ฉบับที่ 237 The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims

        15 พฤศจิกายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการกำเนิดวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย แต่ด้วยเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมรณรงค์ร่วมรำลึกในปีนี้อาจจะดูเงียบเหงาขาดสีสันลงไปบ้าง คงมีเพียงมูลนิธิเมาไม่ขับที่เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทุกปี ขณะที่หน่วยงานหลักของประเทศกลับไม่มีการแสดงออกถึงวาระสำคัญของโลกในวันนี้อีกเช่นเคย         เหมือนทุกปีที่วันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนหรือที่เราเรียกกันว่า “วันเหยื่อโลก” มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดไม่ได้เลือกเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า ดารานักแสดงหรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป         ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี พ.ศ. 2563 ผ่านการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12,990 คน และบาดเจ็บ 855,415 คน ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง อาจเพราะผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีจำนวนลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลี่คลายทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ดีดตัวกลับพุ่งขึ้นมาแรงเหมือนเดิม         โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่ทำอะไรจริงจัง ในช่วงปลายปีไตรมาสสุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอาจจะพุ่งแตะใกล้เคียงสองหมื่นคนเหมือนในปีที่ผ่านมาก็เป็นได้         ทั้งนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 12,990 คน ข้างต้นยังไม่ได้รวมกรณีเกิดเหตุแล้วไม่ใช้สิทธิ หรือ รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. รวมถึงยังไม่ใช่ตัวเลขจากระบบ 3 ฐาน ที่ประกอบด้วย ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย ข้อมูลจากระบบ POLIS ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และข้อมูลจากระบบ E-Claim ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด         เพราะหากกลับไปย้อนดูข้อมูลการเสียชีวิตของอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน ย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเล็กน้อย คือ 21,745 > 21,607 > 19,331 และ 19,904 คน ตามลำดับ แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังอยู่ในระดับเกือบ 20,000 คน ต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 55 คนทุกวัน และเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ขณะที่อีกประมาณ 3,000 คน ต่อปีที่เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน หรือเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ปีละ 1 โรงเรียนที่หดหายไป         ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 20,000 คน หากพิจารณามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย และถ้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,904 คน จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 119,040,000,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่สิบล้านบาท) และอาจถึง 200,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าความเสียหายทั้งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไว้ด้วยกัน         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสิบปีทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2554 - 2563) ตามข้อตกลงปฏิญญามอสโกที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยล้มเหลวไม่เป็นท่า          รัฐบาลมีโอกาสแก้ตัวต่อจากนี้อีกสิบปี กับการจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564 – 3573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้เหลือ 10,000 คนต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ประจำปีเน้นเทศกาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดการที่เข้มข้นและต่อเนื่องในทุกกลุ่มของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างที่ทุกคนต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 144 เหยื่อ

