดี 1502 ราย และมีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 2000 ล้านยูโร และผู้เสียรายอื่นก็สามารถมาร้องสมทบได้เช่นกัน กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคุณ กับผู้ร้อง การชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายราบอื่นก็มีผลผูกพันด้วยเช่นกันผู้เสียหายรายอื่นสามารถยื่นความจำนงในการร้องสอดคดีได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นเรื่องขอฟ้องร้องสอดคดีนี้ คือ 8 กันยายน 2017 การที่ศาลอำนวยความสะดวกด้วยการกำหนด การฟ้องร้องพิจารณาคดีแบบนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการพิจารณาคดีรายบุคคลมากบทสรุปที่ได้จากกรณีการฟ้องร้องคดีแบบนี้ คือ การอำนวยความสะดวกที่ให้อำนาจศาลในการกำหนดพิธีพิจารณาคดี สำหรับมีผู้เสียหายจากการละเมิดเป็นจำนวนมาก แม้ว่า ในระบบกฎหมายของเยอรมันจะไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม แต่ก็เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้กระบวนการพิจารณาคดีความลักษณะนี้ในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน(ที่มา นิตยสาร Finanztest 6/2017)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เกิดเป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างทำให้ผู้อื่นเสียหาย ต้องรับผิดแค่ไหน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามาคุยเรื่องเกี่ยวกับนายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ  เชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีสถานะเป็นทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง แต่ก็มีบางครั้งที่ นายจ้างให้ลูกจ้างไปทำการงานบางอย่าง แล้วต่อมาลูกจ้างไปทำให้คนอื่นเกิดความเสียหาย เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด เพราะลูกจ้างได้ทำไประหว่างอยู่ในการงานที่จ้างนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่นำรถของบริษัทไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ขับรถประมาทไปชนกับรถคันอื่น เช่นนี้ นายจ้างเขาต้องมาร่วมรับผิดด้วย   แต่ก็มีประเด็นสงสัยต่อมาว่า คำว่า “ลูกจ้าง” ที่นายจ้างต้องร่วมรับผิด ต้องเป็นคนที่ทำงานมานานๆ แล้ว หรือได้รับคำสั่งโดยตรงหรือไม่ ลูกจ้างทดลองงาน ยังไม่ได้รับทำงานประจำ แบบนี้ ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ศาลฏีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ลูกจ้างก็คือผู้ทำการงานให้นายจ้าง ตามที่นายจ้างสั่ง แล้วก็รับสินจ้างจากนายจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว หรือแม้แต่อยู่ระหว่างทดลองงาน ก็เป็นลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524การที่นายจ้างรับบุคคลใดเข้าทำงานจะเป็นการรับไว้ประจำหรืออยู่ในขั้นทดลองงานก็ตาม ย่อมถือได้ว่าได้มีการรับบุคคลนั้นเพื่อการทำงานของตนแล้ว จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างของนายจ้างคำให้การพยานในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยในการรับฟังเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายได้ ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้โดยเด็ดขาด ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องคือ ใครคือ “นายจ้าง” การจะพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างหรือไม่ ต้องดู 2 เรื่อง คือ มีอำนาจควบคุมการทำงานหรือไม่ และลูกจ้างต้องทำตามที่เขาสั่งหรือไม่ มีการรับค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่ต้องคำนึงความสำเร็จของงาน มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นใช่หรือไม่ หากไม่มีอำนาจควบคุมการทำงาน และงานที่ทำมุ่งผลสำเร็จ การจ้างดังกล่าว ก็เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างแรงงาน ส่งผลให้บุคคลที่ว่าจ้างไม่นับว่าเป็นนายจ้าง จึงไม่ต้องร่วมรับผิด  ดังเช่น คดีที่จะยกตัวอย่าง เป็นเรื่องของ การรับจ้างล้างและเฝ้ารถซึ่งจอดอยู่ริมถนน คนที่รับเฝ้ารถและล้างรถ  คนว่าจ้าง เขาต้องการผลสำเร็จของงานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ เป็นการจ้างทำของ คนที่เขารับจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้าของรถ เมื่อต่อมามีการนำรถไปขับโดยพลการจนถูกรถยนต์คันอื่นชนด้วยความประมาทของคนรับจ้าง แล้วไปชนโจทก์บาดเจ็บ เจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของงานคืนความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย คือ จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถรับจ้างแล้วคนขับประมาทไปชนเขา ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ มีการเจรจาให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรถก็ไปช่วยเจรจาเหมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของตน ไม่เคยบอกว่าจำเลยที่ 2 เช่ารถจำเลยที่ 1 ไปขับรับจ้าง พอเจรจาไม่สำเร็จ ผู้เสียหายก็มาฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต่อสู้ว่าไม่ใช่นายจ้าง ศาลก็ดูพฤติการณ์ดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2534จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไปข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิด.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 พัสดุชำรุดเสียหาย ใครรับผิดชอบ

