ฉบับที่ 144 เสือสมิง : ย้อนรอยสาบสาง บนเส้นทางสู่อาเซียน

  เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าที่สัมผัสได้ผ่านละครโทรทัศน์นั้น ผู้ชมหลายๆ คนก็คงจะนึกถึงละครอิงประวัติศาสตร์สุดคลาสสิกอย่าง “ขุนศึก” หรือ “สายโลหิต” ที่ผู้สร้างมักฉายภาพความสัมพันธ์แบบศัตรูคู่แค้นของไทยกับพม่าที่สืบเนื่องมาในประวัติศาสตร์อันยาวนาน   แต่กระนั้นก็ตาม คำถามที่ชวนสงสัยตามมาก็คือ ทำไมความสัมพันธ์แบบคู่แค้นไทย-พม่าเยี่ยงนี้จึงถูกผลิตและนำเสนอเอาไว้ในจอโทรทัศน์กันอย่างต่อเนื่อง???   คำตอบหนึ่งที่นักวิชาการสายประวัติศาสตร์ของไทยได้ให้คำตอบไว้ก็คือ ความสัมพันธ์เชิงคู่แค้นเป็นผลผลิตหรือ “จินตกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้ลัทธิชาตินิยมแบบไทยๆ อันก่อตัวมาไม่นานนัก พร้อมกับการเกิดขึ้นของเส้นแบ่งพรมแดนและรัฐชาติในราวสมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 6   นั่นก็หมายความว่า ถ้ารัฐไทยต้องการปลูกฝังให้คนไทยรับรู้ถึงตัวตนหรือเกิดสำนึกความเป็นไทยอย่างเข้มข้นแล้ว เทคนิคหนึ่งที่มักถูกนำมาใช้ก็คือ การใช้สื่อสร้างภาพของพม่าให้เป็น “ศัตรูร่วมกัน” ขึ้นมา เพื่อเป็นตัวแทนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ร่วมกันของคนในชาติ แบบที่บรรดาละครอิงประวัติศาสตร์เขาทำกันมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง   อย่างไรก็ดี เมื่อมาถึงยุคที่สังคมไทยกำลังจะผันมารวมตัวเข้าสู่ความร่วมมือในระดับภูมิภาคแบบอาเซียนนั้น ความสัมพันธ์แบบคู่แค้นเช่นนี้อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าใดนัก และโจทย์แบบนี้ก็ถูกถามขึ้นมาในโลกของละครโทรทัศน์อย่าง “เสือสมิง” เช่นกัน   ละคร “เสือสมิง” ฉายภาพของสังคมชนบทไทยในยุคที่เริ่มมีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่งได้ไม่นานนัก โดยผ่านความรักระหว่างตัวละครพระเอก “ภราดร” นายแพทย์หนุ่มที่ย้ายมาประจำสถานีอนามัยในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กับนางเอก “กินรี” หญิงสาวผู้เข้าทรงผีฟ้าหน้ากากทอง และเป็นผู้สืบทอดองค์ความรู้การรักษาโรคแผนเดิมตามความเชื่อของบรรพบุรุษ   ภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างชุมโจรของ “เสือใจ” หรือเจ้าพ่อยาเสพติดอย่าง “เสี่ยรงค์” อันเป็นตัวแทนของอำนาจท้องถิ่นแบบดั้งเดิม กับการรุกคืบเข้ามาของอำนาจรัฐชาติที่สะท้อนผ่านตัวละครตำรวจอย่าง “หมวดสมรักษ์” และ “จ่าชิต” ตัวละครอีกมากหน้าหลายตาในท้องเรื่องก็ยังต้องเผชิญหน้ากับอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติอย่าง “เสือสมิง” ที่ออกอาละวาดฆ่าทำร้ายผู้คนในหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น ด้านหนึ่งละครก็คงต้องการชี้ให้เห็นว่า เมื่อครั้งที่สังคมไทยเริ่มก้าวเข้าสัมผัสวัฒนธรรมสมัยใหม่ หรือกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากสังคมประเพณีดั้งเดิมไปสู่วิถีการพัฒนาแบบทันสมัยในยุคแรกๆ นั้น ผู้คนยุคนั้นคงจะได้เห็นการปะทะต่อรองกันระหว่างขั้วความคิดที่แตกต่างกันหลายๆ ชุด   เริ่มต้นตั้งแต่การเผชิญหน้ากันระหว่างเมืองกับชนบท ระหว่างความเปลี่ยนแปลงจากภายนอกกับความคิดเชิงอนุรักษ์นิยม ระหว่างวิทยาศาสตร์กับไสยศาสตร์ ระหว่างองค์ความรู้แผนใหม่กับองค์ความรู้ตามประเพณีท้องถิ่น ระหว่างอำนาจรัฐส่วนกลางกับอำนาจของชนบทท้องถิ่น