หลายท่านคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อคนฉลาด” ซึ่งถ้าคิดให้ลึกซึ้งต่อไปอีกคือ แล้วทำไมคนโง่จึงเป็นเหยื่อคนฉลาด คำตอบที่ผู้เขียนคิดเอาเองก็คือ เพราะคน(ที่อาจ) โง่นั้นมักคิดว่าตน(อาจ) เป็นคนฉลาด จึงไม่เคยหาความรู้เลยว่า สิ่งที่ตนรู้อยู่นั้นมัน ถูกหรือผิด   คนที่ถูกหลอก ไม่ว่าจะเรื่องอะไรนั้น มักเกิดเนื่องจากการเป็นคนที่มีความมั่นใจในตนเองสูง จนออกอาการที่เราเรียกว่า “ดื้อ” ดังนั้นความดื้อจึงน่าจะเป็นหนทางไปสู่ความโง่   ความดื้อนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมากับมนุษย์ทุกคนตั้งแต่เกิด จะเห็นว่าเมื่อไรก็ตามที่เราห้ามเด็กเล็กว่า “อย่าทำ  เด็กก็จะทำ” แล้วพอเกิดบาดเจ็บเด็กก็จะร้องไห้ ซึ่งก็จบแค่นั้นเพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้ามนั้นมักไม่ใช่เรื่องใหญ่โต แต่ถ้าเป็นการห้ามเด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ซึ่งบางครั้งแม้เป็นเพียงข้อแนะนำว่า อะไรน่าจะถูก อะไรน่าจะผิด ผู้ให้คำแนะนำมักถูกตอบโต้(หรือในฐานกรุณาก็แอบคิดในใจ) ประมาณว่า มายุ่งอะไรกับ ข้าพเจ้า มันเรื่องของข้าพเจ้า   ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงไม่ประหลาดใจที่พบหัวข้อข่าวบน คมชัดลึกออนไลน์ ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2555 ว่า “ผู้ป่วยเบาหวานซื้อเอนไซม์ทางเคเบิลมากินถึงตาย หลงเชื่อโฆษณา เลิกกินยาจากโรงพยาบาล ผ่านไป 2 เดือนไตวาย กพย. (ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา) ชี้ผลิตภัณฑ์โฆษณาเกินจริงหัวหมอเลี่ยงกฎหมายเร่งคุมเข้ม”   ที่สำคัญจากเว็บของหนังสือพิมพ์ แนวหน้า เมื่อ 30 ธันวาคม 2555 ได้มีบทความที่กล่าวว่า “กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในปีหน้า  อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จะต้องทำงานอย่างเข้มข้นขึ้น เพราะจะมีธุรกิจเคเบิล และทีวีดาวเทียมได้รับใบอนุญาตดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพิ่มขึ้น รวมทั้งการเกิดขึ้นของ ทีวีดิจิตอล ดังนั้น อนุกรรมการต้องสร้างกลไกการรับเรื่องร้องเรียนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ได้ผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และต้องเร่งสร้างความรู้เท่าทันสื่อผ่านเครือข่ายผู้บริโภค”   ในบทความเดียวกันของ แนวหน้า (www.naewna.com) นั้น มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า อย.เตรียมรับมือกับการขยายตัวของเคเบิล ทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอล ในหลายระดับ ตั้งแต่การปรับปรุง พ.ร.บ.อาหาร ยา และเครื่องสำอาง โดยเพิ่มโทษปรับความผิดด้านโฆษณา จาก 5,000 บาท เป็นหลักแสนบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการกฤษฎีกาขั้นสุดท้าย ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป”   ตัวอย่างข่าวที่ผู้เขียนยกมาให้ดูนั้น เป็นหลักฐานยืนยันว่า ในปีใหม่ 2556 นี้ ถ้ากระบวนการของรัฐไม่สามารถทำได้เต็มความสามารถในการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการผลิตภัณฑ์ด้านอาหารและโภชนาการแล้ว น่าจะมีเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายเกิดขึ้นอีกมากมาย ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันโทรทัศน์หลายช่องออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง และเปิดโอกาสให้มีการโฆษณาขายสินค้าหลอกลวงผู้บริโภคในช่วงที่ผู้กำกับความถูกต้องอาจนอนหลับ (2.00 น. – 5.00 น.) หรือเพิ่งกลับมาจากกินข้าวกลางวัน (13.00 น. – 15.00 น.) หนังท้องยังตึง หนังตายังหย่อน   อีกทั้งใน Youtube เจ้าเก่านั้น ยังเป็นแหล่งเผยแพร่การขายสินค้าด้านอาหารและโภชนาการ โดยมีคนที่เป็นใครก็ไม่รู้ จบอะไรก็ไม่รู้ มาสาธยายความรู้งู ๆ ปลา ๆ อธิบายคุณสมบัติของสินค้าในระดับที่บางครั้งนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้เรียนรู้เฉพาะทางยังไม่เข้าใจ แต่ที่น่ากลัวกว่าก็คือ คนที่มาโฆษณาขายสินค้านั้นกลายเป็นคนที่จบการศึกษาสูงหรือเป็นที่ยอมรับในวงสังคม   ใน Youtube