หากพบว่าพัสดุชำรุดบกพร่องระหว่างการขนส่ง ผู้บริโภคสามารถแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้าง ลองไปดูกันคุณปรานีเลือกใช้บริการไปรษณีย์ไทย สาขาตลิ่งชัน เพื่อส่งพัสดุเป็นพัดลมตั้งโต๊ะ ซึ่งมีราคาเครื่องละ 1,600 บาท จำนวน 4 เครื่องให้กับลูกค้า อย่างไรก็ตามภายหลังลูกค้าได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า พัดลมที่ได้รับ 2 ใน 4 เครื่อง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากคอพัดลมหัก พร้อมส่งรูปถ่ายสภาพกล่องมาให้ดู ซึ่งมีลักษณะถูกกระแทกและมีรอยบุบหลายแห่ง ทำให้คุณปรานีมั่นใจว่า เหตุที่พัดลมเสียหาย ต้องเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งพัสดุของไปรษณีย์ดังกล่าวแน่นอน เธอจึงไปติดต่อที่สาขาเดิม เพื่อขอให้รับผิดชอบและชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรก็ตามทางไปรษณีย์ ได้ปฏิเสธรับผิดชอบความเสียหายดังกล่าว แต่แนะนำให้คุณปรานีติดต่อไปยัง Call Center ที่เบอร์โทร 1545 เพื่อร้องเรียน ซึ่งพนักงาน Call Center ได้ช่วยเหลือเธอด้วยการให้ส่งเรื่องมายังอีเมลและรอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทำให้เธอส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องส่งภาพถ่ายสินค้าและกล่องพัสดุ ในสภาพก่อนและหลังมาเพิ่มเติม พร้อมเอกสารอื่นๆ เช่น ใบเสร็จรับเงินหรืออีเมลการร้องเรียน และช่วยผู้ร้องโทรศัพท์สอบถามไปยังไปรษณีย์ไทย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า ผู้ร้องดำเนินการส่งพัสดุผิดวิธี โดยไม่มีการห่อกันกระแทกภายใน อย่างไรก็ตามจะรับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาถึงการชดเชยความเสียหายเบื้องต้น ภายหลังบริษัทไปรษณีย์ไทย ก็ได้ตอบกลับมาว่า ยินดีชดเชยค่าเสียหายตามราคาจริงของพัดลมที่ชำรุด โดยเสนอให้เป็นจำนวนเงิน  3,200 บาทแต่ให้ผู้ร้องนำพัดลมที่ชำรุดส่งคืนมายังบริษัทฯ เพื่อเป็นหลักฐานในการคืนเงินกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องระหว่างขนส่ง ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวและขอยุติการร้องเรียน 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 หากถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ทำงานอยู่ดีๆ เกิดนายจ้างเลิกสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เราลองมาดูตัวอย่างกันค่ะปกติเมื่อนายจ้างต้องการจะเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้าง ในสัญญาจ้างจะกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในการบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าก่อนหรือเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในงวดถัดไป แต่ถ้าในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว และไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ตามจำนวนให้ครบจนถึงวันที่เลิกสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สำหรับกรณีตามตัวอย่างคราวนี้ ลูกจ้างโดนนายจ้างซึ่งปิดประกาศเลิกจ้างหน้าบริษัทฯ โดยไม่ระบุถึงสาเหตุในการเลิกจ้างในประกาศ ลูกจ้างจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจ้าง เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3407/2552 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า “จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี มิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้”นอกจากนี้ ยังมีคำให้การของนายจ้างว่า ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวพ่วงกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานเป็นประจำ และออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวโดยไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างได้ตักเตือนในที่ประชุมแล้วแต่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติเช่นเดิม นายจ้างจึงมีหนังสือตักเตือนลูกจ้างครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นลูกจ้างได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย สำหรับในประเด็นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า “จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์” เพราะฉะนั้น หากใครที่ใช้เวลาทำงานในการหาประโยชน์ส่วนตัว หรือใช้เวลาทำงานเล่นอินเตอร์เน็ตหรือทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ อาจจะโดนบอกเลิกสัญญาจ้างทันที และไม่ได้รับเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริง

หากเราตัดสินใจเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทางออกที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ให้บริษัทยึดรถคันดังกล่าวไปขายทอดตลาด และเราก็รอชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องกลับถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้เท่ากับราคาขายทอดตลาด ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน   เมื่อปี 2549 คุณสุชัยเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งยี่ห้อ Honda รุ่น Accord ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่ง โดยตกลงแบ่งชำระเป็นงวดจำนวน 60 เดือน หลังผ่อนชำระไปได้ 17 งวดก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ค้างชำระติดกันเป็นเวลาหลายเดือน จึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารมารับรถคืนไป โดยคิดว่าคงมีการนำรถไปขายทอดตลาด และให้ชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังผ่านไป 8 ปีกลับมีหมายศาลมาที่บ้านว่า เขาเป็นหนี้รถยนต์คันดังกล่าวอยู่กว่า 7 แสนบาท ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นราคาที่เกินจริง เนื่องจากไม่มีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่ารถคันดังกล่าวขายได้ราคาเท่าไร ทำให้คุณสุชัยส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาทนายความของศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำคดีนี้ให้คุณสุชัย เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทางธนาคารหรือผู้ให้เช่าซื้อ ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งยังอ้างว่าได้ราคากว่า 7 แสนบาท แต่ทางบริษัทกลับมาเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวกับคุณสุชัยอีก อย่างไรก็ตามเมื่อฟ้องร้องคดีในศาลก็ได้รับข้อยุติว่า บริษัทไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า ทางธนาคารได้รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากผู้ร้องเมื่อใด และขณะนั้นรถยนต์มีสภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเท่าใด ดังนั้นราคาขายทอดตลาดรถยนต์คันเช่าซื้อที่บริษัทอ้างจึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าราคาเช่าซื้อที่ขาดเป็นจำนวนตามที่ฟ้องนอกจากนี้เบี้ยปรับตกลงไว้ ถือเป็นการกำหนดความรับผิดล่วงหน้าในลักษณะทำนองเบี้ยปรับ จึงเห็นว่าราคาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องมีการคิดราคาบวกด้วยผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าเช่าซื้อบางส่วนกับราคาขายรถยนต์คันนี้แล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เพียง 