และระหว่างความขัดแย้งชุดอื่น ๆ อีกมากมาย   อย่างไรก็ดี นั่นอาจจะเป็นการฉายภาพการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยเมื่อช่วงราวครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แต่ครั้นพอมาถึงยุคปัจจุบันนี้ที่สังคมไทยกำลังตื่นเต้นกับการจะเปลี่ยนผ่านอีกระลอกไปสู่กระแสความร่วมมือของภูมิภาคอาเซียนนั้น ละครเรื่อง “เสือสมิง” ก็ได้ให้ภาพการเล่าเรื่องถอยย้อนกลับไปไกลกว่านั้นถึงกว่า 800 ปี   ด้วยเหตุฉะนี้ ภายใต้ความรักความผูกพันที่เกิดขึ้นระหว่างคุณหมอหนุ่มภราดรกับแม่หมอผีกินรีในท้องเรื่อง ละครก็ได้บอกว่า การที่ทั้งคู่มาพานพบกันในหมู่บ้านอันห่างไกลได้นั้น คงมิใช่เรื่องเหตุบังเอิญแต่อันใด หากแต่เป็นเพราะทั้งสองเป็นเนื้อคู่ตุนาหงันกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งอาณาจักรพุกามเคยรุ่งเรืองมาโน่นเลย   ในอดีตชาติปางบรรพ์ คุณหมอหนุ่มภราดรเคยเป็นกษัตริย์ “บาเยงโบ” แห่งอาณาจักรพุกาม (ซึ่งปัจจุบันนี้ก็น่าจะอยู่ในประเทศพม่านั่นแหละ) โดยมีกินรีหรือในชาติก่อนก็คือพระมเหสี “ชะเวมะรัต” เป็นสตรีเคียงคู่กาย   แต่ในครั้งนั้น เนื่องจาก “งะดินเด” ผู้เป็นบิดาจอมขมังเวทย์ของชะเวมะรัต เกิดคิดคดทรยศและมักใหญ่จะลอบสังหารกษัตริย์บาเยงโบ งะดินเดจึงได้สร้างเสือสมิง 11 ตัวขึ้นมาเป็นไพร่พลในกองทหารของตน อันนำไปสู่โศกนาฏกรรมของบาเยงโบและชะเวมะรัต จนอาณาจักรพุกามได้ถึงแก่กาลล่มสลายไปในที่สุด   และพอก้าวกลับมาสู่ยุคที่แบบแผนการพัฒนาประเทศเริ่มก้าวไปสู่ความทันสมัยนั้น ความเชื่อและจิตวิญญาณแห่งเสือสมิง ผีฟ้าหน้ากากทอง ไล่รวมไปถึงการตามล่าหาดาบศักดิ์สิทธิ์ของกษัตริย์บาเยงโบ ก็ได้กลายมาเป็นความทรงจำที่คอยหลอกหลอนภราดรและกินรีให้ต้องเผชิญกับอดีตชาติของตนเองอยู่อย่างเนืองๆ ในครั้งหนึ่ง “ชาติ” อาจจะเป็น “จินตกรรม” ที่ใช้แบ่งแยกความเป็น “เรา” กับความเป็น “อื่น” หรือทำให้คนไทยสร้างภาพพม่าเป็น “ศัตรูคู่แค้นร่วมกัน” แต่พอมาในยุคแห่งการขยายความเป็น “ชาติ” ของไทยไปสู่ความเป็น “ภูมิภาค” แบบอาเซียน ละครโทรทัศน์จึงต้องขยาย “จินตกรรมใหม่” ออกไป   ด้วยเหตุดังกล่าว แม้จะดูอิหลักอิเหลื่อไปบ้าง หรือแม้จะดูหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้หรือไม่เพียงใด แต่ละครก็ทำการตีความประวัติศาสตร์เสียใหม่ว่า หากสืบสาวไปก่อนยุคของ “ขุนศึก” หรือ “สายโลหิต” ไทยกับพม่าก็ดูจะไม่มีความเป็นอื่นของกันและกันเสียทีเดียว   ตรงกันข้าม ไทยกับพม่ากลับมี “จินตกรรมร่วม” ของกองทัพเสือสมิง หมอผีฟ้าหน้ากากทอง และดาบศักดิ์สิทธิ์แห่งกษัตริย์บาเยงโบ อันเป็นความเชื่อที่เราเคยลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันมาในประวัติศาสตร์ภูมิภาคเกินกว่า 800 ปี (หรือก่อนยุคที่จะมีการประดิษฐ์ลายสือไทยเสียอีก)   ดูละคร “เสือสมิง” แล้ว เราก็อาจจะได้คำตอบสำคัญข้อหนึ่งว่า ความเป็นชาติที่เคยมีมานั้น ไม่ว่าจะแบ่งแยกหรือจะผนวกรวม นั่นก็คืออยู่กับผลประโยชน์ของชาติในแต่ละยุคว่ามุ่งไปในทิศทางใด   เมื่อวานนี้เราอาจจะเห็นไทยเคยเป็น “คู่แค้น” กับพม่ามาก่อน หรือในวันนี้เราอาจจะเห็นไทยกับพม่าพยายามหลอมรวมเป็น “คู่รัก” ในภูมิภาคอุษาคเนย์เดียวกัน แต่ที่แน่ ๆ ในวันพรุ่งนี้ความเป็นชาติของเราก็คงมีแนวโน้มจะถูกสร้างและสร้างใหม่ ๆ ออกไปแบบไม่สิ้นไม่สุดได้เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point