นั้นนอกจากคนที่เป็นใครก็ไม่รู้มาหลอกขายของแล้ว ก็ยังมีดารามารับจ้างหารับประทานด้วย ขอให้ท่านผู้อ่านใช้คำค้นหาคลิปว่า “ดารา อาหารเสริม” เมื่อต้องการดูการขายสินค้าแบบไทยๆ  แต่ถ้าต้องการความเป็นอินเตอร์หน่อยก็ใช้คำว่า “celebrity dietary supplement” ท่านก็จะได้ดูอะไรที่บันเทิงไปอีกแบบหนึ่งว่า ดารานั้นนอกจากหลอกเราในหน้าจอภาพยนตร์และโทรทัศน์แล้ว ยังตามมาหลอก (หลอน) ในอินเตอร์เน็ตอีกหลายคน   นอกจากนี้เมื่อดูฟรีทีวีทั้งหลายในเวลาที่เป็นไพร์มไทม์คือ มีคนดูมาก บางครั้งก็มีคนที่บางท่านอาจชื่นชอบมาบอกว่า ให้กินสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง โดยเปิดตู้เย็นออกมามีแต่สินค้าอย่างว่านั้นวางอยู่เต็มตู้ ซึ่งแค่ปลายตาดูก็รู้ว่า ไม่เป็นจริง (ท่านเข้าไปหาดูโฆษณาลักษณะนี้ได้ที่ www.adintrend.com) มีแต่คนเสียสติเท่านั้นที่จะแช่สินค้าชนิดเดียวเต็มตู้เย็น คำถามคือ คนประเภทนี้มีสิทธิมาหลอกผู้บริโภคโดยไม่มีกฎหมายมาจัดการหรืออย่างไร วกกลับมาที่เรื่องเอนไซม์ที่มีผู้ป่วยเลือกบริโภคแล้วเลิกการรักษาแผนปัจจุบันจนตายอีกทีว่า เป็นตัวอย่างที่ฟ้องให้เห็นถึงความล้มเหลวในการศึกษาที่ทำให้คนไทยไม่รู้จักคำสอนของพระพุทธองค์บทที่ว่าด้วย กาลามสูตร เขาเหล่านั้นจึงขาดการออกกำลังสมองในการคิดว่าสิ่งใดควรถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง   เอนไซมนั้นเป็นโปรตีน ดังนั้นการกินเข้าไปทางปาก ยังไงๆ ก็ถูกย่อยเป็นกรดอะมิโนแล้วจึงถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบโลหิต จากนั้นร่างกายก็เอากรดอะมิโนที่ได้ไปใช้ในการสร้างโปรตีนที่ร่างกายต้องการ ซึ่งหลักการนี้สามารถประยุกต์ได้กับสินค้าหลายชนิดเช่น คอลลาเจน (โปรตีน) กลูตาไทโอน (ไตรเป็บไทด์) ซึ่งเป็นสินค้าที่เมื่อกินก็ได้กิน จากนั้นทุกสิ่งทุกอย่างก็ถูกย่อยไปหมด   ปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดได้ต่อผู้ที่บริโภคผลิตภัณฑ์แปลกๆ นั้นมีตัวอย่างมากมาย หาอ่านได้ในเว็บ www.quackwatch.com ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีพืชที่เรียกว่า Chaparral เป็นองค์ประกอบ ซึ่งในอนาคตอาจมีใครสักคนนำเข้ามาขายในบ้านเราแบบว่าทางการไม่รู้เรื่องก็ได้   Chaparral หมายถึง พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นชายฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปเช่น ในสหรัฐอเมริกาอยู่แถวแคลิฟอร์เนีย อเมริกาใต้แถวชิลี อัฟริกาใต้แถวเคปทาว์น ออสเตรเลียแถบตะวันตก และบางส่วนของทะเลเมดิเตอเรเนียน มีพืชหลายชนิดที่ขึ้นได้เฉพาะบริเวณ Chaparral และชนพื้นเมืองนำมาใช้เป็นยาพื้นบ้าน ดังนั้นคำว่า Chaparral จึงมีอีกความหมายว่าเป็น ไม้พุ่มที่มีใบขนาดเล็กและหนามตามลำต้นจึงทนแล้งได้ดี มักขึ้นอยู่บนภูเขาตามแนวชายฝั่งทวีป เป็นพืชประเภทเดนตาย (คือ ตายยาก) และตัวมันมักติดไฟง่าย ด้วยเหตุนี้บริเวณ Chaparral เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียจึงมีไฟไหม้เป็นประจำ และเมื่อไฟดับแล้วมีฝนแรก พืชพวกนี้ก็จะงอกขึ้นมาทุกครั้ง   มีรายงานเกี่ยวกับองค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ของ Chaparral ใน Genus Adenostoma ว่ามีสารจำพวก แคมเฟรอล (kaemferol) และเควร์ซีติน (quercetin) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่มีการศึกษาว่าอยู่ในชาเขียว และน่าจะมีฤทธิ์ต้านมะเร็งถ้าบริโภคในรูปแบบที่มนุษย์ธรรมดากิน ไม่ใช่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   ประเด็นที่น่าสนใจคือ พืชบางชนิดที่ขึ้นใน Chaparral นั้นถูกจัดเป็นสมุนไพรที่ก่อให้เกิดภาวะตับอักเสบ (Hepatitis) มีรายงานผลการใช้ Chaparral ที่ได้จากต้น Larrea tridentata ซึ่งเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดหนึ่งที่จำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่ามีอุบัติการเกิดพิษต่อตับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงจัดสมุนไพรที่ขึ้นใน Chaparral ให้อยู่ในกลุ่มที่ไม่ปลอดภัยและถอนทะเบียนไม่ให้จำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร   อีกตัวอย่างคือ Willow bark หรือเปลือกต้นวิลโลซึ่งมีองค์ประกอบทางพฤกษเคมีเป็นสารต้านอาการปวดเหมือนยาแก้ปวดแอสไพริน