50,000 บาท โดยคำนวณจากราคาที่ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว รวมราคาที่บริษัทอ้างว่าขายทอดตลาดได้ นำไปหักลบจากราคารถยนต์ในขณะที่ทำสัญญา พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ตามหลักตามกฎหมายสัญญาเช่าซื้อ กำหนดเรื่องการคืนรถยนต์ไว้ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับรถยนต์คันดังกล่าวกลับคืนไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน ผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่างวดรถตามสัญญาแล้ว โดยเมื่อมีการนำรถขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามจำนวนหนี้คงค้างตามสัญญา หากนำรถขายได้ราคาน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่เจ้าของได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร นอกจากนี้สำหรับใครที่ต้องการคืนรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ควรเก็บหลักฐานสำคัญไว้ด้วย ดังนี้ รูปถ่ายสภาพรถหลายๆ มุม ใบประเมินราคารถว่าในขณะนั้นหากขายทอดตลาดจะได้ราคาประมาณเท่าไร รวมทั้งเอกสารการส่งรถคืน เนื่องจากจะได้มีหลักฐานยืนยันหากเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 คืนตั๋วโดยสารไม่ได้

เหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการซื้อตั๋วโดยสารแล้ว ไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่จองไว้ได้ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งบางคนอาจแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนเวลาการเดินทาง หรือนำบัตรโดยสารไปคืน โดยทำตามเงื่อนไขต่างๆ ตามที่แต่ละบริษัทกำหนดไว้ อย่างไรก็ตามหากเราพบว่าไม่สามารถคืนตั๋วได้ตามเงื่อนไข ควรทำอย่างไรดีคุณสุชาติซื้อบัตรโดยสารของบริษัท สมบัติทัวร์ จำกัด โดยกำหนดเดินทางจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ต่อมาภายหลังเขาต้องเดินทางไปทำธุระที่จังหวัดอื่นกะทันหัน จึงไปเปลี่ยนตั๋วเดินทางเป็นขากลับจากเชียงใหม่แทน(เชียงใหม่ – กรุงเทพฯ) ซึ่งพนักงานก็เปลี่ยนให้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาเริ่มเกิดขึ้นเมื่อเขาพบว่าตนเองไม่สามารถเดินทางกลับภายในระยะเวลาที่จองตั๋วไปแล้วได้ จึงตัดสินใจยกเลิกการจองตั๋วดังกล่าวและไปขอเงินคืน ซึ่งเขาทราบเงื่อนไขของการคืนตั๋วอยู่แล้วว่า ต้องนำตั๋วโดยสารมาคืนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชม. และจะได้เงินคืนไม่เต็มจำนวน โดยต้องโดนหักค่าธรรมเนียม 10% จากราคาตั๋วนั้นๆ อย่างไรก็ตามแม้เขาจะทำตามเงื่อนไขการคืนตั๋ว พนักงานกลับปฏิเสธการคืนบัตรโดยสารดังกล่าวและแจ้งว่ามีวิธีเดียวที่จะได้เงินคืนคือ ให้นำมาฝากขาย ซึ่งหากมีคนมาซื้อก็จะแจ้งให้มารับเงินจำนวนดังกล่าวไป ทำให้ผู้ร้องรู้สึกว่าไม่มีความเป็นธรรม จึงส่งเรื่องมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ช่วยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรถึงกรมการขนส่งทางบกและบริษัทฯ เพื่อให้ชี้แจงปัญหาดังกล่าวและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยภายหลังทางบริษัทฯ ได้แจ้งกลับมาว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของพนักงาน ซึ่งได้เรียกมาอบรมแล้วและพร้อมคืนเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสารให้ ด้านผู้ร้องก็ยินดีกับข้อเสนอดังกล่าวและได้รับเงินคืนเรียบร้อยทั้งนี้สำหรับใครที่ใช้บริการกับบริษัทดังกล่าว โดยซื้อตั๋วโดยสารไปแล้วแต่พบว่าไม่สามารถเดินทางตามกำหนดเวลาที่ซื้อไว้ได้ สามารถขอเลื่อนกำหนดการเดินทาง รวมทั้งขอยกเลิก/คืนตั๋วโดยสารได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วของบริษัท โดยมีเงื่อนไขในการยกเลิก คือ นำสำเนาบัตรประชาชนมาติดต่อด้วยตนเอง หรือเขียนมอบอำนาจให้ผู้อื่นมาดำเนินการแทน ก่อนเวลาเดินทางที่ระบุไว้ในบัตรโดยสารล่วงหน้า ซึ่งหากเป็นกรณีเดินทางจากต้นทางกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ ต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ชั่วโมง และหากเป็นจังหวัดอื่นต้องล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ชั่วโมง พร้อมเสียค่าธรรมเนียมการยกเลิก 10% จากราคาค่าโดยสาร หรือในกรณีที่ต้องการเลื่อนวันเดินทาง และ/หรือเปลี่ยนแปลงการเดินทางสามารถทำได้ฟรี 1 ครั้ง ซึ่งต้องมาติดต่อเหมือนในกรณีการยกเลิกตั๋ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 185 น้ำซึมเข้าห้องพักทำของเสียหาย ใครรับผิดชอบ

ปัญหาน้ำรั่วซึมภายในห้องพัก นับเป็นเรื่องกวนใจผู้เช่าอย่างมาก เพราะสามารถทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ซึ่งเราสามารถเรียกร้องให้ทางหอพักชดเชยค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณปาริชาตเช่าห้องพักอยู่แถวปิ่นเกล้า วันดีคืนดีมีน้ำสกปรกออกมาจากท่อน้ำทิ้งในห้องน้ำ และภายหลังได้ล้นเข้ามาจนถึงห้องนอน ทำให้ทรัพย์สินภายในห้องเสียหาย ซึ่งรวมๆ แล้วเป็นมูลค่ากว่า 8,000 บาท เธอจึงไปแจ้งเจ้าของห้องเช่าเพื่อให้รับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่เจ้าของก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมมาพบหน้า ทำให้เธอร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังเจ้าของหอพักได้รับการติดต่อก็ยินดีที่จะรับผิดชอบ โดยรับปากว่าจะดำเนินการซ่อมแซมท่อน้ำและจะชดใช้ค่าเสียหายให้ 1,000 บาท ด้านผู้ร้องเห็นว่าเป็นจำนวนที่น้อยเกินไป ศูนย์ฯ จึงแนะนำให้ผู้ร้องเสนอจำนวนเงินที่ต้องการให้เจ้าของหอรับผิดชอบอย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจาอีกครั้ง เจ้าของหอเสนอค่าชดเชยความเสียหายที่ราคา 2,000 บาท และแจ้งว่าหากผู้ร้องไม่พอใจสามารถย้ายออกได้และจะคืนเงินค่าประกันให้ ทำให้ผู้ร้องต้องยินยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวไป เพราะเธอไม่ต้องการย้ายออก เนื่องจากหอพักดังกล่าวอยู่ใกล้ที่ทำงาน ทั้งนี้หากเจ้าของหอพักไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือซ่อมแซมท่อน้ำดังกล่าว ผู้ร้องสามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพราะอาจเข้าข่ายความผิดตามหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้เช่า ตามมาตรา 550 ที่กำหนดให้ผู้ให้เช่าต้องรับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องและจัดการซ่อมแซม ซึ่งไม่สามารถปัดภาระการซ่อมมาให้ผู้เช่าห้องได้ เพราะตามมาตรา 547 กำหนดให้ผู้เช่าเสียค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติ และเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 142 การเรียกความเสียหายในอุบัติเหตุรถโดยสาร

ตีหนึ่งครึ่ง ของคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2554รถทัวร์สองชั้นของบริษัท ทรัพย์ไพศาลทัวร์ รับผู้โดยสารรวม 40 ชีวิต จาก จ.พัทลุง มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ แล่นมาถึงเขต อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร ผู้โดยสารที่ยังไม่หลับเห็นว่าข้างหน้าเป็นทางแยก อ.ท่าแซะ มีรถบรรทุก รถทัวร์หลายคันจอดติดไฟแดงอยู่ แต่แทนที่รถทัวร์ที่โดยสารมา ซึ่งกำลังแล่นเข้าโค้งลงเนินก่อนถึงทางแยกจะชะลอความเร็วของรถลง และดูเหมือนว่าคนขับพยายามเบรกรถแต่รถกลับไม่เบรกดังใจ จึงตัดสินใจหักพวงมาลัยหลบรถด้านหน้า ทำให้รถทัวร์ขนาดสองชั้นพุ่งขึ้นเกาะกลางถนนพลิกคว่ำในชั่วพริบตาผู้โดยสารที่อยู่ในรถ ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก ต่างร้องขอความช่วยเหลือระงม หลายรายได้รับบาดเจ็บ แขนขาหัก ศีรษะแตก เนื้อตัวมีบาดแผลถลอก เจ้าหน้าที่กู้ภัยได้เร่งเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารออกจากตัวรถที่ล้มคว่ำตะแคง บางรายยังติดอยู่ในตัวรถ เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เครื่องตัด ถ่าง ตัดตัวถังรถเพื่อช่วยชีวิตของผู้โดยสารอย่างทุลักทุเลกรรณิการ์ เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร เธอได้รับบาดเจ็บเจียนตายหากไม่ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างทันท่วงที หลังเข้ารับการรักษาพยาบาล แพทย์ตรวจพบอาการบาดเจ็บหลายแห่ง กระดูกซี่โครงหัก 5 ซี่ แทงปอดฉีกขาด ต้องใส่สายระบายของเสีย กระดูกเบ้าตาขวาแตก ต้องแย็บแผลรอบดวงตา 3 เข็ม กระดูกสะบักขวาและกระดูกแขนขวาหักสะบั้น เส้นประสาทโดนทำลาย 3 เส้น จนไม่สามารถใช้แขนและมือหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ เขียนหนังสือหรือพิมพ์ดีดไม่ได้ เวลานอนต้องนอนหงายอย่างเดียว  เธอรู้สึกว่า ร่างกายเหมือนถูกบดแทบจะเป็นผุยผง นี้เป็นภาพชีวติหนึ่งของผู้โดยสาร 40 ชีวิต อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในดึกคืนนั้นทำให้มีผู้บาดเจ็บ 33 ราย และเสียชีวิตถึง 7 ราย แนวทางแก้ไขปัญหากรรณิการ์ ติดต่อร้องขอความช่วยเหลือมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอเรียกความเสียหายจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรเมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก มีคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้จะมีสิทธิบัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือสิทธิอื่นใด อย่าเพิ่งไปใช้ให้ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ก่อนเป็นลำดับแรก ความคุ้มครองที่จะได้รับ คือ1. ค่ารักษาพยาบาล ที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน2. ค่าปลงศพ กรณีที่มีการเสียชีวิต ให้ทายาทโดยธรรม เช่น พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ค่าใช้จ่ายจำนวนนี้รวมไปถึงกรณีสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวรด้วย3. เงินชดเชยรายวันกรณีต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน (ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ตัวแทนบริษัทประกันมักไม่บอกให้ทราบ และโรงพยาบาลไม่ได้ยุ่งเกี่ยวด้วย ผู้ป่วยจึงควรเบิกเสียให้ครบ อย่างน้อยๆ ก็มีมูลค่าถึง 4,000 บาท )ความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) ผู้เสียหายไม่ว่าจะเป็นตัวผู้โดยสารเองหรือทายาท สามารถติดต่อขอเบิกได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยนี้ไว้เนื่องจากเป็นประกันภัยภาคบังคับ หากมีปัญหาสะดุดติดขัดประการใด ให้ติดต่อไปที่สายด่วนประกันภัย 1186 หรือติดต่อ บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด โทร 0-2100-9191ทีนี้ ยังมีความเสียหายอื่นๆ อีก ที่ผู้โดยสารที่ประสบอุบัติเหตุควรได้รับการชดเชยจากบริษัทรถและบริษัทประกันภัย แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดูแลเฉพาะค่ารักษาและค่าปลงศพซึ่งจำกัดวงเงินไว้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเพิ่มเติม ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องได้จากกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจที่รถโดยสารคันนั้นมีอยู่ หากไม่มีกรมธรรม์ในส่วนนี้ก็ให้เรียกร้องโดยตรงกับบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทขนส่งจำกัดได้ ความเสียหายที่สามารถเรียกได้จากประกันภัยรถภาคสมัครใจหรือจากบริษัทรถ กรณีบาดเจ็บ กรณีเสียชีวิต - ค่ารักษาพยาบาลที่เกินจาก พ.ร.บ.รถ- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย - ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน - ค่าขาดไร้อุปการะ - ค่าปลงศพ- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย- ค่าขาดการงานในครัวเรือน ข้อควรระวัง ให้ระมัดระวังการลงลายมือชื่อรับค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากบริษัทรถยนต์หรือบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ให้ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ในกรณีที่การเจรจาค่าเสียหายยังไม่เป็นที่ยุติ แต่หากผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว จะทำให้ไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้ ในกรณีของคุณกรรณิการ์ มูลนิธิฯได้แนะนำให้รวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดและตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงิน คุณกรรณิการ์ได้สรุปรวมตัวเลขที่ต้องการเรียกร้องกับบริษัทประกันภัยเป็นจำนวนเงินรวม 5 แสนบาท และยื่นข้อเสนอไปที่บริษัทประกันภัย ซึ่งบริษัทประกันภัยเจรจาต่อรองลดเหลือ 450,000 บาท คุณกรรณิการ์ตกลง เรื่องจึงเป็นอันยุติในขั้นตอนการเจรจาไกล่เกลี่ย ไม่ต้องเสียเวลาเทียวไปเทียวมาที่สถานีตำรวจหรือไปฟ้องร้องต่อศาล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 ตื่นเถิด กกพ.