คือมีสารซาลิซิน(salicin) ซึ่งถูก เมื่อถูกกรดในกระเพาะอาหารจะเปลี่ยนเป็น กรดซาลิไซลิก (salicylic acid) จึงมีการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับเด็กแล้วโฆษณาว่าสามารถแก้ปวดได้โดยไม่มีแอสไพริน ทั้งที่ความจริงมีผลข้างเคียง(ซึ่งไม่ได้แสดงที่ฉลาก) เหมือนยาเม็ดแอสไพริน   ที่น่าตลกก็คือ เมื่อเปลือกไม้นี้ถูกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ขายในบ้านเรา กลับอยู่ในรูปเครื่องสำอางโดยโฆษณาว่า “สารสกัดจากเปลือกจากต้น Willow Tree ซึ่งพบได้ในอเมริกาเหนือ มีสาร Salicylic Acid และ Tannins อื่นๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระชับรูขุมขน ช่วยผลัดผิว ต้านการอักเสบ ลดไข้บรรเทาปวด ฆ่าเชื้อโรคโดยเฉพาะแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของสิว สาร Salicylic Acid ธรรมชาติที่ได้จากการสกัดเปลือกของต้น Willow Tree นี้ มีฤทธิ์คล้าย Salicylic Acid ที่ผลิตทางเคมี แต่ไม่มีผลข้างเคียงร้ายใดๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการระคายเคืองต่อผิว จึงปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้ถึงระดับ 65% (หรือเทียบเท่า Salycilic Acid ที่ 10%) จากผลการวิจัยพบว่า Willow Bark Extract สามารถทำหน้าที่ผลัดผิวได้ดีกว่า Salicylic Acid แบบเคมี นอกจากนี้ Willow Bark Extract ยังมีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียชนิด Staphylococcus aureus และ Propionibacterium acnes ซึ่งเป็นต้นเหตุของสิว ทำให้เหมาะกับการผสมในเครื่องสำอางเพื่อช่วยรักษาสิว”   ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางนั้น ถ้ามีแหล่งกำเนิดมาจากต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียแล้ว ผู้บริโภคมักคิดว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย เพราะเรามักมีภาพพจน์ว่า ฝรั่งนั้นฉลาดในการผลิตสิ่งเหล่านี้และหน่วยราชการของเขาน่าจะดูแลดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าท่านผู้บริโภคได้เข้าไปศึกษาถึงเรื่องการควบคุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางของประเทศที่น่าจะเจริญแล้วทั้งสองนี้ จะรู้สึกว่าเดือนมกราคม 2556 นี้มันหนาวกว่าที่คิดเสียอีก

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 159 เหยื่อรถทัวร์ผี ความสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืน

เทศกาลสงกรานต์หลายครอบครัวคงมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับครอบครัว นันตะนะ นี่คือการสูญเสียอย่างไม่มีวันได้คืน...เช้า 13 เมษายน 2553  บุญถม นันตะนะ ได้รับงานด่วนให้ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี   บุญถมจึงรีบโทรศัพท์จองตั๋วกับ บ.รถทัวร์ แต่ทุกที่บอกเพียงว่า “ ให้มาก่อน บางทีเผื่อจะมีคนยกเลิกตั๋ว ไม่ก็มีรถเสริม ”  คล้อยบ่ายบุญถม จึงรีบเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิต 2  โดยหวังว่าจะมีตั๋วว่างสำหรับคืนนี้ค่ำวันนั้น “  พ่อได้ตั๋วแล้วนะแม่ ซื้อที่ช่องขายตั๋วเลย รถจะออกตอนสี่ทุ่มครึ่ง เดี๋ยวถึงแล้วจะโทรหาแม่นะ ” ...นี่คือเสียงสุดท้ายที่ ชุติกาญจน์ ได้ยินเสียงจากสามี  เพราะเช้ามืดวันที่ 14 เมษายน 2553  รถทัวร์ที่บุญถมนั่งไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่จังหวัดนครราชสีมา บุญถม พร้อมผู้โดยสารอีกหลายราย เสียชีวิตทันที และมีคนบาดเจ็บจำนวนมากหลังการเสียชีวิตของบุญถม ชุติกาญจน์ได้รับจดหมายแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอจึงมาร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ช่วยเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อให้ชุติกาญจน์ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่มีก่อนนั้น มูลนิธิฯ ได้นำเรื่องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อมีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับชุติกาญจน์ตามกรมธรรม์โดยทันที ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทยอมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ให้กับชุติกาญจน์ได้สำเร็จ ส่วนข้อเท็จจริงทางคดีจากทะเบียนรถยนต์คันเกิดเหตุ พบว่า รถทัวร์คันที่เกิดเหตุนั้น