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่ส่งผลให้มีผู้คนเดือดร้อนเสียหายจำนวนมาก  และที่สำคัญคือมีผู้เสียชีวิต ด้วยเหตุถูกไปช้อตตาย 100 กว่าคน ถือว่ามีคนตายด้วยเหตุนี้มากที่สุดในโลก  พูดถึงไฟฟ้า วันนี้ผู้เขียนมีเรื่องที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่น่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง  เอาตั้งแต่โครงสร้างไฟฟ้าในบ้านเรา  ประเทศไทยเรามี พรบ. กำกับกิจการพลังงาน(ที่กำกับโครงสร้างทั้งราคาและบริหารน้ำมันไม่ได้เพราะเขียนกฎหมายยกเว้นน้ำมันไม่ให้อยู่ใน พรบ.นี้) เรามีกระทรวงพลังงาน(ที่กำลังวุ่นวายกรณีจะลอยตัวราคาแก๊ส) แต่น่ามหัศจรรย์มาก เพราะกระทรวงพลังงานดูแลได้แค่ ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น    ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวงขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยจะไม่ให้ว่ามันมหัศจรรย์ได้อย่างไร  ในเมื่อนโยบายกระทรวงพลังงานเป็นผู้ดูแล  แต่การบริหารจัดการมหาดไทยดูแล  โอ้ย...ยิ่งคิดยิ่งซับซ้อนเอา...มาเข้าเรื่องที่จะคุยวันนี้ดีกว่า   เรื่องมีอยู่ว่ามีกรณีผู้ใช้ไฟฟ้า ที่มีเหตุอันที่ทำให้ไปจ่ายค่าไฟฟ้าไม่ตรงเวลา แล้วถูกตัดไฟ   เมื่อไปจ่ายเงินและขอให้มาต่อมิเตอร์ไฟฟ้า  ผู้ร้องต้องเสียค่าต่อไฟฟ้า 107 บาท(บวกภาษี) ซึ่งเป็นที่รู้กัน แต่ก็มีกรณีซ้อนกรณีเข้ามาอีกนั่นคือ ไฟฟ้ายังไม่โดนตัดแต่ไปจ่ายไฟฟ้าเลยกำหนดก็ถูกเรียกเก็บ 107 บาท เช่นกัน   ซึ่งกรณีนี้มีผู้ร้องเรียนว่าเมื่อไฟฟ้ายังไม่ได้ไปตัดไฟ  ก็ยังไม่มีค่าใช้จ่ายแล้วมาเรียกเก็บเงินเขาค่าอะไร เรื่องนี้มีการร้องเรียนไปถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติ(กกพ.)  จนนำไปสู่การทำข้อตกลงร่วมกันระหว่าง กกพ.และไฟฟ้า  ว่าไฟฟ้าจะเรียกเก็บ 107 บาทได้เฉพาะกรณีมีการตัดไฟฟ้าจริงแล้วเท่านั้น(ไฟฟ้าไม่ดับปรับ 107 ไม่ได้) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางปี 2554  ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี  แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้น   ฝ่ายปฏิบัติ(การเงิน)ของการไฟฟ้าในหลายที่(ตามข้อมูลร้องเรียน)ยังเก็บเงิน107 บาท โดยไม่สนใจว่าไฟฟ้าจะถูกตัดหรือไม่ตัด   ยึดเพียงวันที่ตามบิลเรียกเก็บเงินเป็นหลักหากเลยวันที่กำหนดเรียกเก็บทันทีป้าอ้วน(คนที่มาร้องเรียนและเป็นคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตด้วย)เล่าให้ฟังว่า “ฉันเถียงเขาว่าฉันออกจากบ้านมาไฟฟ้าที่บ้านฉันยังไม่ถูกตัดเลย ทำไมมาเก็บเงินฉัน  ก็กกพ.มีข้อตกลงกับไฟฟ้าแล้วว่าไฟฟ้ายังไม่ถูกตัดจะไม่เก็บ 107 บาท”   เจ้าหน้าที่ตอบกลับมาว่าไม่สนใจข้อตกลงอะไรทั้งนั้นทำตามหน้าที่ไม่พอใจไปฟ้องร้องเอาผู้เขียนในฐานะประธานผู้ใช้พลังงานเขต  จึงได้ทำหนังสือไปหารือกับ กกพ.ถึงข้อตกลงที่ไฟฟ้าไม่ปฏิบัติตามก็ได้คำตอบว่า กกพ.ได้ทำหนังสือไปถึงการไฟฟ้าแล้ว 3 ฉบับ ในขณะที่มีเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง   รายใดร้องเรียนก็จะได้เงินคืนรายใดไม่ร้องก็เสียเงินฟรี  เราก็ทำหนังสือกระตุ้นเข้าไปอีก  เพื่อให้ กกพ.ที่มีหน้าที่กำกับดูแลทำงานตามหน้าที่ ที่ต้องทำ  ไม่ใช่เข้ามานั่งเสวยสุขกันไปวันๆขอแรงพวกเราช่วยกันร้องเรียนและเฝ้าระวังให้องค์กรที่มีหน้าที่ ได้ทำงานตามหน้าที่(กันบ้าง?) คิดถึง พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จัง เมื่อไหร่จะคลอดเสียที.. จะได้มาช่วยดันก้น องค์กรเหล่านี้ให้ทำงานได้จริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 121 ลูกค้า 3BB เจ็บแล้วอย่าแค่จำ

หากไม่ได้ใช้บริการและมีความเสียหาย ฟ้องคดีผู้บริโภค ดีที่สุดจากกรณีที่บริษัท ทริปเปิลทรี อินเทอร์เน็ต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 3BB ได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแล ทำให้ผู้ใช้บริการได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 12,000 รายการกระทำของบริษัท ทริปเปิลทรีฯ ที่ยกเลิกการให้บริการมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมโดยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการทั่วประเทศ ถือเป็นการกระทำที่ขาดจริยธรรมทางการค้าเป็นอย่างยิ่งที่สังคมควรร่วมกันประณามและมีมาตรการลงโทษ ที่สำคัญยังเป็นการกระทำผิดทั้งด้านสัญญาและการโฆษณา คือนอกจากจะไม่ให้บริการตามสัญญาทั้งๆ ที่มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการไปแล้ว ยังมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการโฆษณาโดยใช้ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง ด้วยการใช้ข้อความว่า “ต้องได้ทุกที่ ทุกแห่ง... ทั่วประเทศ 6 MB” ถือเป็นการกระทำผิดต่อผู้บริโภคที่ชัดแจ้งเป็นอย่างยิ่ง แนวทางแก้ไขปัญหาในขณะที่กำลังรอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้พบว่าผู้ใช้บริการจำนวนมากที่ถูกระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจต่างได้รับความเสียหายกันโดยถ้วนหน้า โดยที่ยังไม่มีการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากผู้ให้บริการรายนี้เลย เห็นว่าผู้ใช้บริการควรมีมาตรการลงโทษบริษัท ทริปเปิ้ลทรีฯ ด้วยการใช้สิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ และสามารถเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเป็นรายวันได้อีกด้วย โดยสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคกับศาลยุติธรรมที่ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนได้เลยเพราะถือว่าได้เกิดเหตุการผิดสัญญา ณ ที่จังหวัดนั้น โดยการยื่นฟ้องผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมใดๆ การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคสามารถไปยื่นฟ้องด้วยตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ทนายความในขั้นตอนยื่นฟ้องก็ได้ เพราะศาลทุกแห่งจะจัดให้มีเจ้าพนักงานคดีคอยให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคที่ต้องการใช้สิทธิฟ้องร้องเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังอาจขอให้ศาลใช้วิธีการคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้มีการเปิดสัญญาณอินเทอร์เน็ตแก่ผู้ใช้บริการได้ และกรณีนี้น่าจะเข้าข่ายการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นอีกได้“สำหรับผู้บริโภคที่มีความกังวลในการยื่นฟ้องด้วยตนเองสามารถติดต่อขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยเหลือดำเนินการได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายที่เบอร์โทรศัพท์ 02-2483734-7 หรือติดต่อที่ www.consumerthai.org”  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด”ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลาแต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีกคุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้นไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาทผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 115 ประเทศไทย สองมาตรฐานจริงๆ

กว่าหนังสือเล่มนี้จะออกคงล่วงเลยเวลาที่มีบุคลากรทางการแพทย์แต่งชุดดำมาคัดค้าน พรบ.คุ้มครองผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เราคงไม่บอกว่าการคัดค้านการสนับสนุนพรบ.ฉบับนี้ใครถูกใครผิด แต่มีประเด็นที่น่าคิดมากกว่านั้นคือ ประเด็นการคัดค้านของคุณหมอต่างๆ ที่ออกมาให้ข้อมูลกับสังคมว่า วันนี้ผู้ป่วยมากขึ้น หมอมีน้อย งานหนัก วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ขาดแคลน เตียงรองรับคนไข้ไม่เพียงพอ มาตรฐานการให้บริการยังต้องพัฒนากันอีกมาก งบบริการจัดการองค์กรเป็นไปด้วยความยากลำบากเราเข้าใจและเห็นใจเป็นอย่างยิ่งเพราะมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ และยอมรับว่าด้วยงานที่หนักมากทำให้เกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ ยกตัวอย่างจำนวนผู้ที่ได้รับความเสียหายที่มาขอรับเงินชดเชย ตามมาตรา 41 แห่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2552 (ผู้ไม่รู้สิทธิยังมีอีกมาก)จำนวน 810 ราย ผ่านเกณฑ์ช่วยเหลือ 660 รายไม่ผ่าน 150 ราย(เป็นไปตามอาการของโรค)เสียชีวิต 340 ราย พิการ 97 ราย เจ็บป่วยต่อเนื่อง 219 ราย สปสช.จ่ายเงินชดเชยไปทั้งสิ้น 73 ล้านบาท(ยังไม่รวมประกันสังคมและราชการ)   นี่คือตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีคนตายมากกว่าประเทศที่ทำสงครามอีก(อนิจจาระบบสาธารณสุขที่รักษาคนไทย)แต่อีกมุมหนึ่งในประเทศเดียวกัน เราก็เจรจาการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆ โชว์สรรพคุณ คุณภาพมาตรฐานการบริสาธารณสุขที่โดดเด่นเป็นสากลไม่น้อยหน้าประเทศใดๆ ภายใต้ชื่อเมดดิคอลฮับ(ศูนย์กลางทางการแพทย์สากล) เกิดธุรกิจการแพทย์ ที่มีความพร้อมในการรองรับผู้ป่วยจากต่างประเทศ คุณภาพมาตรฐานการรักษาระดับ 5 ดาว ที่เจริญเติบโตอย่างไร้ขีดจำกัด มีการนำโรงพยาบาลเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อปั่นมูลค่ากันมากมาย ถึงขนาดบางมหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรการแพทย์นานาชาติ เพื่อรองรับธุรกิจดังกล่าว จนเกิดเสียงเพรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัย ผลิตแพทย์มารักษาคนไทยให้เพียงพอก่อน แล้วค่อยคิดถึงคนต่างชาติ แต่หานำพาไม่จนมีคำถามที่ถามทีเล่นทีจริงว่าหากมีคนไทย(คนจน) กับคนต่างประเทศที่เจ็บเจียนตายเหมือนกัน โรงพยาบาลเอกชนจะเลือกรักษาใคร ? เออ..เนาะใครรู้ช่วยตอบหน่อยซิ กี่รัฐบาลมาแล้วที่ปล่อยปละละเลย..เรื่องนี้ แล้วสังคมไทยจะโทษหมอหรือบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ได้เพราะคุณหมอก็ต้องทำงานบนข้อจำกัดมากมายเราอยากบอกคุณหมอดังๆ ว่าเราอยู่ข้างคุณหมอนะ เราเข้าใจความรู้สึกของคุณหมอ และเราก็เข้าใจความรู้สึกของผู้เสียหายเช่นกัน ก็ไม่รู้ว่าจะฝากเรื่องนี้ไว้ที่ใครดี คงต้องฝากคณะทำงานที่มีหน้าที่ปฏิรูปชุดต่างๆ ช่วยปฏิรูปเรื่องนี้ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจต้องเขียนป้ายใหญ่ๆ ปิดไว้หน้าโรงพยาบาลว่า “การเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนี้มีความเสี่ยงโปรดใช้วิจารณญาณในการเข้ารับการรักษา” ดีมั้ยท่านนา....ยกกกกก....