เป็นรถโดยสารไม่ประจำทางของบริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด ที่นำมาเสริมวิ่งรับคนโดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์กับบริษัท ขนส่ง จำกัด  แต่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กลับปฏิเสธ อ้างไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์นี้ เพราะรถคันนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งรับคนโดยสารในวันดังกล่าว ทำให้การเจรจาไม่สามารถยุติได้ ชุติกาญจน์ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องนายชำนาญ มหาสังข์ คนขับ จำเลยที่ 1 , บริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด เจ้าของรถ จำเลยที่ 2 และ บริษัท ขนส่ง จำกัด  จำเลยที่ 3 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554ในชั้นพิจารณาคดี ทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบ ฝ่ายโจทก์ มีชุติกาญจน์ เบิกความยืนยันถึงความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ภายหลังที่สามีเสียชีวิต โดยมีคุณวิลาวรรณ  ผู้รอดชีวิตที่ขึ้นรถคันเดียวกับบุญถม มาเป็นพยานนำชี้จุดซื้อตั๋วและทางเดินไปที่ชานชาลา พร้อมยืนยันการขึ้นรถในสถานีขนส่ง ขณะที่ฝ่ายจำเลย  บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3  ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท มาเป็นพยานเบิกความถึงขั้นตอนการขออนุญาตนำรถเสริมเข้ามาวิ่งร่วมรับส่งคนโดยสารกับบริษัทในเทศกาลดังกล่าวศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 3 ที่จะนำพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความทำนองว่า รถยนต์โดยสารที่จะนำเข้ามาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 และกรมการขนส่งทางบกก่อน ตามหนังสือขออนุญาตของจำเลยที่ 3 และจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจใบอนุญาตตั้งแต่ปากทางเข้าและทางออกอยู่ตลอดเวลานั้นแต่ตามหลักฐานเอกสารการขออนุญาตนำรถเข้าวิ่งร่วมของจำเลยที่ 3 ที่นอกจากจะระบุให้เจ้าของรถร่วมหมวด 2 มาร่วมวิ่งแล้ว ยังระบุให้สมาคมผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางมาร่วมวิ่งเสริมได้ด้วย ซึ่งรถยนต์คันเกิดเหตุอาจอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำรถเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 และได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 ได้ แม้จะไม่มีตราหรือสัญลักษณ์ใดๆ ของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุคงไม่สามารถเข้ามาวิ่งร่วมรับคนโดยสารได้เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมยึดรถได้นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าให้เจ้าของรถร่วมและสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคันต้องใช้ตั๋วรถโดยสารตามแบบตั๋วโดยสารที่จำเลยที่ 3 กำหนด นั้น ก็เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าได้ซื้อตั๋วโดยสารที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถที่ชานชาลาในสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกด้วยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อนุญาตจำเลยที่ 2 รถโดยสารเข้าร่วมวิ่งรับขนคนโดยสารกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นการชั่วคราวโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2  เมื่อพิเคราะห์จากความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 1,312,000 บาท เมื่อหักจากเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายทั้งสิ้นจำนวน  682,000 บาทกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นคดีตัวอย่างของผู้บริโภคที่อาจจะไม่มีทางเลือก และหลงใช้บริการรถทัวร์ผี ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว อาจจะไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ แต่กรณีนี้โชคดีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียชีวิตซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2ซึ่งแม้คดีจะจบลงด้วยศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าเสียหาย แต่คดีก็ใช้เวลานานกว่า 3 ปี อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อได้ ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด ชุติกาญจน์ จึงยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริงแต่อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชุติกาญจน์ยอมแพ้  แม้จะเจ็บช้ำ แต่เธอยังมีหน้าที่ต้องสู้เพื่อสิทธิของครอบครัวเธอต่อไป  สู้จนกว่าเธอจะชนะ   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ไม่ให้ไม่ว่า…ขอแค่อย่าทำร้าย