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ตกร่องน้ำในห้างดัง เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าถือเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม หากวันใดคุณเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวร้างข้างแตกเพราะทางห้างมิได้จัดอุปกรณ์ป้องกันภัยให้เหมาะสม ในฐานะผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ในเวลาเย็นย่ำของวันที่ 12 มกราคม 2550 ระหว่างที่คุณสุดา กำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจังหวัดลำปาง เธอได้ขับรถยนต์แวะเข้าไปใช้บริการที่ห้างบิ๊กซีซูปเปอร์ สาขาลำปาง เพื่อซื้อเครื่องใช้ส่วนตัว ครั้นซื้อสินค้าเสร็จสิ้นและกำลังเดินทางกลับมาขึ้นรถที่บริเวณลานจอดรถ ตรงทางสามแยกปรากฏว่ามีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งตรงมาตามทางเดินรถที่ไม่มีลูกระนาดด้วยความเร็วในระยะประชิด คุณสุดาตกใจเกรงว่าตนจะถูกรถชน จึงก้าวขึ้นไปบนเกาะกลางถนนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อหลบรถยนต์ที่วิ่งเข้าใส่“เฮ้อ....” คุณสุดา ถอนหายใจด้วยความโล่งอกที่ไม่ต้องถูกรถมาเชี่ยวชน เพื่อความปลอดภัยเธอจึงตัดสินใจหลบไปอีกด้านหนึ่งและก้าวลงจากเกาะกลางถนนด้านที่มืดสลัว โดยไม่ทันได้สังเกตว่าจุดที่ก้าวเท้าเหยียบลงไปนั้นเป็นร่องรางน้ำรูปตัววีที่ไม่มีฝาปิด ทำให้เท้าทั้งสองข้างลื่นไถลตกลงร่องรางน้ำรูปตัววีต่างระดับนั้นและเสียหลักลื่นล้มลงอย่างแรง กระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตกหัก อาการหนักพอดู....หลังเกิดเหตุคุณสุดาถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเขลางค์นครราม-ลำปาง แต่ถึงอาการจะหนัก เธอยังพอมีสติที่จะถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวแทนของห้างฯที่มาเยี่ยม “เอ่อ..ทางห้างฯ ต้องขอยอมรับกับสภาพที่เกิดเหตุที่มีปัญหาและจะเร่งแก้ไขนะครับ และสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทางห้างฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองครับ โดยเราขอให้คุณพักรักษาตัวที่ลำปางนี้นะครับ” ตัวแทนของห้างแจ้งให้ทราบ ในขณะที่คุณสุดายังไม่ได้คิดอะไร เพราะมึนกับอาการบาดเจ็บวันต่อมาคุณสุดา ครุ่นคิดในใจหลังได้ปรึกษากับญาติและทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่กรุงเทพ ที่แนะนำให้มาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ จะดีกว่า เนื่องจากเธอเป็นคนสูงอายุและไม่ใช่คนในพื้นที่ การที่ญาติจะมาดูแลย่อมเป็นเรื่องที่ลำบาก เธอจึงตัดสินใจแจ้งกับตัวแทนของห้างฯ เพื่อขอย้ายตัวมารักษาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ แทน “ทางเรายังคงขอให้คุณรักษาตัวที่นี่ต่อไปนะครับ ห้างฯ สาขาลำปางไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนอกพื้นที่จังหวัดลำปางได้ครับ แต่ยังไงต้องขอนำข้อเสนอนี้กลับไปเรียนผู้บริหารอีกครั้งก่อน และจะแจ้งกลับมาให้ทราบอีกครั้งครับ “ ตัวแทนระดับหัวหน้าผู้ดูแลลูกค้าแจ้งให้ทราบคุณสุดา เฝ้ารอคำตอบจากห้างอยู่สองวันก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จึงตัดสินใจเดินทางเพื่อมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของญาติและแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดในเวลาเดียวกัน คุณโสภณเพื่อนของคุณสุดาที่อยู่ลำปางนั้นได้เข้าพบตัวแทนของห้างระดับผู้บริหารเพื่อรับฟังคำอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำอธิบายที่ได้รับฟังนั้นสอดคล้องกับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของห้างที่มีถึงคุณสุดาว่า บริษัทมีความมั่นใจโดยสุจริตว่า บริษัทมิได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อความบาดเจ็บทั้งหมด.....”สรุปง่ายๆ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคุณสุดาทำเองไม่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของห้างฯ เลย และจากคำชี้แจงฉบับลายลักษณ์อักษรของห้างฯ นับเป็นการแสดงความรับชอบแต่ไม่รับผิด ในฐานะผู้ประกอบการที่ปราศจากความระมัดระวังในการให้บริการประชาชนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการแต่อย่างใดคุณสุดา จึงแจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและความรับผิดชอบจากทางห้าง และอยากให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ร่วมกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการสรุปเรื่องและส่งฟ้องบริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์เป็นจำเลยในคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,231,205 บาท ในประเด็นความผิดพลาดและความประมาทในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของผู้ใช้บริการศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลอันควรที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ จากความประมาทและผิดพลาดในการจัดการพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า