เป็นที่รับรู้กันว่า ประชาธิปไตยบ้านเรา เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็สนุกดีแบบไทยๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไทยก็ยังเป็นไทยอยู่วันยังค่ำ(จริงไหม?)เสร็จจากการประท้วง สุดฤทธิ์สุดเดช กันไปตามอัธยาศัยแล้ว ถึงการเมืองบ้านเราจะยังมีกรุ่นๆ กันอยู่บ้างแต่ก็ทำให้เราๆ ท่านๆ หายใจได้ทั่วปอดขึ้นใช่ไหมล่ะ เมื่อการเมืองเบาบางลง ก็ตามมาด้วยเสียงเพรียกร้องหาความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ที่ดังขึ้นมาแทรกแทนเสียงโหยหวน.. ของเหล่านักการเมือง ทั้งกลุ่มหนี้สินชาวนา กลุ่มหนี้สินอื่นๆ และเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ต้องเรียกร้องกันทุกปี เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ไม่มีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรแบบระยะยาวเลยสักพรรคเดียว มีเพียงการแก้ไข แบบขอไปที น้อง-พี่-ลุง-ป้า จึงต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือกันทุกปีจะว่า น้อง-พี่-ลุง-ป้า เหล่านี้คือเหยื่ออันโอชะของนักการเมืองก็ไม่น่าจะผิด เพราะการแก้ไขแต่ละครั้ง ใช้งบมหาศาลและก็รั่วไหลทุกครั้งที่มีโครงการช่วยเหลือ(ก็อดคิดเสียไม่ได้ว่าเพราะเรื่องนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้เหล่านักการเมืองจึงไม่คิดแก้ไขแบบจริงๆ จังๆ กันเสียที) แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงมาสู่รัฐ เขาเหล่านั้นไม่เคยร้องขอให้รัฐไปช่วยเหลืออะไร ขอเพียงขอให้เขาได้อยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่เขาคุ้นชินเท่านั้น เขาเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโรงงานขนาดใหญ่ ที่พวกเขากลัวว่าการก่อสร้างเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของพวกเขา แก่นแท้ของการร้องขอนั้น เขาไม่เคยขอให้รัฐช่วยอะไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออื่นๆ เขาขอเพียงรัฐยอมปล่อยให้เขาได้อยู่ในสิ่งที่เขาเคยอยู่เท่านั้นจนได้อ่านข่าวที่ กกต. ชี้ออกมาว่า ท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ หลายท่านน่าจะพ้นสภาพการเป็น สส.เพราะตนเองหรือภรรยาเข้าไปถือหุ้น ในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ทั้งหุ้น ปตท. หุ้นไฟฟ้า และหุ้นอื่นๆ อ้อ..เพราะอย่างนี้นี่เองนักการเมืองทั้งหลายถึงไม่ใยดีและเพิกเฉยต่อคำเรียกร้อง ของกลุ่มผู้คัดค้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ท่านทั้งหลายที่กล่าวถึงมามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่มากมายนี่เอง อ่านข่าวแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน ที่สามารถล้างบางนัก การเมืองขี้ฉ้อได้เท่ารัฐธรรมนูญปี 50 นี้เลย(สะใจเจงๆๆ) เพราะการเขียนไว้ว่าห้ามนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นถูกต้องแล้ว เพราะนักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจในการบริหารจัดการในทุกด้าน และนักการเมืองก็เป็นมนุษย์มันก็หนีไม่พ้นที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ความเป็นธรรมจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้ถ้าไม่สามารถกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนออกไปได้(ถึงแม้ออกไม่หมดแต่ก็ดีกว่าไม่ออกเลย) เอาเป็นว่าผู้เขียนชูจั๊ก-กะ-แร้ เชียร์เพื่อนพ้องน้องพี่ พลังบริสุทธิ์ที่ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ให้เป็นของขวัญสำหรับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป และช่วยยืนยันสโลแกนที่ว่า “ไม่ให้ไม่ว่าขอแค่อย่าทำร้าย” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนและขอให้ไอ้พวกขี้ฉ้อสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปสักที

อ่านเพิ่มเติม >