ศาลจึงมีคำพิพากษาให้บริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์ในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณสุดาเป็นเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5% นับแต่วันที่ละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาทภายหลังสิ้นสุดคดีในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ทั้งนี้จำเลยได้ขอใช้สิทธิทุเลาการบังคับคดีเพื่อไม่ให้ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้ให้โอกาสจำเลยในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันต่อศาล แต่จำเลยกลับประวิงเวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันในชั้นทุเลาบังคับคดี ดังนั้นศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดีของจำเลยเสีย.... ซึ่งแสดงว่า โจทก์ในคดีนี้สามารถตั้งเรื่องยึดทรัพย์บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ในระหว่างอุทธรณ์นั่นเอง.... เป็นเวลาเกือบสองปีสำหรับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคุณสุดา “ประเด็นสำคัญของการใช้สิทธิทางกฎหมายคือ เราอยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ในสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าในฐานะผู้ประกอบการจะต้องมีความรับผิดชอบที่ดีต่อประชาชนผู้บริโภค ซึ่งถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง“ คุณสุดากล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 เช็คเดินทางหาย แต่ผู้เสียหายมีส่วนผิดด้วย ผลจะเป็นอย่างไร

คดีนี้เป็นเรื่องผู้บริโภคซื้อเช็คเดินทางของโจทก์ 50 ฉบับ สั่งจ่ายเงินรวม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากตัวแทนของโจทก์ โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างทันทีที่ได้รับเช็ค หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวโจทก์จะไม่คืนเงินให้ ต่อมาจำเลยแจ้งโจทก์ว่าเช็คเดินทางทั้งหมดหายไปโดยจำเลยลงลายมือชื่อในเช็คทุกฉบับที่ช่องด้านล่างไว้แล้ว โจทก์คืนเงินให้แก่จำเลยไป ต่อมามีผู้นำเช็คเดินทางดังกล่าวทั้งหมดไปขึ้นเงินกับธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งโดยปรากฏว่าจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อในเช็คเดินทางดังกล่าวไว้ตามที่แจ้งความเท็จแก่โจทก์ โจทก์จึงมาฟ้องศาลให้บังคับจำเลยให้คืนเงิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 1,287,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และเรียกค่าเสียหายอีก 100,000 บาท ศาลฎีกาโดยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2555 ได้วินิจฉัยว่า “...การที่มีการซื้อเช็คเดินทางซึ่งต้องยอมเสียเงินซื้อในอัตราร้อยละหนึ่ง ก็เพราะมีความปลอดภัยกว่าการนำเงินสดติดตัวไป และถ้าเช็คหายไปก็สามารถแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คได้ แต่เหตุที่มีผู้นำเช็คเดินทางของโจทก์ที่จำเลยซื้อ ไปเบิกเงินต่อธนาคารตามเช็คและธนาคารตามเช็คได้จ่ายเงินไป ทั้งๆ ที่จำเลยแจ้งโจทก์แล้วว่าเช็คเดินทางหายไปและโจทก์ได้จ่ายเงินจำนวนตามเช็คคืนให้จำเลยแล้วนั้น เป็นเพราะโจทก์ไม่ได้แจ้งธนาคารตามเช็คจึงเป็นความบกพร่องของโจทก์นั่นเอง  ส่วนเงื่อนไขการซื้อเช็คเดินทางที่กำหนดให้ผู้ซื้อเช็คลงลายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้ายของเช็คแต่ละฉบับทันทีที่ได้รับเช็คนั้น เป็นเพียงเงื่อนไขที่จะทำให้ผู้ที่ได้รับเช็คดังกล่าวโดยไม่ชอบไม่สามารถเบิกเงินไปได้โดยง่าย เพราะจะมีการตรวจสอบเปรียบเทียบลายมือชื่อด้วย ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้ลงลายมือชื่อตามเงื่อนไขดังกล่าว โจทก์ก็ไม่อาจยกเป็นเหตุมาปฏิเสธไม่จ่ายเงินคืนจำเลยตามเงื่อนไขการซื้อเช็คไม่ได้ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยไม่ได้ลงรายมือชื่อผู้ถือที่ข้างล่างด้านซ้าย แต่กลับแจ้งโจทก์ว่าลงลายมือชื่อแล้วย่อมเป็นเหตุให้โจทก์คาดว่าจะไม่มีใครนำเช็คดังกล่าวไปเบิกเงิน จึงไม่ได้แจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินตามเช็ค และจำเลยทิ้งเช็คไว้ในกระเป๋าใส่กล้องถ่ายรูปซึ่งวางไว้ในรถเข็นกระเป๋าเดินทางหน้าห้องน้ำที่สนามบินสุวรรณภูมิโดยไม่นำติดตัวไปด้วยจึงทำให้หายไปถือได้ว่าจำเลยมิได้ระมัดระวังมิให้เช็คสูญหายหรือถูกลักขโมยเช่นเดียวกับที่จักต้องกระทำต่อเงินสดของตน ตามเงื่อนไขการซื้อในกรณีขอคืนเงิน จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องร่วมรับผิดในความเสียหายด้วย โดยเห็นสมควรให้ร่วมรับผิดกึ่งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 442  ประกอบมาตรา 223” คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินให้โจทก์ 947,000 บาท  พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แสดงว่าพอใจในความเสียหายดังกล่าว จำเลยจึงต้องใช้เงินให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งของค่าเสียหายดังกล่าวคิดเป็นเงิน 473,500 บาท พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงิน 473,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 23 มิถุนายน 2540)เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

อ่านเพิ่มเติม >